30 สิงหาคม 2556

คนเก็บตัว(Introvert)ก็มีคุณค่านะ

ในสังคมปัจจุบัน   ทั้งในวงสังคมหรือในวงคริสตจักร  เมื่อพูดถึงคนเก็บตัว (Introvert) เรามักจะตีความเข้าใจเอาว่า   “คนเก็บตัว” เป็นคนที่แยกตน  ไม่ค่อยสุงสิงเกี่ยวข้องกับคนอื่น  ดูเป็นคนที่ไม่ค่อยกระตือรือร้น  ดูเหมือนไม่ชอบที่จะเข้ามายุ่งเกี่ยวอาสางานในคริสตจักร/สังคม   และเราก็มักรู้สึกเป็นธรรมดาว่า   งานพันธกิจในคริสตจักรไม่มีพื้นที่สำหรับคนเก็บตัว (Introvert) กลุ่มนี้  

เมื่อคริสตจักรจะคัดสรรผู้คนมารับผิดชอบงานพันธกิจด้านต่างๆ ในคริสจักร   คนที่มีของประทานเป็นพวกที่ “คนเปิดเผย” (Extrovert) ทำให้ตัวเป็นที่รู้จักในที่สาธารณะมักจะได้รับเลือกให้เป็นคนรับผิดชอบในงานพันธกิจเหล่านั้น   และยังถูกผู้คนทั่วไปมองว่า  เป็นคนที่เปี่ยมไปด้วยพลังในชีวิต   เป็นคนของประชาชน  เป็นคนที่แสดงออก   แท้จริงแล้วสังคมและคริสตจักรในปัจจุบันเรานิยมชมชอบคนที่ “คิดเร็ว”  สื่อสารได้คล่องแคล่วทันใจ   ถึงลูกถึงคน   มีความสัมพันธ์กับผู้อื่นยอดเยี่ยม   เป็นคนที่ก้าวเข้าหาคนอื่น   จึงไม่น่าสงสัยเลยใช่ไหมครับที่ผู้คนเลือกคนที่เปิดเผย หรือ เอ็กซ์โทรเวิร์ท ให้มารับผิดชอบในงานพันธกิจต่างๆ   แล้วก็ตัดสินตีตราลงไปว่าสำหรับคนเก็บตัว หรือ อินโทรเวิร์ท นั้นเหมาะสำหรับการทำหน้าที่หลังฉากหลังเวที   ที่ต้องพบปะเกี่ยวข้องผู้คนเพียงเล็กน้อย   แล้วมีส่วนเกี่ยวข้องกับงานด้านวิสัยทัศน์และแผนกลยุทธ์เพียงน้อยนิดหรือไม่ต้องเกี่ยวเลย   และนี่เป็นการแสดงบ่งชัดเจนว่าเป็นการเข้าใจคน “เก็บตัว” ผิดอย่างยิ่ง   และขาดความเข้าใจที่ถูกต้องถ่องแท้ถึงการนำเอาของประทานที่มีในคนเก็บตัว หรือ อินโทรเวิร์ทมาใช้ในงานพันธกิจคริสตจักร

Susan Cain เจ้าของหนังสือชื่อ Quiet: The Power of Introverts in a World that Can’t Stop Talking (ขออนุญาตลองแปลว่า  “ความเงียบ: พลังอำนาจของคนอินโทรเวิร์ทในโลกของการพูดพร่ำที่ไม่รู้จักหยุด) มีตอนหนึ่งที่ ซูซานได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “กลุ่มต่างๆ ในคริสตจักรมักติดตามคนที่มีลักษณะที่ใช้อำนาจครอบงำในการนำด้วยการพูดเก่ง   แต่หารู้ไม่ว่าบางครั้งการพูดเก่งก็ไม่ได้หมายความว่าคนพูดนั้นจะมีความคิดที่ดี   แต่คนก็มักเลือกตามคนพวกนี้”  และนี่เป็นการผิดพลาดอย่างมหันต์ 

เรามักเผลอลืมไปว่า  งานพันธกิจด้านต่างๆ ในคริสตจักรที่ขาดพลังหนุนเสริมจากกลุ่มคนที่มีของประทานของคน “เก็บตัว”  มักขาดความลุ่มลึก  ปัญญาที่แหลมคม  ที่มีผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการตัดสินใจและการกระทำ

เข้าใจคนเก็บตัว

ในสังคมวัฒนธรรมปัจจุบัน  ทั้งคนเก็บตัว หรือ อินโทรเวิร์ท และ คนเปิดเผย หรือ เอ็กซ์โทรเวิร์ท ต่างเข้าใจความเป็นคนที่มีของประทานของคนเก็บตัวผิดพลาดคลาดเคลื่อนไป   คนที่เก็บตัว ไม่ได้หมายความเป็นคนที่อ่อนแอ หรือ อ่อนด้อย  และก็ไม่ใช่คนพวกที่มีความบกพร่อง   แล้วก็ไม่ใช่คนที่มีความคิดหรือพฤติกรรมที่ต่อต้านแข็งขืนสังคม    จากการสำรวจในสังคมโลกยุค ค.ศ. 2000 พบว่า   คนในสังคมไม่น้อยกว่า 50% ที่มีของประทานเป็นคนเก็บตัว หรือ อินโทรเวิร์ท

บุคลิกลักษณะของคน “เก็บตัว”  เป็นคนที่ชอบหรือมักมุ่งเน้นการใคร่ครวญ  ไตร่ตรอง  เป็นการกระตุ้นค้นหาภายในชีวิตของคนๆ นั้น    ในความเป็นจริงแล้ว   คนลักษณะ “เก็บตัว” มิใช่คนที่ตรงกันข้ามกับคน “เปิดเผยตัว”   แต่ทั้งสองบุคลิกนั้นไปเคียงคู่หนุนเสริมซึ่งกันและกัน   แม้แต่คน “เก็บตัว” สองคนก็ยังมีความแตกต่างกันในความเป็นคนเก็บตัวของเขา

นักจิตวิทยา Laurie Helgoe บอกกับเราว่า  “คนเก็บตัวคือ  คนที่เลือกมองชีวิตจากภายในออกสู่ภายนอก   คนกลุ่มนี้จะได้รับพลังอำนาจชีวิตจากการที่พวกเขาสะท้อนใคร่ครวญภายในชีวิตของเขา  และเกิดความตื่นเต้นจากความคิดที่เขาได้มากกว่าการทำกิจกรรมภายนอกสำเร็จ   เขาเป็นคนที่ฟังอย่างตั้งใจและคาดหวังว่าคนอื่นจะฟังตนอย่างใส่ใจด้วย   เขาเป็นคนที่คิดก่อนแล้วค่อยพูด    มักเป็นคนที่ชอบเขียนสิ่งที่ตนคิดออกมา   เพื่อตนจะสามารถอธิบายอย่างเป็นระบบชัดเจน   และเขาคาดหวังที่จะมีกระบวนการสื่อสารสื่อความเช่นนี้”

Marti Olsen Laney อธิบายความหมายคนเก็บตัวว่า   “คนเก็บตัวได้รับพลังชีวิตจากภายในโลกแห่งความคิด  อารมณ์  และสิ่งประทับใจของเขา   และเขาสามารถเก็บกักรักษาพลังนั้นไว้ในชีวิตของเขา   เขาจะเกิดความรู้สึกว่าโลกภายนอกตัวเขานี้วุ่นวายสับสน   รู้สึกไม่สบายใจกับมัน   และรู้สึกว่าเป็นสภาพสังคมที่วุ่นวายมากเกินไป”

Olsen Laney  ได้บ่งบอกถึงความแตกต่างของคนเก็บตัว กับ คนที่เปิดเผยตนนั้นมี 3 สิ่งด้วยกันคือ  พลังชีวิตที่เขาได้รับ,  แรงกระตุ้นในชีวิต,  และความลึกซึ้ง   “พลังของคนเก็บตัวเป็นเหมือนแบตเตอรี่(รถยนต์)  ที่เป็นแหล่งพลังไฟที่สตาร์ทเครื่อง   แต่เมื่อเครื่องติดแล้วก็สามารถชาร์ตไฟกลับเข้ามาเก็บที่แบตเตอรี่ได้  เป็นกระบวนการใช้และสร้างพลังงานในตัวของมันเองอย่างเป็นธรรมชาติ   ในขณะที่คนเปิดเผยตน หรือ เอ็กซ์โทรเวิร์ทเป็นเหมือนแผงโซลาเซลที่จะแปลงพลังงานแสงอาทิตย์เป็นไฟฟ้า  แล้วนำประจุไฟไปเก็บรักษาในแบตเตอรี่เพื่อนำไปใช้ตามต้องการ   แต่เมื่อใช้แล้วก็จะหมดไป   และต้องรอดวงอาทิตย์ขึ้นเพื่อแผงโซลาเซลจะแปลงแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟอีกครั้งหนึ่ง”

นอกจากความแตกต่างของการได้มาซึ่งพลังชีวิตของคนเก็บตัว กับ คนเปิดเผยตนแล้ว   คนที่เก็บตัวเป็นคนที่มีความรู้สึกไวมากกว่าเพื่อนที่เป็นคนเปิดเผยตน   และคนที่เก็บตัวมักชอบที่จะเป็นคนที่มีความสัมพันธ์ที่ลุ่มลึกกับผู้คน  แทนที่การมีความสัมพันธ์อย่างผิวเผินกว้างขวาง 

ทุกอย่างอยู่ในหัวของเรา

จากการศึกษาการทำงานของสมองในคนที่เก็บตัว กับ คนที่เปิดเผยตน พบว่า  การไหลเวียนของโลหิตในสมองของคนเก็บตัวมีสูงกว่าคนเปิดเผยตน   ชี้ให้เห็นว่ามีการกระตุ้นภายในสมองของคนเก็บตัวสูงกว่าคนเปิดเผยตนเอง    และการศึกษายังพบอีกว่าเส้นทางการไหลเวียนของโลหิตในสมองของคนเก็บตัวไหลเวียนเป็นระยะทางที่ยาวกว่าคนที่เปิดเผยตน  และมีการไหลเวียนมีความซับซ้อนกว่ากันอีกด้วย   และโลหิตที่ไหลเวียนของคนเก็บตัวจะไหลเวียนในส่วนสมองที่เกี่ยวกับการทำงานภายในชีวิต เช่น เรื่องความจำ  การแก้ปัญหา  การวางแผน   สำหรับคนที่เปิดเผยตนการไหลเวียนของโลหิตจะไหลเวียนเร็วกว่า  ในระยะทางที่สั้นกว่า  และซับซ้อนน้อยกว่า   และเป็นการไหลเวียนในส่วนของเนื้อสมองที่เกี่ยวกับการรู้สึกสัมผัส   ดังนั้น จึงมีผลให้คนที่เก็บตัวสนใจกับพลังกระตุ้นภายใน  ในขณะที่คนเปิดเผยตนจะสนใจแรงกระตุ้นจากภายนอก

แต่ไม่ได้หมายความว่าคนเก็บตัวจะไม่สัมผัสสัมพันธ์กับโลกภายนอกตัวเขา  พวกเขายังข้องเกี่ยวสัมพันธ์กับผู้คน   เพียงแต่จำกัดความสัมพันธ์จำนวนคนเท่าที่เขาจะสามารถรับมือได้ในแต่ละครั้งเท่านั้น

เพราะการไหลเวียนของโลหิตในเนื้อสมองของคนเก็บตัวไหลเวียนด้วยระยะทางที่ยาวกว่าและซับซ้อนกว่าจึงทำให้สามารถอธิบายได้ว่า  ทำไมพวกเก็บตัวถึง “คิดช้า” “ตอบสนองช้า”   เมื่อคนเก็บตัวถูกตั้งคำถาม   เขาต้องการเวลาที่จะคิดใคร่ครวญให้รอบคอบ   จึงดูเหมือนว่าเขาคิดไม่ออก บอกไม่ถูก  ชักช้า  หรือต้องการเวลาที่จะคิด   แต่เมื่อเราได้รับคำตอบจากคนกลุ่มนี้  เราก็จะรู้สึกชื่นชมในความลุ่มลึก ในความคิด  กอปรด้วยปัญญา  และความคิดที่แหลมคม   ถ้าเราพบว่าบางคนที่ตอบชักช้าเรามักตีความว่าเขาไม่มีคำตอบ เขาไม่มีอะไรในหัวของเขา   แต่ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย   เพราะกระบวนเส้นทางการคิดของคนเก็บตัวต้องใช้เวลาจึงไม่สามารถตอบได้ทันทีทันควัน   คำตอบจากคนเก็บตัวต้องใช้เวลาในการทำงานในสมอง  และตรวจสอบความถูกต้อง   ดังนั้น  เราต้องให้เวลาแก่คนเก็บตัวในการคิด

คนเก็บตัวมิใช่ผู้ที่ไม่สุงสิงเกี่ยวข้องกับคนอื่นรอบตัวเขา  พวกเขามีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับคนอื่น   แต่จำนวนคนที่จำกัดในแต่ละครั้ง   โดยทั่วไปสมองของคนเก็บตัวทำงานอย่างกระฉับกระเฉง   แต่เมื่อสภาพแวดล้อมภายนอกถาโถมใส่เขา   ในเวลาเช่นนั้นเขาจะต้องเก็บตัวชาร์ตพลังแก่ตนเอง   เขาไม่ต้องเอาพลังเสริมจากภายนอก   เพียงแต่เขาต้องการที่ที่สำหรับตนเองและเวลาเงียบเพื่อเขาจะเรียกรวมพลังจากภายใน

การเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนเก็บตัว (Introvert)

ความผิดแผกแตกต่างระหว่างคนเก็บตัวกับคนเปิดเผยตนนั้น   มิใช่อยู่ที่คนเก็บตัวเป็นมนุษย์ที่มีความบกพร่อง หรือ ไม่ครบสมบูรณ์  หรือ เป็นคนที่ต้องได้รับการแก้ไขรักษา   แท้จริงแล้วบุคลิกภาพของคนที่เก็บตัวเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้งานสามารถขับเคลื่อนไปอย่างมีประสิทธิภาพ   ถ้าเอาของประทานของทั้งคนที่เก็บตัวและคนเปิดเผยตน มาหนุนเสริมกันและกันแล้ว   งานนั้นก็จะสามารถขับเคลื่อนไปอย่างดีและยังสะท้อนถึงพระลักษณะ(ฉายา)ของพระเจ้า   และคงมิใช่การที่เราจะไปพยายามเปลี่ยนแปลงแก้ไขทางอารมณ์  วิธีการคิดและตัดสินใจของคนเก็บตัวให้เร็วขึ้น   หรือไปเร่งรัดให้เขารีบตอบรีบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอก   หรือต้องการให้เขาตอบทันทีเมื่อเราถาม    แทนที่เราจะมีท่าทีคิดจะไปแก้  บีบคั้น  เร่งรัด ให้เขาเป็นอย่างที่เราคาดหวัง   แต่ให้เราเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนเก็บตัวอย่างชาญฉลาดและสร้างสรรค์   ด้วยทัศนะมุมมองที่รู้เท่าทันความเป็นคนเก็บตัวว่า   นั่นเป็นของประทานหนึ่งที่พระเจ้าทรงประทานให้กับบางคน   เพื่อใช้สร้างสรรค์เสริมหนุนกันในโลกนี้

เมื่อเราทำงานกับคนที่เก็บตัว   ลักษณะพิเศษที่สร้างสรรค์ในของประทาน(พรสวรรค์)ของคนเก็บตัวที่เราต้องรู้เท่าทันคือ

คิดอย่างลุ่มลึก:   กระบวนการการทำงานของระบบประสาทในสมองที่มีการไหลเวียนของโลกหิตและเส้นทางที่ยาวและซับซ้อนของคนเก็บตัวจะต้องใช้เวลาในการคิด   ดังนั้น เราต้องให้เวลาแก่คนที่เก็บตัวได้คิด   เพื่อเขาจะมีเวลาในการพิจารณา  ชั่งน้ำหนักเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ และแผนการกลยุทธ์ที่จะขับเคลื่อนในงานพันธกิจ นั้นๆ

สัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง:   ในประเด็นนี้เราต้องรู้เท่าทันว่า  สิ่งใดๆ ที่มีจำนวนมากมิได้เป็นสิ่งดีเสมอไป   เราควรให้กำลังใจแก่คนที่เก็บตัว  ในเขาทำงานแบบให้ความสัมพันธ์  ความสนใจ และความสำคัญทีละคน หรือ ในกลุ่มเล็ก   มากกว่าการไปบีบรัดให้เขาทำงานพันธกิจกับผู้คนครั้งละหลายๆ คนหรือในคนกลุ่มใหญ่   โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราเป็นคนที่เปิดเผยตน (เอ็กซ์โทรเวิร์ท) ที่มักชอบติดต่อสัมพันธ์กับคนครั้งละมากคน   แต่เราก็ไม่สามารถที่จะมีความสัมพันธ์และเอาใจใส่คนเหล่านั้นอย่างลึกซึ้ง   และเมื่อมีกลุ่มคนที่ท่านต้องให้ความสัมพันธ์เอาใจใส่ที่ลุ่มลึกเฉพาะท่านควรแสวงหาคนที่เก็บตัวเข้ามาหนุนเสริมท่านในการทำพันธกิจแก่คนกลุ่มดังกล่าว   เพื่อท่านจะไม่สร้างความตกใจกลัวที่คิดว่าเขาจะต้องทำพันธกิจกับคนกลุ่มใหญ่ ให้อธิบายให้คนเก็บตัวทราบว่า เขาจะทำงานกับ  กลุ่มเป้าหมายได้ครั้งละคน  หรือที่ละน้อยคน  หรือ ในกลุ่มคนเล็กๆ

ตรวจสอบเจตนาและความตั้งใจ:   ลักษณะพิเศษประการหนึ่งของคนเก็บตัวคือเขาจะเป็นคนที่คิดก่อนทำ   เขาจะตรวจสอบ ใคร่ครวญ พิจารณาถึงเจตนา  ความมุ่งมั่นตั้งใจก่อนที่เขาจะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด    ดังนั้นในงานพันธกิจของคริสตจักรสามารถที่จะเชิญคนที่เก็บตัวบางท่านที่เหมาะสมให้เป็นผู้ที่จะพิจารณาโครงการแผนงานพันธกิจของคริสตจักร  แล้วขอให้เขาช่วยตั้งคำถามต่อคริสตจักร เช่น  ทำไมคริสตจักรของเราถึงจะทำพันธกิจต่างๆเหล่านี้   และรับฟังการตอบสนองจากเขาเมื่อเขาได้ฟังและกลับไปพิจารณาทบทวนแล้ว

พลังชีวิตภายใน:   ผู้นำที่เก็บตัวส่วนมากแล้วเป็นคนที่สนใจวินัยชีวิตด้านจิตวิญญาณ  พันธกิจในการอธิษฐาน   ให้การปรึกษาหารือ   ให้การบ่มเพาะเลี้ยงดูชีวิตสมาชิก   และเป็นคนที่มักจะมีวินัยในการเขียน   เราควรเชิญผู้นำเก็บตัวเข้ามารับผิดชอบในพันธกิจด้านต่างๆ เหล่านี้

ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ:   ในวงการการแสดงเรามักเลือกสรรคนที่ชอบเปิดเผยตน  แสดงตน  ชอบความโดดเด่นบนเวที   แล้วเราก็ใช้คนเก็บตัวในการจัดการวางฉาก   ชักฉาก  คนบริการขนมและเครื่องดื่ม   แต่เราก็ไม่ควรลืมบทบาทสร้างสรรค์ที่สำคัญที่เราสามารถใช้ของประทานของคนเก็บตัวได้อย่างมีประโยชน์ เช่น   การพิจารณาและพัฒนาบท,   การวิจารณ์เสนอแนะในการฝึกซ้อม

เราต้องตระหนักเสมอว่าคนที่เก็บตัวไม่ต้องการแสดงตัวบนเวทีแก่ผู้คนจำนวนมากๆ   คนเก็บตัวส่วนมากเป็นคนที่มีความสุขกับการรับใช้ “หลังเวที” หรืออยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนพันธกิจแต่ละครั้ง   ให้เราเชิญเขาร่วมในงานที่มีความหมายที่คนเก็บตัวจะสามารถและมีโอกาสใช้ของประทานที่พระเจ้าให้แก่เขาในการรับใช้ในพันธกิจนั้นๆ   ช่วยให้คนทุกประเภทในคริสตจักรได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในพันธกิจของคริสตจักรด้วยกัน

นำข้างหน้าอย่างสบายใจ:   เราคงไม่ทึกทักเหมารวมว่าคนเก็บตัวจะไม่ยอมขึ้นไปนำข้างหน้า หรือ บนเวทีเลย   หลายคนมีความสุขเสียด้วยซ้ำ   แต่เราต้องให้เวลาแก่คนเก็บตัวในการคิดพิจารณา  ในการเตรียมอย่างพอเพียง   และเราต้องอดทนที่จะให้ความกระจ่างในงานที่เรามอบหมายให้เขาทำ   เขาอาจจะถามเราถึงรายละเอียด  เป้าหมาย  กลุ่มเป้าหมาย ฯลฯ   แต่เมื่อเขามีเวลาเตรียมตัว  พิจารณาใคร่ครวญอย่างดีแล้ว   เขาก็ทำได้อย่างดีด้วย

น้ำใสใจจริง:   คนที่เก็บตัวเป็นคนที่ลุ่มลึกลงในชีวิตภายในของตนเอง   และถ้าเราร้องขอให้เขาช่วยแสดงความคิดเห็น  สะท้อนความรู้สึกที่มิใช่สิ่งภายในชีวิตหรือประสบการณ์ของเขา   เขาจะรู้สึกไม่สบายใจหรือปฏิเสธคำขอร้องของเรา   เขาให้คุณค่าในสิ่งที่เขารู้จริงหรือเป็นความจริงที่เขาพบสัมผัส   เขาต้องการแสดงออกให้ผู้คนรับรู้เฉพาะสิ่งที่เป็นจริงในจิตใจและความรู้สึกเท่านั้น    เช่น ในงานสังคม หรือ แม้แต่ในคริสตจักร   เขาจะรู้สึกไม่สบายใจที่จะต้องจับมือเหมือนเป็นเพื่อนสนิทกับคนที่เขาไม่คุ้นชินมาก่อน   เขาไม่พร้อมที่จะแสดงความใกล้ชิดสนิทสนมกับคนที่เขารู้จักเพียงผิวเผิน

ถ่อมในการนำ:   จากงานวิจัยฉบับหนึ่งได้แสดงผลการวิจัยว่า   ผู้นำที่เป็นคนเก็บตัวมักนำข้อเสนอของลูกน้องมาประยุกต์ใช้ในงาน   ส่วนใหญ่จะให้โอกาสแก่ลูกน้องทดลองทำในสิ่งใหม่ที่เสนอ   แล้วให้เวลารับฟังความคิดเห็นความรู้สึกของลูกน้องกลุ่มนั้น    และจากการศึกษายังพบอีกว่าผู้นำที่เก็บตัวมักสามารถฝึกฝนคนงานที่มีลักษณะเปิดเผยตนในการนำได้อย่างมีประสิทธิภาพ   ผู้นำที่เก็บตัวจะขอใช้ผู้นำลูกน้องคนนั้นในการกระตุ้นและสร้างเสริมให้คนทำงานคนอื่นๆ  หรืออาสาสมัครที่ต้องการพี่เลี้ยงในการทำงานให้เกิดผลและก้าวหน้า

ช้าในการพูด:   Sam Rayburn กล่าวว่า “ไม่มีใครที่จะใช้ภาษาที่ออกคำสั่งได้ดีเท่ากับคนที่ไม่เปิดปาก”   นี่เป็นลักษณะปกติธรรมชาติของคนเก็บตัว   พวกเขาไม่ใช่คนที่เงียบไม่ยอมพูดตลอดเวลา   แต่พวกเขาต้องการที่จะคิดพิจารณาก่อนที่จะพูดออกมา   พวกเขาเรียนรู้ว่า คนพวกเปิดเผยตนมักเป็นคนที่ไม่ค่อยมีความอดทนเพียงพอที่จะรอฟังความคิดของเขา  ดังนั้นเขาตัดสินใจเงียบดีกว่า   ทำให้เขามีเวลาที่จะคิด 

ให้เกียรติการสร้างสรรค์ของพระผู้สร้าง

คงไม่เป็นการพูดเกินเลยความจริงว่า  คนที่เก็บตัวก็เป็นคนที่สร้างความสำคัญและความก้าวหน้าเป็นอันมากให้กับสังคมโลก  ไม่ว่าจะเป็น Steve Wozniak ผู้ที่คิดค้นเกี่ยวกับแอปเปิลคอมพิวเตอร์  หรือ  J.K. Rowling ผู้ประพันธ์เรื่องแฮรี่ พอตเตอร์ (Harry Potter)  ก็เป็นคนที่เก็บตัว   แต่มิใช่เพราะเขาเป็นคนเงียบ  แต่เพราะเขาเป็นอย่างที่เขาเป็นต่างหาก

ผู้ปกครองคริสตจักรท่านหนึ่งได้รับการทาบทามจากศิษยาภิบาลให้เข้าไปช่วยพันธกิจเกี่ยวกับคริสเตียนศึกษาสำหรับเด็ก   เบื้องแรกผู้ปกครองคิดว่าตนไม่น่าจะเหมาะสมในการที่จะทำงานกับเด็ก   มิใช่เพราะว่าเขาไม่รักเด็ก   แต่เขาคิดว่าการทำงานกับเด็กไม่น่าจะเป็นงานที่เหมาะสมสำหรับเขาที่เป็นคนเก็บตัว   แต่เมื่อเขาได้มีโอกาสพูดคุยและฟังคำอธิบายจากศิษยาภิบาลว่า   ต้องการให้ผู้ปกครองเป็นผู้ที่จะเอาใจใส่อภิบาลคุณครูที่สอน คริสเตียนศึกษาสำหรับเด็ก   ผู้ปกครองรู้สึกว่างานนี้เหมาะสมกับตนเองและตนเองก็ชอบ    เขาจะไปที่คริสตจักรแต่เช้าในทุกวันอาทิตย์   เพื่อรอพบกับคุณครูคริสเตียนศึกษาที่ต้องการพบ  ปรึกษา  และขอคำแนะนำจากผู้ปกครอง   ผู้ปกครองใช้เวลาในการฟังครูเหล่านั้นคนแล้วคนเล่า   มีเวลาที่จะอธิษฐานกับคุณครูที่เข้ามาปรึกษา   มีโอกาสวางมือครูที่มีความต้องการกำลังจากเบื้องบน   ท่านให้เวลาในการรับใช้คุณครูเหล่านั้นที่อุทิศถวายตัวเพื่อรับใช้งานคริสเตียนศึกษาสำหรับเด็ก   เขาทำงานรับใช้นี้อย่างมีความสุขและมีคุณค่าในชีวิตของตน   และในเวลาเดียวกันก็เสริมสร้างคุณค่าแก่คุณครูที่สอนคริสเตียนศึกษาสำหรับเด็กเหล่านั้นด้วย

คนทุกคนได้รับการทรงสร้างจากพระเจ้าตามพระลักษณะ(พระฉายา)ของพระองค์อย่างน่าอัศจรรย์   ทั้งคนที่เก็บตัวและคนที่เปิดเผยตน   ไม่ว่าเราจะเป็นคนที่เก็บตัวหรือคนที่เปิดเผยตนเองเราควรที่จะมีมุมมองความเป็นคนเก็บตัวในมุมมองใหม่   ถ้าเราคิดว่าคนที่เปิดเผยตนเท่านั้นที่สามารถทำพันธกิจอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผล   แล้วคนที่เปิดเผยตนคิดว่าคนเก็บตัวจะต้องเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนามาเป็นเหมือนตนมากขึ้นนั้น   เราต้องระวังที่จะคิดและจะมองเช่นนี้   เพราะการมองเช่นนี้เป็นการมองตามกระแสสังคมวัฒนธรรมตามยุคปัจจุบัน   มิใช่การมีมุมมองที่ถวายพระเกียรติแด่พระราชกิจแห่งการทรงสร้างที่สร้างสรรค์ของพระเจ้า   แท้จริงแล้ว  โลกเราปัจจุบันนี้มิใช่ต้องการคนที่เปิดเผยตนจำนวนมากขึ้น   แต่เราต้องการปัญญามากขึ้น  คนที่จริงใจมากขึ้น   เราต้องการคนที่ “ไวในการฟังและช้าในการพูด” (ยากอบ 1:19)   เราต้องการคนที่เก็บตัวเข้ามามีส่วนร่วมในการนำและเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่คริสตจักรและสังคมในปัจจุบัน

ข้อเสนอบางประการในการชวนคนเก็บตัวเข้ามาร่วมงานเมื่อมีโอกาส
  • คนที่เก็บตัวมักจะระมัดระวังตนก่อนที่จะทุ่มตัวเข้าผูกพันงานใดงานหนึ่ง   เขาต้องการที่จะคิดหน้าคิดหลังคิดให้ตลอดรอดฝั่ง   และอาจจะห่วงใยเกี่ยวกับระดับพลังที่มีในตนเอง   แทนที่จะให้เขาตกปากตกคำให้คำมั่นสัญญาทันทีทันใด  อาจจะให้โอกาสแก่เขาที่จะลองมาร่วมในงานนั้นก่อนสักระยะหนึ่งก่อนแล้วค่อยตัดสินใจ
  • ในการเชิญชวนอาจจะเริ่มจากการชวนให้เขาสำรวจความรู้สึกชีวิตภายในเกี่ยวกับงานนั้นก่อนแล้วค่อยโยงเข้ากับโอกาสที่เปิด   ใช้เวลาในการชวนเขาสนทนาถึงพรสวรรค์ หรือ ของประทานพระเจ้าในตัวของเขา   และขอเขาช่วยเล่าถึงประสบการณ์ในชีวิตที่ผ่านมาก   คอยมองว่ามีเรื่องอะไรบ้างที่เขาแสดงดวงตาที่เป็นวาวตื่นเต้นสนใจ   จากนั้นอาจจะเสนอบทบาทที่สอดคล้องกับชีวิตของเขาที่เขาจะได้แสดงออกถึงสิ่งที่พระเจ้าทรงกระทำภายในชีวิตของเขา
  • ให้เสนอเชิญชวนงานที่ทำแบบ“คนต่อคน” หรือ ทำในคนกลุ่มเล็ก
  • ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงจากงานชิ้นเล็กชิ้นน้อยไปเกี่ยวพันกับพันธกิจหลักของคริสตจักรอย่างไร   แล้วชี้ให้เขาเห็นว่าเขาเหมาะกับงานส่วนนั้นอย่างไร   ถ้าคนเก็บตัวไม่สามารถเห็นถึงความเชื่อมโยงและความสำคัญในงานที่เราชวน   เขาอาจจะไม่สนใจเข้าร่วมในงานนั้นก็ได้
  • ให้รายละเอียดงาน  รายละเอียดความรับผิดชอบ  และความคาดหวัง   เพื่อไม่ทำให้คนที่เก็บตัวต้องตกใจที่จะต้องคิดแบบรีบด่วนและความต้องการของเราที่ไม่ได้บอกชัดเจน   ควรบอกถึงภาระงาน  และความรับผิดชอบที่เขาจะต้องมีต่อใครบ้างอย่างเจาะจง   เพื่อเขาจะรู้ชัดเจนว่าเขาจะต้องทำงานอะไร  ทำอย่างไร  และทำกับใคร
  • ในงานที่จะต้องมีผู้คนมากพบปะกัน   ให้มอบหมายงานแก่คนเก็บตัวทีละชิ้นงาน   บางครั้งบางงานเขาอาจจะต้องการถอยหลังตั้งตัวสักนิดหนึ่งเราพึงเปิดโอกาสแก่เขา   เพื่อให้เกิดอาการเคอะเขินน้อยที่สุดหรือต้องพูดคุยน้อยที่สุด   แต่ยังให้เขาพบปะสัมพันธ์กับผู้คน  


ข้อเขียนนี้เรียบเรียงจากการอ่านบทความของ Amy Simpson
เรื่อง Confessions of a Ministry Introvert

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

29 สิงหาคม 2556

ศรัทธาที่กล้าเสี่ยง

อ่านมาระโก 5:21-43

พระ​เยซู​เอง​ก็​ทรง​รู้​สึก​ทัน​ที​ว่า​ฤทธิ์​ซ่าน​ออก​จาก​พระ​องค์
จึง​เหลียว​หลัง​มา​หา​ฝูง​ชน​ตรัส​ว่า ใคร​แตะ​ต้อง​เสื้อ​ของ​เรา?
(มาระโก 5:30 มตฐ.)

ก่อนหน้านี้  พระเยซูได้เผชิญหน้ากับวิญญาณชั่วที่เก-ราซา   พระองค์ทรงขับอำนาจแห่งวิญญาณชั่วดังกล่าวให้ออกจากคนที่มันสิงอยู่   เหตุการณ์ครั้งนั้นได้สร้างความฮือฮาและความฉงนสนเท่แก่ประชาชนผู้พบเห็น  และสร้างความเสียหายและหวาดกลัวแก่ผู้คนที่อยู่ในแถบนั้น

ตามการบันทึกของมาระโก  พระราชกิจของพระเยซูคริสต์ที่ทำต่อจากนั้น  ก็ได้สร้างความอัศจรรย์และประหลาดใจแก่ฝูงชนที่พบเห็นไม่แพ้กัน   เป็นเรื่องการทรงรักษาผู้เจ็บป่วยสองคนในเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกัน   สำหรับการทรงรักษาในผู้ป่วยรายแรกที่เป็นการรักษาที่สำแดงถึงฤทธิ์อำนาจแห่งการเป็นขึ้นจากความตาย  อำนาจแห่งการพลิกฟื้นใหม่ของชีวิต   อำนาจแห่งความเมตตาให้โอกาสการเริ่มต้นชีวิตใหม่แก่ผู้สิ้นหวัง

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นด้วยการที่นายธรรมศาลาท่านหนึ่งได้มาทูลขอให้พระเยซูคริสต์ไปวางมือบนลูกสาวของท่านที่กำลังป่วยหนักกำลังจะเสียชีวิต   แต่มาระโกก็ไม่ได้บอกว่าเด็กหญิงคนนั้นป่วยด้วยโรคอะไร   พระเยซูจึงเดินทางไปกับนายธรรมศาลาเพื่อไปบ้านของท่าน   โดยมีฝูงชนคนจำนวนมากเบียดเสียดติดตามพระองค์ไปด้วย   หญิงคนหนึ่งที่เป็นโรคโลหิตตกมาเป็นเวลา 12 ปีพอเห็นเช่นนั้นก็ตัดสินใจเสี่ยงแฝงตนเองเข้าไปในฝูงชนที่ตามหลังพระเยซู   แล้วพยายามเบียดเสียดเข้าใกล้พระเยซูให้มากที่สุดจนประชิดตัวพระเยซู    นางได้ยื่นมาแตะที่ชายฉลองของพระองค์เป็นการลับ   เพราะนางเชื่อว่า   ถ้านางได้แตะชายฉลองของพระเยซูคริสต์จะทำให้ฤทธิ์ของพระเยซูคริสต์รักษาโรคของนางให้หายได้   และสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นตามที่นางเชื่อ   โรคโลหิตตกของนางได้หายไปอย่างปลิดทิ้ง   แน่นอนครับนางคงมีความชื่นชมยินดีครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต  แต่นางไม่กล้าแสดงความชื่นชมยินดีสุดนี้ชีวิตครั้งนี้ได้   เพราะนางจะถูกประชาทัณฑ์จากฝูงชนรอบข้าง   เพราะเธอเป็นโรคโลหิตตกไม่สะอาด   และกำลังเอาความเป็นมลทินของนางแปดเปื้อนให้กับคนที่นางไปสัมผัสเบียดเสียดด้วย    แต่ทันใดนั้น   เสียงของพระเยซูคริสต์ดังขึ้นชัดเจนว่า 

“ใครแตะต้องเสื้อของเรา?” (มาระโก 5:30)  

คำพูดประโยคนี้เป็นเหมือนสายฟ้าที่ผ่าลงกลางใจความชื่นชมยินดีที่สุดในชีวิตของนาง  กลายเป็นความหวาดกลัวเข้ามาแทนที่   ที่นางหวาดกลัวเพราะนางได้กระทำผิด   นางเป็นโรคโลหิตตกซึ่งในสังคมคนยิวถือว่านางเป็นมลทิน  และการที่นางไปแตะต้องชายฉลองของพระเยซูคริสต์ย่อมทำให้พระเยซูต้องเป็นมลทินไปด้วย   นางคงคิดว่าประโยคที่พระเยซูคริสต์ถามนั้นกำลังควานหาคนที่ทำให้พระองค์เป็นมลทินกระมัง   แล้วนางจะทำอย่างไร?

ยิ่งกว่านั้น   ถ้าความลับของนางต้องเปิดเผยออกมาว่านางเป็นโรคโลหิตตก   แล้วยังมาเบียดเสียดยัดเยียดในฝูงชนคนจำนวนมาก   ก็จะทำให้คนที่แตะต้องกับตัวนางกลายเป็นคนมลทินไปด้วย   แล้วคนพวกนั้นรุมประชาทัณฑ์นางหรือเปล่าเนี่ย? 

ท่ามกลางความสับสน สั่นกลัวของนาง   มีเสียงของสาวกกล่าวตอบพระเยซูคริสต์ว่า  พระองค์ก็เห็นแล้วว่ามีคนมากมายที่เบียดเสียดเข้าใกล้ชิดพระองค์   แล้วพระองค์จะถามได้อย่างไรว่า “ใครแตะเสื้อของเรา”   หลายคนแตะเสื้อแตะตัวของพระองค์   แต่สาวกหารู้ไม่ว่า  การที่พระองค์ถามเช่นนั้นเพราะมีฤทธิ์ซ่านออกจากตัวของพระองค์

ในเหตุการณ์นี้มีผู้ที่ตระหนักรู้ความจริงอยู่สองคนคือ   หญิงที่เป็นโรคโลหิตตก  ที่รู้ว่าเมื่อแตะต้องชายฉลองของพระเยซูแล้วนางหายโรคทันที   กับพระเยซูคริสต์ที่รู้ว่ามีฤทธิ์ซ่านออกจากตัวของพระองค์เอง

ตามที่กล่าวข้างต้นแล้วว่า   คำถามของพระเยซูคริสต์ที่ว่า “ใครแตะต้องเสื้อของเรา?”  สำหรับนางแล้วเป็นคำถามที่กำลังควานหาคนที่กระทำผิด    แต่นางก็เห็นว่า  ไม่มีทางที่จะหลีกเลี่ยงได้ต่อไป   นางจึงออกไปอยู่ต่อหน้าพระเยซูคริสต์ด้วยอาการตัวสั่นลาน   แล้วกราบลงทูลความจริงและความทุกข์ยากที่เป็นโรคโลหิตตกในชีวิต   และทูลถึงความคิดความเชื่อของตนว่าถ้าแค่ได้แตะชายฉลองของพระองค์ก็จะรักษาโรคของนางได้   และนางหายจากโรคโลหิตตกทันที  

แต่พระเยซูคริสต์กลับตอบนางว่า  “ลูก​หญิง​เอ๋ย ที่​หาย​โรค​นั้น​ก็​เพราะ​ลูก​เชื่อ จง​ไป​เป็น​สุข​และ​หาย​โรค​นี้​เถิด (ข้อ 34 มตฐ)   ประการแรก   พระเยซูคริสต์ทรงเรียกคนที่เป็นมลทินว่า “ลูก”   คนที่เป็นมลทินก็เป็นลูกของพระเจ้าด้วย   ประการที่สอง  พระเยซูคริสต์มิได้มองว่านางเป็นผู้มีมลทินเพราะโรคที่นางเป็น   แต่พระองค์กลับมองลึกลงไปในชีวิตจิตใจของนางว่า   นางเป็นผู้ที่มีความเชื่อ   และความเชื่อนี้เองที่นำเธอให้มาได้รับการรักษาจนหายโรค

การที่พระเยซูคริสต์ถามว่า “ใครแตะต้องเสื้อของเรา?”   พระองค์มิได้ควานคนกระทำผิดกระทำบาป   พระองค์มิได้ให้คนบาปต้องปรากฏตัว   แต่ตรงกันข้าม   พระองค์ต้องการให้ฝูงชนเห็นถึงความเชื่อศรัทธาที่ฝังลึกในจิตใจของนาง  แล้วเป็นความเชื่อที่สำแดงออกมาเป็นการกระทำ   แล้วพระองค์ทรงชี้ให้เห็นถึงผลของความเชื่อที่สัตย์ซื่อและกล้าที่จะกระทำตามความเชื่อนั้นแม้จะมีความเสี่ยงมากเพียงใดก็ตาม

ที่พระองค์ต้องการให้นางเปิดตัวต่อสาธารณชน   มิใช่จงใจประจานทำให้เธอต้องอับอายขายหน้า   แต่พระองค์ต้องการยื่นยันถึงความถูกต้องในสิ่งที่นางเชื่อและกระทำตามความเชื่อ   เพื่อฝูงชนจะได้เห็นว่า  นางได้รับการรักษาโรคทางร่างกายของนางจากพระเจ้า  

ในอีกมิติหนึ่ง  พระองค์ต้องการสำแดงถึงฤทธิ์อำนาจแห่งการเป็นขึ้นจากความตายนั้น เป็นอำนาจแห่งรักเมตตาที่พลิกฟื้นให้คนทุกข์ยากสิ้นหวังในชีวิต   กลับมีชีวิตที่ชื่นชมยินดีอีกครั้ง   ชีวิตที่ถูกกีดกันตีตราให้ต้องแยกออกไปจากสังคม   กลับมามีชีวิตที่มีคุณค่าความเป็นคนตามพระประสงค์อีกครั้งหนึ่ง   พระเยซูคริสต์ทรงปลดปล่อยนางออกจากความทุกข์ระทมและทรมานทางจิตใจและจิตวิญญาณของนางที่เป็นโรคตกเลือด   ต้องแยกตัวออกจากชุมชน   และ

สุดท้ายที่พระองค์ให้นางเปิดเผยตัวต่อสาธารณชนก็เพราะพระองค์ต้องการประกาศยืนยันต่อหน้าทุกคนว่า  นางสะอาดแล้ว   นางมีสิทธิ์เข้าอยู่ในชุมชนอย่างคนทั่วไปได้แล้ว   นางกลับมีสัมพันธภาพกับผู้คนในชุมชนอีกครั้งหนึ่ง   นางจะรู้สึกว่าชีวิตนางมีคุณค่าอย่างที่คนอื่นมีคุณค่า

ในชีวิตจริงของเรา   บ่อยครั้งที่เราไม่เข้าใจถึงพระราชกิจที่พระองค์ทรงกระทำในชีวิตอย่างที่สาวกไม่เข้าใจว่าทำไมพระองค์ถึงถาม(โง่ๆ)ว่า “ใครมาแตะต้องเสื้อของเรา?”   เรามักมองเหตุการณ์ต่างๆ ที่พระเจ้าทรงกระทำในชีวิตของเราด้วยมุมมองที่คับแคบและตื้นเขิน  ด้วยมุมมองที่คิดถึงแต่ตัวเอง และเรามักมองพระราชกิจของพระเจ้าด้วย “หลักการและเหตุผล” หรือ ด้วยตรรกะ  ปราศจากมุมมองแห่งความรักเมตตา  มุมมองแห่งความเชื่อและไว้วางใจ   ความเชื่อที่กล้าเสี่ยงด้วยการะทำตามความเชื่อ   และด้วยมุมมองเช่นนี้เองที่เราไม่สามารถมองเห็น “ทางออก”  “ทางรอด”  ที่พระเจ้าทรงประทานให้ 

ในวันนี้ขอให้เราเป็นเหมือนหญิงโลหิตตกคนนี้   ที่เชื่อว่าพระเจ้าจะช่วยเธอได้  เพียงแค่เธอยื่นมือออกแตะชายฉลองของพระองค์ก็จะหาย   และเธอกล้าเสี่ยงที่ยื่นมือออกแตะฉลองของพระองค์   ให้เราเชื่อและวางใจในพระองค์  มิเพียงเท่านั้นให้เรากล้าที่จะยื่นมือออกเพื่อทำตามความเชื่อนั้น   แม้จะต้องเสี่ยงในชีวิตก็ตาม

ในวันนี้ขอให้เรามีโอกาสได้ยินเสียงตรัสของพระคริสต์ว่า “ลูกเอ๋ย...”   เพื่อเราจะมั่นใจว่า เรายังเป็นลูกของพระองค์   และพระองค์ยังใส่ใจในทุกย่างก้าวชีวิตของเรา   แม้เราจะมิใช่คนที่ถูกต้อง  บริสุทธิ์  และสมบูรณ์ก็ตาม
ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

26 สิงหาคม 2556

พระองค์ทรงเป็นใครกันหนอ?

อ่าน มาระโก 4:35-41

เหล่าสาวกแตกตื่นตกใจ ต่างถามกันว่า
“พระองค์ทรงเป็นใครกันหนอ? แม้แต่ลมและคลื่นก็ยังเชื่อฟังพระองค์!
(มาระโก 4:41 อมตธรรม)
                                                                                                                          
เราไม่รู้อย่างแน่ชัดว่า  สาวกของพระเยซูคิดหรือเข้าใจอย่างไรเกี่ยวกับพระองค์ในช่วงเริ่มแรกของการกระทำพระราชกิจของพระเยซูคริสต์เจ้า   พวกเขาติดตามพระองค์เพราะพวกเขาเห็นแล้วว่าพระเยซูเป็นผู้ที่มีสิทธิอำนาจ   ดูเหมือนว่าพวกเขาคิดว่าพระองค์คือพระเมสิยาห์   ผู้ที่พระเจ้าทรงเจิมให้มาสถาปนาแผ่นดินของพระเจ้าในอิสราเอล   แต่จากพระธรรมมาระโก 4:35-41  ได้ชี้ให้เห็นว่า  เมื่อพวกเขามีโอกาสติดต่อสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระองค์ พวกเขากลับไม่แน่ใจว่า พระองค์เป็นใครกันแน่

เรื่องราวในตอนนี้เริ่มต้นด้วยพระเยซูคริสต์พร้อมด้วยสาวกของพระองค์เดินทางโดยเรือจากทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบกาลิลีไปยังฝั่งตะวันออก   ขณะที่กำลังเดินทางไปในเรือนั้นได้เกิดพายุอย่างรุนแรงกระหน่ำถาโถมเข้าใส่เรือที่พวกเขาโดยสาร   และคลื่นซัดสูงอย่างน่ากลัว  แต่เพราะความเหน็ดเหนื่อยจากการทำพระราชกิจ   พระเยซูนอนหลับอยู่ท้ายเรือ   อย่างไรก็ตาม  การนอนหลับต้องถูกขัดจังหวะ   สาวกปลุกให้พระองค์ตื่นด้วยเสียงตะโกนว่า  “พระอาจารย์  พระองค์ไม่ทรงห่วงว่าเราจะจมน้ำตายหรือ” (มาระโก 4:38 อมตธรรม)   พระองค์ทรงตื่นขึ้นแล้วทรงห้ามลมและคลื่น พระองค์ตรัสสั่งลมพายุและคลื่นว่า  “จงสงบเงียบ” (ข้อ 39 มตฐ)   และเมื่อคลื่นลมสงบลงแล้วพระองค์หันไปพูดกับสาวกว่า “ทำไมจึงกลัวนัก  พวกท่านยังไม่มีความเชื่ออีกหรือ?” (ข้อ 40 อมตธรรม)   แต่พวกสาวกเกิดความแตกตื่นตกใจ  แล้วถามกันว่า  “พระองค์เป็นใครกันหนอ   แม้แต่ลมและคลื่นยังเชื่อฟังพระองค์” (ข้อ 41 อมตธรรม) ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะว่า  การที่พระเยซูคริสต์สามารถรักษาคนเจ็บป่วยให้หาย   แม้จะเป็นความอัศจรรย์เพราะมีคนอื่นที่สามารถรักษาโรคได้เช่นกันในเวลานั้น   แต่นี่พระเยซูยังมีอำนาจสามารถสั่งได้แม้แต่พายุและคลื่นลมได้   ซึ่งสาวกไม่เห็นใครจะทำได้อย่างพระองค์   ดังนั้นสาวกมิใช่ประหลาดอัศจรรย์ใจเท่านั้น   แต่ “แตกตื่นตกใจ” เลยทีเดียว

พวกสาวกต่างก็รู้แล้วว่าพระเยซูคริสต์สามารถกระทำการอัศจรรย์ได้หลายอย่าง   พวกเขาเห็นกับตาว่าพระองค์ทรงรักษาคนเจ็บป่วยให้หาย  ทรงขับไล่อำนาจชั่วที่ครอบงำชีวิตของผู้คนให้ออกจากคนเหล่านั้น   ถึงแม้ว่าเขาจะคิดว่าพระองค์น่าจะเป็นพระเมสิยาห์   ซึ่งพวกเขาเข้าใจว่าเป็นผู้ที่มีสิทธิอำนาจและจะมาปลดปล่อยประชากรของพระเจ้าออกจากใต้แอกการปกครองของพวกโรม   แต่นี่พระองค์ทำได้มากกว่านั้น   พระองค์มีอำนาจเหนือธรรมชาติขนาดที่สามารถสั่งคลื่นลมได้   และนี่ทำให้พวกเขาเกิดความกลัวและแตกตื่นตกใจ  และถามกันว่า  พระองค์เป็นใครกันแน่?

ท่านและผมต่างเป็นคริสตชนมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง   บนเส้นทางจาริกแห่งความเชื่อของเรา   เราต่างเข้าใจพระองค์ว่าพระองค์เป็นใครตามกรอบคิดและมุมมองตามประสบการณ์ชีวิตของเราแต่ละคน   แต่บางครั้งพระองค์ก็ทำให้ผมต้องงงงวยเมื่อพระองค์สำแดงพระองค์แตกต่างไปจากกรอบความเข้าใจและมุมมองที่ผมมีต่อพระองค์   บางครั้งสร้างความสับสนแก่ผม   บางครั้งทำให้ผมผิดหวัง   แต่บางครั้งผมก็ต้องประหลาดใจกับพระคุณที่ประทานให้อย่างเหลือล้นจนเกินความเข้าใจของผมเอง

สิ่งนี้ทำให้ผมเกิดการเรียนรู้ใหม่ว่า   พระองค์ทรงเป็นมากกว่าที่ผมคิดที่ผมเข้าใจพระองค์! 

ผมเรียนรู้อีกว่าผมจะจำกัดการทรงเป็นจริงของพระองค์ให้อยู่แค่กรอบคิดมุมมองอันคับแคบของผมไม่ได้   จนบ่อยครั้งในชีวิตของเราต่างต้องถามอย่างสาวกที่ว่า “พระองค์ทรงเป็นใครกันหนอ?”  

ขอให้เราเปิดใจ เปิดความคิด  และเบิกตาใจของเราให้กว้างเพื่อเราจะเห็นและเรียนรู้ว่าพระองค์เป็นใครมากกว่าที่เราคิดเราเข้าใจพระองค์   และอย่าให้ความเชื่ออันคับแคบที่ส่งทอดสอนกันมาเป็นตัวจำกัดกีดกันที่เราจะเปิดรับความจริงว่าพระเยซูคริสต์เป็นผู้ใด  เวลาใดก็ตามที่เรารู้สึกหงุดหงิด สับสน เมื่อได้ยินได้เห็นพระเยซูคริสต์มากกว่าที่เรารู้และเข้าใจ    เราไม่จำเป็นต่อต้าน หรือ ปิดกั้น   แต่ให้เราเปิดใจและเปิดตาของเราให้พระเยซูคริสต์ทรงสำแดงเปิดเผยให้เรารู้ว่า   จริงๆ แล้วพระองค์คือใครกันหนอ?   เพื่อเราจะได้มีโอกาสเรียนรู้จักพระองค์มากยิ่งขึ้น   และจะได้สัมผัสกับพระราชกิจและพระคุณของพระองค์ที่ลุ่มลึกยิ่งขึ้น

วันนี้พระคริสต์ทรงพร้อมที่จะสำแดงพระองค์ให้เราได้เห็น เข้าใจ และมีมุมมองต่อพระองค์ที่กว้างไกลมากยิ่งขึ้น   ขอให้เราอย่าปิดกั้นการทรงสำแดงของพระองค์   และอย่าใจแคบจำกัดให้พระองค์เป็นแค่ที่เราคิดเราเข้าใจเท่านั้น

วันนี้ให้เราเปิดชีวิตของเราน้อมรับการทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตของเรา   เพื่อเราจะได้เรียนรู้จักพระองค์อย่างที่พระองค์เป็น   มิใช่อย่างที่เราต้องการให้พระองค์เป็น!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

23 สิงหาคม 2556

พันธกิจคริสตจักร...ที่คริสตจักรละเลย

ครอบครัว:  ผู้สร้างผลกระทบทางความเชื่อของผู้คนในคริสตจักร
อ่านเฉลยธรรมบัญญัติ 6:6-9


การวางรากฐานและการบ่มเพาะฟูมฟักชีวิตคริสตชนให้เติบโตขึ้นเป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้นทุกวันเป็นพันธกิจรากฐานที่คริสตจักรทุกคริสตจักรจะต้องกระทำด้วยความรับผิดชอบ   และการหว่าน เพาะเมล็ดแห่งพระวจนะลงในชีวิตของผู้คนในชุมชนคริสตจักรแต่ละคนเป็นก้าวสำคัญก้าวแรกของการอภิบาลสร้างเสริมชีวิตคริสเตียน

การหว่าน เพาะ และฟูมฟักดังกล่าวมิใช่เป็นเรื่อง “รวีวารศึกษา”   การเรียนพระคัมภีร์ในชั้นเรียนวันอาทิตย์   และการฟังเทศนาในการนมัสการพระเจ้าเช้าวันอาทิตย์เท่านั้น   แต่เป็นการหว่าน เพาะ และฟูมฟักเมล็ดแห่งพระวจนะในทุกมิติชีวิตของแต่ละคน   ให้มีชีวิตพระคริสต์ที่เติบโตขึ้นในชีวิตส่วนตัวของตน   ให้เติบโตขึ้นในการดำเนินชีวิตตามพระวจนะ   ให้เป็นชีวิตที่เต็มใจบริการรับใช้ผู้คนในชุมชนด้วยความรักเมตตาของพระคริสต์   ให้มีชีวิตที่สำแดงพระคริสต์ที่ผู้อื่นเห็นและสัมผัสได้ในชีวิตประจำวัน   และเข้าร่วมสามัคคีธรรมด้วยการเอาใจใส่เกื้อหนุนชีวิตของกันและกันในชุมชนคริสตจักร   ด้วยการนำของประทานที่ตนได้รับจากพระเจ้ามาพัฒนาให้เป็นทักษะความสามารถ  และใช้ในงานรับใช้ทั้งในคริสตจักรและสังคมชุมชน

มากยิ่งกว่านั้น   การเติบโตขึ้นของชีวิตคริสตชนมิได้เกิดขึ้นด้วยการกระทำและกิจกรรมต่างๆ ในคริสตจักรเท่านั้น   แต่พระคัมภีร์ได้บ่งชี้ชัดเจนว่า  แบบอย่าง และการฟูมฟักชีวิตผู้เชื่อในบ้านและครอบครัวเป็นการวางรากฐานพระวจนะ  และการบ่มเพาะ  ฟูมฟักชีวิตคริสตชนที่สำคัญยิ่ง   ในปัจจุบันนี้  จะมีสักกี่คริสตจักรในประเทศไทยที่เอาใจใส่ช่วยให้พ่อแม่และผู้ใหญ่ในครอบครัวเอาใจใส่จริงจังต่อการวางรากฐานพระวจนะ และ การบ่มเพาะ ฟูมฟักชีวิตคริสเตียนแก่บุตรหลานของตนในบ้าน?    การวางรากฐานพระวจนะในชีวิตของลูกหลานมิใช่การอ่านพระคัมภีร์  การนมัสการ  หรือการบ่นว่าเท่านั้น    แต่พระคัมภีร์ชี้ชัดว่าการหว่าน บ่มเพาะพระวจนะ และฟูมฟักชีวิตคริสตชนในลูกหลานนั้น   เป็นการที่จะช่วยให้พระวจนะนั้นแทรกซึมไปในทุกมิติของชีวิต   และเป็นแหล่งพลังการดำเนินชีวิตทั้งชีวิตของบุตรหลาน   ในเฉลยธรรมบัญญัติ 6:6-7 กล่าวชัดเจนว่า

6จงให้บทบัญญัติทั้งปวงที่ข้าพเจ้าแจ้งท่านในวันนี้อยู่ในใจของท่าน
7จงพร่ำสอนบทบัญญัติเหล่านี้แก่บุตรหลานของท่าน
  จงพูดถึงบทบัญญัติเหล่านี้ขณะอยู่ที่บ้าน   ขณะเดินไปตามทาง   ขณะที่นอนลงหรือลุกขึ้น
8จงผูกไว้ที่มือเป็นสัญลักษณ์ และ คาดไว้ที่หน้าผาก
9จงเขียนไว้ที่วงกบประตู และ ที่ประตูรั้วของท่าน   (อมตธรรม)
จงอบรมเด็กในทางที่เขาควรจะไป
เมื่อเขาโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้น  เขาจะไม่หันเหไปจากทางนั้น
(สุภาษิต 22:6 อมตธรรม)

นี่คือความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ของพ่อแม่และครอบครัวในการหว่าน เพาะพระวจนะ และ ฟูมฟักเลี้ยงดูชีวิตคริสตชนของผู้คนในบ้าน   และนี่เป็นพระประสงค์ของพระเจ้า   เป็นพันธกิจที่พระเจ้าทรงมอบหมายและบัญชาแก่เราผู้เป็นพ่อแม่และผู้นำในครอบครัวที่จะต้องกระทำด้วยความรับผิดชอบ

แต่ก็เป็นความจริงอย่างที่พ่อแม่ผู้ปกครองในปัจจุบันบ่นกันว่า   “เราเลี้ยงให้เขาเติบโตขึ้นด้านร่างกายได้   แต่เราไม่สามารถที่จะเลี้ยงดูจิตใจของลูกหลาน”   พ่อแม่คริสตชนที่ดีหลายคนที่ต้องทุกข์ใจกับลูกหลานที่ตัดสินใจเลือกทางดำเนินชีวิตที่ผิดพลาด   แต่ก็มีเด็กอีกหลายคนที่ชีวิตท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย   แต่เขากลับพบทางสว่างแล้วหันมาดำเนินชีวิตตามวิถีทางขององค์พระผู้เป็นเจ้า

พระเจ้าได้มอบหมายภารกิจชีวิตที่สำคัญยิ่งแก่ผู้เป็นพ่อแม่และผู้ปกครองในครอบครัว   ในการที่จะต้องดำเนินชีวิตที่เป็นแบบอย่างตามพระวจนะแก่ผู้คนในบ้าน   มิใช่เป็นแบบอย่างชีวิตตามกระแสสังคมในปัจจุบัน   หรือมิใช่เป็นแบบอย่างชีวิตตามสติปัญญาหรือใจปรารถนาของตนเอง   แต่การเป็นพ่อแม่คริสตชนที่ดีนั้นต้องวางรากฐานชีวิตแก่บุตรหลานและคนในบ้านด้วยการดำเนินชีวิตที่เป็นแบบอย่างตามพระวจนะของพระเจ้า(ซึ่งมีพลังและสร้างอิทธิพลต่อชีวิตผู้คนในบ้านหลายสิบหลายร้อยเท่า)   ซึ่งการดำเนินชีวิตตามพระวจนะของพระเจ้าเราพึ่งพิงในพระกำลัง  การทรงนำ  พระปัญญา  และพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่เคียงข้างและพร้อมหนุนเสริมเราทุกขณะ   ดังนั้น   พ่อแม่/ผู้ปกครองจึงต้องมีชีวิตที่อธิษฐานติดสนิทกับพระเจ้าในทุกกรณี   และต้องใคร่ครวญพิจารณาการดำเนินชีวิตของตนเองต่อพระพักตร์พระเจ้าทุกวัน   ให้การปรึกษาบนรากฐานแห่งพระวจนะแก่คนในครอบครัว   และกระตุ้นหนุนเสริมให้คนในครอบครัวได้คิดพิจารณา  เลือก  และตัดสินใจตามหลักการตามพระวจนะและพระประสงค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า

ประเด็นสำคัญที่เราต้องพิจารณาจริงจังร่วมกันคือ   คริสตจักรท้องถิ่นได้ตระหนักในความสำคัญในบทบาทนี้ของพ่อแม่/ผู้ปกครองที่ร่วมในชุมชนคริสตจักรหรือไม่?    ศิษยาภิบาล  คณะธรรมกิจคริสตจักร  คณะผู้ปกครอง ได้มีแผนการ กิจกรรมอะไรบ้างที่จะเตรียม เสริมสร้างความพร้อม  และการหนุนเสริมพ่อแม่ในการกระทำภารกิจอันสำคัญยิ่งจากพระเจ้าให้สำเร็จตามพระประสงค์ของพระองค์ในแต่ละครอบครัวของตน?  

คริสตจักรต้องตระหนักชัดว่า   คริสตชนแต่ละคนเข้มแข็ง   ครอบครัวเข้มแข็ง   และคริสตจักรเข้มแข็ง!

ถ้าคริสตจักรท้องถิ่นประสงค์ให้สมาชิกแต่ละคนเป็นคริสตชนที่ประกาศพระนามพระคริสต์   ต้องเริ่มต้นที่การเอาใจใส่ทุ่มเทในการเสริมสร้างสมาชิกให้หยั่งรากลึกลงในพระวจนะ  และฟูมฟักเลี้ยงดูให้เป็นคริสตชนที่มีชีวิตแบบพระคริสต์มากขึ้นทุกวัน!   และสิ่งนี้กระทำได้อย่างดีในชีวิตครอบครัว

คริสตจักรท้องถิ่น   คริสตจักรภาค   และสภาคริสตจักรจะต้องหันกลับมาเอาใจใส่ในภารกิจสำคัญที่พระเจ้าทรงมอบหมายให้เรารับผิดชอบต่อพระองค์ร่วมกัน   คริสตจักรจะมีวิธีการ  ขั้นตอน  และกระบวนการอย่างไรบ้างที่จะเตรียมและเสริมสร้าง  และหนุนช่วยสมาชิกคริสตจักรแต่ละคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งแต่ละครอบครัวให้มีชีวิตที่หยั่งรากลึกลงในพระวจนะของพระเจ้า   เพื่อชีวิตคริสตชนจะเติบโต เข้มแข็งอย่างพระคริสต์

  1. คริสตจักรจะช่วยครอบครัวทั้งหลายในคริสตจักร   ทำหน้าที่วางรากฐานชีวิตคนในครอบครัวบนพระวจนะของพระเจ้าได้อย่างไร   สมาชิกคริสตจักรแต่ละครอบครัวต้องการการเตรียม  การช่วยเหลือ  และการหนุนเสริมเช่นไรบ้างจากคริสตจักร?
  2. คริสตจักรจะเอาจริงเอาจังในเรื่องที่ตนได้ละเลยนี้อย่างไร?   ทำอย่างไรที่พ่อแม่/ผู้ปกครองครอบครัวต่างๆ ในคริสตจักรมีโอกาสได้มาพูดคุย แบ่งปัน ปรึกษา   อธิษฐานร่วมกัน   หาทางออกที่ถูกต้องเหมาะสมด้วยกัน?
  3. คริสตจักรจะเป็นแหล่งเสริมสร้างความเชื่อและความเข้าใจในเรื่องการหว่าน และ บ่มเพาะเมล็ดพระวจนะ  และฟูมฟักเลี้ยงดูชีวิตคริสตชนในครอบครัวแก่พ่อแม่/ผู้ปกครองในครอบครัวได้อย่างไร?
  4. คริสตจักรจะช่วยกันแสวงหา หรือ จัดทำเครื่องมือ  วิธีการ  ขั้นตอนต่างๆ สำหรับพ่อแม่/ผู้ปกครองครอบครัวจะนำไปใช้ในครอบครัวของตนอย่างไร?
  5. คริสตจักรจะทำหน้าที่กระตุ้นหนุนเสริมให้แต่ละครอบครัวได้เอา “เครื่องมือ วิธีการ และขั้นตอน” ข้างต้นไปใช้ในครอบครัวจริงจังได้อย่างไร?
  6. คริสตจักรท้องถิ่นจะเป็นตัวกลางประสานให้เกิดครอบครัวคู่มิตร   ที่จะเป็นทั้งคู่คิด  คู่ทำ คู่เรียนรู้ด้วยกันเพื่อที่จะกระตุ้น  เสริมหนุน  และอภิบาลกันและกันได้อย่างไร?
  7. คริสตจักรท้องถิ่นจะพร้อมให้การปรึกษา   เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ของครอบครัวต่างๆ ที่เอาใจใส่หว่าน บ่มเพาะพระวจนะ  และฟูมฟักเลี้ยงดูชีวิตคริสตชนแบบพระคริสต์แก่คนในบ้าน    และนำประสบการณ์ที่ได้รับเหล่านั้นในการปรับประยุกต์ในครอบครัวอื่นๆ ได้อย่างไร?


นี่เป็นพันธกิจการเสริมสร้างศักยภาพพ่อแม่/ผู้ปกครอง  ที่คริสตจักรไม่ควรจะละเลย!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

พระคุณพระเจ้า...พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงชีวิต

อ่าน โรม 5:1-5

พระคุณของพระเจ้า  เป็นพลังแห่งแผนการและพระราชกิจของพระเจ้าที่ทรงมีสำหรับชีวิตของเราให้มีคุณภาพชีวิตตามการทรงสร้างแต่แรกเริ่ม     ที่มิใช่เพราะเราร้องขอพระองค์ให้ช่วยกระทำเพื่อเรา   แต่เป็นพระราชกิจแห่งความรักเมตตาของพระองค์ที่ทรงกระทำตามแผนการที่พระองค์มีเพื่อชีวิตของเรา   เมื่อเรายอมที่จะเปิดชีวิตของเราให้พระองค์เข้ามารื้อถอน  เปลี่ยนแปลง  สร้างใหม่ตามแผนการของพระองค์

เมื่อพูดถึงเรื่องพระคุณของพระเจ้า   ซึ่งเป็นหลักการความเชื่อศรัทธาของคริสตชนเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตที่มิได้ขึ้นอยู่กับผลการกระทำของตนเอง   แต่เป็นการที่พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจแห่งการทรงช่วยให้เราหลุดรอดออกจากอำนาจแห่งความบาปชั่วในรูปแบบต่างๆ   ชีวิตของคริสตชนจึงมิได้ถูกอำนาจบาปครอบงำให้กระทำชั่วต่อไป   พระคริสต์ทรงช่วยคนบาปให้สามารถแหวกออกจากกรงเล็บปีศาจ   ไม่ต้องมีชีวิตตามอำนาจที่บังคับให้ชีวิตของเราต้องวนเวียนในวงจรอุบาทว์ของความบาปต่อไป    แต่เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการเปลี่ยนแปลงใหม่ในชีวิต    และนี่เป็นพระคุณของพระเจ้าที่มีสำหรับชีวิตของเรา  

พระองค์ทรงเลือกเรา ช่วยเรา มิใช่เพราะเราเป็นคนดีกระทำถูกต้อง    แต่พระองค์เข้ามาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเราเพราะพระองค์ทรงรักและเมตตาเราประสงค์ที่จะฉุดช่วยเราออกจากการครอบงำของอำนาจบาป  และ ให้เราเข้ามามีชีวิตภายใต้การปกป้องคุ้มครองแห่งความรักเมตตาของพระองค์   ที่เปาโลเรียกว่า ชีวิตในพระคริสต์   หรือในพระกิตติคุณเรียกว่า แผ่นดินสวรรค์ หรือ แผ่นดินของพระเจ้า   ทั้งสิ้นนี้หมายความว่า   เมื่อชีวิตของเราได้รับการทรงฉุดให้หลุดรอดออกจากอำนาจของความบาปชั่วในรูปแบบต่างๆ แล้ว   เราจะต้องเข้ามาอยู่ภายใต้การคุ้มครองปกป้องของพระเยซูคริสต์  เพื่อรับการเยียวยารักษาบาดแผลที่เป็นผลจากอำนาจของความบาปชั่ว   แล้วทรงเปลี่ยนแปลงหลักคิดหลักเชื่อของเรา   ทรงเปลี่ยนแปลงมุมมอง  ทัศนคติ  วิธีรับรู้ในชีวิตของเราให้เป็นกระบวนการคิด  การตัดสินใจ  และการจัดการชีวิตบนรากฐานแห่งพระคุณของพระองค์  กระบวนการนี้เปาโลใช้คำว่า  เราได้รับการทรงชำระด้วยความเชื่อ (ข้อ 1)  และนี่ก็เป็นพลังแห่งพระคุณของพระเจ้าในอีกมิติหนึ่ง

พระคุณของพระเจ้าเป็นพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงและการสร้างใหม่ในชีวิตของผู้ที่เข้ามาอยู่ภายใต้การปกป้องคุ้มครองของพระคริสต์   เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงและเสริมสร้างชีวิตของเราให้มีคุณภาพตามชีวิตในแผ่นดินของพระเจ้า   การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนในด้านต่างๆ ที่สำคัญคือ

  • เปลี่ยนจากสถานภาพทาสรับใช้ของอำนาจแห่งความบาปชั่ว   มาสู่การเป็นบุตรของพระเจ้า
  • เปลี่ยนจากสภาพชีวิตบาดเจ็บเต็มด้วยบาดแผลในชีวิต จิตใจ และจิตวิญญาณ   แต่ได้รับการเยียวยาจากความรักเมตตาของพระองค์ทั้งโดยตรงและผ่านชุมชน   คริสตชนและคริสตจักร
  • ปรับเปลี่ยนสัมพันธภาพของเรากับพระเจ้าใหม่ให้ชีวิตของเราใกล้ชิดติดสนิทกับพระองค์  และตระหนักเสมอว่า  พระคริสต์ทรงเคียงข้างการดำเนินชีวิตของเราตลอดเวลา
  • เรามิได้ดำเนินชีวิตในพระคริสต์ หรือ ในแผ่นดินของพระเจ้า  ด้วยพลังความสามารถของเราเอง   แต่ด้วยพระกำลังของพระเจ้าที่สำแดงผ่านทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ ที่เคียงข้างชีวิตของเราเสมอ
  • มีมุมมองใหม่  ทั้งโลกทัศน์  ชีวทัศน์  รวมไปถึงสังคมทัศน์  เศรษฐทัศน์  ที่ทำให้เรามองชีวิตที่เราต้องเผชิญหน้าอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันว่าเป็นกระบวนการรับการเสริมสร้างจากพระเจ้า   เรามองความทุกข์ว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะเสริมสร้างชีวิตของเราให้เข้มแข็งอดทน  และนำสู่การเกิดผลในชีวิตมากยิ่งขึ้น
  • มีมุมมองว่า   ชีวิตที่เราเป็นอยู่ในทุกวันนี้เป็นชีวิตที่ “อยู่ภายใต้ร่มพระคุณของพระเจ้า”   ที่เราอยู่ด้วยการทรงปกป้องคุ้มครองจากความรักเมตตาของพระคริสต์   และมีเป้าหมายชีวิตอยู่เพื่อมีชีวิตที่ดำเนินไปตามพระประสงค์ของพระเจ้า   และมีชีวิตที่มีพระเจ้าทรงเป็นใหญ่ที่สุดในชีวิตของตน
  • มีมุมมองว่า  การมีชีวิตอยู่ทุกวันนี้เป็นชีวิตที่มีความชื่นชมยินดีในพระเยซูคริสต์    ที่มีความชื่นชมยินดีมิใช่เพราะสภาพแวดล้อมชีวิตที่ดี  ที่เราพึงพอใจ  ที่เป็นไปตามใจปรารถนาของเรา   แต่ที่ชีวิตของเราชื่นชมยินดีเพราะเราพบกับคุณค่าและความหมายใหม่ในพระเยซูคริสต์   แม้ว่าในสถานการณ์แวดล้อมที่มีความสุขสงบ หรือทุกข์ยากลำเค็ญก็ตาม
  • เกิดการปรับเปลี่ยนความหวังในชีวิต   จากความหวังว่าชีวิตของเราจะเป็นไปตามที่เราปรารถนาคาดหวัง   เป็นความหวังที่เราจะมีส่วนในความสำเร็จในชีวิตแห่งแผ่นดินของพระเจ้า  แต่ ความหวังใหม่ของเราคือ  การที่จะมีชีวิตรับใช้ตามพระประสงค์ของพระเจ้า


ทุกวันนี้  เราท่านดำเนินชีวิตในแต่ละวันด้วยพลังอะไร?   ด้วยพลังแห่งพระคุณของพระเจ้า  หรือด้วยพลังแห่งใจปรารถนาของตนเอง?   เราขับเคลื่อนไปสู่ความหวังตามใจปรารถนาของเรา  หรือมุ่งหน้าไปสู่ชีวิตตามพระประสงค์ในชีวิตของเรา?

ทุกวันนี้การดำเนินชีวิตประจำวันของเราเป็นไปด้วยความรู้สึกหนักอึ้งตีบตัน   หรือขับเคลื่อนไปด้วยความเชื่อมั่นและไว้วางใจว่า  ทุกก้าวเดินชีวิตในวันนี้พระเจ้าทรงเปิดเผยพระประสงค์ของพระองค์ในชีวิตของเรา   เราจึงมุ่งหน้าไปด้วยความหวังและชื่นชมยินดี   แม้สถานการณ์รอบข้างจะเลวร้ายทุกข์ยากอย่างไรก็ตาม

ทุกวันนี้เรารู้สึกว่าการดำเนินชีวิตในแต่ละวันของเรามีแต่ความโดดเดี่ยวว้าเหว่   หรือเราตระหนักและสัมผัสได้ว่าในแต่ละเหตุการณ์   ในแต่ละช่วงตอนในชีวิตมีพระคริสต์เคียงข้าง   และพระวิญญาณบริสุทธิ์ช่วยให้เรามีพลังก้าวไปทีละก้าวด้วยความไว้วางใจ และมั่นใจว่าเราจะสามารถเผชิญหน้าสถานการณ์ดังกล่าวและผ่านสถานการณ์ดังกล่าวอย่างมีคุณค่าและความหมายสำหรับชีวิตวันนี้ของเรา

วันนี้พระเจ้าทรงชี้นำเส้นทางชีวิตที่เราจะต้องเดินไป   พระคริสต์ทรงเคียงข้างเราในทุกย่างก้าวชีวิต   และพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงหนุนเสริมเพิ่มพลังชีวิตแก่เราตลอดวันและในทุกเหตุการณ์น้อยใหญ่

วันนี้เป็นวันที่เราจะขับเคลื่อนชีวิตของเราไปด้วยพลังแห่งพระคุณครับ!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

19 สิงหาคม 2556

เมื่อชีวิตต้องเจ็บปวดอย่างอยุติธรรม

ถึงแม้ว่าเราสามารถที่มั่นใจพระเจ้าว่า พระองค์ทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์เพื่อให้เกิดสิ่งดีในชีวิตของเราและในชีวิตของคนอื่นๆ   แม้ในสถานการณ์ที่ชีวิตเราต้องอยู่ท่ามกลางการทดลองหรือเผชิญหน้ากับความทุกข์ยากก็ตาม   แต่เราก็ไม่สามารถที่จะรู้ชัดเจนทุกครั้งไปว่าอะไรคือสิ่งดีที่พระเจ้าทรงกระทำในในสถานการณ์เหล่านั้น   ในหลายกรณีที่เราไม่สามารถประจักษ์แจ้งชัดว่าในที่สุดแล้วอะไรคือพระประสงค์สำหรับชีวิตของเราเป็นเวลายาวนาน   และในบางสถานการณ์เป้าหมายปลายทางแห่งพระประสงค์ของพระองค์ยังเป็นสิ่งที่ล้ำลึกมากสำหรับความเข้าใจของเรา   และบางครั้งจะเข้าใจชัดเจนได้เมื่อเราได้อยู่หน้าต่อหน้ากับพระเจ้า (อ่าน โรม 11:33-36)    อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ไม่ควรที่จะทำให้ความเชื่อมั่น และ ความตั้งใจที่จะเชื่อฟังองค์พระผู้เป็นเจ้าของเราลดน้อยจืดจางลง  ดังพระธรรมเฉลยธรรมบัญญัติ 29:29 กล่าวไว้ว่า 

29 สิ่ง​ลี้​ลับ​ทั้ง​ปวง​เป็น​ของ​พระ​ยาห์​เวห์​พระ​เจ้า​ของ​เรา​ทั้ง​หลาย
แต่​สิ่ง​ที่​ทรง​สำแดง​นั้น​เป็น​ของ​เรา​ทั้ง​หลาย​และ​ของ​ลูก​หลาน​ของ​เรา​เป็น​นิตย์
เพื่อ​เรา​จะ​ทำ​ตาม​ถ้อย​คำ​ทั้ง​สิ้น​ของ​ธรรมบัญญัติ​นี้” (มตฐ)

ข้อความข้างต้นนี้เป็นกุญแจที่บอกเราถึงการที่เราจะต้องเผชิญหน้าและรับมือกับสถานการณ์ชีวิตที่ต้องได้รับความเจ็บปวดอย่างไม่เป็นธรรม   พระเจ้าอาจจะไม่ได้บอกทุกสิ่งทุกเรื่องที่เราต้องการที่จะรู้  โดยเฉพาะความเจ็บปวดที่เรากำลังรับในชีวิต   แต่พระองค์ได้บอกแก่เราแล้วในทุกเรื่องที่เราจำเป็นต้องรู้ในการดำรงชีวิตของเรา   ดังนั้น  แทนที่เราจะเสียเวลาและพลังชีวิตของเรากับการว้าวุ่นและวุ่นวายใจและครุ่นคิดไตร่ตรองในเรื่องที่เหนือความเข้าใจของเรา   แต่ให้เรามุ่งมองให้ความสนใจกับพระสัญญาและพระวจนะของพระองค์ที่พระเจ้าได้เปิดเผยแก่เราแล้ว   พระวจนะของพระเจ้าได้บอกแก่เราแล้วว่า   พระเจ้าทรงครอบครอง ปกครอง  และทรงประทานสิ่งต่างๆ ให้แก่เรา   ดังนั้น   เราจึงมั่นใจได้ว่าอะไรก็ตามที่พระองค์อนุญาตให้เกิดขึ้นแก่ชีวิตของเราย่อมเป็นสิ่งที่สามารถจะนำมาซึ่งการถวายเกียรติแด่พระเจ้า   ก่อเกิดประโยชน์แก่คนอื่นรอบข้าง   และช่วยตัวเราเองให้เติบโตขึ้น

ท่านกำลังมีความเจ็บปวดในชีวิตหรือ?   มีสถานการณ์ใดในชีวิตของท่านที่ท่านไม่เข้าใจว่าทำไมสิ่งเลวร้ายนี้เกิดขึ้นในชีวิตของท่าน?  

เมื่อเราไว้วางใจพระเจ้าด้วยสุดจิตสุดใจ   เราไว้วางใจพระองค์ใน “เรื่องล้ำลึก” ที่เกิดขึ้นแก่เรา  

ประการแรก  ให้เราทบทวนและระลึกถึงสิ่งต่างๆ ที่พระเจ้าเคยกระทำในชีวิตของเรามาแล้วก่อนหน้านี้   รวมถึงการที่พระคริสต์ทรงฉุดช่วยเราให้รอดออกจากจากอำนาจแห่งความบาปในรูปแบบต่างๆ   และทรงปกป้อง  คุ้มครอง  ทรงสร้างเราขึ้นใหม่  และนำเราไปในทางของพระองค์

ประการต่อมาให้เรามุ่งมั่นความตั้งใจของเราในการเชื่อฟังในสิ่งที่ทรงเปิดเผยของพระเจ้า  เมื่อนั้นเราจะมีประสบการณ์ความสงบภายในชีวิตของเรา (อ่านสดุดี บทที่ 131)  และเห็นถึงการทรงปกป้องและน้ำพระทัยอันดีที่มีแก่ชีวิตของเรา (สุภาษิต 26:4)

1 ข้า​แต่​พระ​ยาห์​เวห์ ใจ​ของ​ข้า​พระ​องค์​มิ​ได้​เห่อ​เหิม
และ​ตา​ของ​ข้า​พระ​องค์​มิ​ได้​ยโส
ข้า​พระ​องค์​มิ​ได้​ไป​ยุ่ง​กับ​เรื่อง​ใหญ่​โต
หรือ​เรื่อง​อัศจรรย์​เกิน​ตัว​ของ​ข้า​พระ​องค์
2 แต่​ข้า​พระ​องค์​ได้​สงบ​และ​ระ​งับ​จิต​ใจ​ของ​ข้า​พระ​องค์
อย่าง​เด็ก​ที่​หย่า​นม​แล้ว​สงบ​อยู่​ที่​อก​มาร​ดา​ของ​ตน
จิต​ใจ​ของ​ข้า​พระ​องค์​สงบ​อยู่​ภาย​ใน​ข้า​พระ​องค์ อย่าง​เด็ก​ที่​หย่า​นม​แล้ว (ข้อ 1-2 มตฐ)
4 เพราะ​พระ​องค์​ทรง​เป็น​ที่​คุ้ม​ภัย​สำ​หรับ​คน​ยาก​จน
เป็น​ที่​คุ้ม​ภัย​สำ​หรับ​คน​ขัด​สน​เมื่อ​เขา​ทุกข์​ใจ
เป็น​ที่​กำ​บัง​จาก​พายุ​และ​เป็น​ร่ม​กัน​ความ​ร้อน
เพราะ​การ​ทำ​ร้าย​ของ​คน​ทา​รุณ​ก็​เหมือน​พายุ​ซัด​กำ​แพง (สุภาษิต 26:4 มตฐ)


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

16 สิงหาคม 2556

ประสบการณ์ 10 ประการในการรับมือกับความขัดแย้ง

“ฉันนะรักมนุษย์...แต่ฉันทนไม่ได้กับมนุษย์...”

คำกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นถึงว่า   ในทางทฤษฎีความสัมพันธ์ของเรากับคนอื่นเริ่มต้นจากสิ่งที่น่าชื่นชม  และในความเป็นจริงความสัมพันธ์อาจจะทำให้เกิดความยุ่งยากลำบากก็ได้   แต่ไม่มีสิ่งใดที่ให้ความสำเร็จในชีวิตได้มากเท่ากับการที่เราสามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้

แต่ก็ไม่มีอะไรที่สร้างความลำบากยุ่งเหยิงยิ่งไปกว่าเมื่อความสัมพันธ์ต้องพบกับความขัดแย้ง   แต่ก็แน่นอนครับ   ในการเผชิญรับมือกับความสัมพันธ์ที่ขัดแย้งมีทั้งวิธีการที่เสริมสร้าง และ แนวทางที่ทำลาย   มีแนวทาง 10 ประการที่ขอแบ่งปันในเรื่องนี้

1.  เชื่อในหลักการ 101%

หลักการ 101% คือ  ในความสัมพันธ์ที่ขัดแย้ง “ขอให้ท่านหาพบสิ่งที่ท่านเห็นด้วยกับคู่กรณีเพียง 1% แต่ให้กำลังความพยายามทุ่มเทของท่าน 100%

Cullen Hightowerเคยเขียนไว้ว่า  “มีเรื่องมากมายที่เราถกเถียงกัน   แต่มีน้อยเรื่องนักที่เราเห็นพ้องกัน”   สิ่งแรกที่เป็นการตอบสนองที่ดีที่สุดเมื่อความสัมพันธ์ของเรา เกิดความขัดแย้ง คือท่านทุ่มเทค้นหาในส่วนที่ต่างฝ่ายต่างเห็นด้วยกันก่อน   ด้วยวิธีนี้จะช่วยให้ความขัดแย้งสามารถมุ่งหน้าขับเคลื่อนไปสู่ข้อสรุป

2.   รักคนมากกว่ารักความคิดเห็น

ท่านเคยพบคนที่ทำตรงกันข้ามกับข้อความข้างต้นบ้างไหม?   แล้วเขาคนนั้นต้องพบกับความขัดแย้งในชีวิตมากน้อยแค่ไหน?   สำหรับผมเชื่อว่า ใครก็ตามที่รักความคิดเห็นของตนเองมากกว่าความคิดเห็นของเพื่อน เขาคนนั้นจะปกป้องความคิดเห็นของตนและทำลายมิตรภาพของเขา   ให้เราให้ความสำคัญกับสัมพันธภาพมากกว่าและเหนือกว่าประเด็นที่เราถกเถียงขัดแย้ง   กล่าวคือเราจะไม่ปกป้องความคิดความเห็นของเราเป็นสิ่งที่ความสำคัญที่สุดแต่การปกป้องความคิดความเชื่อของเราเป็นการ “ย่ำยี” ความสัมพันธ์และ “หัวใจ” คนที่เราสัมพันธ์สื่อสารด้วย   แล้วท่านจะรักษาช่องทางที่เขาจะสื่อสารสัมพันธ์กับเพื่อนของท่านไว้ได้อย่างไร?   และเมื่อช่องทางสื่อสารสัมพันธ์ถูกตัดหรืออุดตันความขัดแย้งก็จะรุนแรงขึ้น   ดังนั้น  ให้เรารักคนมากกว่ารักความคิดครับ

3.  ยกประโยชน์แก่คู่ขัดแย้งในเรื่องที่สงสัย

เมื่อเราจะต้องจัดการตนเองให้เราจัดการด้วย “หัว” หรือ “สมอง” ของเรา   แต่ถ้าเราจะต้องรับมือหรือจัดการผู้อื่นให้เรากระทำด้วย “หัวใจ” ของเรา   แต่โดยทั่วไปแล้วคนส่วนมากทำตรงกันข้ามตามที่กล่าว   ขอให้เราหลีกเลี่ยงกับดักดังกล่าวที่ไปคาดหวังความสมบูรณ์แบบในตัวคนอื่น   ให้เราคิดก่อนว่าคนที่เรามีความขัดแย้งด้วยมีความตั้งใจดี    การทำเช่นนี้จะช่วยลดความแรงจากอาการการปกป้องตนเอง   ทำให้ทั้งสองฝ่ายพยายามมุ่งไปสู่การแก้ปัญหาที่มีอยู่ข้างหน้านั้น

4.  เรียนรู้ที่จะเป็นคนยืดหยุ่น

คำกล่าวที่รู้จักกันดีของ  Thomas Jefferson ว่า  “ในเรื่องของหลักการ  จงยืนมั่นคงดั่งศิลา   แต่ถ้าเป็นเรื่องของความพอใจ  จงปล่อยตัวไปตามกระแส”   ให้ถามตัวเราในคำถามที่สำคัญสองประการดังนี้  “สิ่งที่เรากำลังเอาเป็นเอาตายในความขัดแย้งจะสร้างความแตกต่างจากที่เป็นอยู่ปัจจุบันมากน้อยแค่ไหน?”   และ   “เราจะต้องห่วงกังวลในเรื่องที่เราขัดแย้งกันในพรุ่งนี้หรือไม่?”   ถ้าคำตอบคือ “ไม่”  ให้เราประนีประนอมหรือออมชอมกันเถิด

5.   เปิดทางออกให้คู่ขัดแย้ง

ในการรับมือกับความโกรธของลูกค้าที่มารับบริการ   หลายบริษัทได้ให้หลักการสำคัญแก่ลูกน้องของตนเองว่า  “ต้องไม่ทำให้ลูกค้าเสียหน้า”   เพราะบ่อยครั้งคนให้บริการในบริษัทมุ่งเน้นที่จะเอาชนะด้วยการพิสูจน์ว่าตนไม่ได้ผิดแต่ลูกค้าเป็นฝ่ายผิด   เป็นเหมือนการต้อนให้ลูกค้าจนมุม   แต่หลักการของเขาคือ  ไม่ทำให้ลูกค้าต้องเสียหน้า   ในความขัดแย้งเราต้องเปิดทางออกให้คู่ขัดกรณี

6.   ตรวจสอบมุมมองทัศนคติของตนเอง

โดยปกติเรามักคิดเช่นนี้ว่า   จันทรามีปัญหากับประพันธ์  และจันทราก็มีปัญหากับเกษม  แล้ว จันทราก็มีปัญหากับเสมอใจ   ถ้าอย่างนี้จันทราคงเป็นตัวปัญหา  เมื่อเรามองเช่นนี้และบังเอิญเราต้องไปมีความขัดแย้งกับ จันทรา   และก็จะด่วนสรุปเหมารวมเอาว่า  จันทราเป็นตัวปัญหาในความขัดแย้งกับเราครั้งนี้    แต่เราน่าจะตรวจสอบตนเองว่า   ในความสัมพันธ์ของเราเองกับคนอื่นเกิดความขัดแย้งบ่อยครั้งหรือไม่?   อาจจะเป็นการดีที่เราจะตรวจสอบ  มองตนเองในกระจกว่า  เรามีทัศนคติหรือมุมมองอะไรหรือไม่ที่เป็นสาเหตุก่อเกิดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นบ่อยๆ

7.   อย่าทำเกินกว่าเหตุ (เวอร์)

เมื่อเกิดความขัดแย้ง  สำคัญมากที่เราจะรักษามุมมอง และ การตอบโต้ของเราต่อความขัดแย้งนั้นอย่างเหมาะสม   จริงๆ แล้วประเด็นความขัดแย้งนั้นใหญ่โตแค่ไหน?   ปฏิกิริยาหรือการตอบโต้ของท่านสอดคล้องเหมาะสมกับความรุนแรง และกับประเด็นความขัดแย้งนั้นหรือไม่?    ถ้าไม่  เราอาจจะต้องจัดการกับการตอบสนองของเราต่อความขัดแย้งนั้น หรือ ให้ทบทวนตรวจสอบถึงการตอบโต้ของเราในอดีตที่ผ่านมาด้วย   เพราะถ้าเราตอบโต้ด้วยความขัดแย้งรุนแรงเกินกว่าเหตุ   มันจะพาให้การตอบโต้ของเราคลาดเคลื่อนไปจากประเด็นความขัดแย้งที่เป็นจริงของเรา   สิ่งนี้เราจะต้องจัดการแก้ไขตนเอง

8.   อย่ามุ่งแต่เป็นคนที่ปกป้องตนเอง

ในทางกลับกัน  เรามักเกิดความรู้สึกว่า   ความขัดแย้งทั้งหมดนี้ไม่เกี่ยวกันตนเองเลย   แทนที่ปัญหาความขัดแย้งจะได้รับการแก้ไขจากทั้งสองฝ่าย   เราจะเริ่มเล่นเกม “หาแพะ” รับบาป   เพื่อจะโยนความผิดไปให้คนอื่น    ให้เราหลีกเลี่ยงอาการเช่นนั้นเมื่อเกิดปัญหาและความขัดแย้ง   แล้วเราจะมีมุมมองโปร่งใสชัดเจนขึ้นที่จะรับมือกับปัญหาด้วยเหตุด้วยผลที่เหมาะสม

9.   อ้ามือรับความขัดแย้ง

ถึงแม้เราจะพยายามมากเพียงใดที่จะหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง   แต่เราก็ยังประสบพบเจอการขัดแย้งกับผู้คนอยู่   เพราะเขาไม่ได้เหมือนกับเรา   เขามีบุคลิกลักษณะที่แตกต่างจากเรา  มีความเชื่อ  ความปรารถนาที่แตกต่างจากเรา   ดังนั้นเขาย่อมจะไม่เห็นด้วยกับเราได้และอาจจะเข้าใจผิดได้อีกด้วย   แทนที่เราจะวิ่งหนีจากความขัดแย้ง หรือ ตอบสนองต่อความขัดแย้งนั้นอย่างขยะแขยงกลัวลาน   แต่ให้เรามุ่งเน้นที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งนั้นด้วยกันและสร้างการเรียนรู้ชีวิตด้วยกัน    เราคงต้องเลือกว่า   เราจะให้ความขัดแย้งทำให้เราเป็นแผลในกระเพาะ หรือ ความเข้าใจชีวิตในมุมมองใหม่ๆ

10.   ยอมเสี่ยง

ส่วนนี้เป็นส่วนที่ยากที่สุด  เมื่อพบกับสถานการณ์ที่ที่มีแนวโน้มจะเกิดความขัดแย้ง  อาจจะทำให้เราคิดที่จะไม่ไปสุงสิงสัมพันธ์และไว้วางใจคู่กรณีความขัดแย้งต่อไป   ทั้งนี้ลึกๆ เราบอกกับตนเองว่าเพื่อหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดที่เราจะได้รับ   แต่ความจริงก็คือว่า ทุกคนที่เข้าไปในความสัมพันธ์ต่างก็ได้รับความเจ็บปวดทั้งสิ้น   ให้เราตัดสินใจว่า    เรายอมที่จะเสี่ยงที่อาจจะได้รับความเจ็บปวดในชีวิตแทนที่จะแยกตัวออกห่างจากผู้คน   ดังนั้น  เราจึงเลือกที่จะเข้าพบปะสัมพันธ์กับผู้คนด้วยความเต็มใจ   และเชื่อในสิ่งดีที่สุดในตัวเขาคนนั้น  และไว้วางใจเขา

ความขัดแย้งเป็นส่วนหนึ่งที่เราไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้ในชีวิต   สำหรับประสบการณ์ 10 ประการข้างต้นนี้ไม่สามารถกล่าวได้ว่าจะสามารถรับมือได้ทั้งหมด    แต่พอที่จะใช้เป็นแนวทางสำหรับการเผชิญหน้ากับความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์และเหมาะสม   ที่นำไปสู่การร่วมกันหาทางออกด้วยกัน   ที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายต่างได้รับชัยชนะ

ในทุกความขัดแย้ง   พระคริสต์อยู่ร่วมที่นั่นด้วยครับ   ปรึกษาและคิดไตร่ตรองกับพระองค์สิครับ!


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ระวัง...ความเชื่อที่ไร้ราก

15 คน​เขลา​เชื่อ​ถือ​ทุก​อย่าง
แต่​คน​หยั่ง​รู้​มองดู​ว่า​เขา​กำลัง​ไป​ทาง​ไหน (สุภาษิต 14:15, 1971)
15คน​รู้​น้อย​เชื่อทุก​อย่าง
แต่​คน​สุขุม​พิเคราะห์​ดู​ย่าง​ก้าว​ของ​ตน(สุภาษิต 14:15 มตฐ)
คนอ่อนต่อโลกเชื่อไปหมดทุกอย่าง
แต่คนสุขุมรอบคอบรู้จักยั้งคิดในแต่ละย่างก้าว (สุภาษิต 14:15 อมตธรรม)

เมื่อเราเชื่อในบางสิ่ง  เราก็ไม่ได้เชื่อในทุกสิ่ง  หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง   คนที่เชื่อในทุกสิ่งจริงๆ แล้วเขาไม่ได้เชื่อในสิ่งใดเลย   และนี่คือประเด็นของพระธรรมสุภาษิต 14:15   “คนอ่อนต่อโลกเชื่อไปหมดทุกอย่าง   แต่คนสุขุมรอบคอบรู้จักยั้งคิดในแต่ละย่างก้าว” (อมตธรรม)

เมื่อคนที่เปิดความคิดของเขาออกกว้างและยอมรับทุกเรื่องทุกสิ่งที่เข้ามาถึงเขา   รวมทั้งสัจจะความจริงของพระกิตติคุณ   แท้จริงแล้วเขาแสดงให้เห็นว่า เขามิได้ยึดมั่นความเชื่อในสัจจะเรื่องใดอย่างมั่นคงเลย   และนั่นคือกรอบคิดมุมมองของคนที่อ่อนต่อโลก   แต่ในพระคัมภีร์สำนวนฉบับ 1971 ใช้คำว่า “คนเขลา”

แต่คนสุขุมรอบคอบ  ซึ่งเป็นคนฉลาด เขาจะเป็นคนรู้จักยั้งคิด(อมตธรรม)   พิเคราะห์(มตฐ.) ในแต่ละย่างก้าวของเขา   เพราะเขามีความเชื่ออย่างมั่นคง   เขามีความไว้วางใจที่มีมาตรฐานที่สูงกว่า   คนกลุ่มนี้รู้ซึ้งว่ามิใช่ทุกสิ่งทุกเรื่องที่เป็นสัจจะความจริง   เขาต้องการใช้สติปัญญาที่พระเจ้าประทานแก่เขาในการพินิจพิจารณาว่าอะไรที่เป็นสัจจะความจริง และอะไรบ้างที่ไม่ใช่สิ่งที่น่าเชื่อถือ

ทำให้ผมคิดถึงคำอุปมาเรื่องคนออกไปหว่านเมล็ดพืชที่พระเยซูคริสต์ทรงสอนว่า...
5 (เมล็ดที่หว่าน)บ้าง​ก็​ตก​ใน​ที่​ซึ่ง​มี​พื้น​หิน มี​เนื้อ​ดิน​น้อย จึง​งอก​ขึ้น​อย่าง​เร็ว​เพราะ​ดิน​ไม่​ลึก
6 แต่​เมื่อ​ดวงอาทิตย์ขึ้น​มัน​ก็​ถูก​แผด​เผา จึง​เหี่ยว​ไป​เพราะ​ราก​ไม่​มี
20 และ​เมล็ด​พืช​ซึ่ง​หว่าน​ตก​ใน​ที่​ดิน​ซึ่ง​มี​พื้น​หิน​นั้น ได้​แก่​บุคคล​ที่​ได้​ยิน​พระ​วจนะ แล้ว​ก็​รับ​ทัน​ที​ด้วย​ความ​ยินดี
21 แต่​ไม่​มี​ราก​ลึก​ใน​ตัว​จึง​ทน​อยู่​ชั่ว​คราว และ​เมื่อ​เกิด​การ​ยาก​ลำ​บาก หรือ​การ​ข่ม​เหง​ต่างๆ เพราะ​พระ​วจนะ​นั้น
เขา​ก็​เลิก​เสีย​ใน​ทัน​ที​ทัน​ใด (มัทธิว 13:5-6, 20-21  มตฐ.)

คนที่รับสัจจะคำสอนของพระเยซูคริสต์ทั้งหมดทันที  โดยไม่ได้คิดพิจารณา  ไม่มีการพินิจพิเคราะห์อย่างสุขุมก็เป็นคนที่มิได้เชื่อในสัจจะความจริงของพระเยซูคริสต์อย่างจริงจัง   รับด้วยความตื่นเต้น  รับเชื่อตามเพื่อน   รับเชื่อเพราะถูกโน้มน้าว   แต่มิใช่รับเพราะด้วยการพิเคราะห์อย่างสุขุมรอบคอบในตนเอง   ดังนั้น จึงเป็นการยอมรับพระกิตติคุณที่ไม่ได้มาจากการตัดสินใจที่ยอมเชื่ออย่างมั่นคง   เขาจึงไม่ได้เชื่ออะไรเลย   และเมื่อความทุกข์ยากลำบากเกิดแก่ชีวิตเขา   เขาก็ละทิ้งสัจจะความจริงได้อย่างง่ายดาย

การเป็นคนเข้มแข็งฝ่ายจิตวิญญาณมิได้หมายความว่า เขาคนนั้นจะเชื่อทุกอย่าง  โดยมิได้พินิจ พิเคราะห์สุขุมและรอบคอบก่อนที่จะเชื่อ   เชื่อแบบ “งมงาย”   ทำตัวอย่างไร้เดียงสาพาซื่อ   อย่าเชื่อแบบ “คนเขลา” “คนรู้น้อย”ที่เชื่อทุกอย่าง  หรือ ทำตนเป็น “คนอ่อนต่อโลก”  ที่เชื่อในทุกเรื่องเมื่อสิ่งเหล่านั้นถาโถมเข้ามาในชีวิตของเรา   เพราะความเชื่อแบบ “ไม้หลักปักขี้ควาย”   เป็นการเชื่อสัจจะความจริงของพระกิตติคุณในทุกเรื่องโดยไม่สนใจพินิจพิเคราะห์   เป็นความเชื่อที่มิได้ใช้ปัญญาที่พระเจ้าประทานให้    ดังนั้นความเชื่อของคนเช่นนี้จะปราศจากความมั่นคงแข็งแรง   การที่ใครมีความเชื่อแบบพาซื่อไร้เดียงสาย่อมไม่เป็นที่ถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า   แต่ผู้ที่มีความเชื่อที่มั่นคงจะพิเคราะห์ทุกสิ่งทุกอย่างที่จู่โจมเข้ามาหาตัวเขาอย่างฉลาด สุขุม พินิจพิเคราะห์ และรอบคอบ   แม้จะต้องใช้เวลา   แต่ก็เป็นการหยั่งรากลึกของความเชื่อลงในสัจจะความจริงของพระเจ้า

ความเชื่อที่มั่นคงเป็นความเชื่อที่ประกอบด้วยทั้ง  ความไว้วางใจ   อารมณ์ความรู้สึก   ประสบการณ์  และเป็นความเชื่อที่ใช้ปัญญาที่พระเจ้าประทานให้ด้วย

ความเชื่อเป็นเรื่องของชีวิต   มิใช่เป็นเรื่องเฉพาะแต่อารมณ์ความรู้สึกเท่านั้น   ถ้าเชื่อด้วยอารมณ์ความรู้สึกเท่านั้นความเชื่อของคนๆ นั้นจะแปรปรวนไปตามอารมณ์ความรู้สึกของคนนั้น   เป็นความเชื่อที่ผิวเผิน   เป็นความเชื่อที่ไม่ได้หยั่งรากลึกลงในดินแห่งพระวจนะและไม่มีรากที่เกาะแน่นยึดมั่นในพระประสงค์ของพระเจ้า 
21 จง​พิสูจน์​ทุก​สิ่ง สิ่ง​ที่​ดี​นั้น​จง​ยึดถือ​ไว้​ให้​มั่น (1เธสะโลนิกา 5:21 มตฐ)
จงทดสอบทุกสิ่ง  จึงยึดมั่นในสิ่งที่ดี (1เธสะโลนิกา 5:21 อมตธรรม)

ในวันนี้ทุกสิ่งที่เราคิด เรากระทำ  และทุกสิ่งที่เราแสดงออก เป็นตัวชี้ชัดถึงความเชื่อของเรา   ดังนั้น   ในทุกเรื่องที่เราจะตัดสินใจ   ในทุกย่างก้าวที่เราจะเคลื่อนไป   จงเป็น “คนสุขุมรอบคอบรู้จักยั้งคิดในแต่ละย่างก้าว   อย่างคน “สุขุม” และ “คนหยั่งรู้”   ที่รู้ว่าตนจะก้าวไปทางไหน

แต่ถ้าเวลาใดที่ท่านเกิดความสับสนงุนงงในชีวิต   ไม่รู้จะไปทางทิศใด   อย่าลืมว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเคียงข้างท่านตลอดเวลา   ปรึกษากับพระองค์   ขอการสำแดงและชี้นำ   เพื่อท่านจะพิจารณาแล้วตัดสินใจที่จะเดินไปในทางนั้นด้วยการทรงนำ  ด้วยพระปัญญา  และด้วยพระกำลังจากพระเจ้า

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499