31 สิงหาคม 2555

เปิดแล้วอ่าน!


อ่านพระธรรมโรม 13:13-14

ท่านจงคลุมชีวิตของท่านด้วยพระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้า
และอย่าคิดไปตามใจปรารถนาชั่วของท่านเอง (โรม 3:14 ผู้เขียน)
แต่ท่านทั้งหลายจงประดับกายด้วยพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้า
และอย่าเตรียมอะไรไว้เพื่อสนองตัณหาของเนื้อหนัง  (โรม 13:14 ฉบับมาตรฐาน)

ออกัสติน (ค.ศ. 345-430) เกิดที่เมืองทากาสท์    เกิดในครอบครัวขุนนางโรมันในแอฟริกาเหนือ  ใช้ชีวิตวัยหนุ่มอย่างโชกโชนและเหลวแหลก  เขาปล่อยชีวิตหลงระเริงไปตามใจปรารถนาในเรื่องเพศ  เขามีภรรยาเก็บถึงสองคน(ก่อนที่จะมาเชื่อพระเจ้า)   ออกัสตินเป็นทั้งนักปราชญ์ นักวิชาการ   เป็นผู้ที่ชอบภาษาลาติน  วรรณคดี  และวาทศิลป์   เป็นนักปราชญ์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังและยิ่งใหญ่หนึ่งในสี่ของพระศาสนจักรลาติน (อีก 3 ท่านคือ  นักบุญอัมโบรซีโอ,  นักบุญเยโรม,  และนักบุญเกรกอรี่ ผู้ยิ่งใหญ่)

แม่ของออกัสตินเป็นคริสเตียน พยายามปลูกฝังและแสวงหาทุกหนทางที่จะให้ออกกัสตินเป็นคริสเตียน   แม่ได้ทุ่มเท สัตย์ซื่อ และ อดทนในการอธิษฐานเผื่อออกัสตินอย่างต่อเนื่องยาวนาน   จนกระทั่งช่วงอายุ 30 ปี ผลการอธิษฐานของแม่ปรากฏ  พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจในจิตใจของออกัสติน   เขาสำนึกว่าชีวิตของเขาหลงทาง  ไม่มีพระเจ้า  แต่ชีวิตของเขากลับตกอยู่ในกับดักความปรารถนาตัณหาในตนเอง   ในเวลาที่ชีวิตของเขาจนตรอกหาทางออกไม่ได้   เขาได้ไปในสวนแห่งหนึ่งเพื่อปลีกวิเวกอธิษฐานขอพระเจ้าได้โปรดเมตตายกโทษแก่เขา  และช่วยปลดปล่อยให้ชีวิตของเขาหลุดรอดออกจากกับดักชีวิตที่เขาเป็นอยู่   ทันใดนั้น   เขาได้ยินเสียงเด็กที่อยู่ใกล้แถวนั้นร้องเพลงว่า  “เปิดแล้วอ่าน  เปิดแล้วอ่าน” (take and read  ในภาษาลาติน เขียนว่า tolle, lege

ออกัสตินเชื่อว่า นี่คือข่าวสารจากพระเจ้า  เขากลับไปเอาพระคัมภีร์มาเล่มหนึ่งแล้วสุ่มเปิด   ประโยคแรกที่เขาได้อ่านคือ  “...ให้เราเลิกบรรดากิจการแห่งความมืด  และสวมเครื่องอาวุธแห่งความสว่าง   ให้เราประพฤติตัวเรียบร้อยสมกับเวลากลางวัน  ไม่ใช่เลี้ยงเสพสุราเมามาย  ไม่ใช่หยาบโลนลามก  ไม่ใช่วิวาทริษยากัน   แต่ท่านทั้งหลายจงประดับกายด้วยพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้า   และอย่าจัดเตรียมอะไรไว้เพื่อสนองตัณหาของเนื้อหนัง” (โรม 13:13-14 ฉบับมาตรฐาน)   ในเวลานั้นเอง   ออกัสตินเปิดใจยอมรับพระคุณของพระเจ้าและได้มอบกายถวายชีวิตแด่องค์พระผู้เป็นเจ้า   ออกัสตินได้เขียนไว้ว่า  “เมื่ออ่านจบพระธรรมดังกล่าวได้เกิดเหมือนดวงสว่างขึ้นในจิตใจของข้าพเจ้าทำให้เกิดมั่นใจ ความมืดมนสิ้นหวังและความสงสัยได้สิ้นหายไป  (Augustine, Confessions. 8.12.29)

ไม่มีใครคาดคิดว่า  ออกัสตินได้กลับกลายเป็นนักคริสตศาสนศาสตร์ผู้ทรงอิทธิพลในคริสตจักร   และเป็นผู้ที่มีความสามารถอย่างสูงคนหนึ่งในการตีความพระคัมภีร์   น่าสังเกตว่า  แม้ชีวิตก่อนหน้านี้จะเหลวแหลกและตกอยู่ภายใต้กับดักของตัณหา  และ  อิทธิพลกระแสสังคมในเวลานั้น   แต่เมื่อแสวงหาพระเจ้าแม้จะด้วยการสุ่มเปิดข้อพระคัมภีร์   และด้วยการอ่านจากข้อพระคัมภีร์สุ่มเปิดครั้งแรกนั้นเองที่เสียงแห่งพระวจนะนั้นเปลี่ยนแปลงชีวิตของออกัสตินอย่างสิ้นเชิง   พระวจนะของพระเจ้าก็มีสมรรถนะในชีวิตของเราครั้งแล้วครั้งเล่าเช่นกัน

ส่วนตัวแล้ว ผมไม่เคยใช้วิธีสุ่มเปิดข้อพระคัมภีร์เพื่อหาคำตอบในชีวิต  และวันนี้ผมคงไม่แนะนำคนอื่นให้ทำเช่นนี้ด้วย   แต่ในที่นี้ผมอยากจะให้เราสังเกตถึงพลังอำนาจของพระวจนะพระเจ้าที่ทรงให้ความสว่างแก่จิตวิญญาณของมนุษย์   เมื่อเราเปิดอ่านพระวจนะของพระเจ้าจะด้วยการสุ่มเปิด   หรืออ่านเป็นตอนๆ ต่อเนื่องกัน   สิ่งสำคัญมิใช่วิธีการเปิดพระคัมภีร์    แต่อยู่ที่ท่าทีชีวิตของเราที่อ่านพระวจนะด้วยการเปิดจิตใจที่กระหายใคร่รู้   พระวจนะของพระเจ้าจะตรัสกับเรา  สอนเรา  ปรับปรุงแก้ไขและเปลี่ยนแปลงชีวิตของเรา  เยียวยารักษาบาดแผลภายในชีวิตของเรา  ทรงนำเรา   และทรงเสริมสร้างชีวิตของเราขึ้นใหม่

ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญ

1. ท่านเคยมีประสบการณ์อย่างออกัสตินหรือไม่ เมื่อท่านแสวงหาพระเจ้าด้วยการเปิดพระคัมภีร์แล้วอ่าน?  
2. อะไรที่กระตุ้นหนุนเสริมท่านให้เปิดอ่านพระคัมภีร์?  
3. แล้วท่านได้รับประสบการณ์ชีวิตอย่างไรบ้างเมื่อเปิดอ่านพระคัมภีร์ด้วยความเชื่อศรัทธาและเปิดใจ?

ใคร่ครวญภาวนา

ข้าแต่พระเจ้าผู้เปี่ยมด้วยพระคุณ   ขอบพระคุณพระองค์สำหรับพระคุณของพระองค์ที่มีต่อออกัสติน  ในเวลาที่เขาสิ้นหวังในชีวิต   พระองค์ตรัสกับเขาด้วยพระวจนะของพระองค์   พระองค์ทรงเปลี่ยนแปลงชีวิตและจิตใจของเขา   ขอบพระคุณพระองค์ที่ทรงพบกับเขาตามสภาพชีวิตที่เขาเป็นอยู่ในเวลานั้น  แล้วทรงยื่นพระหัตถ์ของพระองค์เข้าไปในชีวิตของเขาด้วยพระทัยเมตตาอย่างน่าอัศจรรย์ใจ

พระบิดา ถึงแม้ ข้าพระองค์ไม่คิดว่าพระองค์จะให้ข้าพระองค์สุ่มเปิดพระวจนะของพระองค์ในการอ่าน  แต่ที่รู้แน่แก่ใจว่า ข้าพระองค์ต้องเปิดพระคัมภีร์แล้วอ่านพระวจนะของพระองค์   โปรดช่วยให้ข้าพระองค์ที่จะสัตย์ซื่อในการอ่านพระวจนะของพระองค์  ทั้งในการใคร่ครวญประจำวัน  ในการศึกษา  และสัตย์ซื่อที่จะกระทำตามที่พระองค์ทรงเรียกให้กระทำในอาชีพการงานประจำวัน   เมื่อข้าพระองค์อ่านพระคัมภีร์  โปรดช่วยข้าพระองค์ได้เข้าใจพระวจนะของพระองค์  สะท้อนคิดถึงพระประสงค์จากพระวจนะนั้น   และเชื่อฟังที่จะทำตามพระประสงค์ที่ได้รับการทรงเปิดเผยผ่านพระวจนะ   และโปรดให้ข้าพระองค์เติบโตขึ้นในการติดสนิทกับพระองค์

ขอสรรเสริญและสำนึกในพระคุณของพระองค์   ที่ทรงเปิดเผยพระองค์ให้ข้าพระองค์ได้รู้จักพระองค์มากยิ่งขึ้นผ่านพระวจนะของพระองค์  อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

29 สิงหาคม 2555

...ข้าพระองค์หรือเป็นผู้ดูแลน้อง?


ใคร่ครวญถึงความรับผิดชอบในการเอาใจใส่ รับใช้และบริการ

คงไม่มีใครเลือกเอาคาอินเป็นพระเอกในดวงใจของตน   แต่หลายคนได้ตีตราว่าคาอินคือฆาตกรคนแรกของมนุษยชาติ  แต่ก็มีคำถามด้วยเช่นกันว่า  อะไรที่เป็นสาเหตุที่ทำให้พี่ต้องฆ่าน้อง
บางคนบอกว่าเพราะความอิจฉาที่พระเจ้าโปรดปรานน้องมากกว่าตน
บ้างก็บอกว่าที่คาอินทำเช่นนี้เป็นการประชดพระเจ้า  ถ้าไม่มีอาเบลแล้วพระองค์จะรักใคร?
บ้างก็บอกว่าเพราะคาอินต้องการ เด่น ดัง ดี แต่ผู้เดียว  ด้วยการทำลายคู่แข่งขันในชีวิตของตน
ที่คาอินทำลงไปนั้น  มิเคยไตร่ตรองถามตนเองว่า แล้วอาเบลน้องชายจะเป็นเช่นไร
แย่ยิ่งกว่าแย่ไม่เคยคิดสักนิดเลยว่าพระเจ้าผู้สร้างเขาจะคิดและรู้สึกเช่นไร
แต่ในปัจจุบันนี้พฤติกรรมแบบ “คาอิน” ยังมีให้เราเห็นเกร่อมากมายในสังคม ในคริสตจักรไทยของเรา
การทำร้ายทำลายคนที่ขัดผลประโยชน์  ขัดอำนาจ  บดบังบารมี  คนละพรรคคนละพวก
ด้วยวิธีการหลากหลายรูปแบบ   ตั้งแต่เบาที่สุดคือโฆษณาตนเอง  สาดโคลนอีกพวกหนึ่ง
จนกระทั่งทำให้คนอีกฝ่ายหนึ่งต้องล่มแล้วจมหายไปจากเวทีอำนาจ
เพื่อตนจะมีโอกาสขึ้นเถลิงอำนาจอย่างใจปรารถนา
ไม่เคยคิดสักนิดเลยว่า แล้วพี่น้องคริสเตียนที่ตนไล่บดบี้ขยี้นั้นจะเป็นเช่นไร
แล้วก็ไม่นึกถึงว่าแล้วพระเจ้าจะรู้สึกอย่างไร

แต่พระเจ้ายังเมตตาคาอิน พระองค์ถามคำถามคาอินเพื่อให้คาอินได้คิดและไตร่ตรองว่า
“อาเบล น้องชายของเจ้าอยู่ที่ไหน?”
คาอินสวนกลับพระเจ้าอย่างกวนประสาทและท้าทายว่า
“ข้าพระองค์ไม่ทราบ  ข้าพระองค์หรือเป็นผู้ดูแลน้อง?”

สาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้เกิดการทำร้ายทำลายกันเช่นนี้ทั้งในบ้าน ในคริสตจักร และในที่งาน   เพราะคนอย่างคาอินมุ่งมองเน้นความสำคัญของตนเอง   มองทุกอย่าง  ทำทุกอย่างเพราะสนใจแต่ตนเอง   ขอให้ชีวิตของตนเองมุ่งไปข้างหน้าก่อน   ขอให้ครอบครัวของฉันปลอดภัยก่อน  เรื่องของคนอื่นค่อยว่ากันทีหลัง   ข้าพระองค์หรือเป็นผู้ดูแลน้อง   ข้าพระองค์หรือต้องรับผิดชอบ  ต้องเอาใจใส่คนพวกนั้น!
ท่านครับ   ท่านคิดว่าทุกวันนี้พระเจ้าจะตอบคนโอหังพวกนี้ว่าอย่างไร?
คงหนีไม่พ้นว่า พระองค์ทรงตอบว่า “ใช่ซิ  เจ้าจะต้องต้องเอาใจใส่และดูแลน้องของเจ้าคนนั้น”
ในพระคัมภีร์มีคำตอบเรื่องนี้ที่ชัดเจนตลอดพระคัมภีร์ทั้งเล่ม
“ใช่  และมากกว่านั้น  เจ้าจะต้องดูแล เอาใจใส่  และเจ้าอย่าข่มเหงคนต่างด้าว...”
(อพยพ 23:9 TBS1971)
“คนต่างด้าวที่อาศัยอยู่กับเจ้านั้นก็เหมือนกับชาวเมืองของเจ้า   เจ้าจงรักเขาเหมือนกับรักตัวเอง...”
(เลวีนิติ 19:34 TBS1971)

นอกจากนั้น  เสียงของผู้เผยพระวจนะก็ยังดังแสบแก้วหูอยู่ว่า
“...เจ้าอดอาหารเพียงเพื่อวิวาทและต่อสู้ และเพื่อต่อยด้วยหมัดอธรรม
การอดอาหารอย่างเจ้าในวันนี้ จะไม่ทำให้เสียงของเจ้าได้ยินไปถึงที่สูง
เราเลือกการอดอาหารอย่างนี้มิใช่หรือ?
คือการแก้พันธนะอธรรม  การแก้สายรัดของแอก
การปลดปล่อยผู้ถูกบีบบังคับให้เป็นอิสระ  และการหักแอกทั้งหมดเสีย
คือการแบ่งอาหารของเจ้ากับคนหิว  การนำคนยากจนไร้บ้านเข้ามาในบ้านมิใช่หรือ?
และเมื่อเห็นคนเปลือยกายก็คลุมกายเขาไว้  ทั้งไม่ซ่อนตัวเจ้าจากญาติของเจ้ามิใช่หรือ?
และถ้าเจ้าทุ่มเทชีวิตของเจ้าแก่ผู้หิวโหย  และทำให้ผู้ถูกข่มใจได้อิ่มเอิบ
แล้วความสว่างจะโผล่ขึ้นแก่เจ้าในความมืด  และความมืดคลุ้มของเจ้าจะเป็นเหมือนเที่ยงวัน
...”    (อิสยาห์ บทที่ 58 ฉบับมาตรฐาน)

“โอเจ้าทั้งหลายผู้บิดเบือนความยุติธรรม และเหยียบย่ำความชอบธรรม
เพราะว่าพวกเจ้าเหยียบย่ำคนยากจน  และรีดเอาส่วนแบ่งข้าวสาลีไปจากเขา
เจ้าจึงสร้างบ้านด้วยศิลาสกัด  แต่เจ้าจะไม่ได้อยู่ในตึกนั้น
เจ้าทำสวนองุ่นที่ร่มรื่น  แต่เจ้าจะไม่ได้ดื่มเหล้าองุ่นจากสวนนั้น
จงเกลียดความชั่วและจงรักความดี  และจงตั้งความยุติธรรมไว้ในศาล...” (อาโมสบทที่ 5 ฉบับมาตรฐาน)

มนุษย์เอ๋ยพระองค์ทรงสำแดงแก่เจ้าแล้วว่าอะไรดี?   และพระยาเวห์ประสงค์อะไรจากเจ้า?
นอกจากให้ทำความยุติธรรมและให้รักความเมตตา 
และให้ดำเนินชีวิตของเจ้าไปกับพระเจ้าด้วยความถ่อมใจ   (มีคาห์ 6:8)

พระเยซูท้าทายผู้ที่ติดตามพระองค์ว่ามิเพียงแต่รักเพื่อนบ้านเท่านั้น   แต่ให้รักศัตรูคู่อาฆาตด้วย
“จงรักศัตรูของท่าน และจงอธิษฐานเพื่อบรรดาคนที่ข่มเหงท่าน
เพราะพระองค์ทรงให้ดวงอาทิตย์ของพระองค์ขึ้นส่องสว่างแก่คนดีและคนชั่วเสมอกัน  (มัทธิว 5:43-44)
จงรักองค์พระผู้เป็นเจ้าของเจ้าด้วยสุดจิตสุดใจของท่าน  ด้วยสุดกำลังของท่าน ด้วยสุดความคิดของท่าน 
และจงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง  (ลูกา 10:25-37)
และเปาโลกล่าวไว้ว่า  “จงรักกันฉันท์พี่น้อง  จงให้ขวนขวายในการให้เกียรติกันและกัน (โรม 12:10-13)

พระเจ้ามิได้บัญชาให้เรารักพี่น้อง  เพื่อนบ้านเท่านั้น  แต่พระองค์ประสงค์ให้เรารักแม้แต่คนที่เป็นศัตรูของเราด้วย   พระเจ้าทรงเชิญชวนให้เรารักเมตตา  นมัสการพระองค์ด้วยความถ่อมใจด้วยการดูแล เอาใจใส่ รับใช้คนอื่นรอบข้างในชีวิตของเรา   พระวจนะของพระเจ้าท้าทายให้เรากลับใจใหม่  และรับการปลดปล่อยออกจากวงจรอุบาทว์แห่งการแข่งขันและเข่นฆ่าทำลายกัน  แล้วหันหน้าเข้าสู่การดำเนินชีวิตภายใต้การครอบครองของพระเจ้าในแผ่นดินของพระองค์

พระเจ้าทรงมีพระประสงค์ต่อแต่ละคน แต่ละบริบท ในการกระทำที่แตกต่างกัน   แต่ให้เราตระหนักชัดเสมอว่า  พระองค์ประสงค์ให้เรารับผิดชอบ  ดูแล  เอาใจใส่ ด้วยความรักเมตตา  อุทิศตนแด่พระเจ้า  เพื่อที่จะขยายอาณาเขตแห่งความรักเมตตา  อภิบาลเอาใจใส่ชีวิตคนรอบข้างในชีวิตของเรา   ด้วยการสานต่อพระราชกิจของพระคริสต์ในโลกนี้   และร่วมกระทำพระราชกิจในทุกวันที่เรามีชีวิตอยู่

วันนี้พระคริสต์ตรัสถามเราว่า...
น้องชายของท่านอยู่ที่ไหน?
เพื่อนบ้านของท่านอยู่ที่ไหน?
ศัตรูของท่านอยู่ที่ไหน?
ท่านจะรับผิดชอบ  ดูแล  เอาใจใส่ และรับใช้เขาเหล่านี้หรือไม่ในวันนี้?
แล้วท่านจะตอบพระองค์ว่าอย่างไร?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

27 สิงหาคม 2555

ผู้จุดประกายความสัมพันธ์


เมื่อหญิงชาวสะมาเรียคนหนึ่งมาตักน้ำ พระเยซูตรัสกับนางว่า “ขอน้ำให้เราดื่มหน่อยได้ไหม?”...
(ยอห์น 4:7 อมตธรรม)

เมื่อเราอ่านเรื่องราวตลอดพระกิตติคุณทั้งสี่เล่ม  ภาพหนึ่งที่น่าสังเกตมากคือ  พระเยซูคริสต์ทรงเป็นผู้ริเริ่มจุดประกายความสัมพันธ์กับผู้คนที่พระองค์พบเห็น

จากพระธรรมตอนนี้ที่เราอ่าน หญิงสะมาเรียมาเพื่อที่จะตักน้ำที่บ่อน้ำ พระเยซูคริสต์ทรงเป็นผู้จุดประกายเริ่มต้นการสนทนา ทั้งๆ ที่ธรรมเนียมปฏิบัติถ้าไม่จำเป็นแล้วคนยิวจะไม่สนทนากับคนสะมาเรีย แต่ในกรณีนี้ไม่ธรรมดา นอกจากที่เป็นคนสะมาเรียแล้วยังเป็นสตรีอีกด้วย แล้วก็ไม่ใช่การทักทายสนทนาธรรมดาทั่วไป แต่พระเยซูริเริ่มความสัมพันธ์ด้วยการขอดื่มน้ำจากหญิงสะมาเรีย แม้แต่หญิงสะมาเรียเองก็แปลกประหลาดใจในการริเริ่มสนทนาและสร้างสัมพันธภาพของพระเยซูคริสต์ จนกล่าวออกมาว่า “ท่านเป็นยิวส่วนดิฉันเป็นหญิงสะมาเรีย  ท่านมาขอน้ำจากดิฉันได้อย่างไร” (ข้อ 9เหตุการณ์นี้มิใช่เหตุการณ์พิเศษเพียงครั้งเดียว แต่ตลอดชีวิตและการทำพันธกิจของพระเยซูคริสต์เราพบว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นผู้จุดประกายความสัมพันธ์ เช่น

ที่บ่อน้ำเบเธสดา หรือ ที่เราคุ้นหูที่เรียกว่า เบธไซดา ซึ่งอยู่ใกล้กับประตูแกะในกรุงเยรูซาเล็ม สระน้ำแห่งนี้ล้อมรอบด้วยศาลาห้าหลัง ซึ่งเป็นที่อยู่พักของคนเจ็บคนป่วยนานาชนิด ที่หวังจะหายโรคด้วยการเป็นคนแรกที่ลงไปในสระน้ำเมื่อเกิดการกระเพื่อม เมื่อพระเยซูคริสต์มาถึงเบเธสดา พระองค์ตรงเข้าไปหาชายคนหนึ่งที่นอนป่วยมา 38 ปี ด้วยหวังที่จะหายโรค พระเยซูคริสต์ทรงริเริ่มจุดประกายความสัมพันธ์กับคนป่วยคนนี้ด้วยถามว่า “ท่านต้องการจะหายโรคหรือไม่?” (ยอห์น 5:6 อมตธรรม)

ขณะเดินทางไปกับสาวก พระเยซูคริสต์พบฟีลิป พระองค์ทรงริเริ่มจุดประกายความสัมพันธ์ด้วยการทรงเรียกเขา “จงตามเรามา” (1:40)

เมื่อพระองค์เดินทางไปกับสาวก กำลังจะเดินทางผ่านด่านเก็บภาษี พระองค์ทรงเห็นมัทธิวนั่งเก็บภาษีอยู่ที่ด่านนั้น พระองค์ทรงริเริ่มจุดประกายความสัมพันธ์ว่า “จงตามเรามา” มัทธิวก็ลุกขึ้นติดตามพระองค์ไป (มัทธิว 9:9 อมตธรรม)

ขณะที่พระองค์กำลังเดินทางเข้าเมืองเยรีโค มีคนที่เดินติดตามพระองค์ไปอย่างเนืองแน่น ศักเคียส ซึ่งเป็นหัวหน้าคนเก็บภาษีผู้ร่ำรวย เป็นคนเตี้ยและต้องการเพียงที่มองให้เห็นว่าพระเยซูเป็นใคร จึงปีนขึ้นบนต้นไม้ แต่พระเยซูกลับเป็นผู้ริเริ่มจุดประกายความสัมพันธ์กับศักเคียส ด้วยการเสนอตัวที่จะไปบ้านของเขา พระเยซูแหงนพระพักตร์แล้วตรัสกับศักเคียสที่อยู่บนต้นไม้ว่า “ศักเคียสเอ๋ย รีบลงมาเถิด วันนี้เราต้องพักที่บ้านของท่าน” (ลูกา 19:5 อมตธรรม)

จากตัวอย่างเรื่องราวชีวิตและพันธกิจของพระเยซูคริสต์ที่ยกมาข้างต้นเป็นเพียงบางเหตุการณ์ที่เราเห็นชัดเจนว่า พระเยซูคริสต์ทรงเป็นผู้ริเริ่มจุดประกายความสัมพันธ์ ซึ่งถ้าพิจารณาอย่างละเอียดเราก็จะพบว่า กรณีที่ยกมาเป็นตัวอย่างทั้งหมดนี้ถ้าพระเยซูคริสต์ไม่ริเริ่มเป็นผู้จุดประกายความสัมพันธ์ ทุกอย่างก็จะถูกปล่อยให้เลยตามเลย ไม่มีสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นกับคนๆ นั้นและคนรอบข้าง

ถ้าพระเยซูคริสต์ทำตัวเป็นยิวผู้ทะนงในชาติเกิดที่บริสุทธิ์กว่า ไม่ทักทายริเริ่มสัมพันธ์กับหญิงสะมาเรียที่ข้างบ่อน้ำ หญิงนั้นก็จะไม่พบสัจจะความจริง และ รู้เท่าทันตนเอง จนกลับใจ แล้วยังนำข่าวดีไปยังคนทั้งเมืองทำให้คนทั้งหลายได้พบและเชื่อในพระเยซูคริสต์ว่าเป็นพระเมสสิยาห์

ถ้าพระเยซูคริสต์ไม่ริเริ่มจุดประกายความสัมพันธ์ที่เบเธสดา หรือ บ่อน้ำที่เบธไซดา แล้ว ชายคนนั้นก็คงต้องนอนป่วยต่อไป ไม่รู้ว่าจะหายโรคได้ไหมเพราะไม่มีใครมาช่วยยกเขาให้ลงไปที่บ่อน้ำเป็นคนแรกเมื่อน้ำกระเพื่อม การริเริ่มจุดประกายความสัมพันธ์จากพระเยซูคริสต์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนมุมมองใหม่  แล้วเขาทำตาม จึงพบว่าความหวังใหม่นั้นเป็นจริงในชีวิตเขา ชีวิตใหม่ของเขาเริ่มต้น ชีวิตเปลี่ยนแปลง 

ถ้าพระเยซูคริสต์ไม่ริเริ่มจุดประกายความสัมพันธ์ทรงเรียกมัทธิวให้ติดตามเป็นสาวกของพระองค์ก่อน   มัทธิว หรือ อีกชื่อว่าเลวี ก็คงเป็นคนเก็บภาษี แล้วนั่งเก็บภาษีที่ด่านนั้นอีกต่อไป แต่เพราะพระเยซูคริสต์ทรงริเริ่มจุดประกายความสัมพันธ์ ชีวิตของมัทธิวจึงเปลี่ยนจากเก็บภาษีจากผู้คน เป็นชีวิตที่เรียนรู้การให้ชีวิตแก่ผู้คนจากพระเยซูคริสต์ และด้วยพื้นฐานศักยภาพในการเขียนในการบันทึก ท่านจึงได้บันทึกเรื่องราวชีวิตและการทำพันธกิจของพระเยซูคริสต์ให้ผู้คนได้อ่าน ได้เข้าใจ และได้สัมผัสกับพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์

ถ้าพระเยซูคริสต์ไม่ริเริ่มจุดประกายความสัมพันธ์กับศักเคียส และเสนอตัวไปพักที่บ้านของเขา ศักเคียสและครอบครัวก็จะไม่ได้พบชีวิตใหม่ เพราะศักเคียสสุภาพพอที่จะไม่เชิญพระเยซูไปพักที่บ้านของเขาแน่   การเชิญเช่นนั้นในสายตาและความเข้าใจในเวลานั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะรับบีอย่างพระเยซูคริสต์จะถูกแปดเปื้อนความบาปสกปรกที่มาใช้ชีวิต มาพักในบ้าน และร่วมรับประทานอาหารกับ “หัวหน้าคนเก็บภาษี” แต่เพราะพระเยซูคริสต์เสนอตนเองที่จะไปพักที่บ้านของศักเคียส  ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น  สิ่งใหม่ปรากฏ

แต่เราท่านหลายคนคงบอกตนเองในใจว่า เราเป็นคนประเภท “เก็บตัว” (introvert) สิ่งข้างต้นไม่สอดคล้องเหมาะสมกับบุคลิกลักษณะชีวิตของเรากระมัง   ผมก็เป็นคนหนึ่งที่คิดเช่นนั้น

แต่ถ้าพิจารณาบุคลิกลักษณะของพระเยซูคริสต์ ความสำคัญไม่ได้ขึ้นกับว่าพระองค์มีบุคลิกลักษณะแบบไหนในชีวิต แต่พระเยซูคริสต์เริ่มต้นที่พระองค์มีมุมมอง หรือ สายตาที่มองเห็นถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ในผู้คนแต่ละคน และด้วยพระทัยเมตตากรุณา พระองค์ต้องการให้ผู้คนที่พระองค์พบเห็นได้สัมผัสและสัมพันธ์และได้รับการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของตนและคนรอบข้าง ให้พวกเขาได้รับคุณรับประโยชน์ในชีวิตเพื่อแบ่งปันพระคุณและคุณค่าชีวิตใหม่แก่ผู้อื่นต่อไป

ถ้าคนที่เรียกตนเองว่า “คริสเตียน” หรือประกาศตนเป็นคนที่ติดตามพระเยซูคริสต์ แต่กลับเฉยเมยต่อผู้คนรอบข้างที่พบเห็น  ไม่เห็นคุณค่าในความเป็นคนในตัวของคนเหล่านั้น ไม่สนใจที่จะริเริ่มจุดประกายความสัมพันธ์กับคนเหล่านั้นที่ตนพบเห็น นั่นเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความผิดปกติในความเป็น “คริสเตียน” ของคนๆ นั้น

เมื่อมีคนมาถามพระเยซูคริสต์ว่า ธรรมบัญญัติข้อใดใหญ่ที่สุด   พระเยซูตอบเขาว่า  จงรักพระเจ้าด้วยสุดจิตสุดใจ และ สิ้นสุดความคิด   ทันทีพระองค์ตอบต่อไปว่า และรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง (มัทธิว 22:37-39)  พระเยซูคริสต์ทำในสิ่งที่พระองค์สอนให้ผู้คนเห็นเป็นรูปธรรม   มิใช่เป็นเพียงบัญญัติคำสอนประจำใจเท่านั้น  มิใช่เชื่อเท่านั้น

วันนี้ ให้เราใส่ใจต่อเสียงการทรงเรียกภายในชีวิตของเรา เพื่อเราจะรู้ว่า วันนี้พระองค์เปิดโอกาสให้เราริเริ่มจุดประกายความสัมพันธ์กับใครบ้างที่เราจะพบเห็น กับคนที่เราพบในที่ทำงาน เพื่อเป็นการจุดไฟแห่งความ หวังใหม่ในชีวิตของคนเหล่านั้น เพราะการได้สัมผัสกับความรักเมตตาของพระคริสต์  และข่าวดีของพระองค์จะทรงเปลี่ยนแปลงมุมมองใหม่ของเขา นำสู่การสร้างเสริมชีวิตใหม่ และ คุณค่าใหม่ในชีวิต

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

24 สิงหาคม 2555

สร้างอิทธิพลชีวิตแบบไหน?


อ่านพระธรรมมาระโก 2:15-17

ขณะพระเยซูเสวยพระกระยาหารค่ำที่บ้านของเลวี
มีคนเก็บภาษี และ คนบาป หลายคนรับประทานอาหารร่วมกับพระองค์และเหล่าสาวก
เพราะมีคนมากมายติดตามพระองค์มา
(มาระโก 2:15 อมตธรรม)

พระเยซูทรงเรียกคนเก็บภาษีที่ชื่อว่าเลวีลูกของอัลเฟอัส (มาระโก 2:13-14) ซึ่งเป็นคนเดียวกันกับคนที่เราคุ้นชินชื่อว่ามัทธิว  ผู้บันทึกพระกิตติคุณมัทธิว เหตุการณ์ในตอนนี้อาจจะตั้งชื่อได้ว่า “เมื่อคนบาปกลับใจ” (ศึกษาประวัติของมัทธิวได้ในมัทธิวบทที่ 9 อมตธรรม ฉบับอธิบาย) 

เมื่อคนบาปกลับใจ เขากลับใจด้วยความชื่นชมยินดี  เขากลับใจโดยไม่แบ่งแยกกีดกันตนเองออกจากเพื่อนเดิมๆ ของเขา เพื่อทำตนเป็น “ผู้บริสุทธิ์”  แต่เลวีมิได้เป็นเช่นนั้น  เขาจัดงานเลี้ยงที่บ้าน เขาเปิดบ้านให้คนทั้งหลายมาร่วมงานเลี้ยงในบ้านของเขาด้วยความชื่นชมยินดี   และก็ไม่ได้เป็นงานเลี้ยงของ “คนดี” ที่ได้รับความรอด  หรือ เฉพาะพระเยซูและสาวกเท่านั้น   แต่เขาเปิดบ้านเชิญชวนต้อนรับ “คนเก็บภาษี และ คนบาป” ในเวลานั้นให้เข้ามาร่วมในงานเลี้ยงที่เขาจัดขึ้นด้วย   “คนเก็บภาษีและคนบาป” เหล่านี้คือใคร?   คือคนที่ได้เห็น ได้ยินได้ฟัง และได้สัมผัสกับความเป็นตัวตนที่แท้จริงของพระเยซูคริสต์แล้ว “ติดตาม” พระเยซูมา (ดูข้อ 15)  

เมื่อคนบาปกลับใจเขาเปิดโอกาสให้คนบาปคนอื่นๆ ได้สัมผัสกับพลังแห่งความรักเมตตาและความรอดด้วย   ต่างจากคนดีที่คิดว่าตนไม่ต้องกลับใจแต่ต้องพยายามสร้าง “กำแพง” แบ่งแยกตนเองออกจากคนอื่น   เพื่อสร้างบารมีของ “ผู้บริสุทธิ์” เหนือคนอื่นรอบข้าง

ทำไมพวก “คนเก็บภาษีและคนบาป” พวกนี้ถึงติดตามผู้นำศาสนาอย่างพระเยซู?   ซึ่งเรารู้อยู่เต็มอกว่า คนกลุ่มนี้พยายามหนีห่างจากพวกผู้นำศาสนายิวคนอื่นๆ ในเวลานั้น   ถ้าอ่านจากพระธรรมตอนนี้เราสามารถสัมผัสได้ว่า  พวกคนเก็บภาษีและคนบาปกลุ่มนี้มีความรู้สึกสะดวกกายและสบายใจที่จะอยู่ใกล้ชิดกับพระเยซู   มากกว่าพวกธรรมาจารย์และฟาริสีผู้เคร่งครัดและมีใจอคติ   เพราะท่าทีของพวกฟาริสีมุ่งแต่จะสอนและสั่งมากกว่าการช่วยให้พวกเขาได้รับความรอด (พวกฟาริสี “สอนและสั่ง” เพื่อแสดงบารมีและอิทธิพลเหนือคนบาป   แต่เขาไม่มีอำนาจเหนือชีวิตของคนเหล่านี้)

เมื่อคนเก็บภาษีและคนบาปกลุ่มนี้อยู่ใกล้ชิดกับพระเยซูกลับมีความรู้สึกที่แตกต่างและสดชื่นในชีวิต   เขาสัมผัสกับความรักเมตตาของพระคริสต์  พวกเขาสัมผัสกับ “พระคุณ” ของพระองค์   ด้วยพระทัยเมตตา  ด้วยความเข้าอกเข้าใจ  ด้วยการยอมรับเขาแต่ละคนว่าเป็นผู้ที่มีคุณค่าในสายพระเนตรของพระเจ้า   ด้วยการเปิดโอกาสแห่งความสัมพันธ์ที่อบอุ่น   ทำให้คนกลุ่มนี้ติดตามและต้องการอยู่ใกล้ชิดกับพระองค์   แท้จริงแล้วความรู้สึกนี้เริ่มต้นจากการที่พระองค์ต้องการอยู่ใกล้ชิดกับพวกเขาก่อน   และนี่คือแบบอย่างการอภิบาลคนในสังคมชุมชนของพระเยซูคริสต์

นี่คือความต่างของภาวะผู้นำแบบพระเยซู และ ภาวะผู้นำแบบฟาริสี  

ภาวะผู้นำแบบฟาริสีคือการสร้างอิทธิพลในการเป็นผู้นำคนอื่นด้วยการเสริมสร้างความสำคัญของตนเองให้โดดเด่นเหนือคนอื่น   ในเวลานั้นฟาริสีแบ่งแยกกีดกัน “คนเก็บภาษีและคนบาป” ออกจากคนที่ปฏิบัติตามธรรมบัญญัติที่พวกเขาสั่ง   เพราะไม่ต้องการให้ชีวิตของตน หรือ ผู้บริสุทธิ์ต้องแปดเปื้อนจากการทำความผิดบาปของคนบาปกลุ่มดังกล่าว

ตรงกันข้าม  ภาวะผู้นำแบบพระเยซู กลับเป็นผู้นำที่เข้าไปร่วมทุกข์ร่วมสุขกับคนอื่น กับคนเก็บภาษีและคนบาปด้วยสัมพันธภาพแบบพระคุณ   ที่ประสงค์กอบกู้คนเหล่านี้ให้ออกจากอำนาจแห่งความชั่วร้ายที่ครอบงำชีวิตของคนกลุ่มนี้  ซึ่งธรรมบัญญัติและประเพณีปฏิบัติของพวกฟาริสีทำไม่ได้ช่วยไม่ได้

เราจึงสามารถเห็นภาพที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงของภาวะผู้นำแบบพระเยซูกับภาวะผู้นำแบบฟาริสี   เป็นความแตกต่างของภาวะผู้นำที่มีใจเมตตาต้องการกอบกู้ชีวิตของผู้คนที่ตนสัมผัสด้วย   กับภาวะผู้นำที่ป้องกันตนเองจากความผิดบาปด้วยการกีดกันแบ่งพวกคนบริสุทธิ์ออกจากคนบาป  แล้วเพียรปฏิบัติตามกฎบัญญัติ   แต่ก็พบว่า ตนเองและผู้คนก็ปกป้องใจตนเองจากอำนาจแห่งความบาปชั่วไม่ได้

ที่พวกฟาริสีต่อว่าพระเยซูคริสต์และสาวกที่ไปคลุกคลีกับพวกคนเก็บภาษีและคนบาป  ใจหนึ่งเป็นการเตือนหรือการปรามด้วยใจห่วงใยจากประสบการณ์ของตน   เพราะกลัวว่า พระเยซูและสาวกจะถูกแปดเปื้อนด้วยการกระทำบาปอย่างพวกคนเก็บภาษีและคนบาป   นี่เป็นการปรามด้วยความห่วงใย   ซึ่งเราต้องยอมรับว่า มีความจริงและความเป็นไปได้ในคำเตือนและการปรามของพวกฟาริสีด้วย   ซึ่งในปัจจุบันเราก็สามารถเห็นได้ไม่ยากนัก   ที่คริสเตียน หรือ ผู้นำคริสเตียนเข้าใช้ชีวิตคลุกคลีกับคนในสังคม   แล้วถูกครอบงำให้ไปทำอย่างคนในสังคมในสิ่งที่ไม่พึงประสงค์   เพียงเพื่อจะสร้างความเป็นผู้นำของตนเหนือคนอื่นๆ

แต่จุดยืนของพระเยซูคริสต์ชัดเจนในประเด็นนี้คือ “คนสุขภาพดีไม่ต้องการหมอ  แต่คนป่วยต้องการ...”(ข้อ 17)  ในที่นี้มีความหมายตรงว่า  คนเก็บภาษีและคนบาปเหล่านี้เขารู้ตัวว่า ตนเป็นคนบาป ตนมีชีวิตที่ “ไม่แข็งแรง”  ไม่มีสุขภาพที่ดี   พวกเขาต้องการหมอที่จะช่วยรักษาให้เขามีสุขภาพที่แข็งแรง ขึ้น  ดังนั้น  พระเยซูคริสต์จะทอดทิ้ง “คนป่วย” ที่ต้องการมีสุขภาพที่แข็งแรง  ต้องการมีพลังชีวิต  และต้องการหลุดรอดออกจากการครอบงำของอำนาจบาปได้อย่างไร?   ในประเด็นนี้พระเยซูคริสต์กำลังชี้ให้พวกธรรมาจารย์และฟาริสีเห็นว่า  คนบาปเหล่านี้เป็นคน และเป็นคนที่มีคุณค่าในสายพระเนตรของพระเจ้า   ดังนั้น  พระองค์จึงคลุกคลีใช้ชีวิตกับพวกเขา   เพื่อที่จะช่วยปลอดปล่อยเขาให้หลุดรอดออกจากอำนาจการครอบงำของความบาปชั่ว

ในอีกความหมายหนึ่ง   พระเยซูคริสต์ได้ตอบธรรมาจารย์และฟาริสีด้วยสัจจะความจริงอีกระดับหนึ่งว่า   การที่จะต้องใช้ชีวิตคลุกคลีกับคนที่ถูกอำนาจบาปชั่วครอบงำอยู่นั้น  คนที่จะอยู่ด้วยจะต้องเป็นคนที่มี “สุขภาพชีวิตที่แข็งแรง”   มิเช่นนั้นจะไม่สามารถรับมือต่อสู้กับอำนาจความบาปชั่วที่ครอบงำคนเก็บภาษีและคนบาปกลุ่มนี้   ภาวะผู้นำด้านจิตวิญญาณมิใช่เพียงการบังคับกะเกณฑ์ให้ผู้คนทำตามบัญญัติ   เพราะถ้าชีวิตที่ถูกครอบงำจากอำนาจของความบาปชั่วย่อมไม่มีพลังที่จะปฏิบัติตามกฎบัญญัติที่พวกฟาริสีบังคับสั่งการได้  

ผู้นำทางจิตวิญญาณที่แท้จริงคือผู้ที่สามารถคลุกคลีใช้ชีวิตใกล้ชิดกับคนที่ถูกครอบงำด้วยอำนาจของความบาปชั่ว  โดยความรักเมตตา  ด้วยการเปิดใจยอมรับเขาว่าเป็นลูกคนหนึ่งของพระเจ้า  แล้วช่วยปลดปล่อยเขาให้หลุดรอดออกจากจากอำนาจร้ายนั้น  นำเขามาเป็นคนของพระคริสต์

ภาวะผู้นำแบบพระเยซูคริสต์   เป็นภาวะผู้นำที่รักเมตตา  เปิดโอกาส  และยอมรับทุกคนว่ามีคุณค่าสายพระเนตรของพระเจ้า   แล้วทรงมีพลังอำนาจที่จะปลดปล่อยคนนั้นให้เป็นไทจากอำนาจของความบาปชั่ว   แล้วช่วยคนนั้นให้มาอยู่ภายใต้การปกครองของพระเจ้าในแผ่นดินของพระองค์

ต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับภาวะผู้นำแบบธรรมาจารย์และฟาริสี   ที่พยายามสร้างตนเองให้มีอิทธิพลเหนือชีวิตของผู้คนทั้งหลาย   ด้วยการแสดงตนว่าเป็นคนบริสุทธิ์และชอบธรรม   ด้วยการไม่คลุกคลีและสัมพันธ์กับคนบาป   เขาพยายามสร้างอิทธิพลเหนือชีวิตของผู้คนเหล่านั้น   แต่เขาไม่มีพลังอำนาจที่จะปกป้องตนเองจากอำนาจความบาปชั่วที่ครอบงำในชีวิตผู้คน   และไม่สามารถที่จะช่วยให้ผู้คนหลุดรอดและเป็นไทจากอำนาจความบาปชั่วเหล่านั้นได้   จึงไม่แปลกที่เขาเลือกปกป้องและแบ่งแยกตนเองจากคนบาป เพื่อเสริมสร้างความบริสุทธิ์ของตน

วันนี้พระคริสต์ทรงเรียกและมีพระบัญชาให้เราแต่ละคนรับการทรงเสริมสร้างจากพระองค์ให้มี “สุขภาพชีวิต” ที่แข็งแรง  เพื่อเราจะใช้ชีวิตคลุกคลีกับ “คนบาปในสังคม” ยุคปัจจุบันได้   ด้วยความรักเมตตา  ด้วยน้ำใจที่เปิดกว้างยอมรับ  และเปิดโอกาสแก่ผู้คนที่เราพบเห็น   เพื่อจะอภิบาลชีวิตของพวกเขาตามที่พระคริสต์เป็นต้นแบบ   แล้วทุ่มเทชีวิตของเราที่จะชี้นำเขาให้ได้รับการปลดปล่อยออกจากอำนาจแห่งความบาปชั่วด้วยพลังฤทธานุภาพของพระคริสต์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

22 สิงหาคม 2555

ทำไมพระเจ้าไม่เห็นช่วยฉันสักที?


เรียนรู้ที่จะพึ่งพิงในพระเจ้าแทนการบ่นครวญคราง

“องค์พระผู้เป็นเจ้า   ทำไมพระองค์ไม่ช่วยผมสักที?”

บ่อยครั้งที่เราบ่นครวญครางประโยคข้างต้นทั้งๆ ที่พระเจ้าทรงกระทำกิจของพระองค์ในชีวิตของเราอย่างมหัศจรรย์แต่เรากลับมิได้รับรู้การกระทำพระราชกิจของพระองค์   มัววนเวียน ว้าวุ่นอยู่ในความคิดความรู้สึกว่า  ทำไมพระเจ้าไม่ช่วยเราสักที   โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าต้องตกอยู่ในสถานการณ์ปัญหาที่ต้องปล้ำสู้/ต่อสู้กับมันอย่างยาวนาน   ไม่ว่าชีวิตขัดแย้งเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว   การทำงาน โครงการใหญ่ๆ  ปัญหาและวิกฤติในที่ทำงาน  ความขัดแย้งสับสนในองค์กรที่เรารับผิดชอบ

ท่านเคยมีความรู้สึกว่า พระเจ้าทรงหดพระหัตถ์ของพระองค์   ทั้งๆ ที่รู้ว่าพระเจ้าสถิตอยู่ด้วย   แต่เกิดความรู้สึกว่าพระเจ้ายังไม่ช่วยเราเลย   บางครั้งผมก็คิดว่า  ผมน่าจะทำในสิ่งดีๆ ที่ถูกต้อง  เพื่อพระองค์จะทรงยื่นพระหัตถ์ของพระองค์ออกมาช่วยผม แต่ในที่สุดผมก็ถึงทางตันว่า แล้วที่ว่าสิ่งดีๆ ที่ถูกต้องที่ผมควรทำมันคืออะไรกันแน่?    หรือไม่ก็คงคิดถึงคำกล่าวที่รู้จักกันทั่วไปว่า  พระเจ้าทรงช่วยคนที่ช่วยตนเองก่อน   แต่ความจริงที่ผมกำลังเผชิญอยู่ในขณะนั้นคือ  สิ่งต่างๆ ที่ผมทูลขอพระเจ้าให้ช่วยผม  เป็นสิ่งที่ผมไม่สามารถที่จะจัดการกับมันได้   แล้วผมจะช่วยตนเองก่อนอย่างไรได้?

เมื่อทบทวนถึงประสบการณ์ที่ผ่านมา   ผมต้องยอมรับว่า แท้จริงแล้วพระหัตถ์ของพระเจ้านั้น ยื่นออก และเป็นพระหัตถ์ที่พร้อมจะชูช่วย  ทั้งในสถานการณ์ที่ผมรู้สึกว่าพระองค์ยังไม่ได้ช่วยผม   ผมเรียนรู้ว่า ที่ผมรู้สึกว่าพระเจ้าไม่ช่วยผมสักทีนั้น   มิใช่เพราะพระเจ้าทรงหดพระหัตถ์ของพระองค์จากผม   แต่ผมไม่ยอมเปิดใจรับการชูช่วยจากพระหัตถ์ของพระองค์ต่างหาก   ผมทำตัวอย่างวัยรุ่นใจร้อนที่ปฏิเสธการช่วยเหลือของพ่อแม่หรือผู้ใหญ่   เพราะวิธีการที่จะช่วยของผู้ใหญ่ไม่ใช่สิ่งที่ตนต้องการ   ยิ่งกว่านั้นวัยรุ่นมักมองว่า พ่อแม่/ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจปัญหาที่ตนเผชิญหน้าอยู่ได้ดีเท่าที่ตนรู้

จากการสะท้อนคิดถึงประสบการณ์ที่ผ่านมา   ผมได้เรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิตในหลายครั้งว่า  การทรงชูช่วยของพระเจ้าไหลล้นมาอย่างมากมาย  นั่นเป็นเพราะในสถานการณ์นั้นผมเปิดใจรับการทรงช่วยจากพระเจ้าตามวิธีการทรงช่วยของพระองค์อย่างไร้เงื่อนไข   ซึ่งพอประมวลได้ดังนี้

1.  คาดหวังพระเจ้าทรงช่วยตามแนวทางของพระองค์

ถึงแม้ว่า เราจะขอให้พระเจ้าช่วยในปัญหาต่างๆ ที่เรากำลังเผชิญอยู่   นั่นหมายความว่าพระเจ้าจะทรงตัดสินพระทัยช่วยตามแนวทางที่พระองค์เห็นว่าดีที่สุดสำหรับเรา   แต่บ่อยครั้งเราปิดใจและไม่ยอมรับการทรงช่วยตามแนวทางของพระองค์   แต่ต้องการให้พระเจ้าช่วยตามความคาดหวังของเรา

ตัวอย่างที่เห็นชัดเช่นชีวิตแต่งงาน  เมื่อสามี-ภรรยาคริสเตียนแต่งงานกันแล้วเกิดความขัดแย้ง  ความสัมพันธ์ฉีกขาด สร้างความเจ็บปวดในชีวิตคู่   เราก็จะหันหน้ากลับมาหาพระเจ้า  ทูลขอการทรงช่วยจากพระเจ้าในเรื่องนี้   พระเจ้าทรงใช้วิกฤติปัญหาความขัดแย้ง และ ความสัมพันธ์ที่ฉีกขาดในการเสริมสร้างและช่วยให้ทั้งสามีและภรรยามีชีวิตคริสเตียนที่มีวุฒิภาวะมากขึ้น  เติบโต และเข้มแข็งขึ้น   แต่เรารับไม่ได้กับการทรงช่วยของพระเจ้าเช่นนั้น   เพราะเมื่อเราอธิษฐานทูลขอการทรงช่วยจากพระเจ้าเราคาดหวังว่า   พระเจ้าจะช่วยให้เราไม่มีความขัดแย้งต่อไป   พระองค์จะเอาความเจ็บปวดจากความสัมพันธ์ที่ฉีกขาดออกไปจากชีวิตคู่ของเรา  เราคาดหวังว่าพระเจ้าจะช่วยให้สามี-ภรรยามีชีวิตที่สุขสำราญด้วยกัน (ทันที!)   ที่เรารู้สึกและคร่ำครวญว่าทำไมพระเจ้าไม่ช่วยเราสักทีนั้นคือ   พระเจ้าไม่ช่วยเราอย่างที่เราคาดหวังให้พระเจ้าช่วย!

หรือไม่เรามักอธิษฐานขอให้พระเจ้าช่วย เช่น  ภรรยาก็จะอธิษฐานว่าพระเจ้าว่า  “พระองค์เจ้าข้า  ขอพระองค์ทรงเปลี่ยนสามีของข้าพระองค์”  แทนการทรงช่วยของพระเจ้าในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของตนเอง  ภรรยาหลายคนทูลขอพระเจ้า “พระเจ้าข้า  ขอทรงช่วยให้สามีข้าพระองค์ให้หลุดรอดออกจากอำนาจของความบาปชั่วร้าย”   แต่พระเจ้ากลับประทานความช่วยเหลือโดย “เราจะให้ของประทานแห่งจิตใจที่เมตตา เพื่อเจ้าจะสามารถให้อภัยแก่สามี”   ถ้าเราต้องการเห็นพระหัตถ์แห่งการทรงชูช่วยของพระเจ้าในชีวิตของเรา   เราต้องเลิกที่จะคาดหวัง (หรือบังคับขู่เข็ญพระเจ้าผ่านคำทูลอธิษฐานที่ไพเราะ) ให้พระเจ้าทำตามความคาดหวังในใจของเรา   เมื่อนั้น  เราจะเริ่มเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่พระเจ้าทรงกระทำในชีวิตของเรา

ทำให้คิดถึงพระวจนะของพระเจ้าในอิสยาห์ 55: 8-9  ที่เตือนจิตสำนึกของเราว่า ความคิดของพระเจ้านั้นแตกต่างจากความคิดของมนุษย์  และแนวทางของพระองค์ก็ไม่เหมือนแนวทางของเรา   ทางของพระเจ้าก็สูงกว่าทางของเรา  และความคิดของพระองค์ก็สูงกว่าความคิดของเรา   นั่นหมายความว่า  เราต้องเปลี่ยนมุมมอง หรือ ทัศนคติ เกี่ยวกับการทูลขอความช่วยเหลือจากพระเจ้า   เราจะไม่ขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าพร้อมกับกำกับว่า พระเจ้าควรช่วยข้าพระองค์ในเรื่องอะไรและอย่างไร   แต่เราต้องเปลี่ยนมุมมองของเราในการทูลขอการทรงช่วยจากพระเจ้า  ขอพระองค์ทรงช่วยตามพระประสงค์และแผนการของพระองค์ และข้าพระองค์เปิดใจพร้อมกระทำตามการทรงช่วยของพระองค์!

ให้เราแสวงหาการทรงช่วยจากพระเจ้าด้วยจิตใจที่ถ่อม  และรับรู้เสมอว่า พระเจ้าทรงรู้สถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตของเราได้ดีที่สุด   ดังนั้น  เราจึงเปิดใจรับการทรงช่วยจากพระเจ้าด้วยจิตสำนึกในพระคุณ   และพร้อมที่จะเชื่อฟังตามการทรงช่วยของพระองค์

2.   รอคอยการทรงช่วยของพระเจ้า

นอกจากการทรงช่วยของพระเจ้านั้น  พระองค์ทรงช่วยเราอย่างเหมาะสมแล้ว พระองค์ยัง “ทรงช่วยเราเมื่อถึงคราวจำเป็น” หรือ ในฉบับมาตรฐานใช้สำนวนว่า “ที่ช่วยเราในยามที่ต้องการ” (ฮีบรู 4:16)  หรือในเวลาที่เหมาะสม   ในที่นี้เราต้องตระหนักว่า พระองค์อยู่เคียงข้างเราตลอดเวลา และพระองค์จะทรงช่วยเราในเวลาที่เหมาะสม  หรือ  พระองค์จะทรงช่วยตามเวลาของพระองค์ที่ทรงเห็นว่าเหมาะสม   “เวลาของพระเจ้าต่างจากเวลาของเรา”

การรอคอยพระเจ้า เป็นวินัยชีวิตคริสเตียนประการหนึ่ง   ปัจจุบันเราอยู่ท่ามกลางสังคมที่ “อยู่อย่างรีบเร่งเลยตายอย่างรวดเร็ว”  เรารับไม่ได้กับการทูลขอแล้วพระเจ้าไม่ตอบสนองทันที  เราก็มักจะตีความว่า พระเจ้าไม่ประสงค์จะช่วยเราในเรื่องนี้   ดังนั้นจึงด่วนแสวงหาความช่วยเหลือจากทางอื่น   และบ่อยครั้งเราจึงต้องเผชิญกับ “การตายอย่างรวดเร็ว”

เมื่อคุยถึงเรื่อง การรอคอยการช่วยเหลือจากพระเจ้า   เพื่อนของผมคนหนึ่งถามผมว่า   แล้วคุณคิดอย่างไรกับ สดุดี 46:1 ที่ว่า “พระเจ้าทรงเป็นที่ลี้ภัยและเป็นกำลังของเรา  เป็นความช่วยเหลือที่พร้อมอยู่ ในยามยากลำบาก”  เมื่อพระเจ้าเป็นความช่วยเหลือที่พร้อมอยู่  ทำไมเรายังจะต้องรอคอย   จากการพูดคุยและขุดค้นหาความหมายในเรื่องนี้เรามีข้อสรุปเบื้องต้นร่วมกันว่า   การทรงช่วยของพระเจ้ามิได้มีเพียงการทรงช่วยที่เป็นเฉพาะกิจเท่านั้น   การทรงช่วยของพระเจ้ามิใช่เพื่อให้เราผ่านพ้นสถานการณ์วิกฤติเท่านั้น   แต่การทรงช่วยของพระเจ้าทรงมุ่งที่จะเสริมสร้างคนที่เชื่อวางใจ และ พึ่งพิงในพระองค์ให้เจริญ เติบโต และแข็งแรงขึ้น   นั่นหมายความว่า การทรงช่วยจากพระเจ้าเป็นกระบวนการ   นั่นหมายความว่า  ต้องใช้เวลาและความอดทน  ต้องรอคอย  จนกว่าจะได้รับการทรงเสริมสร้างให้สำเร็จในชีวิตของเรา   อิสยาห์ 40:31 ได้ให้ภาพความจริงในประเด็นนี้ไว้ว่า

“...เขาทั้งหลายผู้รอคอยพระยาเวห์ จะได้รับกำลังใหม่
เขาจะ บินขึ้นด้วยปีก เหมือนนกอินทรี
เขาจะ วิ่งและไม่อ่อนเปลี้ย
เขาจะ เดินและไม่เหน็ดเหนื่อย   (ฉบับมาตรฐาน)

ในพระคริสต์ธรรม มีนักศึกษาที่เป็นชนเผ่าบางท่านที่เรียนภาษาอังกฤษไม่ทันเพื่อน   เนื่องจากมิได้รับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษที่พอเพียงในระดับประถมและมัธยม   เพื่อจะช่วยให้นักศึกษากลุ่มนี้สามารถเรียนรู้และใช้ภาษาอังกฤษได้  และสามารถสอบได้ตามเกณฑ์  จึงมีเพื่อนนักศึกษาที่มีความรู้และทักษะในเรื่องภาษาอังกฤษมาช่วยนักศึกษาชนเผ่า   เพื่อนนักศึกษาที่มาช่วยไม่ได้ถ่ายทอดความรู้และทักษะการใช้ภาษาอังกฤษที่มีในตัวเขาทั้งหมดเข้าไปในสมองของนักศึกษาชนเผ่ากลุ่มนี้ทีเดียวทั้งหมด   แต่เขาค่อยๆ ถ่ายทอดเป็นขั้นเป็นตอน  ทั้งด้านความรู้   อีกทั้งให้การฝึกหัดจนเกิดทักษะในการใช้ในแต่ละเรื่องอีกด้วย   ต้องใช้เวลาครับ  มันเป็นการช่วยเหลือที่เป็นกระบวนการ   มิใช่ครั้งเดียวจบครับ

เช่นเดียวกันครับ   พระเจ้าทรงช่วยอย่างเหมาะสมในยามวิกฤติ   ต่อจากนั้นพระองค์ทรงเสริมสร้างชีวิตของคนๆ นั้นด้วยพระทัยเมตตา และ ตามพระประสงค์ของพระองค์เพื่อชีวิตของคนนั้น   การทรงช่วยเหลืออย่างเป็นกระบวนการของพระเจ้ายังทำให้สัมพันธภาพระหว่างพระเจ้ากับคนที่พระองค์ทรงช่วยพัฒนาลึกซึ้งขึ้น   พระเจ้ามิเพียงแต่ต้องการช่วยเราอย่างดีเท่านั้น  พระองค์ต้องการสนิทใกล้ชิด  และประทานกำลังชีวิตแก่เราเพื่อเราจะเติบโตขึ้นตามพระประสงค์ของพระองค์ด้วย

3.   อุทิศตนทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า

ในสวนเก็ธเสมนี พระเยซูคริสต์อธิษฐานต่อพระบิดาว่า “...อย่าให้เป็นไปตามใจข้าพระองค์  แต่ให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์” (ลูกา 22:42 ฉบับมาตรฐาน)   หลังจากนั้นพระองค์ได้รับการทรงชูช่วย “มีทูตองค์หนึ่งจากฟ้าสวรรค์...ช่วยชูกำลังพระองค์” (ข้อ 43)

บ่อยครั้งที่ชีวิตของเราตกอยู่ท่ามกลางขวากหนามและความยากลำบากที่แสนสาหัส   เรามักเรียกร้อง หรือ ร้องเรียกให้พระเจ้านำเราออกจากสถานการณ์ความยากลำบากเหล่านั้น   แต่ก็พบว่า พระเจ้าไม่ช่วยอย่างที่เราทูลขอสักที   ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?   ผมเรียนรู้ว่า  เพราะการทูลขอของเราขัดแย้งกับพระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตของเรา  และพระประสงค์ของพระเจ้าในสถานการณ์นั้น

ผมมีประสบการณ์ตรงว่า  เมื่อตกอยู่ท่ามกลางวิกฤติชีวิตแล้วทูลขอต่อพระองค์ว่า  “ขอพระองค์ทรงช่วยข้าพระองค์ใช้ชีวิตและวิกฤตินี้ตามพระประสงค์ของพระองค์   เพื่อพระประสงค์จะสำเร็จในชีวิตของข้าพระองค์”  ผมได้รับพระกำลังจากพระองค์  ได้รับความสงบเล้าโลม  ได้รับพระคุณ   แต่ก็บ่อยครั้งอีกเช่นกันที่ผมตกในวิกฤติชีวิตมักหาทางที่จะหลีกลี้หนีออกจากสถานการณ์วิกฤตินั้น   แทนที่จะยืนหยัดชีวิตตามพระประสงค์ของพระเจ้า

ในการยืนมั่นคงบนพระประสงค์ของพระเจ้านั้น   เรามิได้ยืนมั่นด้วยพละกำลังของเราเอง   แต่ที่เรายืนมั่นอยู่ได้เพราะในความแปรปรวนสับสนนั้น  พระเจ้าทรงยืนเคียงข้างและลุยไปในความยากลำบากเหล่านั้นกับเรา
“...เมื่อเจ้าลุยข้ามน้ำ  เราจะอยู่กับเจ้า   และเมื่อข้ามแม่น้ำ  มันจะไม่ท่วมเจ้า
เมื่อเจ้าเดินผ่านไฟ  เจ้าจะไม่ถูกไหม้   และเปลวเพลิงจะไม่เผาเจ้า”  (อิสยาห์ 43:2 ฉบับมาตรฐาน)

การอุทิศตนเพื่อพระประสงค์ของพระเจ้าในยามยากลำบากช่วยให้เราได้เห็นและเรียนรู้ถึงพระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตของเรา   และเรียนรู้ว่าแผนการชีวิตที่พระเจ้าทรงมีในชีวิตของเรานั้นกว้างไกลและลุ่มลึกกว่าความคิดและความเข้าใจของเรา   ประสบการณ์สอนผมว่า  พระเจ้าทรงช่วยคนที่อุทิศถวายชีวิตแด่พระประสงค์ของพระเจ้า   มิใช่พระเจ้าช่วยคนที่ช่วยตนเองก่อน อย่างที่เขาว่ากัน หรืออย่างที่คริสเตียนหลายคนเข้าใจผิด

4. รู้จักพระเจ้าผู้ทรงช่วยเหลือ

ประสบการณ์ทำให้ผมได้เรียนรู้ว่า  คำถามที่ว่า “ทำไมพระเจ้าไม่เห็นช่วยผมสักที?”  เป็นการถามที่ผิดพลาด   ผมควรจะถามว่า “ทำไมฉันถึงไม่ยอมเปิดใจยอมรับการทรงช่วยจากพระเจ้า  ตามแนวทางของพระองค์?... ขอพระเจ้าช่วยผมด้วยในเรื่องนี้”   ผมคงต้องย้อนถามตนเองว่า  ผมต้องการให้พระเจ้าช่วยอย่างที่ผมต้องการหรือยอมรับการทรงช่วยตามพระประสงค์และแผนการของพระองค์?   ผมเองเต็มใจที่จะรอคอยการทรงช่วยของพระเจ้าตามเวลาของพระองค์หรือไม่?   และที่สำคัญยิ่งคือ  ผมเองเต็มใจยอมอุทิศถวายตัวให้ชีวิตเป็นไปตามพระประสงค์ของพระเจ้าหรือไม่?

พระเจ้าทรงอยู่เคียงข้างเราในทุกสถานการณ์ชีวิต   พระองค์พร้อมที่จะทรงช่วยเราตามแผนการอันดีเลิศของพระองค์สำหรับชีวิตของเรา   พระองค์ทรงเสริมกำลังของเราผ่านองค์พระวิญญาณบริสุทธิ์ให้เป็น “องค์ผู้ช่วย” ในชีวิตของเรา (ยอห์น 15:26 ฉบับมาตรฐาน)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

21 สิงหาคม 2555

ทำไมสวรรค์ไม่ใช่บ้านของเรา?


ถึงแม้พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ได้กล่าวอ้างถึงแผ่นดินของพระเจ้า   แต่คริสตชนไทยส่วนใหญ่ปัจจุบันก็ยังไม่เห็นชัดว่ากิจการงาน อาชีพที่ตนทำอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันเกี่ยวข้องอย่างไรกับแผ่นดินของพระเจ้า

ในหนังสือชื่อ Heaven Is Not My Home (ขอแปลว่า “สวรรค์ไม่ใช่บ้านของฉัน”)  เขียนโดย Paul Marshall ได้กล่าวถึงว่าคริสตชนปัจจุบันถูกหล่อหลอมมุมมองเรื่อง อวสานกาล หรือ วาระสุดท้ายแห่งโลกนี้ ที่หลีกลี้หนีออกจากความเป็นจริง   ซึ่งมักสอนกันว่า  บ้านชั่วนิรันดร์ของเรามีเป้าหมายปลายทางอยู่ที่สวรรค์   ทำให้เรามีโลกทัศน์และชีวะทัศน์เกี่ยวกับเรื่องความรอดในชีวิตของเรามุ่งหน้าสู่สวรรค์   เหมือนผู้ที่ตัดสินใจซื้อตั๋วรถโดยสารที่มีปลายทางที่สวรรค์   แล้วมองว่าโลกนี้เป็นเพียงป้ายจอดรถ หรือ สถานีโดยสาร  ซึ่งมองว่า ป้ายจอดรถ หรือ สถานีรถ เป็นที่ที่เรารอขึ้นรถโดยสาร  ซึ่งไม่มีความสำคัญอะไรมากนัก

Richard Pratt กล่าวไว้ว่า “เรามักคิดกันว่าพระเยซูคริสต์เสด็จมาในโลกนี้เพื่อมาไถ่โทษยกบาปของเรา   ทำให้จิตวิญญาณของเราเกิดประกาย  ทำให้ชีวิตของเราเกิดความชุ่มชื่น ด้วยความสงบสันติและความชื่นชมยินดี  และเมื่อเราตายจากโลกนี้ก็จะมีปีกโผล่ออกมา  ฉวยเอาพิณ และบินเหินฟ้าขึ้นไปร่วมกับคณะนักร้องชั่วนิรันดร์บนสวรรค์”

พระคัมภีร์สอนความจริงที่แตกต่างจากความคิดความเชื่อของเราในปัจจุบัน  พระคัมภีร์สอนว่า แท้จริงแล้ว “สวรรค์เป็นเพียงป้ายจอดรถ!

ภายหลังที่ประชากรของพระเจ้าตายจากโลกนี้แล้ว  จะรอคอยพระคริสต์กษัตริย์ของเราเสด็จกลับมา เพื่อให้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายแห่งแผ่นดินของพระเจ้า ที่พระองค์จากมาแต่ครั้งแรก   จากนั้นพระองค์จะนำมาซึ่งสวรรค์ใหม่ และ โลกใหม่   อย่างที่ Paul Marshall ได้เขียนไว้ว่า “เป้าหมายปลายทางของเราอยู่บนโลกนี้  คือแผ่นดินโลกใหม่  เป็นแผ่นดินโลกที่ได้รับการทรงกอบกู้ และ การทรงเปลี่ยนแปลง  แผ่นดินโลกใหม่ที่กลับคืนดีเป็นหนึ่งเดียวกับสวรรค์   ไม่ว่าจะเป็นเช่นไร  แต่หมายถึงโลกนี้”

ทำให้ผมคิดถึงคำอธิษฐานที่พระเยซูคริสต์สอนสาวกที่ว่า  “...ขอให้แผ่นดินของพระองค์มาตั้งอยู่  ขอให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์  ในสวรรค์เป็นอย่างไร ก็ให้เป็นอย่างนั้นในแผ่นดินโลก...” (มัทธิว 6:10 ฉบับมาตรฐาน)

ถ้าแผ่นดินของพระเจ้าเป็นความสำคัญของ “ที่นี่ และ เดี๋ยวนี้”  ที่เป็นจริงในยุคนี้       ถ้าเช่นนั้นแล้วอะไรคือจุดประสงค์ของประชากรในแผ่นดินของพระองค์?   พระเยซูคริสต์สอนคนที่ติดตามพระองค์ว่า “ท่านทั้งหลายเป็นเกลือแห่งแผ่นดินโลก” และ “ท่านทั้งหลายเป็นความสว่างของโลก” (ดู มัทธิว 5:13, 14)   ด้วยเหตุผลนี้ ที่ Trevin Wax  ได้เขียนในบทความเรื่อง Gospel Coalition ไว้ตอนหนึ่งว่า...
ทุกวันนี้ ถ้าเราเป็นประชากรแห่งแผ่นดินของพระเจ้าอย่างแท้จริงแล้ว   การเชื่อฟังพระคริสต์ในชีวิตของเราต้องสัมผัสกับชีวิตของผู้คนในทุกมิติ   การยอมรับด้วยปากของเราว่า “พระเยซูเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า” มิได้สร้างแรงกระทบต่อชีวิตคริสตจักรของเรา  หรืออุปนิสัยใจคอด้านจิตวิญญาณเพียงบางเรื่องเท่านั้น   ในฐานะที่เราเป็นคนหนึ่งในแผ่นดินของพระเจ้า   เราจะต้องรุกขยายการครอบครองของพระเจ้าเข้าไปทุกส่วนทุกระดับในสังคมโลก   แผ่อิทธิพลด้วยการนำเอาความรักเมตตาและพระคุณของพระเจ้าไปถึงชีวิตคนทั้งหลาย   จะด้วยวิธีการที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นการสื่อด้านศิลปะ   ผ่านภาคธุรกิจ   ผ่านระบบการเมือง  และผ่านอาชีพการงานที่เราทำและรับผิดชอบ

เมื่อเราเชื่อศรัทธา  กลับใจใหม่  และมีชีวิตที่เข้าสู่แผ่นดินของพระเจ้าในยุคปัจจุบันนี้   ชีวิตของเราก็ได้ประกาศและเป็นพยานถึงความเป็นไปได้ของการดำเนินชีวิตในวิถีทางนี้   เป็นป้ายชี้ทางถึงวิถีที่นำไปถึง “แผ่นดินสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่”

ใช่ครับ วันนี้...บ้านของเราอยู่บนโลกนี้ครับ
พระเยซูคริสต์ทรงสถาปนา “แผ่นดินของพระเจ้า” บนโลกนี้ครับ
พระองค์ต้องการและทรงเรียกให้เราติดตามพระองค์และเปลี่ยนชีวิตของเราให้มีชีวิตที่เป็นประชากรแห่งแผ่นดินของพระองค์ครับ
และพระองค์ทรงใช้เราให้สำแดงชีวิตแบบพระคริสต์ในชีวิตประจำวัน  เพื่อนำคนรอบข้างเข้ามาอยู่ภายใต้การปกครองของพระองค์
พระองค์ทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ที่จะทำให้แผ่นดินโลกและแผ่นดินสวรรค์เกิดการคืนดีและเป็นหนึ่งเดียวกันครับ  “ให้แผ่นดินของพระองค์มาตั้งอยู่...สวรรค์เป็นอย่างไรก็ให้เป็นอย่างนั้นในแผ่นดินโลก” 
และวันนี้   พระเยซูคริสต์ทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ผ่านทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ ในชีวิตของเรา และ ผ่านชีวิตของเราไปยังคนรอบข้างครับ   เราจึงมิได้พึ่งพิงความสามารถและกำลังของตนเองเท่านั้น   แต่เราจะได้รับพระกำลังจากเบื้องบน และ ร่วมงานกระทำพระราชกิจของพระคริสต์กับพระวิญญาณบริสุทธิ์

ประเด็นสำหรับใคร่ครวญ

1. ถ้าแผ่นดินสวรรค์และแผ่นดินโลกใหม่ จะสถาปนาอย่างสมบูรณ์บนโลกนี้   ท่านยังสนใจที่จะเชื่อและติดตามพระคริสต์หรือไม่?  เพราะเหตุใด?

2. ถ้าท่านเป็นประชากรในแผ่นดินของพระเจ้า   ตลอดสัปดาห์ข้างหน้านี้ ท่านตั้งใจจะสำแดงชีวิตของพระคริสต์ผ่านการดำเนินชีวิตของท่านในเรื่องอะไรบ้าง? (ที่ต้องการทำเป็นอันดับ 1-2)  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในที่ทำงานของท่าน

3. เราปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่า  บางครั้งเราต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่เราไม่มีกำลังพอ หรือ ไม่รู้จะจัดการอย่างไรในสถานการณ์นั้นๆ   แต่ท่านยังตั้งใจมุ่งมั่นว่า ต้องการสำแดงชีวิตประชากรแห่งแผ่นดินของพระเจ้า   ท่านจะมีแนวทางจัดการกับปัญหาที่พบนี้อย่างไร?   ทำไมท่านถึงคิดจะจัดการเช่นนั้น?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

20 สิงหาคม 2555

แบกกางเขนของตนทุกวัน?


พระเยซูคริสต์ตรัสแก่คนทั้งหลายว่า
“ถ้าใครใคร่ตามเรามาให้ผู้นั้นเอาชนะตนเอง
และรับกางเขนของตนแบกทุกวัน
และตามเรามา” (ลูกา 9:23 ฉบับมาตรฐาน)

ปัจจุบัน คริสตชนเมื่อมองเห็นกางเขนก็จะมองว่าเป็นสัญลักษณ์ถึงการช่วยกู้ของพระคริสต์   หรือคนทั่วไปก็จะมองว่าเป็นสัญลักษณ์ความเชื่อของพวกคริสตชน

แต่กางเขนในพระธรรมตอนนี้ยังมิใช่กางเขนในความหมายของการที่พระคริสต์ทรงถูกตรึง   แต่เป็นความหมายกางเขนก่อนการถูกตรึงของพระคริสต์  และเป็นกางเขนของแต่ละคนที่พระคริสต์ตรัสถึง

กางเขนเป็นเรื่องที่เป็นวัฒนธรรมเฉพาะ   กางเขนในวัฒนธรรมของโรมันในสมัยของพระเยซูคริสต์ เป็นเครื่องมือประหารชีวิตคนที่รัฐบาลโรมันไม่พึงประสงค์  หรือที่รัฐบาลเห็นว่าคนๆ นั้นได้กระทำผิดอย่างรุนแรง  หรือคนๆ นั้นเป็นพิษเป็นภัยต่อสังคมส่วนรวม  โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เป็นพิษเป็นภัยต่อความมั่นคง ปลอดภัย ของรัฐบาลหรือกองทัพโรมันในเวลานั้น    กล่าวรวบยอดได้ว่า  กางเขนในพระธรรมตอนนี้เป็นสัญลักษณ์ของ “ความตาย” ที่มิใช่เป็นความตายที่ธรรมดาสามัญ แต่เป็นความตายที่โหดเหี้ยมทารุณ

ที่ว่าโหดเหี้ยมและทารุณเพราะ  การที่นักโทษคนใดถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการตรึงบนกางเขนนั้น จะเป็นการประหารที่ทรมานทั้งในความเจ็บปวดจากการตอกตะปูลงไปทั้งที่เท้าและมือ  แล้วยังตั้งกางเขนขึ้นให้น้ำหนักของทั้งร่างกายของนักโทษห้อยถ่วงลงสร้างความเจ็บปวดและฉีกขาดของแผลที่มือถูกตอกนั้น  และให้ค่อยๆ เสียเลือด  ตากแดด  หิวกระหายน้ำ  ให้ทรมานเช่นนั้นจะสิ้นลมหายใจ  “เหี้ยม” มากครับ!

แล้วทำไมพระเยซูคริสต์ถึงใช้กางเขนมาเปรียบเทียบกับคนที่ตัดสินใจติดตามพระองค์?

พระคริสต์ตั้งใจสื่อสารกับคนที่คิดจะติดตามพระองค์ให้รู้ความจริงถึงชีวิตของการติดตามพระองค์ว่า  อย่าติดตามพระองค์เพราะอยากเป็นคนหนึ่งในกลุ่มที่ประชาชนกำลังนิยมชมชอบ    อย่าติดตามพระองค์เพราะหวังเกียรติ  ตำแหน่ง  หรือชื่อเสียงเงินทอง   อย่าติดตามพระองค์เพราะคาดหวังว่าจะมีชีวิตจะได้มีความสุขสบาย   อย่าติดตามพระองค์เพราะว่าจะมีฐานะทางสังคมที่ดีที่สูงขึ้น   อย่าติดตามพระคริสต์เพราะคาดหวังจะได้ผลประโยชน์   อย่าติดตามพระองค์เพราะใจปรารถนาของตนเอง   อย่าติดตามพระองค์ “แบบเล่นๆ” หรือ “ลองติดตามดู” เพราะการที่ผู้ใดจะติดตามพระองค์เป็นเรื่องชีวิตและความตายเลยทีเดียว

พระเยซูคริสต์บ่งชี้ชัดเจนว่า  การที่คนหนึ่งคนใดที่คิดจะติดตามพระองค์ต้องรับรู้ความจริง 3 ประการที่จะต้องเกิดขึ้นเป็นจริงอย่างเป็นรูปธรรมในชีวิตของเขาคือ  

ประการแรก  ถ้าคิดจะติดตามพระองค์ก็ต้องยอมรับว่า ตนต้องละทิ้งสิ่งที่สำคัญในชีวิตของตนเองเสีย  เลิกที่จะเอาใจปรารถนาของตนเอง และ ค่านิยมหรือกระแสนิยมปัจจุบันเป็นตัวตั้ง หรือ เป็นเป้าหมายในชีวิต  

ประการที่สอง ดังนั้น  ตนเองต้องตระหนักชัดว่า  ได้ตัดสินใจแล้วที่จะดำเนินชีวิต “ทวนกระแสนิยมของสังคม”   ตนเองตัดสินใจแล้วที่จะไม่ยอมมีชีวิตมุ่งสู่ความสำเร็จตามความเจริญและทันสมัยแห่งยุคนี้   นั่นหมายความว่า การตัดสินใจดังกล่าวในชีวิตจะสร้างการทวนกระแส  ชีวิตต้องพบกับการเสียดทาน  ต่อต้าน  เยาะเย้ย  ขัดขวาง  เจ็บปวด   ต้องอดทน  สู้ทน  ยืนหยัด นั่นเป็นชีวิตที่ “แบกกางเขนของตน” ในความหมายของพระธรรมตอนนี้   และมีเป้าหมายที่กำลังมุ่งไปที่ชัดเจน  

ประการที่สาม   มุ่งสู่ชีวิตที่รับการเปลี่ยนแปลง พัฒนา เติบโตขึ้นเหมือนพระคริสต์มากขึ้นทุกวัน   นั่นหมายความว่าคนๆ นั้น ยอมที่จะ “แบกกางเขนแห่งความทุกข์ยากลำบากที่ตนต้องเผชิญ”   แต่มิใช่แบกไปที่เป้าหมายปลายทางแห่งความสิ้นหวัง หมดใจ และ หมดแรงในที่สุด   แต่การแบกกางเขนของตนมุ่งกระทำให้สำเร็จตามพระประสงค์ของพระคริสต์ในแต่ละวันและในทุกวัน   คือต้องแบกเพื่อติดตามพระองค์ไปทุกวัน

ดังนั้น   พระเยซูคริสต์จึงเตือนสติผู้ที่คิดจะติดตามเป็นสาวกของพระองค์ว่า  คนๆ นั้น ต้องนั่งลงคิดไตร่ตรองให้ดีก่อนว่า (ลูกา 18:24-32

ถ้าติดตามพระองค์แล้วเป็นอย่างที่กล่าวข้างต้น   ยังจะติดตามพระองค์ไปอีกหรือไม่?

ถ้าการติดตามพระองค์ต้องแบกกางเขนแห่งความทุกข์ยากลำบาก  และการทวนกระแสสังคมโลกปัจจุบัน   ตนพร้อมที่จะยังติดตามเป็นสากของพระองค์หรือไม่?  

ถ้าการติดตามพระเยซูคริสต์หรือการเป็นคริสตชนคือการที่จะมุ่งสู่เป้าประสงค์ของพระคริสต์  มิใช่เป้าหมายความสำเร็จของตนเอง   เป็นวิถีชีวิตที่ตนต้องการที่จะมุ่งไปหรือเปล่า?   และ

ถ้า การติดตามพระคริสต์  ตนเองต้องสูญเสียตนเองเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งในชีวิต  ยังจะติดตามพระองค์ไปอีกหรือไม่?

ประเด็นเพื่อใคร่ครวญ

1. ปัจจุบัน  ท่านต้อง “เอาชนะตนเอง”  ในเรื่องอะไรบ้าง  เพื่อจะติดตามพระเยซูคริสต์?
2. อะไรคือกางเขนของท่านที่ต้องแบก  เพื่อติดตามพระคริสต์ไปในแต่ละวัน?
3. ท่านรู้สึกอย่างไรบ้างกับชีวิตการติดตามพระคริสต์ในทุกวันนี้?
4. ท่านจะอธิษฐานต่อพระเจ้าในการที่ท่านตัดสินใจติดตามพระองค์ไปแต่ละวันและทุกวันในเรื่องอะไรบ้าง?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

15 สิงหาคม 2555

ฟังใครดี?


ในทุกวันนี้ ชีวิตของเราต้องเผชิญหน้ากับข้อมูลข่าวสารมากมาย  เรียกว่า “ดั้มพ์” เททับชีวิตของเราก็ว่าได้   จนบ่อยครั้งที่เราไม่รู้ว่าจะฟังจะเชื่อเสียงแนะนำเสียงใดดี!   ยิ่งกว่านั้น  เรายังต้องเผชิญกับเสียงเหล่านั้นว่า  หลายเสียงแนะนำเป็นเสียงที่มีเหตุมีผล   เป็นสิ่งที่ดีที่งาม   เป็นสิ่งที่ถูกต้องน่าจะทำ   ประสบการณ์บอกผมว่าตัดสินใจลำบากมากเลยครับ

เมื่อพระเยซูคริสต์ได้รับบัพติศมาจากยอห์น พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าเสด็จลงมาสถิตในชีวิตของพระองค์   ยิ่งกว่านั้น  ยังมีเสียงจากเบื้องบนที่ยืนยันในที่สาธารณะว่า  พระองค์เป็นบุตรที่รักของพระเจ้า   และสิ่งหนึ่งที่เราท่านทราบดีว่า  จากนั้น พระวิญญาณก็ทรงนำพระองค์เข้าไปในถิ่นทุรกันดาร

หลังจากอดอาหารสี่สิบวันสี่สิบคืนแล้ว  พระเยซูทรงหิว  มารผู้ทดลองได้มาหาพระองค์และทูลว่า  ถ้าท่านเป็นพระบุตรของพระเจ้า  จงสั่งก้อนหินเหล่านี้ให้เป็นขนมปัง(มัทธิว 4:2-3 อมตธรรม)

น่าสังเกตว่า  เหตุการณ์การทดลองนี้เกิดขึ้นกับพระเยซูเมื่อพระวิญญาณสถิตกับพระองค์ และ ทรงนำในชีวิตของพระองค์   เมื่อพระเยซูคริสต์ทรงอดอาหารและอธิษฐานต่อพระเจ้าในถิ่นทุรกันดาร  เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อพระองค์ได้รับการยืนยันว่าพระองค์เป็นบุตรที่รักของพระเจ้า  และเป็นพึงพอใจของพระเจ้า

เหตุการณ์การทดลองที่เกิดขึ้นกับพระเยซูคริสต์  เกิดขึ้นเมื่อ...
พระองค์ได้รับการทรงเจิมจากพระเจ้า
พระองค์มีพระเจ้าอยู่ด้วยในชีวิต
พระองค์ได้รับสถานภาพ (ตำแหน่ง) สำคัญถึงขั้นเป็น “บุตรสุดที่รัก” ของพระเจ้า
คนเช่นนี้หรือที่มารเลือกทดลองในชีวิตของเขา?

ใช่ครับ  มารเลือกทดลองคนเช่นนี้  แต่เมื่อสภาพชีวิตทางกายเกิด “ความอยาก” เกิด “ความหิว”   และแน่นอนครับ  พระเยซูคริสต์ทรงเห็นถึงประชาชนจำนวนมากมายในสมัยของพระองค์ต้อง “หิวโหย”  “อดอยากอาหาร”  พระองค์ทรงเมตตาและต้องการช่วยเหลือ  ขนมปังเป็นสิ่งจำเป็นที่มีค่าสำหรับประชาชนคนส่วนใหญ่

เสียงจากภายในชีวิตของพระเยซูคริสต์ดังขึ้น   พระเจ้าสถิตอยู่  พระเจ้าให้มีความสามารถ  อำนาจ  ฤทธิ์เดชแก่พระเยซูคริสต์แล้ว   พระองค์มีสิทธิที่จะใช้เพื่อแก้ปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่  ทั้งความหิวของพระองค์เอง และ ความหิวของประชาชนคนยากไร้   และที่สำคัญคือ  นี่จะเป็นการเริ่มต้นพันธกิจที่เยี่ยมยอดที่สุดของพระเยซู   เพราะประชาชนคนทั่วไปจะเห็นและยอมรับพระเยซูทันทีว่า พระองค์คือคนที่พระเจ้าทรงมาช่วยกอบกู้ประชาชน  พระองค์คือพระเมสสิยาห์! 

แต่ทำไมพระเยซูไม่ยอมสั่งก้อนหินเหล่านั้นให้เป็นขนมปัง! ทั้งๆ ที่การกระทำนี้คือสิ่งที่ถูกต้อง   เพราะนี่คือการสร้างความยุติธรรม   ประชาชนจะมีขนมปังกิน  และที่ทำก็เป็นการที่พระองค์รับผิดชอบใช้ฤทธิ์เดชที่พระองค์ได้รับจากพระบิดาที่มีในตัวของพระองค์   เป็นเหมือนกับคนที่ได้รับตะลันต์จากเจ้านายแล้วใช้ให้เกิดดอกออกผล?
ใช่ครับ   พระเยซูคริสต์ไม่ยอมทำตามเสียงที่ดังก้องภายในชีวิตของพระองค์ครับ
เพราะที่พระองค์มาในโลกนี้มิใช่มาเพื่อสร้าง “กระแสประชานิยม”  กล่าวคือให้ผู้คนประชาชนยิวนิยมชมชอบ และ ยอมรับพระองค์เป็นพระเมสสิยาห์
เพราะพระองค์มิได้นำ “แผ่นดินของพระเจ้า” มาในโลกนี้ด้วย “พลังแห่งประชาธิปไตย” (หรือเสียงข้างมากคือฝ่ายชนะ)  กล่าวคือ ทำให้ประชาชนยิวพร้อมที่จะหนุนช่วยและเป็นคลื่นมหาชนที่จะกอบกู้อิสรภาพแก่ประเทศอิสราเอลจากการกดขี่ของโรม
เพราะพระเยซูคริสต์มิได้มาเพื่อเป็น “พระเอกขี่ม้าขาว” เพื่อทำตามใจประสงค์ของประชาชนคนยิว  แต่พระองค์มาเพื่อที่จะกระทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า และ ให้น้ำพระทัยของพระบิดาสำเร็จในแผ่นดินโลก   อย่างที่สำเร็จแล้วในแผ่นดินสวรรค์
พระเยซูคริสต์ทรงตอบสนองเสียงภายในครั้งนี้ว่า  “มีคำเขียนไว้ว่า มนุษย์ไม่อาจดำรงชีวิตด้วยอาหารเพียงอย่างเดียว   แต่ดำรงชีวิตด้วยทุกคำจากพระโอษฐ์ของพระเจ้า” (4:4 อมตธรรม)

ประการสำคัญของเรื่องราวในตอนนี้คือ   พระเยซูคริสต์มิได้พึ่งพิงฤทธิ์อำนาจ ความสามารถ ทักษะที่พระบิดาประทานให้แก่พระองค์เพื่อกระทำกิจต่างๆ ตอบสนอง “ความต้องการ”  “จุดประสงค์” ของพระเยซูคริสต์เอง   แต่พระองค์ทรงพึ่งพิงในพระวจนะของพระเจ้า   ที่สำแดงถึงพระประสงค์ของพระองค์

กล่าวคือ พระเยซูคริสต์ทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ด้วยการพึ่งพิงการทรงกระทำพระราชกิจของพระเจ้าผ่านชีวิตของพระองค์   โดยมีเป้าหมายชัดเจนคือ “พระประสงค์ของพระเจ้า”  มิใช่ “จุดประสงค์ของฉัน”

ดังนั้น  เราต้องระมัดระวังอย่างมากว่า   การตอบสนองต่อเสียงภายในของเราแต่ละคนต้องไม่เป็นการตอบสนองที่ทำให้เราต้องแชเชือนไปจากพระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตและการงานของเรา!

ถ้าเช่นนั้น   การที่คริสตชนในปัจจุบันจะตัดสินใจทำอะไรลงไป   น่าจะมีจิตอธิษฐานภาวนาว่า   สิ่งที่จะตัดสินใจทำลงไปนี้   เป็นความต้องการ  จุดประสงค์ ความประสงค์ของเราเอง   หรือนี่เป็นพระประสงค์ของพระเจ้า  เช่นเหตุการณ์ร้อนๆ ที่เกิดขึ้นกับคริสตจักรไทยตอนนี้ เช่น

คริสตชนต่อสู้เอาแพ้เอาชนะกัน  จนต้องไปขึ้นโรงขึ้นศาล   พระวจนะของพระเจ้าว่าอย่างไรในเรื่องนี้   เราจะไปแสวงหาความชอบธรรมด้วยวิธีการเช่นนี้หรือ?   ความชอบธรรมของใคร  ความถูกต้องเพื่อใคร  พิสูจน์ความจริงเพื่อผลประโยชน์ของใคร?   หยุดคิดสักนิด  พินิจสักหน่อยว่านี่เป็นพระประสงค์ของพระเจ้าในการนำแผ่นดินของพระองค์มาปรากฏเป็นจริงบนแผ่นดินไทยหรือไม่?

ตอนนี้คริสตชนแทนที่จะประกาศถึงข่าวดีของพระเยซูคริสต์   แต่แปรเปลี่ยนเป็นการประกาศข่าวร้ายของคริสตชนคนอื่น   ต้องการประกาศความจริงบนการทำร้ายทำลาย “ฝ่ายตรงกันข้าม”   สิ่งเหล่านี้เป็นข่าวดีแห่งแผ่นดินของพระเจ้าหรือไม่?   การกระทำเช่นนี้จะทำให้คนทั่วไปได้เห็นและสรรเสริญพระบิดาของคริสตชนที่อยู่ในสวรรค์หรือเปล่า?   และคงต้องถามว่านี่เป็นการกระทำที่เป็นพระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตคริสตจักรไทยของเราหรือไม่?

วันนี้เราจะฟังเสียงของใครดี?

วันนี้   เราแต่ละคนคงต้องสงบอยู่ต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้า   ก่อนที่จะตัดสินใจ และ กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดในชีวิตว่า  นี่เป็นพระประสงค์ของพระเจ้าหรือไม่?   และอะไรคือพระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับข้าพระองค์ในสถานการณ์นี้?   พระองค์ประสงค์ทำงานในชีวิตของข้าพระองค์อย่างไร  และมีพระประสงค์จะทำงานผ่านชีวิตของข้าพระองค์ในเรื่องอะไร?   ขอให้ใช้ชีวิตของข้าพระองค์เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์เถิด!   อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

13 สิงหาคม 2555

อิจฉาคริสเตียนใหม่!


อ่าน โรม 11:7-16

“ข้าพเจ้ากำลังพูดกับพวกท่านซึ่งเป็นคนต่างชาติ   และในฐานะที่เป็นอัครทูต(คนที่พระเจ้าทรงส่ง)มายังคนต่างชาติ  ข้าพเจ้าให้ความสำคัญกับพันธกิจของตน(ที่ทรงมอบหมาย)   โดยหวังว่าข้าพเจ้าอาจจะกระตุ้นพี่น้องร่วมชาติ(ยิว)ให้เกิดความอิจฉาและช่วยพวกเขาบางคนให้รอดได้   เพราะถ้าการที่พระเจ้าทรงละทิ้งพวกเขา  เป็นเหตุให้โลกกลับคืนดีกับพระองค์แล้ว   การที่พระองค์ทรงรับพวกเขากลับมาอีกนั้น  ก็เป็นเหมือนกับว่า เขาได้ตายไปแล้วและกลับเป็นขึ้นใหม่” 
(โรม 11:13-15 อมตธรรม, ตัวเอนฉบับมาตรฐาน, ในวงเล็บผู้เขียนเพิ่ม) 

ถ้าถามว่า  ทำไมคริสเตียนถึงแบ่งปันข่าวดีแห่งแผ่นดินของพระเจ้าแก่คนทั้งหลายที่ยังไม่เชื่อ  คำตอบพื้นฐานทั่วไปก็คงเป็นว่า  เพื่อพวกเขาจะได้รู้ถึงข่าวดีและเข้ามาอยู่ภายใต้การปกครองของพระคริสต์ในแผ่นดินของพระเจ้า  เพื่อเขาจะได้สัมผัสกับความรักแห่งพระคุณของพระเจ้าในพระเยซูคริสต์ เพื่อชีวิตของเขาจะได้รับการทรงเปลี่ยนแปลงและสร้างใหม่ ทั้งในชีวิตที่เป็นอยู่ตอนนี้และต่อไปในภายหน้า  ที่เราประกาศถึงข่าวดีแห่งแผ่นดินของพระเจ้าเพราะเราต้องการเป็นสาวกที่มีประสิทธิภาพ   เป็นเพื่อนร่วมสานต่อในพระราชกิจของพระคริสต์  หรือ เพื่อที่จะมีผู้เชื่อเพิ่มมากขึ้น  เพื่อที่คริสตจักรจะได้ขยายมีสมาชิกมากขึ้น  

แต่ผมยอมรับว่า  น้อยคนนักที่จะคิดว่า   ที่เราประกาศข่าวดีแห่งแผ่นดินของพระเจ้าแก่คนที่ยังไม่เชื่อ ก็เพื่อที่จะทำให้ คริสเตียนเดิมในคริสตจักรเกิดความอิจฉาคริสเตียนที่กลับใจมาเชื่อใหม่ใช่ไหมครับ?

แต่พระธรรมโรมตอนนี้  เปาโลบอกว่า การที่ท่านประกาศข่าวดีแห่งแผ่นดินของพระเจ้า เพราะต้องการทำให้พวกยิว(ที่สำคัญตนว่าเป็นผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกสรร)เกิดความอิจฉาพวกคนต่างชาติที่กลับใจมาเชื่อในพระเยซูคริสต์   ที่พวกยิวอิจฉาเพราะพวกเขาได้เห็นว่า  คนต่างชาติที่กลับใจมาเชื่อศรัทธาในพระเจ้า   พระวิญญาณของพระเจ้าทรงสถิตกับพวกเขา   พวกเขาได้รับพระพรของพระเจ้าผ่านการทรงปลดปล่อยชีวิตของพวกเขาออกจากการอยู่ใต้อำนาจแห่งความชั่วร้าย   บางคนได้รับการเยียวยารักษาทั้งร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ   พวกเขามีชีวิตที่เปลี่ยนแปลง ที่พวกยิวเห็นกับตาของตนเองว่า  แม้แต่ตัวพวกเขาเองก็ไม่สามารถทำให้ชีวิตตนเองเปลี่ยนแปลงได้เช่นคนต่างชาติที่มาเชื่อพระเจ้า

พวกยิวจึงอิจฉา ที่พระเจ้าสถิต และทำงานในชีวิต และผ่านชีวิตของคนต่างชาติที่มาเชื่อในพระคริสต์   พวกเขาอิจฉาคริสเตียนต่างชาติที่ได้รับพระพรจากพระองค์   พวกเขาอิจฉาที่ดูเหมือนว่า พระเจ้าทรงรักพวกคริสเตียนต่างชาติมากกว่าพวกยิวที่พระองค์ได้เลือกให้เป็นประชากรของพระเจ้า พวกเขากำลังรู้สึกว่า ชีวิตของคริสเตียนต่างชาติกำลังดูมีคุณค่ามากขึ้น   เพราะพระเจ้าทรงรักเมตตาคริสเตียนต่างชาติ  ทรงเปลี่ยนแปลงและสร้างชีวิตใหม่แก่พวกเขา  และพระเจ้าทรงใช้พวกเขาและเกิดผล   แต่เปาโลชี้ชัดในที่นี้ว่า การที่คนต่างชาติกลับใจมาเชื่อพระคริสต์และทำให้พวกยิวอิจฉาในชีวิตของคริสเตียนต่างชาติก็เพื่อว่า  พี่น้องยิวเหล่านี้บางคนอาจจะกลับใจมารับเชื่อในพระคริสต์

ทุกวันนี้  เราท่านคริสเตียนประกาศถึงข่าวดีแห่งแผ่นดินของพระเจ้า   เราต้องการให้ประชาชนมารับเชื่อพระคริสต์เพิ่มมากขึ้น   และในเวลาเดียวกันเรามักพบว่า คริสเตียนใหม่เหล่านี้มีชีวิตที่กระตือรือร้นเอาจริงเอาจังกับพระวจนะของพระเจ้า  ติดสนิทกับพระองค์   ทุกอย่างในชีวิตทั้งการคิด การตัดสินใจ ทั้งในความทุกข์และความสุข  ทั้งในปัญหาและความหวัง   ทุกเรื่องในชีวิตของพวกเขานำมาเชื่อมสัมพันธ์กับความรักเมตตาและพระประสงค์ของพระคริสต์ทั้งสิ้น   นอกจากนั้นแล้ว  คริสเตียนใหม่ยังกระตือรือร้นในการประกาศถึงข่าวดีที่เขาเชื่อ   รับการเปลี่ยนแปลงและทรงสร้างชีวิตใหม่จากพระคริสต์  ตื่นเต้นและมีจิตใจอยากให้ทุกคนได้สัมผัสกับความรักและฤทธิ์เดชของพระคริสต์ในชีวิตประจำวัน

ชีวิตของคริสเตียนใหม่เหล่านี้ได้เป็นพลัง “กระตุ้นให้คริสเตียนดั้งเดิมในคริสตจักรให้เกิดความอิจฉาหรือไม่” (ข้อ 14)   เพื่อที่คริสเตียนดั้งเดิมที่มีอยู่ในคริสตจักรจะได้หันหน้ากลับมาหาพระเจ้า  เพื่อคริสเตียนดั้งเดิมจะได้สัมผัสกับความรักเมตตาของพระคริสต์อีกครั้งหนึ่ง   ในฉบับมาตรฐานได้แปลข้อที่ 15 ว่า “...การที่พระองค์ทรงรับเขา(ยิว  และ คริสเตียนดั้งเดิม)กลับมาอีกครั้งนั้น   ก็เป็นเหมือนกับว่าเขาได้ตายไปแล้วและกลับเป็นขึ้นใหม่”   ทำให้คิดถึงอุปมาเรื่องบุตรสองคนของพระเยซูคริสต์   พ่อพูดถึงลูกคนเล็กที่กลับมาบ้านว่า “เพราะว่าลูกของเราคนนี้ตายแล้วแต่กลับเป็นขึ้นอีก...” (ลูกา 15:24, 32 ฉบับมาตรฐาน)

จดหมายถึงคริสตจักรโรมของเปาโลก็กำลังบอกกับเราในวันนี้ว่า  ที่เราประกาศถึงข่าวดีแห่งแผ่นดินของพระเจ้า   นอกจากจะให้ผู้คนได้เชื่อศรัทธาในพระเยซูคริสต์เพิ่มมากขึ้นแล้ว   และชีวิตที่พระเจ้าทรงเปลี่ยนแปลงและสร้างใหม่ จะเป็นพลังกระตุ้นให้คริสเตียนดั้งเดิมในคริสตจักรได้หันกลับมาหาพระเจ้า  ทุ่มเทและเอาจริงเอาจังกับการดำเนินชีวิตบนรากฐานพระวจนะตามพระประสงค์ของพระองค์   และมีคุณภาพชีวิตตามมาตรฐานแห่งประชากรในแผ่นดินของพระเจ้า   เพื่อว่าคริสเตียนดั้งเดิมในคริสตจักรก็จะเป็นชีวิตที่พระเจ้าสถิตด้วย  ทรงทำงานในชีวิตและผ่านชีวิตของเขา   เป็นชีวิตที่มีคุณค่ามิใช่ตามสายตาความรู้สึกของเจ้าตัวเท่านั้น   แต่ตามสายพระเนตรของพระเจ้าด้วย

เมื่อคริสตจักรสัตย์ซื่อ  ทุ่มเท  เอาจริงเอาจังกับพระประสงค์ของพระคริสต์ที่ต้องการให้คริสตจักรของพระองค์ประกาศถึงข่าวดีแห่งแผ่นดินของพระเจ้า   จะมีผู้คนที่มาเชื่อศรัทธาในพระคริสต์มากยิ่งขึ้น   และให้ชีวิตของผู้เชื่อใหม่เหล่านี้คือพลังกระตุ้นให้คริสเตียนเดิมที่มีอยู่แล้วในคริสตจักร ที่จะกลับมาสนิท เอาจริงเอาจัง  และกระตือรือร้นในการดำเนินชีวิตตามพระประสงค์ของพระเจ้า เมื่อนั้น คริสตจักรของพระองค์จะเติบโต เข้มแข็ง และเกิดผลตามพระบัญชาของพระคริสต์

สิ่งที่พบในคริสตจักรปัจจุบัน (ที่เปาโลอาจจะไม่พบในคริสตจักรโรม) คือ   คริสเตียนเดิมในคริสตจักรไม่อิจฉาชีวิตของผู้เชื่อใหม่ครับ  แต่พวกนี้ “หมั่นไส้” ชีวิตของคริสเตียนใหม่ครับ  และนี่อาจจะเป็นอาวุธหนึ่งที่จะ “ตอน” คริสเตียนใหม่ไม่ให้เกิดผลในชีวิต   หรือไม่ก็เป็นเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การที่คริสเตียนใหม่ต้องแยกตัวออกไปตั้งคริสตจักรใหม่ก็มีให้เห็นเป็นหลักฐาน

แท้จริงแล้วเมื่อเปาโลใช้คำว่า “อิจฉา”  มิได้เป็นความหมายเชิงลบครับ  ตามรากศัพท์ในภาษากรีกหมายถึง การที่อยากมีอยากเป็นอย่างคนๆ นั้น ซึ่งตนเองไม่มีในเวลานี้  หรือเป็นการหึงหวงที่พระเจ้าทรงรักคนต่างชาติด้วย (ดั่งบุตรคนโตในเรื่องอุปมาของพระเยซู)  ต้องการมีชีวิตที่มีคุณค่าอย่างน้อยก็เท่าเทียมกับคนนั้น หรือมากกว่าคนนั้น   หลายครั้งที่...
“ความอิจฉา”  มีพลังให้ต้องการมุมานะที่ต้องการให้ตนเองเกิดการเปลี่ยนแปลงดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่  แต่  
“การหมั่นไส้”  เป็นพลังความชิงชังต้องการขจัด หยุดยั้ง  หรือ ต้องการเขี่ยให้ออกไปห่างๆ
ให้เรา “อิจฉา” คริสเตียนใหม่  ที่ชีวิตประจำวันของเขาที่ได้รับการสัมผัสจากพระเจ้า  เพื่อเราจะถูกกระตุ้นให้หันกลับมาหาพระเจ้าในชีวิตประจำวัน (มากกว่าพระเจ้าในวันอาทิตย์)  

คำถามสำหรับไตร่ตรอง

·         ท่านเคยรู้สึกอิจฉาคริสเตียนคนอื่นหรือไม่?   ทำไมถึงรู้สึกเช่นนั้น?
·         การดำเนินชีวิตของท่านที่ทำให้คนอื่นที่ยังไม่เชื่อพระเจ้าเกิด “ความอิจฉา” ในความสัมพันธ์ที่ท่านมีกับพระเจ้าหรือไม่?
·         ท่านคิดว่าความเชื่อศรัทธาของท่านมีเพียงพอที่จะดึงดูดคนอื่นให้เข้ามาหาพระคริสต์หรือไม่?

ไตร่ตรองภาวนา

ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า   ข้าพระองค์ขอยอมรับว่า  เรื่องการอิจฉาที่เปาโลพูดถึงในตอนนี้ดูแปลกในความคิดของข้าพระองค์

แต่เมื่อข้าพระองค์มีโอกาสใคร่ครวญจากคำสอนของเปาโล  ข้าพระองค์ต้องการมีชีวิตคริสเตียนที่คนรอบข้างมองเห็นแล้ว “อิจฉา” ที่ข้าพระองค์มีชีวิตในพระองค์   ข้าพระองค์ต้องการให้คนรอบข้างมองเห็นถึงความชื่นชมยินดีที่ข้าพระองค์มีชีวิตในพระองค์  คนรอบข้าง “อิจฉา” ที่ข้าพระองค์ได้รับพระเมตตาที่อภัยโทษบาปแก่ข้าพระองค์   พวกเขา “อิจฉา” ที่ได้เห็นความรักเมตตาของพระองค์ล้นไหลออกจากชีวิตของข้าพระองค์ไปยังคนรอบข้าง

แท้จริงแล้วข้าพระองค์ไม่เคยอธิษฐานเช่นนี้มาก่อน   ที่ทูลขอพระองค์ให้ผู้คนรอบข้าง “อิจฉา” ข้าพระองค์ที่ได้รับพระเมตตาอันเหลือและล้น   เพื่อผู้คนเหล่านั้นจะหันมาหาพระองค์และรับพระคุณเมตตาที่เหลือล้นจากพระองค์   โปรดให้การดำเนินชีวิตในแต่ละวันของข้าพระองค์  ที่เป็นเหตุให้ผู้คนพบเห็นและต้องการมีชีวิตเช่นนั้นในพระองค์   อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499