29 กรกฎาคม 2556

คำพูดที่สร้างเสริมหรือทำลาย

สิ่งที่ผมได้เรียนรู้อย่างมากเมื่อชีวิตต้องออกมาทำงานคือ  ผมควรจะพูดอย่างไร

จะพูดอย่างไร  คนที่ผมพูดด้วย จะเชื่อมั่นว่าผมอยู่เคียงข้างเขา

จะพูดอย่างไร  ให้ผู้ฟังเข้าใจอย่างที่ผมต้องการให้เขาเข้าใจ

จะพูดอย่างไร  ที่ความตั้งใจและเจตนาของผมจะไม่ถูกผู้ฟังเข้าใจผิด

จะพูดอย่างไร  ในเรื่องที่เข้าใจยากลำบากให้ผู้ฟังเข้าใจและยอมรับได้

จะพูดอย่างไร  ที่ผู้ฟังยังฟังสิ่งผมพูด   ที่ผู้ฟังไม่เริ่มคิดค้าน โต้แย้งในจิตใจ  แล้วไม่สนใจฟังเราพูดในเวลาเดียวกัน

จะพูดอย่างไร  ที่เป็นการพูดด้วยสัตย์ซื่อจริงใจ  ตรงไปตรงมา  และการพูดยังเกิดผลทุกอย่างตามทุกประการข้างต้น

การพูดมีความแตกต่างหลากหลาย

ความแตกต่างเหล่านั้นมิใช่สิ่งที่เราจะเห็นชัดเจนด้วยตาเสมอไป

ในการพูดสื่อสารด้วยวิธีการเดียวกันแต่ในงานที่แตกต่างกันอาจสร้างสิ่งแตกต่างตรงกันข้ามกันได้ เช่น
การสื่อสารในงานธุรกิจ
การสื่อสารในการให้การปรึกษา
การสื่อสารในชีวิต

เราคงต้องกลับมาสำรวจตรวจดูว่า  เรามีความอ่อนพร่องในการสื่อสารด้านใด

เราอาจจะเคยมีประสบการณ์ถึงความอ่อนพร่องในการสื่อสารทั้งในการทำธุรกิจ และ ในการเป็นผู้นำ เพราะในการทำธุรกิจและในการเป็นผู้นำเรามิได้มุ่งสื่อสารเพียงให้ทีมงานของเรามีวิสัยทัศน์และพลังขับเคลื่อนร่วมเท่านั้น
แต่เป็นการสื่อสารในวงการทำธุรกิจ การงาน ที่มีความเป็นคนเป็นสำคัญ!

ถึงแม้ว่าปัจจุบันนี้เราจะมีเทคโนโลยีที่สนับสนุนในการสื่อสารตลอดเวลาและในทุกที่   แต่ในที่สุดเทคโนโลยีเหล่านี้ก็ต้องถูกใช้โดยคน
คนที่มีความคิด ความรู้สึก มีจิตมีใจ

ในการสื่อสารของเราในวันนี้กับคนใดคนหนึ่งนั่นเป็นโอกาสที่เรา...อาจจะ...
  • ให้การศึกษาเรียนรู้แก่คน
  • สร้างความเจ็บปวดแก่คนๆ นั้น
  • ลดคุณค่าในคนที่เราพูดด้วย
  • ให้กำลังใจกับคนที่เราสื่อสาร
  • สร้างความสับสนมึนงงแก่คนที่สื่อสารด้วย
  • ให้ข้อมูลแก่ผู้ที่เราสื่อสารด้วย

และรายการนี้ยังมีอีกยาวเหยียดครับ....

ในพระคัมภีร์ที่พูดถึงการใช้ลิ้น  หรือการสื่อสารพูดจาไว้มากมายหลายตอน   แสดงว่าพระคัมภีร์เห็นถึงความสำคัญของการสื่อสาร   ขอยกตัวอย่างบางตอนจากพระคัมภีร์มาดังนี้

17 คนที่​พูด​ความ​จริง​ก็​ให้​การ​อย่าง​ซื่อ​สัตย์
แต่​พยาน​เท็จ​กล่าว​คำ​หลอก​ลวง 

18 คำ​พูด​พล่อยๆ เหมือน​ดาบ​แทง
แต่​ลิ้น​ของ​คน​มี​ปัญ​ญา​นำ​การ​รักษา​มา​ให้   

19 ปาก​ที่​พูด​จริง​ทน​อยู่​ได้​เป็น​นิตย์
แต่​ลิ้น​ที่​พูด​มุสา​อยู่​ได้​เพียง​ประ​เดี๋ยว​เดียว    (สุภาษิต 12:17-19 มตฐ)

4 ลิ้น​ที่​ปลอบ​โยน​เป็น​ต้น​ไม้​แห่ง​ชีวิต
แต่​ลิ้น​ตลบ​ตะแลง​ทำ​ให้​จิต​ใจ​แตก​สลาย  (อ่านสุภาษิต 15:3-5  ข้อ 4 มตฐ)


คำพูดของท่านเสริมสร้างหรือทำลาย

เป็นที่แน่ชัดด้วยว่า สิ่งที่เราพูด หรือ วิธีการที่เราสื่อสารได้สร้างความแตกต่างด้วย  อาจจะเป็นการ “เสริมสร้าง” หรือ เป็นการ “ทำลาย” ก็ได้

เรารู้เรื่องนี้แล้ว  เราได้อ่านจากพระคัมภีร์แล้วใช่ไหม?

เราพบลูกน้องที่เหมือนมีอะไรมาจุกปากจุกคอพูดอะไรไม่ออกเพราะผู้บริหารได้ตัดสินใจย้ายหน้าที่การงานของเขา ไปในส่วนที่เขาไม่มีความสามารถ

เราเห็นสีหน้าและดวงตาของคนทำงานในหน่วยงานนั้นหลังจากที่ผู้บริหารตัดการบริการทุกอย่างเพียงเพื่อเพิ่มตัวเลขรายได้ให้มากขึ้น   เพื่อพิสูจน์ความเป็นนักบริหารของตนเอง(ด้วยตัวเลขทางบัญชี)   แต่กลับทำลายความเป็นคนของคนทำงานและผู้มาใช้(ซื้อ)บริการด้วย

เราทุกคนต่างตกลงในกับดักการใช้คำพูดโดยขาดการเอาใจใส่ต่อผลที่อาจจะเกิดขึ้นกับคนที่เราสื่อสารด้วย   ทั้งนี้เพราะมิใช่คำพูดเท่านั้นที่สร้างการเสริมสร้างหรือทำลาย   แต่เพราะคำพูดที่เราใช้ในการสื่อสารนั้นมันถูกกลั่นและกรองมาจากวิธีคิดของคนๆ นั้น   จึงสร้างผลที่เกิดจากการสื่อสารอย่างมากมาย   และสร้างผลกระทบต่อความคิด  ความรู้สึกของคนที่รับการสื่อสารนั้นด้วย

แล้วเราจะใช้คำพูดสื่อสารของเราที่สร้างความแตกต่างได้อย่างไร?

เราคงต้องฝึกและสร้างความตระหนักถึงความรู้สึกของคนที่เราจะสื่อสารด้วย   ทั้งนี้ให้รวมถึงการสื่อสารด้วยวาจาคำพูด  ท่าทางที่แสดงออก   น้ำเสียงที่ใช้  และเจตนาที่ซ่อนเร้นในการสื่อสารนั้นๆ   เรื่องนี้มิใช่ความรู้  ทักษะ เท่านั้น   แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องของ “ใจ”   และนี่เป็นประสบการณ์ของการสื่อสารที่เสริมสร้างความแตกต่างในชีวิตของเราเองและผู้รับสาร

1) ให้อธิษฐานก่อนทุกครั้งที่จะมีการสื่อสารที่สำคัญ

ให้เราทูลขอให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ประทานสิ่งที่เราควรจะสื่อสาร  และมีวิธีการท่าทีในการสื่อสารที่สื่อด้วยความรักเมตตาแบบพระคริสต์   พระวิญญาณบริสุทธิ์จะนำเรา และ ประทานเนื้อหา  วิธีการที่เหมาะสมในการสื่อสารครั้งนั้น    ที่สำคัญคือพระวิญญาณบริสุทธิ์จะทำงานในจิตใจและจิตวิญญาณของเรา   และในเวลาเดียวกันพระองค์จะทรงทำงานในจิตใจและจิตวิญญาณของผู้ที่เราสื่อสารด้วย   และนี่ย่อมเป็นการที่เสริมสร้างทั้งสองฝ่ายขึ้น

1 แผน​งาน​ความ​คิด​เป็น​ของ​มนุษย์
แต่​คำ​ตอบ​ของ​ลิ้น​มา​จาก​พระ​ยาห์​เวห์ 
2 ทาง​ทุก​สาย​ของ​มนุษย์​ก็บริสุทธิ์​ใน​สาย​ตา​ของ​เขา​เอง
แต่​พระ​ยาห์​เวห์​ทรง​ตรวจ​ดู​จิต​ใจ 
3 จง​มอบ​งาน​ของ​เจ้า​ไว้​กับ​พระ​ยาห์​เวห์
แล้ว​แผน​งาน​ของ​เจ้า​จะ​ได้​รับ​การสถาปนา   (สุภาษิต 16:1-3 มตฐ)

2) ให้ฝึกซ้อมการสื่อสารก่อน

จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องใคร่ครวญถึงผลกระทบทางอารมณ์ ความรู้สึก ที่อาจจะเกิดขึ้นกับบางคนในการสื่อสารครั้งนั้น   จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องพิจารณาว่าเราจะใช้การสื่อสารแบบไหน   เราจะมีทีท่า และ แสดงท่าทางอย่างไร   และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ  การที่เขียนสาระสำคัญของการสื่อสารครั้งนั้นขึ้น   เพื่อความชัดเจน  และพร้อมใช้เมื่อจำเป็นต้องการใช้ในการสื่อสารครั้งนั้น

3) เอาใจเขามาใส่ใจเรา

เราคงต้องถามตนเองก่อนว่า   ถ้าเราเป็นเขาเมื่อได้ยินสิ่งที่เราจะสื่อสารกับเขาจะเกิดความรู้สึกอย่างไรบ้าง?   จะมีวิธีการอะไรบ้างไหมที่สร้างความนิ่มนวล และ สร้างความรู้สึกดีเมื่อได้ยินเรื่องนี้?   เมื่อเขาได้ยินเนื้อหาและวิธีการที่เราสื่อสาร   เขาจะรู้สึกว่าเราใส่ใจชีวิต และ ความรู้สึกของเขาหรือไม่?   เขาจะรู้สึกว่าเรายืนเคียงข้างเขาหรือไม่?   เขาจะรู้สึกว่าเราจริงใจ  ตรงไปตรงมากับเขาหรือไม่?

4) ใส่ใจคนที่เราสื่อสารด้วย

ไม่ว่าสถานการณ์ในการสื่อสารครั้งนั้นจะเป็นอย่างไร  หรือการสื่อสารจะเป็นอย่างไรก็ตาม  ความจริงของความจริงที่เราต้องไม่หลงลืมคือ  คนที่เราสื่อสารด้วยเป็นมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจ  ทั้งเขาและเราต่างต้องการสายสัมพันธ์ที่ดี  ความรู้สึกที่อบอุ่นจากกันและกัน   การเปิดเผยจริงใจ  

การสื่อสารที่ทำแบบทางการ  แบบผู้จัดการ ผู้อำนวยการกับลูกน้อง   จะทำให้คำพูดคำจาของเรามาจาก “หัว”  ยืนอยู่บนตรรกะ  มิใช่คำพูดหรือการสื่อสารที่มาจาก “ใจ”   ไม่ควรละเลยการใส่ใจคู่สนทนาสื่อสาร   แต่ให้เรากระทำต่อคู่สนทนาสื่อสารของเราอย่างเป็นมนุษย์   ที่มีความเชื่อ  มีความรู้สึก   มีแรงบันดาลใจพร้อมที่จะรับการกระตุ้นให้เขามีส่วนร่วมรับผิดชอบ   และเปิดช่องทางการสื่อสารแบบสองทาง

แต่ที่น่าอันตรายคือ   บ่อยครั้งที่ผู้บริหารมักทำการสื่อสารเพื่อเป็นการนำสารที่ตนเองต้องการใส่เข้าใน “หู” และใน “หัว” ของคนที่ตนต้องการสื่อสารด้วย   หรือบางครั้งวิธีการสื่อสารของเราทำเช่นนั้นเพียงเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง  หรือเพื่อไม่ทำให้ตนเองรู้สึกไม่สบายใจเท่านั้น  (สื่อสารเพื่อตนเองเท่านั้น)

ในวันนี้  โปรดตระหนักว่า   เมื่อท่านสื่อสารสนทนากับใครเมื่อใดก็ตาม   พระคริสต์อยู่เคียงข้างทั้งตัวท่านและคู่สนทนาสื่อสาร   พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงพร้อมที่จะช่วยท่านให้สื่อสารที่สร้างสรรค์ที่สอดคล้องตามพระประสงค์ของพระเจ้า

แต่หากเราสื่อสารสนทนาโดยไม่สนใจปรึกษาพระวิญญาณบริสุทธิ์   แล้วการสนทนาสื่อสารครั้งนั้นทำให้คู่สนทนาต้องทุกข์กังวลใจ  เจ็บปวดในชีวิต   ก็เหมือท่านได้ทำให้พระคริสต์ที่เคียงข้างคู่สนทนาสื่อสารต้องเจ็บปวดเพราะการพูดการสื่อสารของท่านด้วย

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

26 กรกฎาคม 2556

สิบลักษณะศิษยาภิบาลที่ปนเปื้อน?

เมื่อไม่นานมานี้   ผมมีโอกาสสนทนาพูดคุยกับเพื่อนๆ น้องๆ ที่ทำงานเป็นศิษยาภิบาล   เพื่อนศิษยาภิบาลท่านหนึ่งท้าทายผมขึ้นว่า   เท่าที่เดินทางพบปะกับผู้คนทั้งในคริสตจักรและในชุมชน   ขอช่วยประมวลสรุปออกมาได้ไหมว่า   ผู้นำผู้อภิบาลที่พบมาถ้าจะแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ   พอจะแบ่งออกเป็นกี่ประเภทอะไรบ้าง?   ผมน้อมรับคำท้าทายนั้นด้วยความสนใจ   พอดีได้ไปอ่านบทความของ David Murray  อาจารย์สอนพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมในพระคริสต์ธรรม Puritan Reformed Theological Seminary  ดูน่าสนใจ  เลยนำมาเรียบเรียงเขียนใหม่แบ่งปันกันอ่านเล่นๆ ไปพลางๆ ก่อนนะครับ

ศบ. เฉยเมย

ท่านเป็นศิษยาภิบาลและผู้นำไม่ขยับเขยื่อนก้าวไปไหนเลย   ถ้าเป็นตัวสนุ้กมีแต่รอให้ผู้เล่นแทงลูกอื่นให้มากระทบตน หรือ แทงตนให้ไปกระทบคนอื่น   ถ้าสถานการณ์ในคริสตจักรราบเรียบไร้คลื่นลมเป็นสิ่งที่ท่านศิษยาภิบาลประเภทนี้ปรารถนามากที่สุด   และถ้าเขาสามารถรักษาสถานภาพจำนวนสมาชิกในคริสตจักรให้ลดน้อยลงช้าที่สุดเป็นสิ่งที่เขาต้องการอย่างมาก

ศบ. เผด็จการ

ถ้า ศบ.เฉยเมยเป็นเหมือนลูกสนุ้ก   ศบ. เผด็จการก็เป็นไม้คิวสนุ้ก   เขาเป็นศิษยาภิบาลที่ไม่หลบหลีกความยากลำบากที่มีรอบตัวเขา   เขาผลักคนอื่นให้ออกไปจากเส้นทางของตนเอง   และผลักดันแผนงานของตนเองออกไปอย่างรุกรานก้าวร้าวโดยไม่คิดกังวลหรือห่วงว่ามันจะกระทบต่อคนอื่นอย่างไร   บางครั้งเขาผลักดันแผนงานของเขาอย่างหนักยอมแม้กระทั่งจะจัดการทุกรูปแบบเพื่อให้เป็นไปตามแผนงานที่ตนวางไว้

ศบ. วิกฤติ

ศิษยาภิบาลประเภทนี้มิใช่ ศบ.แบบเฉยเมย หรือ เผด็จการก้าวร้าว   เขาเป็นศิษยาภิบาลที่ไม่หลีกลี้หนีความยากลำบากอย่างกับศิษยาภิบาลเฉยเมย   แต่ก็ไม่ใช่ศิษยาภิบาลที่สร้างความยากลำบากแก่ผู้อื่นอย่างศิษยาภิบาลเผด็จการ   เขายอมรับความยากลำบากเมื่อมันเกิดขึ้น   แต่เวลาที่ไม่มีความทุกข์ยากลำบากเขาก็เป็นศิษยาภิบาลที่สบายๆ   แต่ถ้าความยากลำบากเกิดขึ้นเมื่อใดเขาก็สู้ไม่ถอย   โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานจะขับเคลื่อนเมื่อยามวิกฤติ และ เมื่อทุกคนมุ่งมองสนใจมาที่เขาเมื่อมีวิกฤติ   เขาเป็นผู้นำที่จะนำผู้คน “ให้ข้ามทะเลแดง”  แต่เขาเป็นผู้นำที่ไม่ค่อยสันทัดกับการนำผู้คนในถิ่นทุรกันดารสักเท่าใดนัก

ศบ. ไม่แน่ไม่นอน

บางครั้งเขาเป็นศิยาภิบาลที่กวาดลูกสนุ้กจนหมดโต๊ะ   แต่บางครั้งเขาไม่สามารถที่จะกระแทกลูกสนุ้กลงหลุมได้แม้แต่ลูกเดียว   สมาชิกไม่สามารถคาดเดาได้ว่าอาทิตย์นี้ท่านศิษยาภิบาลจะจัดการอย่างไร   เขาเป็นศิษยาภิบาลแบบขึ้นๆ ลงๆ   บางครั้งคำเทศน์ของเขาทะยานสูงสุดยอด   แต่บางครั้งเป็นคนเทศน์ที่จมดิ่งยิ่งกว่าน่าเบื่อหน่าย   วันนี้อาจจะมีความสุขและเป็นคนที่เสริมสร้างกำลังใจแก่คนอื่น   มาอีกวันหนึ่งกลับกลายเป็นศิษยาภิบาลที่แย่เลวร้าย  ตกต่ำ ห่อเหี่ยว  แย่อะไรปานนั้น!

ศบ. กลัวลาน

ใครๆ ก็มีความกลัวกันทั้งนั้น   แต่ศิษยาภิบาลแบบนี้ชีวิตของเขาถูกครอบงำด้วยความกลัว  กลัวจนเห็นได้ชัด   ไม่สามารถที่จะเอาชนะความกลัวได้เลย   การตัดสินใจแต่ละครั้งก็เป็นการตัดสินใจบนพื้นฐานความกลัว   สมาชิกรู้ถึงความกลัวของศิษยาภิบาลของเขา   โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคำเทศนาของศิษยาภิบาล   สมาชิกส่วนใหญ่เริ่มไม่ติดตามและทำตามศิษยาภิบาล   แต่มีสมาชิกบางคนที่สบโอกาสเริ่มใช้การสร้างความกลัวแก่ตัว ศิษยาภิบาลเพื่อสร้างประโยชน์แก่ตนหรือใช้ความกลัวกระตุ้นศิษยาภิบาลให้ทำในสิ่งที่ตนคาดหวัง

ศบ. มองร้าย

เมื่อสมาชิกคิดถึงศิษยาภิบาลประเภทนี้   ทันทีภาพของศิษยาภิบาลก็ผุดขึ้นในสมองในจินตนาการของเรา   เป็นภาพของคนที่หน้ามุ่ย เศร้า ซึม  สิ้นหวัง และท่าทางเก็บกด ดูเครียด เป็นเหมือนคนที่ถูกคลุมด้วยเมฆดำหนาทึบ  หรือตัวเนื้อเปียกปอนด้วยเหงื่อเมื่อเขาต้องทำอะไรในชีวิต   เขาจะตั้งข้อสงสัยการเติบโตของคริสตจักรอื่นๆ   อีกทั้งมองว่า คริสตชนที่มีความชื่นชมยินดีเป็นคริสตชนที่ตื้นเขิน   ความคิดความเชื่อที่ครอบงำเขาเป็นเรื่องความบาปและการพิพากษาจะเป็นเช่นนี้ไปจนถึงวันตายของเขา

ศบ. คุยโตโอ้อวด

ศิษยาภิบาลประเภทนี้เก่งในการทำให้เพื่อศิษยาภิบาลคนอื่นรู้สึกแย่กว่าตน  และดูจะชื่นชอบในการกระทำเช่นนั้น(หลายครั้งโดยไม่รู้ตัว)   บ่อยครั้งทำตัวเป็นนักรายงานข่าวกับคนที่เขาพบเจอพูดคุย (เพื่อแสดงว่าเขาเป็นผู้รู้)  เขาเป็นคนที่ชำนาญเกี่ยวกับเรื่องตัวเลข  และมักจะมีตัวเลขของผู้ที่เข้ามาร่วมนมัสการครั้งล่าสุด   ตัวเลขชั้นเรียน  ผู้คนที่มาเรียนในชั้นรวีฯ   ตัวเลขผู้รับบัพติสมาใหม่  จำนวนครั้งที่ตนได้รับเชิญไปร่วมประชุมสัมนา   จำนวนครั้ง/จำนวนคนของกิจกรรมที่ตนไปร่วมมา(ไม่รู้เกี่ยวกับชีวิตคริสตจักรหรือไม่ก็นำมารายงาน)   เมื่อมีคนมาเยี่ยมคริสตจักรของศิษยาภิบาลประเภทนี้จะรู้สึกว่าชีวิตจริงของคริสตจักรไม่เป็นไปตามราคาคุยของศิษยาภิบาล   แต่สภาพความเป็นจริงมันฟ้องว่าศิษยาภิบาลโม้มากไปหน่อยหรือเปล่าเนี่ย!

ศบ. มาดวิชาการ

ศิษยาภิบาลประเภทที่ขยันอ่าน   เขาสามารถอ้างอิงคำพูดสำคัญๆ จากคนในยุคต่างๆ ของคริสตจักร   ขนาดที่ผู้ฟังรู้สึกว่า เขาน่าจะรู้จักคนสำคัญเหล่านั้นในประวัติศาสตร์คริสจักรเป็นการส่วนตัว   เขาเรียกตนเองว่าเป็น “ศิษยาภิบาลนักวิชาการ”   ศิษยาภิบาลประเภทนี้มักเข้าใจว่า  การเลี้ยงดูลูกแกะที่ดีที่สุดคือการเตรียมเทศนาที่ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 40 ชั่วโมงต่อหนึ่งกัณฑ์เทศน์  ลูกแกะคริสตจักรแห่งนี้น่าจะโชคดีเหลือเกิน?

ศบ. สังคมสัมพันธ์

ศิษยาภิบาลประเภทนี้มีความสัมพันธ์กับสังคมเป็นอย่างดี   เขาเข้าสังคมได้อย่างดีเยี่ยม  และมีกิจกรรมมากมายที่ทำในสังคมชุมชนในแต่ละสัปดาห์   เป็นศิษยาภิบาลที่ชอบออกไปเยี่ยมคนโน้นไปพบคนนี้ใช้วันละหลายๆ ชั่วโมงในการพบปะกับผู้คนในสังคม   เขาชอบรับแขกที่แม้จะมิได้นัดหมายก็ตาม   ชอบคนโทรศัพท์มาพูดคุยด้วย   ศิษยาภิบาลประเภทนี้จะอ้างว่าการพบปะสัมพันธ์ผู้คนสำคัญกว่าการอ่านหนังสือและการค้นคว้าพระวจนะของพระเจ้า   ไม่ต้องไปพูดถึงการค้นคว้าขุดรากศัพท์ภาษากรีก-ฮีบรู   เขาเห็นว่าเสียเวลาอย่างไม่คุ้มค่า   เขาเป็นคนที่รักสังคมชุมชนมาก   แต่คนที่มานั่งฟังเขาเช้าวันอาทิตย์ดูลดน้อยถอดลงเป็นลำดับ

ศบ. นักบริหารจัดการ

ศิษยาภิบาลประเภทนี้ชอบงานเอกสาร  อีเมล์  รายงาน  กรรมการ  กฎระเบียบคริสตจักร  โครงสร้างคริสตจักร  ระเบียบปฏิบัติ   สิ่งเหล่านี้เป็นที่ชื่นชอบของศิษยาภิบาลประเภทนี้   ถ้าให้เลือกระหว่างการทำพันธกิจคริสตจักร กับ การบริหารจัดการคริสตจักร   ประการหลังนี้ดูเป็นเรื่องสำคัญและรีบด่วนกว่า   หมายความว่าเรื่องคนเรื่องสมาชิกเป็นเรื่องที่รอกันได้   แต่รายงานนี้ต้องส่งอาทิตย์หน้า   ดูเหมือนรายงาน  และเอกสารเป็นเรื่องที่บีบรัดมากกว่าการเตรียมเทศนาและการเยี่ยมเยียน   ความเร่งรีบสำคัญและจำเป็นที่จะต้องจัดการมีผลกระทบให้การเตรียมการเทศนาและการเยี่ยมเยียนดูสำคัญน้อยกว่างานการบริหารจัดการในสำนักงานคริสตจักร

ผมเชื่อแน่ว่า  ท่านคงเคยพบศิษยาภิบาลทุกประเภทมาแล้วทั้งสิ้น  เพียงบางประเภทน้อยบ้าง บางประเภทมากบ้างแล้วแต่โอกาส  แล้วแต่ศิษยาภิบาลแต่ละท่าน  และผมเชื่อแน่ว่า จากประสบการณ์ของท่านยังสามารถที่จะเขียนเพิ่มประเภทศิษยาภิบาลต่อท้ายนี้ได้อีก  เช่น  ศบ. นักการเมือง,   ศบ. จัดทำโครงการ,   ศบ. นักสังคมสงเคราะห์ และ ฯลฯ

ในฐานะที่ผมเคยทำงานด้านการอภิบาลมาบ้างเล็กน้อย  เมื่อใคร่ครวญถึงเรื่องนี้แล้วผมกลับพบว่า  ในตัวผมเคยมีศิษยาภิบาลทุกประเภท   มากบ้างน้อยบ้างคละเคล้ากันไป   และบางครั้งเป็นศิษาภิบาลทุกประเภทในวันเดียวกัน


เมื่อสิ้นสุดในแต่ละวัน  ให้เรานำบุคลิกลักษณะศิษยาภิบาลที่ปนเปื้อนด้วยความบาปทั้งหลายมาวางไว้ต่อหน้ากางเขนของพระคริสต์อีกครั้งหนึ่ง   เพื่อทูลขอรับการให้อภัยจากพระองค์ และรับการทรงเสริมสร้างใหม่จากพระองค์ด้วย    มุ่งมองไปที่พระคริสต์ผู้ยอมสละชีวิตเพื่อเรา  เพื่อความบาปผิดของบรรดาศิษยาภิบาลคริสตชนทั้งหลาย   ยิ่งเรามีโอกาสอภิบาลชีวิตและเทศนาแก่ผู้คนมากแค่ไหน   เรายิ่งสำนึกถึงคุณค่าที่พระองค์ทรงกอบกู้ไถ่ถอนชีวิตของเราผู้เป็นศิษยาภิบาลออกมาจากอำนาจแห่งความบาปชั่วมากแค่นั้น

เพียงขอให้เรามั่นใจว่า  เรากำลังติดตามใครกันแน่   ขอให้เราพิเคราะห์ไตร่ตรองอย่างถ้วนถี่ว่า  เรากำลังติดตามพระคริสต์มากกว่าการติดตามสิ่งอื่นใดหรือใครคนใดคนหนึ่งใช่ไหม?   เพราะพระองค์ทรงสัญญาว่า   ให้เราติดตามพระองค์  แล้วพระองค์จะทรงทำให้เราเป็นคนที่นำคนอื่นมาหาพระองค์   ดั่งชาวประมงได้นำปลาจากทะเล (มัทธิว 4:19)

แล้วผมก็นั่งถามตัวเองหน้าแป้นคอมพิวเตอร์ว่า   แล้วศิษยาภิบาลที่สอดคล้องตามพระประสงค์ของพระเจ้าและตอบโจทย์บริบทชีวิตสมาชิกในคริสตจักร และสังคมไทยนั้นเป็นอย่างไรบ้างหนอ?

ท่านผู้อ่านช่วยกรุณาระดมความคิดเห็นด้วยนะครับ!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

24 กรกฎาคม 2556

ไม่มีของประทานที่เล็กน้อยเกินไป

ของประทานในแต่ละตัวคนมีคุณค่า   เพราะของประทานมาพร้อมกับพระประสงค์ของพระเจ้า

เมื่อเปรียบกับคนอื่น

สมัยที่ผมเรียนอยู่ในวิทยาลัยพระคริสต์ธรรม  ผมใฝ่ฝันที่อยากเป็นนักไวโอลินกับเขาบ้าง   จึงตัดสินใจขอเครื่องไวโอลินจากพี่ชายแล้วไปเรียนเล่นไวโอลินจากอาจารย์ฝรั่งท่านหนึ่งที่มีความชำนาญในด้านไวโอลิน   มีลูกศิษย์ลูกหาจากที่ต่างๆ หลายคน   ทั้งอายุมากกว่าผมและเด็กกว่าผมเกือบสิบปี   ในแต่ละครั้งเมื่อผมไปเรียนบทเรียนไวโอลิน   ผมต้องเล่นบทเพลงบทที่ผู้สอนสั่งให้ไปฝึกซ้อมมา   ดูท่าทางผู้สอนพอใจในสิ่งที่ผมทำได้   แล้วอธิบายบทเรียนแบบฝึกหัดไวโอลินเพลงใหม่   เพื่อผมจะฝึกซ้อมในอาทิตย์ต่อไป   เมื่อผมเก็บข้าวของเรียบร้อยเพื่อนักเรียนคนใหม่จะเข้ามาเรียนต่อจากผม    เด็กนักเรียนชายอายุ 9 ขวบเข้ามาเรียนต่อ   ผมขออนุญาตนั่งฟังเขาเล่นเพลงที่ฝึกซ้อมตามที่ครูสั่ง    ผมทึ่งในความสามารถของเด็กคนนี้   อายุเพียงเก้าขวบเล่นเพลงของนักตนตรีที่มีชื่อเสียง   เอาอย่างงี้ก็แล้วกันครับ   เล่นเก่งกว่าผมเกินกว่าร้อยเท่าเอาเลยทีเดียว   ผมคิดในใจว่า ของประทานความสามารถเล่นไวโอลินของผมมันเล็กน้อยเกินไป   ยากที่ผมจะเป็นนักไวโอลินแน่

ภาพและความรู้สึกจากการเปรียบเทียบตนเองกับเด็กคนนั้น   ท่านเชื่อไหมครับในที่สุดผมเลิกไปเรียนไวโอลิน   ความรู้สึกต้องการเป็นนักไวโอลินของผมอันตรธานไปไหนเมื่อไหร่ไม่รู้   ใช่ครับ  จนถึงทุกวันนี้ผมยังเล่นไวโอลินไม่เป็นครับ

เต็มใจที่จะฝึกหัดพัฒนา

ของประทาน หรือ ที่คนทั้งหลายเรียกว่าศักยภาพ   ซึ่งเป็นสิ่งที่แต่ละคนได้รับติดตัวมาแต่เกิด   บางครั้งบางคนเรียกว่าพรสวรรค์   พรจากพระเจ้า   ซึ่งเป็นของประทานจากพระเจ้า    ที่พระเจ้าบรรจงสอดใส่ลงในชีวิตของแต่ละคน   หลังจากนั้นคนๆ นั้นจะต้องค้นหาให้พบว่า   ตนเองมีพรจากพระเจ้า หรือ ของประทานจากพระเจ้าอะไรบ้าง   แล้วเอาศักยภาพ  หรือของประทานดังกล่าวมาฝึกฝนพัฒนาให้เป็นความสามารถ  สู่ความชำนาญ   และกลายเป็นอัจฉริยะในด้านนั้นๆ ต่อไป 

สมัยที่ผมมีโอกาสลงไปทำงานในชุมชนซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการเป็นศิษยาภิบาลในคริสตจักรชนบท   ผมได้พบกับเพื่อนต่างชาติที่ทำงานด้านการวิจัยชีวิตชุมชนและมุ่งเน้นการสร้างเสริมกระบวนการเรียนรู้ในหมู่ประชาชนคนสามัญชนคนธรรมดาทั้งหลาย   และกระบวนการเรียนรู้ที่กล่าวนี้ใช้กระบวนการการกระตุ้นคิดและค้นหาด้วยการตั้งคำถามและการวิเคราะห์ประสบการณ์ตรงจากการลงมือทำของคนๆ นั้น

ผมไม่คิดว่าตนเองจะทำสิ่งนี้ได้   ประการแรกผมไม่ได้เรียนเรื่องอย่างนี้ในวิทยาลัยพระคริสต์ธรรม   ประการต่อมางานในคริสตจักรไม่เคยเห็นคนเขาใช้กระบวนการเรียนรู้ดังกล่าว   ส่วนมากเป็นการเทศน์การสอนทั้งสิ้น   ประการสุดท้ายมักคิดว่าตนเองเป็นเด็กที่เติบโตในเมือง   ในคริสตจักรจีน   ไม่น่าจะมีความสามารถในเรื่องประเภทนี้   และไม่คิดว่าตนจะทำได้   มีอยู่สิ่งหนึ่งในเรื่องนี้ที่มีในตัวผมเวลานั้นคือ   ผมรู้สึกสนุก  ตื่นเต้นกับการค้นพบสิ่งใหม่   กล้าและเต็มที่ที่จะลองทำลองฝึกหัด   แล้วก็พบว่าตนเองทำได้   และทำได้ดีขึ้น

การมีพี่เลี้ยงที่กระตุ้นหนุนเสริมให้แสวงหา  ฝึกฝน  พัฒนา  และที่สำคัญให้กำลังใจ   จนผมเองเริ่มเห็นคุณค่าในของประทานในศักยภาพดังกล่าวจึงทุ่มเทฝึกฝนพัฒนาจนเป็นความสามารถ  ความชำนาญ   ที่ตนชอบ  สนุกกับมัน   และภาคภูมิใจ   กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน   จนสามารถเชื่อมโยงของประทานนี้กับพระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตผม   เป็นสิ่งที่ผมเห็นว่าทำแล้วเป็นการถวายเกียรติแด่พระเจ้า   และนี่คือคุณค่าที่ผมพบ

ในความอ่อนด้อยแต่มีของประทานพิเศษ

พระเจ้าไม่มีพระประสงค์ให้เอาของประทานในตนเองไปเปรียบเทียบกับของประทานที่มีในคนอื่น    แต่พระองค์ต้องการให้เราใช้ของประทานที่เราแต่ละคนได้รับด้วยความรับผิดชอบอย่างสัตย์ซื่อ   ไม่ว่าของประทานนั้นจะใหญ่โตหรือเล็กน้อยปานใดก็ตาม (ลูกา 16:10;  มัทธิว 25:14-29;  1โครินธ์ 4:2)   เปาโลได้กล่าวถึงของประทานที่ได้รับในแต่ละคนว่า   เราไม่กล้าจัดชั้นหรือเปรียบเทียบ(ของประทานใน)ตัวเรากับคนที่ยกย่องตนเอง   เมื่อพวกเขาเอาตนเองเป็นเครื่องวัดและเปรียบเทียบกันเอง   พวกเขาก็ไม่ฉลาด”  (2โครินธ์ 10:12 อมตธรรม)  

เป็นการเขลาที่นำของประทานในแต่ละตัวคนมาเปรียบเทียบกันว่าของใครดีเด่นกว่า   เพราะเราต้องรู้เท่าทันในเรื่องนี้ว่า  คริสตชนสองคนต่างก็ได้รับของประทานที่แตกต่างกัน   หรือแม้จะมีประเภทของประทานเดียวกันแต่ลักษณะความละเอียดอ่อนในแต่ละด้านก็ไม่เหมือนกันด้วย   สมัยที่ผมเรียนในวิทยาลัยพระคริสต์ธรรม   มีนักศึกษารุ่นพี่ของผมคนหนึ่งเขาร้องเพลงเดี่ยวได้ไพเราะมาก   ผมแสดงความชื่นชมในความสามารถของเขา   ผมต้องแปลกใจเมื่อเขาบอกผมว่า   “น้องชายนายไม่รู้หรอกว่าหูพี่มีปัญหาเรื่องการแยกแยะระดับเสียงดนตรีแตกต่างจากคนอื่น   พี่ร้องเพลงเดี่ยวได้   พี่นำคณะนักร้องได้   แต่พี่หมดสิทธิที่จะร้องเพลงในคณะนักร้อง   เพราะจะพาลให้คณะนักร้องเกิดเสียงเพี้ยนล่มลงได้”    จะเป็นการไม่ฉลาดอย่างยิ่งที่จะเอาของประทานด้านดนตรีของพี่คนนี้ไปเปรียบเทียบกับความสามารถด้านดนตรีของนักศึกษาคนอื่นในวิทยาลัย

นักศึกษารุ่นพี่คนนี้ของผมมีความอ่อนด้อยในความสามารถการแยก ระดับเสียงดนตรี   แต่ถ้าพี่คนนี้ร้องเพลงเดี่ยวในคริสตจักรจะสร้างความอัศจรรย์ใจและความชื่นชมแก่ผู้เข้าร่วมนมัสการพระเจ้า   และถ้าเขาเดี่ยวไวโอลินครั้งใด   ที่นมัสการทั้งหมดเงียบกริบ   ว่ากันว่าแม้เข็มสักเล่มหนึ่งหล่นตกพื้นก็จะได้ยินเสียง   ในมุมมองหนึ่งดูเหมือนว่าของประทานของพี่เขาจะมีปัญหา  มีข้ออ่อนด้อย    แต่กลับเป็นของประทานที่ถูกพัฒนาขึ้นในตัวเขากลายเป็นความสามารถเฉพาะตัวที่เขากระทำได้อย่างมีคุณค่า   ที่เขาสามารถใช้กระทำในชีวิตเพื่อเป็นการถวายเกียรติแด่พระเจ้า   และนำความสุขมาสู่ผู้คนในคริสตจักร

ในแผนการใหญ่ของพระเจ้า

บางครั้งเราแต่ละคนอาจจะมีความรู้สึกว่าของประทาน  พรจากพระเจ้า  ความสามารถที่เราได้รับเป็นเพียงของประทานที่เล็กน้อย   แต่เราต้องตระหนักเสมอว่า   พระเจ้าใส่ของประทานพระพรของพระองค์ลงในชีวิตของเราแต่ละคนที่อาจจะดูว่าเล็กน้อย   แต่ของประทานชิ้นเล็กชิ้นน้อยเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในแผนการใหญ่ของพระเจ้าที่จะให้ผู้คนใช้ของประทานประสานเกาะเกี่ยวกันให้เกิดผลที่ยิ่งใหญ่และสำคัญ   พระเจ้าเท่านั้นที่ทรงรู้ว่าผลที่จะเกิดขึ้นในเป้าหมายปลายทางทั้งสิ้นนี้คืออะไร

เมื่อเราไม่สามารถรู้ถึงผลที่จะเกิดขึ้นที่เป้าหายปลายทางคืออะไร   เราเป็นใครที่จะตัดสินตีตราว่า   ของประทานในตัวเรา หรือ ในตัวคนอื่นว่าเป็นความสามารถที่เล็กน้อยไม่สูงค่า?   พระวิญญาณของพระเจ้าจะทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ในการใช้ของประทานเหล่านั้นในแต่ละตัวคนให้มีส่วนในการเสริมสร้างตามแผนงานใหญ่ของพระองค์ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมด้วยการหนุนเสริมเชื่อมสัมพันธ์กันและกัน

ผู้เผยพระวจนะได้กล่าวเตือนประชาชนอิสราเอลว่าไม่ควรดูหมิ่นดูแคลน “สิ่งเล็กน้อย” เกี่ยวกับการซ่อมสร้างพระวิหารขึ้นใหม่โดยเศรุบบาเบล   ประชาชนมองว่าพระวิหารที่ซ่อมสร้างขึ้นใหม่นั้นมีขนาดเล็กและไม่งดงามตระการตาเท่าพระวิหารที่สร้างในสมัยโซโลมอน  ผู้เผยพระวจนะเศคาริยาห์ย้ำว่า   สิ่งที่ยิ่งใหญ่และงดงามมิได้หมายความว่าเป็นสิ่งดีกว่าเสมอไป   สิ่งที่เรากระทำเพื่อพระเจ้าอาจจะดูเล็กน้อยและไม่สำคัญในขณะนี้   แต่พระองค์กลับชื่นชมในสิ่งที่กระทำถูกต้อง   จงสัตย์ซื่อในสิ่งที่เรากระทำแม้จะเป็นสิ่งเล็กสิ่งน้อยแค่ไหนก็ตาม   ให้เราเริ่มต้นจากจุดที่เราทำได้ส่วนผลทั้งหมดพระเจ้าจะทรงรับผิดชอบ   เศคาริยาห์กล่าวว่า  “เศรุบบาเบลได้ลงมือวางรากของพระวิหารจนสำเร็จ   แล้วเจ้าจะรู้ว่า พระเยโฮวาห์ผู้ทรงฤทธิ์ได้ทรงส่งเรามาหาพวกเจ้า   ใครบังอาจดูถูกสิ่งเล็กน้อยที่เกิดขึ้นในวันนี้   เพราะพระเนตรทั้งเจ็ดขององค์พระผู้เป็นเจ้าซึ่งมองไปทั่วพิภพจะชื่นชมยินดีเมื่อเห็นศิลามุมเอกที่คัดสรรอยู่ในมือเศรุบบาเบล” (เศคาริยาห์ 4:9-10 อมตธรรม)

ให้เรามีจิตใจที่ขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับของประทานที่พระองค์ประทานแก่เราด้วยพระกรุณาสำหรับคริสตจักรต่างๆ  และคนแต่ละคนในคริสตจักร   แต่จงไว้วางใจในแผนการใหญ่ของพระเจ้า   เมื่อถึงวันที่พระเจ้าทรงเปิดเผยสำแดงแผนการใหญ่ทั้งหมดของพระองค์   เราต่างต้องอัศจรรย์ใจถึงของประทานเล็กน้อยในแต่ละตัวคนของเราเมื่อเชื่อมโยงเข้าในแผนงานใหญ่ของพระองค์แล้วเกิดสิ่งที่เกินความคาดเดาของเราได้    เพราะแม้จะเป็นของประทานเล็กน้อยพระองค์ทรงกระทำให้เกิดคุณค่าอย่างสูงในสายพระเนตรของพระองค์

เปาโลกล่าวว่า  “แต่​พระ​เจ้า​ทรง​ตั้ง​อวัยวะ​แต่​ละ​อวัยวะ​ไว้​ใน​ร่าง​กาย​ตาม​ชอบ​พระ​ทัย​ของ​พระ​องค์” (1โค-รินธ์ 12:18 มตฐ)  “ความ​จริง​มี​อวัยวะ​หลาย​อย่าง แต่​ก็​ยัง​เป็น​ร่าง​กาย​เดียว​กัน...แต่​หลายๆ อวัยวะ​ของ​ร่าง​กาย​ที่​เรา​คิด​ว่า​อ่อน​แอ​กว่า ก็​ยัง​เป็น​สิ่ง​จำ​เป็น...อวัยวะ​ของ​ร่าง​กาย​ที่​เรา​คิด​ว่า​ไร้​เกียรติ เรา​ก็​ยัง​ทำ​ให้​มี​เกียรติ​ยิ่ง​ขึ้น... ส่วน​ท่าน​ทั้ง​หลาย​เป็น​กาย​ของ​พระ​คริสต์ และ​แต่​ละ​อวัยวะ​ก็​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​กาย​นั้น ... ” (ข้อ 20,  22-23, 27ความรับผิดชอบของเราคือ  การพัฒนาและใช้ของประทานที่มีในตัวเราอย่างสัตย์ซื่อต่อพระเจ้า...ไม่ว่าของประทานนั้นจะเล็กหรือใหญ่   จะสำคัญปานใดก็ตาม


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

23 กรกฎาคม 2556

รากฐานในการรอคอยพระเจ้า

การรอคอยเวลาของพระเจ้า มิใช่ช่วงเวลาที่เราจะอยู่เฉยๆ และก็ไม่ใช่เวลาที่ยืดยาดเกียจคร้านไม่อยากทำอะไร   และก็ไม่ใช่เราไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไรเลยปล่อยให้พระเจ้าว่าไปก็แล้วกัน 

แต่การรอคอยเวลาของพระเจ้า   เป็นเวลาของการมีวินัยชีวิต และ การอุทิศชีวิตแด่พระองค์!  สิ่งจำเป็นพื้นฐานบางประการสำหรับการรอคอยเวลาของพระเจ้า  มีดังนี้  

ความเชื่อศรัทธา

เราต้องตระหนักชัดว่า  แผนการและเวลาของพระเจ้านั้นแตกต่างจากความคิดและตารางเวลาแห่งใจปรารถนาของเรา   8เพราะ​ความ​คิด​ของ​เรา​ไม่​เป็น​ความ​คิด​ของ​เจ้า  ทั้ง​ทาง​ของ​เจ้า​ไม่​เป็น​วิถี​ของ​เรา​พระ​เจ้า​ตรัส​ดังนี้  9เพราะ​ฟ้า​สวรรค์​สูง​กว่า​แผ่นดิน​โลก​ฉัน​ใด    วิถี​ของ​เรา​สูง​กว่า​ทาง​ของ​เจ้า   และ​ความ​คิด​ของ​เรา​ก็​สูง​กว่า​ความ​คิด​ของ​เจ้า​ฉัน​นั้น...” (อิสยาห์ 55:8-9 มตฐ)  

จากจุดยืนและมุมมองตามความเป็นมนุษย์   เราจะพบว่าความคิด แผนการ ของพระเจ้านั้นแปลกแตกต่างจากที่เราคิดที่เราวางแผนและต่างจากความคาดหวังของเรา   แต่ถ้าเรามีความไว้วางใจในพระเจ้าตามพระประสงค์  ตามแผนการของพระองค์   มุมมองในชีวิตของเราจะเริ่มเปิดกว้าง   ความคิดของเราเริ่มน้อมรับ   และในที่สุดเราก็จะพบความจริงว่า   แท้จริงแล้วพระประสงค์  ความคิด  แผนการ  และกำหนดเวลาของพระองค์นั้นรอบคอบ  “เหตุ​ฉะนี้​ท่าน​ทั้ง​หลาย​จง​เป็น​คน​ดี​รอบคอบ เหมือน​อย่าง​พระ​บิดา​ของ​ท่าน ผู้​ทรง​สถิต​ใน​สวรรค์​เป็น​ผู้ดี​รอบคอบ” (มัทธิว 5:48)  

ดังนั้น  การที่ใครจะรอคอยเวลาของพระเจ้าได้หรือไม่ย่อมขึ้นอยู่กับวินัยความเชื่อศรัทธาในชีวิตของคนๆ นั้น   ถ้าเราดำเนินชีวิตคริสตชนในแต่ละวันโดยมีพระเจ้าทรงนำเป็นเอกเป็นใหญ่ในชีวิต   ชีวิตประจำวันของเราก็จะกลมกลืนไปกับพระประสงค์และแผนงานของพระเจ้า   เมื่อนั้น  เราก็จะเห็นชัดเจนว่า  “เวลาของพระเจ้า” นั้น “ใช่เลย”  “เหมาะสม”

ความถ่อม

การรอคอยพระเจ้าและเวลาของพระองค์นั้น   ขึ้นอยู่บนพื้นฐานของการที่เราแต่ละคนยอมรับความจริงว่า   เราต้องการและเราต้องพึ่งพระองค์   การที่เราจะยอมรับความสำคัญ สูงส่งของพระเจ้าในชีวิตของเรานั้นจำเป็นที่เราจะต้องถ่อมใจ

การที่เรายอมถ่อมใจเป็นการที่เรายอมเข้าสู่กระบวนการที่พระเจ้าทรงหล่อหลอมเสริมสร้างวินัยชีวิตของเราให้เป็นผู้ที่เชื่อฟังตามแนวทางและแผนการของพระองค์ในชีวิต (เฉลยธรรมบัญญัติ 8:2, 3, 16;  สดุดี 25:9)  

การถ่อมใจคือ การยอมรับการเสริมสร้างให้เรามีจิตใจอย่างคนที่พระคริสต์ทรงเลือก   “เพราะ​ฉะนั้น​ใน​ฐานะ​เป็น​พวก​ที่​พระ​เจ้า​ทรง​เลือก พวก​ที่​บริสุทธิ์ และ​พวก​ที่​ทรง​รัก จง​สวม​ใจ​เมต​ตา ใจ​กรุ​ณา ใจ​ถ่อม ใจ​สุภาพ​อ่อน​โยน ใจ​อด​ทน” (โคโลสี 3:12)   

การถ่อมใจคือ การยอมรับเป้าหมายปลายที่ที่จะเกิดขึ้นตามแผนการของพระเจ้า   “บำเหน็จ​ของ​ความ​ถ่อม​ตัว​และ​ความ​ยำ​เกรง​พระ​ยาห์​เวห์  คือ​ความ​มั่ง​คั่ง เกียรติ และ​ชีวิต” (สุภาษิต 22:4และ

การถ่อมใจคือ คุณลักษณะหนึ่งในชีวิตของพระคริสต์เพื่อกระทำตามแผนการและพระประสงค์ของพระบิดา   ที่เราจะต้องได้รับการเสริมสร้างในชีวิตคริสตชน  “(พระเยซูคริสต์)พระ​องค์​ทรง​ถ่อม​พระ​องค์​ลง ทรง​ยอม​เชื่อ​ฟัง​จน​ถึง​ความ​มร​ณา กระ​ทั่ง​มร​ณา​บน​กาง​เขน” (ฟีลิปปี 2:8 มตฐ)

เราไม่สามารถที่จะมีชีวิตที่เปลี่ยนจากการที่มีความคิด  แผนการ  และความปรารถนาของเราไปยอมรับแผนการ ตามพระประสงค์ และ ตามเวลาที่พระองค์กำหนดได้   ถ้าเรามิได้ยอมถ่อมชีวิตของเราลงรับการเปลี่ยนแปลง เสริมสร้าง  และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระองค์ก่อน   และที่สำคัญคือ   เราจะต้องถ่อมตนเพื่อจะถวายชีวิตทั้งสิ้นของเราให้เป็นของพระเจ้า   เพื่อเราจะได้รับการเปลี่ยนแปลงจากพระคริสต์   “อย่า​ลอก​เลียน​แบบ​อย่าง​คน​ใน​ยุค​นี้ แต่​จง​รับ​การ​เปลี่ยน​แปลง​จิต​ใจ แล้ว​อุป​นิสัย​ของ​ท่าน​จึง​จะ​เปลี่ยน​ใหม่ เพื่อ​ท่าน​จะ​ได้​ทราบ​พระ​ประสงค์​ของ​พระ​เจ้า จะ​ได้​รู้​ว่า​อะไร​ดี อะไร​เป็น​ที่​ชอบ​พระทัย และ​อะไร​ดี​ยอด​เยี่ยม” (โรม 12:2)

ความอดทน

การรอคอยความชัดเจนแผนการของพระเจ้าในแต่ละประเด็นที่ต้องตัดสินใจต้องอาศัยความอดทนอย่างสูง   การรอคอยความชัดเจนแผนการของพระเจ้าและเวลาของพระองค์นั้นมิได้หมายความว่าเราไม่สนใจสภาวะรอบด้านในบริบทที่เรากำลังเป็นอยู่   เราต้องเอาใจใส่และไม่ให้อิทธิพลแวดล้อมมีพลังเหนือการตัดสินใจของเราในประเด็นนั้นๆ   แต่เราเพิ่มความสนใจอีกด้านหนึ่งบนรากฐานความเชื่อของเราคือ  พระเจ้ามีพระประสงค์และแผนการอย่างไรบ้างในประเด็นที่เราต้องตัดสินใจ   ด้วยการที่เราใส่ใจต่อสภาพแวดล้อมที่เป็นจริงทำให้เราเห็นชัดเจนยิ่งขึ้นถึงพระประสงค์ของพระเจ้า และ เวลาของพระองค์มีความเหมาะสมสอดคล้องและตอบสนองต่อความจริงในเวลานั้นอย่างไรบ้าง   นั่นหมายความว่าเราจะต้องมีวินัยชีวิตในด้านความอดทนในการรอคอยความชัดเจนในพระประสงค์และแผนงานของพระองค์

นอกจากการรอคอยความชัดเจนแผนการของพระเจ้าและเวลาของพระองค์จะเป็นโอกาสที่เราจะประสบความสำเร็จในชีวิตของเราตามพระประสงค์ของพระเจ้าแล้ว   การที่เราอดทนในการรอคอยก็ยังเป็นการฝึกปรือให้ชีวิตคริสตชนเข้มแข็งขึ้นอีกด้วย   และเพิ่มพูนวินัยการรอคอยของเราได้เหนียวแน่นเข้มแข็งอีกด้วย   เพราะในความอดทนนั้นเองที่เพิ่มพูนความหวังแก่เรา   ดังที่เปาโลกล่าวกับคริสตชนในกรุงโรงว่าว่า  “ยิ่ง​กว่า​นั้น เรา​ก็​ชื่น​ชม​ยินดี​ใน​ความ​ทุกข์​ยาก​ด้วย เพราะ​เรา​รู้​ว่า​ความ​ทุกข์​ยาก​นั้น ทำ​ให้​เกิด​ความ​ทรหด​อด​ทน   และ​ความ​ทรหดอด​ทน​ทำ​ให้​เห็น​ว่า​เรา​เป็น​คน​ที่​พระ​เจ้า​ทรง​ใช้​ได้ และ​การ​ที่​เป็น​เช่น​นั้น​ทำ​ให้​มี​ความ​หวัง” (โรม 5:3-4 มตฐ)

ความกล้าหาญ

การรอคอยแผนการและเวลาของพระเจ้าต้องการความกล้าหาญอย่างสูง   โดยเฉพาะที่ท่านจะต้องรอคอยแผนการของพระเจ้าและเวลาของพระองค์ในเรื่องที่ต้องเกี่ยวข้องกับคนรอบข้าง   และจะมีกระแสกดดันอย่างแรงจากสังคมในเวลานั้น   ถ้าเราลืมตัวหรือพลั้งเผลอเราอาจจะละความสนใจในการรอคอยแผนการและเวลาของพระเจ้าแล้วรีบด่วนตัดสินใจตามกระแสกดดันที่ผลักดันและแรงเร่งรีบรอบข้าง   เราจึงด่วนตัดสินใจตามกระแสสังคม เศรษฐกิจ หรือการเมือง   หรือตามแนวโน้มวัฒนธรรมในเวลานั้นๆ   เราจะต้องสุขุม ยืนมั่นที่จะฟังเสียงของพระเจ้าที่จะทรงสำแดงเปิดเผยความชัดแจ้งให้เราเห็นและรู้ว่าอะไรคือแผนการของพระเจ้าและอะไรคือเวลาของพระองค์   พระเจ้าตรัสกับโยชูวาว่า  “...จง​เข้ม​แข็ง​และ​กล้า​หาญ​เถิด อย่า​ครั่น​คร้าม​หรือ​ตก​ใจ​เลย เพราะ​ว่า​พระ​ยาห์​เวห์​พระ​เจ้า​ของ​เจ้า​สถิต​กับ​เจ้า​ทุก​แห่ง​ที่​เจ้า​ไป...” (โยชูวา 1:9 มตฐ)

ถ้าเราจะพิจารณาพระคัมภีร์ตอนต่างๆ โดยเฉพาะในพระธรรมสดุดี   เมื่อกล่าวถึงการรอคอยพระเจ้านั้นจะต้องเต็มด้วยความกล้าหาญ เช่น  “จง​รอ​คอย​พระ​ยาห์​เวห์    จง​เข้ม​แข็ง และ​ให้​จิต​ใจ​ของ​ท่าน​กล้า​หาญ​เถิด  เออ จง​รอ​คอย​พระ​ยาห์​เวห์”  (27:14 มตฐ)   แต่เราต้องตระหนักด้วยว่า   ความกล้าหาญมิได้เกิดขึ้นจากตัวของเราเอง   พระเจ้าจะเป็นผู้ประทานความกล้าหาญถ้าเราตั้งใจที่จะรอคอยพระองค์  “ใน​วัน​ที่​ข้า​พระ​องค์​ร้อง​ทูล พระ​องค์​ได้​ทรง​ตอบ​ข้า​พระ​องค์   พระ​องค์​ทรง​ให้​ข้า​พระ​องค์​กล้า​หาญ​โดย​ประ​ทาน​กำ​ลัง​แก่​จิต​ใจ​ของ​ข้า​พระ​องค์” (138:3 มตฐ)

เป็นการฉลาดที่เราจะรอคอยพระเจ้าและเวลาของพระองค์   และเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งถ้าเราตั้งใจที่จะให้พระเจ้าทรงนำและเปิดเผยในการตัดสินใจในทุกเรื่องในชีวิตของเรา   ยิ่งกว่านั้น   การที่เราจะตัดสินใจทวนกระแสอิทธิพลของสังคม  วัฒนธรรม  เศรษฐกิจ  และการเมืองในโลกปัจจุบันแล้ว   การที่เราจะเอาใจใส่ในการรอคอยพระเจ้า  แผนงานและเวลาของพระองค์เป็นสิ่งที่เราจะละเลยและหลงลืมไม่ได้เด็ดขาด    การที่เราจะมุ่งมั่นที่จะมีวินัยชีวิตในการรอคอยพระเจ้าย่อมขึ้นอยู่กับรากฐานความเชื่อศรัทธา   ความถ่อมใจถ่อมตนในชีวิต   ความอดทนและทนอดต่อแรงกดดันบีบคั้นเร่งรีบรอบด้าน   และเราต้องมีใจกล้าหาญที่จะเลือกรอคอยพระเจ้ามากกว่าคล้อยตามกระแสสังคมโลก

วันนี้ พระเจ้าทรงพร้อมที่จะนำและสำแดงพระประสงค์และเวลาของพระองค์แก่เราทุกเรื่องในชีวิตของท่าน



ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

20 กรกฎาคม 2556

ไล่ล่าความว่างเปล่า: จำเป็นที่ต้องมีพื้นที่ว่างสำหรับชีวิต (ตอนสาม)

ตามความคิดเห็นของ ดร. ริชาร์ด เอ.สเวนสัน   ที่ท่านเขียนในหนังสือ Margin: Restoring Emotional, Physical, Financial, and Time Reserves to Overloaded Lives.  ว่าการดำรงชีวิตที่มีสุขภาวะอย่างสมดุล   เราจำเป็นต้องมีพื้นที่ว่างสำหรับชีวิตสี่ด้านด้วยกันคือ  พื้นที่ว่างด้านพลังทางอารมณ์,   พื้นที่ว่างด้านพลังทางกาย,  พื้นที่ว่างในชีวิตสำหรับการเงินการทอง  และพื้นที่ว่างด้านสำหรับเวลา

พื้นที่ว่างในชีวิตและพลังทางอารมณ์

ถ้าพลังทางอารมณ์ของเราหมดกำลังลง   ชีวิตของเราอยู่ไปก็เพื่อการอยู่รอดเท่านั้น   มิใช่การดำรงชีวิตอย่างเต็มบริบูรณ์   เราต้องการพลังทางอารมณ์มิใช่เพื่อดูแลตัวเราเองเท่านั้นแต่มีไว้เพื่อเอื้อเฟื้อต่อผู้คนรอบข้างด้วย   การที่พลังอารมณ์ลดน้อยถอยลงอาจนำไปสู่การหลงบูชาในตนเอง   การที่เรากลายเป็นคนที่หมกมุ่นในตนเองเพราะเราแทบจะไม่สามารถรับมือกับชีวิต  ดังนั้น สิ่งที่เราจะทำได้ในเวลาเช่นนั้นคือการที่จะสนใจแต่ตนเอง   คงเป็นการยากยิ่งที่เราจะสามารถบอกถึงจำนวนของพลังทางอารมณ์   แต่ก็ต้องยอมรับว่าเมื่อเราเกิดความอ่อนล้าเพลียแรงทางอารมณ์  จะนำไปสู่วงจรอาการหมดแรงในขั้นวิกฤติทั้งทางจิตใจ  จิตวิญญาณ  และสุขภาพทางอารมณ์

เราอาจจะเปรียบพลังทางอารมณ์กับสมุดฝากธนาคาร   เรามักจะมีเงินเหลือสำรองในสมุดฝากธนาคาร    ในการเริ่มต้นวันใหม่แต่ละวัน   เราต้องตรวจสอบให้รู้เท่าทันว่าเรามีพลังในตัวเหลืออยู่สักแค่ไหน   ต้องรู้เท่าทันว่าอะไรที่เป็นตัวดูดพลังจากตัวเราไป  และ อะไรเป็นตัวเสริมเพิ่มพลังแก่ชีวิตของเราในแต่ละวัน   การพักผ่อน   การออกกำลังกาย  การรับประทานอาหารที่เหมาะสม  กำหนดขอบเขตด้านต่างๆ ในชีวิต   การฝึกสำนึกซาบซึ้งในพระคุณ การขอบพระคุณพระเจ้า  การติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่น   การอธิษฐานก็เป็นการเติมเต็มพลังทางอารมณ์ทางหนึ่งด้วย

พื้นที่ว่างในชีวิตและพลังทางกาย

ดร. สเวนสัน แนะนำให้เราสนใจเรื่องนี้ใน 3 ด้านด้วยกันคือ   เราไม่อยากจะเชื่อว่า คนอเมริกันต้องการสามสิ่งคือ  (1) มีหุ่นที่ดีขึ้น   (2) ลดน้ำหนักของตนเอง  และ  (3) นอนหลับมากขึ้น  ในที่นี้เราคงไม่ลงไปในรายละเอียดให้ยุ่งยาก   แต่ทั้งสามประการดังกล่าวต่างเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน   การออกกำลังกาย   การรับประทานอาหารที่ดี   ย่อมเป็นเหตุผลที่นำไปถึงการที่นอนหลับได้ดีและมีสุภาพจิตที่สดชื่น    จากผลการวิจัยได้ให้ข้อเสนอแนะว่า  การนอนหลับไม่เพียงพอทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น  โดยไม่ต้องอ้างถึงการทำให้เกิดอารมณ์ฉุนเฉียวง่ายขึ้นและมากขึ้น   ขาดสมาธิ   และเกิดความซึมเศร้าในชีวิต   ดร. สเวนสันกล่าวว่า   โดยภาพรวมแล้วคนอเมริกันนอนหลับน้อยลงคืนละชั่วโมงครึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับ 100 ปีที่ผ่านมา

พื้นที่ว่างในชีวิตกับเศรษฐกิจ

ถ้าเปรียบเทียบคนอเมริกันกับคนส่วนอื่นในโลก คนอเมริกันดูจะมั่งมีมั่งคั่งกว่า   แต่ความมั่งคั่งดังกล่าวไม่ได้ทำให้อเมริกันชนมีความคิดที่สงบสันติ   คนส่วนใหญ่จะมีความเครียดในเรื่องการเงิน   คนที่มั่งมีก็วิตกห่วงใยกับเงินที่ตนมีอยู่   ในขณะที่คนไม่มีก็เครียดกังวลว่าทำอย่างไรตนจึงจะทำเงินหรือมีเงินมากขึ้น

เรามีความยากลำบากที่จะแยกแยะชัดเจนระหว่าง “ความต้องการอยากได้” กับ “ความจำเป็นในชีวิต”   หลายคนกำลังใช้จ่ายทั้งๆ ที่ยังไม่มี   บ้างก็จ่ายเงินล่วงหน้า   หลายคนในพวกเราจึงต้องเป็นหนี้  และมีชีวิตในภาวะที่ล่อแหลมบนขอบที่คมกริบของใบมีดโกน

พระวจนะของระเจ้าเตือนเราว่า ความมั่งคั่งร่ำรวยอาจจะกลายเป็นกับดักในชีวิตของเรา   มันอาจจะทำให้บางคนต้องตกลงไปในความมัวเมาและเย้ายวน   ให้เราออกห่างและเลือกสนใจต่อสิ่งอื่นที่เห็นว่าสำคัญในชีวิต   พระเยซูคริสต์บอกเราอย่างตรงไปตรงมาและชัดเจนว่า อย่าสั่งสมทรัพย์สมบัติสำหรับตนในโลกนี้   แต่ผมไม่คิดว่าพระองค์กำลังแนะนำเราว่าให้อยู่ไปวันๆ หนึ่งอย่างไร้เป้าหมายแผนการในชีวิต   แต่พระคัมภีร์กล่าวถึงเรื่องเงินทองว่า   เราจะต้องมีมุมมองต่อเงินทองบนรากฐานตามพระวจนะของพระเจ้า

มีใจที่ต้องการให้ลดน้อยลง  และ มีจิตใจกว้างขวางในการให้ที่เพิ่มสูงขึ้น

พื้นที่ว่างในชีวิตสำหรับเรื่องการเงินควรจะให้เรามีความต้องการจำเป็นในชีวิตของเราต่ำลง(ลดลง)   และควรมีจิตใจที่ให้ด้วยใจกว้างขวางสูงขึ้น   ให้เราคาดหวังในชีวิตจากเบื้องบน   ให้เราสร้างพื้นที่ว่างในชีวิตด้านการเงินด้วยการดำรงชีวิตแบบเรียบง่าย  และลดรายจ่ายของเราลงก็จะสร้างแรงกดดันและความเครียดในชีวิตลดน้อยถอยลงด้วย   เพื่อเราจะมีพื้นที่เตรียมรองรับสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิดมาก่อน   เตรียมพื้นที่ชีวิตด้านเงินทองที่จะตอบสนองสถานการณ์ต่างๆ ด้วยใจกว้างขวาง

เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ ให้อยู่อย่างเรียบง่ายตามอัตภาพ   พอใจในสิ่งที่ตนมี  หลีกเลี่ยงการใช้จ่ายด้วยใจง่ายใจเร็ว   คิดให้รอบคอบในการจับจ่ายใช้สอย   เป็นคนที่มีใจกว้างขวางในการช่วยเหลือคนอื่นตามกำลัง   และมีการอดออมที่เหมาะสมพอดี   เพื่อมีใช้จ่ายจำเป็นในกรณีฉุกเฉินในชีวิต

พื้นทีว่างในชีวิตด้านเวลา

ในยุคปัจจุบันได้ผูกพันเวลากับความเร่งเร็วและผลผลิตหรือผลที่เกิดขึ้น   เรานับเป็นวินาที   แม้จะเป็นเวลาว่างเวลาตามสบายแต่มันก็ไม่ว่างและก็เร่งรีบอยู่ดี   ผู้คนที่กลับจากการ “พักผ่อน พักร้อน” ด้วยความเหนื่อยล้า?   เป็นไปได้อย่างไรที่เราเก็บรักษาเวลาไว้มากมาย   แต่กลับมีเวลาสำรองไว้น้อยเหลือเกิน?  อะไรที่มัน “เขมือบ” เอาเวลาของเราไป?  การจราจรในเวลาเร่งรีบ,  โทรศัพท์,  การประชุม,  ความยุ่งเหยิงและเรื่องสัพเพเหระที่จะต้องการจัดให้เป็นระเบียบระบบ,  จดหมายขยะ,  อีเมล์  และ อะไรอีกมามาย...

มองไปแล้ว   เราจะได้พื้นที่ว่างด้านเวลาในชีวิตของเราจากที่ไหน?

การเลือกที่คิดว่าฉลาด แต่...

เพื่อนผมคนหนึ่งเล่าว่า   เมื่อไม่นานมานี้เขาไปสัมมนาที่กรุงเทพฯ   ในเช้าวันอาทิตย์หลังการสัมมนา เขาตัดสินใจเช่ารถจากโรงแรมและขับไปปลายทางจังหวัดหนึ่งใกล้กรุงเทฯ   เขาคิดว่าวันอาทิตย์รถคงไม่ติด  และเป็นการพักผ่อนไปในตัว   และวางแผนจะแวะเที่ยวข้างทางสองสามแห่ง

“มันเป็นไปได้อย่างไร?”  เสียงเพื่อนดังแหลมขึ้น “วันอาทิตย์ภาษาอะไรว่ะ รถติดหนึบเลย!”   เขาบอกว่ารถเคลื่อนไปข้างหน้าที่ละคืบ   มีเสียงบีบแตรรถด้วยอารมณ์เสีย   หน้าตาคนในรถแต่ละคันท่าทีโกรธเคร่งเครียด   เหมือนกำลังบ่นพึมพำอะไรกับตนเองหลังพวงมาลัย   และนี่เป็นวันอาทิตย์นะยังเป็นอย่างงี้   แล้ววันทำงานในชั่วโมงเร่งรีบมันจะสาหัสกว่านี้สักแค่ไหน?

เพื่อนเล่าว่า ในฐานะคนมาจากบ้านนอกต้องขับรถด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง   กันชนหน้าของเขาห่างกันชนท้ายรถคันข้างหน้าแค่เส้นยาแดงผ่าแปด   แม้จะเคลื่อนตัวไปอย่างเชื่องช้าแต่ก็ต้องระวังอย่างมากที่จะไม่เอาข้างรถไปสีกับรถซ้ายขวา  เขากล่าวว่า “สติแตก!  ประสาทรับประทานจริงๆ” 

เพื่อนผมกลับจาก “พักผ่อน” วันนั้นถึงโรงแรมในกรุงเทพฯ เกือบเที่ยงคืน   เขาสูญเสียเวลาเพื่อการพักผ่อนที่มหาเครียดครั้งหนึ่งในชีวิตของเขา

สมดุลภาพในชีวิต

การมีความสมดุลที่มีสุขภาวะในชีวิตเราจำเป็นที่จะต้องทำสิ่งสำคัญที่จำเป็นในชีวิตให้สำเร็จ   รวมหมายถึงมีเวลาแก่ครอบครัว  เพื่อนฝูงมิตรสหาย  กับตนเอง  และกับความเชื่อศรัทธาของตัวเรา   แต่อาจจะไม่ต้องลำดับความสำคัญก่อนหลังตามข้างต้น   ความจริงก็คือในชีวิตของเราต้องใช้เวลาสำหรับมิติต่างๆ ในชีวิตในหลากหลายด้านเหล่านี้

ความเชื่อศรัทธาของเราจะ “ผอมแห้งแรงน้อย” ถ้าเรามิได้รับการเอาใจใส่ฟูมฟักบำรุงจากตนเอง   และเราจะไม่สามารถเข้าถึงชีวิตจิตวิญญาณ ถ้าความเชื่อศรัทธาของเรา “เพลีย พร่อง อ่อนแรง”  หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง   ถ้าเราปล่อยปละละเลยให้ความเชื่อศรัทธาของเรา “ขึ้นสนิม” แล้ว   เราต้องกลับมา “เคาะสนิม”  จะเป็นภาระชีวิตที่ลำบากหนักอึ้ง  

การที่เราต้องดูแลชีวิตและจิตวิญญาณของตนเองมิใช่เรื่องสะดวกสบายเลย 

แต่ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำในชีวิตของเราครับ

แต่ก็ต้องไม่ลืมด้วยเช่นกันนะครับว่า   ในสิ่งใดที่เกินความสามารถที่เราจะลงมือลงใจจัดการเองได้   พระวิญญาณของพระเจ้าพร้อมที่จะทรงหนุนเสริมเรี่ยวแรงแก่เราครับ   ปรึกษากับพระองค์เดี๋ยวนี้ซิครับ!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

17 กรกฎาคม 2556

เป็นผู้นำด้วยการเป็นผู้ตาม

ในสังคมที่ยกย่องให้ความสำคัญแก่คนที่อยู่ในตำแหน่งผู้นำ  คนที่มีชื่อเสียง  หรือคนที่เด่นดังอยู่ในแนวหน้ายากนักที่เขาคนนั้นจะยอมเป็นคนที่จะตามคนอื่น 

Jo Kadlecheck ได้เขียนไว้ว่า  “การที่ใครเป็นคนที่ติดตาม   คนนั้นยืนอยู่บนทางแยก   แล้วมุ่งมองว่าถ้าจะมุ่งติดตามพระคริสต์เขาจะต้องมุ่งไปสู่ทิศทางใด   แล้วติดตามพระองค์ไปบนเส้นทางนั้น   ในทุกก้าวที่ติดตามไป   จำเป็นอย่างยิ่งที่เขาคนนั้นต้องยอมละทิ้งอำนาจบาตรใหญ่  และเลิกที่จะคอยควบคุมอยู่เหนือคนอื่น   แล้วใครล่ะจะต้องการทำเช่นนั้น?”

อย่างไรก็ตาม หัวใจของการมีชีวิตคริสตชนคือการที่มีชีวิตติดตามพระคริสต์   Jo Kadlecheck บอกว่าบางครั้งเขาแปลกประหลาดใจว่า    มีคนบอกว่าตนเชื่อศรัทธาในพระเจ้า  แต่บางครั้งคนนั้นเป็นผู้นำที่ติดตามพระคริสต์อย่างมืดบอด   มุ่งติดตามแต่แผนกลยุทธ์และเป้าหมายองค์กรที่ตนวางไว้   แทนที่จะทูลถามพระคริสต์ด้วยความถ่อมใจว่า   พระองค์จะทรงนำงานนี้ไปสู่ทิศทางทางไหน   จะให้ตนก้าวไป ณ ที่ใด  

ในปัจจุบันนี้เราคงต้องมีวิธีการการเป็นผู้นำใหม่   ซึ่งแท้จริงมีตัวอย่างที่ยิ่งใหญ่ในอดีตที่ผ่านมา   อย่างเช่น แม่ชีเทเรซา  มิชชันนารีที่ติดตามพระคริสต์  แล้วใช้ชีวิตของตนเองละลายเข้าเป็นชีวิตเดียวกันกับผู้ยากไร้ ทุกข์ยาก ลำบาก    เป็นชีวิตที่สำแดงถึงความล้ำลึกแห่งชีวิตในการรับใช้   มากกว่าการแสดงออกถึงชีวิตที่มีวินัยและประสิทธิภาพในการเป็นผู้นำแบบมีอำนาจบาตรใหญ่ในการสั่งการและบีบคั้น

ในสังคมวัฒนธรรมปัจจุบันของเรา   การเป็นคนที่ติดตามคนอื่นนั้นมิใช่สิ่งที่น่าสนใจหรือมีคุณค่าอะไร   เพราะท่าทีของการรับใช้พระคริสต์จะต้องเป็นคนที่มีชีวิตรับใช้คนอื่น   มิใช่มุ่งแต่ไต่เต้าบันไดแห่งความสำเร็จยิ่งใหญ่ที่สูงขึ้น   แต่การเป็นผู้นำที่ติดตามพระคริสต์เป็นการที่ถ่อมตัวลงสู่การร่วมทุกข์ร่วมสุขกับคนสามัญชั้นล่าง

ภายหลังที่คุณอรสา(ชื่อสมมติ) ได้เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและเป็นที่รู้จักของผู้คน   เขาได้เข้ามาเป็นรองอธิการบดีในมหาวิทยาลัยคริสเตียนแห่งหนึ่ง   เธอใช้เวลาสิบปีในการทำงานในสถาบันอุดมศึกษาของคริสตชนแห่งนั้น   รับใช้ด้วยความสัตย์ซื่อ  มีวินัยชีวิต  เป็นผู้ที่รับฟังทั้งนักศึกษา  เพื่อนคณาจารย์  เพื่อนร่วมงาน  และคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย   จนเธอได้รับการยกย่องให้เป็นบุคลากรดีเด่นที่ได้รับความไว้วางใจและบุคลากรตัวอย่างแห่งปี

ด้วยการทุ่มเทอุตสาหะพากเพียรในงานรับใช้ดังกล่าว ขั้นต่อไปที่เธอจะได้รับในอนาคตคือ อธิการบดีของมหาวิทยาลัย   แต่เพราะชีวิตและผลงานของเธอเป็นที่รู้ชัดของสังคม   ในเวลานั้นได้มีมีคำเชิญชวนให้เธอสมัครเป็นผู้บริหารระดับสูงในสถาบันอุดมศึกษาอีกแห่งหนึ่ง   เธอนิ่ง สงบ แล้วค่อยๆ พิจารณา   แต่ถ้าเป็นคนอื่นส่วนมากแล้วคงคว้าหมับทันที   เพราะโอกาสสุดยอดเยี่ยมเช่นนี้มิได้เกิดขึ้นได้ง่ายนัก   แต่การที่อรสาเดินทางก้าวสู่การเป็นอธิการบดีในอนาคตนั้นมีอีกสิ่งหนึ่งที่นำหน้าเธอในการตัดสินใจเรื่องนี้คือ  “เธอเดินติดตามพระเจ้า”

เธอตัดสินใจอย่างมั่นคงว่า  ตนเองจะไม่ก้าวออกไปซ้ายหรือขวาจากเส้นทางด้วยการเพ่งมองว่า “พระเจ้าทรงนำเธอไปยังที่ใด”  เธอสัตย์ซื่อต่อเพื่อนร่วมงานของเธอ  ต่ออธิการบดีของเธอ ต่อมหาวิทยาลัย ที่เธอได้ร่วมหัวจมท้ายร่วมทุกข์ยากลำบากฝ่าฟันงานมาด้วยกัน   ในสถานการณ์เหล่านั้นที่ได้บ่มเพาะ  เสริมสร้างเธอ ทั้งชีวิตจิตวิญญาณของเธอให้เข้มแข็งขึ้น ในการติดตามพระเจ้าทั้งในชีวิตและการงานที่เธอรับผิดชอบ   เธอระมัดระวังที่จะไม่ตกลงในกับดักระหว่างทาง  หรือเฉไฉหันเหออกจากเส้นทางการติดตามพระเจ้า   ไม่ว่าจะเป็นสิ่งโน้มน้าว  ล่อลวง  ตำแหน่งที่มั่นคงสูงส่ง   รายได้และผลประโยชน์ที่เหนือกว่าที่เธอกำลังได้รับ   และนี่คืออรสา!

เธอกล่าวว่า  “การติดตามพระเยซูคริสต์  หมายถึงการที่เกาะติดแน่นกับพระองค์เป็นประจำ” (มิใช่เพียงบางครั้งบางโอกาสเท่านั้น)    และการเป็นผู้นำที่ยอมติดตามพระคริสต์มิใช่เป็นสิ่งที่คนในวัฒนธรรมปัจจุบันจะนิยมชมชอบ   ทำไมเมื่อเป็นผู้นำแล้วเราจะต้องเดินตาม “ก้น” คนบางคน

คริสตชนน้อยคนนักที่ค้นพบของประทานในตนเอง   โดยเฉพาะอย่างยิ่งของประทานในการเป็นผู้ติดตาม      แต่อรสาที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างสูงได้ตอบปฏิเสธต่อข้อเสนอที่น่าโอชะท้าชวนข้างหน้า   จนกว่าที่เธอจะเห็นว่า “การทรงนำของพระเจ้าเป็นอย่างอื่น”   เธอถึงจะติดตามพระองค์ไปในทางที่ทรงนำ

การที่จะมีผู้นำที่มีความคิดเดียวใจเดียวในความรู้สึกอย่างลึกซึ้งว่าสิ่งนั้นเป็นการทรงเรียกของพระเจ้าเป็นสิ่งที่น่าทึ่งอย่างยิ่ง   แน่นอนว่าเราต้องการผู้นำที่มีความสัตย์ซื่อรับผิดชอบต่องานที่เขาได้รับการทรงเรียกจากพระเจ้า  และพระองค์ทรงเสริมสร้างผู้นำคนนั้นตลอดระยะทางของการรับใช้   ด้วยการทรงประทานเครื่องไม้เครื่องมือและทรัพยากรที่จำเป็นในการรับใช้ตามการทรงเรียกของพระองค์   เขาคนนั้นจึงมีความเป็นผู้นำที่เรียนรู้เติบโตขึ้นจากการติดตามพระคริสต์และการรับใช้พระองค์

สิ่งที่ผู้นำ  ผู้บริหารคริสตชนจะต้องระมัดระวังอย่างมากคือ   การอ้างสิทธิพิเศษในการเป็นผู้นำของตนที่พระเจ้าทรงเลือก   และบอกคนอื่นว่าตนนำด้วยการติดตามพระเจ้า   แต่ทุกวันทุกงานของเขาเดินตามแผนกลยุทธ์ที่เขาคิดและวางแผนเอง   เขาทำตามวิธีการและขั้นตอนที่ตนปรารถนาและคิดว่าดีเยี่ยม   จนลืมสิ่งสำคัญที่มากกว่าแผนกลยุทธ์ของเขาคือ  ความรักเมตตาแบบพระคริสต์ในการนำและบริหาร   ความถ่อมตนถ่อมใจที่จะนำด้วยการรับใช้   แล้วผู้นำหรือนักบริหารคนนั้นลืมส่วนสำคัญที่ต้องเป็น “ยาดำ” ในการนำและบริหารของตนคือ   การมีพลังและอิทธิพลของความเชื่อศรัทธาแทรกซึมในทุกอณูของการบริการจัดการและการนำของตน

ส่วนหนึ่งของปัญหาร้ายแรงของผู้นำและผู้บริหารคริสตชนในปัจจุบันคือ   การที่ผู้นำผู้บริหารเหล่านี้ติดลมหลงใหลไปกับความหรูหราในชีวิตการเป็นผู้นำผู้บริหาร   จนหลงลืมและไม่สนใจผู้ที่ทรงนำที่นำเขาอยู่ข้างหน้า

ดร. มาร์ติน ลูเธอร์ คิงส์ จูเนีย เคยกล่าวไว้ในคำเทศนาของท่านว่า “เราทุกคนต่างต้องการที่จะเป็นคนที่สำคัญ   ต้องการแซงหน้าคนอื่น   ต้องการก้าวหน้ากว่าคนอื่น   เราต้องการเป็นคนนำหน้าขบวน...”

แต่เมื่อใดก็ตามที่ผู้นำหรือผู้บริหารคริสตชนปล่อยตัวปล่อยใจละเลยวินัยการเป็นผู้นำที่ติดตามพระคริสต์   เมื่อนั้นชีวิตของผู้นำผู้บริหารคนนั้นก็จะเกิดช่องโหว่รูรั่วให้กับอำนาจแห่งความโลภ  หยิ่งผยอง  และความคิดการทำร้ายทำลายผู้อื่นเข้ามามีอิทธิพลครอบงำความคิด การนำ การบริหารของคนๆ นั้น   เมื่อนั้น ผู้นำผู้บริหารคริสตชนคนนั้นก็จะใช้อำนาจตามตำแหน่งอย่างบิดเบือน   แล้วทำทุกอย่างตามสัญชาตญาณ ที่ถูกครอบงำด้วยอำนาจใฝ่ต่ำทั้งโลภ  ผยอง  กอบโกยผลประโยชน์เพื่อตน...   เขานำองค์กรของพระเจ้าดิ่งจมลงสู่อคติที่น่าเศร้า   และที่น่าเศร้าที่สุดคือผู้นำผู้บริหารคริสตชนคนนั้นนำและกระทำต่อคนอื่นอย่างไร้ศักดิ์ศรีของความเป็นคนตามที่พระเจ้าทรงสร้าง

ผู้นำผู้บริหารคริสตชนในปัจจุบัน  คงต้องถอยหลังไปเรียนรู้จากผู้นำคริสตชนในอดีต  ผู้นำผู้บริหารเหล่านั้นได้นำองค์กรของพระเจ้าอย่างมุ่งติดตามพระเจ้าอย่างใกล้ชิด   ไม่ว่าจะเป็นแม่ชีเทเรซา   มาร์ติน ลูเธอร์คิงส์ จูเนีย  ผู้นำทางจิตวิญญาณในยุคต่างๆ   มิชชันนารีในอดีตที่นำสิ่งที่ดีที่สุดจากพระเจ้าไปถึงคนที่ต่ำต้อยด้อยค่าที่สุดในสังคม   ผู้นำคริสตชนเหล่านี้ได้เผยถึงชีวิตที่ล้ำลึกในการรับใช้ประชาชนตามการทรงนำของพระเจ้า

ตัวอย่างจิตวิญญาณของผู้นำคริสตชนในอดีตน่าจะเป็นพลังกระตุ้นจินตนาภาพของภาวะผู้นำคริสตชนในปัจจุบัน   ให้หยั่งรากลงลึกการเป็นผู้นำในความเชื่อศรัทธา พระวจนะ และพระประสงค์ของพระเจ้า   เพื่อผู้นำคริสตชนเหล่านี้จะได้เสริมสร้างผู้นำคริสตชนรุ่นใหม่ที่มุ่งเน้นเป็นผู้นำคริสตชนที่ติดตามการทรงนำของพระเจ้าอย่างใกล้ชิด   และมุ่งมั่นในการเสริมสร้างพลังแห่งชีวิตชุมชนร่วมกัน   เป็นพลังชุมชนแห่งการเอาใจใส่เกื้อหนุนค้ำจุนกันและกัน   เป็นชุมชนที่ทุกคนให้กับชุมชนในสิ่งที่ตนมีอย่างเต็มกำลัง   เป็นชีวิตและการรับใช้ที่หยั่งรากลึกลงในจิตวิญญาณแห่งการรับใช้แบบพระคริสต์

เมื่อพระเยซูคริสต์ทรงชักชวนให้ชาวประมง  คนเก็บภาษี  และคนอื่นๆ ที่ดูแล้วไม่น่าจะเป็นสาวกที่ติดตามพระองค์ได้   แต่เมื่อคนกลุ่มนี้ยอมติดตามพระองค์พวกเขาได้เรียนรู้  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ความลี้ลับของทางที่แคบและตรงไป   พวกเขามุ่งหน้าติดตามเพียงผู้เดียวคือพระคริสต์   บางสิ่งบางอย่างในชีวิตของพระเยซูคริสต์ที่พลิกฟื้นผันเปลี่ยนแรงบันดาลใจและความทะเยอทะยานของคนทำงานหนักกลุ่มนี้   ที่เปลี่ยนและสร้างเขาจากปุถุชนคนสามัญไปสู่การเป็นผู้นำที่สร้างการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงด้วยความรักเมตตา  ถ่อมสุภาพ  ด้วยจิตใจที่มุ่งมั่น  และจิตวิญญาณที่เปี่ยมด้วยความหวัง   ที่แตกต่างจากแรงบันดาลใจของบรรดาผู้นำผู้บริหารทั่วไป

เพราะการมุ่งมั่นติดตามพระคริสต์อย่างใกล้ชิดไม่ลดละ   ทำให้ทุกสิ่งในตัวของคนเหล่านี้เกิดการเปลี่ยนแปลง   เป้าหมายในชีวิตมิใช่ความปรารถนาส่วนตนของเขาอีกต่อไป   แต่กลับกลายมีเป้าหมายชีวิตที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตคือเป็นผู้ร่วมกับพระคริสต์ในการนำมาซึ่งแผ่นดินของพระเจ้า  การครอบครองของพระเจ้าในโลกนี้   พวกเขาเลิกที่จะสนใจและให้ความสำคัญต่อปลาที่เขาจะจับได้  และขายได้เงินเท่าใดในตลาด  หรือ  จำนวนเงินที่เขาจะเก็บค่าภาษีจากประชาชน   แต่คนพวกนี้กลับเอาใจใส่ต่อการฟังและการได้ยิน  และเชื่อฟังเสียงของพระอาจารย์คนใหม่ของพวกเขาเมื่อเขาต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนต่างๆ ในชีวิตประจำวัน

สิ่งที่พระเยซูคริสต์ตอบโต้ถกเถียงกับพวกฟาริสีและซาดูสี   และคนที่มีอำนาจในสมัยของพระองค์   มิใช่เรื่องว่าเราจะทำอย่างไรที่จะมียุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการเพื่อที่จะให้ได้ผลกำไร ผลประโยชน์มากมายมหาศาลได้อย่างไร    ทำอย่างไรที่จะบริหารจัดการตัวเลขให้มันดูว่าได้กำไรเพื่อจะแจกโบนัสมากมายในแต่ละปี   แต่พระองค์กลับบอกคนทั้งหลายให้ติดตามพระองค์ด้วยการแบกกางเขนตามพระองค์ไป  ด้วยจิตใจแห่งความรักที่เสียสละ   เมตตาและรับใช้บริการโดยมิได้คำนึงถึงสินจ้างรางวัล   มีความคิดเดียวใจเดียวคือถวายทั้งชีวิตแด่พระคริสต์   ถ้าพูดสั้น ชัด ฟันธง   พระเยซูคริสต์มิได้เรียกผู้คนให้เป็นผู้นำ  แต่พระองค์เรียกคนให้ติดตามพระองค์

ชัดเจนว่ามีคนติดตามพระองค์บางคนที่กลายเป็นผู้นำ  ไม่ว่าเปโตร เปาโล มัทธิว คนเหล่านี้ค่อยๆกลายเป็นผู้นำ   แต่เป็นผลจากการที่คนเหล่านี้ยอมมอบการถวายชีวิตให้พระองค์ทรงใช้ตามพระประสงค์   และสำหรับเปาโลแล้วชีวิตทั้งชีวิตของเขาถูกเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงไม่ว่าจะเป็นความคิด  มุมมองในชีวิต  ท่าที  อุปนิสัยใจคอ  เป้าหมายในชีวิต  และการกระทำในชีวิตถูกเปลี่ยนแปลงไปทั้งสิ้นเพื่อแผ่นดินของพระเจ้า

เปาโลชักชวนคนอื่นให้มีชีวิต “ติดตามตนอย่างที่ตนเองติดตามพระคริสต์”   เปาโลรู้ถึงอันตรายที่ยึดมั่นถือมั่นในตำแหน่งหน้าที่และชื่อเสียง   จึงมุ่งติดตามพระคริสต์   และมีความคิดความเชื่อเดียวที่ยืนหยัดไว้วางใจในพระองค์   แล้วมุ่งดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์

วันนี้ให้เราเป็นผู้นำด้วยการเป็นผู้ตามพระคริสต์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

15 กรกฎาคม 2556

ทำไมพระเจ้าถึงบอกว่า “อย่ากลัวเลย”

อ่านโยชูวา 11:1-11

4พวก​เขา​ก็​ยก​ออก​มา​กับ​กอง​ทัพ​ทั้ง​หมด​ของ​เขา​เป็น​คน​มาก​มาย มี​จำนวน​ดัง​ทราย​ที่​ชาย​ทะเล มี​ม้า​และ​รถ​รบ​มาก​มาย​ด้วย   5กษัตริย์​เหล่า​นี้ ได้​ผนึก​กำลัง​กัน​และ​มา​ตั้ง​ค่าย​อยู่​ด้วย​กัน​ที่​ลำ​น้ำ​เม​โรม เพื่อ​จะ​สู้​รบ​กับ​อิส​รา​เอล   6และ​พระ​ยาห์​เวห์​ตรัส​กับ​โย​ชู​วา​ว่า อย่า​กลัว​พวก​เขา​เลย เพราะ​ว่า​พรุ่ง​นี้​ใน​เวลา​เดียว​กัน​นี้ เรา​จะ​มอบ​พวก​เขา​ทั้ง​หมด​ไว้​ต่อ​อิส​รา​เอล​ให้​ถูก​ประ​หาร เอ็น​น่อง​ม้า​ของ​เขา​ให้​เจ้า​ตัด​เสีย และ​รถ​รบ​ของ​เขา เจ้า​จง​เผา​ไฟ​เสีย”  7โย​ชู​วา​จึง​ยก​พล​เข้า​โจม​ตี​พวก​เขา​ทัน​ที​ที่​ลำ​น้ำ​เม​โรม    8และ​พระ​ยาห์​เวห์​ทรง​มอบ​พวก​เขา​ไว้​ใน​มือ​อิส​รา​เอล ผู้​ประ​หาร​เขา​และ​ไล่​ตาม​เขา​ไป​จน​ถึง​มหา​นคร​ไซดอน​และ​ถึง​มิส​เร​โฟท​มา​อิม และ​ถึง​หุบ​เขา​มิส​ปาห์​ด้าน​ตะวัน​ออก ได้​ประ​หาร​พวก​เขา​จน​ไม่​เหลือ​สัก​คน​เดียว    9โย​ชู​วา​ได้​ทำ​ต่อ​เขา​ตาม​ที่​พระ​ยาห์​เวห์​ตรัส​สั่ง​ไว้ คือ​ได้​ตัด​เอ็น​น่อง​ม้า​และ​เผา​รถ​รบ​เสีย (ข้อ 4-9 มตฐ)

ในชีวิตของท่าน   ท่านเคยเกิดความกลัวครั้งใหญ่ในชีวิตไหม?   อะไรที่ทำให้ท่านกลัวอย่างมาก?   และท่านจัดการความกลัวของท่านอย่างไรบ้าง?

เมื่อท่านอ่านพระธรรมโยชูวา บทที่ 11 ตอนช่วงต้น   ท่านจะเห็นถึงสาเหตุที่ทำให้โยชูวา ผู้นำอิสราเอลต่อจากโมเสสเกิดความกลัว   ภาระหน้าที่ที่เขาได้รับมอบหมายคือ   การนำประชาชนอิสราเอลข้ามเข้าไปสู่แผ่นดินแห่งพระสัญญา    แต่ข่าวจากหน่วยข่าวกรองหรือพวกสอดแนมได้ให้ข้อมูลที่น่าประหวั่นพรั่นพึงอย่างมาก   เพราะฝั่งข้างโน้นที่โยชูวาจะพากองกำลังอิสราเอลจู่โจมเข้าไปนั้น   พวกอีกฝั่งหนึ่งกำลังรวมพลครั้งยิ่งใหญ่ในแผ่นดินนั้น   โดยมีกษัตริย์ยาบินแห่งฮาโซร์เป็นตัวตั้งตัวตีในการชักนำประสานกษัตริย์องค์ต่างๆ ที่ครอบครองในแผ่นดินนั้นมารวมพลเป็นกองทัพพันธมิตรเพื่อต่อสู้ต้อต้านและขยี้กองกำลังประชาอิสราเอลผู้บุกรุก   ในพระคัมภีร์ตอนนี้ข้อที่ 4 บรรยายไว้ว่า “พวกเขาก็ยกออกมากับกองทัพทั้งหมดของเขาเป็นคนมากมาย   มีจำนวนดังทรายที่ชายทะเล  มีม้าและรถรบมากมายด้วย  กษัตริย์เหล่านี้ได้ผนึกกำลังกันและมาตั้งอยู่ด้วยกันที่ลำน้ำเมโรม  เพื่อจะสู้รบกับอิสราเอล” (ข้อ 4 และ 5)

จากการบันทึกของ โจซีฟัส (Josephus) นักประวัติศาสตร์ยุคโบราณ   ได้บรรยายไว้ว่า กองกำลังพันธมิตรในแผ่นดินนั้นที่ยกกองกำลังมารวมกันเพื่อต่อต้านกองทัพประชาชนอิสราเอล  ประกอบด้วย กองกำลังทหารราบประมาณ 300,000 คน ทหารม้าประมาณ 10,000 คน และรถม้าศึกอีกประมาณ 20,000 คัน กองกำลังนี้น่าเกรงขาม และ น่าสะพรึงกลัว ในขณะที่กองกำลังประชาชนอิสราเอลไม่มีรถออกศึก  หรือม้าศึกเลย   มีแต่กองกำลังประชาชน

ถ้าท่านเป็นโยชูวาในเวลานั้นท่านจะรู้สึกอย่างไร?    ยิ่งได้รับรายงานจากหน่วยข่าวกรองของอิสราเอลถึงกองกำลังพันธมิตรของศัตรู  ท่านคิดว่าโยชูวาจะรู้สึกอย่างไร?  ยิ่งได้ยินว่ากองกำลังพันธมิตรต่างชาติจัดกระบวนทัพที่เข้มแข็ง  ที่เป็นระบบ  เป็นทิวแถวเช่นนี้  โยชูวาจะคิดอย่างไร?

ในภาวะวิกฤติที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนี้   จากการที่โยชูวาพยายามยืนหยัดที่จะไม่เกรงกลัวกองกำลังของศัตรู   เขาคงถามอย่างสงสัยในใจว่า  แล้วเขาจะนำกองกำลังประชาชนอิสราเอลอย่างไรที่จะเอาชนะกองกำลังพันธมิตรต่างชาติที่ขวางอยู่ข้างหน้าเขา   ในภาวะสับสนและวิกฤติในการเป็นผู้นำเช่นนี้สิ่งที่โยชูวาได้รับจากพระเจ้าคือ  คำตรัสจากพระองค์ว่า “อย่ากลัวเลย   เพราะพรุ่งนี้ในเวลาเดียวกันนี้   เราจะมอบพวกเขาทั้งหมดไว้ต่ออิสราเอล...” (ข้อ 6)   คำตรัสนี้มิได้ตอบคำถามที่ค้างคาใจว่า  โยชูวาจะนำกองกำลังประชาชนอิสราเอลอย่างไรที่จะเอาชนะกองกำลังพันธมิตรของศัตรู

ถ้าเป็นท่าน ท่านจะตอบสนองต่อคำตรัสของพระเจ้าในจิตใจของท่านอย่างไร?

ถ้าพระเจ้ามิได้ตอบโจทย์ที่ท่านถามในใจของท่าน   ท่านจะทำเช่นไร?   ท่านยังจะเดินหน้าต่อไปด้วยความไว้วางใจพระเจ้าอยู่หรือไม่?

ท่านเคยมีประสบการณ์ในชีวิตบ้างไหมที่ท่านต้องการให้พระเจ้าทรงนำ ทรงตอบ ว่าท่านจะต้องจัดการอย่างไรกับวิกฤติที่เกิดขึ้นในชีวิตของท่าน   แต่พระเจ้ามิได้ตอบโจทย์ที่ท่านต้องการรู้คำตอบ   แต่กลับบอกท่านเพียงว่า  “อย่ากลัวเลย...”   และบอกอีกว่าแล้วทุกอย่างจะสำเร็จเรียบร้อย  

แต่เราถามในใจว่า  “แล้วฉันต้องทำอย่างไรถึงจะสำเร็จเรียบร้อย?”  

แท้จริงพระเจ้าแจ้งให้โยชูวารู้ถึงแผนการหรือวิธีการของพระองค์อย่างชัดเจน   พระเจ้าบอกกับโยชูวาว่า  “เราจะมอบพวกเขาทั้งหมดไว้ต่ออิสราเอล...”   คำตอบจากพระเจ้าเตือนเราว่า   การทำศึกกับศัตรูจนมีชัยชนะครั้งนี้เป็นพระราชกิจของพระองค์   พระองค์คือผู้ที่จะจัดการกำราบศัตรูและนำพวกเขามามอบแก่กองกำลังประชาชนอิสราเอลเอง  

ชัยชนะของอิสราเอลมาจากพระเจ้า!  

การจัดการวิกฤติชีวิตจนสำเร็จเป็นพระราชกิจของพระเจ้า!

แล้วพระคัมภีร์บอกเราว่า   แล้วพระเจ้าทรงมอบชัยชนะนั้นแก่อิสราเอล   และพระเจ้าจะทรงมอบชัยชนะเหนือวิกฤติชีวิตของเราแก่เราเองเช่นกัน   เรามิใช่ผู้ผจญจนได้ชัยชนะ   แต่พระเจ้าต่างหากคือผู้ผจญกับศัตรูจนได้ชัยชนะ   จากนั้นพระองค์ทรงมอบชัยชนะนั้นแก่เรา   แล้วให้เราจัดการชัยชนะนั้นให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์  

พระเจ้าทรงมอบหมายให้เราจัดการชีวิตหลังชัยชนะซึ่งเป็นการเชื่อฟังและความรับผิดชอบที่สำคัญยิ่งที่พระเจ้ามอบหมายให้เราทำตาม

สังคมปัจจุบันรวมถึงคริสตชนในปัจจุบันต้องการที่จะเป็นผู้ชนะ   ต้องการที่จะเป็นผู้ประสบความสำเร็จ   แต่สำหรับพระเจ้าแล้วพระองค์ประสงค์ให้เรามีชีวิตตามพระประสงค์ของพระองค์   การมีชัยเหนืออำนาจชั่วร้าย  และความสำเร็จที่มีชีวิตหลุดรอดปลอดภัยจากปรปักษ์ในชีวิตเป็นพระราชกิจที่พระเจ้าทรงกระทำเพื่อเราแต่ละคน   แต่สิ่งที่พระเจ้าทรงมอบหมายให้เราแต่ละคนรับผิดชอบในชีวิตคือ   การที่จะมอบกายถวายชีวิตของเราให้เป็นเครื่องบูชาที่มีชีวิตแต่ละวันตามที่พระเจ้าประสงค์    อันเป็นกระบวนการเสริมสร้างชีวิตใหม่ที่เป็นสาวกของพระคริสต์

บ่อยครั้งใช่ไหม   เมื่อพระคริสต์ทรงช่วยปลดปล่อยเราให้หลุดรอดออกจากอำนาจแห่งความบาปชั่วแล้ว   แต่หลังจากนั้นไม่นานเรากลับปล่อยตัวปล่อยใจให้ต่ำลงสู่การถูกครอบงำของทรัพย์สินสิ่งของ  อำนาจ  ผลประโยชน์ที่อำนาจบาปชั่วใช้เป็น “กับดัก” ล่อให้เราหลงอีกครั้งหนึ่ง

เมื่ออ่านเรื่องของโยชูวาตอนนี้   ท่านเคยถามไหมว่า   ทำไมพระเจ้าถึงให้โยชูวาและกองกำลังประชาชนอิสราเอลตัดเอ็นน่องม้าศึก และ เผารถรบทั้งหมดเสีย(ข้อ 9)?   ซึ่งม้าศึกมีทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 30,000 ตัว  และรถศึกษามีไม่ต่ำกว่า 20,000 คัน    เมื่ออิสราเอลกำลังจะสร้างประเทศใหม่ที่แวดล้อมด้วยศัตรูคู่อาฆาต  และตนเองไม่มีกองกำลังและสรรพาวุธ และ รถรบเลย   แต่ทำไมพระเจ้าสั่งให้เผาทิ้งและตัดเอนน่องม้าทุกตัวเสีย?   ทำไมไม่เก็บไว้เพื่อเสริมสร้างกองทัพให้เข้มแข็ง?  

เป็นการง่ายสำหรับอิสราเอลเมื่อเสริมสร้างกองกำลังกองทัพของตนเข้มแข็งแล้ว   จะทำให้ตนผยองคิดว่าตนเองจัดการตนเองให้รับชัยชนะและประสบความสำเร็จได้    แล้วอิสราเอลจะหลงในพลังของม้าศึกและรถรบ   และหลงตัวเองจนคิดว่าตนเองสามารถที่จะต่อสู้และปกป้องตนเองให้ได้รับชัยชนะจากศัตรู   และสามารถยึดครองแผ่นดินแห่งพระสัญญาสำเร็จด้วยกำลังของตนเอง   จากนั้นก็จะตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ ตามใจปรารถนาของตนเอง   เพราะตนเป็นที่พึ่งของตน   มิใช่พระเจ้าเป็นที่พึ่งพิงในชีวิตของตน   จึงไม่สนใจที่ถวายชีวิตและเสริมสร้างชีวิตให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระเจ้า   

ชัยชนะและความสำเร็จเป็นของประทานจากพระเจ้า   และชีวิตที่เติบโตขึ้นในการเชื่อฟังและดำเนินชีวิตตามพระประสงค์ของพระเจ้าเป็นความสัตย์ซื่อและความรับผิดชอบของเราต่อพระเจ้าในการดำเนินชีวิตในโลกนี้

อย่ากลัวเลย   เป็นคำมั่นสัญญาที่สัตย์ซื่อจากพระเจ้า   เพราะชัยชนะและความสำเร็จพระเจ้าทรงเป็นผู้กระทำ   และมอบความสำเร็จและชัยชนะดังกล่าวแก่เรา   ดังนั้นเราจึงไม่จำเป็นจะต้องกลัวต่อไป   แต่ความรับผิดชอบของเราคือการที่จะเชื่อฟังและสัตย์ซื่อที่จะมีชีวิตตามพระประสงค์ของพระเจ้า

วันนี้  ท่านจงอย่ากลัวเลย   จงมั่นใจในพระเจ้า   แล้วอย่าลืมที่จะเชื่อฟัง กระทำตามพระประสงค์ด้วยความสัตย์ซื่อ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499