31 ธันวาคม 2555

สิ้นปีแต่อย่าสิ้นคิด


อ่านอพยพ 32:1-14

เมื่อประชาชนเห็นโมเสสล่าช้าอยู่  ไม่ลงมาจากภูเขา  จึงพากันมาหาอาโรนกล่าวว่า
“จงลุกขึ้นสร้างพระให้เรา...” (ข้อ 1 ฉบับมาตรฐาน)

ประชากรอิสราเอลสามารถหลุดรอดออกจากการเป็นทาสในประเทศอียิปต์   ด้วยการทรงช่วยขององค์พระผู้เป็นเจ้า   จากนั้นโมเสสก็นำพวกเขาเข้าไปในถิ่นทุรกันดาร   เพื่อมุ่งสู่แผ่นดินแห่งพระสัญญา   ในระหว่างทางพระเจ้าทรงเรียกโมเสสให้ขึ้นไปพบพระองค์ที่ยอดเขาซีนาย

โมเสสมอบให้อาโรนเป็นผู้ดูแลประชากรอิสราเอลในเวลาที่ตนไม่อยู่   เมื่อผ่านไปหลายวันประชาชนอิสราเอลเห็นว่าโมเสสไม่กลับลงมาสักที   เริ่มเกิดความวิตกังวล   เริ่มลือกันว่า  โมเสสได้เสียชีวิตแล้วหรือเปล่า   เขารู้สึกว่าขาดที่ยึดเหนี่ยว  ขาดผู้ที่จะนำพวกเขา   ขาดผู้ที่มีอำนาจที่จะปกป้องและนำเขาอย่างที่โมเสสมี   ตอนนี้เขารู้สึกว่าเขามิใช่ขาดผู้นำเท่านั้น   แต่เขารู้สึกว่าพวกเขาไม่มีพระเจ้าที่จะปกป้อง คุ้มครอง  และนำเขาอย่างพระเจ้าของโมเสส   ดังนั้น เขาจึงเรียกร้องและกดดันอาโรนให้หา “พระเจ้าองค์ใหม่” ที่จะนำพวกเขาแทนโมเสส

เราคุ้นชินกันสถานการณ์แบบนี้ไหม   โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เคยผ่านการเป็นผู้นำคนอื่น   เมื่อเราเป็นผู้นำในตำแหน่งและคนในการดูแลที่เรานำต้องการให้เราทำบางสิ่งบางอย่าง   ที่เป็นความต้องการ หรือ ผลประโยชน์ที่พวกเขาจะได้รับ   แต่ผู้นำก็รู้อยู่กับใจว่า   การกระทำนั้นเป็นสิ่งที่ผิด  เป็นความบาป  เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง   แต่เพราะได้รับแรงยุ หรือ แรงกดดันจากผู้คนจำนวนมาก  เพื่อที่จะเป็นผู้นำที่เอาใจคนที่อยู่ใต้การนำของตน   อีกทั้งไม่ต้องการสูญเสียฐานะในการนำของตน   และเพื่อคนเหล่านั้นจะสบายใจ   เราเลยยอมทำอย่างที่เขาเรียกร้อง หรือ เขากดดัน   แทนที่จะเป็นผู้นำที่มุ่งนำผู้คนเพื่อเป็นที่ยกย่องสรรเสริญพระเจ้า   เป็นผู้นำที่กระทำตามพระทัยของพระเจ้า   กลับยอมทำในสิ่งที่ผิดเพื่อเอาใจ หรือ “ซื้อใจ” ของผู้คนเพื่อมิให้ฐานะผู้นำของตนต้องสั่นคลอน

ในฐานะที่เราเป็นสาวกของพระเยซูคริสต์  ในฐานะที่เราเป็นผู้นำคริสตชน   เป้าหมายในการเป็นผู้นำคือการที่จะให้เกิดการยกย่องสรรเสริญพระเจ้า   และเสริมสร้างให้ผู้ที่เรานำแต่ละคนมีพระเจ้าทรงเป็นเอกเป็นต้นในชีวิตของพวกเขา   แต่บ่อยครั้งเหลือเกินที่ผู้นำคริสตชนจำนวนมากที่นำผู้คนเพื่อให้ผู้คนเหล่านั้นยกย่องสรรเสริญตน   ยอมรับภาวะผู้นำของตน   ทำให้ตนเกิดความมั่นคงในการเป็นผู้นำ   ทำให้ตนได้ผลประโยชน์สำหรับตนเองและพวกพ้องให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้   ยอมที่จะทำตามผู้คนที่ตนนำบางครั้งในลักษณะเพื่อเอื้อผลประโยชน์แก่กัน   ยอมให้บางคนได้รับตำแหน่งและผลประโยชน์เพื่อเขาจะเป็นฝ่ายของตน  ไม่โจมตีตน   ทั้งๆ ก็รู้ว่าการนำแบบนี้พระเจ้าไม่พอพระทัย   การนำแบบนี้ขัดและสวนทางกับพระประสงค์ของพระเจ้า   กลายเป็นผู้นำที่เอาใจผู้คนที่ตนนำเพื่อเสริมบารมีในการเป็นผู้นำของตนให้ยาวนานที่สุด   กลายเป็นผู้นำที่เอาใจผู้คนเพื่อตนเอง   แทนที่จะเป็นการนำเพื่อให้เกิดการยกย่องสรรเสริญพระเจ้า   กระทำตามพระประสงค์ของพระองค์

สิ่งที่อาโรนกระทำคือ   ยอมเป็นผู้นำที่เอื้ออำนวยให้เกิดการสร้าง “พระเจ้าองค์ใหม่” สำหรับประชาชนอิสราเอล   พวกเขายอมลงทุนลงแรงเอาเครื่องประดับที่มีค่ามารวมกันและหลอมแล้วหล่อให้เป็น “วัวทองคำ”  ที่พวกเขาจะได้กราบไหว้บูชา   และยกย่องให้ “วัวทองทองคำ” ตัวนั้น  เป็นสิ่งสำคัญสิ่งสุดในชีวิต

แต่มากกว่านั้นครับ   ประชาชนอิสราเอลต้องการมีพระเจ้าที่เขาจะสามารถควบคุมได้   คือพวกเขาต้องการมีพระเจ้าที่พวกเขาสามารถจะกระทำสิ่งต่างๆ ที่พวกเขาต้องการ   ที่ประชาชนอิสราเอลกระทำเช่นนี้เป็นความคุ้นชินของพวกเขาที่ได้รับจากวัฒนธรรมของชาวอียิปต์

ประชาชนอิสราเอลต้องการผู้นำที่ทำตามใจเขา  และเขาต้องการพระเจ้าที่เอาใจตามความต้องการของพวกเขา   เขาต้องการเป็นเอกเป็นต้นและเป็นใหญ่ในชีวิตของตน

อะไรคือ “วัวทองคำ” ในชีวิตของเราปัจจุบัน   ที่เป็นสิ่งบ่งชี้ถึงการที่เราไม่สัตย์ซื่อต่อพระเจ้า   เราเลือกที่จะทำตามใจตนเองตามความต้องการของตนเอง   แทนที่จะดำเนินชีวิตและกระทำสิ่งต่างๆ เพื่อเป็นที่ยกย่องและถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า

“วัวทองคำ” คือสิ่งที่เรายกย่องว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและสำคัญที่สุดในชีวิตของเรา   ที่มาอยู่แทนที่พระเจ้าในชีวิตประจำวันของเรา    เป็นพระเจ้าที่เราสร้างขึ้นมาเอง   เป็นพระเจ้าที่เราเอาสิ่งที่มีค่าที่เรามีอยู่หลอมแล้วหล่อมันขึ้นมา   เป็นสิ่งที่เรากราบไหว้บูชาทั้งๆ ที่เรารู้อยู่กับใจว่าเราเป็นผู้สร้างมันขึ้นมา   ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทอง  ฐานะตำแหน่ง  เกียรติยศชื่อเสียง   เราทุ่มสุดชีวิตของเราเพื่อสิ่งเหล่านี้

สิ่งสำคัญที่ผู้นำในคริสต์ศาสนาจะต้องตระหนักชัดคือ ไม่ว่าศิษยาภิบาล  ศาสนาจารย์  ผู้ปกครองคริสตจักร  ผู้นำคริสตจักร จะต้องไม่ตกหลุมพรางอย่างที่อาโรนได้เคยตกลงไปแล้ว   คือยอมที่จะทำตามคำเรียกร้องของประชาชน   หรือเสนอสนองในสิ่งที่ประชาชนต้องการ   ทั้งๆ ที่ตนรู้ว่าเป็นสิ่งที่ผิดต่อพระประสงค์ของพระเจ้า   เพียงเพื่อจะเอาใจประชาชน   เพียงเพื่อประชาชนจะอยู่ฝ่ายของตน   ผู้นำคริสตจักรแบบนี้ทำตัวเหมือนคนสิ้นคิด

ถึงแม้ว่าพระคัมภีร์ได้บอกเราว่า  ในที่สุดพระเจ้าทรงมีพระเมตตายกโทษการกระทำผิดของอาโรนและประชาชน   แต่ในชุมชนอิสราเอลก็เกิดการสูญเสียไปอย่างมาก   และไม่ว่ายุคใดสมัยใดคนที่อ่านพระคัมภีร์ หรือ อ้างเอ่ยถึงอาโรน   ก็จะควบคู่กับเรื่องวัวทองคำกับเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่ตามมาเป็นเช่นนี้ไปเสมอ

จะเกิดผลเสียผลร้ายเสมอเมื่อผู้นำคริสตจักรกระทำเพื่อเอาใจสมาชิกแทนที่จะกระทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า    ไม่ว่าสถานการณ์นั้นจะลำบากยากร้ายแค่ไหนก็ตาม   ผู้นำคริสตจักรต้องยืนหยัดมั่นคงที่จะตัดสินใจและกระทำทุกอย่างเพื่อถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า  มิใช่เอาใจสมาชิกคริสตจักร  เอาใจสังคม เอาใจพรรคพวก  เพียงหวังว่าคนเหล่านี้จะตอบสนองตามใจปรารถนาของตน   แต่ระวังที่อาจจะเป็นการกบฏต่อพระประสงค์ของพระเจ้า

เวลาใดก็ตามที่เรารู้เท่าทันว่า  เราถูกกดดันให้ทำตามสิ่งที่ผู้คนต้องการและขัดต่อพระประสงค์ของพระเจ้า   ทันทีให้เราหันเข้าหาพระเจ้าแสวงหาน้ำพระทัยและพระประสงค์ของพระองค์   ทูลถามพระองค์และขอการทรงสำแดงชี้แนะสิ่งที่พระองค์ประสงค์ในสถานการณ์นั้น   และกระทำทุกอย่างด้วยการตระหนักชัดเจนว่า  เป็นการตอบสนองตามพระประสงค์ของพระเจ้าในสถานการณ์นั้นๆ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

28 ธันวาคม 2555

ขอทรงคืนความชื่นบาน...แก่ข้าพระองค์


อ่าน 2ซามูเอล 12  และ  สดุดี 51:1-12

“ข้าแต่พระเจ้า  ขอทรงเนรมิตสร้างใจสะอาดในข้าพระองค์ 
 และขอทรงสร้างจิตใจหนักแน่นขึ้นใหม่ภายในข้าพระองค์
 ...
 ขอทรงคืนความชื่นบานในความรอดของพระองค์แก่ข้าพระองค์
 และทำให้ข้าพระองค์เชื่อฟังด้วยความเต็มใจ”  (สดุดี 51:10, 12 ฉบับมาตรฐาน)

การทำให้จริยธรรมกลายเป็นสิ่งที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนนำมาซึ่งความสับสนในชีวิต  ความไร้จริยธรรมของ  ดาวิดนำมาซึ่งความหายนะแก่ทั้งตนเอง  ครอบครัวของเขา  และประเทศชาติด้วย   ดาวิดใช้อำนาจในการแย่งชิงภรรยาของอูรียาห์   ทำเหมือนว่าสตรีมีไว้เพื่อเป็นเหยื่อรองรับความรุนแรงของบุรุษ  การกระทำเยี่ยงนี้ของดาวิดได้สร้างความรู้สึกเช่นไรกับสตรีในวังของเขา   ที่ดาวิดเป็นเช่นนี้เพราะความอ่อนแอจากภายในชีวิตของเขา เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพระราชวังกลายเป็นเรื่องที่คนอิสราเอลส่วนใหญ่ในสังคมต่างรับรู้โจษจัน สับสน และเจ็บปวด

การกระทำที่รุนแรงย่อมสร้างความโหดร้ายตามมา  

พระเจ้าทรงเกลียดชังและนำการพิพากษามาเหนือผู้ที่กระทำอย่างไร้จริยธรรมเช่นนี้

ดาวิดจะไม่เห็นไม่รู้  หรือ สามารถหลอกตนเองได้ถึงขนาดว่า “การแย่งชิง” ภรรยาของอูรียาห์มาเป็นของตนไม่เป็นความผิดบาปเลยหรือ?   และการวางแผนอย่างมีเล่ห์เหลี่ยมทำลายชีวิตอูรียาห์จะไม่มีความผิดเลยหรือ?   การกระทำอย่างมีเลศนัยของดาวิดเขากระทำอย่างมิได้เกรงกลัวและเกรงใจพระเจ้าเลย   เขาวางแผนซับซ้อนเพื่อมิให้คนทั้งหลายเห็นว่าเป็นการกระทำผิดเท่านั้น

พระเจ้ามิได้ทรงปล่อยให้ดาวิดทำบาปแล้วลอยนวล   พระเจ้าเผชิญหน้ากับดาวิดอย่างจัง

ดาวิดจนตรอก   เสียใจต่อการกระทำของเขา   ดาวิดสารภาพในความบาปที่ได้กระทำลงไป   “ข้าพระองค์ได้ทำบาปต่อพระองค์  ต่อพระองค์เท่านั้น   และได้ทำสิ่งชั่วร้ายในสายพระเนตรพระองค์...”  (ข้อ 4 ฉบับมาตรฐาน)  และใน 2ซามูลเอล 12:13 ดาวิดได้กล่าวว่า  “เราได้ทำบาปต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าแล้ว” (อมตธรรม)   ผลการกระทำความบาปผิดของดาวิดครั้งนี้สิ่งที่เขาต้องได้รับคือ ดาวิดจะต้องตาย  เพราะเขาได้วางแผนฆ่าอูรียาห์   ดาวิดต้องถูกถอดออกจากการเป็นกษัตริย์ปกครองอิสราเอล  เฉกเช่นซาอูลถูกถอดถอน  แต่เพราะดาวิดสำนึกและสารภาพในการกระทำผิดบาปใหญ่หลวงครั้งนี้ต่อพระเจ้า   จึงได้รับพระเมตตาจากพระองค์   ผู้เผยพระวจนะนาธัน กล่าวแก่ดาวิดว่า  “องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงลบล้างบาปให้ฝ่าพระบาท   ฝ่าพระบาทจะไม่ตาย...” (ข้อ 13 อมตธรรม)  

ตามมุมมองเหตุการณ์ครั้งนี้ของพระคัมภีร์   การกระทำครั้งนี้ดาวิดมิได้กระทำผิดต่ออูรียาห์เท่านั้น   แต่เขาได้กระทำผิดต่อพระเจ้าด้วย   นอกจากที่เขากระทำเช่นนี้โดยมิได้เกรงกลัวพระเจ้าแล้ว   แต่ผู้เผยพระวจนะนาธันกล่าวแก่ดาวิดว่า  “ฝ่าพระบาทกระทำเช่นนี้เป็นเหตุให้ศัตรูขององค์พระผู้เป็นเจ้าเย้ยหยันอย่างมาก   โอรสที่เกิดมาจะสิ้นชีวิต” (ข้อ 14 อมตธรรม) 

พระเจ้าไม่ต้องการให้เราเอาชีวิตของเราเข้าไปข้องเกี่ยวกับด้านมืดมิด   แต่เมื่อเราตกลงในห้วงแห่งความมืดมิดพระองค์ก็ไม่ต้องการให้ชีวิตของเราจมจ่อมคงอยู่ในความมืดนั้น   และหนทางหนึ่งที่เราจะออกจากอำนาจแห่งความดำมืดนั้นคือการที่เรายอมสารภาพต่อพระเจ้า   พระองค์จะทรงช่วยฉุดและกู้เราให้หลุดรอดออกจากการยึดกุมของอำนาจแห่งความบาปชั่ว   และนี่คือข่าวดี  เป็นข่าวดีสำหรับคนที่ตกลงในหลุมพรางแห่งความบาปทุกชนิด   รวมถึงความบาปผิดในด้านประเวณีด้วย   ความไว้วางใจที่แตกหัก ฉีกขาด เพราะการกระทำผิดทางประเวณีสามารถพลิกฟื้นคืนดีได้   สามีภรรยาที่เกิดบาดแผลในเรื่องนี้อาจจะต้องใช้เวลาแรมเดือนแรมปีที่จะทะลุผ่านความเจ็บปวดในชีวิตนี้ได้   แต่ต้องไม่ลืมและไว้วางใจว่าพระคุณพระเจ้าเท่านั้นที่ทำให้สิ่งเหล่านี้สามารถพลิกฟื้นสู่ชีวิตที่ชื่นบานได้อีกครั้งหนึ่ง

ดาวิดประพันธ์สดุดีบทที่ 51 นี้ด้วยความเสียใจในสิ่งที่เขาได้กระทำลงไป  ด้วยความรู้สึกผิดและอดสู   เขายอมรับความบาปผิดที่เขาได้กระทำลงไปต่อพระพักตร์ของพระเจ้า   ท่ามกลางความเสียใจ  การสารภาพบาป  ชีวิตของเขาเริ่มได้รับการเสริมสร้างชีวิตใหม่   ความรู้สึกเสียใจทำให้เราหยุดที่จะกระทำผิดบาปนั้น   และการสารภาพความบาปทำให้เราหันหน้าออกจากการกระทำที่ผิดบาปนั้น   เป็นการเปลี่ยนทิศทางที่ชีวิตมุ่งไป  รากศัพท์ภาษาฮีบรูของคำว่า สารภาพมีความหมายว่า “กลับหลังหันจากทิศทางเดิมที่กำลังมุ่งไป”   ชีวิตที่ได้รับการพลิกฟื้นชื่นบานขึ้นนั้นเป็นผลจากการที่เราหันหลังให้กับทิศทางที่ผิดในการดำเนินชีวิต   แล้วหันไปสู่ทิศทางใหม่ในการดำเนินชีวิตของเรา

ผลที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเรา  ครอบครัวของเรา  การทำงานของเรา  และชีวิตชุมชนของเรานั้นเกิดจากการตัดสินใจของเรา   ผู้ที่เชื่อในพระเจ้าคือคนบาปที่ได้รับการทรงช่วยกู้จากพระเจ้าโดยพระคุณของพระองค์   หน้าที่ของการอภิบาลชีวิตคือการที่เราช่วยผู้คนที่ถูกจับได้  ถูกตีตราว่าได้กระทำบาปผิดให้เห็นว่า ยังมีเส้นทางชีวิตที่ดีกว่าสำหรับเขา   เมื่อผู้เผยพระวจนะนาธันชี้ให้ดาวิดเห็นว่า  ดาวิดคือชายคนนั้นแหละที่ได้กระทำบาปผิดใหญ่หลวง   แล้วนาธันได้สำแดงให้ดาวิดเห็นถึงผลจากความบาปผิดที่จะตามมา   แต่เพราะพระคุณเมตตาของพระเจ้าที่ทรงช่วยกู้ชีวิตของดาวิด และ ความหายนะของครอบครัวของเขาไว้   แต่ในเวลาเดียวกันทารกคนแรกของดาวิดที่เกิดกับนางบัทเชบาต้องเสียชีวิต   ถึงแม้ดาวิดสร้างเงื่อนไขต่อรองในประการหลังนี้ด้วยการอดอาหารและไว้ทุกข์   แต่มิใช่สิ่งที่อยู่ในวิสัยที่เขาจะใช้ในการต่อรองกับพระเจ้าได้

ประเด็นสำหรับใคร่ครวญ

1. ปัจจุบันนี้ท่านได้ตกลงใน “กับดัก” การกระทำผิดอย่างเป็นนิสัย หรือ ประจำอะไรบ้าง?   ท่านสามารถมองเห็นทางออกที่พระเจ้าประทานให้ในเรื่องนี้หรือไม่?

2. ท่านรู้และมั่นใจว่าท่านได้รับการทรงช่วยกู้ให้รอด   จนเกิดความชื่นชมยินดีในบ้าน  ในที่ทำงาน  หรือในชุมชนของท่านหรือไม่?   ในเรื่องอะไร?

3. ทุกวันนี้ชีวิตของท่านมีความปีติยินดีที่ได้โลดแล่นขับเคลื่อนชีวิตไปในพระคุณของพระเจ้าหรือไม่?   ชีวิตท่านโลดแล่นไปในพระคุณของพระเจ้าในเรื่องอะไร?

ใคร่ครวญภาวนา

ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า  ขอทรงล้างชีวิตข้าพระองค์ให้หมดจดจากความชั่วของข้าพระองค์  และชำระข้าพระองค์จากบาปของข้าพระองค์   ข้าพระองค์เชื่อและไว้วางใจพระองค์ว่า   เมื่อข้าพระองค์อยู่กับพระองค์ขณะนี้พระองค์จะทรงเผาผลาญสิ่งมลทินทั้งหลายในชีวิตจิตใจของข้าพระองค์   ขอประทานทางใหม่แก่ข้าพระองค์เพื่อข้าพระองค์จะดำเนินตามวิถีทางของพระองค์   ขอพระองค์คืนความชื่นบานในความรอดของพระองค์แก่ข้าพระองค์   และทำให้ข้าพระองค์เชื่อฟังด้วยความเต็มใจ 

ข้าแต่พระเจ้า  ขอทรงเนรมิตสร้างใจสะอาดในข้าพระองค์   และขอทรงสร้างจิตใจหนักแน่นขึ้นใหม่ภายในข้าพระองค์    อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

26 ธันวาคม 2555

ขอบพระคุณในความทุกข์ยากลำบาก?


อ่านสดุดี 119:65-72

“ดีแล้วที่ข้าพระองค์ทุกข์ยาก  เพื่อข้าพระองค์จะเรียนรู้กฎเกณฑ์ของพระองค์
 สำหรับข้าพระองค์  ธรรมบัญญัติจากพระโอษฐ์ของพระองค์ก็ดีกว่าทองคำและเงินเป็นพันๆ แท่ง”  (ข้อ 71-72 ฉบับมาตรฐาน)

ธรรมดาทั่วไปแล้วเราขอบพระคุณพระเจ้าเพราะพระเจ้าทรงกระทำดีต่อเรา   เพราะพระองค์ทรงอวยพระพรแก่เรา   หรือเพราะพระองค์ทรงช่วยเหลือเราในเวลาที่เราทูลขอและพึ่งพิงพระองค์ 

แต่จะให้ขอบพระคุณพระเจ้าในเวลาที่ทุกข์ยากลำบาก   ดูมันฝืดๆ อย่างไรชอบกลครับ!

ส่วนใหญ่แล้ว เมื่อเราต้องพบเจอกับความทุกข์ยากลำบาก   หรือตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์  หรือสถานการณ์ที่เราต้องการหลุดรอดออกจากสถานการณ์นั้นๆ   เรามักจะทูลขอพระเจ้าว่า  ขอทรงเคลื่อนสถานการณ์นั้นให้ผ่านเลยไป  หรือขอช่วยเอาเราออกจากสถานการณ์นั้น  ใช่ไหมครับ?

แต่ผู้ประพันธ์บทเพลงสดุดีที่เราอ่านในวันนี้   ท่านกลับกล่าวว่า

“ดีแล้วที่ข้าพระองค์ทุกข์ยาก...” (ข้อ 71)   ผู้เขียนสดุดีเห็นถึงพระคุณของพระเจ้าในสถานการณ์ที่ทุกข์ยากเลวร้ายที่เขาผ่านพบในชีวิต   แม้เขาจะไม่ชอบไม่ประสงค์ที่ชีวิตของเขาต้องถูกความเลวร้ายทุกข์ยากทับถม   แต่เขาได้เห็นถึงพระหัตถ์อันชูช่วยของพระเจ้าท่ามกลางชีวิตที่ทุกข์ยาก  และสิ่งนี้เองที่ทำให้เขาขอบพระคุณพระเจ้าท่ามกลางชีวิตที่เลวร้ายนั้น

ทั้งนี้เพราะ... 
1) เขาเห็นถึงความสัตย์ซื่อของพระเจ้าที่ทรงรักษาพระสัญญาหรือพระวจนะของพระองค์ (ข้อ 65)  

2) ในสถานการณ์ที่ยุ่งยากลำบากนั้น  เขาได้รับการสอนจากพระเจ้า   มิใช่สอนให้มีความรู้เท่านั้น แต่ทรงกระตุ้นสำนึกและสร้างเสริม “วิจารณญาณ” แก่เขาที่จะใช้ในการพิจารณาถึงสถานการณ์ชีวิตและใช้เป็นรากฐานในการตัดสินใจ (ข้อ 66, 68)   และ

3) เขาสำนึกได้ว่า  ก่อนหน้าที่เขาต้องเผชิญกับความทุกข์ยากลำบากนั้น   เพราะชีวิตของเขา “หลงเจิ่น”  ออกนอกลู่นอกทางแห่งพระประสงค์ของพระเจ้า  เขาจึงต้องตกลงในความทุกข์ยาก   แต่ในความทุกข์ยากนั้นเขากลับพบว่าพระเจ้าติดตามเขา   และกระทำกับเขาด้วยความรักเมตตาตามพระสัญญาของพระองค์  และนี่ต่างหากที่ทำให้เขาสามารถขอบพระคุณพระเจ้าในความทุกข์ยากได้ (ข้อ 67)  

4) ยิ่งกว่านั้น  เพราะพระคุณของพระเจ้าที่ทรงสำแดงแก่เขาในความทุกข์ยากครั้งนั้น   ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของเขา   ถึงแม้เขาจะถูกกล่าวร้ายป้ายสีอย่างเลวร้ายแค่ไหนก็ตาม   แต่เขาบอกว่า “แต่ข้าพระองค์จะรักษาข้อบังคับของพระองค์ด้วยสุดใจ (ข้อ 69

5) ที่สำคัญคือ   พระคุณของพระเจ้าได้เปลี่ยนจิตใจของเขาให้ปีติชื่นชมที่จะมีชีวิตตามพระบัญญัติของพระเจ้า (ข้อ 70

ผู้เขียนสดุดีตอนนี้สรุปประสบการณ์ชีวิตของเขาไว้อย่างสวยงามว่า
“ดีแล้วที่ข้าพระองค์ทุกข์ยาก  เพื่อข้าพระองค์จะเรียนรู้กฎเกณฑ์ของพระองค์
 สำหรับข้าพระองค์  ธรรมบัญญัติจากพระโอษฐ์ของพระองค์ก็ดีกว่าทองคำและเงินเป็นพันๆ แท่ง”  (ข้อ 71-72 ฉบับมาตรฐาน)

นี่คืออีกมุมมองหนึ่งของคริสตชนที่มีต่อสถานการณ์ความทุกข์ยากในชีวิต   ถึงแม้ว่าการที่เราต้องตกลงในสถานการณ์ที่เลวร้ายเพราะการตัดสินใจที่เราเลือกทำที่  “หลงทาง” จากพระประสงค์ของพระเจ้า แต่คริสตชนมองว่า   ในสถานการณ์เช่นนั้นพระเจ้ายังติดตามและเคียงข้างเราครับ   พระองค์พร้อมจะเยียวยา  รักษา  และเสริมสร้างเราขึ้นใหม่  

ด้วยรากฐานความเชื่อเช่นนี้ชี้ชัดว่า  คริสตชนมิใช่คนที่นิยมความทุกข์ หรือ ที่ต้องการใช้ความทุกข์กล่อมเกลาชีวิตจิตวิญญาณของตน   แต่คริสตชนมองเห็นว่า  พระเจ้าทรงทำงานในชีวิตของเราขณะที่ต้องจมจ่อมอยู่ในความทุกข์ยาก   และด้วยพระคุณของพระองค์ที่ทรงสร้างชีวิตจิตวิญญาณของเราขึ้นใหม่   เราจึงสำนึกในพระคุณของพระองค์

ในวันนี้  เมื่อเราต้องพบเจอกับสถานการณ์ทุกข์ยากหรือถึงขั้นเลวร้าย  

สิ่งแรก  ขอให้เราเชื่อและไว้วางใจในองค์พระผู้เป็นเจ้าว่า   ในความทุกข์ยาก และ ความเลวร้ายนั้น    พระเจ้าทรงอยู่เคียงข้างเรา

ประการที่สอง  ให้เราสงบจิตใจของเรายอมรับสถานการณ์นั้นแม้เราจะไม่พึงพอใจ หรือ พึงประสงค์เพียงใดก็ตาม   การยอมรับมิใช่การยอมแพ้   แต่การยอมรับเป็นการเปิดใจของเราที่จะพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาตรฐานแห่งพระวจนะของพระเจ้า   และที่สำคัญการเปิดใจนั้นเป็นการเปิดพื้นที่ชีวิตของเรายอมรับการ “สอน” และ การ “เสริมสร้าง” ใหม่จากพระเจ้า

ประการที่สาม   เราต้องตระหนักว่า  ในสถานการณ์ที่ทุกข์ยากและเลวร้ายนี้   เราอาจจะหมดแรง  ท้อแท้  สิ้นหวัง   แต่ในสภาพที่เรากำลัง “อ่อนกำลัง”  หมดทางสู้นี้เอง  พระเจ้าจะช่วยให้เราเรียนรู้ที่จะพึงพิงพระกำลัง  ความอดทน   และเรียนรู้ที่จะรอคอย “เวลาของพระเจ้า”   และเหล่านี้คือประสบการณ์ใหม่ในชีวิตของเรา   และจะนำเราให้ขอบพระคุณพระเจ้าครับ   เพราะเมื่อมองย้อนกลับเราก็พบว่า  เราได้เติบโตขึ้นในชีวิตคริสตชนครับ

ในหนึ่งปีที่ผ่านมา   ท่านได้ผ่านและพบกับสถานการณ์ชีวิตที่เลวร้าย  ทุกข์ยากครั้งสำคัญในเหตุการณ์ใดบ้าง?   ในเหตุการณ์ครั้งนั้นท่านได้พบกับพระหัตถ์ที่ชูช่วย   ท่านได้สัมผัสกับพระคุณของพระเจ้าอย่างไรบ้าง?  ท่านขอบพระคุณพระองค์อย่างไร?

ชีวิตของท่านในตอนนี้   ท่านต้องการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์อะไรบ้างที่กำลังเกิดขึ้นในชีวิตของท่านปัจจุบัน    แต่ด้วยมุมมองใหม่  ความคิดใหม่  ความเชื่อใหม่ที่เราพบจากสดุดีในตอนนี้ท่านจะจัดการกับสถานการณ์เหล่านั้นอย่างไร?  

“ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า   ข้าพระองค์ขอเปิดพื้นที่จิตใจและชีวิตของข้าพระองค์    เพื่อรับการทรงตรวจสอบ และ เสริมสร้างใหม่จากพระองค์   ข้าพระองค์เชื่อและไว้วางใจในพระองค์   ข้าพระองค์ยอมมอบชีวิตของข้าพระองค์ให้อยู่ภายใต้การครอบครองของพระองค์   โปรดเสริมสร้างข้าพระองค์ขึ้นใหม่ตามพระประสงค์ของพระองค์   ข้าพระองค์ขอบพระคุณพระองค์ที่ทรงอยู่เคียงข้าง และ เสริมสร้างข้าพระองค์ขึ้นใหม่ในวันนี้  อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

24 ธันวาคม 2555

เป็นไปได้อย่างไร...พระเจ้าข้าฯ?


อ่าน มัทธิว 1:18-25

ทั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อจะให้สำเร็จตามพระวจนะขององค์พระผู้เป็นเจ้า   ซึ่งตรัสผ่านผู้เผยพระวจนะว่า
“นี่แนะ   หญิงพรหมจารีคนหนึ่งจะตั้งครรภ์และคลอดบุตรชายคนหนึ่ง  และเขาจะเรียกนามท่านว่า อิมมานูเอล” (แปลว่า พระเจ้าสถิตกับเรา หรือแปลตามตัวอักษรว่า พระเจ้าที่อยู่กับเราหรือมนุษย์  อิสยาห์ 7:14)
เมื่อโยเซฟตื่นขึ้นก็ทำตามคำซึ่งทูตสวรรค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าสั่งนั้น   คือได้รับมารีย์มาเป็นภรรยา
(มัทธิว 1:22-24 ฉบับมาตรฐาน)

วันนี้ผมขอเชิญชวนเราทุกท่าน   ลองเอาตนเองเข้าไปอยู่ในสภาพการณ์ที่โยเซฟได้รับในเวลานั้น  หรือจินตนาการว่าถ้าเราเป็นโยเซฟในเวลานั้นเกิดความคิด ความรู้สึกอะไรและอย่างไรบ้าง    เพื่อที่จะสัมผัสว่า   เมื่อโยเซฟโอบอุ้มพระกุมารเยซูไว้ในอ้อมกอดของเขา   เขาเกิดความรู้สึกอย่างไรบ้าง?

ทารกน้อยคนนี้ที่ตนโอบกอดและดูแลในฐานะพ่อในโลกนี้
แต่โยเซฟก็รู้แน่ตระหนักชัดว่าทารกน้อยนี้มีชีวิตที่เกิดมาที่แตกต่างจากทารกทั่วไป
ทารกน้อยคนนี้เกิดจากพระบิดาในสวรรค์

เมื่อจินตนาการถึงความจริงนี้ หัวใจของผมรู้สึกผสมปนเปทั้งด้วยความเห็นอกเห็นใจ  ความไม่มั่นใจ  และมีความหวาดกลัวด้วย    ถ้าผมต้องเป็นโยเซฟ  ผมเกิดคำถามในใจว่า   ผมที่เป็นเพียงมนุษย์ที่มีความจำกัด ที่จะต้องตาย   แต่ต้องมารับผิดชอบเลี้ยงดู ทารกน้อยที่เป็นพระบุตรของพระเจ้าได้อย่างไร?
 
จะเป็นไปได้อย่างไร...พระเจ้าข้า?

ท่านอาจจะเคยมีประสบการณ์ในทำนองนี้บ้างมิใช่หรือ?   ท่านอาจจะได้งานใหม่ที่ตนเองไม่มีประสบการณ์มาก่อนเลยในงานนั้น   หรือ  ท่านได้รับประสบการณ์ว่าพระเจ้าทรงเรียก  ในที่สุดท่านตัดสินใจเดินออกจากชีวิตการงานที่สะดวกสบาย  ที่ท่านคุ้นชิน   ตัดสินใจมารับใช้ในงานของพระเจ้าที่ไม่คุ้นชิน    หรือคนที่มีบุตร  คนที่มีประสบการณ์เมื่อต้องอุ้มลูกน้อยของตนเป็นครั้งแรกในชีวิต

ในชีวิตจริง  พระเจ้าทรงมอบหมายงานชีวิตแก่เราแต่ละคนที่เกินความสามารถที่จะรับผิดชอบเองได้   ไม่ว่างานชีวิตในครอบครัว   งานที่ต้องเลี้ยงดูฟูมฟักบุตรชายหญิงที่พระเจ้าประทานให้  งานอาชีพที่เราทำในแต่ละวัน   งานรับใช้ในพันธกิจด้านต่างๆ ของคริสตจักร   งานต่างๆ เหล่านี้มีสองมิติหลักคือ   มิติทางกายภาพ เช่น เราเลี้ยงดูบุตรของเราให้เจริญเติบโตและปลอดภัยในระดับหนึ่ง   แต่ยังมีมิติที่เราต้องบ่มเพาะฟูมฟักวิธีคิด  หลักเกณฑ์การตัดสินใจ   ระบบคุณค่าในชีวิต   อีกทั้งการเติบโตเข้มแข็งด้านจิตวิญญาณอีก   เราจะเห็นว่ามิติส่วนลึกของชีวิตนั้นเกินความสามารถที่เราจะจัดการได้   ดั่งพ่อแม่บางคนมักกล่าวว่า เราเลี้ยงได้แต่กายแต่ไม่สร้างเลี้ยงจิตใจของลูก

ในด้านการประกอบอาชีพในหน้าที่การงาน   จุดประสงค์ทางกายภาพแล้วเราทำงานประกอบอาชีพเพื่อที่จะมีรายได้สำหรับการเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว   แต่การทำงานอาชีพตามมิติในความเชื่อศรัทธาของคริสตชนแล้ว  เป้าหมายสูงสุดของการทำงานอาชีพคือเพื่อที่จะให้เกิดการยกย่องสรรเสริญพระเจ้า   มิติระดับลึกนี้เกินความสามารถที่เราจะรับผิดชอบหรือจัดการด้วยตนเองได้

ยิ่งในฐานะคริสตชน  ทุกคนจะต้องรับผิดชอบพันธกิจที่พระเจ้าทรงมอบหมายที่พระองค์ทรงไว้วางใจให้เราทำและรับผิดชอบ   งานนี้เราต้องการพึ่งพิงพระกำลังและพระปัญญาจากพระเจ้า   ต้องพึ่งการทรงนำจากพระวิญญาณบริสุทธิ์   เราไม่สามารถทุ่มเทจัดการด้วยสติปัญญาและความสามารถของเราเองเท่านั้น

ดังนั้นการที่เรามีชีวิตอยู่  ต้องดำเนินชีวิตในสถานการณ์ต่างๆ  และ ต้องกระทำสิ่งต่างๆ นั้น   แท้จริงแล้วเป็นสิ่งที่เกินความสามารถที่เราจะทำได้เองทั้งสิ้น   แต่เราท่านมักคิดว่าเราต้องรับผิดชอบให้ได้   เราต้องทำสำเร็จให้ได้   และนี่คือที่มาของความวิตกกังวล  สั่งสมความเครียด  นำสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด   บางครั้งเกือบบ้าคลั่ง   ไม่รู้จะจัดการอย่างไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น   บางคนลงเอยด้วยการทำร้ายตนเอง   บางคนลงเอยด้วยการทำร้ายคนอื่น   บางคนหนีสถานการณ์นั้น   จนบางคนหลุดลอยออกจากสภาพความเป็นจริงในชีวิตของเขา  ไม่สามารถที่จะควบคุมได้  ไม่สามารถที่จะจัดการได้   ทั้งนี้เพราะ คิดและเข้าใจว่า ตนสามารถจัดการเรื่องต่างๆ ในชีวิตด้วยตนเอง   แต่ความเป็นจริงคือ  ความสามารถของมนุษย์จำกัดเกินกว่าที่ตนจะจัดการด้วยตนเองได้

สัจจะความจริงในช่วงเวลาที่เราใคร่ครวญถึงการเสด็จมาการบังเกิดเป็นทารกน้อยที่อยู่ในการเลี้ยงดู ปกป้อง  บ่มเพาะ ฟูมฟักของมารีย์และโยเซฟก็คือ   เมื่อพระเจ้าทรงไว้ใจและมอบหมายพระราชกิจให้คนใดคนหนึ่งรับผิดชอบ   พระเจ้ามิได้ปล่อยให้คนๆ นั้นดิ้นรนรับใช้ตามยถากรรม หรือ ตามมีตามเกิด  หรือพึ่งแต่ตนเองเท่านั้น   แต่เมื่อพระเจ้าทรงมอบหมายทารกน้อยให้มารีย์และโยเซฟเลี้ยงดูปกป้องนั้น   ทารกน้อยมาพร้อมกับสัจจะความจริงคือ  มีชื่อว่า “อิมมานูเอล”  ซึ่งมีความหมายว่า พระเจ้าอยู่กับเรา  พระเจ้าอยู่เคียงข้างในการรับใช้ของเรา

เมื่อพระเจ้าทรงมอบหมายสิ่งหนึ่งประการใดให้ใครรับผิดชอบ พระเจ้าทรงอยู่ด้วย   พระองค์ทรงเคียงข้าง  แท้จริงแล้วพระองค์ทรงกระทำพระราชกิจนั้นและทรงเรียกและมอบหมายงานบางส่วนให้เราร่วมรับผิดชอบในพระราชกิจของพระองค์   เพราะพระองค์ทรงรู้ว่า  เรามีความสามารถและสติปัญญาที่จำกัด   แต่พระองค์ประสงค์ให้เรามีส่วนร่วมในพระราชกิจของพระองค์   เพื่อจะทรงเสริมสร้างให้เรามีความสามารถ มีสติปัญญา  และมีความมั่นใจเพิ่มพูนมากขึ้น   และที่สำคัญยิ่งคือเราจะได้เรียนรู้ถึงน้ำพระทัย และ พระประสงค์ของพระเจ้าจากการที่เราเข้าร่วมในพระราชกิจของพระองค์   ดังนั้น  พระราชกิจที่ทรงมอบหมายจึงไม่เกินกำลังความสามารถเพราะมีพระเจ้าทรงหนุนเสริม

ถ้าเช่นนั้น  ทำไมเราถึงยังวิตกกังวล   ทำไมเรายังเครียดแล้วเครียดอีก!

ให้เราเปลี่ยนมุมมองและความเข้าใจเสียใหม่ว่า  พระเจ้าไม่ได้ให้เราเลี้ยงลูกด้วยตนเองเท่านั้น   หรือให้เราทำงานในหน้าที่การงานนี้คนเดียว   ไม่ได้ทรงเรียกให้เรารับใช้อภิบาลคริสตจักรคนเดียว   แต่ในงานความรับผิดชอบนี้  พระองค์ทรงเรียกให้เราเข้าไปร่วมงานกับพระองค์ต่างหาก   แล้วเราจะเครียดไปทำไม   ทำไมไม่ทูลถามพระองค์เมื่อตนเองพบทางตันในชีวิตและการงาน   ทำไมไม่ทูลขอการทรงชี้นำจากพระองค์  ทำไมไม่รอเวลาของพระองค์สักนิด   หรือเพราะท่านคิดว่างานเลี้ยงลูก  งานรับใช้   งานอาชีพเป็นงานของท่านเองคนเดียวหรือ?   หรือท่านคิดว่า ไม่ใช่งานที่ได้รับมอบหมายจากการทรงเรียกของพระเจ้าหรือ?

มิคาเอล คาร์ด (Michael Card) ได้ประพันธ์เพลงบทหนึ่งที่ชื่อว่า “บทเพลงของโยเซฟ”   ในบทเพลงนั้นได้บรรยายถึงความรู้สึกที่โยเซฟได้รับมอบหมายงานดูแลปกป้องมารีย์และพระกุมารจากพระเจ้าผ่านทางทูตสวรรค์ของพระองค์   แต่ก็มีคำถามต่อพระเจ้าเช่นกันว่า  เขาจะทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายนี้ได้อย่างไร   เพราะเขาเป็นเพียงช่างไม้ที่ต้องเลี้ยงดูทารกที่เป็นพระบุตรของพระเจ้า   ในตอนท้ายของเพลงมีความว่า

...พระบิดาเจ้าข้า  
โปรดทรงสำแดงว่าข้าพระองค์จะทำหน้าที่นี้อย่างไรที่จะสอดคล้องกับแผนการของพระองค์
โปรดทรงสำแดงว่า พ่อที่เป็นมนุษย์ปุถุชนจะเป็นพ่อของพระบุตรของพระเจ้าได้อย่างไร?
ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า  ตลอดชีวิตของข้าพระองค์ก็เป็นเพียงช่างไม้ธรรมดาคนหนึ่ง
แล้วข้าพระองค์จะเลี้ยงดูฟูมฟักจอมกษัตริย์ได้อย่างไร?
..... 

ขอให้ประโยคที่ว่า “โปรดทรงสำแดงว่าข้าพระองค์จะทำหน้าที่นี้อย่างไรที่จะสอดคล้องกับแผนการของพระองค์”   เป็นคำอธิษฐานของเราในวันคริสตสมภพนี้  และตลอดปีใหม่ที่กำลังเข้ามา

เมื่อใดก็ตามที่ท่านเกิดความรู้สึกว่า  ชีวิตจนตรอกหาทางออกไม่ได้   ไม่รู้จะจัดการอย่างไรกับชีวิตหรือการงาน   โปรดระลึกถึงพระสัญญาของพระเจ้าที่ว่า

“...เราจะอยู่กับท่านเสมอไปจนกว่าจะสิ้นยุค” (มัทธิว 28:20)

“...ไม่ใช่ด้วยกำลัง  ไม่ใช่ด้วยฤทธานุภาพ  แต่ด้วยวิญญาณของเรา...” (เศคาริยาห์ 4:6)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

21 ธันวาคม 2555

ช่วงเวลาใคร่ครวญชีวิตคริสตชน (7): เมื่อพระเจ้าทรงเรียก...แม้ลำบากแค่ไหนก็เชื่อฟัง


สี่สัปดาห์ก่อนวันคริสตสมภพ
เป็นช่วงเวลาแห่งการใคร่ครวญถึงการทรงเรียกและพระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตของเราแต่ละคน   แล้วเราจะตอบสนองการทรงเรียกดังกล่าวด้วยท่าทีแบบไหน
และด้วยการอุทิศทุ่มเทชีวิตอย่างไร

อ่านมัทธิว 2:12-16

...พวกนักปราชญ์ได้รับคำเตือนในความฝัน ไม่ให้กลับไปเฝ้าเฮโรด   พวกเขาจึงกลับไปยังเมืองของตนทางอื่น

เมื่อพวกเขา(นักปราชญ์)ไปแล้ว   ...ทูตสวรรค์องค์หนึ่งขององค์พระผู้เป็นเจ้าได้มาปรากฏแก่โยเซฟในความฝันแล้วบอกว่า   “จงลุกขึ้นพาพระกุมารกับมารดาหนีไปประเทศอียิปต์   และคอยอยู่ที่นั่นจนกว่าเราจะบอกเจ้า   เพราะเฮโรดจะแสวงหาพระกุมารเพื่อประหารชีวิตเสีย”

ใน...กลางคืนนั้นโยเซฟจึงลุกขึ้น  พาพระกุมารกับมารดาหนีไปยังประเทศอียิปต์
(มัทธิว 2:12-14 ฉบับมาตรฐาน)

การที่เรายอมรับกระแสการทรงเรียกของพระเจ้า   และตัดสินใจที่จะเชื่อฟังและกระทำตามการทรงเรียกดังกล่าว   มิใช่ว่าทุกอย่างจะเป็นไปอย่างราบรื่น   แต่บ่อยครั้งกลับต้องพบกับปัญหาอุปสรรค  ความทุกข์ยากลำบาก  บางครั้งพบกับอันตรายที่อยู่ข้างหน้า   บ่อยครั้งไม่รู้ว่าจะเผชิญหน้ากับความเลวร้ายของชีวิตอย่างไรดี   และมักเกิดคำถามในใจว่า   แล้วเมื่อไหร่ความทุกข์ยากลำบากเหล่านี้จะสิ้นสุดลงสักที   ยิ่งกว่านั้น  บางท่านอาจจะเกิดความสงสัยว่า  มีแต่สิ่งร้ายๆ เกิดขึ้นในชีวิตเช่นนี้   นี่คงมิใช่การทรงเรียกของพระเจ้ากระมัง   เราคิดหรือสำคัญผิดไปเองหรือเปล่า   เราหันหลังกลับดีไหมก่อนที่จะถลำลึกชีวิตลื่นลงร้ายกว่านี้?

ทำไมเมื่อเรายอมทำตามกระแสเรียกของพระเจ้าแล้วยังต้องพบกับความทุกข์ยากล้มเหลวในชีวิต?

ทำไมเรายอมทำตามการทรงเรียกของพระเจ้าแล้วยังต้องพบปัญหาอุปสรรค ผู้คนที่คอยขัดขวางมากมาย?

จากเรื่องราวในพระคัมภีร์ตอนนี้ชี้ชัดให้เราเรียนรู้ว่า  การทำตามการทรงเรียกบ่อยครั้งนักที่เราต้องพบกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก  อันตราย  ต้องทุกข์ทน   การกระทำตามการทรงเรียกมิได้หมายความว่าเราจะพบแต่ความสะดวกสบาย   พบกับรางวัลชีวิต   พบกับความสมหวัง  ได้รับเกียรติ  รับการนับหน้าถือตา  รับการเคารพ  รับการสนับสนุนเสมอไป

ในการที่ใครก็ตามที่ยอมมอบกายถวายทั้งชีวิตให้เป็นไปตามการทรงเรียก  ให้สำเร็จตามพระประสงค์ของพระเจ้า   ไม่ว่าจะได้รับความรู้สึกว่าสุขสำเร็จ  หรือ ทุกข์ยากล้มเหลว   เราจะไม่ตกลงเป็นเบี้ยล่างของความรู้สึกที่ถูกครอบงำจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นรอบข้าง   แต่เราต้องมั่นใจว่า  นี่คือการทรงเรียกของพระเจ้า   สถานการณ์จะเป็นไปตามการทรงควบคุมของพระองค์   ดังนั้น  อะไรจะเกิดขึ้นก็ตามพระเจ้าทรงมีแผนการของพระองค์   และที่สำคัญคือพระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจเคียงข้างเราเพื่อให้ทุกอย่างสำเร็จตามพระประสงค์ของพระองค์   ในทุกสถานการณ์   พระองค์จะทรงชี้ชัดว่าพระองค์ประสงค์ให้เราทำอะไรในสถานการณ์นั้นๆ

เรื่องราวที่เราอ่านจากพระคัมภีร์ในตอนนี้   พระเจ้าทรงใช้ทูตสวรรค์สำแดงชี้แนะแก่ทั้งนักปราชญ์ทั้งสาม และ โยเซฟว่า  เขาจะต้องทำอย่างไร   เมื่อเฮโรดต้องการไล่ล่าตามฆ่าพระกุมารเยซู

ทูตสวรรค์เตือนนักปราชญ์ผ่านความฝันว่า  “ไม่ให้กลับไปเฝ้าเฮโรด”  พวกเขาต้องหาทางอื่นเพื่อหลบลี้หนีไปในเส้นทางที่ไม่ต้องพบกับกษัตริย์เฮโรด

ทูตสวรรค์บอกกับโยเซฟในความฝันว่า “จงลุกขึ้นพาพระกุมารกับมารดาหนีไปยังประเทศอียิปต์”

ในสถานการณ์ชีวิตที่ตอบสนองการทรงเรียกของพระเจ้าที่ต้องตกทุกข์ได้ยากและเผชิญหน้ากับอันตราย   พระเจ้ามิได้นั่งดูจากสวรรค์   แต่พระองค์ลงมาคลุกในท่ามกลางสถานการณ์นั้น   และดำเนินกระทำตามแผนการของพระองค์   ยิ่งกว่านั้นพระองค์ยังทรงสำแดงชี้แนะว่าเราควรจะกระทำเช่นไรในสถานการณ์ดังกล่าว

บ่อยครั้ง  เมื่อเรายอมตนถวายตัวดำเนินชีวิตตามการทรงเรียกของพระองค์   และตกที่นั่งลำบาก  ถูกถล่มจนต้องทุกข์ยาก   ถูกทำร้ายด้วยแผนการที่ชั่วร้าย   เมื่อได้รับการทรงสำแดงชี้แนะ   บางครั้งเราไม่ยอมรับวิธีการที่ทรงชี้แนะ   เพราะเรามองว่าวิธีนั้นไม่น่าจะเป็นวิธีการที่พระเจ้าต้องการให้เราทำ!

เพราะวิธีการที่พระเจ้าทรงสำแดงชี้แนะนั้นไม่ได้เป็นตามกรอบคิด กรอบความต้องการของเรา

ถ้าเราเป็นโยเซฟในสถานการณ์ปัจจุบัน   เราจะมองว่า  เป็นไปได้อย่างไรที่พระเจ้าทรงสำแดงชี้แนะให้เรา “ต้องหนี”  เพราะตามความคิดของเราแล้วพระเจ้าผู้ทรงฤทธิ์เดชสูงสุดทำไมจะต้องหนีกษัตริย์เฮโรดที่เลวร้าย   เป็นไปได้อย่างไรเพราะเราไม่ได้ทำผิดอะไรเลยแล้วทำไมเราต้องหนี?   วิธีนี้เป็นหนทางของผู้พ่ายแพ้ต่างหาก   แผนการของพระเจ้าต้องไม่ใช้วิธีการของ “ผู้แพ้”  

เป็นอันว่า เราเอากรอบคิด กรอบความต้องการของเรา เข้าไปแทนที่แผนการของพระเจ้า  เอาความต้องการของเราเข้าไปแทนที่พระประสงค์ของพระเจ้า  “เราต้องชนะ  พระเจ้าต้องใช้เราด้วยวิธีการที่ชนะ”  “เราแพ้ไม่ได้  พระเจ้าต้องไม่แพ้”?

ในที่สุดเราตัดสินใจที่เผชิญหน้าและสู้กับสถานการณ์ที่เลวร้ายดังกล่าวตามวิธีการของเราเอง

เราตัดสินใจที่จะใช้ชีวิตตามการทรงเรียกของพระเจ้า  แต่ต้องด้วยวิธีการของเราเอง?

เราหนีไม่ได้   เราต้องการพิสูจน์ว่าเราเป็นผู้ถูกต้อง  เราเป็นผู้บริสุทธิ์  เราเสียหน้าไม่ได้   เราแพ้ไม่ได้

เราต้องชนะ   เราต้องบริสุทธิ์ในสายตาของคนรอบข้าง?

บางครั้งเราที่ตกในสถานการณ์อย่างโยเซฟเราลืมไปว่า   ในสถานการณ์นี้เรากำลังกระทำตามการทรงเรียกของพระเจ้า   เราเป็นเพียงผู้ร่วมในพระราชกิจของพระเจ้า   เราต้องทำตามแผนการของพระองค์   แต่เรากลับลืมตัวทำตนเป็นเหมือนเจ้าของพระราชกิจ   วางแผนว่าจะสู้อย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้    เราลืมไปว่า  “พระเจ้าต่างหากที่เป็นผู้ที่ต่อสู้กับกษัตริย์เฮโรด”   มิใช่โยเซฟ หรือ ตัวเราเอง   เราเป็นเพียงผู้ร่วมในพระราชกิจของพระองค์ที่กระทำตามที่พระองค์ทรงใช้เท่านั้น!

ในช่วงเวลาคริสตสมภพนี้   เป็นเวลาที่เราแต่ละคนต้องกลับมามองเข้าไปในชีวิตจิตใจของเรา   ในยุคที่ชีวิตพบแต่ความทุกข์ยากลำบาก   สิ่งที่พึงแสวงหาคือ พระประสงค์ของพระเจ้าและวิธีการที่พระองค์ทรงชี้นำในการจัดการชีวิตของเราให้ดำเนินการตามแผนการของพระองค์

หนึ่งปีที่ผ่านมา   ชีวิตของเราต้องเหน็ดเหนื่อย ลำบาก  พ่ายแพ้  ท้อแท้ใจ   ให้สงบชีวิตของเรา  นิ่งต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้าอย่างโยเซฟและนักปราชญ์   เพื่อที่จะได้ยินได้เห็นถึงการทรงสำแดงชี้แนะของพระเจ้าสำหรับการดำเนินชีวิตของเรา

ถ้าเรารู้สึกเหน็ดเหนื่อยมาตลอดปี   พระเจ้าทรงรักและเมตตาเราที่ยอมทำตามการทรงเรียกของพระองค์ในภาระการงานและชีวิตครอบครัว   พระเจ้ากำลังชี้แนะและแจ้งถึงพระประสงค์ของพระองค์สำหรับเราในวันนี้และปีใหม่ข้างหน้า   ขอให้เราให้ได้ยินและเห็นเฉกเช่นนักปราชญ์และโยเซฟได้รับการทรงสำแดงชี้แนะจากพระเจ้า

แล้วกระทำอย่างโยเซฟ

“ใน...กลางคืนนั้นโยเซฟจึงลุกขึ้น  พาพระกุมารกับมารดาหนีไปยังประเทศอียิปต์” 

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ช่วงเวลาใคร่ครวญชีวิตคริสตชน (6): เมื่อพระเจ้าทรงเรียก...พร้อมฝ่าฝืนคำสั่งที่ฉ้อฉล


สี่สัปดาห์ก่อนวันคริสตสมภพ
เป็นช่วงเวลาแห่งการใคร่ครวญถึงการทรงเรียกและพระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตของเราแต่ละคน   แล้วเราจะตอบสนองการทรงเรียกดังกล่าวด้วยท่าทีแบบไหน
และด้วยการอุทิศทุ่มเทชีวิตอย่างไร

อ่านมัทธิว 2:1-16 

พระเยซูได้ทรงบังเกิดที่บ้านเบธเลเฮมแค้วนยูเดียในรัชกาลกษัตริย์เฮโรด   ภายหลังมีนักปราชญ์จากทางทิศตะวันออกมายังกรุงเยรูซาเล็มถามว่า

“พระกุมารที่ทรงบังเกิดเป็นกษัตริย์ของชนชาติยิวนั้นอยู่ที่ไหน?   เราได้เห็นดาวของท่านทางทิศตะวันออก  และเรามาเพื่อนมัสการท่าน”

เมื่อกษัตริย์เฮโรดได้ยินดังนั้นก็วุ่นวายพระทัย  ทั้งชาวกรุงเยรูซาเล็มก็พลอยวุ่นวายใจด้วย   แล้วท่านทรงให้ประชุมพวกหัวหน้าปุโรหิตกับพวกธรรมาจารย์ของประชาชน  แล้วก็ตรัสถามเขาว่า “พระคริสต์ทรงบังเกิดที่ไหน?”   พวกเขาทูลว่า   “ที่บ้านเบธเลเฮมในแผ่นดินยูเดีย...”

เฮโรดจึงทรงเชิญพวกนักปราชญ์เข้ามาอย่างลับๆ   ทรงสอบถามจนได้ความถ้วนถี่ถึงเวลาที่ดาวนั้นได้ปรากฏขึ้น  แล้วท่านทรงให้พวกนักปราชญ์ไปยังบ้านเบธเลเฮมรับสั่งว่า

“จงไปค้นหาพระกุมารที่เกิด   เมื่อพบแล้วจงกลับมาแจ้งแก่เราเพื่อจะไปนมัสการท่านด้วย”

พวกนักปราชญ์ก็ไปตามรับสั่ง  และดาวซึ่งพวกเขาได้เห็นทางทิศตะวันออกนั้นได้นำหน้าพวกเขาไป  จนมาอยู่เหนือสถานที่ซึ่งพระกุมารอยู่นั้น...  เมื่อเข้าไปในบ้านก็พบพระกุมารกับนางมารีย์มารดา  จึงก้มลงนมัสการพระกุมารนั้น   แล้วเปิดหีบสมบัติของพวกเขาและถวายเครื่องบรรณาการแด่พระกุมารคือ  ทองคำ กำยาน และมดยอบ

แล้วพวกนักปราชญ์ได้รับคำเตือนในความฝัน  ไม่ให้กลับไปเฝ้าเฮโรด  พวกเขาจึงกลับไปเมืองของพวกตนทางอื่น (มัทธิว 2:1-12 ฉบับมาตรฐาน)  เมื่อเฮโรดทรงเห็นว่าพวกนักปราชญ์หลอกท่านก็กริ้วยิ่งนัก   จึงทรงสั่งคนไปฆ่าเด็กชายทั้งหมดในบ้านเบธเลเฮมและในบริเวณใกล้เคียงที่มีอายุตั้งแต่สองขวบลงมา   โดยนับตามเวลาที่ท่านทรงทราบจากพวกนักปราชญ์ (ข้อ 16)

เหตุการณ์ของพระธรรมตอนนี้  สันนิษฐานว่ามัทธิวบันทึกเรื่องราวในเหตุการณ์ตอนนั้นจากคำบอกเล่าของ   มารีย์   ซึ่งแน่นอนว่าโยเซฟได้เสียชีวิตไปก่อนหน้านี้นานแล้ว   และมัทธิวได้ให้ข้อมูลเชิงเวลาที่ค่อนข้างชัดเจน   เมื่อนักปราชญ์มาเข้าเฝ้านมัสการพระกุมารนั้น  มิใช่ช่วงเวลาที่พระกุมารเป็นทารกแบเบาะที่เกิดในถ้ำ  คอกสัตว์  และวางให้นอนในรางหญ้า   แต่มัทธิวบอกว่า  “...เมื่อเข้าไปในบ้านก็พบพระกุมารกับนางมารีย์มารดา...”  (ข้อ 11)  ในช่วงเวลานั้นพระกุมารเยซูน่าจะอายุประมาณเกือบสองขวบ   เพราะมัทธิวบันทึกรายละเอียดไว้ว่า  เมื่อเฮโรดทรงเห็นว่าพวกนักปราชญ์หลอกท่านก็กริ้วยิ่งนัก   จึงสั่งคนไปฆ่าเด็กชายทั้งหมด... “ที่มีอายุตั้งแต่สองขวบลงมา   โดยนับเวลาที่ท่านทรงทราบจากพวกนักปราชญ์”

ดังนั้น   ในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองคริสตสมภพในคริสตจักร   ขอความกรุณาท่านศิษยาภิบาลและครูคริส-เตียนศึกษา รวีวารศึกษา   เวลาจัดการแสดงฉากการบังเกิดของพระกุมาร   อย่ามักง่ายจัดฉากให้นักปราชญ์มาเข้าเฝ้านมัสการพระกุมารที่คอกสัตว์  ที่พระกุมารกำลังบรรทมอยู่ในรางหญ้านะครับ   เพราะเป็นการปลูกฝังข้อมูลความจริงของพระคัมภีร์ที่ผิดๆ ลงในความทรงจำและการเรียนรู้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่กำลังชมครับ   และอีกฉากหนึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นบนเวทีการแสดงคือ   จัดให้ทั้งคนเลี้ยงแกะและนักปราชญ์เข้ามาเฝ้านมัสการพระกุมารในฉากเวลาเดียวกัน   เพราะนี่ก็เป็นข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อนจากพระคัมภีร์อีกมากเลยทีเดียวครับ   หรือคริสตจักรจัดภาพวาดขนาดใหญ่เกี่ยวกับการประสูติของพระเยซูคริสต์ก็โปรดระมัดระวังเลี่ยงความผิดพลาดที่กล่าวข้างต้นด้วยครับ

เมื่อเราอ่านถึงเรื่องราวของนักปราชญ์จากทิศตะวันออกพบดวงดาวของพระกุมารที่เกิดมาเป็นกษัตริย์ยิวนั้น   นักปราชญ์กลุ่มนี้ไม่น่าจะเป็นคนที่ความรอบรู้ในเรื่องคำสอนความเชื่อของยิวสักเท่าใดนัก   แต่ด้วยความเป็นนักปราชญ์  นักค้นคว้าแสวงหาสัจจะความจริงตามวิถีที่ตนได้ร่ำเรียนรู้มา   เมื่อเห็นดาว (ตกฟาก) ของกษัตริย์องค์หนึ่งมาบังเกิดในโลก  เขารีบแสวงหาและติดตามด้วยจิตใจที่ต้องการไปนมัสการ  ยกย่อง และเทิดทูน   ดังดูได้จากที่นักปราชญ์ได้เตรียมสิ่งที่มีค่าที่ตนมีเพื่อนำมาจะถวาย   อาจจะเป็นเพราะว่า  ดวงดาวได้แสดงให้เห็นว่า  กษัตริย์องค์นี้มิใช่กษัตริย์ธรรมดาเหมือนกษัตริย์ทั่วไปที่มาบังเกิดในโลกนี้

ใครก็ตามที่มีความสนใจในพระราชกิจของพระเจ้า  แสวงหาความจริงที่จะนมัสการ ยกย่อง สรรเสริญพระองค์   แม้เขาจะยังไม่รู้ไม่เชื่อศรัทธาในพระองค์ก็ตาม   แต่พระเจ้าทรงอยู่ใกล้ชิดเคียงข้างในชีวิตของเขา   และในเวลาเดียวกันพระองค์ทรงเรียกเพื่อให้เข้าร่วมในพระราชกิจของพระเจ้าในตอนนั้นๆ ด้วย  เฉกเช่นกษัตริย์ไซรัสแห่งเปอร์เซียที่มิใช่ยิว มิได้เป็นผู้ประกาศตัวว่ารู้และเชื่อศรัทธาในพระเจ้าของพวกยิว   แต่พระเจ้าทรงใช้เขาให้เข้าร่วมในพระราชกิจของพระองค์ในเวลานั้น   และในกรณีของนักปราชญ์ที่มาเข้าเฝ้าและนมัสการพระกุมารก็เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่พระเจ้าทรงเรียกให้นักปราชญ์เข้าร่วมในพระราชกิจครั้งยิ่งใหญ่สำคัญของพระองค์

ถ้าเป็นไปตามการบันทึกของหมอลูกา  ผู้ที่พระเจ้าทรงเรียกและใช้ให้เป็นผู้จุดประกายสร้างความสนใจในสังคมถึงการมาบังเกิดของพระกุมารเยซูคริสต์คือ “คนเลี้ยงแกะ” ที่ได้รับข่าวสารที่สำคัญนี้มาจากทูตสวรรค์   เมื่อมาเห็นประจักษ์จริงด้วยตาและชีวิตของตนเองแล้ว   คนเลี้ยงแกะเหล่านี้ก็ออกไปป่าวประกาศข่าวดียิ่งที่รอมาเป็นเวลานานในหมู่ประชาชนชาวยิว  “เมื่อพวกเขาเห็นแล้วจึงเล่าเรื่องที่เขาได้ยินถึงพระกุมารนั้น   คนทั้งหลายที่ได้ยินก็ประหลาดใจเกี่ยวกับเรื่องที่คนเลี้ยงแกะบอกกับเขา”  (ลูกา 2:17-18)   ซึ่งเป็นการจุดประกายความสนใจในบรรดาประชาชนคนธรรมดาถึงการมาบังเกิดของพระเยซูคริสต์ในเวลานั้น

ตามการบันทึกของมัทธิวได้ให้อีกภาพหนึ่งในเหตุการณ์นี้   “นักปราชญ์” คือผู้ที่พระเจ้าทรงเรียกและทรงใช้ให้เป็นคนกระตุ้นและจุดประกายสร้างความสนใจในสังคมถึงการมาบังเกิดของพระกุมารเยซูคริสต์   ที่พวกเขาได้รับการทรงเปิดเผยสำแดงผ่านทางดวงดาว   และได้มาเรียนรู้ข้อมูลประกอบข้อเท็จจริงจากพระคัมภีร์ของพวก  ยิวจากพวกหัวหน้าปุโรหิตและธรรมาจารย์    แต่เป็นการกระตุ้นและจุดประกายเรื่องพระเยซูคริสต์ในอีกชนชั้นหนึ่งของสังคมคือ กระตุ้นพวกผู้มีอำนาจปกครองอาณาจักรอย่างกษัตริย์เฮโรด และ ผู้นำและมีอำนาจในการปกครองด้านศาสนา   การจุดประกายเรื่องนี้ทำให้ กษัตริย์เฮโรด “...วุ่นวายพระทัย  และชาวกรุงเยรูซาเล็มก็พลอยวุ่นวายใจไปด้วย”  (มัทธิว 2:3 ฉบับมาตรฐาน)   และนี่คือบทบาทหนึ่งที่พระเจ้าทรงเรียกและให้นักปราชญ์เข้าร่วมในพระราชกิจของพระองค์ในเหตุการณ์ครั้งสำคัญนี้

นอกจากการทรงเรียกให้เข้าร่วมในพระราชกิจของพระเจ้าครั้งนี้   ด้วยการเป็นผู้จุดประกายเรื่องการมาบังเกิดของพระเยซูคริสต์ในหมู่ผู้มีอำนาทางการเมือง และ ศาสนาแล้ว   พระเจ้ายังทรงเรียกและใช้ให้นักปราชญ์เข้าร่วมในพระราชกิจ “แห่งการทรงจัดเตรียมของพระเจ้า”  สำหรับมารีย์ โยเซฟ และพระกุมาร   และร่วมในพระราชกิจการปกป้องคุ้มครองพระกุมารเยซู

ในการเข้าเฝ้าและนมัสการองค์พระกุมารของนักปราชญ์   พวกเขาเตรียมสิ่งที่มีค่ามาเพื่อเป็นการถวายแด่พระกุมารผู้มาบังเกิดเป็นกษัตริย์   แต่เขาไม่รู้หรอกว่าสิ่งของที่เขาถวายเป็นเครื่องบรรณาการนั้นแท้จริงคือ “การทรงจัดเตรียมของพระเจ้า”  สำหรับชีวิตที่ต้องระหกระเหิน  ต้องพบกับความร้อนความหนาว   ความทุกข์ยากในต่างแดนของสามพ่อแม่และลูกในเวลาอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้านี้   นักพระคัมภีร์บางท่านสันนิษฐานว่า  ของมีค่าทั้งสามถูกแลกเป็นปัจจัยที่จะต้องดำรงชีวิตเพื่อความอยู่รอดในแผ่นดินอียิปต์   และนักปราชญ์ได้มีส่วนร่วมในพระราชกิจที่สำคัญครั้งนี้คือ  การร่วมในการจัดเตรียมของพระเจ้าสำหรับคนสำคัญทั้งสามในพระราชกิจของพระองค์

หลังจากเหตุการณ์การเข้าเฝ้าและนมัสการพระกุมารของนักปราชญ์   เหตุร้ายและการมุ่งทำลายล้างผลาญพระกุมารที่ไม่มีความผิดก็ได้เกิดขึ้น   กษัตริย์เฮโรดสั่งให้นักปราชญ์ช่วยกลับไปบอกตนว่าพบพระกุมารอยู่ที่ใด  โดยหลอกว่าตนจะได้ไปนมัสการด้วย   แต่แท้จริงจะได้จัดการเข่นฆ่ากำจัดพระกุมารเยซูให้สิ้นเสี้ยนหนามของแผ่นดิน   แต่พระเจ้าทรงเรียกและใช้ให้นักปราชญ์ที่ไม่รู้จักพระองค์ให้รู้เท่าทันแผนการอันเลวร้ายของเฮโรด   ดังนั้น  เมื่อนักปราชญ์รู้เท่าทันความคิดแผนชั่วของเฮโรดพวกเขาจึง “ขัดคำสั่งกษัตริย์เฮโรด”  หลีกลี้หนีออกนอกประเทศไปอีกทางหนึ่ง   บทเรียนครั้งนี้ชัดเจนว่า   ผู้ที่พระเจ้าทรงเรียกและเข้าร่วมในพระราชกิจครั้งสำคัญของพระองค์   ต้องพร้อมที่จะ “ฝ่าฝืนคำสั่งที่ฉ้อฉล”  ของผู้นำผู้ปกครองแม้จะมีอำนาจล้นฟ้าแค่ไหนก็ตาม

ในการทรงเรียกของพระเจ้าให้เราเข้าร่วมในพระราชกิจของพระองค์ในแต่ละช่วงเวลาเหตุการณ์   บ่อยครั้งเรามักไม่รู้ว่าเป้าหมายปลายทางของพระเจ้าคืออะไร   แต่เรายอมตนเข้าร่วมและกระทำสานต่อในพระราชกิจของพระองค์ที่ทรงเรียกเราให้กระทำ   หลายครั้งเราจะไม่สามารถเห็นคุณค่าสำคัญที่แท้จริงในพระราชกิจที่ทรงเรียกให้เราสานต่อพระราชกิจของพระองค์   แต่เราต้องสัตย์ซื่อและไว้วางใจในการทรงนำของพระองค์   และอีกประการหนึ่งคือ   ถ้าคิดจะมอบกายถวายชีวิตรับใช้พระราชกิจตามการทรงเรียก  ก็ต้องพร้อมที่จะกบฏต่อคำสั่ง และ อำนาจที่ฉ้อฉลของผู้ปกครองที่มีอำนาจทั้งฝ่ายบ้านเมือง และ ศาสนา   กล้าที่จะมีวิญญาณกบฏต่ออำนาจที่สวนกระแสและท้าทายต่อพระราชกิจแห่งพระประสงค์ของพระเจ้า

ถ้าเรามั่นใจว่าพระเจ้าทรงเรียกและใช้เราในพระราชกิจของพระเจ้าวันนี้   เราอาจจะต้องถามตนเองว่า  เราพร้อมที่จะจุดประกายและกระทำให้ผู้คนเห็นถึงพระราชกิจที่พระองค์ต้องการใช้เรากระทำหรือไม่?   เราพร้อมที่จะกระทำตามพระราชกิจที่ทรงมอบหมายทั้งๆ ที่เราเองยังไม่รู้ชัดเจนในเป้าหมายปลายทางของพระเจ้าหรือไม่?   และเราพร้อมที่จะมีวิญญาณกบฏต่ออำนาจที่ฉ้อฉลหรือไม่?   หรือเรายังต้องเป็นคนแบบ “เข้าเมืองโสดมก็ทำอย่างชาวโสดม” หรือ “เข้าเมืองตาหลิ่วก็ต้องหลิ่วตาตาม”?

แล้วพวกนักปราชญ์ได้รับคำเตือนในความฝัน  ไม่ให้กลับไปเฝ้าเฮโรด  พวกเขาจึงกลับไปเมืองของพวกตนทางอื่น   เมื่อเฮโรดทรงเห็นว่าพวกนักปราชญ์หลอกท่านก็กริ้วยิ่งนัก  


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

17 ธันวาคม 2555

ช่วงเวลาใคร่ครวญชีวิตคริสตชน (5): เมื่อพระเจ้าทรงเรียก...เป็นคนดีเท่านั้นไม่พอ


สี่สัปดาห์ก่อนวันคริสตสมภพ
เป็นช่วงเวลาแห่งการใคร่ครวญถึงการทรงเรียกและพระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตของเราแต่ละคน   แล้วเราจะตอบสนองการทรงเรียกดังกล่าวด้วยท่าทีแบบไหน
และด้วยการอุทิศทุ่มเทชีวิตอย่างไร

อ่านมัทธิว 1:18-24

...มารีย์...เดิมโยเซฟได้สู่ขอหมั้นกันไว้แล้ว   ก่อนที่จะได้อยู่กินด้วยกันก็ปรากฏว่า มารีย์มีครรภ์แล้วด้วยเดชพระวิญญาณบริสุทธิ์

แต่โยเซฟคู่หมั้นของเธอเป็นคนชอบธรรม   ไม่ต้องการแพร่งพรายความเป็นไปของเธอ  ต้องการจะถอนหมั้นเสียลับๆ

เมื่อโยเซฟยังคิดเรื่องนี้อยู่   ก็มีทูตสวรรค์องค์หนึ่งขององค์พระผู้เป็นเจ้ามาปรากฏแก่โยเซฟในความฝันว่า   “โยเซฟบุตรดาวิด   อย่ากลัวที่จะรับมารีย์มาเป็นภรรยาของท่านเลย   เพราะว่าผู้ปฏิสนธิในครรภ์ของเธอเป็นโดยเดชพระวิญญาณบริสุทธิ์...

เมื่อโยเซฟตื่นขึ้นก็ทำตามคำซึ่งทูตสวรรค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าสั่งนั้น  คือได้รับ   มารีย์มาเป็นภรรยา   แต่ไม่มีเพศสัมพันธ์กับเธอจนกว่าให้พระกำเนิดบุตรชายแล้ว   และโยเซฟเรียกนามของบุตรนั้นว่าเยซู   (มัทธิว 1:18-20;   24-25  ฉบับมาตรฐาน)

จากตอนก่อนหน้านี้   กล่าวถึงมารีย์ได้ไปเยี่ยมและอยู่กับนางเอลีซาเบธเป็นเวลาสามเดือน   ทั้งนี้บ้านนั้นเป็นที่ปลอดภัยสำหรับเธอที่ชีวิตกำลังประสบวิกฤติ เพราะเป็นบ้านของปุโรหิต   และได้กล่าวไว้ว่า  ในช่วงเวลาสามเดือนนั้นเป็นช่วงเวลาที่ให้โยเซฟคู่หมั้นของมารีย์มีโอกาสคิด  ใคร่ครวญ  และตัดสินใจว่าจะจัดการอย่างไรในเรื่องนี้

ในพระธรรมมัทธิวได้เขียนไว้ว่า  โยเซฟเป็นคนชอบธรรม (ข้อ 19)  “เป็นคนดีมีคุณธรรม”(ตามสำนวนอมตธรรม)   ไม่ต้องการที่จะแพร่งพรายเรื่องราวร้ายๆ ที่เกิดขึ้น(ตามสายตาของโยเซฟและคนทั่วไป)   ที่จะทำให้  มารีย์ต้องเสื่อมเสียชื่อเสียง  ได้รับความอับอายต่อหน้าธารกำนัล  และต้องโทษถูกหินขว้างตายตามบทบัญญัติยิว   โยเซฟจึงต้องการถอนหมั้นอย่างลับๆ   

ในเวลาเดียวกัน   การที่โยเซฟเป็นคนชอบธรรม  เป็นผู้ที่มีคุณธรรม  เขาก็รับไม่ได้ที่คู่หมั้นของตนมีครรภ์โดยที่ไม่ได้มีเพศสัมพันธ์กับตน   จะให้เข้าใจเป็นอย่างอื่นไม่ได้ว่า มารีย์อาจจะมีชู้   ถึงกระนั้นก็ตามเขาก็ไม่ต้องการทำลายชื่อเสียงของมารีย์และครอบครัว   เขาไม่ต้องการให้มารีย์ต้องเกิดความเจ็บปวดในชีวิตมากกว่านี้   โดยมาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรม   เรายอมรับว่าโยเซฟเป็นผู้ที่มีความชอบธรรมและมีคุณธรรมในชีวิตของเขา   และนี่เป็นความดีประเสริฐเลิศศรีแล้ว  

แต่ตามมาตรฐานแห่งการทรงเรียกของพระเจ้าแค่เป็นคนดีมีคุณธรรมนั้นไม่เพียงพอ!

ขณะโยเซฟกำลังคิดใคร่ครวญว่าจะจัดการเหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นนี้อย่างไรให้ดีที่สุดได้อยู่นั้น    ทูตสวรรค์ของพระเจ้ามาปรากฏในความฝันของโยเซฟ   และชี้ให้โยเซฟเห็นว่า  ในเหตุการณ์ที่โยเซฟเห็นว่าเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายนั้น   แท้จริงเป็นสถานการณ์ที่พระเจ้ากำลังกระทำพระราชกิจของพระองค์ในกระบวนเหตุการณ์ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ   และชี้ให้โยเซฟเห็นว่า  พระเจ้าทรงเรียกให้มารีย์เข้ามามีส่วนร่วมในพระราชกิจครั้งสำคัญครั้งนี้   แล้วปิดท้ายด้วยการทรงเรียกให้โยเซฟเข้าร่วมในพระราชกิจครั้งสำคัญนี้ด้วยเช่นกัน

การตอบรับการทรงเรียกของพระเจ้าของโยเซฟ   มิใช่เป็นการง่าย  เพราะเขาต้องต่อสู้กับมโนธรรมสำนึกเดิมๆ ในความคิดจิตใจของเขา   เขาต้องฝืนทวนกระแสคิดการเป็น “คนดีมีคุณธรรม”  ที่เขายึดถือมาตลอดชีวิต   และเขากำลังถูกท้าทายให้กล้าเสี่ยงที่จะรับพระประสงค์แห่งการทรงเรียกครั้งนี้ที่ดูผิดศีลธรรมและจริยธรรมในมาตรฐานของโลก   โยเซฟต้องต่อสู้ในจิตใจระหว่าง ความดีมีคุณธรรมของเขากับการเข้าร่วมในพระราชกิจครั้งสำคัญที่พระเจ้าทรงเรียก   โยเซฟต้องปล้ำสู้ระหว่างความคิด  ที่จะเป็นคนดีตามสายตาของคนในสังคมของเขากับการที่กล้าเสี่ยงร่วมในพระราชกิจของพระเจ้าที่ผู้คนส่วนใหญ่ไม่รู้ ไม่เข้าใจ และไม่ยอมรับ   โยเซฟต้องเลือกที่จะมีชีวิตที่หลบไปอยู่ใน “มุมสงบ”  ถอนหมั้นเป็นการลับ   แยกทางกับมารีย์  อยู่อย่างสงบ  ไม่ต้องเสี่ยง  ไม่ต้องมารับผิดจากการตีตราของสังคม   หรือ จะตัดสินใจกระโดดเข้าร่วมในกระบวนการแห่งพระราชกิจของพระเจ้า   ที่ไม่รู้ว่าจะต้องเผชิญการประณาม  ต่อต้าน  เข่นฆ่า ทำร้ายทำลายเช่นไรบ้าง

โยเซฟเริ่มรู้และเข้าใจแล้วว่า   เหตุการณ์เลวร้ายที่กำลังเกิดขึ้นกับมารีย์คู่หมั้นของเขา   แท้จริงเป็นข่าวดีแห่งพระราชกิจของพระเจ้า   แต่เขาก็รู้อีกว่า   ที่สำคัญคือเขาต้องตัดสินใจว่า  เขาจะเลือกเป็นเพียงคนดีของสังคม   หรือ  เขาจะเลือกที่จะอุทิศทุ่มเททั้งชีวิตที่จะเข้าร่วมในพระราชกิจของพระเจ้าครั้งสำคัญครั้งนี้   และเมื่อใครก็ตามได้ยินเสียงการทรงเรียกของพระเจ้า   เขาคนนั้นก็เหมือนโยเซฟ  ที่ต้องตัดสินใจเลือก  ระหว่างคุณค่าแห่งโลกนี้ กับ คุณค่าแห่งการยอมตนรับใช้พระเจ้าด้วยการทุ่มทั้งชีวิตร่วมในพระราชกิจของพระองค์

มัทธิวบันทึกไว้ว่า  “เมื่อโยเซฟตื่นขึ้นก็ทำตามคำซึ่งทูตสวรรค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าสั่งนั้น  คือได้รับ   มารีย์มาเป็นภรรยา...” (ข้อ 25)

เมื่อพระเจ้าทรงเรียกผู้ใด   พระองค์มิได้ทรงเรียกให้เขาเป็นคนดีตามมาตรฐานแห่งโลกนี้เท่านั้น   แต่พระองค์ทรงเรียกร้องการมอบกายถวายชีวิต  อุทิศทุ่มเทชีวิตทั้งหมดเพื่อเข้าร่วมพระราชกิจของพระเจ้า  ให้เป็นไปและเกิดผลตามพระประสงค์ของพระองค์  

วันนี้ท่านต้องการเป็นคนดีของสังคม หรือ เป็นผู้ที่น้อมรับการทรงเรียก  และกล้าที่จะเสี่ยงเข้าร่วมในกระบวนการแห่งพระราชกิจของพระเจ้า   ตามพระประสงค์ของพระองค์?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

14 ธันวาคม 2555

ช่วงเวลาใคร่ครวญชีวิตคริสตชน (4): เมื่อพระเจ้าทรงเรียก...ให้เรียนรู้ว่าพระเจ้าทำอะไร


สี่สัปดาห์ก่อนวันคริสตสมภพ
เป็นช่วงเวลาแห่งการใคร่ครวญถึงการทรงเรียกและพระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตของเราแต่ละคน   แล้วเราจะตอบสนองการทรงเรียกดังกล่าวด้วยท่าทีแบบไหน
และด้วยการอุทิศทุ่มเทชีวิตอย่างไร

อ่านลูกา 1:39-56

มารีย์จึงกล่าวว่า
“จิตใจของข้าพเจ้าสรรเสริญยกย่องพระเจ้า
และจิตวิญญาณของข้าพเจ้าชื่นชมยินดีในพระเจ้า พระผู้ช่วยให้รอดของข้าพเจ้า
เพราะพระองค์ทรงเอาพระทัยใส่ฐานะอันต่ำต้อยของผู้รับใช้ของพระองค์
นับแต่นี้ไป คนทุกชั่วอายุจะเรียกข้าพเจ้าว่าผู้ได้รับพร
เพราะว่าองค์ทรงฤทธิ์ได้ทรงกระทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่เพื่อข้าพเจ้า   พระนามของพระองค์บริสุทธิ์
พระเมตตาของพระองค์แผ่มาถึงบรรดาผู้ที่ยำเกรงพระองค์  ทุกชั่วอายุสืบไป

พระองค์ทรงประกอบกิจอันยิ่งใหญ่ด้วยพระกรของพระองค์
พระองค์ทรงกระทำให้ผู้(มีใจหยิ่ง)ผยองในส่วนลึกของความคิด(ต้อง)กระจัดกระจายไป
พระองค์ทรงปลดเจ้านายลงจากบัลลังก์   แต่ทรงยกผู้ต่ำต้อยขึ้น
พระองค์ให้ผู้หิวโหยอิ่มเอมด้วยสิ่งดี   แต่ทรงส่งคนมั่งมีไปมือเปล่า
พระองค์ทรงช่วยอิสราเอลผู้รับใช้ของพระองค์
ทรงไม่ลืมที่จะเมตตาต่ออับราฮัมและวงศ์วานของเขาตลอดไป...”  (ข้อ 46-55 อมตธรรม)

มารีย์เดินทางไปยังแถบเทือกเขายูเดีย  เพื่อหานางเอลีซาเบธ ซึ่งเป็นญาติของเธอ ที่ทูตสวรรค์บอกเธอว่าเอลีซาเบธที่แก่แล้ว  ยิ่งกว่านั้นทุกคนในแถบนั้นรู้ว่านางเป็นหมันตอนนี้ก็ตั้งครรภ์ได้ 6 เดือนแล้วตามแผนการของพระเจ้า   ดังนั้น  มารีย์จึงเดินทางไปหานางเอลีซาเบธ   ที่ไปมิใช่เพื่อพิสูจน์ว่าคำของทูตสวรรค์เป็นจริงหรือไม่   แต่ที่เธอไปเพื่อพบกับคนที่ได้รับการทรงเรียกให้ร่วมในพระราชกิจของพระเจ้าเช่นเธอ   เพื่อที่จะมีโอกาสหนุนเสริมเพิ่มพลังชีวิตที่กระทำตามการทรงเรียกแก่กันและกัน  

ในตอนที่แล้ว เราเรียนรู้ว่ามารีย์ตกอยู่ในสภาพการณ์ชีวิตที่ล่อแหลมอันตรายที่จะถูกเข้าใจผิดและถูกกล่าวหาว่าเธอ “มีชู้” จนตั้งครรภ์   และเป็นการง่ายที่จะถูกลงประชาทัณฑ์ตามบทบัญญัติ   การที่มารีย์ไปอยู่ที่บ้านเอลีซาเบธอย่างเงียบๆ เป็นเวลาสามเดือนเป็นหนทางหนึ่งที่ยอมทำตามการทรงเรียกของพระเจ้า แต่อยู่ในความปลอดภัยด้วย   ทั้งนี้เพราะเธอเข้าไปอยู่ในบ้านของปุโรหิตเศคาริยาห์   และในเวลาสามเดือนนี้เป็นการให้เวลาแก่โยเซฟคู่หมั้นของเธอที่จะคิดใคร่ครวญในเหตุการณ์ที่เธอตั้งครรภ์ว่า เขาจะตัดสินใจทำอะไรและอย่างไร

โดยทั่วไปแล้ว  ถ้าใครที่ได้รับการทรงเรียกจากพระเจ้า   มักถามต่อไปว่า แล้วพระเจ้าต้องการเรียกให้เขาคนนั้นทำอะไร?   แต่บทเรียนจากบทเพลงของมารีย์เราได้เรียนรู้ว่า   เมื่อพระเจ้าทรงเรียก  เราจะไม่ถามว่าเราจะต้องทำอะไร   แต่เราจะถามว่า แล้วพระเจ้าทรงกระทำอะไรอยู่ในตอนนี้?   ทั้งนี้เพราะว่า   เมื่อพระเจ้าทรงเรียกใครก็ตาม พระองค์ทรงเรียกให้คนๆ นั้นเข้ามาร่วมในแผนการแห่งพระราชกิจที่พระองค์ทรงกระทำ   เมื่อผู้ได้รับการทรงเรียกถูกเรียกไปเพื่อเข้าไปร่วมพระราชกิจของพระเจ้า   นั่นหมายความว่า  สิ่งแรกที่คนๆ นั้นต้องรู้ชัดเจนคือ  พระเจ้ากำลังกระทำอะไรอยู่ที่พระองค์ทรงเรียกให้เราเข้าร่วมในสิ่งที่พระองค์ทรงกำลังกระทำ   เพื่อเราจะเข้าไปร่วมพระราชกิจตามแผนการ ตามพระประสงค์ของพระองค์   มิใช่ตามใจปรารถนาของเราเอง

ในบทเพลงของมารีย์  แบ่งออกเป็นสองตอนใหญ่ๆ คือ  ตอนแรกเป็นการที่มารีย์เรียนรู้ถึงพระราชกิจของพระเจ้าที่ทรงกระทำในชีวิตของเธอ(ข้อ 46-50)   ตอนที่สอง  มารีย์เรียนรู้ถึงแผนการแห่งพระประสงค์ของพระเจ้าที่กำลังกระทำในผู้คนอื่นๆ (ข้อ 51-55)   การที่เราต้องรู้ถึงพระราชกิจของพระเจ้าทั้งสองลักษณะ เพื่อเราจะรู้ว่าเราเป็นใครที่พระเจ้าทรงเรียกให้เข้าร่วมในพระราชกิจ   และเราจะร่วมในการทำพระราชกิจในเรื่องอะไร

ตอนแรก ชี้ชัดให้เราได้เรียนรู้ว่า   ประการแรก  การที่พระเจ้าทรงเรียกเราให้เข้ามาร่วมในพระราชกิจของพระองค์นั้นมิใช่เพราะเรามีความเก่งกล้าสามารถ   ตรงกันข้าม  การทรงเรียกของพระเจ้าแสดงชัดเจนถึงการเอาใจใส่ของพระเจ้าต่อความยากไร้ ต่ำต้อย ขาดแคลนในชีวิตของเรา  “พระเจ้าทรงเอาพระทัยใส่ฐานะอันต่ำต้อยของผู้รับใช้” (ข้อ 48)   ประการที่สอง  การทรงเรียกของพระเจ้าให้เข้าร่วมในพระราชกิจของพระองค์มิใช่เรียกเราให้ไปทำงานเพื่อพระองค์   แต่การทรงเรียกกลับเป็นการที่พระเจ้าทรงกระทำการใหญ่ในชีวิตของเรา  ในประสบการณ์ของเรา   และที่สำคัญคือทรงเสริมสร้างให้ชีวิตของเราเติบโต แข็งแรงยิ่งขึ้น (ข้อ 49ประการที่สาม  ที่พระองค์ทรงเรียกเราให้เข้าร่วมในพระราชกิจของพระเจ้าทรงเรียกเราด้วยพระทัยเมตตาของพระองค์  เพื่อให้พระเมตตานั้นแผ่ขยายไปยังคนอื่นๆ ที่ยำเกรงพระองค์ด้วย (ข้อ 50)   ที่พระเจ้าทรงเรียกให้เราเข้าร่วมในพระราชกิจที่พระองค์กำลังทำสิ่งสำคัญประการหนึ่งคือ  พระองค์กำลังสร้างเราขึ้นผ่านการร่วมทำพระราชกิจของพระองค์   เพื่อชีวิตของเราจะสำเร็จตามพระประสงค์ของพระองค์

บทเรียนจากบทเพลงของมารีย์ตอนที่สองที่แสดงถึงพระราชกิจที่พระเจ้าทรงกระทำคือ  การทรง “พลิกฟื้น”  สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในโลกนี้ที่มิได้เป็นไปตามคุณค่าแห่งพระประสงค์ของพระเจ้า   ในขณะที่ประเทศมหาอำนาจ   ผู้นำทางการเมืองการปกครอง   ผู้นำศาสนายิว   กำลังมีระบบคุณค่าและคุณธรรมที่สวนกระแส  ที่ฝืนต้านต่อพระประสงค์ของพระเจ้า  

พระราชกิจของพระองค์คือการ “พลิก” สิ่งเหล่านี้ให้ไปในทิศทางที่ถูกต้องตามพระประสงค์   พระราชกิจของพระองค์คือ  “ปลดเจ้านายจากบัลลังก์  แต่ทรงยกผู้ต่ำต้อยขึ้น” (ข้อ 52)   นี่คือพระราชกิจที่พระเจ้าทรงกระทำ  และพระองค์ทรงเรียกให้มารีย์เข้าร่วมในพระราชกิจนี้

ระบบคุณค่าที่มองว่า  ผู้มั่งมี  ผู้มีอำนาจ คือผู้ที่ถูกต้องเสมอ   พระเจ้าจะทรงพลิกด้วยการ “ให้ผู้หิวโหยอิ่มด้วยสิ่งดี”   แต่ทรงกระทำให้ “คนมั่งมีต้องไปมือเปล่า” (ข้อ 53)   และพระองค์ทรงเรียกมารีย์ให้เข้าร่วมในพระราชกิจนี้

พระราชกิจของพระเจ้าคือการที่พระองค์ทรงช่วยอิสราเอลในสมัยนั้นที่กำลังตกเป็นเบี้ยล่างทางการเมือง  ถูกแทรกซึมเปลี่ยนแปลงทางความคิด   ถูกยัดเยียดระบบคุณค่าใหม่  ถูกกดขี่เอาเปรียบด้วยอำนาจที่ฉ้อฉลทั้งจากนักการเมือง  ผู้นำทางการศาสนา   และพวกพ่อค้านักธุรกิจในสมัยนั้น   ให้หลุดรอดออกจากการครอบงำเหล่านี้   ด้วยพระทัยเมตตาและตามวิธีการของพระองค์   เพื่อสำเร็จตามพระประสงค์ของพระองค์   และพระเจ้าทรงเรียก  มารีย์ให้เข้าร่วมในพระราชกิจนี้ที่พระองค์ทรงกระทำ

ในปัจจุบันนี้   เราได้เห็น  เข้าใจ  และสัมผัสได้ไหมว่า  พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์อะไรบ้างในสังคมชุมชน คริสตจักร ประเทศไทย  และประเทศเพื่อนบ้าน?   และพระองค์ทรงเรียกเราแต่ละคนเข้าไปร่วมในพระราชกิจที่ทรงกระทำในด้านไหน?  เรื่องอะไร?   และพระองค์มีพระประสงค์อะไรในชีวิตของเราที่เป็นอยู่ในขณะนี้?   

ในช่วงสี่สัปดาห์ก่อนคริสตสมภพแห่งการใคร่ครวญในชีวิตคริสตชนของเราในปีนี้   ให้เราเปิดชีวิต จิตใจ และจิตวิญญาณของเราออกกว้างเพื่อฟังให้ได้ยินเสียงแห่งการทรงเรียกของพระเจ้า     มิใช่อย่างที่เศคาริยาห์ได้ยินและรู้สึกว่าเสียงการทรงเรียกนั้นแปร่งหู   เพราะฟังดูแล้วไม่น่าจะเป็นไปได้    แต่ให้เราได้ยินเสียงการทรงเรียกอย่างที่มารีย์ได้ยิน   ที่เธอได้ยินและเห็นถึงพระราชกิจของพระเจ้าที่ทรงกระทำ  และเข้าร่วมในพระราชกิจนั้นตามการทรงเรียกด้วยจิตใจที่สรรเสริญพระเจ้า

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

12 ธันวาคม 2555

ช่วงเวลาใคร่ครวญชีวิตคริสตชน (3): เมื่อพระเจ้าทรงเรียก...ขอให้เป็นไปตามแผนการของพระเจ้า


สี่สัปดาห์ก่อนวันคริสตสมภพ
เป็นช่วงเวลาแห่งการใคร่ครวญถึงการทรงเรียกและพระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตของเราแต่ละคน   แล้วเราจะตอบสนองการทรงเรียกดังกล่าวด้วยท่าทีแบบไหน
และด้วยการอุทิศทุ่มเทชีวิตอย่างไร

อ่านลูกา 1:26-38
“...พระเจ้าทรงใช้ทูตสวรรค์กาเบรียลมายัง...นาซาเร็ธ...ไปหาหญิงพรหมจารีคนหนึ่งที่หมั้นไว้กับชายที่ชื่อโยเซฟ...หญิงคนนี้ชื่อมารีย์ ...แล้ว(ทูตสวรรค์)บอกกับมารีย์ว่า  เธอเป็นผู้ที่พระเจ้าโปรดปรานมาก   จงชื่นชมยินดีเถิด  องค์พระผู้เป็นเจ้าสถิตอยู่กับเธอ
มารีย์ตกใจเพราะคำพูดนั้น...ทูตสวรรค์จึงกล่าวแก่นางว่า  มารีย์เอ๋ย  อย่ากลัวเลย  เพราะเธอเป็นผู้ที่พระเจ้าโปรดปราน...เธอจะตั้งครรภ์และคลอดบุตรชาย  จงตั้งชื่อบุตรนั้นว่าเยซู   บุตรนั้นจะเป็นใหญ่  และจะได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเจ้าผู้สูงสุด...พระเจ้าจะประทานบัลลังก์ของดาวิด...ให้แก่ท่าน...
มารีย์จึงพูดกับทูตสวรรค์องค์นั้นว่า  เหตุการณ์นั้นจะเป็นไปได้อย่างไร   เพราะข้าพเจ้ายังไม่เคยหลับนอนกับชายใด   ทูตสวรรค์จึงตอบนางว่า พระวิญญาณบริสุทธิ์จะเสด็จลงมาเหนือเธอ   ฤทธิ์เดชของผู้สูงสุดจะปกเธอ  เพราะฉะนั้นองค์บริสุทธิ์ที่เกิดมานั้นจะได้ชื่อว่าเป็นพระบุตรของพระเจ้า
นี่แนะ  ถึงแม้นางเอลีซาเบธญาติของเธอจะชราแล้วก็ยังตั้งครรภ์บุตรชาย   บัดนี้นางนั้นที่คนเขาถือว่าเป็นหมันก็มีครรภ์ได้หกเดือนแล้ว   เพราะว่าไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่พระเจ้าทรงกระทำไม่ได้
มารีย์จึงกล่าวว่า  นี่แนะ  ข้าพเจ้าเป็นทาสขององค์พระผู้เป็นเจ้า   ข้าพเจ้าพร้อมจะเป็นไปตามคำของท่าน  (ฉบับมาตรฐาน)

จากตอนที่แล้ว  เราพบว่าพระเจ้าทรงเรียกเศคาริยาห์พร้อมทั้งเอลีซาเบธเข้าร่วมในพระราชกิจแห่งการทรงกอบกู้ของพระเจ้า   เป็นการยากอย่างยิ่งที่จะเข้าใจถึงการทรงเรียกนั้นที่มิได้ดำเนินไปตามกฎเกณฑ์ธรรมชาติที่ควรจะเป็น  แต่เป็นไปตามแผนการและพระประสงค์ของพระองค์   ในฐานะผู้นำศาสนาเศคาริยาห์ไม่รู้จะอธิบายแก่ผู้คนรอบข้างอย่างไร   วิธีการของพระเจ้าคือให้เศคาริยาห์เป็นใบ้   ไม่จำเป็นที่ทุกเรื่องที่ทรงเรียกเราให้ทำต้องพิสูจน์  หรือจะต้องอธิบายให้ผู้คนเข้าใจได้ถ่องแท้ชัดเจน   หลายต่อหลายเรื่องไม่สามารถพิสูจน์หรืออธิบายได้   จนกว่าเมื่อเรื่องนั้นเกิดขึ้นเป็นจริงแล้วผู้คนรอบข้างจะประจักษ์ด้วยตัวเขาเอง   ทูตสวรรค์จึงบอกเศคาริยาห์ว่า     เศคาริยาห์จะเป็นใบ้  พูดไม่ได้จนกว่าเหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้น (ข้อ 20)   และเมื่อเอลีซาเบธรู้ว่าตนตั้งครรภ์ในห้าเดือนแรกนางเก็บตัว “อยู่กับบ้านอย่างเงียบๆ” (ข้อ 24 ฉบับมาตรฐาน)

เรื่องในทำนองคล้ายกันนี้ได้เกิดขึ้นกับมารีย์ หญิงพรหมจารีที่หมั้นกับโยเซฟ   เมื่อทูตสวรรค์องค์เดียวกันนี้มาแจ้งแก่เธอว่า   เธอเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้า และ พระเจ้าสถิตกับเธอ   และบอกอีกว่าเธอจะตั้งครรภ์และคลอดบุตรชาย   พระคัมภีร์บอกว่า  “มารีย์ตกใจเพราะคำพูดนั้น” (ข้อ 29)   และในข้อเดียวกันนี้บอกต่อไปอีกว่า  “เธอรำพึงว่า คำทักทายมีความหมายว่าอย่างไร”  

ลักษณะพิเศษในที่นี้คือ  มารีย์ตกใจในสิ่งที่ทูตสวรรค์บอกเธอ   แต่เธอไม่ได้ปฏิเสธหรือก็มิได้ไม่ยอมเชื่อสิ่งที่ทูตสวรรค์บอก   แต่เธอรำพึง  คิด ใคร่ครวญคำพูดเหล่านั้นของทูตสวรรค์ว่าหมายความว่าอย่างไรกันแน่!

อะไรในคำพูดของทูตสวรรค์ที่ทำให้มารีย์ตกใจ

ประการแรก   เธอเป็นเพียงหญิงสาวชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่ง  มิได้เป็นคนดีเด่นสำคัญอะไรเลย  แต่ทูตสวรรค์มาบอกเธอว่า  เธอเป็นผู้ที่พระเจ้าทรงโปรดปราน  และพระเจ้าสถิตอยู่กับเธอ   สำหรับสามัญชนในวัฒนธรรมคนยิวที่มีบุรุษเป็นใหญ่และสำคัญ   สิ่งที่ทูตสวรรค์ทักทาย ไม่น่าจะเกิดขึ้นกับมารีย์ได้  เพราะเธอเป็นเพียงเด็ก และ ผู้หญิง   คำพูดนี้ทำให้เธอตกใจ   แต่เธอใคร่ครวญ คิด รำพึงว่ามันหมายความว่าอะไรกันแน่

ประการที่สอง  ทูตสวรรค์บอกเธอว่า เธอจะตั้งครรภ์และคลอดบุตรชาย   ในขณะนั้นมารีย์ได้หมั้นกับ   โยเซฟแล้ว   ตามวัฒนธรรมยิวเรื่องการหมั้นการแต่งงานมีสามขั้นตอนสำคัญคือ   ขั้นตอนแรก เมื่อเด็กหญิงชายยังเล็กอยู่พ่อแม่จะหมายหมั้นกันไว้ก่อน  ในขั้นตอนนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้     ขั้นตอนที่สอง เมื่อมีความแน่นอนในระดับหนึ่ง พ่อแม่จะจัดการหมั้นเด็กหนุ่มหญิงสาวให้เป็นคู่หมั้นกัน   ในขั้นตอนนี้ค่อนข้างแน่นอนแล้ว   แต่หนุ่มสาวคู่นี้จะยังไม่ได้อยู่ด้วยกัน    ขั้นที่สาม  เมื่อถึงเวลาอันควรหนุ่มสาวก็เข้าสู่พิธีแต่งงานและร่วมหอลงเรือนด้วยกัน

สำหรับมารีย์และโยเซฟอยู่ในขั้นตอนที่สอง  คือได้ทำพิธีหมั้นแล้ว   และในช่วงนี้ถ้าฝ่ายหญิงเกิดตั้งครรภ์ก่อนแต่ง  หญิงและชู้จะต้องถูกหินขว้างตาย  และโยเซฟคู่หมั้นที่เธอรักจะคิดอย่างไรกับเธอ   คงต้องคิดว่าเธอไปคบชู้แน่   และนี่คือสิ่งที่ทำให้มารีย์ตกใจ

ประการที่สาม   ทูตสวรรค์แจ้งแก่เธอว่า  บุตรชายที่เธอจะคลอดนั้นมิใช่เด็กชายธรรมดา   แต่จะเป็นพระบุตรของพระเจ้า   เป็นเด็กที่เกิดมาโดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์   เรื่องนี้ยากที่เธอจะเข้าใจได้   แต่เธอรำพึง ใคร่ครวญในเรื่องนี้ว่าหมายความว่าอย่างไร   เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เธอไม่รู้จะบอกคนอื่นอย่างไร  หรือถ้าจะพูดจะบอกใครก็เกรงว่า   ผู้คนจะมองว่าเธอ “เพี้ยนไปแล้ว” หรือไม่ก็ “เธอท่าจะบ้า”   หรือถ้าพูดไม่ถูกกาลเทศะจะพาลให้เธอถูกหินขว้างตายก็ได้  เพราะการพูดเช่นนี้เป็นการพูดหมิ่นประมาทพระเจ้า  และประการนี้ก็ทำให้มารีย์ตกใจเช่นกัน

ประการที่สี่   ทูตสวรรค์บอกกับเธอว่า   เด็กชายที่จะเกิดมานี้จะเป็นกษัตริย์ที่สืบทอดราชบัลลังก์จากกษัตริย์ดาวิด   นั่นหมายความว่า  บุตรชายของเธอที่จะเกิดมานี้จะเป็นผู้นำในการปฏิวัติปลดแอกการปกครองของพวกโรมัน  เพื่อสถาปนาอาณาจักรอิสราเอลขึ้นใหม่   ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่น่าตกใจอย่างยิ่งด้วยสาเหตุคือ   เธอจะให้กำเนิดบุตรชายที่มีความสำคัญอย่างยิ่งตามพระสัญญาของพระเจ้า   และอีกเหตุผลหนึ่งที่น่าตกใจคือ  บุตรชายของเธอจะกลายเป็น “กบฏแผ่นดิน” กลายเป็นคนนอกกฎหมาย  คนที่ถูกตามล้างตามฆ่าจากทั้งกษัตริย์ที่ปกครองอิสราเอลซึ่งในตอนนั้นคือเฮโรดมหาราช   และกองกำลังที่แข็งแกร่งของจักรวรรดิโรมัน   ชีวิตของเธอไม่มีความสงบสุขแน่   นี่ก็เป็นสิ่งที่น่าตกใจสำหรับมารีย์เช่นกัน

แต่จากการรำพึง ใคร่ครวญ ของมารีย์ต่อคำพูดของทูตสวรรค์  ที่สร้างความตกใจแก่เธอนั้น   ทำให้เธอได้ยินถึงการทรงเรียกของพระเจ้า  ให้เธอเข้าร่วมในพระราชกิจครั้งสำคัญของพระองค์   ดังนั้น  มารีย์จึงตอบสนองการทรงเรียกด้วยการตอบทูตสวรรค์ที่ว่า   “...ข้าพเจ้าเป็นทาสขององค์พระผู้เป็นเจ้า   ข้าพเจ้าพร้อมที่จะเป็นไปตามคำของท่าน”  (ข้อ 38 ฉบับมาตรฐาน)

ในการตอบสนองการทรงเรียกและพระประสงค์ของพระเจ้าอย่างมารีย์มีสองประการที่สำคัญคือ

หนึ่ง   มารีย์สำนึกว่า ตนเป็น “ทาส” รับใช้ขององค์พระผู้เป็นเจ้า   ในการเข้าร่วมในพระราชกิจที่พระเจ้าทรงเรียกเราในชีวิตประจำวัน   เรามิได้เข้าร่วมในพระราชกิจเพราะเรามีบางสิ่งบางอย่างที่คิดว่าต้องทำ  หรือ  เพราะเรามีความสามารถที่จะทำบางสิ่งบางอย่าง  หรือเพราะเรามีตำแหน่งสูง  แต่การเข้าร่วมในพระราชกิจที่พระเจ้าทรงเรียกนั้น   เรายอมตนที่จะทำตามที่พระเจ้าต้องการให้เราทำ   เราทำตาม “กระแสรับสั่ง” จากพระเจ้า  เพราะเราสำนึกว่า “ข้าพเจ้าเป็นทาสขององค์พระผู้เป็นเจ้า”

สอง   มารีย์พร้อมที่จะรับทุกสถานการณ์ชีวิตที่จะเกิดขึ้น   ชีวิตของเธอพร้อมที่จะเป็นไปตามแผนการของพระเจ้า   มิใช่แผนการของเธอเอง   มิใช่ตามแผนการความคิดที่เธอคิดวางไว้   แต่พร้อมที่จะเดินไปตามที่พระเจ้ามีแผนการให้เธอเดินไป  มารีย์กล่าวว่า “ข้าพเจ้าพร้อมที่จะเป็นไปตามคำของท่าน”

ในช่วงสี่สัปดาห์ที่เราใคร่ครวญชีวิตคริสตชนถึงการทรงเรียกของพระเจ้า 

1. ท่านเคยมีประสบการณ์ที่วางใจในการกระทำตามการทรงเรียกและพระประสงค์ของพระเจ้าหรือไม่?   เกิดเหตุการณ์อะไรบ้างในครั้งนั้น?   และเกิดผลเช่นไรบ้าง?

2. วันนี้ ท่านได้เปิดชีวิตฟังให้ได้ยินถึงเสียงแห่งการทรงเรียกหรือไม่?   อย่างไร?

3. ท่านพร้อมที่วางใจในพระประสงค์ และ แผนงานของพระองค์สำหรับชีวิตและอนาคตของท่านหรือไม่?  ท่านวางใจด้วยการกระทำอย่างไรบ้าง?

4. ในการยอมดำเนินชีวิตตามการทรงเรียกและแผนการของพระเจ้า  อาจนำความกลัวและความเสี่ยงเข้าในชีวิตของท่าน   ท่านจะจัดการกับความกลัวและความเสี่ยงดังกล่าวอย่างไร?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499