30 กันยายน 2556

พระเจ้ามิได้เรียกท่านเป็นการส่วนตัวเท่านั้น

อ่านเอเฟซัส 4:1-3

เพราะ​ฉะนั้น ข้าพเจ้าผู้​เป็น​นัก​โทษ​โดย​เห็น​แก่​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า
ขอ​วิง​วอน​พวก​ท่าน​ให้​ดำ​เนิน​ชีวิต​สม​กับ​การ​ทรง​เรียก​ที่​ท่าน​ได้​รับ​การ​ทรง​เรียก​มา​นั้น (เอเฟซัส 4:1 มตฐ.)

เมื่อเราอ่านเอเฟซัส 4:1  เรารู้สึกว่าพระธรรมข้อนี้กำลังพูดกับเราเป็นการส่วนตัว   เป็นการกระตุ้นร้องขอให้เราดำเนินชีวิตอย่างสมค่ากับการที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกเรา   และเรารู้สึกได้ว่านี่เป็นการร้องขอของอาจารย์เปาโลจากก้นบึ้งแห่งจิตใจของท่าน   แล้วก็เป็นการที่ท่านพูดกับเราแต่ละคนโดยตรงด้วยความรู้สึกที่สนิทสนม   พระธรรมเอเฟซัส 4:1 ได้กระตุ้นร้องขอให้ท่านและข้าพเจ้าให้ดำเนินชีวิตที่สมค่ากับการทรงเรียกของพระเจ้าในฐานะผู้เชื่อในพระเยซูคริสต์แต่ละคน

แต่ถ้าเราศึกษาเจาะลึกลงในข้อเขียนจดหมายของเปาโลในข้อนี้   ในต้นฉบับภาษากรีก  เราจะสังเกตสิ่งที่เด่นพิเศษที่มีรายละเอียดของข้อความในรูปประโยคในทำนองนี้ว่า “ดังนั้น  ในฐานะที่เป็นนักโทษเพื่อองค์พระผู้เป็นเจ้า   ข้าพเจ้าขอร้องวิงวอนให้ ท่านทุกคน ให้ดำเนินชีวิตให้สมค่ากับการทรงเรียกที่ ท่านทั้งหมด ได้รับ”  ในภาษากรีกคำว่า “ท่าน” คำแรกในประโยคนี้กับ “ท่านคำที่สองต่างเป็นพหูพจน์   เปาโลมิได้กระตุ้นวิงวอนกับคริสตชนเป็นการส่วนตัวแต่ละคน   แต่เป็นการกล่าวกับชุมชนคริสตชนหรือผู้เชื่อ

แน่นอนครับ  คำว่าท่านในพระธรรมตอนนี้อาจจะหมายถึง “ท่านทั้งหลายแต่ละคน” ก็เป็นไปได้   ตัวอย่างเช่นก่อนเลิกเรียนคุณครูบอกกับนักเรียนว่า “นักเรียนต้องล้างมือก่อนรับประทานอาหาร”   คุณครูหมายถึงว่านักเรียนแต่ละคน ต้องล้างมือก่อนรับประทานอาหาร   แต่ในเวลาเดียวกันท่านก็หมายความว่านักเรียนทุกคน ต้องล้างมือก่อนรับประทานอาหารด้วย   จึงเป็นไปได้ว่า เปาโลกำลังพูดกับคริสตชนแต่ละคนแม้คำว่าท่านจะเป็นพหูพจน์   โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้พิจารณาใน 4:7 ที่ว่า  “แต่​ว่า​พระ​คุณ​นั้น​ประ​ทาน ​แก่​เรา​แต่​ละ​คน​ ตาม​ขนาด​ที่​พระ​คริสต์​ประ​ทาน”   เราไม่ปฏิเสธความจริงที่ว่า  เราแต่ละคนได้รับการทรงเรียกจากเบื้องบน   แต่ในเอเฟซัส 4:1 ก็กำลังพูดกับคริสตจักร  หรือ ชุมชนคริสตชนที่อยู่ด้วยกันที่เป็นหนึ่งเดียวกันว่าเราได้รับการทรงเรียกร่วมกันจากองค์พระผู้เป็นเจ้าด้วย

แล้วการทรงเรียกนี้เป็นอะไรกันแน่?   ที่สำคัญที่สุดคือเป็นการทรงเรียกเราทุกคนให้เป็นของพระคริสต์  และมีส่วนร่วมในพระราชกิจแห่งการเสริมสร้าง  การกอบกู้ไถ่ถอน  และการพลิกฟื้นสร้างใหม่ในโลกนี้   เราได้รับการทรงเรียกแล้วตอบสนองร่วมกัน ต่อการทรงเรียกขององค์พระผู้เป็นเจ้า   มิใช่การทรงเรียกและตอบสนองการทรงเรียกเป็นการส่วนตัวเท่านั้น   แต่หัวใจหรือแก่นแท้ในที่นี้คือ เราแต่ละคนที่เข้ามาร่วมกันเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งในพระวรกายของพระคริสต์   ในฐานะที่เป็นสมาชิกในพระวรกายของพระคริสต์จำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งที่เราต้องเชื่อมต่อสัมพันธ์กัน   พึ่งพาอาศัยกัน  และหนุนเสริมกันและกัน   เฉกเช่นอวัยวะต่างๆ ที่ทำงานอย่างสอดคล้องและหนุนเสริมกัน

เมื่อเราอ่านพระธรรมเอเฟซัส 4:1-3 เราจะเห็นถึงสัจจะแก่นสารที่ว่า พระเจ้าทรงเรียกเราแต่ละคนให้ตอบสนองร่วมกันในฐานะชุมชนคริสตชน(ชุมชนคริสตจักร) อย่างเป็นรูปธรรมอย่างไร

แต่ประเด็นที่เชิญชวนท่านโปรดพิจารณาใคร่ครวญในวันนี้คือ  ท่านเคยมีความคิดความเข้าใจที่ว่า...
1. “การทรงเรียกของตนก็เป็นการทรงเรียกของเราทั้งหลาย ด้วย” หรือไม่? 
2. ทำไมท่านถึงคิดและเข้าใจเช่นนั้น?
3. ความคิดและความเข้าใจที่แตกต่างกันนี้ (พระเจ้าทรงเรียกเราแต่ละคนเป็นการส่วนตัวเท่านั้น กับ การทรงเรียกเราเป็นส่วนหนึ่งในการทรงเรียกคนทั้งหลายด้วย)   มีผลต่อพฤติกรรมที่ท่านสำแดงออกในชีวิตประจำวันอย่างไรบ้าง?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

งานอาชีพของฉันเป็นการทรงเรียกหรือไม่?

อ่านเอเฟซัส 4:1-3

เพราะ​ฉะนั้น ข้าพเจ้า​ผู้​เป็น​นัก​โทษ​โดย​เห็น​แก่​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า
ขอ​วิง​วอน​พวก​ท่าน​ให้​ดำ​เนิน​ชีวิต​สม​กับ​การ​ทรง​เรียก​ที่​ท่าน​ได้​รับ​การ​ทรง​เรียก​มา​นั้น (4:1 มตฐ.)

ในฐานะที่เคยเป็นศิษยาภิบาล   คงไม่มีใครสะดุ้งถ้าผมจะบอกว่า พระเจ้าทรงเรียกผมมาทำงานอย่างที่ผมทำในปัจจุบัน   งานวิจัยคริสตจักรและชุมชน   งานหนุนเสริมพัฒนาประสิทธิภาพบุคลากรที่ทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน    ใช่ครับ   เราส่วนใหญ่คุ้นชินกับการทรงเรียกให้เป็นนักบวช หรือ ศาสนาจารย์  ศิษยาภิบาลที่ทำงานในคริสตจักร   แล้วเราจะกล่าวชัดๆ ว่า  อาชีพการเป็นครู  การเป็นแพทย์  พยาบาล  ผู้บริหาร  ภารโรง   คนทำสวน  ช่างไม้   ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า  เกษตรกร  แม่บ้าน  แม่ที่เลี้ยงลูกน้อย  ทนายความ  แม่ค้าชำแหละเนื้อสัตว์ในตลาด  พ่อค้าแม่ขาย  และอีกมากมาย   อาชีพการงานเหล่านี้เป็นการทรงเรียกของพระเจ้าหรือไม่?   แล้วคนที่อาสาสมัครที่ให้เวลาในการเอาใจใส่คนยากคนจน  คนขัดสนล่ะ?   ที่เขาทำงานเหล่านั้นได้รับการทรงเรียกจากพระเจ้าหรือไม่?  อย่างไร?   หรือการงานอาชีพเหล่านี้แตกต่างไปจากการเป็นศิษยาภิบาล  ศาสนาจารย์  หรือนักบวช?

เอเฟซัส 4:1 ชี้ชัดว่า  เราแต่ละคนได้รับการทรงเรียกจากพระเจ้า   ให้เราดำเนินชีวิตประจำวัน “ให้สมค่ากับการทรงเรียก”  ซึ่งเป็นการเรียกร้องให้เราเป็นของพระคริสต์ และ ร่วมในพระราชกิจแห่งการพลิกฟื้นโลกนี้ขึ้นใหม่   ในเมื่ออาชีพการงานของเราเป็นศูนย์กลางในการดำเนินชีวิตของเรา   และแน่นอนครับการที่เราจะตอบสนองอย่างไรต่อการทรงเรียกในอาชีพการงานที่เรารับผิดชอบเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง   และงานอาชีพที่เราทำต้องสอดคล้องและตอบสนองต่อการทรงเรียกของพระองค์   แต่ถามตรงๆ เถิด   แล้วการทรงเรียกและอาชีพการงานของเรามันเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างไร?

ในประเด็นเกี่ยวกับงานและการทรงเรียกเราเห็นว่า...
1. ทุกคนได้รับการทรงเรียกให้เป็นคนของพระคริสต์   และร่วมในพระราชกิจแห่งการเสริมสร้าง  แห่งการกอบกู้  และการพลิกฟื้นสร้างใหม่ของพระเจ้า
2. ทุกคนได้รับพระบัญชาให้ทำงานเต็มความสามารถที่ตนมีอยู่ 
3. พระเจ้าทรงเรียกทั้งชีวิตของเรา   มิใช่เรียกเราเพียงเรื่องหน้าที่การงานที่เราทำเท่านั้น หรือ ทรงเรียกเราให้เป็นคริสตชนไปนมัสการพระองค์ในวันอาทิตย์เท่านั้น

จากประเด็นทั้งสามเรื่องการทรงเรียกกับงานอาชีพของเราข้างต้นเราพอประมวลสรุปได้ว่า   อาชีพการงานของเราคงมิใช่สิ่งที่พระเจ้าให้ความสนพระทัยสูงสุดในชีวิตของเรา   แต่พระเจ้าทรงสนพระทัยที่ชีวิตของเราได้รับการกอบกู้ให้เข้ามาอยู่ภายใต้ร่มพระคุณแห่งความรอดของพระคริสต์   ให้เราเป็นคนของพระองค์  แล้วร่วมในพระราชกิจแห่งการเสริมสร้าง  การช่วยกู้  และการพลิกฟื้นสร้างใหม่ของพระองค์    จากนั้น พระเจ้าทรงใส่ใจเราในอาชีพการงานที่เรารับผิดชอบอยู่ด้วย

ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าพระเจ้ามิได้เอาใจใส่ต่องานอาชีพที่เรารับผิดชอบ   ความจริงพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าทรงนำและเสริมหนุนเพิ่มพลังคริสตชนทุกคนทั้งในชีวิตและการงานภายใต้การทรงนำของพระเจ้า

การทำงานในในชีวิตประจำวันเป็นการทรงเรียกของพระเจ้าด้วยหรือไม่?   แท้จริงแล้วการประกอบกิจการงานในแต่ละวันเป็นการตอบสนองการทรงเรียกของพระเจ้า   การงานมิใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการทรงเรียกของพระเจ้า   แต่โดยการทำงานของเรา   เราได้ตอบสนองต่อการทรงเรียกที่สำคัญสุดของพระเจ้าด้วยการ “เป็นคนของพระคริสต์และร่วมในพระราชกิจในการเสริมสร้าง  การกอบกู้  และการสร้างใหม่ของพระองค์”  ผ่านกิจการงานอาชีพที่เราทำและรับผิดชอบ   ทั้งนี้ไม่สำคัญว่างานของเราเป็นงานชนิดใด   ไม่ว่าเราจะมีอาชีพครู  แพทย์  พยาบาล  แม่บ้าน  คนรักษาความสะอาด  นักฟุตบอล  หรือโค้ช   ในงานที่เราทำเราสามารถตอบสนองต่อการทรงเรียกของพระเจ้าในชีวิตของเราทั้งสิ้น

ประเด็นใคร่ครวญประจำวันนี้คือ...
1. ท่านเข้าใจอย่างไรถึงความสัมพันธ์ระหว่างงานอาชีพที่ท่านทำกับการทรงเรียกของพระเจ้า?
2. ถ้าท่านเข้าใจว่า   พระเจ้าทรงเรียกท่านให้ “เป็นคนของพระคริสต์และร่วมในพระราชกิจแห่งการเสริมสร้าง  การช่วยกู้  และการพลิกฟื้นสร้างใหม่ของพระเจ้า”   ผ่านอาชีพการงานที่ท่านรับผิดชอบ   ท่านคิดว่าการทำงานอาชีพในประจำวันของท่านจะเปลี่ยนแปลงหรือแตกต่างจากที่ทำมาหรือไม่  อย่างไร?   ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

23 กันยายน 2556

อะไรคือการทรงเรียกของท่าน

อ่านเอเฟซัส 4:1-3

เพราะ​ฉะนั้น ข้าพเจ้า​ผู้​เป็น​นัก​โทษ​โดย​เห็น​แก่​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า
ขอ​วิง​วอน​พวก​ท่าน​ให้​ดำ​เนิน​ชีวิต​สม​กับ​การ​ทรง​เรียก​ที่​ท่าน​ได้​รับ​การ​ทรง​เรียก​มา​นั้น (4:1 มตฐ.)

การทรงเรียก  เรามักแปลจากภาษาอังกฤษคำว่า “calling”  และคำว่า calling  มีความหมายเหมือนกับ “profession” หรือ “vocation”  ซึ่งทั้งสองคำนี้หมายถึง  งานอาชีพ หรือ หน้าที่การงาน   ส่วนคำว่า “vocation” รากศัพท์มาจากภาษาละตินคำว่า vocation  ซึ่งหมายถึง calling หรือ การทรงเรียก   ส่วนใหญ่แล้วเรามักใช้คำว่า calling หมายถึงการสถาปนาคนให้เป็นนักบวช  เราหมายถึงศาสนาจารย์ ศิษยาภิบาล  ที่คนกลุ่มนี้ได้รับการทรงเรียกให้ทำหน้าที่ในการทำงานพันธกิจด้านต่างๆ ในคริสตจักร  และการทำงานเกี่ยวกับมิชชั่น

ในเอเฟซัสบทที่สี่ข้อแรก  ได้ใช้คำว่าการทรงเรียกในความหมายที่ค่อนข้างแตกต่างจากที่กล่าวข้างต้น   เมื่อเปาโลกระตุ้นวิงวอนให้เรา “ดำเนินชีวิตสมค่ากับการทรงเรียกที่เราได้รับ”  เปาโลไม่ได้ระบุว่าเป็นการทรงเรียกในงานอาชีพทั่วไป หรือ งานด้านพันธกิจคริสตจักร อันใดอันหนึ่ง  แต่แน่นอนว่าท่านหมายถึงการทรงเรียกถึงงานอาชีพทั้งสองด้าน   แต่ท่านกล่าวชัดเจนถึงการทรงเรียกว่า  การทรงเรียกเป็นสิ่งที่คริสตชนทุกคนและแต่ละคนได้รับจากพระเจ้า   ทั้งเป็นการส่วนตัว  และในฐานะสมาชิกคนหนึ่งในพระวรกายของพระคริสต์

ถ้าเช่นนั้น  อะไรคือการทรงเรียกของเรา?  ในตอนอื่นของพระธรรมเอเฟซัส   เปาโลกล่าวถึงการทรงเรียกมีหมายถึง ความหวังและมรดกของธรรมิกชนในอนาคต (เอเฟซัส 1:18 มตฐ.)  ในข้อนี้เปาโลได้อธิษฐานว่า “...เพื่อ​จะ​ได้​รู้​ว่า​พระ​องค์​ประ​ทาน​ความ​หวัง​อะไร​แก่​ท่าน​ใน​การ​ทรง​เรียก​พวก​ท่าน​นั้น และ​รู้​ว่า​มร​ดก​ที่​มี​ศักดิ์​ศรี​ของ​พระ​องค์​สำ​หรับ​พวก​ธรร​มิก​ชน​นั้น​บริบูรณ์​เพียง​ไร...”   จากนั้นใน 4:4 เปาโลกล่าวว่า  “...​ท่าน​ได้​รับ​การ​ทรง​เรียก​ให้​มา​ถึง​ความ​หวัง​เดียว​ใน​การ​ทรง​เรียก​พวก​ท่าน​นั้น”   ดังนั้น การทรงเรียกที่เราได้รับเป็นเรื่องเกี่ยวกับอนาคต  ที่เราจะมีชีวิตด้วยความมั่นใจและแน่นนอนมั่นคงในอนาคตที่พระเจ้าทรงเตรียมไว้เพื่อเรา

ในเอเฟซัส 4:1 การทรงเรียกที่กล่าวถึงในข้อนี้รวมถึงอนาคตของเราด้วย  รวมไปถึงทุกสิ่งที่เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับพระเจ้าและตัวของเราเองใน 3 บทแรกของเอเฟซัส   ถ้าเราจำได้ใน 1:10 คือการที่พระเจ้าทรงรวบรวมทุกสิ่งในสวรรค์และในแผ่นดินโลก (จักรวาล) ให้อยู่ภายใต้พระคริสต์(ในพระคริสต์)    และพระประสงค์สูงสุดในการทรงเรียกคือ “...พระ​เจ้า​ทรง​เลือก​เรา​ตั้ง​แต่​ก่อน​ทรง​สร้าง​โลก เพื่อ​ให้​เรา​บริสุทธิ์​และ​ปราศ​จากตำหนิใน​สาย​พระ​เนตร​ของ​พระ​องค์” (1:4 มตฐ.)   พระราชกิจนี้มุ่งเน้นไปที่พระเยซูคริสต์   ซึ่งเป็นการแสดงถึง “​พระ​คุณ​อัน​รุ่ง​โรจน์ของพระเจ้า” (1:6 มตฐ.)  ที่ทรงกระทำให้เราได้รับความรอด (2:8 มตฐ.)   ยิ่งกว่านั้น  เมื่อเรามีประสบการณ์ถึงความรอดโดยความเชื่อ   เราเป็นคนที่ถูกสร้างใหม่ในพระคริสต์เพื่อให้ทำการดี “...ซึ่ง​เป็น​สิ่ง​ที่​พระ​เจ้า​ทรง​จัด​เตรียม​ไว้​ก่อน​แล้ว​เพื่อ​ให้​เรา​ดำ​เนิน​ตาม” (2:10 มตฐ.)   เรากระทำงานนี้มิใช่ในฐานะผู้เชื่อส่วนตัว   แต่ที่สำคัญในฐานะที่เป็นสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวของพระเจ้า  และกำลัง​ถูก​ก่อ​ร่าง​สร้าง​ขึ้น​ด้วย​กัน​ให้​เป็น​ที่​สถิต​ของ​พระ​เจ้า​โดย​พระวิญญาณ (2:19-22)

ดังนั้น  ความหวังในอนาคตที่พระเจ้าทรงรวบรวม และ พลิกฟื้นสร้างใหม่ทุกสิ่งทำให้เราเห็นชัดเจนถึงการทรงเรียก   มิใช่เพื่อให้เราได้แรงบันดาลใจนิมิตในอนาคตเท่านั้น   แต่เป็นการที่พระเจ้าทรงเรียกเราให้ดำเนินชีวิตตามด้วย   ด้วยพระคุณที่ยิ่งใหญ่ของพระเจ้าเราจึงได้มีส่วนร่วมในพระราชกิจในการกอบกู้ไถ่ถอนจักรวาลนี้ร่วมกับพระองค์   เราแต่ละคน  ถ้าเราวางใจในพระคริสต์พระผู้ช่วยให้รอดของเรา   เราได้รับการทรงเรียกให้เป็นผู้ร่วมในพระราชกิจแห่งการปลดปล่อย   การไถ่ถอน  และพลิกฟื้นสร้างใหม่ของพระองค์   เพื่อเราจะดำเนินชีวิต “สมค่าแห่งการทรงเรียก”  ตามการทรงเรียกด้วยพระคุณอันรุ่งโรจน์ของพระองค์

ในวันนี้เราคงต้องถามตนเองว่า...

1. ท่านคิดและรู้สึกว่าพระเจ้าทรงเรียกท่านให้เข้าร่วมในพระราชกิจแห่งการปลดปล่อยและไถ่ถอนของพระองค์หรือไม่?   ทำไมท่านถึงคิดและรู้สึกเช่นนั้นในชีวิตของท่าน?
2. อะไรที่ช่วยให้ท่านเห็นชีวิตของท่านเป็นเช่นนั้น?
3. ท่านได้ตอบสนองต่อการทรงเรียกในชีวิตของท่านแล้วหรือยัง?  อย่างไร?
4. ถ้าท่านจะเอาจริงเอาจังกับการทรงเรียกนี้ของพระเจ้า  ท่านคิดว่าชีวิตของท่านอาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

20 กันยายน 2556

ท่านได้รับการทรงเรียก

อ่านเอเฟซัส 4:1-3

เพราะ​ฉะนั้น ข้าพเจ้า​ผู้​เป็น​นัก​โทษ​โดย​เห็น​แก่​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า
ขอ​วิง​วอน​พวก​ท่าน​ให้​ดำ​เนิน​ชีวิต​สม​กับ​การ​ทรง​เรียก​ที่​ท่าน​ได้​รับ​การ​ทรง​เรียก​มา​นั้น (4:1 มตฐ.)

เมื่อตอนที่ผมเรียนอยู่ชั้นมัธยม  ผมได้รับประสบการณ์การทรงเรียกจากพระเจ้า   ในตอนนั้นผมเข้าใจว่า ผู้ที่ได้รับการทรงเรียกคือคนที่พระเจ้าเรียกให้ไปรับใช้พระองค์ในงานของคริสตจักร เช่น เป็นมิชชันนารี  ศาสนาจารย์  ศิษยาภิบาล  หรือ ครูศาสนา   แม้ว่าผมจะไม่ได้นำเรื่องนี้ไปปรึกษากับศิษยาภิบาลของผม   แต่ผมก็มั่นใจว่า พระเจ้าทรงเรียกผมและผมเองก็ได้อธิษฐานถวายตัวแก่พระเจ้าที่จะทำงานของพระองค์   ผมตัดสินใจเรียนในโรงเรียนพระคัมภีร์   และต่อมาได้รับทุนเตรียมศาสนศาสตร์ของโรงเรียนพระคริสตธรรมเชียงใหม่(แมคกิลวารีในปัจจุบัน)   แล้วมาเรียนหลักสูตร B.D.  ความเข้าใจในตอนนั้นคือเรียนเพื่อไปรับใช้พระเจ้าในคริสตจักร

ผมได้รับความเข้าใจที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษในความเชื่อว่า  พระเจ้าทรงเรียกให้เป็นศาสนาจารย์ หรือ ศิษยาภิบาลในคริสตจักร   และเมื่อมาคิดทบทวนย้อนหลังพบว่า   ในตอนนั้นผมได้มองข้าม หรือ ไม่เห็นว่า  การทรงเรียกของพระเจ้าจะเกี่ยวข้องอะไรกับฆราวาสหรือสมาชิกคริสตจักรทั่วไปแต่อย่างไร

อย่างไรก็ตาม  ต่อมาผมได้เรียนรู้ว่า  การมีความคิด ความเข้าใจ และมุมมองข้างต้นเป็นการมองอย่างคนสายตาสั้น   ถ้าเปรียบเทียบกับความหมายการทรงเรียกในพระคัมภีร์   เป็นสิ่งที่แน่นอนว่าคนที่ได้รับสถาปนาเป็นศาสนาจารย์  ศิษยาภิบาล  รับใช้งานของพระเจ้าในคริสตจักรเป็นผู้ที่ได้รับการทรงเรียกจากพระเจ้า  แต่ความจริงอีกด้านหนึ่งก็เป็นความจริงเท่ากันคือ   คริสตชนที่ไม่มีตัวย่อ  ศจ.  ศบ.  คศ  ผป.  มน.  อยู่ข้างหน้าชื่อของเขาก็เป็นคริสตชนที่ได้รับการทรงเรียกจากพระเจ้าเช่นกัน

เราเห็นความจริงนี้ชัดเจนใน เอเฟซัส 4:1  เป็นตัวอย่างหนึ่ง   เปาโลเขียนในที่นี้ไว้ว่า  “...ข้าพเจ้า​ผู้​เป็น​นัก​โทษ​โดย​เห็น​แก่​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า ขอ​วิง​วอน​พวก​ท่าน​ให้​ดำ​เนิน​ชีวิต​สม​กับ​การ​ทรง​เรียก​ที่​ท่าน​ได้​รับ​การ​ทรง​เรียก​มา​นั้น”  ขอตั้งข้อสังเกตว่า   เปาโลไม่ได้หมายถึงผู้นำในคริสตจักรเท่านั้นที่ได้รับการทรงเรียกจากพระเจ้า   ตรงกันข้ามเปาโลหมายถึงทุกคนที่เป็นสมาชิกในชุมชนคริสตจักร   ท่านวิงวอนและให้กำลังใจพวกเขาที่จะดำเนินชีวิตให้สมค่ากับ “การทรงเรียกที่เขาได้รับนั้น”

ตามบริบทหรือสถานการณ์ในคริสตจักรเอเฟซัส   เปาโลหมายถึงการที่พระเจ้าทรงเรียกแต่ละบุคคล และ  การทรงเรียกทั้งชุมชนคริสตชนในคริสตจักร   ถ้าใครก็ตามที่ได้รับพระคุณของพระเจ้าโดยผ่านทางความเชื่อศรัทธาในพระเยซูคริสต์   คนนั้นก็ได้รับการทรงเรียกแล้ว   ยิ่งกว่านั้น  คริสตชนในฐานะสมาชิกคนหนึ่งในพระวรกายของพระคริสต์คือคริสตจักร  คนๆ นั้นก็มีส่วนร่วมกับสมาชิกคนอื่นในชุมชนนั้น    คริสตชนได้รับการทรงเรียกจากพระเจ้า

ในวันนี้   ขอท่านหาเวลาที่จะสงบอยู่กับพระเยซูคริสต์   แล้วใคร่ครวญว่า...

1. ท่านมั่นใจหรือไม่ว่าท่านได้รับการทรงเรียกจากพระเจ้าในชีวิตของท่านในปัจจุบันนี้?
2. ถ้าท่านมั่นใจว่า  ชีวิตของท่านได้รับการทรงเรียกจากพระเจ้า  ชีวิตที่ได้รับการทรงเรียกหมายความว่าอย่างไรสำหรับตัวท่านเอง?
3. ถ้าท่านยังไม่มั่นใจว่าพระเจ้าทรงเรียกท่าน   เมื่อท่านอ่านข้อเขียนของเปาโลในเอเฟซัส 4:1 ที่ว่า “...การทรงเรียกที่ท่านได้รับ...”  ท่านคิดและเข้าใจอย่างไร?
4. ท่านเห็นว่าชีวิตของท่านในทุกวันนี้ได้ดำเนินชีวิตสมค่ากับการทรงเรียกหรือไม่  อย่างไร?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

18 กันยายน 2556

ผู้นำกับความเจ็บปวดในชีวิต

เพราะ​ว่า​ความ​เสีย​ใจ​ตาม​พระ​ประ​สงค์​ของ​พระ​เจ้า ทำ​ให้​เกิด​การ​กลับ​ใจ
ซึ่ง​จะนำ​ไป​สู่​ความ​รอด​และ​จะ​ไม่​ทำ​ให้​เสีย​ใจ
แต่​ความ​เสีย​ใจ​อย่าง​โลก​นั้น​ย่อม​นำ​สู่​ความ​ตาย
(2โครินธ์ 7:10 มตฐ.)

จดหมายฉบับแรกที่อาจารย์เปาโลเขียนถึงคริสตจักรในเมืองโครินธ์   ท่านเขียนด้วยท่าทีและน้ำเสียงที่แข็งกร้าว   ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง   แต่ในจดหมายฉบับที่สอง  ท่านเขียนด้วยท่าที น้ำเสียง และมุมมองที่เป็นกันเอง   เป็นการที่ท่านพูดกับคริสตจักรในโครินธ์ที่มาจากใจของท่านด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวล

ใน 2โครินธ์ บทที่ 7   เปาโลกล่าวถึงสิ่งที่ทำให้สมาชิกคริสตจักรโครินธ์เกิดความเสียใจ   โดยท่านแยกแยะและชี้ชัดถึงความเสียใจที่ดี และ ความเสียใจที่เลว  หรือที่พระคัมภีร์ไทยใช้สำนวนว่า   ความเสียใจตามพระประสงค์ของพระเจ้า  กับความเสียใจอย่างโลก (ตามกระแสโลก)  

ผู้นำทุกคนที่เห็นและเข้าใจถึงความแตกต่างชัดเจนของลักษณะผู้นำที่เสียใจตามพระประสงค์ของพระเจ้า และ ความเสียใจตามกระแสสังคมโลก  จะได้รับประโยชน์อย่างยิ่ง

เราเห็นชัดเจนจากตัวอย่างสาวกของพระเยซูคริสต์ 2 ท่านคือ  ยูดาส กับ เปโตร

ยูดาสทรยศต่อพระเยซู  เขาเสียใจที่ได้ขายพระเยซูเป็นเงินสามสิบเหรียญ   ต่อมาเสียใจ จึงนำเงินไปคืนแก่พวกหัวหน้าปุโรหิตและผู้ใหญ่   แต่พวกนั้นไม่รับรู้   ยูดาสจึงทิ้งเงินนั้นในพระวิหาร   แล้วออกไปผูกคอตาย (มัทธิว 27:3-5)

ในลานบ้านของมหาปุโรหิต   เปโตรได้ปฏิเสธว่ารู้จักพระเยซู   เขาทำเช่นนี้ถึงสามครั้งสามครา   เสียงไก่ขัน   พระเยซูเหลียวมาดูเปโตร...เปโตรออกไปจากลานบ้านนั้นร้องไห้ด้วยความทุกข์ใจ  (ลูกา 22:54-62)  และเมื่อเรานำเรื่องนี้ไปเชื่อมต่อกับเหตุการณ์ในยอห์น 21:17  “...เปโตรเสียใจมากที่พระองค์ตรัสถามเขาครั้งที่สามว่า “ท่านรักเราหรือ?” (มตฐ.)  นี่เป็นความเสียใจที่นำถึงซึ่งการสำนึก  และต้องการที่จะกลับใจและรักพระคริสต์ด้วยชีวิต

และนี่คือความแตกต่างระหว่างความเสียใจตามกระแสโลก กับ การเสียใจตามพระประสงค์ของพระเจ้า

การเสียใจตามกระแสโลก

1.ตัวอย่างเช่นยูดาส (มัทธิว 27:3-5)
2.เกิดความเจ็บปวดที่ไม่สิ้นสุด
3.เป็นความเจ็บปวดที่นำไปสู่ความตาย
4.เป็นความเสียใจที่นำมาซึ่งความทุกข์ยากลำบากเพราะการเห็นแก่ตัว

การเสียใจตามพระประสงค์

1.ตัวอย่างเช่นเปโตร (ลูกา 22:54-62
2.เป็นความเจ็บปวดชั่วครั้งชั่วคราว
3.เป็นการเสียใจที่นำไปสู่การกลับใจใหม่และได้รับชีวิต
4.เป็นทุกข์ที่จะให้ชีวิตเป็นไปตามพระประสงค์ของพระเจ้า

ในฐานะผู้นำแบบคริสตชนไม่ควรที่มีใจผูกพยาบาท หรือ มีความปรารถนา หรือ ตั้งใจที่จะทำให้คนอื่นได้รับความเจ็บปวดในชีวิตเพียงเพื่อต้องการชี้ให้เห็นว่าเขาเป็นฝ่ายที่กระทำผิด   แต่การที่ผู้นำจะนำความเจ็บปวดให้เกิดขึ้นในชีวิตของใครก็ตามจะต้องกระทำด้วยมีจุดประสงค์เพื่อนำการกลับใจและการเยียวยาชีวิตให้คืนสู่สภาพดีเท่านั้น

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

16 กันยายน 2556

เอาความกลัวของท่านมาแลกกับความเชื่อในพระเจ้า

อ่าน อพยพ 3:1-11

เมื่อ​พระ​ยาห์​เวห์​ทอด​พระ​เนตร​เห็น​ท่าน(โมเสส)​หัน​มา​ดู(พุ่มไม้ไฟ)
พระ​องค์​จึง​ตรัส​เรียก​ท่าน(โมเสส)​จาก​พุ่ม​ไม้​นั้น​...(ข้อ 4 มตฐ.)

บาดแผลและความเจ็บปวดในชีวิต   ทำให้คนๆ นั้นสูญเสียความภาคภูมิใจในชีวิต   ความมั่นใจในตนเอง   และสูญเสียการพึ่งพิงและไว้วางใจในพระเจ้า  

ที่ถิ่นทุรกันดารในทะเลทรายที่พระเจ้าใช้เป็น “โรงเรียน” บ่มเพาะภาวะผู้นำให้แก่โมเสส   และสิ่งแรกและสำคัญที่พระเจ้าทรงขจัดก่อนปั้นโมเสสขึ้นใหม่คือ  ความหยิ่งผยองและเชื่อในความสามารถของตนเองที่ราชสำนักอียิปต์สร้างเขาขึ้นมา  แต่เมื่อชีวิตต้องพบกับความล้มเหลวและต้องหนีเตลิดเปิดเปิง   ความรู้สึกที่ภาคภูมิใจและการเชื่อมั่นในความสามารถตนเองของโมเสสถูกทำลายลงอย่างราบคาบ   แล้ว “ความกลัว” เข้ามาเกาะกุมความคิดและความรู้สึกของโมเสส

ในมหาวิทยาลัยชีวิตแห่งทะเลทราย  พระเจ้าทรงปั้นและสร้างโมเสสขึ้นใหม่จากจิตใจที่หวาดกลัวไปสู่จิตใจที่วางใจในพระองค์   เมื่อโมเสสต้องเผชิญหน้ากับการสำแดงของพระเจ้า   โมเสสมีความกลัว 4 ประการด้วยกันคือ

ประการแรก  ความกลัวที่เกี่ยวกับตัวของโมเสสเอง   จากประสบการณ์ที่ผ่านมาเขามุ่งมั่นตั้งใจจะช่วยชนชาติอิสราเอลที่ตกเป็นทาสในอียิปต์   แต่ผลปรากฏว่า คนอิสราเอลไม่เห็นความตั้งใจดีของเขา  แต่กลับมองการกระทำของเขาในแง่ร้าย  และฟาโรห์เองให้คนไล่ล่าเอาชีวิตของเขา   ในประการนี้พระเจ้าทรงสร้างเป้าหมายในชีวิตของโมเสสขึ้นใหม่   ในอดีตโมเสส คิดว่าตนเองสามารถที่จะปลดปล่อยชนชาติอิสราเอลออกจากการเป็นทาสในอียิปต์   แต่เป้าหมายใหม่ที่พระเจ้าใส่ลงในชีวิตของโมเสสคือ   พระเจ้าเองจะทรงเป็นผู้ปลอดปล่อยและนำชนชาติอิสราเอลออกจากการเป็นทาสในอียิปต์   ส่วนโมเสสเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้าร่วมในพระราชกิจยิ่งใหญ่นี้  

ประการที่สอง   ความกลัวที่เขาต้องเผชิญหน้าโดยตรงกับพระเจ้า   จากความเชื่อที่ว่าใครก็ตามเผชิญหน้ากับพระเจ้าหน้าต่อหน้า   เขาจะต้องตาย   แต่พระเจ้ากลับให้ความมั่นใจว่า   การเผชิญหน้ากับพระเจ้าครั้งนี้   พระเจ้าทรงนำข่าวดีเรื่องการช่วยกู้อิสราเอลมาบอกให้แก่เขา   ซึ่งลึกๆ ในจิตใจของเขาย่อมชื่นชมยินดีแน่

ประการที่สาม  ความกลัวเกี่ยวกับคนอื่น   โมเสสกลัวว่าใครจะเชื่อว่าเขาคือคนที่พระเจ้าทรงใช้ให้มาทำการใหญ่ครั้งนี้   ไม่ว่าผู้นำชนชาติอิสราเอล หรือ ฟาโรห์ ผู้นำของอียิปต์   แต่พระเจ้าให้ความแน่ใจแก่โมเสสด้วยการทรงสำแดงฤทธิ์อำนาจในการกระทำต่างๆ ว่าพระองค์กระทำได้  และพระองค์จะเป็นผู้กระทำผ่านชีวิตของโมเสส  เพื่อคนอื่นจะได้เห็นพระเจ้าผ่านชีวิตและภาวะผู้นำของโมเสส

ประการที่สี่  ความกลัวในความสามารถของตน   พระองค์ทรงเปิดเผยว่า   โมเสสจะไม่ทำงานแต่เพียงลำพังผู้เดียว   แต่พระเจ้าทรงเตรียม “ผู้ใหญ่” ในชุมชนอิสราเอลที่จะเป็นทีมงานร่วมกับโมเสส   และพระเจ้าทรงเตรียมอาโรนพี่ชายของโมเสสให้เคียงคู่การทำงานของพระเจ้าในครั้งนี้

จากจิตใจที่ล่มสลายและฉีกขาดในอดีต   ในตอนนี้พระเจ้าทรงช่วยโมเสสให้เอาชนะในความกลัวเหล่านั้น   และทรงให้เป้าหมายที่ชัดเจนและมั่นคงในโมเสส   ในที่สุดโมเสสยอมที่จะมอบและวางชีวิตของตนในพระหัตถ์ของพระเจ้า

ชีวิตเปลี่ยนแปลงได้!

แต่การยอมเปลี่ยนแปลงในชีวิตของโมเสสเขาต้องละทิ้งชีวิตที่สงบ และ มั่นคงในทะเลทราย  กับการเลี้ยงดูฝูงสัตว์กับความมั่นคงในเศรษฐกิจ   เตรียมตัวที่จะมีชีวิตตามพระประสงค์ของพระเจ้า   และเมื่อท่านตัดสินใจที่จะใช้ชีวิตตามพระประสงค์นั้น   โมเสสต้องเสี่ยง   โมเสสต้องเสียสละบางสิ่งบางอย่างในชีวิต   ยอมเสียสละความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิตที่พอจะหาพบได้ในทะเลทรายนั้น

ถ้าเราปรารถนาจะเป็นผู้นำตามพระประสงค์ของพระเจ้า   ท่านต้องพร้อมจะเสียสละสิ่งต่างๆ ในชีวิตของท่าน   และท่านจะต้องนำเอาความกลัวในตัวท่านออกมาแลกกับความเชื่อวางใจในพระเจ้า   และตระหนักชัดเสมอว่า  

งานนี้เป็นงานที่ยิ่งใหญ่ในชีวิต  

งานนี้มิใช่งานของเราเองแต่เป็นพระราชกิจของพระเจ้า  

งานนี้เราเป็นผู้ร่วมในพระราชกิจของพระเจ้าดังกล่าว 

งานนี้พระเจ้าทรงเป็นผู้กระทำในชีวิตของเรา และผ่านชีวิตของเรา

ดังนั้น  ความสำเร็จของงานนี้อยู่ที่พระองค์  
                                       
ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

13 กันยายน 2556

ดินก้อนเก่าในเป้าประสงค์ใหม่ของช่างปั้น

อ่าน เยเรมีย์ 18:1-6

...แต่ภาชนะที่เขากำลังปั้นอยู่นั้นเสียรูปทรงอยู่ในมือของเขา
เขาจึงนวดขยำเป็นก้อน   และเริ่มปั้นใหม่ตามที่เขาเห็นว่าดีที่สุด (ข้อ 4 อมต.)
เยเรมีย์ไปที่บ้านช่างปั้นหม้อด้วยความหนักอกหนักใจ   เพราะชนชาติยูดาห์ตั้งหน้าตั้งตามุ่งไปสู่ความหายนะ   ด้วยการที่พวกเขาปฏิเสธที่จะดำเนินชีวิตที่สัตย์ซื่อต่อพันธสัญญาที่พวกเขาได้กระทำไว้กับพระเจ้า   และผลที่เขาจะได้รับคือ  ชีวิตและชุมชนของเขาจะถึงซึ่งความพินาศอย่างแน่นอน

ชนชาติยูดาห์เป็นเหมือนดินที่เสียรูปทรงแล้ว   พวกเขาตกอยู่ในสภาพที่ยากจะกอบกู้คืนได้   แต่สิ่งที่น่าอัศจรรย์ก็คือ   ดินปั้นที่เสียรูป หมดสภาพที่จะปั้นต่อไปได้  แต่ช่างปั้นมิได้โยนทิ้ง   ช่างปั้นเริ่มต้นจัดการกับดินก้อนนั้นเสียใหม่  เขา “นวดและขยำ” ให้เป็นดินก้อนใหม่ที่จะใช้ปั้นได้อีกครั้งหนึ่ง   แล้วช่างปั้นเริ่มใช้ดินก้อนนั้นปั้นในสิ่งที่ช่างปั้นเห็นว่าดีที่สุด

ข่าวดีคือ   ช่างปั้นมิได้โยนดินก้อนที่หมดสภาพ  ล้มเหลวทิ้งเสีย   แต่เขากลับ “ขยำและนวด” ดินนั้นใหม่ด้วยมือของเขาอย่างอดทน  และด้วยใจของเขาอย่างเมตตากรุณา   เพื่อที่จะทำให้ “ดินที่เสียแล้ว” ให้เป็น “ดินก้อนใหม่” ที่มีค่า และ เป็นประโยชน์

ในฐานะคริสตชน   จะมีอะไรที่มีค่ายิ่งไปกว่าการถวาย “คนที่หมดสภาพ”  “คนที่ผิดพลาดล้มเหลว” แด่พระเจ้า   ผู้สูงอายุ ที่คนทั้งหลายมองว่า “หมดสภาพ”  ความสามารถถดถอย,   คนชายขอบสังคม   ที่บ่อยครั้งถูกมองอย่างไม่น่าไว้วางใจ   ด้อยค่า  ไร้ประโยชน์  หรือ  คนที่ชีวิตล้มเหลวมาแล้ว  และถูกมองว่าชีวิตของคนๆ นั้นจะต้องล้มเหลวอีก...ตลอดกาล

คริสตจักรคือชุมชนที่ได้รับมอบหมายจากพระคริสต์ให้เอาใจใส่ดูแลคนกลุ่มนี้ด้วยการเสริมหนุนพวกเขาให้เป็น “ก้อนดินในพระหัตถ์ของพระเจ้า”   ที่พระองค์จะทรง “ขยำและนวด” เขาขึ้นเป็นชีวิตใหม่ที่มีคุณค่าและศักดิ์ศรี   ที่พระเจ้าจะทรงปั้นคนเหล่านี้ใหม่ตามพระประสงค์ของพระองค์   ตามที่พระองค์ทรงเห็นสมควร

คริสตชนพึงตระหนักชัดเสมอว่า   วันหนึ่งชีวิตเราก็จะพัฒนาไปถึง “ภาวะผู้สูงอายุ”   หรือไม่วันหนึ่งเราอาจจะ “ล้มพลาดลง” ได้   และเราก็กลายเป็นดินที่ปั้นไม่เป็นรูปทรง   เสีย  ผิดพลาด   ในเวลาเช่นนั้นเราต้องไม่ลืมว่า   พระเจ้าทรงรักเมตตา และ อดทนกับชีวิตที่ผิดพลาด ไร้ค่าของเรา   พระองค์จะทรง “ขยำ และ นวด” ให้เราเป็นดินก้อนใหม่   แล้วปั้นชีวิตเราอย่างที่พระองค์เห็นว่าดีที่สุด

พระเจ้าทรงมีพระประสงค์สำหรับ “ก้อนดินที่เสียแล้ว”   พระเจ้าทรงรับดินนั้นไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์   แล้ว “นวดและขยำ” ดินก้อนนั้นด้วยความอดทนและพระทัยเมตตาให้เป็นดินก้อนใหม่   ที่พระองค์จะทรงปั้นดินก้อนนั้น  ชีวิตของคนๆ นั้นขึ้นใหม่ให้สวยงามและเปี่ยมด้วยคุณค่าอย่างที่พระองค์ประสงค์   และดินก้อนนั้น คนๆ นั้น  กลายเป็นภาชนะที่เป็นความหวังในอนาคตสำหรับชุมชนคริสตจักรและชุมชนโลก

คริสตชนจะต้องตระหนักชัดและมั่นใจว่า ชีวิตของเราอยู่ในพระหัตถ์ของพระเจ้า   เราไม่ต้องยอมแพ้ต่อความสิ้นหวัง   ในพระหัตถ์ของพระเจ้าพระองค์จะกอบกู้เราออกจากอำนาจของความบาปชั่วในรูปแบบต่างๆ   และถ้าเป็นพระเมตตาของพระเจ้าเราก็จะได้รับการทรงช่วยกู้จากความล้มเหลวในชีวิตของเราด้วย


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

12 กันยายน 2556

เราหนี...แต่พระเจ้ายังใช้เราอีก

อ่าน   1 พงศ์กษัตริย์  18:1-18

“ท่านเคยหนีหรือไม่?”

สำหรับผมแล้วคงปฏิเสธยาก   ชีวิตนี้หนีเอาบ่อยครั้งครับ!

ส่วนใหญ่มิใช่การหนีแบบหนีออกจากบ้าน   หนีจากความขัดแย้งไม่ยอมไปพบไปเผชิญหน้ากับคนนั้นหรือสถานการณ์นั้นตรงๆ    แต่บ่อยครั้งในชีวิตของเราหนีแบบกลบเกลื่อนความรู้สึก   พยายามที่จะไม่พูดถึงมัน   หรือพยายามหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับสถานการณ์นั้นๆ    แต่ก็ยังต้องพบเจอสถานการณ์นั้นโดยบังเอิญ หรือ เมื่อเลี่ยงไม่ได้   บ้างก็หาเรื่องอื่นทำเพื่อกลบเกลื่อนสถานการณ์หรือภาวะความรู้สึกที่ไม่พึงประสงค์ดังกล่าว

ส่วนใหญ่เรามักมองว่าการหนีเป็นการตอบสนองแบบคนขี้แพ้  เป็นคนที่ไม่รู้ว่าจะจัดการกับปัญหาหรือความขัดแย้งที่ประสบอย่างไร   กล่าวโดยรวมเรามักมองว่าการหนีเป็นการเลือกทางเดินที่ไม่สร้างสรรค์

ในพระคัมภีร์เราพบว่าคนสำคัญๆ ที่เลือกการหนีเป็นกลยุทธ์หนึ่งของการดำเนินชีวิตในวิกฤติ  เช่น  อาดัมและเอวาเมื่อรู้ตัวว่าได้กระทำการฝ่าฝืนคำสั่งของพระเจ้า   ทั้งสองหลบซ่อนตัวจากพระเจ้า   แทนที่จะได้พบปะสัมพันธ์กับพระเจ้าอย่างทุกวัน   แต่วันนี้ทั้งสองหลบลี้หนีหน้าจากพระเจ้า  เขาทั้งสองไม่ต้องการเผชิญกับพระองค์   เมื่อพระเจ้าเรียกเขาทั้งสอง   เขาตอบว่าเขาหลบลี้หนีจากหน้าของพระเจ้าเพราะเมื่อได้ยินเสียงของพระองค์ก็เกิดความกลัว (ปฐมกาล 3:8-9)

ยาโคบหนีเอซาว   เพราะเอซาวหาทางฆ่ายาโคบที่ไปแย่งพรบุตรหัวปีของตน (ปฐมกาล 27-28)

โมเสสต้องหนีจากอียิปต์เพราะฟาโรห์หาทางกำจัดโมเสสที่ไปฆ่าทหารอียิปต์ (ปฐมกาล 2:14-16)

ดาวิดต้องหนีเตลิดจากกษัตริย์ซาอูลเพราะซาอูลหาทางกำจัดดาวิด   เนื่องจากประชาชนนิยมชมชอบดาวิดมากกว่า (1ซามูเอล 18)

ผู้เผยพระวจนะคนหนึ่งที่หนีทุกครั้งเมื่อมีวิกฤติคือ  เอลียาห์   ภายหลังที่พระเจ้าทรงให้เอลียห์เผยพระวจนะให้กษัตริย์อาหับรู้ถึงความแห้งแล้งที่พระเจ้าจะทรงให้เกิดขึ้น   พระเจ้าให้เอลียาห์หนีออกจากเมืองให้ไปซ่อนตัวที่ลำธารเครีท   แล้วพระเจ้าทรงเลี้ยงเอลียาห์ด้วยอาหารที่กานำมาทุกเช้าเย็น   และต่อมาพระเจ้าให้หญิงหม้ายชาวศาเรฟัทเป็นคนเลี้ยงเอลียาห์จนกว่าจะผ่านพ้นวิกฤติการกันดารอาหาร (1พกษ. 17)

เมื่อผู้เผยพระวจนะเอลียาห์ปรากฏตัวต่อหน้ากษัตริย์อาหับเพื่อท้าพิสูจน์ระหว่างพระเพระเยโฮวาห์ของอิสราเอล กับพระบาอัล ว่าใครที่เป็นพระเจ้าเที่ยงแท้   สถานการณ์ในตอนนั้นประชาชนต่างคล้อยตามกษัตริย์อาหับไปกราบไหว้บูชาพระบาอัลกันหมด   และมองว่าที่ประเทศแห้งแล้ง ทุกข์ยาก กันดารอาหารก็เพราะผู้เผยพระวจนะเอลียาห์เป็นต้นเหตุ   เมื่อทำให้ประเทศชาติแห้งแล้งทุกข์ยากแล้วก็หนีหน้าไป   ดังนั้น  เมื่อกษัตริย์อาหับพบหน้าเอลียาห์อีกครั้งหนึ่งถึงกับชี้หน้าด่าเอลียาห์ว่า “เจ้านี่เองหรือ?   ที่ทำความลำบากให้อิสราเอล” (1พกษ.18:18)

จากการพิสูจน์ว่าพระเยโฮวาห์ หรือ พระบาอัลที่เป็นพระเจ้าเที่ยงแท้   ปรากฏว่าพระบาอัลไม่สามารถส่งไฟให้ลงมาเผาไหม้เครื่องเผาบูชา   แต่พระเยโฮวาห์ทรงกระทำได้   ดังนั้น ประชาชนเห็นความจริงจากการพิสูจน์ครั้งนี้   ดังนั้น “...เมื่อ​ประ​ชา​ชน​ทั้ง​หมด​ได้​เห็น พวก​เขา​ก็​ซบ​หน้า​ลง​ร้อง​ว่า พระ​ยาห์​เวห์ พระ​องค์​ทรง​เป็น​พระ​เจ้า...” (1พกษ. 18:39)   ในที่สุด   ประชาชนก็ได้เห็นความจริง   ประชาชนซบหน้าลง  และยอมรับว่าพระเยโฮวาห์ทรงเป็นพระเจ้า

เอลียาห์จัดการให้ประชาชนพาผู้เผยพระวจนะของพระบาอัลทุกคนไปฆ่าเสีย (ข้อ 40)   การกระทำเช่นนี้สร้างความเจ็บแค้นอย่างยิ่งแก่พระนางเยเซเบลมเหสีของอาหับถึงกับส่งสาส์นจองล้างจองผลาญที่จะต้องฆ่าเอลียาห์ให้ได้ก่อนตะวันตกดินของวันพรุ่งนี้ (1พกษ. 19:1-2)   และนี่เป็นเหตุให้ผู้เผยพระวจนะเอลียาห์ต้องหนีเตลิดอีกครั้งหนึ่งเข้าไปหลบซ่อนตัวในถิ่นทุรกันดาร (ข้อ 3)

คำถามว่าการฆ่าผู้เผยพระวจนะของพระบาอัลเป็นแผนการของพระเจ้าด้วยหรือไม่?  

เมื่อเอลียาห์หนีเข้าไปในแผ่นดินทุรกันดาร   เป็นโอกาสที่เอลียาห์จะเงียบสงบ   ในพระคัมภีร์บอกว่าเขาไปนั่งใต้ต้นซากซึ่งเป็นต้นไม้เพียงต้นเดียวในที่นั้น   แล้วเอลียาห์เปิดใจแบบตรงไปตรงมากับพระเจ้าไม่ซ่อนเร้นแม้แต่อารมณ์ที่ขุ่นมัวสิ้นหวังของตนเองว่า  “...พอ​กัน​ที ข้า​แต่​พระ​ยาห์​เวห์ บัด​นี้​ขอ​เอา​ชีวิต​ข้า​พระ​องค์​ไป​เสีย...” (ข้อ 4)   ไม่มีเสียงตอบ   ท่านเลยนอนลงใต้ต้นไม้นั้น   จนทูตสวรรค์ของพระเจ้ามาปลุกเอลียาห์ให้ลุกขึ้นรับประทานอาหารที่ได้เตรียมมาให้   เมื่อรับประทานแล้วเอลียาห์นอนหลับต่ออีก   จนทูตสวรรค์มาปลุกอีกและบอกเอลียาห์ว่า ลุก​ขึ้น​รับ​ประ​ทาน​สิ มิ​ฉะ​นั้น​การ​เดิน​ทาง​จะ​เกิน​กำ​ลัง​ของ​ท่าน และ​ท่าน​ก็​ลุก​ขึ้น​รับ​ประ​ทาน​และ​ดื่ม และ​เดิน​ไป​ด้วย​กำ​ลัง​ของ​อา​หาร​นั้น สี่​สิบ​วัน​สี่​สิบ​คืน​ถึง​โฮ​เรบ​ภูเขา​ของ​พระ​เจ้า  (ข้อ 7-8)

เมื่อใครก็ตามเปิดใจร้องทูลต่อพระองค์อย่างจริงใจหมดเปลือก   แม้ว่าการตัดสินใจกระทำลงไปอาจจะผิดพลาดจากพระประสงค์ของพระเจ้า    แต่ในสถานการณ์ที่วิกฤตินั้นเองที่พระเจ้าทรงดำเนินการตามแผนการของพระองค์ใหม่

แม้ว่า การฆ่าผู้เผยพระวจนะของพระบาอัลจำนวนมากจะเป็นแผนการของพระเจ้าหรือไม่เราไม่ทราบ   จนทำให้เอลียาห์ต้องหนีเอาชีวิตรอดจากเงื้อมมือของพระนางเยเซเบล    และในถิ่นทุรกันดารที่เอลียาห์โพล่งออกมาอย่างหมดเปลือกต่อพระเจ้า    แต่พระเจ้าทรงรับฟัง   พระองค์ให้เวลาแก่เอลียาห์ที่จะสงบด้วยการพักผ่อนนอนหลับ   พระองค์เตรียมอาหารแก่เอลียาห์ที่จะรับประทานเพื่อมีแรงที่จะเดินตามแผนการใหม่ของพระองค์

ที่ภูเขาโฮเรบ   เอลียาห์ได้เรียนบทเรียนใหม่จากพระเจ้า   ที่บนภูเขานี้เขาจะได้พบกับพระองค์  ปรากฏว่า พระเจ้ามิได้สถิตในลมพายุที่รุนแรง   มิได้อยู่ในแผ่นดินไหวที่สร้างความน่าครั่นคร้าม   มิได้อยู่ในไฟที่ร้อนและเผาไหม้  แต่ปรากฏว่าพระองค์สถิตอยู่ในเสียงเบาๆ  

พระเจ้าถามใจของเอลียาห์ว่าตอนนี้ตั้งใจอย่างไร   น่าสังเกตว่า เอลียาห์ตอบด้วยความเข้าใจและมุมมองของตนเองว่า   ตนกระทำทั้งหมดนี้เพราะต้องการปกป้องประชาอิสราเอลที่หลงผิดไปจากพระเจ้า   และตอนนี้คนอิสราเอลก็ละทิ้งพระเจ้าไปหมดแล้ว (ดูข้อ 14)   แต่เราต้องไม่ลืมว่าคนอิสราเอลที่เห็นการพิสูจน์ที่ภูเขาคารเมลได้ซบหน้าลงถึงดินและรู้แล้วว่าพระเจ้าองค์เที่ยงแท้คือพระเยโฮวาห์ (ดู 18:39)

เอลียาห์มองอีกว่า  ตนเองเป็นผู้เผยพระวจนะที่สัตย์ซื่อต่อพระเจ้าเหลือเพียงคนเดียว (ข้อ 14)  แต่เราพบก่อนหน้านี้ว่า โอบาดีห์ ได้ซ่อนผู้เผยพระวจนะของพระเจ้าไว้ในถ้ำ 100 คนและส่งอาหารและน้ำไปให้เป็นประจำ (18:13)  

เมื่อเอลียาห์พบพระเจ้าในเสียงที่ตรัสเบาๆ นั้น   พระองค์บอกเอลียาห์ว่ายังมีคนที่ยังสัตย์ซื่อต่อพระองค์ที่พระองค์ทรงเตรียมไว้  พระเจ้าตรัสบอกเอลียาห์ว่า  “แต่​เรา​จะ​เหลือ 7,000 คน​ไว้​ใน​อิส​รา​เอล คือ​ทุก​คน​ที่​ไม่​ได้​คุก​เข่า​ลง​ต่อ​พระ​บา​อัล และ​ไม่​ได้​จูบ​พระ​นั้น” (19:18)

แล้วพระองค์บอกแผนการของพระองค์สำหรับเอลียาห์ที่จะต้องทำต่อไปคือ   กลับไปถิ่นทุรกันดารแล้วเจิมเยฮูให้เป็นกษัตริย์ และ เอลีชาให้เป็นผู้เผยพระวจนะต่อจากตน    และนี่เป็นแผนการของพระเจ้า  ที่ไม่ถูกสกัดกั้นหรือถูกทำลายเพราะการตัดสินใจผิด หรือ การลงมือทำผิดของคนของพระเจ้า

อย่าคิดว่า  เราเป็นเพียงคนเดียวที่สัตย์ซื่อที่สุดต่อพระเจ้า  

อย่าคิดว่าพระเจ้าเหลือเราเพียงคนเดียวที่พระองค์จะใช้ได้

อย่าคิดว่าไม่มีใครที่สัตย์ซื่อต่อพระเจ้าอีกแล้ว

แต่พระเจ้าทรงกระทำตามแผนการของพระองค์   พระองค์ทรงใช้เราตามแผนการของพระองค์   มิใช่ใช้เราตามความสามารถ   ความนึกคิด  ตามมุมมองของเราเอง   และก็มิใช่ว่าไม่มีเราแล้วก็จะไม่มีใครจะรับใช้พระเจ้า   สิ่งที่เราจะต้องสำนึก  ตระหนัก  และแสวงหาเสมอคือ   ตอนนี้เรารับใช้ตามพระประสงค์ของพระเจ้า   หรือเรารับใช้ตามความปรารถนา  ตามความภาคภูมิใจของเราเอง   

เมื่อใดที่เราสำคัญตนผิดคิดว่าตนเองสำคัญที่สุด   เราจะได้เรียนรู้ว่า   ในแผนการของพระองค์ยังมีคนอื่นๆ ที่พระเจ้าทรงเตรียมและทรงใช้ได้ตามพระประสงค์ของพระองค์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

09 กันยายน 2556

เมื่อความเชื่อสับสน!

อ่าน มาระโก 8:27-33

29 พระ​องค์​จึง​ตรัส​ถาม​เขา​ว่า แล้ว​พวก​ท่าน​ล่ะ​คิด​ว่า​เรา​เป็น​ใคร?”
เป​โตร​ทูล​ตอบ​ว่า พระ​องค์​เป็น​พระ​คริสต์(ข้อ 29 มตฐ)

หลังจากที่สาวกติดตามพระองค์  ฟังคำสอนของพระองค์  และเห็นถึงพระราชกิจที่พระองค์กระทำ   ในระหว่างการเดินทางไปแขวงซีซารียา ฟีลิปปี   พระเยซูตั้งกระทู้ถามสาวกว่า  “คนทั้งหลายพูดกันว่าเราเป็นใคร?”   สาวกตอบพระเยซูว่า   คนทั้งหลายคิดและเชื่อว่า  พระองค์เป็นยอห์นผู้ให้บัพติศมา  แต่บางคนก็เข้าใจว่าเป็นเอลียาห์  บางคนก็คิดว่าพระองค์เป็นคนหนึ่งในพวกผู้เผยพระวจนะ (ข้อ 28)  ภาพรวมความเข้าใจว่าพระเยซูคริสต์เป็นใครในสายตาของประชาชนคือ   เป็นคนสำคัญและยิ่งใหญ่ในอดีตที่กลับมาเกิดอีกครั้งหนึ่ง   น่าสังเกตว่าพระเยซูคริสต์มิได้ตอบว่าเป็นความคิด ความเข้าใจ หรือ ความเชื่อที่ถูกหรือผิด

แต่พระองค์กระชับวงแคบเข้ามาว่า  “แล้วพวกท่านล่ะ คิดว่าเราเป็นใคร?”  เปโตรซึ่งเป็นสาวกปากไวใจถึง  ตอบสวนทันควันว่า  “พระองค์เป็นพระคริสต์”   พระองค์มิได้บอกสาวกว่าคำตอบของเปโตรถูกหรือผิด   แต่พระองค์กลับสั่งพวกสาวกว่า  ไม่ให้บอกใครถึงเรื่องของพระองค์ (ข้อ 29)

ทำไม พระเยซูไม่ตอบสนองว่าคำตอบของคนทั้งหลาย และ คำตอบของเปโตรว่าถูกต้องหรือไม่อย่างไร?

ทำไม หลังจากเปโตรตอบว่าพระองค์เป็นพระคริสต์ หรือ พระเมสสิยาห์ แล้วพระเยซูจึงสั่งสาวกว่าไม่ให้บอกเรื่องนี้แก่ใคร?   นี่แสดงว่า คำตอบนี้ถูกต้องเป็นความจริงใช่ไหม  พระองค์ถึงมิให้บอกแก่คนทั้งหลาย?   แต่ถ้าเป็นความจริงทำไมพระเยซูคริสต์ถึงสั่งไม่ให้บอกคนอื่น?   พระองค์กลัวพวกผู้นำศาสนายิว และ พวกโรมันมาจับมาทำร้ายพระองค์หรือ?

สำหรับคริสตชนเราในปัจจุบัน  เมื่ออ่านพระคัมภีร์ตอนนี้เราเข้าใจว่า   คำตอบของเปโตรถูกต้อง!

เพราะพระเมสสิยาห์ หรือ พระคริสต์   ที่เราเรียกพระเยซูติดปากว่า “พระเยซูคริสต์”   ตามความเข้าใจของเราคือ  บทบาทของพระเมสสิยาห์ หรือ พระคริสต์คือผู้ที่มายอมสิ้นชีวิตบนกางเขนเพื่อกอบกู้ช่วยให้เรารอดพ้นจากอำนาจความบาปชั่ว   และเรายังคิดอีกว่า เพราะพระองค์เป็นพระเมสสิยาห์พระองค์มีสภาพความเป็นพระเจ้าในตัวของพระองค์

แต่เมื่อเปโตรกล่าวว่า  พระเยซูเป็น “พระคริสต์” หรือ “พระเมสสิยาห์” ที่คนในยุคนั้นใช้กันเขาไม่มีความเข้าใจอย่างที่เราเข้าใจตามข้างต้น   และเปโตรก็ไม่ได้เข้าใจคำว่าพระคริสต์หรือพระเมสสิยาห์อย่างที่เราเข้าใจในปัจจุบันนี้   แต่พวกเขาเข้าใจว่า  พระเมสสิยาห์หมายถึงผู้ที่ได้รับการทรงเจิมจากพระเจ้า   เป็นคนที่พระเจ้าทรงเลือกและเจิมเพื่อที่จะมากอบกู้อิสราเอลที่ตกเป็นเมืองขึ้นอยู่ภายใต้การครอบงำของโรมัน  และเพื่อสถาปนาอาณาจักอิสราเอลใหม่  

พูดง่ายๆ ภาษาทุกวันนี้คือ  พระคริสต์คือผู้ที่พระเจ้าส่งมาเพื่อกอบกู้ทางการเมืองและการปกครองของอิสราเอล!

พวกสาวกและประชาชนอิสราเอลในตอนนั้นมิได้มีมุมมอง  เข้าใจ  และเชื่อว่า   พระคริสต์ที่เขาพูดถึงนี้มีสภาพความเป็นพระเจ้าอยู่ในตัวของ “พระคริสต์” หรือ “พระเมสสิยาห์” ที่เขาพูดถึง

ด้วยเหตุนี้  ในพระธรรมที่ต่อจากนี้คือในมาระโก 8:31-33   พระเยซูจึง  สร้างความเข้าใจใหม่ว่าพระองค์เป็นใคร   พระองค์สอนเรื่องนี้อย่างเปิดเผยว่า  “บุตรมนุษย์” (ซึ่งพระองค์หมายถึงพระองค์เองว่า) จะต้องทนทุกข์ทรมานหลายประการ   พวกผู้ใหญ่  พวกหัวหน้าปุโรหิต  และพวกธรรมาจารย์จะไม่ยอมรับพระองค์   พระองค์จะถูกประหารชีวิต  และหลังจากนั้นสามวันจะเป็นขึ้นใหม่ (ข้อ 31)

ประการแรก   พระเยซูคริสต์สอนว่าพระองค์เป็นใครแก่สาวก   พระองค์เป็น “บุตรมนุษย์”  คำว่าบุตรมนุษย์มาจากดานิเอล 7:13 บุตรมนุษย์ในดานิเอลหมายถึงผู้ที่มาจากสวรรค์  เป็นผู้ที่มีสิทธิอำนาจและเดชานุภาพในเวลาสิ้นยุค   คำว่า “บุตรมนุษย์” ที่พระเยซูคริสต์ใช้เป็นการอ้างว่า  พระเยซูเป็นตัวแทนจากพระเจ้าที่พระเจ้า เจิม แต่งตั้ง และรับรอง

ประการที่สอง  พระองค์กล่าวถึงความเป็นพระคริสต์ หรือ พระเมสสิยาห์ ในความหมายที่แตกต่างจากความเข้าใจของสาวกและประชาชน   เพราะภาพลักษณ์ในจินตนาการของสาวกและประชาชน   พระเมสสิยาห์ หรือ พระคริสต์คือมีลักษณะเป็น  “ฮีโร่”  ผู้นำที่ยิ่งใหญ่   ผู้ทรงอำนาจ  เป็นผู้มีชัยในสนามรบ   เป็นผู้ชนะเหนือศัตรูคือโรมัน   แต่พระเยซูคริสต์กลับสอนสาวกว่า  “บุตรมนุษย์” จะต้องทนทุกข์ทรมาน   ถูกพวกผู้นำศาสนายิวเองต่อต้าน   และในที่สุดจะถูกประหารชีวิต

ประการที่สาม   หลังจากที่ถูกฆ่าตายแล้ววันที่สามพระองค์จะเป็นขึ้นใหม่   ถึงแม้สาวกได้เห็นแล้วว่า  พระองค์ทำให้คนตายเป็นขึ้นใหม่ได้   แต่พวกเขามองไม่ออก  คิดไม่ถึง ว่าเรื่องนี้มันจะเป็นไปได้อย่างไร   เพ้อฝันหรือไม่?

เปโตรรับไม่ได้กับคำสอนใหม่เช่นนี้ของพระเยซูคริสต์   เป็นคำสอนที่สวนทางกับมุมมอง ความคิด ความเข้าใจ  และความเชื่อของพวกเขา   เปโตรอดรนทนไม่ได้ถึงกับขอเวลานอกพาพระเยซูไปพูดเป็นการส่วนตัวต่างหากกับพระเยซูสองต่อสองเพื่อ “ทักท้วง” ตำหนิ (ข้อ 32) ความเชื่อที่พระองค์สอน   เพราะความคิดความเชื่อที่ว่า พระเมสสิยาห์จะต้องทนทุกทรมาน  และต้องตาย (แพ้)   เป็นคำสอน ความคิดที่ไม่มีในความคาดหวังของชาวยิวเลย   ด้วยความรักและหวังดีของเปโตรต่อพระเยซูคริสต์   จึงพาพระองค์ออกมาต่างหากเพื่อที่จะพยายามช่วยให้พระเยซูคริสต์ “กลับเข้าร่องเข้ารอย” ในความเชื่อของยิวที่ถูกต้อง   เพื่อไม่ให้พระเยซูคริสต์เสียหน้า  และเพี้ยนไปกว่านี้

แต่พระเยซูคริสต์รู้เท่าทันความคิด  ความตั้งใจ และวิธีการของเปโตร   พระองค์กระตุกจิตสำนึกของเปโตร ด้วยคำพูดประโยคที่ว่า  เปโตรท่านมีมุมมอง ความคิด  ความเข้าใจตามกระแสของมนุษย์   แต่มุมมอง ความคิดความเข้าใจที่ท่านว่านั้นมิได้มองและคิดอย่างพระเจ้า แต่มารหรืออำนาจชั่วแฝงเข้ามาครอบงำความคิดของท่าน(ข้อ 33)   ดังนั้น  พระเยซูคริสต์จึงต้องขับอำนาจชั่วตามกระแสสังคมในตอนนั้นให้ออกจากเปโตร (ข้อ 33)

ใช่ครับ...ถูกของพระเยซู...  บ่อยครั้งเหลือเกินที่เรามองชีวิต และ เข้าใจพระเจ้าตามกระแสความเข้าใจของมนุษย์ที่อำนาจชั่วครอบงำ   แต่เราหลงลืมไปว่า   เราควรที่จะมอง คิด และเชื่อตามพระประสงค์ของพระเจ้า   ตามที่พระองค์ต้องการให้เราเห็น เข้าใจ  และเชื่อไว้วางใจ    

มิใช่เปโตรเท่านั้นที่เป็นเช่นนี้  ตัวเราเองด้วยครับ!

สำหรับเปโตรแล้ว   น่าเห็นใจครับ   คงสับสนสนในความคิดความเชื่อน่าดูทีเดียว   แม้จะผ่านเหตุการณ์นั้นไปแล้วก็ยังไม่เข้าใจ   จนกระทั่งเมื่อเขาพบและมีประสบการณ์กับพระคริสต์ที่เป็นขึ้นจากความตายแล้วต่างหากที่มุมมอง  ความคิด  ความเชื่อ และความเข้าใจของเขาเริ่มเปลี่ยนแปลง

วันนี้เราทูลขอว่า   ในการดำเนินชีวิตและการประกอบกิจการงานต่างๆ ของเรา   ได้รับการทรงสำแดงและเปิดโอกาสให้เราได้พบและมีประสบการณ์กับพระคริสต์ผู้เป็นขึ้นจากความตาย   เพื่อเราจะได้รับการเปลี่ยนแปลงและสร้างใหม่   ให้เรามอง เราคิด เราเชื่อตามพระประสงค์  ตามแนวคิดของพระเจ้า

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

พระเยซูคริสต์เป็นใครสำหรับคุณ?

อ่านมาระโก 8:27-33

27เมื่อ​อยู่​ระหว่าง​ทาง​นั้น​พระ​องค์​ตรัส​ถาม​พวก​สา​วก​ว่า คน​ทั้ง​หลาย​พูด​กัน​ว่า​เรา​เป็น​ใคร?”
28พวก​เขา​ทูล​ตอบ​พระ​องค์​ว่า เป็น​ยอห์น​ผู้​ให้​บัพ​ติศ​มา แต่​บาง​คน​ว่า​เป็น​เอลี​ยาห์ บาง​คน​ก็​ว่า​เป็น​คน​หนึ่ง​ใน​พวก​ผู้​เผย​พระ​วจนะ
29 พระ​องค์​จึง​ตรัส​ถาม​เขา​ว่า แล้ว​พวก​ท่าน​ล่ะ​คิด​ว่า​เรา​เป็น​ใคร?” เป​โตร​ทูล​ตอบ​ว่า พระ​องค์​เป็น​พระ​คริสต์(ข้อ 27-29 มตฐ)

ในชีวิตของเรา  มีบางเวลาที่เราต้องตอบคำถามที่สำคัญๆ

เมื่อเป็นเด็ก   ผู้ใหญ่มักจะถามเด็กว่า  “โตขึ้นหนูอยากจะเป็นอะไร?”   เด็กๆ ก็มักจะตอบว่าตนอยากจะเป็นอย่างกับคนที่ตนชื่นชอบ   เช่น ถ้าเด็กที่มีประสบการณ์ที่ดีกับครูที่สอนเขา  เขาอาจจะตอบว่าอยากเป็นครู   แต่เด็กบางคนเห็นว่าชุดทหารตำรวจเท่ดี  ก็อาจจะตอบว่าอยากจะเป็นทหารหรือตำรวจ   หรือถ้าเขามีประสบการณ์ที่ดีกับพยาบาล  เขาอาจจะตอบว่าอยากเป็นพยาบาล   หรือถ้าผู้ใหญ่บอกเขาว่าเป็นหมอแล้วจะได้เงินมากๆ   เด็กบางคนอาจจะตอบว่าอยากเป็นหมอ

ในชีวิตของเราที่ผ่านมาต่างต้องตอบคำถามที่สำคัญๆ กันทั้งสิ้น   สำหรับบางคนแล้วคำถามที่สำคัญในชีวิตของเขาอาจจะเป็นว่า  “ท่านจะรับสตรีคนนี้เป็นภรรยาของท่านหรือไม่?”  หรือ  “ท่านพร้อมจะรับชายคนนี้เป็นสามีของท่านหรือไม่?”   ถ้าคิดดีๆ แล้วนี่เป็นคำถามที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตเลยทีเดียว

เมื่อพระเยซูคริสต์สนทนากับสาวกในระหว่างทางที่ไปซีซารียา ฟีลิปปี พระองค์ถามสาวกว่า  “คนทั้งหลายพูดกันว่าเราเป็นใคร?” (ข้อ 27)   นี่คงเป็นคำถามที่ตอบไม่ยากสำหรับสาวก   เพราะเป็นคำถามถึงความคิดความเห็นของคนอื่น   พวกเขาตอบได้ค่อนข้างสบายใจว่า  บางคนก็คิดว่าพระองค์เป็นยอห์นผู้ให้บัพติศมาที่ถูกตัดหัวกลับมาเกิดอีก  แต่บางคนคิดว่าพระเยซูเป็นเอลียาห์ที่ทำการอัศจรรย์มากมายและต่อสู้กับความฉ้อฉลของผู้นำและนักปกครองของอิสราเอล   แต่ก็มีบางคนที่บอกว่าเป็นผู้เผยพระวจนะคนใดคนหนึ่งที่มาเกิด (ข้อ 28)

คำถามเดียวกันนี้  กลับกลายเป็นคำถามที่ตอบยากสำหรับสาวก   เมื่อพระเยซูยิงคำถามตรงว่า   “แล้วพวกท่านคิดว่าเราเป็นใคร?” (ข้อ 29)   ผมเดาว่า  สาวกอึกอัด  คิดไม่ออกบอกไม่ถูก   มีเพียงเปโตรที่ตอบว่า “พระองค์เป็นพระคริสต์”

วันนี้ถ้าพระเยซูคริสต์ถามท่านตรงๆ ว่า  “แล้วท่านว่าเราเป็นใคร?”   ท่านจะตอบอย่างไร  ท่านจะรู้สึกอย่างไร? 

เพราะการที่เราแต่ละคนจะตอบว่าพระเยซูเป็นใครนั้น จากความจริงใจ และ ความเชื่อจากส่วนลึกในชีวิตจิตใจ  คำตอบนั้นเป็นพลังที่เปลี่ยนแปลงและเสริมสร้างชีวิตและความเชื่อศรัทธาของเราต่อพระองค์   คำถามที่ว่า “ท่านว่าเรา(พระเยซูคริสต์)เป็นใคร?” เป็นคำถามที่เป็นแกนหลักในชีวิตของคริสตชนแต่ละคน   ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชีวิตของเราแต่ละคนว่า เรามีโอกาสสัมผัส  สัมพันธ์ และมีประสบการณ์ชีวิตเช่นไรบ้างกับพระคริสต์

ถ้าเรามีประสบการณ์เพียงการเรียนรู้เรื่องราว   ชีวิต และ คำสอนของพระเยซูคริสต์   เราอาจจะตอบว่า  “พระเยซูคริสต์เป็นผู้สอนที่ดี” สำหรับเรา

ถ้าเราบางคนมีประสบการณ์ที่พระเจ้าทรงตอบคำทูลของของตน   เราก็จะตอบว่า  พระองค์เป็นผู้ทรงรักเมตตา   เอาใจใส่ชีวิตผู้คนที่ร้องทูลต่อพระองค์

ในพวกเราบางคนมีประสบการณ์กับการที่พระเจ้าทรงเมตตาช่วยกอบกู้ผู้ทุกข์ยากลำบาก  ผู้เล็กน้อย  คนชายขอบสังคม สำหรับคนเหล่านี้แล้วพระเยซูคริสต์เป็นพระผู้ช่วยและปลดปล่อยเขาออกจากอำนาจบาปชั่วในสังคม

แต่สำหรับบางท่านที่มีประสบการณ์กับการที่พระเจ้าทรงเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขา   ทรงช่วยเขาออกจากการติดยาเสพติด  การพนัน  การเห็นแก่ตัว  โลภ ฯลฯ   พระเยซูคริสต์ของคนเหล่านี้คือ  ผู้ที่ทรงฉุดช่วยเขาออกจากโคลนตมแห่งความบาปชั่ว

สำหรับบางคนแล้วเขามีประสบการณ์กับพระเจ้าที่ทรงช่วยเขาให้หลุดรอดออกจากความรู้สึกผิด และ ทรงเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาจากที่ได้กระทำบาปที่เขาไม่สามารถที่จะช่วยตนเองได้   พระเยซูสำหรับคนนี้คือ  พระผู้ช่วยเขาให้รอดออกจากอำนาจของความบาปผิด   เป็นผู้ที่นำเข้าให้เข้ามามีชีวิตใหม่ใน “แผ่นดินของพระเจ้า”  หรือการมีชีวิตที่อยู่ภายใต้การคุ้มครอง ปกป้อง  และเสริมสร้างชีวิตใหม่จากพระองค์

สำหรับอีกหลายคนแล้ว   ที่ยอมรับว่า  พระเยซูคริสต์คือองค์พระผู้เป็นเจ้าในชีวิตของเขา   เป็นพระผู้ช่วยให้รอดในชีวิตของเขาจากอำนาจแห่งความบาปชั่วในมิติต่างๆ   และนำเขาเข้ามาเริ่มต้นชีวิตใหม่กับพระองค์และชุมชนแห่งผู้เชื่อในพระองค์   พระเยซูคริสต์เป็นผู้ที่สูงสุดในชีวิตของเขา   เป็นผู้ที่เขายกย่องและสรรเสริญผ่านการดำเนินชีวิตทั้งสิ้นของเขา  พระเยซูคริสต์เป็นผู้ที่ทรงเคียงข้างชีวิตของเขา  ทรงชี้นำการดำเนินประจำวันของเขา  ทั้งในสถานการณ์ที่สุข ทุกข์  ปัญหา  ความล้มเหลว หรือ แม้กระทั่งในความสำเร็จ และ ความสุข   เป็นผู้ที่เขาไว้วางใจอย่างสิ้นสุดจิตใจในพระองค์   มอบกายถวายชีวิตทั้งสิ้นให้ดำเนินไปตามพระประสงค์ของพระองค์

แล้วท่านล่ะ...พระเยซูเป็นใครในชีวิตของท่าน?

การดำเนินชีวิตของท่านที่ผ่านมาได้สะท้อนอะไรบ้างว่า  พระเยซูคริสต์เป็นใครในชีวิตของท่าน?

ในการดำเนินชีวิต และ การประกอบกิจการงานในวันนี้   ท่านจะสะท้อนพระเยซูคริสต์ในชีวิตของท่านออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมว่า พระองค์เป็นใครสำหรับท่านได้อย่างไรบ้าง?

จำเป็นที่เราท่านและแต่ละคนต้องมีเวลาที่จะตรวจสอบตนเองต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้าว่า   แท้จริงแล้วในทุกวันนี้พระเยซูคริสต์คือใครกันแน่ในชีวิตของเรา?   พระองค์มีส่วนอะไรบ้างที่ทำให้การดำเนินชีวิตของเราแตกต่างจากที่เคยเป็น?   ท่านจะต้องเอาจริงเอาจังกับพระลักษณะใดบ้างของพระเยซูคริสต์ในการดำเนินชีวิตทุกวันนี้ของท่าน?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

02 กันยายน 2556

จงเคาะ..เคาะแล้วเคาะอีก

15 หาก​พี่​น้อง​ของ​ท่าน​คน​หนึ่ง​ทำ​ผิด​​ต่อ​ท่าน 
    จง​ไป​หา​และ​ชี้​ความ​ผิด​ต่อ​เขา​สอง​ต่อ​สอง​เท่า​นั้น ถ้า​เขา​ฟัง​ท่าน ท่าน​จะ​ได้​พี่น้อง​คืน​มา...” (มัทธิว 18:15 มตฐ)

ถ้าเราจะทำตามพระคัมภีร์ข้อนี้   ทำใจนะครับว่า  ไปพบเพียงครั้งเดียวอาจจะไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ต้องการ   เพราะคู่กรณีจะต้องสงสัยในความจริงใจของเราว่า   ที่เราไปหานั้นมีแผนอะไรซ่อนอยู่ข้างหลังหรือไม่   หรือเขาคนนั้นอาจจะไมคุ้นชินกับการแก้ปัญหาแบบตรงไปตรงมาด้วยความจริงใจเช่นนี้ก็ได้   ในการที่เราตั้งใจและริเริ่มสร้างการคืนดีคงเป็นเหมือนการที่เราหวังผลจากพืชที่เราปลูก   การเริ่มต้นครั้งแรกของการคืนดีนั้นเป็นเหมือนการหว่านเมล็ดลงดินก่อน   เพราะถ้าไม่หว่านเมล็ดก็จะไม่มีการงอก  ไม่มีต้น ใบ ดอก  และก็ไม่เกิดผลอะไรเลยแน่   การเริ่มต้นครั้งแรกของการสร้างการคืนดีเป็นการหว่านเมล็ดแห่งความสัมพันธ์ใหม่   แต่เราจะต้องให้เวลาแก่ตนไม้แห่งการคืนดีนั้น ในการเติบโตและเกิดผลก่อน   เราถึงจะได้เก็บเกี่ยวผลแห่งการคืนดีในที่สุด

โปรดสังเกตว่า   รากศัพท์ภาษากรีกของคำว่า “จงไป” ในพระคัมภีร์ตอนนี้เป็นกริยาที่บอกให้ทำอย่างต่อเนื่อง (คือจงไปอย่างต่อเนื่อง)   ในที่นี้มิได้หมายความว่าไปสร้างการคืนดีเพียงครั้งเดียว   แต่หมายความว่าไปแล้วไปอีกอย่างไม่หยุดหย่อนท้อถอย   แต่เมื่ออ่านพระคัมภีร์ตอนนี้ในภาษาไทยแล้วมักเข้าใจกันว่า  ไปเพียงครั้งเดียว   ถ้าคู่กรณีไม่ยอมฟังหรือยอมคืนดี   เราก็จะดำเนินขั้นตอนต่อไปอย่างที่พระคัมภีร์แนะนำ

ดังนั้น  บ่อยครั้งนักที่เราไปเพียงครั้งเดียว   แล้วล้มเลิกที่จะอดทนสร้างการคืนดีอย่างต่อเนื่อง

หญิงวัยกลางคนคนหนึ่ง   ได้อยู่รักษาตัวในโรงพยาบาลคริสเตียนแห่งหนึ่งเกือบเดือนแล้ว   อนุศาสกในโรงพยาบาลแห่งนั้น ได้เคาะประตูห้องขออนุญาตเข้าเยี่ยมเธอ   เขาทักทายเธอด้วยความอบอุ่น   แต่อย่างไรก็ตามอุณหภูมิของอารมณ์ที่เธอตอบสนองกลับเย็นชา   อนุศาสกพยายามที่จะลงลึกถึงจิตวิญญาณ   แล้วใช้การสนทนาเพื่อสร้างการเยียวยาบาดแผลในจิตใจเพื่อให้เกิดการคืนดีและมีสันติสุข   แต่เธอเฉยเมยไม่ตอบสนอง   แม้อนุศาสกจะพยายามที่จะสบตาของเธอ   แต่ก็ดูเหมือนว่าการสนทนาไม่เคลื่อนไปไหน   หลังจากที่มีแต่คำถามทางเดียวจากอนุศาสก   เขาก็บอกกับเธอว่า  พรุ่งนี้เขาจะกลับมาเยี่ยมเธออีก   เธอบอกอนุศาสกว่า  “พรุ่งนี้ฉันอาจจะกลับบ้านแล้ว”

เหตุการณ์ปรากฏว่า  อนุศาสกมาเยี่ยมเธออีกจริง  แล้วก็บอกกับเธอว่าจะมาเยี่ยมเธออีก   และเขาก็มาเยี่ยมอีก   มาเยี่ยมเธออีกครั้งหนึ่ง   อีกครั้งหนึ่ง   อีกครั้งหนึ่ง  และอีกครั้งหนึ่ง  

อนุศาสกเคาะประตูครั้งแล้วครั้งเล่า   จนครั้งหนึ่งเมื่อเขาเคาะที่ประตูห้องของเธอ   มีเสียงจากภายในห้องดังออกมาว่า   “นั่นเป็นอาจารย์อนุศาสกใช่ไหม...เชิญเข้ามาในห้องค่ะ!”   สิ่งที่อนุศาสกพบแทนที่จะเป็นหน้าตาที่เย็นชาเฉยเมยอย่างทุกครั้ง  แต่ครั้งนี้กลับพบหน้ายิ้มแย้มอ่อนโยน   พร้อมกับน้ำตาที่ไหลออกมา

เธอสนทนากับอนุศาสกพร้อมด้วยน้ำตา   การเยี่ยมครั้งสุดท้ายนี้ใช้เวลากว่าหนึ่งชั่วโมง   เมื่ออนุศาสกเดินออกจากห้องเธอไป เธอดูมีสันติสุขในชีวิต  ตลอดเวลาเวลาเกือบสามเดือนที่เธอพักรักษาตัวในโรงพยาบาลแห่งนี้   อนุศาสกมาเยี่ยมเธอครั้งแล้วครั้งเล่า   บางครั้งมาเพียงทักทายและชวนเธออธิษฐาน   บางครั้งใช้เวลาเล่นเกมกับเธอ    บทเรียนที่อนุศาสกได้เรียนรู้ครั้งนี้คือคุณค่าของการที่เขาจาริกไปกับความเจ็บป่วยของเธอ

ครั้งแรกที่ท่านเริ่มการสร้างการเยียวยาบาดแผลและการคืนดีในชีวิตของเธอ  ดูเหมือนว่าไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้น   แต่นั่นเป็นการหว่านเมล็ดแห่งการเยียวยาและการคืนดี   โดยหวังการเก็บเกี่ยวผลในวันข้างหน้า

ในการเยียวยา และ เสริมสร้างการคืนดีและเกิดสันติสุขในชีวิตของคนนั้น   ไม่ได้จำกัดกับจำนวนครั้งที่ท่านจะต้อง “เคาะ” ที่ประตูใจแห่งชีวิตของคน   บางคนว่าสามครั้ง   บางคนว่าเจ็ดครั้ง   แต่ผมว่า “เคาะ” ครั้งแล้วครั้งเล่า   และเคาะครั้งต่อไป  ครั้งต่อไป  ครั้งต่อไป   ไม่หยุดหย่อนครับ   อย่างที่พระคริสต์ทรงยืนนอกประตูเคาะครั้งแล้วครั้งเล่า   รอเรา  จนกว่าเราจะเปิดประตูใจแห่งชีวิตของเรา  เราก็ควรที่จะทำตามแบบพระคริสต์ที่อดทน เคาะครั้งแล้วครั้งเล่า   จนกว่าประตูแห่งการเยียวยารักษา และ การคืนดีจะเปิดออก

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499