29 กุมภาพันธ์ 2555

จงมีจิตใจเหมือนอย่างพระเยซูคริสต์...เมื่อคริสเตียนทะเลาะและขัดแย้งกัน (1)

อ่าน ฟีลิปปี 2:1-11

1ในเมื่อท่านได้รับกำลังใจจากการเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสต์
ได้รับการปลอบโยนจากความรักของพระองค์
ได้สามัคคีธรรมกับพระวิญญาณ
ได้รับความอ่อนโยนและความสงสาร

2ก็จงทำให้ข้าพเจ้าชื่นชมยินดีอย่างบริบูรณ์
โดย มีความคิดอย่างเดียวกัน
มีความรักอย่างเดียวกัน
มีใจเดียวกัน และ
มีเป้าหมายเดียวกัน

3อย่าทำสิ่งใดด้วยความมักใหญ่ใฝ่สูงอย่างเห็นแก่ตัว หรือด้วยความถือดี
แต่จงทำด้วยความถ่อมใจ ถือว่าคนอื่นดีกว่าตน

4แต่ละคนไม่ควรมุ่งหาประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว
แต่ควรคิดถึงประโยชน์ของคนอื่นด้วย

5ท่านควรมีท่าทีแบบเดียวกับพระเยซูคริสต์

6ผู้ทรงสภาพพระเจ้า แต่ไม่ได้ยึดติดในความเท่าเทียมกับพระเจ้า

7พระองค์กลับทรงสละทุกสิ่ง มารับสภาพทาส บังเกิดเป็นมนุษย์

8และเมื่อทรงปรากฏเป็นมนุษย์ พระองค์ทรงถ่อมพระองค์ลง และยอมเชื่อฟังแม้ต้องตายบนไม้กางเขน!

9ฉะนั้น พระเจ้าจึงทรงเชิดชูพระองค์ขึ้นสู่ที่สูงสุด และประทานพระนามเหนือนามทั้งปวงแก่พระองค์

10เพื่อทุกชีวิตในสวรรค์ บนแผ่นดินโลก และใต้แผ่นดินโลก จะคุกเข่าลงนมัสการพระนามของพระเยซู

11และทุกลิ้นจะยอมรับว่าพระเยซูคริสต์คือองค์พระผู้เป็นเจ้า เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติสิริแด่พระเจ้าพระบิดา
(ฟีลิปปี 2:1-11 อมตธรรม)

ในตอนก่อนเรามีโอกาสอ่านพระธรรมฟีลิปปี 2:1-11 อย่างช้าๆ และซึมซับพระวจนะด้วยจิตอธิษฐาน ในตอนนี้เราจะร่วมกันในการศึกษาเรียนรู้ในบางตอนที่มีลักษณะเด่นชัดและสำคัญที่พระคริสต์สำแดงให้เราได้เห็นเด่นชัดเป็นรูปธรรม จากพระธรรมตอนนี้ที่น่าตื่นตาตื่นใจ

อย่างไรก็ตาม ถ้าเราต้องตกอยู่ในภาวะของความขัดแย้งกับคริสเตียนด้วยกัน เราอาจจะไม่ชอบพระคัมภีร์ตอนนี้สักเท่าใดนัก เพราะโดยสัญชาตญาณแล้วเราต้องการที่จะเป็น “ผู้ชนะ” ในความขัดแย้งนั้น หรือต้องการพิสูจน์ว่าเราเป็น “ฝ่ายถูก” และเป็นผู้ชนะเหนือฝ่ายตรงกันข้าม แต่พระคัมภีร์ตอนนี้บอกให้เราเป็นคนอ่อนโยน ถ่อมสุภาพ และมองว่าคนอื่นดีกว่าตน เราคงไม่ชอบสักเท่าใดนักที่พระคัมภีร์ตอนนี้ให้เราเป็นคนเช่นนี้ นี่ไม่ใช่สิ่งที่เราอยากได้ยินได้ฟัง เราอาจจะอยากได้ยินอย่างในพระธรรมสดุดี 58:8 ที่เป็นคำอธิษฐานของดาวิดเกี่ยวกับศัตรูของเขาว่า “ขอให้เขาเป็นเหมือนหอยทากที่ละลายเป็นเมือก...” ไม่ว่าเราจะชอบพระธรรมฟีลิปปีตอนนี้หรือไม่ก็ตาม แต่ถ้าเรายังต้องการเป็นสาวกที่ติดตามพระเยซูคริสต์ เราก็ต้องพิจารณาและมีชีวิตตามอย่างในพระธรรมฟีลิปปี 2:1-11 ยิ่งกว่านั้นเราจะต้องเผชิญกับการท้าทายจากแบบอย่างชีวิตของพระเยซูคริสต์

พระธรรมฟีลิปปีบทที่ 2 ตอนนี้ เริ่มต้นด้วยชุดคำสั่งทางคริสต์จริยธรรมที่ให้กระทำตาม ให้มีความคิดเห็นอย่างเดียวกัน, รักกันและกัน, ถ่อมสุภาพ, ไม่มุ่งคิดแต่ประโยชน์ส่วนตน แต่คิดถึงประโยชน์ของคนอื่นด้วย สิ่งเหล่านี้สรุปในประโยคเดียวที่ว่า “จงมีจิตใจ...อย่างที่มีในพระเยซูคริสต์” หรือ ให้เราคิดอย่างที่พระเยซูคิด

เปาโลไม่ได้ให้เราคิดเอาเองตามใจชอบว่า การมีจิตใจเหมือนอย่างพระเยซูคริสต์นั้นคิดอย่างไร เราไม่สามารถที่จะเลือกเอาตามใจชอบ หรือคิดเอาเองว่าพระคริสต์นั้นคิดอย่างไร แต่เปาโลให้แสดงความคิดของพระคริสต์ไว้อย่างชัดเจนในข้อ 6-8 ว่า

6ผู้ทรงสภาพพระเจ้า แต่ไม่ได้ยึดติดในความเท่าเทียมกับพระเจ้า
7พระองค์กลับทรงสละทุกสิ่ง มารับสภาพทาส บังเกิดเป็นมนุษย์
8และเมื่อทรงปรากฏเป็นมนุษย์ พระองค์ทรงถ่อมพระองค์ลง และยอมเชื่อฟังแม้ต้องตายบนไม้กางเขน!

อะไรเป็นภาพรวมของพระธรรมตอนนี้? เป็นภาพของพระคริสต์ที่ทรงถ่อมสุภาพ พระองค์เป็นผู้มีสภาพของความเป็นพระเจ้า แต่พระองค์ทรงเลือกที่จะมาเกิดเป็นทาสรับใช้โดยมาบังเกิดเป็นมนุษย์ มากกว่านั้น พระธรรมตอนนี้ยังบอกอีกว่ามิเพียงแต่มาเกิดเป็นมนุษย์เท่านั้นแต่พระองค์ยอมถ่อมและเชื่อฟังพระบิดา ยอมเจ็บปวดและตายบนกางเขน เป็นภาพที่สร้างความตกใจ ถึงสภาพของความถ่อม และ การยอมสละตนเองของพระคริสต์

การทะเลาะและความขัดแย้งที่เรามีกับผู้คนต่างๆ สถานการณ์จะแตกต่างไปมากเพียงใด ถ้าเราจะถ่อมใจอย่างจริงจังเยี่ยงพระเยซูคริสต์? เราจะกระทำต่อคนที่กระทำผิดต่อเราอย่างไร ถ้าเราใคร่ครวญและสะท้อนคิดถึงความรักเมตตาของพระเยซูคริสต์ที่ยอมสละพระชนม์ชีพของพระองค์เองเพื่อมนุษย์อย่างเราท่าน?

ตอนแรกของพระธรรมฟีลิปปี บทที่ 2 กล่าวถึงความสัมพันธ์ที่เราพึงมีต่อคนที่เราอาจจะมีความคิดเห็นแตกต่าง และไม่เห็นด้วย หรือไม่ลงรอยกับเขา ว่าให้เราอ่อนโยน ถ่อมสุภาพต่อคนที่เราขัดแย้ง และมีมุมมองว่าคนอื่นดีกว่าตัว ไม่มุ่งคิดแต่ประโยชน์ของตนเองฝ่ายเดียว แต่คิดถึงประโยชน์ของผู้อื่นด้วย ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากพฤติกรรมโดยปกติของเรา แต่นี่คือบุคลิกคริสเตียนที่สาวกทุกคนของพระคริสต์ต้องมีและต้องเป็น เพราะพระคริสต์ได้มีชีวิตที่เป็นแบบอย่างเช่นนี้แก่เราแล้ว

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
081-289-4499

27 กุมภาพันธ์ 2555

พระวจนะที่สำคัญสำหรับ...เมื่อคริสเตียนทะเลาะและขัดแย้งกัน

ในตอนก่อน เราเห็นพ้องต้องกันว่า พระวจนะของพระเจ้าควรเป็นจุดยืนหลักในการแสวงหาพระประสงค์ของพระเจ้าเมื่อคริสเตียนเกิดความขัดแย้งและทะเลาะกัน ในตอนนี้เราจะมุ่งสนใจพระคัมภีร์ตอนสำคัญที่เปิดเผยถึงการสำแดงของพระเจ้าสำหรับคริสเตียนที่ตกในความขัดแย้งและทะเลาะกัน คือพระธรรมฟีลิปปี 2:1-11 สำหรับข้อเขียนนี้ เรามุ่งเน้นที่จะอ่านพระวจนะตอนนี้อย่างช้าๆ ให้พระวจนะซึมซับลงลึกเข้าในชีวิตของเรา ที่จะสัมผัสกับหัวใจและชีวิตของเรา และมีผลกระทบต่อการตัดสินใจ พฤติกรรม และ การกระทำของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ตกอยู่ในภาวะของความขัดแย้ง เมื่อดำเนินตามขั้นตอนที่ข้อเขียนนี้นำเสนอ ท่านจะได้พบกับการทรงชี้นำของพระเจ้า ถึงทางออกและแนวทางการจัดการกับความขัดแย้งที่เป็นอยู่ในขณะนี้

อ่าน ฟิลิปปี 2:1-11

1ในเมื่อท่านได้รับกำลังใจจากการเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสต์
ได้รับการปลอบโยนจากความรักของพระองค์
ได้สามัคคีธรรมกับพระวิญญาณ
ได้รับความอ่อนโยนและความสงสาร

2
ก็จงทำให้ข้าพเจ้าชื่นชมยินดีอย่างบริบูรณ์
โดยมีความคิดอย่างเดียวกัน
มีความรักอย่างเดียวกัน
มีใจเดียวกัน และ
มีเป้าหมายเดียวกัน

3อย่าทำสิ่งใดด้วยความมักใหญ่ใฝ่สูงอย่างเห็นแก่ตัว หรือด้วยความถือดี
แต่จงทำด้วยความถ่อมใจ ถือว่าคนอื่นดีกว่าตน

4แต่ละคนไม่ควรมุ่งหาประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว
แต่ควรคิดถึงประโยชน์ของคนอื่นด้วย

5ท่านควรมีท่าทีแบบเดียวกับพระเยซูคริสต์

6ผู้ทรงสภาพพระเจ้า แต่ไม่ได้ยึดติดในความเท่าเทียมกับพระเจ้า

7พระองค์กลับทรงสละทุกสิ่ง มารับสภาพทาส บังเกิดเป็นมนุษย์

8
และเมื่อทรงปรากฏเป็นมนุษย์ พระองค์ทรงถ่อมพระองค์ลง และยอมเชื่อฟังแม้ต้องตายบนไม้กางเขน!

9
ฉะนั้น พระเจ้าจึงทรงเชิดชูพระองค์ขึ้นสู่ที่สูงสุด และประทานพระนามเหนือนามทั้งปวงแก่พระองค์

10
เพื่อทุกชีวิตในสวรรค์ บนแผ่นดินโลก และใต้แผ่นดินโลก จะคุกเข่าลงนมัสการพระนามของพระเยซู

11
และทุกลิ้นจะยอมรับว่าพระเยซูคริสต์คือองค์พระผู้เป็นเจ้า เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติสิริแด่พระเจ้าพระบิดา
(ฟีลิปปี 2:1-11 อมตธรรม)

ถ้าขณะนี้ท่านตกอยู่ในภาวะที่เกิดการขัดแย้งกับคริสเตียนด้วยกัน ท่านลองทำตามขั้นตอนข้างล่างนี้ หรือแม้ว่าท่านมิได้อยู่ในภาวะความขัดแย้งท่านก็สามารถที่จะลองทำตามขั้นตอนต่อไปนี้ เพื่อเป็นการวางจุดยืนในชีวิตเมื่อต้องพบกับความขัดแย้งในอนาคต

1. ทูลขอพระเจ้าโปรดตรัสกับท่านผ่านพระวจนะของพระองค์ตอนนี้ โดยการทำงานของพระวิญญาณบริสุทธิ์

2. อ่านพระธรรมตอนนี้ด้วยจิตอธิษฐาน ค่อยๆ อ่านอย่างน้อยสัก 3 รอบ หรือถ้าท่านจะลองเขียนคัดพระคัมภีร์ตอนนี้จะช่วยให้พระวจนะซึมเข้าชีวิตจิตใจของท่าน สำหรับบางท่านชอบที่จะอ่านออกเสียงก็ให้อ่านออกเสียง ให้แต่ละคำค่อยๆ ซึมซับเข้าไปในจิตใจและความคิดของท่าน พร้อมๆ กับเปิดใจรับฟังพระสุรเสียงจากพระองค์ (อย่าพยายามที่จะตีความ หรือ ประยุกต์หาความหมายของพระคัมภีร์ หรือคิดว่าพระคัมภีร์ตอนนี้สำหรับคนนั้นคนนี้ หรือพยายามมองดูว่าตนจะต้องทำอะไร แต่ให้สงบเพื่อจะฟังว่าพระเจ้าตรัสอะไรกับท่านในชีวิตจิตใจของท่าน)

3. ถ้าพระเจ้าเปิดเผยถึงจุดอ่อนจุดพลาดในตัวท่าน ให้ท่านทูลปรึกษากับพระองค์ในเรื่องนั้น ถ้าจำเป็นให้ท่านสารภาพความผิดพลาดดังกล่าว แล้วท่านอาจจะทูลขอการทรงช่วยจากพระเจ้า ใช้เวลาสนทนากับพระเจ้าเกี่ยวกับพระคัมภีร์ตอนนี้ว่ามีผลกระทบต่อชีวิตของท่านอย่างไรบ้าง

4. ถ้าท่านทำได้ ท่านอาจจะแบ่งปันกับผู้เชื่อในพระเจ้าบางท่าน อย่างน้อยสักท่านหนึ่งว่าพระเจ้าได้ตรัสอะไรกับท่านในจิตใจผ่านพระธรรมตอนนี้ และเปิดใจที่จะรับกำลังใจหรือข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอสำหรับเราในการแก้ไขปรับปรุงจากผู้เชื่อที่เราไปแบ่งปัน และขอเขาอธิษฐานเผื่อท่านเพื่อจะก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง

5. ให้ทำตามสิ่งที่พระเจ้าตรัสแก่ท่านผ่านพระคัมภีร์ตอนนี้ แล้วให้กระทำตามพระวจนะ มิใช่เป็นเพียงผู้ฟังพระวจนะเท่านั้น (ยากอบ 1:22-25) ท่านอาจจะพบว่าสิ่งที่พระเจ้าประสงค์ให้ท่านกระทำเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง แต่ท่านโปรดแน่ใจเถิดว่า พระองค์จะทรงประทานกำลังและความสามารถที่จำเป็นแก่ท่านในการกระทำตามพระประสงค์นั้น

ในตอนนี้สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับท่านคือพระวจนะของพระเจ้า ที่นำมาถึงชีวิตของท่านโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้า ส่วนการตีความหมายพระคัมภีร์ตอนนี้เราจะช่วยกันทำต่อไปในครั้งหน้า แต่ผมเชื่ออย่างมั่นคงว่าถ้าท่านประสบกับความขัดแย้งกับคริสเตียนด้วยกัน แล้วท่านให้เวลากับการอธิษฐาน ใคร่ครวญพระวจนะของพระเจ้า แล้วถ้าท่านเปิดจิตใจแด่พระเจ้า พระองค์ก็จะทรงนำท่านไปสู่แนวทางที่ถูกต้องเหมาะสมสำหรับท่าน แล้วท่านก็จะเริ่มเห็นความขัดแย้งที่ท่านกำลังเผชิญหน้าด้วยมุมมองของพระเจ้า แล้วจะเริ่มเห็นว่าท่านจะเป็นทูตแห่งสันติของพระคริสต์

ขอให้สันติแห่งพระเยซูคริสต์ดำรงกับท่านตลอดวันนี้ อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
081-289-4499

24 กุมภาพันธ์ 2555

จุดเริ่มต้นการจัดการ...เมื่อคริสเตียนทะเลาะและขัดแย้งกัน

เราควรจะเริ่มต้นตรงไหน ถ้าเราจะแสวงหาการทรงนำของพระเจ้าท่ามกลางความขัดแย้งแตกแยกของคริสเตียน? สำหรับผมแล้วเราควรจะเริ่มต้นแสวงหาการดลใจจากพระวจนะของพระเจ้า และผมเชื่อว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุด ยิ่งในเวลาที่เราตกอยู่ในความขัดแย้งย่อมมีความสำคัญอย่างยิ่งที่เราจะแสวงหาความเข้าใจจากคำสอนในพระคัมภีร์ ซึ่งมีเหตุผลบางประการดังนี้

ประการแรก ในเวลาที่เกิดความขัดแย้ง ในความเป็นมนุษย์อารมณ์ย่อมมีอิทธิพลเหนือพฤติกรรมที่เราแสดงออกอย่างหุนหันพลันแล่น หรือ ต้องการกวาดล้างคู่กรณีให้ล้มคว่ำลง ลึกๆ แล้วเราเต็มไปด้วยความกลัวและรีบปกป้องตนเองจากการโจมตีของฝ่ายตรงกันข้าม เรารู้สึกว่าคู่กรณีทำผิดต่อเรา เราต้องการแก้แค้นตอบแทนให้สาสม แต่ถ้าเรายอมให้อารมณ์ที่ร้อนแรงนำพฤติกรรมของเราที่แสดงออกเช่นนี้ เราก็จะไม่สามารถหลีกลี้หนีจากเหตุการณ์และความสัมพันธ์ที่มีเลวร้ายลง ตรงกันข้าม ในเวลาเช่นนี้ถ้าเราหันหน้าเข้าพึ่งพระวจนะของพระเจ้า เราก็จะพบพลังที่นำพฤติกรรมของเราที่แสดงออกไปในทางที่ถูกที่ควร แม้ว่าความรู้สึกในขณะนั้นพยายามดึงดันเราไปในทิศทางที่ผิดที่พลาดก็ตาม ในประสบการณ์ที่ผ่านมา ครั้งเมื่อผมตกลงในสถานการณ์คล้ายข้างต้น พบว่าตนเองต้องการตอบโต้คนที่กระทำผิดกระทำร้ายต่อตน แต่ด้วยการที่ยึดถือในพระวจนะของพระเจ้า ในสถานการณ์อารมณ์เช่นนั้นช่วยให้ตนเองหลีกเลี่ยงจากการกระทำพฤติกรรมที่ปกป้องตนเองหรือกระทำพฤติกรรมที่ผิดบาป ถึงแม้การกระทำตอบโต้จะดูสะใจไปชั่วขณะหนึ่งก็ตาม

ประการที่สอง ในเวลาที่เราอยู่ในสถานการณ์ขัดแย้ง ต่อสู้กับคู่ปรปักษ์เราจะต้องยืนมั่นคงบนพระวจนะของพระเจ้า เพราะวิถีทางของพระเจ้าในการจัดการกับความขัดแย้งการต่อสู้กันย่อมแตกต่างอย่างมากกับวิถีแห่งสังคมโลกนี้ เมื่อเราต้องตกอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้ง การต่อสู้ การเป็นปรปักษ์หักโค่นกันนั้น มีแนวโน้มสูงมากที่เราจะใช้แนวทางแห่งสังคมโลก ประการหลักของแนวทางสังคมโลกคือการที่จะทำให้ฝ่ายตรงกันข้ามต้องพ่ายแพ้แต่ตนต้องชนะ มุ่งเอาแพ้เอาชนะกัน และเรามักใช้อุบายแห่งโลกนี้เพื่อบีบบี้คู่ต่อสู้ของเรา เรามักมองข้ามความผิดพลาดของตนเอง แต่กลับเน้นย้ำความเคืองแค้นที่สุมร้อนคุกรุ่นในหัวใจของเรา และเรามักใช้วิถีแห่งโลกนี้ที่จะเอาชนะในความขัดแย้งและการต่อสู้กันในกลุ่มคริสเตียน และเมื่อเรายิ่งทำเช่นนั้น เสียงจากสังคมโลกก็ยิ่งสนับสนุนให้เราถลำลึกลงในทางของโลก จนเราไม่สนใจในพระวจนะของพระเจ้าที่สำแดงแก่เราว่า “เพราะความคิดของเราไม่เป็นความคิดของเจ้า ทั้งวิถีทางของเจ้า(ก็)ไม่เป็นวิถีทางของเรา” (อิสยาห์ 55:8 อมตธรรม) เพราะบนวิถีแห่งโลกนี้ไม่มีช่องว่างสำหรับพฤติกรรมที่บอกว่าให้หันแก้มอีกข้างหนึ่งให้กับคนที่ตบหน้าเรา, และก็ไม่มีที่ว่างที่บอกว่าให้ยกโทษเจ็ดสิบคูณด้วยเจ็ดต่อคนที่กระทำผิดต่อตนเอง หรือที่จะบอกให้เราถ่อมสุภาพอย่างพระคริสต์, ยอมสละตนเองให้เป็นคนรับใช้ ดังนั้น ในสถานการณ์ความขัดแย้งห้ำหั่นเอาแพ้เอาชนะกันนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องการพระวจนะของพระเจ้าที่จะชี้ทางออกที่แตกต่างไปจากวิถีแห่งโลกนี้ เป็นทางออกที่นำไปสู่ศานติสุข วิถีทางแห่งพระกิตติคุณ วิถีทางแห่งพระคริสต์เจ้า

ประการที่สาม ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งของคริสเตียนด้วยกัน เราต้องการพระวจนะของพระเจ้าเป็นตัวชี้นำในการกระทำของเราว่า ควรตอบสนอง ควรกระทำเช่นไร และเป็นสติปัญญาในการคิดใคร่ครวญถึงน้ำพระทัยของพระเจ้า พระประสงค์ของพระองค์ และคริสตจักรของพระองค์ หน่วยงานสถาบันของพระองค์ ในพระคัมภีร์มีทั้งหลักคิดทางศาสนศาสตร์ที่จะช่วยปรับเปลี่ยนกรอบคิด, ความรู้สึก และการกระทำของเรา และ แนวทางจริยธรรมสำหรับการกระทำ และที่สำคัญคือในพระวจนะของพระเจ้านั้นพระองค์ทรงสำแดงและเปิดเผยพระประสงค์ของพระองค์ในชีวิตของเราท่ามกลางความขัดแย้งที่เรามีต่อคริสเตียนด้วยกัน

แต่ผมก็ไม่ได้หมายความว่าให้คริสเตียนรอจนเกิดความขัดแย้งต่อสู้กันแล้วค่อยแสวงหาทางออกจากพระวจนะของพระเจ้า แม้ตนเองและคริสตจักร หรือ องค์กรคริสเตียนของท่านอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นพระพร และ ได้รับศานติสุข ท่านก็ควรแสวงหาการทรงนำวิถีทางที่ควรจะเดินจากพระวจนะของพระเจ้า ยิ่งกว่านั้น การที่ได้เรียนรู้และเดินในทางตามพระวจนะของพระเจ้าก็สามารถป้องกันความขัดแย้งที่ไม่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้น หรือถ้าเกิดความขัดแย้งขึ้นในคริสเตียนด้วยกันก็เรียนรู้ว่าควรจะดำเนินจัดการความขัดแย้งบนเส้นทางแห่งพระวจนะที่เป็นการจัดการความขัดแย้งที่สร้างสรรค์ตามพระประสงค์ของพระเจ้า ที่จะทำให้เกิดการเข้มแข้งและความเจริญเติบโตจากการจัดการความขัดแย้งดังกล่าวตามแนวทางแห่งพระวจนะของพระเจ้า

ในตอนต่อไปเราจะร่วมกันแสวงหาข้อพระคัมภีร์ที่มีความสำคัญมากสำหรับที่เราจะเห็นถึงการทรงชี้นำของพระเจ้าท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งของคริสเตียนด้วยกัน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่

22 กุมภาพันธ์ 2555

เอาพระเจ้าไปซุกที่ไหน...เมื่อคริสเตียนทะเลาะและขัดแย้งกัน!

แม้แต่ในคริสตจักรที่ว่าแข็งแรงอย่างในคริสตจักรฟีลิปปี ความขัดแย้งกันกลายเป็นปัญหาของคริสตจักร เปาโลเขียนจดหมายถึงสมาชิกในคริสตจักรฟีลิปปีว่า

“ข้าพเจ้าขอวิงวอนนางยูโอเดียและขอเตือนนางสินทิเคให้ปรองดองกันในองค์พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าขอร้องท่านผู้เป็นเพื่อนร่วมแบกภาระที่สัตย์ซื่อของข้าพเจ้าให้ช่วยหญิงเหล่านี้ผู้ร่วมฝ่าฟันเพื่อข่าวประเสริฐเคียงข้างข้าพเจ้า พร้อมทั้งเคลเม้นท์กับเพื่อนร่วมงานอื่นๆ ของข้าพเจ้า คนเหล่านี้มีชื่ออยู่ในหนังสือแห่งชีวิตแล้ว” (ฟีลิปปี 4:2-3 อมตธรรม)

สตรีทั้งสองได้ทำงานรับใช้ในพันธกิจของพระเจ้าจนมีชื่อเสียง เด่น ดัง เป็นคนสำคัญในท่ามกลางสมาชิกคริสตจักรฟีลิปปี ทั้งสองเคยเป็นเพื่อนร่วมพันธกิจกับเปาโล แต่ตอนนี้กำลังสะดุดติดขัดด้วยความขัดแย้ง จำเป็นต้องมีการช่วยเหลือจากเปาโลและคนอื่นๆ เพื่อที่ทั้งสองจะสามารถกลับมีความสัมพันธ์ที่ดีและทำงานร่วมกันได้อีก

ในสมัยที่ผมยังเป็นอนุชนผมเคยเข้าใจว่า คริสตจักรที่ขัดแย้งในปัจจุบันน่าจะกลับไปเรียนรู้จากบทเรียนของคริสตจักรสมัยเริ่มแรก ผมคิดว่า เพียงคริสตจักรสมัยนี้จะเชื่อและกระทำตามอย่างแบบคริสจักรในสมัยเริ่มแรก เราก็จะมีความสัมพันธ์กันอย่างราบรื่น แต่ยิ่งมาเรียนประวัติศาสตร์คริสตจักรในพระคริสต์ธรรมยิ่งพบความจริงว่า คริสตจักรในสมัยนั้นก็ประสบพบกับปัญหาที่ซับซ้อนหลายทบหลายเท่า และความขัดแย้งต่อสู้กันแผ่กว้างออกไปไม่ผิดกับการระบาดของเชื้อโรค กล่าวได้ว่าความขัดแย้งกลายเป็นปรากฏการณ์หลักที่เรามองเห็น

สิ่งที่ทำให้เกิดความผิดหวังจากการศึกษาประวัติศาสตร์คริสตจักรในศตวรรษแรกเป็นต้นไปเราจะพบการทะเลาะเบาะแว้ง ขัดแย้ง ถกเถียง ต่อสู้จนเกิดโกลาหล ในบางเหตุการณ์ที่เลวร้ายสุดๆ เราพบว่า คริสเตียนมุ่งร้ายคาดหมายทำลายชีวิตกัน แล้วศาสนศาสตร์ หรือ ความเชื่อศรัทธาของพวกเขาไม่สามารถช่วยและเป็นมาตรฐานในการคิด ตัดสินใจ และการกระทำเลยหรือไง มันเป็นเรื่องน่าเศร้า น่าอับอายอย่างยิ่งครับ
เป็นสิ่งที่แน่นอนว่า นี่ไม่ใช่พระประสงค์ของพระคริสต์ที่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นในคริสตจักร ในพระกิตติคุณยอห์น บทที่ 17 พระคริสต์ได้อธิษฐานไว้ว่า

“ข้าพระองค์มิได้อธิษฐานเพื่อพวกเขาเท่านั้น แต่ข้าพระองค์อธิษฐานเพื่อบรรดาผู้ที่จะเชื่อในข้าพระองค์ผ่านทางถ้อยคำของพวกเขาด้วย เพื่อพวกเขาทั้งหมดจะเป็นหนึ่งเดียวกัน พระบิดาเจ้า พระองค์ทรงอยู่ในข้าพระองค์และข้าพระองค์อยู่ในพระองค์อย่างไร ก็ขอให้พวกเขาอยู่ในพระองค์และอยู่ในข้าพระองค์อย่างนั้นด้วย เพื่อโลกจะได้เชื่อว่าพระองค์ทรงส่งข้าพระองค์มา เกียรติสิริที่พระองค์ทรงประทานแก่ข้าพระองค์นั้น ข้าพระองค์ได้มอบให้พวกเขาแล้ว เพื่อพวกเขาจะได้เป็นหนึ่งเดียวกันเหมือนที่ข้าพระองค์กับพระองค์เป็นหนึ่งเดียวกันคือ ข้าพระองค์อยู่ในพวกเขาและพระองค์อยู่ในข้าพระองค์ ขอให้พวกเขาได้รวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างสมบูรณ์ เพื่อให้โลกรู้ว่า พระองค์ทรงส่งข้าพระองค์มาและทรงรักพวกเขาเหมือนที่พระองค์ทรงรักข้าพระองค์” (ยอห์น 17:20-23 อมตธรรม)

ก่อนหน้านี้เล็กน้อย พระองค์ได้ตรัสกับสาวกของพระองค์ว่า “ถ้าพวกท่านรักซึ่งกันและกันคนทั้งปวงจะรู้ว่าพวกท่านเป็นสาวกของเรา” (ยอห์น 13:35) แน่นอนว่า มีบางครั้งที่สาวกที่ติดตามพระเยซูคริสต์ได้รักซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดี แต่บ่อยครั้งกลับพบว่าความรักดังกล่าวถูกทำลายให้เสียหายด้วยความขัดแย้ง ความตึงเครียดในความคิดและความสัมพันธ์ ที่แสดงออกอย่างเปิดเผยโจ่งแจ้งด้วยจิตใจคับแคบและความคิดที่เลวทราม และหลายต่อหลายครั้งที่เรามิได้จัดการกับปัญหาเหล่านี้ด้วยหนทางที่รักเมตตา

ความขัดแย้งและการไปด้วยกันไม่ได้ของคริสเตียนเป็นเรื่องจริงที่ไม่สามารถจะปฏิเสธได้ และดูจะเพิ่มพูนซับซ้อนมากขึ้นทุกที วันนี้คงจำเป็นที่เราต้องหันกลับมาแสวงหาการทรงนำของพระเจ้าในการจัดการกับความแย้งต่างๆ ที่เราต้องพบในวันนี้ (แทนการคิดตัดสินใจตัดสินคนอื่นด้วยความคิดและความปรารถนาของเราเอง) เพื่อที่เราจะแสวงหาพบพระปัญญาของพระเจ้าที่เราจะสามารถปรับประยุกต์ใช้ท่ามกลางความขัดแย้งที่ทำร้ายทำลายของคริสเตียนด้วยกัน ผมเองหวังว่า เมื่อเราต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้งในพวกคริสเตียนด้วยกัน เราจะแสวงหา และ ใช้แนวทางการจัดการปัญหาที่ถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า และ ที่เสริมสร้างให้ชุมชน องค์กรขององค์พระผู้เป็นเจ้าเข้มแข็ง เจริญเติบโตขึ้น

ในข้อเขียนฉบับต่อไป จะขอเชิญชวนแสวงหาร่วมกันว่า เราจะจัดการกับความขัดแย้งท่ามกลางคริสเตียนด้วยกันอย่างไร เราจะเริ่มต้นที่ไหน?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่

20 กุมภาพันธ์ 2555

ท่านทำอะไรบ้างในวัน “วาเลนไทน์” ที่ผ่านมา?

อ่าน ลูกา 6:27-32

ถ้าพวกท่านรักเฉพาะคนที่รักท่าน ควรนับว่าเป็นคุณความดีของท่านด้วยหรือ?
เพราะแม้แต่พวกคนบาปก็ยังรักเฉพาะคนที่รักเขาเหมือนกัน
ลูกา 6:32(ฉบับมาตรฐาน)

วันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ 2012 ที่ผ่านมา ท่านทำอะไรกับใครบ้าง?

วันวาเลนไทน์กลายเป็นประเพณีปฏิบัติกันในประเทศไทยไปเสียแล้ว! และมักกล่าวอ้างกันเสมอทั้งในวงการคริสเตียนและวงการทั่วไปถึง นักบุญ(เซนต์)วาเลนไทน์ ที่เป็นต้นกำเนิดของวันวาเลนไทน์ ทั้งที่รู้ประวัติความเป็นมาและไม่รู้ และที่รู้ประวัติความเป็นมาอาจจะมีเรื่องราวแตกต่างกันคนละเรื่องเดียวกันก็ได้ ในที่นี้เราขอผ่านเลยเรื่องตำนานเล่าขานกันในวันวาเลนไทน์

แต่ลองใคร่ครวญพิจารณาว่า ในวันวาเลนไทน์เราส่งบัตรอวยพรวาเลนไทน์ถึงใครบ้าง? เรามีโอกาสสำแดงความรักแบบใดกับใครบ้าง? ท่านได้ส่งข้อความอวยพร หรือ หวังดีในวันวาเลนไทน์ถึงใครบ้าง? ท่านได้โทรศัพท์แสดงความรักความปรารถนาดีถึงใครบ้าง? คำถามสุดท้ายครับ มีใครบ้างที่ค้างคาใจในความคิด ในใจ ในความรู้สึกของท่านในวันวาเลนไทน์?

ก็คงมีคนสองพวกใหญ่ๆ ด้วยกันครับ พวกหนึ่งไม่สนใจวันวาเลนไทน์ คนกลุ่มนี้ไม่ทำอะไรเลยในวันวาเลนไทน์ และเฉยๆ กับสิ่งที่คนอื่นทำดีกับตนในวันวาเลนไทน์ หรืออาจจะดีใจบ้างที่ยังมีคนคิดถึงตน กับอีกกลุ่มหนึ่งที่ทำอะไรต่อมิอะไรมากมายในวันวาเลนไทน์ มีโอกาสส่งความรัก ความหวังดีไปยังคนที่ตนชื่นชอบรู้จัก หรือ ผู้ที่มีพระคุณต่อตน ส่วนมากแล้วก็เป็นคนที่ตนรู้จักมักคุ้น คนที่ตนเคารพนับถือ หรือต้องติดต่อประสนการงานในชีวิต

แต่ถ้าเราจะเฉลิมฉลองวันวาเลนไทน์บนรากฐานความเชื่อศรัทธาของเรา บนรากฐานแห่งพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เราจะเฉลิมฉลองกันอย่างไรดีล่ะ?

แท้จริงแล้ว “ความรัก” เป็นหัวใจของพระกิตติคุณแห่งพระเยซูคริสต์ และบนรากฐานความรักแบบพระคริสต์เป็นความรักที่หลั่งล้นออกมาจากพระทัยเมตตา ด้วยจิตใจแห่งการให้ที่เสียสละ เป็นความรักเมตตาที่ปรารถนาให้ชีวิตคนอื่นได้รับสิ่งที่ดีที่สุดจากชีวิตของตน แม้ตนเองจะต้อง “ให้” ต้อง “เสีย” ผลประโยชน์ ศักดิ์ศรี ชื่อเสียง เกียรติคุณ หน้าตา ก็พร้อมที่จะให้

วันนี้พระคริสต์ถามเราด้วยคำถามยิงตรงว่า

“ถ้าท่านรักเฉพาะคนที่รักท่าน ควรนับว่าเป็นคุณงามความดีของท่านด้วยหรือ?
เพราะแม้แต่พวกคนบาปก็ยังรักเฉพาะคนที่รักเขาเหมือนกัน

ถ้าท่านทำดีเฉพาะกับคนที่ทำดีต่อท่านควรนับว่าเป็นคุณงามความดีของท่านหรือ?
เพราะแม้แต่พวกคนบาปก็ทำอย่างนั้นเหมือนกัน ...

แต่จงรักศัตรูของท่านและกระทำดีต่อเขา ... (เพราะถ้าท่านทำเช่นนี้) ...ท่านจะเป็นบุตรขององค์ผู้สูงสุด เพราะว่าพระองค์ทรงพระกรุณาทั้งต่อคนอกตัญญูและคนชั่ว

พวกท่านจงมีใจเมตตากรุณาเหมือนอย่างพระบิดาของท่านมีพระทัยเมตตากรุณา”
(ลูกา 6:32-33, 35-36 ฉบับมาตรฐาน, วงเล็บผู้เขียนเติมเอง)


วันวาเลนไทน์เป็นโอกาสของการสำแดงความรักเมตตากรุณาที่สัตย์ซื่อจริงใจและพร้อมที่จะให้ชีวิต เมื่อเราใช้โอกาสวันนี้ในการตอบสนองต่อความเชื่อศรัทธาที่เรามีในพระคริสต์ด้วยความสัตย์ซื่อต่อพระองค์ นอกจากความรักเมตตาที่จะบังเกิดขึ้นแล้วยังนำไปสู่การให้อภัยกันและกัน ทำให้เกิดการคืนดีกันแล้วกัน ทั้งในครอบครัว ในที่ทำงาน ในกลุ่มเพื่อนฝูง ในชุมชนที่เราอาศัยอยู่ และในคริสตจักรครอบครัวของพระเจ้า

วันนี้ เราจะกระทำตามพระกิตติคุณกับคนที่เรารู้สึกไม่ชอบขี้หน้า เกลียด ด้วยวิธีไหน?
วันนี้ เราจะกระทำตามพระกิตติคุณกับคนที่เราขัดแย้ง ไม่พอใจ ไม่ไว้วางใจอย่างไร?
วันนี้ เราจะกระทำตามพระกิตติคุณกับคนที่เราเป็นคู่คดีความอย่างไร?
วันนี้ เราจะกระทำตามพระกิตติคุณกับคนที่อยู่ “คนละสี” ในทางการเมืองของประเทศไทยอย่างไร?
วันนี้ เราจะกระทำตามพระกิตติคุณกับคนที่อยู่ “คนละสี” “คนละกลิ่น” ในที่ทำงานอย่างไร?
วันนี้ เราจะกระทำตามพระกิตติคุณกับคนที่ขวางทางการทำงานของเราอย่างไรดี?
วันนี้ เราจะกระทำตามพระกิตติคุณกับคนที่ไม่หวังดีแต่หวังร้ายคอยทำลายเราอย่างไร?
วันนี้ เราจะกระทำตามพระกิตติคุณกับเจ้านายที่ไร้ประสิทธิภาพความสามารถในความรับผิดชอบอย่างไร?
วันนี้ เราจะกระทำตามพระกิตติคุณกับลูกน้องที่ขาดความรับผิดชอบ ไร้ความสามารถอย่างไร?
วันนี้ เราจะกระทำตามพระกิตติคุณกับคนที่ชอบ “ยุให้รำตำให้รั่ว” อย่างไรดี?
วันนี้ เราจะกระทำตามพระกิตติคุณกับคนที่โลภมากมักโกงรูปแบบต่างๆ ในที่ทำงานอย่างไร?
วันนี้ เราจะกระทำตามพระกิตติคุณกับ “ตัวตนที่น่าเกลียดน่าชังในตนเอง” อย่างไรดี?

ใคร่ครวญภาวนา

องค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเป็นแบบอย่างในความรักเมตตาที่ให้ชีวิต
ขอบพระคุณพระองค์สำหรับความรักเมตตากรุณาที่ประทานแก่ข้าพระองค์ในชีวิต
จึงทำให้ข้าพระองค์มีโอกาสเกิดการเปลี่ยนแปลงมีชีวิตใหม่
ได้รับพระคุณมากมายจากความรักที่เสียสละของพระองค์
ขอบพระคุณพระองค์ที่ทรงเตือนข้าพระองค์ในเวลานี้ว่า
มิใช่เพียงรักมิตรสหายเพื่อนฝูงคนสนิทชิดเชื้อเท่านั้น
แต่พระองค์ประสงค์ให้ข้าพระองค์รักศัตรูคนที่น่าเกลียดน่ากลัวในชีวิตของข้าพระองค์ด้วย

ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า
โปรดเมตตาและช่วยข้าพระองค์ในการที่จะสำแดงความรักต่อคนเหล่านั้นที่ใกล้ชิดชีวิตของข้าพระองค์
คู่ชีวิตในครอบครัว ลูกหลานในบ้าน เพื่อนร่วมงานที่รู้ใจ เพื่อนฝูงที่ใกล้ชิด
ยิ่งกว่านั้นโปรดช่วยข้าพระองค์รักอย่างที่พระองค์ทรงรัก
และมีพลังชีวิตพร้อมที่จะรักคนที่ไม่สามารถตอบสนองต่อความรักที่ข้าพระองค์เอื้อเฟื้อให้
ต่อคนที่ไม่ยอมตอบสนองต่อความรักที่ข้าพระองค์สำแดง
ต่อคนที่ข้าพระองค์ไม่ชอบแต่ต้องอยู่ด้วย และทำงานร่วมไม่ได้
โปรดช่วยข้าพระองค์สำแดงความรักเมตตาต่อคนที่ปฏิเสธข้าพระองค์

วันนี้ โปรดสร้างข้าพระองค์ใหม่ให้เป็นคนที่พระองค์ประสงค์
ให้การสำแดงความรักเมตตาแบบพระคริสต์เป็นโอกาสที่พระองค์จะเสริมหนุนให้ข้าพระองค์เติบโตขึ้น
เพื่อข้าพระองค์จะเป็นคนที่สามารถดำเนินตามพระประสงค์ของพระองค์ในชีวิตประจำวัน
ทูลขอในพระนามของพระเยซูคริสต์เจ้า อาเมน


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่

17 กุมภาพันธ์ 2555

คุณลักษณะที่ดีของพี่เลี้ยงที่เสริมสร้าง

ในข้อเขียนนี้ขอใช้คำว่า “พี่เลี้ยงที่เสริมสร้าง” หมายถึงคำว่า Mentor ในภาษาอังกฤษ โดยคำจำกัดความของคำว่า Mentor นั้นหมายถึงคนที่สร้างสรรค์ เสริมสร้าง คือผู้ที่ใช้ตนเองเพื่อเสริมสร้างช่วยเหลือคนอื่นให้เกิดการเรียนรู้ เจริญเติบโตขึ้น และประสบความสำเร็จในชีวิต ดังนั้น จึงขอแปลคำว่า “พี่เลี้ยงที่เสริมสร้าง” แทนคำว่า Mentor ในภาษาอังกฤษ

สติปัญญาที่ลุ่มลึกของพี่เลี้ยงที่เสริมสร้าง (mentor) สามารถกลายเป็นการมองการณ์ไกลของคนที่เขาเสริมสร้าง Bud Bilanich ได้กล่าวถึงคุณลักษณะเฉพาะของ “พี่เลี้ยงที่เสริมสร้าง” (mentor) ที่ดีไว้ ดังนี้

1) เป็นผู้ที่เต็มใจที่จะแบ่งปันสติปัญญา ความรู้ ทักษะ และความชำนาญที่ตนมีอยู่แก่ผู้ที่ตนเสริมสร้าง

2) มีมุมมองต่อชีวิตในทางบวก-สร้างสรรค์ เป็นคนที่พร้อมช่วยแหลือเมื่อผู้อื่นที่อยู่ในความยากลำบาก และชี้แนะให้คนอื่นได้ค้นพบโอกาสท่ามกลางความยากลำบากที่กำลังเผชิญอยู่นั้น

3) เป็นผู้ที่เอาใจใส่อย่างแท้จริงในความสำเร็จของผู้ที่ตนเสริมสร้าง เป็นผู้ที่รอบรู้เฉลียวฉลาด และเป็นผู้ที่เข้าใจและร่วมรับรู้ในความรู้สึกของผู้ที่ตนเสริมสร้าง

4) เป็นผู้ที่รู้ตัวว่าตนเองกำลังทำอะไรอยู่ และเป็นคนที่ได้รับการยอมรับนับถือในความรู้และทักษะที่เขามีอยู่

5) เป็นผู้ที่เสริมสร้างตนเองให้เจริญเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง พี่เลี้ยงที่เสริมสร้างเป็นคนที่มีความอยากรู้อยากเห็น ชอบถาม ชอบค้นหา แต่ในบางครั้ง พี่เลี้ยงที่เสริมสร้างกลับเล่นบทบาทในทางตรงกันข้าม เขาจะถามคนที่เขาเสริมสร้างว่ากำลังอ่านเกี่ยวกับเรื่องอะไร แล้วพี่เลี้ยงเองก็ไปอ่านหนังสือนั้น เพื่อตนเองจะได้เรียนรู้และที่สำคัญเพื่อที่จะได้พูดคุย สนทนา และถกเถียงอภิปรายความคิดที่ได้จากที่อ่านนั้นกับคนที่เขาเสริมสร้าง

6) พี่เลี้ยงที่เสริมสร้างคือผู้ที่ชี้แนวทางที่จะเดินไป และตอบสะท้อนย้อนกลับในเชิงสร้างสรรค์แก่คนที่เขาเป็นพี่เลี้ยง แล้วยังช่วยให้ผู้ที่เขาเสริมสร้างมีมาตรฐานสูงยิ่งขึ้น ชื่นชมยินดีเมื่อผู้ที่ตนเสริมสร้างพัฒนาขึ้นถึงจุดที่เขาคาดหมาย ยิ่งกว่านั้นเป็นผู้ที่ช่วยชี้แนะแก้ไขเมื่อผู้ที่เขาเสริมสร้างต้องประสบกับความล้มเหลว ด้วยท่าทีเมตตา ที่เอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้ว่าสิ่งที่ไม่ควรทำผิดซ้ำอีกในครั้งต่อไป

7) เป็นผู้ที่ได้รับการนับถือจากเพื่อนร่วมงาน และถ้ากลุ่ม องค์กร บริษัท หรือสถาบันใดจะคัดเลือกคนที่จะเป็นพี่เลี้ยงที่เสริมสร้าง อาจจะเป็นวิธีที่ดีที่เลือกจากคนที่ผู้คนในองค์กรยอมรับนับถือคนๆ นั้น

8) พี่เลี้ยงที่เสริมสร้างคือผู้ที่พยายาม “ดึงและประมวลความคิดและคุณค่าของคนอื่นออกมาให้เห็นชัด เขาเป็นคนที่ใส่อกใส่ใจในการฟังและช่วยให้คนอื่นฟังด้วยความสนใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่เขาไม่เห็นด้วยหรือคิดเห็นแตกต่าง ด้วยวิธีนี้เขาได้ช่วยให้ผู้ที่เขาเสริมสร้างได้เกิดการเรียนรู้บางสิ่งบางอย่างใหม่

9) พี่เลี้ยงที่เสริมสร้าง (mentor) คือผู้ที่ใช้ชีวิตและเวลาคลุกคลีร่วมทุกข์ร่วมสุขกับผู้ที่เขาเสริมสร้าง และเสริมสร้างด้วยการมีชีวิตที่เป็นแบบอย่างแก่ผู้ที่เขาเสริมสร้างสามารถเห็นด้วยตา สัมผัสด้วยชีวิตจิตใจ และเรียนรู้สิ่งเหล่านั้นอย่างซึมลึกลงในจิตวิญญาณ จนผุดเกิดเป็นสำนึกของผู้ที่ได้รับการเสริมสร้างว่า นี่คือสิ่งที่ฉันจะต้องเป็นต้องทำ (ข้อหลังนี้ผมขออนุญาตเติมเองครับ)

องค์กร หน่วยงาน สถาบันคริสเตียน คริสตจักร และสภาคริสตจักร กำลังร้องเรียกหาผู้นำ ผู้บริหาร ผู้อำนวยการ อธิการ คณบดี ผู้บริหารสภาคริสตจักร ศิษยาภิบาล ศาสนาจารย์ และ คนทำงานคริส-เตียนทุกคน และ ฯลฯ ที่มีจิตวิญญาณ และ ทักษะของการเป็น “พี่เลี้ยงที่เสริมสร้าง (mentor)” แต่ไม่ใช่ไปตั้งอีกตำแหน่งหนึ่งในองค์กรนะครับ ไม่ใช่เด็ดขาด! อุ๊บ...ใช้คำตรงไปหน่อยไหมเนี่ย! (ขอโทษครับ)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
081-289-4499

15 กุมภาพันธ์ 2555

พระกิตติคุณ: รักเพื่อให้ มิใช่ รักเพื่อได้

อ่าน ลูกา 6:27-36

27แต่เราบอกพวกท่านที่กำลังฟังอยู่ว่า
จงรักศัตรูของท่าน
จงทำดีกับคนที่เกลียดชังท่าน
28จงอวยพรแก่คนที่แช่งด่าท่าน
จงอธิษฐานเผื่อคนที่ทำร้ายท่าน
29ใครตบแก้มของท่านข้างหนึ่ง จงหันอีกข้างหนึ่งให้เขาด้วย
ใครเอาเสื้อคลุมของท่านไป ถ้าเขาจะเอาเสื้อด้วยก็อย่าหวง
30จงให้แก่ทุกคนที่ขอจากท่าน
ถ้าใครเอาสิ่งของของท่านไป ก็อย่าทวงคืน
31จงปฏิบัติคนอื่นเหมือนอย่างที่ท่านปรารถนาให้เขาปฏิบัติต่อท่าน

35 แต่จงรักศัตรูของท่านและทำดีต่อเขา
จงให้เขายืมโดยไม่หวังที่จะได้คืน
แล้วท่านจะเป็นบุตรขององค์ผู้สูงสุด
เพราะว่าพระองค์ทรงพระกรุณาต่อทั้งคนอกตัญญูและคนชั่ว
36พวกท่านจงมีใจเมตตากรุณาเหมือนอย่างพระบิดาของท่านมีพระทัยเมตตากรุณา
(ลูกา 6: 27-31, 35-36 ฉบับมาตรฐาน)

พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เป็นวิธีคิด กรอบคิด และมุมมองชีวิตที่สวนกระแสสังคมโลกในปัจจุบัน แต่ที่สำคัญกว่านั้น พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ตอบโจทย์ปัญหาชีวิตและสังคมของทุกวันนี้ และเมื่อทำตามจึงมีพลังในการแก้ปัญหาชีวิต ความสัมพันธ์ และสังคมในโลกปัจจุบัน

พระกิตติคุณ เป็นวิธีคิด กรอบคิด และมุมมอง ที่ผู้ติดตามพระเยซูคริสต์ต้องสำแดงให้เห็นชัดในการดำเนินชีวิตแต่ละวันตามพระบัญชาของพระองค์ ตามความคาดหวังของพระเยซูคริสต์จากเราผู้เป็นสาวกและตัดสินใจมีชีวิตที่ติดตามพระองค์ การที่จะมองดูว่าชีวิตสาวกพระเยซูคริสต์ หรือ คริสตชนคนใดว่ามีพระกิตติคุณเป็นหัวใจในชีวิตหรือไม่ก็ดูได้จากการกระทำของเขาในแต่ละวัน

เป็นความจริงที่ว่า ความรักเมตตากรุณาเป็นหัวใจของพระกิตติคุณ เพราะพระเจ้าทรงรักเมตตากรุณา และพระคริสต์ทรงสำแดงความรักเมตตากรุณาให้เป็นรูปธรรม แต่พระกิตติคุณที่เป็นรูปธรรมนี้ต่างจากวิธีคิด กรอบคิด และมุมมองของกระแสแห่งโลกนี้ เพราะพระเยซูคริสต์สำแดงความรักเมตตากรุณาแก่ศัตรู, ทำดีกับคนที่เกลียดชังตน, อวยพรแก่คนที่แช่งด่าตน, อธิษฐานเผื่อคนที่ทำร้ายตน, ความรักในพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์คือรักที่พร้อมจะให้ มิใช่รักเพื่อที่จะได้ เป็นความรักที่จะให้โดยไม่จำกัดด้วยเงื่อนไขและเหตุผล หรือติดขัดด้วยสิทธิและศักดิ์ศรีแห่งตน โดยไม่คิดว่าตนเองเป็นเจ้าของ ความรักในพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์คือการสละด้วยจิตใจที่เมตตาและให้ด้วยใจกรุณา

มีคนถามผมว่า รักตามนัยพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์นี้ เป็นพระบัญญัติ เป็นกฎเกณฑ์ เป็นระเบียบปฏิบัติ หรือเป็นศีลธรรม หรือเป็นคริสต์จริยธรรม ผมตอบไปว่าไม่ใช่ทั้งนั้น ที่คริสตชนหรือสาวกของพระคริสต์มีวิธีคิด กรอบคิด มุมมองชีวิต ท่าทีที่แสดงออกเช่นนี้เพราะเรากระทำตามแบบอย่างของพระบิดา ตามที่พระเยซูคริสต์กล่าวไว้ว่า “พวกท่านจงมีใจเมตตากรุณาเหมือนอย่างพระบิดาของท่านมีพระทัยเมตตากรุณา” (ข้อ 36) ถ้าเราทำตามแบบอย่างของพระบิดาเราก็เป็น “บุตรขององค์ผู้สูงสุด”(ข้อ 35)

อีกประการหนึ่ง การรักด้วยจิตใจเมตตากรุณาตามพระทัยของพระบิดาเป็นหัวใจของพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เพราะ นี่คือคุณภาพชีวิตแห่งแผ่นดินของพระเจ้าที่เป็นเป้าประสงค์ของการมาบังเกิดเป็นมนุษย์ของพระเยซูคริสต์ ตามที่ปรากฏในคำอธิษฐานที่ทรงสอนสาวกตอนหนึ่งว่า “ขอให้แผ่นดินของพระองค์มาตั้งอยู่ ขอให้เป็นไปตามพระทัย ของพระองค์ ในสวรรค์เป็นอย่างไรก็ให้เป็นอย่างนั้นในแผ่นดินโลก”(มัทธิว 6:10 ฉบับมาตรฐาน) ดังนั้น คริสตชนจึงมีเป้าประสงค์เดียวกับพระเยซูคริสต์ที่จะให้ชุมชนสังคมมีชีวิตเป็นไปตามพระทัยของพระบิดา อย่างน้อยที่สุดในชุมชนของคริสตชนพึงสำแดงความรักเมตตาตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ออกมาเด่นชัดเป็นรูปธรรม

ทุกวันนี้ คริสตจักร สถาบันคริสเตียน โรงเรียน โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย หน่วยงานพันธกิจต่างๆ ได้เป็นชุมชนที่สำแดง “พระทัยเมตตากรุณาอย่างพระบิดา” ที่เป็นรูปธรรมหรือไม่? ในเรื่องอะไรบ้าง อย่างไรบ้าง ตามหัวใจแห่งพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์? และในข้อที่ 35 พระเยซูกล่าวไว้ตอนหนึ่งชัดเจนว่า “...พระบิดาทรงพระกรุณาต่อทั้งคนอกตัญญูและคนชั่ว...”(ซึ่งมักอยู่นอกกรอบ หรือไม่ก็กลายเป็นเงื่อนไขที่จำกัดการสำแดงความรักเมตตาของเราที่เรียกตนเองว่า “สาวกพระคริสต์”?)

ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญและอภิปรายกลุ่ม

1. ท่านจะตอบสนองต่อการทรงเรียกของพระเยซูคริสต์ให้ “รักศัตรูของท่าน” ได้อย่างไรบ้างในวันนี้?

2. ท่านเคยทำตามสิ่งที่พระเยซูคริสต์ทรงสอนข้างต้นหรือไม่? เมื่อไหร่? ในเรื่องอะไร? ผลเป็นอย่างไรบ้าง?

3. วันนี้พระเยซูคริสต์ทรงเรียกท่านในจิตใจให้สำแดงความรักเมตตาตามพระกิตติคุณของพระองค์กับใครบ้าง? ให้สำแดงความรักเมตตาตามพระกิตติคุณในรูปแบบใด?

ใคร่ครวญภาวนา

ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า เป็นการง่ายที่จะพูดพร่อยๆ ว่า “หัวใจของคริสต์ศาสนาคือความรักเมตตา” ด้วยใบหน้าที่เชิดขึ้นและดูเหมือนชื่นบาน ข้าพระองค์มักตกหลุมพรางที่สำแดงความรักแต่ปากและคำพูด แต่พระองค์ประสงค์ให้ข้าพระองค์สำแดงความรักเมตตาอย่างเป็นรูปธรรมตามแบบอย่างของพระบิดา พระองค์ต้องการให้ข้าพระองค์รักคนที่เป็นศัตรูในชีวิตจิตใจของข้าพระองค์ พระองค์ต้องการให้ข้าพระองค์อวยพรคนที่หวังร้ายทำลายข้าพระองค์ พระองค์ต้องการให้ข้าพระองค์อธิษฐานเผื่อคนที่เกลียดข้าพระองค์ พระองค์ต้องการให้ข้าพระองค์ยกโทษและขอกลับคืนดีกับคนที่เกลียดข้าพระองค์

ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า โปรดเมตตาในความผิดบาปของข้าพระองค์ ที่ข้าพระองค์พยายามตอบสนองการทรงเรียกให้มีความรักเมตตาตามพระกิตติคุณของพระองค์ด้วยสมองและปัญญาเท่านั้น ข้าพระองค์สอน เทศน์ เขียนบทความคริสต์ศาสนศาสตร์ ฯลฯ แต่ขาดอยู่อย่างหนึ่งคือการสำแดงออกเป็นรูปธรรมในชีวิตประจำวัน

โปรดทรงช่วยข้าพระองค์ เรียนรู้ถึงการที่จะรัก “ศัตรู” ของข้าพระองค์ เมตตาคนที่เกลียดข้าพระองค์ และโปรดประทานกำลังจากพระองค์เพื่อข้าพระองค์จะสามารถกระทำตามพระประสงค์ของพระองค์ แม้ว่าข้าพระองค์จะรู้สึกยุ่งยากใจ สับสน หรือกลัวที่จะต้องรักคนนั้นที่เกลียดและทำลายข้าพระองค์ โปรดประทานพลังแห่งพระคุณของพระองค์แก่ข้าพระองค์ที่จะเปลี่ยนแปลงข้าพระองค์ให้เป็นเฉกเช่นพระบิดาที่มีพระทัยเมตตากรุณาแก่คนที่อกตัญญูและคนชั่ว อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่

13 กุมภาพันธ์ 2555

เมื่อไม่มีสัญญาณจากพระเจ้า

ขอโทษค่ะ...ไม่มีสัญญาณจากหมายเลขที่ท่านเรียก

ผมได้ประสบกับเพื่อนสนิทคนหนึ่ง ชีวิตของเขากำลังตกลงในหุบเหว “เงามัจจุราช” ผมได้ยินเสียงร้องคร่ำครวญลึกๆ ในชีวิตของเขา เขาบ่นออกมาอย่างไร้เป้าหมายว่า...

ชีวิตของ “ฮา” (เป็นภาษาเมืองเหนือแปลว่า กู ที่เขาใช้คำนี้กับผมเพราะความสนิทสนม) ทำไมถึงตกต่ำถึงขนาดนี้
นี่ฮายังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่มันจะถึงก้นเหว
หุบเหวเงามัจจุราชของฮาไม่เหมือนของดาวิดว่ะ
ชีวิตฮาดิ่งลงอย่างไร้เป้าหมาย
และที่สำคัญคือ ฮารู้สึกได้เลยว่า พระเจ้าอยู่ห่างไกลจากฮาจนฮาเอื้อมไม่ถึง
ฮาพยายามอ่านพระคัมภีร์ แต่ในใจฮามีแต่ความสับสน วุ่นวาย อ่านไม่รู้เรื่อง ฮาเลยไม่อยากอ่าน
ฮาพยายามอธิษฐาน แต่ฮาก็ไม่รู้จะพูดกับพระเจ้าอะไรอีกแล้ว
ที่สำคัญคือฮารู้สึกว่า พูดไปก็ไม่มีใครฟัง พระเจ้าไม่รู้อยู่ที่ไหน

อ้ายพวก “เซนต์” (เขาหมายถึงพวกคริสเตียนที่ทำตัวดูบริสุทธิ์ มีชีวิตที่ดีตามความคาดหมายของคริสตจักรทั่วไป) มันคงพูดกันอย่างสะใจว่า จิตวิญญาณของฮามันอยู่ในค่ำคืนที่มืดดำสนิท (เขาหมายถึงจิตวิญญาณที่ตกในอำนาจแห่งความบาป)...

นี่เพื่อนผมคนนี้ใช้คำทางคริสต์ศาสนศาสตร์ ที่ นักบุญยอห์นแห่งไม้กางเขน มีชีวิตในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ท่านได้กล่าววลีที่ว่า “ค่ำคืนที่มืดมิดแห่งจิตวิญญาณ” (The Dark Night of the Soul) แต่ท่านมิได้ใช้ในความหมายเหมือนกับเพื่อนคนนี้ของผม ท่านหมายความว่า เป็นช่วงเวลาที่จิตวิญญาณจะเจริญเติบโตสูงสุด แต่แน่นอนครับที่จิตวิญญาณของหลายต่อหลายคนต้องประสบพบเจออย่างเพื่อนของผมคนนี้ก่อนที่จะพัฒนา เติบโต สู่ชีวิตจิตวิญญาณที่เข้มแข็ง แต่เมื่อชีวิตจิตวิญญาณตกอยู่ในภาวะสับสนยุ่งเหยิง วุ่นวาย ไร้เป้าหมายที่เป็นหนทางนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและเติบโตนี้ เขาต้องการเพื่อนสักคนหนึ่งครับ

ถ้าผมเป็นเหมือนเพื่อนคนนี้ เมื่อตกอยู่ในสภาพชีวิตอย่างเขา ผมต้องการเพื่อนที่ยอมรับผม เพื่อนที่ฟังผม(แม้ว่าการพูด บ่น ไม่เข้าท่าปานไหนก็ตาม) ผมต้องการเพื่อนที่อดทนกับผม เพราะในช่วงเวลาเช่นนั้นชีวิตจิตวิญญาณของผมมัน “เตลิด” อย่างไร้ทิศทาง ผมต้องการเพื่อนที่พยายามเข้าใจสถานการณ์ชีวิตของผม (แม้จะเข้าใจยากแค่ไหนก็ตาม) ผมต้องการเพื่อนที่อยู่กับผม (แม้ไม่รู้ว่าจะทำอะไรก็ตาม) เพียงอยู่เป็นเพื่อนของผมก็พอแล้ว เพื่อว่าเมื่อสถานการณ์ชีวิตถึงจุดหักเห เมื่อชีวิตถึงทางแยกที่ต้องตัดสินใจเลือก ระหว่างการที่จะตัดสินใจกลับไปเส้นทางชีวิตดั้งเดิม กับการเลือกที่จะเดินบนเส้นทางที่กำลังประสบความทุกข์ยากลำบาก ผมจะได้มีเพื่อนที่ประสานมือกันอย่างมั่นคงแน่นหนาสู่ทางแห่งการเติบโตในชีวิตจิตวิญญาณ ท่านรู้ไหมครับว่า มือของเพื่อนคนนั้นที่ประสานกุมแน่นมือผมในวิกฤติชีวิตเช่นนี้ แท้จริงแล้วคือพระหัตถ์ของพระคริสต์ พระกำลังจากพระคริสต์ที่ฉุด ลาก และนำผมไปในทางของพระองค์ มันเป็นมือของเพื่อนที่พระหัตถ์ของพระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจในชีวิตของผม ผ่านชีวิตของเพื่อน ผ่านมือของเพื่อนครับ

สถานการณ์ชีวิตอย่างที่กล่าวข้างต้น เป็นชีวิตเหมือนที่พระเยซูคริสต์เปรียบเหมือนหญิงที่กำลังคลอดบุตร (ยอห์น 16:20-22 ฉบับมาตรฐาน)

“เราบอกความจริงกับพวกท่านว่า
ท่านจะร้องไห้และคร่ำครวญ แต่โลกจะชื่นชมยินดี
พวกท่านจะเป็นทุกข์ แต่ความทุกข์ของท่านจะกลับกลายเป็นความชื่นชมยินดี
เมื่อผู้หญิงจะคลอดบุตร นางก็มีแต่ความทุกข์เพราะถึงกำหนด
แต่เมื่อคลอดบุตรแล้วนางก็ไม่คิดถึงความเจ็บปวดนั้นเลย
เพราะมีความชื่นชมยินดีที่มีคนหนึ่งเกิดมาในโลก...”

นอกจากจะต้องอุ้มท้องนานถึงประมาณ 9 เดือน บางคนแพ้ท้องบางคนกลับไม่แพ้ และเมื่อถึงช่วงเวลาที่จะคลอดบุตรเป็นช่วงเวลามรสุมชีวิต แม่ที่ตั้งครรภ์จะเจ็บท้องคลอด และเมื่อถึงจุดพลิกผัน เมื่อแม่เจ็บมากก็ต้องเบ่ง ใช้กำลังทั้งสิ้น “สุดแรงเกิด” เพื่อเบ่งให้ชีวิตใหม่เกิดมา ถ้าแม่ไม่ยอมเบ่ง หรือ แม่ไม่มีแรงเบ่งจะเป็นปัญหาหนึ่งของการคลอดลูก

ท่านเคยมีประสบการณ์ในห้องคลอดไหม ทั้งที่เป็นคนคลอดเอง หรือคนที่เป็นเพื่อนของคนที่จะคลอดลูก แต่ผมเคยอยู่ข้างเตียงเมื่อภรรยาคลอดลูกทั้งสองคน เมื่อถึงเวลาสุดยอดของการเบ่งให้ชีวิตใหม่เกิดมาในโลก ผมช่วยอะไรมากไม่ได้ แต่เอามือให้ภรรยาเกาะกุมไว้ ไม่ใช่เกาะกุมธรรมดาครับ แต่เมื่อเบ่งคลอด ภรรยาใช้มือผมเป็นที่ออกแรงเบ่งพร้อมบีบมือผมอย่างสุดแรงเกิดครับ นอกจากการเจ็บมือที่เราเองไม่สนใจ แต่เราเบ่งไปพร้อมกับคนคลอดลูกด้วยครับ ไม่ใช่เหงื่อของแม่ของทารกเท่านั้นที่ออกมาเป็นเม็ดโป้งๆ อ้ายเราคนอยู่ข้างเตียงคนคลอดเหงื่อก็แตกเปียกโชกไปด้วยเช่นกันครับ ทำให้ผมเข้าใจได้เลยว่า การเป็นเพื่อนที่ตกอยู่ในภาวะ “ค่ำคืนแห่งความมืดมิดของวิญญาณ” นั้นจะทำอะไรได้บ้าง จะเป็นเพื่อนแบบไหน

หลังจากการคลอดลูกคนแรกครั้งนั้น ผมมีโอกาสพูดคุยกับพยาบาลที่ทำคลอด ปรากฎว่ามีเรื่องราวมากมายในห้องคลอด ผมว่าน่าจะมีคนเขียน “เรื่องเล่าจากห้องคลอด” พี่พยาบาลท่านเล่าว่า เมื่อกำลังเจ็บท้องคลอดสุดขีด แม่บางคนพูดอะไรออกมาไม่รู้ตัว มีทั้งคำแช่งคำด่า คำอธิษฐาน และหลายต่อหลายคนมักจะบ่นว่าจะไม่ยอมตั้งครรภ์มีลูกอีกแล้ว คลอดลูกคนนี้ก็พอกันที แต่พี่พยาบาลเล่าต่อพร้อมทั้งเสียงหัวเราะเล็กว่า แล้วอีกสองปีก็พบว่าท้องโย้มาคลอดลูกอีกคนหนึ่ง

“เพื่อน” ที่อยู่ด้วยกับคนที่คลอดลูก เบ่งให้ทารกเกิดมาในโลกนี้แทนคนกำลังคลอดไม่ได้ครับ เบ่งแทนคนคลอดไม่ได้ครับ แต่เบ่งไปพร้อมกับคนคลอดได้ครับ! มือของเราเป็นที่กุมยึดและบีบของคนคลอดเมื่อเขาเจ็บครรภ์และเบ่งคลอดได้ครับ แต่เจ็บหน่อยนะครับ ในช่วงเวลานั้น ในบางกรณีต้องทนฟังคำที่กลั่นมาจากสุดแรงเกิดอย่างไม่ต้องคิดไม่ถือสาอะไรครับ ในหลายครั้งหลังคลอดแล้ว ผู้เป็นแม่ไม่รู้หรอกว่าตนเองบ่น ด่า สาปแช่ง หรือขอคำพรอะไรบ้าง แต่คำเหล่านั้นกลับค้างคาใจของเพื่อนผู้คลอด ทิ้งมันไว้ในห้องคลอดเถิดครับ หลายเรื่องหลายราวที่ดูเสียหายและดูไม่ดีเมื่อเพื่อนตกในภาวะสุดๆ ของ “ค่ำคืนที่มืดมิดแห่งจิตวิญญาณ” ให้ทิ้งไว้กับหุบเหวนั้น แต่ติดตามการเกิดมาของชีวิตใหม่ ความชื่นชมยินดีทั้งเม็ดเหงื่อ คราบน้ำตา ที่ใช้แรงจนหมดสิ้นแต่ยังสดชื่น

ทำให้เข้าใจในอีกแง่มุมมองหนึ่งของอุปมาเรื่องบุตรหาย (ลูกา 15:11-32 ฉบับมาตรฐาน) ที่พระเยซูคริสต์ทรงเล่า เมื่อบุตรคนเล็กชีวิตตกต่ำสุดๆ ไม่เหลืออะไรในชีวิต ทำผิดทำชั่วมากมาย รู้ว่าตนทำผิดต่อพ่อและทำผิดต่อพระเจ้า แต่เลือกที่จะกลับมาเผชิญหน้ากับความจริง และขอพึ่งพระคุณของพ่อ สิ่งที่พ่อตอบสนองคือ แทนการไต่สวนกลับวิ่งออกไปรับลูก แทนการบีบให้ลูกสารภาพสิ่งที่ทำผิดกลับวิ่งเข้าโอบกอดและจูบลูก(ที่สกปรกโสมม) แทนการแจกแจงความผิดที่กระทำและโทษที่ควรรับอย่างยุติธรรม กลับกลายเป็นการเตรียมงานเลี้ยงใหญ่ แทนการเปลี่ยนสถานภาพของการเป็นลูกไปเป็นอย่างอื่นเพราะนำความเสื่อมเสียมาสู่วงศ์ตระกูล กลับนำเอาเครื่องประดับมาสวมใส่ให้ใหม่ ทั้งนี้เพราะพ่อมีมุมมองว่า “เพราะว่าลูกของเราคนนี้ตายแล้วแต่กลับเป็นขึ้นอีก หายแล้วแต่ได้พบอีก” วิกฤติชีวิตของบุตรคนเล็กกลับกลายเป็นความชื่นชมยินดี เพราะวิกฤตินำมาซึ่งชีวิตใหม่

เรื่องนี้มิได้จบเพียงแค่นี้ พระเยซูคริสต์เล่าต่อไปถึงบุตรคนโตที่อยู่กับพ่อที่บ้าน รับผิดชอบงานบ้าน กลับจากงานที่ทุ่งนา พอรู้เรื่องก็ “โกรธไม่ยอมเข้าบ้าน” (ข้อ 28) (ทำตัวเหมือนคนปัจจุบันเลย “ถ้าบ้านนี้มีผมต้องไม่มีน้อง ถ้ามีน้องต้องไม่มีผม”?) แต่พ่อออกมาหาเขาเหมือนอย่างที่พ่อออกไปหาลูกคนเล็ก แต่สิ่งที่สร้างความอัดอั้นโกรธแค้นคือ “ความผิดอย่างมหันต์ที่น้องทำกับครอบครัว” (ข้อ 29-30) แต่พ่อเสนอมุมมองใหม่ ซึ่งเป็นมุมมองแห่งพระคุณ คือ แทนที่จะมัวติดยึดกับการกระทำที่ผิดพลาด ยังเกาะกุมด้วยความเจ็บปวด แต่พ่อบอกให้ลูกคนโตว่า “นี่เป็นเรื่องที่เราสมควรจะชื่นชมยินดีและรื่นเริง เพราะน้องคนนี้ของลูกตายไปแล้วแต่กลับเป็นขึ้นอีก หายไปแล้วแต่ยังได้พบกันอีก” (ข้อ 32)

ครับ อย่าให้เรามัวถูก “สิ่งที่ไม่ดีที่เพื่อนของเราแสดงออก” เมื่อชีวิตของเพื่อนที่ตกลงใน “ค่ำคืนที่มืดมิดแห่งจิตวิญญาณ” หรือ เหมือน “แม่ที่กำลังปวดเบ่งคลอด” ต้องเกาะกุมและกระตุ้นให้เราวนเวียนอยู่กับสิ่งเหล่านั้น ในขณะที่เพื่อนของเราคนนั้นและคนอื่นกำลังชื่นชมยินดีและรื่นเริง เพราะเขากำลังเฉลิมฉลองกับชีวิตใหม่ที่เกิดขึ้น

อย่างที่นักบุญยอห์นแห่งกางเขนบอกไว้ครับ นี่คือช่วงเวลาชีวิตของผู้ที่ตกลงในหุบเหวแห่งความมืดมิดของจิตวิญญาณที่จะพบกับพระคุณของพระเจ้าในชีวิตใหม่ ท่ามกลางความทุกข์ยาก เจ็บปวด สิ้นหวังของชีวิตจิตวิญญาณ ให้เราเป็นเพื่อนของผู้นั้นจนไปถึงเวลาแห่งการเกิดชีวิตใหม่ เวลาแห่งความชื่นชมยินดี เวลาแห่งการเติบโตแข็งแรง และที่จะนำสู่เวลาแห่งการเกิดดอกออกผล

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่

10 กุมภาพันธ์ 2555

ผู้นำที่ได้ใจลูกน้อง

ดาวิด ทหารเอกของซาอูล ผู้กู้สถานการณ์ปากเหยี่ยวปากกา สามารถเอาชนะโกลิอัท และ ศัตรูรอบด้าน จนได้รับการยกย่องและยอมรับจากประชาชน ได้เป็นราชบุตรเขยและรับใช้กษัตริย์ซาอูล อีกทั้งเป็นเพื่อนสนิทของโยนาธานพระราชบุตรของซาอูล แต่เหตุการณ์เหล่านี้สร้างความเคืองแค้นแก่กษัตริย์ซาอูลและพระองค์ไม่ไว้วางใจดาวิด มุมมองกรอบคิดของซาอูลในตอนนั้นที่มีต่อดาวิดคือกลัวดาวิดจะแย่งราชบัลลังก์ของตน จึงแสวงหาทุกหนทางในการที่จะกำจัดดาวิดและผู้คนที่นิยมดาวิด

การปกครองประชาชนและประเทศแบบใช้อำนาจตามใจตนเอง การแบ่งพรรคแบ่งพวกกลุ่มที่สวามิภักดิ์และกลุ่มที่มุ่งร้ายไม่จงรักภักดี หรือกลุ่มที่อาจจะเป็นภัย และกระทำต่อกลุ่มอื่นอย่างมุ่งร้ายทำลายชีวิต คิดเพียงว่ากำจัดผู้คนกลุ่มอื่นเพื่อความปลอดภัยและการที่ตนจะอยู่ในอำนาจมั่นคงยืนนานของตนเท่านั้น และนี่คือผู้นำที่แสวงหาแต่อำนาจและพวกที่สนับสนุนและยกยอปอปั้นตน แต่มุ่งทำร้ายทำลายคนที่ถูกกล่าวหา จนสูญเสียจิตใจของประชาชนกลุ่มนี้ที่เคยจงรักภักดีต่อตน

ดาวิดต้องหนีไปต่างแดน ต้องเผชิญกับภัยรอบด้านทั้งจากสายลับของกษัตริย์ซาอูลและกษัตริย์ในต่างแดนที่ตนเคยรบเอาชนะ จนในที่สุดต้องหลบลี้หนีไปซ่อนตัวอยู่ในถ้ำอดุลลัม (2ซามูลเอล 22:1) ที่นั่น พวกญาติพี่น้องของดาวิดได้มาหา และยิ่งกว่านั้น คนที่ตกในสภาพการณ์ชีวิตและมีหัวอกเดียวกับดาวิดได้มาพบและร่วมเป็นกองกำลังของดาวิด

“ทุกคนที่มีปัญหาทุกข์ร้อนต่างๆ มีหนี้สิน หรือมีเรื่องไม่พอใจก็มาเข้าเป็นพวกกับดาวิด และ
เขา(ดาวิด)กลายเป็นหัวหน้าของคนเหล่านั้น
มีคนมาอยู่กับดาวิดประมาณ 400 คน”
(2ซามูเอล 22:2 อมตธรรม)

อะไรที่ทำให้ผู้คนประมาณ 400 คน มาร่วมอยู่ภายใต้การนำของดาวิด?
ไม่ใช่เพราะดาวิดมีอำนาจ
ไม่ใช่เพราะดาวิดมีกองกำลังในมือ
ไม่ใช่เพราะดาวิดมีกองกำลังหนุนหลังจากต่างชาติ
ไม่ใช่เพราะดาวิดมีทรัพย์สินเงินทองมากมาย (เหมือนอดีตนายกไทย)
ไม่ใช่เพราะดาวิดจะเอื้อผลประโยชน์แก่คนที่มารวมกำลังกับเขา(อย่างประชานิยมหรือประโยชน์นิยม)

สิ่งที่ดึงดูดคนเหล่านี้มาสวามิภักดิ์ต่อดาวิดคือ
ความอยุติธรรมที่พวกเขาได้รับจากกษัตริย์ซาอูลและลิ่วล้อ
ความสัตย์ซื่อจริงใจของดาวิด
ดาวิดจงรักภักดีและอยู่ภายใต้การทรงนำของพระเจ้า
“หัวอก” เดียวกันที่ทำให้เขามารวมตัวกับดาวิด

เราไม่พบว่า ดาวิดชักชวนหว่านล้อมให้พวกเขามาเป็นพรรคพวก
แต่พวกเขามาหาดาวิดเพราะมีหัวอกเดียวกันกับดาวิด
แล้วดาวิดก็ไม่ได้สัญญาว่าพวกเขาจะหลุดรอดออกความทุกข์ร้อน หนี้สิน และสิ่งที่ไม่พออกพอใจ
แต่สิ่งที่ดาวิดทำคือ ดาวิดใช้ชีวิตเคียงข้างร่วมทุกข์ในสภาพที่พวกเขาต้องประสบ และ
หนุนเสริมให้พวกเขามีชัยชนะเหนือสถานการณ์ที่เลวร้ายในชีวิตของพวกเขา

ในบรรดาคนที่ติดตามดาวิดมี 3 ยอดนักรบ ที่มีดาวิดเป็นแรงบันดาลใจให้เขาประสบความสำเร็จ
ดาวิดช่วยให้พวกเขาค้นพบศักยภาพที่ซ่อนเร้นอยู่
เป็นแบบอย่างในการเป็นผู้นำที่ยอมรับการทรงนำของพระเจ้า
ความสำเร็จของยอดนักรบมิได้มาจากการมีตำแหน่งสูง(2ซามูลเอล 23:19)
แต่จากฝีมือและการอุทิศชีวิต และชัยชนะที่พระเจ้าประทานให้ (2ซามูลเอล 23:8-12)
สิ่งที่ดาวิดได้จากทหารหาญเหล่านี้คือ “ใจ” ที่จงรักภักดีต่อดาวิด

ท่านเป็นผู้นำแบบไหน?
ท่านต้องการมีผู้นำแบบไหน?
ผู้นำที่ผู้คนต้องการคือ ผู้นำที่มีคุณภาพชีวิตและลักษณะนิสัยชีวิตที่เป็นแรงบันดาลใจเพื่อนร่วมงาน
ผู้นำที่แสดงเด่นชัดว่าความสำเร็จในชีวิตมาจากการที่ผู้นำยอมรับการทรงนำจากพระเจ้า
ผู้นำที่ถ่อมตน ไม่เอาเปรียบเพื่อนร่วมงาน แต่เกรงกลัวพระเจ้า (2ซามูลเอล 23:13-17)
ผู้นำที่ร่วมทุกข์กับเพื่อนร่วมงาน
ผู้นำที่ให้ใจและทุ่มเทชีวิตแก่เพื่อนร่วมงาน
ผู้นำที่ได้ใจจากเพื่อนร่วมงาน
ผู้นำที่หลอมรวมชีวิตจิตใจของเพื่อนร่วมงานเป็น “จิตวิญญาณเดียวกัน” เพื่อพระประสงค์ของพระเจ้า

ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญและการอภิปรายในกลุ่ม

1. จากประสบการณ์ที่ผ่านมาในชีวิตของท่าน ท่านเคยทำอะไรและอย่างไรที่ได้ใจเพื่อนฝูงบ้าง? และผลเป็นอย่างไรบ้าง?

2. ในชีวิตที่ผ่านมาท่านเคยพบกับคนที่มีภาวะผู้นำที่ท่านชอบและพออกพอใจอย่างมากหรือไม่? คนๆ นั้นมีภาวะผู้นำแบบไหน? อย่างไร? เขาทำอะไรและอย่างไรที่ทำให้ท่านชอบและพออกพอใจอย่างมาก?

3. ในวันนี้ เมื่ออยู่หน้าพระพักตร์พระเจ้า ท่านตั้งใจว่า จะมีชีวิตที่มีภาวะผู้นำแบบไหน? และจะใช้ภาวะผู้นำนั้นในสถานการณ์อะไรที่ท่านจะต้องพบหรือเผชิญในวันนี้? ท่านคาดหวังอะไรจากการกระทำดังกล่าว?

4. ท่านจะทูลขออะไรบ้างจากองค์พระผู้เป็นเจ้า เพื่อที่จะช่วยท่านมีภาวะผู้นำที่ตั้งใจจะทำในวันนี้ให้สำเร็จ?

ใคร่ครวญภาวนา

องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพระองค์ ขอบพระคุณพระองค์สำหรับบทเรียนของดาวิด แม้ชีวิตจะตกอยู่ในสภาพอับจนเช่นไรพระเจ้ายังทรงอยู่เคียงข้าง พระองค์ยังทรงปกป้องคุ้มครองหนุนเสริม พระองค์ยังทรงประทานเพื่อนใหม่ๆ และพระองค์ยังทรงหล่อหลอมดาวิดและให้เขาเรียนรู้การมีภาวะผู้นำที่ได้ใจเพื่อนร่วมทุกข์

ในวันนี้ โปรดเมตตาข้าพระองค์อย่างที่ทรงเมตตาดาวิด แม้ข้าพระองค์จะต้องตกอยู่ในสภาวะชีวิตที่ตีบตันจนหาทางออกไม่พบ หรือ พบกับภาวะชีวิตมีเวิ้งว้างจนหาจุดหมายไม่พบ หรือ ประสบกับภาวะชีวิตที่จะต้องมุ่งมั่นทำบางสิ่งให้สำเร็จ โปรดช่วยข้าพระองค์สำนึกเสมอว่าพระองค์อยู่เคียงข้างข้าพระองค์ ขอช่วยข้าพระองค์ได้ยินเสียงการทรงเรียกของพระองค์ เพื่อข้าพระองค์จะทำตาม, ขอประทานพระปัญญาของพระองค์ เพื่อข้าพระองค์จะมองและเห็นอย่างพระองค์เห็น, ขอประทานจิตวิญญาณของพระองค์แก่ข้าพระองค์ เพื่อข้าพระองค์จะดำเนินชีวิตตามพระประสงค์ และ คิดตัดสินใจ กระทำทุกอย่างภายใต้พระเจ้าทรงเป็นผู้นำ

ตลอดวันนี้ ไม่ว่าจะทุกข์หรือสุข ไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะเช่นไร ข้าพระองค์ขอมอบกายถวายชีวิตจิตวิญญาณไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์ โปรดปั้นและแต่งข้าพระองค์ตามที่พระองค์ประสงค์ เพื่อข้าพระองค์จะมีชีวิตและดำเนินชีวิตสำเร็จตามพระประสงค์ของพระองค์ อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
แม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่

08 กุมภาพันธ์ 2555

ทำไมพระเจ้าตอบช้าจัง?

อ่าน สดุดี 102:1-28

ขออย่าซ่อนพระพักตร์ของพระองค์จากข้าพระองค์
ในยามที่ข้าพระองค์ทุกข์ยาก
ขอเงี่ยพระกรรณฟังข้าพระองค์
ขอทรงตอบโดยเร็ว เมื่อข้าพระองค์ร้องทูล (สดุดี 102:2)

เมื่อเราถามคำถามใคร หรือ บอกเขาถึงความห่วงกังวล เราต้องการคำตอบ หรือ การตอบสนองจากเขารวดเร็วทันที เมื่อหวนคิดถึงในสมัยอดีต เราเขียนจดหมายในการติดต่อสื่อสารกัน ถ้าเขียนจากเชียงใหม่ถึงกรุงเทพฯ ถ้าตอบมาในหนึ่งสัปดาห์หรือสิบวันถือว่าเขาตอบเรารวดเร็ว ถ้าเขียนถึงอเมริกากว่าจะตอบมาเร็วที่สุดก็ปาเข้าไปครึ่งเดือน ในเวลานั้นเรารอคอยได้ เราอดทนได้ แต่เมื่อเทคโนโลยีทางการสื่อสารในปัจจุบันพัฒนาก้าวไกล ได้ทำให้เราเป็นคนด่วนได้ใจร้อนต้องการคำตอบในชั่วพริบตา จะว่าไปแล้วการใช้อีเมล์ ก็ว่าช้าไปแล้ว เราต้องการให้ผู้รับข่าวสารจากเราตอบสนองเร็วที่สุด บางคนเมื่อส่งอีเมล์แล้ว ตามขนาบด้วยโทรศัพท์มือถือ ไม่ใช่อะไรหรอกครับต้องการให้เขาตอบทันที เราต้องการคำตอบหรือการตอบสนองเดี๋ยวนี้!

ท่านเคยมีประสบการณ์ความรู้สึกรีบเร่งด่วนจี๋เช่นนี้ในการติดต่อสื่อสารกับพระเจ้าบ้างไหม? แต่การที่เรามีใจรีบร้อนต้องการให้พระเจ้าตอบคำอธิษฐานของเราทันทีมิใช่เพราะความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยี หรือ ยุคเครื่องมือสื่อสารทันสมัยเท่านั้น ตั้งแต่โบราณกาลมาแล้ว ซึ่งเราสามารถอ่านพบในพระธรรมสุดดี บทที่ 102 เราพบคำอธิษฐานของคนหนึ่งที่กำลังตกอยู่ในความทุกข์ยากลำบาก เขาอธิษฐานต่อพระเจ้า ต้องการให้พระเจ้ารีบเร่งตอบเขา ขอพระเจ้าช่วยเขาทันที ในข้อที่ 2 ผู้เขียนสดุดีได้ได้ร้องทูลพระเจ้าว่า “ขออย่าซ่อนพระพักตร์ของพระองค์จากข้าพระองค์ ในยามที่ข้าพระองค์ทุกข์ยาก ขอเงี่ยพระกรรณฟังข้าพระองค์ ขอทรงตอบโดยเร็วเมื่อข้าพระองค์ร้องทูล” ในเวลาที่สถานการณ์ล่อแหลมเข้าตาจน เขาอธิษฐานด้วยใจกังวลจนสับสนร้อนและรน และเราในวันนี้ก็ไม่แตกต่างอะไรกับคนในหลายสิบศตวรรษก่อน

การที่ผู้เขียนพระธรรมสดุดีบทนี้ร้องเรียกให้พระเจ้าตอบเขาโดยเร็วนั้น ทำให้ผมต้องกลับมาใคร่ครวญและได้ข้อคิดว่า ประการแรก ผมกลับย้อนมองเห็นว่า ผู้เขียนสดุดีคนนี้กล้าจริงๆ ดูเขาไม่เก็บถ้อยจำกัดความที่ใช้สนทนากับพระเจ้า สำหรับผมแล้ว เราเป็นใครกันที่จะไปสั่งพระเจ้าให้ตอบเร็วๆ? เพราะความคิดของเราไม่ใช่ความคิดของพระเจ้า เวลาของพระเจ้าจึงแตกต่างจากที่เราคิดเราปรารถนา พระเจ้าประสงค์กระทำและประทานสิ่งดีที่สุดให้สำหรับเรา ดังนั้นจึงต้องเป็นไปตามความคิดและเวลาที่พระองค์กำหนด แต่อย่างไรก็ตามในสดุดีบทนี้เราไม่เห็นว่ามีตอนไหนที่แสดงถึงการบังคับต่อรองกับพระเจ้า แต่เป็นการร้องขอจากก้นบึ้งแห่งหัวใจของเขา

ประการที่สอง ผมเห็นว่าพระเจ้ามิได้ตอบผู้ร้องทูลในสดุดีบทนี้ตามกำหนดเวลาของเขา เป็นความจริงที่ว่าทางของพระเจ้านั้นมิใช่ทางของเรา และเวลาของพระเจ้ามิใช่เวลาของเรา แต่อย่างไรก็ตามมันเป็นความทุกข์ยากแสนสาหัสที่ต้องรอคอยการทรงตอบทรงช่วยของพระเจ้า อีกทั้งพระเจ้าเปิดโอกาสให้เรามีเสรีที่จะเปิดใจบอกพระเจ้าถึงความต้องการของเราว่า ขอพระเจ้ามาช่วยโดยเร็วพลัน แต่พระเจ้าทรงตอบในเวลาที่เหมาะสมสำหรับเรา ดังนั้น เราจึงยังรู้สึกว่าทำไมพระเจ้าตอบเราชักช้าเหลือเกิน ยิ่งกว่านั้น เป็นความชักช้าที่เราแสนเจ็บปวด

ชายคนหนึ่งตกงาน กำลังหางาน เขารู้ว่าเขาต้องการทำงานที่เป็นสายตรงกับความสามารถของเขา แต่ก็รู้ว่าโอกาสที่จะได้งานอย่างที่เขาต้องการนั้นมีเพียงน้อยนิด เป็นการง่ายที่เขาจะท้อแท้สิ้นหวังในเวลาที่เขาต้องรอการตอบจากพระเจ้านานเหลือเกิน แต่เขากลับบอกว่า พระธรรมสดุดีบทที่ 102 นี้ให้กำลังใจแก่เขาที่จะทูลขอต่อพระเจ้าอย่างจริงใจ เปิดใจตรงไปตรงมาจากส่วนลึกของหัวใจ ที่เขาได้ทูลขอให้พระเจ้ารีบตอบโดยเร็ว และในเวลาเดียวกัน สดุดีบทนี้ก็เตือนชายคนนี้ด้วยว่า เวลาของพระเจ้าไม่ใช่เวลาที่เราต้องการ ดังนั้น ในสถานการณ์เช่นนี้เราจึงอยู่ระหว่างแรงดึงสองด้าน ระหว่างแรงดึงที่บอกพระเจ้าตรงๆ ว่าตอบเร็วๆ พระเจ้าข้าฯ และ อีกด้านหนึ่งคือการทูลขอพระเจ้าที่จะประทานความอดทนรอคอยด้วยความไว้วางใจในวิถีทางของพระเจ้าว่าเหมาะสมและดีที่สุดสำหรับชีวิตของเรา

ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญและอภิปรายในกลุ่ม

1. ท่านเคยอธิษฐานขอพระเจ้าตอบท่านโดยเร็วหรือไม่?
เกี่ยวกับเรื่องอะไร?
ในเวลานั้นท่านรู้สึกอย่างไร?
ผลเป็นอย่างไรบ้าง? ท่านได้บทเรียนชีวิตอะไรบ้าง?

2. ในวันนี้ท่านมีสิ่งใดที่ต้องการให้พระเจ้าตอบสนองในชีวิตของท่านบ้าง หรือ
ตอบสนองสำหรับโลกในวันนี้?
ท่านกล้าอธิษฐานทูลขอต่อพระเจ้าหรือยัง?

ใคร่ครวญภาวนา

ขอบพระคุณพระเจ้าที่ทรงเปิดกว้างให้ข้าพระองค์ได้อธิษฐาน สนทนา และร้องทูลต่อพระองค์
อย่างเปิดและใจตรงไปตรงมา อย่างจริงใจและสัตย์ซื่อ

แม้กระทั่งการร้องทูลให้พระองค์ตอบข้าพระองค์โดยเร็ว
ตามความคิดและใจปรารถนาของข้าพระองค์เอง อย่างผู้เขียนสดุดีบทที่ 102

องค์พระผู้เป็นเจ้าในเวลานี้...

ข้าพระองค์ร้องทูลต่อพระองค์เพื่อเพื่อนที่กำลังเจ็บปวดทนทุกข์จากการเยี่ยวยารักษาเกี่ยวกับโรคร้าย(......) โปรดทรงรักษาพวกเขาโดยเร็ว

ข้าพระองค์ระลึกถึงเพื่อนที่กำลังตกงาน กำลังหางานทำ ขอโปรดให้เขาได้งานทำในเร็ววัน

ข้าพระองค์คิดถึงครอบครัวที่รู้จักกำลังเกิดความขัดแย้งอย่างแรง ขอโปรดประทานศานติ และ การคืนดีให้เกิดขึ้นในเร็วๆนี้

ข้าพระองค์คิดถึงเพื่อน..............................................................................................

ข้าพระองค์คิดถึงประชาชนจำนวนหลายล้านในโลกนี้ที่อดอยากไม่มีอาหารพอ โปรดทรงเลี้ยงดูเขาวันนี้ เดี๋ยวนี้

ข้าพระองค์เองกำลังต้องจมอยู่ในมรสุม คลื่นแห่งชีวิตถาโถม(.......) โปรดตอบและทรงช่วยข้าพระองค์ในวันนี้

โปรดสอนข้าพระองค์ให้กล้าที่จะอธิษฐานอย่างเปิดใจ จริงใจ และสัตย์ซื่อ
โปรดสอนข้าพระองค์ที่จะอดทนรอคอยพระองค์
โปรดสอนข้าพระองค์ที่ไว้วางใจในวิถีทางและเวลาของพระองค์ที่ประทานแก่ข้าพระองค์
ว่าเป็นวิถีทางชีวิตและเวลาที่ดีเหมาะสมที่สุดสำหรับข้าพระองค์

ข้าพระองค์ทูลในพระนามพระเยซูคริสต์เจ้า
อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่

06 กุมภาพันธ์ 2555

ให้เวลา หรือ เสียเวลา?

ปัจจุบันเรามักพูดและได้ยินคำว่า “เสียเวลา” แต่ในหลายเรื่องเราไม่ได้เสียเวลาแต่เราต้อง “ให้เวลา” การเสียเวลาคือการที่ใช้เวลาไปอย่างไม่เกิดสาระประโยชน์อันใด แต่การให้เวลาคือการที่เอาเวลาที่มีอยู่ใช้ในการสร้างสรรค์คุณประโยชน์ให้เกิดขึ้นแม้จะต้องใช้เวลาที่มากขึ้นก็ตาม แต่นี่ไม่เป็นการเสียเวลา

แม้ว่าจะอยู่ในช่วงที่งานที่กำลังทำต้องหยุดชะงัก เราจะ “ให้เวลา” หรือ เราจะ “เสียเวลา” ช่วงนั้น เป็นสิ่งเราต้องตัดสินใจเลือก บ่อยครั้งเมื่อเรากำลังทำงานบนคอมพิวเตอร์แล้วเกิดเครื่องเสียลง ทำงานต่อไปไม่ได้ เราจะ “เสียเวลา” เช่น หยุดงานรอจนกว่าเครื่องซ่อมเสร็จแล้วค่อยว่ากันใหม่ อยู่เฉยๆ หรือไม่ก็หายใจทิ้ง ให้เวลาผ่านไปเป็นนาทีๆ หรือไม่ก็ไปนั่งดูทีวีเรื่อยเปื่อยรอจนเครื่องซ่อมเสร็จ หรือเมื่อไฟฟ้าดับเราทำงานไม่ได้ ตัดสินใจไปเดินห้างเพื่อ “ฆ่าเวลา” ที่มีอยู่ หรือบางครั้งไม่รู้จะทำอะไรดีในเวลานั้นเลยเปิดเน็ท ลุยท่องเน็ทอย่างไร้เป้าหมายเพื่อฆ่าเวลา

หรือเราจะยอม “ใช้เวลา” ผมเชื่อว่า “เวลา” เป็นของประทานจากพระเจ้าที่เราจะต้องใช้ของประทานนี้อย่างรับผิดชอบ เพราะฉะนั้น ในแต่ละช่วงเวลาเราคงต้องถามตนเองว่า เราจะใช้เวลาที่พระเจ้าประทานแก่เราอย่างไร เราคงไม่คิดที่จะทำตัวเอง “ฆ่าเวลา” ที่พระเจ้าประทานให้ไปวันหนึ่งๆ

ในที่นี้ผมไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ หยุดทำงานไม่ได้ ผมไม่ได้หมายความเช่นนั้น ยิ่งกว่านั้น เรายังต้องระวังและตระหนักว่า ทุกวันนี้หลายต่อหลายคนอยู่นิ่งอยู่เงียบไม่เป็น ต้องมีอะไรทำติดต่อกันอย่างไม่หยุดหย่อน เราต้องยอมรับว่ากรอบคิดของคนในปัจจุบันคิดเรื่องการทำงานจนลืมเรื่องการพักผ่อน และ การมีชีวิตที่สงบสันติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การใช้เวลา” ที่สงบ สันติ และสนิทกับองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ประทานเวลา แหล่งแห่งชีวิต และพลังชีวิตของเรา

วินัยการใช้เวลาส่วนตัวที่ใกล้ชิด ติดสนิทกับพระเจ้า

แต่เราก็ต้องสารภาพว่า บ่อยครั้งลึกๆ เมื่อเรามีเวลาที่จะใกล้ชิดติดสนิทกับองค์พระผู้เป็นเจ้า เรารู้สึกว่า “เสียเวลา” เมื่อเราพบว่า ในเวลานั้นเราไม่มีจิตใจที่สงบ ที่ใกล้ชิดและสนิทกับพระเจ้าเลย ทำให้เรารู้สึกว่า “เสียเวลา” John Ortberg เคยกล่าวว่า บ่อยครั้งที่ผู้คนมักถามกันว่า เวลาที่เราจะเข้าใกล้ชิด ติดสนิท อยู่คนเดียวกับพระเจ้านั้น เราจะต้องทำอะไรและต้องทำอย่างไรบ้าง John Ortberg แนะนำว่า คนถามๆ ผิด เพราะอิทธิพลกระแสคิดคนในยุคทันสมัยจะคิดจะถามเช่นนั้น แต่คำถามที่ควรจะถามน่าจะเป็นว่า การใช้เวลาในการสงบติดสนิทและอยู่กับพระเจ้าคนเดียว “ไม่ต้องทำอะไรบ้าง” ต่างหาก

ในการที่เราจะใช้เวลาใกล้ชิดติดสนิทกับพระเจ้ามี 2 ลักษณะด้วยกันคือ เราไม่ทำในสิ่งที่เราทำเป็นประจำในเวลาทั่วไป และเราเลือกทำในสิ่งที่เวลาทั่วไปเราไม่ได้ทำกัน

สิ่งที่ควรละหรือไม่ทำเมื่อเราแสวงหาการมีเวลาส่วนตัวติดสนิทกับพระเจ้า เช่น ให้ละเว้นจากการมีความสัมพันธ์กับผู้คนและสิ่งต่างๆ มุ่งที่จะใกล้ชิดสนิทกับพระเจ้าเป็นการส่วนตัว ละเว้นออกห่างจากเสียงดังต่างๆ ที่กระตุ้นเร้าความสนใจของเรา แล้วมุ่งเพ่งดูถึงความสัมพันธ์ของตนที่มีกับองค์พระผู้เป็นเจ้า ประเด็นสำคัญของการมีชีวิตส่วนตัวที่ติดสนิทใกล้ชิดพระเจ้า มิได้ขึ้นอยู่กับว่า “ฉันต้องทำอะไร” แต่ขึ้นอยู่กับว่า “ฉันต้องละเลิกและไม่ทำอะไร” และจะต้องออกไปจากสภาพที่มีเสียงและสิ่งที่เรียกร้องจากชีวิตและความสนใจของเรา สิ่งที่ทำให้จิตใจของเราเขว หรือ วอกแวก แล้วให้เพ่งพินิจว่า ชีวิตของเราอยู่ในสภาพเช่นไรบ้าง เมื่ออยู่ต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้า

1. มีวินัยชีวิตที่อยู่คนเดียวกับพระเจ้า

ลักษณะแรกที่เราพบคือ ความเป็นไทหรือเสรีในชีวิตของเรา ภายหลังที่มีเวลาส่วนตัวใกล้ชิดติดสนิทกับพระเจ้า ความคิดความเห็นของคนรอบข้างที่มองว่าเราเป็นคนเช่นไรกลับกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยลงไปทีเดียว เพราะผู้คนเหล่านั้นต่างมีสภาพชีวิตของเขาเอง และวันหนึ่งเขาก็ต้องตายจากไปพร้อมกับคำชื่นชมและคำวิพากษ์ของคนทั่วไปต่อการดำเนินชีวิตของเขา สิ่งนี้เป็นเครื่องเตือนใจผมเสมอเมื่อมีชีวิตส่วนตัวใกล้ชิดกับพระเจ้า แต่การที่ผมได้มีโอกาสใกล้ชิดติดสนิทกับพระเจ้าเป็นการส่วนตัวผมได้สัมผัสและรู้สึกลุ่มลึกถึงสงบศานติที่เกิดขึ้นในจิตใจ พระคัมภีร์และการบันทึกประจำวันเป็นสิ่งที่ดี แต่มิใช่เรื่องจำเป็นในช่วงสงบศานติใกล้ชิดกับพระเจ้า

สิ่งแรกที่ไม่ควรลืมของการใกล้ชิดติดสนิทกับพระเจ้าเป็นการส่วนตัวคือ ไม่ทำอะไรเลย (น่าสนใจมากครับ ในพระธรรมอพยพได้อธิบายถึง “วันสะบาโต” คือวันที่ไม่ทำอะไร...ในวันนั้นอย่ากระทำการงานใดๆ ไม่ว่าเจ้าเองหรือบุตรชายหญิงของเจ้า หรือทาสทาสีของเจ้า หรือแขกที่อาศัยในประตูเมืองของเจ้า อพยพ 20:10)

2. รำพึง ตรึกตรอง ใคร่ครวญ

ลักษณะที่สองของ “การใช้เวลาคนเดียวกับพระเจ้า” คือการฟัง รำพึง ตรึกตรอง และใคร่ครวญ ในเวลานี้ผมจะนำเอาเรื่องที่ห่วงหาอาทรมาอยู่ต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้า มีทั้งเรื่องครอบครัว หรือ พันธกิจที่ทำ เช่น ผมห่วงใยลูกคนหนึ่งของผม ผมคิดถึงเรื่องความเข้มแข็งของทีมงาน ผมนำเอาความไม่มั่นใจว่าผมทำงานพันธกิจที่ผมรับผิดชอบให้ดำเนินไปอย่างดีเหมาะสมหรือไม่ ผมวางสิ่งเหล่านี้ต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้า จากนั้นผมจะใช้เวลาในการฟัง ในที่นี้โปรดเข้าใจว่า การนิ่งฟังเป็นการอธิษฐานแบบหนึ่งด้วย เป็นการอธิษฐานที่รวมเอาการคิด จินตนาการ และการถามจากใจของเรา สำหรับผมแล้ว บ่อยครั้งผมจะทูลขอสติปัญญาจากพระองค์ถึงก้าวต่อไปที่ผมควรที่เดินไป ในช่วงนั้นเมื่อได้รับการเปิดเผยผมจะเกิดความคิด ผมจะจดความคิดเหล่านั้นไว้ (คนแก่ขี้ลืมครับ) เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถนำไปใช้ในการกำหนดหรือปรับแต่งแผนงานแผนชีวิตของเราภายหลังได้

ในที่นี้กรุณาอย่าเอาเรื่องแผนงานไปยุ่งย่ามสับสนในการมีชีวิตคนเดียวกับพระเจ้า อย่าสับสนจนใช้เวลาที่อยู่คนเดียวใกล้ชิดกับพระเจ้ามาคิดวิเคราะห์ ใคร่ครวญ และวางแผนงาน เพราะเมื่อเราวางแผนงานเราคาดหวังผลที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำตามแผนนั้น แต่ในการที่เรามีชีวิตคนเดียวติดสนิทกับพระเจ้าเป็นช่วงเวลาที่เราปลดปล่อยให้ตนเองเป็นไท ปล่อยที่จะไม่ยึดติดกับสิ่งที่เราต้องการให้เกิดขึ้นตามแผนงาน เพราะความกดดันจากสิ่งที่เราต้องการให้เกิดขึ้นตามแผนงานนั้นปิดกั้นเราจากสิ่งที่พระเจ้าต้องการประทานแก่เรา แต่เมื่อผมรำพึง ตรึกตรอง และใคร่ครวญ ผมหวังอย่างยิ่งว่า พระเจ้าจะทรงเปิดเผย และ ทรงนำผมในเรื่องนั้นไปอีกก้าวหนึ่งตามพระประสงค์ และ แผนการของพระองค์ อาจจะตามผลิตผลของแผนงานหรือไม่ก็ได้

3. หนุนเสริมเพิ่มผลผลิต

ลักษณะที่สามของการ “ใช้เวลา” คนเดียวกับพระเจ้า เปรียบได้กับวัวนม สัตว์ 4 ขา เมื่อเราเพ่งพินิจ พิจารณาอย่างละเอียด ตลอดวันเราเห็นว่าวัวนมไม่ได้ให้ผลผลิตอะไรเลย แต่มันใช้เวลาชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่าในการกินอาหาร แล้วยังใช้เวลาอีกหลายชั่วโมงในการเคี้ยวเอื้อง ในแต่ละวันวัวแต่ละตัวใช้เวลาเพียงไม่เกิน 5-10 นาทีในการรีดนมที่วัวใช้เวลาเกือบ 24 ชั่วโมงในการผลิต แต่เราก็ประจักษ์ว่า วัวนมได้ผลิตนมเลี้ยงคนจำนวนมหาศาล

ในการผลิตนมวัว(แท้) เราไม่สามารถที่จะเร่งเวลาการผลิตได้ เพราะกระบวนการผลิตนี้ถูก “จำกัดความเร็ว”

ถ้าเราต้องการมีชีวิตที่สร้างสรรค์และเกิดผลผลิต เราต้องมีเวลา “กินหญ้า” และ “เคี้ยวเอื้อง” เราต้อง “มุ่งมั่น” และ “ยืนหยัด” ในงานพันธกิจที่เราทำนั้น ยิ่งคนที่ใช้เวลา “ทุ่มเท” และ “ยืนหยัด” ในงานที่ทำนั้นมากเพียงไร คนๆ นั้นที่จะเสริมเพิ่มผลผลิตมากขึ้น คนเราสามารถที่จะผลิตกาแฟสำเร็จรูปได้ แต่การที่จะได้นมวัวแท้(จากฟาร์ม) เราจะต้อง “ใช้เวลา”

สำหรับผมแล้ว การที่เราจะเกิดผลิตผลในชีวิตเราต้องใช้เวลา และบางครั้งก็เป็นการใช้เวลากับสิ่งที่ผมชอบผมรักที่จะทำ ไม่ว่าการอ่านหนังสือที่ผมชอบ การปลีกวิเวกมีเวลาอยู่เงียบๆ การพูดคุยกับผู้คนโดยเฉพาะคนที่คนทั่วไปไม่สนใจ ตั้งคำถามดูเหมือนกวนประสาทที่เขาไม่ถามกัน ฟังเขาพูดกัน และ ฯลฯ ทำสิ่งเหล่านี้เพราะรักที่จะทำและอยากที่จะทำ ที่บางครั้งเรามองเห็นว่าเป็นการเสียเวลา

แล้วท่านล่ะครับ ท่าน “ใช้เวลา” หรือ “เสียเวลา” ในชีวิตอย่างไรบ้าง? ในความรู้สึกของท่าน ท่านได้ใช้เวลาอย่างเหมาะสมเพียงพอหรือไม่? ถ้าเราค้นพบว่า ชีวิตภายในของเรามีเสรีหรือความเป็นไท เราก็จะเกิดความคิดสร้างสรรค์ที่จำเป็นสำหรับการวางแผนงานแผนชีวิตของเรา และถ้าเราใช้เวลาในการบ่มเพาะอย่างสร้างสรรค์ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เราก็จะมุ่งมั่น ตั้งใจ ยืนหยัดที่จะใช้เวลาชีวิตกับสิ่งนั้น แต่ถ้าไม่เราคงจำเป็นต้องกลับมาคิดใหม่ว่าเราจะ “ใช้เวลา” อย่างสร้างสรรค์อย่างไรเพื่อจะไม่เป็นการ “เสียเวลา”

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่

03 กุมภาพันธ์ 2555

ห้าขั้นตอน สองคุณสมบัติของการมอบหมายและการสอนงาน

การมอบหมายงานและการสอนงานเป็นบทบาทและความรับผิดชอบที่สำคัญประการหนึ่งของคนที่เป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งมีอิทธิพลต่อประสิทธิภาพและคุณภาพในการทำงานของลูกน้อง และ ความสัมพันธ์เหนียวแน่นของผู้คนในองค์กร ในที่นี้ขอนำเสนอห้าขั้นตอนสองคุณสมบัติสำคัญของการมอบหมายและการสอนงาน

ห้าขั้นตอนของการมอบหมายงาน

ขั้นตอนแรก ท่านจะต้องมีความชัดเจนที่สุดว่า ท่านคาดหวังผลอะไรบ้างจากงานที่จะมอบหมายให้เพื่อร่วมงานทำ ยิ่งถ้าท่านมีความคาดหวังจากงานที่จะมอบหมายได้ชัดเจนมากแค่ไหน ท่านยิ่งง่ายในการเลือกคนที่ท่านจะมอบหมายงานมากขึ้นและมีประสิทธิภาพในการมอบหมายสูงขึ้นแค่นั้น

ขั้นตอนที่สอง ท่านควรมอบหมายงานนี้ให้กับคนที่ได้แสดงฝีไม้ลายมือและความสามารถในประเภทงานที่จะมอบหมาย หรือเป็นผู้ที่เคยทำงานประเภทนี้สำเร็จมาแล้ว อย่ามอบหมายงานให้กับเพื่อนร่วมงานที่ไม่เคยทำงานประเภทที่เราจะมอบหมายนั้นเด็ดขาด ยิ่งถ้างานนี้ต้องการความสำเร็จสูงเพื่อเป็นการแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดธุรกิจ ท่านยิ่งจำเป็นต้องมอบหมายงานแก่เพื่อนร่วมงานที่ท่านมั่นใจอย่างเต็มร้อยว่าเขาจะสร้างความสำเร็จตามความคาดหวังของท่าน

ขั้นตอนที่สาม อธิบายอย่างชัดเจนที่สุดแก่คนที่ท่านจะมอบหมายงานให้ทำว่า ท่านต้องการได้รับผลจากงานที่ทำอะไรบ้าง ตลอดจนกำหนดระยะเวลาที่มี รวมทั้งวิธีการทำงานที่ต้องการ ในฐานะที่ท่านเป็นผู้มอบหมายงาน ท่านต้องรู้แผนงานใหญ่ทั้งหมดของงานนี้ ให้เวลากับการสอนงาน อธิบายแนวทางการทำงานนี้ให้ดีที่สุดจากประสบการณ์การทำของท่าน และด้วยกระบวนการเช่นนี้ที่ท่านจะสามารถมั่นใจได้ว่างานนี้จะเกิดผลตามกำหนดเวลาและตามที่ท่านคาดหวังไว้

ขั้นตอนที่สี่ ท่านต้องกำหนดตารางเวลาของการรายงานผลความก้าวหน้าของการดำเนินงาน ถ้าเป็นภารกิจการงานที่มีความสำคัญท่านควรที่จะกำหนดเส้นตายที่งานต้องเสร็จก่อนกำหนดเวลาจริงไว้หนึ่งสัปดาห์ สร้างระบบความยืดหยุ่นให้แก่การทำงานเสมอ แล้วท่านพึงตรวจสอบการก้าวหน้าของงานอย่างสม่ำเสมอไม่แตกต่างอะไรกับการที่แพทย์ต้องเอาใจใส่ตรวจสอบผู้ป่วยในทุกขั้นตอนทุกระยะอย่างละเอียดรอบคอบ อย่าปล่อยให้มีช่องว่างของความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น

ขั้นตอนที่ห้า ตรวจสอบทุกขั้นตอนอย่างจริงจังและสม่ำเสมอ การมอบหมายงานมิใช่การ แจกงาน หรือ การ กระจายงาน ที่เอางานไปให้อีกคนหนึ่งทำ และมิได้หมายความว่าเมื่อมอบหมายงานไปแล้วท่านก็หมดความรับผิดชอบ ยิ่งงานนั้นมีความสำคัญแค่ไหนท่านยิ่งต้องเอาใจใส่และรับผิดชอบมากขึ้นแค่นั้นแม้เมื่อท่านมอบหมายไปแล้วก็ตาม

ท่านจะมอบหมายงานอย่างมีประสิทธิภาพแก่ลูกน้องอย่างไร? และ เพื่อนร่วมงานคนไหนที่มีความสามารถที่จะรับผิดชอบต่องานที่ท่านมอบหมายนั้น? เป็นประการสำคัญที่ท่านจะต้องพิจารณาอย่างดีละเอียดรอบคอบ และจำเป็นอย่างยิ่งที่ท่านจะต้องมีกระบวนการที่มั่นใจได้ว่าท่านได้สื่อสารความคาดหวังที่ชัดเจน มีระบบการตรวจสอบติดตามผลการทำงานเป็นระยะเวลาที่ชัดเจน อย่างเป็นขั้นตอน ที่ผ่านการสร้างความเข้าใจระหว่างท่านและผู้ที่ท่านมอบหมายงานนั้นเป็นอย่างดี เครื่องมือและกระบวนการที่เป็นระบบเช่นนี้เองที่จะช่วยท่านให้เป็นผู้บริหารที่มีประสิทธิภาพ และ มีอิทธิพลต่อการทำงานของลูกน้องที่ท่านมอบหมายงานให้ทำ

คุณสมบัติสองประการของผู้มอบหมายงาน

คุณสมบัติประการแรก เป็นผู้ที่มีความชัดเจนในงานที่จะมอบหมาย และ ผลงานที่ต้องการให้เกิดขึ้นจากงานที่ทำ และที่สำคัญคือเป็นผู้ที่มีทักษะความสามารถในการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจชัดเจนแก่ผู้ที่รับมอบหมายงาน

คุณสมบัติประการที่สอง มอบหมายงานด้วยใจเมตตาที่ใช้งานที่มอบหมายในการสร้างเสริมและพัฒนาทักษะความสามารถของเพื่อนร่วมงานเป็นระดับพื้นฐาน แต่มีใจที่ต้องการหนุนเสริมให้ผู้รับมอบหมายงานมั่นใจในคุณค่าและความหมายชีวิตของเขาเอง และมีใจเมตตาที่จะหนุนเสริมให้เขาทำงานเพื่อให้เกิดคุณค่าในชีวิตของลูกค้า หรือ ผู้รับบริการ เพื่อนร่วมงาน และคนที่เกี่ยวข้อง และอย่าแย่งความดีความเก่งจากเพื่อนร่วมงานที่ทำงานนั้น ตรงกันข้ามกลับให้การยกย่อง ให้เกียรติ และแสดงความภาคภูมิใจในความสำเร็จของเขาทั้งเป็นการส่วนตัวและต่อหน้าคนอื่นๆ ในที่สาธารณะ

การที่จะเกิดประสิทธิผลจากการมอบหมายงานมีองค์ประกอบจากประสิทธิภาพของตัวผู้มอบหมายงานเอง และ ผู้รับมอบหมายงาน รวมทั้งกระบวนการมอบหมายงานนั้นต้องมีการติดตาม สอนงาน และมีกระบวนการและเครื่องมือในการติดตามและเรียนรู้เท่าทันในงานที่มอบหมายนั้นได้เกิดผลอย่างไร ตามที่คาดหวังมากน้อยแค่ไหน ทั้งสิ้นนี้การมอบหมายงานไม่ควรมุ่งที่ความสำเร็จเสร็จตามความคาดหวังของผู้บริหารเท่านั้น แต่กระบวนการนี้คือกระบวนการสร้างเสริมพัฒนาสมรรถนะในการทำงานของเพื่อนร่วมงาน เพิ่มความภาคภูมิใจในชีวิตการทำงานของเขา เติมเต็มความสำนึกถึงคุณค่าชีวิตในตัวของผู้รับมอบหมายงาน และ เสริมสร้างทัศนะในการทำงานเพื่อเพิ่มความสุขแก่ตนเองและคนรอบข้างของตน
สิ่งเหล่านี้มีคุณค่ายิ่งกว่าโบนัสสิ้นปีที่ผู้นำให้กับลูกน้องเสียอีกครับ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
081-289-4499

01 กุมภาพันธ์ 2555

พระบัญญัติ พระบัญชา พระประสงค์ กับ การดำเนินชีวิตด้วยความเชื่อฟัง

5ดูเถิด ข้าพเจ้าได้สอนกฎหมายและบทบัญญัติตามที่พระยาเวห์พระเจ้าของข้าพเจ้าทรงบัญชาแก่ท่าน เพื่อท่านจะปฏิบัติตามในดินแดนที่ท่านจะเข้ายึดครอง
6จงปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อแสดงให้ประชาชาติทั้งหลายเห็นถึงสติปัญญาและความเข้าใจของท่าน เมื่อพวกเขาได้ยินถึงกฎหมายเหล่านี้พวกเขาจะกล่าวว่า “ชนชาติยิ่งใหญ่นี้มีปัญญาและความเข้าใจจริงๆ”
7ชาติใดเล่าที่ยิ่งใหญ่ขนาดมีพระเจ้าของพวกเขาอยู่ใกล้ชิดอย่างที่พระยาเวห์พระเจ้าของเราทรงอยู่ใกล้ชิดเราทุกครั้งที่เราทูลอธิษฐานต่อพระองค์?
8และมีชาติใดที่ยิ่งใหญ่ขนาดมีกฎหมายและบทบัญญัติอันชอบธรรมเหมือนบทบัญญัติซึ่งพระเจ้ามอบให้พวกท่านในวันนี้?
(เฉลยธรรมบัญญัติ 4:5-8 อมตธรรม)

ความน่าเกรงขามของผู้เชื่อศรัทธาในพระเจ้า มิใช่เพราะเขามีกำลังมาก มีพวกมาก มีคนเชื่อมาก มีเศรษฐกิจดี และมีอิทธิพลอำนาจมาก

แต่ที่น่าเกรงขามคือ พระเจ้าของเขาอยู่เคียงข้างพวกเขา

การที่พระเจ้าเคียงข้างผู้ที่เชื่อศรัทธาในพระยาเวห์ เพราะการที่เขาปฏิบัติตาม “กฎหมาย กฎเกณฑ์ และพระบัญญัติ” ของพระยาเวห์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนเสริมสร้างให้ผู้เชื่อรู้ถึงพระประสงค์ของพระยาเวห์ในชีวิตของเขาแต่ละคน และ ในชุมชน

การที่ผู้เชื่อศรัทธาปฏิบัติตามพระบัญญัติของพระยาเวห์ เป็นเหตุให้ผู้คนรอบข้างและประชาชาติทั้งหลายเห็นว่า พวกเขาเป็นชุมชนที่มีปัญญาและความเข้าใจ พวกเขาเป็นชนชาติที่ยิ่งใหญ่ เพราะชุมชนผู้เชื่อในพระยาเวห์มีหลักเกณฑ์ และ แนวทางในการดำเนินชีวิตที่มีปัญญา และพระเจ้าทรงเคียงข้างการดำเนินชีวิตในแต่ละวันของพวกเขา

นี่คือคำตอบว่า ทำไม เราถึงต้องมีวินัยชีวิตในการติดสนิทกับพระเจ้าเป็นประจำทุกวัน


97ข้าพระองค์รักบทบัญญัติของพระองค์ยิ่งนัก!
ข้าพระองค์ใคร่ครวญบทบัญญัตินั้นตลอดวัน
98พระบัญชาของพระองค์ทำให้ข้าพระองค์เฉลียวฉลาดกว่าศัตรู
เพราะพระบัญชาอยู่กับข้าพระองค์เสมอ
99ข้าพระองค์มีความเข้าใจยิ่งกว่าบรรดาครูของข้าพระองค์
เพราะข้าพระองค์ใคร่ครวญกฎเกณฑ์ของพระองค์
100ข้าพระองค์เข้าใจมากกว่าผู้อาวุโส
เพราะข้าพระองค์เชื่อฟังข้อบังคับของพระองค์
101ข้าพระองค์รักษาทุกย่างก้าวให้พ้นจากวิถีทางอันชั่วร้าย
เพื่อข้าพระองค์จะเชื่อฟังพระวจนะของพระองค์
102ข้าพระองค์ไม่ได้ห่างจากบทบัญญัติของพระองค์
เพราะพระองค์ทรงสอนข้าพระองค์
103พระวจนะของพระองค์นั้น ข้าพระองค์ลิ้มลองแล้วหวานยิ่งนัก
หวานยิ่งกว่าน้ำผึ้งเมื่อถึงปากของข้าพระองค์
104ข้าพระองค์ได้ความเข้าใจจากข้อบังคับของพระองค์
ข้าพระองค์จึงเกลียดทางที่ผิดทุกทาง
(สดุดี 119:97-104 อมตธรรม)

หมายเหตุ: หมายถึงพฤติกรรมของเรา หมายถึงพระวจนะและพระประสงค์ของพระเจ้า คุณลักษณะของเราที่ได้รับอิทธิพลจากพระวจนะ พระราชกิจของพระเจ้า บุคคลที่คนทั่วไปยกย่อง

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
081-289-4499