28 ตุลาคม 2556

ท่านรับใช้พระคริสต์ในงานอะไร?

อ่าน เอเฟซัส 4:11-16

11...พระ​องค์​เอง​ประ​ทาน​ให้​บาง​คน​เป็น​อัคร​ทูต
บาง​คน​เป็น​ผู้​เผย​พระ​วจนะ
บาง​คน​เป็น​ผู้​ประกาศ​ข่าว​ประเสริฐ
บาง​คน​เป็น​ศิษยาภิบาล​และ​อา​จารย์   

12 เพื่อ​เตรียม​ธรรมิก​ชน(ประชากรของพระเจ้า) ​สำ​หรับ​การ​ปรนนิบัติ(พันธกิจการรับใช้)​ และ​ การ​เสริม​สร้าง​พระ​กาย​ของ​พระ​คริสต์
(เอเฟซัส 4:11-12 มตฐ.  ในวงเล็บมาจาก อมต.)

จากบทใคร่ครวญเอเฟซัส 4:11-12  ที่ผ่านมา   เราได้เห็นแล้วว่า  สมาชิกคริสตจักร หรือ ประชากรของพระเจ้า   ทุกคนเป็นคนรับใช้ หรือ ผู้รับใช้ของพระคริสต์   ซึ่งผู้รับใช้เหล่านี้ได้รับการบ่มเพาะ เสริมสร้าง และฝึกฝนจากศิษยาภิบาลและผู้นำคริสตจักร   ดังนั้น   ไม่ว่าเราจะเป็นใคร หรือมีตำแหน่งหรือไม่มีตำแหน่งอะไร   ถ้าเราได้รับพระคุณของพระเจ้าโดยทางความเชื่อศรัทธาในพระเยซูคริสต์แล้ว   เราทุกคนต่างเป็นผู้ร่วมรับใช้ในพระราชกิจของพระเยซูคริสต์

สัจจะความจริงประการนี้นำไปสู่คำถามว่า   แล้วท่านรับใช้พระคริสต์ในงานอะไร?

แน่นอนครับในด้านหนึ่งเราท่านรับใช้พระคริสต์เกี่ยวกับพันธกิจด้านต่างๆ ที่เราทำในคริสตจักรของเรา เช่น  การสอนคริสเตียนศึกษา   เป็นนักร้องในคณะนักร้อง   เป็นผู้ผ่านถุงถวาย   รับใช้ในฐานะผู้ปกครอง  มัคนายก  เป็นกรรมการในคณะต่างๆ...  ซึ่งมีพันธกิจมากมายหลายอย่างที่เราสามารถรับใช้ในคริสตจักร   และต่อจากพระธรรมตอนนี้ไปอีก 2-3 ข้อเราพบว่า   แต่ละคนต่างมีความสำคัญทั้งนั้น ถ้าคริสตจักรแห่งนั้นเป็นคริสตจักรที่มีชีวิตและเป็นไปตามพระประสงค์ของพระเจ้า

ที่ผ่านมา...  เราอาจจะเข้าใจว่าสมาชิกทุกคนเป็นคนรับใช้ของพระคริสต์   แต่เราส่วนใหญ่มักตกลงในกับดักความคิดความเข้าใจที่ว่า   เราเป็นคนรับใช้พระคริสต์ “ในพันธกิจด้านต่างๆ ในคริสตจักร” เท่านั้น   ซึ่งเป็นความคิดความเข้าใจที่คับแคบ   เรามักมองเห็นเพียงว่าคริสตชนเป็นคนรับใช้ในงานพันธกิจในคริสตจักร   แต่กลับมองข้ามหรือมองไม่เห็นว่า   เราเป็นคนรับใช้ของพระคริสต์ในพระราชกิจต่างๆ ของพระองค์ที่ทรงกระทำนอกคริสตจักร  ที่ทรงกระทำในสังคมชุมชน   เรายังคงจำได้ว่าในพระธรรมเอเฟซัสก่อนหน้านี้ได้กล่าวถึงแผนการของพระเจ้าที่ทรงรวบรวมทุกสิ่งทุกอย่างไว้ในพระคริสต์   ที่เราได้รับการทรงสร้างใหม่ในพระคริสต์ก็เพื่อที่เราจะกระทำการดี   การดีที่ว่านี้คือการมีส่วนร่วมในการงานพระราชกิจการพลิกฟื้นทุกสิ่งทุกอย่างในโลกและจักรวาลนี้

ดังนั้น  พันธกิจงานรับใช้ของเราจึงมิใช่งานที่ทำในคริสตจักรเท่านั้น   แต่พันธกิจการรับใช้ของเราเป็นการที่เรารับใช้พระคริสต์ด้วยทั้งชีวิตของเรา   เพื่อว่าเราจะมีชีวิตทุกมิติ  ทั้งในครอบครัว  ในที่ทำงาน  ในชุมชนสังคม  ในกลุ่มเพื่อนฝูง  และในชุมชนคริสตจักรด้วยการมีส่วนร่วมในการรับใช้ในพระราชกิจตามพระประสงค์ของพระคริสต์

อะไรคือพันธกิจที่เรารับใช้พระคริสต์ในชีวิตนี้?  

คือการที่เรามอบกายถวายชีวิตทั้งสิ้นเพื่อรับใช้พระประสงค์ของพระองค์   ที่เราอุทิศทั้งชีวิตของเรารับใช้ผู้คนรอบข้างในพระนามของพระเจ้า   เป็นการที่เราใช้ตะลันต์  ของประทาน  ความสามารถที่เราได้รับการฝึกฝนมา   และโอกาสทั้งสิ้นที่เราได้รับในการรับใช้และเสริมสร้างพระกายของพระคริสต์คือชุมชนคริสตจักรให้เข้มแข็ง   และรวบรมทุกสิ่งทุกอย่างให้เข้าเป็นหนึ่งเดียวกันในพระคริสต์   และเป็นการดำเนินชีวิตในทุกขณะจิตเพื่อพระเจ้า  เพื่อพระประสงค์และพระสิริของพระองค์

ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญ

1. ท่านเข้าใจอย่างไรว่าในฐานะที่ท่านเป็นสาวกที่ติดตามพระคริสต์  อะไรคือพันธกิจที่ท่านรับใช้พระองค์?
2. ท่านจะมีส่วนในการเสริมสร้างพระกายของพระคริสต์คือคริสตจักรให้เติบโตเข้มแข็งได้อย่างไร?
3. ชีวิตของท่านจะเปลี่ยนแปลงแตกต่างจากเดิมอย่างไรบ้าง  ถ้าท่านเห็นว่าในทุกส่วนทุกมิติชีวิตของท่านเป็นไปเพื่อรับใช้พระคริสต์?

ใคร่ครวญภาวนา

ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า  
ขอบพระคุณพระองค์ที่ทรงเรียกข้าพระองค์ให้เข้ามามีส่วนร่วมรับใช้ในพระราชกิจของพระองค์  
ขอบพระคุณพระองค์ที่ทรงให้เกียรติให้โอกาสแก่ข้าพระองค์ได้รับใช้พระองค์ในสังคมโลกนี้  
ขอบพระคุณพระองค์ที่ทรงช่วยข้าพระองค์ให้ได้มีส่วนในการเสริมสร้างพระกายของพระองค์คือคริสตจักรให้จำเริญขึ้น  
ขอบพระคุณพระองค์ที่ทรงให้โอกาสแก่ข้าพระองค์ที่จะรับใช้พี่น้องผู้คนในสังคมชุมชนในพระนามของพระองค์
ขอองค์พระผู้เป็นเจ้าโปรดเมตตาช่วยข้าพระองค์ดำเนินชีวิตในทุกขณะในฐานะคนรับใช้ของพระองค์   โปรดช่วยข้าพระองค์ในการรับใช้พระองค์  แม้ในเวลาที่กำลังหุงหาอาหารสำหรับผู้คนในครอบครัว   หรือเมื่อกำลังทำบัญชี   หรือการยุติการขาย  หรือ ในการเทศนา   โปรดประทานนิมิตหมายที่คมชัดที่จะใช้ทั้งชีวิตนี้สำหรับพระราชกิจของพระองค์   เพื่อให้ทุกสิ่งทุกอย่างและทุกขณะในชีวิตข้าพระองค์เป็นที่ยกย่องถวายพระเกียรติแด่พระองค์  
อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

25 ตุลาคม 2556

มองปัญหาด้วยมุมมองแบบไหน?

เมื่อเราได้ยินคำว่าปัญหา  ตัวท่านตอบสนองต่อคำนี้ด้วยอารมณ์ความรู้สึกในทางบวกใช่ไหม?

หลายคนอาจจะไม่!   หลายคนจะเกิดความรู้สึกตรงกันข้ามกับความชื่นชมเมื่อได้ยินคำว่าปัญหา

หลายต่อหลายคนมองว่าปัญหาเป็นสิ่งที่สร้างความน่ารำคาญและพยายามที่จะหลีกเลี่ยงหนีจากปัญหา   แต่ถ้าเรามีมุมมองหรือทัศนคติที่ถูกต้องและมีความชื่นชมต่อปัญหา   มิเพียงแต่จะช่วยเราในการทุ่มเทการแก้ปัญหานั้นมากขึ้นเท่านั้น   แต่เราจะได้เรียนรู้และเติบโตจากปัญหาดังกล่าว

ปัญหามักพกพาโอกาสมาด้วย   และในเวลาเดียวกัน  โอกาสก็มักนำปัญหามาด้วยเช่นกัน   ปัญหาและโอกาสเป็นเพื่อนสนิทที่ไปไหนมาไหนด้วยกันครับ   ถ้าเราเปิดใจยอมรับด้วยความชื่นชมในสัจจะความจริงประการนี้   เราก็สามารถก้าวหน้าในชีวิต

จอห์น ซี. แม็กซ์แวลล์  ได้ยกเอาบทเรียนของนกอินทรีเมื่อต้องเผชิญกับภัยอันตรายจากกระแสลมที่รุ่นแรงแบบบ้าคลั่งว่า

1. กระแสลมที่รุนแรงบ้าคลั่งดังกล่าวทำให้นกอินทรีต้องบินในระดับที่สูงขึ้น   เพราะในพายุรุนแรงนั้นมีกระแสลมที่อุณหภูมิสูงที่ส่งแรงลอยตัวขึ้นทำให้นกอินทรีบินเหินทะยานตัวให้สูงขึ้นตามกระแสลมร้อนนั้น

2. พายุที่รุนแรงทำให้นกอินทรีมีมุมมองกว้างขึ้นยิ่งนกอินทรีทะยานตัวสูงขึ้นแค่ไหน   นกอินทรีก็จะมีมุมมองภาคพื้นดินได้กว้างขวางมากขึ้นเท่านั้น   จากจุดที่กำลังบินที่สูงทำให้สายตาที่แหลมคมของมันสามารถมองเห็นมากกว่าปกติ

3. พายุที่บ้าคลั่งนั้นยกตัวนกอินทรีให้อยู่เหนือความน่ารำคาญที่มารบกวนมัน   การบินในระดับต่ำนกอินทรีมักถูกรบกวนจากอีกาที่ไม่ไว้วางใจอินทรี   และถูกรบกวนจากเหยี่ยวที่ไม่ค่อยพอใจนกอินทรี  หรือถูกรบกวนจากนกเล็กนกน้อยอื่นๆ   แต่เมื่อนกอินทรีเหินสู่ระดับสูงทำให้นกอินทรีอยู่ระดับเหนือกว่าที่จะถูกรบกวน

4. พายุที่รุนแรงทำให้นกอินทรีใช้กำลังในการบินน้อยลง   ปีกของนกอินทรีถูกสร้างมาให้เหมาะสำหรับการบินเหินไปบนกระแสลม   โครงสร้างของขนที่ปีกช่วยในการทรงตัวของมัน  ลดแรงเสียดทาน  และช่วยให้บินเหินสูงขึ้นอย่างนิ่มนวลโดยใช้กำลังเพียงน้อยนิด   แม้จะอยู่ท่ามกลางกระแสลมที่บ้าคลั่งรุนแรงก็ตาม

5. นกอินทรีสามารถอยู่ท่ามกลางพายุที่แรงกล้าได้นานกว่า   มันสามารถใช้กระแสลมดังกล่าวในการบินร่อนได้นานกว่า   ท่ามกลางลมนั้นมันจะค่อยๆ ร่อนลงมาเป็นวงกลมแล้วบินเหินเป็นวงกลมเหมือนสว่านจากระดับบน  ด้วยกระแสลมที่มีอุณหภูมิที่สูงกว่า

6. กระแสลมที่รุนแรงนี้ช่วยนกอินทรีบินได้เร็วขึ้น   โดยปกติแล้วนกอินทรีจะบินด้วยความเร็ว 50 ไมล์ต่อชั่วโมง   แต่เมื่อนกอินทรีบินท่ามกลางพายุแรงกล้ามันสามารถบินร่อนด้วยความเร็วมากกว่า 100 ไมล์ต่อชั่วโมง   ซึ่งเป็นความเร็วที่ไม่ปกติ

7. ปัญหาจะไม่เป็นปัญหาเลย  ถ้าเราจะไม่มองว่ามันเป็นปัญหา   แท้จริงแล้วปัญหามันพกพาโอกาสมาให้เรา   ดังนั้น   ต่อไปนี้ถ้าเรามีมุมมองแบบนี้   เมื่อเราต้องเผชิญหน้ากับปัญหา   เราจะรู้ว่า เรากำลังเผชิญหน้ากับบางสิ่งบางอย่างที่กำลังก่อเกิดสิ่งสร้างสรรค์แก่ท่าน   อย่างน้อยที่สุด  ท่านกำลังพบโอกาสที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่   แต่ท่านจะพบคุณค่ามากกว่านั้นถ้าเราหาทางรับมือจัดการกับสิ่งที่เผชิญหน้านั้นด้วยมุมมองที่ถูกต้องและสร้างสรรค์

วันนี้  ให้เราเผชิญหน้ากับพายุร้ายด้วยมุมมอง  ด้วยปีกที่ทรงสร้าง   ด้วยพลังยกตัวจากลมร้อน  และด้วยกำลังเสริมหนุนจากองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงทรงเฝ้าดูแลอยู่เสมอ

แต่​เขา​ทั้ง​หลาย​ผู้​รอ​คอย​พระ​เจ้า​จะ​เสริม​เรี่ยว​แรง​ใหม่
เขา​จะ​บิน​ขึ้น​ด้วย​ปีก​เหมือน​นก​อินทรี
(อิสยาห์ 40:31)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

23 ตุลาคม 2556

เมื่อศิษยาภิบาลเสริมสร้างฝึกฝน “คนรับใช้”

อ่าน เอเฟซัส 4:11-16

11...พระ​องค์​เอง​ประ​ทาน​ให้​บาง​คน​เป็น​อัคร​ทูต
บาง​คน​เป็น​ผู้​เผย​พระ​วจนะ
บาง​คน​เป็น​ผู้​ประกาศ​ข่าว​ประเสริฐ
บาง​คน​เป็น​ศิษยาภิบาล​และ​อา​จารย์   

12 เพื่อ​เตรียม​ธรรมิก​ชน(ประชากรของพระเจ้า) ​สำ​หรับ​การ​ปรนนิบัติ(พันธกิจการรับใช้)​ และ​ การ​เสริม​สร้าง​พระ​กาย​ของ​พระ​คริสต์
(เอเฟซัส 4:11-12 มตฐ.)

ณ วันนี้เราตระหนักชัดแล้วว่า   พลังขับเคลื่อนชีวิตและการทำพันธกิจของคริสตจักรมาจากสมาชิกแต่ละคนและทุกคนในคริสตจักร   ที่ยอมอุทิศถวายตัวแด่พระคริสต์  และรับการเสริมสร้างและฝึกฝนในการทำพันธกิจรับใช้ด้านต่างๆ จากศิษยาภิบาล และ ผู้นำคริสตจักร   โดยทำงานรับใช้ด้วยการหนุนเสริมเพิ่มพลังจากพระวิญญาณบริสุทธิ์

พระธรรมเอเฟซัส 4:12 ฉบับภาษากรีกที่เป็นต้นฉบับใช้แปลเป็นภาษาต่างๆ เขียนไว้ว่า  พระคริสต์ทรงให้(ประทานให้)บางคนเป็นอัครทูต  บางคนเป็นผู้เผยพระวจนะ  บางคนเป็นผู้เผยแพร่ข่าวประเสริฐ  บางคนเป็นศิษยาภิบาลและอาจารย์  “เพื่อเตรียม(เสริมสร้าง)ประชากรของพระเจ้า(ธรรมิกชน)ให้เป็นคนรับใช้   เพื่อว่าพระกายของพระคริสต์จะได้รับการเสริมสร้างขึ้น”  

ดังนั้น  ในที่นี้งานหลักที่ศิษยาภิบาลและผู้นำคริสตจักรด้านต่างๆ ที่พระเจ้าประทานให้นั้นคือ  การเตรียมและเสริมสร้างให้ประชากรของพระเจ้า(ธรรมิกชน  สมาชิกคริสตจักร)ให้สามารถทำงานรับใช้   เพื่อเสริมสร้างพระกายพระคริสต์ให้จำเริญขึ้น   เราจึงเห็นว่าหน้าที่ของศิษยาภิบาลและผู้นำคริสตจักรที่ได้รับมอบหมายจากพระคริสต์คือ การเตรียมและเสริมสร้างสมาชิกใน 2 ภารกิจสำคัญคือ 
การสร้างสมาชิกแต่ละคน(ทุกคน)ให้เป็นคนรับใช้  
(ซึ่งเป็น)การเสริมสร้างคริสตจักรคือพระกายของพระคริสต์ให้เข้มแข็งมีพลังในการขับเคลื่อนงานรับใช้ในพันธกิจด้านต่างๆ โดยสมาชิกคริสตจักรซึ่งมีของประทาน-ความสามารถที่หลากหลาย   

การปรับเปลี่ยนมุมมองจาก  ศิษยาภิบาลและผู้นำคริสตจักรคือผู้ทำพันธกิจงานรับใช้เองทั้งหมด   มาเป็นการเสริมสร้างและฝึกฝนให้สมาชิกทุกคนให้เป็นคนรับใช้ในพันธกิจด้านต่างๆ ของพระคริสต์นั้นต้องใช้เวลา   นั่นหมายความว่าเราจะต้องมีมุมมองที่ถูกต้องว่า   สมาชิกคริสตจักร หรือ ประชากรของพระเจ้าแต่ละคนต้องเป็นคนรับใช้ในพันธกิจด้านต่างๆ ในคริสตจักรของตน   เพื่อคริสตจักรจะเกิดพลังเข้มแข็งในการขับเคลื่อนพันธกิจของคริสตจักรร่วมกันของสมาชิกแต่ละคนในคริสตจักร   นั่นหมายความว่า มิใช่เพียงศิษยาภิบาลและผู้นำคริสตจักรเท่านั้นที่จะต้องรับผิดชอบการขับเคลื่อนพันธกิจด้านต่างๆ   แต่ศิษยาภิบาลและผู้นำคริสตจักรจะต้องทำหน้าที่และรับผิดชอบต่อพระคริสต์ในการเสริมสร้างและฝึกฝนสมาชิกแต่ละคนให้เป็นคนที่สามารถรับใช้ในพันธกิจด้านต่างๆ ของคริสตจักร   และรับใช้ในพันธกิจด้านต่างๆ อย่างประสาน สอดคล้อง เกื้อหนุนและกลมกลืนกันตามพระประสงค์ของพระคริสต์

กระบวนการเตรียม  เสริมสร้าง  และฝึกฝนสมาชิกให้มีชีวิตที่เป็น “คนรับใช้ของพระคริสต์” นั้นเป็นการเตรียมและเสริมสร้างอย่างเป็นกระบวนการ   เป็นการเตรียมและเสริมสร้างตลอดชีวิต   ดังนั้น  แค่การมานมัสการพระเจ้าในวันอาทิตย์  การฟังคำเทศนา  และการเรียนพระคัมภีร์ในวันอาทิตย์   ทำการฟื้นฟู   เข้าค่ายครอบครัวปีละครั้ง   ไม่เพียงพอ   เพราะมิได้มีกระบวนการเตรียม  เสริมสร้าง  และฝึกฝนให้สมาชิกแต่ละคนเป็นคนรับใช้ของพระคริสต์ในชีวิตประจำวัน   ทั้งชีวิตในครอบครัว  ในที่ทำงาน  ในชุมชน  ในกลุ่มเพื่อนฝูง  และในคริสตจักร

ศิษยาภิบาลและผู้นำคริสตจักรจะต้องพิจารณาถึงกระบวนการเตรียม  เสริมสร้าง  และฝึกฝนสมาชิกคริสตจักรให้เป็นผู้รับใช้ของพระคริสต์ท่ามกลางชุมชนและคริสตจักรใน 5 มิติด้วยกันคือ

1. การเตรียมและเสริมสร้างชีวิตส่วนตัว:  มีชีวิตที่ติดสนิทกับพระเจ้า,  มีพระองค์เป็นเอกเป็นต้นในชีวิต,  มีพระวจนะเป็นเครื่องชี้นำในการเผชิญหน้ากับความสุขและความทุกข์ในชีวิต  และในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ,  ให้เรียนรู้พระประสงค์ของพระเจ้าผ่านพระวจนะ และ ประสบการณ์ชีวิตที่พระเจ้าทรงกระทำในชีวิตและผ่านชีวิตของตน

2. การเตรียมและเสริมสร้างชีวิตครอบครัว:  คริสตจักรมีกระบวนการให้สมาชิกเป็นพ่อแม่คริสเตียน ที่เอาใจใส่เลี้ยงดูคนในครอบครัว   ตลอดจนการบ่มเพาะ เลี้ยงดู ฟูมฟักความเชื่อ  และการวางรากฐานพระวจนะของพระเจ้า และวินัยชีวิตคริสเตียน,  เสริมสร้างมุมมอง ทัศนคติ ทั้งโลกทัศน์  ชีวิทัศน์  สังคมทัศน์  และเศรษฐทัศน์บนรากฐานพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์,   สร้างครอบครัวบนรากฐานพระกิตติคุณ

3. การเตรียมและเสริมสร้างชีวิตในคริสตจักร:  หนุนเสริมให้สมาชิกทุกคนถวายทั้งชีวิตแด่พระคริสต์,  ได้รับการวางรากฐานพระวจนะ  ความเชื่อศรัทธา  ชีวิตคริสเตียนสำหรับการดำเนินชีวิต,  สนับสนุนสมาชิกแต่ละคนเข้าร่วมในพระราชกิจของพระคริสต์ผ่านชีวิตและพันธกิจของคริสตจักร  ทั้งในด้านการกอบกู้  เยียวยา  และเสริมสร้างชีวิตใหม่,   เป็นอวัยวะหนึ่งในพระกายของพระคริสต์ทำหน้าที่สอดประสานกับอวัยวะอื่นๆ ในพระกายนั้น,  เสริมสร้างและสนับสนุนสมาชิกแต่ละคนพัฒนาและใช้ของประทานในงานรับใช้ต่างๆ,   เตรียมพ่อแม่/ผู้ปกครองในการเลี้ยงดูบุตร  วางรากฐานพระวจนะ  ความเชื่อศรัทธา  และวินัยชีวิตคริสเตียนแก่บุตรและสมาชิกในครอบครัว,  เตรียมสมาชิกมีชีวิตที่สำแดงความรักของพระคริสต์ในที่ทำงาน  ในชุมชน  ครอบครัว และคริสตจักร,   เตรียมสมาชิกที่กำลังเข้าสู่ผู้สูงวัยและกลุ่มผู้สูงวัย   เริ่มต้นชีวิตใหม่ในวัยนี้ตามพระประสงค์ด้วยพระคุณของพระเจ้า.

4. การเตรียมและเสริมสร้างชีวิตอาชีพการงาน:  เตรียมสมาชิกให้มีชีวิตคริสเตียนที่สำแดงความรักเมตตา สัตย์ซื่อ และเสียสละแบบพระคริสต์ในงานอาชีพที่รับผิดชอบ,  เตรียมและเสริมสร้างสมาชิกให้มีภาวะผู้นำแบบพระคริสต์,  ใช้ชีวิตร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเพื่อนร่วมงานทุกระดับ,  เปิดชีวิตให้พระเจ้าทรงใช้ในที่ทำงาน  และร่วมในพระราชกิจของพระคริสต์ที่ทรงกระทำผ่านชีวิตของตน

5. การเตรียมและเสริมสร้างชีวิตในสังคมชุมชน:  เสริมสร้างชีวิตสมาชิกให้มีจิตใจที่ห่วงใยเอาใจใส่ต่อชุมชนสังคมที่ตนใช้ชีวิตด้วย,  มีสัมพันธภาพที่สร้างสรรค์ รับใช้  และหนุนเสริมเพิ่มพลังแก่คนรอบข้าง,   ริเริ่มและดำเนินพันธกิจพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์  ผ่านพันธกิจการกอบกู้ เยียวยารักษา  และเสริมสร้างใหม่ในประเด็นชีวิตที่เป็นจริงของชุมชน

การเตรียม  เสริมสร้าง  และฝึกฝนสมาชิกให้เป็นคนรับใช้ดังที่กล่าวข้างต้นนี้   เริ่มต้นที่คริสตจักรท้องถิ่นครับ   ไม่ใช่ที่สภาคริสตจักร  คริสตจักรภาค  หน่วยงาน หรือ สถาบันใดๆ  และแต่ละคริสตจักรเริ่มต้นตามของประทานที่พระเจ้าประทานให้  และสถานการณ์ที่เป็นจริงของตน   ไม่จำเป็นจะต้องมีรูปแบบ ขั้นตอนที่เหมือนกันตายตัวครับ

อย่าลืมนะครับ   เรามิได้ริเริ่ม หรือ ทำเองนะครับ   แต่พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงนำและเป็นกำลังที่หนุนเสริมเพิ่มพลังแก่เราแต่ละคริสตจักรครับ


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

21 ตุลาคม 2556

สมาชิกคาดหวังให้ศิษยาภิบาลทำอะไรเพื่อตน?

อ่าน เอเฟซัส 4:11-16

11...พระ​องค์​เอง​ประ​ทาน​ให้​บาง​คน​เป็น​อัคร​ทูต
บาง​คน​เป็น​ผู้​เผย​พระ​วจนะ
บาง​คน​เป็น​ผู้​ประกาศ​ข่าว​ประเสริฐ
บาง​คน​เป็น​ศิษยาภิบาล​และ​อา​จารย์   

12 เพื่อ​เตรียม​ธรรมิก​ชน(ประชากรของพระเจ้า) ​สำ​หรับ​การ​ปรนนิบัติ(พันธกิจการรับใช้)​ และ​ การ​เสริม​สร้าง​พระ​กาย​ของ​พระ​คริสต์
(เอเฟซัส 4:11-12 มตฐ.)

ในฐานะที่เราเป็นสมาชิกคนหนึ่งของคริสตจักร   เราคาดหวังอะไรจากศิษยาภิบาลของเรา?  

หลายคนคาดหวังคำเทศนาที่ดีๆ เด็ดๆ ตอบโจทย์ปัญหาชีวิตของตนในทุกเช้าวันอาทิตย์จากศิษยาภิบาล     เราคงต้องการให้ศิษยาภิบาลเป็นคนที่เอาใจใส่ห่วงใยชีวิตของสมาชิก   และพร้อมที่จะช่วยเหลือเราเมื่อต้องประสบกับปัญหาทุกข์ยากลำบากในชีวิต   พวกเราที่มีลูกก็คาดหวังว่าท่านจะให้บัพติสมาแก่ลูกของเรา   หรือทำพิธีศพเมื่อญาติผู้ใหญ่ในครอบครัวของเราล่วงหลับไป   เราอาจจะคาดหวังว่าศิษยาภิบาลของเราน่าจะเป็นผู้นำคริสตจักรที่มีประสิทธิภาพ   ความคาดหวังเหล่านี้เป็นความคาดหวังธรรมดาปกติที่สมาชิกมีต่อศิษยาภิบาล   และเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับสมาชิกคริสตจักร  

ภาพที่เราเห็นได้ชัดเจนทั่วไปคือ   เราคาดหวังให้ศิษยาภิบาลเป็นคนรับใช้ และ ทำพันธกิจการรับใช้   จนเราเรียกศิษยาภิบาลติดปากว่า “ผู้รับใช้”  

เราสมาชิกไม่ใช่ผู้รับใช้   สมาชิกเป็นผู้รับบริการการรับใช้จากศิษยาภิบาล!

ตามพระธรรมเอเฟซัส 4:11-12 ศิษยาภิบาล  ทีมงานอภิบาล  และผู้นำคริสตจักร ต้องทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อสมาชิกคริสตจักร   บางสิ่งบางอย่างที่ทำนี้เกี่ยวข้องกับ การเทศนา  การเอาใจใส่  และการนำ   แต่ภารกิจหลักของศิษยาภิบาลคือ การเสริมสร้าง บ่มเพาะ ฝึกฝนให้สมาชิกแต่ละคน หรือ ประชากรของพระเจ้าให้เป็นผู้ที่ทำพันธกิจการรับใช้ตามพระประสงค์ของพระเยซูคริสต์   หรือพูดแบบฟันธงก็คือหน้าที่หลักของศิษยาภิบาลคือ  การเสริมสร้างเราแต่ละคนให้สามารถทำพันธกิจของพระคริสต์ในชีวิตของเรา   หรือพูดให้ชัดกว่านี้คือ   ศิษยาภิบาลมีความรับผิดชอบในการเสริมสร้างฝึกฝนสมาชิกคริสตจักรแต่ละคนให้ดำเนินชีวิตทั้งชีวิตให้เป็นพันธกิจการรับใช้พระเยซูคริสต์ท่ามกลางคริสตจักร  ครอบครัว  ในที่ทำงาน  และสังคมชุมชนโลก

ผมรับรู้ความจริงว่า   สมาชิกส่วนใหญ่มิได้คาดหวังให้ศิษยาภิบาลของตนเสริมสร้างและฝึกฝนตนให้ทำและรับผิดชอบพันธกิจรับใช้ต่างๆ ในชีวิตและคริสตจักร   เพราะตั้งแต่อดีตที่ผ่านมาเราเข้าใจและยกย่องว่า   ศิษยาภิบาลมีหน้าที่ทำพันธกิจรับใช้ด้านต่างๆ   จนเราเข้าใจและเรียกศิษยาภิบาลติดปากว่า “ผู้รับใช้”   แล้วเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า  เราสมาชิกคริสตจักรคือผู้รับบริการการรับใช้จากศิษยาภิบาล  

แต่ประมาณครึ่งศตวรรษที่ผ่านมานี้คริสตจักรเริ่มค้นพบความหมายใหม่จากสัจจะความจริงในพระคัมภีร์ว่า   ประชากรของพระเจ้าทุกคนเป็นผู้ทำพันธกิจการรับใช้   ส่วนศิษยาภิบาลมีหน้าที่ความรับผิดชอบหลักในการเสริมสร้างและฝึกฝน และ หนุนเสริมให้สมาชิกคริสตจักรซึ่งเป็นผู้ทำพันธกิจรับใช้ตัวจริงที่จะขับเคลื่อนพันธกิจดังกล่าว

ในวันนี้  คริสตจักรไทยจำเป็นต้องกลับมาพิจารณาอย่างจริงจังในเรื่องนี้ว่า   ใครคือผู้รับใช้ของพระคริสต์ทั้งในคริสตจักร  ครอบครัว  ในที่ทำงาน  ชุมชนสังคมโลก?   และกลับมาเอาใจใส่และแสวงหาพระประสงค์ของพระเจ้าที่ทรงเรียก ศิษยาภิบาล  อาจารย์  และผู้นำคริสตจักรว่า  ทรงเรียกคนเหล่าโดยมีพระประสงค์หลักเฉพาะอะไรบ้าง?

มิเช่นนั้นแล้ว   สมาชิกคริสตจักรก็จะคาดหวังหน้าที่ความรับผิดชอบของศิษยาภิบาล  อาจารย์  และผู้นำคริสตจักรตามใจตนเอง   และที่สำคัญคือเป็นความคาดหวังที่คลาดเคลื่อนจากพระประสงค์ของพระเจ้า

และในเวลาเดียวกัน   ศิษยาภิบาลทำตนเป็นเหมือนคนหนึ่งในองค์กรทั่วไป  คือนำและทำพันธกิจรับใช้บริการคนในองค์กรคริสตจักร   แต่มิได้ทำหน้าที่บ่มเพาะ  เสริมสร้าง  และฝึกฝนสมาชิกให้เป็นคนรับใช้ตามพระประสงค์ของพระคริสต์   ดังนั้น   คริสตจักรจึงมีพลังในการรับใช้ตามพระประสงค์ของพระคริสต์เพียงน้อยนิด  เกิดผลน้อยอย่างจำกัด   เพราะภาระการงานรับใช้มากมายถูกโยนให้ศิษยาภิบาล และ ผู้นำคริสตจักรเท่านั้นทำและรับผิดชอบ

ถึงเวลาแล้วครับ ที่คริสตจักรไทยจะต้องสนใจและเอาใจใส่ในเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง

ศิษยาภิบาล และ ผู้นำคริสตจักรไทยต้องสนใจและเอาจริงเอาจังในการบ่มเพาะ  เสริมสร้าง  ฝึกฝนสมาชิกให้เป็นคนรับใช้ของพระคริสต์ผ่านชีวิตครอบครัว  ในที่ทำงาน  ในสังคม และในคริสตจักร

แล้วสมาชิกคริสตจักรต้องเลิกการติดนิสัย “บริโภคนิยม” ที่หวังรับการบริการจากศิษยาภิบาลและผู้นำคริสตจักร   แล้วเปลี่ยนความคิด มุมมอง ความเชื่อจากเดิมมาเป็นคนรับใช้ของพระคริสต์   ผ่านการดำเนินชีวิตประจำวัน  และการงานอาชีพที่ตนรับผิดชอบ   และความสัมพันธ์ที่ตนมีในกลุ่มเพื่อน  ครอบครัว  และคริสตจักร

เมื่อนั้น   เราคงไม่ต้องมามัวจัด “อีเวนท์” (event) หรือใช้กิจกรรมที่เด่นดังดึงดูดให้คนมาสนใจ   เพื่อจะประกาศพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์   ที่มักจะดังแล้วค่อยๆ ด้อยและดับในที่สุด   ตามประสบการณ์ที่เราได้รับมาจนเคยชินแล้ว?

งานนี้เริ่มต้นที่ตัวเราแต่ละคน  และเริ่มตั้งแต่วันนี้ได้เลยครับ  

ไม่ต้องไปรอผู้บริหารชุดใหม่ของคริสตจักรครับ!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

เมื่อผู้รับใช้(สมาชิก)ไม่ได้ทำหน้าที่

อ่าน เอเฟซัส 4:11-16
                                                                                             
11...พระ​องค์​เอง​ประ​ทาน​ให้​บาง​คน​เป็น​อัคร​ทูต
บาง​คน​เป็น​ผู้​เผย​พระ​วจนะ
บาง​คน​เป็น​ผู้​ประกาศ​ข่าว​ประเสริฐ
บาง​คน​เป็น​ศิษยาภิบาล​และ​อา​จารย์   

12 เพื่อ​เตรียม​ธรรมิก​ชน(ประชากรของพระเจ้า) ​สำ​หรับ​การ​ปรนนิบัติ(พันธกิจการรับใช้)​ และ​
การ​เสริม​สร้าง​พระ​กาย​ของ​พระ​คริสต์
(เอเฟซัส 4:11-12 มตฐ. ในวงเล็บเป็น อมต.)

ผมเกิดในครอบครัวคริสเตียน   เติบโตในคริสตจักรคณะที่มีการสืบทอดความเชื่อมายาวนาน   ดังนั้นก็มี ธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติค่อนข้างแน่ชัดตายตัว   ผมได้รับการเลี้ยงดูฟูมฟักในคริสตจักรที่มี “อาจารย์” เป็นศิษยาภิบาล   

ผมเรียนรู้ตั้งแต่เป็นเด็กในคริสตจักรว่าใครคือ “อาจารย์” ในคริสตจักรของเรา   ก็คือคนที่ทุกเช้าวันอาทิตย์จะใส่เสื้อคลุมสีน้ำเงินแล้วมีแถบเส้นสีขาว   เป็นคนที่นั่งข้างหน้าที่นมัสการ   นำอธิษฐานที่ยืดยาว  แล้วเป็นคนเทศนา  สมาชิกจะเรียกท่านว่า “อาจารย์”   เป็นที่รู้ดีและเข้าใจกันในคริสตจักรว่า ท่านเป็นผู้นำและเป็นผู้ขับเคลื่อนพันธกิจในคริสตจักรของเรา

เมื่อผมโตมาภายหลัง   เริ่มเห็นว่าหน้าชื่อของ “อาจารย์” ของคริสตจักรบางท่านก็มีคำย่อว่า ศจ.  ที่เขาบอกว่าย่อมาจากตำแหน่งศาสนาจารย์   บ้างก็มีมีคำย่อว่า ดร. เขาบอกว่าคนนี้ได้รับปริญญาเอก

แต่อย่างไรก็ตาม ผมเข้าใจว่า  “อาจารย์” ของคริสตจักร ท่านเป็นผู้ที่หนุนเสริมเพิ่มกำลังใจแก่เรา  สอนเรา  อธิษฐานเพื่อเรา  และเป็นผู้นำและขับเคลื่อนชีวิตและการทำพันธกิจในคริสตจักรของเรา   ท่านเป็น “ผู้อภิบาล”  เป็นผู้ดูและเอาใจใส่ชีวิตของเรา   แล้วเราผู้เป็นสมาชิกคริสตจักรได้รับการเลี้ยงดู เอาใจใส่จากอาจารย์ในคริสตจักร

ต่อมาภายหลัง   เมื่อผมเติบโตเป็นวัยรุ่นแล้วเป็นผู้ใหญ่   ในคริสตจักรเริ่มใช้คำว่า “ศิษยาภิบาล”   และมีอาจารย์ท่านหนึ่งในพระคริสต์ธรรมที่ผมมีโอกาสสนทนาด้วยและเรียนพระคัมภีร์กับท่านเป็นบางครั้ง   ท่านเน้นว่า  “อาจารย์” ในคริสตจักรเป็นศิษยาภิบาล  คือผู้ที่จะเอาใจใส่ เลี้ยงดูความคิด ความเชื่อ  ปลูกฝังมุมมองทัศนคติต่อชีวิต  ต่อโลก  ต่อสังคมที่เราดำเนินชีวิตแก่สมาชิกแต่ละคนในคริสตจักร   นอกจากนั้นแล้ว   ศิษยาภิบาลยังต้องรับผิดชอบในการบ่มเพาะ  ฝึกฝน  เสริมสร้างให้สมาชิกแต่ละคนเป็นผู้รับใช้ของพระคริสต์ให้ทำพันธกิจที่พระองค์ทรงมอบหมาย   ด้วยกำลัง ความสามารถที่มีหลากหลายแตกต่างกันตามของประทานในชีวิตสมาชิกแต่ละคน  

คำสอนนี้เป็นคำสอนใหม่สำหรับผมครับ   ยิ่งกว่านั้นเป็นคำสอนที่แตกต่างจากที่ผมได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กว่า “อาจารย์ในคริสตจักร”  คือผู้ที่รับใช้ทำพันธกิจของพระเจ้าในคริสตจักร   พูดกันง่ายๆ คือผู้ที่ทำงานของพระเจ้า แต่คำสอนใหม่นี้กลับสอนว่า  หน้าที่ความรับผิดชอบของ “อาจารย์ในคริสตจักร”  หรือ “ศิษยาภิบาล”  คือผู้ที่ต้องบ่มเพาะ ฟูมฟัก  เอาใจใส่  และสร้างเสริมสมาชิกแต่ละคนให้เป็นคน “ทำงานรับใช้พระเจ้า” หรือ ที่เรียกเท่ๆ ว่า “ทำพันธกิจ” ที่พระเจ้าทรงมอบหมายให้ผู้เชื่อแต่ละคนรับผิดชอบ

พูดให้สั้น  ผมเข้าใจคำสอนใหม่นี้ว่า หน้าที่ของศิษยาภิบาลคือผู้ที่พระเจ้าทรงใช้ให้เป็นผู้  “สร้างสมาชิกให้สามารถทำงานที่พระเจ้าทรงมอบหมายและต้องการให้คริสตจักรกระทำ” ครับ  มิใช่ สมาชิกคริสตจักรโยนให้ “อาจารย์ในคริสตจักร”  รับผิดชอบไปทำเอง  หรือเอาทีมอภิบาลลงไปทำเท่านั้นครับ แต่ศิษยาภิบาลต้องเตรียมและเสริมสร้าง  ฝึกฝนสมาชิกแต่ละคนให้เป็นคนที่ทำพันธกิจรับใช้พระเจ้าในชีวิตประจำวัน  ในครอบครัว  ในงานอาชีพ  และทั้งในคริสตจักร ชุมชน  ตามที่พระเจ้าทรงมอบหมายให้แต่ละคนในคริสตจักรกระทำและรับผิดชอบครับ  

อาจารย์ที่พระคริสต์ธรรมได้สอนเรื่องนี้จากพระคัมภีร์หลายตอน   และตอนที่ท่านมักเน้นเสมอคือ เอเฟซัส 4:11-12 

กล่าวได้ว่า ศิษยาภิบาล หรือ อาจารย์ในคริสตจักรก็เป็นผู้ที่อภิบาลเสริมสร้างชีวิตสมาชิก  เป็นทั้งครู และ ทั้งโค้ช  หล่อหลอมชีวิตประชากรของพระเจ้าให้เป็น “คนรับใช้ด้วยการทำพันธกิจ” ที่พระองค์ทรงมอบหมายตามพระประสงค์ในชีวิตของแต่ละคน  และชีวิตร่วมกันในคริสตจักรด้วย

คริสตจักรไทยเราคุ้นเคยในการใช้อีกคำหนึ่งเกี่ยวกับคนที่ทำพันธกิจของพระคริสต์  คือ “ผู้รับใช้ของพระเจ้า”   ซึ่งโดยทั่วไปส่วนใหญ่เรามักเข้าใจว่า ศิษยาภิบาล หรือ อาจารย์ในคริสตจักรคือผู้รับใช้ของพระเจ้า   ส่วนสมาชิกไม่ใช่คนรับใช้ของพระเจ้า   

แต่ตามพระธรรมตอนนี้เปาโลกล่าวว่า   ศิษยาภิบาลคือผู้รับใช้จากพระเจ้าให้มาเสริมสร้างและหล่อหลอมชีวิตของสมาชิกแต่ละคนให้เป็นผู้รับใช้ที่ทำงานร่วมกัน  ทั้งในชุมชนคริสตจักรของพระองค์  และในครอบครัว  ชุมชน  และในที่ทำงาน พระองค์มิได้มอบหมายให้ศิษยาภิบาลเป็นผู้รับใช้เพียงคนเดียวเท่านั้น   

แต่ทรงมอบหมายให้มาสร้างแต่ละคนในคริสตจักร  เป็นคนร่วมในการทำพันธกิจที่พระองค์ทรงมอบหมายครับ

ถ้าเป็นเช่นนี้   สมาชิกคริสตจักรเป็นคนรับใช้ของพระคริสต์ก็ไม่ได้ทำหน้าที่ของตน   แล้วโยนความรับผิดชอบไปให้ “ศิษยาภิบาล” เป็นคนทำแต่ผู้เดียว   น่าเห็นใจครับ   แต่ก็เกิดคำถามว่า สิ่งนี้เกิดขึ้น...

1. เพราะสมาชิกไม่ได้ร่วมในการรับใช้ในพันธกิจตามที่เปาโลสอนหรือเปล่า?  หรือ
2. เพราะศิษยาภิบาลมิได้เสริมสร้างให้สมาชิกแต่ละคนเป็นคน “รับใช้” อย่างที่พระเจ้าจะทรงใช้ตามพระประสงค์ของพระองค์หรือเปล่า?   หรือ
3. เพราะศิษยาภิบาลไม่เข้าใจในเรื่องนี้   เลยไม่ได้บ่มเพาะ  เสริมสร้าง และฝึกฝนสมาชิกให้เป็นผู้รับใช้?   เลยต้องทำงานรับใช้ในพันธกิจทั้งหลายที่หนักหน่วงเพียงคนเดียว?   หรือ
4. เพราะสมาชิกคริสตจักร “ดื้อรั้น” ไม่ยอมดำเนินชีวิตอย่างที่ศิษยาภิบาลสอนและเสริมสร้าง?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

18 ตุลาคม 2556

ใครคือผู้รับใช้ของพระคริสต์?

อ่าน เอเฟซัส 4:11-16

11...พระ​องค์​เอง​ประ​ทาน​ให้​บาง​คน​เป็น​อัคร​ทูต
บาง​คน​เป็น​ผู้​เผย​พระ​วจนะ
บาง​คน​เป็น​ผู้​ประกาศ​ข่าว​ประเสริฐ
บาง​คน​เป็น​ศิษยาภิบาล​และ​อา​จารย์

12 เพื่อ​เตรียม​ธรรมิก​ชน(ประชากรของพระเจ้า) ​สำ​หรับ​การ​ปรนนิบัติ(พันธกิจการรับใช้)​และ​
การ​เสริม​สร้าง​พระ​กาย​ของ​พระ​คริสต์
(เอเฟซัส 4:11-12 มตฐ. ในวงเล็บเป็น อมต.)

ใครคือผู้รับใช้ของพระคริสต์?  อย่างที่เราทราบแล้วว่า   สมาชิกคริสตจักรส่วนใหญ่ต่างชี้ไปทางเดียวกันคือ ศิษยาภิบาล หรือ ศาสนาจารย์ว่าเป็น “ผู้รับใช้” หรือ คนใช้ของพระคริสต์  กล่าวคือคนที่รับใช้พระคริสต์อย่างเป็นทางการเช่น เป็นผู้นำในการนมัสการพระเจ้า  อธิษฐาน  เทศนา  ไปเยี่ยมเยียนคนที่เจ็บป่วย   ดูแลกิจกรรม โปรแกรมต่างๆ ของคริสตจักรที่ตนเป็นศิษยาภิบาล และ ฯลฯ   และนี่คือความเข้าใจของสมาชิกส่วนใหญ่ว่าใครคือผู้รับใช้ของพระคริสต์

แต่นี่มิใช่เป็นสัจจะความจริงเรื่องผู้รับใช้ของพระคริสต์ตามคำสอนในพระคัมภีร์   ให้เราศึกษาเจาะลึกลงในพระธรรมเอเฟซัส 4:11-12   ในพระธรรมตอนนี้ได้กล่าวว่า  ผู้รับใช้ของพระคริสต์คือใคร 

พระคัมภีร์ตอนนี้กล่าวว่า อัครทูต  ผู้เผยพระวจนะ  ผู้ประกาศข่าวประเสริฐ   ศิษยาภิบาล และ อาจารย์(ครูผู้สอน)   เป็นผู้ทำหน้าที่ “งานรับใช้” ในคริสตจักรหรือ?   เขาเป็นคนที่ลงมือลงชีวิตขับเคลื่อนรับใช้ในพันธกิจของคริสตจักรหรือ?

คำตอบคือไม่ใช่แน่นอน  

ถ้าตอบตามเนื้อหาสัจจะในพระคัมภีร์ตอนนี้   ตามสำนวนอมตธรรมบอกเราชัดเจนว่า   บุคคลที่กล่าวมานี้มีหน้าที่  “เพื่อเตรียมประชากรของพระเจ้าสำหรับงานรับใช้...” (4:12)   แต่ถ้าในฉบับมาตรฐานแปลว่า  “เพื่อเตรียมธรรมิกชนสำหรับการปรนนิบัติ(การรับใช้)...”  “ธรรมิกชน” ในตอนนี้แปลจากภาษาอังกฤษคำว่า “saints”  ในที่นี้ไม่ได้ได้หมายถึงคริสตชนที่มีคุณภาพชีวิตจิตวิญญาณที่สูงกว่าคนอื่น   แต่หมายถึงทุกคนที่ไว้วางใจในพระคริสต์พระผู้ช่วยให้รอดและมีพระองค์เป็นองค์เจ้าชีวิต (Lord) ของตน  

ดังนั้น ในอมตธรรมจึงแปลได้ชัดเจนว่า  เป็น “ประชากรของพระเจ้า”   คือทุกคนที่เป็นคนของพระคริสต์   ที่ได้รับการบ่มเพาะ  เสริมสร้าง  และฝึกฝนโดยศิษยาภิบาลและผู้นำคริสตจักรให้เป็นคนรับใช้ของพระคริสต์

บ่มเพาะ  เสริมสร้าง  และฝึกฝนในเรื่องอะไร?   ในฉบับอมตธรรมบอกว่า  เพื่อเตรียมประชากรของพระเจ้า “สำหรับงานรับใช้”  คำว่า “งาน” ในที่นี้ภาษากรีกใช้คำว่า “ไดอาโคเนีย” (diakonia)  มีความหมายว่า “บริการรับใช้”  ซึ่งโดยทั่วไปมักแปลว่า “พันธกิจ” (ดู โครินธ์ 4:1;  5:18)   จึงมิได้บ่งบอกความหมายถึง “งานรับใช้และบริการ” อย่างชัดเจนตรงตามความหมาย

ดังนั้น   ตามสัจจะความจริงในเอเฟซัส 4:11-12   ศิษยาภิบาลและผู้นำของคริสตจักรจึงมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการ บ่มเพาะ เสริมสร้าง และฝึกฝน ประชากรของพระเจ้าในคริสตจักร หรือ คนของพระคริสต์เพื่อทำงานรับใช้บริการ หรือ พันธกิจการรับใช้  

ภารกิจหลักและความรับผิดชอบแรกของศิษยาภิบาลและผู้นำคริสตจักรมิใช่งานรับใช้ หรือ พันธกิจการรับใช้บริการ   แต่เป็นการบ่มเพาะ เสริมสร้าง และฝึกฝนให้สมาชิกแต่ละคน (ประชากรของพระเจ้า) ที่ได้รับการทรงเรียกให้เข้ามาร่วมในพระราชกิจของพระเจ้า   เพื่อให้ทำพันธกิจการรับใช้และบริการ  เพื่อร่วมกันเสริมสร้าง “พระกาย” คือคริสตจักรให้เข้มแข็งขึ้น

การที่เราเรียกผู้นำคริสตจักร และ ศิษยาภิบาลว่า “ผู้รับใช้”   มักสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่า  ผู้นำคริสตจักรเหล่านี้เท่านั้นที่มีหน้าที่ในการทำพันธกิจการรับใช้  

ตามพระคัมภีร์ตอนนี้ผู้ที่จะทำหน้าที่ในการทำพันธกิจการรับใช้คือ  สมาชิกคริสตจักรที่เป็นประชากรของพระเจ้าทุกคน  

ส่วนศิษยาภิบาลและผู้นำคริสตจักรคือผู้ที่ทำการบ่มเพาะ  เสริมสร้าง  และฝึกฝนประชากรของพระเจ้า(สมาชิกคริสตจักร) ให้เป็นคนรับใช้ในพันธกิจของพระองค์

ประเด็นใคร่ครวญ

1. ท่านคิดอย่างไรกับคำสอนในเอเฟซัส 4:11-12?
2. ความคิดแบบนี้เป็นความคิดใหม่สำหรับท่านหรือไม่?   เป็นความคิดที่ทำให้ท่านสับสนหรือ เป็นความคิดที่น่าตื่นเต้น?
3. ท่านมองว่าตนเองคือคนรับใช้ของพระคริสต์หรือไม่?
4. การที่มองว่าท่านเป็นคนรับใช้ของพระคริสต์มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของท่านหรือไม่?  อย่างไร?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

15 ตุลาคม 2556

เมื่อขโมยได้รับรางวัล...?

ในช่วงทศวรรษ 1930ได้มีการตัดสินคดีที่ไม่ได้เป็นไปตามกระบวนการปกติคดีหนึ่ง...

หญิงสูงอายุคนหนึ่งถูกจับในฐานะขโมยขนมปังหนึ่งแถว   ฟังไปแล้วเธอก็มีเหตุผลอยู่   เธอมีครอบครัวที่ยากจน   ต้องดูแลลูกสาวกับหลานน้อยอีกสองคนที่ถูกพ่อทิ้งหนีไป

แต่เจ้าของร้านปฏิเสธที่จะเลิกราการเอาผิดกับหญิงคนนี้   เขาคิดว่า   ถ้าคนที่ขโมยของผู้อื่นแล้วถูกปล่อยตัวให้ลอยนวลไปได้   จะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีแก่คนอื่นๆ แล้วจะมีคนเอาเป็นแบบอย่าง   หรือที่จะอ้างเหตุผลในทำนองนี้   เจ้าของร้านกลัวว่า   เขาจะไม่ได้รับความปลอดภัยอีกทั้งเป็นภัยต่อธุรกิจของเขา  

เขาต้องการเชือดไก่ให้ลิงกลัวครับ

แล้วเขาก็ทำเช่นนั้นจริงๆ...

ในวันนั้นที่ศาล   ท่านเทศมนตรี แห่งนิวยอร์ก  Fiorello LaGuardia  ท่านเป็นผู้ตัดสินคดีเพ่งในศาลเป็นครั้งคราว   วันนี้ท่านได้ปรากฏตัวในศาลเพื่อพิจารณาตัดสินคดีนี้   ที่ผ่านมาท่านได้พิจารณาหลายคดีอย่างน่าสนใจ    ประชาชนรักท่านและเป็นที่รู้กันว่าท่านมีจุดยืนที่มั่นคงและยุติธรรม

ในการพิจารณาและตัดสินคดีความในวันนี้   ท่านได้มาที่หน้าบัลลังก์ศาล  ถอดหมวกของท่านแล้ววางลง   เริ่มพิจารณาคดี

ท่านกล่าวว่า  “เจ้าของร้านพูดถูกว่า คนที่กระทำผิดกฎหมายต้องได้รับโทษ”  แล้วหันหน้าไปพูดกับหญิงคนนั้นว่า “คุณจะต้องรับโทษถูกจำขังในคุก 10 วัน  หรือไม่ก็ต้องถูกปรับเป็นเงิน 10 เหรียญ”

หญิงสูงอายุคนนี้รู้ว่าเธอต้องเลือกถูกจำคุก 10 วัน   เพราะเงิน 10 เหรียญนั้นมากเกินกว่าที่เธอจะหามาได้   เจ้าของร้านแสดงสีหน้าพอใจและชื่นชมต่อคำพิพากษานั้น

แต่คนในศาลไม่คิดว่าจะมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น

ขณะที่ท่านเทศมนตรีผู้ตัดสินคดีนี้ด้วยคำพิพากษาชัดถ้อยชัดคำนั้น   ท่านก็ล้วงเงินออกจากกระเป๋ากางเกงของท่าน 10 เหรียญ   แล้ววางธนบัตร 10 เหรียญนั้นลงในหมวก  แล้วประกาศว่า “ค่าปรับการกระทำผิดของหญิงคนนี้ได้รับการชำระแล้ว”  

ทุกคนในศาลมองไปที่ท่านเทศมนตรีด้วยความงงงวย ส่วนสีหน้าของเจ้าของร้านถอดสีซีดลง

ท่านเทศมนตรีจะหักหลังประชาชนเช่นนี้ได้อย่างไร?                        

ในเมื่อนักธุรกิจคนนี้ได้เสียภาษีเพื่อใช้เป็นเงินในการบริหารบ้านเมือง  แล้วหญิงยากจนคนนี้ที่ขโมย ทำผิดกฎหมายกลับได้รับการปล่อยตัวอย่างลอยนวล   เธอไม่ได้รับการลงโทษแต่อย่างไร   เรื่องเป็นเช่นนี้ได้อย่างไร?

ผู้คนในศาลต่างไม่เข้าใจการตัดสินคดีของท่านเทศมนตรีในวันนั้น   แต่ท่านเทศมนตรีกล่าวต่อไปว่า...

“นอกจากที่ค่าปรับ 10 เหรียญได้รับการชำระแล้ว   ข้าพเจ้าขอปรับทุกคนที่อยู่ในศาลนี้คนละ 50เซนต์”

ผู้คนในศาลตกใจมากกว่าเดิมอีก   แต่ท่านเทศมนตรีกล่าวต่อไปว่า

“เพราะคนที่อยู่ในเมืองนี้ปล่อยปละละเลยให้มีคุณยายที่ต้องออกมาขโมยขนมปังเพื่อไปเลี้ยงลูกสาวและหลานสองคนให้มีชีวิตรอด...   เจ้าหน้าที่ศาลให้เก็บค่าปรับจากทุกคนที่อยู่ในศาลนี้  แล้วนำไปมอบให้แก่จำเลย”

เรื่องข้างต้นนี้หลายคนเชื่อว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง   แต่ผมไม่สามารถที่จะอ้างอิงหลักฐานชัดเจนได้

แต่ที่สำคัญคือ   เรื่องราวที่ยิ่งใหญ่เรื่องนี้ได้ให้บทเรียนชีวิตที่สำคัญแก่เราถึงความเมตตาและความรับผิดชอบด้วยทั้งชีวิตของเรา   ผมอ่านเรื่องนี้ที่ Chris Cadeนำมาเล่า  ชื่อเรื่อง “ทำไม...ขโมยได้รับรางวัล  แต่เหยื่อต้องได้รับโทษ?”  (Thief rewarded. Victim punished. WHY???)

วันนี้...ท่านเสียค่าปรับ 50เซนต์หรือยังครับ?

18จง​ฟัง​สิ พวก​เจ้า​คน​หู​หนวก
และ​จง​มอง​ดู​สิ พวก​เจ้า​คน​ตา​บอด เพื่อ​จะ​ได้​เห็น

19ใคร​เป็น​คน​ตา​บอด ถ้า​ไม่​ใช่​ผู้​รับ​ใช้​ของ​เรา?
หรือ​ใคร​หู​หนวก​เช่น​เดียว​กับ​ทูต​ของ​เรา​ที่​เรา​ใช้​ไป?
ใคร​ตา​บอด​เช่น​เดียว​กับ​ผู้​ผูก​พัน​กับ​เรา?
หรือ​ตา​บอด​เช่น​เดียว​กับ​ผู้​รับ​ใช้​ของ​พระ​ยาห์​เวห์?

20เจ้า​เห็น​หลาย​อย่าง แต่​ไม่​ได้​สังเกต
หู​ของ​เจ้า​ผึ่ง แต่​ไม่​ได้​ยิน(อิสยาห์ 42:18-20 มตฐ.)
1  ดูสิ ผู้​รับ​ใช้​ของ​เรา ผู้​ซึ่ง​เรา​เชิด​ชู
ผู้​เลือก​สรร​ของ​เรา ผู้​ซึ่ง​ใจ​เรา​ปีติ​ยินดี
เรา​เอา​วิญญาณ​ของ​เรา​ใส่​ไว้​บน​ท่าน
ท่าน​จะ​ส่ง​ความ​ยุติ​ธรรม​ออก​ไป​ยัง​บรรดา​ประ​ชา​ชาติ (อิสยาห์ 42:1 มตฐ.)

3 ไม้​อ้อ​ช้ำ​แล้ว ท่าน​จะ​ไม่​หัก
และ​ไส้​ตะเกียง​ริบ​หรี่​นั้น ท่าน​จะ​ไม่​ดับ
ท่าน​จะ​ส่ง​ความ​ยุติ​ธรรม​ออก​ไป​ด้วย​ความ​ซื่อ​สัตย์ 
4 ท่าน​จะ​ไม่​อ่อน​ล้า ​หรือ​ชอก​ช้ำ
จน​กว่า​ท่าน​จะ​สถาปนาความ​ยุติ​ธรรม​ไว้​ใน​โลก
และ​แผ่น​ดิน​ชาย​ทะเล​รอ​คอย​ธรรม​บัญญัติ​ของ​ท่าน (อิสยาห์ 42:3-34 มตฐ.)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

07 ตุลาคม 2556

ผู้นำที่มีพลังดึงดูดคน

7 พระ​เยซู​กับ​พวก​สา​วก​ของ​พระ​องค์​จึง​ออก​จาก​ที่​นั่น​ไป​ยัง​ทะเล​สาบ   คน​จำนวนมาก​จาก​แคว้น​กา​ลิลี​ก็​ตาม​ไป​ด้วย รวม​ทั้ง​คน​จาก​แคว้น​ยูเดีย      8 จาก​กรุง​เยรู​ซาเล็ม​และ​จาก​อิดู​เมอา จาก​แม่​น้ำ​จอร์​แดน​ฟาก​ตะ​วัน​ออก และ​จาก​ดินแดน​รอบ​เมือง​ไท​ระ​และ​เมือง​ไซ​ดอน  ผู้​คน​มาก​มาย​เมื่อ​ได้​ยิน​ถึง​สิ่ง​ที่​พระ​องค์​ทรง​ทำ​นั้น​ก็​มา​หา​พระ​องค์  (มาระโก 3:7-8 มตฐ.)

อะไรที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากติดตามพระเยซู?

อะไรที่เป็นพลังในตัวของพระเยซูที่ดึงดูดผู้คนเข้ามาหาพระองค์?

ผู้นำทั้งหลายทุกวันนี้ต่างต้องการมี “เสน่ห์” มีบุคลิกที่จูงใจให้ผู้คนเข้ามาหาตนเอง   แต่คำถามมักอยู่ที่ว่า  แล้วเสน่ห์ที่ว่านั้น หรือ พลังดึงดูดคนอื่นให้เข้ามาหาตนเองนั้นจะมีได้อย่างไร   บ้างก็เข้าใจว่า  “เสน่ห์” หรือ “แรงดึงดูดผู้คนเข้ามาหาตน” นั้น   เป็นสิ่งที่บางคนได้รับมาตั้งแต่เกิด   นั่นก็หมายความว่าบางคนจะไม่มีสิ่งนี้   แต่ “เสน่ห์” หรือ “แรงดึงดูดคนอื่นเข้ามาตนเอง” นั้นเป็นบุคลิกลักษณะหนึ่งในตัวคนเราแต่ละคน   จะเด่นหรือด้อยในเรื่องนี้เกิดจากการที่เจ้าตัวเลือกว่าตนจะเป็นคนแบบไหนอย่างไรมากกว่า   หรือกล่าวฟันธงก็คือว่าเป็นบุคลิกที่สามารถพัฒนาได้ครับ

“เสน่ห์” หรือ “พลังดึงดูดผู้คนเข้าหาตนเอง” นั้นเป็นสัมพันธภาพของทั้งผู้นำและผู้พบเห็น   เวลาใดที่บุคลิกลักษณะของผู้นำเป็นที่ถูกตาต้องใจของคนรอบข้าง  เขากลายเป็นคนที่มีเสน่ห์แก่ผู้คนที่พบเห็น   นั่นหมายความว่า “พลังดึงดูด” ดังกล่าวเกิดจากบุคลิกของผู้นำที่คนรอบข้างสัมผัสได้ว่า “เป็นสิ่งที่มีประโยชน์สำหรับตน   เป็นบุคลิกที่ตนชื่นชอบ   เป็นบุคลิกที่ไม่เห็นแก่ตัวแต่มีจิตเมตตาเอื้ออำนวยคุณค่า และ คุณประโยชน์แก่ผู้อื่นรอบข้าง   เป็นผู้นำที่มีบุคลิกมั่นคงบนจุดยืนชีวิตของตนเอง   มีอารมณ์ที่หนักแน่น   ยอมรับคนอื่นตามที่เขาเป็นแม้จะไม่ได้เป็นคนสมบูรณ์พูนพร้อมตามที่ตนต้องการก็ตาม

พระคัมภีร์ตอนนี้บอกว่า “...ผู้คนมากมายเมื่อได้ยินถึงสิ่งที่พระองค์ทรงทำนั้นก็มาหาพระองค์” (ข้อ 8)   การกระทำของพระเยซูคริสต์เป็นพลังดึงดูดให้ประชาชนติดตามพระองค์   ลักษณะเด่นประการแรกของพระเยซูคริสต์คือ   พระองค์ทรงมีชีวิตที่เคียงข้างคนต่ำต้อยยากจนเจ็บป่วย   พระราชกิจของพระองค์ทรงกระทำแก่คนเล็กน้อยด้อยค่าที่คนมีอำนาจปฏิเสธ   เป็นกลุ่มคนที่ถูกกีดกันออกจากสังคม   ออกจากชุมชนศาสนายิวในเวลานั้น  และนี่คือเสน่ห์ที่ดึงดูดใจคน  

แต่ตรงกันข้ามกลับกลายเป็น “แรงผลัก” ให้ผู้คนที่รู้สึกว่าพระองค์เป็นภัยอันตรายต่อความมั่นคง  เด่นดังในชีวิตของตนให้ห่างไปจากพระองค์   อย่างเช่นพวกฟาริสี   พวกที่ปากบอกว่าไม่ชอบการเมืองอย่างพวกโรมัน   แต่คบค้ากับพวกนักการเมืองที่หากินกับศาสนาอย่างพวกของเฮโรด   แล้วทำตัวแบบนักการเมืองในสภา(ศาสนา)ซันเฮดริน  พวกเขาจึงหาช่องทางที่จะฆ่าพระเยซูเสีย  เป็นต้น

ลักษณะเด่นของพระเยซูคริสต์ประการที่สองคือ   การกระทำของพระองค์เป็นการกระทำจากจิตใจที่รักเมตตาที่สวนกระแสกับคำสอนของพวกผู้นำศาสนายิวในเวลานั้น   พระเยซูทรงมีจิตใจที่รักเมตตาแก่ทั้งคนดีและคนเลวบาปชั่ว   พระองค์ทรงให้โอกาสชีวิตแก่ทุกคนที่มาสัมพันธ์และสัมผัสกับพระองค์   และนี่จึงเป็นแรงดึงดูดผู้คนมากมายให้เข้ามาหาและติดตามพระองค์   เพราะเขาสำนึกในพระคุณทั้งๆที่เขาไม่สมควรจะได้รับโอกาสใหม่ในชีวิต   ทั้งนี้เพราะพระองค์มีจิตใจรักเมตตาเยี่ยงพระบิดา  “...เพราะ​ว่า​พระ​องค์(พระบิดา)​ทรง​ให้​ดวง​อาทิตย์​ของ​พระ​องค์​ขึ้น​ส่อง​สว่าง​แก่​คน​ดี​และ​คน​ชั่ว​เสมอ​กัน และ​ให้​ฝน​ตก​แก่​คน​ชอบ​ธรรม​และ​คน​อธรรม” (มัทธิว 5:45)

ลักษณะเด่นของพระเยซูคริสต์ประการที่สามคือ  ความถ่อมใจรับใช้คนอื่น   พระองค์ทรงเป็นผู้นำที่แตกต่างจากผู้นำในสมัยนั้นไม่ว่าจะเป็นผู้นำในศาสนาหรือบ้านเมืองก็ตาม   พระองค์ปฏิเสธการเป็นผู้นำแบบเจ้านาย   แต่พระองค์ยืนหยัดการมีชีวิตผู้นำแบบคนใช้   ทรงยอมเป็นคนใช้ล้างเท้าสาวก  ทรงรับใช้แม้แต่คนต่างชาติ  สตรีต่างชาติต่างวัฒนธรรม  หรือแม้แต่คนที่ถูกตีตราไล่ออกไปให้พ้นจากสังคมของยิว เช่น  หญิงโสเภณี   คนโรคเรื้อน   คนถูกผีเข้าผีสิง  คนเก็บภาษี   แม้แต่โจรที่กางเขน

ลักษณะเด่นของพระเยซูคริสต์ประการที่สี่คือ   ความกล้าหาญที่กล้าเสี่ยงและท้าทายสิ่งที่ผิด   พระองค์กล้าที่จะสวนกระแสการตีความพระคัมภีร์ที่มีตามกระแสนิยมในเวลานั้น   ทรงท้าทายเรื่องคำสอนวันสะบาโตที่ไม่ให้ทำอะไรนอกจากประกอบศาสนพิธี   แต่พระองค์ท้าทายว่า  วันสะบาโตมีไว้เพื่อทำการดี   เป็นโอกาสในการช่วยชีวิตผู้คน   พระองค์ท้าทายต่ออำนาจผู้นำศาสนาในเวลานั้นว่า   ชีวิตของผู้คนที่พระเจ้าประทานให้นั้นสำคัญยิ่งกว่าศาสนาพิธี   ดังนั้น   ในวันสะบาโตคือวันที่จะกอบกู้และช่วยชีวิตของผู้คน

ลักษณะเด่นของพระเยซูคริสต์ประการที่ห้าคือ   พระองค์มีชีวิตเพื่อจะให้ชีวิตแก่คนอื่นรอบข้าง   มิใช่เพื่อจะปกป้องชีวิตตนเอง  ปกป้องงานของตนเอง  ปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง  และปกป้องอำนาจ  ชื่อเสียงของตนเอง

ด้วยคุณลักษณะเช่นนี้ของพระคริสต์นี่เองที่เป็น “เสน่ห์” และ “แรงดึงดูด” ผู้คนมากมายติดตามพระองค์   

ในทางตรงกันข้าม   ภาวะผู้นำที่สร้าง “แรงผลักดัน” ผู้คนให้ออกห่างจากตนเอง คือ 

ภาวะผู้นำที่หยิ่ง ผยอง:   แน่นอนครับไม่มีใครอยากจะติดตามผู้นำที่คิดว่าตนเองดีเลิศประเสริฐศรีกว่าคนอื่นๆ

ภาวะผู้นำแบบไม้หลักปักขี้ควาย:  พวกเงียบเพราะ “ปากอมสาก”  ไม่พูดเพื่อรักษาตนเองให้ปลอดภัย   ไม่มีใครอยากตามผู้นำที่โลเล   ไม่มั่นคง  ไม่ชัดเจน แบบนี้

ภาวะผู้นำอารมณ์ร้าย:   ถ้าผู้คนไม่สามารถคาดหวังพึ่งพิงจากตัวผู้นำ   เขาเลิกที่จะคาดหวังทุกอย่างจากองค์กร

ภาวะผู้นำแบบตามจิกลูกน้อง:  คนเราต้องการผู้นำที่ติดตามงานแบบเข้าใจและเสริมสร้าง   แต่ไม่ต้องการผู้นำที่ติดตามงานแบบสร้างความกดดันแก่ลูกน้อง

ภาวะผู้นำเห็นแก่ตัว:   ทำทุกอย่างเพื่อความสำเร็จตนเอง   คิดทุกอย่างเพื่อปกป้องตนเอง   เมื่อผู้คนพบว่าผู้นำทำเพื่อตนเอง   เขาก็บอกกับตนเองว่า   แล้วเราจะเสียเวลาตามผู้นำแบบนี้ไปทำไม

ภาวะผู้นำที่คาดหวังความสมบูรณ์แบบจากคนอื่น:   ไม่มีใครต้องการผู้นำที่คาดหวังว่าลูกน้องต้องเป็นคนสมบูรณ์แบบ   เพราะเราก็รู้อยู่แก่ใจแล้วว่า  ไม่มีใครที่จะเป็นคนสมบูรณ์แบบได้  และใครก็ไม่ต้องการถูกดดันให้ชีวิตและการทำงานต้องเครียดตลอดเวลา    แต่ผู้คนต้องการผู้นำที่พร้อมยอมรับตามที่แต่ละคนเป็น   และมีน้ำใจที่จะหนุนเสริมเพิ่มพลังพัฒนาชีวิตการงานไปสู่ความสมบูรณ์ด้วยกัน      

เราอาจจะต้องมีเวลานั่งลงสงบใจพิจารณาว่าเรามีภาวะผู้นำแบบไหน   มีภาวะผู้นำที่มี “เสน่ห์” และ “มีพลังดึงดูด” ผู้คนเข้ามาหาตนเอง   หรือ  มีภาวะผู้นำที่สร้างแต่  “พลังผลักดัน” ให้คนอื่นออกห่างไปจากตนเอง

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

04 ตุลาคม 2556

ธุรกิจคริสเตียน

เพราะ​พระ​ยาห์​เวห์​ทรง​ฟัง​คน​ขัด​สน  และ
มิ​ได้​ทรง​ดู​หมิ่น​คน​ของ​พระ​องค์​ที่​ถูก​จำ​จอง  (สดุดี 69:33)
(พระยาเวห์) ผู้​ทำ​ความ​ยุติ​ธรรม​เพื่อ​คน​ที่​ถูก​บีบ​บัง​คับ 
ผู้​ประ​ทาน​อา​หาร​แก่​คน​ที่​หิว 
พระ​ยาห์​เวห์​ทรง​ปล่อย​ผู้​ถูก​คุม​ขัง​ให้​เป็น​อิสระ  (สดุดี 146:7)

สหรัฐอเมริกามีประชากรที่อยู่ในคุกมากที่สุดในโลก  กล่าวคือมีผู้ใหญ่ที่ถูกคุมขังมากถึง 2.2 ล้านคน   ในเวลาเดียวกันคนอเมริกันบริโภคกาแฟมากกว่าประเทศใดๆ ในโลกนี้  กล่าวคือประมาณปีละ 45 ล้านปอนด์   ข้อมูลทั้งสองเรื่องดูไม่เห็นเกี่ยวข้องอะไรกันเลย   แต่ธุรกิจคริสเตียนแห่งหนึ่งใน วีทตัน  อิลลินนอยส์ที่ได้เปิดทางสร้างโอกาสชีวิตที่น่าชื่นชม   เป็นธุรกิจ-พันธกิจสำหรับผู้ที่เคยต้องขังในเมืองนั้น   เป็นการสำแดงความรักและเอาใจใส่ผู้คนกลุ่มนี้ด้วยความรักที่เสียสละแบบพระคริสต์

เรื่องของเรื่องเริ่มต้นที่ เลียวนาร์ด (Pete Leonard) นักธุรกิจเกี่ยวกับบริษัทซอฟแวร์ต้องมานั่งคั่วกาแฟในโรงรถของตนเอง   เขาถูกมองจากสายตาของญาติๆ ว่าเป็นคนในครอบครัวที่ชีวิตล้มเหลว   เขาตระเวนหางานหลังจากที่ออกจากคุก  เลียวนาร์ดกล่าวว่า   เมื่อไปสมัครงาน  เขาได้รับการสัมภาษณ์  แต่เมื่อเขาต้องกรอกใบสมัคร   และต้องเช็คเครื่องหมาย P ใน [ ] หน้าข้อความที่ว่า  “เคยต้องโทษอาญาและถูกจำขัง”   และนี่คือจุดจบของการสมัครงานทุกครั้ง   และเลียวนาร์ดรู้อยู่กะใจว่า   เรื่องราวเช่นนี้มิได้เกิดขึ้นกับเขาคนเดียว   แต่เกิดขึ้นกับอีกหลายๆ คนที่เคยต้องโทษจำคุก  และเมื่อไปสมัครงานก็ไม่มีใครยอมรับพวกเขา   เพราะตราบาปที่ประทับลงในใบสมัครงาน   พวกเขาเมื่อออกจากคุก   แล้วต้องตกงานระยะยาว   และในที่สุดก็ต้องเลือกกระทำผิดแลกกับความอยู่รอด

หลังอาหารเช้าวันหนึ่ง  เลียวนาร์ดและเพื่อนสนิทอีกสองคนเอากระดาษเช็ดปากมาแผ่นหนึ่ง  แล้วเขียนผังภาพความคิดของพวกเขาในการเริ่มธุรกิจที่เขาจะจ้างคนหลังถูกต้องโทษจำคุก   แต่เลียวนาร์ด กล่าวอย่างแข็งขันว่า  “ถึงแม้จะเป็นธุรกิจที่ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์   แต่ต้องเป็นกาแฟคั่วที่กลิ่นหอมและรสเลิศ   ไม่เช่นนั้นคนซื้อไปครั้งเดียวแล้วก็จะไม่กลับมาซื้ออีก   และนี่ก็จะเป็นจุดจบอีกครั้งหนึ่งของพวกเรา”

เขาตั้งบริษัทชื่อ “โอกาสครั้งที่สอง”   โดยคั่วกาแฟยี่ห้อ “กาแฟอารมณ์ดี”  เลียวนาร์ดและ เดบบี้ ภรรยาของเขาได้ลงทุนหลายพันเหรียญในธุรกิจนี้   และตัวเลียวนาร์ดเองถึงกับลาออกจากงานเดิมและใช้เวลาทั้งหมดกับการขับเคลื่อนบริษัท “โอกาสครั้งที่สอง” แห่งนี้

ทุกวันนี้บริษัทโอกาสครั้งที่สองได้ผลิตกาแฟคุณภาพสูง   ซึ่งคนงานเกือบทุกคนเคยเป็นผู้ต้องคุมขังมาก่อน   นั่นหมายความว่าบริษัทแห่งนี้ได้ให้โอกาสชีวิตแก่ผู้คนที่เคยต้องโทษในคุกได้มีโอกาสตั้งเนื้อตั้งตัวอีกครั้งหนึ่ง   ให้มีงานทำ  มีรายได้กลับไปเลี้ยงครอบครัว   ด้วยการร่วมในธุรกิจกาแฟคั่วนี้พวกเขาสามารถหลุดรอดออกจากวงจรอุบาทว์แห่งความยากจน   ที่ผลักดันให้เขาต้องก่ออาชญากรรม   กลับไปต้องโทษในคุก

สำหรับการทำธุรกิจของเดบบี้ และ เลียวนาร์ดเขามีประสบการณ์กับความหมายในชีวิตนอกจากที่มีโอกาสร่วมในพระราชกิจแห่งการกอบกู้  เยียวยา  และการสร้างใหม่ในพระราชกิจของพระเจ้าแล้ว   เขาเรียนรู้ว่า  “ความอยู่รอดปลอดภัยในงานเช่นนี้เขาต้องพึ่งพิงพระเจ้าเท่านั้น   แต่มิใช่ตัวเลขในสมุดธนาคาร”

เรื่องนี้กระตุกสำนึกของผมให้ต้องกลับมาพิจารณาธุรกิจคริสเตียนที่มีในวงการสภาคริสตจักรในประเทศไทย   ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงพยาบาลคริสเตียน   ธุรกิจโรงเรียนคริสเตียน  หรือ  ธุรกิจมหาวิทยาลัยของคริสเตียน   เรากำลังทำอะไรกันบ้าง?   เรากำลังทำอะไรกันอยู่?  

ธุรกิจโรงพยาบาล  โรงเรียน  และมหาวิทยาลัยของสภาคริสตจักร  เป็นธุรกิจที่ร่วมในพระราชกิจแห่งการกอบกู้  เยียวยารักษาคุณค่าชีวิต  และการทรงสร้างชีวิตขึ้นใหม่   ให้โอกาสใหม่แก่คนที่ชีวิตล้มเหลวอย่างไรบ้าง?   ทุกวันนี้งานของธุรกิจคริสเตียนเหล่านี้ขับเคลื่อนไปได้เพราะพระคุณของพระเจ้า หรือ เพราะตัวเลขในงบประมาณ  ตัวเลขในสมุดธนาคารของสถาบันธุรกิจ?    หรือเขาดูกันที่ตัวเลขเงินที่ส่งเข้าบำรุงส่วนกลางเท่านั้นหรือเปล่า?   

สถาบันธุรกิจคริสเตียนเหล่านี้จะต้องทำกำไรตามเป้าที่วางไว้เท่านั้นหรือ?   หรืองานหลักคือการร่วมในพระราชกิจแห่งการกอบกู้  เยียวยา  และการทรงสร้างใหม่ของพระเยซูคริสต์?

เช่นกัน  ในวันนี้ไม่ว่าเราจะทำงานอะไร  อาชีพอะไร  องค์กรอะไร   การงานที่เราทำนั้นเป็นการทรงเรียกจากเบื้องบนหรือไม่?   พระเจ้าประสงค์ให้เราทำงานเหล่านี้ด้วยการร่วมในพระราชกิจของพระองค์อย่างไรบ้าง?   ถ้าพระเจ้าทรงเรียกท่านให้เป็นผู้บริหารสภาคริสตจักรในประเทศไทย   ท่านคิดและเชื่อว่า  พระเจ้าทรงคาดหวังให้ท่านทำงานอย่างไรบ้างกับสถาบันธุรกิจคริสเตียนข้างต้น?   เราจะทำอย่างเลียวนาร์ด  เดบบี้  และคนในบริษัทโอกาสครั้งที่สองอย่างไร   ที่จะปลดปล่อยผู้คนออกจากวงจรอุบาทว์ที่อำนาจแห่งความบาปชั่วได้พันธนาการไว้?

พระวิญญาณของพระยาห์เวห์ องค์เจ้านายทรงอยู่เหนือข้าพเจ้า
เพราะว่าพระยาห์เวห์ทรงเจิมข้าพเจ้าไว้
เพื่อนำข่าวดีมายังคนที่ทุกข์ใจ
พระองค์ทรงส่งข้าพเจ้าไปเพื่อปลอบโยนคนชอกช้ำใจ
และเพื่อประกาศอิสรภาพแก่บรรดาเชลย
ทั้งประกาศการเปิดเรือนจำแก่ผู้ที่ถูกจำจอง  (อิสยาห์ 61:1 มตฐ.)


ข้อเขียนนี้เขียนจากการอ่านบทความเรื่อง Christian Company Hires Mostly Ex-convicts ที่ดัดแปลงมากจากเรื่อง The Hope Roaster

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499