30 มกราคม 2555

กล้าที่จะเผชิญหน้ากับความจริง

ผู้นำที่ปรารถนาพบ “ทางออก” ของปัญหาและวิกฤติในคริสตจักร หรือ หน่วยงานสถาบันคริสเตียน ผู้นำคนนั้นต้องกล้าพอที่จะแสวงหา “พระพักตร์พระเจ้า” เพื่อที่เขาจะมีความกล้าหาญพอและได้รับพลังที่จะเผชิญหน้ากับความเป็นจริงของผู้คนและองค์กรที่ตนรับผิดชอบอยู่

ผมเติบโตในคริสตจักร หน่วยงาน และ สถาบันคริสเตียนภายใต้สภาคริสตจักรในประเทศไทย ทั้งคริสตจักรและหน่วยงานส่วนมากเป็นองคกรที่มีอายุและประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน และแน่นอนครับหลายต่อหลายคนในองค์กรและคริสตจักรเก่าแก่เหล่านี้ต่างภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์อันยาวนาน และความสำเร็จในอดีต แม้ว่าคริสตจักร หรือ องค์กรของตนต้องเผชิญหน้ากับปัญหา อุปสรรค วิกฤติ และความผุกร่อนในด้านต่างๆ ในปัจจุบันก็ตามที

ความจริงที่พบเห็นจนชินชาดูเป็นเรื่องธรรมดาปฏิบัติขององค์กรภายใต้ต้นไม้ใหญ่ต้นนี้คือ การหลีกลี้หลบหนีที่จะเผชิญหน้ากับปัญหา วิกฤติ และความผุกร่อนที่กำลังกัดเซาะให้องค์กรผุพังจนนำไปสู่การล่มสลายขององค์กรในที่สุด หรือไม่ก็ทำให้ต้องง่อยเปลี้ย แคระแกรน ไม่สามารถเติบโตที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อไป จะด้วยการที่ไม่สามารถมองเห็นถึงรากเหง้าของปัญหา สาเหตุของวิกฤติ หรือตั้งใจหลับหูหลับตาไม่ยอมมองให้เห็นระคายตา หรือซ่อนเม้มมันไว้จนลืมไปว่ามันมีจริงในองค์กรที่ตนเองรับผิดชอบ หรือไม่ก็หลอกตนเอง หลอกคนอื่นอย่างตั้งใจว่า องค์กรของเราไม่มีปัญหา องค์กรของเราไม่ประสบวิกฤติ องค์กรของเรายังสุขสบายดี ยิ่งร้ายกว่านั้นก็จะอ้างอิงว่า ไม่ต้องห่วงพระเจ้าทรงดูแลองค์กรของเราอยู่

คนทำงานและคนที่อยู่ร่วมในคริสตจักร และ องค์กรคริสเตียนเหล่านี้ส่วนหนึ่งก็จะมองหาแต่ “ประโยชน์” ที่ตนจะได้รับจากคริสตจักรหรือองค์กรที่ตนอยู่ร่วมด้วย จะชอบจะพอใจผู้นำคริสตจักร หรือ องค์กรก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้นำพวกนี้เอื้อผลสร้างประโยชน์ที่ตนได้รับมากน้อยแค่ไหน คนกลุ่มนี้อยู่เพราะได้ผลประโยชน์ และพร้อมที่จะไปเมื่อองค์กรอื่นให้ผลประโยชน์ที่มากกว่า หรือไม่ก็จะเกาะองค์กรอย่างเหนียวแน่นถ้าองค์กรนี้เป็นเพียงแห่งเดียวที่ตนจะได้ผลประโยชน์ในขณะนี้ ถ้าท่านเป็นผู้นำในคริสตจักรและองค์ที่มีผู้คนอย่างนี้มากๆ ท่านจะบริหารจัดการอย่างไรดี แต่บ่อยครั้งที่ผู้บริหารต้องยอมเอาใจคนพวกนี้ไว้เพื่อให้เป็นเสียงสนับสนุนการบริหารของตน ถูกผิดค่อยว่ากันเมื่อจำเป็น

ในฐานะที่เป็นผู้นำในองค์กรคริสเตียน และเป็นคริสเตียนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตระหนักชัดว่า
1. คริสตจักรและองค์กรภายใต้สภาคริสตจักรในประเทศไทยเป็นของพระเจ้า
2. ในฐานะที่เป็นผู้นำ ผู้บริหาร คริสตจักร และ องค์กร ท่านกำลังทำงานรับใช้พระเจ้าตามพระประสงค์ของพระองค์ ในองค์กรที่พระองค์มอบหมายให้ท่านรับผิดชอบอยู่ในขณะนี้
3. ในทุกวิกฤติปัญหาเป็นเวลาและโอกาสที่พระเจ้าจะทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ เพื่อให้ผู้คนในคริสตจักรและองค์กรได้เติบโตขึ้นในชีวิตทุกด้าน (ถ้าคนในองค์กรเหล่านั้น เชื่อฟัง และ ยอมทำตาม)
4. เราในฐานะผู้นำ และ ผู้ร่วมในองค์กรทุกคนได้รับเกียรติให้ร่วมในพระราชกิจของพระเจ้าผ่านการงาน และชีวิตของคริสตจักร และ องค์กรเหล่านั้น
5. เพื่อผู้คนรอบข้างที่คริสตจักรและองค์กรเข้าไปอยู่เข้าไปสัมพันธ์เกี่ยวข้องจะได้เห็นและสัมผัสถึงความรัก เมตตา และ การเอาใจใส่ของพระเยซูคริสต์ในชีวิตประจำวันของเขา และรับเอาข่าวดีของพระคริสต์เป็นแก่นหลักในชีวิตของตน

ดังนั้น ปัญหา และ วิกฤติที่เกิดขึ้นผู้นำต้องนำผู้คนในองค์กร “เผชิญหน้ากับความเป็นจริงของปัญหาและวิกฤตินั้น” ด้วยการเข้าใจปัญหาและวิกฤติเหล่านั้นอย่างถูกต้องถ่องแท้ ด้วยการเริ่มต้นก้าวแรกในการ “เผชิญหน้า” หรือ การเข้าไปอยู่ต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้า เพื่อแสวงหาความจริง ความเข้าใจ และพระปัญญาจากพระองค์ เพราะในช่วงสถานการณ์ดังกล่าวเป็นช่วงเวลาของการทรงกระทำพระราชกิจของพระเจ้า เราต้องรับ “พระบัญชา” และ เรียนรู้ถึงพระประสงค์ของพระองค์ และสิ่งที่พระองค์เปิดโอกาสให้เราแต่ละคนเข้าไปมีส่วนร่วม

เมื่อเกิดปัญหาและวิกฤติขึ้นในคริสตจักรและองค์กรคริสเตียนอย่าพยายามทำให้ปัญหาและวิกฤติเหล่านั้นเป็นเพียงเรื่อง “ความขัดแย้งหรือผลประโยชน์ส่วนตัว” แต่ต้องมองให้เห็นชัดว่านี่เป็นพระราชกิจของพระเจ้าและแสวงหาพระประสงค์ของพระองค์ในพระราชกิจนั้น

ตัวอย่างชีวิตจากคนในพระคัมภีร์ เช่น

ยาโคบ คิดแล้วคิดอีกจนในที่สุดตัดสินใจเผชิญหน้ากับเอซาวผู้พี่ ที่ตนเคยสร้างบาดแผลชีวิตไว้ แต่การกลับมาเผชิญหน้าในครั้งนี้ เขาแสวงหาพระพักตร์ของพระเจ้าก่อน พระสัญญาพระเจ้าจะอยู่กับเขา เขาจึงมีความกล้าในการเผชิญหน้า ความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องทั้งสองจึงได้รับการรื้อฟื้น เย็บชุน และปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ แต่สิ่งแรกที่ยาโคบจะต้องริเริ่มคือ เดินทางกลับมาหาพี่เอซาว (ปฐมกาล 27:41-45; 33:1-11)

บุตรคนเล็ก เมื่อบุตรคนเล็กตัดสินใจกลับบ้านไปเผชิญหน้ากับพ่อ ยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ทำใจพร้อมที่จะรับการเปลี่ยนแปลง เผชิญหน้ากับชีวิตที่จะไม่เหมือนเดิม ทำใจไม่ยึดติดกับฐานะตำแหน่ง ความสัมพันธ์ที่มีเกียรติ คุณค่าของชีวิต แต่สัมพันธภาพและโอกาสที่จะมีชีวิตใหม่ได้เกิดขึ้น เพราะผู้เป็นพ่อมองว่าลูกคนเล็กหายไปแล้วแต่กลับพบใหม่อีก ตายไปแล้วกลับมีชีวิตใหม่อีก แต่สิ่งแรกที่บุตรคนเล็กต้องเริ่มต้นคือหันกลับแล้วเดินทางกลับบ้านมาหาพ่อ (ลูกา 15:11-32)

โมเสส เมื่อต้องพบกับความล้มเหลวในความมุ่งมั่นตั้งใจที่อยากจะช่วยอิสราเอลพี่น้องของตนให้หลุดรอดพ้นจากการเป็นทาสของอียิปต์ และต้องหนีไปหลบซ่อนที่มีเดียนนานกว่า 40 ปี แต่เมื่อเขาอยู่ต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้า เขากลับไม่มั่นใจที่จะกลับไปทำภารกิจที่เคยล้มเหลวอีกครั้งหนึ่ง แต่พระเจ้าสำแดงและสัญญาว่าพระองค์จะทรงนำในครั้งนี้ สิ่งที่โมเสสต้องเผชิญหน้าเพื่ออิสราเอลจะได้ออกจากการเป็นทาสในอียิปต์คือ การเผชิญหน้ากับอำนาจเก่าของฟาโรห์ผู้มีอำนาจกดขี่อิสราเอลอยู่ แต่ผู้ที่จะประลองยุทธกับฟาโรห์มิใช่โมเสสอีกต่อไป แต่พระเจ้าผู้ทรงฤทธิ์ต่างหากจะต่อกรกับฟาโรห์ แต่สิ่งที่โมเสสต้องกระทำสิ่งแรกคือ กลับไปเผชิญหน้ากับฟาโรห์ (อพยพ 2:11-15; 3:1-22)

พระคริสต์ เซาโลผู้ที่มุ่งมั่นทุ่มเทเพื่อการปกป้องศาสนายิว และมองเห็นว่าขบวนการของพระเยซูคริสต์คือเสี้ยนหนามบ่อนทำลายความมั่นคงศาสนายิวและแผ่นดินอิสราเอล ที่จะต้องขจัดและทำลายให้สิ้นซาก พระเยซูคริสต์เลือกที่จะเผชิญหน้ากับเซาโลบนเส้นทางไปเมืองดามัสกัสในกลางวันแสกๆ วันหนึ่ง เพื่อที่จะทรงเปลี่ยนแปลงความคิดความเข้าใจของเซาโลให้ถูกต้อง ในการเผชิญหน้าครั้งนั้น เซาโลเกิดความเข้าใจใหม่ ชีวิตเปลี่ยนแปลงจากผู้มุ่งทำร้ายขบวนการของพระเยซูคริสต์ กลับเป็นทาสรับใช้พระคริสต์เผยแผ่พระกิตติคุณออกอย่างกว้างไกลในบรรดาคนต่างชาติ สิ่งที่พระคริสต์ทรงริเริ่มกระทำคือ เผชิญหน้ากับเซาโลบนเส้นทางไปดามัสกัส (กิจการ 8:1-3; 9:1-25)

ถ้าไม่มีความกล้าหาญพอที่จะเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่เป็นความจริง การแก้ไข การเปลี่ยนแปลง ความหวัง และโอกาสใหม่ ชีวิตใหม่ก็จะไม่มีโอกาสเกิดขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม การเผชิญหน้ากับความเป็นจริง เป็นย่างก้าวแรกที่ยากลำบากที่สุดที่จะเริ่มต้น แต่ความสำเร็จมิได้เกิดขึ้นเพียงเพราะเรากล้าเผชิญหน้ากับความจริงเท่านั้น

การเผชิญหน้ากับความจริงในชีวิตของแต่ละคนนั้นได้รับความกล้าหาญมั่นใจจากพระเจ้า และที่สำคัญคือ เมื่อเริ่มเผชิญหน้าแล้วสิ่งต่างๆ จะได้รับการแก้ไขเสริมสร้างและเปลี่ยนแปลงเพราะพระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ในสถานการณ์ความจริงเหล่านั้นตามพระประสงค์ของพระองค์ ส่วนเรายอมเป็นผู้ร่วมในพระราชกิจของพระองค์ในครั้งนั้นๆ นี่หมายความว่าที่ต้องกล้าพอที่เลือกแสวงหาพระพักตร์พระเจ้า และเข้ามาอยู่ต่อหน้าพระพักตร์พระองค์ แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลายอย่าลืมตัวกระโดดขึ้นควบคุมบังเหียนชีวิตด้วยตนเองอีกล่ะ!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
081-289-4499

27 มกราคม 2555

จิตอาสา หรือ จิตรับใช้?

...เราพบบุคลิกภาพความเป็นเราในความสัมพันธ์ที่มีซึ่งกันและกัน เราจะไม่มีภาวะผู้นำถ้าเราแยกสัมพันธภาพที่เรามีต่อกันออกไป เพราะเราจะไม่สามารถมีบุคลิกภาพความเป็นเราโดยปราศจากความสัมพันธ์

เมื่อเราพูดถึงเรื่อง ผู้นำหรือภาวะผู้นำ เรามักที่จะคิดจะพูดถึงผู้นำคนต่างๆ ที่เราเห็น ผู้นำที่มีชื่อเสียง ใหญ่โต ผู้นำที่มีอิทธิพลสูงในด้านต่างๆ แต่สิ่งสำคัญและท้าทายในความเป็นผู้นำหรือภาวะผู้นำมิได้อยู่ที่สิ่งเหล่านั้น แต่ภาวะผู้นำอยู่ภายในตัวของเราต่างหาก

หลักคิดหลักเชื่อเรื่อง “ผู้นำที่รับใช้” ซึ่งมีรากฐานความคิดมาจากพระคริสต์ธรรมคัมภีร์ บ่งชี้ถึงความแตกต่างในภาวะผู้นำสองลักษณะ กล่าวคือผู้นำที่ทำตัวนิ่งไม่ตอบโต้และไม่แสดงอำนาจแต่นำด้วยการรับใช้ อีกพวกหนึ่งเป็นผู้นำที่แสดงออกถึงอำนาจของตนและใช้อำนาจ(บางครั้งลืมตัวบางครั้งไม่รู้ตัว)กระทั่งการใช้อำนาจแบบเผด็จการ(อันนี้ตั้งใจ) ความสำคัญที่ท้าทายในความเป็นผู้นำคือ อะไรคือจุดสมดุลเหมาะสมระหว่างการเป็น ผู้นำที่เข้มแข็ง กับ ผู้นำที่รับใช้ ความจริงก็คือว่า ไม่มีใครที่จะเป็นผู้นำได้จนกว่าจะมีผู้ที่ยอมรับใช้

การเป็น “ผู้นำที่รับใช้” ทำให้ผู้นั้นมีโอกาสที่จะรับผิดชอบอย่างเสียสละ ส่วนมากแล้วเราจะไม่รู้ว่าเมื่อใดที่เราควรแสดงความเป็นผู้นำของตน บางครั้งบางคนอาจจะเคยพูดกับตัวเองในใจว่า ฉันรู้ว่าฉันเหมาะสมที่จะเป็นผู้นำในจุดนี้ แต่เมื่อไม่มีใครร้องขอให้ฉันขึ้นมานำฉันก็จะทำการรับใช้ทุกคนอย่าง “ผู้นำที่รับใช้” ผมชอบเสียงในใจที่มีหลักคิดหลักเชื่อแบบนี้ เพราะภาวะผู้นำมิได้แสดงออกได้เมื่อคน “ยอมรับ” หรือ “มอบตำแหน่ง” หรือ “มอบความไว้วางใจ” ให้

แต่ภาวะผู้นำเกิดจากหลักคิดหลักเชื่อภายในของแต่ละคนที่กระทำเพราะสำนึกว่า นี่เป็นพระประสงค์ของพระเจ้า นี่เป็นการทรงเรียกของพระองค์ให้เราเข้าไปมีส่วนร่วมในพระราชกิจของพระองค์ ไม่ใช่เป็นเพียงเพราะเราเป็น “ผู้ใหญ่ใจดี” หรือ “ผู้มีจิตอาสา” ที่มักมีศูนย์กลางอยู่ที่คนทำดี คนที่มีจิตอาสา(ตนเองเป็นศูนย์กลาง) ซึ่งมักหมิ่นเหม่ต่อการ “ลืมตัว” หรือ “สำคัญตนผิด” ในภายหลังอาจกลับกลายเป็นการกระทำเพื่อคุณค่าและความหมายสำหรับตนเอง และพัฒนาไปสู่เพื่อชื่อเสียงและความสำคัญของตนเอง บางครั้งไม่รู้ตัว บางครั้งลืมตัว แต่บางครั้งก็ตั้งใจ! หลักคิดหลักเชื่อแบบมีตนเองเป็นศูนย์กลางในการกระทำดีง่ายที่จะ “ตกลงในหลุมพลางของการทดลองจากอำนาจแห่งความชั่วร้าย” ที่พระเยซูคริสต์ประสงค์ให้สาวกของพระองค์หลุดรอดออกจากการทดลองของอำนาจแห่งความชั่วนี้ ตามคำอธิษฐานที่พระองค์สอนสาวกของพระองค์

ด้วยเหตุนี้ ในการเป็นผู้นำที่รับใช้ บนรากฐานของพระคริสตธรรมคัมภีร์ และ คริสต์ศาสนศาสตร์ จึงตั้งอยู่บนรากฐานของการทรงเรียก การตอบสนองด้วยการเข้าร่วมในพระราชกิจของพระองค์ตามการทรงเรียก และนี่คือ การรับใช้ มิติแรก คือรับใช้ตามพระประสงค์ของพระเจ้า มิติต่อมาคือ การรับใช้ในพื้นที่ ในกลุ่มชนตามพระประสงค์นั้น

การรับใช้ตามพระประสงค์มิได้ขึ้นอยู่กับ “ความประสงค์ต้องการ” ของเราเอง ดังนั้น จึงมิได้ขึ้นอยู่ที่ตำแหน่ง ฐานะ ศักยภาพ และ ทักษะ ที่เรามีเท่านั้น หรือความคิดเห็นของเรา หรือ คนรอบข้างว่า “เราทำได้หรือไม่” เพราะนี่เป็นพระราชกิจของพระเจ้าที่ทรงกระทำงานท่ามกลางประชากรของพระองค์ ที่เรียกเราให้เข้าไปร่วมงานนั้น

ทุกขณะที่ทำงานต้องใคร่ครวญเสมอว่า พระเจ้ามีพระประสงค์อะไรในงานนี้ อย่าลืมตัวถามว่า เราต้องการอะไรจากการทำงานนี้ ดังนั้น การที่ผู้ใดจะเป็นผู้นำที่รับใช้ ต้องเริ่มต้นที่พระประสงค์ของพระเจ้า และเป็นการตอบสนองการทรงเรียกของพระองค์ มิใช่เพราะเรามี “จิตอาสา” เป็น”ผู้ใหญ่ใจดี” เป็น “ผู้นำที่ทำเพื่อสังคม” เท่านั้น

ให้เราใคร่ครวญถึงเรื่องราวของโมเสส โมเสสเป็นบุตรบุญธรรมของพระธิดาฟาโรห์ เข้านอกออกในพระราชวัง ได้รับการเลี้ยงดูและสั่งสอนฝึกปรือด้านการปกครอง การต่อสู้ และวิทยายุทธของอียิปต์ เมื่อออกไปไซท์งานการก่อสร้างของชุมชนคนยิว เห็นพี่น้องคนยิวถูกข่มเหงจึง “มีใจ” ที่ต้องการช่วยเหลือพี่น้องยิว ด้วยการใช้วิทยายุทธในการต่อสู้และสามารถทำลายทหารอียิปต์ที่ทำการข่มเหงนั้นถึงชีวิต ในที่นี้โมเสสต้องการช่วยแรงงานทาสชาวยิว แต่ในที่สุดต้องหนีหลบภัยไปต่างแดนที่มีเดียน

แต่ภายหลัง พระเจ้าทรงเรียกโมเสสให้มาร่วมพระราชกิจแห่งการปลดปล่อยของพระเจ้า โมเสสมาในฐานะผู้นำที่รับใช้พระเจ้า เขามาร่วมในพระราชกิจแห่งการปลดปล่อยของพระองค์ เพื่อรับใช้แรงงานทาสชาวยิวด้วยการนำเขาออกจากแดนทาส เพื่อไปสู่แผ่นดินที่เป็นไท แต่นั่นมิใช่แผนงานของโมเสสเอง โมเสสรับใช้พระเจ้าและประชาชนยิวตามแผนการณ์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า งานเดียวกันแต่จิตรับใช้ที่แตกต่างกัน และนี่คือความแตกต่างเด่นชัดระหว่าง หลักคิดหลักเชื่อแบบ “จิตอาสา” หรือ “ผู้ใหญ่ใจดี” หรือ “ผู้นำมืออาชีพ” กับ “ผู้นำที่รับใช้” พระประสงค์ของพระเจ้าท่ามกลางประชาชนกลุ่มเป้าหมายของพระองค์

นี่คือความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงระหว่าง “ผู้นำที่รับใช้แต่มีตนเองเป็นศูนย์กลาง” กับ “ผู้นำที่รับใช้ที่มีพระประสงค์ของพระเจ้าเป็นศูนย์กลาง” แห่งการรับใช้

วันนี้ทุกท่านทุกโอกาส ท่านสามารถที่จะทำหน้าที่ต่างๆ ด้วยภาวะผู้นำได้เสมอ
อยู่ที่ว่าท่านจะเลือกเป็นผู้นำแบบไหน
ผู้นำที่ใช้อำนาจจากฐานะ ตำแหน่ง หรือ
มีคนมอบหมายให้ท่านเป็นผู้นำ หรือ
มีองค์กรจ้างท่านมาเป็นผู้นำ หรือ
สามารถใช้กระบวนการเลือกตั้งทำตนจนเป็นนายกรัฐมนตรี
ผู้คนเหล่านี้มักเป็น “ผู้นำมืออาชีพ” หรือ “ผู้นำรับจ้าง”
เหมือนกันคนรับจ้างเลี้ยงแกะที่พระเยซูพูดถึง
เมื่อมีภัยมาถึงตัว เมื่อไม่ได้ผลประโยชน์อย่างที่คิดที่หวัง
ผู้นำเหล่านี้ก็ชิ่งหนีละหน้าที่ ไม่รับผิดชอบอะไรต่อไป เพราะเขาเป็น “ผู้นำมืออาชีพ”(ผู้นำรับจ้าง)

หรือท่านจะเลือกเป็นผู้นำแบบ “จิตอาสา” หรือ “ผู้ใหญ่ใจดี”
ดูเหมือนจะดี แต่เสี่ยงต่อการทำในสิ่งที่ตนคิด ตนชอบ ตนอยากทำ
ที่เอาตนเป็นศูนย์กลางในการนำ
มักตกหลุมพรางตอนท้ายที่ทำดีเพื่อตนเอง สร้างชื่อเสียงของตนเอง

วันนี้ ขอเริ่มวันใหม่ที่จะสงบจิตใจฟังเสียงจากภายในว่า
วันนี้พระเจ้าประสงค์ให้ฉัน “ทำวันนี้” ให้เกิดอะไรขึ้น
วันนี้พระเจ้าประสงค์ให้ฉันสำแดงความรักเมตตา เอาใจใส่ เยียวยาชีวิตของผู้ใด
วันนี้พระเจ้าได้เปิดเผยและทรงเรียกให้ฉันเห็นอะไรบ้าง
วันนี้ขอใช้เวลาชีวิตและศักยภาพชีวิตที่มีอยู่เพื่อรับใช้พระประสงค์ในชีวิตของผู้คนที่ฉันพบเห็น
วันนี้ขอพระเจ้าปกป้องฉันจากหลุมพรางการรับใช้เพื่อหวังได้ชื่อสียง เกียรติยศ ทรัพย์สิน และอำนาจ

วันนี้ขอเพียงให้ข้าพระองค์รู้ว่า สิ่งนี้เป็นพระประสงค์ของพระองค์
ข้าพระองค์พร้อมที่จะทำตามที่พระองค์ทรงนำ
ข้าพระองค์ขอรับใช้พระองค์ในชีวิตของคนที่พระองค์ต้องการให้รับใช้ด้วยศักยภาพทั้งหมดที่ทรงประทาน
อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
081-289-4499

25 มกราคม 2555

ขอบพระคุณในความยากลำบาก

อ่านสดุดี 119:67-72

ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า...

ขอทรงสอนข้าพระองค์ให้มีความรู้และมีดุลยพินิจที่ดี
เพราะข้าพระองค์เชื่อฟังพระบัญชาของพระองค์

ก่อนตกทุกข์ได้ยากข้าพระองค์หลงเตลิดไป
แต่บัดนี้ข้าพระองค์เชื่อฟังพระวจนะของพระองค์

พระองค์ทรงแสนดี และสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำนั้นดีเลิศ
ขอทรงสอนกฎหมายของพระองค์แก่ข้าพระองค์

แม้คนเย่อหยิ่งใส่ร้ายป้ายสีข้าพระองค์
ข้าพระองค์ก็รักษาข้อบังคับของพระองค์ด้วยสุดใจ
...
ดีแล้วที่ข้าพระองค์ทุกข์ยาก
ข้าพระองค์จะได้เรียนรู้กฎหมายของพระองค์
(สดุดี 119:66-69, 71 อมตธรรม)


โดยปกติแล้วคนเรามักจะขอบพระคุณพระเจ้าเพราะพระองค์ทรงช่วยและอวยพระพร ในชีวิตของท่านเคยที่จะขอบพระคุณพระเจ้าในบางเรื่องที่ดูเหมือนว่าเป็นสิ่งที่ไม่เป็นพระพรเลยไหม? ตัวอย่างเช่นขอบพระคุณพระองค์ในสถานการณ์ที่สุดแสนจะทรมาน หรือ สุดแสนจะลำบาก ผมว่าเรามักเรียกร้องให้พระองค์ให้เอาสถานการณ์ทุกข์ทรมานเหล่านั้นออกจากชีวิตของเรา หรือเปลี่ยนแปลงสถานการณ์เหล่านั้นมากกว่าใช่ไหม?

จิตใจที่สำนึกในพระคุณของพระเจ้าเป็นสิ่งที่มีค่าสูงสำหรับพระเจ้า แต่พูดตามความเป็นมนุษย์ หลายสถานการณ์ที่ทำให้เราขอบพระคุณพระองค์ไม่ออก แล้วเราจะขอบพระคุณพระเจ้าในสถานการณ์ที่เลวร้ายยากลำบากได้อย่างไร? การที่ใครก็ตามที่จะขอบพระคุณพระเจ้าได้ในยามที่ทุกข์ยากและเลวร้ายนั้นจะต้องมีรากฐานที่มั่นคง 4 ประการ จะทำให้เราสามารถมองเห็นถึงคุณค่าของความทุกข์ยากลำบากที่เราประสบ และตอบสนองสถานการณ์ที่เลวร้ายที่ไม่น่าพึงประสงค์เหล่านั้นด้วยจิตใจที่ชื่นชม

รากฐานประการแรก เชื่อและไว้วางใจในองค์พระผู้เป็นเจ้า

การที่เรามองชีวิตนี้จากมุมมองของพระคัมภีร์เท่านั้นที่จะเสริมหนุนให้เราสามารถเข้าใจถึงพระประสงค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าในภาวะทุกข์ยากลำบากที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา และไว้วางใจในพระองค์ที่ทรงอนุญาตให้เหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นกับเรา

รากฐานประการที่สอง ยอมรับสถานการณ์ที่เลวร้ายเหล่านั้นเฉกเช่นสถานการณ์นั้นมาจากพระเจ้า

อาจจะเป็นสถานการณ์ที่มาจากพระเจ้าโดยตรง หรือเป็นสถานการณ์ที่พระเจ้าทรงอนุญาตให้เกิดขึ้นกับเรา ถ้าเราเชื่ออย่างจริงใจว่า พระเจ้าทรงกระทำทุกอย่างเพื่อสิ่งดีสำหรับเรา (โรม 8:28-29) เราย่อมสามารถที่จะเลือกรับมือกับสถานการณ์ที่เลวร้ายเหล่านั้นด้วยมุมมองว่า สถานการณ์เลวร้ายนั้นมาจากพระหัตถ์แห่งพระเมตตาของพระองค์ ถ้าช่นนั้นแล้วเราย่อมขอบพระคุณพระองค์ได้อย่างจริงใจและเต็มใจ

รากฐานประการที่สาม ยอมจำนนต่อพระเจ้าในสถานการณ์นั้น

ถึงแม้ว่าเราไม่ชอบสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ให้เราตระหนักรู้เสมอว่าพระเจ้านั้นแสนดี และสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำนั้นดีเลิศ(ข้อ 68) เพื่อเราจะมีจิตใจที่มั่นคง ที่เราจะวางชีวิตของเราในพระหัตถ์อันทรงฤทธิ์ของพระองค์

รากฐานประการที่สี่ รับความเข้มแข็งจากองค์พระผู้เป็นเจ้าที่จะทำให้เรามีความอดทนและยืนมั่นอยู่ได้

ไม่มีใครที่มีความสามารถในตนเองที่จะอดทนรับมือกับความทุกข์ยากด้วยความรู้สึกถึงพระคุณของพระเจ้าได้ นอกจากคนๆ นั้นพึ่งวางใจในพระเจ้าเท่านั้น ที่ผู้เชื่อคนนั้นจะสามารถเผชิญหน้าและผ่านทะลุความทรมานทุกข์ยากเหล่านั้นด้วยจิตใจที่ชื่มชม

วันนี้ ขอท่านคิดถึงสถานการณ์ที่ท่านต้องการขอให้พระเจ้าช่วยเปลี่ยนแปลง ด้วยการปรับทัศนะใหม่ เปลี่ยนมุมมองใหม่ แล้วให้อธิษฐานต่อพระเจ้าว่า

“ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า ข้าพระองค์ขอน้อมรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ว่าจะเป็นมาจากพระองค์หรือไม่ก็ตาม ข้าพระองค์เชื่อ ศรัทธา และไว้วางใจพระองค์ ว่าพระองค์ทรงเอาใจใส่และกระทำพระราชกิจของพระองค์ในสถานการณ์นี้เพื่อสิ่งที่ดีสำหรับข้าพระองค์ ขอมอบชีวิตของข้าพระองค์ไว้ภายใต้ฤทธานุภาพแห่งความรักเมตตาของพระองค์ และขอรับความเข้มแข็งและกำลังจากพระองค์ เพื่อที่ข้าพระองค์จะสามารถทนรับสถานการณ์นั้นด้วยใจที่ขอบพระคุณ”

ผู้เขียนพระธรรมสดุดี 119:92 (อมตธรรม) ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตของท่านแก่ผู้อ่านได้อย่างชัดเจนว่า

“หากบทบัญญัติของพระองค์ไม่ได้เป็นความปีติยินดีของข้าพระองค์
ข้าพระองค์คงมอดม้วยในความทุกข์ยากไป(นาน)แล้ว” (ในวงเล็บผู้เขียนเติมเองครับ)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก็ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
081-289-4499

23 มกราคม 2555

ชีวิตจาริกต่อไป...

วันขึ้นปีใหม่ชาติพันธุ์จีน

เช้าวันหนึ่ง มีชายคนหนึ่งเดินเข้าไปในชายป่าคนเดียว...
เขาตัดสินใจที่จะเลิกทุกอย่างในชีวิต
เลิกการงานที่เขาเคยทำ
เลิกความสัมพันธ์ที่เคยมีกับผู้คนที่เขาคบค้ามา
เลิกการก้าวไปของจิตวิญญาณ
แท้จริงแล้วเขาต้องการเลิกที่จะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้

เขาตัดสินใจใช้โอกาสสุดท้ายนี้ที่จะคุยกับพระเจ้า และ
ตัดสินใจแล้วว่านี่คือการพูดคุยกับพระเจ้าครั้งสุดท้ายในชีวิตของเขา

พระเจ้า พระองค์มีเหตุผลที่ดีสักเหตุผลหนึ่งไหม
ที่ผมควรล้มเลิกการตัดสินใจ “หยุด” ชีวิตไว้เพียงแค่นี้? ชายคนนั้นถามพระเจ้า

คำตอบของพระเจ้าทำให้ชายคนนั้นต้องแปลกใจอย่างยิ่ง
“ลองดูรอบๆ ตัวเจ้าซิ...เจ้าเห็นต้นเฟิร์นมากมายบนพื้นดิน สีเขียวขจีดูอ่อนนุ่มเหล่านั้นหรือไม่? แล้วเจ้าเห็นกอไผ่ต้นสูงชะลูดใหญ่โตกอนั้นไหม?”

“เห็นครับพระเจ้า แล้วทำไมหรือ?” ชายคนนั้นตอบ

“เจ้ารู้ถึงความเป็นมาและการเติบโตของทั้งเฟิร์น และ ไผ่กอนั้นหรือไม่? พระเจ้าถามคนนั้นต่อ

เขาตอบพระเจ้าว่า “ไม่รู้”

“เมื่อเราให้เมล็ดของพืชทั้งสองมาตกที่นี่ พื้นดินแห่งนี้ไม่มีทั้งเฟิร์นและไผ่ แต่เมื่อเมล็ดทั้งสองตกลงบนแผ่นดินแห่งนี้ เราเอาใจใส่ดูแลทั้งสองอย่างดี เราให้แสงสว่างแก่ทั้งสอง เราประทานความชื้นและความชุ่มฉ่ำ ความอบอุ่นในพื้นดิน ดินที่โอชะอุดมสมบูรณ์ เวลาไม่เท่าไหร่ ต้นเฟิร์นงอกต้นอ่อน เฟิร์นอ่อนดูสดใสเขียวขจีและดูอ่อนนุ่มปกคลุมไปทั่วผืนแผ่นดินนี้ เฟิร์นเติบโตและแผ่ขยายอย่างรวดเร็ว

แต่เจ้ารู้ไหม ไม่มีอะไรเกิดขึ้นจากเมล็ดไผ่ให้เห็นบนดิน แต่เราก็ไม่ล้มเลิกที่จะดูแลเอาใจใส่เมล็ดไผ่ ผ่านไปจนถึงปีที่สองต้นเฟิร์นแผ่ขยายเต็มพื้นที่ไปทั่ว แต่ไม่เห็นเมล็ดไผ่เกิดอะไรขึ้นเลย เราก็ไม่ล้มเลิกที่จะดูแลเอาใจใส่เมล็ดไผ่” พระเจ้าอธิบายให้ชายคนนั้น “ในปีที่สามก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่เราก็ไม่ล้มเลิกที่จะเอาใจใส่เมล็ดไผ่ ในปีที่สี่เหตุการณ์ก็ยังคงเดิม” พระเจ้าเล่าต่อไปว่า “เมื่อมาถึงปีที่ห้า เจ้ารู้ไหมเราเห็นต้นไผ่เล็กๆ แทงพื้นดินขึ้นมา...”

“ถ้าเปรียบไผ่กับเฟิร์นตอนนั้นเปรียบกันไม่ได้เลย เฟิร์นเติบโตและแผ่ขยายออกไปกินพื้นที่กว้างไกล ไผ่เป็นเพียงต้นอ่อนเล็กกระจิดริดที่เพิ่งแทงขึ้นจากพื้นดิน... แต่อะไรเกิดขึ้นหลังจากนั้นอีก 6 เดือน ต้นไผ่ที่แทงทะลุพื้นดินได้แทงเสียดฟ้าสูงขึ้นกว่าสิบเมตร ต้นไผ่ใช้เวลาถึง 5 ปีในการหยั่งรากลงในดิน รากเหล่านั้นทำให้ต้นไผ่แข็งแรงและทำให้มันสามารถที่จะอยู่รอดเติบโตได้ ยิ่งกว่านั้นทำให้มันสามารถสูงชะลูดอย่างสง่างาม เราจะไม่ยอมให้สิ่งที่เราสร้างต้องรับกับสถานการณ์ชีวิตที่สิ่งนั้นไม่สามารถที่จะแบกรับได้” พระเจ้ากล่าวแก่ชายคนนั้น

แล้วพระองค์จ้องมองชายคนนั้นด้วยสายตาที่เมตตาพร้อมกับกล่าวว่า
“ลูกเอ๋ย เจ้ารู้ไหม ในช่วงเวลาที่ผ่านมาจนถึงเวลานี้ที่เจ้าต้องเผชิญกับเหตุการณ์สถานการณ์ที่แสนทุกข์ยากสาหัส แท้จริงแล้วเป็นช่วงเวลาที่ชีวิตเจ้ากำลังหยั่งรากลึกลงและแผ่กว้าง เมื่อเราไม่ยอมล้มเลิกที่จะดูแลเมล็ดไผ่ เราก็จะไม่ยอมล้มเลิกที่จะเอาใจใส่ชีวิตของเจ้าด้วยเช่นกัน เจ้าต้องไม่เปรียบเทียบตนเองกับคนอื่น เพียงแต่ว่าในเวลาที่ภายนอกดูเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นนี้ ภายในของเจ้าหยั่งรากลงในเราหรือไม่เท่านั้น”

แล้วพระเจ้ากล่าวต่อไปว่า
“ต้นไผ่มีจุดประสงค์ในชีวิตของมันแตกต่างจากต้นเฟิร์น แต่ทั้งไผ่และเฟิร์นทำให้โลกนี้สดชื่นสวยงาม”

พระเจ้าบอกกับชายคนนั้นว่า
“เมื่อเวลาของเจ้ามาถึง ชีวิตของเจ้าจะเติบโตสูงใหญ่”

ชายคนนั้นถามพระเจ้าว่า “และผมจะสูงขึ้นแค่ไหน?”

พระเจ้าถามย้อนกลับว่า “แล้วเจ้าคิดว่าต้นไผ่ควรสูงขึ้นแค่ไหนล่ะ?”

ชายคนนั้นตอบพระเจ้าว่า “สูงเท่าที่มันจะสูงได้”

“ใช่แล้ว” พระเจ้าตอบชายคนนั้น

ดังนั้น เมื่อถึงเวลาท่านจงเติบโตและมีชีวิตที่สูงชะลูดให้เป็นการยกย่องและสรรเสริญพระเจ้า

ผมหวังว่าบทสนทนาระหว่างพระเจ้ากับชายคนนี้คงจะช่วยให้ท่านเห็นว่า พระเจ้าจะไม่มีทางล้มเลิกในการดูแลเอาใจใส่ชีวิตของท่าน พระองค์จะไม่ละทิ้งท่าน พระองค์จะไม่ละทิ้งท่านไปแม้แต่วันเดียว

แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ ท่านอาจจะทิ้งพระเจ้าตลอดไป ทั้งที่ไม่รู้ตัวและที่ตั้งใจ ในเวลาที่ทุกข์ยากแสนสาหัสท่านจึงมิได้หยั่งรากชีวิตในพระเจ้า

แท้จริงแล้ว ในความทุกข์ยากลำบากของชีวิตเป็นเวลาที่เราจะยิ่งใกล้ชิดติดสนิทกับพระเจ้า เพื่อที่รากแห่งชีวิตของเราจะหยั่งลึกและแผ่กว้างลงในพระประสงค์ของพระองค์ในชีวิตของเรา เมื่อผ่านช่วงวิกฤติชีวิตเป็นเวลาที่พระเจ้าประทานแก่เราให้เติบโต เกิดผล ประสบผลสำเร็จตามพระประสงค์ของพระองค์

วันดีดีให้ความสุขแก่ท่าน
วันแย่แย่ให้ประสบการณ์ที่ล้ำค่า
ทั้งสองวันสำคัญยิ่งในชีวิตของท่าน

ชีวิตจะมีความสุขและความหมาย ชีวิตนั้นต้องทุ่มเทอย่างต่อเนื่อง
ความสุขและความหมายในชีวิตมิได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ
แต่มันเกิดขึ้นเพราะการตัดสินใจเลือก และ การลงมือทำ
ในแต่ละวันเราได้รับโอกาสใหม่ๆ ในการตัดสินใจเลือก ในการลงมือทำ และ
สร้างสรรค์บนเส้นทางชีวิตที่เราจาริกไป
แต่ทั้งสิ้นนี้ พระเจ้าทรงเป็นพระกำลัง พระเมตตา ทรงเอาใจใส่ในทุกขณะจิตของเรา

จงจาริกต่อไป...
ความสุขทำให้ชีวิตของท่านหวานชื่น
ความทุกข์ยากช่วยให้ชีวิตของท่านเข้มแข็ง
ความโศกเศร้าทำให้ท่านเป็นคน
ความล้มเหลวช่วยให้ท่านถ่อม
ความสำเร็จทำให้ท่านเติบโต
มีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่ช่วยให้ท่านจาริกต่อไปได้ในชีวิตนี้อย่างมั่นคง ต่อเนื่อง จนถึงจุดหมาย

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
แม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
081-289-4499

ถ้าท่านอ่านบทใคร่ครวญนี้แล้ว ได้รับการทรงนำให้ระลึกถึงพระวจนะของพระเจ้าตอนไหน
โปรดแบ่งปันกับผู้เขียน และ แบ่งปันกันและกันด้วย
เพื่อร่วมกันหยั่งรากลงในพระประสงค์ของพระเจ้าครับ ขอบพระคุณมากครับ

20 มกราคม 2555

หัวใจพระกิตติคุณ....ยอมยากไร้เพื่อให้ผู้อื่นมั่งคั่ง

หลังเทศกาลคริสต์มาส และ การเข้าสู่ปีใหม่ ให้เราใคร่ครวญถึงหัวใจของพระกิตติคุณ

อ่าน 2โครินธ์ 8:1-9

ฉบับมาตรฐาน

ข้อ 1 พี่น้องทั้งหลาย เราอยากให้ท่านรู้ถึงพระคุณของพระเจ้าที่พระองค์ประทานแก่คริสตจักรต่างๆ ในแคว้นมาซิโดเนีย
ข้อ 2 เพราะในขณะที่พวกเขาเผชิญการทดสอบมากมายจากความยากลำบากนั้น ความยินดีที่เต็มล้นและความยากจนอย่างที่สุดของพวกเขาได้ล้นออกมาเป็นใจกว้างขวาง
ข้อ 3 เพราะข้าพเจ้าเป็นพยานได้ว่าพวกเขาถวายตามความสามารถ ที่จริงก็เกินความสามารถและทำด้วยความสมัครใจ
ข้อ 4 พวกเขาวิงวอนเราอย่างมาก ขอร้องให้มีส่วนในคุณความดีในการช่วยเหลือธรรมิกชนด้วย
ข้อ 5 และไม่เหมือนที่เราคาดหมายไว้ แต่พวกเขาถวายตัวเองแด่องค์พระผู้เป็นเจ้าก่อน แล้วจึงมอบตัวให้กับเราตามพระประสงค์ของพระเจ้า
ข้อ 6 เพราะเหตุนี้เราจึงขอร้องทิตัสให้ไปช่วยพวกท่านในการทำคุณความดีนี้จนสำเร็จเช่นเดียวกับที่เขาเริ่มต้นไว้
ข้อ 7 ดังนั้นเมื่อพวกท่านมีทุกสิ่งอย่างเหลือล้น คือความเชื่อ ฝีปาก ความรู้ ความกระตือรือร้น และความรักที่เรามีต่อพวกท่าน ท่านทั้งหลายก็จงมีคุณความดีนี้อย่างเหลือล้นด้วย
ข้อ 8 ข้าพเจ้าไม่ได้พูดเป็นคำสั่ง แต่นำเรื่องความกระตือรือร้นของคนอื่นๆ มาทดสอบความรักของท่านทั้งหลายว่ามีความจริงใจหรือไม่
ข้อ 9 เพราะว่าท่านทั้งหลายรู้จักพระคุณของพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราแล้วว่า แม้พระองค์ทรงมั่งคั่งก็ยังทรงยอมเป็นคนยากจนเพราะเห็นแก่ท่านทั้งหลาย เพื่อท่านทั้งหลายจะได้เป็นคนมั่งคั่งเนื่องจากความยากจนของพระองค์

อมตธรรม

ข้อ 1 และบัดนี้พี่น้องทั้งหลาย เราอยากให้ท่านทราบถึงพระคุณที่พระเจ้าประทานแก่บรรดาคริสตจักรในแคว้นมาซิโดเนีย
ข้อ 2 จากการทดลองอย่างหนักหน่วงที่สุด ความชื่นชมยินดีอันล้นพ้นและความยากไร้เป็นอย่างยิ่งของพวกเขานั้นก็เอ่อล้นเป็นความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
ข้อ 3 เพราะข้าพเจ้าเป็นพยานได้ว่าพวกเขาถวายสุดความสามารถ ที่จริงเกินความสามารถก็ว่าได้ และด้วยความสมัครใจของเขาเอง
ข้อ 4 เขาได้คะยั้นคะยอขอรับสิทธิพิเศษที่จะมีส่วนร่วมในการรับใช้นี้เพื่อประชากรของพระเจ้า
ข้อ 5 และเขาไม่ได้ทำอย่างที่เราคาดคิดไว้ แต่เขาถวายตัวแด่องค์พระผู้เป็นเจ้าก่อนและจากนั้นอุทิศตัวให้เราตามพระประสงค์ของพระเจ้า
ข้อ 6 ดังนั้นเราจึงกระตุ้นทิตัสซึ่งเป็นผู้ริเริ่มงานนี้ให้สานต่อการจุนเจือด้วยใจเมตตาในส่วนของพวกท่านจนลุล่วง
ข้อ 7 แต่เหมือนที่ท่านเป็นเลิศทุกด้าน ไม่ว่าในความเชื่อ ในวาจา ในความรู้ ในความกระตือรือร้นอย่างเต็มเปี่ยม และในความรักที่มีต่อเรา ก็ขอให้ท่านเป็นเลิศในการให้ด้วยใจเมตตานี้เช่นกัน
ข้อ 8 ข้าพเจ้าไม่ได้สั่งท่าน แต่ข้าพเจ้าต้องการทดสอบความจริงใจในความรักของท่านโดยการเปรียบเทียบกับความกระตือรือร้นของคนอื่น
ข้อ 9 เพราะท่านย่อมทราบถึงพระคุณขององค์พระเยซูคริสต์เจ้าของเราว่า แม้พระองค์ทรงมั่งคั่งก็ทรงยอมยากไร้เพราะเห็นแก่พวกท่าน เพื่อว่าท่านจะได้มั่งคั่งโดยทางความยากไร้ของพระองค์

ทำอย่างไรที่เราจะมีชีวิตที่มั่งคั่ง สมบูรณ์? ทำอย่างไรที่เราจะประสบกับความสมบูรณ์ เจริญ มั่งคั่งทั้งในครอบครัว หน้าที่การงาน ในชุมชนสังคม และในคริสตจักร? ท่านจะพบคำตอบต่อคำถามนี้ได้ใน 2โครินธ์ 8

คงกล่าวได้ว่า 2โครินธ์ 8 เป็นจดหมายรณรงค์หาทุนฉบับแรกของคริสตจักรในคริสต์ศตวรรษที่หนึ่ง เปาโลเขียนพระธรรมบทนี้เพื่อหนุนใจให้คริสเตียนในโครินธ์ได้ช่วยกันบริจาคเงินเพื่อส่งไปช่วยคริสเตียนในกรุงเยรูซาเล็มที่กำลังประสบความขาดแคลนทางการเงิน ความจริงแล้ว คริสเตียนที่โครินธ์ได้เริ่มต้นสนับสนุนด้านทุนทรัพย์ในเรื่องนี้แล้ว (8:6, 10) ตอนนี้น่าจะเป็นโอกาสดีที่พวกเขาจะทำพันธกิจที่ได้เริ่มต้นไว้นั้นให้สำเร็จ

ภายหลังจากที่เปาโลได้สาธยายเหตุผลว่าทำไมชาวโครินธ์ควรให้ด้วยใจเมตตากว้างขวาง เปาโลปิดท้ายด้วยการอ้างพระเยซูคริสต์ที่เป็นตัวอย่างที่สำคัญในเรื่องนี้ “เพราะท่านย่อมทราบถึงพระคุณขององค์พระเยซูคริสต์เจ้าของเราว่า แม้พระองค์ทรงมั่งคั่งก็ทรงยอมยากไร้เพราะเห็นแก่พวกท่าน เพื่อว่าท่านจะได้มั่งคั่งโดยทางความยากไร้ของพระองค์” (8:9) พระเยซูคริสต์ได้สำแดงพระคุณของพระองค์ผ่านการลงมาบังเกิดเป็นมนุษย์ แท้จริงพระองค์ทรง “มั่งคั่ง” แน่นอนว่าความมั่งคั่งที่ว่านี้รวมไปถึงการทรงมีสภาพความเป็นพระเจ้า (ฟิลิปปี 2:6-7) แต่พระองค์กลับลงมารับสภาพ “ความยากไร้” เฉกเช่นสภาพของทาส โดยการยอมรับการมีชีวิตในสภาพมนุษย์ มิเพียงแต่ที่พระเยซูคริสต์เกิดในครอบครัวที่ไม่มีเงินทองเท่านั้น แต่ความยากไร้ของพระคริสต์ในพระธรรมตอนนี้เป็นความยากไร้ในความเป็นมนุษย์ด้วย การที่มีชีวิตในสภาพของพระเจ้าแล้วมาเกิดเป็นมนุษย์ นั่นเป็นการเสียสละครั้งยิ่งใหญ่ เป็นการยอมสละความมั่งคั่งสมบูรณ์อย่างสุดๆ ลงมาสู่การเป็นคนที่ยากไร้ทั้งในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ด้วย

น่าสังเกตว่า ทำไมพระคริสต์ถึงเลือกที่ต้องเสียสละอย่างมากมายถึงเพียงนี้ เปาโลได้ตอบคำถามนี้แก่ชาวโครินธ์ว่า “เพราะเห็นแก่พวกท่าน” (8:9) ความจริงก็คือว่า ที่พระองค์ยอม “ยากไร้” ก็เพื่อชาวโครินธ์จะ “มั่งคั่ง” ความมั่งคั่งนี้รวมทุกสิ่งทุกเรื่อง ทั้งเรื่องความรอดและของประทานฝ่ายวิญญาณ และตามบริบทในพระคัมภีร์ตอนนี้รวมไปถึงความมั่งคั่งในพระพรด้านทรัพย์สินเงินทองที่พระเจ้าประทานแก่คริสเตียนในโครินธ์ด้วย และพระพรแห่งความมั่งคั่งที่กล่าวถึงนี้มิเพียงแต่ความมั่งคั่งที่ได้รับพระพรทรัพย์สินเงินทองเท่านั้น แต่รวมไปถึงความมั่งคั่งในการที่มีจิตใจที่ให้แก่คนอื่นด้วยจิตใจที่เมตตากว้างขวาง

พระธรรม 2โครินธ์ 8 ได้กระตุ้นเตือนให้เราตระหนักชัดว่า เพราะการมาบังเกิดเป็นมนุษย์ของพระเยซูคริสต์นั้นเป็นพระพรอันมั่งคั่งเกินที่จะประเมินค่าได้ และในพระธรรมตอนนี้ก็หนุนเสริมให้เราที่จะแบ่งปันให้กับคนอื่นด้วยใจเมตตาที่เปิดกว้างเพราะสำนึกในพระคุณของพระคริสต์ที่ทรงให้กับเราอย่างเหลือล้น

นี่คือหัวใจของพระกิตติคุณและอีกด้านหนึ่งของพระกิตติคุณคือการที่เราได้รับพระพรอันเหลือล้นจากพระคริสต์จนต้องตอบสนองต่อพระคุณของพระเยซูคริสต์ด้วยการมีชีวิตที่สำนึกและพร้อมที่จะให้อย่างที่พระองค์ทรงให้ ให้ด้วยเสียสละและใจเมตตากว้างขวาง

ประเด็นสำหรับใคร่ครวญและอภิปราย

1. ตัวอย่างการยอมยากไร้ของพระคริสต์ด้วยการมาบังเกิดเป็นมนุษย์ ได้บอกอะไรแก่ท่านบ้าง?
2. ท่านมีความชื่นชมยินดีในพระคุณของพระเยซูคริสต์ด้วยการส่งต่อพระคุณนั้นไปยังคนอื่นหรือไม่?
3. วันนี้ท่านคิดว่าพระเจ้าทรงเรียกให้ท่านให้ด้วยใจเมตตากว้างขวางและยินดีในเรื่องอะไรบ้าง?


ใคร่ครวญภาวนา

พระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้า
ขอบพระคุณพระองค์ที่ได้สละความเป็นพระเจ้าและเลือกมาบังเกิดเป็นมนุษย์
ทรงยอมอยู่ในสภาพที่ยากไร้เพื่อข้าพระองค์ทั้งหลายจะได้เป็นผู้ที่มั่งคั่งสมบูรณ์

พระองค์ทราบแล้วว่า
เป็นการง่ายที่ข้าพระองค์จะรับเอาพระพรจากพระองค์ แล้วก็เก็บกักพระพรนั้นเพื่อตนเอง
โปรดช่วยให้ข้าพระองค์เลียนแบบในการให้อย่างใจเมตตากว้างขวางแบบพระองค์
เมื่อข้าพระองค์ได้รับพระพรด้านทรัพย์สินเงินทอง
ก็ให้มีใจกว้างขวางที่จะแบ่งปันแก่คนอื่น
เมื่อข้าพระองค์ได้รับของประทานทางฝ่ายวิญญาณจากพระองค์
ก็ขอให้ข้าพระองค์ใช้ของประทานนั้นในการรับใช้ผู้อื่นทั้งในชุมชนสังคม และ ในคริสตจักร
เมื่อข้าพระองค์ได้รับความรักที่ไหลหลั่งจากพระองค์
ก็ขอให้ข้าพระองค์ได้รักเมตตาคนอื่นรอบข้าง
ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน ในชุมชนและในคริสตจักร ในทุกที่ที่ข้าพระองค์อยู่

โปรดช่วยข้าพระองค์ในวันนี้ เป็นผู้ที่มั่งคั่ง ด้วยการส่งมอบพระพรที่พระองค์ประทานให้ไปยังผู้คนอื่นๆ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่

18 มกราคม 2555

หัวใจพระกิตติคุณ...การตอบสนองด้วยชีวิตร่างกาย

หลังเทศกาลคริสต์มาส และ การเข้าสู่ปีใหม่ ให้เราใคร่ครวญถึงหัวใจของพระกิตติคุณ

อ่านโรม 12:1-2

ฉบับมาตรฐาน

ข้อ 1 ดังนั้น พี่น้องทั้งหลาย โดยเห็นแก่ความเมตตากรุณาของพระเจ้า ข้าพเจ้าจึงขอวิงวอนท่านทั้งหลายให้ถวายตัวของท่านแด่พระองค์ เพื่อเป็นเครื่องบูชาอันบริสุทธิ์ที่มีชีวิต และเป็นที่พอพระทัยพระเจ้า ซึ่งเป็นการนมัสการโดยวิญญาณจิตของท่าน

ข้อ 2 อย่าลอกเลียนแบบอย่างคนในยุคนี้ แต่จงรับการเปลี่ยนแปลงจิตใจ แล้วอุปนิสัยของท่านจึงจะเปลี่ยนใหม่ เพื่อท่านจะได้ทราบพระประสงค์ของพระเจ้า จะได้รู้ว่าอะไรดี และอะไรเป็นที่ชอบพระทัย และอะไรดียอดเยี่ยม

อมตธรรม

ข้อ 1 เหตุฉะนั้นพี่น้องทั้งหลาย เมื่อพิจารณาถึงพระเมตตาของพระเจ้า ข้าพเจ้าจึงขอให้ท่านทั้งหลายถวายตัวของท่านแด่พระเจ้าเป็นเครื่องบูชาที่มีชีวิตที่บริสุทธิ์ และที่พระเจ้าพอพระทัย นี่เป็นการนมัสการพระเจ้าที่แท้จริง (ที่สมเหตุสมผล?)

ข้อ 2 อย่าดำเนินชีวิตตามอย่างคนในโลกนี้ แต่จงรับการเปลี่ยนแปลงจิตใจของท่านใหม่ แล้วท่านจึงจะสามารถพิสูจน์และยืนยันได้ว่าสิ่งใดคือพระประสงค์ของพระเจ้า คือพระประสงค์อันดี เป็นที่พอพระทัย และสมบูรณ์พร้อมของพระองค์

ในฐานะคริสเตียนเราเห็นว่าร่างกายของเราสำคัญหรือไม่? หรือเรามองว่าร่างกายของเราเป็นแค่สิ่งที่ “อยู่” หรือหุ้มห่อจิตวิญญาณของเราไว้เท่านั้น? เราทำอะไรบ้างกับร่างกายของเรา? ในพระธรรมโรม 12:1-2 ได้กล่าวถึงประเด็นเหล่านี้ เราคงจำเป็นต้องที่จะดูแล รักษา และใช้ร่างกายของเราอย่างไรถ้าเราจะตอบสนองต่อ “พระคุณ” หรือ พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์

ในพระธรรมโรมบทที่ 12 เปาโลได้กล่าวถึงแนวทางการปฏิบัติตามหลักการหลักเชื่อในพระกิตติคุณ ตลอดโรม 11 บทก่อนหน้านี้เปาโลได้ช่วยให้เราพิจารณาพระกิตติคุณอย่างละเอียดถี่ถ้วน ในบทที่ 12 ท่านได้ให้แนวทางในการปฏิบัติเพื่อตอบสนองต่อ “พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์” คือการตอบสนองถึงพระคุณของพระเยซูคริสต์ที่พระองค์ทรงกระทำเพื่อชีวิตของเราทุกคน การดำเนินชีวิตที่ตอบสนองต่อ “พระคุณ” หรือ “พระกิตติคุณ” ในสิ่งที่พระคริสต์กระทำเพื่อเราคือ ให้เราถวายชีวิตร่างกายของเราแด่พระเจ้า ที่จะดำเนินชีวิตด้านร่างกายของเราเป็นเครื่องบูชาแด่พระเจ้า และเป็นเครื่องบูชาที่บริสุทธิ์ เพื่อตอบสนองต่อพระประสงค์ของพระเจ้าในพระคุณที่พระองค์สำแดงแก่เรา และเปาโลพูดชัดว่าการดำเนินชีวิตเช่นนี้เองเป็นการนมัสการพระเจ้าอย่างแท้จริง (12:1) สิ่งที่เปาโลเน้นย้ำในที่นี้คือความสำคัญของ “ร่างกาย” ในชีวิตของเรา เรารับใช้องค์พระผู้เป็นเจ้ามิใช่รับใช้ด้วยใจเท่านั้น มิใช่รับใช้พระองค์ด้วยความคิดเท่านั้น มิใช่รับใช้พระองค์ด้วยความรู้สึกของเราเท่านั้น และเรารับใช้พร้อมๆไปกับความสำคัญของด้านร่างกายในชีวิตของเราด้วย ดังนั้น สิ่งที่เรากระทำต่อร่างกายของเรา หรือ การใช้ร่างกายของเราในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับพระเจ้าด้วย

ถ้าเป็นเช่นนั้น เมื่อเรากล่าวถึงเรื่องความเชื่อศรัทธาของเรา เราจะต้องกล่าวถึงความเชื่อของเราอย่างเป็นรูปธรรม ดั่งที่พระเยซูคริสต์ทรงสำแดง “พระวาทะ หรือ พระวจนะ” ของพระเจ้าให้เป็นรูปธรรมในการดำเนินชีวิตของพระองค์ ด้วยการกระทำที่เป็นรูปธรรม กล่าวคือพระองค์ทรงรักเมตตากรุณาต่อมนุษย์ไร้เงื่อนไขขอบเขต และความรักของพระองค์สำแดงออกมาทั้งในพระราชกิจแห่งการเยียวยารักษา การเอาใจใส่ชีวิตของผู้เล็กน้อย การสั่งสอนอย่างเป็นรูปธรรม การให้คนตายเป็นขึ้นอย่างมีพระประสงค์ และในที่สุดทรงรักด้วยชีวิตร่างกายจิตใจของพระองค์บนกางเขนเพื่อความรอดของมนุษย์ ขอเน้นย้ำที่นี่ว่า ชีวิตร่างกายมนุษย์เป็นพาหะ หรือ หนทางแห่งการทรงกระทำพระราชกิจของพระเจ้าในโลกนี้ และเพราะพระกิตติคุณเรื่อง “พระวาทะทรงมาบังเกิดเป็นมนุษย์” พระวจนะของพระเจ้าปรากฏในลักษณะเป็นชีวิตจริงในตัวชีวิตของพระเยซูคริสต์นี่เองจึงนำมาถึง หัวใจของการตอบสนองต่อพระกิตติคุณ หรือ พระคุณของพระคริสต์คือ การที่คริสเตียนต้องถวายชีวิตของตนเป็นเครื่องบูชาที่บริสุทธิ์แด่พระเจ้า แล้วเราแต่ละคนได้กระทำและใช้ชีวิตร่างกายของเราตอบสนองต่อพระคุณ หรือ พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์อย่างไรบ้าง มิใช่เป็นเพียงการที่เรามาพบปะกันในโบสถ์ในคริสตจักรแล้วร่วมกันร้องเพลง อธิษฐานสรรเสริญพระเจ้าเท่านั้น แต่ยังหมายความว่า เราต้องสรรเสริญพระองค์ นมัสการพระองค์ผ่านการดำเนินชีวิตและการกระทำของเราในชีวิตประจำวัน ในหน้าที่การงานที่เรากระทำด้วย

การตอบสนองพระกิตติคุณด้วยชีวิตร่างกายของเราเป็นการตอบสนองที่เป็นรูปธรรมและสำคัญ และเป็นการที่เรายกย่องนับถือและสรรเสริญพระเจ้าอย่างเป็นรูปธรรม นั่นหมายความว่าเราต้องเอาจริงเอาจังกับการดำเนินชีวิตในประจำวันแต่ละวัน นั่นหมายความว่าทุกกิจกรรมชีวิตที่เราดำเนินและกระทำทั้งในที่ทำงานและที่บ้าน ทั้งในสังคมชุมชนและในคริสตจักรมีความสำคัญต่อการตอบสนองพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ทั้งสิ้น

ทั้งสิ้นนี้ การตอบสนองพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ด้วยชีวิตร่างกายของเรานั้น มิใช่เริ่มต้นเพราะเราอยากทำดี แต่เริ่มต้นจากการสำนึกใน “พระคุณ” ของพระเจ้าก่อน จนยอมตนมอบถวายทั้งชีวิตแด่พระเจ้า เพื่อให้พระเจ้าทรงเปลี่ยนแปลงชีวิตของเรา เปลี่ยนที่ชีวิตจิตใจ เปลี่ยนที่มอบถวายชีวิตนี้ให้เป็นของพระเจ้า มิใช่ชีวิตนี้เป็นของ “ฉัน” ต่อไป แต่เป็นของพระคริสต์ และดำเนินชีวิตของเราตามพระประสงค์ของพระเจ้า มิใช่ตามความประสงค์ตามความอยากความต้องการของตนเอง และนี่คือการนมัสการพระเจ้า และการนมัสการพระเจ้าเช่นนี้เริ่มต้นที่การถวายทั้งชีวิตของเราให้เป็นไปตามพระประสงค์ และนี่เองที่ “พระวจนะ” ก็จะสำแดงผ่านชีวิตจิตวิญญาณของเรา เข้าสู่จิตใจ และสำแดงออกในชีวิตร่างกายของเราคือการสำแดงด้วยการดำเนินชีวิต กล่าวในอีกแง่มุมหนึ่งการสำแดงทางชีวิตร่างกายของเราเป็นตัวบ่งชี้ถึงสภาพชีวิตจิตใจ ชีวิตจิตวิญญาณของเรา เพราะทั้งชีวิตร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณเป็นหนึ่งเดียวกันเมื่อชีวิตทั้งสิ้นของคนๆ นั้นถวายแด่พระคริสต์แล้ว เปาโลกล่าวว่า เพราะการสำแดง “พระวจนะ” ผ่านการดำเนินชีวิตประจำวันของเรานั้นเป็นการนมัสการพระเจ้าด้วยวิญญาณจิตของเรา

ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญและการอภิปราย

1. ความเชื่อของคริสเตียนที่ว่า “พระวาทะมาบังเกิดเป็นมนุษย์” ในพระเยซูคริสต์ มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับวิถีในการดำเนินชีวิตประจำวันของคริสเตียนอย่างไรบ้าง?

2. ท่านจะใช้ชีวิตร่างกายของท่านในการ “นมัสการพระเจ้า” ในวันนี้อย่างไรบ้าง?

3. ในวันนี้ ท่านมีความตั้งใจที่จะสำแดง “พระวจนะ” ในเรื่องอะไรในชีวิตและการกระทำของท่าน ทั้งในที่ทำงาน ในครอบครัว และในชุมชนที่ท่านอยู่ร่วมด้วย?

ใคร่ครวญภาวนา

ขอบพระคุณองค์พระผู้เป็นเจ้า
ที่ทรงสร้างข้าพระองค์ให้มีชีวิตที่มีร่างกาย
ขอบพระคุณพระองค์ที่ทรงช่วยให้ข้าพระองค์ได้สำนึกถึงความสำคัญของร่างกายนี้ที่ทรงสร้าง
ดั่งที่ชีวิตร่างกายของพระคริสต์ได้รองรับและสำแดง “พระวจนะที่บังเกิดเป็นเนื้อหนัง”
พระองค์ทรงเลือกที่จะมาบังเกิดเป็นมนุษย์อย่างเต็มตัว
พระองค์ทรงเลือกที่จะมีร่างกายของมนุษย์ อยู่ในร่างกายของมนุษย์ และใช้ร่างกายของมนุษย์
และด้วยพระวาทะที่สำแดงผ่านทางร่างกายดังกล่าว พระประสงค์จึงได้สำแดงออกอย่างเป็นรูปธรรม

ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า
โปรดช่วยข้าพระองค์ที่จะใช้ร่างกายที่พระองค์ทรงสร้างนี้ในการรับใช้พระองค์
โปรดสอนให้ข้าพระองค์เรียนรู้ที่จะนมัสการพระองค์ในทุกขณะของการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน
เพื่อเป็นการมอบถวายชีวิตร่างกายนี้เป็นเครื่องบูชาที่มีชีวิตแด่พระองค์
เพื่อเป็นการนมัสการพระองค์ด้วยร่างกายและทั้งสิ้นที่มีอยู่และเป็นอยู่ อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่

13 มกราคม 2555

หัวใจพระกิตติคุณ...ไถ่เราจากใต้กฎเกณฑ์แห่งโลกนี้

หลังเทศกาลคริสต์มาส และ การเข้าสู่ปีใหม่ ให้เราใคร่ครวญถึงหัวใจของพระกิตติคุณ

อ่าน กาลาเทีย 4:1-7

ฉบับมาตรฐาน

ข้อ 1 ข้าพเจ้าหมายความว่า ตราบใดที่ทายาทเป็นเด็กอยู่ เขาก็ไม่ต่างอะไรกับทาสเลย ถึงแม้เขาจะเป็นเจ้าของทรัพย์สมบัติทั้งหมด
ข้อ 2 แต่เขาก็อยู่ใต้บังคับของผู้ปกครองและพ่อบ้าน จนถึงเวลาที่บิดาได้กำหนดไว้
ข้อ 3 เราก็เหมือนกัน เมื่อเป็นเด็กอยู่ เราก็เป็นทาสอยู่ใต้บังคับของภูตผีที่ครอบงำของจักรวาล
ข้อ 4 แต่เมื่อครบกำหนดแล้ว พระเจ้าก็ทรงใช้พระบุตรของพระองค์มา ประสูติจากสตรีเพศและทรงถือกำเนิดใต้ธรรมบัญญัติ
ข้อ 5 เพื่อจะไถ่คนเหล่านั้นที่อยู่ใต้ธรรมบัญญัติ เพื่อให้เราได้รับฐานะเป็นบุตร
ข้อ 6 และเพราะท่านทั้งหลายเป็นบุตรแล้วพระองค์จึงทรงใช้พระวิญญาณแห่งพระบุตรของพระองค์เข้ามาในใจของเราร้องว่า “อับบา”(พ่อ)
ข้อ 7 เพราะฉะนั้น โดยพระเจ้าท่านจึงไม่ใช่ทาสอีกต่อไป แต่เป็นบุตร และถ้าเป็นบุตรแล้ว ท่านก็เป็นทายาท

อมตธรรม

ข้อ 1 สิ่งที่ข้าพเจ้ากำลังกล่าวอยู่นี้คือ ตราบใดที่ทายาทยังเด็กอยู่ก็ไม่ต่างอะไรกับทาส แม้เขาจะเป็นเจ้าของทรัพย์สินทั้งหมด
ข้อ 2 เขาก็ยังอยู่ในบังคับของผู้ปกครองและผู้ดูแลทรัพย์สิน จนกว่าจะถึงเวลาที่บิดากำหนด
ข้อ 3 เช่นกันเมื่อเรายังเด็ก เราเป็นทาสอยู่ใต้บังคับของหลักการพื้นฐานทั้งหลายของโลก
ข้อ 4 แต่เมื่อถึงกำหนด พระเจ้าได้ทรงส่งพระบุตรของพระองค์มาประสูติจากครรภ์ของผู้หญิง ถือกำเนิดภายใต้บทบัญญัติ
ข้อ 5 เพื่อไถ่คนทั้งปวงซึ่งอยู่ใต้บทบัญญัติ เพื่อเราจะได้รับสิทธิของบุตรอย่างสมบูรณ์
ข้อ 6 ในเมื่อท่านเป็นบุตร พระเจ้าจึงทรงให้พระวิญญาณของพระบุตรเข้ามาในใจเรา พระวิญญาณผู้ทรงร้องเรียกว่า “อับบา”พ่อ
ข้อ 7 ฉะนั้น ท่านจึงไม่เป็นทาสอีกต่อไป แต่เป็นบุตร และเพราะท่านเป็นบุตร พระเจ้าจึงทรงให้ท่านเป็นทายาทด้วย

เราจะรู้จักพระเจ้าอย่างใกล้ชิดและเป็นการส่วนตัวได้หรือไม่? ถ้าได้ จะต้องทำอย่างไร? เราจะมีสัมพันธภาพเป็นการส่วนตัวกับพระเจ้าได้เช่นไร? คำถามเหล่านี้พบคำตอบได้ใน กาลาเทีย 4:1-7 ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับหัวใจของพระกิตติคุณ ที่พระเยซูคริสต์มาบังเกิดเป็นมนุษย์

กาลาเทียบทที่ 4 เริ่มต้นโดยชี้ให้เราเห็นชัดถึงสภาพชีวิตที่ “ตกเป็นทาส” หรือถูกครอบงำให้อยู่ใต้หลักการอำนาจพื้นฐานแห่งโลกนี้(อมตธรรม) และ เราตกอยู่ใต้อำนาจครอบงำของภูตผีที่ครอบงำจักรวาลนี้ (4:3 ฉบับมาตรฐาน) หรือถ้าใช้ในภาษาปัจจุบันก็คือชีวิตของเราตกอยู่ภายใต้กระแสวัฒนธรรมแห่งโลกนี้แห่งยุคนี้ กระแสคิดที่เห็นแก่ตัว การหลงใหลในตนเอง(คิดว่าตนเองเท่านั้นที่เก่ง เด่น ดี เยี่ยม กว่าคนอื่น) กระแสวัตถุนิยม อิทธิพลของบริโภคนิยม ตลอดจนทุนนิยม และภาวะชีวิตของผู้คนตกอยู่ในความกลัวต่างๆ อำนาจลึกลับที่เรามองไม่เห็น และ ฯลฯ มนุษย์จึงตกอยู่ในสภาพที่เป็นเหมือน “ทาส” ที่ถูกครอบงำ หรือ ถูกกดหัวด้วยอำนาจและกระแสนิยมเหล่านี้จน หลงใหล เสพติด จนโงหัวไม่ขึ้น

แต่ที่เป็นพระกิตติคุณหรือข่าวดีก็คือ พระเจ้าไม่ได้ปล่อยให้มนุษย์ต้องเผชิญหน้ากับอำนาจบาปร้าย และ อิทธิพลกระแสนิยมแห่งยุคนี้ด้วยตนเอง อย่างสิ้นหวัง หมดแรง ไร้ทางเลือก แต่พระเจ้าทรงมีแผนการณ์และเวลาที่เหมาะสมของพระองค์ เปาโลกล่าวว่า “แต่เมื่อถึงกำหนด พระเจ้าได้ทรงส่งพระบุตรของพระองค์มาประสูติจากครรภ์ของผู้หญิง ถือกำเนิดภายใต้บทบัญญัติ เพื่อไถ่คนทั้งปวงซึ่งอยู่ใต้บทบัญญัติ เพื่อเราจะได้รับสิทธิของบุตร(ของพระเจ้า)อย่างสมบูรณ์” (4:4-5) และนี่คือข่าวดี นี่คือพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ และนี่คือหัวใจของคริสต์มาส เป็นจุดกำเนิดของบุตรของพระเจ้าโดยทางพระเยซูคริสต์ คือด้วยการสอนของพระองค์ การดำเนินชีวิตของพระองค์ และพระราชกิจที่พระองค์ทรงกระทำ ที่เป็นวิถีแห่งการทรงไถ่ถอนและปลดปล่อยมนุษย์ให้หลุดรอดออกจากใต้อำนาจแห่งสากลจักรวาล อิทธิพลของกระแสแห่งยุคต่างๆ รวมถึงบทบัญญัตินิยมของพวกยิวด้วย มิเพียงแต่ที่เราได้รับการช่วยกู้จากพระบุตรของพระเจ้าเท่านั้น และเรายังได้รับสิทธิเป็นบุตรขอพระเจ้าด้วย

เพราะพระเจ้าทรงประทานพระเยซูคริสต์ให้มาเกิดเป็นมนุษย์ในโลกนี้ ได้ทรงกระทำให้เราได้เป็นบุตรของพระเจ้า โดยทางพระเยซูคริสต์นี้เองเราจึงถูกนับเข้าเป็นคนๆ หนึ่งในครอบครัวของพระเจ้า ยิ่งกว่านั้นเรายังไว้วางใจในพระเยซูคริสต์พระผู้ช่วยให้รอดของเรา แล้วทรงประทานให้พระวิญญาณแห่งการเป็นบุตรของพระเจ้าเข้ามาสถิตในชีวิตจิตใจของเรา แล้วทำให้เราเรียกพระเจ้าว่าพระบิดาได้(4:6) อย่างที่พระเยซูคริสต์ทรงเรียกพระเจ้าว่าพระบิดา เราจึงเป็นคนหนึ่งที่มีความสำคัญในสายพระเนตรของพระเจ้า

นี่คือหัวใจของพระกิตติคุณ เมื่อมนุษย์ต้องตกอยู่ใต้อำนาจการครอบงำแห่งสากลจักรวาล อิทธิพลของกระแสวัฒนธรรมต่างๆ แห่งยุค อำนาจทางวัฒนธรรมสังคมทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง พระเจ้าไม่ยอมปล่อยให้มนุษย์ต้องตกอยู่ใต้อำนาจเหล่านี้ และ เผชิญหน้ากับความตาย แต่เมื่อถึงเวลาอันเหมาะสมของพระเจ้า พระองค์ทรงส่งพระบุตรของพระองค์คือพระเยซูคริสต์ มาบังเกิดเป็นมนุษย์เพื่อไถ่ถอนปลดปล่อยมนุษย์ออกจากอำนาจเหล่านี้ และนี่คือข่าวดีของคริสต์มาสด้วย

ที่เป็นข่าวดีเป็นพระกิตติคุณ เพราะนอกจากที่ทำให้เราเป็นไทจากอำนาจครอบงำแห่งโลกนี้แล้ว พระองค์ยังรับเราแต่ละคนให้มีฐานะเป็นบุตรของพระองค์ทางพระเยซูคริสต์ และด้วยสัมพันธภาพดังกล่าวเราจึงรู้จักพระเจ้ามากยิ่งขึ้น เราสามารถที่จะตอบสนองต่อพระกิตติคุณ หรือ พระคุณของพระเยซูคริสต์ด้วยการมีชีวิตที่เป็นบุตรที่มีคุณภาพตามพระประสงค์ของพระเจ้า


ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญและการอภิปราย

1. การที่กล่าวว่า เราเป็นบุตรของพระเจ้านั้นมีความหมายเช่นไรสำหรับท่าน?

2. ท่านเคยมีประสบการณ์ที่หลุดรอดออกจากอำนาจครอบงำแห่งจักรวาลนี้ แล่วมีความเป็นไทในฐานะที่เป็นบุตรของพระเจ้าหรือไม่? อย่างไร?

3. อะไรคือความแตกต่างที่สำคัญระหว่าง ที่เรามีชีวิตเป็นบุตรของพระเจ้า กับ ที่ชีวิตของเราตกอยู่ใต้การครอบงำของอำนาจแห่งโลกนี้ และ กระแสนิยมแห่งยุค?

4. วันนี้ท่านต้องการรับการไถ่จากฤทธิ์เดชของพระคริสต์ ให้หลุดรอดออกจากการครอบงำในอำนาจอะไร?

ใคร่ครวญภาวนา

พระเจ้าผู้เปี่ยมด้วยพระทัยเมตตา
ขอบพระคุณพระองค์ที่ส่งพระบุตรของพระองค์มาเพื่อปลดปล่อยข้าพระองค์
จากการครอบงำของอำนาจบาปชั่วแห่งโลกนี้
โปรดหนุนช่วยข้าพระองค์ในการดำเนินชีวิตที่ได้รับความเป็นไทจากพระองค์
เพื่อข้าพระองค์จะได้ถวายชีวิตทั้งสิ้นในแต่ละวัน
เพื่อแต่ละกิจกรรมที่กระทำในวันนี้ จะเป็นที่นมัสการ สรรเสริญ และยกย่องพระองค์

ขอบพระคุณพระองค์ ที่พระเยซูคริสต์ เป็นหนทางนำข้าพระองค์สู่การเป็นบุตรของพระองค์
และเป็นสิทธิพิเศษที่สูงยิ่งที่ได้เรียกพระองค์ว่า “พระบิดา”

โปรดช่วยข้าพระองค์ให้มีชีวิตที่เจริญขึ้นด้วยการติดสนิทกับพระองค์
เพื่อข้าพระองค์จะเรียนรู้ว่าชีวิตที่สมบูรณ์ตามพระประสงค์นั้นเป็นเช่นไร

ขอสรรเสริญพระเจ้าพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์ อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
089-2628-310

11 มกราคม 2555

หัวใจพระกิตติคุณ...พระเยซูเข้าใจในความทุกข์ของเรา

หลังเทศกาลคริสต์มาส และ การเข้าสู่ปีใหม่ ให้เราใคร่ครวญถึงหัวใจของพระกิตติคุณ

อ่าน ฮีบรู 2:18 และ 4:14-16; 5:7-10

ฉบับมาตรฐาน

ข้อ 2:18 เพราะพระองค์เองได้ทรงทนทุกข์และถูกทดลอง พระองค์จึงทรงสามารถช่วยผู้ที่ถูกทดลองได้

ข้อ 4:14 เพราะฉะนั้น เมื่อเรามีมหาปุโรหิตที่ยิ่งใหญ่...คือพระเยซู...ขอให้เรายึดมั่นในหลักความเชื่อที่ประกาศไว้

ข้อ 4:15 เพราะว่าเราไม่ได้มีปุโรหิตที่ไม่สามารถจะเห็นใจในความอ่อนแอของเรา แต่ทรงเคยถูกทดลองใจเหมือนเราทุกอย่าง...

ข้อ 4:16 ฉะนั้น ขอให้เราเข้าถึงพระที่นั่งแห่งพระคุณด้วยความกล้า เพื่อเราจะได้รับความเมตตา และจะพบพระคุณที่ช่วยเราในยามต้องการ

ข้อ 5:7 ในระหว่างที่พระคริสต์ประทับในโลก พระองค์ทรงถวายคำอธิษฐาน และร้องขอด้วยเสียงดังและน้ำพระเนตรไหล ต่อพระเจ้าผู้ทรงสามารถช่วยพระองค์ให้พ้นจากความตายได้ และพระเจ้าทรงสดับเนื่องจากความยำเกรงของพระคริสต์

ข้อ 5:8 ถึงแม้ว่าพระองค์ทรงเป็นพระบุตร พระองค์ก็ทรงเรียนรู้ที่จะเชื่อฟังโดยการทนทุกข์ต่างๆ

ข้อ 5:9 เมื่อพระเจ้าทรงทำให้พระเยซูเพียบพร้อมแล้ว พระเยซูจึงทรงเป็นแหล่งกำเนิดแห่งความรอดนิรันดร์สำหรับทุกคนที่เชื่อฟังพระองค์

อมตธรรม

ข้อ 2:18 เพราะพระองค์เองทรงทนทุกข์เมื่อได้ทรงถูกทดลองใจ พระองค์จึงทรงสามารถช่วยบรรดาผู้ที่กำลังถูกทดลองได้

ข้อ 4:14 เหตุฉะนั้น เมื่อเรามีมหาปุโรหิตที่ยิ่งใหญ่ผู้ทรงผ่านฟ้าสวรรค์แล้ว คือพระเยซู...ก็ให้เรายึดมั่นในความเชื่อที่เราได้ประกาศรับไว้

ข้อ 4:15 เพราะเราไม่ได้มีมหาปุโรหิตซึ่งไม่อาจเห็นใจในความอ่อนแอต่างๆของเรา แต่ทรงถูกทดลองใจเช่นเดียวกับเราทุกประการ...

ข้อ 4:16 ฉะนั้น ให้เราเข้าใกล้พระบัลลังก์แห่งพระคุณด้วยความมั่นใจ เพื่อเราจะได้รับพระเมตตาและจะพบพระคุณที่จะช่วยเหลือเราเมื่อถึงคราวจำเป็น

ข้อ 5:7 ในระหว่างที่พระเยซูทรงอยู่ในโลก พระองค์ได้ถวายคำอธิษฐานและคำร้องทูลอ้อนวอนด้วยเสียงอันดังและด้วยน้ำตาไหล ต่อพระเจ้าผู้ทรงสามารถช่วยให้พ้นความตาย และพระเจ้าทรงสดับเพราะพระเยซูทรงยอมเชื่อฟังพระเจ้าด้วยความยำเกรง

ข้อ 5:8 แม้ทรงเป็นพระบุตร พระองค์ก็ทรงเรียนรู้ที่จะเชื่อฟังจากความทุกข์ยากที่พระองค์เผชิญ

ข้อ 5:9 และเมื่อพระเจ้าทรงทำให้พระเยซูเพียบพร้อมสมบูรณ์แล้ว พระองค์จึงทรงเป็นแหล่งความรอดนิรันดร์สำหรับคนทั้งปวงที่เชื่อฟังพระองค์

พระเจ้าสนใจและเข้าใจในสถานการณ์ชีวิตที่เราต้องเผชิญหรือไม่? พระเจ้ามองเช่นไรเมื่อชีวิตของเราต้องเผชิญกับเหตุร้าย หรือ ความทุกข์ยาก? พระองค์คิดอย่างไรเมื่อเราตกในความสิ้นหวัง ท้อแท้ หมดกำลังใจ? พระองค์คิดอย่างไรเมื่อชีวิตของเราตกอยู่ในการทดลอง? ในพระธรรม ฮีบรู 2:18 และ 4:14-16; 5:7-10 ได้ตอบคำถามเหล่านี้อย่างหนุนเสริมเพิ่มพลังใจ

ประเด็นหลักในพระธรรมฮีบรู 2:10-18 คือการที่พระเยซูคริสต์มาบังเกิดเป็นมนุษย์ทำให้สามารถช่วยให้มวลมนุษย์หลุดรอดพ้นจากอำนาจแห่งความบาปชั่ว เพราะโดยการที่พระเยซูคริสต์มาบังเกิดเป็นมนุษย์อย่างเต็มตัว เป็นมนุษย์ที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจแห่งความบาป พระองค์จึงสามารถที่จะแหวกผ่าการครอบงำของกรอบอำนาจของความบาปและความตาย ด้วยการที่พระเยซูคริสต์ยอมตายที่กางเขน

ในข้อที่ 18 เป็นข่าวดีสำหรับมนุษย์ก็คือ “เพราะพระองค์เอง(เยซูคริสต์)ได้ทรงทนทุกข์และถูกทดลอง พระองค์จึงสามารถช่วยผู้ที่ถูกทดลองได้” (2:18) พระเยซูคริสต์ทรงถูกทดลองที่เรารู้เห็นเด่นชัดคือ เมื่อครั้งที่พระองค์ถูกมารทดลองในถิ่นทุรกันดารหลังการรับบัพติสมา ก่อนที่จะเริ่มพระราชกิจของพระองค์ และการทดลองที่สำคัญยิ่งคือการทดลองครั้งเมื่อพระองค์ต้องทนทุกข์ทรมานในช่วงท้ายชีวิตของพระองค์ ดังนั้น พระเยซูคริสต์รู้ดีว่าการถูกทดลองนั้นเป็นเช่นไร และรู้ดีว่ามีความรู้สึกเช่นไรเมื่อต้องถูกทดลองในการทนทุกข์ยากลำบากจนถึงชีวิต

นั่นหมายความว่าพระเยซูคริสต์รู้ถึงความทุกข์ยากและความรู้สึกเมื่อเราถูกทดลอง พระองค์รู้แจ้งชัดถึงแรงดึงดูดของอำนาจแห่งความบาป แต่พระองค์ทรงเอาชนะเหนือพลังแห่งการดึงดูดนั้น (ฮีบรู 4:15) และพระองค์รู้รสชาดถึงการที่ต้องทนทุกข์เจ็บปวด การถูกปฏิเสธ และได้รับการกระทำอย่างอยุติธรรม ดังนั้น พระเยซูคริสต์จึงสามารถที่จะช่วยเราเมื่อเราต้องเผชิญหน้ากับความทุกข์ยากและอำนาจแห่งความบาป พระเยซูมิได้ยืนอยู่ห่างไกลแล้วสั่งเราว่าควรจะทำเช่นไรที่จะหลุดรอดพ้นจากความเจ็บปวดและอำนาจแห่งความบาปนั้น ตรงกันข้ามพระองค์ทรงเคียงข้างร่วมทุกข์กับเราด้วยความเข้าใจ และหนุนเสริมเราในภาวะเช่นนั้นด้วยพระปัญญา

ให้หัวใจของพระกิตติคุณแห่งการที่พระเยซูคริสต์ทรงเข้าอกเข้าใจเราในความทุกข์ยาก และ การตกลงใต้อำนาจแห่งความบาปชั่ว ได้เป็นรูปธรรมในการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา เพื่อเราจะดำเนินชีวิตตามสัจจะแห่งการทรงมาบังเกิดเป็นมนุษย์ของพระเยซูคริสต์ ให้เราเปิดชีวิตแด่พระคริสต์ที่จะทรงเข้ามาช่วยเราในวิกฤติชีวิตที่แสนจะทุกข์ยาก ลำบาก และเจ็บปวด และทรงช่วยเราที่จะเอาชนะและมีชีวิตที่หลุดรอดจากความบาปสู่ชีวิตที่เป็นไทในพระเยซูคริสต์

ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญและอภิปราย

1. เมื่อชีวิตของท่านต้องตกลงในภาวะถูกทดลอง หรือเมื่อท่านต้องได้รับความเจ็บปวดทุกข์ยากในชีวิต ท่านเคยคิดบ้างไหมว่าพระเยซูคริสต์ทรงเข้าอกเข้าใจความรู้สึกของท่าน? ทำไมท่านถึงคิดเช่นนั้น?

2. ถ้าท่านยึดมั่นสัจจะความจริงใน ฮีบรู 2:18 ในการดำเนินชีวิตของท่าน ชีวิตของท่านจะแตกต่างจากสภาพในปัจจุบันนี้หรือไม่? อย่างไร? เพราะเหตุใด?

ใคร่ครวญภาวนา

พระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพระองค์
ขอบพระคุณพระองค์ที่พระองค์ยอมที่จะถ่อมลงรับประสบการณ์ในชีวิตของมนุษย์
แท้จริงแล้วพระองค์ทรงทราบถึงทั้งความชื่นชมยินดีในชีวิตมนุษย์
และพระองค์ก็ทรงซาบซึ้งถึงความเศร้าโศก ทุกข์ยาก ที่มนุษย์ต้องเผชิญ
และในวันนี้ พระองค์ทรงทราบด้วยว่ข้าพระองค์รู้สึกเช่นไรเมื่อต้องถูกทดลองจากอำนาจบาป
พระองค์ทรงทราบด้วยว่าข้าพระองค์รู้สึกเช่นไรเมื่อต้องสิ้นหวังและเหนื่อยอ่อนหมดแรง
ขอบพระคุณพระองค์สำหรับความเข้าอกเข้าใจของพระองค์ต่อความทุกข์ยากลำบากที่ข้าพระองค์ได้รับ
และการท้าทายที่ข้าพระองค์ถูกการทดลอง

ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า ในวันนี้โปรดช่วยข้าพระองค์
เมื่อใดก็ตามที่ข้าพระองค์ถูกทดลอง
โปรดประทานกำลังที่จะดำเนินชีวิตที่บริสุทธิ์เพื่อเป็นการถวายเกียรติแด่พระองค์

เมื่อใดก็ตามที่ชีวิตต้องตกทุกข์ได้ยากและเจ็บปวด
เมื่อใดที่เกิดความสงสัยว่าในภาวะเช่นนั้นพระองค์ยังอยู่เคียงข้างข้าพระองค์หรือไม่
โปรดประทานกำลังและความมั่นใจจากพระองค์ที่จะยืนหยัดด้วยความเชื่อมั่นในสถานการณ์นั้น

ขอสรรเสริญและขอบพระคุณพระองค์
ที่พระองค์ทรงเป็นพระวาทะที่มาบังเกิดเป็นมนุษย์เป็นรูปธรรม
ที่พระองค์ทรงรู้ซึ้งถึงการเป็นมนุษย์นั้นเป็นเช่นไร
ที่พระองค์ทรงพร้อมและรู้ว่าจะช่วยข้าพระองค์เช่นไร อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
089-2628-310

09 มกราคม 2555

หัวใจพระกิตติคุณ...พระเยซูทรงให้อภัยและปลดปล่อย

หลังเทศกาลคริสต์มาส และ การเข้าสู่ปีใหม่ ให้เราใคร่ครวญถึงหัวใจของพระกิตติคุณ

อ่าน ฮีบรู 2:10-18

ฉบับมาตรฐาน

ข้อ 14 บุตรทั้งหลายมีเลือดและเนื้อเช่นกันอย่างไร พระองค์ก็ทรงมีส่วนเช่นนั้นด้วยอย่างนั้น เพื่อโดยทางความตายนั้น พระองค์จะทรงทำลายมารผู้มีอำนาจ(ทรงทำให้มารหมดอำนาจ)แห่งความตาย

ข้อ 15 และจะทรงปลดปล่อยบรรดาคนเหล่านั้นที่ตกเป็นทาสมาตลอดชีวิตเนื่องจากความกลัวตาย

ข้อ 17 เพราะเหตุนี้ พระองค์จึงต้องเป็นเหมือนกับพี่น้องทุกอย่าง เพื่อจะได้เป็นมหาปุโรหิตผู้เปี่ยมด้วยความเมตตาและความสัตย์ซื่อ ในการกระทำกิจต่อพระเจ้า เพื่อลบล้างบาปของประชาชน

ข้อ 18 เพราะพระองค์ทรงทนทุกข์และถูกทดลอง พระองค์จึงทรงสามารถช่วยผู้ที่ถูกทดลองได้

อมตธรรม

ข้อ 14 ในเมื่อบุตรทั้งหลายมีเลือดและเนื้อ พระองค์จึงทรงร่วมในความเป็นมนุษย์ของพวกเขา เพื่อว่าโดยการสิ้นพระชนม์ของพระองค์จะได้ทรงทำลายผู้กุมอำนาจแห่งความตายคือมาร

ข้อ 15 และปลดปล่อยบรรดาผู้ซึ่งตลอดชั่วชีวิตตกเป็นทาสเนื่องจากกลัวความตาย

ข้อ 17 ด้วยเหตุนี้เองพระองค์จึงต้องเป็นเหมือนกับพี่น้องของพระองค์ทุกอย่าง เพื่อจะได้ทรงเป็นมหาปุโรหิตผู้เปี่ยมด้วยความเมตตาและความสัตย์ซื่อในการรับใช้พระเจ้า และเพื่อจะได้ทรงลบมลทินบาปของปวงประชากร

ข้อ 18 เพราะพระองค์เองทรงทนทุกข์เมื่อได้ทรงถูกทดลองใจ พระองค์จึงทรงสามารถช่วยบรรดาผู้ที่กำลังถูกทดลองใจได้

เราจะหลบลี้หนีจากอำนาจแห่งความบาปและความตายได้อย่างไร? เราจะได้รับการอภัยได้อย่างไร? เราจะดำเนินชีวิตในแต่ละวันในความสัมพันธ์ที่ฉีกขาดระหว่างเรากับพระเจ้าได้อย่างไร? พระธรรมฮีบรู 2:10-18 ได้ให้คำตอบต่อคำถามเหล่านี้ของเรา

พระธรรมตอนนี้ได้กล่าวถึงการที่พระคริสต์มาบังเกิดเป็นมนุษย์ ที่มีอิทธิพลทำให้เกิดความแตกต่างและเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเรา พระเยซูพระบุตรของพระเจ้าได้มาบังเกิดเป็น “เลือดและเนื้อ” ทรงมาบังเกิดเป็นมนุษย์ มีชีวิตเช่นเดียวกับมนุษย์แต่ละคน (2:14; ยอห์น 1:14) ทำไมพระเยซูถึงต้องมาเกิดเป็นมนุษย์มีสภาพที่เป็นเนื้อและเลือด? “เพื่อว่าโดยการสิ้นพระชนม์พระองค์จะได้ทรงทำลายผู้กุมอำนาจแห่งความตายคือมาร (เพื่อทำให้มารสิ้นอำนาจ)... ด้วยเหตุนี้เองพระองค์จึงต้องเป็นเหมือนกับพี่น้อง(มนุษย์)ทุกอย่าง เพื่อจะได้ทรงเป็น มหาปุโรหิตผู้เปี่ยมด้วยความเมตตาและความสัตย์ซื่อในการรับใช้พระเจ้า เพื่อจะได้ทรงลบล้างมลทินบาปของปวงประชากร” (2:14, 17)

การที่พระเยซูคริสต์มาบังเกิดเป็นเลือดและเนื้อ หรือ เป็นมนุษย์เท่านั้นมิสามารถที่จะปลดปล่อยมนุษย์เราท่านให้หลุดรอดออกจากอำนาจแห่งความตายของมารได้ แต่เพราะการบังเกิดเป็นมนุษย์ของพระเยซูคริสต์ทำให้พระองค์ต้องตาย เพราะการตายบนกางเขนด้วยพระเมตตาต่อประชาชนและสัตย์ซื่อต่อพระเจ้าของพระเยซูคริสต์นี้เองที่ทรงช่วยให้มนุษย์ไม่ต้องตกอยู่ในความกลัวต่อความตายของมารอีกต่อไป แต่สามารถรับการปลดปล่อยออกมาสู่ความเป็นไท ทรงปลดปล่อยมนุษย์จากความกลัวตาย จากความกลัวต่อมารผู้มีอำนาจแห่งความตาย และเกิดความกล้า และมั่นใจที่จะรับเอาพระเมตตาของพระคริสต์ และรับเอาพระคุณของพระองค์เพื่อชีวิตนิรันดร์ของเรา

ในทุกวันนี้หลายคนในพวกเรามีความเชื่อในพระเยซูคริสต์พระผู้ช่วยให้รอด แต่การดำเนินชีวิตแต่ละวันกลับแสดงออกชัดว่า เราพยายามช่วยตัวเองให้หลุดรอดออกจากอำนาจแห่งความบาป ด้วยปากของเรา เรายืนยันว่าความรอดมีในพระคริสต์เท่านั้น แต่ในส่วนลึกของจิตใจและการกระทำที่ผู้คนเห็นในตัวเรา เรากลับพยายามสำแดงพิสูจน์ว่าเราเป็นคนที่มีคุณค่าเหมาะสม หรือ สมควรที่พระเจ้าจะให้อภัย (ทำดีเพื่อให้พระเจ้าอภัย) ด้วยทางตันแห่งจิตวิญญาณของเราทำให้เราไม่ได้รับความชื่นชมยินดีในชีวิตใหม่ที่เราน่าจะมีในพระเยซูคริสต์ ซึ่งเป็นชีวิตใหม่ที่ได้รับการปลดปล่อยให้หลุดรอดออกจากอำนาจแห่งความตาย และ ความกลัวตายในตัวเรา หลุดรอดออกจากความรู้สึกผิด และการที่จะต้องซ่อนตัวเองเพราะความอับอาย

การที่เราจะเข้าถึงหัวใจของพระกิตติคุณ เราจะต้องเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างรางหญ้าที่เบธเลเฮ็มกับกางเขนที่ภูเขากะโหลกศีรษะ ความสัมพันธ์ระหว่างการมาบังเกิดเป็นมนุษย์ของพระเยซูกับการที่พระองค์ยอมสิ้นพระชนม์บนกางเขน ดังนั้น เทศกาลคริสต์มาสจึงเป็นช่วงเวลาที่เรายอมให้พระคริสต์รับเอาความบาปผิดในชีวิตเรา แล้วให้พระองค์ปลอดปล่อยเราให้หลุดออกจากความกลัวตาย และ อำนาจแห่งความตายของมาร ด้วยความไว้วางใจในพระเยซูคริสต์พระผู้ช่วยให้รอด นั่นหมายถึงช่วงเวลาที่เราสำนึกในพระคุณและขอบพระคุณที่ได้รับการยกโทษบาปจากพระองค์ทุกวัน แล้วใช้ชีวิตในความเป็นไทที่ได้รับในการรับใช้พระเจ้าด้วยเสรีและชื่นชมยินดีทั้งในชีวิตการงาน ในที่ทำงาน ในครอบครัว ในชุมชนเพิ่อนบ้าน และในชุมชนคริสตจักร

ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญและอภิปราย

1. การที่เราเชื่อว่าพระเยซูคริสต์เป็นมนุษย์แท้และเป็นพระเจ้าแท้นั้นมีความสำคัญ และมีคุณค่าอะไรสำหรับท่าน?

2. ทุกวันนี้ ท่านดำเนินชีวิตด้วยพระคุณแห่งการอภัยโทษของพระเจ้าหรือไม่? เพราะเหตุใด?

ใคร่ครวญภาวนา

พระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพระองค์
ขอบพระคุณพระองค์ที่ทรงมาบังเกิดเป็นมนุษย์
ขอบพระคุณที่ทรงรับและแบกความบาปผิดของข้าพระองค์บนกางเขน
เพื่อปลดปล่อยข้าพระองค์จากอำนาจครอบงำแห่งความบาปและความตาย
ขอบพระคุณพระองค์ที่ทรงเป็นมหาปุโรหิตที่เปี่ยมด้วยความเมตตาเพื่อข้าพระองค์

ขอองค์พระผู้เป็นเจ้าโปรดช่วยข้าพระองค์
ให้ดำเนินชีวิตในวันนี้บนสัจจะความจริงที่พระองค์ทรงบังเกิดเป็นมนุษย์
ที่สำแดงพระวจนะของพระองค์ออกมาเป็นรูปธรรมในการดำเนินชีวิตประจำวัน
และตอบสนองพระกิตติคุณของพระองค์ด้วยการดำเนินชีวิตตามพระประสงค์ในทุกมิติชีวิต

ขอบพระคุณและสรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพระองค์ ที่ทรงบังเกิดเป็นมนุษย์แท้ อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
089-2628-310

06 มกราคม 2555

หัวใจพระกิตติคุณ...ถ่อมและเสียสละ

หลังเทศกาลคริสต์มาส และ การเข้าสู่ปีใหม่ ให้เราใคร่ครวญถึงหัวใจของพระกิตติคุณ

อ่านฟิลิปปี 2:1-11

ฉบับมาตรฐาน
ข้อ 5 จงมีจิตใจเช่นนี้ในพวกท่านเหมือนอย่างที่มีในพระเยซูคริสต์
ข้อ 6 ผู้ทรงสภาพความเป็นพระเจ้า ไม่ทรงถือว่าความทัดเทียมกับพระเจ้าเป็นสิ่งที่จะต้องยึดไว้
ข้อ 7 แต่ทรงสละพระองค์เองและทรงรับสภาพทาส ทรงถือกำเนิดเป็นมนุษย์ และทรงปรากฏอยู่ในสภาพมนุษย์
ข้อ 8 พระองค์ทรงถ่อมพระองค์ลง ทรงยอมเชื่อฟังจนถึงความมรณา กระทั่งมรณาบนกางเขน

อมตธรรม
ข้อ 5 ท่านควรมีท่าทีแบบเดียวกับพระเยซูคริสต์
ข้อ 6 ผู้ทรงสภาพพระเจ้า แต่ไม่ได้ทรงยึดติดในความเท่าเทียมกับพระเจ้า
ข้อ 7 พระองค์กลับทรงสละทุกสิ่ง มารับสภาพทาส บังเกิดเป็นมนุษย์
ข้อ 8 และเมื่อทรงปรากฏเป็นมนุษย์ พระองค์ทรงถ่อมพระองค์ลง และยอมเชื่อฟังแม้ต้องตายบนไม้กางเขน

ในปัจจุบันนี้หัวใจแห่งพระกิตติคุณว่าด้วยการที่พระเจ้ามาบังเกิดเป็นมนุษย์นั้นมีอิทธิพลต่อชีวิต ความเชื่อ และการดำเนินชีวิตของคริสเตียนและชุมชนคริสตจักรอย่างไรบ้าง? การที่พระเจ้ามาบังเกิดเป็นมนุษย์ได้บอกอะไรแก่เราว่า เราควรมีชีวิตและดำเนินชีวิตเช่นไรบ้าง? เราจะพบคำตอบต่อคำถามข้างต้นจากบทเพลงสรรเสริญที่อาจจะเก่าแก่ที่สุดของคริสเตียนใน พระธรรมฟิลิปปี 2:1-11

โดยภาพรวมคริสตจักรฟิลิปปีเป็นคริสตจักรที่ดูเข้มแข็งแห่งหนึ่ง เป็นเพื่อนร่วมงานในพันธกิจของเปาโลที่สัตย์ซื่อและฝ่าฟัน แต่ผู้นำบางคนในคริสตจักรแห่งนี้เกิดความขัดแย้งในการทำงาน (4:2-3) แน่นอนว่าในการทำงานด้วยกันเมื่อมีความคิดความเห็นที่แตกต่างขัดแย้งไม่ลงรอยกันย่อมนำมาซึ่งการถกเถียง และบ่อยครั้งท่าทีที่แสดงออก คำพูดที่ใช้บาดลึกลงในชีวิตจิตใจกลายเป็นบาดแผลสร้างความเจ็บปวดในชีวิตของกันและกัน ดังนั้นใน 4:2 เปาโลเรียกร้องผู้นำและผู้รับใช้เหล่านี้ “ให้ปรองดองกัน” ในองค์พระผู้เป็นเจ้า รักซึ่งกันและกัน และทำงานร่วมกันในท่าทีและแบบอย่างตามหัวใจของพระกิตติคุณที่สำแดงชัดในพระเยซูคริสต์ หรือให้ทำงานร่วมกันด้วยพระกิตติคุณ หรือ ด้วยพระคุณของพระคริสต์(2:2) เปาโลขอร้องให้ทุกฝ่ายเลิก “การเห็นแก่ตัว” เลิกการเอา “ผลประโยชน์ของตน” เป็นที่ตั้ง หรือ “เอาแต่ใจตนเอง” “มุ่งหาประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว” แต่เปาโลเรียกร้องให้ทุกคนทำงานของพระคริสต์ด้วยความถ่อมใจ ให้ทำงานด้วยมีจิตใจและความคิดเดียวกัน มีเป้าหมายเดียวกัน และควรคิดถึง “ประโยชน์ของคนอื่นด้วย” (2:3-4) จากนั้นเปาโลกล่าวตอกย้ำชัดเจนลงไปเลยในข้อที่ 5 ว่า “ท่านควรมีท่าทีแบบเดียวกับพระคริสต์”(อมตธรรม) หรือ “จงมีจิตใจเช่นนี้ในพวกท่านเหมือนอย่างที่มีในพระเยซูคริสต์” แต่ถ้าเราแปลพระคัมภีร์ประโยคนี้ตามตัวอักษรก็จะแปลได้ว่า “ท่านควรมี ความคิด เหมือนอย่างพระคริสต์”

บางท่านคิดในใจว่า แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าพระคริสต์มีความคิดแบบไหน มีมุมมองเช่นไร? เปาโลได้ตอบข้อข้องใจนี้ และได้ใช้บทเพลงสรรเสริญที่คริสตจักรเชื่อว่าเป็นบทเพลงที่มีอายุเก่าแก่มากที่สุดบทหนึ่งในการอธิบายด้วย หรือไม่เปาโลก็นำบทเพลงนี้จากบทเพลงที่ใช้ในการนมัสการในสมัยคริสตจักรเริ่มแรก แต่บางท่านก็คิดว่าบทเพลงนี้เปาโลได้เขียนขึ้นเอง จะเป็นบทเพลงที่มาจากแหล่งไหนไม่สำคัญเท่ากับแก่นแท้ของบทเพลงนี้มุ่งเน้นให้คริสเตียนสนใจในหัวใจของพระกิตติคุณคือ การที่พระคริสต์ได้ให้ชีวิตของตนเองด้วยเสียสละและด้วยใจถ่อมลง เปาโลชี้ชัดว่าพระเยซูคริสต์

“ผู้ทรงสภาพพระเจ้า แต่ไม่ได้ทรงยึดติดในความเท่าเทียมกับพระเจ้า
พระองค์กลับทรงสละทุกสิ่ง มารับสภาพทาส บังเกิดเป็นมนุษย์
และเมื่อทรงปรากฎเป็นมนุษย์ พระองค์ทรงถ่อมพระองค์ลง
และยอมเชื่อฟังแม้ต้องตายบนไม้กางเขน!” (2:6-8 อมตธรรม)

ถ้าพูดตามสำนวนตลาดปัจจุบัน เราพูดได้ว่า พระเยซูคริสต์ทรงถ่อม 2 เด้ง เด้งแรกพระองค์ถ่อมด้วยการมาเกิดเป็นมนุษย์ปุถุชนคนธรรมดา เด้งที่สอง เมื่อเป็นมนุษย์พระองค์ถ่อมด้วยการเชื่อฟังพระประสงค์ของพระเจ้าคือยอมถูกตรึงที่กางเขน บทเพลงนี้ต้องการเน้นย้ำหัวใจของพระกิตติคุณคือ “ความถ่อม” เมื่อพระเยซูคริสต์ผู้ทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าได้มาเกิดเป็นมนุษย์และได้สำแดงถึง “การถ่อม” อย่างน่าทึ่ง!

ดังนั้น การบังเกิดเป็นมนุษย์ของพระเยซูคริสต์เป็นแม่แบบท่าทีการดำเนินชีวิตของคริสเตียน และโดยเฉพาะท่าทีแห่งความถ่อมแบบพระคริสต์จำเป็นจะต้องเป็นท่าทีชีวิตที่ถ่อมของคนที่ประกาศตนเองว่าเป็นสาวกของพระองค์ พระเยซูคริสต์เลือกที่จะสละชีวิตของพระองค์ เราผู้เป็นสาวกของพระองค์ก็จำเป็นต้องยอมสละชีวิตของเราเองด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสละตนเองในสัมพันธภาพต่างๆ ที่เรามีต่อผู้คนรอบข้างไม่ว่าในที่ทำงาน ในครอบครัว ในชุมชนสังคม หรือในชุมชนคริสตจักร เวลาใดก็ตามที่เรามัวแต่ให้คุณค่าแก่ความคิดความเห็นของเราเอง เราก็จะไม่สนใจและไม่เห็นคุณค่าในความคิดความรู้สึกของคนอื่น เราควรตระหนักเสมอถึงการดำเนินชีวิตตามหัวใจของพระกิตติคุณ หรือ ตามพระคุณของพระคริสต์ ในที่นี้คือ “ถ่อมและเสียสละ”

ให้เรามุ่งมั่นเดินตามหัวใจแห่งพระกิตติคุณนี้ หรือ ด้วยจิตวิญญาณของคริสต์มาสที่เพิ่งผ่านไปให้ดำรงคงอยู่เป็นจิตวิญญาณในการดำเนินชีวิตในปีใหม่นี้ของเรา โดยเฉพาะในการดำเนินชีวิตร่วมกับผู้อื่นในแต่ละบริบท ให้เราดำเนินชีวิตด้วยพลังแห่งจิตวิญญาณของ “การถ่อมในการเป็นคนใช้” ของพระคริสต์ โดยสำแดงความถ่อมและการรับใช้แบบพระคริสต์ท่ามกลางชุมชนที่เรามีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์ และการที่เราเลียนแบบพระคริสต์เช่นนี้ก็เป็นการยกย่องให้เกียรติและเป็นการนมัสการพระองค์ด้วยจิตวิญญาณและความจริง คือสัจจะความจริงในพระกิตติคุณ อีกทั้งจะนำพาให้ชุมชนคริสตจักรคือพระกายของพระคริสต์ได้เติบโตแข็งแรงขึ้นด้วย

ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญและอภิปราย

1. ท่านคิดว่าในสถานการณ์ชีวิตแบบใดของท่าน ที่มีความยากลำบากที่จะดำเนินชีวิตตาม พระธรรมฟิลิปปี 2:1-5? เพราะเหตุใด?

2. ท่านเคยมีโอกาสที่จะสะท้อนคิดจริงจังที่จะเอารูปแบบ “หัวใจของพระกิตติคุณ” แห่งความถ่อมแบบพระคริสต์มาใช้ในชีวิตประจำวันหรือไม่? ถ้าเคย ผลเป็นอย่างไรบ้าง? ถ้าไม่เคย ท่านคิดว่าควรจะกระทำไหม? เพราะเหตุใด?

3. ท่านคิดว่า ในวันนี้ท่านจะใช้ “หัวใจของพระกิตติคุณ” แห่งความถ่อมแบบพระคริสต์ในความสัมพันธ์ใดได้บ้าง? หรือท่านตั้งใจจะใช้หัวใจของพระกิตติคุณนี้ในเรื่องอะไรในวันนี้ และ ในสัปดาห์นี้?

ใคร่ครวญภาวนา

พระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพระองค์
ขอสรรเสริญและขอบพระคุณสำหรับน้ำพระทัยของพระองค์ที่ตั้งใจมาเกิดเป็นมนุษย์
พระองค์เลือกที่จะสละและไม่ยึดติดกับความเป็นพระเจ้าของพระองค์ มาเกิดเป็นคนธรรมดา
ด้วยการถ่อมของพระองค์ จึงนำมาซึ่งความรอดสำหรับมวลมนุษย์โลก
ขอบพระคุณและสรรเสริญพระองค์

ท่าทีของจิตวิญญาณที่ถ่อมและเสียสละของพระองค์
ได้สอนให้ข้าพระองค์ตระหนักชัดว่าควรจะดำเนินชีวิตในวันนี้เช่นไร
ได้สอนให้ข้าพระองค์มีมุมมองที่เห็นความสำคัญของคนอื่น
ได้สอนให้ข้าพระองค์ให้ถ่อมใจลงยอมที่จะรับใช้ด้วยเสียสละ
และเป็นเสียงแห่งการทรงเรียกของพระองค์ในวันนี้ให้ข้าพระองค์เดินตาม
ข้าพระองค์ได้ยินการทรงเรียกให้ข้าพระองค์รับใช้ทุกคนรอบข้างมากกว่ามัวให้พวกเขามารับใช้ข้าพระองค์

โปรดให้หัวใจแห่งการรับใช้ด้วยใจถ่อมที่เสียสละได้เป็น “โมเดล” ในการดำเนินชีวิตของข้าพระองค์
เมื่อข้าพระองค์สะท้อนคิดถึงการทรงสละชีวิตของพระองค์ด้วยใจถ่อม
ข้าพระองค์ต้องการมีชีวิตตามแบบของพระองค์
ขอให้พระวิญญาณของพระองค์โปรดช่วยข้าพระองค์ที่จะเห็นคุณค่าความสำคัญของคนอื่น
เพื่อที่ข้าพระองค์จะได้ถ่อมใจลงรับใช้คนเหล่านี้ รับใช้แม้ข้าพระองค์จะมีตำแหน่งเป็นเจ้านายของเขาก็ตาม
โปรดช่วยให้ข้าพระองค์มีความคิดชีวิตที่เหมือนพระองค์มากยิ่งขึ้นทุกวัน อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
089-2628-310

04 มกราคม 2555

หัวใจพระกิตติคุณ...พระเจ้าเกิดเป็นมนุษย์อยู่ท่ามกลางเรา

หลังเทศกาลคริสต์มาส และ การเข้าสู่ปีใหม่ ให้เราใคร่ครวญถึงหัวใจของพระกิตติคุณ

พระวาทะทรงบังเกิดเป็นมนุษย์และประทับอยู่ท่ามกลางเรา
พระองค์ทรงเปี่ยมด้วยพระคุณและความจริง
เราได้เห็นพระเกียรติสิริของพระองค์
คือพระเกียรติสิริของบุตรองค์เดียวผู้ทรงมาจากพระบิดา
(ยอห์น 1:14 อมตธรรม)

ในพระกิตติคุณยอห์น ไม่มีเรื่องการบังเกิดของพระเยซูคริสต์อย่างในพระกิตติคุณมัทธิว และ ลูกา แต่ในยอห์น กล่าวถึงการบังเกิดของพระเยซูคริสต์ด้วยภาษาทางคริสต์ศาสนศาสตร์ หรือบางคนว่าเป็นพระกิตติคุณที่ใช้ภาษาทางปรัชญา แม้ในพระกิตติคุณยอห์นจะไม่มีเหล่าทูตสวรรค์กับคนเลี้ยงแกะ ไม่กล่าวถึงนักปราชญ์กับดาวนำทาง ไม่มีเรื่องราวของทารกที่บังเกิดในคอกสัตว์นอนในรางหญ้า แต่พระกิตติคุณยอห์นกล่าวถึงการมาบังเกิดของ “พระวาทะ” หรือสัจจะความจริงของพระเจ้าที่มีสภาพล้ำลึกต่อความเข้าใจของมนุษย์ ได้มาบังเกิดในสภาพที่เป็นรูปธรรมที่มนุษย์สามารถสัมผัส จับต้อง และเข้าใจได้ เพราะพระวาทะได้มาอยู่ในสภาพชีวิตอย่างเราท่านที่เป็นมนุษย์สามัญธรรมดา

เรื่องนี้เป็นหัวใจของพระกิตติคุณ เพราะเมื่อพระเจ้าทรงเริ่มสร้างโลก พระองค์สร้างโลกโดยคำตรัสของพระองค์ หรือด้วยพระวาทะของพระองค์ พระวาทะจึงเป็นส่วนหนึ่งของพระเจ้าและมีส่วนร่วมในการสร้างโลกนี้ ในพระกิตติคุณยอห์น 1:14 บอกกับเราว่า ฤทธานุภาพของพระเจ้าที่ทรงสร้างโลกได้ปรับเปลี่ยนสภาพความเป็นพระเจ้ามารับสภาพที่เป็นรูปธรรม เป็นมนุษย์ปุถุชนคนธรรมดาคนหนึ่งอย่างเราท่าน ใช้ชีวิตท่ามกลางสังคมชุมชนมนุษย์ เพื่อที่จะสามารถสื่อสารและสำแดงพระประสงค์ของพระเจ้าให้เป็นรูปธรรมที่ปฏิบัติจริงได้ในชีวิตมนุษย์ ที่สมัยหนึ่งเป็น “คำสอน” เป็น “ธรรมบัญญัติ” แต่พระเยซูคริสต์ได้สำแดงพระประสงค์ของพระเจ้าที่ปฏิบัติได้จริงผ่านสภาพชีวิตมนุษย์คนธรรมดาคนหนึ่งของพระองค์ เพื่อมนุษย์จะเห็นและสัมผัสได้จริงจนเกิดความสัมพันธ์ แล้วนำไปสู่ความเข้าใจในพระประสงค์ของพระเจ้า จนยอมตนอุทิศมีชีวิตดำเนินตามพระประสงค์นั้น

หัวใจของ “พระวาทะมาบังเกิดเป็นมนุษย์” ในพระเยซูคริสต์นั้นคือ พระเจ้าผู้เปี่ยมด้วยฤทธานุภาพสูงสุดกลับยอมแปรเปลี่ยนสภาพมาเกิดในสภาพทารกที่ไร้ซึ่งกำลังอำนาจใดๆ มาใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางชุมชนสังคมมนุษย์ที่ถูกครอบงำด้วยอำนาจบาปชั่วรอบข้าง ท่ามกลางระบบการเมืองที่สร้างความยิ่งใหญ่แก่ตนเองบนความทุกข์ยาก เจ็บปวด และการตายของคนอื่น ท่ามกลางสังคมที่คนกลุ่มเล็กๆ กดขี่ข่มเหงประชาชนคนส่วนใหญ่ ท่ามกลางกฎหมายที่เปิดทางให้คนบางกลุ่มแสวงหาการเอารัดเอาเปรียบคนกลุ่มอื่นๆ ท่ามกลางคนส่วนใหญ่ที่สิ้นเนื้อหมดตัว สิ้นหวังหมดใจที่จะลุกขึ้นยืนหยัด ท่ามกลางผู้นำศาสนาที่เรียกตนเองว่าเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้าแต่เหยียบย่ำพระประสงค์ของพระองค์กลับเชิดชูความประสงค์ต้องการของตนเอง จึงไม่แปลกที่คริสต์มาสปัจจุบันเป็นคริสต์มาสแบบทุนนิยม คริสต์มาสแบบบริโภคนิยม คริสต์มาสแบบประโยชน์นิยม หรือที่ผู้นำศาสนาคาทอลิกในฮ่องกงประนามคริสต์มาสที่เห็นแก่ตัว ในสังคมสภาพเช่นนี้ที่ “พระวาทะ” ทรงบังเกิดเป็นมนุษย์และประทับท่ามกลางสังคมเช่นนี้

หัวใจของพระกิตติคุณคือพระวาทะของพระเจ้าประทับท่ามกลางสังคมโลกที่มีแต่ความรุนแรง การทำร้ายทำลายกัน เป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยบาดแผลและการฉีกขาดในจิตใจและจิตวิญญาณ มิใช่พระวาทะของพระเจ้าประทับในสวรรค์ที่สุขสบายและปลอดภัยที่ช่างห่างไกลจากมนุษย์ที่ตกใต้อำนาจชั่วจนชีวิตมีแต่ความเจ็บปวดและฉีกขาด

ยิ่งกว่านั้น เมื่อพระวาทะบังเกิดเป็นมนุษย์และใช้ชีวิตในสังคมชุมชนโลก ชีวิตของพระองค์ทรงสำแดง “พระคุณและความจริง” ท่ามกลางข่าวร้าย ความเจ็บปวด และความฉ้อฉลของอำนาจแห่งความบาปชั่วที่ครอบงำมนุษย์ในสังคมโลก เพื่อหาทางปลดปล่อยและกอบกู้ให้มนุษย์พบทางหลุดรอดออกจากการถูกครอบงำจากอำนาจบาปชั่วเหล่านั้น และนำสู่การดำเนินชีวิตในความเมตตาและความจริงแห่งแผ่นดินของพระเจ้า

ประเด็นสำหรับใคร่ครวญและอภิปราย

1. สัจจะความจริงเรื่องพระวาทะของพระเจ้ามาเกิดเป็นมนุษย์และประทับท่ามกลางเรา มีความหมายและความสำคัญสำหรับท่านในการดำเนินชีวิตแต่ละวันอย่างไรบ้าง?

2. ท่านจะมีส่วนร่วมในพระราชกิจพระวาทะเกิดเป็นมนุษย์และอยู่ท่ามกลางมนุษย์ด้วยพระคุณและความจริงได้อย่างไรบ้าง?

ใคร่ครวญภาวนา

ข้าพระองค์ขอสรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้า
เพราะพระองค์ทรงเป็นพระวาทะที่ทรงฤทธานุภาพของพระเจ้า
เพราะพระองค์มาบังเกิดเป็นมนุษย์ ทำให้พระวาทะเป็นรูปธรรมในชีวิตของมนุษย์
เพราะพระองค์เป็นอิมมานูเอล พระเจ้าที่อยู่กับมนุษย์ พระเจ้าทรงอยู่กับข้าพระองค์ทั้งหลาย
เพราะพระองค์ผู้ทรงเปี่ยมด้วยฤทธานุภาพ แต่กลับถ่อมลงมารับสภาพมนุษย์ผู้อ่อนแอไร้อำนาจ
เพราะพระองค์มาบังเกิดเป็นมนุษย์เพื่อที่จะใช้ชีวิตกับมนุษย์ เพื่อสำแดงพระเจ้าพระบิดาแก่ข้าพระองค์
เพราะพระองค์เป็นพระวาทะที่มาเกิดเป็นมนุษย์ เพื่อช่วยมนุษย์ได้มีชีวิตตามพระวาทะ
ข้าพระองค์จึงขอสรรเสริญและขอบพระคุณพระองค์ อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
089-2628-310