31 ตุลาคม 2554

ผู้นำแบบนี้เขาไม่ใช้กันในแผ่นดินของพระเจ้า (1)

อ่านลูกา 22:24-30

มีการโต้เถียงกันในพวกสาวกว่าใครในพวกเขาที่นับว่าเป็นใหญ่ พระองค์จึงตรัสกับพวกเขาว่า “กษัตริย์ของคนต่างชาติย่อมเป็นเจ้านายเหนือเขาทั้งหลาย และผู้ที่มีอำนาจเหนือเขานั้นเรียกตัวเองว่าเจ้าบุญนายคุณ แต่พวกท่านจะไม่เป็นอย่างนั้น ในพวกท่านคนที่เป็นใหญ่ต้องเป็นเหมือนเด็ก และคนที่เป็นนายต้องเป็นเหมือนผู้ปรนนิบัติ (ลูกา 22:24-26)


หลายปีมาแล้ว ผมบังเอิญไปเห็นผู้ใหญ่ในคริสตจักรแห่งหนึ่งถกกันในที่ประชุมอย่างเผ็ดร้อน(โดยไม่จำเป็น) มารู้ภายหลังว่า “ผู้ใหญ่” ที่ถกและเถียงกันนั้นมิใช่ธรรมดาครับ แต่เป็นกรรมการสรรหารายชื่อของผู้ที่จะรับเลือกตั้งเป็นผู้ปกครองของคริสตจักรแห่งนั้น เท่าที่พอจะจำเหตุการณ์ในครั้งนั้นได้มีดังนี้ครับ “ผู้ใหญ่” ที่ยิ่งใหญ่ในคริสตจักรแห่งนั้นท่านหนึ่งได้ลุกขึ้นเสนอชื่อคนๆ หนึ่ง ผมขอใช้นามสมมติว่า “เกียรติศักดิ์” ให้เป็นคนหนึ่งในรายชื่อรับการเลือกตั้งเป็นผู้ปกครองของคริสตจักร

“ผู้ใหญ่” อีกท่านหนึ่งที่มีคนนับหน้าถือตาจากคนในคริสตจักรได้ถามขึ้นว่า “ทำไมท่านถึงคิดว่าคุณเกียรติศักดิ์ถึงเหมาะสมที่จะเป็นผู้ปกครองในคริสตจักรของเรา “ผู้ใหญ่”ท่านแรกที่เสนอชื่อร่ายยาวถึงผลงานความสำเร็จในชีวิตการงานของคุณเกียรติศักดิ์ จริงๆ แล้วเมื่อผมได้ยินยังประทับใจเลยว่าคุณเกียรติศักดิ์มีความสำเร็จในอาชีพการงาน และ เป็นคนหนึ่งที่ได้รับการนับหน้าถือตาในสังคม สำหรับผมแล้ว เมื่อได้ยินคุณสมบัติมากมายเช่นนี้คุณเกียรติศักดิ์เป็น “ผู้นำ” อย่างไม่ต้องสงสัย

“ผู้ใหญ่” ท่านที่สองลุกขึ้นถามอย่างสุภาพว่า คุณเกียรติศักดิ์เป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จในสังคมธุรกิจอย่างไม่มีข้อสงสัย แต่ความจริงก็คือว่า คุณลักษณะของการเป็นผู้นำทางธุรกิจมิได้เป็นคุณลักษณะที่เป็นหัวใจของการเป็นผู้ปกครองในคริสตจักร ดังนั้น ผมใคร่ขอความกรุณาช่วยแสดงถึงลักษณะความเป็นผู้นำด้านจิตวิญญาณของคุณเกียรติศักดิ์ด้วย แค่นั้นเองครับ... ผมสังเกตเห็นหน้าของ “ผู้ใหญ่”ท่านแรกเลือดฉีดแรงเลยครับ แล้วตอบคำถามและให้ข้อมูลด้วยเสียงที่โกรธ ฉุนเฉียว (เพราะเขาอาจจะรู้สึกว่าผู้ใหญ่คนที่สองไม่เชื่อว่าคุณเกียรติศักดิ์ที่เขาเสนอนั้นเหมาะสมที่จะเป็นผู้ปกครองของคริสตจักร)

มีเสียงตอบแบบกระแนะกระแหนว่า “ก็แค่เขาเคยสอนในชั้นเรียนเด็กรวีฯ มาหลายปี, เคยนำกลุ่มเล็กศึกษาพระคัมภีร์ของผู้ใหญ่ก็แค่ห้าปี, แล้วคนทั้งหลายก็รู้ว่าเขาเอาจริงเอาจังในการอธิษฐาน เพราะเข้าร่วมในกลุ่มอธิษฐานคืนวันพุธเป็นประจำ ไม่ทราบว่าคุณลักษณะที่ว่านี้เข้ากรอบผู้ปกครองหรือไม่!”

“ผู้ใหญ่” คนที่สองลุกขึ้นพูดด้วยน้ำเสียงสงบสุภาพ “ใช่เลย นั่นเป็นคุณลักษณะที่ผมอยากทราบครับ ผมพอใจคุณเกียรติศักดิ์ครับ ตอนนี้ผมรู้แล้วว่าคุณเกียรติศักดิ์เป็นผู้นำในวงการธุรกิจ และในเวลาเดียวกันท่านได้อุทิศชีวิตติดตามพระเยซูคริสต์ และมีภาวะผู้นำด้วยการรับใช้ ยิ่งกว่าพอใจครับ ขอบคุณมากครับ”

เมื่อสาวกของพระเยซูคริสต์ถกเถียงแข่งขันกันว่าใครจะเป็นคนที่ยิ่งใหญ่ ใครที่จะเป็นผู้นำในพวกเขา พระเยซูคริสต์ทรงเห็นว่าพวกเขาใช้ “เกณฑ์ความเป็นผู้นำแห่งโลกนี้” เป็นไม้บรรทัดในการตัดสิน พระองค์จะพูดกับสาวกว่า “แต่พวกท่านจะไม่เป็นอย่างนั้น” (ข้อ 26) พระองค์เตือนสติพวกเราด้วยว่า วิธีคิดของพระองค์ไม่เหมือนวิธีคิดของเราและของโลกนี้ หลักเกณฑ์ของพระองค์ในแผ่นดินของพระเจ้าในเรื่องนี้ก็แตกต่างจากหลักเกณฑ์ของเราในโลกนี้ พระองค์ชี้ชัดว่า “ในพวกท่านคนที่เป็นใหญ่ต้องเป็นเหมือนเด็ก(ผู้เล็กน้อย) และคนที่เป็นนายต้องเป็นเหมือนผู้ปรนนิบัติ(เป็นเหมือนคนใช้)” (ลูกา 22:26) และถ้าเราในฐานะสาวกของพระเยซูคริสต์ที่ต้องดำเนินชีวิตในโลกนี้ จำเป็นที่เราจะต้องดำเนินชีวิตด้วยวิธีคิด และ วิถีชีวิตที่มิใช่ของโลกนี้ แต่ตามวิถีชีวิตที่มีระบบคุณค่าและคุณธรรมแห่งแผนดินของพระเจ้า

ในแต่ละวันเราคงต้องถามเป็นประจำว่า จากประสบการณ์ชีวิตของเราอะไรคือความแตกต่างระหว่างการมีภาวะผู้นำแบบโลกนี้ กับการมีภาวะผู้นำแบบผู้รับใช้เฉกเช่นพระเยซูคริสต์? ความสำเร็จของภาวะผู้นำในสังคมแบบไหนที่จะเหมาะสมและสอดคล้องกับภาวะผู้นำในแผ่นดินของพระเจ้า? และความสำเร็จในการเป็นผู้นำในสังคมโลกแบบไหนที่เขาไม่ใช้กันในแผ่นดินของพระเจ้า?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่

28 ตุลาคม 2554

หัวใจของผู้นำ

ดังนั้น พระองค์จึง...
ทรงลุกขึ้นจากโต๊ะเสวย
ถอดฉลองพระองค์ชั้นนอกออก
เอาผ้าเช็ดตัวคาดเอวของพระองค์
...ทรงเทน้ำใส่อ่าง และ
...ล้างเท้าให้เหล่าสาวกของพระองค์ และ
เช็ดด้วยผ้าเช็ดตัวที่ทรงคาดเอวไว้

เมื่อทรงล้างเท้าพวกเขาเสร็จแล้วก็ทรงฉลองพระองค์ แล้วกลับไปประทับยังที่ของพระองค์ และตรัสถามเขาทั้งหลายว่า...
พวกท่านเข้าใจสิ่งที่ได้ทำให้พวกท่านหรือไม่
พวกท่านเรียกเราว่า “พระอาจารย์” และ “องค์พระผู้เป็นเจ้า” ซึ่งถูกต้องแล้วเพราะเราเป็นเช่นนั้น
ในเมื่อเราเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าและเป็นพระอาจารย์ของท่าน ยังล้างเท้าให้พวกท่าน
พวกท่านก็ควรล้างเท้าให้กันและกันด้วย
เราได้วางแบบอย่างไว้ เพื่อพวกท่านจะทำเหมือนที่เราได้ทำเพื่อพวกท่าน...
ในเมื่อพวกท่านทราบสิ่งเหล่านี้ หากพวกท่านปฏิบัติตามพวกท่านก็จะเป็นสุข
(ยอห์น 13:4-5; 12-17 อมตธรรม)

บนเส้นทางชีวิตของพระเยซูคริสต์และสาวกของพระองค์เมื่อเดินจนถึงจุดนี้ สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดว่า ความเข้าใจเรื่อง “ความเป็นผู้นำ” ทั้งของพระองค์และสาวกยังมีความคิดความเข้าใจที่แตกต่างกัน ในขณะที่สาวกยังติดยึดความคิดการเป็นผู้นำที่จะต้องมี “ตำแหน่ง” และ “อำนาจ” เป็นการคิดเข้าใจบนรากฐานทางการเมืองและการเงิน แต่พระเยซูคริสต์พยายามสื่อเสริมสร้างความคิดความเข้าใจบนรากฐานใหม่ของพระองค์ว่าหัวใจของ “การเป็นผู้นำคือการรับใช้” ดังนั้น พระองค์จึงปฏิเสธที่จะใช้ “การเมือง” (อำนาจ) และ “การเงิน” เป็นวิธีการที่ได้มาซึ่งการเป็นผู้นำ พระองค์ปฏิเสธการใช้อำนาจและใช้เงินเพื่อเสริมสร้างบารมีการเป็นผู้นำของตน และพระองค์ประกาศและปฏิบัติเป็นแบบอย่างชัดแจ้งว่า รากฐานการเป็นผู้นำของพระองค์คือการรับใช้ เป็นทาสรับใช้

การเป็นผู้นำแบบพระเยซูคริสต์ มิได้ขึ้นอยู่กับการมีตำแหน่ง การมีอำนาจ การมีเงินทอง

เพราะถ้าการเป็นผู้นำเป็นเรื่อง “ตำแหน่ง” การเป็นผู้นำก็เป็นสิ่งที่คนหนึ่ง “หยิบยื่น” ให้กับอีกคนหนึ่งได้ และถ้าผู้นำขึ้นอยู่กับการมี “อำนาจ” การเป็นผู้นำก็เป็นเรื่องที่จะ “มอบหมาย” ให้แก่กันได้

แต่สำหรับพระคริสต์แล้ว การเป็นผู้นำแบบพระองค์มิใช่เป็นสิ่งที่จะ “หยิบยื่น” หรือ “มอบหมาย” (รวมถึงฉกฉวยเอา)ได้ เพราะหัวใจการเป็นผู้นำแบบพระคริสต์เป็นการรับใช้คนอื่น (ไม่ใช่รับใช้ตนเอง หรือ ผลประโยชน์แห่งตน) จึงอยู่ห่างจากการไขว่คว้าหาตำแหน่งและการแสวงหาเงินทอง และการเป็นผู้นำมิใช่เป็นเพียงเรื่องของคนที่มีทักษะ หรือ ภาวะผู้นำในตัวของคนๆ หนี่งเท่านั้น

แต่มาจากรากฐานของความสำนึกแห่งจิตวิญญาณของการรับใช้คนอื่น จากความสำนึกว่านี่คือการทรงเรียกของพระเจ้า และสำนึกอีกด้วยว่า การรับใช้ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้เป็นการรับใช้ตามที่พระเจ้าประสงค์ให้กระทำ

ดังนั้น การเป็นผู้นำจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากภายในรากฐานชีวิต มาจากจิตสำนึก จิตสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้า จิตที่ต้องการรับใช้อย่างสัตย์ซื่อต่อพระองค์ มิใช่ได้เป็นผู้นำเพราะกระแสอำนาจจากภายนอก

การเป็นผู้นำแบบผู้รับใช้ จึงเป็นเกราะป้องกัน และเป็นแนวทางที่จะหลีกเลี่ยงจากการเป็นผู้นำที่เอารัดเอาเปรียบคนอื่น การเป็นผู้นำที่ตักตวงผลประโยชน์เพื่อตนเอง และการเป็นผู้นำเพื่อเสริมสร้างชื่อเสียงบารมีแห่งตน(และพรรคพวก) ทั้งนี้เพราะการเป็นผู้นำแบบผู้รับใช้นั้นทุ่มเทกายใจชีวิตเพื่อสร้างเสริมสวัสดิภาพและสุขภาวะแก่ผู้อื่น มุ่งห่วงใยเอาใจใส่คนอื่น และด้วยเหตุนี้จึงเป็นความสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องการผู้นำที่ลงมือรับใช้อย่างสุดจิตสุดใจ สุดกำลัง และความคิด

ทุกท่านย่อมเป็นผู้นำผู้รับใช้แบบพระคริสต์ได้ เพราะรากฐานแห่งพลังของการเป็นผู้นำแบบผู้รับใช้นี้มาจากความสำนึกถึงการทรงเรียกของพระเจ้า ที่พระองค์ทรงเรียกแต่ละคนตามพระประสงค์ ตามของประทานที่ทรงใส่ลงในแต่ละชีวิตที่พระองค์ทรงเรียก และทรงเตรียมชีวิตของคนๆ นั้นให้พร้อมที่จะเป็นผู้นำแบบรับใช้ตามพระประสงค์

ยิ่งกว่านั้น พระเยซูคริสต์ตรัสกับเราในวันนี้ว่า

เราได้วางแบบอย่างไว้ เพื่อพวกท่านจะทำเหมือนที่เราได้ทำเพื่อพวกท่าน...

ในเมื่อพวกท่านทราบสิ่งเหล่านี้ หากพวกท่านปฏิบัติตามพวกท่านก็จะเป็นสุข

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่

26 ตุลาคม 2554

เราคิดเหมือนพระเยซูหรือเปล่า?

อ่าน มัทธิว 4:1-11

ตั้งแต่พระเยซูคริสต์เริ่มพระราชกิจในโลกนี้ของพระองค์ สิ่งแรกพระองค์ทรงเรียกและท้าทายคนเหล่านั้นให้เปลี่ยนแปลงความคิดและวิธีคิดของตน คนที่จะติดตามพระเยซูคริสต์จะต้องเริ่มต้นด้วยการยอมที่จะเปลี่ยนวิธีคิดและความคิดให้เหมือนพระองค์ พระองค์ทรงเรียกร้องและท้าทายให้พวกเขา “กลับใจเสียใหม่” เปลี่ยนวิธีคิดเสียใหม่ ซึ่งจะมีพลังกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและวิถีชีวิตของคนๆ นั้น

การถูกมารทดลองในถิ่นทุรกันดารของพระเยซูคริสต์เป็นบทพิสูจน์ที่เป็นรูปธรรมที่แสดงให้เห็นชัดว่า พระองค์มีวิธีคิดและความคิดแตกต่างไปจากกระแสนิยม แตกต่างจากกระแสสังคมในเวลานั้นของพระองค์ ทั้งในมิติทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม ความเชื่อในศาสนายิว และอำนาจความสัมพันธ์

เป็นที่แน่ชัดว่า คนยิวส่วนใหญ่ในเวลานั้นต่างมี “ไฟปฏิวัติ” ในจิตใจ ต่างต้องการที่จะปลดแอกตนเองจากการตกเป็นเมืองขึ้น และการอยู่ใต้อำนาจของกองกำลังโรมันและลิ่วล้อคนท้องถิ่น ไม่แปลกที่มีกระบวนการทั้งบนดินและใต้ดินที่สั่งสมกองกำลังติดอาวุธเพื่อรอเวลาที่จะต่อสู้กับกองทัพโรมัน และกระบวนการเหล่านี้ก็ผสมผสานเอาความเชื่อในศาสนายิวเข้าเป็นพลังในการปลุกระดมคนยิวร่วมเป็นกองกำลังปฏิวัติ

พวกเขากำลังรอผู้นำทัพครับ! พวกเขารอพระเมสสิยาห์ที่จะมาปลดปล่อยพวกเขาออกจากอำนาจกดขี่ของโรมัน ดังนั้น ประชาชนพร้อมที่จะเข้าร่วมเป็นคนหนึ่งในกองกำลังดังกล่าว ประเด็นอยู่ที่ว่า ใครที่จะมานำทัพจะต้องทำอย่างไรให้ประชาชนนิยมชมชื่นและเชื่อว่าตนเองคือผู้ที่พระเจ้าส่งมาตามพระสัญญา และยอมเข้ามาร่วมกับตนในการเปลี่ยนแปลงการปกครองและพลิกฟื้นราชอาณาจักรดาวิดขึ้นใหม่

ผู้มาผจญ ได้เสนอแนวทางอันชาญฉลาดเพื่อที่พระเยซูจะได้ใจของประชาชน และใช้พลังของพวกเขาในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มารเสนอว่า ท่ามกลางความยากจนหิวโหย อาหารเป็นยุทธปัจจัยที่ทรงพลัง ดังนั้น ให้พระเยซูคริสต์เสกก้อนหินเหล่านี้ที่มีดาษดื่นทั่วไปบนพื้นดินให้กลายเป็นขนมปังเพื่อแจกจ่ายซื้อใจของประชาชน และที่สำคัญกว่านั้น การเสกก้อนหินให้เป็นขนมปังเป็นการอัศจรรย์ที่พิสูจน์ว่าพระเยซูเป็นคนของพระเจ้าได้อย่างยอดเยี่ยม และพระเจ้าพระบิดาก็ให้สิทธิอำนาจในเรื่องนี้แก่พระองค์แล้ว พระองค์ควรใช้มันทันที (ถ้าเป็นยุคปัจจุบัน มารคงนำเสนอให้พระเยซูเสกก้อนหินให้เป็นเงินทองแน่ แท้จริงมารก็ทำสำเร็จแล้ว คือทำให้พวกผู้นำคริสเตียนส่วนใหญ่มุ่งหน้าตั้งตาแสวงหาเงินทองในงานของพระเจ้า)

น่าสังเกตว่า มารเสนอวิธีคิด และ แนวทางดังกล่าวนั้น จุดประสงค์เพื่อเพียงการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อตนเองโดยใช้พลังและชีวิตของประชาชนเป็นเครื่องมือเป็นประการแรก ประการที่สองใช้ของประทานของพระเจ้าคือ “ขนมปัง” ที่เป็นอาหารหล่อเลี้ยงชีวิตประจำวันมาใช้เพื่อสร้างฐานอำนาจแก่ตน ประการที่สาม ให้ประชาชนเสพติด “ผลประโยชน์” เพื่อตนจะสามารถควบคุม บงการ และมีอำนาจเหนือประชาชนตลอดกาล ประการที่สี่มารเสนอให้ใช้สิทธิอำนาจที่พระเยซูได้จากพระเจ้าเพื่อเสริมสร้างบารมีอำนาจของตนเองผ่านการทำอัศจรรย์ (ถ้าเป็นปัจจุบัน เห็นชัดที่นักการเมืองใช้กระบวนการ “ประชานิยม” เพื่อสร้างเสริมอำนาจและบารมีของตนเอง ซึ่งคริสตจักรต้องระมัดระวังที่ไม่เผลอตกกับดักมารไปใช้กระบวนการที่คล้ายคลึงกันนี้ และสมาชิกคริสตจักรท้องถิ่นไม่ควรหลง “กินเหยื่อ” จนต้องติดเบ็ดเจ็บตัวไปในที่สุด)

พระเยซูคริสต์ไม่ยอมพลาดท่าตกหลุมพลางที่มารมันวางไว้ พระองค์รู้ชัดว่าการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงบนแผ่นดินโลกใบนี้ และที่เริ่มต้นในแผ่นดินปาเลสไตน์นั้น มิใช่อยู่ที่กองกำลังบนดินหรือใต้ดิน มิได้อยู่ที่พลานุภาพแห่งอาวุธที่ใช้ มิได้ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้คนที่นิยมชมชื่นยอมอุทิศตนเพื่อแผ่นดินมากน้อยแค่ไหน แต่อยู่ที่รากฐานชีวิตจิตใจของมนุษย์แต่ละคน และที่สำคัญคือ พระองค์ต้องการให้ “พระวจนะหรือพระประสงค์ของพระเจ้า” เป็นรากฐานชีวิต และ เป็นแหล่งอาหารหล่อเลี้ยงชีวิตจิตวิญญาณของแต่ละคน สิ่งนี้ต่างหากที่จะเปลี่ยนแผ่นดินนี้ให้เป็น “แผ่นดินของพระเจ้า หรือ แผ่นดินสวรรค์” ดั่งอมตะวจีของพระเยซูคริสต์ที่ว่า “มนุษย์จะดำรงชีวิตด้วยอาหารเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องดำรงด้วยพระวจนะทุกคำซึ่งออกมาจากพระโอษฐ์ของพระเจ้า” (มัทธิว 4:4 ฉบับมาตรฐาน) การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงมิได้มาด้วยการสร้างกระแส “บริโภคนิยม” หรือมิใช่สร้างให้ประชาชนมานิยมชมชอบตนเองด้วยกระบวนการประชานิยมที่ใช้บริโภคนิยมเป็นตัวล่อ

ในโลกปัจจุบันนี้ การแข่งขันช่วงชิงอำนาจให้เป็นผู้กุมสถานการณ์เป็นเรื่องที่จะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้สิ่งนี้มาอยู่ในมือของตน แม้ไม่สามารถได้มาด้วยเล่ห์ ก็ให้ได้มาด้วยเหลี่ยม หรือ ด้วยเหตุผลข้างๆ คูๆ มารไม่เคยลดละ มันลุยต่อนำพระเยซูไปบนยอดหลังคาพระมหาวิหาร และท้าทายให้พระองค์กระโดดลงไป นี่เป็นคำท้าทายที่ยิ่งใหญ่ เป็นการท้าทายให้พระเยซูพิสูจน์ว่า ตนคือคนที่พระเจ้าส่งมาสำหรับการเปลี่ยนแปลงแผ่นดินโลกแท้จริงหรือไม่ ถ้าแท้จริงพิสูจน์ให้เห็นหน่อย เพราะพระคัมภีร์มีพระสัญญาของพระเจ้าว่า ถ้าเป็นคนของพระองค์ที่ส่งมาจริง พระเจ้าจะรองรับความปลอดภัยทุกอย่าง ในมิตินี้มารกำลังที่จะสร้างให้เกิดความลังเลใจให้เกิดขึ้นในพระเยซูคริสต์ และในเวลาเดียวกันเป็นการหลอกล่อให้พระเยซูคริสต์ทำการอัศจรรย์ครั้งใหญ่ ถ้าประชาชนเห็นแล้วจะยอมรับสวามิภักดิ์ติดตามพระองค์ทันที เพราะพระองค์เต็มไปด้วยฤทธิ์ และประชาชนจะติดตามพระองค์เพราะการอัศจรรย์ที่พระองค์กระทำแต่ไม่สนใจที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดชีวิตของตนตามพระประสงค์ของพระเจ้า และนั่นคือความล้มเหลวจบสิ้นแห่งพระราชกิจของพระเยซูคริสต์

ในที่นี้คงต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบว่า พระเยซูคริสต์มิได้ปฏิเสธในการทำการอัศจรรย์ เพราะในพระราชกิจที่พระเยซูคริสต์ทรงกระทำนั้นมากมายด้วยการอัศจรรย์ แต่ความแตกต่างในที่นี้คือ การอัศจรรย์ที่พระเยซูคริสต์ทรงกระทำในพระราชกิจของพระองค์นั้นเพื่อเป็นการเยียวยารักษา การปกป้องชีวิต การทำให้กลับมีชีวิตใหม่สำหรับคนทั้งหลาย แต่การอัศจรรย์ที่มารท้าทายโดยล่อลวงให้พระเยซูกระโดดลงจากยอดหลังคาพระวิหารนั้นเป็นการทำการอัศจรรย์เพื่อเสริมสร้างอำนาจ บารมี และการทำให้คนอื่นยอมรับพระองค์ แต่ที่สำคัญยิ่งคือมารเสนอการทำอัศจรรย์นี้มิใช่กระทำด้วยความเชื่อศรัทธาและไว้วางใจในพระเจ้า และเพื่อตอบสนองพระประสงค์ของพระเจ้า แต่ต้องการทดลองพระเจ้า และ พิสูจน์ความสำคัญของตนเอง ในครั้งนี้อมตะวจีของพระเยซูคริสต์ก็เป็นพระวจนะของพระเจ้าอีกเช่นกันคือ “อย่าทดลององค์พระผู้เป็นเจ้าผู้เป็นพระเจ้าของท่าน” (มัทธิว 4:7 ฉบับมาตรฐาน)

บางครั้งเมื่อถึงจุดหนึ่งของการแข่งขัน ช่วงชิง หรือการต่อสู้จะต้องตัดสินใจเผด็จศึกเพื่อคาดหวังให้ได้ชัยชนะเบ็ดเสร็จให้ได้ และนี่คือวิธีการของผู้ที่เข้ามาทดลองพระเยซูคริสต์ใช้ด้วยเช่นกัน วิธีการของมันคือ มารเสนอผลประโยชน์แลกเปลี่ยนกันระหว่างมันกับพระเยซู ถ้าพระเยซูคริสต์ต้องการเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ใหม่ มารก็พร้อมที่จะมอบโลกใบนี้ให้พระองค์ทันที ไม่อิดออด! และสิ่งที่ใช้แลกเปลี่ยนกับพระเยซู ดูเหมือนว่าพระเยซูเป็นฝ่ายได้เปรียบ เพราะมารยอมมอบอาณาจักรทั้งหลายในโลกนี้ และความรุ่งโรจน์เจริญรุ่งเรือง ความก้าวรุดหน้าทันสมัยของอาณาจักรเหล่านั้นให้พระองค์ เพียงขอพระเยซูยอมน้อมรับนับถือมารว่ามันเป็นส่วนสำคัญและความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้เท่านั้น

ใคร่ครวญถึงที่นี่ แล้วกลับย้อนมองหาตนเอง น่าตกใจมากครับ ปัจจุบันนี้คริสเตียนเรายอมรับข้อเสนอการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับมารด้วยความภูมิอกภูมิใจ พออกพอใจครับ เรายอมรับเอาความทันสมัยสุดๆ ยอมรับเอาความเจริญรุ่งเรือง ยอมรับเอาความรุ่งโรจน์แห่งกิจการงานองค์กรคริสเตียนและคริสตจักร เราวิ่งไล่ไขว่คว้าตามกระแสแห่งความเจริญและทันสมัยของโลกนี้ เราต้องการโรงพยาบาลที่ทันสมัย โรงเรียนที่มีอุปกรณ์ทันสมัยทัดเทียมกับคนอื่น อาคารที่ยิ่งใหญ่ นักเรียนมากในระดับแนวหน้า แล้วก็วัดกันที่รายได้ผลกำไร หรือไม่ก็กระดาษรับรองมาตรฐานตามเกณฑ์ที่สังคมวางไว้ เราวิ่งตามการเป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติ แต่ทอดทิ้งคนยากไร้ ด้อยโอกาส เด็กข้างถนนไว้ก่อน เรามีตึกสภาฯ ที่ยิ่งใหญ่ใจกลางเมืองธุรกิจระดับชาติ และเราก็ยอมรับนับถือหลักเกณฑ์เหล่านี้ เอาสิ่งเหล่านี้เป็นเป้าหมายปลายทางในชีวิตและองค์กรของเรา เราก้มลงนมัสการใครกันแน่ในเวลานี้? การอุทิศจงรักภักดีของเราที่มีพระเจ้าเป็นหนึ่งเป็นเอกในชีวิตและองค์กรของเรายังเหลือหลออยู่หรือเปล่า? หรือเราเอาไปแลกกับ “มาร” เรียบร้อยแล้ว?

สำหรับพระเยซูคริสต์แล้ว พระองค์ตอบสนองข้อเสนอของมารอย่างแรงและตรงไปตรงมาคือ “จงไปให้พ้น เจ้าซาตาน” พร้อมกับใช้พระวจนะของพระเจ้าในการต่อสู้กับมารครั้งนี้ว่า “จงกราบนมัสการองค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของท่าน และปรนนิบัติพระองค์แต่ผู้เดียว” (ดูมัทธิว 4:10 ฉบับมาตรฐาน) การต่อสู้ขั้นเผด็จศึกของมารนี้แหลมคมนัก เพราะเป็นข้อเสนอที่ถูกเนื้อต้องใจของผู้นำองค์กรคริสเตียนและคริสตจักรอย่างยิ่ง ดังนั้น พระเยซูคริสต์ตอบสนองขั้นตอนเผด็จศึกนี้อย่างไม่ยอมประนีประนอมด้วยการเปิดโปงให้รู้ว่า “เจ้าคือมารซาตาน จงไปให้พ้น” และพระองค์เลือกที่จะสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าเท่านั้น พระองค์เลือกที่จะเป็นทาสรับใช้ทำตามพระประสงค์ของพระบิดาแต่ผู้เดียว

แต่เราปัจจุบัน ผู้นำคริสตจักร และองค์กรคริสเตียน คงต้องมีเวลาถามตนเองว่า เรากำลังมุ่งสร้างให้ตนเองเป็นที่ยกย่องเชิดชูและต้องการให้ผู้คนสวามิภักดิ์ต่อตนเอง หรือมุ่งทำตนทำงานที่สวามิภักดิ์ต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า? แล้วเป้าหมายปลายทางของชีวิตและการงานคือพระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตของตน และ ในองค์กรคริสเตียนหรือไม่?

“ขอให้แผ่นดินของพระองค์มาตั้งอยู่
ขอให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์
ในสวรรค์เป็นอย่างไรก็ให้เป็นไปอย่างนั้นในแผ่นดินโลก”
(มัทธิว 6:10 ฉบับมาตรฐาน)
ยังเป็นคำอธิษฐานและเป้าหมายปลายทางในการเป็นสาวกของพระเยซูคริสต์หรือไม่?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่

24 ตุลาคม 2554

เห็นวิกฤติ...เห็นโอกาส

เห็นวิกฤติ...เห็นโอกาส
มองข้ามวิกฤติ...มองข้ามโอกาส

โถ... ใครบ้างต้องการอยู่ในภาวะวิกฤติ? ใช่ครับใครก็ไม่อยากเผชิญหน้า หรืออยู่ในวิกฤติ
แต่... แต่ละคนก็ต้องพบกับวิกฤติชีวิต ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ไม่ช้าก็เร็ว
ยิ่งคนที่ต้องอยู่ในภาวะผู้นำแล้ววิกฤติเป็นสิ่งที่คนๆ นั้นต้องประสบพบเจอ
เมื่อประสบพบเจอแล้วจะมีท่าทีและการตอบสนองเช่นไรต่อวิกฤตินั้นต่างหาก... ที่สำคัญ

บางคนทำเป็นมองไม่เห็น
บางคนมองข้าม
บางคนกลบเกลื่อน(หลอก)ตนเองและลูกน้องว่าไม่มีวิกฤติ
บางคนมองวิกฤติต่ำกว่าความเป็นจริง
บางคนขยายวิกฤติจนดูหนักหนาสาหัสเกินกว่าที่เป็นจริง
บางคนมองหาสัจจะความจริงที่ "วิกฤติ" ต้องการที่จะบอกแก่เขา

เพื่อที่จะนำสัจจะความจริงนั้นเป็นตัวกำหนดทิศทางและวิธีการในการแก้ไขและพัฒนา
อยู่ที่ว่าคนๆ นั้นจะใช้ "ปัญญา" จากเบื้องบน และ
ใช้ "สัจจะ" ที่ได้จากวิกฤติในการแก้ไขพัฒนาวิกฤติที่เผชิญให้เป็นโอกาสที่จะเติบโตขึ้น
หรือเพียงเพื่อพยายามหาทางที่ตนเองจะ "หลุดรอด" ออกจากวิกฤตินั้นอย่างไรเท่านั้น

วิกฤตินั้นเกิดขึ้นในสถานการณ์และสภาพที่แตกต่างหลากหลาย
บ้างก็เป็นวิกฤติที่มาจากธรรมชาติแวดล้อม อย่างที่คนไทยเราเผชิญหนักหนาสาหัสมาแล้ว
บ้างก็เป็นวิกฤติในองค์กร หน่วยงาน บริษัท ไม่ว่างเว้นแม้แต่คริสตจักร
บ้างก็เป็นวิกฤติการเมืองอย่างในบางประเทศที่พบเจอ (ไทยเราด้วย)
บ้างก็เกิดวิกฤติภาวะผู้นำในการบริหารจัดการ (ไทยเราก็พบด้วย)
บ้างก็เกิดวิกฤติทางด้านการเงิน (อันนี้พบกันถ้วนหน้าในตอนนี้)
บ้างก็เกิดวิกฤติทางด้านธุรกิจ (อันนี้แม้แต่คนที่ไม่ควรเจอก็เอาตัวเองเข้าไปเจอจนได้)
และที่พบกันถ้วนหน้าคือวิกฤติในชีวิตส่วนตัวของแต่ละคนครับ
และบ่อยครั้งมากครับ ที่วิกฤติที่ประสบพบเจอมักเป็นวิกฤติที่มีสาเหตุหลายด้านหลายมิติที่มาพัวพันเชื่อมโยงกัน

เมื่อพูดถึงวิกฤติในตอนนี้ หลายคนก็จะพุ่งความสนใจไปสู่วิกฤติน้ำท่วมประเทศไทย!
ผมขอเลี่ยงไม่พูดถึงเรื่องนี้และการเมืองที่กำลังร้อนแรงในขณะนี้ครับ (ใครว่าเชยก็ตามใจเถอะ)
แต่ขอกล่าวว่า เมื่อเกิดวิกฤติเราต้องการผู้นำที่ใช้สติปัญญาในการเผชิญภาวะวิกฤติ
และสติปัญญาที่ใช้นี้มิใช่เพื่อ "เล่นการเมือง" เอาแพ้เอาชนะกัน
หรือสติปัญญาที่ใช้นี้มิใช่เพื่อ "ปกป้อง" ฐานะ ตำแหน่ง ชื่อเสียง และความอยู่รอดของตน "พรรค" และ "พวก"
ผู้นำในวิกฤตินั้นต้องได้รับและใช้ "พระปัญญา" จากเบื้องบน
มิใช่เล่ห์เหลี่ยม กลอุบาย หรือ "โกหกโหล" มาใช้ในการแก้ไขวิกฤติที่อยู่ข้างหน้า
ถ้าให้ "พระปัญญา" นำหน้าและชี้ทิศทางการเผชิญวิกฤติ เราก็จะพบกับโอกาสใหม่ครับ

โอกาสการที่จะเรียนรู้จากการสอนและหล่อหลอมจาก "พระปัญญา" และพระวิญญาณ
โอกาสที่จะพบสัจจะ ความจริง และแสงสว่างใหม่
โอกาสที่ฝึกปรือตนเองที่จะเชื่อ ไว้วางใจ และอดทนในภาวะวิกฤติ
โอกาสที่จะเรียนรู้ที่จะยำเกรงพระยาเวห์ และ มีชีวิตที่สงบในพระองค์
โอกาสที่คนในองค์กรจะเรียนรู้ร่วมกัน และ สัมผัสถึงพระปัญญาจากเบื้องบน
โอกาสที่คนในองค์กรเห็นผลถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

แต่โอกาสเหล่านี้จะเป็นไปได้เริ่มต้นที่ผู้นำ "ถ่อม" และ "ถวาย" ชีวิตของตนแด่พระประสงค์ของพระเจ้า
โอกาสเหล่านี้จะเป็นไปได้เมื่อ คนที่เป็นผู้นำกล้าที่จะลงมาจาก "บัลลังก์" ชีวิตและตำแหน่งผู้นำ
กล้าที่จะเปลี่ยนจากการบังคับบัญชา สั่งการ ควบคุม สู่การ"ลงไป" รับฟังและพร้อมรับใช้บริการคนอื่นๆ ทั้งหมดในองค์กร
เพราะพระเยซูเป็นคนแรกที่ยอมถ่อมลงรับใช้สาวก จึงได้สาวกที่ยอมรับใช้ประชาชน
เพราะพระคริสต์เป็นผู้นำที่กล้าที่จะให้และเสียสละชีวิตของพระองค์เอง
เพื่อผู้คนจะได้ชีวิตใหม่ ในกระบวนการของพระองค์จึงได้สาวกที่ให้ชีวิต

ตรงกันข้าม ถ้าองค์กรใดมีผู้นำที่ "ยึดเกาะบังลังก์" ใช้อำนาจ แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน
ก็จะได้ลูกน้อง ลิ่วล้อ และพรรคพวกในองค์กรที่ "โกง กิน" ตามน้ำตามกระแส
และถ้าองค์กรใดมีผู้นำที่ชีวิตไร้ "ความเชื่อที่สำแดงออกในชีวิตบริหาร" "ไร้คริสต์จริยธรรม"
องค์กรนั้นก็จะได้คนที่ เก่งโกง เก่งกิน และลุยไปตามน้ำตามกระแสสังคมที่ไร้คริสต์จริยธรรมในชีวิต
และผู้นำแบบนี้เองที่นำวิกฤติมาสู่องค์กรของตนเอง คริสตจักรของตนเอง
ผู้นำแบบนี้แม้จะมองจน "ตาถลน" ก็มองไม่เห็นวิกฤติขององค์กร
เพราะภาวะผู้นำของคนๆ นั้น ที่นำวิกฤติเข้ามาในองค์กรเอง

เพื่อนสนิทของผมคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้นำในคริสตจักรที่มีอายุยาวนานและมีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง ได้แบ่งปันให้ผมฟังว่า
ตอนนี้คริสตจักรของเขากำลังตกลงในวิกฤติหนัก เงินถวายลดฮวบลง
ตัวเลขเงินถวาย(รายรับ) กับตัวเลขในงบประมาณรายจ่ายห่างกันราวฟ้ากับดิน
เขาบอกผมว่า คณะธรรมกิจของคริสตจักรต้องเข้ามาพิจารณาและจัดการในเรื่องนี้
พวกเขาดูว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้รายจ่ายลดลงเพื่อที่จะให้ตัวเลขรายจ่ายใกล้เคียงหรือสมดุลกับรายรับ
ในที่สุดก็ออกมาตรการสำคัญๆ เช่น ลดคน ลดกิจกรรม ประหยัดรายจ่าย

ผมก็แสดงความคิดเห็นว่า... เมื่อเกิดวิกฤติต้องระวังไม่มองวิกฤติบิดเบี้ยวไปจากความจริงของวิกฤตินั้น
ผมถามว่า...ตอนที่วางงบประมาณ เขาวางงบประมาณเกินเลยความสามารถในการถวายของสมาชิกหรือไม่
ตอนที่คิดกิจกรรมคริสตจักรได้สร้างกิจกรรมใหม่ๆ "โอเวอร์" จากความสนใจและศักยภาพของคริสตจักรหรือไม่
คำตอบที่ได้รับคือ "ไม่" ทุกอย่างดำเนินไปใกล้เคียงกับปีก่อนๆ ที่ผ่านมา
ผมถามต่อไปว่า ถ้าเช่นนั้นเงินถวายปีนี้่ลดต่ำลงจากปีที่ผ่านๆ มาหรือไม่ คำตอบคือต่ำอย่างน่าเป็นห่วง
คงหนีไม่พ้นที่ผมต้องถามว่า แล้วอะไรที่เป็นสาเหตุทำให้สมาชิกคริสตจักร "หดมือ" ในการถวาย
เพื่อนผมใช้เวลาคิด เวลาใคร่ครวญตั้งนาน... แล้วก็โพล่งออกมาว่า
"ศิษยาภิบาลไปมีกิ๊กกับสมาชิกคนหนึ่งในคริสตจักรมาเป็นเวลาห้าเดือนแล้ว...
ตอนนี้เขาตัดสินใจหย่าภรรยาทิ้งลูกทิ้งเมียไปอยู่กับกิ๊ก"
แล้วยังไงต่อล่ะครับ
"เขาออกจากศิษยาภิบาล ทิ้งโบสถ์ไปด้วยครับ"

ผมเลยถามต่อไปว่า "แล้วมาตรการลดกิจกรรม ลดคนทำงาน ลดรายจ่ายของโบสถ์จะช่วยให้ตัวเลขมันสมดุลได้ไหม?"

ใช่แล้ว สัจจะ ที่วิกฤติครั้งนี้บอกกับเรามิใช่วิกฤติเงินไม่พอ คนทำงานมากเกินไป แต่นี่เป็นวิกฤติศรัทธาครับ
วิกฤติศรัทธาในตัวผู้นำคริสตจักรคือศิษยาภิบาล(อาจจะพร้อมกับคณะธรรมกิจที่ขาดการเอาใจใส่ ขาดความรับผิดชอบ)
วิกฤติศรัทธาทำให้เกิดอาการของการ "หดมือ" ในการถวาย
การเผชิญหน้าแก้ไขวิกฤติครั้งนี้ต้องตอบสนองต่อสัจจะที่ได้รับจากวิกฤติ
จะแก้ไขและพัฒนาความศรัทธาของสมาชิกในคริสตจักรแห่งนี้ขึ้นใหม่อย่างไร
คงไม่ใช่ไปตัดคน ตัดรายจ่าย ลดกิจกรรม อะไรในทำนองนั้น
ตัวเลขรายจ่ายกับรายรับจะได้รับการแก้ไขต้องเกิดจากผลกระทบของการสร้างเสริมศรัทธาในองค์กรให้กลับมาก่อน

ดังนั้น เมื่อเกิดวิกฤติ ให้เราฝ่าวิกฤติดังนี้
ประการแรก ต้องมองให้เห็นวิกฤติก่อน
ประการต่อมา มองให้เห็นสัจจะที่วิกฤติบอกกับเรา
ประการที่สาม นำสัจจะที่ได้จากวิกฤติมาเป็นเข็มทิศในการแก้ไขวิกฤติที่เกิดขึ้น
ประการที่สี่ เผชิญหน้าวิกฤติด้วย "พระปัญญา" จากเบื้องบน
ประการที่ห้า เผชิญหน้าวิกฤติด้วยภาวะผู้นำที่ "ถ่อม" "รับใช้" "เสียสละ" เยี่ยงพระคริสต์
ประการที่หก ยอมและน้อมรับการ "ตีสอน" หรือ "การเสริมสร้างใหม่" จากพระเจ้า
ประการสุดท้าย ใช้วิกฤติเป็นโอกาสในการเติบโตขึ้นในพระคริสต์ร่วมกัน

จงวางใจในพระยาเวห์ด้วยสุดใจของเจ้า และอย่าพึ่งพาความรอบรู้ของตนเอง
จงยอมรับรู้พระองค์ในทุกทางของเจ้า แล้วพระองค์เองจะทรงกระทำให้วิถีชีวิตของเจ้าราบรื่น
อย่าคิดว่าตนมีปัญญา จงยำเกรงพระยาห์เวห์ และจงหันจากความชั่วร้าย
มนุษย์ผู้พบปัญญา และมนุษย์ผู้ได้ความเข้าใจ ก็เป็นสุขจริงหนอ
เพราะผลที่ได้จากปัญญาย่อมดีกว่าผลที่ได้จากเงิน และผลิตผลของปัญญาก็ดีกว่าทองคำ
ปัญญาล้ำค่ากว่าอัญมนี และทุกสิ่งที่เจ้าปรารถนาไม่อาจเปรียบกับปัญญาได้เลย
ชีวิตยืนยาวในมือขวาของปัญญา ส่วนในมือซ้ายมีความมั่งคั่งและเกียรติยศ
ทางของปัญญาเป็นทางของความร่มรื่น และวิถีทั้งสิ้นของปัญญาคือความสงบสุข
ปัญญาเป็นต้นไม้แห่งชีวิตแก่ผู้ที่ฉวยเธอไว้ บรรดาผู้ที่ยึดเธอไว้แน่นจะสุขสบาย
(สุภาษิต 3:5-7; 13-18 ฉบับมาตรฐาน)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่

สิ่งดีๆ ที่ได้จากวิกฤติ

วิกฤติบ่งชี้ถึงสัจจะความจริง

วิกฤติได้บ่งบอกออกมาให้เรารู้ว่าผู้นำคนๆ นั้นทรหดแข็งแกร่งแค่ไหน, ดื้อรั้นดันทุรังเพียงใด, วิกฤติได้บ่งบอกออกมาว่าอะไรที่สำคัญและอะไรที่ไม่สำคัญ, วิกฤติฉายส่องออกมาว่าคุณเชื่ออะไร และแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งในความเชื่อของคุณ, วิกฤติทำให้คุณรู้ว่าอะไรดำเนินการได้ อะไรที่ดำเนินการไม่ได้, วิกฤติสำแดงให้คุณเห็นถึงรอยแยกแตกร้าว หรือ ความไม่ลงรอยในองค์กรของคุณ ที่มักมีส่วนเชื่อมโยงกับสถานการณ์ที่เป็นจริงในขณะนั้น, และจุดอ่อนองค์กรของคุณก็ไม่อยู่ห่างจากรอยแยกแตกร้าวในองค์กรเช่นกัน เมื่อคุณต้องเผชิญกับวิกฤติซึ่งหน้ามักทำให้คุณพบว่าคุณคือใครกันแน่ ถ้าคุณยอมเรียนรู้สัจจะจากวิกฤตินั้น คุณก็จะเรียนรู้มากขึ้น เข้มแข็งมากขึ้น และสามารถนำฝ่าทะลุวิกฤติต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามาหาคุณและองค์กรได้

ในที่นี้คงต้องย้ำเตือนว่า เมื่อคุณต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติอย่าพยายามปกปิด ซ่อนเร้น หรือแม้แต่มองข้าม ทำเป็นมองไม่เห็นสัจจะที่มีอยู่ในวิกฤตินั้น แต่ก็เป็นความจริงด้วยว่า ในการที่คุณกำลัง “ปล้ำสู้” หรือ “คลุกตัว” อยู่ในวิกฤติอาจจะทำให้คุณมองไม่เห็นสัจจะความจริงจากวิกฤติด้วยเช่นกัน

วิกฤติทำให้ผู้คนหันหน้าเข้าหากัน

เป็นความจริงว่าวิกฤติอาจจะก่อให้เกิดการแบ่งแยกแตกร้าวในองค์กร แต่จะไม่ค่อยเกิดขึ้นในคริสตจักรหรือในองค์กรคริสเตียนที่มีพันธกิจที่ชัดเจนและมีระบบคุณค่าที่หยั่งรากลึกลงในความเชื่อ โดยทั่วไปแล้วสถานการณ์ที่ตกอยู่ในวิกฤติจะสามารถรวบรวมร้อยรัดให้คนในองค์กรเช่นนี้รวมตัวกันให้เกิดพลังแห่งความร่วมมือใหม่ๆ และมีจุดร่วมที่เข้มแข็งมากขึ้น ท่ามกลางวิกฤติผู้คนในองค์กรเช่นนี้จะมุ่งมั่นตั้งใจแสวงหาแนวทางในการเผชิญหน้าต่อสู้กับวิกฤติตามที่พวกตนเชื่อมั่นศรัทธา เพราะเหตุนี้เองที่การมีพันธกิจและนิมิตที่ชัดเจนจึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่ถ้านิมิตพร่ามัว พันธกิจสับสนวิกฤติจะกลับกลายเป็นตัวสร้างความโกลาหลวุ่นวาย ผู้คนในองค์กรจะเกิดความกลัวลาน ปกป้องตนเอง และแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย คริสตจักร และ องค์กรที่รู้จักตนเองว่า ตั้งอยู่ไปทำไม ตั้งอยู่เพื่ออะไร และรู้ว่าตนมุ่งหน้าไปสู่ทิศทางไหน ก็จะเกิดการมุ่งมั่นตั้งใจและทุ่มเทแก้ไขวิกฤติที่ต้นเหตุมากกว่าเดิม เมื่อต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติ สมาชิกคริสตจักร คนทำงานในองค์กรคริสเตียนจะร่วมไม้ร่วมมือ จับมือกันอย่างแข็งแรงมั่นคงเพื่อหาทางแก้ไข พลิกผันวิกฤติที่เผชิญให้เป็นโอกาสที่สร้างสรรใหม่ขององค์กรคริสเตียน หรือ คริสตจักรของตน วิกฤติท้าทายและเรียกร้องให้คนในองค์กรขับเคลื่อนร่วมกันเพื่อให้เกิดผลิตผลอย่างสร้างสรรค์ อาจจะต้องใช้เวลา น้ำอดน้ำทน และความทุ่มเท แต่คุ้มค่าที่จะฝ่าฟันผ่านทะลุวิกฤติที่พบ

วิกฤติให้โอกาสแก่คุณที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นในองค์กร หรือ คริสตจักรของคุณ

ไม่มีใครหรอกที่เลือกให้มีวิกฤติ แต่คุณใช้วิกฤติให้ก่อเกิดประโยชน์ได้ เหมือนสุขภาพของคนเรา บางคนที่ต้องเผชิญกับความทุกข์ยากลำบากจากความเจ็บป่วยที่สาหัสหรือเรื้อรัง ที่ผลักดันให้เขาจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการกิน การอยู่ และการดำรงชีพ แน่นอนครับมันไม่สนุกเลย แต่มันจะช่วยรักษาปกป้องชีวิตของเขา ทำให้เขามีสุขภาพที่ปกติดีขึ้น แข็งแรงยิ่งขึ้น และอาจจะมีช่วงชีวิตที่ยาวขึ้นอย่างมีคุณภาพ และนี่เป็นสัจจะความจริงสำหรับองค์กรคริสเตียน และ คริสตจักรด้วย

ตัวอย่างเช่น คริสตจักรที่ได้เอ่ยถึงข้างต้นที่เคยมีปัญหาศิษยาภิบาลมีกิ๊ก ต่อแต่นี้ไปชุมชนคริสตจักรนี้ก็จะมีความระมัดระวังให้มีความสัตย์ซื่อจริงใจในความสัมพันธ์มากยิ่งขึ้น เพราะเขารู้อยู่แก่ใจว่าเรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นได้กับแต่ละคน ไม่เลือกว่าจะเป็นศิษยาภิบาลหรือไม่ และชุมชนคริสตจักรระมัดระวังอย่างจริงจังในเรื่องนี้ไม่ให้เกิดแก่คนใดคนหนึ่งอีก คริสตจักรคงต้องเอาใจใส่ที่ศิษยาภิบาลให้มีวันพักผ่อนและมีเวลาอยู่ร่วมกับครอบครัว สอดส่องดูแลเอาใจใส่เมื่อพบอาการบ่งเหตุต้องรีบหาทางช่วยเหลือเยียวยาแก้ไขทันที สมาชิกยุคนี้ต้องอภิบาลศิษยาภิบาลครับ ลูกน้องต้องเอาใจใส่อภิบาลชีวิตผู้นำองค์กรคริสเตียนครับ

ส่วนเรื่องคริสตจักรที่งบประมาณหดหายเม็ดเงินไม่พอ ก็ต้องรู้เท่าทันถึงต้นสายปลายเหตุว่านั่นเป็นอาการของวิกฤติมิใช่สาเหตุของวิกฤติ คณะธรรมกิจคริสตจักร ศิษยาภิบาล ผู้อำนวยการองค์กร กรรมการอำนวยการอย่ารีบด่วนกระโจนลงไปลดเงินเดือน ลดคน ตัดกิจกรรม งดพันธกิจ แต่ให้มุ่งมองหาสัจจะที่ได้จากวิกฤติ และแก้ไขวิกฤติที่ต้นเหตุ อย่างกรณีคริสตจักรนี้ที่เป็นอุทาหรณ์ คงต้องใช้เวลาในการเยียวยาบาดแผลชีวิตในคริสตจักร และร่วมกันสร้างเสริมศรัทธาขึ้นใหม่ในชุนชนแห่งนี้อีกครั้งหนึ่ง

21 ตุลาคม 2554

ตายเพราะประชุม!

วงการคริสตจักรในประเทศไทยดูจะหนีไม่พ้นการประชุมนานาชนิด นานากรรมการ ยิ่งในวงการสภาคริสตจักรในประเทศไทยด้วยแล้ว การประชุมดูจะเป็นอาชีพหลัก มีผู้ที่ผมเคารพนับถือท่านหนึ่งกล่าวกับผมว่า ถ้ารับเงินเดือนตามเบี้ยประชุมก็คงจะได้มากกว่าเงินเดือนที่ได้รับปกติเป็นแน่? และทางแก้ไขให้มีการประชุมน้อยลงก็โดยการบังคับให้ทุกการประชุมจะต้องจ่ายเบี้ยประชุม เพื่อว่าองค์กร สถาบันต่างๆ จะมีการประชุมน้อยลง เพราะหมดงบประมาณเบี้ยประชุม! เพื่อพวกเราจะไม่ต้องมาตายเพราะการประชุม?

ในใจลึกๆ ของคนที่จะต้องเข้าร่วมประชุมต่างๆ มักรู้สึกหงุดหงิดว่าน่าจะจัดการประชุมให้มันดีกว่านี้ ให้มีน้ำมีเนื้อสมค่าเวลาที่ใช้ไป ในที่นี้รวมถึงการเข้าร่วมประชุมธรรมกิจคริสตจักร ประชุมคณะผู้ปกครองคริสตจักร กรรมการนมัสการ คณะมัคนายก และการประชุมกรรมการต่างๆ ในคริสตจักร และก็ไม่เว้นการประชุมกรรมการอำนวยการสารพัดอำนวยการ ประเด็นหลักที่ผู้เข้าร่วมการประชุมรู้สึกเหมือนกันคือ "การประชุมน่าเบื่อหน่าย" และประเด็นที่สองคือ "ดำเนินการประชุมไร้ประสิทธิภาพ"

Patrick Lencioni ท่านเป็นกูรูในการให้การปรึกษาทางด้านธุรกิจ เขียนหนังสือขายดีไว้หลายเล่ม หนังสือเล่มหนึ่งที่ท่านเขียนเกี่ยวกับการประชุมชื่อ Death by Meeting (2004) หนังสือเล่มนี้มีประเด็นที่น่าสนใจมาก ท่านกล่าวว่า ที่การประชุมมันน่าเบื่อหน่ายก็เพราะว่าในการประชุมครั้งนั้นขาดเรื่องราวที่น่าทึ่งน่าสนใจ ขาดส่วนที่เป็นชีวิตความเป็นความตาย (Drama)ในเรื่องที่กำลังประชุม และที่การประชุมด้อยซึ่งประสิทธิภาพ เพราะขาดบริบทสภาพแวดล้อมที่ช่วยให้เข้าใจความหมาย (contextual structure) ของเรื่องที่นำเข้ามาพิจารณาในที่ประชุม

การประชุมขาดส่วนที่เป็นชีวิต ความเป็นความตาย (Drama)

เวลาที่เราชมภาพยนตร์เราสนใจมากเพราะเรื่องราวในภาพยนตร์เป็นเรื่องของความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์จริงหรือเป็นเรื่องที่จินตนาการขึ้นก็ตาม จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเราหรือไม่ก็ตาม เป็นเรื่องในวรรณคดี หรือ เรื่องสะเทือนอารมณ์ แต่การประชุมเป็นไปในทางตรงกันข้ามเลยน่าเบื่อเพราะ "ผู้นำการประชุมส่วนใหญ่จะขจัดและตัดเอาส่วนที่เป็นชีวิต ความเป็นความตายในเนื้อหาการประชุมออกไปหรือให้เหลือน้อยที่สุด และพยายามทุกหนทางที่จะไม่ให้เกิดการขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์ในการประชุมนั้น กูรูทางการบริหารธุรกิจท่านนี้ได้กระตุ้นหนุนเสริมให้ผู้นำการประชุมใส่ชีวิต และ ความเป็นความตายของเรื่องที่พิจารณาในการประชุมนั้นเข้าไปตั้งแต่เริ่มต้นการประชุม การกระทำเช่นนี้ไม่จำเป็นจะต้องอาศัยเวทีเพื่อการแสดง เพียงพยายามที่จะแสดงให้ผู้เข้าร่วมการประชุมเห็นว่า เขากำลังจะปรึกษาและพิจารณาในเรื่องที่สำคัญยิ่ง เป็นเรื่องความเป็นความตาย ดังนั้นความคิดเห็นของทุกท่านสำคัญยิ่งในเรื่องนี้

สำคัญยิ่งกว่านั้น ท่านเตือนผู้นำการประชุมที่พยายามนำให้ที่ประชุมหลีกเลี่ยงจากการถกเถียงกัน และ การไม่เห็นด้วยกันว่า ในฐานะที่ท่านได้มีโอกาสมากมายร่วมในการประชุม และตัวท่านเองได้นำการประชุมมากมายหลายครั้ง ท่านยืนยันว่าการกระทำเช่นนั้นอันตรายอย่างยิ่งต่อการประชุม คนส่วนมากแล้วไม่ชอบความขัดแย้ง ดังนั้น เราจึงตั้งภาพในสมองของเราว่า การประชุมที่ดีคือการประชุมที่ทุกเรื่องได้รับการรับรองอย่างรวดเร็วและเสร็จการประชุมตามเวลาที่กำหนด

เราท่านเห็นเป็นประจำ ที่ผู้นำการประชุมในคริสตจักรมีความตั้งใจทำให้การประชุมน่าเบื่อหน่าย(จะด้วยการรู้ตัวตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) เหนือสิ่งอื่นใด ผู้นำการประชุมไม่ต้องการมีภาระที่หนักขึ้น ดังนั้น เขาพยายามนำเสนอโครงงานแผนงานแบบที่ไม่ต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์จากคนที่มาร่วมประชุม ดังนั้น ครั้งแล้วครั้งเล่าที่ผู้นำคริสตจักรที่เข้าร่วมในการประชุมจึงรู้สึกเบื่อหน่าย ไม่มีอะไรเกิดขึ้นในการประชุม และถ้ามี "ผู้กล้าหาญ" ในที่ประชุมยกประเด็นที่แหลมคมในเรื่องนั้นขึ้นมา ท่านผู้นำการประชุมที่ดี? ก็จะรู้ว่าจะเฉไฉลื่นไหล หรือ หลีกเลี่ยงไม่ให้มีการอภิปรายในเรื่องนั้น Lencioni กล่าวว่า "การหลีกเลี่ยงการอภิปรายนอกจากที่จะทำให้ไม่ได้รับประโยชน์จากการถกเถียงกัน และ การแสดงความไม่เห็นด้วยกันและยังจะทำให้การประชุมน่าเบื่อหน่ายด้วย และรับรองได้เลยว่าประเด็นปัญหาหาที่ยกมาประชุมจะไม่ได้รับการแก้ไขหรือดำเนินการ

แต่บางท่านอาจจะกล่าวว่า "ถ้าปล่อยให้มีการถกเถียงกันอย่างมากมายเต็มที่ การประชุมของเราก็จะไม่จบ มันจะไม่เป็นการปล่อยให้มีการถกเถียงนอกประเด็นสารพัดเรื่องหรือ? สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นแน่นอนถ้าผู้นำการประชุมให้ความสนใจในประเด็นปัญหาที่สอง

ขาดบริบทสภาพแวดล้อมที่ช่วยให้เข้าใจความหมายของเรื่องที่นำเข้ามาพิจารณา

การประชุมส่วนใหญ่ของเราบรรลุผลเพียงเล็กน้อยเพราะ เราไม่แน่ใจว่าเราพยายามที่จะบรรลุเรื่องอะไรในการประชุม มันมิใช่เพราะว่าเรามีหลายประชุม แต่เป็นเพราะเราพยายามที่จะทำจะพิจารณาหลายเรื่องในการประชุมครั้งเดียว ในตอนท้าย Lencioni ได้เขียนไว้ว่า การประชุมจะมีการตัดสินใจเพียงเล็กน้อย ทั้งนี้ก็เพราะว่าผู้เข้าร่วมประชุมไม่แน่ชัดว่า เขาจะต้องทำอะไรกันแน่ เขาถูกคาดหวังให้พิจารณา อภิปราย ถกเถียง หรือลงคะแนน หรือการระดมความคิด ช่วยประเมิน หรือต้องการให้เขาเป็นเพียงผู้ฟังเท่านั้น

พูดไปพูดมาก็เข้าตัวเอง ผู้เขียนก็เคยนำการประชุมแบบนี้หลายครั้ง ที่มิได้ให้ความชัดเจนของสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นจากการประชุมในเรื่องนั้น และก็มิได้ให้ข้อมูลสภาพแวดล้อมในเรื่องนั้นชัดเจนพอที่ผู้เข้าร่วมประชุมจะรู้ว่าตนจะต้องทำบทบาทอะไรในเรื่องนั้น เรื่องสำคัญถูกผ่านเลยไป เรื่องที่ต้องตัดสินใจไม่ได้รับการตัดสินใจ เรื่องที่ควรมีการประเมินร่วมกันกลับมิได้มีการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบพอเพียง ปัญหาก็คือพวกเราส่วนใหญ่พยายามทำทุกเรื่องในการประชุมครั้งเดียว ไม่ว่าเรื่องงานประจำ ปัญหาวิกฤติเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไข แผนยุทธศาสตร์ระยะยาว ฝันถึงอนาคต เป็นไปไม่ได้ครับที่จะประชุมให้เกิดผลในครั้งเดียว

Lencioni เสนอให้มีการประชุมประจำ 4 ประเภท(สามารถประยุกต์)สำหรับองค์กรและคริสตจักรใหญ่ไว้ในหนังสือของเขา เพื่อให้การประชุมเป็นสิ่งที่ช่วยให้เกิดการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพ และเกิดความชื่นชมยินดีในการประชุมดังนี้

• การประชุมประจำวันสำหรับการประสานงานที่ทำในแต่ละวัน
• การประชุมประจำสัปดาห์เพื่อวางแผนงานการขับเคลื่อน ปัญหาที่ประสบและได้รับการแก้ไข
• การประชุมประจำเดือนพื่อพิจารณายุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานและมีการวิเคราะห์งาน 1-2 เรื่องใหญ่
• การประชุมประจำไตรมาส เพื่อทบทวนลำดับงานสำคัญที่จะต้องดำเนินการ ทบทวนการพัฒนาเอกภาพของทีมงาน

สำหรับคริสตจักรแล้วคงไม่จำเป็นจะต้องดำเนินการเต็มอย่างที่เสนอ สามารถเลือกในวิธีการที่จำเป็นเหมาะสมสอดคล้องกับธรรมชาติของคริสตจักร เราจำเป็นจะต้องมีเวลาประจำแน่นอนในการเอาใจใส่กิจการงานปกติ และจะต้องมีเวลาอื่นๆ มากขึ้นในการดูแลเอาใจใส่งานพันธกิจในภาพรวม แต่เราไม่สามารถทำทั้งสองรายการใหญ่ในการประชุมธรรมกิจ

อย่างไรก็ตามผมเองก็ตระหนักอยู่ว่า การบริหารจัดการชีวิตและจิตวิญญาณของคน กับ การบริหารจัดการธุรกิจ การผลิต และต้นทุนนั้นแตกต่างกันอย่างยิ่ง ดังนั้น เราคงไม่สามารถทำตามแนวทางของธุรกิจได้ทั้งหมด แต่ในการประชุมแต่ละครั้งควรจะเป็นโอกาสสำหรับคณะกรรมการที่จะพิจารณาอย่างจริงจังถ้วนถี่ถึงเรื่องสำคัญต่างๆ ในประเด็นที่เกี่ยวกับชีวิตและพันธกิจคริสตจักร ให้มีการถกเถียง ทบทวน เจาะลึกลงในบริบทที่เป็นจริงของเรื่องนั้น ทุกเรื่องทุกประเด็นย่อมมีความสำคัญแม้ไม่เท่ากันก็ตาม แต่จะทำอย่างไรที่การประชุมจะช่วยให้การตัดสินใจเลือก การลงมือทำ เลือกวิธีทำมีผลต่อการเสริมสร้างชีวิตของคริสตจักรและผู้คนอย่างมีประสิทธิภาพ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
เรียบเรียงและสะท้อนคิดจากบทความของ Kevin DeYoung เรื่อง Death by Meeting

20 ตุลาคม 2554

คุณรู้แล้วมิใช่หรือว่ามันเป็นงูพิษ

ในรายการวิทยุของ Howard E. Butt, Jr. เมื่อไม่นานมานี้ได้เล่าเรื่องที่น่าสนใจมากเรื่องหนึ่งครับ

ชายคนหนึ่งขณะกำลังไต่เขาสูงชันได้พบกับงูพิษตัวหนึ่ง ดูท่าทางเชื่อง ทำทีเป็นมิตร และขอความช่วยเหลือจากชายคนนี้ให้นำมันขึ้นไปที่ยอดเขาด้วย ชายคนนี้พูดออกมาด้วยสำนึกจากก้นบึ้งความคิดว่า

"แต่คุณเป็นงูพิษนี่"

งูตอบชายคนนี้ทันควันว่า "อย่ากังวลเลยครับท่าน ผมไม่กัดท่านหรอก"

หลังจากการตรากตรำปีนเขาสูงชันด้วยความอุตสาหะ เขาและงูตัวนั้นก็ถึงยอดเขา ทันทียังไม่ทันตั้งตัวงูพิษตัวนั้นก็ฉกกัดชายคนนั้น เมื่อเขาล้มลงบนพื้นด้วยพิษงู เขาร้องต่อว่างูตัวนั้นว่า

"ไหนเอ็งว่า จะไม่กัดข้าไม่ใช่หรือ"

เจ้าสัตว์เลื้อยคลานเจ้าเล่ห์ตัวนั้นที่อาศัยชายคนนี้ขึ้นมาบนยอดเขากล่าวกับเขาด้วยน้ำเสียงเย้ยหยันว่า

"ฮา... เมื่อท่านนำข้าขึ้นมาที่นี่ ท่านไม่รู้หรือว่าข้าคืองูพิษ"

ในชีวิตประจำวันของเรามักมีการทดลองหรือล่อลวงให้เรารับข้อเสนอหรือทำในสิ่งที่เรารู้อยู่กะใจว่าไม่ควรทำไม่ควรเข้าไปมีส่วน แน่นอนครับถ้าคุณไว้ใจ "งูพิษ" คุณก็จะถูกมันกัดเมื่อถึงจุดที่มันได้ที เป็นไปไม่ได้ที่คุณจะทำงาน ดำเนินชีวิต หรือแม้แต่บริหารจัดการงานใดๆ ในชีวิตกับคนข้างเคียงกาย คนสนิทชิดเชื้อที่มีความคิด ทัศนคติ ท่าทีที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความเชื่อศรัทธาในพระเจ้า และไปคาดหวังลมๆ แล้งๆ ว่าจะได้รับผลดี... ทุกครั้งที่ตกอยู่ท่ามกลางมิตรที่หว่านล้อม สถานการณ์ที่เอื้อจะให้ผลประโยชน์ที่ดู “รื่นรมย์” โปรด "หยุด" และสงบ ยอมฟังเสียงการทรงเรียกอีกครั้งหนึ่งในเวลานั้น

อย่าให้อิทธิพลอำนาจแห่งความชั่ว ที่มาในคราบของคนใกล้ชิด มิตรสนิทนำพาคุณไปในทางที่ผิด "อย่าให้ใครชักจูงให้หลงผิดเลย "เพื่อนเลวย่อมทำให้อุปนิสัยที่ดีเสื่อมทรามไป" จงกลับมีสติสัมปชัญญะอย่างที่ควรเถิดและเลิกทำบาป..."(1โครินธ์ 15:33-34 อมตธรรม)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
เรียบเรียงและสะท้อนคิดจากรายการวิทยุของ Howard E. Butt, Jr. เรื่อง You Knew It Was a Snake

19 ตุลาคม 2554

เสียงท้าทายผู้นำคริสเตียนยุคนี้

พระองค์ตรัสกับเหล่าสาวกของพระองค์ว่า
“จงระวังพวกธรรมาจารย์
พวกเขาชอบใส่เสื้อชุดยาวเดินไปมา
ชอบให้ผู้คนมาคำนับทักทายในย่านตลาด
ชอบนั่งในที่สำคัญที่สุดในธรรมศาลา และ
ที่นั่งอันทรงเกียรติในงานเลี้ยง

เขาริบบ้านของหญิงม่าย
และแสร้งอธิษฐานยืดยาวให้คนเห็น
คนเช่นนี้จะถูกลงโทษอย่างหนักที่สุด
(ลูกา 20:45-47 อมตธรรม)

คำวิพากษ์ของพระเยซูต่อพวกธรรมาจารย์ผู้นำศาสนายิวในตอนนี้เกิดขึ้นหลังจากที่พระองค์ตอบคำถามของพวกสะดูสีที่ไม่เชื่อเรื่องการเป็นขึ้นมาจากความตาย พวกเขาถามเพื่อคาดหวังจะต้อนให้พระองค์จนมุม หรือไม่ถ้ามีช่องโหว่ในการตอบก็จะใช้ในการโจมตีพระองค์ จากการตอบคำถามของพระเยซูคริสต์เรื่องการเป็นขึ้นจากความตายทำให้พวกธรรมาจารย์ที่เชื่อเรื่องการเป็นขึ้นจากความตายสะใจเป็นอย่างยิ่ง โดยทำทีกล่าวชมเชยพระเยซูว่า “ท่านอาจารย์ ท่านพูดดีแล้ว” เพื่อเป็นการสมน้ำหน้าพวกสะดูสี และทำทีเป็นฝ่ายพระเยซู เพราะไม่มีใครกล้าทูลถามพระองค์อีก(ข้อ 39)

พระเยซูตอบคำถามเรื่องการเป็นขึ้นจากความตายของพวกสะดูสี แล้วทำไมต้องวกกลับมาวิพากษ์พวกธรรมาจารย์และฟาริสีด้วยล่ะ?

แท้จริงแล้ว พวกฟาริสีและพวกธรรมาจารย์ต่างก็จ้องคอยจับผิดในสิ่งที่พระเยซูตอบพระเยซูสอน เพื่อใช้เป็นเหตุโจมตีและฟ้องเอาผิดพระองค์ แต่เมื่อพระองค์ตอบคำถามสะดูสีได้ชัดเจนจนไม่สามารถโต้แย้งได้ พวกธรรมาจารย์จึงรีบฉวยโอกาสยืนเคียงข้าง “ผู้ชนะ” เพื่อตนจะเป็นฝ่ายชนะบ้าง และทำทีญาติดีกับพระเยซูเพื่อต้องการให้ประชาชนชื่นชอบยอมรับพวกตนด้วย และต้องการประกาศว่าตนก็มีความเชื่อที่ถูกต้องตามที่พระเยซูคริสต์ตอบด้วย พวกเขาทำตัวไม่ผิดจากคำบริภาษของพระเยซูที่เรียกพวกเขาว่า “คนหน้าซื่อใจคด”

พระเยซูคริสต์ไม่ปล่อยให้พวกฟาริสีและธรรมาจารย์ฉกฉวยโอกาสสร้างความน่านับถือแก่ตนเอง อีกทั้งไม่ต้องการให้พวกสาวกคล้อยเชื่อตามพฤติกรรมที่แสดงออกอย่างหน้าซื่อใจคนของพวกเขา และนี่คือที่มาของการที่พระเยซูคริสต์วิพากษ์ผู้นำศาสนาเพื่อเตือนให้สาวกต้องระมัดระวังผู้นำกลุ่มนี้

สิ่งที่พระเยซูเตือนให้สาวกระวังเกี่ยวกับการทำตัวของพวกฟาริสีและธรรมาจารย์คือ การทำตัวให้ผู้คนยอมรับ นับถือ พยายามทำทุกหนทางที่จะให้ผู้คนให้เกียรติ และสร้างความสำคัญให้แก่ตนเอง ด้วยการแต่งตัวที่มีชุดเฉพาะเพื่อสร้างความแตกต่าง และเสริมคุณค่าน่าเชื่อถือ เพื่อตนจะเป็นคนพิเศษ หรือสร้างความมั่นใจและภูมิใจแก่ตนเองด้วยชุดพิเศษที่ตนสวมใส่

ผู้นำกลุ่มนี้ต้องการผู้คนคอยให้การเคารพกราบไหว้ในที่สาธารณะ ในตลาดร้านค้า ปัจจุบันก็คงหนีไม่พ้นในเดอะมอล์ ในห้างสรรพสินค้า ในร้านอาหารหรูหรา ในงานเลี้ยงที่มีแขกสำคัญมากมาย นอกจากที่ต้องการรับการยกย่องให้เกียรติและแสดงความเคารพนับถือจากคนต่างๆ เหล่านั้นแล้ว ยังเป็นการประกาศหรือแสดงให้คนที่พบเห็นรับรู้ว่าตนเองนั้นสำคัญ

เก้าอี้ที่นั่งเป็นเรื่องสำคัญของผู้นำกลุ่มนี้ เพราะพวกนี้ติดยึดกับฐานะตำแหน่ง ยศศักดิ์ ชื่อเสียง ดังนั้นการนั่งที่ไหนก็เป็นการบ่งบอกถึงความสำคัญของผู้นั่งด้วย

พระเยซูคริสต์ชี้ชัดว่า ผู้นำเหล่านี้ต้องการสร้างคุณค่าความสำคัญให้แก่ตนเอง เขาคาดหวังผู้คนจะให้เกียรติและความสำคัญแก่เขาในที่สาธารณะ อีกประการหนึ่ง ผู้นำศาสนากลุ่มนี้ใช้สิทธิอำนาจในการประกอบ ศาสนพิธีเพื่อเสริมสร้างอำนาจและบารมีแก่ตนเอง สร้างความชอบธรรม บริสุทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์แก่ตนเอง

การที่ผู้นำกลุ่มนี้พยายามทำทุกหนทางเพื่อให้ได้รับการยอมรับนับถือ เพื่อได้รับเกียรติ และคุณค่าก็เพราะตนรู้อยู่กับใจว่า ชีวิตของตนเองไม่สมควรเหมาะสมที่จะมีเกียรติ การยอมรับนับถือ และคุณค่าบารมีเลย เพราะเบื้องหลังชีวิตของตนในแต่ละวันนั้นฉ้อฉล หลอกลวง โลภอยากได้ใคร่มี ทำทุกอย่างเพื่อได้สิ่งที่ตนต้องการ ทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่าอะไรควรอะไรไม่ควร อะไรผิดอะไรถูก แต่ก็เลือกและตัดสินใจทำในสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควร เพียงเพราะมันมีโอกาส เพียงเพราะใจมันปรารถนา มิใยที่คนใกล้ชิด ลิ่วล้อก็ร่วมหนุนเสริม หรือลุยไปตามน้ำตามกระแส

พระเยซูบอกว่าผู้นำกลุ่มนี้จะถูกลงโทษอย่างหนักที่สุด

พระเยซูคริสต์ไม่ต้องการให้เชื้อของผู้นำแบบนี้แปดเปื้อนและติดต่อมายังสาวก

แต่ไม่ทราบว่าในวงการคริสตจักรของเรามีผู้นำแบบนี้หรือไม่หนอ? ถ้ามี จะทำอย่างไรที่จะไม่ทำให้ผู้เชื่อในคริสตจักรต้องรับการแปดเปื้อนรับเชื้อโรคนี้จากผู้นำประเภทนี้?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่

17 ตุลาคม 2554

นิมิตเปลี่ยน... ชีวิตเปลี่ยน

อ่านใคร่ครวญ กิจการ 26:9-15; 19-20

ครั้งที่เปาโลไปที่กรุงเยรูซาเล็มรายงานถึงพันธกิจที่ตนได้กระทำแก่อัครทูต(กิจการบทที่ 21) ต่อมาถูกพวกยิวลุกฮือขึ้นจับที่พระวิหาร(บทที่ 22) เมื่อฝูงชนไม่ยอมให้เปาโลพูดและตะโกนว่า “กำจัดเขาเสียจากแผ่นดิน” พวกยิวถอดเสื้อคลุมแล้วซัดฝุ่นขึ้นในอากาศ นายพันจึงนำกองกำลังทหารโรมันเข้านำเปาโลเข้าไปในกองทหาร และสั่งเฆี่ยนเปาโล เปาโลกล่าวเรียกร้องสิทธิในการเป็นสัญชาติโรมัน ทำให้การเฆี่ยนยุติ เพียงถูกล่ามในฐานะคนสัญชาติโรมมันเท่านั้น วันรุ่งขึ้นเปาโลถูกนำไปไต่สวนในสภาซันเฮดริน (บบที่ 23) การไต่สวนนำไปสู่การโกลาหล เกิดการถกเถียงกันดุเดือด นายพันเห็นท่าไม่ปลอดภัยจึงให้กองกำลังทหารใช้กำลังเข้าไปแย่งตัวเปาโลไปเก็บไว้ในกองทหาร พวกยิววางแผนฆ่าเปาโล โดยมีกลุ่มคนยิวสาบานว่าจะไม่ยอมกินและดื่มจนกว่าได้ฆ่าเปาโล แผนสังหารเปาโลล่วงรู้ถึงบุตรชายน้องสาวของเปาโล เขาจึงนำเรื่องนี้ไปแจ้งแก่เปาโลและทางกองทัพ ในคืนนั้นนายพันจัดกองกำลังทหารคุ้มกันจำนวนสองร้อยนาย พลม้าเจ็ดสิบนาย เพื่อคุ้มกันส่งตัวเปาโลไปยังเมืองซีซาเรยา

ต่อมามีการไต่สวนเปาโลต่อหน้าเฟลิกส์(บทที่ 24) ไต่สวนต่อหน้าเฟสทัส(บทที่ 25) และเมื่อกษัตริย์อากริปปามาเยี่ยมเฟสทัส จึงจัดให้มีการไต่สวนต่อหน้ากษัตริย์อากริปปา(บทที่ 26) ในการแก้ต่างของเปาโลต่อหน้ากษัตริย์อากริปปา เปาโลได้เล่าถึงประสบการณ์ชีวิตของตนว่า

“ข้าพระบาทเองก็เคยเชื่อว่าควรทำทุกวิถีทางเท่าที่เป็นไปได้เพื่อต่อต้านพระนามของพระเยซูแห่งนาซาเร็ธ... ข้าพระบาทได้จับประชากรของพระเจ้าหลายคนเข้าคุก โดยอาศัยสิทธิอำนาจของพวกหัวหน้าปุโรหิต และเมื่อพวกเขาถูกฆ่าข้าพระบาทก็เห็นดีด้วย...(กิจการ 26:9-11 อมตธรรม)

“ในการเดินทางคราวหนึ่ง ข้าพระบาทกำลังจะไปยังเมืองดามัสกัส (เพื่อจับพวกที่ศรัทธาในพระเยซู) โดยได้รับสิทธิอำนาจและการมอบหมายจากพวกหัวหน้าปุโรหิต...ประมาณเที่ยงวัน ขณะอยู่ระหว่างทางข้าพระบาทเห็นแสงไฟจากฟ้าสวรรค์...พวกข้าพระบาทล้มลงกับพื้น และ...ได้ยินเสียงหนึ่งพูดกับข้าพระบาท...ว่า

“เซาโล เซาโลเอ๋ย เจ้าข่มเหงเราทำไม เป็นการยากที่เจ้าจะขัดขืนความประสงค์ของเรา”

“พระองค์เจ้าข้า พระองค์ทรงเป็นผู้ใด” ข้าพเจ้าถาม

“เราคือเยซูที่เจ้าข่มเหง” มีเสียงว่า “...ลุกขึ้น...เราได้ปรากฏแก่เจ้าก็เพื่อแต่งตั้งเจ้าเป็นผู้รับใช้และเป็นพยานถึงสิ่งที่เจ้าได้เห็นเกี่ยวกับเรา และ สิ่งที่เราจะสำแดงแก่เจ้า...” (ข้อ12-18 อมตธรรม)

“นับแต่นั้น... ข้าพระบาทจึงไม่ขัดขืนต่อ นิมิต จากสวรรค์นั้น เริ่มแรกข้าพระบาทประกาศแก่คนทั้งหลายในเมืองดามัสกัส จากนั้นแก่คนทั้งหลายในกรุงเยรูซาเล็ม และทั่วแว่นแคว้นยูเดีย และชาวต่างชาติด้วย ข้าพระบาทประกาศว่าพวกเขาควรกลับใจใหม่ หันมาหาพระเจ้า และพิสูจน์การกลับใจใหม่ด้วยการกระทำของตน (ข้อ 19-20 อมตธรรม)

ตลอดชีวิตในช่วงต้นของเซาโล เขาถูกหล่อหลอม บ่มเพาะ และเสริมสร้างให้มี นิมิต ว่า กระบวนการของเยซูชาวนาซาเร็ธเป็นพิษเป็นภัยต่อความมั่นคงในคำสอน ศาสนา และบทพระธรรมบัญญัติของยิว และเป็นการบ่อนทำลายอย่างรุนแรงต่อความเชื่อศรัทธาในพระยาเวห์อย่างยิ่ง ดังนั้น ไม่มีสิ่งอื่นใดที่เขาจะปกป้องศาสนาที่เขาเชื่อศรัทธาไว้ได้นอกจากการทำลายล้างพวกสาวกของพระเยซูชาวนาซาเร็ธ(ฝ่ายตรงกันข้าม)ให้สิ้นซาก

บนเส้นทางสู่กรุงดามัสกัสด้วยความตั้งใจที่ฮึกเหิม ด้วยความมั่นใจในสิทธิอำนาจที่ได้รับจากหัวหน้าปุโรหิตของยิว เขาและสมัครพรรคพวกมุ่งหน้าไปเพื่อทำลายล้างเสี้ยนหนามของศาสนาด้วยการอุทิศสิ้นทั้งกำลังกาย กำลังใจ และสิ้นสุดสติปัญญาด้วยความอดทน

แต่บนเส้นทางนั้นเอง เซาโลได้รับ นิมิต ใหม่ นิมิตจากพระเยซูคริสต์ที่เขาตั้งหน้าตั้งตาที่ทำลายให้สิ้นซาก

นิมิตใหม่นี้เองมิเพียงแต่จะเปลี่ยน “มุมมอง” “สัจจะความจริง” ที่เขายึดถือในชีวิต แต่ได้เปลี่ยนทั้งชีวิตของเขาจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากผู้ทำลายล้างสู่การประกาศเผยแพร่ให้ขยายแผ่กว้างออกไป จากฐานะตำแหน่งและเป็นคนที่ผู้มีอำนาจของยิวไว้วางใจกลับกลายเป็น “ผู้ก่อการร้าย” ที่ผู้มีอำนาจต้องการตัวเพื่อหยุดกระบวนการของเขาและกำจัดเสีย แต่เซาโลไม่กลัว ไม่ท้อแท้กลับกระจาย ขยาย ความเชื่อศรัทธานี้ลุกลามแผ่กว้างอย่างไม่หยุดยั้ง

นิมิตเปลี่ยน... ชีวิตเปลี่ยน

นิมิตที่แท้จริงมีพลังเปลี่ยนแปลงวิธีคิด วิธีมอง และเปลี่ยนทั้งชีวิตคน

เมื่อคนเราเปลี่ยน นิมิต นิมิตใหม่จะมีพลัง ดังนี้

  • นิมิตหยุดความเป็นตัวตนของคนๆ นั้น เปลี่ยนคนๆ นั้น นิมิตใหม่ทำให้คนๆ นั้นต้องกลับมามองตนเอง มองตนเองด้วยสายตาใหม่ ด้วยมุมมองใหม่ ด้วยระบบคุณค่าและความหมายใหม่ในชีวิต
  • นิมิตใหม่กระตุ้นให้เราทำตามนิมิตใหม่นั้น นิมิตทำให้เราต้องมุ่งมองและสนใจคนอื่น และนิมิตนั้นกระตุ้นให้เรารู้สึกว่าเราต้องกระทำต่อคนอื่นตามนิมิตใหม่นั้น
  • นิมิตใหม่หนุนเสริมเรา ให้เรามีพลังขับเคลื่อนอย่างไม่หยุดหย่อน แม้เราจะขาดแหล่งทรัพยากร หรือ การหนุนช่วยเหลือที่ควรจะมี
  • นิมิตใหม่ค้ำจุน ให้เกิดความเชื่อมั่นที่จะยืนหยัดด้วยความมั่นใจไม่ว่าด้วยการพูด หรือการสำแดงด้วยความเมตตา
  • นิมิตใหม่ทำให้เกิดความสุขและชื่นชมในชีวิต ด้วยการที่ยอมเชื่อฟังและลงมือกระทำตามนิมิตใหม่นั้น กระทำให้เราเกิดความสุขใจและความชื่นชมในชีวิต ไม่ว่าอะไรจะเกิดแก่ชีวิตของเราก็ตาม
ถ้านิมิตใหม่นี้หยั่งรากบนพระประสงค์ของพระเจ้าเราไม่อาจจะจะขัดขืนได้ (ข้อ 19 อมตธรรม)


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่

14 ตุลาคม 2554

อิทธิพลที่นำผู้นำ

อ่านปฐมกาล 13:14-18


เมื่อพูดถึงผู้นำที่ผู้คนยกย่องยอมรับ เรามักคิดถึงผู้นำที่มี “วิสัยทัศน์” หรือ ในพระคัมภีร์เราหมายถึงผู้นำที่มี “นิมิต” ที่จะนำองค์กร หรือชุมชนไปในทิศทางที่สร้างสรรค์ หนุนเกื้อความเจริญ เข้มแข็ง และความเติบโตขององค์กรชุมชน และนำไปสู่เป้าหมายปลายทางที่เสริมสร้างคุณค่า ความหมาย ที่อยู่เหนือและมากกว่า ตนเอง ครอบครัว และพรรคพวก กล่าวคือมุ่งที่จะนำชุมชนองค์กรจาริกไปบนเส้นทางที่นำไปสู่ “พระประสงค์ของพระเจ้า”

บทเรียนวิกฤติในคาราวานของอับรามและโลทที่เกิดการแย่งชิง “พื้นที่ทำมาหากิน” ในที่นี้หมายถึงทุ่งหญ้าสำหรับปศุสัตว์สำหรับคาราวานใหญ่ของทั้งอับรามและโลท จนถึงขั้นเกิดการทะเลาะขัดแย้งกันรุนแรง ทั้งอับรามและโลทในฐานะผู้นำคาราวานปรึกษาหาทางแก้ไขวิกฤติขัดแย้งที่เกิดขึ้น โดยอับรามเป็นฝ่ายริเริ่ม ต่างก็เห็นว่าทางที่ดีของการแก้ไขวิกฤตินี้คือ การขยายพื้นที่ทุ่งหญ้าสำหรับปศุสัตว์ของทั้งสองฝ่ายด้วยการแยกคาราวานทั้งสองออกจากกัน ต่างฝ่ายต่างแสวงหาและเลือกพื้นที่ทำมาหากินสำหรับคาราวานของตน โดยอับรามให้โอกาสแก่โลทในการเลือกก่อน

การตัดสินใจในภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นนี้เป็นเครื่องชี้วัด “กึ๋นภาวะผู้นำ” ของทั้งอับราฮัมและโลท
เป้าหมายชัดเจนของการแก้ไขวิกฤติในครั้งนี้เป็นตัวชี้ชัดถึงอิทธิพลที่ซ่อนเร้นภายในตัวผู้นำ กล่าวคือ“มุมมอง” หรือ “วิสัยทัศน์” ของผู้นำที่มีอิทธิพลต่อภาวะผู้นำ และการนำของเขา ซึ่งจะมีผลกระทบโดยตรงต่อองค์กรและชุมชนที่เขานำ

โลท เมื่อต้องแก้วิกฤติขัดแย้งครั้งนี้ อิทธิพลของมุมมอง หรือ วิสัยทัศน์ของเขาในการตัดสินใจเลือกคือ เลือกหาพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ ที่มีความเจริญก้าวหน้า ทันสมัย ที่จะทำให้ตนประสบกับความรุ่งโรจน์ สำเร็จในชีวิต

“โลทเงยหน้าขึ้นมองดูรอบๆ และเห็นว่าที่ราบลุ่มแม่น้ำจอร์แดนทั้งหมดตามทิศที่จะไปเมืองโศอาร์นั้นมีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ดี ดั่งสวนขององค์พระผู้เป็นเจ้า ดั่งแผ่นดินอียิปต์... โลทจึงเลือกที่ราบลุ่มแม่น้ำจอร์แดนทั้งหมดเป็นของตน และรอนแรมไปทางทิศตะวันออก...โลทไปอาศัยอยู่ในเมืองต่างๆ ในที่ราบจอร์แดน และตั้งเต็นท์ของตนใกล้เมืองโสโดม ชาวมืองโสโดมนั้นชั่วร้ายและทำบาปมหันต์ต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า” (ปฐมกาล 13:10-13 อมตธรรม) [พระคัมภีร์ฉบับมาตรฐานข้อ 12 และ 13 แปลว่า “...โลทอาศัยในเมืองต่างๆ ในที่ราบ และย้ายเต็นท์ไปตั้งถึงเมืองโสโดม ผู้ชายเมืองโสโดมเป็นคนชั่วร้าย ทำผิดบาปต่อพระยาเวห์มาก]

มุมมอง หรือ วิสัยทัศน์ ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจและการเลือกของโลทคือ ความมั่งคั่งร่ำรวย ความเด่นดังสำคัญ และ โอกาสและผลประโยชน์ทางการค้าขายสำหรับตน โลทมองข้ามหรือละเลยความสำคัญสองประการและมองข้ามความเสี่ยงในการตัดสินใจเลือกครั้งนี้คือ สัมพันธภาพ และ พระประสงค์ของพระเจ้า แต่เขากลับเลือกที่จะอยู่ใกล้และเสี่ยงกับวัฒนธรรม กระแสสังคม และวิถีการดำเนินชีวิตที่ “ชั่วร้าย” และ “ทำบาปมหันต์ต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า”

ส่วนอับราม มีมุมมอง หรือ วิสัยทัศน์ในวิกฤติขัดแย้งครั้งนี้คือ การรักษาและเสริมสร้างความสัมพันธ์ของชุมชนของเขากับชุมชนของโลท จัดการความขัดแย้งให้เกิดสันติและการอยู่รอดร่วมกัน เป็นผู้นำที่ริเริ่มในการแก้ปัญหา และให้โอกาสแก่ผู้อื่นก่อน ไม่กลัวว่าตนจะเสี่ยงต่อการถูกเอาเปรียบ อับรามกล่าวกับโลทว่า “อย่าให้เรากับเจ้า หรือ คนของเรากับคนของเจ้าทะเลาะกันเลย เพราะเราเป็นญาติพี่น้องกัน ที่ดินทั้งหมดอยู่ข้างหน้าเจ้ามิใช่หรือ? เราแยกทางกันเถอะ ถ้าเจ้าไปทางซ้าย เราจะไปทางขวา ถ้าเจ้าไปทางขวา เราจะไปทางซ้าย”(ปฐมกาล 13:8-9 อมตธรรม)

มุมมอง หรือ วิสัยทัศน์ ที่มีอิทธิพลต่อการเลือกและตัดสินในของอับราคือ ความไว้วางใจในพระประสงค์ แผนการ และ การทรงนำของพระเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสกับอับรามว่า “จงเงยหน้าขึ้นมองดูรอบๆ ทางทิศเหนือ...ใต้...ออก...ตก เราจะมอบดินแดนทั้งหมดที่เจ้ามองเห็นให้แก่เจ้าและเชื้อสายของเจ้าตลอดไป เราจะให้เชื้อสายของเจ้ามีจำนวนมากมาย...ดุจผงธุลีบนแผ่นดินโลก...” (ปฐมกาล 13:14-17 อมตธรรม) และวิสัยทัศน์เช่นนี้มีอิทธิพลต่อวิถีการดำเนินชีวิตและการเป็นผู้นำของอับรามคือ “ดังนั้น อับรามจึงย้ายเต็นท์ไปอยู่...ที่เมืองเฮโบรน และสร้างแท่นบูชาแด่องค์พระผู้เป็นเจ้าที่นั่น” (13:18 อมตธรรม)

นี่คือความแตกต่างของอิทธิพลที่มีเหนือผู้นำทั้งสองคน คนหนึ่งย้ายไปอยู่ในกระแสสังคมและวัฒนธรรมทันสมัย แต่เสี่ยงต่อการดำเนินชีวิตที่ชั่วร้ายและทำบาปต่อพระเจ้า ในขณะที่ผู้นำอีกคนหนึ่งเชื่อในแผนการ การทรงนำ และเดินไปบนเส้นทางตามพระประสงค์ของพระเจ้า สิ่งที่เขาทำสิ่งแรกคือ “สร้างแท่นบูชาแด่องค์พระผู้เป็นเจ้าที่นั่น”

นิมิต หรือ วิสัยทัศน์ มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อภาวะผู้นำของผู้นำแต่ละคน ขึ้นอยู่กับว่า ผู้นำคนนั้นจะมุ่งมองแสวงหานิมิต หรือ วิสัยทัศน์จากเบื้องบน จากองค์พระผู้เป็นเจ้า หรือ ผู้นำคนนั้นมุ่งมองแสวงหานิมิต หรือ วิสัยทัศน์ตามเสียงของความอยากได้ใคร่มี ความโลภ ความเห็นแก่ตัว หรือฟังเสียงของพรรคพวก ลิ่วล้อ คนรอบข้าง ความจริงก็คือว่า

  • วิสัยทัศน์นั้นงอกเงยขึ้นจากภายในชีวิตของคนๆ นั้น
  • วิสัยทัศน์มิได้ผุดขึ้นเอง แต่เป็นสิ่งที่ถูกบ่มเพาะในชีวิตที่ผ่านมา
  • วิสัยทัศน์ของผู้นำเป็น “วิสัยทัศน์เพื่อตัวกูของกู” หรือ “วิสัยทัศน์บนรากฐานพระประสงค์ของพระเจ้า” ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์เพื่อผู้อื่นและส่วนรวม
  • วิสัยทัศน์ของผู้นำเป็นวิสัยทัศน์อยากได้ใคร่เป็นอย่างคนอื่นเขาเด่นดังกันในสังคม หรือ เป็นวิสัยทัศน์ที่แก้ไข เสริมสร้าง ระบบ คุณค่า ความหมายแก่สังคมและชุมชน และองค์กรที่ตนนำ
  • วิสัยทัศน์ของผู้นำเป็นแค่ “คำพูด” “ข้อความบนกระดาษ” “คำขวัญสลักบนกำแพง” แต่ผู้นำกลับทำไปอีกทิศทางหนึ่ง หรือ วิสัยทัศน์เป็นเข็มทิศที่ช่วยให้ผู้นำมุ่งไปสู่ทิศทางที่มุ่งมั่นตั้งใจที่จะนำองค์กรไปให้ถึงจงได้

สิ่งดีของการมีนิมิต หรือ วิสัยทัศน์สิ่งหนึ่งคือ วิสัยทัศน์นั้นเป็นเหมือนแม่เหล็กที่จะดึงดูดให้ผู้นำและองค์กรเข้าไปให้ถึงวิสัยทัศน์ที่มุ่งมั่นตั้งใจไว้ แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ วิสัยทัศน์สำหรับคริสเตียนและองค์กรคริสเตียนมิใช่วิสัยทัศน์ที่ล้อไปตามวิสัยทัศน์ขององค์กรอื่นที่ใหญ่กว่า หรือ เด่นดังกว่า มิใช่วิสัยทัศน์ตามใจปรารถนาของผู้นำ มิใช่วิสัยทัศน์ที่วิ่งตามกระแสสังคม วัฒนธรรมความทันสมัย แต่วันนี้เราคงต้องหยุดตนเอง และ ถามใจตัวเองว่า วิสัยทัศน์ที่เรามีอยู่นี้ยืนอยู่บนรากฐานแห่งพระประสงค์ของพระเจ้าหรือไม่? และถ้าวิสัยทัศน์ของเราเป็นส่วนหนึ่งในพระประสงค์ของพระเจ้า วิสัยทัศน์นั้นจะมีแรงดึงดูดเราเข้าไปสู่พระประสงค์แรงเกินกว่าที่เราคาดหมาย


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่

12 ตุลาคม 2554

ก่อนจะมุ่งหน้าสู่แผ่นดินใหม่

... บัดนี้เจ้าและชนชาตินี้ทั้งหมดจงลุกขึ้นข้ามแม่น้ำจอร์แดนนี้ ไปยังแผ่นดินที่เรายกให้พวกเขาคือประชาชนอิสราเอล ทุกๆ แห่งที่ฝ่าเท้าของเจ้าทั้งหลายจะเหยียบลง เราได้ยกให้พวกเจ้า ดังที่เราได้สัญญาไว้กับโมเสส (โยชูวา 1:2-4)

พระเจ้าตรัสกับโยชูวา ให้มุ่งหน้าเข้าสู่แผ่นดินแห่งพระสัญญา นี่เป็นพระสัญญาของพระเจ้าทรงริเริ่มและทรงกระทำสัญญานี้กับอับราฮัม และพระสัญญานี้ได้มีการย้ำเตือนและส่งทอดกันมาหลายชั่วอายุคน และเมื่อแผ่นดินแห่งพระสัญญาอยู่แค่เอื้อม พระเจ้าก็ยังทรงย้ำเตือนโยชูวาและประชากรอิสราเอลอีกครั้งหนึ่ง

พระสัญญาถึงเรื่องแผ่นดินที่พระเจ้าจะทรงประทานให้นั้นเป็น “วิสัยทัศน์” ที่พระเจ้าทรงให้กับอับราฮัมและพงศ์พันธุ์ของท่าน และวิสัยทัศน์นี้ได้รับความกระจ่างชัดเจนอย่างต่อเนื่องจากการทรงเปิดเผยของพระเจ้า เป็นวิสัยทัศน์ที่สร้างความไว้วางใจ ความน่าเชื่อถือ ความมั่นใจ อีกทั้งกลายเป็นทั้งสิ่งที่ท้าทาย และเป็นพลังที่ทำให้พงศ์พันธุ์ของอับราฮัมจาริกไปอย่างมุ่งมั่น แผ่นดินแห่งพระสัญญาจึงเป็นเป้าหมายปลายทางของการจาริก กระตุ้นเร้าใจพวกเขาหาทางออกจากอียิปต์ที่อุดมสมบูรณ์มุ่งสู่ถิ่นทุรกันดารในทะเลทราย ด้วยความมุ่งมั่นที่จะไปให้ถึงแผ่นดินแห่งพระสัญญา พวกเขารับผิดชอบในส่วนของพวกเขาเพื่อให้วิสัยทัศน์ของเขาเป็นจริง เป็นรูปธรรม

จากเรื่องราวแผ่นดินแห่งพระสัญญาได้ชี้ให้เห็นว่า วิสัยทัศน์นั้นควรมีคุณลักษณะที่สำคัญ 10 ประการ เมื่อเราจะกำหนดวิสัยทัศน์สำหรับองค์กรของเรา คริสตจักรของเรา กลุ่มของเรา หรือ ตัวเราเอง ท่านอาจจะสามารถใช้รายการข้างล่างนี้ในการตรวจสอบวิสัยทัศน์ดังกล่าวของท่าน

ความชัดเจน: เป็นวิสัยทัศน์ที่นำมาซึ่งความเข้าใจในสิ่งที่ผู้คนจะต้องรู้ และสิ่งที่ท่านต้องการให้เขารู้

ความเชื่อมโยงต่อเนื่อง: เป็นวิสัยทัศน์ที่มีความเชื่อมโยงอดีต ปัจจุบัน และอนาคตเข้าด้วยกัน

จุดประสงค์: เป็นวิสัยทัศน์ที่บ่งบอกถึงทิศทางที่จะมุ่งไป

เป้าหมาย: เป็นวิสัยทัศน์ที่ชี้ถึงเป้าหมายปลายทางที่ต้องการไปให้ถึง

จริงใจ: เป็นวิสัยทัศน์ที่มีความสมบูรณ์ น่าเชื่อถือ น่าไว้ใจ

ผูกพัน: เป็นวิสัยทัศน์ที่นำมาซี่งความสัมพันธ์

ท้าทาย: เป็นวิสัยทัศน์ที่กระตุ้นเร้าใจ

ความปรารถนา: เป็นวิสัยทัศน์ที่เสริมเพิ่มพลัง

แบบอย่าง: เป็นวิสัยทัศน์ที่ต้องมีความรับผิดชอบ

กลยุทธ: เป็นวิสัยทัศน์ที่เป็นกระบวนการ

สำหรับคริสตชนแล้ว วิสัยทัศน์เป็นสิ่งที่พระเจ้าประทานแก่เรา และเป็นพระประสงค์ของพระองค์ที่ต้องการให้เรามุ่งหน้าไปให้ถึงวิสัยทัศน์ที่ประทานให้นั้น พระเจ้าจะทรงเปิดเผยความชัดเจนถึงพระประสงค์ในวิสัยทัศน์นั้นแก่เราเป็นขั้นเป็นตอน และพระองค์ทรงคาดหวังให้เรากล้าที่จะจาริกไปในทิศทางตามวิสัยทัศน์นั้นด้วยความรับผิดชอบและไว้วางใจตามที่ทรงเปิดเผยแต่ละครั้ง

อะไรคือวิสัยทัศน์ที่พระเจ้าประทานแก่ท่านในวันนี้ ประทานแก่องค์กรของท่าน คริสตจักรของท่าน หรือตัวท่านเอง และท่านได้ก้าวเดินตามขั้นตอนวิสัยทัศน์ที่ทรงประทานและเปิดเผยให้หรือไม่? หรือวิสัยทัศน์นั้นเป็นแค่ “กระดาษเปื้อนหมึก” แผ่นป้ายสวยงามที่ติดฝา หรือ ความคิดดีๆ ที่เก็บไว้ในใจเท่านั้น


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่

10 ตุลาคม 2554

แบกกางเขนของเราทุกวัน...

พระเยซูคริสต์ตรัสกับเหล่าสาวกว่า “หากผู้ใดปรารถนาจะตามเรามา เขาต้องปฏิเสธตนเอง รับกางเขนของตนแบกทุกวัน และตามเรามา” (ลูกา 9:23 อมตธรรม) คำตรัสนี้เราสามารถพบในพระกิตติคุณมัทธิว 16:24-26 และ มาระโก 8:34 แต่ทั้งสองเล่มหลังนี้ไม่มีคำว่า “แบกทุกวัน” อย่างลูกาได้เน้น ลูกาต้องการเน้นให้ผู้อ่านเห็นถึงความสำคัญยิ่งของเรื่องนี้ในชีวิตคริสตชน การติดตามพระคริสต์พระองค์ทรงเรียกร้องให้ปฏิเสธตนเอง อุทิศชีวิตทั้งสิ้นทั้งหมดแด่พระองค์ที่จะดำเนินชีวิตด้วยความเชื่อฟัง มิใช่เพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น แต่ต่อเนื่องและตลอดไปทุกวัน

คนปัจจุบันประดับกายด้วยกางเขนกันเกร่อ ทั้งที่เป็นคริสตชน และ ที่ไม่ได้เป็นคริสตชน บางคนเป็นดารา นักร้อง และบางคนห้อยกางเขนตามแบบดาราที่ตนโปรด คนพวกนี้ห้อยกางเขนเป็นแฟชั่น คริสเตียนส่วนมากที่ห้อยกางเขนไว้ที่คอก็ด้วยความเชื่อ เป็นเครื่องเตือนใจว่าพระคริสต์ได้ตายเพื่อตนเองบนกางเขน เพื่อตนจะได้ชีวิตรอด และก็มีหลายคนเช่นกันห้อยกางเขนก็เพื่อกันผี กันวิญญาณชั่วร้าย กลายเป็นเครื่องรางของขลังชิ้นหนึ่งในชีวิตคริสตชน

เรามักเกิดคำถามในใจของเราว่า จริงๆ แล้ว “กางเขน” ที่พระเยซูพูดถึงนี่หมายความถึงอะไรกันแน่ เราคงต้องตระหนักชัดว่า เมื่อพระเยซูพูดถึงกางเขนในตอนนี้ พระองค์ยังไม่ได้ถูกตรึง ดังนั้นจึงมิได้มีความหมายว่า พระเยซูคริสต์ทรงตายบนกางเขนแทนเรา เราคงต้องสืบค้นลงลึกว่า ในสมัยของพระเยซูนั้น กางเขนในแผ่นดินอิสราเอลและในจักรวรรดิ์โรมันคนเขาเข้าใจ และ มีความหมายกันว่าอย่างไร

เมื่อคนสมัยพระเยซูคริสต์มองเห็นกางเขน เขามองเห็นความตาย เขามองเห็นเครื่องมือชิ้นใหญ่ชิ้นหนึ่งที่ทางการใช้ในการประหารนักโทษอุกฉกรรจ์ เป็นเครื่องหมายถึงการทรมาน การที่นักโทษคนใดที่ถูกตรึงกางเขนนอกจากจะเป็นการต้องโทษประหารที่รุนแรงแล้ว ยังเป็นการประหารชีวิตที่สุดแสนจะทรมานในสมัยนั้น อีกทั้งเป็นการประจานให้ได้รับความอับอายทั้งผู้ถูกตรึงและตระกูลในครอบครัวของเขาด้วย

ส่วนตัวเกิดคำถามในจิตใจต่อไปว่า แล้วทำไมพระเยซูคริสต์ถึงเอาเรื่องการแบกกางเขนเพื่อเป็นเครื่องเปรียบเทียบและให้ความหมายกับการติดตามพระองค์?

พระเยซูคริสต์ใช้กางเขนเป็นเครื่องหมายด้วยความตั้งใจ ที่จะอธิบายถึงการติดตาม หรือ การเป็นสาวกของพระองค์ว่า การติดตามพระองค์ “มิใช่เป็นเหมือนเด็กเล่นขายของ” ไม่ใช่ “การเปลี่ยนศาสนา” มิใช่เปลี่ยนวิธีประกอบศาสนพิธี มิใช่เรื่องง่ายๆ แต่ค่าราคาของผู้ที่ตัดสินใจติดตามเป็นสาวกของพระองค์จะต้องจ่ายค่าราคาสูงยิ่ง กล่าวคือเขาต้องมอบชีวิตทั้งหมดให้เป็นของพระคริสต์ เขายอม “ตาย” จากชีวิตเดิมที่เขาเองเป็นเจ้าของ แล้วยอมมอบให้พระคริสต์เป็นเจ้าของชีวิตของเขา แล้วทรงเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาตามพระประสงค์ และที่สำคัญคือบนเส้นทางชีวิตแห่งกางเขนนี้จุดหมายปลายทางชีวิตของเขาคือพระประสงค์ของพระคริสต์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่

07 ตุลาคม 2554

ผู้นำในพระคริสต์ หรือ ผู้(ที่พระเจ้า)นำ?

พระองค์เองประทานให้บางคนเป็นอัครทูต บางคนเป็นผู้เผยพระวจนะ บางคนเป็นผู้ประกาศข่าวประเสริฐ บางคนเป็นศิษยาภิบาลและอาจารย์ เพื่อเตรียมธรรมิกชนสำหรับการปรนนิบัติ(งานรับใช้) และการเสริมสร้างพระกายของพระคริสต์ จนกว่าเราทุกคนจะบรรลุถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในความเชื่อ และ ในความรู้ถึงพระบุตรของพระเจ้า บรรลุถึงความเป็นผู้ใหญ่ คือโตถึงขนาดความบริบูรณ์(ความไพบูลย์)ของพระคริสต์ (เอเฟซัส 4:4:11-13 ฉบับมาตรฐาน, ในวงเล็บ สำนวนแปลอมตธรรม)

ในฐานะที่เราเป็นคริสตชนคนหนึ่ง
เป็นฆราวาส หรือ บรรพชิต เป็นสมาชิกคนหนึ่งในคริสตจักร
ท่านมองผู้คนแต่ละคนที่เข้ามาร่วมชีวิตในชุมชนคริสตจักรอย่างไร?

บ่อยครั้งเรามักมองว่าเขาเป็นผู้เชื่อในพระเยซูคริสต์คนหนึ่ง
เป็นสมาชิกคนหนึ่งของคริสตจักร
เป็นลูกหลานคนหนึ่งของคริสตจักร
เป็นแขกที่มาเยี่ยมคริสตจักรของเรา
เป็นคนที่กำลังสนใจเรื่องพระเยซูคริสต์
เป็นคนแปลกหน้าที่เราไม่รู้จัก
เป็นสมาชิกจรที่เข้ามาร่วมนมัสการพระเจ้าในวันอาทิตย์กับพวกเราในคริสตจักร
แล้วตัวท่านเองล่ะ มองผู้คนที่มาร่วมในชุมชนคริสตจักรอย่างไร?

สำหรับเปาโลแล้ว...
ท่านมองผู้คนแต่ละคน ทั้งสมาชิกคริสตจักร ทั้งแขกที่มาเยี่ยมว่า
แต่ละคนเป็นคนที่พระเจ้าทรงประทานให้แก่คริสตจักร
แต่ละคนมี “ของประทานเฉพาะจากพระเจ้า”

บางคนเป็นผู้ใหญ่ที่ช่วยดูแลชีวิตจิตวิญญาณของผู้คน
บางคนที่มีความสามารถในการอธิบายพระวจนะของพระเจ้าที่ตอบสนองต่อการดำเนินชีวิต
บางคนมีความสามารถในการสื่อสารข่าวดีเรื่องพระเยซูคริสต์แก่คนที่ยังไม่รู้ไม่เชื่อ
บางคนมีจิตใจเมตตาและความสามารถในการอภิบาลเอาใจใส่ชีวิตเพื่อนสมาชิกในคริสตจักร
บางคนเป็นคนที่มีความรู้และใช้ความรอบรู้นั้นเพื่อเสริมหนุนชีวิตของเพื่อนสมาชิก และ ชุมชนคริสตจักร

น่าสังเกตว่า...
สำหรับเปาโลแล้ว...
ท่านมองว่า อัครทูต ผู้เผยพระวจนะ ผู้เผยแพร่ข่าวประเสริฐ ศิษยาภิบาลหรืออาจารย์ หรือ อื่นๆ
มิใช่ตำแหน่ง หรือ สถานภาพทางสังคมในคริสตจักร
มิใช่เป็นพวกที่ถูกจัดแบ่งออกเป็นบุคคลกลุ่มพิเศษ
มิใช่เป็นกลุ่มคนที่อยู่เหนือคนอื่นๆ ในคริสตจักร

แต่ท่านบอกกับคริสตจักร และ บอกกับเราว่า...
ทุกคนที่เข้ามาร่วมในชีวิตชุมชนคริสตจักร
มิได้เข้ามาหรืออยู่ในคริสตจักรโดยบังเอิญ
แต่เป็นผู้ที่พระคริสต์ทรงเรียก และ ประทานให้แก่คริสตจักร
และพระคริสต์มีพระประสงค์ในชีวิตแต่ละคน
ยิ่งกว่านั้น พระองค์ยังทรงประทานสิ่งพิเศษที่หลากหลายแตกต่างในแต่ละคนที่มาร่วมในชุมชนคริสตจักร
พระองค์มีพระประสงค์ให้แต่ละคนได้มีโอกาสใช้ “ของประทานพิเศษ” ที่อยู่ในแต่ละคนในการสร้างชุมชน

เปาโลอธิบายต่อไปว่า...
สมาชิกคริสตจักร รวมถึงฆราวาสทุกคน ต่างได้รับของประทานพิเศษจากพระเจ้า
พระองค์ทรงมีพระประสงค์ให้แต่ละคนเหล่านี้ใช้ของพิเศษตามพระประสงค์ของพระองค์
พระประสงค์ของพระองค์ในที่นี้คือ
ให้ใช้ของประทานพิเศษของบางคนในการ “เตรียม” ชีวิตของกันและกัน (เหมือนเตรียมดินก่อนการเพาะปลูก)
ให้ใช้ของประทานพิเศษของบางคนในการ “อภิบาล” เอาใจใส่ ทุ่มเท ร่วมทุกข์ร่วมสุข และ เสริมหนุนกันและกัน
ให้ใช้ของประทานพิเศษของบางคนในการกระตุ้นหนุนเสริมให้เกิด “การเรียนรู้” และ “เกิดความเชื่อศรัทธา”
ให้ใช้ของประทานพิเศษของบางคนในการช่วยคนอื่นให้ได้พบสัจจะความจริงข่าวดีในชีวิตจากพระเยซูคริสต์ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหม่ทั้งความคิด ทัศนคติ ความเชื่อศรัทธาและการดำเนินชีวิต
ให้ใช้ของประทานพิเศษของบางคนในการเสริมหนุนให้ชีวิตของสมาชิกแต่ละคนดำเนินไปด้วยอิทธิพลของคำสอนและการดำเนินชีวิตแบบพระเยซูคริสต์

ทั้งสิ้นนี้...
ให้ทุกคนมีเป้าหมายที่ “การรับใช้” ตามพระประสงค์ของพระคริสต์
ของประทานพิเศษที่แต่ละคนได้รับจากพระเจ้า จะถูกใช้เพื่อการรับใช้
ทั้งในชุมชนคริสตจักร และ ในชุมชนสังคมโลก
ของประทานพิเศษจากพระเจ้ามีไว้เพื่อใช้ในการรับใช้ เสริมหนุนคนอื่น
มิใช่เพื่อ “กอบโกย” หรือ “สร้างเสริม” บารมีความเด่นดังสำคัญของตนเอง

ให้ทุกคนมีเป้าหมายที่ “การเสริมสร้าง” พระกายพระคริสต์คือชุมชนคริสตจักร
ของประทานพิเศษในแต่ละตัวคนมีเป้าประสงค์เพื่อใช้ในการเสริมสร้างชีวิตชุมชนคริสตจักร
ให้เป็นชุมชนที่ “รู้” และ “เชื่อศรัทธา” ในพระคริสต์
ให้เป็นชุมชนที่ “สำแดงพระคริสต์” ที่ชุมชนสังคมโลกรอบข้างสามารถเห็นได้ และมองเห็นชัดเจนยิ่งๆ ขึ้น
ให้เป็นชุมชนที่ “เติบโต” ขึ้น มิใช่เพียงขนาดโบสถ์ หรือ จำนวนสมาชิกเท่านั้น แต่ผู้คนได้ “เห็น” และ “สัมผัส” ความรักของพระคริสต์ผ่านชีวิตและการทำพันธกิจของคริสตจักร(พระกายนั้น)

สำหรับเปาโลแล้ว...
ท่านมองว่าทุกคนในชุมชนคริสตจักรเป็นผู้มีคุณค่า
มีคุณค่าในตนเองเพราะพระเจ้าประทานสิ่งพิเศษเฉพาะในแต่ละตัวคน
มีคุณค่าสำหรับชีวิตชุมชนคริสตจักร เพราะพระเจ้าประทานคนๆ นั้นให้แก่คริสตจักร เพื่อร่วมในการรับใช้และเสริมสร้างในชีวิตชุมชนคริสตจักร และ ในชุมชนสังคมโลก
มีคุณค่าเพราะพระเจ้าทรงใช้คนๆ นั้น
มีคุณค่าเพราะชุมชนคริสตจักรเปิดโอกาสและพื้นที่ให้เขาได้รับใช้และร่วมเสริมสร้าง
มีคุณค่าเพราะแต่ละคน และ ทุกคนมีเป้าหมายปลายทางในชีวิตคือ พระประสงค์ของพระเจ้า
มีคุณค่าเพราะเขารับใช้และสร้างเสริมตามพระประสงค์ของพระคริสต์ (มิใช่เพื่อประโยชน์สุขของตนเอง)

ในวันนี้ ใครคือผู้ที่พระเจ้าทรงนำเข้ามาในชีวิตของเรา
แล้วเราจะหนุนเสริมเพิ่มพลังแก่กันและกันด้วยของประทานพิเศษที่พระเจ้าทรงประทานให้ในแต่ละคนอย่างไร?

ในวันนี้ขอภาวนาอธิษฐานว่า...
ขอองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเปิดดวงตาของเราได้มองเห็นของประทานที่พระเจ้านำเข้ามาในชีวิตของเรา
ให้เราเห็นและรู้เท่าทันถึงคนต่างๆ ที่พระเจ้าทรงนำให้มาสัมผัสพบเจอกับเราในวันนี้
เพื่อเราจะหนุนเสริมเพิ่มพัฒนากันและกันเพื่อการรับใช้และเสริมสร้างชุมชนตามพระประสงค์ของพระองค์

“เครื่องบ่งชี้ถึงความยิ่งใหญ่ที่แท้จริงคือ
ศักยภาพในการเสริมเสริมความยิ่งใหญ่ในคนอื่นๆ” J. C. Macaulay (1889-1977) นักเขียนและนักศาสนศาสตร์


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่

05 ตุลาคม 2554

การสร้างวัฒนธรรมองค์กรในการรับใช้บริการ

กฎข้อแรก เริ่มต้นที่ผู้นำระดับสูง

กฎข้อที่ 1

ในการที่เราจะสร้างวัฒนธรรมการบริการ หรือ วัฒนธรรมในการรับใช้ ย่อมเริ่มต้นจากหัวหน้าและหัวใจของผู้นำในองค์กรนั้น แล้วส่งต่อการบริการแบบนี้ไปยังสมาชิกในทีมงานต่อๆ ไป ไม่มีหนทางอื่นที่จะสร้างให้เกิดวัฒนธรรมของการรับใช้บริการขึ้นในองค์กรได้นอกจากวิธีนี้เท่านั้น

ที่นำเรื่องการสร้างวัฒนธรรมการบริการในองค์กรมากล่าวในที่นี้เพราะเห็นว่า ในคริสต์ศาสนาเราพูดกันมากเกี่ยวกับผู้นำแบบผู้รับใช้ และเรามักเรียกตัวเองว่าเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้าท่ามกลางสังคมโลก อีกทั้งองค์กรของสภาคริสตจักรก็มักอ้างอิงถึงการให้บริการ เช่น มหาวิทยาลัยพายัพของสภาฯ ก็มีคติประจำใจขององค์กรว่า “สัจจะและบริการ”

Brent Harris เคยกล่าวว่า “คุณไม่สามารถสอนให้เกิดวัฒนธรรมที่พึงต้องการ แต่คุณต้องดำเนินชีวิตให้คนรอบข้างเห็นวัฒนธรรมที่ต้องการให้เกิดขึ้นในองค์กรของคุณ คุณต้องสำแดงให้คนอื่นได้เห็นวัฒนธรรมนั้นด้วยการกระทำของคุณเอง” Brent Harris เป็นผู้บริหารระดับสูงของ Nordstrom การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมขององค์กรในองค์กรใดๆ ก็ตาม ผู้นำที่อยู่ในระดับสูงขององค์กรจะต้องดำเนินชีวิตและกระทำสำแดงออกให้เห็นชัดในวัฒนธรรมนั้นๆ เพราะคำพูดที่ไร้ซึ่งการกระทำก็ไม่มีความหมายใดๆ หรือมีผู้กล่าวว่าก็เป็นเหมือนการผายลมแก้อืดท้องเช่นใดเช่นนั้น

เมื่อ Dave Neeleman เริ่มสายการบิน JetBlue เขาตระหนักชัดถึงความสำคัญของการเป็นผู้นำที่ต้องเป็นผู้นำการสำแดงสิ่งที่ต้องการให้เป็นวัฒนธรรมขององค์ให้ทีมงานของตนได้เห็น เพื่อให้สิ่งที่เขากระทำเป็นเสียงพูดดังก้องกว่าคำพูด ความรับผิดชอบของเขาคือการเสริมสร้างวัฒนธรรมในการให้บริการ และเขารู้ดีว่าทุกสายตามุ่งมองมายังเขา เมื่อ 2-3 ปีมานี้ ในวารสาร INC. Magazine ได้ตีพิมพ์ข้อเขียนของ Norm Brodsky ที่ได้เล่าถึงประสบการณ์ของเขาเมื่อโดยสารในเที่ยวบินของ JetBlue ที่ Neeleman อยู่ในเที่ยวบินนั้นด้วย เมื่อผู้โดยสารกำลังรัดเข็มขัดเพื่อเตรียมตัวในการทะยานขึ้นฟ้าของเครื่องบินลำนั้น Neeleman ได้ยืนขึ้นและแนะนำตัวเขา “สวัสดีครับท่านผู้โดยสาร ผมเป็นผู้บริหารระดับสูงของ JetBlue ผมอยู่ร่วมในเที่ยวบินนี้เพื่อให้บริการรับใช้แก่ทุกท่านครับ และผมจะมีโอกาสพบปะกับท่านแต่ละคนก่อนที่เครื่องบินนี้จะถึงเป้าหมายปลายทาง” เมื่อเขาบริการอาหารว่าง เขาจะพูดทักทายกับผู้โดยสารทุกคน เมื่อเขามาถึงผม ผมบอกเขาว่านี่เป็นความคิดที่ยอดเยี่ยมในการให้บริการด้วยตัวคุณเอง แล้วผมถามเขาว่า เขาทำเช่นนี้บ่อยแค่ไหน ผมคาดหวังว่าเขาจะตอบว่าหนึ่งถึงสองครั้งต่อปี เขาตอบผมว่า “ไม่บ่อยเท่าที่ควรครับ... ผมทำได้แค่เดือนละครั้งเท่านั้นครับ”

ผมประหลาดใจในการกระทำของเขาอย่างมาก ผมเห็นเขาสนทนาวิสาสะกับผู้โดยสารคนอื่นๆ เช่น ผมเห็นเขาฟังผู้โดยสารแต่ละคนอย่างใส่ใจในสิ่งที่ผู้โดยสารพูดกับเขาแล้วจดในสิ่งที่ผู้โดยสารบอกเขา และในบางรายที่เขาไม่สามารถตอบคำถามของผู้โดยสาร ผมเห็นเขาได้ให้นามบัตรของเขาแก่ผู้โดยสารคนนั้นพร้อมกับบอกว่า “จะมีเจ้าหน้าที่ของสายการบินติดต่อกับท่านภายใน 24 ชั่วโมง” แม้เมื่อสิ้นสุดการเดินทางของเที่ยวบินนั้น ผมยังเห็น Neeleman คาดผ้ากันเปื้อนสีฟ้าและทำการเก็บเศษขยะจากที่นั่งของผู้โดยสาร และกระเป๋าหน้าที่นั่ง

Robert K. Greenleaf กล่าวไว้ว่า “ผู้นำที่ดีต้องเป็นผู้รับใช้ที่ดีก่อน”

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
สนามบินภูเก็ต

03 ตุลาคม 2554

กล้าที่จะยืนหยัดอย่างมั่นคง

กษัตริย์ทรงประทานอาหารและเหล้าองุ่นจากโต๊ะเสวยแก่คนเหล่านี้(ดาเนียล และ เพื่อนจากยูดาห์)ทุกวัน และให้พวกเขารับการฝึกฝนตลอดสามปี หลังจากนั้นจึงเข้ารับราชการ...(ดาเนียล 1:5 อมตธรรม)

แต่ดาเนียลตั้งปณิธานไว้ว่าจะไม่ยอมให้ตนเองเป็นมลทินเพราะเครื่องเสวยทั้งอาหารและเหล้าองุ่น จึงขออนุญาตจากหัวหน้ากรมวังที่จะไม่ทำให้ตนเองเป็นมลทินอย่างนั้น พระเจ้าทรงบันดาลให้หัวหน้ากรมวังชอบพอและเห็นใจดาเนียล แต่เขาบอกดาเนียลว่า “เรากลัวเจ้าเหนือหัวซึ่งเป็นผู้ประทานอาหารและเครื่องดื่มให้พวกเจ้า หากเราปล่อยให้พวกเจ้าซูบซีดกว่าชายหนุ่มรุ่นราวคราวเดียวกัน พระองค์คงตัดหัวเราเพราะพวกเจ้า” (ดาเนียล 1:8-10 อมตธรรม)

ดาเนียลและเพื่อนอีกสามคนถูกคัดเลือกไปจากยูดาห์ (ประมาณปี 605 กคศ.) เกณฑ์การคัดเลือกคือ เป็นคนหนุ่มที่มีเชื้อสายสูง รูปร่างหน้าตาดี ฉลาดพร้อมที่จะเรียนรู้ มีไหวพริบ ปฏิภาณ เชี่ยวชาญในสรรพปัญญา มีความรู้ความเข้าใจและความสามารถเพื่อที่จะปฏิบัติหน้าที่ในพระราชวังของกษัตริย์ แล้วให้สอนภาษาและวรรณคดีของชาวบาบิโลน และนี่คือกระบวนการหล่อหลอมกรอบคิดและการดำเนินชีวิตแบบบาบิโลนท่ามกลางกระแสวัฒนธรรมที่แข็งและแรงในสังคมใหม่ของดาเนียลและเพื่อนทั้งสามในบาบิโลน

จากนั้น ใช้กระบวนการเปลี่ยนชื่อให้เป็นภาษาของบาบิโลน นี่มีความหมายว่า บัดนี้ทั้งสี่อยู่ใต้สิทธิอำนาจของเนบูคัดเนสซาร์ ยิ่งกว่านั้น ชื่อใหม่เหล่านี้ยังมีชื่อของพระเจ้าที่ชาวบาบลิโลนนับถือเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น ดาเนียล ในภาษาฮีบรูแปลว่า “พระเจ้าทรงเป็นผู้พิพากษา(ของข้าพเจ้า)” ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นภาษาบาบิโลนว่า เบลเทชัสซาร์ ซึ่งมีความหมายว่า “พระเบล(มาร์ดุค)ปกป้องชีวิต(ข้าพเจ้า)” เป็นต้น นี่เป็นกระบวนการครอบงำความคิด ความเป็นตัวตนหรืออัตลักษณ์ของทั้งสี่ และเขย่าลงลึกถึงรากฐานชีวิตของพวกเขาอย่างท้าทายด้วยอำนาจที่แข็งแกร่งยากจะปฏิเสธได้(ดูข้อ 6-7)

ยิ่งกว่านั้น กระแสวัฒนธรรมใหม่ที่มาถึงทั้งสี่คนนั้น เป็นทั้งเกียรติ ศักดิ์ศรี โอกาส อำนาจ ชนชั้นอภิสิทธิชน ที่คาดหวังที่จะให้พวกเขายอมให้ชีวิตของตนไต่เต้าไปตามกระแสดังกล่าว เพื่อประโยชน์และโอกาสแห่งตน

แต่ทำไม ดาเนียลถึงตั้งปณิธานว่า “จะไม่ยอมตนเองเป็นมลทิน เพราะเครื่องเสวยทั้งอาหารและเหล้าองุ่น” ผมเคยคุยกับคริสเตียนไทย บางท่านได้ให้ความเห็นว่า เพราะดาเนียลและเพื่อนไม่ยอมดื่มเหล้า นี่คงเอามาตรฐานคริสเตียนไทยเป็นเครื่องวัด เพราะในวัฒนธรรมยิวเขาดื่มเหล้าองุ่น เขายังปลูกองุ่น มีบ่อย่ำและมีการหมักเหล้าองุ่น และในงานเลี้ยงสมรสที่คานา เขาก็มีความสุขกับการดื่มเหล้าองุ่นที่พระเยซูคริสต์ได้ทำการอัศจรรย์

ที่ดาเนียลและเพื่อนยืนยันไม่ยอมตนเองเป็นมลทินจากอาหารที่กษัตริย์พระราชทานมานั้นเพราะ อาหารที่มาจากโต๊ะเสวยของเนบูคัดเนสซาร์ เป็นอาหารที่ผ่านการถวายแก่รูปเคารพ เหล้าองุ่นส่วนหนึ่งก็ใช้เทถวายบนแท่นบูชาของพระต่างชาติ ส่วนเนื้อสัตว์เหล่านั้นมิได้รับการเชือดอย่างถูกต้องตามพระบัญญัติ นี่เป็นความกล้าหาญอย่างยิ่งในการยืนหยัดความเชื่อศรัทธาของทั้งสี่อย่างมั่นคง นอกจาก การที่ปฏิเสธอาหารที่ดีที่สุดที่กษัตริย์พระราชทานให้แล้ว ยังบอกและยืนยันชัดเจนว่า ตนจะไม่ยอมปล่อยตนให้ลื่นไหลไปตามกระแสวัฒนธรรมใหม่ของสังคม กระแสวัฒนธรรมที่มีพวกมากลากไป การยืนหยัดมั่นคงบนรากฐานความเชื่อศรัทธานอกจากกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของชีวิตแล้ว พวกเขาต้องยอมที่จะทนทุกข์และเสียสละด้วย พวกเขามิได้เรียกร้องให้มีการเชือดสัตว์อย่างถูกต้องตามพระบัญญัติเพื่อพวกเขาจะได้รับประทานเนื้อสัตว์ได้ แต่พวกเขากลับยอมที่จะรับประทานอาหารที่มีแต่ผักและดื่มแต่น้ำ(ดูข้อ 12)

ทุกวันนี้ การดำเนินชีวิตของเราในที่ทำงาน ในตลาดการค้า ในสังคมชุมชนของเรา เราได้สำแดงการยืนหยัดอย่างมั่นคงตามความเชื่อศรัทธาของเราและแสดงอัตลักษณ์ความเป็นสาวกของพระเยซูคริสต์หรือไม่ หรือเรายอมตนให้ลื่นไหลไปตามกระแสวัฒนธรรมแบบทุนนิยม ประโยชน์นิยม อำนาจนิยม บริโภคนิยม(ดำน้ำกินตามกระแส, ทำไมคนอื่นยังทำได้) โอกาสใครโอกาสมัน(เราไม่ว่ากัน??)

เรากล้าที่จะยืนหยัดการดำเนินชีวิตบนรากฐานพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ด้วยความสัตย์ซื่อ หรือ กลัวว่าตนจะเสียโอกาสและเสียผลประโยชน์ มิได้เกรงกลัวว่าจะดำเนินชีวิตที่ผิดเพี้ยนไปจากพระประสงค์แต่กลัวว่าคนอื่นจะมองว่าตนเอง “โง่” (เพราะน้ำขึ้นไม่รีบตัก) การที่เราต้องลุยตามกระแสวัฒนธรรมเช่นทุกวันนี้แสดงออกถึงความเสื่อมและผุกร่อนในความเชื่อศรัทธาของเรา ลึกๆ แล้ว เราไม่ไว้ใจพระเจ้าอีกต่อไป แต่เราไว้ใจ เงินทอง ทรัพย์สิน อำนาจ พวกพ้อง และโอกาสที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตข้างหน้า

Chaim Potok นักเขียนชาวยิวเคยกล่าวไว้ว่า ผู้นำที่แท้จริงจะไม่ยอมตนให้ถูกกลืนเข้าไปในกระแสสังคมที่ตนว่ายวนอยู่นั้น... ผู้นำที่สัตย์ซื่อและมั่นคงจะเลือกยืนมั่นบนจุดที่ถูกต้อง ต่อต้านและทวนกระแสความนึกคิดและการกระทำที่ผิดเพี้ยนแต่เป็นที่นิยมยอมรับของสังคม

อัตลักษณ์ความเป็นคริสตชนในที่ทำงาน ในตลาดการค้า ในสังคมชุมชนโลก จะไม่ถูกกระแสสังคมดูดดึงกลืนจนเป็นเหมือนกระแสวัฒนธรรมสังคมทันสมัยและบริโภคนิยม ประโยชน์นิยมและอำนาจนิยม คริสตชนต้องเลือกระหว่างตำแหน่งที่สูงขี้นกับคุณค่าและสัมพันธภาพในครอบครัว ต้องเลือกระหว่างความมั่นคงหน้าที่การงานกับความสัตย์ซื่อต่อครอบครัว ต้องเลือกระหว่างชื่อเสียงเกียรติยศกับการกระทำที่ให้เกียรติและสรรเสริญพระเจ้า ต้องเลือกระหว่างการทุ่มเทชีวิตเพื่อความสำเร็จและความพอใจในตนเองกับการตอบสนองต่อพระประสงค์ของพระเจ้า ต้องเลือกการกระทำทุกอย่างที่จะได้ กับการกระทำทุกอย่างที่จะให้

เมื่ออ่านเรื่องราวของดาเนียล ผมนั่งลงถามตนเองว่า ถ้าดาเนียลไม่ยืนหยัด สัตย์ซื่อ และมั่นคงในชีวิตเช่นนี้ เรื่องราวของดาเนียลจะจบลงอย่างไร เขาจะมุ่งทำตามสิ่งที่กษัตริย์ต้องการให้เขาทำ แต่ไม่แคร์พระประสงค์ของพระเจ้า แล้วอะไรจะเกิดขึ้นกับดาเนียลและเพื่อนของเขา จุดจบของเรื่องนี้จะเป็นเช่นไร?

มาร์ติน ลูเธอร์คิงส์ จูเนียร์ ได้กล่าวว่า “คนกล้าหาญจะยืนหยัดเผชิญหน้ากับความกลัว ดังนั้น เขาจึงสามารถควบคุมความกลัว ส่วนคนขี้ขลาดนั้นพยายามทุกหนทางที่จะหลีกลี้หนีสิ่งที่ตนกลัว ดังนั้น เขาจึงถูกครอบงำโดยความกลัว”

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่