29 กันยายน 2554

พลังจากการใคร่ครวญภาวนาพระวจนะของพระเจ้า

วินัยชีวิต: จัดลำดับให้พระเจ้ามาก่อนในชีวิต

อ่าน ฮีบรู 11:1-10

ให้เราวิเคราะห์คำที่เราใช้จนคุ้นชินและลืมตัวในแต่ละวัน
1. วันนี้ยุ่งฉิบ...ใช่ไหม?: มีสิ่งที่ต้องทำมากกว่าเวลาที่เรามี
2. น่ารำคาญจังเลย...: มีหลายสิ่งหลายอย่างมาดึงแล้วดูดความคิดของเรา มันพยายามดึงดูดความสนใจจากเรา
3. เลวมาก ชั่วช้าจริงๆ...: มันมีความมืดที่ผ่านเข้ามาพยายามครอบงำจิตใจและจิตวิญญาณของเรา เหมือนมันกำลังอยู่ในกลียุคเช่นนั้นแหละ

เอาล่ะถ้าผมจะเสนอให้กับท่านว่า ผมสามารถที่จะให้ความลับที่จะทำให้ท่านมีพลังแห่งความดีท่ามกลางวันที่แสนจะยุ่ง ท่ามกลางสภาพที่ท่านกำลังถูกดึงดูด และท่ามกลางสถานการณ์ที่เลวและชั่วช้า ท่านจะสนใจหรือไม่? แล้วท่านจะคิดอย่างไรถ้าผมจะแสดงและพิสูจน์เทคนิกที่สามารถเกิดผลเสมอไม่ว่าในสถานการณ์เช่นไร ในสถานที่ไหน หรือท่ามกลางภาวะกดดันแบบใดก็ตาม? ยิ่งกว่านั้น ดูเป็นเรื่องธรรมดาเมื่อคุณพิจารณาตามหลักเกณฑ์อย่างถ้วนถี่ตามความเป็นจริง เอาอย่างงี้ก็แล้วกัน ขอท่านเปิดฮีบรู บทที่ 11

อะไรคือสิ่งที่ อาเบล เอโนค โนอาห์ อับราฮัม โยบ ดาวิด เอสรา และดาเนียล มีเหมือนกับพระเยซู? ลองอ่านอย่างใส่ใจในพระธรรมฮีบรู 11:1-10

บุคคลเหล่านี้ยึดมั่นในพระวจนะของพระเจ้า และเอาพระวจนะนั้นใคร่ครวญ รำพึง ในความนึกคิดของเขา แล้วย่อยพระวจนะนั้นจนไหลแทรกเข้าในชีวิตทั้งสิ้นของเขา ให้เราเริ่มต้นฮีบรูบทที่ 11 ในพระธรรมตอนนี้เราได้เห็นรายชื่อของบุคคลที่ได้รับพระวจนะของพระเจ้า แล้วยึดมั่นในพระวจนะนั้น

  • ชีวิตของอาเบล เราเรียกว่า ชีวิตที่ถวายแด่พระเจ้า (11:4) ให้เราคิดถึงอาเบล เขามีชีวิตอยู่กับสัตว์เลี้ยง อยู่กับฝูงแกะของเขา แสวงหาพระเจ้าผู้ทรงสร้างสากลจักรวาล และการเสียชีวิตของเขาก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงการทรงเอาใจใส่ ความยุติธรรม และพระเมตตาของพระเจ้า (ดูปฐมกาล บทที่ 3 และ 4)
  • เอโนคมีชีวิตที่เรียกได้ว่า ดำเนินชีวิตไปกับพระเจ้า (11:5-6 ดูปฐมกาล 5:22) เอโนคมีชีวิตในยุคที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ เป็นช่วงเวลาที่สังคมกำลังเลวร้ายเพิ่มมากขึ้น กล่าวคือ เค้าความคิดในใจทั้งหมดของเขาล้วนเป็นเรื่องชั่วร้ายตลอดเวลา (ปฐมกาล 6:5) ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่น้ำท่วมโลก
  • ในชีวิตของโนอาห์เรียกว่า ชีวิตที่เชื่อฟังพระเจ้า (11:7) โลกต้องจบสิ้นลง โนอาห์ต้องใช้เวลาที่ยาวนานในการต่อเรือ ตลอดชีวิตความคิดจิตใจของเขาอยู่ที่พระเจ้า
  • ชีวิตของอับราฮัมเรียกว่า ชีวิตโดยความเชื่อ (11:8-10) ในชีวิตของท่านเป็นชีวิตที่ต้องพเนจรไปโดยความเชื่อ มีชีวิตอยู่ในเต็นท์จากที่หนึ่งเคลื่อนไปยังอีกที่หนึ่ง
  • ชีวิตของดาวิดเรียกได้ว่า เป็นชีวิตที่ยึดมั่นในองค์พระผู้เป็นเจ้า (สดุดี 63:8 อมตธรรม) "จิตวิญญาณข้าพระองค์ยึดมั่นในพระองค์ พระหัตถ์ขวาของพระองค์ค้ำจุนข้าพระองค์ไว้"
  • เอสรามีชีวิตที่เรียกว่า แสวงหาพระเจ้าหมดทั้งใจ (สดุดี 119:9-11 อมตธรรม)
  • ดาเนียลมีชีวิตที่เรียกว่า ชีวิตที่ต้องการอยู่เพื่อพระประสงค์ (ดาเนียล 1:8) เราเห็นจริงแล้วว่า เราไม่จำเป็นต้องไปค้นหาคำตอบอะไรที่พิสดารมากกว่านี้ ท่านเห็นแล้วว่าเราไม่จำเป็นจะต้องค้นหาประจักษ์พยานมากกว่านี้อีกแล้ว เพราะเรามีพยานพรั่งพร้อมมากมายเช่นนี้แล้วเราต้องการพิสูจน์ค้นหาอะไรอีก (ฮีบรู 12:1) ในพระธรรมตอนเหล่านี้พระเจ้าประสงค์ให้เรารู้ว่าเราจะต้องดำเนินชีวิตเพื่อพระองค์ ดังนั้น เราคงคงต้องหยุดชีวิตของเราแล้วใคร่ครวญว่า เรายังจำเป็นแสวงหาเป้าหมายชีวิตที่ถูกต้องที่เราจะประสบความสำเร็จในชีวิตอีกหรือไม่
  • ชีวิตของพระเยซูคริสต์เรียกว่า ชีวิตที่ดำเนินไปตามพระวจนะของพระเจ้า ในถิ่นทุรกันดารที่พระองค์เอาชนะการทดลองของอำนาจชั่วร้ายนั้น และการที่ร่างกายต้องอ่อนแรงเพราะความหิวโหยขาดอาหาร พระเยซูคริสต์ได้แสดงให้เห็นถึงชัยชนะของพระวจนะของพระเจ้า
ในเรื่องนี้มนุษย์รู้ดีถึงคุณค่าแห่งการที่มีชีวิตที่มีวินัยธรรมดาที่แนบสนิทส่วนตัวกับพระเจ้า ด้วยการฟังพระเจ้าผ่านการใคร่ครวญภาวนาพระวจนะของพระองค์

สิ่งต่อไปนี้เป็นการกระตุ้นและท้าทายเราในการแสวงหาและใคร่ครวญภาวนาพระวจนะของพระเจ้า

เมื่อเอสราต้องเผชิญหน้ากับชนชาติต่างๆ ที่มีความแตกต่างจากชนชาติของพระเจ้า ในขณะที่ต้องมีชีวิตในบาบิโลน ท่านได้ร้องทูลว่า "ข้าพระองค์ได้เก็บรักษาพระดำรัสของพระองค์ไว้ในใจ เพื่อข้าพระองค์จะไม่ทำบาปต่อพระองค์" (สดุดี 119:11 ฉบับมาตรฐาน)

ครั้งแล้วครั้งเล่าที่ในพระธรรมสุภาษิตได้เรียกร้องให้เราค้นหาความอุดมมั่งคั่งในพระวจนะของพระเจ้า จากสุภาษิต 4:1-12 ได้ให้ภาพของการมีพระวจนะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตโดย ...ฟังคำสอน...ใส่ใจ...อย่าทอดทิ้ง...ยึดถ้อยคำ...รักษาบัญญัติ...มีชีวิตอยู่...เอาปัญญา...เอาความรอบรู้...ไม่ลืม...ไม่ทอดทิ้ง...กอดเธอ(ปัญญา)ไว้...รับถ้อยคำ...ตีราคาปัญญาให้สูง... นั่นหมายความว่าให้เรายึดพระวจนะของพระเจ้าไว้อย่างมั่นคง ยึดมั่นพระวจนะไว้ในชีวิตของเราและอย่ายอมคลายและปล่อยให้พระวจนะหลุดลอยไปจากชีวิตของเรา

ในภาวะคับขันของชีวิต เมื่อกองทัพบาบิโลนล้อมยูดาห์ เยเรมีย์ถูกจับแล้วโยนลงในบ่อน้ำแคบๆ เขาถูกไล่ล่าปางตาย แต่เยเรมีย์เรียนรู้ว่า "เจ้าจะแสวงหาเราและพบเราเมื่อเจ้าแสวงหาเราด้วยสิ้นสุดใจของเจ้า" (เยเรมีย์ 29:13 ฉบับมาตรฐาน)

เมื่อซาตานทดลองพระเยซู พระองค์ทำให้ศัตรูของพระองค์ต้องหุบปากลง และพระองค์ได้ให้บทเรียนบทแรกแก่เราว่า เราควรจะใคร่ครวญภาวนาพระวจนะของพระเจ้าอย่างจริงจังเพราะ "มนุษย์จะดำรงชีวิตด้วยอาหารเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องดำรงชีวิตด้วยพระวจนะทุกคำซึ่งออกมาจากพระโอษฐ์ของพระเจ้า" (มัทธิว 4:4, เฉลยธรรมบัญญัติ 8:3)

พระคัมภีร์ข้อเหล่านี้เรียกร้องเราให้ปฏิบัติตามด้วยหลักการที่สามัญเรียบง่าย แต่มนุษย์มักจะทอดทิ้งในการเอาใจใส่ชีวิตจิตวิญญาณด้วยการมีวินัยในการมีพระวจนะของพระเจ้าและใช้ในการดำเนินชีวิตของตน ด้วยการใคร่ครวญภาวนาพระวจนะของพระองค์ จงปิดประตูแห่งชีวิตของท่าน เพื่อปิดทางสิ่งที่เข้ามาทำให้ชีวิตจิตใจของท่านต้องว้าวุ่นและไขว้เขว เช่น คอมพิวเตอร์ ทีวี กีฬา หรือ งานอดิเรกที่ท่านชื่นชอบ แล้วให้ชีวิตจิตใจของท่านทั้งสิ้นอยู่กับสัจจะความจริงของพระเจ้า และเพิ่มพูนสติปัญญาจากพระปัญญาจากพระวจนะของพระองค์ ผู้คนที่ต้องการเลือกการใคร่ครวญภาวนาในพระวจนะของพระเจ้า พระวจนะของพระเจ้าจะเปิดเผยให้เห็น และเราจะสัมผัสถึงความอุดมมั่งคั่งในพระปัญญาและไฟแห่งพระวิญญาณของพระองค์ในชีวิตจิตวิญญาณของเรา

การเฝ้าเดี่ยวก็คือการที่เราอยู่กับพระเจ้าส่วนตัวเพราะเรารักพระองค์
การใคร่ครวญภาวนาคือการฟังพระวจนะของพระเจ้า

บ่อยครั้งเหลือเกินที่ดูเหมือนว่าเราถูกกระตุ้นในการควานหาพระเจ้าเมื่อเราเผชิญกับปัญหาในการดำเนินชีวิตประจำวัน แต่การที่เราใคร่ครวญในพระวจนะของพระเจ้า คือการที่เราเข้าหาพระองค์เพื่อรับชีวิตจากพระองค์ เป็นสัจจะความจริงที่ทรงประทานเข้ามาในแก่นหลักแห่งชีวิตจิตวิญญาณของเรา ลงลึกไปยังรากฐานชีวิตในการตัดสินใจของเราในแต่ละวัน

การใคร่ครวญภาวนาเป็นกระบวนการที่พระวจนะของพระเจ้าเข้าไปในหัวของท่านและผ่านเข้าไปในจิตวิญญาณของท่าน เป็นการนำมาซึ่งพลังอำนาจแห่งชีวิต "การใคร่ครวญภาวนาเป็นเครื่องบดย่อยอาหารสำหรับจิตวิญญาณ" ถึงแม้ว่าพระเยซูต้องอดอาหารถึงสี่สิบวันร่างกายอ่อนกำลัง แต่จิตวิญญาณของพระองค์เข้มแข็งจากการที่พระองค์ได้แสวงหาพระเจ้าและใคร่ครวญภาวนาถึงพระวจนะของพระเจ้า และพระองค์ใช้พระวจนะเพียงไม่กี่คำเป็นเครื่องมืออาวุธที่ทรงพลังในการปะทะกับศัตรูของพระองค์

เพื่อการประยุกต์หลักการนี้ใช้ในชีวิตของเรา นี่คือหลักการธรรมดาสามัญ 6 ประการแต่สำคัญยิ่งที่ใช้ในการเจาะลึกและพบกับความรุ่มรวยในการใคร่ครวญภาวนาพระวจนะของพระเจ้า

1) อธิษฐานเป็นประการแรก: เพื่อทูลขอวิญญาณแห่งปัญญาจากพระเจ้า และการทรงสำแดงถึงพระวจนะของพระองค์ (เอเฟซัส 1:17-18) พระองค์ต้องการประทานความเข้าใจที่ลึกซึ้งผ่านการใคร่ครวญภาวนาของเรา เป็นการสำคัญอย่างยิ่งที่เราจะเข้าใจสัจจะความจริงที่ว่า เราจะไม่ยอมปล่อยให้ความรู้สึกและอารมณ์ของเรายึดครองช่วงเวลานี้ที่เราอยู่กับองค์พระผู้เป็นเจ้า ท่านอาจจะต้องต่อสู้กับความห่อเหี่ยวของจิตใจ แต่พระเจ้าไม่จำเป็นต้องสู้กับสิ่งเหล่านี้

2) คว้าบางสิ่งบางอย่างไว้: ให้เขียนข้อพระคัมภีร์ลงในสมุดบันทึกของท่าน การเขียนข้อพระคัมภีร์เพื่อสร้างเป็นวินัยของการพยายาม และยิ่งท่านมีวินัยนี้มากเท่าใด ท่านก็ได้ให้โอกาสแก่พระวิญญาณบริสุทธิ์ตรัสกับท่านมากแค่นั้น เมื่อท่านเขียนบางสิ่งบางอย่างลงในสมุดบันทึก ท่านก็จะมีโอกาสในการคิดใคร่ครวญในสิ่งที่ท่านกำลังเขียนอย่างขุดลงลึก ท่านจะวิเคราะห์สิ่งนั้นอย่างระมัดระวังมากยิ่งขึ้น และความคิดของท่านในเรื่องนั้นก็จะเฉียบแหลมคมมากยิ่งขึ้นเช่นกัน

3) หยุดสักพักหนึ่ง: ให้เขียนสิ่งที่ท่านเข้าใจจากพระวจนะข้อนั้นๆ ลงไว้ ในจุดนี้ท่านอาจจะคิดว่า "ความคิดนี้ไม่มีอะไรใหม่ ไม่มีอะไรแปลกใหม่ ทำไมจะต้องเขียนมันลงไปด้วยล่ะ" แต่ถ้าท่านคิดเช่นนั้น นั่นแสดงว่าความคิดของท่านกำลังล่องลอยไปยังเรื่องอื่น ดังนั้นจงเขียนความคิดของท่านลงไป ถึงแม้ว่าตอนนี้ดูเหมือนว่ามันไม่มีความลึกซึ้งอะไรเลยก็ตาม

4) ฟังพระเจ้า: ให้ประยุกต์ความเข้าใจใช้ในชีวิตของท่าน เมื่อท่านดำเนินการใคร่ครวญต่อไป พระเจ้าอาจทรงเริ่มเติมเต็มความเข้าใจที่ลึกซึ้งเหลือเชื่อเกี่ยวกับความเป็นพระเจ้าและความรักของพระองค์ เมื่อท่านได้รับ "ทองคำอันล้ำค่า" ในจิตใจของท่าน อย่าพอใจแล้วผ่อนคลาย จงบรรจุรักษาสิ่งนี้ไว้ในที่ปลอดภัย กล่าวคือให้เริ่มประยุกต์สิ่งใหม่นี้ใช้ในชีวิตของท่านทันที

5) ตอบพระองค์: ตอบสนองต่อพระเจ้า เก้าครั้งจากจำนวนสิบครั้งที่ท่านใคร่ครวญภาวนา พระวจนะของพระเจ้าจะนำท่านให้ไปถึงจุดที่จะเกิดการตอบสนองใหม่ๆ แด่พระเจ้า อย่าสูญเสียโอกาสด้วยการอึกอักลังเล แต่ฉกฉวยโอกาสในการที่จะตอบสนองด้วยจิตใจของท่านต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า

6) เริ่มต้นนิสัยใหม่: จงแสวงหาพระปัญญา การใคร่ครวญภาวนาและการรับความเข้าใจจากองค์พระผู้เป็นเจ้ามิใช่เพียงการนั่งนิ่งและเงียบสงบเท่านั้น เรามิได้นั่งที่นั่นพร้อมกับการเปิดพระคัมภีร์แล้วรอให้พระเจ้าเติมเต็มแก่เรา แต่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกร้องต้องการให้เรากระทำขับเคลื่อนในการใคร่ครวญภาวนาของเรา เมื่อสัจจะความจริงของพระเจ้าแทรกซึมแผ่อิทธิพลเข้าในความนึกคิดของเรา นั่นก็จะเป็นการบุกจู่โจมและรื้อถอนอำนาจความบาปชั่วที่ความจริงของพระเจ้าเผชิญอยู่ อย่างที่พระเยซูตรัสสอนเราในยอห์น 17:17 และที่พระองค์ทรงทำเป็นแบบอย่างในมัทธิวบทที่ 4 พระองค์ตรัสสอนแก่เราว่า หนทางที่เราจะบริสุทธิ์ได้ก็โดยการผ่านทางพระวจนะ โปรดจำไว้ว่าพระวจนะของพระเจ้าจะปกป้องท่านจากอำนาจบาปชั่ว แต่ความบาปชั่วจะกีดกั้นท่านจากพระวจนะของพระเจ้า

ผล 7 ประการที่ได้จากการใคร่ครวญภาวนา

1. ความสำเร็จ: พระธรรมโยชูวา 1:8 นี่เป็นพระบัญชาของพระเจ้าที่มีต่อโยชูวาที่จะให้พระวจนะของพระเจ้าเป็นพลังในชีวิตของเขา ลองคิดดูเถิดว่า โยชูวาปกครองประชาชนกว่าสามล้านคน เป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่เป็นเวลา 40 ปี อะไรที่ทำให้เขามีความเจริญและประสบความสำเร็จมากมายในชีวิตเช่นนี้ เพราะเขาตรึกตรองใคร่ครวญในพระวจนะตลอดชีวิตของเขา

2. ชีวิตที่เกิดผล: พระธรรมสดุดี 1:2 บทแรกของพระธรรมที่ยาวที่สุดในพระคัมภีร์เป็นสูตรลับของความสำเร็จในชีวิตจิตวิญญาณ พระเจ้าประสงค์ให้เราอุดมมั่งคั่งและเกิดผล แล้วจะเกิดผลได้อย่างไรล่ะ "ใคร่ครวญพระบัญญัติของพระเจ้าทั้งกลางวันและกลางคืน" (สดุดี 1:2 ฉบับมาตรฐาน)

3. สงบมั่นคงท่ามกลางการทดลอง: อ่านสดุดี บทที่ 35 แล้วดูบทสรุปในข้อ 28 สดุดีบทนี้ดาวิดเขียนขึ้นเมื่อเขาถูกซาอูลตามล่า (1ซามูเอล บทที่ 24) ไม่มีชีวิตของบุคคลใดในพระคัมภีร์ที่ถูกตีแผ่ออกมาอย่างโจ่งแจ้ง ไม่ว่าจะเป็นการเล่นชู้ ปัญหาในครอบครัว ความเครียดจากงานที่ทำ ปัญหากับคนอื่น ศัตรู ถูกอำนาจชั่วต่อสู้ และอื่นๆ อีกมากมาย ดาวิดเผชิญสถานการณ์เหล่านี้อย่างไรหรือ? จิตใจจดจ่อและกล่าวถึงพระวจนะของพระเจ้า

4. ความมั่นคงในทะเลที่บ้าคลั่ง: พระธรรมสดุดี 37:30-31 นาวาแห่งชีวิตของท่านกำลังเคว้งคว้างกลางทะเลหรือ? กำลังเอียง และ กำลังจะจมหรือ? แล้วจะมั่นใจในความมั่นคงในชีวิตได้อย่างไร? ใคร่ครวญภาวนาพระวจนะของพระเจ้า "บทบัญญัติของพระเจ้าอยู่ในใจของเขา ย่างเท้าของเขาจะไม่พลาดพลั้ง" (ข้อ 31 ฉบับมาตรฐาน)

5. การนมัสการสรรเสริญส่วนตัวในเวลาที่ชีวิตแห้งแล้ง: พระธรรมสดุดี บทที่ 63 และดูข้อ 6 ชีวิตนี้ต้องวิ่งอย่างเหน็ดเหนื่อยหาเวลาพักไม่ได้หรือเปล่า? บ่อยสักแค่ไหนที่ท่านโหยหาเวลาที่สงบเงียบบนยอดเขา ชายฝั่งทะเล หรือการเข้าเงียบในป่า พร้อมกับพระคัมภีร์และกาแฟร้อนๆ? พระเจ้าตรัสว่า เรารอคอยเจ้าทุกจุดหักเหในชีวิตของเจ้า ทุกจุดหันกลับจากสิ่งที่เจ้ากราบไหว้บูชา ไม่ว่าจะเป็นรถ คอมพิวเตอร์ ที่ทำงาน ตำแหน่ง และ ฯลฯ แล้วเราจะทำอย่างไรหรือ? ด้วยการใคร่ครวญในพระวจนะของพระเจ้า "ขณะอยู่บนที่นอน ข้าพระองค์คิดถึงพระองค์ ข้าพระองค์คิดคำนึงถึงพระองค์ตลอดคืน" (ข้อ 6)

6. ชีวิตที่เป็นพยานถึงความสัตย์สุจริตของพระเจ้าเมื่อยามแก่เฒ่ามาเยือน: พระธรรมสดุดีบทที่ 71 ท่านต้องการที่จะลงท้ายชีวิตด้วยความหวานชื่นอย่างเช่นชีวิตของธรรมิกชนที่ท่านชื่นชอบ เขาจบชีวิตลงอย่างสงบ ด้วยความอดทนต่อความเจ็บปวดในชีวิต ด้วยกำลังและความสงบสันติที่มาจากพระเจ้า ธรรมิกชนเหล่านี้ได้กำลังในชีวิตเมื่อตกอยู่ภายใต้เงาแห่งความตายได้อย่างไร ก็ด้วยการใคร่ครวญภาวนาพระวจนะของพระเจ้า "ลิ้นของข้าพระองค์จะเล่าถึงพระราชกิจอันชอบธรรมทั้งสิ้นของพระองค์ตลอดวันคืน (ข้อ 24)

7. การปลอบประโลมท่ามกลางความทุกข์ยากลำบาก: พระธรรมสดุดีบทที่ 77 ท่านรู้สึกว่ามันหนักเกินกว่าที่ท่านจะก้าวเดินต่อไปใช่ไหม? ศัตรูดูเหมือนว่ามีชัยเหนือท่านหรือไม่? ปัญหามันสุมรุมเพิ่มพูนอย่างสิ้นหวังหรือเปล่า? พระเจ้าทรงมีคำตอบ เป็นคำตอบที่แสนจะธรรมดาแต่เปี่ยมด้วยพลัง ใคร่ครวญพระวจนะของพระองค์ "ข้าพเจ้าจะใคร่ครวญถึงพระราชกิจทั้งปวงของพระองค์ และตรึกตรองพระราชกิจอันเกรียงไกรทั้งปวงของพระองค์" (ข้อ 1)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่

27 กันยายน 2554

เทศนาเพื่อชีวิต...เทศนาเปลี่ยนความคิด?

นี่คงมิใช่อีกรายการหนึ่งที่วิ่งตามกระแสสังคม ที่มีอะไรต่อมิอะไรเพื่อชีวิต เช่น
บทเพลงเพื่อชีวิต
ละครเพื่อชีวิต
การศึกษาเพื่อชีวิต
กิจกรรมเพื่อชีวิต
ฯลฯ
แล้วนี่จะมาเติมอีกหัวเรื่องหนึ่ง "เทศนาเพื่อชีวิต..." เช่นนั้นหรือ?

คริสเตียนย่อมมีความคุ้นชินกับหลายๆ เรื่องในคริสต์ศาสนา หรือ ในคริสตจักร
เทศนาก็เป็นเรื่องที่เราท่านคุ้นชินอย่างมาก
ทุกวันอาทิตย์ในการนมัสการก็มีการเทศนา

นมัสการบ่าย เราก็มีการเทศนา แม้ว่าอาจจะเป็นการเทศนาฉบับย่อยลงก็ตาม
การพบปะในกลุ่มเล็กหลายต่อหลายคริสตจักรก็ยังเป็นการนมัสการพระเจ้าฉบับย่อ ก็เทศนาอีกเช่นกัน
แต่งงาน วันเกิด พิธีศพ ฯลฯ เราก็เทศนาอีกเช่นเคย
เทศนาจึงกลายเป็นกิจกรรมในคริสต์ศาสนาที่ติดอันดับ
ไม่วายที่หลายคนมานมัสการพระเจ้าในเช้าวันอาทิตย์ก็ตั้งอกตั้งใจมาฟังเทศนา
และศิษยาภิบาล ศาสนาจารย์ ส่วนมากที่ทุ่มเทจริงจังกับการเทศนา

คำถามที่ต้องการตอบชัดเจนคือ... แล้วเป้าหมายปลายทางของการเทศนา เราต้องการให้เกิดอะไรขึ้น?

ผมเชื่อว่าทุกคนต่างมีคำตอบ
หลายคนก็มีหลายคำตอบ
ต่างคนต่างก็มีคำตอบที่แตกต่างหลากหลายจากคนอื่น
แล้วท่านล่ะ... เป้าหมายปลายทางของการเทศนาท่านต้องการให้เกิดอะไรขึ้น?

สำหรับ ริก วอร์เรน (Rick Warren) แล้ว
เป้าหมายปลายทางของการเทศนาก็เพื่อให้ผู้ได้ยินได้ฟังคำเทศนาเกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของตน...
แต่ก็มีคำถามต่อไปว่า แล้วกระบวนการเปลี่ยนแปลงชีวิตจากการได้ยินได้ฟังคำเทศนานั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร?
ริก วอร์เรน (Rick Warren) ได้ให้การสัมภาษณ์ในวารสารการเทศนา (A Preaching Magazine)
ถึงเส้นทางขั้นตอนของการเทศนาเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชีวิต 10 ขั้นตอนที่น่าสนใจ

คริสเตียนเราเชื่อว่าชีวิตนั้นเปลี่ยนแปลงได้ และการเปลี่ยนแปลงมิได้เกิดจากเจ้าตัว หรือ นักเทศน์
ถ้าเช่นนั้นคำเทศนาเปลี่ยนแปลงชีวิตคนฟังอย่างไร?

ประการแรก พฤติกรรมทั้งสิ้นที่แสดงออกมาของคนเรานั้นตั้งอยู่บนฐานรากของสิ่งที่เขาเชื่อ ถ้ามีใครมาถามผมว่าทำไมคุณถึงทำเช่นนั้น คำตอบก็คือเพราะผมมีความเชื่อในบางสิ่งบางอย่างที่อยู่เบื้องหลังของการกระทำของผม เช่น มีบางคนที่ต้องแยกทางหย่าร้างกับคู่ชีวิต นั่นแสดงว่าเขามีความเชื่อบางสิ่งบางประการอยู่เบื้องหลังการหย่าร้างในครั้งนี้ เขาอาจจะตอบว่า "ผมเชื่อว่า ผมจะมีความสุขมากกว่าถ้าเราเลิกที่จะอยู่ด้วยกัน" หรือ อาจจะมีสิ่งที่เขาคิดเขาเชื่ออื่นๆ ก็ได้ และถ้าใครคนหนึ่งมีเพศสัมพันธ์นอกสมรส นั่นก็เพราะเขามีความคิดความเชื่ออยู่เบื้องหลังการมีเพศสัมพันธ์ดังกล่าว ในที่นี้เราต้องชัดเจนว่า ในทุกพฤติกรรมที่มนุษย์แสดงออกย่อมมีความคิดความเชื่ออยู่เบื้องหลังของพฤติกรรมนั้นๆ

ประการที่สอง ความบาปและอำนาจแห่งความบาปจะบิดเบือนและหลอกลวงความเชื่อแห่งพฤติกรรมชั่วที่แสดงออกมา หลักคิดนี้มีนัยสำคัญสำหรับการเทศนา เมื่อเราทำบาป ในเวลานั้นจะมีเสียงภายในบอกเราว่าสิ่งที่เราทำลงไปนั้นเป็นการกระทำที่ดีที่สุดในเวลานั้น เสียงนั้นทำให้เราคิดว่าเราทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว แต่เรากำลังหลอกตนเอง เมื่อเยาวชนของเราทำอะไรโง่ๆ ลงไป แต่เขากลับคิดและเชื่อว่าเขากำลังทำในสิ่งที่ยอดเยี่ยม แต่ความจริงเป็นพฤติกรรมที่โง่ๆ พระคัมภีร์บอกเราว่านั่นเป็นอำนาจแห่งความชั่วหรือเสียงของซาตานที่หลอกในความคิดความเชื่อของเรา

ประการที่สาม การเปลี่ยนแปลงใดๆ ย่อมเริ่มต้นที่ความนึกคิดของคน หลักคิดหลักการนี้เราเห็นได้ชัดเจนตลอดคำสอนในพระคัมภีร์ เช่น การที่พระเจ้าตัดสินพระทัยล้างสังคมโลกในสมัยโนอาห์ ปฐมกาล 6:5 เขียนไว้ชัดว่า "พระยาห์เวห์...ทรงเห็นว่าเค้าความคิดในใจทั้งหมดของเขาล้วนเป็นเรื่องชั่วร้ายตลอดเวลา" (ฉบับมาตรฐาน) และในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ โรม 12:2 เขียนไว้ว่า "...จงรับการเปลี่ยนแปลงจิตใจของท่าน..." พระคัมภีร์ได้สอนอย่างชัดเจนว่า เราคิดอย่างไรย่อมมีผลกระทบต่อความรู้สึกของเรา และเมื่อเรารู้สึกอย่างไรย่อมมีผลต่อการกระทำหรือพฤติกรรมที่เราแสดงออก เพราะว่าการเปลี่ยนแปลงชีวิตเริ่มต้นที่ความคิดความเชื่อของคน แต่การที่อำนาจความผิดบาปจะเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนเริ่มต้นที่การหลอกลวง ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจึงเริ่มต้นที่ความคิดความเชื่อของคน

ประการที่สี่ การที่จะช่วยให้ชีวิตของผู้คนเกิดการเปลี่ยนแปลง สิ่งแรกเราจะต้องเริ่มการเปลี่ยนแปลงที่ความคิดความเชื่อของคนๆ นั้น เราจะไม่พยายามเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงที่พฤติกรรมของเขา เพราะการเปลี่ยนแปลงจะเริ่มต้นที่ความนึกคิดของคน และด้วยเหตุนี้พระเยซูคริสต์ถึงตรัสว่า ท่านจะรู้สัจจะและสัจจะจะทำให้ท่านเป็นไท สัจจะจะช่วยปลอดปล่อยท่านหลุดออกจากการครอบงำทางความคิดความเชื่อของอำนาจแห่งความชั่วร้ายของซาตาน

ประการที่ห้า การที่พยายามเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คนโดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงที่ความเชื่อความคิดของเขานั่นเป็นการสูญเสียเวลา ขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบ ผมได้รับเรือลำหนึ่งในทะเลสาบ เรือลำนี้มีโปรแกรมควบคุมการขับเคลื่อนอัตโนมัติ โดยโปรแกรมตั้งไว้ให้เรือขับเคลื่อนมุ่งไปทางทิศเหนือ แต่ถ้าผมต้องการให้เรือมุ่งหน้าไปทางทิศใต้ ผมต้องหันเรือลำนี้กลับ 180 องศา ถ้าผมต้องการที่จะ "เปลี่ยนทิศทาง" (กลับทิศทางเรือ) ที่มุ่งไปผมมีสองทางเลือก ทางเลือกที่หนึ่งผมพยายามควบคุมและเปลี่ยนทิศทางการขับเคลื่อนของเรือโดยใช้พวงมาลัยเรือเพื่อบังคับให้เรือหันกลับไปทางทิศใต้ แต่ถ้าผมปล่อยพวงมาลัยเรือเมื่อใด เรือก็จะตีกลับมุ่งไปทางทิศเหนืออย่างเดิมตามที่โปรแกรมตั้งไว้ ผมจะต้องปล้ำสู้ ควบคุมพวงมาลัยเรือให้ได้ เกิดแรงต้านอย่างสูงเพราะโปรแกรมตั้งให้ไปทางทิศเหนือ แต่ผมกลับหมุนพวงมาลัยเรือให้ไปทางทิศใต้ ไม่ช้าไม่นานผมก็เหนื่อยอ่อน หมดแรง (ซึ่งเราเห็นตัวอย่างเช่นนี้ในชีวิตจริง เช่น คนตัดบุหรี่กลับไปสูบอีก คนที่ต้องการลดน้ำหนักกลับไปมีพฤติกรรมการกินอย่างเดิมหรือหนักไปกว่าเดิม เมื่อเกิดความเครียดเมื่อใดเขาก็กลับไปพึ่งเหล้าพึ่งเบียร์) ทางเลือกที่สองคือ ผมต้องเปลี่ยนโปรแกรมที่ตั้งไว้ให้เรือมุ่งหน้าไปทางทิศใต้ นั่นก็คือการเปลี่ยนแปลงควาามคิดความเชื่อของคน และนั่นคือการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ถึงจะสามารถนำไปสู่การให้นาวาชีวิต "หันกลับ" ทิศทางที่จะมุ่งหน้าได้

ประการที่หก คำในพระคัมภีร์ที่มีความหมายตรงกับการเปลี่ยนแปลงทางความคิดความเชื่อคือ "การกลับใจเสียใหม่" (metanoia) ผู้คนส่วนใหญ่เมื่อคิดถึง "การกลับใจ" มักจะคิดว่าเป็นการหยุดยั้งการกระทำชั่ว แต่นี่ไม่ใช่ความหมายของการกลับใจในคริสต์ศาสนา ถ้าท่านไปค้นคำอธิบายศัพท์พระคัมภีร์ (lexicon) ท่านจะไม่สามารถพบเลยว่า การกลับใจหมายถึงการหยุดการกระทำชั่ว ความหมายของ "การกลับใจใหม่" หรือ metanoia มีความหมายถึงการเปลี่ยนแปลงความนึกคิด เรามีชีวิตในยุคของการเปลี่ยนแปลง เช่น การเปลี่ยนแปลงธุรกิจ และการเทศนาก็คือกระบวนการเปลี่ยนแปลงความนึกคิดของคน คำว่า "การกลับใจใหม่" ในคริสต์ศาสนาอาจจะเทียบเคียงกับคำที่ใช้ในสังคมยุคปัจจุบันคือ "การเปลี่ยนกระบวนทัศน์" การกลับใจใหม่คือการเปลี่ยนแปลงที่รากฐานของกระบวนทัศน์ทีเดียว คือการที่ผมออกจากความมืดไปสู่ความสว่าง ที่จะออกจากความรู้สึกผิดไปสู่การรับการอภัยโทษ ออกจากความสิ้นหวังสู่ความหวัง ออกจากชีวิตที่ไร้เป้าหมายทิศทางไปสู่เป้าหมายใหม่ ออกจากการมีชีวิตด้วยตนเองเป็นชีวิตในพระเยซูคริสต์ นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงลงลึกถึงรากของกระบวนทัศน์ และการกลับใจคือการที่เกิดการเปลี่ยนแปลงความนึกคิดของเราลงลึกถึงระดับความเชื่อและระบบคุณค่าในชีวิต

ประการที่เจ็ด การเปลี่ยนแปลงวิถีการกระทำของผมเป็นผลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงความคิดความเชื่อของผม ดังนั้น การที่เรานำให้ผู้คนได้มีความสัมพันธ์และสัมผัสกับพระวจนะของพระเจ้า ผมไม่สามารถกดดัน หรือ บีบบังคับให้ผู้คนเปลี่ยนความคิดความเชื่อของเขา ใน 1โครินธ์ 2:13 กล่าวไว้ว่า "นี่คือสิ่งที่พวกเราพูด...ด้วยถ้อยคำซึ่งพระวิญญาณทรงสอน เป็นการสำแดงความจริงด้านจิตวิญญาณด้วยถ้อยคำฝ่ายจิตวิญญาณ" (อมตธรรม) ในที่นี้มีทั้ง "พระวจนะ" และ "พระวิญญาณ" ในการเทศนาของเรา คำเทศนามากมายในปัจจุบันมีองค์ประกอบทาง "พระวจนะ" แต่ขาดองค์ประกอบของ "พระวิญญาณ"

เราพูดถึงการต่อสู้ด้านจิตวิญญาณ ผมไม่คิดว่าการต่อสู้ด้านจิตวิญญาณศัตรูที่เราต่อสู้คือวิญญาณชั่วร้าย ผมคิดว่าเมื่อพระคัมภีร์กล่าวถึงสงครามทางจิตวิญญาณนั้นคือการโค่นล้มการยึดมั่นถือมั่นในความคิดความเชื่อของคนเรา ใน 2โครินธ์ 10 เขียนไว้ว่า "...อาวุธที่เราใช้ไม่ใช่อาวุธของโลก แต่เป็นอาวุธที่เปี่ยมด้วยฤทธิ์อำนาจของพระเจ้าสามารถทำลายล้างที่มั่นต่างๆ ได้ เราทำลายล้างประเด็นโต้แย้งและคำแอบอ้างทั้งปวงที่ตั้งตัวขัดขวางความรู้ของพระเจ้า และเราสยบทุกความคิดให้ยอมจำนนเชื่อฟังพระคริสต์" (10:4-6 อมตธรรม)

ประการที่แปด การเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตเป็นผลจากการกลับใจใหม่ โดยกระบวนการเปลี่ยนแปลง การกลับใจไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคน แต่การกลับใจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการกระทำของชีวิต การกลับใจคือสิ่งที่เกิดขึ้นในความคิดความเชื่อของเรา ดังนั้น จึงมิใช่เรียกร้องให้คนละทิ้งการกระทำผิดบาป ด้วยเหตุนี้ ยอห์นผู้ให้บัพติสมาจึงกล่าวว่า "จงเกิดผลให้สมกับการกลับใจใหม่" (มัทธิว 3:8 อมตธรรม) ทำไมเราถึงต้องเกิดผลในการกลับใจใหม่ของเรา? เพราะผลที่เกิดขึ้นจากการกลับใจใหม่คือการกระทำ คือพฤติกรรมของเราที่แสดงออกมา เปาโลกล่าวใน กิจการ 26:20 ว่า "...ข้าพระบาทประกาศว่าเขาควรกลับใจใหม่...และพิสูจน์การกลับใจใหม่ด้วยการกระทำของตน" ดังนั้น การกระทำมิใช่การกลับใจใหม่ แต่การกลับใจใหม่คือการที่เปลี่ยนความคิดความเชื่อ และการเปลี่ยนความคิดความเชื่อจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงการกระทำและการดำเนินชีวิต

ประการที่เก้า การเทศนาที่ขุดลึกลงถึงรากของชีวิต คือการเทศนาให้เกิดการกลับใจใหม่ เป็นการเทศนาที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงลงลึกในความคิดความเชื่อของผู้ฟัง เป็นการเทศนาที่ตามด้วยการประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง เป็นการเทศนาที่ชี้ชัดถึงความแตกต่างชัดเจน มากกว่าการเทศนาแบบผิวเผิน การเทศนาแบบผิวเผินมักเป็นการเทศนาที่มุ่งสอนเกี่ยวกับหลักข้อเชื่อ หรือ การตีความเกี่ยวกับหลักข้อเชื่อแต่ปราศจากการประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน หรือการเทศนาแบบเจาะลึกลงในเบื้องหลังของพระคัมภีร์ข้อนั้นๆ เป็นการเทศนาที่มีความรู้น่าสนใจแต่ไร้ซึ่งการประยุกต์ใช้ได้จริงในชีวิต การเทศนาคือการนำพระวจนะของพระเจ้ามาปรเะยุกต์เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของผู้ฟังในเรื่องชีวิต พระเจ้า อำนาจชั่ว เรื่องอนาคต เรื่องในอดีต เรื่องชีวิตของผู้ฟัง และพันธกิจในชีวิตของผู้ฟัง

เราจะเห็นว่าเรื่อง "การกลับใจใหม่" เป็นเรื่องแกนกลางของพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ มัทธิว 3:2 ยอห์นผู้ให้บัพติสมาเริ่มเทศนากล่าวว่า "จงกลับใจใหม่เพราะอาณาจักรสวรรค์มาใกล้แล้ว" (อมตธรรม) และพระเยซูเองก็เทศนาว่า "จงกลับใจใหม่เพราะอาณาจักรสวรรค์มาใกล้แล้ว" (มัทธิว 4:17 อมตธรรม) ตลอดพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่เราพบว่ามีการกล่าวถึงการกลับใจตลอดเล่ม ไม่ว่าจะเป็นสาวก เปโตร เปาโล จนถึงยอห์นผู้เขียนพระธรรมวิวรณ์

ประการสุดท้าย การที่จะเกิดผลจากการเปลี่ยนแปลงในชีวิตอย่างยั่งยืนนั้น จะต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงเริ่มจากการมีความคิดความเชื่อใหม่ที่ชัดเจน ที่มีผลกระทบต่ออารมณ์ความรู้สึก และท้าทายต่อการเปลี่ยนแปลงด้านเจตจำนงในชีวิต ทั้งสามสิ่งนี้ในคำเทศนาจะต้องได้รับการประยุกต์ให้ใช้ได้จริงในชีวิต กล่าวคือในการเทศนาที่นำมาถึงการเปลี่ยนแปลงมีสามมิติด้วยกันคือ ความรู้ อารมณ์ความรู้สึก และการกระทำ และผู้เทศนาจะต้องเป็นคนที่ไวต่อความรู้สึกของผู้ฟัง เพราะในบางครั้งบางคนก็ต้องการการปลอบประโลม ในขณะที่บางคนต้องการการท้าทาย และนักเทศน์มักพลาดในการที่จะรู้เท่าทันความรู้สึกต้องการของผู้ฟัง

จุดอ่อนประการสำคัญในการเทศนาของเราในทุกวันนี้คือ การที่นักเทศนาจะท้าทายความมุ่งมั่นตั้งใจของผู้ฟังอย่างถ่อมสุภาพ นักเทศน์หลายคนเก่งในการตีความพระวจนะ บางคนเก่งในการประยุกต์ใช้พระวจนะในชีวิตประจำวัน แต่นักเทศนาส่วนมากจะไม่เต็มอกเต็มใจนักที่จะยืนขึ้นเรียกร้องให้ผู้ฟังกลับใจใหม่ เราน่าจะเทศนาและท้าทายให้ผู้ฟังให้กลับใจใหม่ทุกวันอาทิตย์ แต่เราอาจจะไม่ต้องใช้คำว่ากลับใจใหม่ แต่ใช้คำที่คนสมัยนี้ฟังแล้วเข้าใจง่าย อาจจะท้าทายให้ผู้ฟังได้เปลี่ยนแปลงความคิดใหม่ หรือ ให้เปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ในชีวิต ข่าวดีแห่งพระกิตติคุณในทุกวันอาทิตย์นำไปสู่การท้าทายว่า คุณพร้อมจะเปลี่ยนความคิดของคุณหรือไม่? คุณต้องการเปลี่ยนจากวิธีการคิดแบบเดิมของคุณไหม?

วิถีชีวิตของผู้คนในทุกวันนี้ตกอยู่ในความสับสนมืดมน ชีวิตฉีกขาดและแตกเป็นเสี่ยงๆ ถ้าคำเทศนาของเราไม่มีข่าวสารให้กลับใจใหม่ นั่นคงไม่ใช่คำเทศนา เพราะไม่ว่าคุณจะปรุงแต่งคำเทศนาของคุณด้วยอะไรก็ตาม เป้าหมายปลายทางที่การเทศนาต้องการให้เกิดขึ้นคือ การที่ผู้ฟังจะเปลี่ยนความคิดความเชื่อ และความคิดความเชื่อใหม่ก็จะควบคุมส่วนอื่นๆ ของชีวิต และชีวิตจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ อย่างแน่นอน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่

23 กันยายน 2554

กำลังใจที่ขาดหายไป(ในองค์กรของเรา?)

ผู้นำที่เลวต้องการผลงานมากมายจากคนทำงานของตน แต่ไม่เคยสนใจที่จะชื่นชมในสิ่งดีๆ ที่คนของตนได้ทำ แต่ผู้นำที่มีประสิทธิภาพตระหนักชัดว่า ผู้คนจะได้รับการกระตุ้นหนุนเสริมด้วยการเสริมสร้างความมั่นใจในคุณค่าของงานที่เขาได้กระทำ และกำลังใจที่ได้รับนี้จะเป็นรางวัลที่มีคุณค่ากว่าเงินทอง ผู้นำจำนวนมากได้ทำผิดพลาดที่มองข้ามเพิกเฉยในการสนใจและให้การสนับสนุนด้านอารมณ์ความรู้สึกของเพื่อนร่วมงาน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างสูงในการทำงาน และนี่คือแหล่งพลังที่สร้างสรรค์ผลงานและรายได้กลับมาให้องค์กรและบริษัท เพราะคนทำงานต้องการท่าทีการหนุนเสริมเพิ่มพลังจากผู้นำ

ผู้นำส่วนมากมักคิดและคาดหวังว่าลูกน้องของตนจะต้องทำให้มีผลงานที่ดีอยู่แล้ว แต่คุณลองคิดดูซิว่าถ้าเป็นคุณ มีคนให้คุณทำงานที่ยากลำบากดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ที่จะสำเร็จด้วยซ้ำ และก็ไม่ได้ให้กำลังใจแก่คุณในการทำงาน คุณจะทำงานนั้นให้เขาหรือไม่? การที่ผู้นำสามารถบ่งบอกถึงสิ่งดีที่เขากระทำนั้น คนทำงานเกิดความภาคภูมิใจเพราะเขารู้ว่าเจ้านายใส่ใจในสิ่งที่เขาทำ ยิ่งถ้าผู้นำชื่นชมในผลงานที่เขากระทำ เขายิ่งภูมิใจมากขึ้นเพราะเขารู้สึกมีคุณค่า และงานที่เขาทำเสริมสร้างคุณค่าแก่เขา

ผู้คนต่างต้องการความมั่นใจ และ การชื่นชมจากผู้นำของตน เฉกเช่นเด็กๆ ต้องการการยืนยันให้ความมั่นใจและการชื่นชมจากพ่อแม่ ความต้องการดังกล่าวมิได้หดหายไปตามกาลเวลาหรืออายุขัยที่เพิ่มมากขึ้น เราต้องการสิ่งนี้แม้เมื่ออายุมากแล้ว หรือเมื่อแก่แล้วด้วยเช่นกัน

การชื่นชมและการยืนยันถึงสิ่งดีๆ ที่ลูกน้องได้ทำนั้น สามารถทำได้หลายรูปแบบด้วยกัน เมื่อผู้นำรู้ว่ามีลูกน้องคนหนึ่งทำสิ่งดีๆ ให้ลุกขึ้นจากโต๊ะทำงานในห้องทำงานของตน เดินไปหาเขา ชื่นชมและขอบคุณในสิ่งดีๆ ที่เขาได้กระทำ หรืออาจจะตบไหล่เบาๆ แสดงถึงความพึงพอใจและชื่นชม และกล่าวให้กำลังใจแก่เขาที่จะทำดีต่อไป หรืออาจจะขอคำแนะนำจากลูกน้องคนนั้นว่าทำอย่างไรถึงทำได้ดีเช่นนี้ หรือบางครั้งอาจจะเขียนเป็นโน้ตเล็กๆ ขอบคุณในสิ่งดีที่เขาได้กระทำ และแสดงความชื่นชมในความตั้งใจของเขา หรืออาจจะชื่นชมเขาในที่สาธารณะ เช่นเมื่อมีการประชุมก็ได้

เรามักมองข้ามพลังแห่งการสัมผัสเป็นการส่วนบุคคลด้วยความรักเมตตา สำหรับหลายต่อหลายคนที่ได้รับคำพูดที่ยืนยันถึงสิ่งดีที่ตนกระทำและคำชื่นชมจากผู้นำเป็น “ภาษารัก” ที่คนทำงานกระหายหา เป็นถ้อยคำที่ให้กำลังใจ เป็นเชื้อเพลิงหรือพลังที่ทำให้เกิดการทุ่มเทมุมานะแม้งานจะหนักยากแค่ไหนก็ตาม สัมผัสความรู้สึกและจิตใจของเพื่อนร่วมงานด้วยการชื่นชม และยืนยันถึงสิ่งดีที่เขาได้ทำด้วยเมตตาจิตอย่างจริงใจ แล้วเขาจะยอมตามผู้นำไปในทุกที่ที่ผู้นำไป

ผู้นำต้องเรียนรู้เท่าทันถึงความต้องการรับการชื่นชมและการยืนยันในสิ่งดีที่คนทำงานแต่ละคนได้กระทำ คนทำงานแต่ละคนย่อมต้องการการชื่นชมและการยืนยันสิ่งที่เขาทำดี ด้วยวิธีการแตกต่าง และมากน้อย ที่ไม่เหมือนกัน ผู้นำต้องใส่ใจและเรียนรู้เท่าทันในเรื่องนี้ของผู้ร่วมงานแต่ละคน และให้กำลังใจในผลงานดีๆ ที่เขาได้ทำ

คนทำงานประเภทแรก เป็นคนทำงานกลุ่มที่กระหายหาการชื่นชม การใส่ใจ การยืนยันในสิ่งที่เขาทำดีจากผู้นำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนทำงานใหม่ส่วนใหญ่จะอยู่ในประเภทนี้ที่ต้องการการใส่ใจและความสนใจอย่างมากจากผู้นำเพื่อเขาจะมั่นใจว่าสิ่งที่เขาทำนั้นถูกต้อง ดี ถูกใจเจ้านาย, คนทำงานประเภทที่สอง พวกนี้อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ บางครั้งดูเหมือนว่าเขาไม่ต้องการการใส่ใจสักเท่าใด แต่บางครั้งเห็นว่ากำลังมีปัญหาในการทำงาน ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะมีปัญหาติดมาจากบ้าน? มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องลูก ใครจะไปรู้ได้? ผู้นำที่ดีต้องเรียนรู้ที่จะอ่านอาการที่แสดงออกของลูกน้อง เพื่อจะให้การใส่ใจอย่างเหมาะสมสอดคล้อง, คนทำงานประเภทปกติ ที่มาจากครอบครัวที่มีสภาพแวดล้อมมั่นคง คนงานกลุ่มนี้ไม่ต้องการการใส่ใจเป็นพิเศษ แต่สำหรับคนที่มีจากครอบครัวที่ไม่มั่นคง ย่อมต้องการการเอาใจใส่ใกล้ชิดจากผู้นำมากกว่า, คนทำงานประเภทที่เชื่อมั่นในตนเอง คนทำงานกลุ่มนี้จะทำดีที่สุดอย่างเป็นธรรมชาติ แต่ถ้าผู้นำเข้าไปชื่นชม และยืนยันถึงสิ่งที่เขาทำดี เขาอาจจะเกิดสงสัยว่า วันนี้เจ้านายจะมาไม้ไหนกันแน่นี่? จะย้ายงานเราอีกหรือเปล่า? เขาต้องการอะไรจากฉัน? ฯลฯ ดังนั้น ผู้นำต้องรู้เท่าทันและสามารถแยกแยะได้ว่าคนทำงานแต่ละคนเป็นคนประเภทใด เพื่อจะชื่นชม ให้กำลังใจอย่างเหมาะสมถูกต้อง

เปาโลได้กล่าวถึงเรื่องนี้ใน 1เธสะโลนิกา 5:14 ว่า “พี่น้องทั้งหลาย เราขอให้ท่านตักเตือนคนที่เกียจคร้าน ให้กำลังใจผู้ที่ขลาดอาย(ขาดความกล้าหาญ, ฉบับมาตรฐาน) ช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอ อดทนกับทุกคน” เลือกกระทำในสิ่งที่เหมาะสมสำหรับคนแต่ละประเภท และในข้อที่ 15 ถือว่าเป็นหัวใจของผู้นำก็ว่าได้ “จงสอดส่องดูแลอย่าให้ใครทำชั่วตอบแทนชั่ว แต่จงพากเพียรทำดีต่อกัน และดีต่อคนอื่นๆ ทุกคนเสมอ” (อมตธรรม) มีคำกล่าวว่า “ถ้าเรารู้ว่าการชื่นชมสรรเสริญควรมีแก่เขา ขณะนี้คือเวลาที่เราจะชื่นชมยกย่องเขา เพราะเขาไม่สามารถลุกขึ้นมาอ่านคำจารึกบนศิลาหน้าหลุมฝังศพ”

ผู้นำจำเป็นต้องแสดงให้ผู้ตามของตนสัมผัสได้ถึงการเอาใจใส่ห่วงใยของผู้นำที่มีต่อคนทำงาน และถ้าท่านเป็นผู้นำแบบที่บอกหรือสื่อสารให้คนทำงานรู้ว่าเขาทำงานได้ดีอย่างไรแค่ไหนแล้ว เพื่อนร่วมงานคนนั้นจะติดตามผู้นำไปทุกที่ที่ผู้นำไป ทั้งสิ้นนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการที่ผู้นำใส่ใจการทำงานของเพื่อนร่วมงาน และมองหาสิ่งดีที่เขากระทำ ชื่นชมให้กำลังใจ เสริมสร้างความมั่นใจในการกระทำดีเพราะเป็นสิ่งที่ทำให้เขาเกิดคุณค่า มีคำกล่าวที่ว่า ลูกน้องของคุณไม่สนใจหรอกว่าคุณรู้มากน้อยแค่ไหน จนกว่าเขารู้ว่าคุณใส่ใจพวกเขามากน้อยแค่ไหน

ความคิดทิ้งท้าย

พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ได้ให้หลักการเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่สำคัญสำหรับผู้นำ ดังนี้

ผู้นำคือ “ผู้ฟัง” คำว่าฟังเป็นคำที่มีความสำคัญยิ่งสำหรับผู้นำ เพราะการเป็นผู้นำมิใช่ผู้ที่พูด ออกคำสั่ง สอน หรือ เทศนา “...ให้ทุกคนไวในการฟัง ช้าในการพูด ช้าในการโกรธ” (ยากอบ 1:19 ฉบับมาตรฐาน)

ผู้นำคือ “ผู้เห็นอกเห็นใจ” ใช้ชีวิตที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับลูกน้อง “จงชื่นชมยินดีกับผู้ที่มีความชื่นชมยินดี จงร้องไห้กับผู้ที่ร้องไห้” (โรม 12:15 ฉบับมาตรฐาน)

ผู้นำคือ “ผู้หนุนเสริมเพิ่มพลัง” “...พระบิดาผู้ทรงเมตตากรุณา พระเจ้าแห่งการหนุนใจทุกอย่าง พระองค์ผู้ทรงหนุนใจเราในความทุกข์ยากลำบากทั้งหมดของเรา เพื่อเราจะสามารถหนุนใจคนทั้งหลายที่มีความยากลำบากอย่างใดอย่างหนึ่งได้ด้วยการหนุนใจ ซึ่งเราเองได้รับจากพระเจ้า” (2โครินธ์ 1:3-4 ฉบับมาตรฐาน)

ผู้นำคือ “ผู้ที่รับภาระของกันและกัน” ทำงานร่วมกับลูกน้องอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกันและกัน “จงช่วยรับภาระของกันและกัน และด้วยการกระทำเช่นนี้ท่านทั้งหลายก็ได้ปฏิบัติตามธรรมบัญญัติของพระคริสต์” (กาลาเทีย 6:2 ฉบับมาตรฐาน)

ผู้นำคือ “ผู้ที่ให้กำลังใจ” ผู้นำคือผู้ที่ชี้ถึงสิ่งดีๆ ที่ลูกน้องทำ แล้วชื่นชมยกย่องเขา แล้วผู้นำจะมองเห็นสิ่งดีๆ มากยิ่งๆ ขึ้นที่ลูกน้องได้ทำ “เหตุฉะนั้นจงให้กำลังใจกัน และเสริมสร้างซึ่งกันและกันขึ้นเหมือนที่ท่านกำลังทำอยู่แล้ว” (1เธสะโลนิกา 5:11 อมตธรรม)

ไม่จำเป็นมีตำแหน่งท่านก็เป็นผู้นำได้
วันนี้ท่านเป็นผู้นำแบบไหน?
และการเป็นผู้นำของท่านในวันนี้เป็นผู้นำแบบไหน?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่

21 กันยายน 2554

ผจญกับความล้มเหลว: แล้วคุณจะประหลาดใจในสิ่งที่พบ!

โรม 4:4-5; 1โครินธ์ 10:31;(ฉบับมาตรฐาน) ฮีบรู 12:1

ฉันบรรจงห่อพัสดุภัณฑ์อย่างแน่นหนา ด้วยความระมัดระวัง เพื่อที่จะไปส่ง อีเอ็มเอส ที่ไปรษณีย์ พร้อมกับคิดในใจว่า พรุ่งนี้ บรรณาธิการสำนักพิมพ์ก็จะได้รับต้นฉบับหนังสือที่ฉันเขียน และในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าฉันจะได้เห็นหนังสือที่ฉันฝันและทุ่มเทมาเป็นเวลายาวนานในชีวิตปรากฎเป็นจริง

ฉันคาดหวังที่จะได้รับความตื่นเต้น ชื่นอกชื่นใจ แต่สิ่งที่ได้รับกลับเป็นการ "มึน" และ "ชา" หมดความรู้สึก สิ่งที่ฉันทุ่มเทมุ่งหวังอย่างอดทนที่ยาวนานด้วยทั้งหมดของความคิด ความรู้สึก จิตวิญญาณ และทุกสิ่งทุกอย่างในความรู้ และ ความชาญฉลาดของฉันได้บรรจงเทลงในหนังสือเล่มนั้น จนไม่เหลือแม้แต่คำเดียวในสมองของฉัน

หลังจากส่งต้นฉบับไปได้ 3-4 วัน บรรณาธิการสำนักพิมพ์ได้โทรศัพท์มาถึงฉัน และบอกว่า "เราชอบเรื่องราวในต้นฉบับที่คุณเขียน และเราอยากให้คุณเขียนเพิ่มอีก 4 บท แล้วรีบส่งกลับมาให้เราเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ เพราะตารางพิมพ์ของเราแน่นมาก"

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ เหมือนกับว่าฉันได้ตั้งครรภ์ 9 เดือน แล้วอดทนในการเบ่งคลอดลูกอีก 24 ชั่วโมง แล้วฉันก็ได้คลอดทารกที่น่ารักสวยงาม และหลังจากนั้นอีกหนึ่งอาทิตย์สูตินรีแพทย์มาบอกฉันว่า "คุณจำเป็นที่จะต้องกลับไปเบ่งคลอดอีก 6 ชั่วโมง"

หลังจากนั้นอีก 3 อาทิตย์ ฉันปล้ำสู้กับความรู้สึกของตนเอง ฉันต่อรองกับพระเจ้า ฉันร้องไห้ วันแล้ววันเล่า ทุกสิ่งที่ฉันเขียนมันถูกโยนลงในตะกร้าขยะ ความกลัวเสียขวัญแผ่แพร่ขยายไปทั่วในความนึกคิดของฉัน "ฉันวิ่งมาถึงเส้นชัยแค่เอื้อม แต่ฉันทำให้ตนเองไปเหยียบเส้นชัยไม่ได้" สิ่งที่ปรากฎอยู่ข้างหน้าของฉันคือความล้มเหลวอย่างแน่นอน

ในที่สุด บทที่จะต้องเขียนเพิ่มในหนังสือของฉันได้ผุดโผล่ออกมา ทำให้ฉันรู้สึกว่าในภาวะเช่นนี้เราควรพูดหรือง่วนอยู่กับสิ่งที่จะต้องทำให้เกิดขึ้น มากกว่ามัววนเวียนคิดถึงแต่ความล้มเหลวและสิ่งที่เกี่ยวข้องหรือผลของความล้มเหลว ทำให้ฉันมองเห็นและเรียนรู้ว่า ความล้มเหลวเป็นสิ่งที่เราควรจะพูดถึงมันเมื่อเรามีชัยและเกิดผลตามมาจากความสำเร็จแล้ว

ความจริงที่ไม่มีทางเลือกก็คือ การเรียนรู้ที่ความล้มเหลวสอนเราคือ เราไม่สามารถหาทางเรียนรู้จากทางอื่นวิธีอื่นได้ ดังนั้น ให้เรากระทำต่อความล้มเหลวดั่งแขกที่มาเยือน ยอมรับข่าวที่ทำให้เราไม่สบายใจ แต่ไม่อนุญาตให้ความล้มเหลวมาอาศัยอยู่ด้วย เราคงจำเป็นต้องบอกกับความล้มเหลวว่า "เชิญแสดงจุดผิดพลาด บกพร่องแก่ฉัน แล้วเชิญคุณออกจากที่นี่" มุมมองและทัศนคติที่สำคัญต่อความล้มเหลวคือ เราจะต้องมองความล้มเหลวของเราอย่างใกล้ชิด ละเอียดถี่ถ้วน แล้วให้น้ำหนักความสำคัญตามความเป็นจริงตามสภาพความล้มเหลวที่เป็นอยู่

คุณได้เรียนรู้อะไรบ้างจากความล้มเหลวของคุณ? สำหรับฉันแล้วฉันได้เรียนรู้

ทุกความล้มเหลวไม่มีน้ำหนักหรือความสำคัญเท่ากัน

สมัยที่ฉันเรียนหนังสือในมหาวิทยาลัย ฉันเคยได้ "D" อยู่วิชาหนึ่ง คนอื่นอาจจะมองว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไร เพื่อนของฉันบางคนกลับมองว่าเป็นเรื่องตลก(เพราะได้ "D" ก็สอบผ่าน) แต่ความจริงก็คือว่ามันฝังแน่นในความคิดของฉันเหมือนกรวดในรองเท้า ทำไมฉันถึงยึดเกาะแน่นที่เกรดหรือคะแนนที่ได้ แต่เมื่อฉันให้เวลาที่จะมองพิจารณาสถานการณ์รอบข้างอย่างถ้วนถี่และตามความเป็นจริงแล้ว นี่เป็นเทอมแรกในการเรียน ฉันลงเรียน 19 หน่วยกิต, ทำงานครึ่งเวลา(เพื่อเลี้ยงชีพอยู่รอด), แล้วมีแฟนเสียอีกด้วย, มีอยู่ 6 สัปดาห์ที่ฉันต้องผจญกับการเจ็บไข้ได้ป่วยเกี่ยวกับโรคติดเชื้อ เมื่อฉันมีโอกาสที่จะตรวจสอบใคร่ครวญถึงความจริงของสถานการณ์ของความล้มเหลว ทำให้พลังอำนาจของความล้มเหลวที่ครอบงำรบกวน และกัดกร่อนความคิดความรู้สึกของฉันหมดแรงลงได้

ความล้มเหลวสอนเราว่าอะไรที่สำคัญ


ฉันมีเพื่อนสนิทคนหนึ่ง เขาได้ออกจากงานที่เขารัก ฉันแปลกใจในสิ่งที่เธอทำ เพราะฉันรู้ดีว่าเขาทำงานนั้นได้ดีเยี่ยมแค่ไหน

"ฉันมีแนวโน้มที่จะทนงตนอย่างสูง" เธอบอกฉันต่อไปว่า "ฉันยุติงานนี้เพราะฉันทำสำเร็จแล้ว เพราะในสถานการณ์ที่ฉันต้องสูญเสียงานนี้ไปมันทำให้ฉันรู้จักถ่อมตัวลง ในที่สุด ฉันชื่นชมยินดีกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะในความทนงตนคุณจะไม่ได้รับอนุญาตให้ล้มเหลวในชีวิต คุณต้องแบกแอกอันหนักอึ้งนี้ไว้ ฉันจะไม่ยอมอยู่ใต้แอกที่แสนหนักนี้ต่อไป ตอนนี้ฉันรู้สึกว่าจิตวิญญาณของฉัน "เบาตัว" ฉันไม่ต้องมีภาระหนักที่ต้องแบก ภาระหนักที่กดฉันว่าต้องเป็นคนที่สมบูรณ์แบบ"

ในส่วนที่ดียิ่งที่เธอได้รับในสถานการณ์ครั้งนี้คือ พระเจ้าใช้ประสบการณ์ชีวิตครั้งนี้ให้เธอได้เข้ามาใกล้กับพระองค์ "ในสถานการณ์นี้ พระเจ้าให้เกิด "ฟอง" กับฉันมิใช่ให้ฉันต้อง "ระเบิด" (พระเจ้าทรงให้เกิดฟองที่ระบายความดันออกมา มิได้ให้เกิดการสะสมแรงดันจนเกิดระเบิดในตัวเธอ) จุดนี้เองที่นำฉันมาเป็นสาวกของพระองค์ ความสำเร็จไม่จำเป็นที่จะต้องมีคำอธิบาย แต่เมื่อใดก็ตามที่ความล้มเหลวสัมผัสกับชีวิตของเรา เราต้องการคำตอบ ฉันจึงเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิต แต่ในที่สุดสิ่งเหล่านี้นำฉันเข้าถึงพระเจ้า

ความล้มเหลวเป็นเพียงสถานการณ์แวดล้อมหนึ่ง มิใช่เป็นคำพิพากษา

ฉันรู้จักกับสตรีคนหนึ่งที่ใช้เวลาชีวิตของเธอในธุรกิจอุตสาหกรรมร้านอาหารที่ท้าทายอย่างมากเป็นเวลาถึง 15 ปี เธอรู้สึกตั้งแต่วันแรกของการเปิดแฟรนชายส์สาขาแรกว่าพระเจ้าทรงให้เธอทำธุรกิจนี้อย่างมีพระประสงค์ เธอทำธุรกิจนี้ด้วยความสัตย์ซื่อ ให้การบริการที่ยอดเยี่ยม จำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพ และที่สำคัญเธอใช้ระบบคุณธรรมจากพระคัมภีร์เป็นระบบคุณค่ากับคนที่มาสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับเธอ ไม่ว่าจะเป็นคนงานที่ทำงานด้วย ผู้ขาย และลูกค้า

งานนี้ไม่ใช่เรื่องกล้วยๆ เสียแล้ว เมื่อภัตตาคารของเธอเปิดได้แค่สามสัปดาห์ก็ถูกขว้างระเบิด หลังจากนั้นคู่แข่งของแฟรนไชส์ก็เปิดภัตตาคารด้านขวาข้างอาคารของเธอ เธอเล่าว่า "ทุกวันฉันมอบธุรกิจนี้ไว้กับพระเจ้า แล้วแต่พระองค์จะจัดการให้ธุรกิจนี้ดำเนินต่อไปอย่างไร"

เมื่อธุรกิจนี้เติบโตใหญ่ขึ้น สามีของเธอได้เข้ามาเป็นหัวหน้าฝ่ายการเงิน หลังจากนั้น 15 ปีเธอเป็นเจ้าของภัตราคาร 14 แห่ง ชื่นชมกับความสำเร็จทางธุรกิจและการเงิน และเป็นที่นับถือในหมู่เพื่อนฝูง

วันหนึ่งบริษัทแม่ของแฟรนไชส์ได้ปรับเปลี่ยนระเบียบใหม่ เพื่อนของฉันและสามีของเธอรู้สึกว่าตามระเบียบใหม่นี้เธอจะต้องปรับระบบคุณค่าในการทำธุรกิจลงไม่เช่นนั้นจะทำธุรกิจนี้ตามระเบียบใหม่ไม่ได้ การที่จะยุติกิจการก็ดูเป็นเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อนเอาการ มันเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความตึงเครียดทั้งในด้านอารมณ์และทางการเงิน ในสายตาของบรรดานักสังเกตการณ์ ต่างมองว่าความล้มเหลวที่ใหญ่โตพร้อมที่จะล้มครืนลง

ฉันหวังว่าเราจะไม่มองความล้มเหลวด้วยสายตาแบบง่ายๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มองความล้มเหลวบนรากฐานระบบคุณค่าตามพระคัมภีร์ การกระทำอย่างนี้ของบริษัทแม่รู้สึกว่าไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง เพื่อนของฉันยอมรับว่าช่วงนั้นเป็นเวลาที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวด ครั้งแล้วครั้งเล่าที่เธอและสามีช่วยกันทบทวนว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นกับเธอ พยายามดึงเอาสติปัญญาจากสถานการณ์แวดล้อมที่เกิดขึ้นก่อนที่จะตัดสินใจ "ทิ้งไพ่ใบสุดท้าย"

Oswald Chambers เคยกล่าวไว้ใน My Utmost for His Highest ตอนหนึ่งว่า "พระเจ้าทรงสามารถนำพระประสงค์ของพระองค์ผ่านหัวใจที่ฉีกขาดสลายไปยังโลก ถ้าเช่นนั้นจงขอบพระคุณพระองค์ที่ทำให้หัวใจของท่านต้องฉีกขาด" เพื่อนสนิทของฉันและสามีของเธอเลือกเดินบนเส้นทางนี้ ทุกวันนี้เธอสามารถกล่าวถึงพระธรรมโรม 8:28 ได้อย่างเต็มปากจากประสบการณ์จริงในชีวิตของเธอว่า "...เรารู้ว่าในทุกๆ สิ่งพระเจ้าทรงทำให้เกิดผลดีแก่บรรดาที่รักพระองค์ คือผู้ที่ได้ทรงเรียกตามพระประสงค์ของพระองค์"

เธอบอกฉันว่า เธอเริ่มธุรกิจใหม่อีกครั้งหนึ่ง เธอกล่าวว่า "พระเจ้าทรงยื่นห่อของขวัญแก่เธอ และเธอต้องเปิดห่อของขวัญนั้น" เธอกล่าวต่อไปอีกว่า "เธอไม่รู้เลยว่ามีอะไรในห่อของขวัญนั้น ฉันต้องการที่จะใช้ชีวิตของฉันทำในสิ่งที่พระเจ้าประทานให้ฉันทำ" ทุกวันนี้เพื่อนสนิทคนนี้ของฉันเป็นโค้ชแก่ผู้บริหาร เธอให้การปรึกษาแก่ ซีอีโอ ในการบริหารจัดการทั้งธุรกิจและการดำเนินชีวิตของเขา

พระเจ้ามองความล้มเหลวด้วยสายตาที่แตกต่างจากเรา

การที่เขียนเพิ่มอีกสี่บท หรือคะแนนที่เรียน ไม่ได้สร้างความเจ็บปวดเท่ากับความหายนะที่เกิดจากความล้มเหลวที่รุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ตัดสินใจเลือกด้วยตนเอง เช่น การติดสารเสพติดที่นำความหายนะมาสู่ชีวิต ลิ้นที่พูดพล่อยไม่ระมัดระวังที่ทำลายสัมพันธภาพที่สำคัญในชีวิตและการงาน การหลอกลวงที่หักหลังความไว้วางใจที่คนอื่นมีต่อเรา และสิ่งที่สำคัญยิ่งที่จะต้องตระหนักชัดว่า พระเจ้าทรงมีมุมมองความล้มเหลวที่ชัดเจนแตกต่างจากมุมมองของเรา

ในขณะที่พระเจ้าทรงคาดหวังว่าเราจะรับผิดชอบในส่วนความรับผิดชอบของเรา และทูลขอการยกโทษจากพระองค์ พระองค์ไม่เคยสับสนปนเประหว่างเรื่องความบาปกับคนบาป พระเจ้าอาจจะผิดหวังในพฤติกรรมชีวิตของเรา แต่พระองค์ไม่เคยเดินหนีออกไปจากชีวิตของเรา "แต่พระเจ้าทรงสำแดงความรักของพระองค์แก่เรา คือขณะที่เราเป็นคนบาปอยู่นั้น พระคริสต์สิ้นพระชนม์เพื่อเรา” (โรม 5:8 ฉบับมาตรฐาน)

ไม่มีความล้มเหลวในชีวิตที่รุนแรงแค่ไหนที่พระคุณของพระเจ้าจะทรงยื่นพระหัตถ์ไปไม่ถึง เราสามารถมอบเรื่องที่ทำจนสับสนวุ่นวายให้กับพระเจ้า แล้วเราจะประหลาดใจว่าพระองค์ทรงจัดการสิ่งที่เลวร้ายให้เป็นสิ่งที่สวยงามได้

การตายบนกางเขนของพระคริสต์ดูแล้วเป็นความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง พระองค์ถูกแขวนประจานบนกางเขน อีกทั้งยังถูกทอดทิ้งจากพระบิดา ฝูงชนที่โกลาหลกล่าวร้ายว่าพระองค์เป็นคนลวงโลก พระคริสต์ได้เตือนเหล่าสาวกแล้วว่า วันแห่งความมืดจะเข้ามา และยังบอกอีกว่านี่มิใช่จุดจบของเหตุการณ์นี้ แต่เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้น ฉันสงสัยว่าสาวกที่ติดตามพระองค์เชื่อมากน้อยแค่ไหนในสิ่งที่พระองค์ได้บอกพวกเขาไว้แล้ว แต่ในที่สุดพวกเขาก็เรียนรู้ว่า "...ในทุกๆ สิ่งพระเจ้าทรงทำให้เกิดผลดีแก่บรรดาที่รักพระองค์ คือผู้ที่ได้ทรงเรียกตามพระประสงค์ของพระองค์"

นี่คือประเด็น ท่ามกลางสถานการณ์ที่เราดูเหมือนว่าเลวร้ายและล้มเหลว ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์จริง หรือ ที่เราจินตนาการเอง ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ที่ยิ่งใหญ่รุนแรง หรือ เล็กน้อย ไม่ว่าจะเป็นเพราะความผิดของเราหรือของใครก็ตาม แต่ในสายพระเนตรของพระเจ้าแล้วทุกคนเป็นคนที่มีคุณค่า ไม่ว่าผู้คนจะว่าคนนั้นเป็นคนเช่นไรก็ตาม แต่พระองค์บอกว่า ผู้ที่ยอมรับเอาพระประสงค์ของพระองค์ในทุกสถานการณ์จะเป็นผู้มีชัย ดั่งพระคริสต์ยอมรับตามพระประสงค์ของพระบิดา และทรงมีชัยเหนือความตายในที่สุด


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่

ข้อเขียนนี้เรียบเรียง และ สะท้อนคิดจากบทความเรื่อง “Facing Failure” ของ Verla Wallace

19 กันยายน 2554

เป้าหมายมีพลังเหนือสถานการณ์แวดล้อม

“พี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้าปรารถนาให้ท่านรู้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับข้าพเจ้านั้นได้กลับเป็นเหตุให้ข่าวประเสริฐแผ่ขยายออกไป ฉะนั้นจึงเป็นที่รู้กันในหมู่ผู้คุมประจำกองบัญชาการทั้งหมด(จนทหารทั้งปวงที่รักษาวัง, อมตธรรม) และคนอื่นๆ ทุกคนว่า การที่ข้าพเจ้าถูกคุมขังนั้นก็เพื่อพระคริสต์ และพี่น้องส่วนมากก็เกิดความมั่นใจในองค์พระผู้เป็นเจ้า และพวกเขามีความกล้ามากขึ้นที่จะกล่าวพระวจนะ(ของพระเจ้า, อมตธรรม)โดยปราศจากความกลัว”
(ฟิลิปปี 1:12-14, ฉบับมาตรฐาน)

“...พระคริสต์จะทรงได้รับการยกย่องสรรเสริญในร่างกายของข้าพเจ้าในเวลานี้ดังเช่นที่ได้ตลอดมา ไม่ว่าจะโดยชีวิตหรือความตาย” (ข้อ 20)

เปาโลบอกชัดเจนในฟิลิปปี 1:20 ว่า เป้าหมายในชีวิตของท่านก็คือ กระทำและดำเนินชีวิตทั้งหมดเพื่อ “ยกย่องและสรรเสริญพระเจ้า” ดังนั้น ไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์ หรือ สภาพการณ์แบบไหนต่อชีวิตของท่าน สถานการณ์เหล่านั้นจะไม่สามารถขัดขวางเป้าหมายชีวิตที่ตั้งมั่นไว้แล้ว ยิ่งกว่านั้น ท่านจะใช้ทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเครื่องมือหรือโอกาสในการทำให้เป้าหมายสูงสุดในชีวิตเกิดผลเป็นจริง เป็นรูปธรรมในขณะนั้นๆ ให้เป็นที่ “ยกย่องสรรเสริญพระเจ้า”

ให้เราทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเปาโลจนท่านต้องถูกนำตัวมาที่กรุงโรมในฐานะผู้ต้องหาที่ถวายฎีกาต่อซีซาร์1 สิ่งที่เราพบเห็นเด่นชัดในที่นี้คือ เกิดการจลาจลเมื่อเปาโลมาถึงกรุงเยรูซาเล็ม ทหารโรมันจับกุมและคุ้มกันเปาโลไว้ ฝูงชนไม่ยอมฟังคำอธิบายของท่าน(กิจการ 21:30-34) นายพันชาวโรมันสั่งให้เฆี่ยนเปาโลเพื่อให้สารภาพ แต่เปาโลอ้างสิทธิในฐานะพลเมืองโรมัน จึงรอดพ้นจากการถูกเฆี่ยน(22:24-25) เปาโลถูกนำตัวไปไต่สวนในสภาศาสนาแซนเฮดรินของยิว แต่เพราะเขาถือสัญชาติโรมันจึงได้รับการช่วยเหลือให้พ้นจากอำนาจของผู้นำยิวที่ต้องการฆ่าเปาโล (22:30) นายพันโรมันนำเปาโลมาคุมขังเองเพื่อคุ้มกันเปาโล (23:10) เพื่อให้รอดพ้นจากการถูกฆ่าของผู้นำยิว นายพันจึงส่งตัวเปาโลไปยังเมืองซีซาเรยา (23:21-24) เปาโลอยู่ในคุกที่นั่นรอการมากล่าวหาของผู้นำศาสนายิวต่อหน้าเฟลิกส์ (23:25) เปาโลถูกคุมขังที่นี่นานถึง 2 ปี จนกระทั่งเฟสทัสมารับตำแหน่งแทนเฟลิกส์ (24:25-27) ผู้นำยิวมากล่าวโทษเปาโลด้วยข้อหาใหม่และต้องการนำเปาโลไปดำเนินคดีที่กรุงเยรูซาเล็ม เปาโลอ้างสิทธิในการถวายฎีกาต่อซีซาร์(25:1, 10) จึงมิสามารถส่งตัวกลับกรุงเยรูซาเล็ม และเฟสทัสสัญญาจะส่งตัวเปาโลไปกรุงโรม (25:12) เฟสทัสนำเรื่องราวเปาโลมาอภิปรายต่อหน้ากษัตริย์อากริปปาที่ 2 และเปาโลได้แก้ข้อกล่าวหาในคดี และเล่าเรื่องชีวิตตนเองหมายจะเป็นพยานเรื่องพระเยซูคริสต์ แต่กษัตริย์ขัดจังหวะและกล่าวประชดประชัน อย่างไรก็ตามต่างก็เห็นว่าเปาโลไม่มีความผิด น่าจะปล่อยตัวได้ถ้าไม่ถวายฎีกา(25:13-14; 26:1, 24-28, 30-32) เปาโลเดินทางไปกรุงโรมโดยการคุ้มครองของจักรวรรดิโรมัน (27:1-2)

เราจะเห็นภาวะผู้นำของเปาโลชัดเจนในที่นี้ ท่านได้ใช้ของประทาน (ศักยภาพ) ต่างๆ ในการกระทำทุกอย่างในสถานการณ์ที่คับขันและอันตราย นอกจากที่ท่านจะใช้ความรู้ที่ช่ำชองในบทบัญญัติของยิว และ การสื่อสารสนทนาที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีในวิกฤติที่เกิดขึ้นให้เกิดผลตามเป้าหมายสูงสุดของชีวิตแล้ว ท่านได้ใช้สิทธิความเป็นพลเมืองสัญชาติโรมันเพื่อให้เป้าหมายสูงสุดในชีวิตของท่านมีอิทธิพลเหนือสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วย ทั้งสิทธิที่ได้รับในการคุ้มครอง สิทธิการแก้คดีความ สร้างความสัมพันธ์กับบรรดานายทหารโรมัน และสิทธิในฐานะผู้ต้องหาที่ยังไม่มีการตัดสินคดีจนสิ้นสุด

ในการเผชิญหน้าสถานการณ์ชีวิตในแต่ละวันของเราไม่ว่าในบ้าน ในที่ทำงาน ในชุมชนสังคมโลก หรือแม้แต่ในตลาดร้านค้า หรือ ในที่สังสรรค์พักผ่อนหย่อนใจของเรา เรามีเป้าหมายสูงสุดในชีวิตของเราหรือไม่? เราได้ใช้ “ของประทาน” จากพระเจ้า หรือ ศักยภาพที่พระองค์ประทานให้ ที่จะมีพลังเหนือสถานการณ์รอบข้างของเราหรือไม่? จนสามารถทำให้เป้าหมายสูงสุดในชีวิตของเราเกิดผลเป็นรูปธรรม

ถ้าเราขาดเป้าหมายสูงสุดในชีวิตของเรา และ ไม่ได้ตระหนักถึงสิ่งที่พระเจ้าทรงเตรียมและประทานศักยภาพพิเศษในตัวเรา จึงไม่ได้นำมาใช้ในสถานการณ์ชีวิตแต่ละวัน เราจะตกเป็นเบี้ยล่างและถูกครอบงำจากอิทธิพลของสถานการณ์เหล่านั้น เราขาดภาวะผู้นำในฐานะคริสตชน

บทเรียนที่เราได้รับจากชีวิตของเปาโลในตอนนี้คือ

เป้าหมายสูงสุดในชีวิต คือพลังกระตุ้นดลใจในการดำเนินชีวิตของท่าน
เป้าหมายสูงสุดในชีวิต ช่วยให้ท่านมุ่งหน้าสู่สิ่งสำคัญอันดับแรกๆ ในชีวิต
เป้าหมายสูงสุดที่ชัดเจนของท่านได้เป็นตัวหล่อหลอม ขัดเกลา และพัฒนาศักยภาพที่ท่านมีอยู่
เป้าหมายสูงสุดในชีวิตเป็นพลังในการขับเคลื่อนชีวิตในวันนี้ของท่าน
เป้าหมายสูงสุดในชีวิตเป็นเครื่องบ่งชี้และประเมินความก้าวหน้าในชีวิตของท่าน

• ทุกวันนี้ อะไรคือเป้าหมายสูงสุดในชีวิตของท่าน?
• ท่านมี “ของประทาน” หรือ “ศักยภาพ” ที่พระเจ้าประทานให้ท่านอะไรบ้าง?
• ท่านได้นำสิ่งเหล่านั้นมาพัฒนาใช้ในการขับเคลื่อนดำเนินชีวิตไปสู่เป้าหมายสูงสุดหรือไม่ อย่างไร?
• ทุกวันนี้ชีวิตของท่านมีพลังเหนือสถานการณ์แวดล้อม หรือ ถูกสถานการณ์แวดล้อมครอบงำชีวิตของท่าน?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่


1พระคัมภีร์อมตธรรม ฉบับอธิบาย ภาคพันธสัญญาใหม่ หน้า 520 ได้รวบรวมลำดับเหตุการณ์นี้ที่ชัดเจนพร้อมข้อพระคัมภีร์อ้างอิง

16 กันยายน 2554

เมื่อต้องปล้ำสู้ในวิกฤติศรัทธา

ในช่วงเวลาที่ฉันถูกทดลอง
คำอธิษฐานทูลขอไม่ได้คำตอบ และดูเหมือนสถานการณ์เลวร้ายก็ดำเนินต่อเนื่องไป
ฉันยอมรับว่า รากฐานชีวิตจิตใจของฉันสั่นคลอนหวั่นไหว
จนทำให้ฉันเกิดคำถามตรงๆ ในใจว่า นี่พระเจ้าหักหลังฉันหรือเปล่า?
ตอนนั้น ฉันมั่นใจว่า ฉันได้ทำและรับผิดชอบดีที่สุดแล้ว ด้วยการอุทิศตนแด่พระเจ้า
แต่ดูเหมือนว่าพระองค์ไม่ได้ตอบสนองในส่วนความรับผิดชอบของพระองค์เลย
ตรงกันข้าม สถานการณ์กลับดูเหมือนว่า พระองค์เป็นฝ่ายตรงกันข้ามที่กลับมาจู่โจมฉัน
คำอธิษฐานที่ไร้คำตอบ คำถามในจิตใจ กลับกลายเป็นตัวจับจ้องความผิดฉันในจิตใจ

"แล้วพระเจ้าเป็นอย่างที่พระคัมภีร์สาธยายถึงพระลักษณ์ของพระองค์หรือเปล่า?
แล้วพระเจ้าสามารถทำในสิ่งที่พระองค์บอกว่าพระองค์ทำได้หรือเปล่า?"

เป็นเวลาปีแล้วปีเล่า ที่ฉันสอนคนอื่นว่า
พระเจ้าทรงดี ทรงรัก และพระองค์ทรงสัตย์ซื่อ
ในเวลาเช่นนี้ฉันเกิดคำถามในใจว่า มันเป็นจริงเช่นนั้นหรือเปล่า?
นอกจากที่ฉันต้องปล้ำสู้ด้วยความเจ็บปวดในชีวิตของตนแล้ว
ฉันยังตระหนักชัดว่า ผู้คนต่างจ้องมองมาที่ฉัน
และมองหาแบบอย่างชีวิตในภาวะที่วิกฤติทุกข์ยากลำเค็ญเช่นนี้

ในวิกฤติความศรัทธาเช่นนี้ของฉัน ฉันยิ่งโกรธ และ ไม่พอใจอย่างยิ่ง
ความรู้สึกอย่างเจ็บปวดว่าตนเองถูกทอดทิ้งฝังลึกในใจฉัน
คำอธิษฐานของฉันดูช่างห่างไกลจากพระเจ้าเหลือเกินและมิใช่ความจริงใจต่อไป
ฉันไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี จะจัดการอย่างไรในสถานการณ์ชีวิตของตน

ความเชื่อศรัทธาของฉัน พันธกิจที่ฉันทำและรับผิดชอบมาถึงทางแพร่ง
ฉันคิดหาทางเลือกตามความคิดเห็นของฉัน...
ฉันจะทิ้งความเชื่อศรัทธาของฉัน ในสภาพชีวิตที่แสแสร้ง
หรือฉันจะยอมทำสิ่งนี้ต่อไปกับองค์พระผู้เป็นเจ้า
ทางเลือกแรก น่าจะทำลายชีวิตของฉันและครอบครัวลงป่นปี้
ทางเลือกที่สองมันขัดแย้งกับตัวฉันเองที่เป็นอยู่จริงในขณะนี้
ฉันเลือกทางออกที่สาม...

เมื่อได้ทบทวนสัมพันธภาพของฉันกับพระเจ้า
ฉันจำได้อย่างชัดเจนว่า
แท้จริงแล้วความสัมพันธ์ของฉันกับพระเจ้านั้นเป็นคุณค่าและความหมายทุกสิ่งในชีวิตที่ผ่านมา
ฉันจะยอมให้สิ่งนี้สูญเสีย หรื สูญหายไปจากชีวิตของฉันไม่ได้
ฉันจึงเริ่มแบ่งปันวิกฤติที่ฉันกำลังเผชิญปล้ำสู้ กับเพื่อนสนิท กับครอบครัว
และร้องขอให้พวกเขาอธิษฐานเพื่อฉัน

ในพระคัมภีร์บอกว่า
ให้เรารอคอยและหวังพึ่งในองค์พระผู้เป็นเจ้า
วันแล้ววันเล่า ฉันรอคอย และ หวังพึ่งในพระองค์
ฉันนั่งสงบเงียบในเช้าตรู่ด้วยการเปิดอ่านพระคัมภีร์ พระธรรมโยบ และ สดุดี
ฉันอ่านพระคัมภีร์อย่างใจใคร่ครวญ
ฉันอธิษฐานด้วยความจริงใจ ในสถานการณ์ที่ประสบพบเจอ
ฉันต้องการอย่างสูงที่จะได้ยินเสียงและความมั่นใจจากพระเจ้า
นอกจากที่คำอธิษฐานที่ไร้คำตอบแล้ว
ฉันจำเป็นที่จะต้องหยั่งลึกลงในความสัมพันธ์กับพระองค์

ยิ่งอ่านพระคัมภีร์มากเท่าใด ฉันก็ต้องเผชิญหน้ากับความทนงตนมากแค่นั้น
ฉันร้องขอให้พระเจ้าตอบคำอธิษฐานของฉัน ตามแนวทางที่ฉันคิดว่าดีที่สุด ในความเข้าใจที่จำกัดของฉัน
พระคัมภีร์ข้อหนึ่งที่กระตุกความรู้สึกของฉันคือ อิสยาห์ 7:9

"...หากเจ้าไม่ตั้งมั่นในความเชื่อ
เจ้าก็ไม่อาจยืนอยู่ได้เลย" (ฉบับมาตรฐาน)

ฉันจึงอธิษฐานกับพระเจ้าว่า
องค์พระผู้เป็นเจ้า ข้าพระองค์เชื่อในพระองค์
และความเชื่อที่ยังขาดพร่องอยู่ขอพระองค์ทรงช่วยข้าพระองค์ด้วย

พระคัมภีร์ช่วยให้ฉันเห็นความเชื่อผ่านมุมมองของพระเจ้า
พระคัมภีร์เปิดตาของฉันให้เห็นว่าความเชื่อของเรามีความสำคัญยิ่งต่อพระเจ้า
ฉันอ่านพบข้อพระคัมภีร์ว่า...

ความเชื่อของท่านนั้นมีค่ายิ่งกว่าทองคำ
ถ้าขาดซึ่งความเชื่อแล้วจะเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าไม่ได้
เมื่อบุตรมนุษย์เสด็จเข้ามาในโลกนี้ พระองค์จะพบความเชื่อในโลกนี้หรือ?

ข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ เปิดตาแห่งความเข้าใจในชีวิตชัดเจนยิ่งขึ้น

เช้าวันหนึ่งฉันได้ยินเสียงแผ่วเบาภายในชีวิตจิตใจฉันว่า
"เราคือพระเจ้า จงไว้วางใจเรา"
ในที่สุด ฉันยอมจำนนต่อสถานการณ์ที่เจ็บปวดในชีวิต และมอบการปล้ำสู้หาทางออกใหม่ไว้ในแผนการของพระเจ้า
ฉันเริ่มมองเห็นถึงพระคุณของพระเจ้า ที่ทรงทดลองความเชื่อของฉัน เพื่อฉันจะมีความเข้มแข็งในชีวิตมากยิ่งขึ้น

เป็นจริงที่ชีวิตพบกับความทุกข์ยากแสนสาหัส
ในเวลาแห่งการทดลองดูเหมือนฉันจะทนสู้ต่อไปไม่ได้
ชีวิตของฉันยังอยู่ในสถานการณ์ของการทดลองอย่างในอดีตที่ผ่านมา
แต่ฉันพบว่า พระเจ้าทรงสำแดงความรักและสัตย์ซื่อเที่ยงธรรมต่อฉันและครอบครัว
พระองค์ย้ำเตือนฉันว่า ชีวิตที่ฉันเป็นอยู่นี้มิใช่ชีวิตของฉัน
พระองค์มีแผนการของพระองค์สำหรับชีวิตที่ฉันเป็นอยู่นี้ ยิ่งกว่าสิ่งที่ฉันได้เห็นและสัมผัส
และความเชื่อศรัทธาของฉันมีค่าและความหมายมากกว่าที่ฉันจะจินตนาการเอาเอง

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่

ข้อเขียนนี้ ถ่ายทอดจากประสบการณ์ชีวิตของ Sherryl Stone เป็นผู้ที่ทุ่มเทจริงจังในการทำพันธกิจของพระเจ้า เป็นคู่ชีวิตของศิษยาภิบาลอาวุโสที่ Ginger Creek Community Church in Aurora, Illinois, สำเร็จศาสนศาสตร์ศึกษาระดับ BD ที่ Mississippi College และปริญญาโทด้านคริสเตียนศึกษาจาก Southwestern Seminary in Texas.

14 กันยายน 2554

ความจริง 5 ประการ ในการจัดการปัญหาสำหรับผู้นำ

เมื่อ ดร. จอห์น ซี. แมกซ์แวลล์ กล่าวถึงเรื่องปัญหา ท่านได้ยกเอาการ์ตูนขำขัน "พีนัท" มาให้ดูและเล่าสู่กันฟัง ในการ์ตูนนั้น ชาลี บราวน์ ตกอยู่ภายใต้เมฆฝนแห่งลางร้าย ทั้งๆ ที่ท้องฟ้าในบริเวณอื่นทั้งหมดดูสดใส สว่างไสว ฟ้าสีคราม สวยงามยิ่ง แต่น่าสงสารชาลี บราวน์ ที่ต้องอยู่ใต้เมฆฝนที่ดำมืด และเขาต้องเปียกโชกเพราะสายฝนที่กระหน่ำเทลงมาไม่หยุด ในขณะที่เพื่อนๆ และคนอื่นรอบข้างเขากลับกำลังชื่นชมและมีความสุขกับความงดงามสดชื่นในวันนั้น ส่วนชาลี บราวน์ กลับหน้าตาบูดบึ้ง ตึงตัง หน้าดำคร่ำเครียดอย่างมองเห็นชัด

การที่จะยั้บยั้งไม่ให้เมฆฝนดำทมึนไม่ให้มาอยู่เหนือ ชาลี บราวน์ ดูเป็นเรื่องเหนือความสามารถที่เขาจะจัดการได้ ชาลี บราวน์มีจิตใจที่ห่อเหี่ยว ทำให้เขาเกิดอาการวิตกกังวลและสับสนในตนเอง แล้วเอาปัญหาที่พบไปผสมปนเปกับปัญหาอื่นๆ ที่ไม่ใช่ปัญหาในเหตุการณ์นี้ แล้วเกิดอาการหงุดหงิดหัวเสียราวกับว่าปัญหาที่ดังกล่าวทั้งหมดเป็นปัญหาตัวจริงในเวลานั้น

บางครั้งชีวิตของเราอาจจะเป็นเหมือนกับ ชาลี บราวน์ ที่ไม่รู้จะไปตอบโต้อย่างไรกับสายฝนที่กระหน่ำเทลงบนตัวเรา หลายคนที่ต้องตกอยู่ใต้เงามืดมัวเศร้าหมองที่เกิดจาก "เมฆฝน" ชีวิต เมื่อชีวิตต้องพลิกผันถูกต่อต้านอย่างหนัก เราล่าถอยเข้าไปสู่ทัศนะที่กัดกร่อน โยนกลองกล่าวโทษสถานการณ์และผู้คนแวดล้อม ถ้าเราทำเช่นนั้นจริง นอกจากที่เรามิได้เผชิญจัดการกับปัญหาของเราเองแล้ว แต่มันจะเสริมเพิ่มความหนักใจและสถานการณ์ชีวิตที่หนักอึ้งเลวร้ายยิ่งขึ้่น

ดร. จอห์น แมกซ์แวลล์ ได้เสนอข้อคิด 5 ประการในการเผชิญหน้าและจัดการกับปัญหาของผู้นำ

1. ไม่หลบเลี่ยงปัญหา

สำหรับผู้นำที่มีแรงบันดาลใจแล้ว ปัญหาคือสิ่งที่มาด้วยกันกับการเป็นผู้นำ เส้นทางสู่ความสำเร็จมิได้เป็นเส้นทางที่ราบเรียบเสมอไป บ่อยครั้งเส้นทางนั้นมักเป็นหลุมเป็นบ่อ หรือ พังจนต้องปิดซ่อมอยู่ร่ำไป หรือไม่ก็เป็นหนทางที่เต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม และมีเครื่องกีดขวางมากมาย ในทุกทางโค้งบนเส้นทางของชีวิต ผู้นำจะต้องมุ่งมองไปให้ทะลุอุปสรรคและกำแพงปัญหาที่ขวางกั้นอยู่ข้างหน้า เพื่อที่จะสามารถมองเห็นอนาคตที่สร้างสรรค์ ผู้นำที่หลบเลี่ยงปัญหาก็จำกัดการเติบโตแข็งแรงในความเป็นผู้นำของตนเอง เขาจะจบลงด้วยปัญญาที่ตื้นเขินและประสบการณ์ที่อ่อนด้อย แต่ผู้นำที่ประสบความสำเร็จจะจดจ้องเอาจริงกับปัญหาจนรู้เท่าทันปัญหา สาเหตุของปัญหา และสามารถใช้อุปสรรคปัญหาเป็นอุปกรณ์เครื่องมือและโอกาสในการเสริมเพิ่มสมรรถนะของตนเอง

2. ตัวปัญหาเองไม่สำคัญเท่า ทัศนคติที่มีต่อปัญหา

การที่จะตัดสินว่าสำเร็จหรือล้มเหลวมิได้มองกันที่ตัวปัญหา แต่มองกันที่คนๆ นั้นมองปัญหาอย่างไร หรือมีทัศนะต่อปัญหานั้นๆ อย่างไรมากกว่า ขึ้นอยู่กับทัศนะในการมองปัญหามากกว่าตัวปัญหาที่เผชิญหน้า

เรามองปัญหา มิใช่มองว่าปัญหานั้นรุนแรงซับซ้อนมากน้อยแค่ไหน แต่ที่สำคัญกว่าคือการที่คนๆ นั้นมีมุมมองต่อปัญหาอย่างไร ทัศนคติในการมองปัญหาคือตัวตัดสิน หรือเป็นเส้นแบ่งระหว่างบทบาทของผู้นำและผู้ตาม เพราะคนส่วนใหญ่จะมุ่งมองไปที่ตัวอุปสรรค มีเพียงไม่กี่คนที่มุ่งมองที่เป้าหมาย และคนกลุ่มหลังนี้คือกลุ่มคนที่ประสบความสำเร็จ และประวัติศาสตร์จดจำคนกลุ่มนี้ แต่ผู้คนจะลืมเลือนคนกลุ่มแรก ผู้นำย่อมมองปัญหาจากจุดที่เขาได้เปรียบเหนือปัญหานั้น

มุมมองที่ผิดพลาด........................................
มุมมองที่ถูกต้อง
ปัญหาเป็นสิ่งที่แก้ไขไม่ได้.............................ปัญหาเป็นสิ่งที่สามารถแก้ไขได้
ปัญหานั้นมันจะอยู่เช่นนั้นไปตลอดกาล..........ปัญหาจะผ่านพ้นไป
ปัญหาไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดา.........................ปัญหาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาตามธรรมชาติ
ปัญหาสร้างความขมขื่นแก่เราในชีวิต..............ปัญหาทำให้เรากล้าแกร่งแข็งแรงขึ้น
ปัญหาควบคุมชีวิตของเรา...............................ปัญหาท้าทายเราให้ก้าวไปข้างหน้า
ปัญหาเป็นตัวทำให้เราต้องหยุดชะงัก.............ปัญหาช่วยทำให้เราก้าวแผ่กว้างไกลออกไป

3. ความแตกต่างระหว่างการมุ่งเน้นขยายตัวปัญหา กับ การแก้ไขจัดการปัญหา

มีคนที่สามารถแยกแยะ วิเคราะห์ตัวปัญหาได้ แต่ก็มิใช่ทุกคนที่วิเคราะห์ปัญหาได้จะสามารถแก้ปัญหานั้น ท่านไม่ควรบ่นวิพากษ์วิจารณ์ วิเคราะห์ต่อว่ารุนแรงต่อปัญหาที่ท่านพบจนกว่า...

1) ท่านจะสามารถให้แนวทาง หรือ ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหานั้น
2) และเต็มใจที่จะลงมือแก้ปัญหาดังกล่าว

4. สมรรถนะของคนมีความสำคัญยิ่งกว่า ขนาดของปัญหา

ท่านสามารถบอกถึงความลุ่มลึกของสติปัญญาของคนๆ หนึ่งได้จากการที่เขาสามารถยืนหยัดต้านทานฝ่ายตรงกันข้ามที่พยายามกระทำให้เขาเกิดความท้อแท้ได้มากน้อยแค่ไหน ผู้นำในระดับสูงต้องเป็นคนที่สามารถปล้ำสู้กับปัญหาที่ดูเหมือนเกินความสามารถด้วยความสุขุมเข้าใจ

5. ปัญหา การตอบสนองอย่างเหมาะสม เป็นเส้นทางความก้าวหน้าของผู้นำ

เรามิสามารถค้นพบผู้นำในที่ปลอดโปร่งโล่งแจ้งสะดวกสบาย แต่เราสามารถค้นพบผู้นำได้จากสภาวะฝ่าฟันในความมืด ภายใต้สถานการณ์ที่ร้อนแรงและกดดัน ผู้นำได้รับความยอมรับนับถือในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ภายหลังจากการที่เขาได้ “แลกหมัดและปล้ำสู้” กับปัญหานั้น และปัญหาที่เขาเข้าผจญนั้นเองที่หล่อหลอมให้เขาแกร่งกล้าขึ้น ความจริงก็คือว่า ความมุ่งมั่นกล้าหาญจะไม่ปรากฎจนกว่าคนมองเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านแว่นตาของความทุกข์ยากลำบากและเชื่อมโยงไปสู่เป้าหมายปลายทางที่อยู่ข้างหน้า


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่

13 กันยายน 2554

ความเจ็บปวดในองค์กรคริสเตียน

สมัยนี้เราเห็นฝรั่งมาแต่งงานกับคนไทยมากขึ้น จนเป็นที่ชินตาของเราแล้ว

ในหมู่บ้านที่ผมอยู่ก็มีหลายคนที่แต่งงานกับฝรั่ง และตั้งบ้านตั้งช่องอยู่ในหมู่บ้าน พยายามปรับตัวใช้ชีวิตแบบวิถีไทย ยิ่งกว่านั้นไทยพื้นบ้านเสียด้วย แต่ในความเป็นฝรั่งก็ยังมีชีวิตบางอย่างตามวิถีวัฒนธรรมของเขา คงไม่เสียเวลาสาธยาย ในหมู่บ้านหนึ่งที่ผมได้ทำงานเป็นประจำ แต่ผมเห็นฝรั่งคนหนึ่งในหมู่บ้านทุกเช้าเขาจะจูงหมาเดินครับ สุนัขพันธุ์ลาบราดอร์เสียด้วยครับ ตัวใหญ่แข็งแรง สิ่งที่ผมเห็นผมว่าแกไม่ได้จูงหมาเดิน แต่หมาฉุดให้แกวิ่งตามต่างหาก เห็นแล้วเหนื่อยแทน เพราะแกต้องถูกกระชากให้วิ่งไปในทิศทางที่หมามันอยากจะไปครับ จนวันหนึ่งสิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น หมาฉุดกระชากลากถูเขาไปอย่างแรง เขาบอกผมว่าในตอนนั้นเขาน่าจะปล่อยเชือกจูงหมาเสีย แต่กลัวว่าหมามันจะวิ่งเตลิดไปไกล และที่สำคัญคือกลัวว่าจะวิ่งไปกัดชาวบ้านแล้วจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ การถูกกระชากลากถูครั้งนี้ทำให้หลังส่วนล่างของแกต้องเจ็บปวดอย่างมาก ไม่ต้องถามก็บอกได้ว่า เขาเกลียดหมายพันธุ์นี้ไปอีกนานแสนนานหรือชั่วชีวิตแน่

จากนั้น เขาต้องกลับมารักษาเอาใจใส่หลังส่วนล่างที่บาดเจ็บ ด้วยการเป็นคนไม่อยู่นิ่งเขายังทำทุกอย่างที่เขาเคยทำและอยากทำ เขายังยกของหนัก เคลื่อนย้ายตู้และชั้นวางของในบ้านด้วยตนเอง แม้คู่ชีวิตของเขาจะเข้ามาช่วยแต่เขาปฏิเสธและยืนยันว่าเขาทำได้ด้วยตนเอง (อาจจะเพราะรักคู่ชีวิตก็ไม่รู้) คู่ชีวิตของเขาโกรธที่เขาทำอะไรอย่างไม่รู้จักบันยะบันยัง จนตะคอกใส่หน้าเขาว่า "รู้จักคำว่าพอบ้าง" แต่เขายังจัดการเอาของขึ้นวางบนชั้นที่เคลื่อนย้ายมานั้น ผลปรากฎว่า การก้มๆ เงยๆ ยกของขึ้นวางบนชั้นทำให้เขาปวดหลังอย่างแรงจนต้องนอนนิ่งกับพื้น แล้วขอคู่ชีวิตช่วยโทรศัพท์เรียกรถฉุกเฉินจากโรงพยาบาลมารับเขาที่บ้าน พร้อมกับคู่ชีวิตที่โกรธขึ้งยืนประกบเคียงข้าง

ไม่น่าเชื่อเลยนะครับว่า ฝรั่งคนนี้เปลี่ยนเป็นคนใหม่

เขาฟังคู่ชีวิตของเขามากยิ่งขึ้น แล้วเอาใจใส่จริงจังกับหลังของเขา เขาต้องเข้ารับการผ่าตัดหลัง 2 ครั้ง และเขายอมเปลี่ยนทัศนคติตามคำ(ขู่)ของคู่ชีวิตของเขาที่ว่า "รู้จักคำว่าพอบ้าง" นอกจากที่คู่ชีวิตของเขาโกรธในความดื้อรั้นด้วยความโง่เขลาของเขา (นี่เขาเป็นคนบอกผมเองเช่นนั้น) ด้วยความห่วงใย คู่ชีวิตยังช่วยนวดหลังส่วนล่างให้กับเขาเป็นประจำ และ ใช้ศาสตร์ชาวบ้านในการขึ้นไปเหยียบในส่วนที่เขาเจ็บเพื่อคลายความเจ็บปวด ปรากฎว่าเขาต้องใช้เงินหลายแสนบาทในการรักษาครั้งนี้ มีหมอที่ไหนที่มีคนบอกว่าเก่งเขาไปหาทั้งนั้น คลินิกราคามหาโหดก็ยอมจ่ายเพียงให้หายจากการเจ็บหลัง นอกจากนั้นแล้วไม่ว่าสายรัดเอวพิเศษ หรือเก้าอี้นวดไฟฟ้า เขาลงทุนเสียเงินซื้อสิ่งเหล่านี้ เพียงขอให้หายจากการเจ็บหลังเท่านั้น

แต่คุณเชื่อไหม เขายังเจ็บปวดหลังต่อไป

ในที่สุดคู่ชีวิตของเขาตัดสินใจไปปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง และเธอคะยั้นคะยอให้เขาไปหาแพทย์เฉพาะทางเพื่อที่จะรับการรักษา "ที่ต้นเหตุ" สิ่งแรกก่อนที่แพทย์เฉพาะทางจะให้การปรึกษาและรักษาความเจ็บปวดหลังของเขา หมอให้เขาไปสแกน เอ็มอาร์ไอ ก่อน ผลของการทำเอ็มอาร์ทำให้ทุกอย่างกระจ่างว่า อะไรคือต้นเหตุที่ทำให้เขาเจ็บปวดหลังมากมายเช่นนี้ พบว่าหมอนกระดูกสองชิ้นบีบกดเส้นประสาทส่วนนั้นของเขา ซึ่งการถ่ายเอกซเรย์ธรรมดาจะไม่เห็นสาเหตุนี้ แต่การสแกนเอ็มอาร์ไอแสดงให้เห็นชัด

ดังนั้น เขาจึงเข้ารับการผ่าตัดจากแพทย์เฉพาะทางอีกครั้ง เป็นการผ่าตัดเพื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

ทุกวันเขาบอกผมว่า ไม่เจ็บปวดหลังแล้ว พูดได้ว่าเขาสามารถเคลื่อนไหวได้สะดวก และเขากำลังมีความคิดว่าจะหาสุนัขตัวใหม่ที่จะใช้จูงเดินตอนเช้า แต่ครั้งนี้เขาคิดถึงสุนัขพันธุ์พุดเดิ้ล

แล้วที่เล่ามาทั้งหมดนี้มันเกี่ยวข้องอะไรกับความเจ็บปวดขององค์กรคริสเตียน
แล้วเรื่องการจูงหมาไปเดิน การยกของไปวางบนชั้น และคู่ชีวิตที่โกรธเคืองอย่างแรง มันเกี่ยวอะไรกับภาวะผู้นำ และเรื่องความเจ็บปวดขององค์กร

ความเจ็บปวดหรือ? ความเจ็บปวดในเรื่องอะไร?

ในยุคที่องค์กรทั้งหลาย หรือ องค์กรคริสเตียนกำลังเติบโต มีแนวโน้มว่าองค์เหล่านี้จะดำเนินการผิดพลาดได้ และในการที่องค์กรดำเนินการผิดพลาดลงไปไม่ว่าเรื่องใดประเด็นหนึ่ง ย่อมส่งผลให้เกิดความเจ็บปวดในองค์กรนั้นๆ ในที่นี้ มีรากฐานความผิดพลาดสองประการในองค์กรที่สร้างความเจ็บปวดแก่องค์กรหรือสถาบันคริสเตียนคือ การมองข้ามหรือการเมินเฉยละเลยต่อความเจ็บปวดที่กำลังประสบ และประการที่สองเป็นการวินิจฉัยอย่างผิดพลาดถึงต้นเหตุแห่งความเจ็บปวดนั้น

องค์กรที่เติบโตขึ้นแล้วมองข้ามความสำคัญของบุคลากรในองค์กร(ทั้งที่รับเงินเดือน และ อาสาสมัคร) และผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้ของบุคลากรนั้นจะเป็นสาเหตุอันสำคัญที่ทำให้บุคลากรจะไม่ฟังผู้บริหารขององค์กร

ถ้าองค์กรไม่สามารถที่จะบ่งชี้ชัดเจนถึงความเจ็บปวดขององค์กร ผลที่ได้รับคือบุคลากรจะเดินแถวออกจากองค์กร (โดยเฉพาะบุคลากรที่มีฝีมือและมีทางไปอยู่กับองค์กรอื่น) หรือไม่ก็จะเห็นอาการของการที่บุคลากรที่เข้าเกียร์ต่ำแล้วลงเกียร์ว่างถ้าเจ็บแค้นมากก็จะชักเกียร์ถอย แยกตัวออกจากการทุ่มเทและรับผิดชอบ เก็บตัว ระมัดระวังตนเอง แล้วก็ไม่ได้ทำงานเต็มความสามารถที่มีอยู่ การมองข้ามหรือไม่ให้ความสนใจในความเจ็บขององค์กรจะไม่สามารถขจัดความเจ็บปวดออกจากองค์กร แต่จะทำให้ความเจ็บปวดนั้นแผ่ขยายไปทั่วองค์กรต่างหาก

การบริหารแบบเมินเฉย มองข้าม หรือไม่สนใจต่อความเจ็บปวดในการทำพันธกิจคริสเตียน ด้วยการยึดถือความเชื่อแบบมายาว่า "เราเป็นคริสเตียน องค์กรของเราจะไม่มีความเจ็บปวดอย่างแน่นอน"

สถานการณ์รุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อบุคลากรถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุของสถานการณ์ที่เลวร้ายนั้น ถ้ามองจากมุมมองของผู้บริหารในองค์กรคริสเตียน เมื่อมาถึงภาวะเช่นนี้มักจะกล่าวปกป้องตนเองว่า "องค์กรของเราไม่ได้ทำงานเพื่อเงินทอง แต่เราทำพันธกิจเหล่านี้เพื่อพระเจ้า" และนี่เป็นอีกลักษณะหนึ่งของการเมินเฉย มองข้ามความเจ็บปวดในความรู้สึกของบุคลากรทุกระดับในองค์กร

มีข้อสังเกตประการสำคัญคือ บางครั้งที่บุคลากรแสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์ เพราะพวกเขาต้องการแสดงออก ความเจ็บปวดขององค์กรถูกแสดงออกไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือเพียงการที่พวกเขารับรู้เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นประเด็นใดประเด็นหนึ่งในฐานะผู้บริหารระดับบนจะต้องฟังอย่างใส่ใจและตอบสนองอย่างเหมาะสมต่อสถานการณ์ความเป็นจริงในเรื่องนั้น ผู้บริหารไม่ควรทำเมินเฉยหรือเฉไฉไหลลื่นบิดเบือนไปสู่เรื่องอื่น

ผมคิดถึงเพื่อนฝรั่งคนนั้นที่ได้รับบาดเจ็บที่หลังช่วงล่างของเขา เมื่อเขาไปรับการรักษาในครั้งแรกๆ มีผู้แนะนำเขาว่า การเจ็บปวดที่หลังช่วงล่างของคุณทั้งหมดอยู่ "ที่หัวของคุณ" คุณต้องไม่ยอมให้ความรู้สึกเจ็บปวดมาครอบงำความรู้สึกนึกคิดในตัวของคุณ เพราะเขาไปเชื่อคำแนะนำการรักษาเช่นนั้นนี้เอง เมื่อกลับบ้านเขาจึงทำทุกอย่างด้วยตัวของเขา ทำให้หลังของเขาบาดเจ็บมากยิ่งขึ้น ทำให้เขาต้องกลับมาถามตนเองว่าที่เจ็บปวดมากขึ้นนี้เป็นเพราะเขาจินตนาการไปเองหรือเปล่าเนี่ย

คงไม่ต้องกล่าวถึงว่า ไม่มีใครต้องการที่จะมีความรู้สึกว่า ตนเองถูกใช้ให้เป็นประโยชน์ของใครบางคน หรือการถูกตราว่าเป็นคนที่ไร้สติไร้เหตุผล แต่ก็มีบุคลากรในองค์กรที่รู้สึกเช่นนี้จริง ไม่ยกเว้นในองค์กรคริสเตียนด้วย ไม่ว่าฝ่ายบริหารที่แสดงออกมาว่ารู้ทุกเรื่อง ดังนั้น บุคลากรในองค์กรจึงเกิดความสงสัยในสิ่งที่ตนรู้และรู้สึกว่ามันมีเหตุมีผลมีสติหรือไม่ หรือบ้างก็เกิดความรู้สึกว่าตนเองถูกใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวของผู้บริหารในองค์กร (โดยเฉพาะผู้นำระดับบน)

ไม่น่าแปลกประหลาดใจอะไรนัก การผิดหวังเมื่อรู้ว่าบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ดีเกิดขึ้นตามที่ตนคาดคิดจึงเกิดความท้อแท้ นั่นเป็นผลที่เกิดขึ้นจากความรู้สึกผิดหวัง

อย่าพลาดจากหมายสำคัญนี้

ความผิดพลาดในการบริหารจัดการองค์กรที่กำลังเจ็บปวดประการที่สองคือ ไม่ได้ค้นพบต้นเหตุที่แท้จริงของความเจ็บปวดขององค์กร การวินิจฉัยสาเหตุของความเจ็บปวดขององค์กรอย่างผิดพลาดนำไปสู่การใช้ทรัพยากรขององค์กรอย่างไม่ถูกที่ถูกทาง (ไม่ว่าเวลา ทรัพยากรมนุษย์ หรือทรัพยากรทางการเงิน) และในเวลาเดียวกันรากเหง้าของความผิดพลาดยังอยู่ที่เดิมไม่ได้รับการแก้ไข

เมื่อหวนคิดถึงประสบการณ์ของเพื่อนฝรั่งคนนั้น ผมเห็นถึงความสูญเสียมากมายที่เกิดจากการวินิจฉัยที่ผิดพลาด ไม่ว่าการซื้อยาแพงๆ รับประทาน การไปหาหมอที่คลินิกราคาสูง และการลงทุนซื้อเครื่องไม้เครื่องมือที่คิดว่าจะช่วยรักษาหลังของเขาให้หายปกติ สิ่งที่เขาได้รับคืออะไรครับ สภาพหลังช่วงล่างของเขาเลวร้ายจนถึงขั้นวิกฤติ ก็เพราะเขาไปเชื่อคำแนะนำที่แย่และผิดๆ

เช่นเดียวกันกับองค์กรคริสเตียน ในที่นี้สามารถรวมถึงคริสตจักรด้วย

ดูเหมือนว่าข้อสรุปแนะนำต่างๆ ของการเจ็บปวดขององค์กรดูเหมือนน่าจะถูกต้องมีเหตุมีผล แต่เมื่อนำไปใช้มันกลับไม่มีประสิทธิภาพที่จะแก้ไขรักษาความเจ็บปวดขององค์กร ข้อสรุปใดๆ ที่ไม่ได้เกิดจากการรับฟังอย่างใส่ใจ การสังเกตอย่างระมัดระวังถี่ถ้วน และปราศจากอคติแล้ว ข้อสรุปเหล่านั้นไม่สามารถช่วยให้องค์กรฟื้นหายดีขึ้นอย่างแน่นอน

Danny Cox and John Hoover เขียนไว้ใน Leadership When the Heat's On (McGraw-Hill, 2002), เขาได้แยกแยะสิบอาการที่บ่งบอกถึง "ความเจ็บปวด" ในองค์กร ในที่นี้รวมไปถึง ทัศนคติที่ไม่มีความร่วมไม้ร่วมมือ, ขาดความกระตือรือร้น, ไร้ซึ่งการอุทิศทุ่มเท, การค้นหาสาเหตุอย่างผิดๆ, มีการบ่นร้องเรียนมากขึ้น, และมีกำลังใจอยู่ในระดับต่ำ อาการเหล่านี้เป็นเพียงเครื่องหมายที่บ่งบอกอาการที่ผิวเผินภายนอกเท่านั้น และถ้าผู้บริหารสนใจและพยายามแก้ไขเพียงที่อาการของมันเท่านั้น รากเหง้าของความเจ็บปวดก็ยังคงมีอยู่และทำให้เกิดความเจ็บปวดดั่งเดิม

Cox and Hoover ได้ลงในรายละเอียดเรื่องนี้ว่า เมื่อผู้คนในองค์กรหมดความอดทนที่จะปกปิดความรู้สึกในทางลบของพวกเขา คุณเดาได้เลยว่าต้องมีบางสิ่งบางอย่างที่ผิดพลาดในองค์กร และสิ่งนี้จะบั่นทอนกำลังใจของคนในองค์กรไปในระยะยาวเลยทีเดียว ตราบใดถ้าไม่มีวิธีการใดที่จะช่วยจัดการให้เกิดความรู้สึกว่าตัวของคนเหล่านั้นมีคุณค่าแล้ว การที่จะเกิดการแสดงออกถึงความไม่พอใจก็จะตามมาอย่างยากที่จะเลี่ยงได้

อะไรคือสาเหตุของอาการเหล่านั้น? อาจจะเป็นไปได้ว่าองค์กรนั้นไม่ได้มีการชี้ชัดถึงเป้าหมาย และ ความคาดหวังที่จะไปด้วยกัน มีระบบการสื่อสารที่ด้อยประสิทธิภาพในองค์กร โครงสร้างองค์กรที่ไม่เหมาะสม หรือขาดการประเมินผลการดำเนินงานที่เหมาะสมและยุติธรรม นี่เป็นเพียงบางประการเท่านั้น

ความผิดพลาดทั้งสองประการ (คือการละเลยเฉยเมยต่อความเจ็บปวดขององค์กร หรือ การวินิจฉัยต้นตอสาเหตุของความเจ็บปวดขององค์กรที่ผิดพลาด) ย่อมนำไปสู่ความสั่นคลอนโยกไหว และ ความแปลกแยกของผู้บริหารและคนทำงานในองค์กร

สิ่งที่นักปฏิบัติการบริหารทำกัน

ถ้าเช่นนั้น เราจะเริ่มที่ไหนดีเมื่อพูดถึงเรื่องความเจ็บปวดขององค์กร? (ทำให้ผมนึกถึงคู่ชีวิตของเพื่อนฝรั่งคนนั้นที่ "ปากร้ายแต่ใจเมตตา”)

เข้าอกเข้าใจและสนับสนุน:

เมื่อพิจารณาถึงคู่ชีวิตของเพื่อนฝรั่ง เธอได้แสดงอาการที่ไม่เหมาะสมหลายประการ แสดงออกถึงการเป็น "ภรรยาที่โกรธอย่างรุนแรง" ใช่เธอโกรธสามีฝรั่งของเธอเกือบทุกครั้ง แต่สิ่งที่พบเสมอทุกเวลาคือเธอมิได้ หนีหรือหายลับจากสามีแต่เธอกลับสนับสนุนเขาด้วยความรัก เธอเข้าอกเข้าใจถึงความเจ็บปวดของสามี ห่วงใยในความเจ็บปวดของสามี เป็นเวลาหลายปีที่เธอทุ่มเทและเสียสละเพื่อค้นหาว่าจะมีหนทางใดบ้างที่จะช่วยสามีฝรั่งคนนี้ได้หายจากการปวดหลังอย่างทรมาน

บทเรียนจากภรรยาไทยคนนี้ ชี้ชัดว่าถ้าผู้นำองค์กรที่เตรียมตนทำอย่างภรรยาฝรั่งคนนี้ก็จะค้นพบถึงสาเหตุที่แท้จริงของความเจ็บปวดขององค์กร

สำแดงพระคุณ(มิใช่พระเดช)แก่ทุกส่วนในองค์กรอย่างเสมอเท่าเทียมด้วยความมุ่งมั่น:

จงมุ่งมั่นที่จะขุดค้นลงลึกถึงรากแก้วของความเจ็บปวดขององค์กรแต่ด้วยท่าทีที่เป็น "พระคุณ" ท่าทีที่เป็นมิตร บุคลากรในองค์กรจะต้องได้รับการมองว่าเป็นผู้ที่มีคุณค่าและเป็นคนที่สำคัญ ในบางครั้งที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอาจจะทำให้เกิดความเจ็บปวด แต่ถ้าดำเนินการเปลี่ยนแปลงด้วยพระคุณ โอกาสการเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดผล สมาชิกในทีมงานยังคงอยู่กับคุณ และมีผู้ที่จะสืบทอดงานนี้ต่ออีกด้วย

รู้ว่าเมื่อใดพอแล้วก็ให้รู้จักพอ:

ก้าวขั้นที่สำคัญเมื่อผู้นำพูดว่า ความเจ็บปวดนั้น "ควรจะพอและยุติแล้ว" และรับปากว่าจะค้นหาข้อสรุปของความเจ็บปวดนั้น หรือเมื่อสิ่งที่ไม่พอใจได้มีการนำเสนอออกมา หรือกิจกรรมบางอย่างต้องระงับหรือเลื่อนออกไป ก็ควรจะเกิดการยอมรับร่วมกันอย่างเปิดใจ แล้วให้ดำเนินการในขั้นนี้ก่อน

ยอมรับความเจ็บปวด รับรู้ความเจ็บปวดด้วยความใส่ใจและให้คุณค่า:

อย่ามองว่าความเจ็บปวดที่เป็นอยู่ เป็นเพียงการรับรู้ว่าเจ็บปวดที่ไม่สำคัญ ถึงแม้ว่าเมื่อให้วิเคราะห์ค้นหาแล้วไม่สามารถพบความจริงในเรื่องนั้น แต่ความเจ็บปวดนั้นสามารถแผ่ขยายกว้างออกไปด้วยการนินทาและกระบวนการข่าวลือก็ตาม เพราะนั่นยังสร้างความเจ็บปวดที่แท้จริงแก่องค์กร ดังนั้น จะต้องให้ความมั่นใจว่าผู้นำองค์กรจะเอาใจใส่ในเรื่องความเจ็บปวดที่รับรู้ และ ความเจ็บปวดที่แท้จริงอย่างจริงจัง

ใจถึงใจ:

เมื่อผู้นำองค์กรเปิดใจด้วยความเต็มใจ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของความหวังที่จะเข้าใจถึงสาเหตุที่แท้จริงของความเจ็บปวดขององค์กร การเปิดใจเช่นนี้ยังเปิดทางให้เกิดการไว้วางใจและขจัดซึ่งความเข้าใจผิดๆ ที่พบจากการรับรู้ของบุคลากรที่มีในตัวผู้นำองค์กรและในตัวองค์กรเองอีกด้วย

เปลี่ยนการทำงานแบบกิจกรรม มาเป็นการทำงานแบบกระบวนการ:

นักบริหารที่เก่งและชำนาญในการแบ่งแยกเป็นโปรแกรม เป็นกิจกรรม แบ่งแยกงานขององค์กรออกเป็นส่วนๆ แต่ยังผลให้การทำแต่ละกิจกรรมเป็นการทำกิจกรรมเท่านั้น แล้วการทำงานอย่างเป็นกระบวนการนั้นสำคัญอย่างไรล่ะ? แน่นอนว่า แต่ละกิจกรรมแต่ละโปรแกรมต่างเป็นเพียงส่วนหนึ่งในกระบวนการทำงานขององค์กร สำหรับผู้นำองค์กรที่ตระหนักสำนึกถึงเรื่องความเจ็บปวดขององค์กรจะระมัดระวังองค์กรที่ตนรับผิดชอบจะขับเคลื่อนองค์กรไปอย่างเป็นกระบวนการระยะยาวที่สร้างบนค่านิยมร่วมและให้วิสัยทัศน์ว่าองค์กรจะมุ่งมั่นไปสู่จุดหมายปลายทางใด

ความหวัง:

เมื่อองค์กรมีจุดหมายปลายทางร่วมที่จะมุ่งก้าวไปด้วยกันแล้ว ก็จะเอื้ออำนวยให้เกิดความหวังในอนาคต เวลาใดที่เพื่อนฝรั่งของผมเกิดความท้อแท้สิ้นหวังและรู้สึกต้องยอมแพ้ ภรรยาของเขาพยายามให้ความหวังแก่เขา สิ่งที่เธอให้กับสามีในเวลานั้น เป็นสิ่งที่เกิดผลในปัจจุบัน ที่สามีฝรั่งของเธอกลับมามีสุขภาพดีดั่งเดิม

ผู้นำที่ยิ่งใหญ่คือผู้นำที่จะให้เหตุผลที่เหมาะสมและพอเพียงแก่บุคลากรในองค์กรให้เชื่อได้ว่า "ปีแห่งความรุ่งโรจน์ขององค์กรเรากำลังเข้ามาใกล้"

เป็นคนที่มีความยุติธรรมและให้โอกาสใหม่:

เพียงแค่ผู้นำองค์กรได้รับความไว้วางใจว่าเป็นคนที่ยุติธรรม เป็นคนให้โอกาสแก่คนในองค์กรให้เติบโตขึ้นในหน้าที่การงานและความเป็นคนแล้วก็จะสามารถกล่าวอ้างเจาะลึกลงในสาเหตุประเด็นที่แท้จริงที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดแก่องค์กร

ในฐานะที่เป็นผู้นำองค์กร จะต้องเป็นคนที่เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา และเติบโตอย่างสม่ำเสมอ และนี่เป็นทางเดียวที่เราจะช่วยองค์กรของเราเติบโตขึ้นโดยไม่ต้องรับความเจ็บปวดที่ไม่จำเป็น สิ่งสำคัญที่ผู้นำองค์กรต้องเรียนรู้ นอกจากการเรียนรู้ที่แท้จริงในสิ่งใหม่แล้ว ผู้นำยังควรมีประสบการณ์ของการเชื่อมโยงเรื่องต่างๆ ให้สัมพันธ์เข้ากัน และในเวลาเดียวกันก็ต้องมีประสบการณ์ที่จะคิดและทำนอกกรอบได้ด้วย และคงต้องรับความจริงว่า แม้คุณจะนำอย่างดีแล้วความเจ็บปวดขององค์กรก็มิได้หายเป็นปลิดทิ้งในชั่วพริบตา

เฉลิมฉลองความสำเร็จ:

ทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน ให้แสวงหาสิ่งที่เราจะเฉลิมฉลองร่วมกันแม้ว่าจะเป็นความสำเร็จเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม

เมื่อองค์กรเกิดความเจ็บปวด

อาการที่พึงสังเกต
• ทัศนคติที่ไร้ความร่วมมือ
• ขาดความกระตือรือร้น
• ไร้ซึ่งการอุทิศทุ่มเท
• การค้นหาต้นเหตุอย่างผิดพลาด
• ต่อว่า เรียกร้องมากขึ้น
• เฉื่อยชา และ ขาดงานเพิ่มมากขึ้น
• แสดงตนในทางเสื่อมเสียในที่ทำงาน
• เสื่อมเสียในวินัย
• หน้าบอกบุญไม่รับ
• ความรู้สึกผิดชอบลดลง

รากแก้วของสาเหตุ
• ขาดความชัดเจนในภาระงาน หรือ ทำงานนอกภาระงาน
• ความชัดเจนของเป้าหมาย, ความคาดหวังเปลี่ยนแปลง ความคาดหวังไม่ชัดเจน
• การสื่อสารไร้ประสิทธิภาพ, ท่าทีเข้าหาลำบาก
• เข้าใจโครงสร้างองค์กรอย่างผิดพลาดคลาดเคลื่อน
• มีพนักงานมาก หรือ น้อยเกินไป
• ขาดความสนใจ หรือ อ่อนการฝึกหัดในงานที่ทำ
• ขาดทรัพยากรสำหรับการทำงาน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่

08 กันยายน 2554

ฤาถึงเวลาต้องปฏิรูปการอภิบาลในคริสตจักร?: ตอนที่ 8 ว่าด้วยสถาบันผลิตผู้อภิบาล

สถาบันผลิตผู้อภิบาล

ในยุคสมัยแห่งการเรียนรู้ คริสตจักรจัดให้มีสถาบันที่จะฝึกฝนผู้อภิบาลอย่างเป็นระบบ (เช่น พระคริสต์ธรรมต่างๆ) แต่เราก็พบว่าในระบบนี้มีข้อบกพร่องและความจำกัดไม่น้อยทีเดียว ในที่นี้ขอยกเพียงบางประการเป็นตัวอย่างเท่านั้น

1) ดึงเอาบุคคลที่มีแนวโน้มจะเป็นผู้ปกครองและผู้อภิบาลที่ดีออกไปจากชีวิตชุมชนคริสตจักรท้องถิ่นที่บุคคลเหล่านี้ควรจะเป็นผู้รับใช้ แล้วเอาคนเหล่านี้ไปอยู่ในบรรยากาศทางวิชาการ ที่พูดเรื่องต่างๆ ในเชิงนามธรรม และคนส่วนใหญ่ในชุมชนใหม่นี้ไม่ค่อยเห็นรูปแบบ มีบรรยากาศ และสัมผัสได้ถึงความรับผิดชอบในการอภิบาลชีวิต

2) เนื่องจากหลักสูตรที่จัดขึ้นจะต้องเรียนมากมายหลากหลายวิชา เพื่อให้ครบตาม “มาตรฐาน” ทางวิชาการและปริญญาที่จะได้รับ ดังนั้น ผู้เรียนจึงตกเป็นเหยื่อของการ “ยัดเยียด” และติดตามวัดผลด้วยการสอบของแต่ละวิชา ชีวิตในสถาบันพระคริสต์ธรรมมีเวลาเพียงน้อยนิดหรือเกือบไม่มีเลยที่ผู้เรียนจะสะท้อนคิดแบบลงรากลึกเพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง

3) ในสถาบันพระคริสต์ธรรมมีบรรยากาศเสริมสร้าง ภาวะผู้นำแบบคริสเตียน และ ความรับผิดชอบในด้านจิตวิญญาณ ที่อยู่ในระดับจำกัด มีบ้างในบางสถาบันที่จัดให้นักศึกษาได้พบกับอาจารย์ที่ปรึกษา หรือ การพบปะสามัคคีธรรมในกลุ่มเฉพาะในแต่ละสัปดาห์ สิ่งนี้สะท้อนถึงความตั้งใจที่ดีแต่ก็พบความจริงว่า ส่วนมากแล้วความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษากับอาจารย์ที่ปรึกษาไม่มีสัมพันธภาพที่หยั่งรากลงลึก จึงไม่น่าแปลกใจว่า สถาบันพระคริสต์ธรรมเป็นสถาบันผลิตผู้ทำงานให้แก่หน่วยงานคริสเตียน และรองลงมาสำหรับคริสตจักรที่มีลักษณะเป็นองค์กร ที่มีปัญหา ความรับผิดชอบ และ สัมพันธภาพเฉพาะ ในองค์กรและคริสตจักรเหล่านี้

4) คณาจารย์ส่วนใหญ่ในสถาบันพระคริสต์ธรรม บ้างยังไม่เคยทำหน้าที่ “ศิษยาภิบาล” เต็มเวลามาก่อน และบ้างในปัจจุบันก็หลุดจากโอกาสของการเป็นผู้อภิบาลอย่างเต็มที่ ส่วนใหญ่แล้วอาจารย์ในพระคริสต์ธรรมจะรู้และช่ำชองในด้านวิชาการพระคัมภีร์ ทางศาสนศาสตร์ระบบ ประวัติศาสตร์คริสตจักร หรือ หลักข้อเชื่อ ฯลฯ แต่ขาดโอกาสที่จะรับใช้และพัฒนาสมรรถนะในฐานะผู้นำของคริสตจักร ดังนั้น จึงมีความจำกัดอย่างยิ่งในการเตรียมความพร้อมสำหรับนักศึกษาที่เข้ามารับการเตรียมพร้อมที่จะออกไปเป็นผู้นำในด้านการอภิบาลชีวิตชุมชนคริสตจักร

คำถามตรงที่เราต้องการคำตอบในปัจจุบันนี้คือ เราจะมีกระบวนการเตรียมผู้อภิบาลที่มีสมรรถนะที่ตอบสนองต่อสภาพชีวิตของชุมชนชีวิตคริสตจักรอย่างเกิดผลตามพระคัมภีร์ได้อย่างไร ด้วยแบบใด? แทนการใช้ระบบสถาบันพระคริสต์ธรรมในการบ่มเพาะ ฟูมฟัก และสร้างเสริมผู้อภิบาลคริสตจักรเข้ามาแทนที่ระบบการฟูมฟัก บ่มเพาะ และเสริมสร้างผู้อภิบาลชีวิตคริสตจักรโดยชุมชนคริสตจักรที่ผู้ได้รับการเตรียมพร้อมจะมีโอกาสการเรียนรู้ มีทักษะ และพัฒนาสมรรถนะในการเลี้ยงดูลูกแกะ หรือ อภิบาลชีวิตสมาชิกในคริสตจักรด้วยประสบการณ์ตรง และสามารถตอบสนองชีวิตตามบริบทที่เป็นอยู่

Clay Sterrett ได้เขียนไว้ว่า การสร้างเสริม(ผู้อภิบาล)ในยุคนี้มุ่งเน้นที่วิชาการ ในขณะที่คริสตจักรในสมัยพระคัมภีร์ใหม่มุ่งเน้นฝึกฝนที่จิตวิญญาณและการดำเนินชีวิต, การฝึกอบรมในยุคทันสมัยใช้ระบบฝึกฝนในห้องเรียน แต่ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่เน้นที่ชีวิตและประสบการณ์, การฝึกอบรมในยุคนี้เน้นการเรียนรู้ มุ่งฝึกอบรมคนหนุ่มคนสาวให้เป็นผู้อภิบาล แต่ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ฝึกอบรมทุกคนที่เชื่อซึ่งรวมถึงผู้สูงอายุด้วยให้เป็นผู้อภิบาลกันและกัน


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
สะท้อนคิดจากบทความเรื่อง
The Urgent Need For Reformation in Pastoral Ministry ของ Darryl M. Erkel

06 กันยายน 2554

ฤาถึงเวลาต้องปฏิรูปการอภิบาลในคริสตจักร?: ตอนที่ 7: ว่าด้วยคำสอนและผู้สอนพระวจนะ

คำสอนและผู้สอนพระวจนะ

คริสตจักรในยุคทันสมัย มุ่งเน้นให้ความสำคัญแก่ “การเทศนา” แบบมืออาชีพ โดยไม่คำนึงถึงคำเทศนาที่ยืนอยู่บนรากฐานของพระคัมภีร์ และตอบโจทย์ชีวิตของคนในชุมชนคริสตจักร อย่างไรก็ตาม คำเทศนาเท่านั้นไม่สามารถใช้ทำหน้าที่แทนการบ่มเพาะ ฟูมฟัก และการสร้างเสริมชีวิตคริสเตียนได้

1) คำเทศนาที่มีวาทศิลป์ ตีฝีปาก มิใช่เป็นคำเทศนาตามแบบพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ แต่เป็นการเทศนาแบบกรีก ที่ให้ความสำคัญกับวาทศิลป์ การเล่นคำ และตรรกะเหตุผลที่ใช้

2) คริสตจักรในยุคเริ่มแรกนั้น ใช้กระบวนการสื่อสารแบบเปิด ซึ่งผู้ไม่เข้าใจหรือคิดต่างกันสามารถที่จะถาม หรือ แสดงมุมมองความคิดเห็นที่แตกต่างออกไปได้ แต่เราในปัจจุบันกลับตรงกันข้าม คริสตจักรชอบที่จะจำกัดคำตอบแบบชัดเจนตายตัว

3) คริสเตียนจะไม่มีการเรียนรู้ที่ดีมีประสิทธิภาพ ถ้าคริสตจักรมีแต่การสื่อสารทางเดียว เฉกเช่น การเทศนา คนในคริสตจักรจะเรียนรู้ได้ดีถ้ามีโอกาสที่จะถามสิ่งที่ไม่เข้าใจ หรือเสนอสิ่งที่มองต่างมุม เปิดให้มีการสื่อสารแบบเสวนา เพราะด้วยการสื่อสารแบบเสวนานี้เองที่ทำให้สมาชิกแต่ละคนในวงสนทนาที่เกิดการคิดใคร่ครวญ หาเหตุผล จนตกผลึกเป็นความเข้าใจของตนเอง เพื่อใช้สื่อสารกับคนอื่นๆ ได้ต่อไป

4) เป็นความจริงที่ว่า มิใช่ทุกคนที่ได้รับการทรงเรียกให้เป็นคนสอนพระวจนะของพระเจ้า (1โครินธ์ 12:29) และก็ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นอาจารย์สอนพระวจนะ(ยากอบ 3:1) อย่างไรก็ตาม คริสตจักรก็ยังต้องการหลายๆ คนในคริสตจักรที่จะมาช่วยแบ่งเบาภาระในการสอน และให้เป็นการสอนที่มีการสื่อสารแลกเปลี่ยน ความรู้ความเข้าใจและแบ่งปันประสบการณ์กันและกัน มากกว่าที่จะปล่อยให้คนเพียงคนเดียวที่จัดการเรื่องการสอน (โรม 12:7; 15:14; 1โครินธ์ 12:7; 14:26; โคโลสี 3:16; 1เปโตร 4:10-11) ยิ่งกว่านั้น เรายังต้องพิสูจน์ในคำสั่งสอน (1เธสะโลนิกา 5:21) หรือแม้แต่เรื่องวิญญาณเราก็ไม่ควรเชื่อทุกวิญญาณ ต้องมีการพิสูจน์ (1ยอห์น 4:1) คือเปิดโอกาสให้มีการไต่ถาม สนทนาหาความจริง เกี่ยวกับคำสอน และ คำทำนายที่อาจจะมีผู้เห็นว่าเป็นคำสอนที่เทียมเท็จ แต่ในคริสตจักรสมัยนี้หลายต่อหลายคริสตจักรที่ปิดประตูในเรื่องนี้

5) การที่ไม่มีการตอบสะท้อน หรือ การสะท้อนคิดต่อ “คำเทศนา” ย่อมทำให้เกิดความมืดทึบ ตีบตันทางปัญญาและความเชื่อในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ไม่เกิดผลดีต่อการเจริญเติบโตในชีวิตของผู้เชื่อ

6) คำเทศนาที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ในคริสตจักร ก็เป็นเพียงเทศนาเพื่อฟังเทศนา ไม่เกิดผลต่อยอดใดๆ ในชีวิตผู้ฟัง คำเทศนาเป็นเพียงชุดข้อมูล เทศนาที่มุ่งให้ข้อมูลพระคัมภีร์(หรือบางครั้งเป็นข้อมูลจากสื่อต่างๆ)แก่ผู้ฟัง และจบสิ้นลงเมื่อผู้ฟังได้ยินข้อมูลที่เทศนา ซึ่งแตกต่างไปจากกระบวนการ บ่มเพาะ เลี้ยงดู และฟูมฟักชีวิตคริสเตียน ทั้งการสอนที่เป็นวาจา ท่าทีของผู้สอนที่แสดงออก และที่สำคัญคือการบ่มเพาะด้วยชีวิตที่เป็นตัวอย่างของผู้สอน คริสตจักรต้องการผู้อภิบาลที่อภิบาลด้วยชีวิต มิใช่เป็นผู้อภิบาลด้วยคำสอน หรืออภิบาลจากบนธรรมาสน์เท่านั้น

7) ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ มิได้เสนอว่าให้มีเพียงคนเดียวที่ทำหน้าที่การสอนตลอดกาลในคริสตจักร (กิจการ 13:1; 1เธสะโลนิกา 5:12-13; 1ทิโมธี 5:17) เราไม่ควรทำให้คริสตจักรต้องพึ่งพิงการสอนของคนๆ เดียว


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
สะท้อนคิดจากบทความเรื่อง
The Urgent Need For Reformation in Pastoral Ministry ของ Darryl M. Erkel

01 กันยายน 2554

ฤาถึงเวลาต้องปฏิรูปการอภิบาลในคริสตจักร?: ตอนที่ 6: ว่าด้วยผู้ปกครองผู้อภิบาลชีวิตคริสตจักร

ความรับผิดชอบของผู้ปกครอง

ในยุคการบริหารองค์กรเฟื่องฟูมักมอง “ผู้ปกครองคริสตจักร” แยกออกจากส่วนพันธกิจการอภิบาลชีวิต คริสเตียนกระแสหลัก คริสตจักรปัจจุบันส่วนใหญ่มักมีความคุ้นชินในความคิดที่ว่า “ศิษยาภิบาล” คือผู้อุทิศทุ่มเทในการทำงานพันธกิจด้านจิตวิญญาณ (เช่น การอธิษฐาน การเทศนา การสอน ศาสนพิธีต่างๆ ฯลฯ) และมองว่า ผู้ปกครองและมัคนายกจะรับผิดชอบในงานที่ “ไม่ใช่ด้านจิตวิญญาณ” (เช่น การบริหารคริสตจักร ดูแลทรัพย์สิน งบประมาณ การเงินการทองของคริสตจักร ฯลฯ) นี่แสดงให้เห็นถึงความผิดพลาดคลาดเคลื่อนที่ชัดเจน และแสดงให้เห็นว่าคริสตจักรยอมให้อิทธิพลประเพณีและความคิดผิดๆ เข้ามาครอบงำพันธกิจการอภิบาลชีวิตในคริสตจักรของเรา

ความจริงก็คือว่าคำว่า “ศิษยาภิบาล” “ผู้ปกครองคริสตจักร” และ “ผู้ปกครองดูแล” ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ใช้แทนกันได้ ดังนั้น ผู้ปกครองคริสตจักรจึงมีความรับผิดชอบในการสอนและเลี้ยงลูกแกะของพระเจ้า (กิจการ 20:28) มีหน้าที่ในการเทศนาสั่งสอน (1ทิโมธี 5:17) มีการดำเนินชีวิตประจำวันที่ไร้ตำหนิ เป็นผู้ที่มีคุณธรรม ยึดมั่นในหลักคำสอนของพระคริสต์ เตือนสติด้วยคำสอนที่มีหลัก คัดค้านคำสอนที่ผิด พวกที่พูดมากไม่เป็นสาระ (ติตัส 1:5-9) ให้เลี้ยงลูกแกะ(สมาชิก) ที่อยู่ในความดูแลด้วยความเต็มใจไม่ใช่เห็นแก่ทรัพย์สิ่งของที่ได้มาโดยทุจริต เลี้ยงลูกแกะด้วยใจเลื่อมใสมิใช่ด้วยการใช้อำนาจกดขี่บังคับ และมีชีวิตที่เป็นแบบอย่างที่ดี (1เปโตร 5:1-4) ดังนั้น ผู้ปกครองจึงมิใช่มีบทบาทหน้าที่เข้าไปเป็นคนหนึ่งในคณะกรรมการคริสตจักร หรือ คณะธรรมกิจคริสตจักร เพื่อทำหน้าที่ตัดสินใจเกี่ยวกับการบริหารคริสตจักรเท่านั้น

อีกประการหนึ่ง ที่คริสตจักรได้มีการแบ่ง “ผู้ปกครองประจำการ” กับ “ผู้ปกครองนอกประจำการ” ไม่พบว่ามีคำสอนเช่นนี้ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ เพราะเมื่อได้รับการมอบหมายจากพระเจ้าให้เป็นผู้ปกครองดูแลลูกแกะของพระเจ้าแล้วก็ควรจะถวายชีวิตทั้งสิ้นเพื่อกระทำตามพระราชกิจที่ทรงมอบหมาย และในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ไม่มีการแบ่ง “ผู้ปกครอง” ที่ทำหน้าที่การสอน กับ “ผู้ปกครอง” ที่ทำหน้าที่การบริหารจัดการองค์กร อย่างที่มีบางคริสตจักรเข้าใจและทำกัน

การคัดสรรผู้อภิบาล

คริสตจักรท้องถิ่นในยุคปัจจุบัน มักจะแสวงหาผู้รับผิดชอบการอภิบาลชีวิตคริสตจักรจากบุคคลนอกชุมชนคริสตจักรของตน โดยตั้งคณะกรรมการที่จะแสวงหาและเลือกสรรคนจากนอกชุมชนคริสตจักรเข้ามาเป็น “ผู้อภิบาล” ของตน ซึ่งแตกต่างตรงกันข้ามกับคำสอนและการปฏิบัติในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ ที่มองว่า ผู้ที่จะสั่งสอนอภิบาลเลี้ยงดูลูกแกะในชุมชนคริสตจักรควรเป็นผู้ที่เลือกสรรจากคนในชุมชนคริสตจักรของตน ซึ่งเป็นคนที่ได้พิสูจน์ตนเองแล้วในการดำเนินชีวิต ในความเชื่อ และในการอุทิศตนแด่พระประสงค์ของพระเจ้า และแสดงให้เห็นแล้วว่าเป็นผู้ที่มีของประทานในการอภิบาลเลี้ยงดูชีวิตของผู้คนในชุมชนด้วย ซึ่งเราจะเห็นว่า อัครทูตจะเลือกสรรคนในชุมชนคริสตจักรขึ้นมาเป็นผู้ปกครองดูแลชีวิตของสมาชิกในคริสตจักร (กิจการ 14:23; 2ทิโมธี 2:2; ติตัส 1:5)

น่าเสียดายที่คริสตจักรท้องถิ่นในยุคปัจจุบันไม่มีกระบวนการการคัดสรรและฝึกฝนผู้คนในคริสตจักรให้มีภาวะผู้นำในพันธกิจด้านการอภิบาลชีวิตผู้คนในชุมชนคริสตจักร ทำให้ต้องมุ่งมองหาผู้ที่จะมาทำหน้าที่รับผิดชอบอภิบาลชีวิตจากคนนอกชุมชนคริสตจักรของตน ในพระธรรม 1 ทิโมธี 3:1-7 และ ติตัส 1:5-9 กล่าวถึงคุณสมบัติ และ คุณธรรมของผู้ที่จะทำหน้าที่อภิบาลชีวิตคนในชุมชนคริสตจักรนั้น เป็นสิ่งที่ต้องตรวจสอบจากการดำเนินชีวิตประจำวัน จากการดำเนินชีวิตที่เป็นแบบอย่าง ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบชัดเจนบุคคลภายนอกชุมชนคริสตจักรได้ละเอียดชัดเจนอย่างการตรวจสอบสังเกตใกล้ชิดคนที่เป็นคนหนึ่งในชุมชนคริสตจักรของตนได้

ศักดิ์และสิทธิในการประกอบพิธีมหาสนิท

คริสตจักรส่วนใหญ่ในยุคปัจจุบันมักสอนกันว่า ผู้ที่มีศักดิ์และสิทธิในการประกอบพิธีมหาสนิทคือบุคคลที่ได้รับการสถาปนาแต่งตั้งเป็นศิษยาภิบาลหรือศานาจารย์อย่างถูกต้องแล้วเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่มิได้สอนหรือเสนอให้ทำเช่นนั้น การที่ตราหลักการปฏิบัติให้ผู้ที่ได้รับการสถาปนาอย่างถูกต้องเท่านั้นที่จะทำหน้าที่ประกอบพิธีมหาสนิทนั้นเท่ากับเป็นการปฏิเสธความเป็น “ปุโรหิต” ในชีวิตของผู้เชื่อแต่ละคนตามคำสอนในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ แต่พึงตระหนักเสมอว่า อาหารมื้อสุดท้ายที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงสถาปนาขึ้นนั้นเป็นอาหารร่วมกันของชุมชนคริสตจักร มิใช่มื้ออาหารเฉพาะของ “ชุมชนนักบวช”

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
สะท้อนคิดจากบทความเรื่อง
The Urgent Need For Reformation in Pastoral Ministry ของ Darryl M. Erkel