30 เมษายน 2555

การสร้างคนรับใช้: งานหนึ่งในการอภิบาลชีวิตสมาชิกคริสตจักร

พระเยซูคริสต์มิได้เรียกสาวกให้มาเป็นพรรคพวกและติดตามพระองค์เท่านั้น   แต่พระองค์ทรงเรียกพวกเขาเพื่อที่จะทรงสร้างพวกเขาให้เป็นคนรับใช้แห่งแผ่นดินของพระเจ้า   อย่างที่พระองค์มาในโลกนี้เพื่อที่จะรับใช้ผู้คนที่พบเห็น   ดังนั้น พระองค์จึงมิได้เพียงเรียกพวกเขาเพื่อจะสอนพวกเขาให้รู้ เข้าใจ และเชื่อวางใจในพระองค์เท่านั้น   แต่พระองค์ต้องการที่จะสร้างพวกเขาให้รับช่วงพระราชกิจแห่งแผ่นดินของพระเจ้าต่อจากพระองค์

เปาโลได้เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างคนที่เชื่อให้เป็นคนที่รับใช้  ท่านได้เขียนไว้ในพระธรรมเอเฟซัสตอนหนึ่งว่า...
พระองค์เองทรงให้บางคนเป็นอัครทูต  
บางคนเป็นผู้เผยพระวจนะ  
บางคนเป็นผู้เผยแพร่ข่าวประเสริฐ  
บางคนเป็นศิษยาภิบาลและอาจารย์  
เพื่อเตรียมประชากรของพระเจ้าสำหรับงานรับใช้  
เพื่อว่าพระกายของพระคริสต์จะได้รับการเสริมสร้างขึ้น  
จนกว่าเราทั้งหมดจะบรรลุความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในความเชื่อ 
และในความรู้ถึงพระบุตรของพระเจ้า  
จนเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่  คือเต็มถึงขนาดความไพบูลย์ของพระคริสต์
(เอเฟซัส 4:11-13  อมตธรรม)

งานของศิษยาภิบาลมิได้จำกัดอยู่แค่การประกาศ การสอนให้คนเชื่อศรัทธาในพระเยซูคริสต์เท่านั้น   กล่าวคือมิได้มีบทบาทเพียงแค่การช่วยให้ผู้คนรู้เรื่องพระเยซูคริสต์และรับเชื่อในพระองค์เท่านั้น   นั่นเป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น   ในเวลาเดียวกันศิษยาภิบาลก็มิใช่มีเพียงหน้าที่เผยพระวจนะ เทศนา สอนพระคัมภีร์ ให้สมาชิกมีความรู้และดำเนินชีวิตตามคำสอนในพระคัมภีร์เท่านั้น   และงานใหญ่ของศิษยาภิบาลมิใช่เพียงการเตรียมและจัดการนมัสการพระเจ้าในเช้าวันอาทิตย์อย่างดี  เพื่อให้ผู้ที่มาร่วมนมัสการซาบซึ้ง และ รู้สึกอิ่มอกอิ่มใจในชีวิตที่ได้เข้าร่วมในการนมัสการนั้น

เปาโลได้ชี้ชัดในพระธรรมตอนนี้ถึงบทบาทสำคัญของศิษยาภิบาลคือ การเสริมสร้างสมาชิก หรือ ประชากรของพระเจ้าให้เป็นคนทำงานรับใช้พระเจ้าท่ามกลางประชาชนในสังคม   และโดยการทำงานรับใช้ดังกล่าวก่อเกิดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของบรรดาสมาชิกในคริสตจักร   ในเวลาเดียวกันได้รู้จักพระเจ้ามากยิ่งขึ้นจากการทำงานรับใช้   และมีชีวิตที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้นอย่างพระคริสต์มากขึ้นทุกวัน

แน่นอนครับ  งานการเสริมสร้างสมาชิกให้เป็นคนรับใช้ย่อมเป็นงานหนักกว่า การประกาศ และ สอนคนให้เชื่อศรัทธา   เป็นงานที่หนักกว่าการเตรียมและจัดการนมัสการพระเจ้าในวันอาทิตย์   หนักกว่าการประกอบศาสนพิธีอย่างซาบซึ้ง   เพราะนี่เป็นการสร้างคนครับ  และที่หนักหนาคือเป็นการสร้างคนๆ นั้นให้มีจิตใจ และ ทักษะความสามารถในการรับใช้พระเจ้าผ่านการรับใช้ผู้คนรอบข้างที่พบเห็น   ในการเสริมสร้างคนเพื่อการรับใช้ดังกล่าวมีประเด็นที่จะต้องเสริมสร้างหลักๆ ดังนี้

1. ผู้นำคริสตจักรจะต้องหนุนเสริมผู้เชื่อคนๆ นั้นในการแสวงหาของประทานจากพระเจ้า หรือ ศักยภาพ ความสามารถพิเศษที่มีในตัวของเขา

2. ผู้นำคริสตจักรจะต้องกระตุ้นหนุนเสริมเขาในการฟังเสียงแห่งการทรงเรียกในชีวิตของเขา

3.ผู้นำคริสตจักรจะต้องเอาใจใส่และเสริมสร้างเขาให้เป็นผู้ที่มีทักษะในการสื่อสาร  ในการรับรู้  และการมีชีวิตที่เป็นแบบอย่าง

4.ผู้นำคริสตจักรจะต้องพัฒนาจุดอ่อนที่มีในตัวเขา ให้เป็นจุดแข็งที่เขาจะใช้ในงานรับใช้ได้

5. ผู้นำคริสตจักรจะต้องให้ “ตนเอง” แก่คนที่ตนสร้าง (เช่น เวลา  ลงแรงลงพลัง  ความมุ่งมั่นตั้งใจ)

6. ผู้นำคริสตจักรจะต้องหนุนนำให้เขาสำนึกว่างานพันธกิจที่เขารับใช้เป็นพันธกิจที่พระเจ้าทรงมอบหมาย

7. ผู้นำคริสตจักรจะต้องเป็นแหล่งทรัพยากรหนุนเสริมการทำพันธกิจ (ทั้งด้านบรรยากาศ  การฝึกอบรม  การสนับสนุน  เครื่องไม้เครื่องมือที่จำเป็น)

8. ผู้นำคริสตจักรจะต้องช่วยให้คนที่ตนสร้างมีความคาดหวังที่ชัดเจนในพันธกิจที่ตนรับใช้

9. ผู้นำคริสตจักรจะต้องช่วยปลดปล่อยภาระอื่นๆ ที่ไม่จำเป็น   เพื่อเขาจะมีเวลา พลัง และชีวิตที่จะทุ่มเทกับงานรับใช้ที่ได้รับมอบหมาย

10. ผู้นำคริสตจักรจะต้องมีเวลาที่จะถอดบทเรียนจากประสบการณ์การรับใช้ของแต่ละคน   เพื่อเขาจะได้เห็นถึงพระคุณของพระเจ้าที่ทรงร่วมทำงานที่เขารับใช้   อีกทั้งเกิดการเรียนรู้ และพบจุดอ่อนที่ต้องแก้ไข  จุดเด่นที่สามารถพัฒนาให้เกิดผลยิ่งขึ้น  และเป็นเวลาขอบพระคุณพระเจ้าในการเติบโตขึ้นในการรับใช้

11. ผู้นำจะต้องชื่นชมในการรับใช้ของผู้ที่ตนเสริมสร้าง   ทั้งการชื่นชมส่วนตัว  และการชื่นชมให้ผู้คนในคริสตจักรได้รับรู้และร่วมความยินดี

12. ผู้นำคริสตจักรจะต้องกระตุ้นหนุนเสริมผู้ที่ตนสร้างให้ออกไปช่วยเหลือผู้ที่ทำงานรับใช้คนอื่นๆ  และสร้างเพื่อนสมาชิกให้เป็นคนรับใช้

นี่เป็นงานหนักของ “ศิษยาภิบาล” ผู้นำคริสตจักร   ที่จะต้องเสริมสร้างสมาชิกคริสตจักรให้รับใช้และอภิบาลกันและกันในชุมชนคริสตจักร   และที่จะเข้าไปในสังคมชุมชน  ในที่ทำงาน  ในกลุ่มเพื่อนฝูง  และในครอบครัว เพื่อที่จะอภิบาลชีวิตผู้คนเหล่านั้นที่ตนเกี่ยวข้อง สัมพันธ์ และพบเห็น

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
081-2894499

27 เมษายน 2555

อะไรจะเกิดขึ้น...เมื่อพระเจ้าเพาะเมล็ดที่เล็กที่สุด?

27 เมษายน 2012
 
อ่าน เอเสเคียล บทที่ 17:1-24

เอเสเคียลบทที่ 17 พระดำรัสของพระเจ้าได้ใช้ต้นสีดาร์เป็นภาพลักษณ์ในการกล่าวตำหนิ และ การให้พระสัญญาที่เป็นความหวังและกำลังใจ

ใน 2-3 ข้อแรกของบทนี้ได้กล่าวถึง “พญาอินทรี”  ที่ได้นำเมล็ดสีดาร์มาปลูกในดินอุดมริมน้ำ  และเมล็ดนั้นได้งอกและเติบโต   แต่ต่อมาได้มีอินทรีตัวใหญ่อีกตัวหนึ่งมา  ต้นไม้ที่เจริญงอกงามเหล่านั้นหันเหตนเองและถอนรากจากดินอุดมที่มีน้ำอุดมไปพัวพันและยอมอยู่ภายใต้อินทรีตัวใหญ่ที่มาภายหลัง   ผลที่เกิดขึ้นคือพญาอินทรีตัวแรกได้ถอนรากถอนโคนต้นไม้งามเหล่านั้นจนต้องเหี่ยวเฉา  และถูกถอนทิ้งออกจากดินอุดมริมนั้น (17:1-10)

ในตอนต่อไปของพระธรรมบทนี้ได้อธิบายความหมายภาพพจน์ที่เปรียบเทียบนี้   ถึงพฤติกรรมชาวกรุงเยรูซาเล็มและกษัตริย์ของพวกเขา   พญาอินทรีตัวแรกหมายถึงมหาอำนาจบาบิโลน  ส่วนตัวที่สองหมายถึงอียิปต์   ในตอนแรกนั้นพวกยิวตกอยู่ภายใต้การปกครองของบาบิโลน   แต่พยายามหาทางที่จะปลดแอกตนเองจากบาบิโลนจึงไปขอพึ่งพิงกองกำลังจากอียิปต์   เอเสเคียลได้เปิดเผยพระวจนะจากพระเจ้าว่า   เมื่อยิวทำเช่นนี้ผลที่พวกเขาจะได้รับคือ   บาบิโลนจะกลับมาปราบปรามยิวให้สิ้นซาก   และทำให้คนยิวต้องกระจัดกระจายไปอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก(ในสมัยนั้น) (17:11-21)

อย่างไรก็ตาม ในตอนท้ายของพระธรรมบทนี้จบลงด้วยความหวังอย่างน่าประหลาดใจ  โดยยังใช้ภาพพจน์ของต้นสีดาร์  พระยาเวห์ตรัสว่า
“เราเองจะเอาจากปลายยอดสูงของต้นสีดาร์มาปักไว้
เราจะหักหน่ออ่อนจากยอดของมันมา และ
เราเองจะปลูกมันไว้บนภูเขาที่สูงเด่น
เราจะปลูกมันไว้บนภูเขาของอิสราเอล
แล้วมันจะแตกกิ่งและเกิดผล  และกลายเป็นสีดาร์ที่งามสง่า
แล้วนกทุกชนิดจะมาอาศัยอยู่ใต้มัน  นกทุกอย่างจะมาทำรังที่ร่มเงาของกิ่งมัน
(เอเสเคียล 17:22-23  ฉบับมาตรฐาน)
ในเวลานั้น   พระเจ้าจะ “ทรงปลูกประชากรของพระองค์” ขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง ต้นไม้ใหม่เหล่านั้นจะเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่   ถึงแม้จะเคยเป็นต้นไม้ที่ตกอับแห้งเฉามาก่อนก็ตาม   นอกจากนั้นแล้วพระเจ้ายังทรงทำให้เป็นต้นไม้ใหญ่ที่เป็นที่พึ่งพิงพักอาศัยของนกทุกชนิดภายใต้ร่วมเงาของมัน

เมื่อพระเยซูคริสต์ทรงสอนถึงเรื่องแผ่นดินของพระเจ้า   พระองค์ก็ได้เปรียบเทียบแผ่นดินของพระเจ้าเป็นเหมือน “เมล็ดมัสตาร์ด” เมล็ดหนึ่งที่เพาะลงในดิน  ในตอนเริ่มแรกนั้นมีขนาดเมล็ดเล็กมาก  กล่าวได้ว่ามีขนาดเล็กกว่าเมล็ดพืชผักทั้งปวง   แต่เมื่อมันงอกและเติบโตขึ้นกลับปรากฏว่ามีขนาดต้นใหญ่กว่าพืชผักทั้งปวง  แตกกิ่งก้านใหญ่พอที่นกในอากาศจะมาทำรังอาศัยอยู่ใต้ร่วมของมันได้ (มาระโก 4:30-32)   แผ่นดินของพระเจ้าที่พระเยซูคริสต์ทรงประกาศและสถาปนาขึ้นได้ทำให้พระวจนะที่เผยโดยเอเสเคียลสำเร็จเป็นจริงอย่างเป็นรูปธรรม   จากสิ่งเล็กน้อยที่สุดที่ผู้คนมองไม่เห็นคุณค่าความสำคัญใดๆ เลย  กลับกลายเป็นสิ่งใหญ่ที่มีคุณค่าพึ่งพิงของผู้อื่นได้  เฉกเช่นเมล็ดมัสตาร์ดที่งอก และ เติบโตขึ้น

ในวันนี้ให้เรามีชีวิตที่สำแดงถึง “แผ่นดินของพระเจ้า” ที่เติบโต   คือในงานที่เราทำวันนี้ได้สำแดงถึงการที่เรามีส่วนร่วมในพระราชกิจของพระเยซูคริสต์   ด้วยการกระทำของเรา   ความรับผิดชอบของเรา  ความจริงใจที่เรามีต่อผู้คนรอบข้างด้วยความรักเมตตาอย่างเช่นพระคริสต์   ยิ่งกว่านั้น  เมื่อเรามีชีวิตในชุมชนของผู้เชื่อศรัทธาในแผ่นดินของพระเจ้า   เราได้พบกับความปลอดภัย  ที่พึ่งพิง  ที่พักอาศัย  ดั่งเช่น นกที่พบที่ทำรังใต้รมเงาของต้นมัสตาร์ด 

ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญและอภิปรายกลุ่ม
  1. ท่านร่วมในการพระราชกิจแห่งแผ่นดินของพระเจ้าได้อย่างไรบ้าง?
  • ในที่ทำงาน
  • ในโรงเรียน หรือ มหาวิทยาลัย
  • ในครอบครัว
  • เมื่ออยู่กับกลุ่มเพื่อนฝูง  คนสนิท  และ
  • เมื่ออยู่ในชุมชนคริสตจักร
   2. ความสัมพันธ์แบบไหนที่เสริมสร้างให้ผู้คนรอบข้างท่านได้เห็นและสัมผัสถึงแผ่นดินของพระเจ้าที่เขาสามารถพึ่งพิง และ อาศัยอยู่อย่างปลอดภัยได้?

ใคร่ครวญภาวนา
โอ...องค์พระผู้เป็นเจ้า
พระผู้ทรงเพาะ “เมล็ดมัสตาร์ด” แห่งแผ่นดินของพระเจ้า
พระองค์ผู้ทรงเพาะชีวิตที่เล็กน้อยที่สุด  ที่ดูไม่มีค่าราคาอะไรเลย
แต่กลับกลายเติบใหญ่เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่ผู้คนพึ่งพิง และ อาศัยอยู่ด้วยความปลอดภัย
และแผ่นดินของพระองค์ยังเติบโตและเป็นคุณต่อผู้คนอย่างไม่หยุดยั้ง

ในวันนี้...
ขอโปรดช่วยข้าพระองค์ให้มีส่วนร่วมในพระราชกิจแห่งแผ่นดินของพระองค์ในโลกนี้
โปรดปรับแต่งและสร้างข้าพระองค์ให้เป็นเครื่องมือที่มีส่วนนำแผ่นดินของพระเจ้าไปยังที่ใหม่ๆ
เพื่อข้าพระองค์จะมีโอกาสรับใช้พระองค์  
เป็นช่องทางนำสัจจะ พระคุณ และความรักของพระองค์ไปถึงผู้คนทั้งหลาย   อาเมน


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
081-2894499

มีชีวิตเฉพาะพระพักตร์พระยาเวห์


25 เมษายน 2012
อ่าน พระธรรมสดุดี 116:1-19

เพราะพระองค์... 
ทรงช่วยข้าพระองค์จากความตาย
ทรงช่วยนัยน์ตาข้าพระองค์จากน้ำตา
ทรงช่วยเท้าข้าพระองค์จากการสะดุด
ข้าพระองค์ดำเนินอยู่เฉพาะพระพักตร์ของพระยาเวห์ในดินแดนของคนเป็น
(สดุดี 116:8-9  ฉบับมาตรฐาน  “ในดินแดนของผู้มีชีวิตอยู่” สำนวนอมตธรรม) 

เราท่านเข้าใจอย่างไรเกี่ยวกับ “การดำเนินชีวิตอยู่เฉพาะพระพักตร์พระเจ้า(หรือ พระยาเวห์)”ตลอดเวลา   จริงๆ แล้วทุกวันนี้เราดำเนินชีวิตอยู่เฉพาะพระพักตร์พระเจ้าตลอดเวลาหรือไม่?  หรือ เราดำเนินชีวิตเพียงบางเวลาเท่านั้นที่อยู่จำเพาะพระพักตร์พระเจ้า?  เช่น  เวลาที่เราคิดถึงพระองค์   เวลาที่เราอธิษฐาน  เวลาที่เราอ่านพระคัมภีร์  เวลาที่เราร่วมนมัสการ  เวลาที่เราเฝ้าเดี่ยว  และเวลาที่เราทำสิ่งที่ดีในสายพระเนตรของพระเจ้า   นั่นเป็นความเข้าใจที่ผมเคยมีมาในอดีต 

แต่เมื่อเราพิจารณาจากพระธรรมสดุดีบทนี้  และในพระคัมภีร์หลายต่อหลายตอน  หรือทั้งเล่มแล้วเรากลับพบว่า   แท้จริงแล้วพระเจ้าทรงสถิตเคียงข้างเราตลอดเวลาในชีวิตนี้  นั่นเป็นน้ำพระทัยและพระประสงค์ของพระเจ้าที่มีต่อมนุษย์ที่พระองค์ทรงสร้าง   แต่มนุษย์เรากลับรู้สึกว่ามีเพียงบางเวลาเท่านั้น “ที่เราอยู่เฉพาะพระพักตร์พระเจ้า”   ทั้งนี้เพราะเรามักเข้าใจผิดว่า  เราจะต้องกระทำสิ่งต่างๆ ให้เป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าถึงจะได้รับพระพร  ถึงจะได้อยู่ต่อหน้าพระเจ้า   แต่ในความเป็นจริงการที่เราอยู่ต่อหน้าพระเจ้านั้นมิได้ขึ้นอยู่กับความคิดและการกระทำของเรา   แต่นั่นเป็นพระประสงค์ของพระเจ้า  และพระองค์อยู่กับเราตลอดเวลาที่ผ่านมาและในปัจจุบันด้วย

แต่การที่เราคิดและเข้าใจรวมถึงรู้สึกว่า  มีเพียงบางเวลาเท่านั้นที่เราอยู่ต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้า   เพราะทัศนคติและหลักเชื่อของเราจำกัดผิดพลาด   ในสดุดีบทนี้  ชี้ให้เห็นชัดว่า...  ผู้เขียนสดุดีบอกว่าท่าน “รักพระยาเวห์ เพราะพระองค์ฟังเสียง และคำวิงวอนของข้าพเจ้า” (ข้อ 1)   และที่เขาติดสนิทและทูลต่อพระเจ้า  เพราะพระเจ้าทรงฟังเขา” (ข้อ 2)  ท่ามกลางความเจ็บปวด  ภาวะเสี่ยงตายในชีวิต  และชีวิตต้องเผชิญกับความทุกข์โศกระทม  ในเวลาวิกฤติชีวิตเช่นนั้น  พระเจ้าอยู่กับเขาที่นั่นแล้ว(ข้อ 3)   แต่การที่เขาทูลต่อพระองค์เพราะเขาได้สัมผัสกับ “พระคุณของพระเจ้า”(ข้อ 5)  พระเจ้าทรงปกป้องผู้เล็กน้อยและตกต่ำ  พระองค์ทรงช่วยให้รอด(ข้อ 6)  และเขาสรุปว่า พระเจ้าทรงดีต่อชีวิตของเขา (ข้อ 7)   ในที่นี้ชัดเจนว่า  ที่ผู้เขียนสดุดี ทูลขอ อธิษฐาน  หวัง และมีชีวิตที่สงบนั้น   มิใช่เพราะเขาทำเช่นนี้เพื่อให้พระเจ้าพอพระทัย  แล้วพระองค์จะได้ทรงนำ  อวยพระพร  และประทานสิ่งดีให้กับเขา   ตรงกันข้ามที่เขาทำสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดเพราะ “สำนึกในพระคุณของพระเจ้า”(ข้อ 5)  เป็นการตอบสนองต่อพระคุณความดีของพระเจ้า 

ปัจจุบันนี้น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งที่คริสเตียนจำนวนมากทีเดียวที่ไม่มีรากฐานความเชื่อศรัทธาในประการนี้   แต่กลับมีความเชื่อศรัทธาที่ได้รับอิทธิพลจากความคิดความเชื่อตามกระแสสังคมเรื่องการกระทำเพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์(หมูไปไก่มา)   เป็นความเชื่อแบบบริโภคนิยม   ที่คิดว่าจะทำดีเพื่อพระเจ้าจะพอพระทัยแล้วจะได้อวยพระพรแก่เรา   บ่อยครั้งคริสเตียนกระทำดีแบบ “ยื่นหมูยื่นแมว” กับพระเจ้า   ยิ่งกว่านั้นใช้หลักคิดแบบ “ค้ากำไรเกินควร” กับพระเจ้าอีกด้วย   คริสเตียนอธิษฐาน  อ่านพระคัมภีร์  ไปนมัสการที่คริสตจักร  ถวายทรัพย์  ทำความดี   โดยคาดหวังเงื่อนไขแลกเปลี่ยนกับพระพรอันมหาศาลที่ตนเองคาดหวังจากพระเจ้า   ซึ่งเป็นความคิด ความเข้าใจ และความเชื่อที่ตรงกันข้ามกับพระคัมภีร์   เพราะพระเจ้ามิได้อวยพรมนุษย์  ช่วยกอบกู้ชีวิตของมนุษย์  ทรงอยู่ใกล้ในยามที่ชีวิตอับจนข้นแค้น   มิใช่เพราะมนุษย์ทำดีต่อพระองค์  พระองค์จึงต้องกระทำดีตอบแทนมนุษย์  “ไม่ใช่เด็ดขาด! 

ในเมื่อพระเจ้าทรงอยู่เคียงข้างเราตลอดเวลา   จึงไม่แปลกที่ผู้เขียนสดุดีบทนี้ยืนยันที่จะมีชีวิตอยู่จำเพาะพระพักตร์พระเจ้าตลอดเวลาเมื่อยังมีชีวิตในโลกนี้   ที่เป็นปัญหาคือ มนุษย์เองต่างหากกลับมิได้สัมผัสรับรู้ว่าพระเจ้าทรงอยู่กับเขาทุกเวลา   แต่กลับร้องคร่ำครวญว่าพระเจ้าทอดทิ้งตน   แต่ที่มนุษย์ต้องตกในสภาพเช่นนี้เพราะเขาดำเนินชีวิตตามใจปรารถนาของตนเอง   แล้วละทิ้งพระประสงค์ของพระเจ้า   ดังนั้น  เขาจึงไม่เห็นพระเจ้า  ไม่ได้สัมผัสกับพระองค์   ชีวิตของเขาจึงมิได้ดำเนินอย่างสัมผัสและติดสนิทกับพระเจ้าที่ทรงอยู่เคียงข้างเขาไม่ว่าชีวิตจะอยู่ในสภาพการณ์เช่นใด  

ในวันนี้  ให้เราดำเนินชีวิตอยู่ต่อจำเพาะพระพักตร์พระเจ้าตลอดเวลาด้วยการทบทวนและนับ “พระคุณของพระเจ้าในชีวิตของเรา”  แสวงหาพระประสงค์ของพระองค์ในชีวิตของเราแต่ละคนแล้วดำเนินตาม  เพื่อตอบสนองต่อพระคุณอันเหลือล้นที่ทรงมีในชีวิตของเรา   ให้เรายอมที่จะ “ละทิ้งตนเอง” แทน “การละทิ้งพระประสงค์ของพระเจ้า”  แล้วเราจะดำเนินชีวิตอยู่จำเพาะพระพักตร์พระเจ้าทุกเวลาตลอดวันคืนแห่งชีวิตของเรา   หรือในสดุดีบทที่ 23 ใช้สำนวนว่า  “แน่ทีเดียวที่ความดีและความรักมั่นคงจะติดตามข้าพเจ้าไป   ตลอดวันคืนแห่งชีวิตของข้าพเจ้า   และข้าพเจ้าจะอยู่ในพระนิเวศของพระยาเวห์สืบไปเป็นนิตย์(ข้อ 6)   ซึ่งมีความหมายเดียวกับที่ว่า  “ข้าพระองค์ดำเนินอยู่เฉพาะพระพักตร์ของพระยาเวห์ในดินแดนของคนเป็น” (สดุดี 116:9  ฉบับมาตรฐาน)

ประเด็นสำหรับใคร่ครวญและอภิปรายในกลุ่ม
1.     อะไรที่กระตุ้นเตือนให้ท่านสำนึกอยู่เสมอว่าพระเจ้าทรงอยู่เคียงข้างชีวิตท่านตลอดเวลา?
2.     ท่านเชื่อและมั่นใจว่าในการดำเนินชีวิต และ ในการทำงานแต่ละวัน  ท่านดำเนินชีวิตอยู่เฉพาะพระพักตร์พระเจ้าตลอดเวลาหรือไม่?   อะไรที่ทำให้ท่านเชื่อและมั่นใจเช่นนั้น?
3.     การที่เราสำนึกว่าเราดำเนินชีวิตอยู่เฉพาะพระพักตร์พระเจ้า   มีผลต่อการดำเนินชีวิตของเราหรือไม่?  และทำให้การดำเนินชีวิตแตกต่างจากที่เรา มิได้ สำนึกว่าเราดำเนินชีวิตเฉพาะพระพักตร์พระเจ้าอย่างไรบ้าง?

ใคร่ครวญภาวนา 

ขอบพระคุณพระเจ้า  ที่ทรงย้ำเตือนข้าพระองค์ผ่านพระธรรมสดุดี บทที่ 116  ว่าแท้จริงแล้วพระองค์ทรงอยู่เคียงข้างชีวิตของข้าพระองค์ตลอดเวลา   ข้าพระองค์ประสงค์ที่จะดำเนินชีวิตเฉพาะพระพักตร์ของพระองค์ในทุกขณะจิตที่มีชีวิตอยู่   ข้าพระองค์ปรารถนาที่จะเรียนรู้และสำนึกว่าพระองค์ทรงอยู่ด้วย   มิเพียงแต่ในเวลาที่ข้าพระองค์กระทำกิจทางศาสนาเท่านั้น   แต่ในทุกเวลา  ทุกสถานการณ์ชีวิต  และในทุกการกระทำในแต่ละวันของข้าพระองค์ด้วย 

องค์พระผู้เป็นเจ้า   ขอโปรดช่วยข้าพระองค์มีชีวิตเฉพาะพระพักตร์พระองค์ในขณะที่ทำงาน   โปรดช่วยให้ข้าพระองค์นำการทำงานต่างๆ ในวันนี้อยู่เฉพาะพระพักตร์พระองค์   และโปรดให้การสนทนาสื่อสารกับผู้คนให้อยู่เฉพาะพระพักตร์พระองค์ด้วยเช่นกัน   และเมื่อข้าพระองค์รับประทานอาหารมื้อค่ำกับครอบครัวก็ให้อยู่เฉพาะพระพักตร์ของพระองค์ด้วย  และโปรดให้การดำเนินชีวิตตลอดวันนี้ในทุกกิจกรรมเป็นการดำเนินเฉพาะพระพักตร์ของพระองค์  อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
081-2894499

23 เมษายน 2555

ติดเบรกแก่คุณธรรมและจริยธรรมที่ “ลื่นไหล”

23 เมษายน 2012

ในปัจจุบันไม่ว่าผู้นำ หรือ ผู้ตาม ต้องการให้ผู้คนมองว่าตนเป็นคนดีมีศีลธรรม มีคุณธรรมและจริยธรรม มิเพียงต้องการให้คนอื่นมองตนในทางดีนี้เท่านั้น ตนเองยังพยายามพูดคุยโน้มน้าวทุกหนทางให้คนอื่นเชื่อคล้อยตาม หรือพูดป้องกันตนเอง หรือ ใช้เหตุผลโน้มน้าวคนอื่นให้เห็นว่าตนเป็นคนเช่นนั้น แต่เมื่อสังเกตดีๆ ละเอียด ลุ่มลึก กลับพบเห็นสิ่งหนึ่งคือ ทั้งผู้นำและผู้ตามหลายต่อหลายคนต่างแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน ความก้าวหน้ามีชื่อเสียงดี มีบารมีและอำนาจ และมักมิได้คำนึงว่าที่จะได้สิ่งเหล่านี้มาด้วยวิธีไหน (ขอให้ได้ก็แล้วกัน!)

ความสัตย์ซื่อ การรับผิดชอบ เปิดเผย โปร่งใสในแต่ละตัวบุคคล เป็นคุณลักษณะ และ คุณธรรมส่วนบุคคลของแต่ละคนที่จะบ่งบอกถึงว่า ผู้นำคนนั้น ผู้ตามคนนี้เป็นคนที่มีศีลธรรม จริยธรรม และคุณธรรมในชีวิตของเขาหรือไม่? ยิ่งกว่านั้นเป็นตัวชี้ชัดชี้ขาดว่า คุณภาพในความเชื่อศรัทธาของผู้นำคนนั้น และ ผู้ตามคนนี้อยู่ในสภาพเช่นไร? ไม่จำเป็นที่จะไปตรวจสอบว่าเขา “ท่องหลักข้อเชื่อของอัครธรรมทูต” ได้หรือไม่? แต่พฤติกรรมในแต่ละวันเป็นความเชื่อศรัทธาที่ปฏิบัติออกมาแจ่มชัดให้คนรอบข้างได้เห็น

มีอาจารย์ท่านหนึ่งกรุณาสอนผมว่า หลุมพรางทางจริยธรรมและคุณธรรมสำหรับผู้นำคริสเตียนที่มีเป็นรูปธรรมคือเรื่อง เงิน(รวมถึงทรัพย์สิน ที่ดิน), เพศ, ชื่อเสียง(ตำแหน่ง ยศ ศักดิ์ศรี). และผมก็มองว่าจริงในปัจจุบัน เมื่อผู้นำคริสเตียนคนไหนที่ตกลงในหลุมพรางดังกล่าวแล้วและเมื่อผู้คนได้รู้เท่าทันแล้ว ผู้นำคนนั้นก็จะไม่ได้รับความนับถือ ไว้วางใจจากผู้คนรอบข้างต่อไป นี่เป็นการเสียที่ไม่คุ้มค่าในชีวิตของผู้นำคริสเตียน ดูนักเทศน์ชื่อเสียงโด่งดังในตะวันตก ได้รับการนับหน้าถือตา ร่ำรวยด้วยเงินถวายของชาวบ้าน แล้วก็ต้องมาตกลงในหลุมพรางดังกล่าว ชื่อเสียงดับวูบ นักเทศน์หรือผู้นำคริสต์ศาสนาที่ดังๆ ในประเทศไทยของเราก็พบกับสถานการณ์เช่นนี้ จนต้องผันตัวไปทำอาชีพอื่น หรือไม่ก็เก็บตัวให้เงียบ

ผมได้มีโอกาสอ่านข้อเขียนของ ดร.จอห์น แมกซ์แวล เรื่อง PERSONAL ACCOUNTABILITY: PUTTING THE BRAKES ON MORAL BREAKDOWN เห็นว่าเป็นความคิดที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ จึงขอซึมซับเอาเนื้อหาความคิดมาแบ่งปันกันคิดครับ

การพัฒนาความรับผิดชอบในแต่ละตัวคน 

คนเราต่างต้องการให้ทุกคนเห็นว่าตนเป็นคนสัตย์ซื่อ ทุ่มเททำงานหนัก ไว้วางใจได้ และมีสมรรถนะในชีวิต ผมยังคิดสงสัยในใจว่าจะมีใครไหมหนอที่เริ่มต้นอาชีพการงานด้วยต้องการโกหกคดโกงตั้งแต่เริ่มต้น อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้นำ เราตั้งใจแล้วว่าต้องการประสบความสำเร็จ แต่ถ้าเราขาดความระมัดระวัง ความทะเยอทะยาน นิมิตหมายที่จะเป็นคนดีมีจริยธรรมน่าเคารพนับถืออาจจะดับวูบลง เราอาจจะต้องหลงจากเส้นทางที่เราจะมุ่งไปสู่จุดหมายที่เราปรารถนาจะสำเร็จ ความรับผิดชอบในแต่ละบุคคลหมายถึงการที่เราสามารถตอบและอธิบายและแสดงถึงความเป็นตัวตนคนดี หรือ ที่เราแสวงหาที่จะเป็นคนที่น่านับถือ หรือการเป็นคนมีชื่อเสียง เกียรติยศ เป็นคนสัตย์ซื่อสุจริต หรือ เป็นคนที่ใจสัตย์ซื่อมือสะอาดที่เราปรารถนาจะเป็น ดร. จอห์น แม็กซ์แวล ได้เสนอการพัฒนาความรับผิดชอบในแต่ละตัวคนมี 3 ขั้นตอนด้วยกันคือ

1. ไม่ไว้วางใจตนเอง 

จากประสบการณ์ในชีวิต ผู้นำที่ล้มเหลวในด้านจริยธรรมของชีวิตมีบุคลิกลักษณะพื้นฐานร่วมกันดังนี้ มีความรู้สึกถึงความมั่นคงในชีวิตที่ผิดๆ เขายึดมั่นถือมั่นว่าตนเองจะไม่ทำให้ชีวิตของตนเองล่มจมฉิบหายด้วยบุคลิกที่มีคนตำหนิตักเตือน สำหรับผู้นำที่ใช้ปัญญา ย่อมไม่ไว้วางใจว่าตนเองจะกระทำในสิ่งที่ถูกต้องตลอดเวลา เขารู้ชัดว่าอำนาจทำให้คนฉ้อฉลได้ และเขาตระหนักเสมอว่า ความผิดพลาดล่มจมย่อมเกิดแก่ชีวิตได้ทุกขณะ

อย่าคิดว่าตนเองดีเกินที่จะกระทำความผิดด้านศีลธรรมจริยธรรม แต่ท่านพึงรู้เท่าทันตนเองเสมอว่าตนเองมีความอ่อนแอย่อมก้าวผิดทำพลาดได้เสมอเหมือนกับคนอื่นๆ การที่เราตัดสินใจกระทำการใดๆ บนฐานสำนึกเช่นนี้ก็จะปกป้องมิให้ “ด้านมืด” ของความมักใหญ่ใฝ่สูงในตัวเราแผลงฤทธิ์ออกมาในชีวิตของตน

จงวางใจในพระยาห์เวห์ด้วยสุดใจของเจ้า 
 และอย่าพึ่งพาความรอบรู้ของตนเอง (สุภาษิต 3:5 ฉบับมาตรฐาน)

2. กำหนดแนวป้องกันพฤติกรรม 

ผู้นำมิเพียงรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเท่านั้น แต่รับผิดชอบก่อนการกระทำของตนด้วย แน่นอนว่า ผู้นำควรจะเต็มใจที่จะอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นจากการกระทำของเขา อย่างไรก็ตาม เขาควรจะมีความสุขุมรอบคอบพอที่จะเอาใจใส่ป้องกันพฤติกรรมของตนเองที่อาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดความผิดพลาดทางจริยธรรมที่ไม่ปรารถนาได้ ก่อนที่ความผิดพลาดเสียหายจะถูกกระทำให้เกิดขึ้น

3. เปิดโอกาสและเชิญชวนผู้อื่นให้ตรวจสอบตนเอง 

เมื่อใดที่ผู้นำไม่ตรวจสอบตนเองเขาย่อมไม่ได้รับการยอมรับนับถือจากผู้คน แต่อย่างไรก็ตามอำนาจในด้านจริยธรรมต้องการมากกว่าการตรวจสอบตนเองของผู้นำเท่านั้น แต่ผู้นำที่มีความรับผิดชอบย่อมเปิดทางให้ผู้อื่นตรวจสอบพฤติกรรมของตนเอง ผู้นำจำพวกนี้เป็นผู้นำที่โปร่งใส เปิดเผยเชิงรุก (คือไม่รอให้คนอื่นมาตรวจสอบตนเอง แต่เปิดและเชิญชวนให้ผู้คนตรวจสอบพฤติกรรมของผู้นำเอง)

ผู้นำที่มีบารมีอิทธิพลเพิ่มพูนมากขึ้น ย่อมไม่ค่อยจะชอบลูกทีมที่มองต่างมุมกับตน หรือ ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของตน หรือลูกทีมที่มีคำถามต่อพฤติกรรมของผู้นำที่แสดงออก คนทั่วไปคาดหวังโดยอัตโนมัติว่า คำตำหนินินทาของลูกน้องน่าจะทำให้ผู้นำ(เจ้านาย)ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ด้วยเหตุนี้ ผู้นำที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงจะต้องเปิดตนเองด้วยความจริงใจให้ลูกทีมที่อยู่ล้อมรอบตนเองที่จริงใจ ได้ให้การแนะนำอย่างเปิดเผยจริงใจ ให้พูดความจริงที่เกี่ยวโยงกับตัวผู้นำ (แน่นอนครับ แล้วผู้นำจะต้องรับฟังอย่างใส่ใจ จริงใจ และครุ่นคิด ด้วยจิตใจที่ขอบคุณที่ลูกทีมเปิดเผย หรือ ในการเสี่ยงของพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกทีมที่ไม่ขยันเข้ามาเสนอหน้าและความคิด!) ในวงเล็บผมว่าเองครับ

4. ถ่อมใจและน้อมรับการตรวจสอบจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ทุกวัน 

ในทุกวันก่อนเริ่มต้นชีวิตของวันใหม่ ให้เรามีเวลาที่สงบต่อพระพักตร์พระเจ้า ขอพระเจ้าได้ตรวจสอบภายในชีวิตของเรา สำแดงแจ้งชี้ให้เราเห็นสิ่งที่เป็นพระประสงค์ของพระองค์ในชีวิตของเรา และสิ่งที่เราซ่อนเร้น คบคิด วางแผนที่ขัดแย้งสวนทางกับพระประสงค์ของพระเจ้า ฟังข้อแนะนำจากพระเจ้า รับกำลังในการแก้ไขพัฒนาชีวิตขึ้นใหม่ตามพระประสงค์ และจงรักภักดี สัตย์ซื่อต่อพระองค์ เชื่อฟังและทำตามเสียงแห่งความเมตตาที่ตรัสกับเรา (ข้อนี้ ดร. จอห์น แม็กซ์แวล ไม่ได้ว่าไว้ครับ)

“ข้าแต่พระยาเวห์ พระองค์ได้ทรงตรวจสอบข้าพระองค์ และรู้จักข้าพระองค์” (สดุดี 139:1 ฉบับมาตรฐาน)

“จงมอบทางของท่านไว้กับพระเจ้า จงวางใจในพระองค์ และพระองค์จะทรงกระทำให้สำเร็จ” (สดุดี 37:5; 1971)

“จงมอบงานของเจ้าไว้กับพระเจ้า และแผนงานของเจ้าจะได้รับการสถาปนาไว้” (สุภาษิต 16:3; 1971)

“จงมอบภาระของท่านไว้กับพระเจ้า และพระองค์จะทรงค้ำจุนท่าน พระองค์จะไม่ทรงยอมให้คนชอบธรรมคลอนแคลนเลย” (สดุดี 55:22; 1971)

สรุป 

ดังสุภาษิตญี่ปุ่นได้ให้สติปัญญาไว้ว่า “เกียรติยศชื่อเสียงและความนับถือที่สร้างสั่งสมมาพันปีอาจจะล้มครืนลงด้วยการกระทำเพียงชั่วโมงเดียว” ให้เราปกป้องการล้มครืนลงของชื่อเสียง เกียรติยศ และความน่านับถือของเรา ด้วยการถามตนเองตามข้อถามต่อไปนี้ 1. พฤติกรรมอะไรบ้างของฉันที่เป็นรั้วกั้นป้องกันการใช้อิทธิพลในความเป็นผู้นำที่อาจจะทำความผิดพลาดในด้านจริยธรรม/ศีลธรรม? 2. ฉันจะเปิดทางให้แก่ใครที่จะมาตรวจสอบการกระทำของฉัน และ ตั้งคำถามในสิ่งที่ฉันได้ตัดสินใจ?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง 
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่ 
081-2894499

20 เมษายน 2555

ท่าทีเยี่ยงพระคริสต์

20 เมษายน 2012

อ่านพระธรรมฟีลิปปี 2:5-8

5ท่านควรมีท่าทีแบบเดียวกับพระคริสต์
6ผู้ทรงสภาพพระเจ้า
แต่ไม่ทรงยึดติดในความเท่าเทียมกับพระเจ้า
7พระองค์กลับทรงสละทุกสิ่ง
มารับสภาพทาส
บังเกิดเป็นมนุษย์
8และเมื่อทรงปรากฏเป็นมนุษย์
พระองค์ยอมถ่อมพระองค์ลง และ
ยอมเชื่อฟังแม้ต้องตายบนไม้กางเขน (ฟีลิปปี 2:5-8 อมตธรรม)

ในพระธรรมฟีลิปปีตอนนี้ เปาโลชี้ชัดถึงสภาพจริงๆ ในชีวิตของพระคริสต์ และท่าทีที่พระเยซูแสดงออก ตลอดจนแนวทางการใช้ชีวิตของพระองค์ พระเยซูคริสต์เป็นมนุษย์อย่างครบถ้วนในทุกด้าน และในขณะเดียวกันพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าอย่างสมบูรณ์ แต่เมื่อพระองค์ทรงสภาพมนุษย์พระองค์ให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์อย่างเต็มเปี่ยม ถึงแม้สภาพความเป็นมนุษย์ของพระองค์คือชาวบ้านธรรมดา ไม่มียศถาบรรดาศักดิ์ ปราศจากตำแหน่งผู้นำในศาสนาและการเมือง มิได้เป็นผู้บริหารหรือจัดการองค์กรใดองค์กรหนึ่งที่เป็นที่ยอมรับนับถือของคนในสมัยนั้น

เมื่อพระองค์ทรงสภาพมนุษย์ที่พูนพร้อมความเป็นพระเจ้า พระองค์กลับใช้ชีวิตกับผู้คนในท้องถนน ในชุมชน พระองค์มีชีวิตที่เคียงข้างคนชายขอบสังคม พระองค์ให้ความเมตตาและเอาใจใส่ต่อคนเจ็บป่วย คนไร้ที่พึ่งพิง คนยากคนจน คนที่ชีวิตถูกกระหน่ำด้วยบาดแผลภายในชีวิต คนที่สังคมตีตราว่า “ไม่สะอาด” ถูกกีดกันจากสังคม ถูกตัดรอนคุณค่าและความหมายแห่งชีวิต คนที่ถูกวิญญาณชั่วครอบงำในชีวิตจนไม่สามารถหลุดรอดออกจากกงเล็บของมัน พระองค์เอาใจใส่คนตาบอดรักษาให้กลับสามารถเห็นได้ เพื่อสร้างผลกระทบต่อชีวิตของเจ้าตัว ครอบครัว และชุมชน พระองค์เป็นผู้สรรค์สร้างความหวังแก่ชีวิตที่สิ้นหวังเช่นโจรที่ถูกตรึงพร้อมกับพระองค์ พระองค์ช่วยให้คนค้นพบคุณค่าในชีวิตอย่างเช่นศักเคียส พระองค์เอาใจใส่คนที่สังคมยิวรังเกียจเดียดฉันท์เช่นหญิงสะมาเรียที่ต้องมาตักน้ำที่บ่อในเวลาเที่ยงวันที่ปลอดคน พระองค์ทรงปกป้องคนทำบาปอย่างเช่นหญิงที่ถูกจับฐานล่วงประเวณี

สำหรับมุมมองของพระเยซูแล้ว ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นยิวหรือคนต่างชาติ จะเป็นทหารโรมันหรือชาวบ้านคนยิว จะเป็นหญิงโสเภณีหรือปุโรหิตหรือธรรมมาจารย์ จะเป็นคนสะมาเรียหรือมหาปุโรหิต จะเป็นลูกช่างล้างผลาญหรือเป็นลูกที่ว่านอนสอนง่าย จะเป็นคนเก็บภาษีหรือคนฟาริสี และ ฯลฯ พระองค์ทรงเห็นคุณค่าในคนเหล่านี้ที่มีเท่าเทียมกันในสายพระเนตรของพระเจ้า และที่สำคัญคือทุกคนควรค่าที่จะได้รับความเมตตาของพระเจ้า มิใช่คนเหล่านี้สมควรเหมาะสมที่จะได้รับความรักเมตตาของพระองค์ แต่ที่ทุกคนควรค่าที่จะได้รับความรักเมตตาของพระเจ้าเพราะ พระเจ้าทรงรักเมตตาทุกคนอย่างปราศจากเงื่อนไข

ความรักเมตตาที่พระองค์ให้สูงสุดคือ พระองค์ทรงให้ชีวิตแก่ผู้คน คือให้ทุกคนได้รับชีวิตใหม่ โอกาสใหม่ และคุณค่าความหมายใหม่ในชีวิต พระองค์ทรงรักมนุษย์และให้ชีวิตทั้งชีวิตของพระองค์แก่มนุษย์แต่ละคน เพื่อคนเหล่านั้นที่ได้รับชีวิตใหม่จากความรักเมตตาที่เสียสละของพระองค์ จะมีชีวิตที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงทั้งมุมมอง ความคิด ทัศนคติ ระบบคุณธรรมและคุณค่า เพื่อคนเหล่านี้จะมีชีวิตที่ได้รับการทรงเปลี่ยนแปลง เพื่อที่จะมีชีวิตที่เรียบง่าย ชีวิตที่ให้และเสียสละด้วยจิตใจที่รักเมตตาเยี่ยงพระคริสต์ และที่จะรักคนอื่นและสังคมโลกอย่างไร้เงื่อนไข

สำหรับพระคริสต์แล้ว ความรักเมตตาที่ยิ่งใหญ่ที่พระองค์ทรงให้กับมนุษย์ และ ประสงค์ที่จะให้สาวกของพระองค์ทุกคนให้แก่คนอื่นรอบข้างคือการให้ชีวิต “ไม่มีผู้ใดที่มีความรักยิ่งใหญ่กว่านี้คือการที่เขายอมสละชีวิตของตนเพื่อมิตรสหายของตน”(ยอห์น 15:13) และภาพที่เราน่าจะใช้ย้ำเตือนเราในทุกเหตุการณ์ได้อย่างดีคือ ภาพของพระคริสต์ที่ถูกตรึงบนกางเขน ภาพนี้มิใช่ภาพเพื่อจะสอนถึงมหาทรมานของพระคริสต์ แต่เป็นภาพแห่งความรักเมตตาของพระองค์ที่มีแก่คนอื่น เป็นภาพที่เราท่านไม่สามารถหยั่งรู้เข้าใจได้ทั้งหมด เพราะเป็นความรักเมตตาที่ต้องการพลังมหาศาลในชีวิต แต่เราสามารถที่จะหยั่งรู้เข้าใจเพิ่มมากขึ้น ซึมซับลงลึกซึ้งขึ้นผ่านการเรียนรู้ในสถานการณ์ชีวิตจริงของเราด้วยประสบการที่เราตอบสนองต่อพระคริสต์ด้วยทั้งสิ้นชีวิต ด้วยสุดจิตสุดใจสุดความคิดและชีวิตของเรา และด้วยพลังชีวิตแห่งความรักเมตตาเช่นนี้เอง ที่เราสามารถกระทำอย่างที่พระคริสต์ทรงสอนได้ เช่น หันแก้มอีกข้างหนึ่งเมื่อถูกตบ ยกโทษอย่างไม่มีเงื่อนไขและไร้ขีดจำกัด รับใช้แม้แต่คนที่เราเกลียดหรือเป็นศัตรูของเรา ยิ่งกว่านั้นรับใช้มากกว่าที่ถูกใช้ให้ทำ

ถ้าเรายืนหยัดบนจุดยืนของพระคริสต์ในการให้ชีวิตเช่นนี้ แม้เราจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่เลวร้ายเพียงใด เราจะไม่ต้องตั้งคำถามที่มาจากความขมขื่นใจว่า “ทำไมพระเจ้าทำกับฉันทำกับคนที่ฉันรักเช่นนี้ ทั้งๆ ที่เรารับใช้พระองค์มาตลอดชีวิต?” แต่เรากลับแสวงหาว่า “ในสถานการณ์นี้พระองค์ประสงค์ให้ข้าพระองค์สำแดงความรักเมตตาที่เสียสละเยี่ยงพระองค์อย่างไร?”

“เพื่อท่านจะได้ดำเนินชีวิตอย่างสมกับที่เป็นคนขององค์พระผู้เป็นเจ้า และจะได้เป็นที่พอพระทัยในทุกด้าน คือเกิดผลในการดีทุกอย่าง รู้จักพระเจ้าดียิ่งขึ้น ได้รับการเสริมสร้างให้เข้มแข็งขึ้นด้วยฤทธิ์อำนาจทั้งมวล... เพื่อท่านจะอดทนอย่างยิ่งและมีความชื่นชมยินดี” (โคโลสี 1:10-11 อมตธรรม) พระเจ้ามีพระประสงค์ในทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา ถ้าเช่นนั้นในทุกสถานการณ์ไม่ว่าดีหรือเลวร้ายจะเกิดผลในการดีตามพระประสงค์ของพระเจ้า และเมื่อเราแสวงหาพระประสงค์ที่จะกระทำตามในทุกสถานการณ์เราจะได้รับประสบการณ์สัมผัสจากพระองค์ ทำให้เรา “รู้จักพระเจ้ายิ่งขึ้น” ยิ่งกว่านั้น ถ้าเรากระทำตามพระประสงค์ในทุกสถานการณ์ ประสบการณ์จากการกระทำตามพระประสงค์จะเป็นโอกาสที่เราจะรับการทรงเสริมสร้างให้เข้มแข็งขึ้น และในทุกสถานการณ์เราจะมีความอดทนพร้อมด้วยความชื่นชมยินดี

ดังนั้น ผลดีที่เกิดขึ้นมิใช่ผลดีที่เกิดจากการที่เรากระทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าเท่านั้น แต่เกิดผลดีต่อชีวิตการเป็นสาวกของพระเยซูคริสต์ด้วย ที่เป็นเช่นนี้เพราะ ขณะเมื่อเรายอมจำนนที่จะทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าในทุกสถานการณ์ชีวิต เราจึงมิได้กระทำเพราะเราเป็นคนดี คิดดี เพื่อทำดี และเป็นคนเก่ง เพราะในหลายๆสถานการณ์นั้นเราไม่สามารถที่จะทำให้เกิดผลดีด้วยตัวเราเอง ด้วยความสามารถของเราเองได้เลย แต่พระวิญญาณบริสุทธิ์ตามพระสัญญาของพระคริสต์ทรงกระทำงานต่างๆ ในสถานการณ์นั้นผ่านชีวิตที่ยอมจำนนของเราต่างหาก สิ่งดีๆ จึงเกิดขึ้น เราจึงเติบโตขึ้น มีชีวิตเหมือนพระคริสต์มากขึ้น เราจึงเข้มแข็งขึ้นในพระคริสต์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
081-2894499

18 เมษายน 2555

เดินทีละก้าว

18 เมษายน 2012

ในพระธรรมปฐมกาลบทที่ 28 กล่าวถึงเรื่องความฝันของยาโคบที่เบธเอล ครั้งเมื่อต้องออกจากบ้าน จากแม่ และหนีการไล่ล่าจากพี่ชายไปยังบ้านของลุง ในระหว่างทางของการหนีตายครั้งนั้นในจิตใจของยาโคบคงเต็มไปด้วยความกลัว กังวล สับสน ไม่แน่ใจในอนาคต ในคืนหนึ่งเขาฝันเห็นบันไดพาดจากสวรรค์ลงมายังพื้นแผ่นดินโลก และบนบันไดนั้นมีทูตสวรรค์ขึ้นลง และพระเจ้าทรงประทับเหนือหัวบันไดนั้น ในนิมิตฝันครั้งนี้ยาโคบได้รับพระสัญญาจากพระเจ้าว่า ไม่ว่าชีวิตของเขาจะต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ดีเด่นหรือเลวร้ายปานใดก็ตาม แม้ว่าชีวิตของเขาจะต้องประสบกับการขึ้นๆ ลงๆ อย่างไม่คาดฝันเช่นใดก็ตาม พระเจ้าจะอยู่ในทุกเหตุการณ์เหล่านั้นกับยาโคบเพื่อจะทรงชี้นำทางไปข้างหน้าในชีวิตของเขา

พระเจ้าให้พระสัญญาเดียวกันนี้กับเราแต่ละคนในวันนี้ ในพระธรรมสดุดี 37:23 ได้ย้ำความมั่นใจแก่เราว่า

23 ถ้าองค์พระผู้เป็นเจ้าพอพระทัยทางของคนใด
ก็ทรงให้ย่างก้าวของคนนั้นมั่นคง” (อมตธรรม)

คนที่พระเจ้าพอพระทัยในทางของเขาคือ คนที่ติดตาม วางใจ และพยายามทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า พระเจ้าทรงปกป้องคุ้มครองและทรงกระทำให้ทุกย่างก้าวของเขามั่นคง

พระเจ้าปรารถนาที่จะให้เรายึดมั่นในพระองค์และให้เราดำเนินบนเส้นทางชีวิตนี้อย่างสัตย์ซื่อเที่ยงตรงต่อพระองค์ เราอาจจะไม่สามารถเข้าใจได้อย่างชัดแจ้งว่า ทำไมพระเจ้าถึงยอมให้เกิดความทุกข์ยากลำบากในชีวิตวันนี้ของเรา จนกว่าเมื่อเราทะลุผ่านเหตุการณ์ลำบากเลวร้ายเหล่านั้น

แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในชีวิตของเราในวันนี้ เรายังสามารถที่จะไว้วางใจในการทรงนำของพระองค์ ให้เราก้าวย่างชีวิตไปทีละก้าวในวันนี้ ด้วยความสัตย์ซื่อต่อพระองค์

23 ถ้าองค์พระผู้เป็นเจ้าพอพระทัยทางของคนใด
ก็ทรงให้ย่างก้าวของคนนั้นมั่นคง

24 แม้เขาสะดุด เขาจะไม่ล้ม
เพราะพระหัตถ์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าค้ำชูเขาไว้ (สดุดี 37:23-24 อมตธรรม)

ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญ

1. ที่ผ่านมา ท่านเคยมีประสบการณ์ชีวิตที่ได้รับค้ำชูจากพระเจ้าในสถานการณ์วิกฤติชีวิตหรือไม่? ถ้าเคย ประสบการณ์ครั้งนั้นเป็นสถานการณ์อะไร? และพระเจ้าทรงค้ำชูท่านอย่างไร?

2. ในวันนี้ ท่านจะช่วยคนที่กำลังเผชิญหน้าวิกฤติในชีวิต ให้เกิดความวางใจในพระเจ้า เชื่อมั่นในการทรงปกป้อง และ ทรงนำอย่างไร?

3. ในวันนี้ ถ้าเกิดวิกฤติในชีวิตของท่าน ท่านจะไว้วางใจพระเจ้าอย่างไร?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
081-2894499

16 เมษายน 2555

บารนาบัส...ลูกแห่งการให้กำลังใจ

16 เมษายน 2012

การที่คนหนึ่งคนใดที่ชีวิตผิดพลาดไปแล้ว และเมื่อรู้สึกสำนึกต้องการกลับเนื้อกลับตัวเป็นคนใหม่มิใช่เรื่องง่ายที่ผู้คนที่รู้อดีตของเขาจะยอมและเชื่อวางใจการกลับเนื้อกลับตัวของคนๆ นั้นทันที บางครั้งคนประเภทนี้ถ้าในทางการเมืองอาจจะถูกเรียกว่า “แปรพรรค” หรือ “แปรพักตร์” นั่นหมายความว่าเป็นคนที่ไม่น่าไว้วางใจ ที่ไม่น่าไว้วางใจเพราะกลัวว่าจะถูกคนๆ นั้นโกหกหลอกลวงหรือหักหลังในที่สุดอย่างที่เคยเป็นมาแล้ว

เซาโลเป็นผู้ได้รับการหล่อหลอมความเชื่อศรัทธามาอย่างมั่นคง ยืนหยัดในความเชื่อของยิว ร่ำเรียนทางด้านศาสนศาสตร์กับอาจารย์ที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น ยิ่งกว่านั้นเป็นคนที่แสดงออกถึงจุดยืนความเชื่อและอุดมการณ์ในการปกป้องศาสนายิวที่ตนเชื่อถืออย่างแข็งขันและ “แข็งกร้าว”

แต่เมื่อความเชื่อในลัทธิใหม่ ที่เชื่อว่าเยซูชาวนาซาเร็ธเป็นพระเมสสิยาห์แพร่ขยายอย่างกับโรคร้ายระบาดรวดเร็วในชุมชนคนยิว ย่อมเป็นภัยคุกคามความมั่นคงต่อพวกยิวอย่างยิ่ง ดีที่มีชายคนหนึ่งชื่อเซาโลที่อาสาออกกวาดล้างทำลายพวกที่ฝังหัวในลัทธิใหม่เยซูชาวนาซาเร็ธอย่างคลั่งไคล้ เขาได้รับอำนาจจากมหาปุโรหิตในการกระทำการนี้ และมุ่งหน้าสูจุดยุทธศาสตร์สำคัญคือเมืองดามัสกัส เพื่อสกัดกั้นและทำลายล้างขบวนการนี้มิให้แพร่หลายเติบโต เพราะดามัสกัสคือศูนย์กลางการค้าพาณิชย์ เป็นจุดเชื่อมคาราวานการค้าที่ไปยังซีเรียตอนเหนือ เมโสโปเตเมีย อานาโตเลีย เปอร์เซีย และอาระเบีย ถ้าลัทธิใหม่เยซูแห่งนาซาเร็ธสามารถตั้งตัวได้ที่ดามัสกัส ศาสนา “ทางนั้น” ก็จะแผ่ขยายอย่างรวดเร็วไปยังเมืองสำคัญเหล่านี้

แต่จู่ๆ วันหนึ่งกลับมีข่าวแพร่สะพัดว่า เซาโลคนนี้แปรพักตร์กลับไปเป็นพวกลัทธิเยซูแห่งนาซาเร็ธ ยิ่งกว่านั้นกลับยืนยันกับผู้คนทั้งหลายว่า เยซูคนนี้ยังมีชีวิตอยู่ พูดกับเขาบนเส้นทางไปเมืองดามัสกัส และใช้ความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาอธิบายเชื่อมโยงคำสอนในศาสนายิวว่า เยซูชาวนาซาเร็ธคนนี้คือผู้ที่ผู้เผยพระวจนะได้ทำนายไว้ว่า เป็นพระเมสสิยาห์ พระผู้ช่วยให้รอดของยิว ด้วยเหตุนี้มีเพียงวิธีการเดียวเท่านั้นที่ต้องทำคือกำจัดคนนี้อย่างที่เคยจัดการกับเยซูชาวนาซาเร็ธมาแล้ว ดังนั้น พวกยิวและฟาริสีและสมาชิกสภาซันเฮดรินจึงให้ผู้นำยิวที่ดามัสกัสทำทุกหนทางที่จะหยุดชีวิตของเซาโลตัวอันตรายคนนี้ให้ได้ ด้วยการปิดล้อมและตั้งจุดตรวจสกัดทุกประตูเมืองดามัสกัส

พวกสานุศิษย์ที่เชื่อในพระเยซูคริสต์ในดามัสกัสได้หาทางช่วยให้เซาโลหนีออกจากดามัสกัส โดยให้เซาโลนั่งในเข่งแล้วผูกเชือกหย่อนลงไปข้างกำแพงเมืองเพื่อให้เซาโลหนีออกจากเมืองดามัสกัส หนีสำเร็จ เซาโลเดินทางต่อไปกรุงเยรูซาเล็ม หวังว่าจะได้เข้าไปร่วมในชุมชนสาวกพระเยซูคริสต์ แต่เหตุการณ์กลับไม่ได้เป็นไปตามคาด พวกสาวกกลับไม่กล้าต้อนรับเซาโลผู้กล้าหาญคนนี้ เพราะกลัวว่า นี่เป็นแผนลวงของเซาโลเพื่อทำให้ตายใจแล้วสามารถเข้าไปในที่ซ่อนตัวของพวกสาวก หลังจากนั้นก็จะทำลายกลุ่มสาวกพระคริสต์ที่เป็นแกนนำเหล่านี้ให้สิ้นซาก ถ้าเราเป็นเซาโลที่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์เช่นนี้เราจะทำอย่างไร เมื่อเราต้อง “หนีเสือปะจระเข้” พระเจ้าจะสนใจไหม?

หมอลูกาได้บันทึกเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ในพระธรรมกิจการ 9:23-28 ไว้ว่า...

23หลังจากนั้นอีกหลายวัน พวกยิวก็ปรึกษากันว่าจะฆ่าเซาโล

24แต่แผนการของพวกเขารู้ไปถึงหูของเซาโล พวกเขาคอยเฝ้าที่ประตูเมืองทั้งกลางวันและกลางคืนเพื่อดักฆ่าเซาโล (ดู 2โครินธ์ 11:32)

25แต่พวกสาวกเอาเซาโลนั่งลงในกระบุงใบใหญ่ตอนกลางคืนแล้วหย่อนท่านลงจากกำแพงเมือง (ดู โยชูวา 2:15; 1ซามูเอล 19:12)

26เมื่อเซาโลไปถึงกรุงเยรูซาเล็มแล้ว ท่านพยายามจะเข้าร่วมกับพวกสาวก แต่เขาทั้งหลายกลัว เพราะไม่เชื่อว่าเซาโลเป็นสาวก (ดู กิจการ 22:17) (ฉบับมาตรฐาน)

ในภาวะวิกฤติชีวิตของเปาโลผู้กลับใจใหม่ และตั้งใจยืนหยัดเพื่อพระคริสต์ กลับมาพบกับการไม่ยอมรับและการไว้วางใจจากกลุ่มสาวกของพระเยซูองค์ ในเวลานั้นเอง พระเจ้าทรงเตรียมคนกลางประสานให้เกิดความไว้วางใจและการยอมรับกันและกันในชุมชนของผู้เชื่อของพระเยซูคริสต์ ชายคนที่ชื่อโยเซฟ เป็นคนที่เติบโตในเผ่าเลวี ที่มาจากเกาะไซปรัส ซึ่งสาวกเรียกเขาในชื่อ “บารนาบัส” คนๆ นี้เป็นผู้ยืนเคียงข้างคนที่เล็กน้อยและถูกกระทำจากคนอื่นและสังคม เช่น

บารนาบัสเป็นคนแรกๆ ที่พระธรรมกิจการเอ่ยถึงว่าเป็นคนที่ขายที่ดินของตนเพื่อนำเงินมาใช้สำหรับคนที่มีความต้องการในชุมชนผู้เชื่อในพระเยซูคริสต์ “โยเซฟคนเลวีจากเกาะไซปรัส ซึ่งอัครทูตเรียกว่า บารนาบัส (แปลว่าลูกแห่งการให้กำลังใจ) ได้ขายที่ดินของเขาและนำเงินมาวางแทบเท้าของอัครทูต” (กิจการ 4:36-37 อมตธรรม)

และเมื่อเซาโลกลับใจใหม่ มาที่กรุงเยรูซาเล็มเพื่อที่จะมาอยู่ร่วมในชุมชนสาวกพระเยซูคริสต์ แต่กลับถูกปฏิเสธเพราะความไม่เชื่อใจของบรรดาสาวกของพระเยซูคริสต์ในกรุงเยรูซาเล็ม บารนาบัส ได้กลายเป็นคนกลางรับประก้นว่าเซาโลกลับใจจริงๆ เขาเผชิญหน้ากับพระเยซูคริสต์บนเส้นทางไปดามัสกัส ยิ่งกว่านั้น เซาโลยังได้เป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์จนพวกยิวที่ดามัสกัสแสวงหาทางฆ่าเซาโล ด้วยการที่บารนาบัสยืนยันเคียงข้างเซาโลเช่นนี้เอง ทำให้ชุมชนสาวกของพระเยซูคริสต์เกิดความแน่ใจและไว้วางใจเซาโล จนเขาสามารถเข้านอกออกในในชุมชนสาวกของพะเยซูคริสต์ในกรุงเยรูซาเล็มได้

27แต่บารนาบัสพาท่านไปหาพวกอัครทูต และเล่าให้พวกเขาฟังว่าเซาโลเห็นองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ที่ตรัสกับท่านระหว่างทางอย่างไร และท่านประกาศออกพระนามพระเยซูด้วยใจกล้าหาญในเมืองดามัสกัสอย่างไร (ดู กิจการ 11:25)

28แล้วเซาโลจึงได้เข้านอกออกในอยู่กับพวกอัครทูตในกรุงเยรูซาเล็ม (ฉบับมาตรฐาน)

คริสตจักรไทยในปัจจุบันนี้ต้องการคนอย่างบารนาบัส เป็นคนที่มีน้ำใจ ยิ่งกว่านั้นเป็นคนที่เสริมสร้างกำลังใจแก่ผู้คนที่ตกอยู่ในวิกฤติ การให้กำลังใจของบารนาบัสมิใช่พูดให้เกิดกำลังใจเท่านั้น แต่กำลังใจที่บารนาบัสเสริมเพิ่มพลังแก่ผู้คนนั้นมาจากจิตใจที่เมตตาและถ่อมสุภาพ จิตใจเช่นนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยที่เจ้าตัวมิได้ทำอย่างตั้งอกตั้งใจ หรือ รู้ตัว เพราะการถ่อมใจเมตตานั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากจิตใต้สำนึกของคนๆ นั้น และเป็นทัศนคติในชีวิตและเป็นมุมมองชีวิตที่ตนมีต่อคนรอบข้าง “คนอื่นมาก่อนตนเอง”

นอกจากนั้น คริสตจักรไทยยังต้องการคนอย่างบารนาบัสในฐานะเป็นคนกลางที่เสริมสร้างความเข้าใจที่ดีต่อกัน และที่สำคัญคือการเสริมสร้างความเข้าใจและไว้วางใจกันและกันในการทำงานรับใช้พระเจ้า ให้เกิดการทำงานรับใช้พระเจ้าที่หนุนเสริมซึ่งกันและกัน ครั้งเมื่อเปาโลปฏิเสธที่จะทำงานร่วมกับมาระโกเพราะเปาโลเห็นว่ามาระโกเป็นคนที่ขาดความรับผิดชอบในการรับใช้พระเจ้า บารนาบัสยอมที่จะต้องแยกทีมทำงานกับเปาโลเพื่อที่จะมีโอกาสทำงานเคียงข้างร่วมกับมาระโกเพื่อเสริมสร้างชีวิตมาระโกในการรับใช้พระเจ้า ในที่สุดชีวิตการรับใช้ของมาระโกได้พัฒนาเปลี่ยนแปลง จนเปาโลยอมกลับมาร่วมงานกับมาระโกอีกครั้งหนึ่ง

บารนาบัส ลูกแห่งการเสริมสร้างกำลังใจ เป็นคุณลักษณะคริสเตียน ที่ไม่โดดเด่นแต่เปี่ยมด้วยพลังในการเสริมหนุนกำลังใจกำลังชีวิตของผู้คน เป็นคุณลักษณะชีวิตคริสเตียนที่ได้รับอิทธิพลจากภายในชีวิตและทัศนคติในชีวิตของคนๆ นั้น เป็นคนที่ไม่ต้องการมีชื่อเสียงเด่นดังแต่จิตใจเปี่ยมด้วยเมตตากรุณาในการค้ำจุน หนุนช่วย ยืนหยัดเคียงข้างผู้คนที่กำลังประสบวิกฤติในชีวิตเพื่อมีส่วนในการประคับประคองชีวิตให้สามารถทะลุผ่านพ้นวิกฤติชีวิตดังกล่าว แล้วยังเต็มใจเสริมสร้างให้คนๆ นั้นมีชีวิตที่มีคุณค่ามากยิ่งขึ้นจนสามารถใช้ชีวิตในสังคมชุมชนอย่างสร้างสรรค์

ประเด็นสำหรับใคร่ครวญและอภิปรายในกลุ่ม

1. ในชีวิตที่ผ่านมาท่านเคยมีประสบการณ์ชีวิตกับคนที่มีลักษณะเช่น “บารนาบัส” หรือไม่? คนๆ นั้นเป็นใคร สร้างผลกระทบต่อชีวิตของท่านหรือไม่อย่างไร?

2. ท่านเคยมีโอกาสเป็น “บารนาบัส” ในชีวิตแก่ใครบ้าง? มีผลเช่นไรในชีวิตของท่าน?

3. วันนี้โปรดไวต่อการทรงเรียกของพระเจ้า ที่จะให้ท่านเป็นเหมือนบารนาบัสแก่ใครบางคนที่พระองค์ทรงชักนำมาหาท่าน

ใคร่ครวญภาวนา

ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า ขอบพระคุณพระองค์ที่ทรงดูแลเอาใจใส่ในทุกช่วงตอนชีวิตข้าพระองค์ ทั้งในเวลาที่ข้าพระองค์วิงวอนทูลขอต่อพระองค์ ในเวลาที่ข้าพระองค์มิได้คิดถึงพระองค์ ในเวลาที่ชีวิตหนีเสือปะจระเข้ และในเวลาที่ชีวิตเป็นปรปักษ์กับพระประสงค์ของพระองค์ ขอบพระคุณพระองค์ที่ยังทรงห่วงใยติดตามใกล้ชิดเอาใจใส่ อยู่เคียงข้างชีวิตข้าพระองค์เสมอ และทรงพร้อมเสมอที่จะสร้างข้าพระองค์ขึ้นใหม่ตามพระประสงค์ของพระองค์

ขอบพระคุณพระองค์สำหรับพระคุณเมตตาของพระองค์ที่มีอย่างพูนล้นในชีวิตของข้าพระองค์ ด้วยพระหัตถ์อันชูช่วย ด้วยผู้คนที่พระองค์ทรงใช้ให้เอาใจใส่หนุนเสริมชีวิตในยามทุกข์ยากลำบาก เมื่อชีวิตจนมุมพระองค์ทรงเปิดทางชีวิตใหม่แก่ข้าพระองค์ ในพระองค์ข้าพระองค์พบแล้วว่า ไม่สิ้นคิด หรือ หมดทางเลือกในชีวิต แต่ประทานโอกาสใหม่ในชีวิตเสมอ ข้าพระองค์จึงไว้วางใจในพระองค์อย่างไม่มีข้อแม้

ในวันนี้ โปรดเปิดตาของข้าพระองค์ให้มองเห็นถึงพระประสงค์ของพระองค์ในชีวิตข้าพระองค์ โปรดเปิดใจของข้าพระองค์ที่จะน้อมรับพระประสงค์ของพระองค์ โปรดประทานกำลังแก่มือของข้าพระองค์ที่จะกระทำตามที่พระองค์ต้องประสงค์ และในวันนี้โปรดประทานเส้นทางชีวิตที่เท้าของข้าพระองค์จะเดินไปตามที่พระองค์ทรงนำไม่ว่าจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ใดๆ ก็ตาม ขอเพียงทราบว่า นี่คือการทรงเรียกนี่คือพระประสงค์ ข้าพระองค์จะขอเดินไปตามทางนั้นของพระองค์ อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
081-2894499

09 เมษายน 2555

พระคริสต์เป็นขึ้นจากความตายในชีวิตของท่านแล้วหรือยัง?

9 เมษายน 2012

การเป็นขึ้นจากความตายเป็นเรื่องที่มิใช่เพียงเข้าใจยาก เชื่อยากเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่ “จินตนาการ” ยากด้วยเช่นกัน มิใช่เพียงในพวกเราเท่านั้น แต่สิ่งนี้ได้เกิดขึ้นกับสาวกที่ติดตามพระเยซูคริสต์ด้วยตนเองเช่นกัน! ทั้งๆที่พระองค์ได้บอกพวกเขาล่วงหน้าแล้วว่า พระองค์จะถูกฆ่าจนเสียชีวิต แต่พระองค์จะเป็นขึ้นจากความตายในวันที่สาม (ที่ซีซาเรยาฟีลิปปี มัทธิว 16:21, มาระโก 8:31, ลูกา 9:22; ที่แคว้นกาลิลี มัทธิว 17:22-23, มาระโก 9:31, ลูกา 9:44; ขณะเดินทางไปกรุงเยรูซาเล็ม มัทธิว 20:18-19, มาระโก 10:33-34, ลูกา 18:31-33) และผู้บันทึกพระกิตติคุณได้บอกชัดว่า สาวกไม่เข้าใจในสิ่งที่พระเยซูแจ้งแก่พวกเขาล่วงหน้า

ถึงแม้ว่า ในพระราชกิจที่พระเยซูคริสต์ทรงกระทำ ที่ได้เรียกคนตายให้เป็นขึ้น ทั้งในคนต่างชาติ และเพื่อนสนิทชาวยิวอย่างลาซารัส รวมไปถึงบุตรสาวของไยรัส แต่ประสบการณ์เหล่านี้ก็ยังไม่ช่วยให้สาวกเข้าใจซึมซับจนเชื่อในเรื่องการเป็นขึ้นจากความตายได้ ยิ่งเรื่องที่ว่า พระเยซูคริสต์จะต้องตายแล้วจะเป็นขึ้นจากความตายยิ่งยากแก่การจินตนาการของเหล่าสาวก

แต่เมื่อเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริงสาวกเกือบตั้งตัวไม่ติด ตั้งแต่ครั้งเมื่อพระเยซูคริสต์อธิษฐานที่เกทเสมนีสาวกกลับหลับใหลไม่ได้สติ เมื่อพระเยซูถูกพวกทหารและผู้นำศาสนายิวจับไปสาวกก็ต้องหลบหนีและหลบซ่อนเอาตัวรอด ถึงแม้เปโตรต้องการที่จะรู้ถึงความเป็นไปของพระเยซูคริสต์ (ในเวลานั้นเปโตรคิดหรือวางแผนอะไรในใจเราไม่ทราบ) แต่เมื่อต้องเผชิญกับความจริงเขากลับตัดสินใจปฏิเสธการเป็นสาวกของพระเยซูคริสต์ถึงสามครั้งก่อนไก่ขัน น่าสังเกตว่าสาวกและเพื่อนสนิทของพระเยซูคริสต์ที่อยู่ในวิกฤติเวลานั้นที่พระคริสต์ถูกตรึงบนกางเขนกลับเหลือแต่พวกสตรี และ สาวกชายเพียงน้อยนิดเท่านั้น

ภายหลังที่พระเยซูคริสต์สิ้นพระชนม์บนกางเขน แล้วพระศพถูกนำไปฝังที่อุโมงค์ของโยเซฟ สมาชิกสภาผู้นำศาสนายิว เป็นชาวอาริมาเธีย เขาไม่เห็นด้วยกับมติของสภาครั้งนี้ และยังเป็นคนที่คอยท่าแผ่นดินของพระเจ้า (ลูกา 23:50-56) ลูกาได้บันทึกเหตุการณ์เช้าวันอาทิตย์ไว้ดังนี้

“ตั้งแต่เช้ามืดของวันอาทิตย์ พวกผู้หญิงก็นำเครื่องหอมที่จัดเตรียมไว้มาถึงอุโมงค์ พวกนางพบว่าก้อนหินกลิ้งออกจากปากอุโมงค์แล้ว และเมื่อเข้าไปหาก็ไม่พบพระศพของพระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้า ขณะกำลังฉงนสนเท่ห์เพราะเหตุการณ์นั้น นี่แน่ะ มีชายสองคนยืนอยู่ใกล้พวกนาง เครื่องนุ่งห่มแพรวพราวจนพร่าตา ผู้หญิงเหล่านั้นก็หวาดกลัวและซบหน้าลงถึงดิน ชายสองคนนั้นจึงพูดกับนางว่า “พวกท่านแสวงหาคนเป็นในพวกคนตายทำไม? พระองค์ไม่ได้อยู่ที่นี่ แต่ทรงเป็นขึ้นมาแล้ว จงระลึกถึงคำที่พระองค์ตรัสกับพวกท่านขณะที่พระองค์ยังอยู่ในแคว้นกาลิลีว่า บุตรมนุษย์จะต้องถูกมอบไว้ในมือของคนบาป และจะต้องถูกตรึงที่กางเขน และวันที่สามจะเป็นขึ้นมาใหม่ พวกนางจึงระลึกถึงพระดำรัสของพระองค์

เมื่อกลับจากอุโมงค์แล้ว พวกนาง1ก็เล่าเหตุการณ์นี้ทั้งหมดแก่สาวกสิบเอ็ดคนและคนอื่นๆ ด้วย...แต่พวกอัครทูตไม่เชื่อ เห็นว่าเป็นคำเหลวไหล แต่เปโตรลุกขึ้นวิ่งไปที่อุโมงค์ เมื่อก้มลงมองดูก็เห็นแต่ผ้าป่านเท่านั้น จึงกลับไปด้วยความประหลาดใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น” (ลูกา 24:1-12 ฉบับมาตรฐาน)

พระเยซูคริสต์ในการรับรู้ ในความคิด ในความรู้สึกของเหล่าสาวกและคนที่ติดตามพระเยซูคริสต์คือ “พระเยซูคริสต์ตายแล้ว” และถูกฝังไว้ในอุโมงค์ สาวกส่วนหนึ่งซ่อนตัวด้วยกันที่ห้องชั้นบน (อาจจะเป็นบ้านบิดาของมาระโก) มีแต่กลุ่มสตรีอีกเช่นเคยที่วางแผนที่จะแสดงความเคารพรักต่อพระเยซูคริสต์ครั้งสุดท้าย ด้วยการนัดหมายที่จะไปชโลมพระศพของพระองค์ที่อุโมงค์รุ่งเช้าวันต้นสัปดาห์ (วันอาทิตย์)

พระเยซูคริสต์ในชีวิต ความคิด และสำนึกของสตรีกลุ่มนี้คือ “พระศพ” ในอุโมงค์ มีแต่พระเยซูคริสต์ที่ตายแล้วในชีวิตของพวกเธอ ดูเหมือนความฝันความหวังทุกอย่างกำลังจบสิ้นลง และพวกเธอก็ตั้งใจปิดฉากความหวังดังกล่าวด้วยการนำเครื่องหอมและน้ำมันหอมไปชโลมพระศพด้วยความผูกพันและเคารพ ระหว่างทางที่มุ่งไปสู่อุโมงค์ฝังพระศพพระเยซูจิตใจของพวกเธอมีแต่ความว้าวุ่นกังวลกับอุปสรรคที่อยู่ข้างหน้าว่า แล้วใครจะกลิ้งเอาหินใหญ่ที่ปิดปากอุโมงค์ออก(มาระโก 16:3) เพื่อพวกเธอจะสามารถเข้าถึงพระศพเพื่อนำเครื่องหอมและน้ำมันหอมไปชโลมได้อย่างไร

แต่เมื่อไปถึงอุโมงค์กลับสร้างความฉงนสนเท่ห์แก่พวกเธออย่างยิ่ง ก้อนหินที่ปิดปากอุโมงค์ถูกกลิ้งออกแล้ว พวกเธอคงมิสนใจถามหาว่าใครเป็นคนกลิ้งออกไป แต่เข้าไปที่อุโมงค์ยิ่งต้องประหลาดใจอย่างยิ่งที่ไม่พบพระศพของพระคริสต์ตามที่คาดหมายตั้งใจ น่าสังเกตว่าพวกเธอไม่ได้ดีใจในเหตุการณ์นี้ แต่เสียใจอย่างมากที่ไม่สามารถทำในสิ่งที่ตั้งใจ พวกเธอเข้าใจว่าต้องมีคนขโมยพระศพไป หรือ อย่างน้อยย้ายพระศพไปที่อื่น! ใครเป็นคนเอาพระศพไป แล้วเขาเอาไปไว้ที่ไหน กลายเป็นประเด็นร้อนในจิตใจของพวกเธอ

พวกเธอต้องถึงกับตะลึงตกใจกลัวอย่างสุดๆ ที่พบทูตสวรรค์ยืนขนาบที่วางพระศพพระเยซู ยิ่งกว่านั้นทูตสวรรค์ถามพวกเธอด้วยคำถามที่กระตุกความรู้สึกนึกคิดของพวกเธอให้ “ระลึกถึง” คำตรัสของพระเยซูคริสต์ที่บอกเขาล่วงหน้าถึงการตายและการเป็นขึ้นจากความตายของพระองค์ ทูตสวรรค์บอกพวกเธอว่า “พวกท่านแสวงหาคนเป็นในหมู่คนตายทำไม? พระองค์ไม่ได้อยู่ที่นี่แต่ทรงเป็นขึ้นมาแล้ว!...จงระลึกถึงคำที่พระองค์ตรัสกับพวกท่าน...ว่า บุตรมนุษย์จะต้องถูกมอบไว้ในมือของพวกคนบาป และจะต้องถูกตรึงที่กางเขน และวันที่สามจะเป็นขึ้นมาใหม่” (ลูกา 24:5-7 ฉบับมาตรฐาน) พวกเธอจึงระลึกได้ถึงสิ่งที่พระเยซูคริสต์เคยตรัสกับพวกสาวกก่อนหน้านี้แล้ว (ข้อ 8)

พระเยซูคริสต์ในความรู้สึกนึกคิดและในชีวิตของพวกเธอมิใช่ “พระศพ” อีกต่อไป แต่เป็นพระคริสต์ที่เป็นขึ้นจากความตายแล้ว เกิดความชื่นชมยินดี เป็นพลังกระตุ้นให้พวกเธอรีบกลับไปบอกสาวกคนอื่นๆว่า พระคริสต์เป็นขึ้นจากความตายแล้ว แต่พวกเธอกลับผิดคาดเพราะ “...พวกอัครทูตไม่เชื่อ เห็นว่าเป็นคำเหลวไหล” (ข้อ 11)

ข่าวดี หรือ พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ทรงเป็นขึ้นจากความตาย การทรงมีชัยเหนือความตาย ที่ใครประสบพบเจอด้วยตนเอง มีประสบการณ์ตรงกับพระคริสต์ ได้รับการสัมผัสสัมพันธ์กับพระองค์โดยตรงย่อมก่อเกิดความเข้าใจใหม่ เกิดความชื่นชมยินดี ชีวิตเต็มไปด้วยความตื่นเต้น เป็นพลังนำข่าวดีนี้ไปบอกไปแจ้งแก่คนอื่นๆ ทั้งนี้เพราะพระคริสต์ในชีวิตของคนเหล่านี้เป็นพระคริสต์ที่เป็นขึ้นจากความตาย และพลังแห่งชัยชนะเหนือความตายเป็นพลังในชีวิตของคนเหล่านี้

แต่ถ้าใครที่ได้รับเพียงการบอกเล่า หรือ ข้อมูลเรื่องพระคริสต์เท่านั้นโดยไม่มีประสบการณ์ตรงและสัมผัสกับพระองค์ที่เป็นขึ้นจากความตาย พระคริสต์ในชีวิตของผู้นั้นก็ยังไม่มีชีวิต เป็นเพียงมีความรู้ มีข้อมูล เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ แต่มิใช่พระคริสต์ที่มีชีวิตในคนนั้น

แปลกแต่จริง ทั้งๆ ที่พระเยซูคริสต์เป็นขึ้นจากความตาย ที่อุโมงค์ฝังพระศพของพระองค์ก็ไม่มีพระศพที่นั่นแล้ว แต่คริสเตียนทุกวันนี้ส่วนหนึ่งยังแสวงหาที่จะแสดงความรักและเคารพพระเยซูคริสต์ด้วยความคิดที่ต้องการ “ชโลมพระศพพระคริสต์” ด้วยเครื่องหอมและน้ำมันหอม อย่างเช่นกลุ่มสตรีสมัยพระเยซูคาดคิดตั้งใจในครั้งแรกก่อนพบความจริง คริสเตียน ผู้นำคริสตจักร และนักศาสนศาสตร์กลุ่มนี้กลับมาถกเถียงกันว่า การประกอบพิธีบัพติสมาแบบไหนถึงจะถูกต้อง ถึงจะเป็นที่พอพระทัยพระเจ้า จะร้องเพลงสรรเสริญด้วยเพลงสั้น หรือ เพลงไทยนมัสการ เพลงชีวิตคริสเตียน จะอธิษฐานในใจหรืออธิษฐานเสียงดังพระเจ้าถึงจะฟัง ถึงจะแสดงว่าคนนั้นร้อนรน จะต้องพูดภาษาแปลกๆ ถึงแสดงว่าเป็นคริสเตียนแท้จริง คาดหวังให้มีคนกลับใจรับบัพติสมาเพิ่มจำนวนสมาชิกคริสตจักรมากขึ้นว่านั่นเป็นเครื่องชี้วัดถึงความเจริญเติบโตเข้มแข็งของชีวิตคริสตจักร หรือจำเป็นจะต้องสนใจถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกด้วยหรือไม่?

อะไรคือเครื่องชี้วัดว่า พระคริสต์ในชีวิตของคนๆ นั้น คริสตจักรนั้นๆ สังคมชุมชนนั้นๆ เป็นพระคริสต์ที่เป็นขึ้นจากความตายแล้ว? และ

อะไรคือสิ่งที่ส่อให้เห็นว่าพระคริสต์ในคนๆ นั้น คริสตจักรนั้นๆ และชุมชนนั้นๆ ยังเป็นพระศพที่พวกเขาพยายามปกป้องเก็บรักษาไว้ เพื่อชโลมพระศพนั้น เป็นการแสดงถึงความเคารพรักต่อพระคริสต์?

พระคริสต์ในชีวิตของพวกเราแต่ละคนเป็นขึ้นจากความตายแล้วหรือยัง? หรือยังเป็น “พระศพ” ที่เราหวงไว้บูชา?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
081-2894499

06 เมษายน 2555

พระกิตติคุณบนกางเขน(2) “...ท่านจะอยู่กับเราในเมืองบรมสุขเกษม”

6 เมษายน 2012

อ่านพระกิตติคุณลูกา 23:32-43

ผู้ร้ายคนหนึ่งที่ถูกตรึงไว้จึงพูดหมิ่นประมาทพระองค์ว่า
“เจ้าเป็นพระคริสต์มิใช่หรือ? จงช่วยตัวเองกับเราทั้งสองให้รอดเถิด”
แต่อีกคนหนึ่งห้ามปรามเขาว่า
“เจ้าไม่เกรงกลัวพระเจ้าหรือ? เพราะเจ้าก็ถูกลงโทษเหมือนกัน เพราะเราทั้งสองก็สมควรกับโทษนั้นจริง เพราะเราได้รับผลสมกับการกระทำ แต่ท่านผู้นี้มิได้ทำผิดอะไรเลย”
แล้วคนนั้นจึงทูลว่า
“พระเยซู ขอพระองค์ทรงระลึกถึงข้าพระองค์เมื่อพระองค์เสด็จเข้าไปในแผ่นดินของพระองค์”
พระเยซูทรงตอบเขาว่า
“วันนี้ท่านจะอยู่กับเราในเมืองบรมสุขเกษม” (ลูกา 23:39-43 ฉบับมาตรฐาน)

พระเยซูคริสต์ถูกตรึงกางเขนที่กะโหลกศีรษะซึ่งเป็นจุดที่มีคนผ่านไปผ่านมาจำนวนมาก พระองค์ถูกตรึงพร้อมกับอาชญากรอีกสองคน ซึ่งปกติแล้วในช่วงเทศกาลปัสกา(ช่วงเวลาที่พวกยิวระลึกถึงการที่พวกเขาได้ปลดแอกจากการกดขี่ของพวกอียิปต์ในสมัยโมเสส)จะมีการประหารชีวิตอาชญากรทางการเมืองที่มักก่อการกบฏต่ออำนาจการปกครองของโรมัน ซึ่งพระเยซูก็ถูกตราเข้าข่ายเป็นอาชญากรทางการเมือง(อย่างน้อยก็ถูกยัดเยียดข้อกล่าวหานี้จากพวกผู้นำศาสนา) ดูได้จากป้ายประจานบนกางเขนว่า “กษัตริย์ของคนยิว” ทั้งนี้เพื่อเป็นการ “เชือดไก่ให้ลิงดู” เป็นการปรามคนที่คิดจะโค่นล้มอำนาจของโรมันในเวลานั้น

พวกผู้นำศาสนายิวในเวลานั้นส่วนหนึ่งมีสายสัมพันธ์เชื่อมต่อกับอำนาจทางโรมัน แม้แต่คายาฟาสก็เป็นคนที่โรมมันเป็นคนเลือกให้เป็นผู้นำด้วย ดังนั้น การกำจัดพวกที่มักก่อความไม่สงบจึงเป็นการป้องกันโรมันยกกองทัพเข้ามาทำลายกรุงเยรูซาเล็ม ตามที่คายาฟาสแนะนำพวกผู้นำยิวว่า ควรให้พระเยซูตายแทนที่ประชาชนจะต้องตายเพราะกองกำลังโรมันยกมาบุกทำลายเยรูซาเล็ม(ยอห์น 18:14)

ที่ภูเขากะโหลกศีรษะ พวกผู้นำศาสนากล่าวเยาะเย้ยถากถางพระเยซู อาชญากรคนหนึ่งที่ถูกตรึงพร้อมพระองค์ก็พูดถากถางพระองค์เช่นกัน แต่อาชญากรอีกคนหนึ่งห้ามปราม และสำนึกว่าการที่เขาทั้งสองถูกลงโทษก็สมควรแล้วกับสิ่งที่เขาได้ทำลงไป ซึ่งพอคาดคะเนได้ว่า เขาอาจจะเป็นอาชญากรที่ก่อการกบฏทางการเมืองด้วย แต่กลับเห็นว่า พระเยซูคริสต์ไม่ได้กระทำความผิดจนถึงขั้นควรแก่โทษประหาร

หลังจากที่กระตุ้นต่อมสำนึกของเพื่อนโจรที่พูดเยาะเย้ยพระเยซูแล้ว เขาหันมาทูลพระเยซูว่า “พระเยซู ขอพระองค์ทรงระลึกถึงข้าพระองค์เมื่อพระองค์เสด็จไปในแผ่นดินของพระองค์”(ข้อ 42) พระเยซูคริสต์ตรัสตอบโจรคนนี้ว่า “วันนี้ท่านจะอยู่กับเราในเมืองบรมสุขเกษม” มีความหมายอีกนัยหนึ่งว่า พระเยซูอยู่ที่ไหน ชายที่ถูกตรึงคนนี้ก็จะอยู่กับพระองค์ที่นั่นด้วย และนี่คือพระสัญญาที่พระเยซูคริสต์ให้กับชายคนนี้

น่าสังเกตว่า เป็นคำสัญญาที่พระเยซูคริสต์ทรงให้ไว้กับสาวกของพระองค์ด้วยเช่นกัน ยอห์น 14:3 ฉบับมาตรฐานกล่าวว่า “เมื่อเราไปจัดเตรียมที่ไว้สำหรับท่านแล้ว เราจะกลับมาอีกและรับท่านไปอยู่กับเรา เพื่อว่าเราอยู่ที่ไหนพวกท่านจะได้อยู่ที่นั่นด้วย”

“ถ้าใครจะปรนนิบัติเรา คนนั้นต้องตามเรามา และเราอยู่ที่ไหน ผู้ปรนนิบัติของเราจะอยู่ที่นั่น ด้วย” (ยอห์น 12:26 ฉบับมาตรฐาน) ในคำอธิษฐานของพระเยซูต่อพระบิดา ยอห์น 17:24 “...ข้าพระองค์ปรารถนาให้คนเหล่านั้นที่พระองค์ประทานแก่ข้าพระองค์ อยู่กับข้าพระองค์ ในที่ที่ข้าพระองค์อยู่นั้น...”

พระคัมภีร์ไทยทั้ง 3 ฉบับใช้คำว่า “เมืองบรมสุขเกษม” เหมือนกัน รากศัพท์ภาษากรีกมาจากคำว่า paradeisos มีความหมายว่า “สวน” ซึ่งพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมที่ใช้ภาษากรีก (LXX) ก็ใช้คำเดียวกันนี้ที่หมายถึง “สวนเอเดน” ศาสนายิวในสมัยพระเยซูคริสต์คำๆ นี้มีความหมายเกี่ยวกับเรื่องสวรรค์ และยังมีความหมายเชื่อมโยงกับอนาคตเมื่อพระเจ้าจะทรงสร้างทุกสิ่งขึ้นใหม่ให้กลับสมบูรณ์พูนครบอย่างเดิมดั่งในสวนเอเดน คำๆ นี้ยังมีความคิดว่า เป็นที่ที่คนชอบธรรมจะอยู่ภายหลังที่ตายจากโลกนี้ไปแล้ว และดูเหมือนว่าคำ paradeisos ที่พระเยซูใช้ในพระคัมภีร์ข้อนี้ก็มีความหมายในทำนองนี้ด้วยเช่นกัน

ประเด็นสำคัญในพระธรรมตอนนี้มิได้อยู่ที่ว่า “เมืองบรมสุขเกษม” นั้นคือเมืองไหน อยู่ที่ใด แต่ที่สำคัญยิ่งคือพระสัญญาของพระเยซูคริสต์ที่ให้กับโจรที่ถูกตรึงคนที่สองนั้นว่า “เขาจะได้อยู่กับพระเยซูคริสต์ในที่ที่พระองค์ทรงอยู่นั่น” สิ่งที่โจรคนที่สองทูลขอต่อพระเยซูคริสต์คือ ขอพระองค์ระลึกถึง(อย่าลืม)เขาเมื่อพระเยซูเข้าในแผ่นดินของพระองค์ ขอตั้งข้อสังเกตว่า เราไม่สามารถหาหลักฐานหรือเรื่องเชื่อมโยงว่า โจรคนนี้เคยฟังคำสอนของพระเยซู หรือเคยติดตามพระคริสต์ในฝูงชน แต่เขาน่าจะรู้ถึงพระเมสิยาห์ที่จะมาปลดปล่อยอิสราเอลออกจากการตกเป็นเมืองขึ้น เราพบว่าเขากล่าวถึงว่า ในแผ่นดิน หรือ ในอาณาจักร หรือ ในการครอบครองของพระเยซูคริสต์

บนกางเขนนั้น เราไม่พบว่าเขาได้สารภาพความผิดบาป ยิ่งกว่านั้นไม่ได้มีการให้บัพติสมาไม่ว่ารูปแบบใด สิ่งที่ปรากฏที่กางเขนนั้น เขาได้ต่อว่าเพื่อนอาชญากรที่ถูกตรึงพร้อมด้วยกันที่เยาะเย้ยพระเยซู และยืนยันว่าเขาทั้งสองต้องโทษประหารก็สมควรแก่การกระทำของเขา แล้วยืนยันว่า การที่พระเยซูคริสต์ถูกตรึงนั้นเป็นเหตุที่ไม่ถูกต้อง ไม่สมควรอย่างยิ่ง เราเห็นและรับรู้ข้อมูลเพียงเท่านี้ และพระธรรมตอนนี้เป็นพระธรรมที่น่างงงวยและอัศจรรย์อย่างยิ่งเท่าที่เคยพบในพระคัมภีร์ ที่พระเยซูคริสต์ให้คำสัญญากับอาชญากรโทษขั้นประหารของโรมันว่าจะได้อยู่กับพระองค์ในที่ที่พระองค์ประทับอยู่

การที่ได้รับชีวิตใหม่ ยิ่งกว่านั้นเป็นชีวิตที่อยู่ในแผ่นดินของพระคริสต์ และชัดเจนถึงขั้นที่ว่าอยู่กับพระคริสต์ในที่ที่พระองค์อยู่นั้นเป็นพระคุณของพระเจ้าที่ประทานแก่ผู้ที่ไว้วางใจในพระองค์ด้วยทั้งชีวิตจิตใจ ที่แสดงออกมาเป็นเพียงคำทูลขอธรรมดาง่ายๆ ว่า “ขอโปรดระลึกถึงข้าพระองค์...” และที่ทูลขอพระคริสต์โปรดระลึกถึงตนนั้น มิใช่เพราะความดี มิใช่เพราะมีความเชื่อที่เป็นแบบอย่าง แต่เพราะรู้ว่าตนไม่มีที่พึ่งอื่นใดอีกแล้ว รู้ว่าตนช่วยตนเองไม่ได้แล้ว ที่จะได้อยู่ในแผ่นดินของพระคริสต์นั้นอยู่ที่พระเมตตากรุณาของพระคริสต์เจ้าเท่านั้น ขอเพียงพระองค์ระลึกถึงก็พอใจแล้ว

ชีวิตใหม่ในพระเยซูคริสต์มิใช่ได้รับเพราะการกระทำดี กระทำถูกต้อง มิใช่เพราะประกอบศาสนพิธีถูกต้อง หรือ ครบถ้วน มิใช่เพราะได้ทำสิ่งนี้หรือกระทำสิ่งนั้น แต่ชีวิตใหม่ในพระคริสต์เกิดขึ้นเป็นจริงได้เพราะพระคุณเมตตาของพระเจ้าเท่านั้น อย่างที่เปาโลกล่าวไว้ในหลายครั้งหลายที่ ที่ท่านมีชีวิตรอดได้มิใช่เพราะความเก่งกาจสามารถ หรือ การกระทำดีในชีวิต แต่เป็นเพราะพระมหากรุณาธิคุณและพระเมตตากรุณาของพระคริสต์ต่างหากที่ทำให้ชีวิตของท่านหลุดรอดออกจากอำนาจของมารร้าย ดังนั้น ในชีวิตของท่านจึงไม่มีสิ่งใดอวดได้เลย ทั้งๆ ที่ท่านทุ่มเทและสุ่มเสี่ยงชีวิตของท่านเพื่อพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ แต่ท่านบอกว่า นี่เป็นเพียงเพราะการสำนึกในพระคุณและพระเมตตาของพระเยซูคริสต์เจ้าเท่านั้น

ความรอด หรือ ชีวิตใหม่ในพระเยซูคริสต์ ไม่ใช่เรื่องคริสต์ศาสนศาสตร์ซับซ้อนซ่อนเงื่อน ที่นักคริสต์ศาสนศาสตร์มักทำให้เรื่องเข้าใจง่ายๆ ธรรมดาให้ซับซ้อนซ่อนเงื่อนยากแก่ความเข้าใจของผู้คนทั่วไป จนดูเหมือนนักศาสนศาสตร์เท่านั้นที่จะเข้าใจได้ และโต้เถียงกันในกลุ่มนักศาสนศาสตร์ไม่รู้จักจบสิ้น แต่ความรอดและชีวิตใหม่ในพระคริสต์เป็นเรื่องชีวิตของผู้คนทุกคนที่ได้รับพระคุณและความเมตตากรุณาจากพระคริสต์เจ้า แล้วสำนึกในพระคุณเมตตาของพระองค์จนสำแดงความสำนึกนั้นออกมาในรูปแบบหลากหลายในชีวิตประจำวันของตน ที่มีความสัมพันธ์กับพระเจ้าด้วยสุดจิตสุดใจ และพร้อมที่จะทำตามพระประสงค์ของพระองค์ด้วยความเชื่อฟัง

ประเด็นสำหรับใคร่ครวญและอภิปรายกลุ่ม

1. ท่านคิดว่าพระสัญญาของพระเจ้ามีความสำคัญต่อชีวิตของท่านหรือไม่? อย่างไร?
2. พระสัญญาใดที่ทำให้ท่านมั่นใจว่า ท่านได้รับชีวิตใหม่ในพระเยซูคริสต์?
3. พระสัญญาและชีวิตใหม่มีความสำคัญในชีวิตทุกวันนี้ของท่านอย่างไร?
4. โจรคนที่สองที่ถูกตรึงพร้อมกับพระคริสต์ได้ทูลขอต่อพระองค์ ขอให้พระองค์ระลึกถึงเขาเมื่อเสด็จเข้าในแผ่นดินของพระองค์ ถ้าท่านถูกตรึงพร้อมกับพระคริสต์ในวันนี้ ท่านจะทูลพระเยซูคริสต์อะไรบ้าง? ทำไมท่านถึงทูลเช่นนั้น?

ใคร่ครวญภาวนา

พระเยซูคริสต์เจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าที่รักของข้าพระองค์ ข้าพระองค์ซาบซึ้งในพระคุณอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ เมื่อข้าพระองค์ร้องทูล พระองค์ฟังข้าพระองค์ด้วยใส่พระทัย เมื่อข้าพระองค์ทูลขอพระองค์โปรดระลึกถึงข้าพระองค์เมื่อพระองค์เข้าในแผ่นดินของพระองค์ พระองค์ทรงสัญญาว่าข้าพระองค์จะได้อยู่กับพระองค์ในเมืองบรมสุขเกษม พระเมตตาคุณของพระองค์นั้นยิ่งใหญ่กว่าสิ่งใดๆ เกินกว่าที่ข้าพระองค์จะนึกคิดได้ พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์นั้นโอบกอดชีวิตของข้าพระองค์ไว้ ทรงเสริมหนุนให้กำลังแก่ชีวิตของข้าพระองค์ และทรงเยียวยารักษาบาดแผลในชีวิตของข้าพระองค์

โอ องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพระองค์ แม้ว่าสถานการณ์ชีวิตในทุกวันนี้ของข้าพระองค์จะแตกต่างจากสถานการณ์ในฐานะอาชญากรทางการเมือง แต่ข้าพระองค์ก็มีชีวิตที่ตกอยู่ในอำนาจครอบงำทั้งด้านความคิด อิทธิพลของกระแสสังคมที่ช่วงชิงเอาเปรียบอย่างเห็นแก่ตัว ยากที่จะไว้วางใจกันได้ ในภาวะที่เสี่ยงและยากที่จะเชื่อพึ่งสิ่งใดหรือคนใด ข้าพระองค์ขอวางใจพระองค์เท่านั้นด้วยสุดจิตสุดใจ ชีวิตที่ข้าพระองค์มีอยู่ในทุกวันขอให้เป็นชีวิตที่อยู่ในพระหัตถ์แห่งพระคุณเมตตาของพระองค์ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นในวันนี้หรือในอนาคต

ข้าพระองค์ขอทูลอธิษฐานต่อพระองค์ว่า ข้าแต่พระเยซูคริสต์เจ้า ขอพระองค์ทรงระลึกถึงข้าพระองค์ เมื่อพระองค์เสด็จเข้าในแผ่นดินของพระองค์ อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
081-2894499