28 กันยายน 2555

การบริหารจัดการ ‘ข่าวร้าย’


อ่าน พระธรรมเนหะมีย์ 1:1-11

ฮานานี และ พี่น้องจากยูดาห์ ที่เพิ่งมาจากเยรูซาเล็มได้มาเยี่ยมเนหะมีย์  ผู้ทำหน้าที่เชิญจอกเสวยของกษัตริย์อาทาเซอร์ซีสแห่งเปอร์เซีย   เนหะมีย์โศกเศร้าอย่างมากเมื่อได้ทราบว่า  ประชาชนที่หลงเหลืออยู่ใน ยูดาห์ตกอยู่ในความทุกข์และความอัปยศอย่างยิ่ง   ตกเป็นที่ดูหมิ่นเหยียดหยามของชนชาติรอบข้าง   กำแพงเมืองปรักหักพังชีวิตผู้คนในกรุงเยรูซาเล็มไร้ความปลอดภัย   ประตูเมืองถูกเผาทำให้คนที่อยู่ในเยรูซาเล็มไม่สามารถที่จะปกป้องตนเองได้   เนหะมีย์ได้บันทึกไว้ว่า...

“เมื่อข้าพเจ้าได้ยินเรื่องเช่นนี้ก็นั่งร้องไห้ 
ข้าพเจ้าโศกเศร้า 
ถืออดอาหาร 
และอธิษฐานต่อหน้าพระเจ้าแห่งฟ้าสวรรค์อยู่หลายวัน...”
(เนหะมีย์ 1:4)

ทำไมเมื่อเนหะมีย์ได้ยินเรื่องนี้แล้วถึงกับ “ร้องไห้” และ “โศกเศร้า”?   แท้จริงแล้ว ก่อนหน้านี้มีเชลยอิสราเอลที่กลับไปกรุงเยรูซาเล็มถึง 2 คณะใหญ่แล้ว   คณะแรกนำโดยเศรุบาเบลกลับเยรูซาเล็มในปี กคศ. 538 (เอสราบทที่ 1)  และคณะที่สองนำโดยเอสราในปี กคศ. 458 (เอสราบทที่ 7)   ทั้งสองคณะต่างมุ่งมั่นตั้งใจกลับไปฟื้นฟูปฏิสังขรณ์กรุงเยรูซาเล็มขึ้นใหม่    แต่นี่ 90 ปีผ่านไปแล้วเนหะมีย์ยังได้รับข่าวร้ายในชีวิตของพี่น้องในกรุงเยรูซาเล็ม   เขาจึงร้องไห้  เขาโศกเศร้า   ตามเนื้อหาในพระคัมภีร์แล้วเนหะมีย์เป็นคนยิวเชลยศึกที่เกิดในต่างแดน   ไม่เคยรู้จักและไม่เคยกลับไปเยรูซาเล็มเลย   แสดงให้เห็นว่า เนหะมีย์มีพันธะสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับ “ความเป็นชนชาติยิว”  ชนชาติของพระเจ้า  ในพระสัญญา  และพระประสงค์ของพระเจ้า

เมื่อเราได้รับข่าวร้ายในผู้คน และ ในสถาบันที่เรารักและผูกพัน  เราคงไม่ใช่โศกเศร้า ร้องไห้ หรือ ทุกข์ใจเท่านั้น   แน่นอนเลยครับเราต่างจะต้องแสวงหาแนวทาง วิธีการในการบริหารจัดการกับข่าวร้ายที่ได้ยินได้รับมานั้น   ตั้งแต่การพิจารณาค้นหาว่า ตนจะสามารถบริหารจัดการกับ “ข่าวร้าย” นี้อย่างไร   ใช้ศักยภาพ ความสามารถของตนเองที่มีอยู่ในการจัดการ   หรือหันหน้าขอการพึ่งพิงเพื่อนฝูงคนรู้จักให้ช่วยเหลือ   หรือไม่ก็เลิกคิด เลิกทำ  ทิ้งข่าวร้ายนั้นไปเสีย  ไม่จำเป็นต้องคิด ต้องทำ ต้องรับผิดชอบ   เพราะมันไม่ใช่ความทุกข์ยากที่ฉันต้องแบก

ในพระธรรมตอนนี้เรากลับพบว่า เนหะมีย์ที่มีศักยภาพมากมาย   อยู่ในตำแหน่งสูง  เป็นคนที่รักชอบพอของผู้มีอำนาจ  แน่นอนครับมีเพื่อนฝูงมากมายที่มีจิตใจอยากจะสร้างชาติยูดาห์ขึ้นใหม่   แต่สิ่งที่เขาตัดสินใจทำในเวลาที่ได้รับ “ข่าวร้าย” คือ

อดอาหาร และ อธิษฐานต่อพระเจ้า

การอดอาหารมิใช่ “พิธี” ที่จะเอาชนะข่าวร้าย! 

แต่การอดอาหารเป็นวินัยชีวิตจิตวิญญาณของคนเรา   ที่มิใช่ไม่กินไม่ดื่มเท่านั้น   แต่หมายถึงการที่เรา “หยุด” ที่จะกินจะดื่ม และ หยุดและเลิกวิธีการต่างๆ ที่ทำในชีวิตประจำวันของเรา   ทิ้งและหยุดสิ่งเหล่านั้นเพื่อเราจะไม่เอาตัวเราเองเป็นศูนย์กลางในการจัดการชีวิตที่เรากำลังประสบอยู่   แต่เรากลับมุ่งมองไปที่องค์พระผู้เป็นเจ้า   มิใช่มุ่งมองที่ใจปรารถนาของตนเอง  หรือมุ่งมองติดอยู่ที่ตัวปัญหาที่เรากำลังประสบ  

“การอดอาหาร” คือเวลาที่เราตั้งอกตั้งใจทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างแล้วตั้งหน้าตั้งตามุ่งมองที่องค์พระผู้เป็นเจ้า   เพื่อแสวงหาพระประสงค์ของพระองค์   เพื่อเราจะน้อมรับพระประสงค์ของพระเจ้าแล้วกระทำตามพระประสงค์นั้นอย่างสัตย์ซื่อและไว้วางใจในพระองค์  

ดังนั้น ช่วงเวลา “การอดอาหาร” คือช่วงเวลาที่เราแสวงหาพระประสงค์ของพระเจ้าในสถานการณ์วิกฤติที่เรากำลังเผชิญหน้า   มิใช่เวลาของการวางแผนต่อสู้เอาชนะสถานการณ์เลวร้ายนั้นด้วยความคิด ความสามารถ และศักยภาพแวดล้อมเราที่มีอยู่ หรือ ที่เราจะฉวยใช้เพื่อประโยชน์ตามใจปรารถนาของเรา

การอดอาหาร และ อธิษฐาน เป็นการที่เราเลือกที่จะมีโอกาสให้พระเจ้ากระทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตของเราแทนการที่เราพยายามจัดการ “ข่าวร้าย” และ “วิกฤติชีวิต” ที่เราพบเจอด้วยกำลังความสามารถของตนเอง

ประการแรก       พระเจ้าจะทรงประทานพระผู้ช่วยในวิกฤติชีวิตคือพระวิญญาณบริสุทธิ์ ช่วยเราให้สามารถที่จะ “หยุด” และ “วาง” สิ่งต่างๆ ที่เราเคยยึดเหนี่ยวในชีวิตของเราลง   ไม่ว่าความสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง  การงานที่ทำและรับผิดชอบ  ความกดดันที่มารอบด้าน   สิ่งเหล่านี้จะแย่งชิงพื้นที่ในความนึกคิดของเราจนทำให้เรายากที่จะสนใจจริงจังที่องค์พระผู้เป็นเจ้าและพระประสงค์ของพระองค์

ประการที่สอง     เมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์ช่วยย้ายความมุ่งมั่นสนใจของเราจากตัวเราเองไปสู่องค์พระผู้เป็นเจ้า  และพระประสงค์ของพระองค์   ในเวลาเช่นนี้ความนึกคิดของเราจะเกิดความชัดเจน   ทำให้เราสามารถที่จะเข้าใจแผนงานของพระองค์ชัดเจนแหลมคมยิ่งขึ้น  เพราะจิตใจความนึกคิดของเรามิได้ถูกรบกวน ครอบงำด้วยสิ่งอื่น

ประการที่สาม  เราจะเริ่มได้รับการ “ชำระ” มุมมอง ทัศนคติ ที่ตกในอำนาจของความบาปชั่วที่มีผลกระทบตรงต่อพฤติกรรมและการดำเนินชีวิตของเรา   เราจึงได้รับการ “ชำระล้าง ปรับเปลี่ยน แก้ไข” ภายในชีวิตของเราขึ้นใหม่จากพระวิญญาณบริสุทธิ์  และในเวลานี้ที่เราได้เห็นตัวตนที่แท้จริงของเราแล้วยอมรับในความบาปผิดของเรา  พระเจ้าผู้สัตย์ซื่อและเที่ยงธรรมก็จะให้อภัยแก่เรา ชำระเราจากความอธรรมทั้งสิ้น (1 ยอห์น 1:9)  และเมื่อได้รับการทรงชำระในชีวิตเช่นนี้แล้ว   สิ่งที่เราคิด  เราตัดสินใจจึงมิใช่ “ความปรารถนา” แห่งจิตใจของเราเอง   แต่เป็นการทรงกระทำงานของพระเจ้าในชีวิตของเรา  และในชีวิตของผู้คนที่เกี่ยวข้องใน “ข่าวร้าย” นั้น  ทำให้เราสามารถที่จะดำเนินตามพระประสงค์ตามแผนงานของพระองค์

บางท่านตั้งข้อสังเกตว่า   แต่ในที่สุดเนหะมีย์ก็ต้องพึ่งบารมีและอำนาจทางการเมืองและการปกครองของกษัตริย์แห่งเปอร์เซียในการบริหารจัดการ “ข่าวร้าย” อยู่ดี   คำตอบคือใช่แต่ต่างกัน   กษัตริย์แห่งเปอร์เซียมิได้ตัดสินใจช่วยเนหะมีย์ตามแผนการและการโน้มน้าวของเนหะมีย์   แต่ที่กษัตริย์แห่งเปอร์เซียสนับสนุนเนหะมีย์ในการกู้บ้านสร้างเมืองเยรูซาเล็มนั้น   เพราะเป็นการทำงานของพระวิญญาณของพระเจ้าให้กษัตริย์ให้ดำเนินการตามแผนงานขององค์พระผู้เป็นเจ้า   ซึ่งเป็นการสนับสนุนของกษัตริย์แก่เนหะมีย์ที่มั่นคงและยั่งยืนกว่า

เมื่อเราต้องเผชิญหน้า “ข่าวร้าย” ในชีวิตของเรา  เฉกเช่นเนหะมีย์  เราอาจจะต้องตกอยู่ในอารมณ์ความรู้สึกที่หดหู่ ถดถอย ด้อยกำลังทั้งความคิด  จิตใจ  และร่างกาย   ให้เรา “หยุด” ชีวิตของเรา (อดอาหาร)  เพื่อเปิดพื้นที่ชีวิต (อธิษฐาน) ให้พระวิญญาณบริสุทธิ์เข้ามาทำงานของพระองค์ในชีวิตของเรา   และนี่คือโอกาสที่จะเรียนรู้ถึงพระราชกิจและพระประสงค์ของพระเจ้าของเราได้ชัดเจนยิ่งขึ้น   และแน่นอนครับเราจะได้เห็น สัมผัส และเรียนรู้ว่าในสถานการณ์เลวร้ายเช่นนี้พระเจ้าทรงกระทำสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับชีวิตของเราเสมอ

ประเด็นเพื่อการใคร่ครวญ

1. ที่ผ่านมา  เมื่อท่านได้รับ “ข่าวร้าย” ในชีวิต   ท่านมีวิธีการจัดการกับข่าวร้ายนั้นเช่นไร?  ทำไมท่านถึงตัดสินใจเลือกจัดการ “ข่าวร้าย” ด้วยวิธีนั้น?   เกิดผลอย่างไรบ้าง?
2. ท่านคิดเห็นเช่นไรต่อวิธีบริหารจัดการ “ข่าวร้าย” แบบเนหะมีย์ที่  “อดอาหาร” และ “อธิษฐาน”   การอดอาหารและการอธิษฐานมีคุณค่า ความหมาย และความสำคัญในชีวิตของท่านหรือไม่?  อย่างไร
3. วันนี้ถ้ามี “ข่าวร้าย” มาถึงท่าน   ท่านจะรับมือกับ “ข่าวร้าย” อย่างไรบ้าง?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

26 กันยายน 2555

กลัวคน?


ความกลัวของคนเป็นเพียงกับดัก
แต่ผู้ที่วางใจในองค์พระผู้เป็นเจ้าก็ปลอดภัย
(สุภาษิต 29:25 อมตธรรม)

การกลัวคนนั้นเป็นกับดัก  
แต่ผู้ที่วางใจในองค์พระผู้เป็นเจ้าจะได้รับความปลอดภัย 
(สุภาษิต 29:25 ผู้เขียน)

เมื่อเราศึกษาพระวจนะของพระเจ้า  เราจะเห็นตัวอย่างแล้วตัวอย่างเล่าของคนที่ชีวิตต้องล้มลงเป็นเหยื่อของความกลัว   และเมื่อผู้ใดที่ล้มลงเพราะความกลัว ชีวิตของคนๆ นั้นก็ประสบกับความหายนะที่ตามมา

อับราฮัมเป็นผู้ที่รู้จักกันทั่วไปว่าเป็นบิดาแห่งความเชื่อ   แต่อย่าลืมว่า อับราฮัมเคยพูดความจริงเพียงครึ่งเดียว หรือ โกหกว่านางซาราห์เป็นน้องสาวของตนเพราะท่านกลัวว่าคนอื่นจะฆ่าทำร้ายตนเพื่อแย่งชิงเอานางซาราห์ไป...   อับราฮัมทำเช่นนี้ตั้งสองครั้งสองครา (ปฐมกาล 12:10-20 และ 20:1-18)    ที่ว่าอับราฮัมพูดความจริงเพียงครึ่งเดียวเพราะแท้จริงแล้วซาราห์เป็นน้องสาวต่างมารดา (20:12)   และความจริงอีกครึ่งหนึ่งคือนางเป็นภรรยาของอับราฮัมด้วย

เอลียาห์ผู้เผยพระวจนะที่มีความกล้าหาญในประวัติศาสตร์ของอิสราเอล   แต่เขาต้องวิ่งหนีหลบลี้ไปอยู่ในถ้ำเพราะเขากลัวกษัตริย์อาหับและพระนางเยเซเบลที่ประกาศจะไล่ล่าฆ่าเอลียาห์ให้ได้   เพราะเอลียาห์ได้สั่งประหารผู้ทำนายของพระบาอัลของนางจนหมดสิ้น   “เพราะนางเยเซเบลกล่าวอาฆาตต่อเอลียาห์ไว้ว่า “ขอให้พระทั้งหลายจัดการกับเราอย่างสาหัส  หากภายในพรุ่งนี้เวลาเดียวกันนี้  หากเรามิได้ปลิดชีวิตเจ้าเหมือนที่เจ้าทำกับคนของเรา” (1 พงศ์กษัตริย์ 19:2 อมตธรรม)   “เอลียาห์กลัว (นางเยเซเบล) จึงหนีเอาชีวิตรอด...”(19:3 อมตธรรม)   และชีวิตของเอลียาห์ล้มเหลวและตกต่ำลงถึงขนาดอธิษฐานให้ตัวเองตาย  กล่าวว่า “ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า   ข้าพระองค์ทนมามากพอแล้ว   ขอทรงเอาชีวิตของข้าพระองค์ไปเถิด...” (19:4)   เมื่อชีวิตของเอลียาห์ตกลงในกับดักที่กลัวเยเซเบลว่าจะมาฆ่าตนเอง   ชีวิตที่ล้มเหลวมิใช่หนีเท่านั้น   แต่บอกให้พระเจ้าเอาชีวิตของเขาไปดีกว่า   ชีวิตเอลียาห์ตกต่ำลงถึงเพียงนี้!

กษัตริย์ซาอูลผู้มีร่างกายกำยำสูงสง่าเหนือคนอิสราเอลทั้งหลาย   แต่เขาสิ้นแรงหมดทางสู้เมื่อเห็นร่างยักษ์อย่างโกลิอัท   เมื่อโกลิอัทท้าทายกองทัพอิสราเอล  พระคัมภีร์บันทึกไว้ว่า “เมื่อซาอูลและอิสราเอลทั้งสิ้นได้ยินถ้อยคำเหล่านี้ของคนฟีลิสเตียนั้น  พวกเขาก็ตกใจและหวาดกลัวยิ่งนัก” (1 ซามูลเอล 17:11 ฉบับมาตรฐาน)  “เมื่อคนอิสราเอลทั้งปวงเห็นชายคนนั้นก็วิ่งหนีไปและหวาดกลัวเขามาก” (17:24)   ทั้งกษัตริย์ซาอูลและประชาชนอิสราเอลต่างตกลงในกับดักแห่งความกลัว  วิ่งหนี  บอกกับตนเองว่าไม่มีทางที่จะสู้โกลิอัทได้   เพราะต่างมุ่งมองไปที่โกลิอัทด้วยความกลัว

เหตุการณ์ตรงกันข้าม   เมื่อดาวิดมาอยู่ในสถานการณ์วิกฤตินั้นเขามิได้มุ่งมองไปที่โกลิอัท   แต่เขามุ่งมองไปที่พระเจ้าผู้ทรงพระชนม์  เขาพูดกับทหารที่ยืนข้างเขาว่า “คนฟีลิสเตียผู้ไม่ได้เข้าสุหนัตคนนี้เป็นใคร  จึงมาท้าทายกองทัพของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่” (17:26)   แทนที่ดาวิดจะคิดว่าทหารอิสราเอลต้องหนีแต่เขากลับมองว่าทหารอิสราเอลเป็นกองทัพของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่   และนี่คือความแตกต่างเมื่อเรามุ่งมองที่พระเจ้าในทุกสถานการณ์ชีวิตของเรา   แทนที่จะมองที่มนุษย์ผู้สร้างปัญหาที่เกิดขึ้น   ดาวิดบอกกับกษัตริย์ซาอูลว่า  “องค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงช่วยข้าพระบาทจากเขี้ยวเล็บของสิงโตและหมี  จะช่วยข้าพระบาทจากมือชาวฟีลิสเตียผู้นี้ (17:37 อมตธรรม)

เราจะพบบุคคลต่างๆ ในพระคัมภีร์ที่ตกอยู่ในสภาพเช่นที่กล่าวข้างต้นที่จบลงอย่างน่าเศร้า   การที่เรากลัวคนมิใช่สิ่งที่ดี   ดังนั้น พระวจนะของพระเจ้าจะเตือนเราที่จะไม่ตกลงในกับดักของความกลัวต่อมนุษย์   และพระคัมภีร์กล่าวว่าการที่เรากลัวคนนั้นเป็นหลุมพรางในชีวิตของเรา

อะไรคือกับดักและมันกระทำอย่างไรต่อชีวิตของเรา   ความกลัวมักจะนอนขวางข้างหน้าเรา   แล้วทำตัวเหมือนซื่อทื่อไม่รู้ภาษีภาษาอะไร   แต่เมื่อใดก็ตามที่เราตกลงในกับดักของมัน   มันจะเกาะกุมรัดแน่นจนเราหมดแรง   แล้วทำให้เราไม่สามารถมีอิสระเป็นตัวของตัวเอง   ไม่สามารถที่จะมุ่งไปที่ที่ต้องการและที่ที่จำเป็นที่จะไป   นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อคนใดคนหนึ่งตกลงในความกลัว

พระเจ้าไม่ประสงค์ให้เราต้องตกลงในกับดักของการกลัวมนุษย์   พระองค์ประสงค์ให้เรารอดพ้นออกจากหลุมพรางหรือกับดักการกลัวมนุษย์    ดังนั้น พระองค์ทรงเตือนเราเสมอว่า   ในทุกสถานการณ์ชีวิตไม่ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นกับเรา  หรืออะไรที่อาจจะเกิดขึ้นกับเรา  ให้เรา “มุ่งมองไปที่พระองค์เท่านั้น”   ให้เรามองตรงไปที่องค์พระผู้เป็นเจ้าและไว้วางใจในพระประสงค์ของพระองค์   เพื่อที่เราจะไม่ก้าวลงในหลุมพรางของการกลัวมนุษย์   ในเวลาเช่นนั้นเองชีวิตของเราจะครอบครองโดยพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่   ที่เรารู้และมั่นใจว่าชีวิตของเรามีผู้ที่รับผิดชอบ  ปกป้อง และดูแลเอาใจใส่   และเป็นการเอาใจใส่ปกป้องที่ใหญ่ยิ่งมั่นคงกว่ามนุษย์ชายหญิงทั้งหลาย และ ความสามารถของมนุษย์ทั้งปวง   ชีวิตของเราถูกห้อมล้อมด้วยความปลอดภัยมั่นคงจากพระเจ้า   และเรารู้อยู่เต็มอกว่า  ไม่มีอะไรที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตของเราได้ถ้าพระองค์มิได้อนุญาตให้เกิดขึ้น   และถ้าพระองค์อนุญาตให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นแสดงว่าพระเจ้ามีพระประสงค์จะทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตและผ่านชีวิตของเรา

วันนี้   อย่ามุ่งมองจ้องไปที่ความกลัวของเราที่มีต่อมนุษย์    แต่ให้เรามุ่งมองจ้องไปที่องค์พระผู้เป็นเจ้าด้วยความไว้วางใจในพระองค์แล้วเราจะได้รับกำลังและความปลอดภัย   ยิ่งกว่านั้นเราจะได้เรียนรู้ถึงพระประสงค์ของพระองค์ในชีวิตของเราชัดเจนยิ่งๆ ขึ้น

ในวันนี้  เวลาใดก็ตามที่เรารู้สึกว่ากลัว ท้อแท้  หมดกำลัง   โปรดตระหนักรู้ตัวว่า  เรามิได้มุ่งมองที่องค์พระผู้เป็นเจ้า   แต่เรากำลังตกลงในหลุมพรางที่ความกลัวในมนุษย์วางดักชีวิตของเรา   ให้เรารีบหันกลับไปมุ่งมององค์พระผู้เป็นเจ้าด้วยความไว้วางใจในพระองค์

เพราะว่าพระเจ้ามิได้ประทานใจที่ขลาดกลัวแก่เรา  
แต่ประทานใจที่ประกอบด้วยฤทธานุภาพ ความรัก และการบังคับตนเองแก่เรา
(2 ทิโมธี 1:7 ฉบับมาตรฐาน)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

24 กันยายน 2555

อย่าทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องที่ใหญ่


อ่าน 2 ทิโมธี 2:23-26                       

อย่ายุ่งเกี่ยวกับการทุ่มเถียงที่โง่เขลา และ ไม่เป็นสาระ
ท่านก็รู้ว่าสิ่งเหล่านั้นทำให้เกิดการทะเลาะกัน
(2 ทิโมธี 2:23)

ในคริสตจักร หรือ ในที่ทำงานของเรา  ต่างเป็นที่ที่คนมาชุมนุม มาพบกัน และมาทำงาน ทำกิจกรรมร่วมกัน   และเราต่างทราบแล้วว่า  แต่ละคนที่มาพบกันนี้ต่างมาจากภูมิหลังชีวิตที่แตกต่างหลากหลาย   แต่ต้องมามีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน   มีทั้งเกษตรกร  ครู  พยาบาล  แพทย์  ช่างซ่อมรถยนต์  นักคอมพิวเตอร์  แม่บ้าน พ่อบ้าน  นักเรียน  นักศึกษา  นักกฎหมาย  นักศิลปะ  นักดนตรี  สถาปนิก  ช่างกลึง  แม่ค้าในตลาด   คนที่มีความสามารถ อีกทั้งคนเหล่านี้มีความคิดเห็น ความเข้าใจชีวิต  และมีประสบการณ์ชีวิตที่ไม่เหมือนกัน   แต่คนเหล่านี้มาร่วมกันในจุดเดียวกันคือ  ที่ทำงาน หรือ ในคริสตจักร

นั่นหมายความว่า  เมื่อคนที่มีชีวิตที่ถูกบ่มเพาะมาที่ไม่เหมือนกัน  จึงมีภูมิหลังความคิดที่แตกต่างกัน   แต่เมื่อมาอยู่ด้วยการ  ต่างมีเสรีในการที่จะแสดงความคิด ความเห็นของตน   แต่เมื่อเกิดการแสดงความคิดความเห็นที่ไม่เหมือนกัน  แตกต่างกัน ในที่ทำงาน หรือ ในคริสตจักร  ซึ่งต้องถือว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้บ่อยและธรรมดา  แต่ถ้าเมื่อใดก็ตาม  ที่ความคิดความเห็นที่ไม่เหมือนและแตกต่างกันทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็น “ความคิดความเห็นที่ขัดแย้งกัน”  ไม่เห็นด้วยกัน   ย่อมก่อให้เกิดการถกเถียง   เกิดการพิสูจน์ว่าความคิดใดถูกและความเห็นใครผิด เมื่อนั้น  ความคิดความเห็นที่หลากหลาย  พัฒนาสู่การชี้ความแตกต่าง   และเป็นเครื่องล่อให้นำไปสู่การชี้ว่าความคิดความเห็นของใครผิดและใครถูก   ในระดับนี้ความคิดความเห็นของบุคคลก่อเกิดผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในสังคมนั้นๆ  ไม่ว่าจะเป็นในที่ทำงาน หรือ ในคริสตจักรก็ตาม

ในฐานะคริสตชน และ ชุมชนคริสตจักร   ความแตกต่างหลากหลาย และ ความไม่เหมือนกันในเรื่องความคิดความเห็น   ไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่เราจะอยู่ด้วยกันไม่ได้    แต่ที่ผ่านมาเรามีแนวโน้มที่จะกระตุ้นหนุนเสริมให้ความแตกต่างทางความคิดความเห็นส่วนบุคคล   กลับกลายพัฒนาสู่ความคิดเห็นที่แตกต่าง   และมักกระตุ้นให้เป็นความคิดเห็นที่ขัดแย้ง   แท้จริงแล้วมิใช่ความคิดเห็นที่ขัดแย้งหรอก   แต่เป็นความรู้สึก และความในใจที่ขัดแย้งกันมากกว่า   นั่นก็คือแท้จริงเรื่องเล็กถูกกระตุ้นให้เป็นเรื่องใหญ่เพราะมีความพยายามทำให้ความคิดเห็นที่ไม่เหมือนกันเกิดการแบ่งแตกความสัมพันธ์ที่แตกต่างกัน   และที่สำคัญคือการสร้างความแตกต่างจนขัดแย้งเพื่อเสริมสร้างคุณค่าในตนเองให้เด่นชัดเหนือกว่าคนอื่น  กล่าวคือ  “ฉันถูกเธอผิด”

แต่ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า  เราต้องละทิ้งจุดยืนบนรากฐานความเชื่อความคิดของเรา   แล้วปล่อยให้โอนเอนไปตามลมปาก หรือ สภาพแวดล้อมเหมือน “ไม้หลักปักขี้ควาย”   ในความเป็นคริสตชน  และในความเป็นชุมชนคริสตจักร   ผู้เชื่อต้องยืนมั่นคงบนรากฐานความเชื่อความศรัทธาของเราที่หยั่งรากลึกลงในพระวจนะของพระเจ้า   และเมื่อเกิดความคิดเห็นที่ต่างกัน  หรือถูกผลักดันให้เกิดความขัดแย้งในความคิดเห็นกัน   คริสตชนจะพยายามที่จะไม่ใช้การ “โต้แย้ง โต้เถียง” กันที่ลึกๆ คือต้องการที่จะเอาแพ้เอาชนะกัน  ต้องการแสดงให้คนอื่นเห็นว่าตนเป็นผู้ถูกต้อง   ในที่นี้คงต้องบอกว่า  ชุมชนคริสตจักร และ คริสตชนไม่ควรใช้กระบวนการรูปแบบที่ใช้กันใน “รัฐสภาฯ”  มาเป็นรูปแบบในชุมชนคริสตจักรของเรา

เปาโลบอกกับทิโมธีให้ตักเตือนสมาชิกในคริสตจักรว่า  “จงให้พวกเขาทั้งหลายระลึกถึงข้อนี้  และกำชับเขาเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า   ไม่ให้โต้แย้งเรื่องถ้อยคำซึ่งไม่เป็นประโยชน์เลย” (2 ทิโมธี 2:14 ฉบับมาตรฐาน)  เพราะเช่นนั้นแล้ว   การโต้เถียงของคริสตชน และ ชุมชนคริสตจักร   จะนำมาซึ่งการทำให้พระเจ้าเสื่อมพระเกียรติ์   ในสถานการณ์ที่มีแนวโน้มนำให้เราต้องโต้เถียงขัดแย้งกันในชุมชน   เราควรสงบและทูลถามพระเจ้าว่า   ในสถานการณ์นี้พระองค์มีพระประสงค์ให้เราทำอย่างไร  ให้เราพูดอะไร  หรือไม่ให้เราพูดอะไร   กล่าวคือเราเลือกที่จะทำตามพระประสงค์ของพระเจ้ามากกว่าเลือกที่จะทำตามใจปรารถนาของเราเอง

“ส่วนผู้รับใช้ขององค์พระผู้เป็นเจ้าจะต้องเป็นคนที่ไม่ชอบทะเลาะ  
แต่ต้องมีใจเมตตาต่อทุกคน   เป็นอาจารย์ที่เหมาะสมและมีความอดทน   
แก้ไขความคิดเห็นของฝ่ายตรงกันข้ามด้วยความสุภาพอ่อนโยน  
เพราะพระเจ้าอาจโปรดให้เขากลับใจและมาถึงความรู้ในความจริง  
และหลุดพ้นจากบ่วงของมาร ผู้ซึ่งดักจับพวกเขาไว้ให้ทำตามความประสงค์ของมัน”
(2 ทิโมธี 2:24-26)

เปาโลกล่าวถึงการที่คนในคริสตจักรที่เกิดการขัดแย้งถึงขนาดที่ต้องเป็นคดีความกัน  ต้องไปขึ้นโรงขึ้นศาล  เปาโลได้แสดงความคิดเห็นและตั้งคำถามที่เราคริสเตียนต้องตอบว่า
“อันที่จริงที่ท่านเป็นคดีความกันในหมู่พวกท่านก็หมายความว่าท่านได้พ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิงแล้ว   ทำไม(ท่าน)ไม่(ยอม)เป็นฝ่ายถูกรังแก   ทำไม(ท่าน)ไม่ยอมเป็นฝ่ายถูกโกง” (1โครินธ์ 6:7 อมตธรรม  คำในวงเล็บเพิ่มโดยผู้เขียนเมื่อเทียบกับฉบับมาตรฐาน)

นี่คือจุดยืน หลักการ และแนวทางของคริสตชนเมื่อเกิดการโต้เถียงขัดแย้งขึ้นในชุมชนคริสตจักร หรือในที่ทำงานที่คริสตชนทำงานร่วมกับคนอื่น 

หลักการในเรื่องนี้คือ  ไม่ยอมเข้าไปมีส่วนร่วมในการทะเลาะ

จุดยืน หรือ รากฐานในเรื่องนี้คือ  มีใจเมตตา และ อดทนต่อทุกคน

แนวทางการจัดการในเรื่องนี้คือ แก้ไขสิ่งที่ความแตกต่างขัดแย้งด้วยความสุภาพอ่อนโยน

และที่สำคัญคือ   การบริหารจัดการอย่างเกิดผลในเรื่องนี้มิใช่ความสามารถเก่งกาจของเราเองครับ   แต่พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าจะทรงกระทำกิจของพระองค์ตามพระประสงค์   ซึ่งมากกว่าการป้องกัน หรือ แก้ไขความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นเท่านั้นครับ   แต่พระองค์จะทรงช่วยคนในชุมชนคริสตจักร  ตัวของเรา  และเพื่อนของเรา “หลุดรอดพ้นจากบ่วงของมาร” (กับดักของอำนาจชั่ว)   แต่เกิดการเรียนรู้ถึงความรู้ในความจริงขององค์พระผู้เป็นเจ้าร่วมกันครับ

ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญ

1. ท่านเคยมีประสบการณ์ในการโต้เถียงเรื่องหลักคิดหลักเชื่อที่แตกต่างกันหรือไม่?   โต้เถียงกันในเรื่องอะไร?   เกิดผลอะไรบ้างจากการโต้เถียงกัน?

2. ถ้าวันนี้เกิดความคิดเห็นที่ขัดแย้งกัน  มีแนวโน้มที่จะต้องโต้เถียง  หรือพิสูจน์ว่าใครผิดใครถูก   ท่านจะมีแนวทางขั้นตอนในการจัดการเรื่องนี้อย่างไร ในฐานะคริสตชน?

3. มีใครบ้างไหมที่ท่านเคยโต้เถียงในหลักคิดหลักเชื่อที่แตกต่างกัน  จนมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์   ถ้ามีให้ท่านอธิษฐานทูลขอต่อพระเจ้า   โปรดเปิดเผยทางหรือโอกาสที่ท่านจะกลับไปขอโทษ และ สร้างการคืนดีกัน   ตามหลักการ จุดยืน และแนวทางข้างต้น   หรือ  ท่านอาจจะทูลถามพระเจ้าว่าพระองค์ประสงค์ให้ท่านทำเช่นไรในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

21 กันยายน 2555

ไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลวัฒนธรรมคนชอบเยาะเย้ย


อ่านพระธรรม สดุดี 1:1-6

ความสุขมีแก่คนเหล่านั้น...
ที่ไม่เดินตามรอยเท้าของคนชั่ว
หรือยืนอยู่ในทางของคนบาป
หรือนั่งอยู่ในที่นั่งของคนชอบเยาะเย้ย
(สดุดี 1:1 อมตธรรม)

เราท่านใช้ชีวิตอยู่ในสังคมปัจจุบันที่มีวัฒนธรรมที่ชอบเยาะเย้ยถากถาง

คนที่พูดจาเยาะเย้ยเหน็บแนมคนอื่นคือคนที่มักมองว่าตนเองดีกว่า และ เหนือกว่าคนอื่น!   เขาจะพูดจาเยาะเย้ยถากถางคนๆ นั้นเมื่อเขาไม่ชอบหน้า  ไม่ชอบความคิด  ไม่ชอบท่าทีที่คนนั้นแสดงออก   ซึ่งการพูดแบบเยาะเย้ยถากถางมักเป็นการพูดที่หลีกเลี่ยงความรับผิดชอบในสิ่งที่ตนพูดถึงคนๆ นั้น   เป็นการพูดและแสดงออกอย่างไม่ให้เกียรติและนับถือต่อคนๆ นั้น   และเป็นการพูดจาที่ “ถล่ม” คนอื่นที่คนที่ถูกเยาะเย้ยนั้นไม่มีโอกาสที่จะชี้แจงความจริง และ  ปกป้องตนเอง   จุดประสงค์ในส่วนลึกแห่งหัวใจของคนชอบเยาะเย้ยเหล่านี้   คือการบดขยี้ ทำร้ายและทำลายคนที่ตนไม่ชอบ  หรือคนที่ตนมองว่าเป็นศัตรู คู่ปรปักษ์  คนที่ตนไม่อยากให้คนอื่นเชื่อถือ และในเวลาเดียวกันก็พยายามพูดเพื่อยกตนเองให้สูงเด่นขึ้นเหนือคนอื่น

การพูดเยาะเย้ยถากถางทำลายคนอื่นกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาในสังคมของเราในปัจจุบัน   กลายเป็นเส้นทางหนึ่งที่จะเลือกเดินได้ในวัฒนธรรมของเราทุกวันนี้   ในที่นี้ขอแยกออกจากการเขียนภาพล้อเลียนในหนังสือพิมพ์   แต่หมายถึงลักษณะท่าทีของคนที่ตั้งใจเยาะเย้ย  ถากถาง เพื่อความสะใจ   สิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลถึงขนาดสื่อสารเผยแพร่ทั้งในทางโทรทัศน์ และ อินเตอร์เน็ท

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ในยุคในเวลาของการหาเสียงทางการเมืองไม่ว่าประเทศเล็กหรือมหาอำนาจนักการเมืองทั้งขั้วหัวก้าวหน้า หรือ อนุรักษ์นิยม ต่างตกใต้อิทธิพลของการพูดจาเยาะเย้ย ถากถาง สร้างความเสื่อมเสียแก่ผู้อื่น  และมักเป็นการพูดจาความจริงเพียงครึ่งเดียว   อิทธิพลความชั่วของการพูดจาถากถางเยาะเย้ยเช่นนี้ไม่วายที่จะเข้ามามีอิทธิพลในวงการคริสต์ศาสนาในประเทศไทยของเราอย่างซึมลึกและรุนแรง   และคนที่ต้องตกใต้อิทธิพลชั่วเช่นนี้มิใช่ใครที่ไหนอื่นไกลเลย   กลับพบว่าก็เป็นผู้นำทางศาสนาคริสต์ที่เข้าไป “เล่นการเมือง”  แล้วตกลงในกับดักใช้การพูดจาเยาะเย้ยเป็นเครื่องมือในการทำลายคนอื่นโดยเฉพาะคู่แข่ง  แล้วสร้างความถูกต้องชอบธรรมแก่ตนเอง

ในวัฒนธรรมที่เปียกเปื้อนด้วยการพูดจาเยาะเย้ย ถากถาง เพื่อทำลายคนอื่น   เป็นการง่ายเหลือเกินที่คริสตชนจะตกลงใต้การครอบงำแห่งวิญญาณชั่วของการดูหมิ่น ดูถูก เยาะเย้ย   วิญญาณที่หาทางทำร้ายทำลายคนอื่นอย่างไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตน   อย่างที่กล่าวข้างต้นแล้วว่า   การพูดเยาะเย้ยคนอื่นมิเพียงแต่เป็นการเหยียบบี้ขยี้คนที่ตนไม่ชอบขี้หน้า ความคิด คู่ปรปักษ์ทางการเมืองเท่านั้น   แต่ยังยกตนข่มท่านให้คนอื่นเห็นว่าตนนั้นอยู่เหนือกว่าคู่ต่อสู้

ในภาวะกาลเช่นนี้   ให้เราฟังเสียงเตือนของผู้ประพันธ์ สดุดี 1:1

ผู้เขียนพระธรรมสดุดี 1:1 บอกเราว่า  “ความสุข” หรือ คนที่มีชีวิตตามพระประสงค์ของพระเจ้านั้น  คือคนที่  ...
ไม่เดินตามรอยเท้าของคนชั่ว” 
ไม่ยืนอยู่ในทางของคนบาป”  และ 
ไม่นั่งในที่นั่งของคนชอบเยาะเย้ย” 
ทำให้คิดถึงพระธรรมเฉลยธรรมบัญญัติ 6:4-9   ที่เตือนอิสราเอลให้รักพระเจ้าด้วยสุดจิตสุดใจและสุดกำลัง  และให้พูดถึงถ้อยคำของพระเจ้าทั้งที่อยู่ในบ้าน  เดินไปตามทาง  ไม่ว่าจะนอนหรือจะลุกขึ้น   ให้ถ้อยคำของพระเจ้าผูกติดที่มือ(การกระทำ)  ที่เท้า(ทางชีวิตที่จะดำเนินไป)  คาดไว้ที่หน้าผาก(ความคิด  แนวทางการคิด และ  การ ตัดสินใจ)

วลีสุดท้ายของสดุดี 1:1 เขียนไว้ว่า “นั่งอยู่ในที่นั่งของคนชอบเยาะเย้ย”  หรือคนที่ชอบถากถาง  พูดจาดูหมิ่น ดูถูกดูแคลนคนอื่น  พูดจาที่เหยียดหยาม ไม่เคารพคนอื่น   ศัพท์ภาษาฮีบรูที่ใช้ในพระธรรมข้อนี้คือ letzim  (เลทซิม)  ซึ่งคำฮีบรูคำนี้ที่ใช้ในพระธรรมสดุดี  แต่เราก็สามารถพบการใช้ในพระธรรมสุภาษิต เช่น  มองว่าคนที่ชอบเยาะเย้ยคือคนโง่ (สุภาษิต 1:22)   คนที่ชอบเยาะเย้ยเป็นคนที่ไม่ยอมรับคำตักเตือน  “คนที่ตักเตือนคนชอบเยาะเย้ยมีแต่จะถูกตอกกลับ  คนที่ตักเตือนคนชั่วร้าย  มีแต่จะถูกทำร้าย” (สุภาษิต 9:7 อมตธรรม)   คนที่ชอบเยาะเย้ย  เป็นผู้ที่หยิ่ง จองหอง และยโสโอหัง  “คนเย่อหยิ่ง คนจองหอง มีชื่อว่า “นักเยาะเย้ย”  เขาทำด้วยยโสโอหัง” (สุภาษิต 21:24 อมตธรรม) 

ในพระธรรมสดุดี บทที่ 1 ไม่ได้บอกให้เราเลิกหรือไม่คบค้าสัมพันธ์กับคนชอบเยาะเย้ย   แต่ผู้เขียนสดุดีบอกเราว่า  เราไม่เดิน  ไม่ยืน และ ไม่นั่งในที่ของคนชอบเยาะเย้ย   ทั้งนี้เพราะถ้าเราเข้าไป “ร่วมวงไพบูลย์กับพวกชอบเยาะเย้ย”  เราจะถูกเชื้อโรคร้ายของการเยาะเย้ยแผ่อิทธิพลเข้ามาครอบงำทั้งชีวิตของเรา   เรารักเราสัมพันธ์เพราะเขาเป็นคนหนึ่งที่มีคุณค่าในสายพระเนตรของพระเจ้า   แต่เราต้องระมัดระวังอย่างยิ่งที่จะไม่ตกในกับดักที่จะ นั่ง ยืน และ เดินร่วมกับเขาในการเยาะเย้ย

พระธรรมในวันนี้ท้าทายให้เราต้องกลับมาใคร่ครวญพิจารณาถึงนิสัยของเราเองว่า  

เรามีท่าทีและคำพูดที่เยาะเย้ยคนที่เราไม่ชอบขี้หน้า   คนที่คิดต่างจากเรา   คนที่อยู่ต่างพรรคต่างพวกต่างกลุ่มการเมืองจากเราหรือไม่?  

เราได้พูดจาดูหมิ่นคนอื่นและความคิดของเขาหรือไม่?  

แล้วเราตกอยู่ใต้การครอบงำของอิทธิพลวิญญาณชั่วในการชอบเยาะเย้ยหรือไม่?  

หรือว่าทุกวันนี้ เราเกี่ยวข้องสัมพันธ์ด้วยความจริงใจ รับผิดชอบต่อคนอื่น  ด้วยจิตใจที่เคารพ  ยอมรับ  ยอมฟัง ในความคิดของเขา  แม้จะดูแปลกแตกต่างจากเราก็ตามหรือไม่?   คำถามสุดท้ายครับ

แล้วเราได้สำแดงความรักเมตตาของพระคริสต์แก่ทุกผู้ทุกคน  แม้แต่คู่ปรปักษ์  ศัตรูคู่อาฆาตของเราหรือไม่?

ใคร่ครวญภาวนา

ข้าแต่พระเจ้า   เป็นการเสี่ยงอย่างมากที่ข้าพระองค์จะตกลงอยู่ใต้การครอบงำของวิญญาณแห่งการเยาะเย้าคนอื่น   บ่อยครั้งที่ข้าพระองค์มิได้พูดจาเยาะเย้ยคนอื่น  แต่ข้าพระองค์คิดเยาะเย้ยคนอื่นในใจ  ขอพระองค์โปรดเมตตาอภัยความบาปผิดของข้าพระองค์ด้วย   เพราะง่ายเหลือเกินที่ข้าพระองค์จะดูถูกดูหมิ่น และ หัวเราะเยาะคนที่คิดต่างจากข้าพระองค์  คนที่ข้าพระองค์ไม่ชอบขี้หน้า   ข้าแต่พระเจ้าโปรดเมตตา  อภัยโทษ  และโปรดเปลี่ยนชีวิตของข้าพระองค์ด้วย

พระองค์เจ้าข้า  โปรดช่วยข้าพระองค์เอาใจใส่ สนใจผู้อื่นด้วยความจริงใจ   ให้ความเคารพนับถือคนอื่นแม้คนๆ นั้นแสดงออกถึงการไม่เคารพนับถือข้าพระองค์ก็ตาม   และโปรดช่วยข้าพระองค์ที่จะติดต่อสัมพันธ์กับผู้คนที่ชอบเยาะเย้ย ถากถาง และดูหมิ่นคนอื่น อย่างสร้างสรรค์ตามพระประสงค์ของพระองค์ในแต่ละสถานการณ์   เพื่อว่าการกระทำเช่นนี้จะทำให้เกิดการยกย่องสรรเสริญพระองค์  อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

19 กันยายน 2555

จิตใจ...ตัวล่อลวง


อ่านพระธรรมเยเรมีย์ 17:5-11

จิตใจก็เป็นตัวล่อลวงเหนือกว่าสิ่งใดทั้งหมด
มันเลวทรามอย่างเลวร้ายทีเดียว
ใครจะรู้จักใจนั้นเล่า
(เยเรมีย์ 17:9 อมตธรรม)

เพราะพระเจ้าทรงรักประชากรของพระองค์    ดังนั้น พระองค์จึงทรงเตือนถึงภัยอันตรายที่เข้ามาเผชิญหน้าพวกเขา   และภัยอันตรายที่น่ากลัวอย่างยิ่งสำหรับประชากรของพระองค์นั้น   มิใช่สิ่งที่ถาโถมจู่โจมจากภายนอก   แต่สิ่งที่เป็นภัยอันตรายสุดๆ ของประชากรของพระองค์กลับเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ชิดมนุษย์มากที่สุด

ใช่ครับ  คือจิตใจของมนุษย์เอง!

เมื่อพูดถึง “จิตใจ” ในพระธรรมตอนนี้มีความหมายครอบคลุมไปถึง  ความคิด  ความเข้าใจ  สติปัญญา  เหตุผล   และความมุ่งมั่นตั้งใจของมนุษย์   คนยิวเรียกสิ่งเหล่านี้รวมกันว่า “จิตใจ”  พระเจ้าทรงเตือนประชากรของพระองค์ผ่านผู้เผยพระวจนะเยเรมีย์ว่า  จิตใจของมนุษย์นั้น “เลวทรามอย่างเลวร้าย”   และบอกอีกว่า  จิตใจมนุษย์นั้น “เป็นตัวล่อลวงเหนือกว่าสิ่งอื่นใดทั้งหมด”   เพราะมันล่อลวงแม้แต่ตนเอง   แม้แต่ในวัฒนธรรมไทยของเราก็ยังมีคำกล่าวว่า “จิตมนุษย์นี้ไซร้ยากแท้หยั่งถึง” 

“จิตใจ” มักบอกกับตนเองว่า  ตนเป็นคนดี  ตนเป็นคนทำถูก  ตนเองไม่ได้เป็นผู้ทำผิด   ทั้งๆ ที่ทำผิดลงไปแล้ว   แต่มักจะกล่าวโทษโยนกลองให้คนอื่น  โทษสภาพแวดล้อม หรือ สถานการณ์แวดล้อมที่เป็นผู้ที่ทำให้เกิดความผิดพลาด   สิ่งที่ “จิตใจ” พยายามบอกกับตนเองคือ  ให้ตนเองวางใจในจิตใจของตนเอง   แต่พระเจ้าตรัสเตือนเราผ่านผู้เผยพระวจนะเยเรมีย์ว่า

“คำสาปแช่งตกอยู่แก่ผู้ที่วางใจในมนุษย์
พึ่งพละกำลังของเขา
และเอาใจออกห่างองค์พระผู้เป็นเจ้า”
(ข้อ 5 อมตธรรม)

แท้จริงแล้ว “จิตใจ” ที่เป็นทั้งความคิด ความเข้าใจ สติปัญญา เหตุผล และความมุ่งมั่นตั้งใจของมนุษย์ก็คือพลังที่ขับเคลื่อนการกระทำ และ ความประพฤติของคนๆ นั้น   ตราบใดที่ใครก็ตามพึ่งพิงแต่ “จิตใจ” ของมนุษย์หรือแม้กระทั่งพึ่งแต่จิตใจตนเอง   บ่อยครั้งจะพบว่าเราไม่สามารถรู้เท่าทันจิตใจของตนเอง จิตใจของมนุษย์   และในที่สุดผลร้ายก็เกิดขึ้นกับตนเอง   เพราะการที่คนใดคนหนึ่งเอาความคิดจิตใจยึดติดอยู่กับความนึกคิด และ สติปัญญาของตนเอง   เขาคนนั้นก็ไม่ได้ใกล้ชิด ติดสนิท และยึดมั่นในองค์พระผู้เป็นเจ้า   ในพระธรรมตอนนี้ใช้คำว่า “เอาใจออกห่างองค์พระผู้เป็นเจ้า”

ดังนั้น ในแต่ละวันพระเจ้าทรงเอาใจใส่ชีวิตทั้งชีวิตของเรา   ทั้งส่วนลึกในชีวิตและสิ่งที่ชีวิตสำแดงออกมาภายนอกให้เห็น  “...พระยาห์เวห์พิเคราะห์ดูจิตใจ และ ตรวจสอบความคิด   เพื่อให้บำเหน็จแก่ทุกคนตามผลการกระทำ   และตามความประพฤติของเขา (ข้อ 10 อมตธรรม)

ผู้เผยพระวจนะยืนยันชัดเจนว่า

“แต่ความสุขมีแก่ผู้ที่ไว้วางใจในองค์พระผู้เป็นเจ้า  ผู้ที่มีความเชื่อมั่นในพระองค์
เขาจะเป็นเหมือนต้นไม้ที่ปลูกไว้ริมน้ำ   ซึ่งหยั่งรากลงไปริมธารน้ำ
มันไม่กลัวความร้อนที่มาถึง  มันไม่วิตกในปีที่แห้งแล้ง  และไม่หยุดออกผล”
(ข้อ 7, 8 อมตธรรม)

ในวันนี้  ให้เราระมัดระวังที่จะไม่ไว้วางใจใน “จิตใจ” ของตนเอง  
ไม่วางใจในความคิด กำลัง สติปัญญา  และความมุ่งมั่นตั้งใจในตนเอง   
แต่ให้เราไว้วางใจและพึ่งพิงในพระวิญญาณ และ พระปัญญาของพระเจ้า  
แสวงหาพระประสงค์ของพระเจ้าในทุกสถานการณ์ชีวิต
ว่าพระองค์มีพระประสงค์อะไรในชีวิตของเราในเวลานั้นๆ  ในสถานการณ์นั้นๆ  
ให้เราไม่หวั่นไหวแม้ตกอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ที่เลวร้าย  
ถึงแม้ชีวิตจะถึงทางตันหาทางออกไม่ได้  
ถึงแม้ชีวิตจะได้รับความอยุติธรรม  ถูกข่มเหง  ถูกเอาเปรียบ  ถูกทำร้าย  
ในเวลาเช่นนั้น   อย่าพึ่งพละกำลัง ความสามารถ  สติปัญญา  และเชื่อใจตนเอง  
แต่ให้เราหันหน้าเข้าหาพระเจ้า 
เข้าใกล้ชิดติดสนิทกับพระองค์  
เชื่อมั่นและไว้วางใจพระองค์
เมื่อนั้นเราจะเห็นพระหัตถ์อันชูช่วยของพระองค์ท่ามกลางความโกลาหลแห่งชีวิต


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

17 กันยายน 2555

ชีวิต การงาน และพระประสงค์!


เวลาที่เราทำธุรกิจ หรือ ประกอบอาชีพการงาน  รวมไปถึงการรับจ้าง หรือ ขายแรงงาน   เรามักมองและคิดสิ่งที่เราทำอาชีพที่เราทำบนฐาน “คุณค่าเชิงเศรษฐกิจ”    ในฐานะคริสเตียนเราเชื่อและค่อยๆ เรียนรู้ชัดยิ่งขึ้นว่า   พระเจ้ายังทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์มาตลอดจนกระทั่งทุกวันนี้ 
พระเยซูคริสต์ตรัสว่า
“พระบิดาของเราทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์เสมอตราบจนทุกวันนี้
และเรากำลังทำงานเช่นกัน”
(ยอห์น 5:17 อมตธรรม)

เป้าหมายการกระทำพระราชกิจของพระองค์คือ พระราชกิจแห่งการกอบกู้  เสริมสร้างใหม่  การมาของแผ่นดินของพระเจ้าอย่างเป็นรูปธรรม  และการเกิดแผ่นดินโลกใหม่
พระเยซูคริสต์ตรัสว่า
“ขโมยนั้นมาเพียงเพื่อลัก ฆ่า และทำลาย
เราได้มาเพื่อเขาทั้งหลายจะมีชีวิต  และมีชีวิตอย่างครบบริบูรณ์”
(ยอห์น 10:10 อมตธรรม)

“พระวิญญาณขององค์พระผู้เป็นเจ้าทรงอยู่เหนือข้าพเจ้า
เพราะพระองค์ทรงเจิมตั้งข้าพเจ้าไว้
ให้ประกาศข่าวดีแก่ผู้ยากไร้
พระองค์ทรงใช้ข้าพเจ้ามาประการอิสรภาพแก่ผู้ถูกจองจำ
และให้คนตาบอดมองเห็น
ให้ปลดปล่อยผู้ที่ถูกกดขี่
ให้ประกาศปีแห่งความโปรดปรานขององค์พระผู้เป็นเจ้า”
(ลูกา 4:18-19 อมตธรรม)

เป้าประสงค์แห่งพระราชกิจของพระเจ้าคือ   การทรงกอบกู้ หรือ ไถ่ถอน มนุษย์ และ สรรพสัตว์ สรรพสิ่งทั้งสิ้นที่พระองค์ทรงสร้างให้หลุดรอดออกจากการครอบงำแห่งอำนาจของความชั่วร้ายในหลากหลายรูปแบบที่เราพบเจอในปัจจุบันนี้    
  • เพื่อให้มาอยู่ภายใต้การปกป้องคุ้มครองและการทรงปกครองในระบอบการปกครองด้วยพระคุณ (ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย หรือ เผด็จการจากคนหมู่มากและกลุ่มอำนาจ)
  • พระราชกิจของพระองค์ขับเคลื่อนด้วยระบบเศรษฐกิจพระคุณ (มิใช่ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม-เสรีนิยม   ที่มุ่งไขว่คว้าหาคุณค่าด้วยการได้กำไรและสั่งสมทุนให้มากยิ่งขึ้น   แล้วเกิดความรู้สึกว่านั่นเป็นความมั่นคงในเศรษฐกิจและคุณค่าในชีวิตของตน)  
  • พระราชกิจของพระเจ้ามุ่งมั่นไปสู่การมีคุณภาพชีวิตร่วมกัน “ในแผ่นดินของพระเจ้า”  ที่พระเยซูคริสต์ทรงนำมา เริ่มต้น  และค่อยๆ สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นในโลกนี้  
  • พระเยซูคริสต์ยังทรงเรียกให้สาวกของพระองค์ทุกคนที่จะสานต่อพระราชกิจดังกล่าวนี้ในพระนามของพระองค์ และด้วยพระกำลังของพระองค์ผ่านทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ในชีวิตประจำวัน และ การดำรงชีพ การทำมาหากินของแต่ละคน   ซึ่งเป็นพันธกิจชีวิตที่กระทำด้วยสำนึกในพระคุณของพระเจ้า (มิใช่ทำเพราะพระเจ้าสั่งให้ทำ  มิใช่ทำเพราะคิดว่า ไม่ทำไม่ได้เพราะนี่เป็นเป็นพระมหาบัญชาเท่านั้น)  “เราบอกความจริงแก่พวกท่านว่า  ผู้ที่เชื่อในเราจะทำสิ่งที่เรากำลังทำอยู่  เขาจะทำแม้กระทั่งสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านี้อีก...” (ยอห์น 14:12 อมตธรรม)  
  • รากฐานการกระทำพันธกิจชีวิตนี้มิใช่กระทำด้วยพลังอำนาจของ “เงิน หรือ ทุน”  แต่ด้วย “พลังอำนาจแห่งพระคุณ” และ จิตใจที่สำนึกในพระคุณของพระเจ้าที่ควรจะมีในสาวกเราท่านแต่ละคน
  • แท้จริงแล้ว เป็นพระราชกิจที่พระเจ้าทรงกระทำในชีวิตของเรา และ ผ่านชีวิตประจำวันของรา   ด้วยพลังจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ 


ดังนั้น   เมื่อเรากล่าวถึงการทำพันธกิจด้านใดๆ ก็ตาม   เราไม่สามารถกล่าวถึงการทำพันธกิจที่แยกออกเฉพาะต่างหากจากการกระทำกิจต่างๆ ในชีวิตประจำวัน แต่เป็นการทำพันธกิจชีวิตที่สานต่อจากพระราชกิจของพระเยซูคริสต์ที่มุ่งหมายให้เกิดแผ่นดินของพระเจ้าชัดเจนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น   ซึ่งเป็นพันธกิจชีวิตแห่งการทรงกอบกู้ ช่วยเหลือ ไถ่ถอน การสร้างชีวิตใหม่บนรากฐานแห่งพระคุณของพระเจ้า   เป็นการกระทำพันธกิจชีวิตที่เชื่อมสัมพันธ์เป็นเนื้อเดียวไปกับการดำรงชีพ การทำมาหากินในชีวิตประจำวันของสาวกแต่ละคนของพระเยซูคริสต์   ไม่ว่าจะเป็นการทำ...  
  • พันธกิจแห่งการสำแดงความรักเมตตาของพระคริสต์ 
  • พันธกิจแห่งการประกาศพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ 
  •  พันธกิจแห่งการเสริมสร้างชีวิตจิตวิญญาณของแต่ละคนให้เป็นสาวกของพระคริสต์และมีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงและพัฒนาเป็นเหมือนพระองค์มากยิ่งขึ้นทุกวัน  
  • พันธกิจชีวิตสามัคคีธรรมที่เอาใจใส่เกื้อกูล  หนุนเสริม  ช่วยเหลือกันและกันด้วยจิตใจที่ต้องการอภิบาลกันและกันทั้งในชุมชนคริสตจักร  ในครอบครัว  และในสังคม  และ
  • พันธกิจชีวิตที่มีพระเจ้าทรงเป็นเอกเป็นต้นเป็นรากฐานในการดำเนินชีวิต ในการทำมาหากิน  และในการรับใช้พระองค์  ในการคิดและการตัดสินใจของเรา   ด้วยจิตใจและจิตวิญญาณที่มีชีวิตที่นำมาซึ่งการยกย่อง สรรเสริญ  อันเป็นการนมัสการพระเจ้าด้วยจิตวิญญาณและความจริง


นอกจากที่คริสเตียนแต่ละคนพึงใคร่ครวญพิจารณาถึงเป้าหมายในการดำเนินชีวิตประจำวัน การงานอาชีพที่ทำให้สอดคล้องกับพระประสงค์ของพระเจ้า  ที่เป็นการสานต่อพระราชกิจของพระเยซูคริสต์ที่นำแผ่นดินของพระเจ้าเข้ามายังโลกนี้แล้ว   ยังเป็นการน่าท้าทายอย่างยิ่งที่เราจะพิจารณาถึงโรงเรียน  มหาวิทยาลัย และ โรงพยาบาลของคริสเตียนว่า  องค์กร หรือ สถาบันคริสเตียนเหล่านี้ก็เป็นผู้ที่ร่วมกันทำงานที่สานต่อจากพระราชกิจของพระเยซูคริสต์   และมีพระประสงค์ของพระเจ้าเป็นวิสัยทัศน์หรือนิมิตหมายในการดำเนินกิจการของตน   แท้จริงแล้ว สถาบันคริสเตียนเหล่านี้คือ “เครื่องมือ” การทำพระราชกิจของพระเจ้า   ที่นำพระคุณ และ พระพรไปยังประชาชนทั้งหลาย

โรงพยาบาลคริสเตียน   โรงเรียนคริสเตียน   มหาวิทยาลัยคริสเตียน  ที่มีพระประสงค์ของพระเจ้าเป็นวิสัยทัศน์นำของสถาบันเหล่านี้   มิได้พิจารณาเพียงว่า   สถาบันเหล่านี้มีพิธีนมัสการพระเจ้าในแต่ละวัน   มีกิจกรรมการประกาศพระกิตติคุณปีละ 1-2 กิจกรรม   หรือไม่ก็มีสัปดาห์ฟื้นฟูปีละครั้ง   มีการเฉลิมฉลองคริสต์มาส   มีการรีทรีตบุคลากรคริสเตียน   สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงกระพี้เท่านั้น  

สถาบันแต่ละแห่งจะต้องกลับมาพิจารณากันอย่างจริงจังว่า   ถ้าสถาบันนี้เป็นสถาบันของพระเยซูคริสต์จริง   พระองค์ประสงค์ให้สถาบันนี้ทำอะไรเป็นหลักในปัจจุบัน?  และพระองค์มีประสงค์ให้เราทำอะไร และ ทำอย่างไรในสถานการณ์ปัจจุบัน?

พระเยซูคริสต์มีพระประสงค์อะไรสำหรับโรงพยาบาลคริสเตียนในประเทศไทยปัจจุบัน ?  

ถ้าพระองค์ทำงานในโรงพยาบาลคริสเตียนในประเทศไทยปัจจุบัน   พระองค์จะทำอะไรและทำอย่างไร?   พระองค์ต้องการให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง?   พระองค์จะทำต่อคนไข้อย่างไร?   พระองค์จะทำต่อญาติคนไข้อย่างไร?   พระองค์จะบริหารจัดการอย่างไร?   พระองค์จะทำอย่างไรกับคนทำงานในโรงพยาบาล?   พระองค์จะทำอย่างไรในเรื่องความอยู่รอดของโรงพยาบาล?   พระองค์จะทำอย่างไรกับคนเจ็บคนป่วยที่ไม่มีเงินพอที่จะเสียค่ารักษาในโรงพยาบาล?    พระองค์จะทำอย่างไรกับคนไข้ที่เคยมารักษากับโรงพยาบาลคริสเตียนแล้วไม่สามารถเข้ามารับการรักษาต่อเนื่องอีกต่อไป?   พระองค์จะมีหลักเกณฑ์ในการเก็บค่ารักษาและบริการอย่างไร?    คนไข้และญาติที่ค้างชำระหรือเป็นหนี้โรงพยาบาลพระองค์จะบริหารจัดการอย่างไร?   ถ้าพระเยซูคริสต์เป็นเจ้าของโรงพยาบาลคริสเตียนเหล่านี้พระองค์จะให้โรงพยาบาลเหล่านี้มีภารกิจหลักอะไร?  

สภาคริสตจักร   มูลนิธิสภาคริสตจักร  มีหลักเกณฑ์แนวทางต่อคำถามเหล่านี้อย่างไรบ้าง?

สำหรับโรงเรียน และ สถาบันอุดมศึกษา (มหาวิทยาลัย) คริสเตียน   พระเยซูคริสต์มีพระประสงค์อะไรต่อสถาบันการศึกษาเหล่านี้ในสังกัดสภาคริสตจักร?   ถ้าพระเยซูคริสต์มาทำงานในสถาบันการศึกษาเหล่านี้ในประเทศไทยปัจจุบัน   พระองค์จะจัดการศึกษาแบบไหน?   มุ่งสู่ผลสัมฤทธิ์แบบใด?   พระองค์จะบริหารจัดการบุคลากรในสถาบันนี้แบบใด?   พระองค์จะมีแนวทางการคัดเลือกและเปิดโอกาสให้ใครบ้างที่เข้ามาเรียนในสถาบันเหล่านี้?   พระองค์จะบริหารจัดการอย่างไรกับค่าหน่วยกิต  ค่าเล่าเรียน?   พระองค์จะมีแนวทางบริหารอย่างไรกับความอยู่รอดของสถาบันกับการเอาจริงเอาจังในการสานต่อพระราชกิจของพระบิดา?   ถ้าพระเยซูคริสต์เป็นครูผู้สอนในสถาบันเหล่านี้   พระองค์จะเป็นครูแบบไหน และ พระองค์จะสอนอย่างไร?    ถ้าสถาบันการศึกษาเหล่านี้จะต้องทำธุรกิจการศึกษา อะไรคือจุดสมดุลระหว่างธุรกิจกับพันธกิจของสถาบัน?   และคงต้องตอบด้วยว่าทำไมจะต้องทำธุรกิจการศึกษา?   และคงต้องเน้นเด่นชัดว่า   โรงเรียนของพระเยซูคริสต์มีแนวทางเช่นไรต่อเด็กจรจัด  เด็กข้างถนน  เด็กรอโอกาส  เด็กชาติพันธุ์  เด็กลูกแรงงานต่างด้าว   เด็กที่พ่อแม่ยากจนหาเช้ากินค่ำ   หรือโรงเรียนของพระเยซูคริสต์มีไว้สำหรับพ่อแม่ที่สามารถจ่ายเงินกินเปล่าที่เรียกในนามว่า “เงินบริจาค”  “เงินช่วยสร้างตึก”  หรือ “เงินแปะเจียะ”

สภาคริสตจักร  มูลนิธิสภาคริสตจักร   มีหลักเกณฑ์หรือแนวทางที่ชัดเจนต่อคำถามเหล่านี้อย่างไรบ้าง?   ที่จะเป็น Guideline สำหรับสถาบันเหล่านี้ภายใต้สังกัดสภาคริสตจักรในประเทศไทย

ในการแสวงหาคำตอบเหล่านี้   จำเป็นอย่างยิ่งที่พระประสงค์ของพระเจ้าจะต้องเป็นตัวชี้นำของวิสัยทัศน์  เป้าหมาย  และพันธกิจของสถาบันเหล่านี้  

มิใช่พระประสงค์ของพระเจ้าเป็นพันธกิจหรือกิจกรรมเสริมของสถาบันเท่านั้น!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

14 กันยายน 2555

กับดักมหันตภัยชีวิตคริสเตียน


อ่านพระกิตติคุณมัทธิว 7:21-27

ประเด็นอ่อนไหว  รากฐานชีวิตคริสเตียนที่อ่อนแอ  ซึ่งอันตรายอย่างยิ่งต่อชีวิตจิตวิญญาณของเรา   แต่ท่านเชื่อหรือไม่ว่าสิ่งนี้กลับไม่ปรากฏให้เราเห็นอย่างชัดแจ้ง   และก็ไม่ได้ถูกนับว่าเป็นรายการความบาปยอดฮิตหนึ่งในสิบของคนเราอีกด้วย   แล้วก็ไม่ค่อยเป็นข่าวดังในความผิดบาปที่เราท่านมักกระทำเป็นประจำ   แต่แท้จริงแล้วกลับกลายเป็นอันตรายอย่างมหันต์ต่อชีวิตคริสเตียน  

แล้วมันคืออะไรกันแน่ที่ออกฤทธิ์อันตรายถึงขนาดนั้น?

ท่านยากอบเตือนคริสเตียนทั้งหลายให้ระวังระไวว่า...
“แต่(ท่าน)จงเป็นผู้ประพฤติตามพระวจนะ  ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ฟังเท่านั้น  มิฉะนั้นจะเป็นการหลอกตนเอง”
(ยากอบ 1:22 ฉบับมาตรฐาน)
พระเยซูคริสต์ตรัสกับผู้ที่กำลังฟังพระองค์ว่า...
“ไม่ใช่ทุกคนที่เรียกเราว่า
พระองค์เจ้าข้า  พระองค์เจ้าข้า  จะได้เข้าอาณาจักรสวรรค์  
แต่คนที่ทำตามพระประสงค์ของพระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์เท่านั้นที่จะได้เข้า
(มัทธิว 7:21 อมตธรรม)

ปัจจุบันนี้คริสเตียนเรามักจะฟัง หรือ อ่านพระวจนะของพระเจ้าเท่านั้น   แต่เราไม่ได้กระทำตามพระวจนะที่เราได้ยิน ได้ฟัง ได้อ่าน หรือไม่ได้ปฏิบัติตามพระวจนะที่เราได้รับทราบ และ รับรู้  

และที่เรื่องนี้เป็นความร้ายแรงก็เพราะว่า   เราคิด เรารู้สึกว่า เรื่องนี้เป็นธรรมดาของการเป็นคริสเตียน!  

เรามุ่งที่จะรับฟังรับรู้พระวจนะ  สะสมพระวจนะไว้ในความทรงจำ   ใคร่ครวญพระวจนะเพียงเพื่อเป็นความรู้   แต่พระวจนะมิได้ถูกใคร่ครวญแล้วประยุกต์เพื่อใช้เป็นแนวทางการดำเนินชีวิตของเรา

นั่นแสดงว่า “จิตสำนึก และ ความตระหนักชัด” ในชีวิตของเรา “ปิดกั้น” หรือ “เฉยเมย” ต่ออิทธิพลหรือฤทธิ์เดชแห่งพระวจนะของพระเจ้า

ทำให้ต้องถามต่อไปว่า   แล้วคริสเตียนคนๆ นั้นได้ “กลับใจ” หันมาหาพระเจ้า   และรับการเปลี่ยนชีวิตใหม่จากพระคริสต์แล้วหรือ?   หรือเป็นเพียงเห็นดีเห็นด้วยกับคำสอนในคริสต์ศาสนาเท่านั้น!  และรู้ว่าควรปฏิบัติตามนั้น   แต่ก็ไม่ได้นำไปปฏิบัติจริงในชีวิต   ถ้าเราไม่เรียกคนประเภทนี้ว่า เป็นคนที่ “ดื้อและด้านต่อพระวจนะของพระเจ้า”  แล้วจะให้เรียกว่าอะไรดี   และนี่คือจุดอันตรายที่สุดในชีวิตของคริสเตียนในปัจจุบัน

ที่กล่าวเช่นนี้เพราะ  นี่คือหลุมพราง/กับดัก ที่ทำให้ชีวิตคริสเตียนต้องล้มเหลวและพินาศ!  หลุมพราง หรือกับดักที่ว่านี้  คือการหลอกตนเองเรื่องพระวจนะของพระเจ้า  ตามที่ยากอบได้เตือนให้คริสเตียนระมัดระวัง

สำหรับพระเยซูคริสต์   พระองค์ตักเตือนและชี้ชัดในเรื่องนี้อย่างหนักแน่นว่าสำคัญยิ่ง   โดยได้สอนเป็นเรื่องอุปมาเปรียบเทียบไว้ว่า
“...แต่ทุกคนที่ได้ยินคำเหล่านี้ของเราและไม่ประพฤติตาม 
ก็เปรียบเสมือนคนที่โง่เขลา สร้างบ้านของตนไว้บนทราย  
แล้วฝนก็ตกน้ำก็ไหลเชี่ยว  ลมก็พัดปะทะบ้านนั้น  บ้านนั้นก็พังทลายลง  
และการพังทลายนั้นก็ยิ่งใหญ่” 
(มัทธิว 7:26-27 ฉบับมาตรฐาน)

พระเยซูทรงประณามคนที่ฟังแต่พระวจนะแต่ไม่ประพฤติตามว่าเป็นคนที่ “โง่เขลา”   และเมื่อเกิดวิกฤติชีวิตขึ้น  ชีวิตของคนเหล่านี้ก็จะ  “พังทลาย”  และพระองค์ทรงเน้นชัดหนักแน่นว่า  เป็นการพังทลายที่ยิ่งใหญ่ในชีวิต   มิใช่เป็นการพังทลายธรรมดาในชีวิตอย่างที่คิด!

นี่คือจุดวิกฤติอันตรายที่สุดในชีวิตคริสเตียนปัจจุบัน!

องค์พระผู้เป็นเจ้าได้เตือนเราที่เรียกตนเองว่าคริสเตียนในปัจจุบัน   อย่าสักแต่คิดว่าตนคือสาวกที่ติดตามพระเยซูคริสต์   คนที่เป็นสาวกของพระคริสต์ก้าวแรกคือการที่เปิดชีวิตจิตใจรับเอาเมล็ดแห่งพระวจนะของพระเจ้าเข้าในชีวิตของตน   และกระทำตามพระวจนะนั้นในชีวิตประจำวัน   แม้ตัวเราจะไม่มีกำลังเพียงพอที่จะทำตามพระวจนะทั้งสิ้นทั้งหมด   แต่พระวิญญาณบริสุทธิ์ที่สถิตในชีวิตเราจะเป็นกำลังให้เราสามารถทำตามพระวจนะของพระเจ้าได้

คริสเตียนปัจจุบันแสวงหาความรู้ในพระวจนะของพระเจ้าแต่ไม่สนใจที่จะปฏิบัติตาม

คริสเตียนปัจจุบันอยากรู้แต่ทฤษฎีด้านจิตวิญญาณแต่ไม่ต้องการมีชีวิตจากพระเจ้า

คริสเตียนปัจจุบันนิยมชมชอบ “ศาสนศาสตร์วันอาทิตย์  แต่ไม่สนใจและไม่รู้ศาสนศาสตร์วันจันทร์ถึงวันเสาร์”   กล่าวคือ เป็นสาวกของพระเยซูคริสต์ในวันอาทิตย์  และในบริเวณกรอบรั้วของโบสถ์เท่านั้น   มีความสุขกับการฟังคำเทศนา  ฟังเพลง  ร้องเพลง  การได้รับกำลังใจ   แล้วก็ออกไปจากโบสถ์    แต่ในวันจันทร์ถึงวันเสาร์คริสเตียนคนเดียวกันนี้กลับดำเนินชีวิตเหมือนคนที่ไม่มีพระวจนะของพระเจ้าเป็นแนวทางการดำเนินชีวิต   บางคนร้ายกว่านั้นมีชีวิตที่สวนทางขัดแย้งกับพระวจนะของพระเจ้า   แต่เขาก็ยังหลอกตนเองว่า เขาเป็นสาวกของพระคริสต์   เขารู้พระวจนะของพระเจ้าอย่างดี   แต่แท้จริงแล้วเขาเป็นคนที่ปฏิบัติและเชื่อฟังพระวจนะอย่างเลว

การที่พระวจนะของพระเจ้าจะถูกประยุกต์และปฏิบัติในชีวิตจริงของผู้ที่เชื่อนั้นมันไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเมื่อมาเป็นคริสเตียน    แต่เริ่มต้นที่เรามอบกายถวายชีวิตทั้งสิ้นแก่พระองค์ก่อน   และเอาใจใส่ต่อพระวจนะ  จากนั้น “ตั้งใจ” ที่จะปฏิบัติตามพระวจนะ   และสัตย์ซื่อจริงใจที่จะกระทำตามสิ่งที่เราได้ยิน ได้ฟัง และได้อ่านจากพระวจนะ

การที่เราท่านใคร่ครวญพระวจนะและอธิษฐานทุกเช้า-ค่ำอย่างที่เราท่านทำอยู่จะไม่เกิดผลเป็นประโยชน์อันใดเลย   ถ้าเราเพียงทำเป็นพิธี   ทำเพื่อเป็นศาสนพิธี   ทำเพื่อความสบายใจ   แต่มิได้นำเอาพระวจนะและสิ่งที่พระเจ้าทรงนำและเปิดเผยไปปฏิบัติตามในชีวิตจริงแต่ละวัน

ยากอบเตือนเราว่า   อย่าหลอกตนเองครับว่าเราเติบโตขึ้นในชีวิตการเป็นสาวกของพระคริสต์   ด้วยการรู้พระวจนะที่ปราศจากการกระทำตามพระวจนะ
พระเยซูตรัสว่า 
ความสุขมีแก่บรรดาผู้ได้ยินพระวจนะของพระเจ้า และเชื่อฟังต่างหาก
(ลูกา 11:28 อมตธรรม)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

13 กันยายน 2555

วันนี้พระคริสต์ยังทำงานอยู่


พระคริสต์มีพระประสงค์กระทำงานของพระองค์ผ่านชีวิตและการงานของเราท่านในวันนี้!
อ่าน พระธรรมโรม 15:14-19

ข้าพเจ้าไม่กล้ากล่าวสิ่งนอกเหนือจากสิ่งที่พระคริสต์ทรงกระทำผ่านทางข้าพเจ้า
ในการนำคนต่างชาติมาเชื่อฟังพระเจ้าด้วยสิ่งที่ข้าพเจ้าได้พูดและทำ
(โรม 15:18  อมตธรรม)

พระธรรมโรมตอนนี้ในบทที่ 15 เปาโลกล่าวถึงพันธกิจที่กระทำกับผู้เชื่อในกรุงโรม   ซึ่งผู้อ่านส่วนมากไม่เคยพบกับเปาโลมาก่อน   ในช่วงการเขียนจดหมายของเปาโลในตอนนี้   เปาโลมีความกระตือรือร้นในการทำพันธกิจกับคนที่ไม่ใช่ยิวเพื่อให้เกิดผลในชีวิตของกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้   ซึ่งแท้จริงแล้วคนที่ไม่ใช่ยิวมีมากมายทั่วไปในจักรวรรดิโรมัน   และคนกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ส่วนหนึ่งได้เกิดความเชื่อศรัทธาในพระคริสต์   และเขาเหล่านั้นได้มีชีวิตที่เป็น “เครื่องบูชา” ที่มีชีวิตอยู่ที่พระเจ้าพอพระทัย (ข้อ 16;  12:1)   มิใช่เครื่องบูชาที่เผาชำระด้วยไฟแห่งแท่นบูชาของพวกปุโรหิตในพระวิหารของยิว   แต่เป็นเครื่องบูชาที่ได้รับการเผาชำระด้วยไฟแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่พระเจ้าทรงประทานให้

อัครทูตที่กระทำพระราชกิจของพระคริสต์กับคนที่ไม่ใช่ยิวคนนี้ได้อธิบายชัดเจนว่า  ที่พันธกิจได้เกิดผลท่ามกลางบรรดาผู้เชื่อที่ไม่ใช่ยิวนั้น   ไม่ใช่เป็นความสามารถ  การทุ่มเท  มิใช่ผลงานที่แสดงถึงความฉลาดปราชญ์เปรื่องเหนืออัครทูตคนอื่นๆ   ที่ตนจะนำมาอวดอ้างว่าเป็นผลงานของตน  ตนเองเก่ง มีความสามารถ และมีคุณค่ามากกว่าคนอื่น   แต่เปาโลเขียนไว้อย่างชัดเจนว่า  ที่เกิดผลในชีวิตของคนไม่ใช่ยิวมากมายเช่นนี้เพราะเป็นพระราชกิจที่พระเจ้าทรงกระทำ  และทรงกระทำผ่านชีวิตและการงานที่ท่านทำในแต่ละวัน (ข้อ 18)

ไม่มีใครคัดค้านได้ว่า  เปาโลได้ทำงานหนักทุ่มเทกายใจและจิตวิญญาณลงในงานที่ตนกระทำ   แต่ตัวเปาโลเองกลับสำนึกเสมอว่า   ความสำเร็จจากการลงแรงลงชีวิตของตนนั้นมิใช่เพราะกำลังของตน  ความสามารถของตน  สติปัญญาของตน  ความรอบคอบของตน  การมองการณ์ไกลของตน   และมิใช่ความเป็นเลิศของตนในด้านใดด้านหนึ่ง   แต่ท่านยืนยันชัดเจนว่า   ที่เกิดผลสำเร็จเช่นนี้เพราะพระวิญญาณของพระเจ้าสถิตอยู่ด้วย  เป็นกำลัง และ พระปัญญาในการทำงานของท่าน   แท้จริงแล้วที่งานสำเร็จเช่นนี้เพราะพระคริสต์เองต่างหากที่ทรงกระทำพระราชกิจดังกล่าวในชีวิตของคนที่ไม่ใช่ยิว   ที่พระคริสต์ทรงหนุนเสริมเพิ่มพลังให้เปาโล กระทำพันธกิจด้วยความสัตย์ซื่อ  เป็นพยานชีวิตทั้งการกระทำการงานและคำพูดที่เหมาะสมกับชีวิตของคนไม่ใช่ยิวเหล่านั้น   จนกลุ่มคนกลุ่มนี้ยอมรับเชื่อศรัทธาว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดและเป็นเจ้านายหรือองค์พระผู้เป็นเจ้าในชีวิตประจำวันของเขา

การที่เปาโล บรรลุความสำเร็จในพันธกิจที่กระทำเพราะ  เปาโลรู้แต่เริ่มต้นกระทำพันธกิจว่า   งานนี้ไม่ใช่งานที่ตนเองอยากทำหรือต้องการทำ   แต่รู้ว่านี่เป็นการทรงเรียกของพระคริสต์ให้กระทำตามพระประสงค์ของพระองค์คือการประกาศให้คนที่ไม่ใช่ยิวได้รู้ถึงพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์   ประการหลักคือ สำนึกชัดแจ้งว่างานที่ทำไม่ใช่ทำตามใจปรารถนาของตนเอง   ทำตามนิมิตหมายของตนเอง   ทำตามแผนงานในใจของตนเอง   แต่สิ่งแรกคือทำตามพระประสงค์ของพระคริสต์   ต้องแน่ชัดก่อนว่า ที่พระคริสต์ทรงเรียกให้เรามาทำพันธกิจชิ้นนี้พระองค์มีพระประสงค์อะไร?   พระองค์ต้องการให้อะไรเกิดขึ้น?   พระองค์ต้องการให้บรรลุความสำเร็จเช่นไร?

จากนั้น  จึงพิจารณาและสรรหาทรัพยากรด้านต่างๆ ที่มีอยู่ในงานที่ตนทำ   ไม่ว่าทรัพยากรบุคคล  ทรัพยากรวัตถุ  วัสดุอุปกรณ์   ทรัพยากรธรรมชาติ   ทรัพยากรความสัมพันธ์   สติปัญญา  ความสามารถ   ทรัพยากรเวลา  และ ฯลฯ  ใช้สิ่งที่มีอยู่เหล่านี้ในการทำงานที่รับผิดชอบที่เสริมสร้างให้งานพันธกิจบรรลุตามพระประสงค์ของพระคริสต์   เมื่อเราทำเช่นนี้เราต้องไม่ลืมว่า   พระคริสต์ทรงสัญญาที่จะให้พระวิญญาณบริสุทธิ์มาสถิตอยู่กับเรา  เป็นกำลัง  เป็นนิมิตหมายในการชี้นำในการขับเคลื่อนพันธกิจในการงานที่เรารับผิดชอบไปตามพระประสงค์ของพระคริสต์

แต่บ่อยครั้งเรามักคิดว่า พระเจ้าจะทรงกระทำเช่นนี้ผ่านชีวิตและการงานของคนอย่างเปาโล  ศาสนาจารย์  ศิษยาภิบาล   ผู้ประกาศข่าวประเสริฐ  มิชชันนารี  หรือพวกทำงานพัฒนาหรือปฏิรูปสังคมเท่านั้น    พระเจ้าคงไม่ทำงานผ่านชีวิต “คริสเตียนสามัญธรรมดา” อย่างผม   ถ้าผมจะทำพันธกิจพระองค์คงปล่อยให้ผมงมโข่งทำไปตามความสามารถอันจำกัดที่มีอยู่   และทำนายในใจไว้ก่อนเลยว่า “ไม่เกิดผลแน่ๆ”  และนี่คือจุดผิดพลาดและอ่อนแอของคริสเตียนในปัจจุบัน   เพราะมีหลักคิดหลักเชื่อในทำนองนี้

ความจริงแล้ว   พระวิญญาณบริสุทธิ์ได้สถิตในชีวิตของผู้เชื่อทุกคน   พระคริสต์จะทรงทำพระราชกิจของพระองค์โดยผ่านการทำงานของพระวิญญาณบริสุทธิ์ในชีวิตของเราแต่ละคนในแต่ละวัน   อยู่ที่เราแต่ละคนจะพร้อมเปิดชีวิตทั้งชีวิตให้พระองค์ทรงใช้ในพระราชกิจในวันนั้นๆ หรือไม่?   ถ้าเราเปิดชีวิตของเราถวายให้พระคริสต์ทั้งชีวิต   พระองค์จะทรงหนุนเสริมเพิ่มพลังชีวิตให้เราแต่ละคนเป็นตัวแทนของพระคริสต์ในที่ทำงานในแต่ละสถานการณ์ชีวิตประจำวันของเรา  ไม่ว่าจะเป็นในตลาดซื้อมาขายไป  ในธนาคารสถาบันการเงิน  ในตลาดหุ้น  ในบริษัท   ท่ามกลางตลาดนัดถนนคนเดิน   ในโรงเรียน  ในโรงพยาบาล  ในชั้นเรียนทั้งโรงเรียน และ มหาวิทยาลัย  ในหมู่บ้าน  ในชุมชน   ถ้าเราเปิดชีวิตทั้งหมดถวายแด่พระองค์และทูลขอพระองค์กระทำพระราชกิจของพระองค์ผ่านชีวิตของเราในแต่ละวัน   ไม่ว่าสถานการณ์ชีวิตจะมีสภาพเช่นใดก็ตาม  

พระคริสต์จะใช้ชีวิตของเราเป็นตัวแทนในการกระทำพระราชกิจของพระองค์ในวันนี้ครับ!

ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญ

1. ท่านเคยมีประสบการณ์ชีวิตที่พระคริสต์ทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ผ่านชีวิตของท่านหรือไม่?
2. ในครั้งนั้นเรื่องเป็นอย่างไร  และ  ท่านมีประสบการณ์เช่นไร?
3. อะไรที่ “ฉุด” “รั้ง” “หน่วงเหนี่ยว”  ชีวิตของท่านในการที่จะมีชีวิตที่พระคริสต์ทรงกระทำกิจผ่านชีวิตของท่านในทุกขณะ?

ใคร่ครวญภาวนา

ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพระองค์   ขอบพระคุณพระองค์สำหรับข่าวดีที่รู้ว่าพระองค์ทรงสถิตในชีวิตของข้าพระองค์  และทรงทำงานผ่านทางพระวิญญาณบริสุทธิ์   และขอบพระคุณพระองค์ที่ทรงเลือกข้าพระองค์เพื่อทำพระราชกิจตามพระประสงค์ของพระองค์ในแต่ละวัน

ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า   ในวันนี้โปรดกระทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตและผ่านชีวิตข้าพระองค์  ในเวลาที่ข้าพระองค์ทำงานต่างๆ  หรือ  ในเวลาที่ข้าพระองค์เป็นเพื่อนและให้คำแนะนำแก่เพื่อน  หรือในเวลาที่นั่งเขียนงานในแต่ละวัน

ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า   โปรดทำพระราชกิจในชีวิตข้าพระองค์  ไม่ว่าเมื่อข้าพระองค์อยู่ในชุมชน  หรืออยู่ในห้างสรรพสินค้า  หรืออยู่ในตลาดสด  หรือต้องพูดคุยปรึกษากับเพื่อนร่วมงาน  กับหัวหน้างาน   หรือในการทำงานเพื่อรับผิดชอบต่อสังคมชุมชน  

ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า   โปรดทำพระราชกิจผ่านชีวิตของข้าพระองค์เมื่ออยู่ในคริสตจักร   ถึงแม้ในเวลาที่ข้าพระองค์ไม่มีบทบาทรับผิดชอบงานเฉพาะใดๆ   โปรดประทานสายตาที่จะมองเห็นถึงสิ่งที่พระองค์ต้องการใช้ข้าพระองค์กระทำตามพระประสงค์ของพระองค์

ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า   โปรดทำพระราชกิจในข้าพระองค์ เมื่อข้าพระองค์อยู่ที่บ้าน   โปรดประทานพระปัญญาแก่ข้าพระองค์ที่จะเป็นผู้ปกครองที่เสริมสร้างชีวิตของบุตรหลาน   โปรดช่วยข้าพระองค์ที่จะรักและเอาใจใส่แต่ละคนในครอบครัวด้วยความรักเมตตาของพระคริสต์   โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่ข้าพระองค์วุ่นวายใจ  อารมณ์บูด

ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า   โปรดกระทำพระราชกิจของพระองค์ในทุกส่วนทุกมิติในชีวิตข้าพระองค์   เพื่อพระนามของพระองค์จะได้รับการยกย่องและสรรเสริญ    อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

12 กันยายน 2555

เมื่อผู้นำ “หน่อมแน้ม” สถาบันก็สั่นคลอน เมื่อผู้นำทำความเสียหาย ประเทศก็ไร้เสถียรภาพ


สุดสัปดาห์นี้  ผมได้มีโอกาสอ่านบทความผ่านเน็ท   ที่เขียนโดย John C. Maxwell เรื่อง Insecurity: The Leadership Flaw of American’s Worst President[1]  จึงขอนำเนื้อหาและข้อคิดบางส่วนมาสะท้อนคิดสู่กันอ่านในบทความนี้   อดไม่ได้ที่จะคิดถึงเทียบเคียงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและคริสตจักรของเรา

ในทุกๆ 3-4 ปี  จะมีนักประวัติศาสตร์ในสหรัฐอเมริกาจัดอันดับอดีตประธานาธิบดีจากระดับยอดเยี่ยมลงจนถึงระดับยอดแย่  ทั้งนี้การจัดอันดับแต่ละครั้งก็มิใช่ว่านักวิชาการจะเห็นพ้องต้องกันเสมอไปหรอกครับ   เพราะนักวิชาการส่วนหนึ่งที่สวมเสียบในขั้วการเมืองขั้วใดขั้วหนึ่งก็มีไม่น้อยทีเดียว   โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิชาการที่ทำตัวเป็น “กุนซือ” ของก๊กนั้นพรรคนี้ก็กระโดดออกมาปกป้อง “นาย” ของตนเองอย่างลืมตัว! แต่อย่างไรก็ตามส่วนมากแล้วเห็นว่าอดีตประธานาธิบดี Warren G. Harding ว่าเป็นประธานาธิบดีที่ยอดแย่ในการบริหารจัดการประเทศในสมัยของท่าน   นอกจากที่บริหารประเทศน้อยกว่าสามปีแล้ว   ในยุคของ Harding ยังอื้อฉาวคละคลุ้งไปด้วยการฉ้อราษฎร์บังหลวงและการโกงกินประเทศและประชาชนจากพวกลิ่วล้อของเขาอย่างโจ๋งครึ่ม  สร้างความเศร้าสลดหดหู่ใจในหมู่ประชาชนถึงภาวะผู้นำที่ล้มเหลวและเกิดความรู้สึกไร้เสถียรภาพของประเทศ

แท้จริงแล้วเจ้าตัว Harding ก็รู้ถึงความไม่เหมาะสมของตนเอง ครั้งหนึ่งเจ้าตัวเคยกล่าวว่า “ผมไม่เหมาะกับงานการเป็นประธานาธิบดี  ผมไม่น่าจะมาทำในหน้าที่นี้เลย”   เขาสร้างการยอมรับจากประชาชนด้วยการสร้างสัมพันธภาพมากกว่าการเสริมสร้างความก้าวหน้าแก่ประเทศชาติ  

อะไรที่บ่อนเซาะทำลายความมั่นคงในภาวะผู้นำของประธานาธิบดี Harding

1. เลือกก๊กแบ่งพวก

แทนที่ประธานาธิบดี Harding จะสรรเลือกเอาคนที่มีสมรรถนะความสามารถในด้านต่างๆ เข้ามาช่วยการบริหารและพัฒนาประเทศ   แต่กลับปรากฏว่าคนที่ล้อมหน้าล้อมหลังท่านกลับกลายเป็นคนที่ “เชลียร์” เอาอกเอาใจป้อยอท่าน   แล้วท่านก็เอาคนสนิทของท่านเข้ามามีอำนาจในรัฐบาลที่สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าตลอดเวลาของการบริหารประเทศ  ตัวอย่างเบาะๆ เช่น
  •  Albert Fall เลขานุการกิจการภายในประเทศ เป็นรัฐมนตรีคนแรกในคณะของท่านที่เข้าคุกเพราะการรับสินบนจากบริษัทน้ำมัน   เพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัทได้เช่าที่ดินในราคาที่ต่ำกว่าราคามาตรฐาน
  • Edwin Denby เลขานุการฝ่ายกิจการทหารราชนาวี   ถูกถอดถอนต้องก้าวลงจากตำแหน่งเพราะความผิดด้านคอร์รัปชั่น
  • Harry Daugherty อธิบดีกรมอัยการ ถูกกดดันให้ต้องลาออกจากตำแหน่งเพราะถูกกล่าวหาอย่างกว้างขวางจากสังคมถึงการโกงกินในกระทรวงยุติธรรม
  •  Jess Smith ผู้ช่วยอธิบดีกรมอัยการ   ได้ฆ่าตัวตายภายหลังที่ถูกสอบสวนถึงพฤติกรรมฉ้อโกงของเขา
  • Charles Forbes ผู้อำนวยการสำนักงานทหารผ่านศึก   ถูกตัดสินให้มีความผิดในการโกงกินในรัฐบาลและถูกจำคุก

ถึงแม้ว่าเจ้าตัวประธานาธิบดีไม่มีข่าวที่แสดงว่าได้โกงกินฉ้อฉล   แต่คนล้อมรอบเขาได้เป็นหนอนบ่อนไส้กัดกินฉ้อฉลประเทศชาติ   และนี่คือตัวบ่อเซาะทำลายความมั่นคงในภาวะผู้นำของเขา

2. หลีกเลี่ยงการตัดสินใจที่รับผิดชอบ

แทนที่ Harding จะใช้สิทธิอำนาจในความเป็นประธานาธิบดีที่ตนมีอยู่เผชิญหน้ากับเพื่อนฝูงลูกน้องที่ฉ้อฉลโกงกินเหล่านั้น   แต่เขากลับทำตัวเป็นเหยื่อของการทำชั่วของเหล่าเพื่อนฝูงที่ห้อมล้อมเขาในเวลานั้น   และท่านยืนยันว่าเพื่อนฝูงเหล่านี้เป็นผู้ที่ช่วยท่านในเวลาที่ต้องเดินไปบนเส้นทางที่มืดมิด    ได้มีนักประวัติศาสตร์บางท่านได้อ้างว่า  การที่ Harding ได้เสียชีวิตเพราะหัวใจล้มเหลวที่ห้องทำงานนั้นเพราะความเครียดอันเกิดจากเรื่องอื้อฉาวของการโกงกินของเพื่อนฝูงที่ห้อมล้อมเขานั่นเอง

มีผู้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า  Harding เป็นคนประเภทที่หลีกเลี่ยงการตัดสินใจที่รับผิดชอบ   และการที่เขาเป็นประธานาธิบดีแบบที่กล่าวข้างต้นก็มิใช่เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจนักของคนหลายๆ คน   เพราะเขาเป็นคนที่หลีกเลี่ยงการตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญๆ   มีผู้ยกตัวอย่างเช่น   ครั้งเมื่อ Harding เป็นสมาชิกสภาผู้แทน   ถ้าเวลาใดที่สภาจะต้องลงคะแนนเสียงเพื่อจะผ่าน/ไม่ผ่านกฎหมายหรือพระราชบัญญัติที่สำคัญๆ   Harding จะออกจากวอชิงตัน  เพื่อหลีกเลี่ยงที่จะต้องตัดสินใจว่าจะเลือกด้านใดด้านหนึ่ง   แทนที่เขาจะทำงานศึกษาอย่างทุ่มเทและมีความกล้าหาญในทางจริยธรรมที่จะต้องตัดสินใจยืนเคียงข้างในสิ่งที่ถูกต้อง  Harding เลือกหลีกลี้หนีการตัดสินใจที่รับผิดชอบต่อสิ่งสำคัญเหล่านั้น   และในครั้งเมื่อการหาเสียงของ Harding เขาเดินตามแผนการหาเสียงของพรรคที่กำหนดไว้   แล้วก็ใช้นโยบายที่คนอื่นในพรรควางไว้   เขามิได้พยายามปล้ำสู้หาวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนของเขาเพื่อชีวิตของประเทศชาติ   แต่เขากลับเอานโยบายที่คนอื่นคิดไปท่องบ่นหาเสียงบนวิสัยทัศน์ของคนอื่น

3. สร้างบรรยากาศที่ระแวงสงสัย

อย่างไรก็ตาม  แทนที่การนำของ Harding จะเป็นการสร้างความนิยมชมชอบในหมู่ประชาชน   แต่กลับสร้างบรรยากาศแห่งความระแวงสงสัยในหมู่ประชาชน   ผู้คนกำลังไม่แน่ใจในการนำประเทศของเขา   และที่ชัดเจนแน่นอนคือประชาชนไม่สามารถพึ่งพิงในการจัดการการคอร์รัปชั่นในรัฐบาลของ Harding  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการฉ้อราษฎร์บังหลวงของบรรดาเพื่อนฝูงนักการเมืองคนสนิทของ Harding  ตราบใดที่ข้าราชการ หรือ นักการเมืองคนนั้นเป็นเพื่อนสนิทของ Harding   เพื่อนคนนั้นก็จะทำอะไรก็ได้อย่างใจปรารถนา   เมื่อข่าวการคอร์รัปชั่นแพร่สะพัดออกไปทั่วสังคม   ย่อมสร้างแต่ความระแวงสงสัยไปในระดับชาติ   สร้างความไม่ไว้วางใจต่อผู้นำที่ประชาชนได้เลือกมานั้น

ความรู้สึกไม่มั่นคงในความเป็นประธานาธิบดีของ Harding ได้แผ่ขยายครอบงำแม้แต่ภรรยาของเขา  สตรีหมายเลขหนึ่งของประเทศ   Florence ภรรยาของเขามีสมุดโน้ตเล่มเล็กสีแดงเล่มหนึ่ง   ในสมุดนั้นนางจะเขียนชื่อของทุกคนที่ต่อต้าน ขัดแย้งสามีของนาง   หลายชื่อที่ถูกทำเครื่องหมายไว้ข้างๆ   ถ้านางเห็นว่าคนๆ นั้นแสดงการเคารพต้อนรับสามีเธอที่ไม่เหมาะสม   หรือมองสามีของนางไปในเชิงลบ   แล้วเธอก็มองว่าคนเหล่านี้คือ “ศัตรูทางการเมือง” ของสามีและนาง

คำถามเพื่อการใคร่ครวญพิจารณา

จากความล้มเหลวในภาวะผู้นำของ Warren G. Harding ได้ให้บทเรียนสำคัญแก่เราบางประการดังนี้

1. ท่านจะไม่ประสบความสำเร็จในการนำทีมงานของท่าน  ถ้าท่านมัวแต่ต้องการให้คนในทีมยอมรับตัวท่านนิยมในตัวท่านเท่านั้น
2. แน่นอนว่าใครก็ต้องการเป็นคนที่ “น่ารัก น่าคบ” (ประชานิยม)  มากกว่าการเป็นผู้นำที่คนเขาไม่อยากคบค้าด้วย   แต่ในเวลาเดียวกันผู้นำก็ต้องติดตามและเท่าทันว่า  การทำให้เพื่อนฝูง และ ประชานิยมนั้นได้สร้างความเสียหายล่มจมอะไรบ้างในการบริหารงาน?
3. มีสัญญาณเตือนภัยอะไรบ้างไหมที่บ่งชี้ให้เห็นว่า  ผู้นำเน้นเรื่องการสร้าง “ความนิยม” มากเกินไป?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499