29 เมษายน 2556

สาวกพระคริสต์...ไม่ใช่พระคริสต์!


16 เนื่อง​จาก​พระ​องค์​นี้​เอง ร่าง​กาย​ทั้ง​หมด​จึง​ได้​รับ​การ​เชื่อม​และ​ประ​สาน​เข้า​ด้วย​กัน​โดย​ทุกๆ ข้อ​ต่อ​ที่​ประ​ทาน​มา​นั้น และ​เมื่อ​แต่​ละ​ส่วน​ทำ​งาน​ตาม​หน้าที่​แล้ว ก็​ทำ​ให้​ร่าง​กาย​เจริญ​และ​เสริม​สร้าง​ตน​เอง​ขึ้น​ด้วย​ความ​รัก (เอเฟซัส 4:16 ฉบับมาตรฐาน)  

3อย่า​คิด​ถือ​ตัว​เกิน​ที่​ตน​ควร​จะ​คิด​นั้น แต่​จง​คิด​อย่าง​สุขุม​สม​กับ​ขนาด​ความ​เชื่อ​ที่​พระ​เจ้า​ประ​ทาน​แก่​ท่าน 4 เพราะ​ว่า​ใน​ร่าง​กาย​เดียว​นั้น เรา​มี​อวัยวะ​หลาย​อย่าง และ​อวัยวะ​นั้นๆ มี​หน้า​ที่​ต่าง​กัน​อย่าง​ไร 5 เรา​ผู้​เป็น​หลาย​คน​ยัง​เป็น​กาย​เดียว​ใน​พระ​คริสต์​และ​เป็น​อวัยวะ​แก่​กัน​และ​กัน​อย่าง​นั้น 6 และ​เรา​ทุก​คน​มี​ของ​ประ​ทาน​ต่าง​กัน ตาม​พระ​คุณ​ที่​ประ​ทาน​แก่​เรา...คือ

ถ้า​ของ​ประ​ทาน​เป็น​การ​เผย​พระ​วจนะ ก็​จง​เผย​ตาม​กำ​ลัง​ของ​ความ​เชื่อ
ถ้า​เป็น​การ​ปรน​นิบัติ​ก็​จง​ปรน​นิบัติ
ถ้า​เป็น​ผู้​สั่ง​สอน​ก็​จง​สั่ง​สอน
ถ้า​เป็น​ผู้​เตือน​สติ​ก็​จง​เตือน​สติ
ผู้​ที่​ให้ ก็​จง​ให้​ด้วย​ใจ​กว้าง​ขวาง
ผู้​ที่​ครอบ​ครอง ก็​จง​ครอบ​ครอง​ด้วย​เอา​ใจ​ใส่
ผู้​ที่​แสดง​ความ​เมต​ตา ก็​จง​แสดง​ด้วย​ใจ​ยินดี (โรม 5:3-6)

ปัญหาของคริสตชนบางคนบางกลุ่มคือ   มีความเข้าใจคลาดเคลื่อน  มีความตั้งใจเกินร้อย   มีความปรารถนาที่จะทำทุกบทบาทหน้าที่ ทุกภารกิจที่พระกายของพระคริสต์(ชุมชนคริสตจักร)ต้องทำ  จนบางครั้งถูกมองว่า เขาไม่ไว้วางใจว่าคนอื่นในคริสตจักรที่มีหน้าที่และจะมีความสามารถร่วมรับผิดชอบทำในพระราชกิจของพระเจ้า   เหมือนกับไม่เคารพนับถือในความสามารถ และ ความรับผิดชอบของผู้อื่นในคริสตจักร

ยิ่งกว่านั้น เขายังทุ่มเททำในส่วนที่เป็น “ความเป็นพระเจ้า” ของพระคริสต์ทรงกระทำด้วย   เราพูดได้ไหมว่า  คริสตชนคนนั้นทำ “เกิน” กำลังแห่งของประทานที่พระเจ้าทรงให้แก่เขารับผิดชอบและทำเกินจนถึงขนาดจะไปทำแทนในพระราชกิจความเป็นพระเจ้าของพระคริสต์ต้องกระทำด้วย 

เมื่อเราพิจารณาพระราชกิจของพระเจ้า   เพื่อความเข้าใจชัดเจนละเอียดยิ่งขึ้น   จึงขออนุญาตอธิบายให้เห็นเป็นส่วนๆ   แต่ในความจริงแล้วทุกส่วนแห่งพระราชกิจของพระเจ้าเป็นความสัมพันธ์ที่เป็นเนื้อเดียวกัน   ซึ่งพิจารณารายละเอียดเป็นส่วนๆ ได้ดังนี้

  • พระราชกิจแห่งการทรงสร้างของพระบิดา   มนุษย์เราไม่สามารถทำพระราชกิจนี้แทนพระเจ้าได้   แต่เราแต่ละคนสามารถมีส่วนในพระราชกิจแห่งการทรงสร้างของพระองค์   ตามของประทานที่พระเจ้าให้แก่แต่ละคนในชีวิต
  • พระราชกิจแห่งการทรงกอบกู้และการทรงไถ่ของพระเจ้า   พระบิดาทรงมอบหมายให้พระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระองค์เป็นผู้ทรงรับผิดชอบพระราชกิจนี้   และเป็นพระราชกิจที่พระคริสต์ได้เทชีวิตทั้งชีวิตเพื่อเป็นตัวเชื่อมสร้างให้มนุษย์ได้เกิดการคืนดีกับพระเจ้า   ดังนั้น  เราต้องระมัดระวังที่อาจเข้าใจคลาดเคลื่อนคิดจะทำหน้าที่แทนพระเยซูคริสต์   ซึ่งเราไม่สามารถจะกระทำได้  เพราะเราไม่ใช่พระเจ้า
  • พระราชกิจของพระเจ้าในพระคริสต์ในความเป็นมนุษย์   คือแบบอย่างชีวิตของพระเยซูคริสต์ในส่วนความเป็นมนุษย์ของพระองค์  ที่ทรงสำแดงให้เราเห็นชัดเจนว่า พระเจ้ามีพระประสงค์เช่นไรต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์เรา   และพระเยซูคริสต์ชี้ชัดว่า ที่พระองค์เป็นแบบอย่างชีวิตมนุษย์ตามพระประสงค์ของพระเจ้าได้เช่นนั้น   เพราะพระคริสต์ดำเนินชีวิตความเป็นมนุษย์ของพระองค์ด้วยพระกำลังจากพระวิญญาณ  เพื่อให้ชีวิตได้เป็นไปตามที่พระเจ้าประสงค์    และนี่คือส่วนที่คริสตชนแต่ละคนที่จะต้องได้รับการเสริมสร้างให้มีชีวิตที่เป็นสาวกของพระคริสต์  คือชีวิตส่วนนี้ที่พระเยซูคริสต์ทรงเป็นแบบอย่างแก่เรา และคาดหวังให้เราเติบโตขึ้นเป็นเหมือนพระองค์มากยิ่งขึ้นทุกวัน   แต่สิ่งสำคัญที่เราต้องตระหนักชัดในตนเองเสมอคือ   ที่เราสามารถมีชีวิตที่เป็นเหมือนพระคริสต์มากยิ่งขึ้นทุกวันได้นั้นเพราะเราได้รับพระกำลังหนุนเสริมเพิ่มพลังแก่เราในแต่ละวันจากพระวิญญาณบริสุทธิ์
  • พระราชกิจของพระเจ้าที่ทรงกระทำผ่านชีวิตชุมชนคริสตจักร เมื่อพระคริสต์ทรงเรียกแต่ละคนให้มาเป็นสาวกของพระองค์   พระเยซูคริสต์ทรงคาดหวังว่า คริสตชนแต่ละคนจะแสวงหาและพัฒนา “ของประทาน” ในชีวิตที่ได้รับจากพระเจ้าใช้ในการดำเนินชีวิต และ ร่วมในพระราชกิจต่างๆ ของพระองค์ตามของประทาน ความสามารถที่แต่ละคนมีในชีวิต   และมีส่วนร่วมในพระราชกิจเสริมหนุนกันและกันแก่คนอื่นๆ ในชุมชนคริสตจักร   ทั้งนี้เป็นการร่วมทำพระราชกิจที่มีเป้าประสงค์ของพระเจ้าเป็นเป้าหมายปลายทาง    ดังนั้น เราแต่ละคนต้องตระหนักชัดเช่นกันว่า  เราไม่ได้ทำกิจกรรมต่างที่เราอยากทำ หรือ ที่เราทำได้   แต่สิ่งที่เราทำนั้นเป็นพระราชกิจของพระเจ้า  ที่มีพระประสงค์ของพระองค์เป็นตัวกำกับการทำพันธกิจด้านต่างๆ ในคริสตจักร 


บางครั้ง  เราคิดทำพันธกิจ “เกินที่ตนควรจะคิด...”  มิได้คิดอย่างสุขุมกับขนาดความเชื่อที่พระเจ้าประทานแก่เราหรือไม่?   ในชีวิตการทำงาน  ผมได้พบเพื่อนหลายคนที่ทุ่มเททำงานพันธกิจ  หรือนักกิจกรรมที่ทำงานเพื่อสังคม   เรียกว่า “ทุ่มทั้งชีวิต” สำหรับงานที่เขาทำ   และต้องยอมรับว่า ทำเกินตัว ทำเกินความสามารถ   และสิ่งที่พบเห็นในที่สุดบ่อยครั้งจะตกลงในสภาพ “เหนื่อยอ่อน หมดแรง หมดไฟ”   บ้างถึงกับท้อแท้ผิดหวัง   ผมมีเพื่อนใกล้ชิดคนหนึ่งเขาทุ่มเทสุดตัว   แต่ผลที่ได้รับสังคมชุมชนไม่ได้เป็นไปอย่างที่เขาคิดเขาคาด   เสียใจ  จนเป็นโรคประสาท   ต้องส่งตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาลประสาท   ใช้เวลาแรมปีในการรักษา

ผู้คนกลุ่มนี้ไม่มีปัญหาเรื่องการอุทิศทุ่มเทชีวิตเพื่องานของพระเจ้า  เพื่อสังคมที่ดีกว่านี้   คนกลุ่มนี้เอาใจใส่ต่อพระประสงค์ของพระเยซูคริสต์   ด้วยจิตใจที่รักเมตตาที่กระตุ้นจูงใจให้เขาตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงเสริมสร้างสังคมชุมชนและโลกขึ้นใหม่   เขาเอาทั้งชีวิตเข้ารองรับภาระโลกอันหนักอึ้งที่เกินกำลังชีวิตที่เขาได้รับจากพระเจ้า  

ไหล่ของเราเล็กเกินไปสำหรับภาระที่ใหญ่โตหนักอึ้งนั้น! 

เราคงต้องตระหนักว่า  เราเป็นสาวกของพระคริสต์   ที่ถวายทั้งชีวิตรับใช้พระประสงค์ของพระองค์ผ่านการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา   ด้วยของประทาน และ พระกำลังตามที่พระเจ้าประทานแก่เราผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์   เราต้องบอกกับตนเองว่า  “เราไม่ใช่พระคริสต์ พระบุตรองค์เดียวของพระเจ้า”   เราจึงไม่ได้รับการทรงมอบหมายพระราชกิจแห่งการกอบกู้ เปลี่ยนแปลง ไถ่ถอนให้โลกหลุดรอดออกจากใต้อำนาจแห่งความบาปชั่วในรูปแบบต่างๆ   สิ่งนี้เราต้องพึ่งพระราชกิจของพระคริสต์!   และมีพันธกิจในบางส่วนที่พระเจ้าทรงมอบให้เรากระทำประสานกับคริสตชนคนอื่นในชุมชนคริสตจักรท้องถิ่น และ คริสตจักรสากล  

แท้จริงแล้วเราเป็นพระคริสต์องค์เล็กๆ   ที่สำแดงชีวิตการเป็นคนของพระคริสต์   เรามิใช่พระคริสต์!

17 พระ​องค์​ทรง​ดำ​รง​อยู่​ก่อน​ทุก​สิ่ง และ​ทุก​สิ่ง​ถูก​ยึด​เข้า​ด้วย​กัน​โดย​พระ​องค์... 20 และ​โดย​พระ​องค์ พระเจ้า​ทรง​ให้​ทุก​สิ่ง​คืน​ดี​กับ​พระ​องค์​เอง ไม่​ว่า​สิ่ง​นั้น​จะ​อยู่​บน​แผ่น​ดิน​โลก​หรือ​อยู่​บน​สวรรค์ โดย​ทรง​ทำ​ให้​เกิด​สันติ​ภาพ​โดย​พระ​โลหิต​แห่ง​กาง​เขน​ของ​พระ​องค์ (โคโลสี 1:17, 20)

เมื่อคริสตชนแต่ละคนมีชีวิตที่เติบโต  พัฒนา แข็งแรง และ เกิดผลอย่างพระคริสต์   ความเป็น “พระคริสต์องค์น้อยๆ” ที่คนทั่วไปสามารถเห็นได้นั้น  เกิดจาก DNA แบบพระเยซูคริสต์  หรือ ต้นกำเนิดที่ถ่ายทอดพันธุกรรมพระคริสต์ในชีวิตจิตวิญญาณของเรา   เมื่อคริสตชนแต่ละคนมีพันธุกรรมต้นกำเนิดจากพระคริสต์แหล่งเดียวกัน   ย่อมทำให้เราทำงานรับใช้ในชีวิตที่ประสานกลมกลืน เสริมหนุนกันและกัน   และที่สำคัญคือทุกคนทุกพันธกิจต่างกระทำที่มุ่งไปสู่ทิศทางเป้าหมายเดียวกันคือ พระประสงค์ของพระเจ้าในพระเยซูคริสต์

เราต้องตระหนักชัดเจนว่า   พระเยซูคริสต์ประสงค์ให้เราคริสตชนกระทำหน้าที่ตามส่วนที่เราเป็นเรามี ที่เราได้รับของประทานและความสามารถจากพระเจ้า   อย่างประสานกลมกลืนกัน   ไปสู่พระองค์ผู้ทรงเป็นศีรษะแห่งพระกาย

พระองค์ไม่มีพระประสงค์ให้ใครทำหน้าที่เป็นศีรษะแห่งพระกายนี้แทนพระองค์ครับ!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

26 เมษายน 2556

แก่นหลักของชีวิตคริสตชน


อ่านเอเฟซัส 1:15-16

“ด้วยเหตุนี้ ตั้งแต่ข้าพเจ้าได้ยินถึงความเชื่อของท่านในพระเยซูเจ้า  
และความรักของท่านที่มีต่อประชากรทุกคนของพระเจ้า  
ข้าพเจ้าจึงขอบพระคุณพระเจ้าอย่างไม่หยุดยั้งเพราะท่าน 
และเฝ้าอธิษฐานเผื่อท่าน” (อมตธรรม)

ถ้ามีคนมาขอท่านช่วยบอกถึงหัวใจความหมายของคำว่า “ชีวิตคริสตชน”  ท่านจะให้ความจำกัดความของคำว่า “ชีวิตคริสตชน” หรือ “ชีวิตคริสเตียน” ว่าอย่างไร?   คำจำกัดความที่สั้น กะทัดรัด และกินความครอบคลุมความหมายที่ครบถ้วนที่สุดของท่านคืออะไร?

เปาโลได้ให้ความจำกัดความชีวิตคริสตชนไว้อย่างกะทัดรัดใน เอเฟซัส 1:15 ไว้ว่า

คือผู้ที่มี...“ความเชื่อศรัทธาในพระเยซูคริสต์เจ้าและความรักที่มีต่อประชากรของพระองค์”  หรือสกัดลงเหลือเพียงสั้นๆ ว่า “เชื่อและรัก”

ถ้าเราจะพิจารณาข้อเขียนในจดหมายฉบับอื่นๆ ของเปาโลเราจะพบว่า มีอีกคำหนึ่งคือ  “ความหวัง” ในคำจำกัดความคำว่าชีวิตคริสตชนของเปาโลด้วย เช่น ใน 1โครินธ์ 13:13 “...ความเชื่อ ความหวัง และ ความรัก...”  แท้จริงแล้วในเอเฟซัสบทเดียวกันนี้ในข้อที่ 18 ก็กล่าวถึงความหวังไว้ด้วยเช่นกัน

ด้วยแก่นหลักของชีวิตคริสตชนดังกล่าวของสมาชิกคริสตจักรในเมืองเอเฟซัส   ทำให้เปาโลเกิดความปีติสุขในชีวิตของท่าน  ท่านอธิษฐานขอบพระคุณพระเจ้าเพราะการดำเนินชีวิตคริสตชนในเมืองเอเฟซัส  และยังเฝ้าอธิษฐานเผื่อสมาชิกคริสตจักรในเมืองนี้อย่างต่อเนื่องด้วย  

ให้เราใคร่ครวญพระวจนะของพระเจ้าตอนนี้ถึงบทเรียนชีวิตคริสตชนทั้งระดับชีวิตคริสตชนส่วนตัว   ชีวิตคริสตชนในฐานะผู้รับใช้  และชีวิตคริสตชนในความเป็นชุมชนคริสตจักร  ดังนี้

ชีวิตคริสตชนส่วนตัว

ให้เราใคร่ครวญพิจารณาถึงชีวิตคริสตชนของเราเองดูว่า   ในชีวิตแต่ละวันของเราได้มีชีวิตประจำวันที่ 

(1) เชื่อและศรัทธาในองค์พระเยซูคริสต์เจ้าของเราหรือไม่  มากน้อยแค่ไหน?  

(2) แล้วในความเชื่อศรัทธานั้นเราได้มีชีวิตประจำวันที่รักด้วยการกระทำของเราต่อประชากรของพระเจ้าทุกคนหรือไม่? อย่างไร?  

(3) ที่ผ่านมาชีวิตประจำวันของเรามีอะไรที่เป็น “เสาหลัก” ในการดำเนินชีวิตคริสตชนของเราบ้าง?

ชีวิตคริสตชนในฐานะผู้รับใช้
(1) ในการดำเนินชีวิตคริสตชนในแต่ละวันของเราได้เป็นแบบอย่าง หรือ เป็นการสำแดงถึงความเชื่อศรัทธาในองค์พระเยซูคริสต์อย่างไรบ้าง?   สร้างผลกระทบต่อชีวิตของพี่น้องคริสตชนด้วยกัน และ คนรอบข้างอย่างไรบ้าง?

(2) ในชีวิตประจำวันของเรา   มีใครบ้างกี่คนที่เป็นบุคคลเป้าหมายที่ท่านต้องการหนุนเสริมให้เติบโตขึ้นในชีวิตคริสตชน?   ท่านมีวิธีการ และ กระบวนการเสริมสร้างชีวิตคริสตชนให้บุคคลดังกล่าวเติบโตขึ้นในความเชื่อพระเยซูคริสต์ และ ในความรักที่เขามีต่อพี่น้องคริสตชน  และ คนรอบข้างอย่างไร?

(3) เกิดผลอะไรบ้างในชีวิตคริสตชนในฐานะผู้รับใช้ของท่าน?

ชีวิตคริสตชนในความเป็นชุมชนคริสตจักร

(1) ในชุมชนคริสตจักรที่ท่านร่วมอยู่ในปัจจุบันได้เป็นชุมชนที่ทำให้เกิดการเสริมสร้างความเชื่อศรัทธาในพระเยซูคริสต์แก่กันและกันในชุมชนคริสตจักรนี้หรือไม่?   เพราะเหตุใดถึงเป็นเช่นนั้น?

(2) ในชุมชนคริสตจักรของท่าน   ได้กระตุ้น เอื้ออำนวย และหนุนเสริมให้ผู้ร่วมในชุมชนคริสตจักรแต่ละคนได้สำแดงความรักเมตตาของพระคริสต์ต่อกันและกันหรือไม่?  อย่างไร?  ได้เกิดผลลัพธ์ และ ผลกระทบอย่างไรบ้าง?

(3) ในชุมชนคริสตจักรที่ท่านร่วมอยู่ในปัจจุบันนี้   ได้กระตุ้นหนุนเสริมให้ผู้ร่วมในชุมชนคริสตจักร  มีชีวิตประจำวันที่สำแดงความรักเมตตาของพระเยซูคริสต์แก่ผู้คนในครอบครัว  ชุมชน และ ที่ทำงานหรือไม่?   ถ้ามี ได้มีวิธีการและกระบวนการในการหนุนเสริมในเรื่องนี้อย่างไร?   เกิดผลลัพธ์ และ ผลกระทบอย่างไรบ้าง?

ความเชื่อศรัทธาของคริสตชน

โดยปกติแล้วความเชื่อศรัทธาของคริสตชน  มิใช่เป็นเพียงเรื่องของความรู้  ตรรกะ  เหตุผล  

ในหลายครั้ง   มีบางเรื่องที่ “สามัญสำนึก”  บอกว่าไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น หรือ ฟันธงลงไปว่า ไม่ได้เป็นเช่นนั้นแน่   แต่จะมีคนบางคนบางกลุ่มที่ยังยืนยันว่า 

ถึงกระนั้นก็ตาม “ฉันก็ยังเชื่อ   ฉันก็ยังศรัทธา  และ ฉันก็ยังไว้วางใจ(ในเรื่องนั้น ในบุคคลนั้น)  

ถึงแม้คนอื่นจะบอกว่าเป็นเรื่อง “งี่เง่า”  “ไร้สาระ”  แต่ฉันก็ยังเชื่อและศรัทธาอยู่

ความเชื่อศรัทธาของคริสตชนนั้นมีความแตกต่างจากความเชื่อศรัทธาทั่วๆ ไป   นอกจากที่ความเชื่อศรัทธาของคริสตชนจะมิได้ยืนอยู่บนรากฐานของตรรกะ  เหตุผล  และการพิสูจน์ได้หรือไม่ได้  หรือการคิดใคร่ครวญอย่างลึกซึ้งอย่างเป็นระบบของมนุษย์   อีกทั้งความเชื่อศรัทธาของคริสตชนมิใช่ความคิดที่เปี่ยมด้วยความหวังเท่านั้น (หรือการคิดเชิงบวกเท่านั้น)  

การที่คริสตชนมีความเชื่อศรัทธาในพระเจ้าเพราะการทรงสำแดงและการทรงเปิดเผยพระองค์เองของพระเจ้า   พระองค์ทรงเปิดเผยพระองค์เองผ่านกระบวนเหตุการณ์ต่างๆ ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติและโลก   ที่เราสามารถค้นหาและพบได้ในพระคัมภีร์  ท่ามกลางชีวิตชุมชนของผู้เชื่อศรัทธา  และจากชีวิตที่เป็นรูปธรรมของพระเจ้าในโลกนี้โดยผ่านชีวิตของพระเยซูคริสต์  

การทรงสำแดงเปิดเผยพระองค์เองของพระเจ้าแก่เรามิใช่เพื่อเราจะเห็นพระองค์อย่างแจ้งชัดครั้งเดียวแล้วทำให้เราต้องเชื่อพระองค์ทันที   แต่การทรงเปิดเผยของพระเจ้าแก่เรา  เป็นการทรงเปิดเผยในสิ่งที่เป็นความล้ำลึกที่เราไม่รู้ไม่เข้าใจในพระองค์   ผ่านทางพระเมตตาและพระปัญญาของพระองค์   พระองค์ทรงสำแดงให้เราค่อยๆ เห็น สัมผัส และรู้ถึงว่าพระองค์เป็นใคร   เพราะฉะนั้นภาพลักษณ์ของพระเจ้าที่เราเห็นและสัมผัสจากการทรงเปิดเผยแม้ในครั้งแรกเริ่มจะเป็นเพียงภาพ “...สลัวๆ เหมือนดูในกระจก”  แต่ในที่สุดภาพของพระองค์จะเป็นภาพที่เปาโลกล่าวว่า “...ข้าพเจ้าจะรู้แจ้งเหมือนพระองค์ทรงรู้จักข้าพเจ้า”  (1โครินธ์ 13:12 ฉบับมาตรฐาน)

ดังนั้น  ความเชื่อศรัทธาของคริสตชนจึงมิใช่ “สามัญสำนึกที่ตอบสนองต่อสิ่งสูงสุดในชีวิต”   แต่ความเชื่อศรัทธาของคริสตชนคือการที่คนๆ นั้นตอบสนองต่อการทรงสำแดงเปิดเผยพระองค์เองของพระเจ้าที่มีต่อคริสตชนคนๆ นั้น   และการตอบสนองที่เกิดขึ้นของคริสตชนมิใช่เพราะประเมินตรวจสอบแล้วว่าสิ่งที่ทรงเปิดเผยสำแดงนั้นมีเหตุมีผลมีความเป็นไปได้เท่านั้น   เพราะบ่อยครั้งเรื่องที่เราเชื่อศรัทธาและไว้วางใจในพระเจ้ามักดูเหมือนว่าเป็นเรื่อง “โง่เขลาเบาปัญญา”  เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ตามมุมมองแห่งโลกนี้

แต่เพราะ การที่เราคริสตชนมุ่งมองไปที่การทรงเปิดเผยสำแดงของพระเจ้าในชีวิตประจำวันของเรา   เราจึงได้สัมผัสกับการทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ผ่านชีวิตของเราและสถานการณ์ที่เราประสบพบเจอ   คริสตชนจึงไม่เกิดความรู้สึกว่า   เรื่องที่ตนเชื่อศรัทธาในพระเจ้านั้นเป็นเรื่อง “โง่เขลาเบาปัญญา”   อย่างไรก็ตามคริสตชนคนๆ นั้นจะต้องมีจิตใจที่เปิดกว้างยอมรับและไว้วางใจด้วยจิตใจที่เรียบง่าย เปิดกว้าง และไว้วางใจอย่างจิตใจของเด็กเล็ก

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

24 เมษายน 2556

ใครขโมยความรักจากผู้นำ?


“แต่ความรักนั้นใหญ่ที่สุด...” (1โครินธ์ 13:13)

ทำไมหลายคนในพวกเราที่ล้มเหลวและเพลี่ยงพล้ำในความรักเมตตา   ทั้งๆ ที่บ่อยครั้งเราสามารถที่จะรักและเมตตาได้   เหตุผลประการหนึ่งคือ  เราได้บ่มเพาะมุมมองทัศนคติ และ การกระทำของเราที่ขัดขวางยับยั้งความสามารถของเราที่จะรักและเมตตา   เฉกเช่นเศษไขมันที่ก่อตัวจนใหญ่พอที่จะเกิดการอุดตันในเส้นเลือด  ขวางการไหลเวียนของกระแสเลือด   เช่นเดียวกัน ในชีวิตของเราสามารถที่จะสะสมก่อตัว “ก้อนอุดตัน” ในชีวิตของเรา   จนกลายเป็นตัวขัดขวางอุดตันกระแสความรักของพระเจ้าที่ไหลเวียนทำงานในชีวิตของเรา

อะไรคือตัวยับยั้งและอุดตันความรักเมตตาในชีวิตของเรา?   เราสามารถหาพบได้ในข้อเขียนของเปาโลว่าด้วยเรื่องความรักเมตตา (1 โครินธ์ บทที่ 13)   ในข้อเขียนดังกล่าวเราพบทั้งคุณภาพแห่งความรักเมตตา  และ  ตัวยับยั้งกีดขวางกระแสแห่งความรักเมตตา

ความรักในพระวจนะ:  ความรักนั้นอดทนนาน
อุปสรรคขัดขวางความรัก:  ขาดความอดทน  ใจร้อน หุนหันพลันแล่น

การขาดความอดทน ใจร้อน หุนหันพลันแล่น เป็นลักษณะของคนที่เอาแต่ใจตนเอง  เรื่องในชีวิตของตนเป็นเรื่องที่สำคัญเหนือกว่าใครอื่นใด   คนจำพวกนี้ให้ความสนใจเอาใจใส่คนอื่นเพียงน้อยนิดหรือไม่ให้ความสนใจเลย   คนที่ขาดความอดทนมักต้องการให้คนอื่นเอาใจตน   แล้วจะไม่สนใจคนอื่นเลยถ้าคนอื่นมิได้ตอบสนองความต้องการความรู้สึกของตน   คำภาษากรีกของคำว่า “อดทน” ที่เปาโลใช้ในที่นี้หมายถึงคนที่ถูกคนอื่นทำสิ่งที่ผิดหรือไม่ดี  และคนๆ นั้นมีอำนาจในการแก้แค้นแต่เขากลับไม่ทำ   สำหรับ “การขาดความอดทน” คือคนที่แสวงหาทางที่จะแก้แค้น   ที่คนมีความอดทนจะไม่ทำเช่นนั้น

ลองให้คะแนนตนเอง  ให้วงกลมรอบหมายเลขที่ใกล้เคียงความจริงของท่านมากที่สุด (ถ้าคะแนนเต็ม 5)

ฉันมีความอดทน           น้อยที่สุด 0         1          2          3          4          5 มากที่สุด
ฉันขาดความอดทน       น้อยที่สุด 0         1          2          3          4          5 มากที่สุด

ความรักในพระวจนะ:  มีใจปรานี
อุปสรรคขัดขวางความรัก:  จิตใจที่ไร้ความปรานี

บางท่านบอกว่าการมีใจปรานีเป็นลักษณะของความอ่อนแอ  ดังนั้น เขาจึงคิดว่า  ไม่มีใครที่จะมีอำนาจเข้มแข็งด้วยการมีใจที่ปรานี   คนที่มองตนเองว่ากำลังต้องแข่งขันกับคนอื่นรอบข้างเสมอมักเป็นคนที่ไร้ความปรานี(เพราะต้องเอาชนะคนอื่นให้ได้)   ความรู้สึกว่าตนเองต่ำกว่าด้อยกว่าผู้อื่นที่ซ่อนเร้นในผู้ใดก็จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดจิตใจที่ไร้ความปรานี   ตรงกันข้าม  คนที่มีความรักเมตตาย่อมพร้อมที่จะยอมรับและหนุนเสริมชีวิตของคนอื่นรอบข้าง

ลองให้คะแนนตนเอง  ให้วงกลมรอบหมายเลขที่ใกล้เคียงความจริงของท่านมากที่สุด (ถ้าคะแนนเต็ม 5)

ฉันมีใจปรานี                น้อยที่สุด   0      1      2       3       4       5 มากที่สุด
ฉันมีใจไร้ความปรานี    น้อยที่สุด  0      1       2       3       4      5 มากที่สุด

ความรักในพระวจนะ:  ไว้วางใจผู้อื่น
อุปสรรคขัดขวางความรัก:  ความอิจฉา

ผู้ที่มีความรักเมตตาย่อมห่วงหาอาทรเอาใจใส่ผู้อื่น   เมื่อความรักเมตตาเติบโตขึ้น  คนที่รักและได้รับความรักก็เติบโตขึ้นเช่นกัน   แต่บ่อยครั้งที่เราไม่ทันรู้เท่าทันว่า ความรักเมตตาอาจจะแคระแกร็นได้   ถ้าคนๆ นั้นแทนที่จะมีความไว้วางใจและเอาใจใส่คนอื่นแต่กลับเป็นความอิจฉา   ต้องการอยู่เหนือหรือมีความสำคัญกว่าคนอื่น     ความอิจฉาเป็นสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมของเรามันเติบโตขึ้นเฉกเช่นมะเร็งที่โตวันโตคืนตลอดเวลาโดยร่างกายไม่สามารถควบคุมเลย   ความอิจฉาต้องการที่จะเป็นเจ้าของอย่างสิ้นเชิง  ต้องการมีสิทธิเฉพาะเหนือคนอื่น   อารมณ์ความรู้สึกเช่นนี้มีพลังอำนาจที่จะครอบงำและทำลายความสัมพันธ์ที่ดีๆ และความรู้สึกมั่นคงลงเสีย  และยังจะทำลายคนที่มีเหตุมีผลอีกด้วย

ลองให้คะแนนตนเอง  ให้วงกลมรอบหมายเลขที่ใกล้เคียงความจริงของท่านมากที่สุด (ถ้าคะแนนเต็ม 5)

ฉันมีความไว้วางใจคนอื่น   น้อยที่สุด   0      1      2      3      4      5 มากที่สุด
ฉันมีใจที่อิจฉา                    น้อยที่สุด   0      1      2      3      4      5 มากที่สุด

ความรักในพระวจนะ:  ถ่อมสุภาพ
อุปสรรคขัดขวางความรัก:  อวดตัว หยิ่งผยอง

อุปสรรคที่ขัดขวางความรักในประการนี้คือ การอวดตัว  หยาบคาย  หยิ่งผยอง  คุยโม้โอ้อวด  ชื่นชมในความสำคัญของตนเอง   เป็นคนที่อวดตัวคือคนที่ทำเป็นให้ความรักเพื่อที่จะรับ  รับการยกย่อง  นับหน้าถือตาจากคนอื่น  แต่ทั้งนี้เป็นการกระทำที่ยกตนข่มท่าน  ยกตนเองขึ้นให้สำคัญเหนือคนอื่น

ลองให้คะแนนตนเอง  ให้วงกลมรอบหมายเลขที่ใกล้เคียงความจริงของท่านมากที่สุด (ถ้าคะแนนเต็ม 5)

ส่วนมากฉันถ่อมสุภาพ       น้อยที่สุด   0      1       2       3       4       5 มากที่สุด
ส่วนมากฉันอวดตัว หยิ่ง     น้อยที่สุด   0      1       2       3       4       5 มากที่สุด

ความรักในพระวจนะ:  ใจกว้างขวาง  เอื้อเฟื้อ  อารี
อุปสรรคขัดขวางความรัก:  เห็นแก่ตัว

อุปสรรคประการสำคัญที่ขัดขวางความรักเมตตาที่เรายากที่จะเอาชนะได้คือ ความเห็นแก่ตัว   การกระทำที่เกิดจากแรงกระตุ้นผลักดันจากความเห็นแก่ตัวแตกต่างอย่างสิ้นเชิงหรืออยู่คนละขั้วกับการกระทำที่ได้รับแรงกระตุ้นผลักดันจากความรักเมตตา   พระเยซูคริสต์ทรงรู้ดีถึงพิษสงค์ของการเห็นแก่ตัว  พระองค์กล่าวว่า “เราบอกความจริงกับพวกท่านว่า ถ้าเมล็ดข้าวไม่ได้ตกลงดินและตายไป  ก็จะคงอยู่เมล็ดเดียว  แต่ถ้าตายไปแล้วก็จะงอกขึ้นเกิดผลเป็นอันมาก” (ยอห์น 12:24)   ความเห็นแก่ตัวจะมุ่งแต่เสาะหาเพื่อตนเอง  ไม่ยอมที่จะต้องสูญเสียตนเอง   พูดง่ายๆ ถ้าเป็นเมล็ดข้าวก็ไม่ยอมที่จะให้ตนเองต้องตกลงในดิน เปื่อยเน่า และตาย   แสวงหาทุกหนทางที่จะรักษาตนเองไว้   แต่ความรักเมตตาแสวงหาแนวทางเพื่อคนอื่น   เพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่น   เพื่อผู้อื่นจะได้มีชีวิตอยู่   ถ้าเป็นเมล็ดข้าวก็ยอมเน่า เปื่อย และตาย   เพื่อที่จะได้เกิดต้นข้าวต้นใหม่ๆ ที่จะเกิดผลเป็นอันมาก

ลองให้คะแนนตนเอง  ให้วงกลมรอบหมายเลขที่ใกล้เคียงความจริงของท่านมากที่สุด (ถ้าคะแนนเต็ม 5)

ส่วนมากฉันมีใจกว้างขวาง     น้อยที่สุด   0      1       2       3       4       5 มากที่สุด
ส่วนมากฉันเห็นแก่ตัว             น้อยที่สุด   0      1       2       3       4       5 มากที่สุด

ความรักในพระวจนะ:  ไม่ฉุนเฉียวโกรธง่าย  ช้าในการโกรธ
อุปสรรคขัดขวางความรัก:  ฉุนเฉียว  โกรธง่าย  ขี้โมโห

พระคริสต์เคยตรัสถึงคนที่ไวในการโกรธว่า  “แต่เราบอกพวกท่านว่า  ใครโกรธพี่น้องของตน  คนนั้นจะต้องถูกพิพากษา   ถ้าใครพูดกับพี่น้องอย่างเหยียดหยามคนนั้นจะต้องถูกนำไปยังศาลสูงให้พิพากษา   และถ้าใครพูดว่า “อ้ายโฉด” คนนั้นจะมีโทษถึงไฟนรก” (มัทธิว 5:22)   ยากอบเตือนคริสตชนไว้ว่า  “พี่น้องที่รักของข้าพเจ้า  จงเข้าใจเรื่องนี้  คือให้ทุกคนไวในการฟัง  ช้าในการพูด  ช้าในการโกรธ” (1:19)

ลองให้คะแนนตนเอง  ให้วงกลมรอบหมายเลขที่ใกล้เคียงความจริงของท่านมากที่สุด (ถ้าคะแนนเต็ม 5)

ส่วนมากฉันช้าในการโกรธ         น้อยที่สุด   0      1       2       3       4       5 มากที่สุด
ส่วนมากฉันฉุนเฉียวโกรธง่าย     น้อยที่สุด   0      1       2       3       4       5 มากที่สุด

ความรักในพระวจนะ:  ยอมยกโทษ
อุปสรรคขัดขวางความรัก:  ช่างจดจำความผิด  แค้นเคือง  แค้นที่รอเวลาชำระ

ความแค้นเคือง ไม่พอใจเป็นการสะสมของความขุ่นเคือง หงุดหงิดในอดีตที่ปะทุขึ้นในปัจจุบัน  คำว่า “ช่างจดจำความผิด”  ที่เปาโลใช้ในที่นี้เป็นภาษาทางการบัญชีที่บันทึกตัวเลขไว้เพื่อไม่ให้ลืม   และนี่คือพฤติกรรมที่หลายต่อหลายคนได้ทำเช่นนั้น   และการจดจำความผิด  ความแค้นที่คนอื่นทำกับตนแบบไม่ให้ลืมเช่นนี้เป็นอุปสรรคใหญ่ขวางทางความรักเมตตา   “ฉันพร้อมที่จะยกโทษ  แต่ฉันไม่สามารถที่จะลืมได้”  เป็นการยกโทษที่จอมปลอม   การไม่ยอมยกโทษเป็นการมองไปที่อดีตมิใช่การมุ่งมองไปยังอนาคต   ความรักเมตตาเป็นพลังปลดปล่อยความจำที่ยึดเกาะที่ความทุกข์ในความผิดที่คนอื่นกระทำกับตนหรือความผิดที่สร้างความเจ็บปวดแก่ตน

ลองให้คะแนนตนเอง  ให้วงกลมรอบหมายเลขที่ใกล้เคียงความจริงของท่านมากที่สุด (ถ้าคะแนนเต็ม 5)

ส่วนมากฉันยอมยกโทษ        น้อยที่สุด   0      1       2       3       4       5 มากที่สุด
ส่วนมากฉันจดจำความผิด     น้อยที่สุด   0      1       2       3       4       5 มากที่สุด

ความรักในพระวจนะ:  เกลียดชังความชั่วอธรรม  ชื่นชมยินดีในสัจจะความจริง
อุปสรรคขัดขวางความรัก:  ชื่นชมยินดีในความชั่วอธรรม

เมื่อเปาโลกล่าวว่า ความรักนั้นไม่ชื่นชมยินดี(เกลียด)ในความอธรรม หมายความว่าอะไรกันแน่?     ในการรักความชั่วหรือความอธรรมไม่จำเป็นว่าจะต้องกระทำความชั่วหรืออธรรมเสมอไป   แต่หมายถึงการที่มีเจตนาร้าย  หรือพอใจที่ได้ยินได้ฟังการกล่าวร้ายป้ายสีผู้อื่น  น่าแปลกใจว่า คนที่พยายามทำตนให้เป็นผู้มีจริยธรรมสูงส่งมักเป็นคนที่ชื่นชอบในความชั่วอธรรมมากที่สุด   ในการที่เขาพยายามที่จะมีชีวิตที่ละเว้นจากกระแสโลก   พวกเขากล่าวร้ายคนอื่นที่ไม่ทำอย่างเขา   พวกเขาสะใจที่เห็นคนอื่นผิดพลาดสะดุดล้มเพราะยอมประนีประนอมกับวิถีทางโลก   แล้วคนหน้าซื่อใจคดพวกนี้ตั้งหน้าตั้งตาที่จะตัดสินพิพากษาคนเหล่านั้นเมื่อได้โอกาส   ข่าวดีหรือพระกิตติคุณของคนพวกนี้เริ่มต้นด้วยการตัดสินกล่าวร้าย   มุ่งเน้นที่การพิพากษา  แล้วจบสิ้นด้วยการแตกแยก   ดูเหมือนว่าข่าวดีหรือพระกิตติคุณของพวกนี้มองหาไม่พบความรักเมตตา  

ลองให้คะแนนตนเอง  ให้วงกลมรอบหมายเลขที่ใกล้เคียงความจริงของท่านมากที่สุด (ถ้าคะแนนเต็ม 5)

ส่วนมากฉันชื่นชมยินดีในความจริง   น้อยที่สุด   0    1     2      3     4    5 มากที่สุด
ส่วนมากฉันชื่นชมในความชั่วอธรรม น้อยที่สุด   0    1     2      3     4    5 มากที่สุด

ความรักในพระวจนะ:  ความรักไม่มีวันเสื่อมสูญ  มีความทรหดมั่นคง
อุปสรรคขัดขวางความรัก:  มีความทรหดอดทนที่จำกัด

ความรักที่จอมปลอมมีความทรหดอดทนที่จำกัด   เมื่อเกิดความทุกข์ลำบากทุกอย่างก็แตกหัก   เป็นเหมือนเขื่อนที่มีการแตกร้าว  เริ่มสูญเสียความแข็งแรง   เริ่มมีน้ำไหลซึมออกจากรอยร้าวนั้น   จนขยายรอยกว้างและกลายเป็นรอยแยกที่น้ำทะลักไหลล้นออกมา   ความรักที่แท้จริงนั้นไม่มีการเสื่อมสลาย   แต่เป็นเหมือนเขื่อนที่แข็งแรงมั่นคงที่สามารถรองรับแรงดันของน้ำมหาศาล   ความรักจะไม่สบประมาท เหยียดหยามดูหมิ่นคนอื่น  ความรักจะไม่ประทุษร้าย ทำร้ายให้ใครบาดเจ็บ   ความรักเมตตาจะไม่มีวันสิ้นหวัง   แต่ความรักจะยืนมั่นเข้มแข็ง

ลองให้คะแนนตนเอง  ให้วงกลมรอบหมายเลขที่ใกล้เคียงความจริงของท่านมากที่สุด (ถ้าคะแนนเต็ม 5)

ส่วนมากฉันมีความทรหดมั่นคง      น้อยที่สุด   0   1     2    3    4    5 มากที่สุด
ส่วนมากฉันมีความอดทนที่จำกัด   น้อยที่สุด   0   1     2    3    4    5 มากที่สุด

เมื่อเราได้แยกแยะค้นพบอุปสรรคที่ขัดขวางความรักในตัวเรา โดยเฉพาะผู้นำคริสตชนแล้ว   หนทางที่จะแก้ไขเติมเต็มสภาพชีวิตที่ขาดความรักเมตตา หรือ มีอุปสรรคที่ขัดขวางยับยั้งความรักเมตตาในชีวิตของเรา  มีเพียงทางเดียวคือ   ให้เราเติมเต็มชีวิตของเราด้วยความรักเมตตา   เพื่อเราจะเป็นคนที่ชุมช่ำด้วยความรักเมตตาและเป็นผู้นำที่เปี่ยมด้วยความรักเมตตาที่พระเจ้าทรงประสงค์  “จงดำเนินในวิถีแห่งความรัก...” (1โครินธ์ 14:1 อมตธรรม)

การที่จะให้ตัวขัดขวางความรักเมตตาในชีวิตของเรามลายหายสูญไปจากชีวิตของเราได้นั้นมีเพียงหนทางเดียวคือ  ให้เราเติมเพิ่มความรักเมตตาของพระคริสต์ลงในชีวิตของเรา   เฉกการเติมน้ำลงในแก้วน้ำ   ที่ทำให้ที่ว่างในแก้วน้ำลดน้อยลงไป   แต่มีน้ำที่เพิ่มมากขึ้นจนเต็มแก้ว และล้นออกนอกแก้วในที่สุด

การขจัดอุปสรรคที่ขัดขวางความรักเมตตาในชีวิตของเรา  มิใช่ขัดขวาง ทำลายอุปสรรค

แต่เติมเต็มชีวิตของเราด้วยความรักเมตตาของพระคริสต์ต่างหาก   ที่ตัวขจัดสิ่งเหล่านั้นจะออกไปจากชีวิตของเรา

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

22 เมษายน 2556

ภาวะผู้นำปรากฏชัดเมื่อใด?


ท่านรู้ตัวว่าท่านเป็นผู้นำครั้งแรกตั้งแต่เมื่อไหร่?

สำหรับผมรู้ตัวว่าเป็นผู้นำครั้งแรกเมื่อสมัยที่ผมเรียนในโรงเรียนระดับประถมศึกษา   ในสมัยนั้นประถมศึกษาในประเทศไทยมีถึง ป.7  ในช่วงนั้นผมกำลังเรียนในชั้นประถมปีที่ 5   และโรงเรียนที่ผมเรียนในขณะนั้นก็มีชั้นสูงสุดก็แค่ ป.7  ทางโรงเรียนให้มีการสมัครเพื่อรับการเลือกตั้งเป็นประธานนักเรียนขึ้นในโรงเรียน  ชั้นเรียนที่ผมเรียนโหวตให้ผมเป็นตัวแทนเข้าแข่งขันรับเลือกเป็นประธานนักเรียน   ผลปรากฏว่า ผมได้รับเลือกเป็นประธานในปีนั้น   ในเวลานั้นเองผมถามตัวเองว่า  นี่เราเป็นผู้นำของนักเรียนทั้งโรงเรียนหรือนี่?   ผมคิดว่ารุ่นพี่ ป.7 น่าจะได้รับเลือกเป็นประธานนักเรียน   เพราะอยู่ชั้นสูงสุด

ในสถานการณ์นั้น  ผมถามตนเองว่า เราเป็นผู้นำนักเรียนทั้งโรงเรียนแล้วจริงๆ หรือ?    คนอื่นมองผมและยกให้ผมเป็นผู้นำ   แต่แค่ได้รับการเลือกตั้งมี “ตำแหน่งประธานนักเรียน” นั้นไม่ใช่ตัวบ่งบอกที่แท้จริงว่าผมเป็นผู้นำ!   แต่ผมเป็นประธานนักเรียนแบบไหนต่างหากที่จะบ่งบอกว่าผมมีภาวะผู้นำหรือไม่

จอห์น ซี แมกซ์แวลล์ (John C. Maxwell) ได้กล่าวถึงสถานการณ์ที่สร้างและตัวบ่งชี้ถึงภาวะผู้นำที่เกิดขึ้นไว้  4  ประการที่น่าสนใจในบทความหนึ่งของท่านว่า

1.  ช่วงเวลาวิกฤติท้าทายความเป็นผู้นำ

เมื่อคนๆ นั้นต้องเผชิญกับวิกฤติที่ท้าทายเป็นเวลาที่ตนเองและผู้คนรอบข้างจะมองเห็นว่าศักยภาพภายในของคนๆ นั้นสามารถแปรเปลี่ยนเป็นสมรรถนะและความสามารถที่ใช้จัดการกับวิกฤติที่ท้าทายอย่างสร้างสรรค์ได้มากน้อยแค่ไหน (มีกึ๋นภาวะผู้นำหรือไม่ แค่ไหน?)

แมกซ์แวลล์  เล่าประสบการณ์ของท่านเองว่า   ตัวบ่งชี้ภาวะผู้นำของท่านครั้งแรกในชีวิตคือในเวลาที่ท่านสมัครเป็นศิษยาภิบาลในคริสตจักรแห่งหนึ่ง  ขณะนั้นท่านอายุ 25 ปี    ในคริสตจักรแห่งนี้เป็นที่รู้กันว่ามี “เจ้าพ่อ” ที่เป็นผู้ขับเคลื่อนชีวิตคริสตจักรแห่งนี้   ศิษยาภิบาลก่อนหน้านี้ต้องออกจากคริสตจักรไปเพราะไปขัดแข้งขัดขากับ “เจ้าพ่อ” ของคริสตจักร   ยิ่งกว่านั้น แมกซ์แวลล์  ยังได้เรียนรู้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า   ศิษยาภิบาลอีกสองท่านก่อนหน้านี้ก็ออกจากคริสตจักรแห่งนี้ไปด้วยอาการเดียวกันกับศิษยาภิบาลที่เพิ่งลาออกไป

แมกซ์แวลล์  เริ่มงานศิษยาภิบาลในคริสตจักรแห่งนี้ด้วยการแสวงหาโอกาสที่เหมาะสมที่จะขอพบและปรึกษากับ “เจ้าพ่อ” หรือศิษยาภิบาลตัวจริงดั้งเดิมของคริสตจักร   ท่านเข้าพบปรึกษา “เจ้าพ่อ” ด้วยท่าทีจริงใจ  สัตย์ซื่อ  ให้เกียรติ  ถ่อมสุภาพ  เปิดเผย  และเปิดใจที่จะเรียนรู้   แน่นอนครับพร้อมด้วยความกล้าหาญ   ท่านเรียน “เจ้าพ่อ” อย่างเปิดเผยและให้เกียรติ   และเรียนปรึกษากับท่านถึงภาพลักษณ์ของ “เจ้าพ่อ” ในสายตาของคนอื่นที่มองท่านเป็นลบ  ซึ่งไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น   แล้ว แมกซ์แวลล์  ได้แสดงความจริงใจและเต็มใจที่จะร่วมทำงานพันธกิจกับ “เจ้าพ่อ”  จากการกระทำเช่นนี้ปรากฏว่าศิษยาภิบาลคนใหม่คนนี้ได้ใจของ “เจ้าพ่อ”   แล้วทั้งสองทำงานร่วมไม้ร่วมมือกันอย่างสนิทสนม 

John ชี้ว่า   การสนทนาครั้งนั้นคือช่วงเวลาที่บ่งชี้ถึงความเป็นผู้นำของศิษยาภิบาล จอห์น แมกซ์ แวลล์  ท่านประเมินว่าเวลานั้นท่านได้มีความกล้าหาญแบบมีในภาวะผู้นำ   ในเวลานั้นท่านเรียนรู้ว่า ในฐานะผู้นำ  คือการทำให้ผู้คนที่ท่านนำมีความสุขมิใช่เพียงแต่จะนำผู้คนเท่านั้น   ความกล้าหาญของท่านมิใช่ลุกขึ้นคัดค้านต่อต้านใครหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง   ท่านเกิดความรู้สึกสุขใจภายหลังที่ได้พบกับ “เจ้าพ่อ” ของคริสตจักร   มิใช่การพบปะสนทนาเป็นไปด้วยดีเท่านั้น   แต่เพราะท่านได้แสดงภาวะผู้นำที่แท้จริง   จอห์น แมกซ์แวลล์  บอกว่าตัวบ่งชี้ภาวะผู้นำ  คือการที่ท่านเต็มใจที่จะยอมทำในสิ่งที่ลำบากใจ และ สร้างความสัมพันธ์ที่ทำให้งานเกิดความสำเร็จ  

จากประสบการณ์ครั้งนั้นท่านยอมรับว่า มีอิทธิพลในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของท่าน   ทำให้ท่านเกิดความมั่นอกมั่นใจอย่างมากต่อการกล้าตัดสินใจในสถานการณ์ที่ยากลำบากครั้งต่อๆ มาบนเส้นทางชีวิตการเป็นผู้นำของท่าน

2.   เมื่อศักยภาพที่ซ่อนเร้นในตัวปรากฏชัดเป็นความสามารถ  บ่งชี้ถึงความเป็นผู้นำ

การมีศักยภาพภาวะผู้นำภายในตัวของคนๆ นั้นเท่านั้นมิใช่เป็นตัวบ่งชี้ว่าเขาเป็นผู้นำ   แต่ศักยภาพความเป็นผู้นำจะต้องแสดงออกชัดว่าคนๆ นั้นมีสมรรถนะ ความสามารถในการนำจริงๆ ด้วย   เพราะความสามารถในการนำดังกล่าวสร้างความมั่นใจแก่ตัวผู้นำเอง   ในขณะที่ทำให้ผู้ตามได้เห็นภาวะผู้นำตัวจริงของผู้นำคนนั้น  และจะเป็นจุดเริ่มต้นของความไว้วางใจของผู้คนรอบข้างและทีมงาน

3.   แรงจูงใจที่บริสุทธิ์จริงใจบ่งชี้ถึงความเป็นผู้นำ

J. R. Morgan กล่าวว่า “มนุษย์เรามักมีเหตุผลใหญ่ๆ สองประการในการที่กระทำในบางสิ่งบางอย่างอยู่เสมอ  กล่าวคือเหตุผลที่ดูดี และ เหตุผลที่แท้จริง”   ตัวบ่งชี้ภาวะผู้นำคือการผ่านข้ามเหตุผลที่ผิวเผินดูดี  แต่มุ่งไปสู่เหตุผลที่แท้จริงในการนำนั้น   สิ่งนี้เป็นพลังขับเคลื่อนภายในชีวิตของผู้นำ   เพื่อช่วยผู้นำคนนั้นแสดงออกชัดเจนว่าพลังที่กระตุ้นขับเคลื่อนเบื้องหลังการนำหรือการใช้อิทธิพลของเขาคืออะไรกันแน่

จอห์น แมกซ์แวลล์ เล่าว่า   ในช่วงปีแรกๆ ของการเป็นผู้นำของท่าน   ท่านมองไปยังคนที่ท่านนำ  และถามตนเองว่า  “พวกเขาจะช่วยฉันอย่างไรได้บ้าง?”   ท่านมองว่า ท่านจะใช้ประโยชน์จากความสามารถและทักษะของผู้คนที่ท่านนำทำให้วิสัยทัศน์ของท่านก้าวไปข้างหน้าได้อย่างไร?   ครั้งแล้วครั้งเล่าที่ท่านใช้ภาวการณ์เป็นผู้นำที่เอา “ตัวข้าฯ เป็นศูนย์กลาง” ในการนำผู้คน   และนั่นแสดงออกชัดเจนว่าอะไรคือแรงกระตุ้นขับเคลื่อนในการเป็นผู้นำของท่านเอง  

ต่อมาท่านได้เรียนรู้ที่จะเปลี่ยนมุมมองการรับรู้ใหม่ในความเป็นผู้นำของท่าน   และท่านจะถามตนเองว่า  “ผมจะช่วยคนเหล่านี้(คนที่ท่านนำ)ได้อย่างไร?”  

4.   ท่ามกลางแรงกดดันและความตึงเครียดได้พัฒนาให้ผู้นำเติบโตและมีวุฒิภาวะในการนำ

ภาวะความกดดันและความตึงเครียดในการเป็นผู้นำเอื้ออำนวยให้เกิดการเติบโตที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้เลยในสถานการณ์ปกติ   จอห์น แมกซ์แวลล์  เล่าถึง Dr. John Brid ว่าครั้งหนึ่งท่านได้เตือน แมกซ์แวลล์ ว่า ให้ระมัดระวังอย่ารับประทานอาหารกลางวันมากเกินไปเพราะจะทำให้ตัวของแมกซ์แวลล์เกิดปัญหาน้ำหนักมากเกินไป   แทนที่ จอห์น แมกซ์แวลล์ จะฟังคำเตือนของ Dr. Brid  แต่ท่านกลับโต้เถียง Dr. Brid  ในเรื่องดังกล่าว และยืนยันว่า ตนเองมีสุขภาพที่แข็งแรง   ภายหลัง  จอห์น แมกซ์แวลล์ ต้องทนทุกข์กับโรคหัวใจวาย   แผนกผู้ป่วยฉุกเฉินทำให้ท่านต้องยอมรับว่า  สุขภาพของท่านเข้าขั้นวิกฤติและกำลังสร้างปัญหาแก่ท่าน

ภาวะวิกฤติ กดดัน และตึงเครียดในชีวิตทำให้ จอห์น แมกซ์แวลล์ ต้องเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิตของตนทันทีฉับพลัน   ซึ่งถ้าไม่เกิดภาวะดังกล่าวในชีวิตตัวท่านเองก็จะไม่สนใจที่จะดูแลสุขภาพของตนเอง  

เช่นกัน ภาวะตึงเครียด กดดันเพิ่มความเร่งด่วนต่อการเติบโตและมีวุฒิภาวะมากขึ้นในความเป็นผู้นำด้วย

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

19 เมษายน 2556

การสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงชีวิต

เราเทศนาไปทำไม?

เมื่อเป้าหมายปลายทางของการเทศนาคือ การนำให้ชีวิตของผู้ฟังเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนแปลง   และการเทศนาเป็นเครื่องมือที่สำคัญยิ่งที่ทำให้ชีวิตคริสตจักรเกิดการเติบโตและแข็งแรง   แต่ศาสนาจารย์ ศิษยาภิบาล หรือผู้ปกครองคริสตจักรต่างมีคำถามในใจว่า   แล้วเราจะสื่อสารผ่านการเทศนาอย่างทรงประสิทธิภาพได้อย่างไร?   เอกสารนี้มี 9 ประเด็นคำถามที่ผู้เทศน์ใช้ในการตรวจสอบและถามเกี่ยวกับการเทศนาของตน

1.  ใครคือผู้ฟังเทศนา?

ที่เราถามคำถามนี้เพื่อที่จะต้องการทราบว่า   “ผู้ฟังต้องการอะไรในชีวิต?”   “อะไรคือบาดแผลและความเจ็บปวดในชีวิตของผู้ฟัง?”   “ผู้ฟังสนใจในเรื่องอะไร?”   คำถามลักษณะนี้จะช่วยให้ผู้เทศน์สามารถมุ่งมองเจาะจงลงไปในชีวิตของผู้ฟัง   บางท่านอาจจะถามในใจว่า   แล้วเราจะถามไปทำไม?   ที่เราถามเช่นนี้เพราะว่ามี 3 สิ่งที่ดึงดูดความสนใจของผู้ฟังเสมอ คือ...
  • สิ่งที่เขาหวาดกลัว
  • สิ่งที่ไม่ปกติธรรมดา
  • สิ่งที่มีคุณค่า
นักเทศน์สามารถดึงดูดความสนใจของผู้ฟังอย่างเหนียวแน่นก็โดยการมุ่งเจาะจงลงสู่สิ่งที่มีคุณค่าสำหรับผู้ฟัง

2.  พระคัมภีร์ว่าอย่างไรกับความต้องการที่จำเป็นในชีวิตของผู้ฟัง?

ในเมื่อพระคัมภีร์เป็นหนังสือที่ว่าด้วยชีวิต   และมีคำตอบต่อความจำเป็นต้องการในชีวิตของผู้คน  ภาระหลักของนักเทศน์คือเปิดเผยและสำแดงให้ผู้ฟังได้พบกับสิ่งที่สามารถตอบโจทย์ปัญหาและความจำเป็นต้องการของผู้ฟังในปัจจุบัน

3.  อะไรในคำเทศนาที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ดี/ปฏิบัติได้มากที่สุด?

การประยุกต์คำสอนให้เป็นแนวทางและวิธีการปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวันของผู้ฟังเป็นภาระประการต่อมาของนักเทศน์   ดังนั้นคำเทศน์ต้องเป็นสิ่งที่นำไปปฏิบัติได้   ที่ผู้ฟังฟังแล้วรู้ว่าจะนำไปทำตามได้อย่างไร   คำถามคือแล้วจะทำอย่างไรให้คำเทศน์เป็นคำเทศน์เพื่อการปฏิบัติ  มิใช่เพื่อจรรโลงปัญญาเท่านั้น?
  • นักเทศน์ต้องมุ่งเป้าหมายเจาะจงให้คำเทศน์ไปสู่การปฏิบัติ
  • บอกกับผู้ฟังว่า ทำไมจะต้องปฏิบัติในเรื่องนี้
  • แล้วแสดงให้เขาเห็นชัดเจนว่าจะปฏิบัติได้อย่างไร
ระวังนะครับ  คำแนะนำชักชวน หรือ แม้แต่การขู่เข็ญบังคับให้ทำ  โดยปราศจากคำอธิบายที่ชัดเจน  นำไปสู่ความสับสน และเป็นการทำลายความสำคัญของคำเทศน์ในความรู้สึกของผู้ฟัง   เราส่วนมากคงเคยได้ยินได้ฟังที่ผู้คนพูดถึงคำเทศนาในวันนั้นๆ ว่า  “สิ่งที่เทศน์ใช่เลย... แต่จะทำได้อย่างไร?”   หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า   “เห็นด้วยกับสิ่งที่เทศน์   แต่เราจะทำได้จริงอย่างไรในชีวิตของเรา?” (ที่นักเทศน์มักไม่ได้กล่าวถึง)

4.  จะเทศน์อย่างไรที่เป็นการเทศน์ที่สร้างสรรค์ที่สุด?

พระเยซูคริสต์มิได้พยายามทำให้ผู้คนกลับใจ หรือ เปลี่ยนแปลงชีวิตด้วยอารมณ์โกรธ(อารมณ์รุนแรง)   ถึงแม้พระคัมภีร์มีการเตือนถึงเรื่องการพิพากษาอย่างชัดเจน   แต่การเทศนาในเชิงลบย่อมเสริมสร้างสมาชิกผู้ฟังเทศน์ให้เป็นคนแบบลบๆ ไปด้วย   ดังนั้น  ระมัดระวังไม่เทศนาด้วยมุมมอง ทัศนะ แบบลบ   แต่มุ่งเน้นให้การเทศนาเป็นการนำเสนอ “ข่าวดีของพระคริสต์”  เป็นการเสนอทางออกจากการครอบงำของอำนาจบาป  และเป็นการเทศนาด้วยความถ่อมสุภาพมากกว่าการเทศนาด้วยความดุดัน

5.  จะเทศน์อย่างไรที่เป็นการหนุนเสริมเพิ่มกำลังใจมากที่สุด?

คนเราต่างมีรากฐานความจำเป็นต้องการ 3 ประการในชีวิต
  • ต้องการได้รับการหนุนเสริมเพิ่มพลังใจในความเชื่อศรัทธา
  • ต้องการได้รับการยืนยัน หรือ เกิดความหวังใหม่อีกครั้งหนึ่งในชีวิต
  • ต้องการได้รับการรื้อฟื้น ซ่อมแซม  ปะชุน ความรักขึ้นใหม่ในชีวิตใหม่
หัวใจของการหนุนเสริมเพิ่มพลังใจและชีวิตมิใช่เพียงบอกผู้ฟังว่ามันเป็นเรื่องอะไร  มันคืออะไร   แต่จะต้องบอกว่าเรื่องนี้จะเป็นจริงในชีวิตได้อย่างไร   ยิ่งกว่านั้น  ทั้งนักเทศน์ประจำและนักเทศน์จรต้องตระหนักชัดและสำนึกเสมอคือ   คำเทศนาของเรามิได้จบลงบนธรรมมาสน์  แต่การเทศนาที่แท้จริงเริ่มเมื่อผู้ฟังและนักเทศน์มีโอกาสสนทนาวิสาสะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันหลังนักเทศน์ลงจากธรรมมาสน์แล้ว   และนี่คือจุดบอด จุดอับ และจุดดับของบรรดานักเทศน์ทั้งหลายในปัจจุบัน

6.  แล้วจะเทศน์ด้วยภาษา และ ท่าทีที่เรียบง่ายได้อย่างไร?

แท้จริงแล้วเมื่อพระเยซูเทศน์และสอน   พระองค์สื่อสารกับประชาชนและสาวกด้วยวิธีการที่เรียบง่ายในวัฒนธรรมและบริบทในเวลานั้นของพระองค์   ในเมื่อผู้ฟังส่วนใหญ่ประมาณ 90-95% จะลืมสิ่งที่เขาได้ยินได้ฟังไปแล้วหลัง 72 ชั่วโมง   ดังนั้น คำเทศนาจำเป็นจะต้องมุ่งเน้นเจาะจงชัดเจนเพียงความคิดประเด็นเดียว   แล้วเราจะทำให้คำเทศน์ของเราเรียบง่ายได้อย่างไร?
  • ตกผลึกสาระที่เราเทศน์ในวันนั้นให้เป็นเพียงประโยคเดียว
  • หลีกเลี่ยงการใช้ศัพท์ ใช้คำเฉพาะในคริสต์ศาสนา คริสต์ศาสนศาสตร์ ที่คนฟังแล้วเข้าใจยาก
  • จัดลำดับประเด็นโครงร่างคำเทศนาให้เรียบง่าย (ไม่ซับซ้อนถี่ย่อยเกิน)
  • ทำให้ส่วนประยุกต์สอดคล้องกับสาระคำเทศน์
  • ทำทุกประเด็นที่นำเสนอในคำเทศน์ให้ผู้ฟังสามารถเห็นภาพในประเด็นนั้นๆ ได้
  • การนำเสนอแนวทางหรือวิธีการนำไปใช้มาจากประสบการณ์ตรงของผู้คนต่างๆ จากชีวิตจริง

7.  ทำให้การเทศนาเป็นกันเองกับผู้ฟังมากที่สุดได้อย่างไร?

ผู้คนในปัจจุบันตกอยู่ในท่ามกลางวัฒนธรรม “ช่างสงสัย”  และ “แรงต้าน” ต่อสิ่งที่นำเสนอหรือการเสนอขาย   ในที่นี้รวมถึงการนำเสนอขายความคิดผ่านการเทศนาด้วย   ทำอย่างไรที่จะทำให้สาระและการเทศนาของเราเป็นไปอย่าง “กันเอง” กับผู้ฟัง   เป็นไปด้วยความสัมพันธ์ระหว่างผู้สนทนาสื่อสารด้วยกัน   และการเทศนานั้นจะเกิดผลกระทบในชีวิตของผู้ฟังได้อย่างไร?
  • แบ่งปันสิ่งที่ท่านพบเห็นหรือเผชิญหน้า  แก่ผู้ฟังด้วยความจริงใจ
  • แบ่งปันสิ่งที่ท่านประสบพบเห็นในความก้าวหน้าของท่านด้วยท่าทีที่ถ่อมสุภาพ
  • แบ่งปันสิ่งที่ท่านได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงครั้งต่างๆ ของท่าน

8.  เราจะนำเสนอสาระคำเทศนาอย่างน่าสนใจได้อย่างไร?

นักเทศน์ที่เทศนาอย่างน่าเบื่อหน่ายแก่ผู้ฟังที่ยังไม่เชื่อ เป็นการเทศน์ที่สร้างความเสียหายที่ยากจะทำใจยอมรับได้   ขอเปลี่ยนแปลงวิธีการนำเสนอสาระคำเทศน์เสียใหม่!   พระเยซูคริสต์สื่อสารสาระพระกิตติคุณของพระองค์ด้วยการเล่าถึงเรื่องราวชีวิตจริงของผู้คนในวัฒนธรรมนั้น ในบริบทของสมัยนั้น   แล้วพระองค์ก็ใช้เรื่องที่น่าสนใจ ที่ทำให้คนฟังต้องคิดและทำให้ประชาชนได้คิดด้วย   พระองค์ไม่ได้นำเสนอสัจจะความจริงด้วยวิธีการและท่าทีที่เคร่งขรึม  มาดอาจารย์  ท่านักวิชาการ  วางตัวเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่น่าเกรงขาม   แต่พระองค์ช่วยให้ผู้ฟังของพระองค์ผ่อนคลาย  เปิดใจ  รับฟัง    พระองค์ทำให้ยาที่ประชาชนกินยากกินลำบากให้กินได้ง่าย  จึงยอมกิน  และพระองค์ทำให้ประชาชนกินยานั้นอย่างมีความสุข

9.   พลังการเปลี่ยนแปลงชีวิตมาจากไหน?

ผู้เทศน์เป็นกระบอกเสียงของพระเจ้า  เป็นผู้เผยพระประสงค์และน้ำพระทัยของพระองค์แก่ผู้ฟัง  แต่พลังที่ก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของผู้ฟังมิได้มาจากวิธีการเสนอคำเทศนา หรือ เนื้อหาสาระในคำเทศน์เป็นหลัก   แต่การเทศนาเป็นพระราชกิจของพระเจ้า ที่นักเทศน์ร่วมรับใช้ในพระราชกิจครั้งนั้นๆ   ดังนั้น นักเทศน์คือคนใช้ของพระเจ้าสำหรับการเทศน์ในครั้งนั้น   และ คำเทศน์เป็นสะพานที่ทอดลงเพื่อให้ผู้ฟังสามารถเดินเข้าถึงการสัมผัสกับพระวจนะ พระประสงค์ และน้ำพระทัยของพระองค์ในชีวิตของผู้ฟังแต่ละคน

ดังนั้น  การเตรียมคำเทศน์ และ การเทศนาของนักเทศน์จึงเป็นบทบาทและการร่วมในพระราชกิจของพระเจ้าในการรับใช้พระองค์ในครั้งนั้นๆ   และนักเทศน์มั่นใจได้ว่า  เรามิได้เตรียมเทศน์ด้วยตัวเราคนเดียว   เราไม่ได้เทศน์ด้วยความโดดเดี่ยวตัวคนเดียว   พระเจ้าทรงประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์ทำงานในการเตรียมเทศน์  ในการดำเนินชีวิตของเรา   และพระองค์ทรงเป็นความคิด  พระปัญญา  และการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้ฟังผ่านการเทศนาของเรา   การเทศนาจึงเป็นพระราชกิจของพระเจ้าที่ผู้เทศน์ยอมตนรับใช้ตามพระประสงค์ของพระเจ้า

ประการสำคัญที่เป็นรูปธรรมคือ   พลังการเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้ฟังเทศน์คือ   การที่ผู้เทศน์มีชีวิตอย่างสิ่งที่ตนเทศน์   ที่ผู้เทศน์ได้เคยสัมผัสกับสัจจะความจริงในพระวจนะนั้นแล้ว และการที่เราจะสามารถดำเนินชีวิตอย่างที่เทศน์ได้นั้น   เพราะพระวิญญาณทรงทำงานเปลี่ยนแปลงและเสริมสร้างชีวิตของผู้เทศน์ให้เป็นแบบอย่างก่อน   เพื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์จะใช้แบบอย่างชีวิตของผู้เทศน์เป็นส่วนหนึ่งในคำเทศน์เพื่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้ฟัง

ดังนั้น  พลังของคำเทศนาที่มีอิทธิพลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้ฟัง  ก็คือพลังจากแหล่งเดียวกันที่ทรงเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้เทศน์เองมาก่อนหน้านี้แล้วครับ!

ถ้าเช่นนั้น  นักเทศน์ที่ยังไม่เคยรับการเปลี่ยนแปลงชีวิตจากพระเจ้า   จะเทศนาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของผู้ฟังได้อย่างไร?

ขมวด

การเทศนาที่ดีมีประสิทธิภาพ มีพลังในการเปลี่ยนแปลงชีวิตมิใช่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างบังเอิญ   แต่ผ่านกระบวนการพินิจพิจารณา คิด ใคร่ครวญให้ทะลุตลอดรอดฝั่ง  และตระหนักชัดว่า การเทศนาเป็นพระราชกิจของพระเจ้า  และผู้เทศน์เป็นเพียงผู้รับใช้ของพระเจ้าที่จะมีชีวิตทำตามที่พระเจ้าประสงค์ในการเทศน์ครั้งนั้นๆ  และประการสุดท้ายที่เป็นหัวใจสำคัญคือ  นักเทศน์ต้องรักคนฟังของท่านครับ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

17 เมษายน 2556

จาริกตามพระคริสต์สู่กางเขน


นับจากวันอาทิตย์การคืนพระชนม์ไปอีก 7 สัปดาห์ ถึงวันอาทิตย์การเสด็จมาของ
พระวิญญาณบริสุทธิ์ รวมทั้งสิ้น 50 วัน เป็นช่วงเวลาที่กระผมขอเรียกเอาเองว่า 
ฤดูกาลแห่งชีวิตใหม่ในพระคริสต์เป็นช่วงเวลาที่คริสตชนรับการทรงเปลี่ยนแปลง 
เสริมสร้างชีวิตสาวกพระคริสต์ในชีวิตของตนอย่างเป็นรูปธรรม


อ่านยอห์น 12:23-27

23 และ​พระ​เยซู​ตรัส​ตอบ​พวก​เขา​ว่า ถึง​เวลา​แล้ว​ที่​บุตร​มนุษย์​จะ​ได้​รับ​พระ​เกียรติ   
24 เรา​บอก​ความ​จริง​กับ​พวก​ท่าน​ว่า ถ้า​เมล็ด​ข้าว​ไม่​ได้​ตก​ลง​ดิน​และ​ตาย​ไป ก็​จะ​คง​อยู่​เมล็ด​เดียว แต่​ถ้า​ตาย​ไป​แล้ว​ก็​จะ​งอก​ขึ้น​เกิด​ผล​มาก
25 คน​ที่​รัก​ชีวิต​ตัว​เอง​ต้อง​เสีย​ชีวิต และ​คน​ที่​เกลียด​ชัง​ชีวิต​ตัว​เอง​ใน​โลก​นี้​จะ​รัก​ษา​ชีวิต​นั้น​ไว้​นิรันดร์
26 ถ้า​ใคร​จะ​ปรน​นิ​บัติเรา คน​นั้น​ต้อง​ตาม​เรา​มา และ​เรา​อยู่​ที่​ไหน ผู้​ปรน​นิ​บัติ​ของ​เรา​จะ​อยู่​ที่​นั่น​ด้วย ถ้า​ใคร​ปรน​นิ​บัติ​เรา พระ​บิดา​จะ​ประ​ทาน​เกียรติ​แก่​ผู้​นั้น 
27 เดี๋ยว​นี้​ใจ​ของ​เรา​เป็น​ทุกข์ จะ​ให้​เรา​พูด​อย่าง​ไร? ‘ข้า​แต่​พระ​บิดา ขอ​ทรง​ช่วย​ข้า​พระ​องค์​ให้​พ้น​จาก​ช่วง​เวลา​นี้อย่าง​นั้น​หรือ? แต่​เพื่อ​จุด​ประ​สงค์​นี้​เอง เรา​จึง​มา​ถึง​ช่วง​เวลา​นี้  (ฉบับมาตรฐาน)

เราท่านต่างรู้แน่แก่ใจแล้วว่า  พระเยซูคริสต์ทรงจาริกไปบนเส้นทางสู่เนินเขากะโหลกศีรษะ

แต่ท่านทราบไหมว่า  ผู้ที่ตัดสินใจที่จะติดตามและมีชีวิตตามแบบพระคริสต์ก็ต้องจาริกไปบนเส้นทางเดียวกับพระองค์สู่กางเขน?   ทุกคนที่ตั้งใจใช้ชีวิตไปกับพระคริสต์จะต้องตรึงชีวิตของตนบนกางเขนกับพระองค์   และผู้ใดที่กระหายใคร่มีประสบการณ์ที่ลุ่มลึกกับพระคริสต์ในสัจจะความจริงเดียวกันนี้   พระองค์ทรงจูงมือคนนั้นและนำเขาไปสู่กางเขน   ถึงแม้ว่านี่คือเป้าหมายปลายทางแห่งสุดท้ายที่ทุกคนจะมุ่งไป   แต่นั่นก็เป็นทางเดียวที่พระองค์จะมีส่วนร่วมที่ดีที่สุดในชีวิตของเรา

การจาริกไปบนเส้นทางสู่กางเขนมิใช่เส้นทางที่เราจะไปกับคนในครอบครัวของเราหรือมิตรสหายของเรา   แต่เป็นเส้นทางที่โดดเดี่ยวและเปล่าเปลี่ยว  ที่เราจาริกไปกับพระคริสต์เท่านั้น  แล้วพระองค์ทรงเปลื้องเราจากการพึ่งพิงทุกอย่างที่มีอยู่   แล้วเราเริ่มเรียนรู้ที่จะวางใจพึ่งพิงในพระองค์เท่านั้น    และเมื่อเราอยู่ที่กางเขน   พระองค์ทรงเปลื้องสิ่งที่ปกปิดตัวเราออกทีละชิ้น  ชิ้นแล้วชิ้นเล่า  จนหมดสิ้น  จนเราสามารถเห็นตัวตนที่แท้จริงของตนเองอย่างที่พระองค์ทรงเห็นตัวเรา   ในไม่ช้า การมีตนเองเป็นศูนย์กลางในชีวิตก็ถูกลอกออก  ความไม่เหมาะสมในตัวเราก็ถูกดึงออกไป   ความล้มเหลวถูกขจัดจากตัวเรา  บนกางเขนนั้นพระองค์ทรงเปลื้องเราจนเปล่าเปลือย

บนกางเขนนั้นชีวิตของเราต้องพบกับความแตกหักและฉีกขาด  แต่เป็นที่ที่สำคัญและจำเป็นสำหรับชีวิตของคริสตชน   ถ้าเรายังยึดเกาะชีวิตเดิมที่เป็นอยู่   ไม่ยอมที่จะจาริกไปบนเส้นทางสู่กางเขน ชีวิตของเราก็จะไม่ถูกเปลื้องออก   เราก็จะไม่เห็นความฉีกขาดในชีวิตของเรา  และก็ไม่มีทางอื่นเลยที่ชีวิตของเราจะเกิดผลได้

พระเยซูทรงเปรียบชีวิตของเราเป็นเหมือนเมล็ดข้าว   ถ้าไม่ถูกหว่านลงในดิน   มันจะไม่แตกตัว  ไม่งอก  ไม่เกิดชีวิตใหม่ แล้วมันก็จะไม่เกิดผล

แต่ถ้าเมล็ดข้าวเม็ดใดเต็มใจที่จะถูกหว่านลงในดิน   เปลือกที่หุ้มเมล็ดข้าวยอมเปื่อยและเน่าในที่สุด   เมล็ดข้าวเมล็ดนั้นยอมให้สิ่งที่ห่อหุ้ม ปกป้องชีวิตของตนเองเปื่อยเน่า  แตกออก  เมล็ดนั้นจะเกิดชีวิตใหม่

ถ้าเมล็ดข้าวแห่งชีวิตของเราไม่ถูกหว่านลงดิน   ก็จะไม่เกิดชีวิตใหม่  จะไม่เติบโต

แต่ถ้าใครก็ตามที่จะยอมให้เมล็ดชีวิตเดิมของตนตาย   ผู้นั้นก็จะเป็นเหมือนเมล็ดที่ยอมให้เปลือกที่หุ้มชีวิตเปื่อยเน่า  เพื่อแตกชีวิตใหม่  เติบโตได้  แล้วเกิดผลด้วย

ชีวิตคริสตชนที่มีชีวิตและดำเนินชีวิตตามพระคริสต์  คือผู้ที่ยอมให้ชีวิตของตนถูกตรึงที่กางเขน

พระเจ้าไม่มีพระประสงค์ให้ท่านพอใจกับความรอดที่ท่านรับพระองค์เท่านั้น
แต่พระองค์มีพระประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิต 
ด้วยการทรงกระทำพระราชกิจในชีวิต และผ่านชีวิตของเรา  เพื่อชีวิตของเราจะเกิดผล

เราเต็มใจที่จะจาริกไปบนเส้นทางนี้สู่กางเขนไปกับพระองค์หรือไม่?

ใช่   มันเป็นทางที่ท่านต้องเจ็บปวด  เป็นเส้นทางที่เราต้องโดดเดี่ยวจากผู้อื่น

แต่เป็นเส้นทางที่เราเคียงข้างไปกับพระคริสต์   เป็นเส้นทางที่เราจะเรียนรู้จากพระองค์

แม้เป็นเส้นทางที่เราได้รับความเจ็บปวดในชีวิต  
แต่ผลที่ได้รับยิ่งกว่าคุ้มค่า  
นี่จะเป็นประสบการณ์ที่เราจะได้รับในชีวิต  
นี่คือจุดเริ่มต้นชีวิตใหม่ในพระคริสต์  
นี่เป็นคุณค่าแห่งการเป็นสาวกของพระองค์ 
และเป็นชีวิตที่เกิดผลตามพระประสงค์ของพระองค์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

15 เมษายน 2556

เมื่อต้องไล่ล่าตามสถานการณ์...



ในช่วงหนึ่งหนังสือของ สตีเฟน โควี่ เป็นที่สนใจของผู้อ่าน   ประเด็นหนึ่งที่เขาเสนอให้กับผู้อ่านคือ  เราต้องเป็นผู้ควบคุมสถานการณ์ชีวิตของเรา   แทนที่เราต้องตกเป็นเบี้ยล่างของสถานการณ์  หรือต้องไล่ล่าตามสถานการณ์ที่บีบบังคับ   เขาเปรียบการมีชีวิตที่สามารถควบคุมสถานการณ์ เช่นเดียวกับผู้ชมโทรทัศน์มีรีโมตคอนโทรลอยู่ในมือ  สามารถสั่งเลือกช่องที่จะชมได้ตามใจ   เป็นความจริงด้วยว่า...

ตราบใดที่เราต้องไล่ตามสถานการณ์  เมื่อนั้นเราก็ยังไม่สามารถที่จะควบคุมสถานการณ์ชีวิต

เมื่อใดที่เรายังโลดแล่นไปตามสถานการณ์บังคับ   เมื่อนั้นเรายังไม่หลุดจากกับดักที่มีผู้ควบคุมกำกับอยู่

แต่ในความจริงอีกด้านหนึ่ง   สถานการณ์แต่ละสถานการณ์ที่เกิดกับชีวิตของเรา   มันไม่ได้เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมาโดดๆ ด้วยตัวของมันเองเท่านั้น   แต่เป็นสถานการณ์ที่เป็นปฏิกิริยาที่ตอบสนองเหตุการณ์อื่น  บุคคลอื่น หรือ สิ่งอื่นมาแล้ว   และนี่จึงเป็นความซับซ้อนที่บ่อยครั้งเป็นการยากยิ่งที่เราพยายามจะเข้าไปควบคุม  เข้าไปจับบังเหียนสถานการณ์นั้นไว้ให้อยู่ภายใต้การกำกับจัดการด้วยกำลังอำนาจของเรา

เราต้องรู้เท่าทันสถานการณ์แวดล้อมที่เราเข้าไปเผชิญหน้านั้นว่า   สถานการณ์นั้นๆ เป็นสถานการณ์ที่เราสามารถเข้าไปควบคุมได้หรือไม่   หรือ ถามตรงว่า  เหตุการณ์นี้อยู่ในการควบคุมจัดการของเราหรือไม่?

ถ้าเป็นเหตุการณ์สถานการณ์ที่อยู่นอกเหนืออำนาจการควบคุมจัดการของเรา   เราคงต้องถามตนเองว่า แล้วเราจะจัดการกับตนเองในเรื่องนี้อย่างไร?   เพราะถ้าเรายังดื้อดึงไปจัดการในสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมจัดการของเราแล้ว   สิ่งที่ได้รับคือ  ความเครียด  ความผิดหวัง  ความสิ้นหวัง

ถึงแม้เรารู้เท่าทัน ไม่ถลำตัวเข้าไปไล่ล่าจัดการหรือควบคุมสถานการณ์นั้นๆ   แต่เราไม่ได้จัดการกับตนเองที่ต้องอยู่ท่ามกลางสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่เราไม่สามารถเข้าไปควบคุมแล้ว   สิ่งที่ตามมารังควานคือ  ความสับสนในตนเอง  ไม่รู้ว่าชีวิตจะไปทางไหนดี   หนักกว่านั้นอาจนำไปสู่ความรู้สึกท้อแท้  สิ้นหวัง  หมดกำลัง  แล้วก็หมดไฟในที่สุด

ในสถานการณ์ความจริงที่เกิดขึ้นแก่เราคือ   เมื่อมีเหตุการณ์ที่ประดังประเดเข้ามาในชีวิตของเรา   โดยธรรมชาติเราจะพยายามตอบสนองต่อสถานการณ์หรือเหตุการณ์นั้นๆ ทันที   ตอบสนองตามประสบการณ์เดิมๆ ที่เคยมีเคยได้รับ   ตามสัญชาติญาณ  ความจริงที่เราประสบมาตลอดคือ การตอบสนองสถานการณ์ด้วยกระบวนการแบบนี้มันดูดดึงเอาพลังในชีวิตทั้งด้านร่างกาย  จิตใจ และจิตวิญญาณของเราไปอย่างมาก

ให้พระเจ้าควบคุมสถานการณ์ชีวิต...

ความจริงแท้ก็คือ ผมไม่เคยสามารถเข้าไปควบคุมสถานการณ์ใดเลยในชีวิตนี้   แต่เมื่อใดที่ผมเลือกที่จะเป็น “ผู้ไล่ล่าตอบสนอง” ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น   ผมกำลังแย่ง “สายบังเหียน” การควบคุมสถานการณ์ชีวิตจากพระหัตถ์ของพระเจ้า   สิ่งที่ผมได้รับคือชีวิตพบแต่ความอ่อนเปลี้ยเพลียแรง  และสิ้นแรงหมดไฟในที่สุด

ดังนั้น   ในฐานะคริสตชน ผมคงไม่ยอมตนให้เป็นผู้ไล่ล่าตามติด สนองตอบสถานการณ์ที่เกิดขึ้น   แต่ผมจะต้องเข้าไปสู่การควบคุมสถานการณ์ชีวิตที่เกิดขึ้น   แต่เป็นการควบคุมจัดการชีวิตที่ผม “ยอมมอบสายบังเหียนชีวิต” กลับให้พระเจ้าทรงเป็นผู้ควบคุม   เพราะพระเจ้าคือผู้ควบคุมจัดการตัวจริงในชีวิตของเราแต่ละคนและชุมชน   แต่ในกระบวนการคืนบังเหียนชีวิตให้พระเจ้าทรงควบคุมกำกับนั้น  เราต้องตระหนักชัดว่า ยังมีส่วนที่เราแต่ละคนจะต้องรับผิดชอบบางอย่างในกระบวนการควบคุมกำกับของพระเจ้านั้นด้วย

ผมขอให้กำลังใจว่า  เราควรกำหนดเวลาที่จะใคร่ครวญ เรียนรู้ และมีแผนการการขับเคลื่อนชีวิตและการงานของเรา   ด้วยการตระหนักชัดและยอมมอบการควบคุมสายบังเหียนชีวิตและการงานของตนคืนสู่พระหัตถ์ของพระเจ้า   แล้วมีกำลังที่จะกระทำในส่วนความรับผิดชอบของตนเองในกระบวนการการทำพระราชกิจของพระเจ้า

1. ให้เรายอมรับความจริงต่อพระเจ้าว่า “เราพร่องขาด”  “เราไม่สมบูรณ์”   ในบางครั้งเราดันทุรังขับเคลื่อนชีวิตและการงานของเราไปด้วยการหลีกเลี่ยง การยอมรับรู้ว่า  เรากำลังตกอยู่ในภาวะความกลัว  กลัวว่าเราจะสะดุดล้มลง  เราจะล้มเหลว  เราจะไม่สำเร็จในชีวิต   ทั้งท่านและผมต่างรู้ว่า การที่เราจะออกจากภาวะเช่นนี้ได้  ก้าวแรกสู่การเปลี่ยนแปลงคือ  เราต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่จำเป็นในชีวิตของเรา

2. อธิษฐานต่อพระเจ้า  เพื่อรับการทรงรักษา  เติมเต็ม  และเสริมสร้างเราขึ้นใหม่

3. วางแผนสำหรับสัปดาห์ข้างหน้า โดยให้กำหนดสิ่งที่สำคัญที่สุดไว้เป็นสิ่งแรกที่จะดำเนินการและจัดการ

4. รับประทานอาหารที่เสริมสร้างสุขภาพ   เวลาใดที่ชีวิตของเราตกลงในฐานะผู้ไล่ล่าสนองตอบต่อสถานการณ์แวดล้อม   ชีวิตเรารีบเร่ง รีบร้อน เครียด และสับสน   เราคว้าทุกอย่างที่อยู่ใกล้ตัวที่กินได้ใส่ปากของตนเอง   ซึ่งบ่อยครั้งเป็นอาหารที่ไม่เสริมสร้างสุขภาพของเรา

5. นอนหลับให้เพียงพอ เราสามารถเข้านอนและหลับได้  เราน่าจะได้นอนหลับ 8-10 ชั่วโมง   เพื่อเราจะสามารถกลับไปรับผิดชอบการงานของเราอย่างเต็มตื่นเต็มกำลัง

6. เรียนรู้และกล้าที่จะปฏิเสธ “งานแทรกซ้อน” ในแผนงานสัปดาห์ที่วางไว้แล้ว   ให้เรามุ่งเน้นไปยังงานที่สำคัญที่สุดที่เราวางแผนไว้ให้มุ่งไปสู่เป้าหมายที่เราตั้งไว้แล้วในสัปดาห์นี้   ถ้ายากที่จะปฏิเสธได้  ให้ต่อรองขอเลื่อน  ให้กลับมาปรึกษางานแทรกซ้อนนี้ในสัปดาห์หน้า   เพื่อเราจะมีความชัดเจนที่เป็นจริงสำหรับงานที่แทรกซ้อนเข้ามานั้น

7. ขจัดสิ่งที่ทำให้เราไขว้เขวออกไป   ให้เราขจัดตัดการงานที่ไม่ใช่เป้าหมายในสัปดาห์นี้ออกไปก่อน   เพราะสิ่งนี้ที่จะแย่งเวลาของเราไป   เพื่อเราจะมีเวลามากขึ้นและมากพอที่จะลงมือทำงานที่สำคัญของสัปดาห์นี้   และการทำเช่นนี้ก็จะช่วยให้เรามีเวลาเพิ่มมากขึ้นในตารางงานและชีวิตของเราด้วย

8. อย่าปล่อยให้งานที่ทำค้างเติ่ง   บ่อยครั้ง เราชอบทำอะไร “ตามใจฉัน”  ไม่ต้องการมีรูปแบบมาบังคับกำกับชีวิตเรา   บ่อยครั้งเราอ้างว่า การทำงานของเรามุ่งความสำคัญที่คน   เราไม่ชอบมุ่งการทำงานอย่างมีระบบระเบียบ   แต่เมื่อเรามุ่งทำงานกับคน  บางครั้งเราก็มักจะถูก “งานแทรกซ้อน” ที่ยากจะปฏิเสธได้  

แท้จริงแล้วระบบระเบียบในการทำงานก็เป็นสิ่งสำคัญมากแม้เราบางท่านอาจจะไม่คุ้นชินกันมันเท่าใดนัก   ถ้ามีงานใดในสัปดาห์นี้ที่เราวางแผนไว้แล้วพบว่าท่านไม่สามารถที่จะทุ่มเทกับมันได้   ให้เราเอางานนั้นออกจากแผนงานนั้นก่อน   จนกว่าถึงเวลาที่จะดำเนินการงานนั้นได้   และถ้ามีงานใดที่ทีมงานไม่มั่นใจว่าจะทำได้ในสัปดาห์นี้ให้เอางานนี้ออกไปจากแผนในสัปดาห์นี้เป็นการชั่วคราว  เพราะการที่เรายังให้งานที่ไม่สามารถขับเคลื่อนได้ค้างเติ่งในแผนงานสัปดาห์นี้   มันจะกลายเป็นตัวดูดดึงเอากำลัง ความตั้งใจ และเวลาในการทำงานของทีมไปจากงานที่สำคัญที่สุดของสัปดาห์นี้ได้

9. ยอมให้สิ่งต่างๆ ก้าวช้าลงบ้าง   ให้เราขับเคลื่อนชีวิตและกิจการงานของเราด้วยท่าทีที่สุขุม รอบคอบ สงบ เยือกเย็น   มิใช่เร่งรีบ ร้อนแรง ตามกระแสวัฒนธรรมในปัจจุบันนี้   จงยอมที่จะช้าลงนิด  และเรียนรู้ที่จะมีเวลาที่จะอยู่กับตนเอง  ที่จะอยู่กับพระเจ้า  ให้สบายใจกับการที่เราได้พักผ่อนอย่างมีเป้าหมายในชีวิต   มีเวลาใช้ชีวิตแบบง่ายๆ ธรรมดาๆ มีเวลาที่ชีวิตอยู่ “ในมุมสงบ” แบบของเราเอง

10. อธิษฐาน (อีกครั้งหนึ่ง) ให้ตลอดทั้งวันในชีวิตและการงานแต่ละวันของเราอยู่กับพระเจ้า   ขอพระวิญญาณบริสุทธิ์โปรดเตือนเมื่อเรามุ่งแต่งานมากเกินไป  ทุ่มเทมากเกินไป   ทูลขอให้เรารู้ถึงพระประสงค์ของพระองค์ในชีวิตและการงานของเรา  และโปรดนำทุกอย่างที่เราทำ

โปรดสังเกตว่ากระบวนการนี้เริ่มต้นด้วยการอธิษฐาน และ จบลงด้วยการทูลขอต่อพระเจ้า
ทำไมต้องเป็นเช่นนั้นด้วยหรือ?
ใช่  ต้องเป็นเช่นนั้น   แม้บ่อยครั้งในพฤติกรรมของเราจะไม่ค่อยยอมรับเช่นนั้นก็ตามเถิด
เพราะการกำกับควบคุมเป็นของพระเจ้า  ไม่ใช่ตัวเราเอง  
เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้เยียวยารักษา  ทรงเป็นผู้เหนี่ยวนำ  และทรงเป็นแหล่งพลังแห่งชีวิตของเรา

จากประสบการณ์ของผม  บางครั้งสิ่งที่ไม่คาดฝัน  สิ่งที่ไม่ได้อยู่ในแผน  สิ่งที่เราไม่ปรารถนามันถาโถมจู่โจมเข้ามาในชีวิตของเราในวันนั้นอย่างรุนแรง

ประสบการณ์สอนผมว่า   ในสถานการณ์เช่นนั้นบางครั้งผมเองก็ “ลืมที่จะติดเบรก(ห้ามล้อ)”  ชีวิตของตน   เพื่อที่จะมุ่งมองไปที่พระเจ้าในเวลาเช่นนั้น   แล้วก็ “เสียบปลั๊ก” รับพลังชีวิตจากพระองค์   เพื่อที่จะรู้ว่าทิศทางไหนที่ผมควรจะเดินต่อไป

นี่คือทางลัดที่เราสามารถกลับสู่ภายใต้การกำกับควบคุมด้วยความเมตตาและพระคุณของพระองค์

แต่ให้เราขอบพระคุณพระเจ้า   ด้วยพระคุณและพระเมตตาของพระองค์  แม้ว่าเราจะดื้อดึงหลีกลี้หนีจากพระองค์   พระองค์จะทรงเตรียมที่ที่สำหรับเรา  ทำให้จิตใจและชีวิตของเราสงบ เยือกเย็นลง  และกลับมาติดต่อสัมผัสและสัมพันธ์กับพระองค์    กลับมาอยู่ภายใต้การควบคุมและครอบครองของพระองค์   เพื่อที่เราจะอยู่ในสภาพการณ์ที่สามารถควบคุมและจัดการสถานการณ์วิกฤตินั้นได้อีกครั้งนี้

ดังนั้น
จงมอบชีวิตและเส้นทางที่จะมุ่งไปไว้กับพระเจ้า
ให้การขับเคลื่อนชีวิตและการงานของเราเข้าสู่ระบบระเบียบตามแผนการของพระองค์
ยอมรับพระคุณของพระเจ้าและพระเมตตาของพระองค์ที่ให้เวลาสำหรับเราในการผ่อนพัก
จงอธิษฐาน  ขอบพระคุณ  และติดตามพระองค์
ขอให้สัปดาห์นี้ของเรา เป็นสัปดาห์ที่สงบศานติ  เกิดผล  และเปี่ยมด้วยความมุ่งหมาย
อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499