30 พฤศจิกายน 2554

ชีวิตในภาวะที่กดดัน (2)

เตรียมรับเสด็จพระคริสต์ภายในชีวิต ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันประเทศไทย

อ่านกิตติคุณลูกา 22:39-46

แล้วพระองค์เสด็จไปจากพวกเขาไกลเท่าระยะหินขว้าง
แล้วทรงคุกเข่าลงอธิษฐาน
(ลูกา 22:41 ฉบับมาตรฐาน)

จากด้านบนยอดเขามะกอกเทศพระเยซูเดินลงมาที่สวนเกทเสมนี “พระองค์เสด็จไป...ไกลเท่าระยะหินขว้าง แล้วทรงคุกเข่าลงอธิษฐาน (22:41) สำหรับหมอลูกาแล้วท่านเห็นภาพพระเยซูคุกเข่าลงอธิษฐาน ตามภาษาเดิมในพระคัมภีร์ตอนนี้เขียนไว้ว่า พระเยซูได้คุกเข่าลงบนพื้นดิน แต่มิได้บอกรายละเอียดว่ามีท่าทางเช่นไรในการคุกเข่าลง แต่พระกิตติคุณมาระโกบันทึกไว้ว่า พระเยซู “ซบพระกายลงที่ดิน...” (14:35) ในขณะที่พระกิตติคุณมัทธิวเขียนรายละเอียดไว้ว่าพระเยซู “ซบพระพักตร์ลงถึงดิน...” (26:39) และถ้าเราดูจากภาพวาดตอนที่พระเยซูอธิษฐานในสวนเกทเสมนี เราจะเห็นว่าเป็นภาพที่พระเยซูคุกเข้าข้างหินก้อนใหญ่ด้วย

ส่วนมากแล้ว เมื่อเราอ่านถึงเรื่องราวการอธิษฐานของพระเยซูในสวนเกทเสมนีเรามักจะนึกภาพวาดในเหตุการณ์นี้ของเฮนริค ฮอฟมานน์ (Heinrich Hoffmann) เป็นภาพที่พระเยซูคริสต์กำลังอธิษฐานด้วยท่าทีที่สงบข้างๆ หินก้อนใหญ่ เงยหน้าเพ่งจ้องไปยังฟ้าสวรรค์ และมีลำแสงฉายส่องลงมาบนใบหน้าของพระองค์ ทำให้มีรัศมีแผ่ออกรอบศีรษะของพระองค์ ดูภาพนี้แล้วรู้สึกว่า พระองค์ทรงสงบ มั่นคง พร้อมที่จะตายเพื่อความบาปผิดแห่งโลกนี้

เป็นภาพวาดที่ผมเคยชื่นชอบเมื่อตอนเป็นเด็ก ผมยังจำได้ติดตาตรึงใจว่า เมื่อผมไปเรียนรวีวารศึกษาตอนเป็นเด็กเล็ก คุณครูที่คริสตจักรสะพานเหลืองแจกภาพนี้ขนาดเล็กให้ผมภาพหนึ่ง ผมเก็บภาพนั้นกลับบ้านและรักษาไว้อย่างดี

เมื่อได้อ่านพระกิตติคุณในเรื่องนี้เมื่อเติบโตขึ้น ผมกลับพบว่า ได้มีความรู้สึกและความจริงบางอย่างที่ไม่ปรากฎในภาพวาดที่ผมเคยชื่นชอบตอนเป็นเด็ก ซึ่งเป็นความรู้สึกบนรากฐานความเป็นจริงในความเป็นมนุษย์และความจริงบนรากฐานทางศาสนศาสตร์ ก่อนที่พระเยซูจะแยกตัวออกไปอธิษฐานนั้นได้ตรัสกับสาวกคนสนิทว่า “ใจของเราเป็นทุกข์แทบจะตาย...” (มัทธิว 26:38) ทั้งในพระกิตติคุณมาระโกและมัทธิวกล่าวถึงพระเยซูคริสต์ได้ “ซบพระกายและซบพระพักตร์ลงถึงพื้นดิน...” แล้วหมอลูกาเน้นย้ำชัดเจนว่า พระองค์คุกเข่าลงอธิษฐานด้วยจิตใจที่เป็นทุกข์ และยิ่งพระองค์ทุกข์มากแค่ไหน พระองค์ก็ยิ่งอธิษฐานอย่างจริงจัง “เหงื่อของพระองค์เป็นเหมือนโลหิตเม็ดใหญ่ไหลหยดลงถึงดิน” (22:44) นี่คือความรู้สึกในความเป็นมนุษย์ และนี่คือภาพความจริงของพระเยซูคริสต์ที่ได้บันทึกอยู่ในพระกิตติคุณ

เมื่อเราอ่านพระกิตติคุณอย่างละเอียด และเข้าร่วมในความรู้สึกของพระเยซูคริสต์ เราพบว่า พระองค์เป็นทุกข์อย่างยิ่ง มัทธิวใช้ประโยคที่พระเยซูตรัสว่า “ใจของเราเป็นทุกข์แทบจะตาย...” เราสามารถสัมผัสรับรู้ได้ถึงความรู้สึกในความเป็นมนุษย์ของพระองค์ เราได้สัมผัสรับรู้ถึงความทุกข์ ภัยคุกคามถึงชีวิตอันน่าสะพึงกลัวที่กำลังคืบคลานใกล้เข้าพระองค์มาทุกที และจากสถานการณ์ชีวิตของพระองค์นี้เองเราจึงมั่นใจได้ว่า พระองค์มิใช่พระเจ้าที่อยู่เหนือความจริงจำกัดในชีวิตของมนุษย์ แต่ตรงกันข้ามพระองค์ทรงมาเกิดเป็นมนุษย์ รับสภาพความทุกข์ยากลำบากและความจำกัดอย่างที่มนุษย์เราท่านต้องประสบพบเจอ ดังนั้น เราจึงมั่นใจได้ว่า พระองค์ทรงเข้าใจถึงความอ่อนแอในชีวิตของเรา ความทุกข์โศกเศร้าที่เราต้องเผชิญ พระองค์ทรงคุ้นเคยกับความทรมานเจ็บปวด พระองค์ทรงประสบมาแล้วด้วยพระองค์เอง และต้องรับความทุกข์ทรมานแสนสาหัสมากยิ่งกว่าที่เราได้รับในปัจจุบัน


ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญและอภิปราย

1) จากการที่มีโอกาสอ่านพระกิตติคุณในตอนนี้อย่างละเอียดและซึมซับความจริงต่างๆ ในเหตุการณ์นี้ ภาพของพระเยซูคริสต์อธิษฐานในสวนเกทเสมนีในความคิดความรู้สึกของท่านได้เปลี่ยนแปลงเช่นไรบ้าง?

2) พระกิตติคุณตอนนี้ได้ปรับเปลี่ยนการรับรู้เรื่องพระเยซูคริสต์ของท่านอย่างไรบ้าง?

3) ความทุกข์ยาก และ ความโศกเศร้าที่พระเยซูคริสต์ต้องรับ ได้ “ประทับ” หรือ “ฝังใจ” อะไรลงในชีวิตของท่านบ้าง?

4) เมื่อชีวิตของท่านต้องเผชิญกับความทุกข์ยาก ลำบาก ทุกข์โศกแสนสาหัส สิ่งที่ท่านได้เรียนรู้ในวันนี้จะมีส่วนเช่นไรในการเผชิญหน้ากับความทุกข์ยากเหล่านั้น? และมีความแตกต่างอย่างไรบ้างกับการเผชิญหน้าความทุกข์โศกเศร้าในอดีตที่ผ่านมา?


ใคร่ครวญภาวนา

องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพระองค์ บ่อยครั้งที่อ่านเรื่องราวของพระองค์ในพระคัมภีร์ตอนนี้ ข้าพระองค์มักจะอ่านแบบผิวเผิน ข้ามผ่านสาระ ความรู้สึก และความจริงที่พระองค์ทรงเผชิญและต้องรับในสวนเกทเสมนีในค่ำคืนนั้น ท่ามกลางความกดดันภายในจิตใจ สาวกคนสนิทใกล้ชิดสิ้นสภาพหลับใหลไม่เป็นท่า ปลุกอย่างไรก็ไม่ตื่น พวกเขาตกอยู่ในสภาพที่ “ลืมตาไม่ขึ้น” พวกเขามีจิตใจที่อยู่ฝ่ายพระองค์ ใจพร้อมที่จะสู้เพื่อพระองค์ แต่ท่ามกลางสถานการณ์ที่กดดัน พวกเขาไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร หมดแรงกายสิ้นพลังใจ หมดความสามารถที่จะควบคุมสภาพชีวิตของตนเอง

ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า ในวิกฤติชีวิตขณะที่ความตายกำลังคืบคลานเข้าใกล้ทุกที ข้าพระองค์ขอรีบฉวยโอกาสในเวลานี้คุกเข่าชีวิตลงต่ำสุดถึงพื้นดินเพื่ออธิษฐาน ขอใกล้ชิดติดสนิทกับพระองค์ ขอซบหน้าแห่งชีวิตลงบนพื้นดินนั้นเพื่อวางชีวิตที่จำกัดและอ่อนแรงลงบนพระบาทของพระองค์ เพื่อเทความทุกข์โศกแห่งชีวิตที่ได้รับลงต่อหน้าพระพักตร์ของพระองค์อย่างไม่ปิดบังและอับอายต่อพระองค์ ยิ่งจิตใจของข้าพระองค์ทุกข์โศกปวดร้าวแค่ไหนข้าพระองค์ขอ “ซบชีวิตลงอธิษฐาน” ต่อพระองค์มากขึ้นแค่นั้น เพื่อข้าพระองค์จะรอดพ้นจากอำนาจแห่งความชั่วร้ายที่จะเข้ามาครอบงำและกดดันภายในชีวิตของข้าพระองค์ให้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของมัน

ในภาวะความเจ็บปวดและโศกเศร้าในชีวิตเช่นนี้ โปรดช่วยข้าพระองค์ได้เห็นและเรียนรู้ถึงพระประสงค์ของพระองค์ในชีวิตของข้าพระองค์ แม้ว่าพระประสงค์นั้นเป็นสิ่งที่น่ากลัว เกินกว่าชีวิตของข้าพระองค์จะรับได้ในเวลานั้น โปรดควบคุมและป้องกันชีวิตของข้าพระองค์ให้อยู่ในพระหัตถ์แห่งพระเมตตาคุณของพระองค์

ท่ามกลางความกดดัน บีบคั้น และชีวิตภายในที่ฉีกขาดปวดร้าว โปรดประทานจิตใจที่สงบ จิตวิญญาณที่มั่นคงเข้มแข็ง ที่ยืนหยัดชีวิตแห่งสัจจะความจริงได้ด้วยพระกำลังและการทรงชูช่วยจากพระองค์ เพื่อข้าพระองค์จะสามารถเดิน “แบกกางเขน” เคียงข้างพระองค์ไปจนถึงสุดที่หมายปลายทางที่โกละโกธา เพื่อพระองค์จะทรงใช้ชีวิตข้าพระองค์ในพระราชกิจของพระองค์ให้สำเร็จตามพระประสงค์แห่งการเสริมสร้าง “ชีวิตใหม่” ของสังคมโลกใบนี้ใน “เช้าวันใหม่” ที่ความตายไม่สามารถที่จะครอบงำชีวิตมนุษยชาติต่อไป

รังสีความยิ่งใหญ่เป็นของพระองค์แต่ผู้เดียว บัดนี้ และตลอดไปเป็นนิตย์ อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
089-2628-310

28 พฤศจิกายน 2554

ชีวิตในภาวะที่กดดัน (1)

เตรียมรับเสด็จพระคริสต์ภายในชีวิต ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันประเทศไทย

อ่านกิตติคุณลูกา 22:39-46

แล้วพระองค์เสด็จไปจากพวกเขาไกลเท่าระยะหินขว้าง
แล้วทรงคุกเข่าลงอธิษฐาน
(ลูกา 22:41 ฉบับมาตรฐาน)

สวนเกทเสมนีเป็นสวนที่อยู่เชิงเขามะกอกเทศ จนถึงปัจจุบันนี้สวนนี้ยังมีบรรยากาศสงบร่มรื่น ปกคลุมด้วยพันธุ์ไม้เก่าแก่ เช่นต้นมะกอกเทศ ถึงแม้ตามประวัติศาสตร์บริเวณนี้จะเคยถูกทำลายล้างผลาญจากกองกำลังของโรมที่ยกมาล้อมกรุงเยรูซาเล็มก่อนที่จะทำลายกรุงได้สำเร็จในปี ค.ศ. 70 ก็ตาม แต่ในปัจจุบันยังมีต้นไม้ปกคลุมอย่างมากมาย เชื่อว่าต้นไม้เก่าแก่เหล่านี้งอกใหม่จากรากเดิมของต้นที่ถูกทำลาย

ลูกา 22:39-46 บันทึกถึงการอธิษฐานที่เกิดการต่อสู้ภายในจิตใจด้วยความทรมานปวดร้าวของพระเยซูคริสต์ในสวนเกทเสมนีเพียงสั้นๆ แท้จริงแล้วหมอลูกาไม่ได้เอ่ยถึงชื่อสวนเกทเสมนีด้วยซ้ำ กล่าวเพียงว่า ที่ที่พระเยซูไปอธิษฐานนั้น “ไกลเท่าระยะทางหินขว้าง” แต่ที่เรารู้ว่าเป็นสวนเกทเสมนีเพราะในพระกิตติคุณมาระโก 14:32 ได้บันทึกรายละเอียดนี้ไว้ ผู้ที่เคยไปเยี่ยมชมสถานที่นี้เล่าว่า สวนเกทเสมนีอยู่ที่เชิงเขามะกอกเทศ จากการบันทึกของหมอลูกาสันนิษฐานได้ว่า พระเยซูและสาวกคงมาที่ภูเขามะกอกเทศบ่อยครั้ง อาจจะเป็นที่ที่พระเยซูคริสต์ใช้เป็นที่พูดคุย บ่มเพาะ เสริมสร้างสาวกของพระองค์ และที่แน่นอนคือเป็นที่ที่อธิษฐานของพระเยซูและสาวกของพระองค์ด้วย ในลูกา 22:39 บันทึกไว้ว่า “พระองค์เสด็จออกไปที่ภูเขามะกอกเทศตามเคย...” แต่ครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อนๆ เพราะครั้งนี้มิได้เป็นการอธิษฐานอย่างที่เคย แต่พระเยซูคริสต์แยกตัวออกไปอธิษฐานจริงจังด้วยความทุกข์สุดกำลัง ทรงเทกายเทใจเทชีวิตของพระองค์ออกมาต่อหน้าพระพักตร์พระบิดา “เมื่อพระองค์ทรงเป็นทุกข์ พระองค์ก็ยิ่งทรงอธิษฐานอย่างจริงจัง...” (ลูกา 22:44 ฉบับมาตรฐาน)

ในปัจจุบันนี้สวนเกทเสมนียังเป็นสวนที่สงบเงียบแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับเสียงอึกทึกครึกโครมของบรรยากาศในกรุงเยรูซาเล็มที่เป็นอยู่ ท่ามกลางความสงบเงียบ ที่ภายในชีวิตจิตใจของพระเยซูคริสต์กำลังทุกข์และเจ็บปวดอย่างที่สุด ภาพของความตายที่กำลังคืบคลานเข้ามา ความเจ็บปวดและทรมานที่ถูกตรึงบนกางเขน และซ้ำร้ายกว่านั้น การที่จะต้องถูกทอดทิ้งจากสาวก คนสนิทใกล้ชิด คนที่พระองค์ไว้วางใจ และถูกแยกออกจากพระบิดา

ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญและอภิปราย
เมื่อท่านอ่านถึงสภาพการณ์ชีวิตในตอนนี้ของพระเยซูคริสต์

1) ท่านคิดถึงสถานการณ์ช่วงใดในชีวิตของท่านที่ต้องเผชิญหน้ากับความทุกข์ใจแสนสาหัส กังวล สับสน กดดัน เจ็บปวดลงลึกในชีวิตและจิตใจของท่าน?

2) เมื่อท่านต้องเผชิญกับวิกฤติชีวิตในครั้งนั้น ท่านได้ทำอะไร และอย่างไรบ้างในเวลานั้น?

3) สำหรับพระเยซูแล้ว พระองค์คุกเข่าลงอธิษฐาน เมื่ออ่านถึงการอธิษฐานในครั้งนี้ของพระเยซูคริสต์ได้จุดประกายความเข้าใจอะไรบ้างสำหรับท่าน?

4) ท่านคิดเห็นและรู้สึกเช่นไรกับการอธิษฐานของพระเยซูคริสต์ในสวนเกทเสมนีครั้งนี้?

5) ท่านได้บทเรียนอะไรบ้างจากการอธิษฐานของพระเยซูคริสต์? และสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันของท่านได้อย่างไร?

6) ท่านคิดว่า สาวกของพระเยซูคริสต์รู้สึกหรือไม่ว่า วิกฤติกำลังคืบคลานเข้ามา? ทำไมพวกเขาถึงรู้สึกเช่นนั้น?

7) มีบางครั้งที่ชีวิตของท่านต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติ แต่ชีวิตกลับเป็นเหมือนสาวกของพระเยซูคริสต์ที่ “หลับใหลไม่ได้สติ” หรือไม่? ถ้าท่านเคยมีประสบการณ์เช่นนี้ ทำไมชีวิตตอนนั้นของท่านถึงตกอยู่ในสภาพเช่นนั้น?

บทใคร่ครวญภาวนา

ข้าแต่พระเจ้า เมื่อชีวิตของข้าพระองค์ต้องเผชิญหน้ากับความกดดัน ปวดร้าวแสนสาหัส โปรดกระตุ้นเตือนข้าพระองค์ให้ตระหนักว่า การหันหน้าเข้าหาพระองค์ การคุกเข่าลงสนทนาปรึกษาและระบายความในใจต่อพระองค์เป็นทางเลือกที่ล้ำค่าในภาวะชีวิตกดดันเช่นนี้

เมื่อใดก็ตาม ที่ข้าพระองค์หาทางออกจากความกดดันในชีวิตไม่ได้ เมื่อต้องสูญเสียพลังชีวิต จนชีวิตตกอยู่ในสภาพที่หมดแรง อ่อนล้า สิ้นหวัง และ ที่สำคัญที่ชีวิตอยู่ในสภาพที่สิ้นคิด จนชีวิตต้องตกอยู่ในสภาพที่หลับใหลไม่ได้สติเช่นสาวกของพระคริสต์ โปรดปลุกข้าพระองค์ให้ตื่นขึ้นที่จะเข้าใกล้ชิดกับพระองค์

ในวันนี้ โปรดให้ข้าพระองค์มีความไวต่อความรู้สึกของเพื่อนรอบข้าง เพื่อนที่ว้าเหว่ สิ้นหวัง เพื่อนบ้านที่มีชีวิตตกอยู่ในภาวะกดดัน เจ็บปวดด้วยบาดแผลในชีวิต โปรดทรงใช้ข้าพระองค์เป็นเครื่องมือของพระองค์ ที่จะช่วยให้เขาได้คุกเข่าชีวิตลง อธิษฐานปรึกษา และ ระบายความในใจกับพระองค์ เพื่อเขาจะได้กำลัง ความกล้า และอดทนที่จะเผชิญฝ่าฝันวิกฤติชีวิตของเขาด้วยพระกำลังจากเบื้องบน

เพื่อเขาและข้าพระองค์จะได้สัมผัสกับพระหัตถ์แห่งความรักเมตตาของพระองค์ เพื่อทั้งเขาและข้าพระองค์จะได้เรียนรู้ว่าพระองค์มีพระประสงค์เช่นใดในชีวิตของข้าพระองค์แต่ละคน แล้วขอให้ทั้งเขาและข้าพระองค์สามารถดำเนินชีวิตตามพระประสงค์นั้นจนสำเร็จเป็นรูปธรรม

ดั่งเช่นพระเยซูคริสต์ ที่ได้รับพระประสงค์ของพระบิดาที่สวนเกทเสมนี และ เดินไปบนเส้นทางแห่งกางเขน สู่จุดสุดยอดที่ภูเขากะโหลกศีรษะ และสำเร็จเป็นรูปธรรมในรุ่งอรุณวันอาทิตย์ที่พระคริสต์ได้นำชีวิตใหม่มาสู่มวลชน อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
098-2628-310

21 พฤศจิกายน 2554

ถอดบทเรียนการสร้างสาวกแบบพระคริสต์: ทรงเริ่มที่เปลี่ยนวิธีคิดและความเชื่อ

การสร้างสาวกที่ผ่านมาเรามักติดยึดอยู่กับกระบวนการ “เรียนรู้นำสู่ปฏิบัติ” แล้วก็ให้ความสำคัญกับเนื้อหาคำสอน มักจะสร้างสาวกด้วยการสั่งสอน ตามด้วยคาดหวังให้สาวกกระทำตาม หรือไม่ก็สร้างสาวกด้วยการสอนการเทศน์โดยคาดหวังที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพัฒนาพฤติกรรมตามที่ต้องการในชีวิตของสาวกคนนั้น กล่าวโดยภาพรวมแล้ว ที่ผ่านมาเรามักคิดว่า เมื่อเรา “ใส่” ข้อมูล ความรู้ ลงในคนเรียนแล้ว ความรู้นั้นจะไปเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้เรียนคนนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นย้ำซ้ำมาตลอดบอกเราแล้วว่านั่นมันไม่เป็นความจริงเช่นนั้น

แต่สำหรับพระเยซูคริสต์แล้ว การสร้างสาวกของพระองค์มิได้เริ่มต้นที่การสอนเนื้อหา บทบัญญัติ หรือพฤติกรรมที่พระองค์พึงประสงค์ แต่พระองค์เริ่มต้นกระบวนการที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวิธีคิด ความคิดและความเชื่อ สิ่งแรกที่พระองค์ทรงประกาศคือ “จงกลับใจเสียใหม่” พระเยซูคริสต์หมายถึงการเปลี่ยนวิธีคิด ความคิด ความเชื่อ และความเข้าใจเสียใหม่ เพราะถ้าวิธีคิดเปลี่ยน ความคิดความเชื่อเปลี่ยน มุมมองหรือทัศนคติก็จะเปลี่ยนด้วย การเปลี่ยนแปลงที่รากฐานเช่นนี้เป็นพลังส่งแรงกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่แสดงออกมาในชีวิต และนั่นจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งชีวิต พระเยซูคริสต์ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของคนที่เต็มใจเป็นสาวกของพระองค์

การสร้างสาวกแบบพระเยซูคริสต์ พระองค์กระทำเป็นกระบวนการ เป็นการสร้างท่ามกลางสถานการณ์จริงในชีวิตของคนๆ นั้นในเวลานั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างสาวกที่เริ่มต้นให้เกิดการเปลี่ยนวิธีคิด ความคิดและความเชื่อ เพื่อให้เกิดพลังที่นำสู่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติ มุมมองเรื่องต่างๆ ในชีวิต ให้เกิดความเข้าใจ เกิดการตระหนักชัดและความสำนึก จนตัดสินใจลงมือกระทำ และกระทำอย่างต่อเนื่อง มั่นคง จนกลายเป็นวินัยชีวิตนั้น การเรียนรู้และการสร้างเช่นนี้พระเยซูคริสต์สำแดงให้เห็นชัดว่า ต้องกระทำในสถานการณ์ชีวิตจริงของสาวกที่พระองค์กำลังสร้างนั้น ซึ่งเราสามารถถอดบทเรียน หรือ กระบวนการจากที่พระองค์ทรงใช้ จากพระคัมภีร์ตอนต่างๆ เกี่ยวกับพระองค์ได้ ซึ่งในที่นี้เราจะร่วมกัน ถอดรหัส ถอดกระบวนการ และบทเรียนที่ได้จากการที่พระองค์ใช้ในกระบวนการสร้างสาวก โดยใช้เหตุการณ์เรื่องราวที่เราคุ้นชินรู้เรื่องทุกคนคือ การที่พระเยซูคริสต์เลี้ยงฝูงชนที่นับเฉพาะผู้ชายมีถึงห้าพันคน โดยขอใช้เรื่องราวการบันทึกของ มาระโก 6:30-44 ที่พระเยซูคริสต์กำลังสร้างสาวกที่ติดตามพระองค์ โดยเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนวิธีคิด ความคิด และความเชื่อใหม่

สร้างสาวกจากภาวะวิกฤติ

... พอตกเย็นเหล่าสาวกจึงมาทูลว่า “ที่นี่ห่างไกลนักและตกเย็นแล้ว ขอทรงให้ประชาชนเหล่านี้ไปเสียเถิดเพื่อเขาจะได้ซื้อหาอาหารกินกันเองตามหมู่บ้านรอบๆ
แต่พระองค์ตรัสตอบว่า “พวกท่านจงเลี้ยงพวกเขาเถิด”
เหล่าสาวกทูลว่า “นี่จะต้องใช้เงินเท่ากับค่าจ้างคนงานคนหนึ่งถึงแปดเดือนทีเดียว เราต้องใช้เงินมากขนาดนั้นไปซื้ออาหารมาให้เขากินหรือ”
พระองค์ตรัสถามว่า “พวกท่านมีขนมปังกี่ก้อนไปดูซิ”
เมื่อรู้แล้วพวกเขาจึงกลับมาทูลว่า “มีขนมปังห้าก้อนกับปลาสองตัว”
...
พระเยซูทรงรับขนมปังห้าก้อนและปลาสองตัวนั้นมา ทรงเงยพระพักตร์ขึ้นมองฟ้าสวรรค์แล้วขอบพระคุณพระเจ้า และหักขนมปังส่งให้เหล่าสาวก พวกเขาก็แจกจ่ายให้ประชาชน พระองค์ยังทรงแบ่งปลาสองตัวให้คนทั้งปวงโดยทั่วกันด้วย (มาระโก 6:35-42 อมตธรรม)
เมื่อทุกคนอิ่มแล้ว พระองค์ตรัสสั่งเหล่าสาวกว่า “จงเก็บรวบรวมเศษที่เหลือ อย่าให้เสียของ”
พวกเขาจึงเก็บเศษที่เหลือจากขนมปังบาร์เลย์ห้าก้อนไปเต็มสิบสองตะกร้า” (ยอห์น 6:12 อมตธรรม)

เมื่อมองสถานการณ์ ท่านมองเห็นอะไร?

ภาวะวิกฤติอาจจะนำมาซึ่งความท้อแท้ อ่อนล้า ระอาใจ แต่สำหรับบางคนวิกฤติกลับเป็นโอกาสการเสริมสร้างสิ่งใหม่ในชีวิต และความกล้าแกร่งแก่ตนเอง แต่ที่สำคัญกว่านี้คือ เมื่อคนๆ หนึ่งตกในสถานการณ์นั้นๆเขาเห็นถึง “วิกฤติ” หรือไม่? หรือเขามองว่า ไม่เห็นมีวิกฤติอะไรเลย!

จากพระคัมภีร์ตอนข้างต้นที่ยกมา สาวกไม่เห็นวิกฤติ เขาเห็นแค่เหตุการณ์แต่ไม่เห็นวิกฤติ เขามองเห็นแค่ว่า ตกเย็นแล้ว ถึงเวลารับประทานอาหารแล้ว พระองค์ควรปล่อยให้ประชาชนไปซื้อหาอาหารกินเอง และถ้าปล่อยให้ประชาชนรับผิดชอบไปซื้อหาอาหารกินเอง ปัญหาก็จะได้รับการแก้ไข เมื่อไม่มีปัญหาก็ไม่มีวิกฤติ(สำหรับสาวก แต่วิกฤติของประชาชนสาวกไม่สนใจ เพราะคนจำนวนมากเช่นนั้น แม้จะมีเงินแต่จะไปซื้ออาหารมากมายเช่นนี้จากใครในหมู่บ้านชนบท) แต่พระเยซูคริสต์ทรงเห็นวิกฤติ พระองค์จึงตรัสตอบสาวกว่า “พวกท่านจงเลี้ยงพวกเขาเถิด” (ข้อ 37)

อะไรที่ทำให้สาวก และ พระเยซูมองในเหตุการณ์เดียวกันแต่มองเห็นแตกต่างกัน? อะไรที่ทำให้คนหนึ่งเห็นวิกฤติ แต่อีกคนหนึ่งมองว่าไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ถ้าเรากลับย้อนไปอ่านพระคัมภีร์ข้อก่อนหน้านี้ ที่จริงพระเยซูชวนเหล่าสาวก “ไปยังที่สงบเงียบ” (ข้อ 32) แต่ประชาชนวิ่งจากเมืองต่างๆ ตามพระเยซูไป มาระโกบันทึกชัดเจนว่า “เมื่อพระเยซูทรงขึ้นจากเรือ และเห็นคนหมู่ใหญ่ก็ทรง สงสาร เพราะพวกเขาเป็นเหมือนแกะที่ไม่มีคนเลี้ยง” (ข้อ 34) พระองค์เปลี่ยนจากการหาที่สงบเงียบ มาอยู่กับฝูงชนกลุ่มนี้ เพราะพระเยซูคริสต์มองฝูงชน “ด้วยใจที่เปี่ยมไปด้วยเมตตาคุณ” คำว่า “สงสาร” ในที่นี้ทำให้เราคิดถึงคำอุปมาเรื่อง “ชาวสะมาเรียผู้มีใจเมตตา” ที่พระเยซูคริสต์เล่า บอกว่า “แต่ชาวสะมาเรียคนหนึ่งเดินทางมาถึงที่ที่คนนั้นอยู่ เมื่อเห็นเขาก็ สงสาร...” (ลูกา 10:33 อมตธรรม) คือเป็นความรู้สึกที่มาจากส่วนลึกก้นบึ้งแห่งจิตใจ หรือที่บอกว่าเป็นความรู้สึกที่ลุ่มลึกจากลำไส้

การมองสถานการณ์หรือเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ด้วย “จิตใจที่เมตตา” ทำให้ผู้มองสามารถเห็นวิกฤติ เพราะผู้มองเหตุการณ์นั้นมองด้วยความสำนึกว่า ตนเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์นั้น ตนต้องการที่จะรับผิดชอบต่อสถานการณ์นั้น

แต่ถ้ามองสถานการณ์เดียวกันนั้นด้วยตรรกะ แล้วสรรหาเหตุผลสารพัดเพื่อยืนยันความเข้าใจต่อเหตุการณ์นั้นว่าถูกต้อง ก็จะใช้หลักการบริหารจัดการแบบ “ปัดสวะ” “โยนกอง” ออกไปรอบๆ ให้ความรับผิดชอบห่างพ้นไกลตัว จึงมองไม่เห็นวิกฤติ หรือมองว่าถ้ามันจะมีวิกฤติก็เป็นวิกฤติ “ของเขา” มิใช่วิกฤติของตน คนอื่นต้องแก้ปัญหา ต้องรับผิดชอบ ดังนั้น เมื่อสาวกเห็นว่าจะค่ำแล้ว ถึงเวลารับประทานอาหารแล้ว จึงบอกพระเยซูว่าให้ปล่อยประชาชนไปในหมู่บ้านหาที่พักหาอาหารกินกันเอง สาวกมองไม่เห็นวิกฤติ มองเห็นแต่เหตุการณ์! และเสนอวิธีการบริหารจัดการเหตุการณ์นั้นแบบไร้ความสำนึกรับผิดชอบ

กระบวนการสร้างสาวกของพระเยซูคริสต์

สิ่งแรก เมื่อพระองค์จะสร้างสาวกเหล่านี้ให้มีวิธีคิด วิธีเชื่อ และวิธีมองใหม่ พระองค์ “ผลัก” สาวกให้เข้าไปในวิกฤติกาลครั้งนั้น พระเยซูบอกกับสาวกว่า “พวกท่านจงเลี้ยงพวกเขาเถิด” (ข้อ 37) พระองค์ดึงเหล่าสาวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในเหตุการณ์นั้น ยิ่งกว่านั้นให้มีส่วนรับผิดชอบในสถานการณ์นั้น

ทั้งนี้พระเยซูคริสต์มิเพียงแต่ที่จะให้สาวกคิดและเข้าใจว่า เขาจะต้องมีส่วนร่วมทุกข์ร่วมสุขร่วมรับผิดชอบกับประชาชนในเหตุการณ์นี้เท่านั้น แต่พระองค์กำลังจะสร้างความเข้าใจใหม่แก่สาวกว่า ในทุกวิกฤติถ้าเราไม่หลีกลี้หนีไปให้ห่าง แต่ยอมอยู่ในวิกฤตินั้นด้วยความเชื่อและไว้วางใจในพระเจ้า จะเป็นโอกาสที่เราจะเห็นถึงพระราชกิจแห่งพระคุณของพระองค์ และพระราชกิจเหล่านั้นที่จะเสริมสร้างสาวกให้เติบโต เข้มแข็ง และเกิดคุณค่าความหมายในชีวิต

ประการที่สอง เมื่อพระเยซูดึงเหล่าสาวกเข้ามาอยู่ท่ามกลางวิกฤติในตอนนั้น โดยบอกพวกเขาให้เลี้ยงประชาชน ทันทีเราได้เห็นวิธีคิดและความคิดของสาวกที่มีอยู่ เขาตอบพระเยซูว่า “นี่จะต้องใช้เงินเท่ากับค่าจ้างคนงานคนหนึ่งถึงแปดเดือนทีเดียว (หรือสำนวนเดิมคือ สองร้อยเดนาริอัน หนึ่งเดนาริอันคือค่าจ้างแรงงานคนหนึ่งในหนึ่งวัน) เราต้องใช้เงินมากขนาดนั้นไปซื้ออาหารมาให้เขากินหรือ”

สิ่งที่สาวกคิดได้ทันทีคือ มันเป็นความรับผิดชอบของเราต่ออาหารการกินของประชาชนด้วยหรือ? เราไม่ได้บอกพวกเขาว่าเราจะเลี้ยงอาหารพวกเขา ที่พระองค์ทรงรักษาโรค ทรงขับผี และทรงสั่งสอนก็เป็นสิ่งที่เกินพอเสียอีก เราจะต้องซื้อหาอาหารมาเลี้ยงพวกเขาด้วยหรือ? (คิดด้วยหลักการ ตรรกะ เหตุผล)

ความคิดที่สองคือ “มันต้องใช้เงิน(ต้องมีงบประมาณ)” นี่เราจะต้องใช้เงินมหาศาล เราไม่มีเงินมากมายขนาดนั้น พระองค์รู้ไหมเราต้องใช้เงินเท่ากับค่าจ้างคนทำงานคนหนึ่งที่ทำงานนานถึงประมาณ 8 เดือนเลยเชียวนะ มันไม่ใช่วิกฤติของเรา เราจึงไม่ต้องรับผิดชอบ ถึงเราจะรับผิดชอบเราก็ไม่มีกำลังพอ (คำพูดแบบนี้คุ้นๆ หูอยู่ใช่ไหมครับ) สาวกบอกพระเยซูคริสต์ตรงๆ ว่า เราไม่สามารถทำอะไรในวิกฤติกาลครั้งนี้

ประการที่สาม การเปลี่ยนวิธีคิด วิธีเชื่อ ของสาวกในเหตุการณ์ครั้งนี้ พระองค์ส่งสาวกลงไปค้นหาความจริงด้วยตนเอง ความจริงที่ต้องค้นหาในวิกฤติครั้งนี้คือ การค้นหา “ศักยภาพ” หรือ “ของประทาน” ที่มีอยู่ในคน(ทั้งตนเองและคนอื่น) และชุมชนในสถานการณ์วิกฤตินั้น และสิ่งที่สาวกค้นพบในชุมชนวิกฤติครั้งนั้นคือ “ขนมปังห้าก้อนกับปลาสองตัว” และเด็กที่มีจิตใจเอื้อเฟื้อที่ยอมให้อาหารของตนแก่สาวก

แต่ในความคิดของสาวกก็คือ อ้ายแค่เศษอาหารจิ๊บจ้อยนี้จะพออะไรกับฝูงชนจำนวนมากมาย พวกเขาบอกพระเยซูว่า “เด็กคนหนึ่งที่นี่มีขนมปังบาร์เลย์ห้าก้อนกับปลาเล็กๆ สองตัว แต่จะพออะไรกับคนมากมายขนาดนี้” (ยอห์น 6:9 อมตธรรม)

ในวิกฤติกาลเช่นนี้ พระเยซูต้องการเปลี่ยนความคิดของสาวกว่า ในชีวิตนี้ความสำเร็จหรือการแก้ปัญหามิใช่ขึ้นอยู่กับการมีทรัพยากรจำนวนมากหรือน้อย แต่ขึ้นอยู่กับการทรงจัดเตรียมของพระเจ้า และเราจะยอมใช้สิ่งที่พระองค์จัดเตรียมสำหรับเราที่จะใช้ในงานของพระองค์หรือไม่ แต่โดยปกติแล้วคนที่มองข้ามวิกฤติก็จะไม่มองหาของประทานที่พระองค์ทรงจัดเตรียมไว้ล่วงหน้า พระเยซูคริสต์จึงหนุนเสริมให้สาวกลงไปค้นหาของประทานในชุมชนนั้นด้วยตัวของสาวกเอง

ประการที่สี่ ในเหตุการณ์ครั้งนี้ พระเยซูคริสต์ทรงเปลี่ยนวิธีคิดวิธีเชื่อของเหล่าสาวกจากการที่จะฝ่าวิกฤติด้วยความเชื่อมั่นใน “เงินทองงบประมาณ” “ทรัพยากร” และความสามารถของตนเองที่มีอยู่ แต่พระองค์สำแดงให้เห็นชัดว่า วิกฤติครั้งนี้จะฝ่าผ่านไปได้ก็ด้วยสำนึกว่า การเปลี่ยนวิกฤติครั้งนี้คือ พระราชกิจอันทรงพระคุณของพระเจ้า และพระองค์เชิญชวนสาวกของพระองค์เข้ามีส่วนร่วมในพระราชกิจอันทรงคุณครั้งนี้ด้วย

พระเยซูทรงรับขนมปังห้าก้อนและปลาสองตัวนั้นมา ทรงเงยพระพักตร์ขึ้นมองฟ้าสวรรค์แล้วขอบพระคุณพระเจ้า และหักขนมปังส่งให้เหล่าสาวก พวกเขาก็แจกจ่ายให้ประชาชน พระองค์ยังทรงแบ่งปลาสองตัวให้คนทั้งปวงโดยทั่วกันด้วย ในวิกฤติของมนุษย์เป็นโอกาสที่พระเจ้าจะทรงสำแดงความเมตตากรุณาแก่ประชาชน วิกฤติของมนุษย์เป็นโอกาสที่มนุษย์และองค์พระผู้เป็นเจ้าได้ใกล้ชิดสนิทสนมกันมากยิ่งขึ้น ในวิกฤตินั้นเองที่พระเจ้าทรงเปิดโอกาสให้เราได้มีส่วนร่วมรับใช้ในพระราชกิจของพระองค์ และที่สำคัญคือในวิกฤตินั้นเองที่เราได้รับการเรียนรู้ใหม่ๆ จากพระเจ้า ทำให้เราเกิดการเปลี่ยนในความคิดความเชื่อ ในทัศนคติและมุมมอง และเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและการดำเนินชีวิตไปในทางที่พระองค์ประสงค์ วิธีการที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงความคิดความเชื่อในขั้นนี้คือ การที่พระองค์เชิญชวนให้เราเข้ามาร่วมในพระราชกิจของพระองค์ ลงมือกระทำด้วยตนเอง และได้รับประสบการณ์ตรงจากการลงมือทำครั้งนั้น ดั่งสาวกที่ได้รับขนมปังและปลาจากที่พระองค์ทรงหักแล้วนำไปแจกจ่ายแก่ประชาชน

ประการสุดท้าย พระองค์บ่มเพาะเสริมสร้างเราให้เป็นสาวกของพระองค์ด้วยการตอกย้ำความคิดความเชื่อที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงให้เป็นความคิดความเชื่อที่ยั่งยืน ไปสู่การเป็นสำนึกที่ตระหนักชัด สู่การเป็นวินัยชีวิตที่เป็นอุปนิสัยคริสเตียนของเราแต่ละคน

ท่ามกลางความอัศจรรย์ใจของเหล่าสาวก และ รู้สึกตื่นเต้นกับเหตุการณ์ยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้นที่ตนเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างเต็มตัว แล้วยังชื่นชมกับการที่ได้เลี้ยงอาหารคนจำนวนมากมายให้อิ่มหนำสำราญ พระเยซูคริสต์ตรัสสั่งให้สาวกรวบรวมเศษอาหารที่เหลือได้ 12 ตะกร้าเต็ม (6:43 อมตธรรม)

นี่คือกระบวนการประมวลให้เกิดเป็นองค์ความรู้จากเหตุการณ์ครั้งนี้ การประมวลมิได้กระทำด้วยการสรุปเป็นหลักการของพระเยซูคริสต์ แต่พระองค์ประมวลโดยให้สาวกแต่ละคน “นับพระพร” คือลงไปเก็บเศษอาหารที่เหลือด้วยตนเอง สาวกต้องทึ่งอย่างมากเมื่อพบว่าอาหารที่เหลือมีมากถึง 12 ตะกร้า การได้เห็นถึงพระพรและพระคุณของพระเจ้าเช่นนี้เป็นภาพที่ย้ำเตือนในความคิดและความทรงจำของสาวกไปตลอดชีวิต และสิ่งนี้ภายหลังได้สะท้อนออกมาในคำกล่าวและการทำพันธกิจของเปโตรที่มีต่อคนง่อยที่หน้าประตูงามว่า เงินและทองเราไม่มี แต่สิ่งที่เรามีคือ ในพระนามพระเยซูคริสต์แห่งนาซาเร็ธจงเดินเถิด (กิจการ 3:6)

การสร้างสาวกไม่ได้สร้างแต่ความรู้เท่านั้น การสร้างสาวกเป็นการพัฒนาเปลี่ยนแปลงทั้งชีวิตจากพระเจ้า เริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงที่รากฐานของชีวิตคือ ความคิดและความเชื่อ มุมมองและทัศนคติ พฤติกรรมและการดำเนินชีวิต ให้เปลี่ยนแปลงไปตามพระประสงค์ของพระเจ้า แน่นอนว่า องค์ความรู้เป็นส่วนหนึ่งที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิต แต่การก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงความคิดความเชื่อจะต้องไม่มองข้ามหรือหลีกเลี่ยงวิกฤติในชีวิต เพราะนั่นคือโอกาสที่พระเจ้าจะทรงเปลี่ยนแปลงชีวิตของเรา เราต้องพร้อมที่ลงมือกระทำตามที่พระเจ้าทรงนำ การฟันฝ่าวิกฤติเป็นพระราชกิจของพระเจ้าที่ท้าทายและเชิญชวนให้เราเข้าไปมีส่วนร่วม และจะต้องเริ่มต้นการร่วมในพระราชกิจการเปลี่ยนแปลงตามแผนการที่พระเจ้าทรงเตรียมไว้ และจากของประทานที่มีอยู่ในชุมชนและคนในชุมชน แม้จะเป็นสิ่งที่เล็กน้อยปานใดก็ตาม การสร้างสาวกต้องพบความจริงด้วยประสบการณ์ตรง และการประมวลประสบการณ์เป็นองค์ความรู้สู่การพัฒนาเป็นความสำนึกตระหนักชัด และยึดมั่นดำเนินชีวิตตามแนวทางที่ได้รับการทรงเปลี่ยนตามพระประสงค์นั้น

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
แม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
เดือนระลึกพระคริสต์ธรรมแมคกิลวารี พฤศจิกายน 2011

11 พฤศจิกายน 2554

ผู้นำในชุมชนแผ่นดินของพระเจ้า (3)

อ่านลูกา 22:24-30

มีการโต้เถียงกันในพวกสาวกว่าใครในพวกเขาที่นับว่าเป็นใหญ่ พระองค์จึงตรัสกับพวกเขาว่า “กษัตริย์ของคนต่างชาติย่อมเป็นเจ้านายเหนือเขาทั้งหลาย และผู้ที่มีอำนาจเหนือเขานั้นเรียกตัวเองว่าเจ้าบุญนายคุณ แต่พวกท่านจะไม่เป็นอย่างนั้น ในพวกท่านคนที่เป็นใหญ่ต้องเป็นเหมือนเด็ก และคนที่เป็นนายต้องเป็นเหมือนผู้ปรนนิบัติ (ลูกา 22:24-26)


จากบทใคร่ครวญเรื่อง “ผู้นำในชุมชนแผ่นดินของพระเจ้า” ตอนที่ 2 ที่ผ่านมา เราลงท้ายด้วยคำพูดของพระเยซูคริสต์ที่ว่า “แต่เราอยู่ท่ามกลางพวกท่านเหมือนคนรับใช้” (22:27) และการรับใช้ของพระองค์เป็นการรับใช้ถึงขนาดสละชีวิตของพระองค์ เพื่อคนอื่นจะได้ชีวิต ซึ่งเป็นคนรับใช้ที่ทนทุกข์ตามที่อิสยาห์ได้กล่าวถึงล่วงหน้าในบทที่ 52 และ 53

ถ้าการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูคริสต์เป็นการสำแดงถึงสาระสำคัญของการรับใช้ที่แท้จริงแล้ว เราก็จะเริ่มเข้าใจชัดถึงความคิดของพระองค์เกี่ยวกับผู้นำที่รับใช้ ในที่นี้พระเยซูคริสต์มิได้มีความคิด “ให้เพื่อที่ตนจะได้” พระองค์มิได้บอกให้ผู้นำเลิกที่จะใช้สิทธิอำนาจของการเป็นผู้นำ และมุ่งที่จะทำทุกสิ่งตามที่คนอื่นต้องการให้เขากระทำ ต้องไม่ลืมว่าพระองค์ดำเนินไปสู่กางเขนทั้งๆ ที่สาวกเห็นว่าเป็นการกระทำที่โง่เขลา แต่พระองค์ก็มิได้ยอมอ่อนผ่อนตามสิ่งที่สาวกต้องการให้พระองค์กระทำ พระองค์ได้สอนเราถึงการใช้สิทธิอำนาจที่แตกต่างจากการใช้สิทธิอำนาจแบบโลกนี้ แต่พระองค์ทรงกระทำด้วยสิทธิอำนาจตามความเชื่อมั่นที่ถูกต้องของพระองค์ พระองค์มิได้ถูกครอบงำด้วยผลวิจัยของโพลล์สำนักต่างๆ หรือทำตามความคิดเห็นแบบประชานิยม ตามที่ Howard E. Butt, Jr.,เคยกล่าวไว้ว่า “พระเยซูคริสต์เป็นผู้ที่ทรงถ่อมลงอย่างสมบูรณ์แบบ แต่ในเวลาเดียวกันพระองค์ทรงเป็นผู้นำที่ยืนหยัดมั่นคงเข้มแข็ง พระองค์ทรงสำแดงออกถึงจิตวิญญาณของผู้ตามและในเวลาเดียวกันจิตวิญญาณของผู้นำด้วย”

ในการทรงใช้สิทธิอำนาจของพระเยซู พระองค์ทรงเลือกที่จะใช้เพื่อการรับใช้ประชาชน พระองค์ทรงใช้กระทำในพระราชกิจที่เป็นคุณแก่ประชาชน ด้วยการรักษาคนเจ็บป่วยให้หาย ทรงขับไล่วิญญาณชั่วให้ออกจากการครอบงำบังคับผู้คน ทรงเลี้ยงผู้หิวโหย ที่พระองค์กระทำเช่นนี้เพื่อเป็นการแบ่งปันสิ่งที่เป็นพระคุณแห่งแผ่นดินของพระเจ้าแก่คนทั้งหลาย มิใช่ให้แก่คนชั้นสูง แต่แก่มวลชนคนสามัญทั้งหลายด้วย เป้าหมายปลายทางสูงสุด พระองค์ทรงกระทำในสิ่งที่สาวกที่ติดตามพระองค์ไม่ต้องการให้พระองค์กระทำ คือการที่พระองค์อุทิศเสียสละชีวิตของพระองค์ ด้วยการกระทำนี้ พระคริสต์ได้รับใช้เขาในสิ่งที่เขาคาดคิดไม่ถึง

“ผู้นำแบบคนรับใช้” ได้ใช้สิทธิอำนาจในการเป็นผู้นำของตนเพื่อทำสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผู้คนที่เขานำ เขามิได้ใช้สิทธิอำนาจเพื่อความยิ่งใหญ่ของตนเอง เขามิได้สร้างตนให้เป็นเจ้าบุญนายคุณในชีวิตของคนที่ติดตามเขา หรือสร้างตนให้เป็น “ผู้มีพระคุณ” ของคนอื่น แต่ผู้นำแบบคนรับใช้กลับใช้สิทธิอำนาจที่จะหนุนเสริมเพิ่มพลังชีวิตแก่คนที่เขานำ และแน่นอนครับ คงต้องมีบางเวลาที่ผู้นำแบบคนใช้กล้าหาญพอที่จะกระทำในสิ่งที่คนติดตามใกล้ชิด สาวก พรรคพวก หรือลิ่วล้อไม่ต้องการให้เขากระทำ เฉกเช่นในกรณีที่พระเยซูคริสต์ใช้สิทธิอำนาจที่จะเลือกยอมเสียสละชีวิตของพระองค์ แต่ทั้งสิ้นนี้ผู้นำแบบผู้รับใช้เลือกที่จะกระทำและใช้สิทธิอำนาจของการเป็นผู้นำให้นำมาซึ่งสิ่งที่ถูกต้อง และเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคนที่เขานำ

ตัวอย่างที่ตรึงแน่นในความทรงจำของผมคือ เรื่องราวที่พระราชบิดามาทรงงาน ณ โรงพยาบาลแมคคอร์มิคเชียงใหม่ แค่ที่พระองค์เสด็จมาทรงงานที่โรงพยาบาลแมคคอร์ที่อยู่หัวเมืองก็เป็นเรื่องราวที่เหลือเชื่อเกินความคาดคิดของปุถุชนคนธรรมดาในเวลานั้น แต่มีเหตุการณ์ที่เหลือเชื่อกว่านี้เกิดขึ้นครับ

ในช่วงที่พระราชบิดาทรงงานที่โรงพยาบาลแมคคอร์มิคเชียงใหม่ ได้เกิดอุบัติเหตุเด็กนักเรียนโรงเรียนปรินส์รอยแยลฯ เด็กชายบุญยิ่ง ถูกปืนลั่นที่บ้าน ลูกกระสุนเจาะเข้าที่ใต้รักแร้ เนื่องจากอยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาลจึงต้องใช้เวลาเดินทางนานทำให้เด็กเสียเลือดอย่างมาก เมื่อมาถึงโรงพยาบาลแมคคอร์มิคผู้ป่วยมีอาการช็อค หมอคอล์ดพยายามหยุดการเสียเลือดด้วยการกดที่เส้นเลือด ดูจะไม่เป็นผล พระราชบิดาท่านทรงเป็นผู้ตรวจเลือดและทรงพบว่า เลือดของเด็กชายบุญยิ่งกรุ๊ปเดียวกับท่าน และเข้ากันได้ พระองค์ได้ทรงให้เลือดสดๆ ของพระองค์เองแก่เด็กชายบุญยิ่ง และนั่งเฝ้าดูอาการของเด็กชายบุญยิ่งในห้องผู้ป่วยกว่าสามชั่วโมง จนถึงวินาทีสุดท้ายในชีวิตของเด็กชายบุญยิ่ง ห้องที่พระราชบิดาทรงนั่งเฝ้าดูอาการของเด็กชายบุญยิ่งคือห้องข้างหลังห้องนมัสการด้านธรรมาสก์ในปัจจุบัน

แพทย์ เจ้านาย แต่ทรงให้เลือดที่เป็นชีวิตของพระองค์เองแก่เด็กบ้านนอกคนหนึ่ง เพื่อหวังที่จะให้เด็กได้รอดชีวิต นี่มิใช่การให้ที่หวังผลประโยชน์แลกเปลี่ยน แต่เป็นการให้เพื่อหวังที่จะให้ผู้รับได้มีชีวิต และนี่คือผู้นำแบบคนใช้ที่ทนทุกข์ครับ

ประเด็นใคร่ครวญ

  • ทุกวันนี้ท่านมีโอกาสได้ใช้ภาวะผู้นำในสถานการณ์เช่นไรบ้างในชีวิต?
  • ในสถานการณ์ใดที่ท่านมีสิทธิอำนาจเหนือคนอื่น? แล้วท่านจะเลียนแบบภาวะผู้นำที่เป็นคนรับใช้อย่างพระเยซูคริสต์ที่ให้ตนเองแก่คนอื่นรอบข้างในสถานการณ์นั้นๆ ได้อย่างไรบ้าง?

ภาวนา

องค์พระผู้เป็นเจ้า
เป็นการง่ายที่ข้าพระองค์จะรู้สึกขอบพระคุณพระองค์ที่ทรงยอมสละชีวิตจนกระทั่งมรณา
เป็นพระคุณอย่างหาที่เปรียบมิได้ที่ทรงสละ เพื่อข้าพระองค์จะได้มีชีวิต

แต่เมื่อสำนึกได้ว่า
พระองค์ทรงเรียกข้าพระองค์ให้เลียนแบบตามแบบอย่าง “ผู้นำที่รับใช้และทนทุกข์” ของพระคริสต์
ข้าพระองค์ต้องตะลึง เพราะนี่ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับข้าพระองค์ และ
พระองค์ทรงรู้ลึกถึงก้นบึ้งแห่งจิตใจและความรู้สึกของข้าพระองค์อย่างดี
แต่ข้าพระองค์ขอยอมรับว่า
ส่วนหนึ่งเพราะข้าพระองค์มิได้เข้าใจลึกซึ้งในความคิดเรื่องผู้นำแบบคนใช้
ผู้นำแบบคนใช้ของพระองค์เป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจและรับได้

อย่างไรก็ตาม ข้าพระองค์ขอน้อมรับการทรงเรียกของพระองค์ และ
ทูลขอการทรงช่วยจากพระองค์ด้วย
โปรดสอนข้าฯ ให้รู้จักวิธีการรับใช้ผู้คนรอบข้างข้าพระองค์ในแต่ละวัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้คนที่ข้าพระองค์จะต้องนำ
โปรดประทานสายตาที่ข้าพระองค์จะมองเห็นถึงความจำเป็นต้องการในชีวิตของคนเหล่านั้น
โปรดช่วยข้าพระองค์ให้เต็มใจที่จะให้ตนเองแก่เขา
พร้อมที่จะรับความไม่สะดวกสบายเพื่อเห็นแก่เขา
โปรดช่วยข้าพระองค์ให้เรียนที่รู้จะเป็นผู้นำแบบพระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพระองค์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่

09 พฤศจิกายน 2554

ผู้นำในชุมชนแผ่นดินของพระเจ้า (2)

อ่านลูกา 22:24-30

มีการโต้เถียงกันในพวกสาวกว่าใครในพวกเขาที่นับว่าเป็นใหญ่ พระองค์จึงตรัสกับพวกเขาว่า “กษัตริย์ของคนต่างชาติย่อมเป็นเจ้านายเหนือเขาทั้งหลาย และผู้ที่มีอำนาจเหนือเขานั้นเรียกตัวเองว่าเจ้าบุญนายคุณ แต่พวกท่านจะไม่เป็นอย่างนั้น ในพวกท่านคนที่เป็นใหญ่ต้องเป็นเหมือนเด็ก และคนที่เป็นนายต้องเป็นเหมือนผู้ปรนนิบัติ (ลูกา 22:24-26)

จากบทใคร่ครวญในตอนก่อนหน้านี้ เราปิดท้ายด้วยคำถามที่ฉงนใจว่า แล้วการเป็นผู้นำเฉกเช่นคนใช้ตามที่พระเยซูคริสต์กล่าวนั้นมันจะเป็นจริงได้หรือ? หรือเป็นการเล่นคำเล่นสำนวนเท่านั้น? ตามที่พระเยซูคริสต์กล่าวว่า “...และคนที่เป็นนายต้องเป็นเหมือนผู้ปรนนิบัติ” (22:26) เป็นคำกล่าวที่ขัดแย้งกันในตัว การเป็นผู้นำคือคนที่จะต้องออกคำสั่ง หรือ อย่างน้อยต้องบอกให้ลูกน้องทำสิ่งต่างๆ มิใช่หรือ? แล้วลูกน้องหรือคนใช้คือผู้ที่รับคำสั่งจากเจ้านายมิใช่หรือ? แล้วคำกล่าวของพระเยซูคริสต์จะถูกต้องได้อย่างไร หรือ พระองค์หมายความว่าอย่างไรกันแน่?

เพื่อที่เราจะเข้าใจว่าพระองค์หมายความว่าเช่นไร ให้เราค้นคว้าพิจารณาพระคัมภีร์ในตอนต่อไปว่า การเป็นผู้นำ หรือ เจ้านายอย่างคนใช้หรือผู้ปรนนิบัติ พระองค์หมายความว่าอย่างไรแน่ ในลูกา 22:27 พระเยซูคริสต์กล่าวว่า “ใครเป็นใหญ่กว่ากัน ผู้ที่นั่งรับประทานหรือผู้ปรนนิบัติ? ผู้ที่นั่งรับประทานมิใช่หรือ แต่ว่าเราอยู่ท่ามกลางพวกท่านเหมือนกับผู้ปรนนิบัติ”

ในที่นี้เราพบกับความต่างของวัฒนธรรมของยิวในสมัยพระเยซู กับการแปลพระคัมภีร์มาเป็นภาษาต่างๆโดยเฉพาะภาษาไทยของเราที่เดินตามรอยวัฒนธรรมของทางยุโรป/อเมริกา(ลืมตัวก็ได้) อย่างเช่นว่าในที่นี้เราแปลว่า “...ใครเป็นใหญ่กว่า ผู้ที่ นั่ง รับประทานหรือผู้ปรนนิบัติ?” ในพระคัมภีร์ภาษากรีกไม่ได้ใช้คำว่า นั่ง แต่ใช้คำว่า เอกเขนก ซึ่งเป็นท่ากึ่งนอนกึ่งนั่งในขณะรับประทานอาหาร และนี่คือท่าทางในการรับประทานอาหารเลี้ยงของคนยิวในสมัยนั้น (คริสต์ศตวรรษที่หนึ่ง) นั่นหมายความว่า ผู้รับประทานในวงอาหารนี้จะไม่ถนัดที่จะลุกขึ้นหยิบสิ่งต่างๆ ที่ต้องการ ดังนั้น เขาจะสั่งให้ “คนใช้” หรือผู้ปรนนิบัตินำมาให้ตน หรืออย่างน้อยคนใช้จะต้องให้บริการเสิร์ฟอาหารให้กับผู้รับประทานในวงนั้น เจ้านายนอนเอกเขนกรับประทานอาหารอย่างสบายและพูดคุยกันในวงอาหารอย่างสนุกสนาน ในขณะที่คนใช้จะต้องใส่ใจให้บริการแก่เจ้านายให้ได้รับความสะดวกสบายและมีความสุขมากที่สุด หรือคอยรับคำสั่งและทำการตามคำสั่งของเจ้านายอย่างเคร่งครัด

พระเยซูคริสต์ชี้ชัดต่อมาว่า “แต่เราอยู่ท่ามกลางพวกท่านเหมือนกับผู้ปรนนิบัติ” (22:27)

พระเยซูคริสต์กำลังบอกกับเราว่า พระองค์เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า เป็นเจ้านายที่ให้บริการ มิใช่เจ้านายที่รับบริการ และการให้บริการหรือการปรนนิบัติของพระองค์มิใช่การเดินโต๊ะเสิร์ฟอาหารอย่างคนใช้เท่านั้น แต่พระองค์องค์ “ให้” ชีวิตแก่มนุษย์เพื่อนมนุษย์จะได้มีชีวิตต่อไป การเป็น “เจ้านาย” หรือ “ผู้นำ” แบบพระเยซูคริสต์คือเป็นผู้ให้ชีวิตเพื่อช่วยให้ผู้คนรอบข้างจะมีชีวิตที่มีคุณค่าและความหมายเฉกเช่นการมีชีวิตในแผ่นดินของพระเจ้า ผู้นำแบบนี้เป็นผู้นำในแผ่นดินของพระเจ้า

“ผู้นำแบบคนใช้” ที่พระคริสต์กล่าวถึงนี้ มิได้มีความหมายเพียงผู้นำแบบผู้รับใช้ที่พูดกันเกร่อในหนังสือผู้นำองค์กรโดยทั่วไป ผู้นำแบบคนใช้ ที่พระคริสต์กล่าวถึงนี้ ต้องเชื่อมโยงกับความหมายที่พระเยซูคริสต์ได้กล่าวและกระทำก่อนหน้านี้คือ เมื่อพระองค์รับประทานปัสการ่วมกับสาวก (22:14-23) และในปัสกานั้นทรงหยิบขนมปังและยกแก้วเหล้าองุ่นขึ้นและประกาศถึงการที่พระองค์ยอมให้ชีวิตเพื่อช่วยให้มนุษย์หลุดรอดออกจากอำนาจแห่งความบาป เพื่อจะมีชีวิตในแผ่นดินของพระเจ้า การให้หรือการปรนนิบัติที่พระคริสต์กล่าวถึงนี้คือการให้ชีวิตเพื่อคนอื่นจะได้ชีวิต

ดังนั้น ผู้นำแบบผู้รับใช้ ที่พระคริสต์กล่าวถึงนี้จะต้องไปเชื่อมโยงกับ “ผู้รับใช้ที่ทนทุกข์” ในอิสยาห์ บทที่ 52 และ 53 ด้วย และพระคริสต์ได้สำแดงการเป็นผู้รับใช้หรือผู้ปรนนิบัติที่ทนทุกข์ผ่านการมีชีวิต การตายที่กางเขน และการเป็นขึ้นจากความตายในชีวิตของพระองค์ ผู้นำในแผ่นดินของพระเจ้าจึงเป็นผู้นำที่ยอมสละชีวิตของตนเองเพื่อให้ชีวิตแก่ผู้อื่น และนี่จึงเป็นผู้นำแบบ “ผู้นำผู้รับใช้ที่ทนทุกข์และให้ชีวิต” มิใช่ผู้นำที่หยิบยื่นเศษเดนชีวิตแก่คนอื่น ส่วนตนเองกลับเสวยสุขบนกองผลประโยชน์เฉกเช่นเศรษฐีในเรื่องลาซารัส

ในวันนี้ไม่ว่าเราจะเป็นผู้นำในระดับใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นผู้นำในที่ทำงาน ในครอบครัว ในชุมชนสังคมโลก หรือในคริสตจักรก็ตาม แท้จริงแล้วในทุกที่ ทุกสถานการณ์พระเจ้าทรงเรียกให้เราแต่ละคนเป็น “ผู้นำผู้รับใช้(ผู้นำแบบคนใช้)” ที่จะรับใช้คนรอบข้างตามแบบอย่าง “ผู้นำผู้รับใช้ที่ทนทุกข์และให้ชีวิต” เฉกเช่นที่พระองค์ได้สละชีวิตของพระองค์เพื่อเราจะได้มีชีวิต

ประเด็นใคร่ครวญในวันนี้
  • ผู้นำแบบผู้รับใช้ที่ให้ชีวิต มีความหมายที่เป็นรูปธรรมสำหรับท่านหรือไม่? อย่างไร?
  • ท่านจะเลียนแบบการเป็นผู้นำแบบพระเยซูคริสต์ในที่ทำงานของท่านได้อย่างไรบ้าง?
  • ท่านจะเป็นผู้นำแบบพระเยซูคริสต์ในครอบครัว และ ในชุมชนสังคมได้อย่างไรบ้าง?
  • ท่านจะเป็นผู้นำแบบพระเยซูคริสต์ในชุมชนคริสตจักรของท่านได้อย่างไรบ้าง?

ภาวนา

ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า พระองค์ได้วางมาตรฐานการเป็นผู้นำสำหรับข้าพระองค์ไว้สูงยิ่ง พระองค์ทรงเรียกร้องให้ข้าพระองค์ลงจากตำแหน่ง ฐานะในสังคม ลงจากความอยากได้ใคร่เป็นของข้าพระองค์ ลงมาเป็นผู้รับใช้ที่ยอมสละชีวิตของตน และภาพที่ชัดอยู่ข้างหน้าคือภาพที่พระองค์ยอมทนทุกข์ ถูกตรึงบนกางเขนนั้น และนี่พระองค์ยังหมายถึงการรับใช้พระองค์มิใช่การรับใช้เพื่อตัวของข้าพระองค์เอง

พระองค์เจ้าข้า... นี่เป็นมาตรฐานสูงจริงๆ สูงเกินกว่าที่ข้าพระองค์จะไขว่คว้าเอาไว้ได้

ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า โปรดช่วยข้าพระองค์เห็นโอกาสและแนวทางที่จะรับใช้พระองค์ได้ร่วมรับใช้ในพระราชกิจของพระองค์ ด้วยการติดสนิทและมีกำลังจากพระองค์ที่จะรับใช้อย่างที่พระองค์มีพระประสงค์ เพื่อข้าพระองค์จะสามารถที่จะรับใช้คนรอบข้างด้วยการทุ่มเทให้ทั้งชีวิต

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันนี้ขอพระองค์โปรดช่วยให้ข้าพระองค์สามารถที่จะมองเห็นโอกาส และ มีกำลังจากพระองค์ที่จะเป็นผู้นำแบบผู้รับใช้ที่ให้ชีวิตในที่ที่ข้าพระองค์ทำงาน ในที่ที่ข้าพระองค์จะต้องติดต่อสัมพันธ์กับคนอื่นๆ เพื่อโดยพระคุณของพระองค์ข้าพระองค์จะได้พัฒนาขึ้นเป็นผู้นำแบบผู้รับใช้ที่ให้ชีวิตตามพระประสงค์มากยิ่งๆ ขึ้นทุกวัน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่

07 พฤศจิกายน 2554

ผู้นำในชุมชนแผ่นดินของพระเจ้า (1)

อ่านลูกา 22:24-30

มีการโต้เถียงกันในพวกสาวกว่าใครในพวกเขาที่นับว่าเป็นใหญ่ พระองค์จึงตรัสกับพวกเขาว่า “กษัตริย์ของคนต่างชาติย่อมเป็นเจ้านายเหนือเขาทั้งหลาย และผู้ที่มีอำนาจเหนือเขานั้นเรียกตัวเองว่าเจ้าบุญนายคุณ แต่พวกท่านจะไม่เป็นอย่างนั้น ในพวกท่านคนที่เป็นใหญ่ต้องเป็นเหมือนเด็ก และคนที่เป็นนายต้องเป็นเหมือนผู้ปรนนิบัติ (ลูกา 22:24-26)

เรามีโอกาสใคร่ครวญขุดลึกลงในคุณค่าและความหมายของพระกิตติคุณลูกา 22:24-27 มาสามตอนด้วยกัน โดยพิจารณาถึงลักษณะผู้นำที่ไม่ใช้กันในแผ่นดินของพระเจ้า พระเยซูคริสต์ได้ชี้ชัดว่า ลักษณะเช่นไรบ้างที่มิใช่ท่าทีภาวะผู้นำในชุมชนแห่งการครอบครองดูแลของพระเจ้า ในตอนนี้เราจะพิจารณาในสัจจะความจริงอีกด้านหนึ่งคือ แล้วผู้นำ ท่าที่หรือภาวะผู้นำแบบไหนที่สอดคล้องเหมาะสมในชุมชนแผ่นดินของพระเจ้า

พระเยซูคริสต์ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า “ในพวกท่านคนที่เป็นใหญ่ต้องเป็นเหมือนเด็ก" (22:26) ในพระคัมภีร์ฉบับอมตธรรม คำว่า “เป็นเหมือนเด็ก” ได้แปลว่า “เป็นเหมือนผู้เยาว์” ซึ่งการแปลในภาษาไทยได้แปลตรงความหมายของรากศัพท์เดิมในภาษากรีก ในขณะที่ภาษาอังกฤษบางฉบับแปลว่า “เป็นเหมือนผู้เล็กน้อย” หรือ “เป็นเหมือนคนที่อยู่ในระดับต่ำสุด” ความหมายของวลีนี้มีความเกี่ยวข้องกับด้านวัฒนธรรมครับ ในยุคที่เราให้คุณค่า สิทธิ ศักดิ์ศรี แก่เด็กๆ และสังคมปัจจุบันเน้นให้ความสำคัญและสิทธิของเด็กอาจจะทำให้การแปลความในวลีนี้ต้องเปลี่ยนไปใช้คำที่มีความหมายใกล้เคียง

แต่ถ้าเราเข้าไปสู่วัฒนธรรมในสมัยของพระเยซูคริสต์ เด็กหรือ คนที่ยังมีอายุน้อยย่อมมีคุณค่า ศักดิ์ศรีและความสำคัญน้อยกว่าคนที่มีอายุแก่กว่า หรือ ผู้ใหญ่ ดังนั้น เด็กจะไม่ได้รับเกียรติ ความเคารพนับถือ การยกย่อง และการให้สิทธิ ศักดิ์ศรี คุณค่า และ ความสำคัญในชีวิตเท่าเทียมกับผู้ใหญ่ในสมัยนั้น หรือพูดกันชัดๆ ก็คือสถานภาพ หรือ ฐานะของเด็กในสังคมสมัยนั้นอยู่ในระดับล่างหรือต่ำ หรือเป็นคนเล็กน้อยด้อยค่านั่นเอง และในวัฒนธรรมสังคมในสมัยนั้น คนที่เล็กน้อยจะต้องเป็นคนที่อยู่ใต้อำนาจของคนอื่น ถูกคนอื่นใช้ (เฉกเช่นคนยิวในสมัยพระเยซูจะถูกเกณฑ์ถูกใช้จากทหารโรมันให้แบกหีบแบกของไป โดยมิได้ค่าจ้างรางวัลอะไร เพราะเกิดมาเป็นยิว ประชาชนชั้นสองชั้นสามที่เป็นเมืองขึ้นของโรม) ต้องบริการคนอื่น ต้องนอบน้อมถ่อมตนเจียมเนื้อเจียมตัว

พระเยซูกล่าวต่อไปอีกว่า “...และคนที่เป็นนายต้องเป็นเหมือนผู้ปรนนิบัติ” (22:26) หรืออาจจะแปลได้ว่า ดังนั้น คนที่คิดจะเป็นใหญ่เป็นนายของคนอื่นต้องทำตัวทำหน้าที่เหมือนผู้ด้อยค่าแล้วกล้าที่จะปรนนิบัติรับใช้ หรือ ถูกใช้จากคนอื่น ในพระคัมภีร์ฉบับมาตรฐานใช้คำว่า “เป็นนาย” ส่วนในอมตธรรมใช้คำว่า “ผู้ที่ปกครอง” ซึ่งในภาษากรีกใช้เป็นคำกริยาที่แปลงเป็นคุณศัพท์ว่า hegeomai ซึ่งมีความหมายถึง การนำ การชี้นำ การให้คำแนะนำ หมายถึงผู้นำนั้นมีสิทธิอำนาจอย่างเต็มที่ ส่วนคำว่า “ผู้ปรนนิบัติรับใช้” มาจากศัพท์ภาษากรีกคำกริยาว่า ไดอาโคนิโอ (diakoneo) ซึ่งมาจากรากศัพท์เดียวกันของคำว่า ไดอาโคโนส (diakonos) และนี่คือที่มาของคำว่า มัคนายก ในภาษาไทย แต่คำว่า “ผู้ปรนนิบัติ” ที่พระเยซูคริสต์ใช้ในพระธรรมตอนนี้มิใช่การรับใช้ในคริสตจักร หรือการรับใช้ตามความหมายของผู้มีตำแหน่งในคริสตจักร เช่น ศาสนาจารย์ ศิษยาภิบาล ผู้ปกครอง มัคนายก และ ฯลฯ อย่างที่เราเข้าใจกันในปัจจุบัน แต่พระองค์ชี้ชัดที่เป็นความหมายแท้จริงของคำนี้คือ “เด็กเสิร์ฟ” ในวัฒนธรรมไทย หรือ “เสี่ยวเอ้อ” ในวัฒนธรรมจีน ถ้าเราอ่านต่อไปอีกสองสามข้อ พระองค์ให้ภาพความหมายของการปรนนิบัติรับใช้ที่ชัดเจนว่า ผู้ปรนนิบัติรับใช้ในที่นี้หมายถึงคนเดินโต๊ะ คนรับใช้ข้างโต๊ะอาหาร คนที่ต้องบริการแก่คนนั่งโต๊ะ คนที่จะต้องฟังความต้องการ หรือ คำสั่งจากคนรับประทานอาหารรอบโต๊ะนั้น ผู้ปรนนิบัติในที่นี้พระเยซูจึงหมายถึง “คนใช้” ครับ

หลายปีที่ผ่านมา หลายครั้งผมจะได้ยินคำบ่นจากศาสนาจารย์ ศิษยาภิบาล หรือผู้ปกครอง และมัคนายกว่า “...เขาทำกับเรา อย่างกับเราคนใช้ของเขา(หมายถึงสมาชิกคริสตจักร บางครั้งก็รวมถึงผู้ปกครอง และ...ด้วย)... ผมต้องรับผิดชอบตั้งแต่คนทำความสะอาดโบสถ์ยันคนเทศนา...” ถ้าผู้บ่นเข้าใจคำว่า “ผู้ปรนนิบัติ” ในความหมายที่พระเยซูคริสต์ใช้คือเด็กเสิร์ฟอาหาร ก็คงจะไม่บ่นเช่นนั้น แต่จะเกิดความภาคภูมิใจในการที่ได้เป็นผู้ปรนนิบัติรับใช้ เป็นคนใช้อย่าง “เสี่ยวเอ้อ” คนเสิร์ฟอาหารในชุมชนแผ่นดินของพระเจ้า ผู้นำเช่นนี้ครับที่ต้องการในแผ่นดินของพระเจ้า

ในที่นี้มิได้หมายความว่า พระเยซูไม่เห็นด้วยที่จะให้มี “ผู้นำ” พระองค์มิได้แสดงความคิดเห็นเช่นนั้น แต่พระองค์กล่าวไว้ว่า “แต่พวกท่านจะไม่เป็นอย่างนั้น...” (22:26) (คือไม่เป็นผู้นำที่สนใจสร้างความสำคัญยิ่งใหญ่ อำนาจ บารมี และความมั่งคั่งมั่นคงแก่ตนเอง) พระเยซูคริสต์ทรงคาดหวังว่าจะมีบางคนที่จะต้องทำหน้าที่ความรับผิดชอบในการเป็น “ผู้นำ” แต่มิใช่ผู้นำที่ใช้สิทธิอำนาจอย่างที่เป็นอยู่ในกระแสสังคมโลกปัจจุบัน แต่พระองค์คาดหวังผู้นำที่ใช้สิทธิอำนาจความเป็นผู้นำที่จะรับใช้คนอื่น ความคิดเรื่องผู้นำที่รับใช้นี้คงสร้างความกังวลสับสนแก่ผู้นำในคริสตจักรมิใช่น้อย ถ้าเอาอย่างที่พระเยซูคริสต์ว่า ผู้นำเป็นเหมือนคนใช้ คนเสิร์ฟอาหาร เสี่ยวเอ้อ นั่นหมายความว่าผู้นำจะต้องรับคำสั่งจากคนนั่งโต๊ะอาหารนั้น และให้บริการตามความต้องการนั้น เกิดคำถามรบกวนในจิตใจผมครับ แล้วผู้นำจะเป็นผู้รับใช้ได้อย่างไร? คงต้องบอกว่าเป็นไปได้ครับ แล้วเราจะมาใคร่ครวญในตอนต่อไปก็แล้วกัน

ประเด็นใคร่ครวญวันนี้

เราท่านคงใช้เวลาช่วงต่อไปนี้ในการคิดใคร่ครวญว่า การที่พระเยซูคริสต์กล่าวถึง “ผู้นำแบบผู้รับใช้” นั้น ผู้นำแบบนี้มีบทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบอะไร? ใครจะรู้ได้ครับ วันนี้ท่านอาจจะมีโอกาสในการเป็นผู้นำที่รับใช้ก็ได้ครับ!
  • จะต้องทำอย่างไรในฐานะผู้นำที่จะเป็นผู้รับใช้?
  • ท่านคิดว่าความคิดเห็นเรื่อง “ผู้นำที่รับใช้” ของพระเยซูคริสต์ มีความเป็นไปได้ไหมในปัจจุบัน?
  • ท่านพอจะคิดออกไหมว่า ในวันนี้ในสถานการณ์ใดที่ท่านจะเป็นผู้นำที่รับใช้ได้?

ภาวนา
ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า
ขอบพระคุณพระองค์สำหรับคำสอนเรื่องผู้นำที่รับใช้ของพระองค์
ขอบพระคุณพระองค์ที่ทรงกระตุ้นให้ข้าพระองค์ต้องกลับมาสนใจจริงจังในเรื่องนี้
แม้ว่าจะสร้างความยุ่งยากสับสนในความนึกคิด ความเข้าใจก็ตาม
ข้าพระองค์ขอสารภาพว่า ข้าพระองค์ต้องการความเข้าใจความหมายที่แท้จริงในเรื่องนี้
ข้าพระองค์ทูลขอพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์โปรดช่วยข้าพระองค์ด้วย
เพื่อข้าพระองค์จะได้รับความเข้าใจตามความหมายของพระองค์
ขอพระวิญญาณบริสุทธิ์โปรดช่วยข้าพระองค์ในเรื่องนี้ด้วย
เพื่อข้าพระองค์จะเข้าใจถึงผลกระทบจากเรื่องนี้ต่อชีวิตของข้าพระองค์เช่นไร

ในวันนี้โปรดประทานสายตาที่ข้าพระองค์จะมองเห็นถึงโอกาสที่จะเป็นผู้นำแบบผู้รับใช้
โปรดช่วยข้าพระองค์ที่จะนำคำสอนของพระองค์ไปปฏิบัติจริงได้
ในที่ทำงานใน
ในครอบครัว
และในความสัมพันธ์กับเพื่อนฝูงและคนรอบข้างในวันนี้

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่

04 พฤศจิกายน 2554

ผู้นำแบบนี้เขาไม่ใช้กันในแผ่นดินของพระเจ้า (3)

อ่านลูกา 22:24-30

มีการโต้เถียงกันในพวกสาวกว่าใครในพวกเขาที่นับว่าเป็นใหญ่ พระองค์จึงตรัสกับพวกเขาว่า “กษัตริย์ของคนต่างชาติย่อมเป็นเจ้านายเหนือเขาทั้งหลาย และผู้ที่มีอำนาจเหนือเขานั้นเรียกตัวเองว่าเจ้าบุญนายคุณ แต่พวกท่านจะไม่เป็นอย่างนั้น ในพวกท่านคนที่เป็นใหญ่ต้องเป็นเหมือนเด็ก และคนที่เป็นนายต้องเป็นเหมือนผู้ปรนนิบัติ (ลูกา 22:24-26)


ในบทใคร่ครวญหัวเรื่องนี้ตอนที่ (2) ที่ผ่านมาเราได้ร่วมกันสะท้อนคิดถึง ผู้นำที่อยู่นอก “แผ่นดินของพระเจ้า” จะนำและเสริมสร้างบารมีเพื่อเป็น “เจ้าบุญนายคุณ” เป็นผู้นำที่เสริมสร้างตนเองให้เป็นผู้มีบุญคุณเพื่อมีอำนาจเหนือ หรือ รับการยกย่องยอมสวามิภักดิ์จากคนอื่นๆ กลุ่มต่างๆ หรือสถาบันนั้นๆ ในที่นี้ยังหมายรวมถึงคนที่ปกครองด้วยการใช้ “กำลังทรัพย์” ด้วยการอุทิศบริจาค หรือ มอบถวาย หรือเป็นการช่วยกันส่วนตัว เพื่อสร้างผลประโยชน์ส่วนตัวที่กล่าวข้างต้น พระเยซูเรียกผู้นำหรือคนทำเช่นนี้ว่าเป็นคนที่ทำทานต้อง “เป่าแตร” เพื่อให้คนอื่นได้รู้ เพื่อชื่อเสียง เกียรติยศสำหรับตนเอง เพื่อให้คนๆ นั้น คนกลุ่มนั้น หรือ สถาบันนั้นๆ สนับสนุนตนทางการเมือง และทางสังคม ตัวอย่างชัดเจนเช่น ในการนำสิ่งของไปช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม ช่วงเวลาที่สำคัญคือตอนกล้องทีวีถ่ายทำตอนที่ตนกำลังมอบเงินทองสิ่งของให้ผู้ประสบภัย ความมุ่งมั่นสนใจของผู้นำประเภทนี้คือคิดถึงแต่ “ตนเอง” มากกว่า “คิดถึงความจำเป็นต้องการ และความทุกข์ยากของผู้ประสบภัย” เขาสนใจว่าตนเองจะได้รับการยกย่องสรรเสริญมากน้อยแค่ไหน เขาสนใจว่าสถาบันแห่งนั้นที่เขาให้เงินให้ทองจะสำนึกในบุญคุณของเขาหรือเปล่า

แต่พระคริสต์บอกเราแบบตรงไปตรงมาว่า ผู้นำในแผ่นดินของพระเจ้าจะไม่กระทำตนเช่นนั้น จะไม่กระทำด้วยความมุ่งหมายและจิตใจเช่นนั้น เพราะการนำหรือการรับใช้ของผู้นำประเภทนี้เขาไม่ใช้กันใน “แผ่นดินของพระเจ้า” เพราะผู้นำและผู้รับใช้ในแผ่นดินของพระเจ้ามิใช่เพื่อรับใช้ตนเอง แต่นำและกระทำทุกอย่างเพื่อถวายเกียรติแด่พระเจ้าด้วยความบริสุทธิ์ใจเท่านั้น มิใช่เพื่อชื่อเสียงเกียรติยศ และโอกาสสำหรับตนเอง

การใคร่ครวญนี้ได้เตือนให้ตัวผมเองต้องสำรวจขุดลึกลงในชีวิตจิตใจของตนเองว่า ในการกระทำแต่ละวันเรากระทำเพื่อตอบสนองต่อความใคร่ ความอยาก ความอยากได้ใคร่มีของตนเอง หรือ การกระทำของผมมุ่งไปสู่การตอบสนองพระประสงค์ของพระเจ้าที่ทรงเรียกผมในงานที่ทำนั้น ให้กระทำด้วยความสำนึกที่จะขอบพระคุณพระเจ้า

ถ้าด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจตามประการหลัง เรากระทำด้วยความจริงใจเปิดเผย ไม่ต้องปกปิดความอ่อนแอของตนเอง แล้วฉาบทาภายนอกเพื่อให้คนอื่นมองเห็นว่าตนเข้มแข็งเด่นดัง เราพร้อมที่จะเปิดเผยและแบ่งปันถึงความอ่อนแอและความล้มเหลวกับเพื่อนร่วมงานของเรา และเปิดหูเปิดตาของเราที่จะรับรู้ด้วยใจจริงถึงความทุกข์ ความกังวล ความอ่อนแอ ความล้มเหลว และความสำเร็จภูมิใจจากเพื่อนร่วมงานด้วย และ

ในเวลาเดียวกันการใคร่ครวญเตือนผมว่า ผมมิใช่ตั้งหน้าตั้งตาแสวงหาความเข้มแข็งจากพระเจ้าและสภาพแวดล้อม เพื่อความเข้มแข็งของตนเองเท่านั้น แต่ความเข้มแข็งและกำลังในชีวิตของผมได้จากองค์พระผู้เป็นเจ้าที่ประทานให้โดยตรง และประทานผ่านเพื่อนร่วมงาน ครอบครัว และชุมชนคริสตจักร ดังนั้น ผมควรทุ่มเทที่จะแบ่งปันและเสริมสร้างเพื่อนร่วมงานให้เขามีกำลัง และเข้มแข็งในชีวิตประจำวันอย่างจริงจัง นั่นคือผมควรที่จะกอดคอ “ร่วมทุกข์ร่วมสุข” กับผู้คนรอบข้างและเพื่อนร่วมงาน และนี่คือเสียงท้าทายของพระคริสต์ต่อภาวะผู้นำในชีวิตของผม

ผมขอสารภาพว่า บ่อยครั้งเหลือเกินที่ผมต้องพยายามปล้ำสู้กับ “ความปรารถนา” แห่งตนในจิตใจของผม ผมปรารถนาให้ผู้คนมองเห็นตัวผมว่าเป็นคนที่เขาชื่นชมยอมรับ ถึงแม้จะมิใช่สิ่งผิดเสียทีเดียว แต่บ่อยครั้งเหลือเกินที่ผมพบว่าแรงจูงใจในความปรารถนานั้นคือผมต้องการอยู่ในฐานะ “เจ้าบุญนายคุณ” ผมต้องการเป็นคนที่มีบุญคุณของผู้อื่น เป็นคนที่เขาต้องพึ่งพิงในชีวิตจิตใจของพวกเขา ตัวอย่างเช่น เมื่อผมไปเป็นนักเทศน์รับเชิญ ผมจะเตรียมคำเทศนาอย่างดี เพื่อที่จะถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า เพื่อสั่งสอนบ่มเพาะและเสริมสร้างผู้ฟังให้มีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงดั่งพระคริสต์ แต่ในขณะที่ผมนั่งร่วมนมัสการก่อนที่ผมจะเทศนานั้น ผมมีความปรารถนาหรือรู้สึกอย่างแรงกล้าว่า ผมต้องการการยอมรับจากผู้ฟังเทศน์ในวันนั้น ผมต้องการให้เขาชอบคำเทศนาที่ผมเตรียม ลึกๆ แล้วผมต้องการให้ผู้ฟังทุกคนเมื่อฟังเทศน์เสร็จแล้วเกิดความนิยมชมชื่นในตัวผม ผมคิดว่านี่อาจจะเป็นความรู้สึกปรารถนาของนักเทศน์หลายต่อหลายคน? และบ่อยครั้งผมก็จะก้มหัวลงอธิษฐานส่วนตัวกับพระเจ้าก่อนเทศน์ว่าขอพระองค์ช่วยให้สิ่งที่ผมปรารถนาลึกๆ ในใจเหล่านี้สำเร็จเป็นจริง?

แต่หลายครั้งเช่นกันเมื่อเหตุการณ์เช่นนี้เกิดกับตนเอง และภายหลังมีเวลาเงียบสงบจิตใจลงต่อหน้าพระเจ้า พระเจ้าทรงโปรดเมตตาให้ผมได้เห็นตนเองชัดเจนขึ้น ใช่ผมมีใจปรารถนาให้ผู้ฟังเทศน์ชื่นชมในตัวผมในความสามารถในการเทศน์ของผมมากกว่าที่ต้องการปรารถนาให้ผู้ฟังเทศน์ได้ยินได้สัมผัสกับพระวจนะของพระเจ้าที่มีพลานุภาพในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขา

บทเรียนการรับใช้ที่ได้รับจากการใคร่ครวญดังกล่าว กลายเป็นเรื่องเตือนจิตใจผมทุกครั้งที่จะเทศนา โดยเฉพาะการเป็นนักเทศน์รับเชิญไปในที่ต่างๆ ก่อนการเทศนาทุกครั้งผมต้องถ่อมจิตใจลงต่อหน้าพระเจ้าขอการทรงช่วยชำระใจปรารถนาของผม และขอการเทศนาเป็นโอกาสที่พระองค์จะทรงใช้กระทำพระราชกิจของพระองค์ตามพระประสงค์และแผนการของพระองค์ เพื่อจะเป็นการถวายชีวิตการรับใช้ด้วยความสัตย์ซื่อต่อพระองค์ ดังนั้น ในการเทศนาครั้งนี้ขอองค์พระวิญญาณบริสุทธิ์ช่วยตัวผมตระหนักชัดว่าอะไรที่เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด และใครคือผู้ที่สำคัญที่สุดในการเทศนาครั้งนั้น

หลายๆ ครั้งที่ผมต้องถามตนเองว่า ทำไมเราถึงเอนเอียงที่จะให้ผู้คนแสดงการชื่นชมยอมรับในตัวเรา อาจจะมีเบื้องหลังชีวิตที่หล่อหลอมให้ตัวเราเกิดความไม่มั่นใจในตนเองหรือเปล่า ต้องการมั่นใจว่าผู้คนยอมรับเราในครั้งนี้หรือไม่ เพราะสมัยเป็นเด็กขาดความรักความอบอุ่นจึงโหยหาความรักการยอมรับจากผู้อื่นหรือไม่ หรือบางคนอาจจะมีปมประเด็นเรื่องคุณค่าในตนเองหรือเปล่า แต่ถ้าเราเต็มใจที่จะเปิดเผยชีวิตภายในของเราต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าในเรื่องใจปรารถนาของเรา พระองค์จะทรงชำระและเยียวยารักษาชีวิตจิตใจของเรา เราก็จะได้รับการเปลี่ยนแปลงเสริมสร้างใหม่จากพระองค์ด้วย โดยกระบวนการนี้เราจึงมีโอกาสที่ได้สัมผัสกับความรักและห่วงใยของพระองค์ และทำให้เราเริ่มแสวงหาการดำเนินชีวิตที่ถวายเกียรติแด่พระเจ้ามากยิ่งขึ้น ยิ่งชีวิต จิตใจ และจิตวิญญาณของเราได้เป็นไทในพระเยซูคริสต์ เราก็ยิ่งจะสัมผัสกับสุขภาวะทั้งชีวิต จิตใจ และจิตวิญญาณ และนี่คือแนวทางที่ช่วยให้เราหลุดและรอดจากการครอบงำของ “ใจปรารถนาเพื่อตนเอง” ในตัวเรา

อย่างไรก็ตาม บางท่านอาจจะไม่ต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์อย่างที่ผมเล่ามา ก็ต้องขอบพระคุณพระเจ้าอย่างมากที่ใจปรารถนามิได้มีแนวโน้มที่ถูกครอบงำด้วย “ใจปรารถนาที่ผิดปกติ” ที่ต้องการโหยหาให้คนอื่นยอมรับชื่นชมตนเอง แต่ด้วยพระคุณของพระเจ้าชีวิตของเราทุกคนสามารถที่จะได้รับการหนุนนำให้ไปถึงการดำเนินชีวิตและมีภาวะผู้นำที่มีใจปรารถนาสูงสุดที่จะถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า

ในแต่ละวันให้เราใคร่ครวญดูว่า
  • เรายังปรารถนาสร้างการชื่นชมยอมรับจากคนอื่นหรือไม่?
  • ในสถานการณ์นั้นท่านทำเช่นไร?
  • ในสถานการณ์นั้นท่านได้พบกับการทรงช่วยของพระเจ้าในการรับใช้และรักพระองค์อย่างไร?
  • ท่านรู้สึกว่าพระเจ้าทรงยอมรับการดำเนินชีวิตและการงานที่ทำงานของท่านหรือไม่? อย่างไร?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง

บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่

02 พฤศจิกายน 2554

ผู้นำแบบนี้เขาไม่ใช้กันในแผ่นดินของพระเจ้า (2)

อ่านลูกา 22:24-30

มีการโต้เถียงกันในพวกสาวกว่าใครในพวกเขาที่นับว่าเป็นใหญ่ พระองค์จึงตรัสกับพวกเขาว่า “กษัตริย์ของคนต่างชาติย่อมเป็นเจ้านายเหนือเขาทั้งหลาย และผู้ที่มีอำนาจเหนือเขานั้นเรียกตัวเองว่าเจ้าบุญนายคุณ แต่พวกท่านจะไม่เป็นอย่างนั้น ในพวกท่านคนที่เป็นใหญ่ต้องเป็นเหมือนเด็ก และคนที่เป็นนายต้องเป็นเหมือนผู้ปรนนิบัติ (ลูกา 22:24-26)

จากการใคร่ครวญครั้งที่ผ่านมา เราพบว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นการถกเถียงกันของเหล่าสาวกของพระเยซูคริสต์ว่าใครจะเป็นใหญ่เมื่อพระองค์ขึ้นเถลิงอำนาจปกครองในแผ่นดินของพระเจ้า(ตามกรอบคิดกรอบความเข้าใจที่แตกต่างจากของพระเยซูคริสต์) ถ้าพิจารณาตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การถกเถียงกันครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากการรับประทานอาหารมื้อสุดท้ายร่วมกันของเหล่าสาวกและพระเยซูคริสต์ นี่เวลาเพิ่งผ่านไปไม่เท่าไหร่เลยที่พระเยซูคริสต์ใช้ขนมปังและเหล้าองุ่นที่บ่งบอกให้รู้ว่าพระองค์จะต้องสละชีวิตของพระองค์ ความตายกำลังคืบคลานเข้าใกล้ทุกทีแล้ว เมื่อเราทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เราพบว่า พระองค์เรียกสาวกเข้ามาแล้วบอกเขาว่า การที่จะเป็น “ผู้นำ” ในแผ่นดินของพระเจ้านั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับกรอบคิด แนวทางความเข้าใจของการเป็นผู้นำแบบโลกใบนี้

นั่นหมายความว่า ใครก็ตามที่จะตัดสินใจติดตามเป็นสาวกของพระเยซูคริสต์จะต้อง “ปฏิเสธ” การเป็นผู้นำผู้ใช้อำนาจแบบโลกนี้ เป็นการปฏิเสธการเป็นผู้นำที่ใช้อำนาจเหนือผู้อื่นเหมือนกับกษัตริย์ในโลกนี้ทำตัวเช่นนั้น พระเยซูคริสต์กล่าวกับสาวกว่า “กษัตริย์ของคนต่างชาติย่อมเป็นเจ้านายเหนือเขาทั้งหลาย และผู้ที่มีอำนาจเหนือเขานั้นเรียกตนเองว่าเจ้าบุญนายคุณ” แล้วพระเยซูกล่าวย้ำชัดเจนว่า “แต่พวกท่านจะไม่เป็นอย่างนั้น” (22:25) ที่ว่าพวกท่านไม่เป็นเช่นนั้น แล้วอะไรที่ผู้นำในแผ่นดินของพระเจ้าจะไม่ทำ จะไม่นำในแผ่นดินของพระองค์? ผู้นำแบบไหนที่พระเจ้าไม่ทรงใช้ในแผ่นดินของพระองค์?

ในปัจจุบันนี้ได้มีผู้นำที่ใช้ฐานะตำแหน่งและสิทธิและอำนาจในการเป็นผู้นำ “สร้างบุญสร้างคุณ” ให้คนอื่นต้องสวามิภักดิ์ หรือ จงรักภักดีต่อตนเอง ปัจจุบันคนที่มีเงินก็ใช้การบริจาคเงินเพื่อจะกลายเป็น “ผู้มีพระคุณ” ต่อสถาบันนั้นๆ ซึ่งก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการสร้าง “บารมีเหนือคนอื่น” ด้วยเช่นกัน หลังจากนั้นก็ได้รับประโยชน์จากพระคุณที่สร้าง ถ้าทำพระคุณกับสถาบันการศึกษา ก็จะได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ หรือ สามารถฝากลูกฝากหลานของตนหรือของเพื่อนฝูงเข้าศึกษา เข้าทำงาน และนี่ก็สร้างพระคุณอีกระดับหนึ่ง

เมื่อพระเยซูกล่าวถึงกษัตริย์ต่างชาติที่ปกครองเป็นเจ้านายเหนือเขา สาวกที่ฟังเข้าใจได้ทันทีว่าหมายถึงจักพรรดิ์โรมันและพวกลิ่วล้อที่ได้รับอำนาจมาปกครองแทนทั้งที่เป็นทหารโรมันและพวกคนในท้องถิ่นที่ไปสวามิภักดิ์กับโรมัน เพื่อตนจะได้มีอำนาจมาปกครองคนท้องถิ่นของตนเอง เพื่อต้องการให้ประชาชนต้องเคารพนบนอบอยู่ใต้อำนาจของตน เพื่อจะสามารถบังคับ ข่มขู่ สั่งการ และควบคุมคนอื่นได้ หลายคนคิดในใจว่า แท้จริงแล้วเราก็พบผู้นำเช่นนี้ในที่ทำงานของเรา พบคนแบบนี้ในสถานที่ที่เราต้องไปติดต่อ บางคนก็พบคนแบบนี้ในครอบครัวของตนเอง และคริสเตียนหลายคนก็พบผู้นำเช่นเดียวกันนี้ในคริสตจักรด้วย

ในที่นี้เราคงต้องเข้าใจชัดเจนว่า พระเยซูคริสต์มิใช่คนที่ต่อต้านการมีผู้นำหรือต่อต้านการใช้สิทธิอำนาจ แต่พระองค์ได้แสดงให้ผู้คนได้เห็นชัดถึงการเป็นผู้นำและการใช้สิทธิอำนาจของพระองค์อย่างเปิดเผย แต่พระองค์มิได้ใช้อำนาจและสิทธิในการกดขี่ ขู่เข็ญ บังคับ ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นคนของผู้อื่น พระองค์มิได้แสดงความเป็นเจ้านายเหนือคนอื่นเพื่อสร้างความภูมิใจในตนเอง แต่พระคริสต์ทรงใช้ความเป็นผู้นำ และ สิทธิอำนาจของพระองค์เพื่อหนุนเสริมเพิ่มพลังแก่คนอื่น เสริมเพิ่มคุณค่าแก่คนรอบข้าง เพื่อสำแดงออกถึงการให้เกียรติ นับถือ และปกป้องสิทธิของผู้เล็กน้อย เอาใจใส่ต่อคนที่ต่ำต้อยถูกทำให้ด้อยค่าในสังคม

ท่านเคยมีประสบการณ์ถูกผู้นำที่ทำตัวมีอำนาจเหนือท่านหรือไม่? เมื่อใดและที่ไหน? ท่านรู้สึกเช่นใด? แล้วท่านตอบสนองเช่นไรต่อผู้นำคนนั้น? มีบางเวลาหรือไม่ที่ท่านอาจจะเห็นว่าต้องแสดงสิทธิอำนาจเหนือคนอื่น ในที่ทำงาน เหนือลูกเต้าหรือคู่ชีวิตในครอบครัว หรือสมาชิกบางคนในคริสตจักร? อะไรที่กระตุ้นให้ท่านต้องการกระทำเช่นนั้น?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง

บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่