29 กรกฎาคม 2554

เราจะรับใช้พระเจ้าและเงินทองพร้อมกันไม่ได้

ไม่มีผู้ใดเป็นข้าสองเจ้าบ่าวสองนายได้
เพราะว่าจะชังนายข้างหนึ่ง และจะรักนายอีกข้างหนึ่ง หรือ
จะนับถือนายฝ่ายหนึ่ง และจะดูหมิ่นนายอีกฝ่ายหนึ่ง
ท่านจะปฏิบัติพระเจ้าและจะปฏิบัติเงินทองพร้อมกันไม่ได้”
(ลูกา 16:13)

ไม่มีใครเป็นข้าสองเจ้าบ่าวสองนายได้
เขาย่อมชังนายข้างหนึ่งและรักนายอีกข้างหนึ่ง หรือ
ภักดี(ต่อ) คนหนึ่งและดูหมิ่นอีกคนหนึ่ง
ท่านไม่อาจรับใช้พระเจ้าและเงินทอง(พร้อมกันได้)
(อมตธรรม, ลูกา 16:13, ตัวเอนในวงเล็บเพิ่มโดยผู้เขียน)

พระคัมภีร์ข้อนี้ทำให้คริสเตียนไทยหลายต่อหลายคนรู้สึกอึดอัดและไม่สบายใจลึกๆ ตั้งแต่ศาสนาจารย์ยันสมาชิกสามัญธรรมดาในคริสตจักร บ่อยครั้งต้องนั่งลงแล้วพยายามหาเหตุผลข้ออ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมเกี่ยวกับเรื่องเงินๆ ทองๆ ที่มิใช่เรื่องเล็กน้อย ไม่สำคัญ อย่างที่ปากเราพูด โดยเฉพาะบนธรรมาสน์ และ ในโบสถ์ หรือในวงนมัสการพระเจ้าและการเรียนพระคัมภีร์ ความรู้สึกอึดอัดไม่สบายใจในเรื่องนี้เกิดขึ้นเด่นชัดในความเชื่อและจิตใจของคริสเตียนแต่ละคน เพราะในใจของเราแล้วเราต้องการรับใช้พระเจ้า แต่ในเวลาเดียวกันเราก็ต้องการเงินทอง ที่เราต้องการเงินเพราะเงินสามารถบันดาลสิ่งต่างๆ มากมายในชีวิตแก่เรา ทำให้เรามีชีวิตที่สะดวกสบายขึ้น ทำให้ชีวิตของเราตื่นเต้นน่าสนใจมากยิ่งขึ้น และจะด้วยรู้ตัวหรือไม่ก็ตามที่หลายคนติดแหงกกับเงินเพราะเงินนั้นให้อำนาจแก่คนใช้เงินที่สามารถควบคุม สั่งการ และอยู่เหนือคนอื่นได้!

การที่เราจะตกลงเป็นทาสรับใช้ของเงินทองนั้นมิได้หมายความว่าเราต้องมีเงินทองมากมาย(ไม่ขึ้นอยู่กับจำนวน) ความจริงแล้ว คนที่มีเงินทองน้อยนิดกลับตกเป็นทาสของเงินทองเมื่อเราต้องการมุ่งหาเงินทองจำนวนมากขึ้น การตกเป็นทาสของเงินทองจึงไม่ขึ้นอยู่กับว่า เรายากดีมีจน แต่เป็นการง่ายยิ่งที่ชีวิตของเราจะลื่นไถลลงสู่การเป็นทาสรับใช้เงินทอง

คริสเตียนส่วนมากแสวงหาคำตอบในจิตใจที่จะเป็นทางออกสายกลางในเรื่องนี้ กล่าวคือเราจะไม่ต้องตัดสินใจเลือกข้างใดข้างหนึ่งได้ไหม? และเลือกทางกลางๆ ที่สร้างความสมดุลระหว่างทั้งสองขั้วไม่ได้หรือ? ให้เราหาทางที่แสดงออกถึงความรักที่สมดุลระหว่างพระเจ้าและเงินทองจะได้ไหม? ผมแน่ใจได้ว่านี่มิใช่ผมเอง และ ท่านเท่านั้นที่ต้องเผชิญหน้า ขบคิด พิจารณาหาทางออก จนแล้วจนรอดโอกาสที่จะหาทางสมดุลดูมันไม่เป็นจริงขึ้นได้เลย?

เราคงต้องมาสะท้อนคิดกันบ้างว่า...
เราใช้เวลามากน้อยแค่ไหนกับการวิตกกังวลในเรื่องเงิน?
บ่อยครั้งแค่ไหนเรายอมซื้อสิ่งของที่ไม่จำเป็นจริงๆ ในชีวิต ซื้อเพียงเพื่อรู้สึกดี สบายใจ?
ท่านเคยรู้สึกว่าท่านควรจะให้เงินเพื่องานสำคัญนั้นๆ แต่ในที่สุดก็ไม่ได้ให้หรือเปล่า?
ท่านสัตย์ซื่อในการถวายเงินเพื่อหนุนเสริมชีวิตและพันธกิจคริสตจักรท้องถิ่นหรือไม่?
ท่านได้ให้เงินแก่งานและคนอื่นด้วยจิตใจชื่นชมยินดีหรือไม่?
ท่านเคย “หาเงิน” และ “ใช้เงิน” ที่ทำให้ท่านรู้สึกออกห่างจากพระเจ้าหรือไม่?

พระคริสต์มาในโลกนี้เพื่อปลดปล่อยทาสให้เป็นไท รวมทั้งคนที่ตกเป็นทาสของเงินทอง และการฉ้อฉลทุจริตในการใช้อำนาจ ถ้าเราตระหนักและสำนึกได้ว่าเรากำลังรับใช้ทั้งเงินทองอำนาจและพระเจ้า (แม้จะไม่ใช่ทุกวันเป็นบางครั้งหรือบ่อยครั้งก็ตาม) พระคริสต์ยืนยันว่า เราสามารถเริ่มต้นรับประสบการณ์การทรงปลดปล่อยให้ออกจากอำนาจครอบงำของเงินทอง ให้เราเริ่มต้นที่จะสารภาพความจริงนี้ต่อพระองค์ และทูลขอการทรงช่วยจากพระองค์ ยิ่งเราได้รับพระคุณจากพระองค์มากแค่ไหน เราก็จะมีความเป็นไทจากอำนาจเงิน และ มีโอกาสรับใช้พระองค์มากขึ้นแค่นั้น และในเป้าหมายปลายทาง ชีวิตทั้งสิ้นของเราก็จะเป็นชีวิตที่รับใช้พระองค์อย่างเต็มที่

ท่านเคยตกอยู่ในสภาวะของการรับใช้พระเจ้าและรับใช้เงินทองในเวลาเดียวกันหรือไม่?
ถ้าเคย ในเหตุการณ์ไหน?
ท่านเห็นถึงแรงที่ดึงกันระหว่างการอุทิศชีวิตให้กับพระเจ้า กับ ความรักความต้องการในทรัพย์สินเงินทองหรือไม่? ผลที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไรบ้าง?
ท่านเคยมีประสบการณ์ที่พระคริสต์ทรงปลดปล่อยท่านให้หลุดรอดออกจากอำนาจของเงินทองหรือไม่? อย่างไร?

คงยากที่เราจะปฏิเสธว่าเราต้องปล้ำสู้ระหว่างเรื่องการรับใช้พระเจ้ากับการรับใช้เงินทอง
และในเวลานั้นเองเรากลับพบตัวตนของเราว่าเรายังต้องการเงินทองทรัพย์สิน
ยิ่งกว่านั้น เราลำดับให้เงินทองเป็นลำดับสำคัญสูงสุดในชีวิต
เราใช้เวลากับการวิตกกังวลเรื่องเงินทองในชีวิตอย่างมาก
เมื่อเรายืนยันว่าจะไว้วางใจพระเจ้าในเรื่องนี้
แต่เราก็พบความจริงอีกว่าเรื่องเงินทองกลับรบกวนจิตใจของเราอย่างมาก
สิ่งนี้ทำให้เรายังต้องอยู่ห่างออกจากองค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา

ขอองค์พระผู้เป็นเจ้ากอบกู้เราให้ออกจากบ่วงอำนาจร้ายแห่งเงินทอง
หลุดรอดสู่ความเป็นไทในพระคริสต์ที่สมบูรณ์
อย่าให้มีสิ่งอื่นใดที่เป็นลำดับแรกในชีวิตของเรานอกจากองค์พระผู้เป็นเจ้า
อย่าให้มีใครเป็นเจ้านายบงการชีวิตของเรานอกจากพระองค์
เพื่อการดำเนินชีวิตในทุกมิติของเราจะนำมาซึ่งการยกย่องและสรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้า

27 กรกฎาคม 2554

แต่พระเจ้ารู้ซึ้งถึงจิตใจของท่าน...ตอนที่ 2

แต่พระองค์ตรัสแก่เขาว่า
“เจ้าทั้งหลายทำทีดูเป็นคนชอบธรรมต่อหน้ามนุษย์
แต่พระเจ้าทรงทราบจิตใจของเจ้าทั้งหลาย
ด้วยว่าซึ่งเป็นที่นับถือมากท่ามกลางมนุษย์
ก็ยังเป็นที่เกลียดชังจำเพาะพระพักตร์พระเจ้า”
(ลูกา 16:15)

พระองค์ตรัสกับพวกเขาว่า
“พวกท่านทำตัวเป็นคนชอบธรรมในสายตามนุษย์
แต่พระเจ้าทรงทราบจิตใจของท่าน
สิ่งที่ถือว่าสูงค่าในสายตามนุษย์ก็น่ารังเกียจในสายพระเนตรพระเจ้า”
(อมตธรรม, ลูกา 16:15)

ครั้งก่อนเราได้สะท้อนคิดพระธรรมตอนนี้ด้วยการพุ่งความสนใจของเราไปที่ว่า พระเจ้าทรงทราบลงลึกในก้นบึ้งแห่งหัวใจของเรา ในวันนี้ให้เราสะท้อนคิดต่อไปอีกหนึ่งถึงสองประเด็น

ประการแรก พระเจ้าทรงทราบถึงจิตใจที่โศกเศร้า จิตใจที่กำลังทุกข์ยากลำบาก แต่ท่านก็ยังสามารถทำเป็นว่าหน้าตาสดใสจิตใจชื่นบานให้คนอื่นเห็นได้ เราหลอกคนอื่นได้ แต่เราหลอกพระเจ้าไม่ได้ พระองค์ทรงมองเห็นลงลึกถึงสิ่งที่อยู่ในจิตใจของเรา แม้เราจะซ่อนเร้นมิดชิดเพียงใดก็ตาม และสำคัญกว่านั้นคือ พระเจ้าทรงเห็นภายในของเราอย่างลึกซึ้งยิ่งกว่าเราจะรู้เท่าทันตนเองเสียอีก

ประการที่สอง บางครั้งคนเรากลัวว่าพระเจ้าจะทรงทราบว่าภายในชีวิตของตนเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ และพยายามที่จะเก็บซ่อนความคิดของตนจากสายพระเนตรของพระเจ้า แต่ไม่สำเร็จ หรือเขาคนนั้นอาจจะพยายามปกป้องหรือแสดงให้คนอื่นเห็นว่าการกระทำของตนนั้นดีถูกต้อง รวมถึงการที่พยายามจะทำให้จิตในภายในของตนให้สะอาดบริสุทธิ์ แต่เขาก็พบว่าไม่มีทางที่จะซุกซ่อนความจริงเหล่านั้นได้เลย ดังนั้น ชีวิตที่ดำรงอยู่จึงเป็นอยู่ด้วยความกลัวในพระพิโรธและการพิพากษาของพระเจ้า

ประการที่สาม ข่าวดีก็คือ เมื่อเราพิจารณาความจริงของการที่พระเจ้าทรงทราบลงลึกถึงก้นบึ้งแห่งจิตใจของเรานั้น เราต้องชัดเจนในที่นี้ว่าพระเจ้ามิได้เป็นผู้กระหายหาการลงโทษ แต่พระลักษณะที่สำแดงผ่านชีวิตของพระเยซูคริสต์เราพบว่า พระองค์เป็นเหมือนผู้เลี้ยงแกะที่มีจิตใจมุ่งเสาะหาแกะตัวที่หลงหาย หรือเป็นเหมือนหญิงที่เสาะหาเหรียญที่หาย เหมือนกับพ่อที่อ้าแขนต้อนรับบุตรคนเล็กที่ผลาญสมบัติส่วนของตนจนหมดสิ้น พระเจ้าต้องการอ้าแขนออกเพื่อโอบกอดเราแต่ละคนและเปลี่ยนแปลงแต่ละชีวิต พระเจ้าผู้ทรงมองทะลุเข้าในจิตใจของเราไม่ต้องการที่จะลงโทษเรา พระองค์พร้อมที่จะยกโทษแก่เราแต่ละคนถ้าเราพร้อมที่จะรับการยกโทษจากพระองค์ ดังนั้น พระเจ้าที่ทรงล่วงรู้ลงลึกถึงชีวิตจิตใจภายในของเรา พระองค์ทรงเข้าพระทัย ทรงกระตุ้นเราให้หันกลับมาหาพระองค์ด้วยความเชื่อมั่นและด้วยความหวัง

ในพระธรรมฮีบรูบทที่ 4 ได้อธิบายประเด็นนี้อย่างชัดเจน ในข้อ 13 ได้ชี้ให้เห็นว่า “ไม่มีสิ่งใดที่ทรงสร้างไว้จะซ่อนเร้นจากสายพระเนตรของพระเจ้าได้ ทุกสิ่งถูกเปิดเผยและถูกตีแผ่ต่อพระเนตรพระองค์ผู้ซึ่งเราทั้งหลายต้องกราบทูลรายงาน” (อมตธรรม) พระคัมภีร์กล่าวต่อไปว่า ดังนั้นให้เราชำระจิตใจของเราให้สะอาด และปรับแก้พฤติกรรมของเราให้ถูกต้องเช่นนั้นหรือ? ไม่ใช่แน่ แต่พระคัมภีร์ย้ำเตือนเราถึงพระเยซูคริสต์ “มหาปุโรหิตผู้ยิ่งใหญ่” ผู้ทรงเห็นใจในความอ่อนแอต่างๆ ของเรา เพราะพระองค์ทรงถูกทดลองใจเช่นเดียวกับเราทุกประการ กระนั้นก็ทรงปราศจากบาป”(ข้อ 15) เพราะพระเยซูคริสต์ทรงเข้าใจเรา และเพราะพระองค์ทรงเป็นมหาปุโรหิตที่ทรงเปิดทางแก่เราเพื่อเราจะสามารถคืนสู่สัมพันธภาพที่ถูกต้องกับพระเจ้า ตามที่บันทึกในพระธรรมฮีบรูว่า “ฉะนั้น ขอให้เราเข้ามาใกล้บัลลังก์แห่งพระคุณด้วยความมั่นใจ เพื่อเราจะได้รับพระเมตตา และจะพบพระคุณที่จะช่วยเหลือเราเมื่อถึงคราวจำเป็น”(4:16, อมตธรรม)

เพราะพระเยซูคริสต์ทรงสำแดงความรักของพระเจ้าผ่านการทรงยอมสละพระชนม์ชีพของพระองค์เพื่อเรา ดังนั้น พระองค์ทรงรู้จักเราเป็นอย่างดี เราจึงไม่ต้องกลัวที่จะถึงซึ่งความตาย แต่พระองค์จะทรงนำเราสู่ความเป็นไทใหม่ที่จะพบทางเข้าถึงพระเจ้า เป็นทางที่เปิดออกเพื่อเราที่จะมีประสบการณ์ตรงกับพระคุณที่มาถึงเรา ที่ทรงเปลี่ยนแปลงและสร้างจิตใจ และ การกระทำของเราขึ้นใหม่

ท่านรู้สึกต้องการเข้าถึงพระบัลลังก์ของพระเจ้าด้วยใจที่เป็นไทและกล้าหาญหรือไม่? ทำไม?
ถ้าท่านเชื่อมั่นอย่างจริงจังว่า พระเจ้าทรงทราบทุกสิ่งเกี่ยวชีวิตของท่าน และพระองค์ทรงรักท่านด้วยความรักอันมั่นคงของพระองค์ การดำเนินชีวิตของท่านจะเปลี่ยนแปลงแตกต่างไปจากที่เป็นในปัจจุบันนี้หรือไม่? อย่างไร?

พระเจ้าทรงทราบถึงชีวิตจิตใจทั้งสิ้นของเราแต่ละคน
ไม่มีสิ่งใดหรือส่วนใดในชีวิตที่จะซ่อนเร้นจากพระองค์ได้
นี่เป็นสิ่งที่น่าเกรงกลัวยิ่งสำหรับเรา?
แต่แท้จริงแล้ว นี่เป็นพระคุณพระคุณสำหรับเราแต่ละคน
แต่แท้จริงแล้ว พระองค์ทรงเฝ้ามองชีวิตของเราด้วยสายพระเนตรแห่งความเมตตา
แต่แท้จริงแล้ว พระองค์แสวงหาเราเพื่อที่จะมีความสนิทใกล้ชิดกับเรา
แต่แท้จริงแล้ว พระองค์ต้องการที่จะชำระเรา และ สร้างเราขึ้นใหม่

เป็นพระคุณ ที่พระเยซูคริสต์เป็นพระมหาปุโรหิตผู้ยิ่งใหญ่สำหรับเรา
เป็นพระคุณ ที่พระคริสต์ยอมสละพระชนม์ชีพเพื่อเราจะได้รับการยกบาปโทษ
เป็นพระคุณ ที่พระคริสต์ทรงเข้าใจถึงความอ่อนแอของเรา
เป็นพระคุณ ที่เราจึงเข้ามาอยู่เบื้องพระพักตร์ของพระเจ้าได้โดยทางพระเยซูคริสต์
เป็นพระคุณ ที่เราสามารถมีชีวิตที่ติดสนิทกับพระเจ้าได้
เป็นพระคุณ ที่ชีวิตของเราได้รับความเป็นไท และเข้าถึงพระเจ้าโดยปราศจากความกลัว

แท้จริงแล้ว ที่เราเข้าถึงพระเจ้าได้ในทุกวันนี้ก็เพราะพระคุณเมตตาของพระคริสต์
ขอพระองค์ได้โปรดชำระชีวิตจิตใจของเราใหม่ เพื่อเราจะสามารถดำเนินชีวิตตามพระประสงค์ของพระองค์อย่างเต็มเปี่ยม

25 กรกฎาคม 2554

แต่พระเจ้ารู้ซึ้งถึงจิตใจของท่าน...(ตอนที่ 1)

แต่พระองค์ตรัสแก่เขาว่า
“เจ้าทั้งหลายทำทีดูเป็นคนชอบธรรมต่อหน้ามนุษย์
แต่พระเจ้าทรงทราบจิตใจของเจ้าทั้งหลาย
ด้วยว่าซึ่งเป็นที่นับถือมากท่ามกลางมนุษย์
ก็ยังเป็นที่เกลียดชังจำเพาะพระพักตร์พระเจ้า”
(ลูกา 16:15)

พระองค์ตรัสกับพวกเขาว่า
“พวกท่านทำตัวเป็นคนชอบธรรมในสายตามนุษย์
แต่พระเจ้าทรงทราบจิตใจของท่าน
สิ่งที่ถือว่าสูงค่าในสายตามนุษย์ก็น่ารังเกียจในสายพระเนตรพระเจ้า”
(อมตธรรม, ลูกา 16:15)

ฟาริสีไม่พอใจนักที่พระเยซูคริสต์ยืนยันว่า ไม่ควรเป็นคนที่นับถือยกย่องพระเจ้าและเงินทองไปพร้อมด้วยกัน (ลูกา 16:14) เราคงคุ้นๆ กับการยืนยันความจริงนี้และรู้อีกว่า สิ่งนี้เคยเป็นความจริงในชีวิตของเราเช่นกัน

พระเยซูตอบสนองต่อคำเยาะเย้ยเสียดสีของพวกฟาริสีเกี่ยวกับเรื่องเงินทอง แต่พระองค์มิได้กล่าวถึงเรื่องเงินทองทันที แต่พระองค์มุ่งเป้าไปที่ “จิตใจ” ของพวกฟาริสี ว่า “เจ้าทั้งหลายทำทีดูเป็นคนชอบธรรมต่อหน้ามนุษย์ แต่พระเจ้าทรงทราบจิตใจของเจ้าทั้งหลาย...”(16:15) พระคัมภีร์ตอนนี้ถ้าถอดความตามตัวอักษรจะได้ความว่า “เจ้าทั้งหลายพิสูจน์ อ้างอิง และ ทำตัวให้คนอื่นเห็นและเข้าใจว่าเจ้าเป็นคนบริสุทธิ์ถูกต้อง...” แน่นอนครับ ฟาริสีต้องการให้คนรอบข้างมองตนว่าเป็นคนดีมีคุณธรรม บริสุทธิ์ ยุติธรรม ฟาริสีต้องการให้คนรอบข้างเคารพนับถือ และยกย่องตน พวกเขาต้องการเป็นคนที่มีชื่อเสียงเกียรติยศในสังคมของพวกเขา... ที่พูดมาทั้งหมดนี้ดูเหมือนเรามีประสบการณ์คุ้นชินอย่างมากใช่หรือไม่เนี่ย?

ผมคงต้องยอมสารภาพความจริงว่า ในตัวผมมี “เมล็ดพันธุ์ฟาริสี” ปลูกฝัง บ่มเพาะอยู่ มิเพียงแต่ผมจะชอบ ติดอกติดใจ และถึงขั้นบางครั้งหลงระเริงงมงายกับเงินทองเท่านั้น แต่ในสภาพการณ์ชีวิตเช่นนั้นผมก็ต้องการให้คนรอบข้างมองผมว่า ผม“เป็นคนชอบธรรม” “เป็นคนดีควรแก่การยกย่องนับถือให้เกียรติ” บ่อยครั้งที่ตนทำตัวลื่นไหลให้คนรอบข้างสรรเสริญยกย่องตนเอง ถึงแม้ว่าในสายตาของคนทั่วไปไม่เห็นว่าสิ่งนี้ผิดแปลกอะไร และบ่อยครั้งเมื่อคนรอบข้างจับได้ว่าตัวจริงของผมมิใช่เป็นเช่นนั้น ผมก็จะอ้างว่า ที่ชีวิตของตนเป็นเช่นนี้เพราะอิทธิพลรอบข้างทำให้เราต้องลื่นไหลตามไป? แต่ที่สำคัญยิ่งที่ผมต้องไม่ลืมว่า ในการที่ทำตัวเช่นนี้ผมกำลังเล่มเกมชีวิต “ปากว่าอย่างใจเป็นอย่าง” กับพระเจ้า ผมกำลังให้คุณค่าสิ่งอื่นๆ สูงกว่าพระเจ้า!

คำพูดประโยคสั้นๆ ของพระเยซูคริสต์ที่ว่า “แต่พระเจ้าทรงทราบจิตใจของท่าน...” กระตุ้นเตือนผมอย่างทรงพลัง ในทัศนะของพระคัมภีร์จิตใจของเรามิใช่เป็นบ้านของอารมณ์เท่านั้น แต่จิตใจของมนุษย์ตามทัศนะของพระคัมภีร์เป็นศูนย์กลางของสัจจะความจริงชีวิตภายในของเราแต่ละคน และยังเป็นที่ที่ของความนึกคิดและความรู้สึกของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่นี่คือศูนย์ของการตัดสินใจในชีวิตของคนๆ นั้น ไม่สำคัญว่าชีวิตภายนอกของเราจะดูดีแค่ไหนอย่างไร แต่พระเจ้าทรงทราบลงลึกถึงก้นบึ้งแห่งจิตใจของเรา

พระเยซูคริสต์มิได้บอกว่าพฤติกรรมการแสดงออกของเราเป็นเรื่องไม่สำคัญ แต่เราต้องเลือกที่จะดำเนินชีวิตและกระทำในสิ่งที่ถูกต้องตามพระประสงค์ของพระเจ้า และพระองค์กำลังเตือนเราว่า เราไม่ควรดำเนินชีวิตฉาบฉวยเพื่อทำให้คนอื่นพอใจยกย่อง แต่มิได้สนใจว่าถูกต้องดูดีในสายพระเนตรของพระเจ้าหรือไม่ เป็นการดำเนินชีวิตที่ส่อชี้ให้เห็นว่า “เมล็ดพันธุ์ฟาริสี” กำลังเติบโต คุม และมีอิทธิพลเหนือชีวิตของเรา

ท่านรู้สึกนึกคิดเช่นไร ที่พระเยซูคริสต์บอกว่า พระเจ้าทรงทราบลงลึกถึงจิตใจของท่าน?
เมื่อท่านทราบเช่นนี้แล้วท่านรู้สึกเช่นไร? รู้สึกอาย กลัว มีกำลังใจ ท้าทาย
การดำเนินชีวิตที่ “ชอบธรรม” ของท่านติดตรึงฝังใจคนรอบข้างอย่างไรบ้าง?

ใช่สินะ... พระเจ้าทรงทราบและค้นลึกจนถึงก้นบึ้งแห่งจิตใจของข้าฯ
พระองค์ทรงทราบถึงทุกสิ่งภายในตัวข้าฯ
พระองค์ทรงทราบถึงความลับสุดยอดในชีวิตข้าฯ
พระองค์ทรงทราบความกลัวทั้งสิ้นภายในตัวข้าฯ
พระองค์ทรงทราบถึงความผิดบาปที่ข้าฯพยายามซ่อนให้พ้นจากสายตาของพระองค์ และความทรงจำของตนเอง
พระองค์ทรงทราบถึงการที่ข้าฯพยายามทำตัวให้คนอื่นพึงพอใจชื่นชอบมากกว่าให้พระองค์พอพระทัยในชีวิตของข้าฯ
พระองค์ทรงทราบก่อนที่ข้าฯจะเปิดเผยสิ่งเหล่านี้ต่อพระองค์

ขอพระองค์ช่วยข้าพระองค์ เปลี่ยนแปลง และสร้างข้าฯใหม่
ให้เป็นคนที่สัตย์ซื่อที่พระองค์จะพอไว้วางใจได้
ให้ข้าฯแสวงหาการดำเนินชีวิตที่ยกย่อง สรรเสริญ ให้เกียรติพระองค์
ด้วยทั้งชีวิต
ด้วยความคิดและความรู้สึก
ด้วยความใฝ่ฝัน
ด้วยความปรารถนา
ด้วยชีวิตความเป็นอยู่ในแต่ละวัน

ด้วยพระคุณของพระเจ้า
ชีวิตและจิตใจของเรานำมาซึ่งการถวายเกียรติแด่พระเจ้า
ชีวิตและจิตใจของเราจึงสำแดงความเมตตาคุณของพระองค์ที่มีต่อโลกนี้

22 กรกฎาคม 2554

สร้างคน...สร้างระบบ...?

6คนเกียจคร้านเอ๋ย ไปหามดไป๊
พิเคราะห์ดูทางของมัน และจงฉลาด
7โดยปราศจากผู้หัวหน้า
เจ้าหน้าที่หรือผู้ปกครอง
8มันเตรียมอาหารของมันในฤดูแล้ง
และส่ำสมของกินของมันในฤดูเกี่ยว
9คนเกียจคร้านเอ๋ย เจ้าจะนอนนานเท่าใด
เมื่อไรเจ้าจะลุกขึ้นจากหลับ
10หลับนิด เคลิ้มหน่อย
กอดมือพักนิดหน่อย
11และความจนจะมาเหนือเจ้าอย่างคนจร
และความขัดสน อย่างคนถืออาวุธ
(สุภาษิต 6:6-11)

3เขาเป็นเช่นต้นไม้ที่ปลูกไว้ริมธารน้ำ
ซึ่งเกิดผลตามฤดูกาล และใบก็ไม่เหี่ยวแห้ง
การทุกอย่างซึ่งเขากระทำก็จำเริญขึ้น
(สดุดี 1:3)

สมัยที่ผมเป็นนักเรียนชั้นมัธยมต้นที่โรงเรียนสืบนทีธรรม เมื่อมีการฟื้นฟูและครูมาตอบคำถามในห้องเรียน ครูเปิดโอกาสให้นักเรียนถามคำถาม ปรากฏว่าไม่มีใครถาม ครูจึงให้นักเรียนเขียนคำถามลงในกระดาษเพื่อถามคุณครู ผมจำได้ว่า ผมเขียนถามไปว่า ผมจะเอาชนะความขี้เกียจได้อย่างไร? ทำอย่างไรถึงจะไม่ต้องเป็นคนเกียจคร้าน? เมื่อครูอ่านคำถามหน้าชั้นเรียน นักเรียนในห้องพากันหัวเราะ ผมจำได้ว่า ครูตอบผมว่า “คำถามโลกแตก...”

เป็นเวลานาน ที่ผมไม่เข้าใจถึงความสำคัญของการเกียจคร้านว่ามีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับด้านจิตวิญญาณอย่างแยกไม่ออก ผมมักคิดว่าถ้าจะแก้ไขความเกียจคร้านในตัวคน เราก็ควรพยายามที่จะพัฒนาตนเองให้มีนิสัยการทำงานให้ดีขึ้น มีแรงบันดาลใจในการทำงาน ทำงานทุ่มเทให้หนักขึ้น และทำงานให้มีประสิทธิภาพให้ดียิ่งขึ้น

สถาบันของเรา หน่วยงานราชการ ที่ทำงานขององค์กรเอกชนต่างประสบกับปัญหาที่คนทำงานในองค์กรทำงานแบบ “เช้าชามเย็นชาม” หรือไม่ก็ทำงานแบบทำตามหน้าที่ ขาดความกระตือรือร้น ขาดการทุ่มเท ขาดการจริงจังเพื่อให้ได้ผลผลิตในงานที่ทำให้มากขึ้น ซึ่งนักบริหารมักมองไปสาเหตุสองด้านคือ ระบบการทำงานที่ไม่สอดคล้องหรือเกื้อหนุนในการทำงานที่เกิดผลและมีประสิทธิภาพ ด้านเครื่องไม้เครื่องมือหรือด้านเทคโนโลยีในการทำงานอาจบกพร่อง จึงลงทุนมากมายมหาศาลในด้านนี้ แต่ผลที่ได้รับก็ไม่ดีไปกว่าเดิม ดังนั้น นักบริหารก็จะมองไปที่คนทำงาน อาจจะเกิดจากขาดแรงกระตุ้น แรงบันดาลใจ จึงจัดการจ้างบริษัทพัฒนาบุคลากรเข้ามาทำการอบรมพนักงานและเจ้าหน้าที่ของตน จนแล้วจนรอดก็กลับเป็นในทำนองเดิมๆ ยิ่งสร้างระบบการประกันคุณภาพเพื่อกระตุ้นและให้เป็นแนวทางให้คนทำงานในองค์กรสร้างผลงานคุณภาพตามเป้าประสงค์ แต่ก็กลับพบว่ากลายเป็นภาระเพิ่มพูนภาระแก่คนทำงาน คนทำงานต้องด่าลับหลังว่า “พวกบริหารมันไม่มีอะไรจะทำแล้วหรือไง มัวแต่มานั่งคิดเปลี่ยนระบบประกันคุณภาพได้ทุกเดือนทุกอาทิตย์....” สิ่งที่คิดว่าใส่ลงไปเพื่อแก้ปัญหา และ พัฒนาคุณภาพกลับกลายเป็นโรคร้ายใหม่ในองค์กร และทำร้ายความไว้วางใจและความเชื่อถือของคนทำงานต่อผู้นำผู้บริหารองค์กร

แต่พระคัมภีร์มองเรื่องการไม่เกิดผลในชีวิตอย่างที่กล่าวข้างต้น มิได้มองว่าให้เสริมแรงกระตุ้น เพิ่มแรงบันดาลใจ หรือ เอาผลประโยชน์เข้าล่อเพื่อที่คนในองค์กรจะทำงานเกิดผลยิ่งขึ้น ภาพที่พระคัมภีร์ใช้ในที่นี้คือการเกิดผล แต่มิได้เน้นความสำคัญที่การทำงานมากมายซับซ้อน และมิใช่แม้แต่การสร้างกระบวนการที่จะทำให้เกิดผล

ในพระคัมภีร์กล่าวว่า คนที่เชื่อศรัทธาในพระเจ้า เป็นเหมือนต้นไม้ที่อยู่ริมธารน้ำแห่งชีวิต ต้นไม้นี้ไม่จำเป็นที่จะต้องทำงานซับซ้อนยุ่งยาก วุ่นวาย อย่างเอาเป็นเอาตาย ต้นไม้เหล่านี้ไม่ต้องเข้าสัมมนาอบรมเชิงปฏิบัติการว่าจะทำอย่างไรที่จะเกิดผลดกคุณภาพดี ต้นไม้เหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเติมคาเฟอินเพื่อกระตุ้นเอดรีนาลิน (adrenaline )ให้อยู่ในระดับเพียงพอ ต้นไม้ไม่ต้องรีบร้อนและเร่าร้อน แต่ในต้นไม้นั้นมีการทำงานอย่างต่อเนื่อง สอดคล้อง เต็มกำลัง ถึงแม้สิ่งเหล่านี้จะไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาจากภายนอกก็ตาม ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ ต้นไม้รู้ว่าแหล่งอาหารที่จะบำรุงเลี้ยงดูต้นไม้อยู่ที่ไหน มาจากไหน แล้วต้นไม้นั้นจะหยั่งรากลงลึกในแหล่งการเลี้ยงดู ไม่จำเป็นต้องสู้ชิงและวุ่นวาย สิ่งสำคัญคือต้นไม้เรียนรู้ที่จะหยั่งรากลึกลงยึดแน่นในแหล่งอาหารที่เลี้ยงดูตนเอง

การหยั่งรากลงยึดติดแน่นในพระคริสต์คือวิธีการแก้ไขความเกียจคร้านเฉื่อยชาในชีวิตและจิตวิญญาณของเรา การหยั่งลึกยึดติดในพระคริสต์มิใช่ความพยายาม แต่เป็นการเข้าถึงแหล่งบำรุงเลี้ยง และ แหล่งฟื้นฟูชีวิตจิตวิญญาณของเราให้มีชีวิตฟื้นชื่นขึ้นใหม่ มีชีวิตใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ท่านจะเป็นคนเข้มแข็งมากขึ้น เมื่อท่านเคยเป็นคนอ่อนแอมาก่อน
เมื่อท่านยอมจำนนต่อพระเจ้า ท่านก็จะค้นพบว่าพระองค์มีพระประสงค์อะไรในชีวิตของท่าน

19 กรกฎาคม 2554

เมื่อผู้นำต้องการพักผ่อน

28บรรดาผู้ทำงานเหน็ดเหนื่อยและแบกภาระหนักจงมาหาเรา และ
เราจะให้ท่านทั้งหลายหายเหนื่อยเป็นสุข
มัทธิว 11:28

ไม่ว่าท่านจะเป็นผู้นำประเภทใด หรือ ผู้นำของคนกลุ่มใดก็ตามต่างก็เป็นภาระความรับผิดชอบที่ยากลำบากแทบทั้งสิ้น และเป็นงานที่จะต้องลงทุนลงแรงอย่างจริงจัง ผมเองได้พบว่า การเป็นผู้นำช่างมีภาระความรับผิดชอบที่เหมือนกับการทำพันธกิจต่างๆ อย่างไม่น่าเชื่อ ผมเองมีโอกาสทำงานกับนักศึกษาในคริสตจักรแห่งหนึ่ง ได้รับพระพรในการนำกลุ่มนักศึกษาน้องใหม่และนักศึกษาปีที่สอง แต่ก็ต้องยอมรับว่าการทำงานกับนักศึกษากลุ่มนี้ทำให้ผมได้รับทั้งกำลัง และบางครั้งทำให้รู้สึกอ่อนแรงในชีวิต เมื่อนักศึกษากลุ่มนี้ทำอะไรสำเร็จทำให้เกิดกำลังในตัวผม ผมมีกำลังใจเมื่อเห็นความสัมพันธ์อันดีที่พวกเขามีต่อกัน แต่ก็น่าแปลกใจในบางครั้งที่ผมพยายามตั้งใจทำให้พวกเขาเกิดสิ่งที่ดีสร้างสรรค์...แต่นั่นกลับสร้างความอ่อนแรง อ่อนใจ ทั้งอารมณ์ ความรู้สึก หรือความคิดก็ได้ ผมเองต้องการที่จะเอาใจใส่ให้กลุ่มนักศึกษาหญิงกลุ่มนี้เติบโตขึ้นในความเชื่อศรัทธา

ในภาวะเช่นนั้น พระเยซูตรัสกับเราว่า ให้เราเข้ามาหาและผ่อนพักในพระองค์ การผ่อนพักที่พระเยซูกล่าวถึงนี้มิใช่การพักผ่อนฝ่ายกายเท่านั้น แต่เป็นการผ่อนพักทั้งด้านอารมณ์ ความรู้สึก ความคิดและจิตวิญญาณด้วย เป็นการผ่อนพักสำหรับจิตวิญญาณของเรา ผมโหยหาการผ่อนพักเช่นนี้

แทนที่เราจะแสวงหาการผ่อนพัก เราจำเป็นที่จะรู้เท่าทันว่าอะไรที่เป็น “ภาระ” ที่เราต้องแบกรับอยู่ (อาจจะเป็นการแบกรับทั้งทางกาย จิตใจ อารมณ์ และจิตวิญญาณ) ให้เรานำ “ภาระ” เหล่านั้นมาวางไว้ที่พระเยซูคริสต์ งานนี้พูดง่าย ฟังดูดี แต่ทำยาก เราต้องการที่จะมีชีวิตที่ผ่อนพักแต่ในเวลาเดียวกันเราก็ “แบกภาระหนักอึ้ง” นั้นไว้ ไม่ยอมที่จะนำมาวางไว้ที่พระเยซูคริสต์ เพราะเราเองรู้ว่า “ภาระ” นั้นสำคัญมาก เราต้องเอาใจใส่ เราต้องรับผิดชอบ พูดรวมสรุปคือภาระนั้นสำคัญมากในความรู้สึกนึกคิดของเรา เราต้องการที่จะควบคุมความเป็นไปของงานนั้นให้ได้ตามผลที่เราต้องการให้เกิดขึ้น เพราะเรามักจะเข้าใจว่ายิ่งเราทุ่มเทควบคุมงานได้มากแค่ไหน ผลสำเร็จก็จะเกิดขึ้นได้อย่างที่เราคาดหมายได้มากแค่นั้น

แต่ความจริงอีกด้านหนึ่งที่เราเองต้องตระหนักชัดในทุกเวลาเช่นกันว่า เราจะไม่สามารถเป็นผู้นำตามพระประสงค์ของพระองค์ได้เลยจนกว่าเราจะตระหนักรู้ว่าภาระในส่วนใดที่พระองค์จะเป็นผู้รับผิดชอบ นี่หมายความว่าในการที่เราจะเป็นผู้นำตามพระประสงค์ของพระองค์ ภาระรับผิดชอบนั้นๆที่ทรงเรียกให้เราเข้ามารับใช้เป็นภาระความรับผิดชอบร่วมกันของพระเยซูคริสต์ และ ภาระความรับผิดชอบในส่วนที่พระองค์มอบหมายให้เราทำ ดังนั้น ความสำคัญเริ่มแรกในที่นี้เราต้องแยกแยะได้ชัดเจนว่า งานส่วนไหนที่เราได้รับมอบหมายจากพระเจ้าให้รับผิดชอบ และงานส่วนไหนที่เป็นภาระความรับผิดชอบของพระองค์ เราจึงเป็นผู้ที่พระคริสต์ทรงเรียกให้เราเข้าร่วมในพระราชกิจของพระองค์ และทำตามภาระที่พระองค์ทรงมอบหมายให้เราทำ และต้องไว้วางใจพระคริสต์ว่า พระองค์จะทรงกระทำและรับผิดชอบในส่วนของพระองค์ในเวลาของพระองค์ อย่าดันทุรังเข้าไปควบคุมงานความรับผิดชอบทั้งหมด ทั้งในส่วนของพระองค์ด้วย แต่ผมได้เรียนรู้ว่า การเปลี่ยนแปลง การพัฒนา และผลสำเร็จที่เกิดขึ้นในชีวิตของกลุ่มนักศึกษากลุ่มนี้เป็นส่วนพระราชกิจของพระเจ้า พระเจ้าทรงเรียกและให้โอกาสผมในการเข้ามาอภิบาลชีวิตของกลุ่มเป้าหมายนี้ภายใต้แผนการของพระองค์

ท่านกำลังรับผิดชอบภาระพันธกิจที่พระเจ้าทรงมอบหมายให้ท่านทำ/รับผิดชอบใช่หรือไม่?

ท่านมีความรู้สึกว่าท่านต้องทำงานทุ่มเทให้หนักกว่านี้เพื่องานจะสำเร็จหรือไม่?

ท่านตระหนักชัดและรู้เท่าทันหรือไม่ว่า ภาระความรับผิดชอบส่วนไหนในงานนี้ที่เป็นส่วนงานที่พระองค์ทรงมอบหมายให้ท่านทำ?

ท่านได้นำส่วนที่เป็นพระราชกิจที่พระองค์รับผิดชอบมาวางไว้ที่พระบาทของพระองค์หรือไม่? หรือ ท่านพยายามเข้ามาดูแล รับผิดชอบในส่วนนั้นด้วย?

ท่านได้มอบชีวิตและเปิดชีวิตของท่านให้พระองค์ทรงทำงานในชีวิตและผ่านชีวิตของท่าน เพื่อให้พระราชกิจที่ท่านได้มีส่วนร่วมกับพระองค์เกิดสัมฤทธิ์ผลหรือไม่?

ความจริงนั้นบอกได้ว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าเราตระหนักและรู้เท่าทันตามข้างต้น พระเจ้าสามารถช่วยให้ชีวิตของเราเติบโตขึ้น เราควรใช้เวลาส่วนตัวกับพระเจ้า มอบความสำเร็จและไว้วางใจในพระองค์ แล้วพระองค์จะมอบการผ่อนพักและศานติสุขให้เกิดขึ้นในชีวิตของท่าน

13 กรกฎาคม 2554

การสื่อสารด้วยเรื่องหรือคำพูดที่ตลก

บ่อยครั้งที่ผู้นำบางท่านต้องการให้การสื่อสารของตนมีรสชาติน่าสนใจ หรือคิดว่าเพื่อลดความเครียดในการสื่อสาร หรือคิดว่าสร้างความสนใจในผู้ฟัง มักจะใช้คำพูด หรือ การเล่าเรื่อง “ตลก” อย่างไม่ระมัดระวัง ทำให้เรื่อง “ตลก” ที่ตนเล่าตนพูดออกไปกระทบกระเทือนความรู้สึกของผู้ฟังบางคน ทำให้เหยียดลดคุณค่า หรือ ทำให้เขากลายเป็น “ตัวตลก” ในขณะนั้นด้วยความไม่ตั้งใจของผู้พูด ซึ่งนำความเสียหายมาสู่ผู้พูดอย่างยิ่งและยาวนาน (เพราะถูกฝังลึกในความรู้สึกและทรงจำของคนๆ นั้น) กลายเป็น “เรื่องตลก” ที่ “เล่นตลก” กับผู้พูดเสียเอง ดังนั้น ในการจะพูดหรือเล่าเรื่องตลกจึงมีข้อพึงระวัง ดังนี้

เลือกเล่าเรื่องตลกที่สร้างสรรค์และสร้างเสริมผู้ฟัง ถ้าจะให้เป็นเรื่องตลกที่ทำให้กลุ่มผู้ฟังได้หัวเราะด้วยกัน ขอให้เป็นเรื่องตลกในตัวคุณเอง(ตัวผู้พูดเอง) อาจจะเป็นเรื่องตลก จุดอ่อนของตนเอง เป็นเรื่องตลกที่เกิดขึ้นกับตัวคุณเอง และที่สำคัญถ้าต้องเกี่ยวข้องพาดพิงถึงคนอื่นขอให้เลือกเล่าเฉพาะเรื่องตลกจากสถานการณ์แวดล้อมมิใช่เรื่องตลกเพราะตัวบุคคล หรือ บุคลิกลักษณะของบุคคล เช่น พูดไม่ชัด ท่าทางที่แสดงออก หรือเป็นเรื่องตลกเกี่ยวกับชาติพันธุ์ของเขา เพราะเรื่องตลกเช่นนี้บางครั้งสร้างความอับอายแก่ผู้ฟังบางคนในกลุ่ม หรือบางครั้งถึงกับสร้างความรู้สึก “เจ็บ” จากการพูดตลกของเรา

เวลาใดที่ท่านจะสื่อสารด้วยเรื่อง “ตลก” ขอการพูดตลกครั้งนั้นพูดอย่างรู้เท่าทัน หรือ ได้พิจารณา ไตร่ตรอง เตรียมการอย่างรอบคอบ มิใช่พูดตลกโดยกลอนพาไป หรือ โดยบังเอิญ หรือ โดยไม่ตั้งใจ เพราะทุกครั้งที่จะใช้เรื่องตลกในการสื่อสาร ผู้ใช้จะต้องพิจารณาว่า เรื่องที่จะเล่านั้น สามารถสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ดั่งใจไหม? เป็นเรื่องที่เล่าออกไปแล้วให้เกียรติและความเคารพต่อผู้เกี่ยวข้องหรือไม่? และเรื่องที่เล่าหลีกเลี่ยงจากการสร้างความเข้าใจผิด หรือ ความหมายสองง่ามสองแง่ในผู้ฟังหรือไม่? ถ้าเรื่องที่เล่าอาจจะนำมาซึ่งการสื่อสารที่ทำให้เกิดความเสื่อมเสีย หรือเสียหายแก่ผู้ฟัง หรือเป็นการลบหลู่ ลดทอนคุณค่า หรือทำให้ผู้ฟังกลายเป็นตัวตลกในวงสนทนา หรือมีความหมายสองง่ามสองแง่แล้ว เงียบเสียจะดีกว่า ดั่งมีผู้กล่าวว่า “...เงียบเสียจะเป็นปราชญ์แทนที่จะเป็นเปรตที่ผีเจาะปากให้มาพูด...”

สุภาษิต 12:18
มีบางคนที่คำพูดพล่อยๆ ของเขาเหมือนดาบแทง แต่ลิ้นของปราชญ์นำการรักษามาให้

มัทธิว 5:37
จริงก็จงว่าจริง ไม่ก็ว่าไม่ พูดแต่เพียงนี้ก็พอ คำพูดเกินนี้ไป มาจากความชั่ว(หรือ มารร้าย)

11 กรกฎาคม 2554

อาโวดาห์ Avodah: ความเชื่อกับการทำงาน

เดวิด มิลเลอร์1 ได้เจาะลึกรากศัพท์ของคำว่า “การทำงาน” ตรงกับภาษาฮีบรูคำว่า avodah (อาโวดาห์) คำๆ นี้ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมได้ให้ความหมายไว้ 3 ความหมายหลักคือ ความหมายแรกหมายถึง การงาน หรือ อาชีพที่ทำ ความหมายที่สองหมายถึง “การนมัสการพระเจ้า” และความหมายประการที่สามคือ “การบริการรับใช้” ผู้อื่น และนี่คือการทรงเรียกของพระเจ้าที่มีต่อเราแต่ละคน กล่าวคือทรงเรียกให้เราทำงานเพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่พระองค์และเป็นการบริการรับใช้เพื่อนมนุษย์ตามพระประสงค์ของพระองค์ด้วย

มิลเลอร์อธิบายอีกว่า ไม่ว่าคนๆ นั้นจะทำการงานอาชีพใด ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่ง ซีอีโอ หรือ เลขานุการ หรือ พนักงานก็ตาม ทุกคนสามารถทำการงานอาชีพเพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า อันเป็นการนมัสการพระเจ้าและเป็นการรับใช้ผู้คนรอบข้างด้วย ดังนั้น การทำงานอาชีพ หรือ การงานที่เรารับผิดชอบในแต่ละวันมิใช่การรับผิดชอบตามหน้าที่เท่านั้น แต่เป็นการกระทำด้วยความเต็มใจ ด้วยจิตใจที่สรรเสริญ ขอบพระคุณพระเจ้า และด้วยความรักเมตตาของพระคริสต์ในการรับใช้คนที่เราพบเห็นแต่ละคนเพื่อสำแดงพระองค์ผ่านกระทำงานของเราในแต่ละวัน

ในทุกวันนี้ ไม่ว่าใครคนนั้นจะมีตำแหน่งหน้าที่ในการงานที่รับผิดชอบอยู่ในระดับไหน หรือได้รับเงินเดือนมากน้อยขั้นใด เขามิเพียงแต่ทำงานเพื่อที่จะมีอาหารเลี้ยงคนในครอบครัว ตนเอง และ ใช้จ่ายชำระหนี้สินเท่านั้น แต่ในส่วนลึกชีวิตจิตวิญญาณของคนเราที่ทำงาน ผู้คนไขว่คว้าหาจุดมุ่งหมายและความหมายของการงานที่ตนเองกระทำอยู่ และเขาก็ไม่ต้องการที่จะแยกจิตวิญญาณของเขาออกจากกิจการงานที่เขาต้องทำและรับผิดชอบในแต่ละวัน

ถ้าเราหวนทบทวนศึกษาวิเคราะห์ถึงหลักคิดหลักเชื่อของคริสเตียนเกี่ยวกับการงานของมนุษย์ ทั้งในความหมายตามพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่ ตลอดจนถึงหลักคิดหลักเชื่อเกี่ยวกับเรื่องการงานในยุคกลาง ในสมัยการปฏิรูปศาสนาคริสต์ ไปจนถึงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ยุคความคิดสังคมนิยมเฟื่องฟู ไปจนถึงสมัยพระกิตติคุณเพื่อสังคม ต่างมีหลักคิดหลักเชื่อในเรื่องกิจการงานที่มนุษย์ทำทั้งสิ้น

หลักคิดหลักเชื่อเกี่ยวกับ “ความเชื่อศรัทธาในงานที่ทำ” นี้มีความแตกต่างหลากหลายกันอย่างมาก และในทุกศาสนาหลักต่างก็มีหลักคิดหลักเชื่อในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นศาสนายิว คริสเตียน อิสลาม ฮินดู พุทธ หรือแม้แต่ศาสนาที่ไม่เน้นความเป็นสถาบัน ถึงแม้ในแต่ละศาสนาจะมีหลักคิดหลักเชื่อเกี่ยวกับงานที่ทำมากมายหลากหลายก็ตาม แต่ในที่สุดผู้คนแต่ละศาสนาก็มักจะมีความเข้าใจถึงการงานที่ทำว่า “เป็นงานอาชีพ” ทำเพื่อให้ได้รับรายได้และมีงานทำ (เพื่อไม่เป็นคนตกงาน)

ในประวัติศาสตร์ของคริสต์ศาสนาได้มีหลักคิดหลักเชื่อเกี่ยวกับกิจการงานที่ทำที่น่าสนใจ เช่น การที่มองว่าการทำงานเป็นเรื่องของทั้งด้านจิตวิญญาณและด้านวัตถุ ดังมีคำกล่าวว่า การทำงานคือการภาวนาธิษฐานและการมีชีวิตที่มีคุณธรรม แต่ก็มีอีกหลายต่อหลายคนในยุคนี้ที่มองว่ากิจการงานที่ต้องทำเป็นภาระหนักที่ผู้คนหาทางหลีกเลี่ยง ในอีกส่วนหนึ่งกลับมองเห็นว่าการทำงานเป็นการทรงเรียกของพระเจ้า แต่บ่อยครั้งที่ผู้คนมองว่ากิจการงานที่ทำในแต่ละวันเป็นเพียงการใช้หรือขายแรงงานในสังคมปัจจุบันนี้ อีกหลายต่อหลายครั้งอีกเช่นกันที่ผู้คนเข้าใจว่าความเชื่อศรัทธาควรจะเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในทุกมิติของชีวิตซึ่งรวมทั้งมิติการทำงานด้วย แต่เราก็พบบ่อยและมากอีกเช่นกันว่า ความเชื่อศรัทธาถูกสำแดงออกเฉพาะในการนมัสการพระเจ้าในวันอาทิตย์เท่านั้น

ทำอย่างไรที่จะช่วยให้ผู้คนที่ทำการงานในแต่ละวัน และ ผู้บริหารในงานด้านต่างๆ ได้ตระหนักเห็นถึงความสำคัญของการที่มีความเชื่อศรัทธาในงานที่ทำอยู่เป็นประจำ ที่รวมเอาความหมายทั้งสามมิติของคำว่า “การงาน” เข้าด้วยกัน เพื่อกิจการงานที่ทำในแต่ละวันสามารถแสดงคุณค่าและความหมายของการทำงานในทั้งสามมิติ

ปฐมกาล 2:15
พระเจ้าจึงทรงให้มนุษย์นั้นอยู่ในสวนเอเดน ให้ทำและรักษาสวน

ยอห์น 4:34
พระเยซูตรัสกับเขาว่า “อาหารของเราคือการกระทำตามพระทัยของพระองค์ ผู้ทรงใช้เรามา และทำให้งานของพระองค์สำเร็จ

มัทธิว 15:32
ฝ่ายพระเยซูทรงเรียกพวกสาวกของพระองค์มา ตรัสว่า “เราสงสารคนเหล่านี้ เพราะเขาค้างอยู่กับเราได้สามวันแล้ว และไม่มีอาหารจะกิน เราไม่อยากให้เขาไปเมื่อยังอดอาหารอยู่ กลัวว่าเขาจะหิวโหยสิ้นแรงลงตามทาง”

-------------
1 เดวิด มิลเลอร์ ได้ทำปริญญาเอก PhD. ด้านจริยธรรมสังคม ในขณะที่ทำการศึกษาในระดับปริญญาเอกในมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) ในปี 2000 ได้ก่อตั้งสถาบันอาโวดาห์ The Avodah Institue มีเป้าหมายในการทำงานกับ ซีอีโอ และ ผู้นำในองค์กรธุรกิจ ที่มักรู้สึกว่าตนไม่มีสิทธิมีส่วนอะไรมากนักในคริสตจักร ทั้งๆ ที่ไปนมัสการพระเจ้าเป็นประจำทุกวันอาทิตย์ ในปี 2008 มิเลอร์ร่วมกับคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยปรินสตัน ตั้งสถาบันความเชื่อและการงาน Faith & Work Institute เพื่อทำการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง มิเพียงแต่สอนเรื่อง และ สอนความคิดของ “อาโวดาห์” (Avodah) ที่แทรกเข้าในกิจการงานด้านธุรกิจ งานอาชีพเท่านั้น แต่แนะนำและท้าชวนให้ผู้นำทางธุรกิจได้สำแดง “อาโวดาห์” ออกในธุรกิจการงานทำและรับผิดชอบอยู่ด้วย

08 กรกฎาคม 2554

สร้างสาวก... เขาสร้างอะไรกัน?

พระเยซูคริสต์ไม่เคยสอนให้เรา “สร้างสาวก” โดยการนำคนเหล่านั้นไปคริสตจักร หรือ ชักชวนพาเขาไปร่วมในกลุ่มศึกษาพระคัมภีร์เท่านั้น ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า การพาผู้เชื่อไปที่คริสตจักร หรือ การร่วมในกลุ่มเรียนพระคัมภีร์มิได้เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการเสริมสร้างความเข้มแข็งเติบโตในชีวิตของการเป็นสาวกพระคริสต์ แต่หมายความว่า ต้องทำมากกว่าการสร้างความรู้และความเข้าใจในพระคัมภีร์เท่านั้น และต้องดำเนินการทั้งกระบวนการของการเปลี่ยนแปลงชีวิตที่ในที่สุดแล้ว พระคริสต์จะเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าในความนึกคิด และ ทั้งชีวิตของคนๆ นั้น

เปาโลบอกทิโมธีในจดหมายฉบับที่สองว่า จงมอบ คำสอนเหล่านั้นซึ่งท่านได้ยินจากข้าพเจ้าต่อหน้าพยานหลายๆ คน ไว้กับ บรรดาคนซื่อสัตย์ที่สามารถสอนคนอื่นได้ด้วย (“มอบ...ไว้กับ คนที่สัตย์ซื่อ” “มอบ...ไว้กับ คนที่เชื่อถือได้” “มอบ...ไว้กับ คนที่ไว้วางใจได้”) (2ทิโมธี 2:2) ในที่นี้ให้ทิโมธี มอบ สิ่งที่เปาโลสอนและเป็นตัวอย่างชีวิตแก่ทิโมธี “ไว้กับ คนที่สัตย์ซื่อ” คำนี้รากศัพท์ภาษาเดิมในพระคัมภีร์ยุคคริสต์ศตวรรษแรก ใช้ภาพของการเงินการธนาคารมาให้ความหมาย คือ “การฝากเงิน” ในธนาคาร (นำเอาสัจจะความจริงและรูปแบบการดำเนินชีวิตตามพระประสงค์ของพระเยซูคริสต์ ใส่, ฝากลงในชีวิตของผู้เชื่อคนอื่นๆ) เพื่อที่จะให้เงินนั้นเกิดดอกออกผล คือให้ใส่สัจจะความจริงและรูปแบบการดำเนินชีวิตตามพระวจนะลงในชีวิตของผู้เชื่อคนอื่นๆ เพื่อชีวิตการเป็นสาวกของพระเยซูคริสต์ของคนเหล่านั้นจะเติบโต เกิดผลงอกงาม

เราที่อยู่ในประเทศไทยที่มีประสบการณ์และคุ้นชินกับการเกษตรกรรม ถ้าจะอธิบายด้วยภาษาภาพพจน์แล้ว คงกล่าวได้ว่า ให้ “หว่าน” เมล็ดแห่งสัจจะความจริงและรูปแบบการดำเนินชีวิตตามพระประสงค์ของพระคริสต์ลงในชีวิตของผู้เชื่อคนอื่นๆ เพื่อว่าเมล็ดนั้นจะงอก เจริญเติบโต และเกิดผลในชีวิตของผู้เชื่อคนนั้นๆ พระธรรม 2 ทิโมธี 2:2 จึงอาจแปลความสำหรับเราได้ว่า “ทิโมธี ท่านได้เรียนรู้มากมายหลายสิ่งหลายเรื่องจากข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงขอให้ท่านได้เอาเมล็ดแห่งสัจจะความจริงที่ท่านได้รับทั้งสิ้น หว่านลงในชีวิตของผู้เชื่อคนอื่นๆ ที่ท่านสัมพันธ์พบเห็น”

เมื่อท่านสอนเยาวชนคนหนึ่งในเรื่องเกี่ยวกับพระคริสต์ ท่านกำลังหว่านเมล็ดแห่งสัจจะชีวิตลงในชีวิตจิตใจของเยาวชนคนนั้น เมื่อท่านได้แบ่งปันพระวจนะของพระเจ้าและอธิษฐานร่วมกับผู้เชื่อคนอื่นๆ ท่านกำลังหว่านเมล็ดแห่งการเป็นสาวกของพระเยซูคริสต์ลงในชีวิตของกันและกัน เพื่อเราจะเป็นสาวกที่แท้จริงของพระเยซูคริสต์ที่เห็นได้ชัดเจน

แท้จริงแล้ว สิ่งที่ข้าพเจ้าเขียนและแบ่งปันในขณะนี้เป็นรูปแบบชีวิต สัจจะความจริงที่บางท่านได้หว่านลงในชีวิตจิตใจของผมมาก่อน และนี่คือการสร้างสาวก คือการที่นำเอาสิ่งที่พระเยซูคริสต์ทรงสั่งสอนและเป็นแบบอย่างแก่เรา หว่านลงในชีวิตจิตใจของผู้เชื่อคนอื่นๆ

มีองค์ประกอบหลัก 3 ประการที่บ่งชี้ถึงการสร้างสาวกที่แท้จริงของพระเยซูคริสต์ ประการแรก สัมผัส เราไม่สามารถที่จะสร้างสาวกจากที่ห่างไกล การที่เหล็กจะฝนเหล็กได้ ก็โดยผ่านสัมพันธภาพขัดสีส่วนตัวที่มีต่อกัน เราหว่านการสัมผัสสัมพันธ์เมื่อเขาถูกคนอื่นละทิ้ง หรือ ไม่สนใจแยแส เรายืนหยัดอยู่เคียงข้างเขา ในขณะที่ผู้อื่นตีจากหายหน้าไป

ประการที่สอง เราต้องอุทิศหรือ ให้เวลา เราไม่สามารถเกิดผลในชีวิตกระทำตามพระประสงค์ของพระคริสต์ให้สำเร็จเสร็จครบในวันเดียวครั้งเดียว เราจะไม่สามารถมีชีวิตคริสเตียนที่เติบโตขึ้นในเพียงชั่วข้ามคืน พวกเราเป็นเหมือนต้นผลไม้ เช่น ลำไย มะม่วง และ ฯลฯ ที่ต้องใช้เวลาในการเติบโตกว่าที่จะเกิดผล

องค์ประกอบประการที่สามคือ สัจจะความจริง เป็นสัจจะความจริงของพระวจนะของพระเจ้า สิ่งนี้จะช่วยให้การสร้างสาวกอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้อง มากกว่าการสร้างสาวกตามความคิดความเห็นความรู้สึกของผู้อื่น หรือ สถานการณ์รอบข้างพาไป กระบวนการ เครื่องมือ หรือ วิธีการสร้างสาวกใดๆ จะไม่สามารถคงทนยืนหยัดได้ถ้าสิ่งเหล่านี้มิได้กระทำบนรากฐานแห่งสัจจะความจริงของพระวจนะ หัวใจหรือแกนกลางของจิตวิญญาณแห่งการสร้างสาวกคือ สัจจะแห่งพระวจนะของพระเจ้า

เป้าหมายของการสร้างสาวกนั้นมีมากกว่า การที่เราจะใส่ข้อมูลความรู้เรื่องพระคัมภีร์และความเชื่อลงในความรู้และความเข้าใจของผู้เชื่อเท่านั้น แต่เป็นกระบวนการที่ชีวิตของผู้เชื่อคนนั้นๆ ได้รับการเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปตามสัจจะความจริงของพระวจนะต่างหาก

06 กรกฎาคม 2554

เมื่อสำนึกตัวได้ว่า...

17เมื่อเขาสำนึกตัวได้ จึงพูดว่า 'ลูกจ้างของพ่อไม่ว่าจะมีมากสักแค่ไหนก็ยังมีอาหารเหลือเฟือ แต่ข้ากลับต้องมาอดตายที่นี่ (ลูกา 15:17)

อุปมาเรื่องบุตรหลงหายเป็นเรื่องที่คริสเตียนจำนวนมากรู้จักและชื่นชอบ เป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ยอดเยี่ยมและบ่งบอกถึงสัมพันธภาพที่พระเจ้ามีต่อเรา ซึ่งเป็นภาพที่ต่อยอดจากอุปมาเรื่องแกะหายและเหรียญหาย พระเยซูคริสต์ทรงพรรณนาถึงภาพความรักสูงสุดของพระเจ้า และทรงแสวงหาลูกของพระองค์ที่หลงหายด้วยความเมตตา

การเริ่มต้นคำอุปมาเรื่องบุตรหลงหาย ทำให้ผู้ฟังในเวลานั้นต้องตกใจถึงความอวดดีของบุตรคนเล็ก ที่เรียกร้องให้พ่อแบ่งสมบัติในส่วนที่เป็นมรดกของเขาทั้งๆ ที่พ่อยังมีชีวิตอยู่ แต่ที่น่าตกใจมากกว่านั้นที่ผู้เป็นพ่อยินยอมทำตามที่ลูกคนเล็กเรียกร้อง เราคาดการณ์เกี่ยวกับพฤติกรรมของลูกคนเล็กได้ และเราคงไม่แปลกใจว่าในที่สุดชีวิตของเขาก็ล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า ยิ่งกว่านั้น เรายังรู้สึกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นการยุติธรรมแล้ว ลูกคนเล็กได้รับผลที่เขาเองได้กระทำลงไป เป็นการลำบากอย่างยิ่งที่ผู้ฟังของพระเยซูคริสต์จะจินตนาการได้ว่าจะมีคนที่ชีวิตตกต่ำถึงขนาดต้องเป็นคนเลี้ยงหมู และคิดจะกินอาหารของหมู (บางคนอาจจะคิดสมน้ำหน้าในใจ)

เมื่อมาถึงเหตุการณ์ในจุดนี้ บุตรคนเล็กจึง “สำนึกตัวได้” (ตามรากศัพท์ในภาษากรีกมีความหมายตามตัวอักษรว่า “เขาคิดถึงตัวเองได้” “เขาได้คิด...และ...เขาคิดได้ว่า”) เราจินตนาการได้เลยว่าบุตรคนเล็กได้มองเห็นถึงตนเองที่ถูกขับไสไล่ส่ง เขาสามารถมองเห็นตนเองชัดเจนขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่มืดมน ลุ่มหลง และหลอกลวง เขาได้ทำให้ชีวิตของตนต้องยุ่งเหยิงสับสน ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเขาต้องเสียดายสินทรัพย์ที่สูญเสียไป เสียใจในความสัมพันธ์ที่ฉีกขาด หดหู่ใจต่อความสูญเสียทางจริยธรรม และ จิตวิญญาณของตน

แม้ว่าในชีวิตของเราอาจจะไม่เคยต้องทำงานที่ต่ำต้อยเฉกเช่นการที่บุตรน้อยคนยิวต้องเลี้ยงสัตว์ที่เป็นมลทินอย่างหมู หวังและรอคอยที่จะกินอาหารของสัตว์มลทินนั้น เมื่อชีวิตตกต่ำลงสุดๆ ก็คาดหวังที่จะอยู่รอดแม้ต้องทำสิ่งที่รู้ทั้งรู้ว่าเป็นมลทิน หลายคนก็มีประสบการณ์แห่งการ “สำนึกตัวได้” หรือ “คิดได้” เราเกิดความเสียใจที่ได้ตัดสินใจเลือกทำบางสิ่งบางอย่างที่ผิดพลาด เรายอมรับถึงความผิดพลาดนั้นด้วยความรู้สึกเจ็บปวดอย่างจริงใจ ที่ชีวิตของเราได้ออกห่างจากชีวิตที่เราหวังจะเป็น แต่เมื่อใดก็ตามที่เรา “สำนึกตัวได้” ในเวลานั้นเองความสิ้นหวังได้ถูกทำลายลง และยังนำเราเข้าหาพระเจ้า เมื่อเราสำนึกถึงความอ่อนแอและความล้มเหลวในชีวิต เราพร้อมที่จะหันกลับมาหาพระองค์

ในชีวิตที่ผ่านมาท่านเคยมีประสบการณ์ของการ “สำนึกตัวได้” “ได้คิด...และ...คิดได้” หรือไม่? เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นเมื่อใด? ในครั้งนั้นได้เกิดอะไรขึ้น? ในทุกวันนี้มีความจำเป็นหรือไม่ที่ท่านจะต้อง “สำนึกตัวได้”? เพื่อท่านจะได้หันกลับมาหาพระเจ้า เพราะความช่วยเหลือของพระองค์เท่านั้นที่จะหนุนเสริมเราได้

เมื่อเราได้มีเวลาที่จะสะท้อนคิดในเรื่องบุตรที่หลงหายในคำอุปมาที่พระเยซูคริสต์ได้เล่า เป็นโอกาสที่เราได้ทบทวน หรือ เตือนความทรงจำของเรา ครั้งเมื่อเราเคย “สำนึกได้ว่า” “คิดได้ว่า” ทำให้เราได้เห็นถึงความอ่อนแอในตนเอง และ การที่ถูกอำนาจของความชั่วครอบงำจนโงหัวไม่ขึ้น ทำให้เรายอมรับความล้มเหลวและความจำกัดในชีวิต

ในเวลาเดียวกันเมื่อเราสำนึกได้ในเวลาที่ชีวิตตกต่ำ ตึงเครียด โศกเศร้าเช่นนั้นว่า พระเจ้ามิได้ละทิ้งเรา แต่เป็นเวลาที่ทรงช่วยเราให้ “สำนึกตนได้” นั้นก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะเข้าใกล้ชิดพระองค์อีกครั้งหนึ่ง เราได้พบกับทางชีวิตใหม่ในพระองค์ การที่เราท่านยอมรับถึงความสิ้นหวัง จนตรอก สิ้นทางออกในชีวิตเป็นก้าวแรกของการยอมน้อมรับเอาพระคุณของพระคริสต์

แท้จริงแล้ว การที่เราสามารถ “สำนึกตัวได้” หรือ “การคิดได้” นั้น เป็นการทรงหนุนช่วยและการเปิดเผยของพระวิญญาณบริสุทธิ์ และนี่คือก้าวแรกแห่งพระคุณที่ยิ่งใหญ่สำหรับชีวิตของเรา

04 กรกฎาคม 2554

คุณเลือกที่จะคบกับคนกลุ่มใดในวันนี้?

1ครั้งนั้นบรรดาคนเก็บภาษี และพวกคนบาปเข้ามาใกล้เพื่อจะฟังพระองค์ 2ฝ่ายพวกฟาริสีและพวกธรรมาจารย์บ่นว่า “คนนี้ต้อนรับคนบาปและกินด้วยกันกับเขา” (ลูกา 15:1-2)

บ่อยครั้งเป็นการง่ายที่คริสเตียนอาจจะเข้าใจผิดตามคำกล่าวหาของพวกผู้นำศาสนายิวและพวกฟาริสี อย่างที่ปรากฏในลูกา 15:1-2 ตลอดพระกิตติคุณเราพบว่าพระเยซูคริสต์ได้ใช้ชีวิตกับพวกคนเก็บภาษี และ พวก”คนบาป” ในสายตาของคนที่เคร่งครัดตามศาสนายิวในเวลานั้น เราคิดและเข้าใจว่าที่พระเยซูคริสต์ทำตัวเช่นนั้นก็เพื่อที่จะสามารถเข้าถึงคนกลุ่มนี้ เพื่อที่จะประกาศข่าวดีแห่งแผ่นดินของพระเจ้าแก่เขา และเรียกร้องให้พวกเขากลับใจและรับเอาชีวิตใหม่ที่พระองค์นำมา

อาจจะเป็นความจริงอย่างที่กล่าวข้างต้น แต่ก็เป็นการสุ่มเสี่ยงที่เราจะคิดคล้อยตามอย่างการกล่าวร้ายป้ายสีของพวกฟาริสี ที่พระองค์ไปคบหาสัมพันธ์กับคนที่สังคมในสมัยนั้นตราหน้าว่าชั่วช้าบาปหนา และที่สำคัญก็คือการกระทำของพระเยซูคริสต์เช่นนี้เป็นการขืนฝืนกระแสสังคมที่เขากระทำกันในสมัยนั้นตามวัฒนธรรมและกระแสสังคมยิวในศตวรรษที่หนึ่ง และนี่ก็เป็นความผิดอย่างยิ่งตามความเชื่อและเข้าใจของพวกฟาริสีในเวลานั้น พวกเขาเชื่อว่า การคบค้าเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสามัญชน หรือแม้แต่สามัญชนคนยิวอาจจะทำให้ตนมัวหมองแปดเปื้อนเสื่อมเสียความบริสุทธิ์ พวกฟาริสีจะรับประทานอาหารร่วมกับคนไม่กี่คนที่เขาแน่ใจว่าเป็นผู้ที่สะอาดบริสุทธิ์ในการกระทำตามกฎบัญญัติและการประกอบศาสนพิธีที่หยุมหยิม

ในสายตาของพวกฟาริสีแล้วพระเยซูคริสต์กระทำผิด ดำเนินชีวิตผิด ชีวิตมีแต่ความมัวหมองเพราะการคบค้าคนไม่เลือกหน้า คบคนเก็บภาษีที่นอกจากการดำเนินชีวิตที่ผิดพลาดแปดเปื้อน อีกทั้งยังเป็นกลุ่มคนต้องห้ามเพราะคบค้ากับศัตรูทางการเมืองของชาติ รีดไถคนยิวเพื่อเอาเงินภาษีไปสวามิภักดิ์แก่โรมันผู้กดขี่ และชนชั้นปกครองที่ชั่วร้ายอย่างเฮโรดและซีซาร์ นอกจากนั้นแล้วพระเยซูยังรับประทานอาหารกับคนบาปหนาที่สังคมรู้จักและตราหน้าห้ามคบ ในสายตาของฟาริสีแล้วพระเยซูคือผู้ที่กล่าวอ้างตนเองว่าเป็นตัวแทนจากพระเจ้าที่มีพฤติกรรมชีวิตแสนจะโง่เขลาโสมม

พฤติกรรมการคบค้าคนชั่ว สัมพันธ์คนบาปของพระเยซูกับคนเก็บภาษีและคนบาปที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในสังคมสาธารณะนี้เป็นการเขย่าและสร้างความรู้สึกตกใจ สับสน ไม่พอใจแก่พวกผู้นำและผู้คนที่เคร่งครัดในศาสนายิวในเวลานั้น แต่ที่น่าสังเกตว่า ผู้ดีบาปช้าในสังคมยิวเหล่านี้เป็นผู้ที่แสวงหาที่จะมาพบคบกับพระเยซู พวกเขาต้องการที่จะอยู่ใกล้ชิดกับพระองค์ ต้องการอยู่กับพระองค์เพื่อจะได้ยินได้ฟังคำสอนของพระองค์ และพระเยซูคริสต์ก็ยอมรับผู้คนกลุ่มนี้ด้วยความยินดี ถึงกับร่วมวงรับประทานอาหารกับผู้คนในกลุ่มนี้

ตัวอย่างการดำเนินชีวิตที่เปิดเผย โปร่งใสของพระเยซูคริสต์ดังกล่าวท้าทายการดำเนินชีวิตของเราแต่ละคน เรายอมที่จะมีชีวิตร่วมกับ “คนเก็บภาษี” และ “คนบาป” ในยุคสมัยนี้ของเราหรือไม่? หรือเราส่วนมากแล้วแยกตัวกันตนออกจากคนเหล่านี้ แล้วพยายามที่จะแทรกตนเองเข้าในกลุ่มชนที่สังคมมองว่าเป็น “คนดี มีศีลธรรม ดำเนินชีวิตที่บริสุทธิ์?” กลุ่มคนที่เลือกดำเนินชีวิตในวิถีที่เห็นชัดเจนว่าแตกต่างตรงกันข้ามกับพระประสงค์ของพระเจ้าต้องการที่จะอยู่ใกล้ชิดกับเราหรือไม่? แล้วพวกเขาต้องการที่จะเข้ามาใกล้ชิดกับเราไหม?

คำถามที่เราแต่ละคนต้องตอบตนเองและพระเจ้าในวันนี้คือ
1. ชีวิตประจำวันของเราในวันนี้ได้กระทำตามแบบอย่างชีวิตที่เปิดกว้างของพระคริสต์สำหรับผู้คนทั้งหลาย รวมไปถึงประเภท “คนเก็บภาษีและคนที่ถูกตราหน้าว่าบาป” ในสังคมไทยยุคนี้หรือไม่?
2. ท่านคิดว่าทำไมคนที่ถูกตราหน้าว่าเป็นคนบาปจึงชื่นชอบพระเยซูคริสต์?
3. เราท่านจะดำเนินชีวิตในที่ทำงาน ในบ้าน ในชุมชนวันนี้ตามแบบอย่างของพระเยซูคริสต์ได้อย่างไรบ้าง?
4. ท่านคิดว่าคนกลุ่มดังกล่าวจะเข้ามาใกล้เราท่านหรือไม่? ทำไม?

ให้เราขอบพระคุณพระเยซูคริสต์สำหรับแบบอย่างชีวิตที่ยอมอยู่ร่วมกับคนเก็บภาษีและคนบาปในสมัยของพระองค์ แบบอย่างชีวิตดังกล่าวท้าทายอย่างมากต่อการตัดสินใจเลือกของเราว่าวันนี้จะดำเนินชีวิตและเลือกที่จะใช้ชีวิตกับใคร กลุ่มไหน ที่เราจะได้พบเห็นและสัมพันธ์ในวันนี้ เพื่อเราจะสามารถเปิดชีวิตสำหรับวิถีทางใหม่อย่างที่พระองค์ทรงเลือกกระทำ

01 กรกฎาคม 2554

อูฐลอดรูเข็ม...ง่ายกว่าคนมั่งมีจะเข้าในแผ่นดินของพระเจ้า?

18มีชายคนหนึ่งซึ่งเป็นขุนนางทูลถามพระองค์ว่า “ท่านอาจารย์ผู้ประเสริฐ ข้าพเจ้าจะทำอย่างไรถึงจะได้ชีวิตนิรันดร์?” 19พระเยซูตรัสถามคนนั้นว่า “ท่านใช้คำว่าประเสริฐกับเราทำไม? ไม่มีใครประเสริฐนอกจากพระเจ้าองค์เดียว 20ท่านรู้จักบัญญัติแล้วที่ว่า 'อย่าล่วงประเวณีผัวเมียเขา อย่าฆ่าคน อย่าลักทรัพย์ อย่าเป็นพยานเท็จ จงให้เกียรติบิดามารดาของตน' ” 21คนนั้นจึงทูลว่า “ข้อเหล่านั้นข้าพเจ้าถือรักษาไว้ตั้งแต่เด็ก” 22เมื่อพระเยซูทรงได้ยินอย่างนั้น พระองค์ตรัสกับเขาว่า “ท่านยังขาดสิ่งหนึ่ง จงไปขายสิ่งของทั้งหมดที่ท่านมีอยู่แล้วแจกจ่ายให้คนยากจน ท่านถึงจะมีทรัพย์สมบัติในสวรรค์ แล้วจงกลับมาติดตามเรา” 23แต่เมื่อเขาได้ยินอย่างนั้นก็เป็นทุกข์ เพราะเขาเป็นคนมั่งมีมาก 24เมื่อพระเยซูทอดพระเนตรเห็นเขามีอาการอย่างนั้น พระองค์จึงตรัสว่า “คนมั่งมีจะเข้าในแผ่นดินของพระเจ้าก็ยากจริงๆ 25ตัวอูฐจะลอดรูเข็มก็ยังง่ายกว่าการที่คนมั่งมีจะเข้าในแผ่นดินของพระเจ้า” (ลูกา 18:18-25)

บางท่านอาจจะเคยได้ยินการตีความพระคัมภีร์ตอนนี้ว่า “รูเข็ม” ในที่นี้อาจจะมีอีกความหมายหนึ่งว่า เป็นช่องเล็กๆ ของกำแพงที่ลอดเข้ากรุงเยรูซาเล็ม ที่ผู้ลอดจะต้องก้มตัวลงต่ำคลานเข้าไป แต่ถ้าพิจารณาตามบริบทในพระคัมภีร์ตอนนี้ผู้เขียนมั่นใจว่ามีความหมายตามตัวอักษรคือหมายถึงรูเข็มเย็บผ้าที่มีขนาดเล็กจิ๋วจนบางครั้งแม้แต่ด้ายก็ยังยากที่จะสอดให้ลอดผ่านเข้าไปได้ และอูฐก็หมายถึงสัตว์ชนิดหนึ่งที่มีตัวขนาดใหญ่ กลิ่นตัวแรง ที่เขาใช้เป็นพาหนะในทะเลทราย และพระเยซูใช้เป็นภาษาภาพ(ภาพพจน์)ในการเปรียบเทียบให้เห็นว่า เป็นการลำบากยากเย็นอย่างยิ่งที่คนมั่งมีจะเข้าไปในแผ่นดินของพระเจ้า เฉกเช่นยากลำบากจนเป็นไปไม่ได้ที่อูฐจะลอดเข้าไปในรูเข็ม

ทำไมหรือที่คนมั่งมีถึงเข้าแผ่นดินสวรรค์ไม่ได้? ทั้งนี้ก็เพราะ ผู้ที่มั่งมีจะไว้วางใจในความมั่งคั่ง มั่งมี และความร่ำรวยของเขา ในขณะที่คนยากจนขัดสนไม่สามารถพึ่งพิงในสิ่งที่เขาไม่มี จึงง่ายที่พวกเขาจะตัดสินใจพึ่งพิงและไว้วางใจในพระเจ้าได้ง่ายกว่าคนมั่งมี พระเจ้ากลายเป็นที่พึ่งหนึ่งเดียวหรือที่พึ่งสุดท้ายในชีวิตของพวกเขา ดังนั้น ถ้าไม่มีพระเจ้าชีวิตของเขาต้องประสบกับความหายนะอย่างแน่นอน แต่ถ้าเหตุการณ์เดียวกันนี้เกิดขึ้นกับคนมั่งมีเขาจะบอกว่า “ถ้าไม่มีพระคริสต์ก็ไม่เห็นจะเป็นอะไรนี่ เพราะฉันมีเงินทองสะสมไว้มากมาย ฉันมีบำเหน็จบำนาญ มีกินไปจนวันตาย ฉันมีหุ้นตัวดีๆ ที่ทำรายได้ให้กับฉัน ฉันสะสมทองคำแท่งไว้มากมาย ฉันมีที่ดินที่อยู่ในโซนธุรกิจใจกลางกรุงเทพฯ ไม่มีพระเยซูไม่เห็นจะเป็นไร ฉันมีการป้องกันความเสี่ยงในชีวิตนี้ไว้หลายชั้น ถ้าพระองค์ไม่ได้มาช่วยก็ไม่เห็นกระเทือนอะไรเลย ฉันสามารถดูแลตัวฉันเองได้

เป็นการยากอย่างยิ่งที่คนมั่งมีจะได้เข้าในแผ่นดินของพระเจ้า เพราะเขามิได้ไว้วางใจแผ่นดินของพระองค์อย่างที่เด็กเล็กๆ ยอมรับแผ่นดินของพระเจ้า (ข้อ 16-17) กระบวนทัศน์และกระบวนคิดของพระเยซูคริสต์ในเรื่องการเข้าไปในแผ่นดินของพระเจ้าแตกต่างจากของสาวกอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น เมื่อพวกเขาได้ยินว่า อูฐลอดรูเข็มก็ง่ายยิ่งกว่าคนมั่งมีจะเข้าไปในแผ่นดินของพระเจ้า พวกเขาจึงเกิดคำถามขึ้นมาทันทีว่า ขนาดคนมั่งมี(ที่พระเจ้าทรงอวยพระพร)ยังไม่สามารถที่จะเข้าไปในแผ่นดินของพระเจ้าแล้ว ถ้าเช่นนั้น ใครจะเข้าในแผ่นดินของพระเจ้าได้ ถ้าเช่นนั้นใครจะรอดได้? (ข้อ 26) พระเยซูคริสต์ตอบสาวกว่า “สิ่งที่มนุษย์ทำไม่ได้ พระเจ้าทรงกระทำได้” (ข้อ 27) ในที่นี้มีความหมายสำคัญคือ ความรอดหรือการที่คนใดคนหนึ่งได้เข้าไปในแผ่นดินของพระเจ้านั้นเป็นพระราชกิจของพระองค์ มิใช่การกระทำด้วยความเก่งกาจของมนุษย์ เพราะสาวกจะมองว่า ขนาดคนมั่งมีถวายอะไรต่อมิอะไรมากมาย กระทำศาสนกิจมากมายแล้วยังรอดไม่ได้ คนยากคนจนคนขัดสน คนพิการ คนเจ็บป่วยจะรอดได้อย่างไร เพราะไม่สามารถที่จะทำการถวายและประกอบศาสนพิธีได้ดีสมบูรณ์เท่าคนมั่งมี ในที่นี้พระเยซูคริสต์ทรงชี้ว่า ความรอด และ การได้เข้าไปในแผ่นดินของพระเจ้านั้นเป็น “พระคุณ” เป็น “พระพร” ที่พระเจ้าทรงประทานให้แก่มนุษย์ มิได้ขึ้นอยู่กับการกระทำดีกระทำชอบตามกฎเกณฑ์ของมนุษย์หรือการประกอบศาสนพิธีที่ถูกต้องครบถ้วน แต่ความรอดเป็นของประทานที่พระเจ้าทรงหยิบยื่นให้กับมนุษย์ทุกคน

แต่ความยากลำบากที่คนมั่งมีจะรอด จะเข้าในแผ่นดินของพระเจ้าได้นั้น เพราะเขาติดยึดอยู่กับความมั่งคั่ง มั่งมี ร่ำรวย และการประกอบศาสนกิจมากมายของเขา แต่เขามิได้สละสิ่งเหล่านี้ที่เขามีในชีวิต แล้วไว้วางใจในพระเจ้า และไว้วางใจว่าในแผ่นดินของพระเจ้าเขาจะได้รับพระพรพระคุณจากพระองค์ คนมั่งมีไว้วางใจในทรัพย์สิน เงินทอง ความมั่งคั่งของเขามากกว่าที่จะไว้วางใจในพระคุณของพระเจ้า และนี่คือความยากอย่างยิ่งที่เขาจะรอดที่เข้าจะเข้าในแผ่นดินของพระเจ้า พระเยซูบอกว่าอูฐลอดรูเข็มก็ยังง่ายกว่าที่คนมั่งมีจะเข้าในแผ่นดินของพระเจ้า

การเข้าไปในแผ่นดินของพระเจ้า คือการที่เรายอมให้พระเจ้าทรงเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราทั้ง ความคิด ทัศนคติ อุปนิสัย วินัยชีวิต การประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน คนมั่งมีไม่ต้องการให้พระเจ้าเปลี่ยนแปลงชีวิตของตน เพราะเขายึดมั่นถือมั่นในความมั่งคั่งและความสุขสบาย และ อำนาจใหญ่โตที่เขาได้รับ ไม่ต้องการเปลี่ยนชีวิตที่จะต้องถ่อมตนลง ที่จะต้องรักและให้คนอื่น ที่จะต้องเป็นรองคนอื่น การที่เขาไม่สามารถเข้าในแผ่นดินของพระเจ้า เพราะเขาไม่ยอมตนให้พระเจ้าเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขา นั่นหมายความว่าเขาไม่ได้ไว้วางใจพระเจ้าอย่างสุดจิตสุดใจสุดความนึกคิดสุดชีวิตของเขา

เมื่อใดก็ตามที่เราเลิกที่จะไว้วางใจในทรัพย์สินเงินทอง และ สิ่งของที่สามารถซื้อมาได้ด้วยเงินทองแล้วหันชีวิตของเรามาเชื่อพึ่งและไว้วางใจในการทรงนำของพระคริสต์ และรับการเปลี่ยนแปลงชีวิตจากพระองค์ เมื่อนั้นชีวิตของเราก็ได้พบกับความพึงพอใจ อิ่มอกอิ่มใจ และความสุขศานติชื่นบานในชีวิต