28 มีนาคม 2557

แผนการของพระเจ้า หรือ แผนการของเราเอง?

ผมเชื่อว่าชีวิตที่มีแผนการเป็นเรื่องที่ดี   และคนจำนวนมากที่เลือกจะวางแผนการสำหรับชีวิตของตนเอง    โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงขึ้นปีใหม่  หลายต่อหลายคนที่ตั้งอกตั้งใจวางแผนชีวิตสำหรับปี 2014   ตอนนี้แผนการชีวิต 2014 ของท่านไปถึงไหนแล้วครับ   มีผู้เก็บสถิติในเรื่องนี้พบว่า   ปณิธาน หรือ แผนการชีวิตปีใหม่ประมาณ 75% จะหยุดชะงักหรือล้มเลิกไปโดยปริยายก่อนที่จะสิ้นสุดเดือนมกราคม

ตอนนี้ใกล้สิ้นเดือนมีนาคม  กำลังจะเป็นช่วง “ปี๋ใหม่เมือง” แล้ว

ปณิธานปีใหม่ของท่านปีนี้ยัง “สบายดี” อยู่หรือ?   ยังดำเนินไปอย่างมีพลังหรือเปล่า?

สำหรับคริสตชนแล้ว   เราต้องมีแผนการในชีวิต   เพราะพระเจ้าทรงเป็นผู้มีแผนการ   และยังมีแผนการสำหรับชีวิตของเราแต่ละคนอีกด้วย   และแผนการชีวิตคริสตชนไม่ได้เป็นเพียงการที่ตนคิดว่าต้องการจะทำอะไรเพื่อให้ได้อะไรสำหรับตนเท่านั้น  

แต่แผนการชีวิตคริสตชนได้มาจากการที่เจ้าตัวมีเวลาที่จะใคร่ครวญภาวนาอธิษฐาน   การไตร่ตรองพิจารณา  และยังมีรายละเอียดเบื้องหลังแผนการอีกมากมาย   ดังนั้น จึงมิใช่แผนที่นั่งลงคิดในเวลาไม่กี่วัน  หรือเป็นแผนชีวิตที่ตนอยากได้ อยากมี   แผนชีวิตคริสตชนมิใช่แผนชีวิตเพียงช่วงสั้นๆ   หรือเป็นแผนที่จะทำหรือล้มเลิกไปอย่างง่ายดายก็ได้

คริสตชนเราเชื่อว่า   แผนการชีวิตของเราควรเป็นแผนการที่สอดคล้องกับแผนการของพระเจ้า

สำหรับพระเจ้าแล้วแผนการที่ทรงมีสำหรับชีวิตของเราเป็นแผนการที่ยั่งยืน   เป็นแผนการชีวิตที่นิรันดร์   แต่ชีวิตที่นิรันดร์นี้เริ่มต้นตั้งแต่เดี๋ยวนี้ในชีวิตปัจจุบันของเรา   ชีวิตนิรันดร์นี้เริ่มต้นตั้งแต่เรายอมรับให้พระองค์ทรงไถ่ถอนกอบกู้ชีวิตของเราให้หลุดรอดออกจากอำนาจแห่งความบาปชั่ว   แล้วมีชีวิตอยู่ภายใต้การปกป้องครอบครองด้วยพระคุณของพระองค์   ตั้งแต่วันนี้  พรุ่งนี้  และตลอดไป

แผนชีวิตของคริสตชนคือแผนชีวิตของแต่ละช่วงเวลาของชีวิตในการติดตามพระเยซูคริสต์   เป็นแผนการชีวิตว่าเราจะติดตามพระองค์ไปวันต่อวัน   ในบริบทชีวิต  ในหน้าที่การงาน   ในสถานการณ์ชีวิตครอบครัว   ชุมชนและประเทศชาติ  

และในแผนการชีวิตที่ติดตามพระเยซูคริสต์วันต่อวันนี้เอง   ที่เราจะเห็นถึงพระประสงค์ และ น้ำพระทัยของพระคริสต์สำหรับชีวิตของเราที่ค่อยๆ เปิดเผยออกผ่านการใกล้ชิดติดสนิทกับพระองค์   และทรงเปิดเผยผ่านสถานการณ์ชีวิต   หน้าที่การงานที่เรารับผิดชอบตามการทรงเรียก   ผ่านวิกฤติที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน   ด้วยการทรงเปิดเผยเช่นนี้เองทำให้เราเห็นและเรียนรู้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่า  พระเจ้าทรงมีพระประสงค์และแผนการอะไรบ้างในชีวิตของเราแต่ละคน   แผนการสำหรับครอบครัวของเรา   คริสตจักรของเรา  ชุมชนและประเทศชาติของเรา?

เมื่อเราเรียนรู้จากการทรงเปิดเผยของพระเจ้าผ่านทางชีวิตประจำวันของเราแล้ว   เราในฐานะคริสตชนจึงนำสิ่งที่พระเจ้าทรงเปิดเผยนั้นมาวางแผนชีวิตวันต่อวันในการติดตามพระองค์ต่อไป

น่าสังเกตว่า   แผนชีวิตคริสตชนไม่มีเป้าหมายสุดปลายที่ชัดเจน   แต่เป้าหมายที่พระเจ้าทรงเปิดเผยแต่ละครั้งนั้น   เป็นเป้าหมายชีวิตขั้นหนึ่งที่นำไปสู่เป้าหมายอีกขั้นหนึ่งในชีวิต   ถ้าเรายอมดำเนินชีวิตติดตามพระประสงค์ของพระเจ้า   เราจะค่อยๆ เห็นและเรียนรู้พระประสงค์ของพระองค์มากและชัดเจนยิ่งขึ้น

แต่บ่อยครั้งที่คริสตชนในยุคปัจจุบัน “ใจร้อน”  ขาด “ความอดทน”   ต้องการคำตอบที่สำเร็จรูป   คำตอบที่ทันอกทันใจตนเอง   จนเกิดความรู้สึกยุ่งยากสับสนว่า   ชีวิตของตนทำไมถึงต้องพเนจรวนเวียนอยู่ในทะเลทรายอยู่ในถิ่นทุรกันดารอย่างอิสราเอลที่ต้องการไปให้ถึงแผ่นดินแห่งพระสัญญา

แท้จริงแล้ว   ชีวิตที่เดินวนเวียนในถิ่นทุรกันดารนั้นเป็นส่วนหนึ่งในแผนการชีวิตที่พระเจ้าทรงมีสำหรับการสร้างเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตของเรา   แผนการตามพระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับเราส่วนนี้ที่ผู้คนมักไม่ต้องการ ไม่อยากได้   ดังนั้น   ชีวิตคริสตชนของเราจึงไม่เติบโต  เข้มแข็ง  และเกิดผลอย่างที่ควรจะเป็น  

แต่ที่แย่กว่านั้นคือ   เมื่อชีวิตของเราต้องวนเวียนในถิ่นทุรกันดาร   เรากลับบ่นว่าพระเจ้าว่าเหตุการณ์ที่เลวร้ายเหล่านี้ทำไมถึงมาเกิดขึ้นกับตน   ทั้งๆ ที่ตนติดตามพระเจ้า?   ความรู้สึกเช่นนี้มักนำไปสู่ความไม่พอใจ   ทอดทิ้งแผนการของพระเจ้าในช่วงเวลานั้น   จนกว่าตนต้องพบกับผลร้ายที่เกิดขึ้น    จึงกลับมาเริ่มต้นกับพระเจ้าใหม่    ชีวิตต้องเข้าสู่แผนการเดิมอีกครั้งหนึ่งจนเราเกิดการเรียนรู้ ยอมรับ  และติดตามแผนการนี้ไปสู่อีกแผนการหนึ่ง

การติดตามแผนการของพระเจ้าในแต่ละขั้นตอนนั้นมิใช่ของง่าย   ต้องใช้พลัง   ความมุ่งมั่น  อดทน  จริงใจ  สัตย์ซื่อ และถวายตัว   แต่พระเจ้าทรงสัตย์ซื่อและเมตตา    ในภาวะที่เรากำลังหมดแรง หมดไฟในชีวิต   พระเจ้าทรงประทานโอกาสให้เราได้ผ่อนพัก   ในการผ่อนพักนั้นเราได้เรียนรู้ถึงพระเมตตา   เกิดความชื่นชมและสันติสุขในชีวิตท่ามกลางความทุกข์ยากลำบากหรือสับสน   พระองค์ทรงซ่อมแซมและเสริมสร้างชีวิตที่ “สึกหรอ”  “อ่อนแรง”   และทรงประทานพลังชีวิตใหม่แก่เรา    เพื่อเราจะมีพลังที่จะใช้ในการขับเคลื่อนชีวิตตามพระประสงค์ของพระองค์

ในการติดตามแผนการตามพระประสงค์ของพระเจ้า   ต้องติดตามพระองค์ไปก้าวต่อก้าว   และเราก้าวได้ครั้งละก้าวในการติดตามพระองค์   และเราต้องก้าวผ่านทุกช่วงสถานการณ์ หรือ ทุกฤดูกาลแห่งชีวิตตามแผนการของพระเจ้า   เราไม่สามารถที่จะเลือกเดินผ่านบางฤดูกาลของชีวิตแล้วปฏิเสธที่จะเดินก้าวผ่านฤดูกาลชีวิตอื่นๆ   เพราะพระเจ้าทรงมีแผนการให้เราได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ที่เราติดตามแผนการของพระองค์

ในการติดตามแผนการตามพระประสงค์ของพระเจ้า   เราอาจจะไม่เห็นหรือไม่เห็นชัดถึงเป้าหมายสุดปลายทาง   แผนการของพระเจ้าเป็นเส้นทางที่พระองค์เตรียมสำหรับเราแต่ละคน   เป็นเส้นทางชีวิตที่เป็นนิรันดร์   แม้จะเป็นเส้นทางที่นิรันดร์แต่เรายังคงขับเคลื่อนติดตามแผนการนั้นของพระเจ้า   แต่เราจะพบจุดหมายจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง   ในการจาริกไปบนเส้นทางตามแผนการของพระเจ้าในแต่ละวันเราได้เห็นถึงการทรงเปิดเผยของพระองค์ในแต่ละขั้นแต่ละตอนในชีวิตของเรา

ในการติดตามแผนการตามพระประสงค์ของพระเจ้า  อุปสรรคเป็นส่วนหนึ่งในแผนการนั้น   เพราะอุปสรรคคือส่วนที่เสริมสร้างให้เราเติบโต เข้มแข็งขึ้นในชีวิตคริสตชน   และที่จะเสริมสร้างความไว้วางใจของเราต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าที่เหนียวแน่นมั่นคงยิ่งขึ้น   บ่อยครั้งนักเมื่อเราต้องเผชิญหน้ากับกำแพงแห่งอุปสรรค  เราเกิดความย่อท้อ  เรายอมแพ้   แล้วมักบอกกับตนเองว่า   “ความหวังที่วาดฝันไว้มันเกิดเป็นจริงไม่ได้”   แล้วก็เอาความหวังที่วาดฝันนั้นไปเก็บบนหิ้ง   เราเกิดความขมขื่นในชีวิต   แต่เราต้องตระหนักชัดว่า    อุปสรรคที่ขวางกั้นทางที่เราจะต้องไปนั้นไม่ใหญ่เกินกว่าสำหรับพระเจ้า   ในสถานการณ์เช่นนี้เราต้องไว้วางใจพระองค์ 

เส้นทางแผนการชีวิตตามพระประสงค์ของพระเจ้ามิใช่เส้นทางจาริกสำเร็จรูป   มิใช่เส้นทางที่จาริกแล้วสำเร็จได้ในทันทีครั้งเดียว   แต่เป็นเส้นทางที่ดำเนินไปวันต่อวันกับองค์พระผู้เป็นเจ้า   และเป็นเส้นทางที่ยิ่งจาริกยิ่งเห็นพระประสงค์ชัดเจนยิ่งขึ้น    ยิ่งพบกับปัญหาอุปสรรค ชีวิตยิ่งเติบโตและเข้มแข็งยิ่งขึ้น   


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

26 มีนาคม 2557

ให้ด้วยใจกว้างขวาง...

ไม่จำเป็นต้องใช้แม้สตางค์แดงเดียว!

เมื่อเราได้ยินคำว่าให้ด้วยใจกว้างขวาง   เรามักจะคิดไปถึงเรื่องการให้เงินหรือ สตางค์

ในฐานะที่เราเป็นผู้นำเราสามารถให้ด้วยใจกว้างขวางที่มากกว่าการให้เงิน   เช่น การที่เราเปิดให้คนอื่นสามารถเข้าถึงเครือข่ายงานของเรา   หรือการที่ใช้ความสามารถหรืออิทธิพลของเราในการช่วยบางคนได้เข้าถึงโอกาสในชีวิต   ซึ่งถ้าเราไม่ยื่นมือเข้าช่วยเขาแล้วเขาก็จะไม่ทางเข้าถึงโอกาสนั้นได้เลย

ในปี 1972  ในเดือนธันวาคมที่มีอากาศหนาวเหน็บในเมือง Salzburg ออสเตรีย   หญิงคนหนึ่งได้ให้กำเนิดบุตรนอกสมรส คนที่สามของเธอ  ชื่อของทารกน้อยคนนี้ชื่อว่า Joseph Mohr พ่อของหนูน้อยคนนี้ได้ทิ้งแม่ของเขาตั้งแต่รู้ว่าแม่ของเขาตั้งครรภ์   แม่ของทารกที่ไร้พ่อคนนี้กำลังขาดเงิน  เพราะเธอถูกปรับเป็นเงินมูลค่าเท่ากับค่าแรงงานที่เธอทำได้ใน 1 ปี   ในฐานความผิดที่ตั้งท้องเด็กนอกสมรส

เพราะเกิดมาเป็นเด็กไม่มีพ่อ แล้วแม่ยังยากจนข้นแค้น   ดังนั้น ความหวังในชีวิตของ โยเซฟ มัวร์จึงมีริบหรี่เต็มที   และนี่คือความเป็นจริงในยุคสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 18 ของเด็กที่เกิดมาเป็นเด็กนอกกฎหมาย   ที่ถูกตีตราบาปจากสังคม   เขาถูกปฏิเสธที่จะมีโอกาสในการศึกษาและในการทำงาน

มีอยู่ที่หนึ่งที่ยอมรับโยเซฟคือที่คริสตจักรท้องถิ่นของเขา   เขาร่วมร้องเพลงอยู่ในคณะนักร้องของคริสตจักร   เจ้าอธิการ Johan Nepomuk Hiernle  ได้สังเกตเห็นว่าเด็กชายคนนี้มีของประทานในด้านดนตรี   ดังนั้น  ท่านจึงยื่นมือเข้าช่วยโยเซฟเพื่อให้ได้โอกาสที่จะเรียนหนังสือ   ในเวลาเดียวกันก็พบว่าเด็กคนนี้มีความสามารถในด้านดนตรี   เรียนรู้ในการเล่นกีตาร์  ไวโอลีน  และ ออร์แกน   โยเซฟตัดสินใจสมัครเข้าเรียนในพระคริสต์ธรรมแห่งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม   แผนการชีวิตของโยเซฟต้องพบกับอุปสรรค   เพราะการที่เขาเกิดมาเป็นลูกนอกกฎหมายทำให้เขาไม่มีโอกาสที่จะเรียนในพระคริสต์ธรรม   Hiernle  ได้ยื่นมือเข้าช่วยอีกครั้งหนึ่ง   เขาได้รับการยกเว้นจึงได้เรียนในพระคริสต์ธรรมได้   ภายหลังสำเร็จการศึกษา   โยเซฟได้รับการสถาปนาเป็นพระ   และได้รับการคัดเลือกให้เป็นพระในคริสตจักร Oberndorf

ในช่วงที่โยเซฟปฏิบัติหน้าที่พระในคริสตจักรเป็นปีที่สอง   เขาได้รวบรวมนักดนตรีและร่วมกันจัดคอนเสิร์ตสำหรับการเฉลิมฉลองในพิธีมิสซาคริสต์มาส   เขาได้เขียนบทประพันธ์และได้ขอให้เพื่อนคนหนึ่งช่วยแต่งทำนองเพลงให้   และทั้งสองได้แสดงและขับร้องเพลงบทใหม่นี้ในคืนที่ 24 ของเทศกาลคริสต์มาสในปีนั้น   และทำนองเพลงที่เขาร้องนั้นคือทำนองของเพลง “ราตีสงัด ราตรีสวัสดิ์” (Silent Night)   เป็นเพลงที่ผู้ได้ยินได้ฟังชื่นชอบ   และเพลงนี้ยังทันสมัยของคณะนักร้องในคริสตจักร และ ในการนมัสการพระเจ้าเกือบ 200 ปี

ขุดค้นข้อคิด

ถ้าไม่มีเจ้าอธิการที่มีจิตใจที่เมตตา และ จิตใจที่กว้างขวางใช้ศักยภาพของท่านในการติดต่อประสานเพื่อช่วยให้เด็กที่ไร้พ่อ  ไร้โอกาสอย่างที่เล่าข้างต้น  เด็กหนุ่มคนนี้คงไม่มีโอกาสที่จะประพันธ์เพลง “ราตรีสงัด ราตรีสวัสดิ์”  อย่างที่พวกเราได้ยินได้ฟังและได้ชื่นชมกัน  และคงไม่มีโอกาสร้องร่วมกันด้วย   และถ้ามิใช่เพราะท่านอธิการยื่นมือเข้าแทรกแซงเหตุการณ์ชีวิตของเด็กชายคนนี้เขาคงไม่ได้เป็น  โยเซฟ มัวร์  อย่างที่เขาเป็นอยู่กระมัง?

การให้ชีวิตด้วยใจกว้างขวางเข้าแทรกแซงชีวิตที่ไร้โอกาสเช่นนี้   ช่วยให้เด็กชายที่ไร้โอกาสคนหนึ่งได้เข้าถึงโอกาสแห่งชีวิตและประสบความสำเร็จ   เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ท่านอธิการ Nepomuk Hiernle หวังว่าเราแต่ละคนจะใช้ศักยภาพที่เรามีอยู่ในชีวิต   ที่จะให้กับคนที่ไร้โอกาสได้เข้าถึงโอกาสแห่งชีวิตในด้านต่างๆ ที่จำเป็นต้องการ   และเราจะพบว่า   ไม่มีเงินแม้สตางค์แดงเดียวเราก็สามารถที่จะให้ได้ด้วยใจกว้างขวาง

ให้ด้วยใจกว้างขวางในสิ่งที่เรามีและที่เราจะให้ได้   ให้ด้วยใจผูกพันครับ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

24 มีนาคม 2557

มองไปข้างหน้า… กระบวนการสร้างอนาคต

ปัญ​ญา​ของ​คน​สุขุม​คือ​การ​เข้า​ใจ​ทาง​ของ​ตน
แต่​ความ​โง่​ของ​คน​โง่​คือ​การ​หลอก​ลวง(ตนเอง)
(สุภาษิต 14:8 มตฐ.)

การมุ่งมองไปข้างหน้าเป็นกระบวนการสร้างอนาคตที่ยังมาไม่ถึง หรือ ที่มันยังไม่เกิดเป็นจริง   ผู้ที่ “เข้าใจว่าตนกำลังมุ่งไปที่ไหน” เขาก็จะตัดสินใจลงมือกระทำเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายปลายทางที่เขาปักธงไว้   ถึงแม้ว่า อนาคตยังไม่ปรากฏเป็นรูปธรรมก็ตาม  

แล้วการไล่ตามติดเป้าหมายปลายทางจะเป็นประโยชน์เช่นไร?

การมุ่งมองไปข้างหน้าได้วางทิศทางที่ชัดเจนที่เราจะมุ่งไป  เรามักจะทำเครื่องหมายในแผนงาน/แผนชีวิตของเราอย่างชัดเจนว่าตอนนี้เราอยู่ที่ไหน และ ทำเครื่องหมายอีกว่าเราจะมุ่งไปสู่ที่ไหน   พร้อมทั้งลากเส้นทางว่าเราจะไปให้ถึงเป้าหมายนั้นด้วยเส้นทางใด  ด้วยวิธีการใด   และนั่นก็บอกชัดเจนด้วยว่าเราจะไม่ไปไหนด้วย

การมุ่งมองไปข้างหน้าช่วยให้เรารุกไปข้างหน้าอย่างสร้างสรรค์มากกว่าเพียงการตั้งรับ    ทุกย่างก้าวที่เราจาริกไปข้างหน้า   เราต้องเผชิญด้วยการที่เราต้องเลือกว่าจะรุกไปข้างหน้าหรือจะหยุดรอตั้งรับ   หลายคนใช้เวลาชีวิตของเขาเกือบทั้งวันในการตั้งรับ   เหมือนกับผู้รักษาประตูของการแข่งขันฟุตบอล   รอเพื่อที่จะตอบโต้ลูกบอลที่ถูกยิงเข้ามา    ในชีวิตจริงของเราต่างตอบโต้ต่อสิ่งที่เย้ายวนใจยิงเข้าในชีวิตของเรา เช่น  รถยนต์คันใหม่   ตอบโต้ต่อข้อมูลข่าวสารที่เราได้ยินได้ชม   ตอบโต้ต่อสถานการณ์รถติดหนึบ   มีปฏิกิริยาต่อผู้คนรอบข้าง   ต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น   สิ่งท้าทายมากมายหลายอย่าง   และต่ออุปสรรคที่ขวางทางข้างหน้าของเรา   ทางที่ดีในสถานการณ์เช่นนี้คือการตัดสินใจเลือกและตามด้วยการวางแผน

การมุ่งมองไปข้างหน้าเป็นการประหยัดเวลาที่มีจำกัดของเรา   มีผู้กล่าวว่า “การใช้เวลาวางแผน 1 ชั่วโมงทำให้เราประหยัดเวลาในการปฏิบัติการในเรื่องนั้นถึง 3 ชั่วโมง” การวางแผนทำให้ได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า   ในแต่ละวันเรามีเพียง 24 ชั่วโมงเท่านั้น และ ในหนึ่งปีก็มีเพียง 365-366 วันเท่านั้น   ถ้าเราไม่ใช้เวลาที่มีจำกัดอย่างชาญฉลาดด้วยการมุ่งมองไปข้างหน้า   เรากำลังใช้เวลาที่พระเจ้าประทานให้อย่างเสียเปล่าด้อยคุณค่า

การมุ่งมองไปข้างหน้าเป็นการลดสถานการณ์วิกฤติให้น้อยลง   ในชีวิตประจำวันของเรามีพลังหรืออิทธิพลที่เข้ามาควบคุมการขับเคลื่อนชีวิตของเราคือ  พลังจากการวางแผน  หรือ  พลังจากความกดดันรอบข้าง   เมื่อเรามุ่งมองไปข้างหน้าเราเลือกที่จะควบคุมด้วยการวางแผน   เราตัดสินใจที่จะรุกหน้าในแต่ละวันของเรา   ถึงแม้ว่าถ้าเราล้มเหลว   เราก็ยังมุ่งมองไปข้างหน้า   และเลือกที่จะตัดสินใจและวางแผนหาทางออกจากวิกฤติที่กำลังเผชิญหน้า   แทนที่จะหยุดยอมตั้งรับไม่ว่าอะไรที่พุ่งเข้ามาหาเรา   แทนที่ยอมตนตกเป็น “เหยื่อ” ของวิกฤติที่รุกเข้ามา   แม้เราอาจจะควบคุมวิกฤติที่เกิดขึ้นในบางครั้งไม่ได้   แต่เราควบคุมตนเองตัดสินใจเลือกหาทางที่ออกจากวิกฤติได้

การมุ่งมองไปข้างหน้าเพิ่มพลังแก่เรา   เวลาใดที่เราหยุดการมุ่งมองไปข้างหน้า   เราอาจจะมุ่งมองในจุดที่เรากำลังอยู่  หรือการมองแลไปข้างหลัง   การกระทำเช่นนี้ทำให้พลังชีวิต พลังใจ กายของเราลดน้อยถอยลง   เพราะเรากำลังให้เวลากับการมองสิ่งที่ไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด   เรากำลังหลงทางในสนามรบ   เราใช้เวลาที่สิ้นเปลืองไปกับเรื่องที่เล็กๆ น้อยๆ อย่างไร้ผล      แต่การวางแผนที่จะจัดการตนเองและหาทางออกต่างหากที่เพิ่มพลังขับเคลื่อนในยามวิกฤติแก่เรา

ขอให้เรามุ่งมองไปข้างหน้าอย่างชาญฉลาด   เพราะนั่นเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการสร้างอนาคตที่กำลังจะเป็นจริงและเป็นรูปธรรม

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

พระเจ้าหรือรูปเคารพ?

36ท่าน​อา​จารย์ ใน​ธรรมบัญญัติ​นั้น พระ​บัญญัติข้อ​ไหน​สำคัญ​ที่สุด?”
37 พระ​เยซู​ทรง​ตอบ​เขา​ว่า “‘จง​รัก​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​ของ​ท่าน​ด้วย​สุด​ใจ​ของ​ท่าน​
ด้วย​สุด​จิต​ของ​ท่าน’  และ​ด้วย​สุด​ความ​คิด​ของ​ท่าน
38 นั่น​แหละ​เป็น​พระบัญญัติข้อสำคัญอัน​ดับ​แรก
39 ข้อ​ที่​สอง​ก็​เหมือน​กัน คือ จง​รัก​เพื่อน​บ้าน​เหมือน​รัก​ตน​เอง’ 
40 ธรรม​บัญญัติและ​คำ​ของ​ผู้​เผย​พระ​วจนะ​ทั้ง​หมด ก็​ขึ้น​อยู่​กับ​พระ​บัญญัติสอง​ข้อ​นี้
(มัทธิว 22:36-40 มตฐ.)         

พระเยซูคริสต์ตอบคำถามของฟาริสีที่มาทดลองพระองค์ว่า   สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของผู้เชื่อศรัทธาในพระเจ้า   คือการที่คนๆ นั้นมีพระเจ้าทรงเป็นเอกเป็นใหญ่ในชีวิตเหนือสิ่งอื่นใด หรือ ผู้ใดในทุกมิติของชีวิต   ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดำเนินชีวิตประจำวัน   เศรษฐกิจ  สังคม  ตลอดจนการเมืองเรื่องของการใช้อำนาจ   ในที่นี้รวมถึงความสัมพันธ์ติดสนิทกับพระองค์   และรองลงมาคือความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ให้รักคนรอบข้างเฉกเช่นที่ตนรักชีวิตของตนเอง  

แต่ถ้าเราทำให้สิ่งใดเป็นสิ่งที่อันดับแรกสุดสูงสุดและสำคัญที่สุดในชีวิตของเราแทนที่ของพระเจ้า   สิ่งนั้นคือ “รูปเคารพ” ในชีวิตของเรา   เรามักเข้าใจผิดเพี้ยนคลาดเคลื่อนเรื่อง “รูปเคารพ” เป็นเหมือนวัวทองคำอย่างที่พวกอิสราเอลในถิ่นทุรกันดารหล่อขึ้นมา (อพยพ บทที่ 32)   หรือคริสตชนไทยเราก็มักคิดถึงรูปปั้น หรือ รูปแกะสลักต่างๆ ที่ใช้ในการกราบไหว้บูชา  

แต่แก่นความหมายของ “รูปเคารพ” คือ สิ่งของหรือบุคคลที่เราอุทิศยกย่องเชิดชูบูชาว่าเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดในชีวิตของเรา  ให้คนนั้นสิ่งนั้นแทนที่พระเจ้าที่ควรเป็นเอกเป็นต้นและเป็นใหญ่ในชีวิตของเรา (มาระโก 13:14)   ในยุคของเรานี้   “รูปเคารพ” สำแดงออกมาในหลายรูปแบบด้วยกัน   บางคนมีการงานเป็นรูปเคารพ   บางคนมีอุดมการณ์เป็นรูปเคารพ  มีสถานภาพทางสังคม  ฐานะทางเศรษฐกิจ  ความมั่งคั่งร่ำรวย  ตำแหน่งหน้าที่การงาน  บ้างก็ความสวยงามของตน  บ้างก็บูชาความกล้าบ้าบิ่น  บ้างก็ไล่ล่าอำนาจเหนือคนอื่นด้วยสุดชีวิต   จนกลายเป็น “รูปเคารพ” ในชีวิตของตน   และ ฯลฯ

สิ่งที่คริสตชนต้องหยุดนิ่งแล้วคิดใหม่ว่า   เมื่อเราเห็นแล้วว่าชีวิตที่ว้าวุ่น สับสน อ่อนแรงของเราเพราะเราเอาท่อน้ำเลี้ยงแห่งชีวิตของเราได้ต่อติดรับน้ำจากแหล่งน้ำเลี้ยงที่เป็น “รูปเคารพ”   แทนที่จะเป็นแหล่งน้ำเลี้ยงแห่งชีวิตคือองค์พระผู้เป็นเจ้า  เราจึงมีชีวิตตกลงท่ามกลางความสับสนว้าวุ่น   ความสิ้นหวัง  หมดแรง    จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องตัดสินใจตัดท่อน้ำเลี้ยงที่ต่อกับ “รูปเคารพ”   แล้วให้ท่อน้ำเลี้ยงชีวิตของเรากลับไปเชื่อมต่อกับน้ำพุแห่งชีวิต  คือพระเจ้าองค์สูงสุดในชีวิตของเรา

การต่อท่อน้ำเลี้ยงในชีวิตของเรากับแหล่งน้ำพุแห่งชีวิต   น้ำจากแหล่งน้ำพุแห่งชีวิตจะชโลมเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตของเราใหม่   และน้ำแห่งชีวิตจากองค์พระผู้เป็นเจ้าจะบำรุงหล่อเลี้ยงชีวิตเราขึ้นใหม่   

เราเปลี่ยนจากการที่ทำงานเป็นบ้าเป็นหลัง   เปลี่ยนจากที่ทุ่มทุกอย่างในชีวิตให้กับงานเพื่อจะได้สิ่งที่ตนคาดหวังจากงานที่ทำ  แล้วหันหน้ากลับเข้าหาองค์พระผู้เป็นเจ้า   มีเวลาที่จะใคร่ครวญ  ผ่อนพักในพระองค์    มีเวลาที่จะพิจารณาชีวิตของตนที่ผ่านมาว่าสอดคล้องหรือสวนทางกับพระประสงค์ของพระเจ้าในพระวจนะ    มีเวลาที่จะชุ่มชื่นกับเสียงดนตรี   เสียงนกร้อง  มีเวลาพิจารณาถึงพระราชกิจและพระประสงค์ของพระเจ้าผ่านทางธรรมชาติ   มีเวลาที่จะช่วยเหลือคนที่ต้องการความช่วยเหลือในด้านต่างๆ   มีเวลาที่จะอยู่นิ่งสงบ   ดั่งเช่นผู้ประพันธ์บทเพลงสดุดีบทที่ 46 กล่าวไว้ว่า “จง​นิ่ง​เสีย และ​รู้​เถิด​ว่า เรา​คือ​พระ​เจ้า...” (ข้อ 10 มตฐ.)  

ในแต่ละวันสะบาโต   ให้เรามุ่งมั่นจริงใจใช้เวลานั้นในการสงบอยู่กับพระเจ้า   แทนการทุ่มเทในการทำงานและการบริโภคไม่รู้จักพอเพียง   หยุดงานอาชีพที่ทำ  หยุด “ช๊อปปิ้ง”  หยุดสื่อสารบันเทิง  หยุดที่จะไปกินข้าวนอกบ้าน   เพื่อเราแต่ละคนจะมีเวลาที่ “นิ่งสงบ” กับพระเจ้า และ นิ่งสงบด้วยกันในครอบครัว

แต่หลายคนรับไม่ได้กับการใช้ชีวิตที่ต่อท่อน้ำเลี้ยงกับแหล่งน้ำพุแห่งชีวิตคือองค์พระผู้เป็นเจ้า   บิลเกทเคยตั้งข้อสังเกตว่า ชีวิตแบบศาสนานั้น ไม่ได้ทำอะไรให้เกิดผลคุ้มค่า  เขามองว่าศาสนาน่าจะใช้เวลาที่มีมากมายในการทำกิจกรรมที่เกิดผลิตผล   นั่นอาจจะเป็นเพราะว่า บิลเกทมองว่า  สิ่งที่นำเข้ามีค่าเท่ากับผลที่ได้ออกมา   แต่ต้องบอกกันตรงๆ ว่า   กรอบแนวคิดเช่นนี้ใช้ไม่ได้กับพระราชกิจของพระเจ้า   เพราะ การอธิษฐาน 2 หน่วยไม่ได้ทำให้ได้พระคุณ 2 ลิตร   เราไม่สามารถที่จะกะเกณฑ์บังคับการทำงานของพระเจ้า   อย่างที่เจ้านายกะเกณฑ์บังคับคนงานให้ได้ผลงานตามที่ต้องการ   และที่สำคัญคือ เราต้องตระหนักชัดว่า 

เพราะ​ความ​คิด​ของ​เรา​ไม่​ใช่​ความ​คิด​ของ​เจ้า
และ​ทาง​ของ​พวกเจ้า​ก็ไม่​ใช่​ทาง​ของ​เรา
พระ​ยาห์​เวห์​ตรัส​ดัง​นี้​แหละ  (อิสยาห์ 55:8 มตฐ.)

ในฐานะคริสตชน   นอกจากที่เราจะต้องตัดสินใจเลือกและยกย่องให้พระเจ้าเป็นใหญ่เป็นเอกในชีวิตแล้ว   จิตสำนึก  ความคิด  มุมมอง  ทัศนคติขอเราจะต้องเป็นไปตามกรอบแนวคิดตามพระวจนะ  ตามน้ำพระทัยของพระเจ้า   เพื่อเราจะมีวิถีการดำเนินชีวิตสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระองค์

ประเด็นสำหรับใคร่ครวญ

ในวันนี้หาเวลาที่ท่านจะใคร่ครวญพิจารณาตนเอง   แล้วเขียน 5 สิ่งที่สำคัญสุดในชีวิตของท่านทุกวันนี้   ที่ท่านใช้เงิน  เวลา  พลัง  และการทุ่มเทมากที่สุด   แล้วพิจารณาด้วยใจสัตย์ซื่อว่า
  1. พระเจ้าได้รับการยกย่อง ได้รับเกียรติจากการกระทำของท่านใน  5 สิ่งสำคัญสุดในชีวิตของท่านหรือไม่?  ถ้าไม่?   ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
  2. ท่านจะทำอย่างไรที่จะมีสิ่งที่สำคัญสูงสุดในชีวิตของท่าน   โดยพระเจ้ายังทรงเป็นเอกเป็นใหญ่ที่สุดในชีวิตของท่าน?
  3. ท่านจะทำเช่นไรที่ท่านจะ นิ่งสงบและรู้ว่าพระเจ้าเคียงข้างชีวิตของท่าน?


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

19 มีนาคม 2557

ยกโทษให้ตนเอง

ท่านจะแบกภาระความผิดพลาดในอดีตอันหนักอึ้งไปอีกนานเท่าใด?
ท่านไม่จำเป็นที่จะต้องจมจ่อมในความทุกข์เสียใจตลอดไป

แต่ท่านจำเป็นต้องยกโทษให้กับตนเอง   เพราะอดีตนั้นเลยผ่านไปแล้ว
และพระเจ้าพร้อมที่จะชำระความบาปพลาดพลั้งจากอดีตของท่าน
แต่ท่านต้องเรียนรู้จากอดีต   แล้วปล่อยวางอดีตให้มันผ่านเลยไป                           
แล้วยกศีรษะของท่านขึ้นมุ่งมองไปข้างหน้า   มุ่งมองไปเบื้องบน 

พระเจ้าทรงสร้างตาของเราให้มองไปข้างหน้า
แต่พระองค์ประทานจิตวินิจฉัยผิดชอบที่จะตรวจสอบจุดบอดมืดในปัจจุบัน
และ มีปัญญาที่จะเรียนรู้บทเรียนชีวิตจากอดีต
ปัจจุบันเป็นผลกระทบจากอดีต  
และสิ่งที่กำลังเป็นไปในปัจจุบันเป็นตัวหล่อหลอมอนาคตของท่าน

ดังนั้น   จงยกโทษให้กับอดีตของตนเอง   แล้วปล่อยวางอดีตให้ผ่านเลยไป          
ท่านจงอยู่กับปัจจุบัน  เพราะพระเจ้าทรงสถิตเคียงข้างท่านในขณะนี้ 
แล้วมุ่งมองก้าวย่างไปสู่อนาคต   ที่พระเจ้าทรงเตรียมสำหรับท่าน
และวางเท้าของท่านลงบนพื้นที่อนาคตทีละก้าวบนเส้นทางแห่งพระประสงค์ในชีวิตของท่าน           

18 พระ​องค์​ตรัส​ดัง​นี้​ว่า อย่า​จด​จำ​สิ่ง​ที่​ล่วง​เลย​มา​แล้ว​นั้น...                                                               
19 นี่แน่ะ เรา​กำ​ลัง​ทำ​สิ่ง​ใหม่ๆ บัด​นี้ มัน​งอก​ขึ้น​มา เจ้า​ไม่​เห็น​หรือ?

    ...​เรา​จะ​ทำ​ทาง​ใน​ถิ่น​ทุร​กัน​ดารและ​แม่​น้ำ​ใน​ที่​แห้ง​แล้ง (อิสยาห์ 43:18-19)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

17 มีนาคม 2557

รับมือและจัดการกับความโกรธอย่างไร?

26จะ​โกรธ​ก็​โกรธ​ได้ แต่​อย่า​ทำ​บาป
อย่า​ให้​ถึง​ตะวัน​ตก​แล้ว​ยัง​โกรธ​อยู่
27 อย่า​ให้​โอกาสแก่​มาร...”   (เอเฟซัส 4:26-27)

พระธรรมตอนข้างต้นนี้บอกกับเราว่า   อย่าให้ความโกรธที่เกิดแก่เราฝังแน่นเกาะกุมในก้นบึ้งแห่งจิตใจของเรา   เปาโลกล่าวว่า  “อย่าให้ตะวันตกแล้วยังโกรธอยู่”   นี่เป็นการกล่าวเปรียบเทียบ   ผู้เขียนคงไม่มีเจตนาให้เราตีความคำกล่าวนี้ตามตัวอักษร   แต่หมายความว่าอย่าให้ความโกรธฝังตัวและมีอิทธิพลในจิตใจความคิดความรู้สึกของเราเป็นเดือนเป็นปี   ซึ่งการปล่อยเช่นนั้นเป็นการเปิดโอกาสแก่มาร   ที่จะหลอกล่อให้เราตกกับดักความโกรธแล้วทำบาป

การที่เราจะปลดปล่อยตนเองจากความโกรธมี 3 แนวทางที่เราสามารถเลือกทำได้

ประการแรก   หาทางไปเคลียร์กับคนที่ทำให้เราโกรธ   การไปพูดไปเคลียร์เมื่อเรายังรู้สึกโกรธ   เรามีแนวโน้มที่จะตอบโต้คนที่ทำให้เราโกรธได้เจ็บปวดบ้าง   อีกทั้งอารมณ์ความรู้สึกของเรายังร้อนคุกรุ่นอยู่   โอกาสที่เราจะทำบาปก็มีแนวโน้มสูง   และในเวลาเดียวกันเราไม่รู้ว่าอารมณ์ความรู้สึกของคู่กรณีของเราเป็นอย่างไร   พร้อมรับการที่เราจะเข้าไปเผชิญหน้าหรือไม่   กล่าวโดยภาพรวมวิธีการนี้มีความเสี่ยงที่จะให้เกิดการบาดหมางกันง่าย   และอาจจะสร้างบาดแผลแก่กันและกันที่บาดลึกลงไปมากกว่าเดิมก็ได้

ประการที่สอง   เมื่อใดก็ตามที่เราเกิดความโกรธ   ให้เราระบายความรู้สึกโกรธ  ความรู้สึกไม่พอใจ  ความรู้สึกเจ็บปวดต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า   พระเจ้าทรงพร้อมที่จะรับฟังเรา  ยิ่งกว่านั้นการระบายกับพระเจ้าด้วยความจริงใจเป็นการระบายที่ปลอดภัย   เราจึงไม่ต้องกลัวอะไร   พระเจ้าทรงพร้อมที่จะรับมือกับอารมณ์ความรู้สึกของเรา   พระปัญญาของพระองค์จะทรงให้การปรึกษาแก่ชีวิตจิตใจของเรา   และพระองค์ทรงเปี่ยมด้วยพระคุณพร้อมให้การเยียวยารักษาบาดแผลที่เราได้รับ   แล้วเปลี่ยนความเจ็บปวดเป็นความเข้าใจในคุณค่าของชีวิตของทั้งตนเองและคู่กรณี

ประการที่สาม   การรับมือกับความโกรธในฐานะที่เราเป็นคริสตชน   เราเป็นอวัยวะหนึ่งในพระกายของพระคริสต์   การที่เราโกรธมิใช่เรื่องระหว่างเรากับคู่กรณีของเราเท่านั้น   แต่การที่เราโกรธอาจสร้างผลกระทบต่อส่วนอื่นๆ ในพระกายของพระคริสต์   ดังเปาโลกล่าวก่อนหน้านี้ในข้อที่ 25 ว่า  “...ให้​พวก​ท่าน​แต่​ละ​คน​พูด​ความ​จริง​กับ​เพื่อน​บ้าน​ของ​ตนเพราะ​เรา​ต่าง​เป็น​อวัยวะ​ของ​กัน​และ​กันจะ​โกรธ​ก็​โกรธ​ได้ แต่​อย่า​ทำ​บาป  อย่า​ให้​ถึง​ตะวัน​ตก​แล้ว​ยัง​โกรธ​อยู่ อย่า​ให้​โอกาส​แก่​มาร...”   (ข้อ 25-27)

เปาโลแนะนำเราว่า   เมื่อเราโกรธเราอาจจะหาบางคนที่มีวุฒิภาวะในชีวิตและความเชื่อ   ที่เราสามารถไว้วางใจได้   แล้วพูดความจริงในเรื่องที่เราโกรธ ที่เกิดขึ้นในตัวเราให้เขาฟัง   การที่เพื่อนที่มีวุฒิภาวะในชีวิตและความเชื่อได้ฟังเราอย่างใส่ใจ   เป็นทางหนึ่งที่เราสามารถระบายความโกรธที่อัดแน่นในจิตใจของเราออกมา   นอกจากนั้นแล้วการที่เขาฟังเราอย่างใส่ใจยังจะช่วยให้อารมณ์และความรู้สึกโกรธของเราเย็นสงบลง   และเขายังจะให้มุมมองที่เหมาะสมแก่เราในเรื่องที่เรากำลังโกรธ   แล้วยังสามารถช่วยให้เราตัดสินใจเลือกแนวทางที่ดีที่สุดในการสร้างการคืนดีกับคู่กรณีของเรา

ดังนั้น   เมื่อเราโกรธ  อย่าซุกซ่อนความโกรธไว้ในจิตใจ  อารมณ์  และความรู้สึกของเราให้คุกรุ่นรังแต่จะเพิ่มความร้อนแรงขึ้น   ในเวลาเดียวกันก็อย่ารีบด่วนไปเผชิญหน้ากับคู่กรณี   เพราะการทำเช่นนั้นย่อมมีหลุมพรางมากมายที่จะทำให้เราทำบาปแน่   แต่ให้เราเปิดใจเปิดความรู้สึกของเราทูลต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าด้วยความจริงใจ   แล้วหาทางปรึกษาเรื่องที่เรากำลังโกรธกับพี่น้องคริสตชนที่มีวุฒิภาวะในชีวิตและความเชื่อที่เราไว้วางใจ   เพื่อเราจะไม่ตกหลุมพรางของความโกรธที่ทำให้เราต้องทำบาป    แต่เราจะค้นพบแนวทางที่เราจะกลับไปสร้างการคืนดีกับคู่กรณี

ใช่ครับ   วันนี้จะโกรธก็โกรธได้   แต่ให้เราจัดการความโกรธบนรากฐานความเชื่อของคริสตชน   ที่จะนำมาซึ่งการเสริมสร้างการคืนดีกันและกัน   และต้องไม่ลืมว่า   ความโกรธใช่เป็นเรื่องของเรากับคู่กรณีเท่านั้น   แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้คนในชุมชนคริสตจักร   และ เมื่อโกรธต้องตระหนักรู้ว่า   พระเจ้าทรงเป็นแหล่งแห่งความร่มเย็นที่จะให้ความสงบและสันติสุขเมื่อเรากำลังเร่าร้อนด้วยความโกรธ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

15 มีนาคม 2557

โกรธอย่างไร...ไม่ทำบาป?

26จะ​โกรธ​ก็​โกรธ​ได้ แต่​อย่า​ทำ​บาป”
อย่า​ให้​ถึง​ตะวัน​ตก​แล้ว​ยัง​โกรธ​อยู่
27อย่า​ให้​โอกาสแก่​มาร
(เอเฟซัส 4:26-27 มตฐ.)

เอเฟซัส 4:26 กล่าวไว้ว่า “จะโกรธก็โกรธได้  แต่อย่าทำบาป”   นี่คือปัญญาสำหรับการดำเนินชีวิต   แต่เป็นปัญหาของเราในปัจจุบัน   ซึ่งเราสามารถสัมผัสสัจจะความจริงเรื่องนี้ได้จากประสบการณ์ชีวิตประจำวันของเรา   ตลอดวันที่ผ่านมาท่าน “โกรธ” หรือเปล่า?   เมื่อท่านโกรธ...ความโกรธนั้นกระตุ้นให้ท่านพูดอะไร อย่างไร?   ความโกรธนั้นกระตุ้นให้ท่านแสดงท่าทีอย่างไรกับคนที่ทำให้ท่านโกรธ?   มีไหมที่ความโกรธกระตุ้นให้ท่านต้องพูดสิ่งที่ไม่ดีไม่ควร  กระทำสิ่งที่ไม่ถูก  และแสดงท่าทีที่รังเกียจเหยียดหยาม?  อุ๊บ  นั่นเราตกเป็นเบี้ยล่างของความโกรธให้ทำบาปไปแล้วหรือไม่เนี่ยะ?

เมื่อเราโกรธเราอาจจะพูดหรือกระทำบางสิ่งบางอย่างทำให้เกิดความเจ็บปวดในชีวิตของผู้คน   คนๆ นั้นอาจจะเป็นคนสุดที่รักของเรา  เช่น ลูก หรือคู่ชีวิตของตน   และเราคงต้องยอมรับความจริงว่า   บางครั้งเมื่อเราโกรธเราถึงกับต้องการพูดหรือทำอย่างไรที่จะทำให้เขาเกิดความเจ็บปวดบ้างเพื่อคนๆ นั้นจะได้รู้ตัว?   เมื่อพูดเช่นนี้  หลายคนก็อาจจะสวนกลับผมว่า   ที่ว่านั้นก็ดีอยู่   แต่คุณจะทำอย่างไร หรือ คุณจะโกรธอย่างไรที่จะไม่ทำบาป?

เราพบคำตอบนี้ในตอนท้ายของพระคัมภีร์ข้อที่ 26 ที่ว่า “อย่าให้ถึงตะวันตกแล้วยังโกรธอยู่”  คำแนะนำสั้นๆ นี้   คล้ายๆ กับความคิดของนักปรัชญากรีกในยุคนั้น  และพบปัญญาเช่นนี้ในกลุ่มชาวยิวด้วย   กล่าวคือ  เราไม่ควรเกาะกุมสะสมสุมโกรธไว้ในหัวอกและความคิดของเรา   ในเมื่อเราไม่เกาะกุมยึดแน่นในความโกรธนั้น   ก็เป็นการง่ายกว่าที่เราจะไม่เกิดความขมขื่น ความพยาบาท หรือ เมื่อเกิดความขมขื่น หรือ ความพยาบาทแล้วก็สามารถจางหายไปได้ง่ายกว่า  

แต่การที่เราไปยึดเกาะแน่นกับความโกรธที่ผุดขึ้นในความคิดความรู้สึกของเรามักเป็นหนทางที่นำเราไปสู่การกระทำบาป    แล้วเราควรกระทำด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่งที่จะให้มันเหือดหายไปจากความรู้สึกนึกคิดของเรา

เราต่างยอมรับว่า  ที่ว่านั้นมันไม่ง่ายนักหรอกเพื่อน!  เรารู้ได้จากประสบการณ์ส่วนตัวของเราแต่ละคน   บางวิธีที่นำมาใช้ไม่ค่อยได้ผล เช่น  การที่เราอ้างว่าเราไม่โกรธนั้นไม่ช่วยให้ความโกรธเจือจางเหือดหายลง(แต่เป็นการซ่อนกลบเกลื่นความโกรธไว้ต่างหาก),   การตอบโต้ด้วยเสียงดังก็ไม่เกิดผล (แต่นั่นเป็นข่มขู่เหมือนแมวพองขน หรือ กบพองตัว เมื่อต้องเผชิญหน้ากับคู่ต่อสู้)

แล้วพอจะมีวิธีการใดไหมที่มันจะใช้ได้เมื่อเราโกรธแล้วหยุดเราไม่ให้ทำบาป?

สิ่งสำคัญที่เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญคือ   ในเวลาที่เราโกรธเราต้องตระหนักรู้ว่าเรากำลังโกรธก่อน   แล้วกล่าวกับตนเองว่า  “ฉันกำลังโกรธสิ่งนี้ คนนี้   ฉันต้องการเอากำปั้นกระแทกเข้าจมูกของมัน”   นี่เป็นการเอาตัวตนที่แท้จริงของเราขึ้นมาในความตระหนักรู้ของเรา เพื่อเราจะสามารถพินิจพิจารณาตนเอง  

การที่เราเอา “ความโกรธ” ของเราเปิดเผยภายในตนเอง   เปิดโอกาสให้เรามีเวลาที่จะคิดพิจารณาเกี่ยวกับความโกรธของเราในเวลานั้นมากกว่าการที่เราจะยอมปล่อยให้ตัวความโกรธนั้นซุกซ่อนใต้ความรู้สึกความสำนึกของเรา    มันไม่ได้ซุกซ่อนเงียบๆ เท่านั้นแต่มันกลับกระตุ้นสุมไฟโกรธให้ร้อนแรงขึ้น   แต่การที่เราเอาความโกรธนั้นออกมาให้เห็นชัดแจ้งในความรู้สึกนึกคิดของเรา  นั่นจะเปิดโอกาสที่เราจะสามารถรับมือและจัดการกับความโกรธดังกล่าว   แต่ถ้าเราพยายามกลบเกลื่อนกลบฝังความโกรธของเรา หรือ ไม่สนใจปล่อยปละละเลยความโกรธนั้น   ความโกรธก็จะนำพาเราให้กระทำ “บาป” แน่

สำหรับคริสตชนแล้ว   สิ่งสำคัญกว่าการที่เราจะพยายามรับมือหรือจัดการด้วยตัวเราเองเท่านั้น   เมื่อเรายอมรับความจริงว่าเรากำลังโกรธ   เราสามารถที่จะอธิษฐาน ปรึกษา ทูลขอสติปัญญาและกำลังชีวิตจากพระเจ้า   ผู้เขียนสดุดีหลายบทที่เขียนจากประสบการณ์ของผู้เขียนและพูดอย่างสัตย์ซื่อเปิดเผยถึงความคิดความรู้สึกที่ลุ่มลึกของตนเองในเรื่องความโกรธ   และหลายตอนที่ให้กำลังใจและแนะนำเราว่าเมื่อเราโกรธให้เราทูลปรึกษากับพระเจ้าถึงความคิดความรู้สึกโกรธที่กำลังเดือนดาลในจิตใจของเรา 

ดังนั้น   ในวันนี้ถ้าเราต้องโกรธ   ให้เราทูลบอกถึงความคิดความรู้สึกโกรธที่กำลังร้อนรุ่มสุมอกในจิตใจของเราแก่พระเจ้า   มอบอารมณ์โกรธของเราให้อยู่ในพระหัตถ์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า   และนี่คือก้าวแรกที่คริสตชนรับมือและจัดการกับความโกรธที่เกิดขึ้นกับตน    เพื่อว่าเราจะไม่ลื่นไถลล้มลงในการทำบาปเพราะความโกรธนั้น
และนี่เป็นเพียงก้าวแรกหรือจุดเริ่มต้นเมื่อเราโกรธครับ   แต่เป็นก้าวแรกที่ทรงพลังครับ!

ประเด็นสำหรับใคร่ครวญ                                                                

อะไรที่ช่วยปกป้องท่านไม่ให้ทำบาปเมื่อท่านโกรธ?

มีวิธีการอย่างไรที่ช่วยท่านไม่ให้สั่งสมความโกรธไว้ในหัวอก?

มีความโกรธอะไรหรือไม่ที่ท่านต้องการ “ยอมรับ” และทูลเปิดเผยกับองค์พระผู้เป็นเจ้า?

ใคร่ครวญภาวนา

พระเจ้าผู้เปี่ยมด้วยพระคุณ   ข้าพระองค์ไม่ต้องการที่จะทำบาปเมื่อโกรธ   แท้จริงแล้ว ข้าพระองค์ไม่ต้องการให้เกิดความโกรธในตนเอง   แต่ข้าพระองค์ไม่สามารถหลีกลี้หนีความโกรธพ้น   จึงทูลขอความช่วยเหลือจากพระองค์   โปรดปกป้องรักษาข้าพระองค์จากการกระทำบาปเพราะความโกรธที่เกิดขึ้นในตัวข้าพระองค์

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง   โปรดช่วยข้าพระองค์ให้สัตย์ซื่อต่อตนเองและต่อพระองค์เมื่อเกิดความรู้สึกไม่พอใจ  อารมณ์เสีย  หรือ หัวเสีย   โปรดช่วยให้ข้าพระองค์ที่จะสามารถบอกความจริงที่เป็นไปนั้น   เพื่อข้าพระองค์จะเปิดใจเปิดชีวิตรับพระเมตตาจากพระองค์   อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

12 มีนาคม 2557

โกรธไม่บาป(เสมอไป)?

26 จะ​โกรธ​ก็​โกรธ​ได้ แต่​อย่า​ทำ​บาป
อย่า​ให้​ถึง​ตะวัน​ตก​แล้ว​ยัง​โกรธ​อยู่
27 อย่า​ให้​โอกาส​แก่​มาร

(เอเฟซัส 4:26-27)

คำสอนที่ว่า “จะโกรธก็โกรธได้  แต่อย่าทำบาป”  เป็นคำสอนที่ดี และ เป็นการเตือนสติที่สำคัญ   แต่เราท่านต่างมีคำถามในใจว่า   แล้วเราจะโกรธโดยไม่กระทำบาปได้อย่างไร?   มันจะเป็นจริงและเป็นรูปธรรมได้อย่างไร?   จากประสบการณ์ชีวิตของเรา   ความโกรธมักนำเราสู่การกระทำบาปทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจมิใช่หรือ?   คำสอนที่ดีนี้ทำได้จริงหรือไม่?

จากประสบการณ์ชีวิตจริงของเรา   ผมขอสรุปง่ายๆ ว่า ความโกรธมักมาพร้อมกับการทำบาปดูจะแยกสองสิ่งนี้ออกจากกันได้ยากอย่างยิ่ง   เพื่อนคนหนึ่งของผมเคยแบ่งปันให้ผมฟังว่า   เขาเกิดในครอบครัวที่คุณพ่อแสดงความโกรธให้เห็นน้อยมาก   คุณพ่อเป็นคนที่สนุกสนานร่าเริง  เป็นคนที่อดทน   เขาบอกผมว่าจะเห็นพ่อโกรธปีละครั้งสองครั้งเท่านั้น   เมื่อใดที่พ่อโกรธเขาและน้องๆ ต่างกลัวลาน   แต่คุณพ่อไม่เคยทำร้ายตบตีลูกๆ ของเขา   หรือพูดสิ่งที่เลวร้ายใส่ลูกๆ   เขาบอกผมว่า พ่อคงพยายามทำตามข้อพระคัมภีร์ที่ว่า “โกรธได้แต่ไม่ทำบาป” อย่างคงเส้นคงวา

เขาเล่าต่อไปว่า   ส่วนที่เขาเป็นเหมือนพ่อของเขาคือ  ส่วนมากเขาเป็นคนที่อดทน   แต่เมื่อเขาโกรธเมื่อใด   อารมณ์ของเขาพุ่งกระฉูด   ปากของเขาพูดออกมาทันที   แต่เป็นการกระทำที่บาปผิดทั้งสิ้น   และพฤติกรรมเช่นนี้ยังเป็นอยู่จนถึงทุกวันนี้

ด้วยประสบการณ์เช่นนี้ของเพื่อนคนนี้และเราทั้งหลายที่มีพฤติกรรมคล้ายกันนี้    ประสบการณ์ย่อมสอนเราว่า  “การโกรธเป็นการบาป”   และเมื่อเราอ่านในพระคัมภีร์  เราจะพบว่าในพระคัมภีร์บางตอนดูเหมือนก็สอนเช่นนั้น  เช่นในเอเฟซัส 4:31  กล่าวไว้ว่า  “จง​เอา​ความ​ขม​ขื่น ความ​ฉุน​เฉียว ความ​โกรธ การ​ทุ่ม​เถียง การ​พูด​จา​ดูหมิ่น รวม​ทั้ง​การ​ร้าย​ทุก​อย่าง​ออก​ไป​จาก​พวก​ท่าน”  (มตฐ.)    ดูเหมือนว่าการโกรธเป็นสิ่งที่ผิดบาปที่เราควรเอาออกไปจากชีวิตของเรา  (เราจะพูดคุยเรื่องนี้ต่อไป)

ยิ่งกว่านั้น   มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าในพระกิตติคุณก็ปรากฏว่าพระเยซูคริสต์โกรธ(พิโรธ)ในบางครั้งด้วย  เช่น ในมาระโก 3:5 พระเยซูโกรธและเสียพระทัยที่ผู้นำศาสนายิวมีใจกระด้าง  แต่พระองค์ตามด้วยการรักษาชายมือลีบให้หาย   หรือ ในมาระโก 11:15-17  พระเยซูคริสต์เสด็จเข้าไปในพระวิหารแล้วลงมือขับไล่บรรดาพ่อค้าที่ซื้อขายในบริเวณนั้น  อีกทั้งคว่ำโต๊ะแลกเงิน  และคว่ำม้านั่งของคนขายนกพิราบ   ทั้งนี้เป็นการทวงคืนพื้นที่ในพระวิหารที่จัดไว้สำหรับคนยากจนคนต่างชาติที่จะเข้านมัสการพระเจ้า   และนี่คือการเรียกคืนความยุติธรรมที่ถูกเบียดบังและปิดกั้น

ยิ่งเมื่อเราอ่านในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมเราพบว่าพระเจ้าก็โกรธด้วย   เราจะพบว่าพระเจ้าสำแดงความโกรธ(กริ้ว  พระพิโรธ)ต่อความบาปผิดที่แสดงออกในรูปความอยุติธรรม  เช่น  ในสดุดี 90:7-11 กล่าวถึงความรุนแรงในการโกรธของพระเจ้า  และในยอห์น 3:36 เป็นพระพิโรธของพระเจ้าที่ตกอยู่กับคนที่ไม่เชื่อ  

ในเมื่อพระเยซูพระบุตรของพระเจ้ายังโกรธ  และพระเจ้ายังพิโรธ   ดังนั้น  ความโกรธจึงมิใช่สิ่งที่ผิดในตัวของมันเสมอไป   และเมื่อคนเราถูกสร้างขึ้นตามพระฉายาของพระเจ้า  ความรู้สึกโกรธของเราอาจจะมิใช่เป็นความผิดเสมอไปด้วยเช่นกัน

สมัยที่ผมเรียนที่พระคริสต์ธรรม   ผมได้รับมุมมองใหม่เกี่ยวกับเรื่องความโกรธ  อาจารย์ท่านหนึ่งกล่าวถึงความรู้สึกโกรธเมื่อต้องพบกับการกระทำที่อยุติธรรม   เมื่อพบกับการที่ชาวนาถูกโกงจากพ่อค้า   ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนักการเมือง   หรือ พบว่าคนในคริสตจักร และ ผู้นำคริสตจักรมีพฤติกรรมที่ไม่สัตย์ซื่อต่อพระเจ้า   อาจารย์ท่านนั้นช่วยให้ผมเข้าใจว่า   ความรู้สึกโกรธบางครั้งเป็นการตอบโต้ต่อความอยุติธรรม   อีกทั้งเป็นการต่อต้านการกระทำที่เป็นความบาป  

ดังนั้น   การโกรธจึงมิใช่สิ่งที่ผิดหรือเป็นการกระทำบาปในตัวของมันเอง

ปัจจุบันนี้ผมเชื่อว่าความโกรธ มิใช่เป็นการกระทำผิด หรือ การทำบาปเสมอไป   แต่ที่สำคัญเราต้องตรวจสอบตนเองให้ตระหนักชัดว่า  ในแต่ละครั้งเมื่อโกรธ เป็นการโกรธที่ได้กระทำความบาปผิดลงไปด้วยหรือไม่   และเมื่อผมใส่ใจตามคำสอนสั่งของเอเฟซัส 4:26 ที่ว่า “เมื่อท่านโกรธแต่อย่าทำบาป”   ผมพบว่ามีคำถามมากมายผุดขึ้นในจิตใจของผม เช่น

แล้วผมจะโกรธโดยไม่ทำบาปผิดอย่างไร?

แล้วผมจะควบคุมอารมณ์ความรู้สึกในตัวผมอย่างไร?

ทำอย่างไรที่ผมจะปกป้องตนเองไม่กล่าวร้ายทำชั่วที่ทำให้คนใกล้ชิด หรือ คนที่ตนรักต้องเจ็บช้ำน้ำใจได้?

ผมเชื่อว่ามิใช่คำถามในจิตใจของผมเท่านั้น   แต่คงมีในจิตใจของคนหลายๆ คนด้วยเช่นกัน

ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญ

  1. ผมเชื่อว่าท่านเคยโกรธและความโกรธมักตามมาด้วยการพูดการกระทำที่ผิดบาป   แต่ท่านเคยมีประสบการณ์ที่โกรธเพื่อให้เกิดความชอบธรรมถูกต้องบ้างหรือไม่?  (ช่วยเล่าให้ฟังหน่อย)
  2. เราจะรู้ได้อย่างไรว่า   เมื่อใด ที่ความโกรธของเราถูกกระตุ้นโดยอำนาจแห่งความบาป   และโกรธเวลาใดที่ได้รับการกระตุ้นให้กระทำในสิ่งที่ดีถูกต้อง?


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

คริสตชนโกรธได้ไหม?

26จะ​โกรธ​ก็​โกรธ​ได้ แต่​อย่า​ทำ​บาป
อย่า​ให้​ถึง​ตะวัน​ตก​แล้ว​ยัง​โกรธ​อยู่
27 อย่า​ให้​โอกาส​แก่​มาร
(เอเฟซัส 4:26-27)

เมื่ออ่านและใคร่ครวญในพระธรรมเอเฟซัส 4:26-27  ทำให้ทบทวนชีวิตของตนเองที่ผ่านมา   บ่อยครั้งเราขาดการใส่ใจ หรือ มองข้ามปัญญาที่มีในพระธรรมตอนนี้   แต่ถ้าพูดกันแบบตรงไปตรงมา   เราหลายคงไม่ชอบที่จะมาคิดทบทวนว่าตนเองเคยโกรธมาแล้วกี่ครั้งที่ทำให้ต้องกระทำความผิดบาป   ที่ทำให้คนอื่นได้รับความเจ็บปวดและไม่สบายใจ

จากประสบการณ์ส่วนตัว  เมื่อคนเราโกรธแล้วกระทำความผิดบาปมักเป็นคำพูดที่โพล่งออกมาเมื่อกำลังโกรธ   เช่น ในการประชุมครั้งหนึ่ง   กรรมการท่านหนึ่งในที่ประชุมได้เสนอให้องค์กรของเราเปลี่ยนการบริหารบางอย่างซึ่งได้เคยพูดกันอย่างมากมายก่อนแล้ว   เรื่องนี้จุดประกายแห่งความโกรธขึ้นในจิตใจของผมทันที   แทนที่ผมจะฟังกรรมการท่านนั้นอธิบายอย่างใส่ใจ หรือ ฟังเขาพูดให้จบครบความก่อน   แต่ไม่ครับ ผมโพล่งออกไปทันทีว่า “ถ้าจะเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ต้องให้ผมออกจากองค์กรนี้ไปก่อน”   กรรมการท่านนั้นเงียบแล้วค่อยๆ นั่งลง   ภายหลังเมื่อจิตใจสงบลงผมมาพิจารณาเรื่องนี้   ต้องขอบพระคุณพระเจ้าครับ   ที่กรรมการท่านนี้สามารถควบคุมอารมณ์ ความรู้สึก และพฤติกรรมตอบโต้ได้ดีกว่าผมเป็นอย่างมาก

ความจริงที่น่าเศร้าคือ  สิ่งเลวร้ายจากคำพูดเมื่อเราโกรธได้สร้างความกลัวและความเจ็บปวดกับคนใกล้ชิด  คนที่เรารัก คนเหล่านั้นตกเป็นเหยื่อจากความกระทำบาปเพราะความโกรธของเรา   เราจะต้องไม่ยอมปล่อยให้ตนเองจมจ่อมอยู่ในโคลนตมแห่งอำนาจบาปนั้น   แต่โดยพระกำลังและพระคุณของพระเจ้าที่ทรงฉุดช่วยเราออกจากโคลนตมแห่งความโกรธ  เราสามารถแสดงความเสียใจต่อความผิดพลาดที่กระทำลงไปเมื่อโกรธ   และก้าวสู่การคืนดีอีกครั้งหนึ่ง

บ่อยครั้ง   เรายอมให้ความโกรธที่พลุ่งขึ้นในตัวเรากระตุ้นให้เราพูดอย่างที่เราไม่ตั้งใจ   เราไม่ต้องการที่จะพูดเช่นนั้น แต่เพราะความโกรธที่พลุ่งขึ้นทำให้เราไม่สามารถที่จะควบคุมตนเองได้   และบางครั้งความบาปที่พูดหรือกระทำลงไปเมื่อโกรธสร้างความเสียหายใหญ่หลวงแก่คนอื่น  และบ่อยครั้งสร้างความเดือดร้อนแก่ตนเอง   และที่แน่ๆ คือ สร้างความขุ่นข้องหมองใจ   ความเครียด  ความวุ่นวายใจ   บางคนถึงกับสับสนในตนเอง

ดังนั้น   เราต้องการสติปัญญาจากคำแนะนำของเอเฟซัส 4:26   พระธรรมข้อนี้กล่าวถึงเรื่องความโกรธว่าเช่นไร?   พูดภาษาเข้าใจง่ายๆ คือ “เมื่อเวลาคุณโกรธอย่าทำบาป”   ถ้าเราสังเกตให้ดีเปาโลเขียนข้อความนี้อยู่ในเครื่องหมายคำพูด   แสดงว่าท่านนำข้อความนี้มาจากสดุดี 4:4  “แม้​ถูก​ยั่วยุ ก็​อย่า​ทำ​บาปจง​ตรึก​ตรอง​ใน​ใจ​เวลา​อยู่​บน​ที่​นอน​และ​สงบ​อยู่” (มตฐ.)   แต่ถ้าเราไปดูต้นฉบับพระคัมภีร์เดิมที่แปลเป็นภาษากรีกที่เราเรียกว่า “ฉบับเซปตัวยินต์” (ซึ่งเข้าใจว่าท่านเปาโลคัดลอกข้อความจากพระคัมภีร์ฉบับนี้)  ซึ่งแปลตามความหมายได้ว่า “แม้ถูกทำให้โกรธ ก็อย่าทำบาป...”  

ใช่ครับ   แม้เราจะถูกกระตุ้น หรือ ยั่วยุให้โกรธ   แต่อย่าทำบาป!

มีความบาปแบบใดบ้างที่มักตามมากับความโกรธ?   บางครั้งถึงขนาดทำให้เกิดความบาดเจ็บทางกาย   บ้างถึงกับเกิดการฆ่าทำร้ายกัน   แต่บ่อยครั้งที่ความบาปจากความโกรธทำให้เกิดความผูกพยาบาท   นำสู่จิตใจที่ต้องแก้แค้น   และสื่อตัวกลางที่ทำให้เกิดความบาปจากความโกรธ  คือปากของเรา คำพูดของเรา   คำพูดที่สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจแก่บางคน   สร้างความเจ็บปวดและบาดแผลในชีวิตจิตใจที่บางครั้งอาจฝังรากลึกจนกลับกลายเป็นความขมขื่นในชีวิต

ข้อความในเอเฟซัส 4:26  ไม่ว่าเราจะแปลด้วยสำนวนใด  

แต่หัวใจและปัญญาที่ให้แก่เราคือ  เราสามารถที่จะโกรธด้วยการไม่ต้องทำบาป  

วันนี้  ถ้าเราจะโกรธ  ก็โกรธเถิด   แต่อย่าให้ความโกรธนั้นยั่วยุให้เราต้องทำบาป!

ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญ
  1. ท่านเคยมีประสบการณ์ไหม   ที่มีบางคนโกรธและแสดงพฤติกรรมบาปต่อตัวท่านโดยตรง?
  2. ท่านเคยมีประสบการณ์ไหม   ที่ท่านโกรธจนท่านได้กระทำบาปลงไปในครั้งนั้น?
  3. ท่านรู้สึกเช่นไรบ้างต่อประสบการณ์ทั้งสองข้างต้น?
  4. ท่านเห็นความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องระหว่าง “การโกรธ” กับ “การไม่ทำบาป” อย่างไรบ้าง?


ใคร่ครวญภาวนา

ข้าแต่พระเจ้าผู้เปี่ยมด้วยพระคุณ  
เป็นความจริงที่การโกรธนำไปถึงการกระทำบาปได้  
ขอพระองค์โปรดเมตตาและขอการทรงอภัยโทษแก่ข้าพระองค์
ข้าพระองค์ทูลขอพระองค์ได้โปรดช่วยปกป้องข้าพระองค์จากการกระทำบาปเมื่อมีความโกรธ
ขอพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์โปรดเป็นพลังควบคุมลิ้นและคำพูดของข้าพระองค์เมื่อโกรธ
โปรดกระทำให้จิตใจของข้าพระองค์สงบท่ามกลางความโกรธ
ทั้งนี้เพื่อให้ชีวิตจิตใจของข้าพระองค์ แม้แต่ในเวลาโกรธ  ก็ยังเป็นที่ยกย่องสรรเสริญพระองค์   อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

เมื่อชีวิต “เฉื่อยชา ซบเซา ไร้ผล”

เทศกาลเล้นท์:  ช่วงเวลาหันกลับมาหาพระเจ้าของคริสตชน

4จง​ติด​สนิท​อยู่​กับ​เรา​และ​เรา​ติด​สนิท​อยู่​กับ​พวก​ท่าน แขนง​จะ​ออก​ผล​เอง​ไม่​ได้​นอก​จาก​จะ​ติด​สนิท​อยู่​กับ​เถา พวก​ท่าน​ก็​เช่น​เดียว​กัน​จะ​เกิด​ผล​ไม่​ได้​นอก​จาก​จะ​ติด​สนิท​อยู่​กับ​เรา

5เรา​เป็น​เถา​องุ่น พวก​ท่าน​เป็น​แขนง คน​ที่​ติด​สนิท​อยู่​กับ​เรา​และ​เรา​ติด​สนิท​อยู่​กับ​เขา คน​นั้น​จะ​เกิด​ผล​มาก เพราะ​ว่า​ถ้า​แยก​จาก​เรา​แล้ว​พวก​ท่าน​จะ​ทำ​สิ่ง​ใด​ไม่​ได้​เลย...

7ถ้า​พวก​ท่าน​ติด​สนิท​อยู่​กับ​เรา​และ​ถ้อย​คำ​ของ​เรา​ติด​สนิท​อยู่​กับ​ท่าน​แล้ว ท่าน​จะ​ขอ​สิ่ง​ใด​ที่​ท่าน​ปรารถนา​ก็​จะ​ได้​สิ่ง​นั้น

(ยอห์น 15:4-7, 7 มตฐ.)

ในยุคที่ผู้คนตกอยู่ในภาวะที่ต้องยุ่งอยู่กับการงานมากมาย   ผู้นำคริสตจักรและองค์กรคริสตชนของเราก็มีงานมากมายเช่นกัน  จึงยุ่งจนไม่มีเวลา   ผลที่เกิดขึ้นกับชีวิตของผู้นำเหล่านี้คือ มีชีวิตที่ยิ่งออกห่างจากพระเยซูคริสต์   จนเกิดภาวะที่ “เหินห่างถ่างกว้าง” ถึงขั้นไม่สามารถเข้าใกล้ชิดกับพระองค์ได้   ชีวิตจึงตกอยู่ในสภาพที่ “เฉื่อยชา  ซบเซา  และติดแหงก”   และในที่สุดตกอยู่ในสภาพชีวิตที่ไม่เกิดผล

พระเยซูคริสต์เปรียบเทียบชีวิตการทำงานของผู้นำคริสตชนกับเถาองุ่น   กิ่งก้านองุ่นจะเติบโตและเกิดผลได้ก็ต่อเมื่อติดสนิทกับเถาองุ่นฉันใด   ผู้นำคริสตชนที่จะเกิดผลต้องมีชีวิตจิตวิญญาณที่ติดสนิทกับพระคริสต์ฉันนั้น

กรอบคิดกรอบเชื่อของผู้นำคริสตชนจำนวนมากในปัจจุบันได้เปลี่ยนและกลายพันธุ์ตามมุมมองของกระแสสังคมโลก  เช่น  ผู้นำคริสตชนมีมุมุมมองว่า...

การที่เขาจะเกิดผลในชีวิตมากน้อยแค่ไหน  อยู่ที่การทุ่มเทมากน้อยแค่ไหนในการทำงานหนัก  
แทนมุมมองที่ว่าการเกิดผลขึ้นอยู่กับ ตนใกล้ชิดมากน้อยแค่ไหนกับองค์พระผู้เป็นเจ้าก่อน

เขาจึงมุ่งมองทุ่มเทไปที่การทำงานมากกว่าความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระคริสต์  
เขากลับไปให้ความสำคัญกับการทำการงานของเขามากกว่าสนใจสภาพชีวิตที่เป็นอยู่ของตน

เขาไปเน้นการเกิดผลผลิตมากกว่าความสัมพันธ์สนิทกับพระคริสต์

ผลที่เกิดขึ้นก็คือ   ชีวิตพบกับความเฉื่อยชา ซบเซา  และไร้ผล

การที่ผู้นำจะพุ่งตัวออกด้วยพลังแรงได้นั้น   ผู้นำคนนั้นต้องได้รับแรงเสริมหนุนจากเบื้องบน   และเราจะได้พลังจากเบื้องบนก็ต่อเมื่อเรามีสายสัมพันธ์ชีวิตของเราเชื่อมต่อสนิทกับพระคริสต์เท่านั้น

พระคริสต์บอกเราว่า  เมื่อเรามีสายชีวิตติดสนิทสัมพันธ์กับพระองค์   เราก็ติดสนิทในความรักเมตตาของพระองค์   พระวจนะของพระองค์ก็ไหลซึมเข้าในชีวิตจิตใจของเรา    และสิ่งนี้แหละที่จะกลายเป็นพลังที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเราที่ช่วยขับเคลื่อนการดำเนินชีวิตของเรา

ในเทศกาลเล้นท์ปีนี้  ให้เรามีเวลาที่จะตรวจสอบสายชีวิตของเราว่าผูกพันยึดแน่นกับพระคริสต์หรือไม่   ทุกวันให้กระชับความสนิทสัมพันธ์กับพระองค์มากยิ่งขึ้น   และสิ่งนี้ต่างหากที่ช่วยทำให้ชีวิตของเราเกิดผล

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

05 มีนาคม 2557

เทศกาลเล้นท์ (Lent)

ช่วงเวลาหันกลับมาหาพระเจ้าของคริสตชน
                                                                                                                                        
12 พระ​ยาห์​เวห์​ตรัส​ดัง​นี้​ว่า ถึง​กระ​นั้น​ก็​ดี
บัดนี้ พวกเจ้า​จง​กลับ​มา​หา​เรา​ด้วย​สุด​ใจ
ด้วย​การ​อด​อา​หาร การ​ร้อง​ไห้ และ​การ​โอด​ครวญ
13 ​​จง​ฉีก​ใจ​ของ​พวกเจ้า ไม่​ใช่​ฉีก​เสื้อ​ของ​เจ้า
จง​กลับ​มา​หา​พระ​ยาห์​เวห์​พระ​เจ้า​ของ​พวกท่าน
เพราะ​ว่า​พระ​องค์​ทรง​เปี่ยม​ด้วย​พระ​คุณ​และ​พระ​กรุ​ณา
พระองค์​กริ้ว​ช้า​และ​บริบูรณ์​ด้วย​ความ​รัก​มั่น​คง
และ​เปลี่ยน​พระ​ทัย​ไม่​ลง​โทษ
(โยเอล 2:12-13 มตฐ.)

เล้นท์ (Lent) ในพจนานุกรมภาษาไทย-อังกฤษ แปลคำนี้ว่า เข้าพรรษา  และคริสตชนบางท่านก็แปลว่า มหาพรต  แต่ในที่นี้ผมขออนุญาตออกเสียงทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า “เล้นท์” ก็แล้วกัน

ในทุกปีเทศกาลเล้นท์จะมาก่อนวันคืนพระชนม์ประมาณ 6 สัปดาห์  และเริ่มต้นเทศกาลนี้ด้วยวันพุธขี้เถ้า  ในหกสัปดาห์ของเทศกาลนี้เป็นช่วงเวลาที่คริสตชนหันกลับมาหาพระเจ้า   และเป็นเวลาที่จะเข้าใกล้ชิดสนิทกับพระเจ้า   เพื่อแสวงหาน้ำพระทัยและพระประสงค์ของพระองค์ในชีวิตของเราแต่ละคน   อีกทั้งเป็นเวลาที่จะไตร่ตรองตรวจสอบการดำเนินชีวิตที่ผ่าน   สารภาพในความบาปผิดบาปที่ทำลงไป   และเริ่มต้นการดำเนินชีวิตให้กลับมามีชีวิตตามพระประสงค์ของพระเจ้า   สำหรับปี 2014 พุธขี้เถ้าตรงกับวันพุธที่ 5 มีนาคมครับ

คำถามยอดฮิตที่มักถามกันในกลุ่มคริสตชนคือ  “ฉันจะละเลิกพฤติกรรมชีวิตในเรื่องอะไรบ้าง?”  (ทำให้คิดถึงการลด ละ เลิก ในช่วงเวลาเข้าพรรษาในประเทศไทย)   การละเลิกบางพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของคริสตชนเท่านั้นยังไม่เพียงพอในเทศกาลเล้นท์   แต่คำถามที่คริสตชนควรถามและพิจารณาชีวิตคือ

“ฉันจะสารภาพความบาปผิดและกลับใจใหม่  แล้วหันกลับมาหาพระเจ้าด้วยสุดใจสุดจิตสุดความคิดและชีวิตของฉันอย่างไร?”   และถามใคร่ครวญลึกลงไปอีกว่า

“ฉันได้เดินออกนอกทางชีวิตที่เป็นพระประสงค์ของพระเจ้าในเรื่องอะไรบ้าง? และ ใคร หรือ วิธีใดที่จะช่วยให้ฉันพบทางที่จะกลับมาหาพระเจ้า?”   เพราะบ่อยครั้งเราอาจจะมีใจที่จะหันกลับมาให้พระเจ้า   แต่ตั้งใจได้ไม่กี่น้ำก็ล้มเหลว   เพราะความเป็นจริงในชีวิตของมนุษย์เรามีพลังชีวิตที่จำกัด  และบ่อยครั้งมีแต่ความอ่อนแอ   เราจึงไม่สามารถพึ่งกำลังความสามารถของเราคนเดียวเท่านั้น  

จุดเริ่มต้นคือ  บอกกับพระเจ้าจากส่วนลึกแห่งจิตใจของเราว่า   เราเสียใจและสำนึกที่ได้ดำเนินชีวิตไปในทางที่ผิดพลาดบาปชั่ว   บอกพระองค์ว่าเราต้องการกลับลำชีวิตของเรามาเดินในวิถีชีวิตที่พระองค์ประสงค์ให้เราดำเนิน   แต่รู้ว่าตนเองขาดพลังชีวิต  จึงขอให้พระเจ้าประทานพลังชีวิตแก่ตนในการหันกลับมาหาพระองค์ครั้งนี้

พระองค์ผู้เปี่ยมด้วยความรักเมตตากรุณา   พระองค์จะเสริมพลังชีวิตของเรา   ทั้งผ่านการตรัสในจิตใจของเรา   ตรัสผ่านพระวจนะของพระองค์ที่เราอ่าน   และผ่านคริสตชนบางคนในการเสริมพลังชีวิตของเราในการหันกลับมาหาพระองค์

จริงใจกับพระเจ้า

พระเจ้าประสงค์ความจริงใจของเรามากกว่าสิ่งอื่นใด   ผู้ประพันธ์เพลงสดุดี 5:16 ได้ประพันธ์เพลงสดุดีบทนี้จากประสบการณ์ชีวิตของตนเองในการสารภาพความบาปผิด และ ได้รับการชำระจากพระองค์ว่า

6 แน่​ที​เดียว พระ​องค์​ทรง​ประ​สงค์​ความ​จริง​ในใจ
เพราะ​ฉะนั้น ขอ​ทรง​สอน​สติ​ปัญ​ญา​แก่​ข้า​พระ​องค์​ใน​ที่​ลี้ลับ

ในเทศกาลเล้นท์  นอกจากการสำรวจตรวจสอบชีวิตของตนเองและหันกลับมาหาพระเจ้าแล้ว   ยังส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตด้านอื่นๆ เช่น   บางท่านจะใช้เวลานี้บางวันในการอดอาหาร   ให้อภัยแก่คนอื่นอย่างที่เราได้รับการอภัยความบาปผิดจากพระเจ้า,   หันจากการมีชีวิตที่เอาเปรียบ ขูดรีดคนอื่น  แล้วสั่งสมเพื่อตนเองกลับมาใช้ชีวิตที่แบ่งปันแก่คนอื่น,   การดำเนินชีวิตเช่นนี้เป็นการช่วยให้เราหลุดรอดปลดปล่อยออกจากการที่จับยึดเกาะแน่นในวิถีแห่งความบาป   ซึ่งจะทำให้เรามีจิตใจที่วอกแวก หย่อนยานในชีวิตใหม่ของเรา   เพื่อเราจะรับการทรงเสริมสร้างชีวิตภายในของเราใหม่   เป็นชีวิตที่มีความใกล้ชิดติดสนิทกับพระเจ้าในการดำเนินชีวิตประจำวัน   และนี่คือเส้นทางที่เราหันกลับมาหาพระเจ้า

มีใจที่ปรารถนาพระเจ้า

จุดประสงค์หลักของเทศกาลเล้นท์คือ   การที่คริสตชนมีชีวิตที่ติดสนิทใกล้ชิดพระเจ้ามากยิ่งขึ้น   ดั่งผู้ประพันธ์สดุดีเขียนไว้ว่า  กวางกระเสือกกระสนหาธารน้ำฉันใด   เขาก็โหยหาพระเจ้าฉันนั้น   ซึ่งเป็นการแสวงหาพระเจ้าด้วยชีวิตจิตใจทั้งสิ้น   และเมื่อเราได้ใกล้ชิดติดสนิทกับพระเจ้า  ได้รับพลังชีวิตจากพระองค์   อีกทั้งพระปัญญาและการทรงชี้นำและดลใจจากพระองค์    ทำให้เรารู้ว่าเราควรกระทำและดำเนินชีวิตอย่างไรในแต่ละวัน   และเพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าเรากลับใจ  เราต้องการมีชีวิตที่ใกล้ชิดและดำเนินตามเส้นทางแห่งพระประสงค์ของพระองค์   เราจึงควรถามตนเองในเทศกาลนี้ว่า 

“การกระทำและดำเนินชีวิตของฉันในเรื่องอะไรบ้างที่บ่งชี้ถึงชีวิตที่กลับใจและติดสนิทกับพระเจ้า?” 

ฉันจะใคร่ครวญ ตรวจสอบ และ สารภาพความบาปผิด   เพื่อที่จะให้สัจจะความจริงชีวิตภายในของฉันเป็นไปตามพระประสงค์ของพระเจ้าได้อย่างไร? (สดุดี 51:6),   ฉันควรกระทำต่อคนอื่นอย่างไร? (มัทธิว 7:2-4),   ฉันควรให้/แบ่งปันแก่คนอื่นอย่างไร? (มัทธิว 6:2-4),   ฉันควรอธิษฐานอย่างไร? (มัทธิว 6:5-13),   ฉันควรยกโทษแก่ใครบ้าง?   และฉันจะแสวงหาการยกโทษจากใคร? (มัทธิว 6:14-15),   ถ้าฉันจะอดอาหาร ฉันควรอดอาหารแบบไหน  อย่างไร?   ฉันควรจะละเว้นจากอะไรเพื่อฉันจะมีพื้นที่ในชีวิตสำหรับพระเจ้า (มัทธิว 6:16-18),   ฉันจะมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับทรัพย์สมบัติบนโลกนี้อย่างไร?   และฉันควรกระทำเช่นไรที่จะมีชีวิตในแผ่นดินของพระเจ้า? (มัทธิว 6:19-21),   แล้วฉันจะคืนดีกับพระเจ้าได้อย่างไร?   และฉันจะมีส่วนในพันธกิจแห่งการคืนดีได้อย่างไร? (2โครินธ์ 5)

เล้นท์ปีนี้เป็นโอกาสที่พระเจ้าเปิดสำหรับเราที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยพระกำลังจากพระองค์ครับ!


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

03 มีนาคม 2557

ใครคือศัตรูตัวจริงของท่าน?

จงรู้จักบังคับตนเองและตื่นตัวอยู่เสมอ
เพราะมารผู้เป็นศัตรูของท่านวนเวียนอยู่รอบๆ ดุจสิงห์คำราม เที่ยวหาเหยื่อเพื่อขย้ำกิน
(1เปโตร 5:8 อมต.)

ซานตานมารร้ายชอบและต้องการให้เราไม่รู้เท่าทันว่ามันมีบทบาทและอิทธิพลเช่นไรในความขัดแย้งต่างๆในชีวิตของเรา   ตราบใดที่เรามองหาทางที่จะจู่โจม ล้างผลาญ เอาชนะฝ่ายตรงกันข้าม   ในเวลาเช่นนั้นเองที่เรามองข้ามศัตรูตัวร้ายกาจอันตรายตัวจริง   จึงทำให้เรามิได้ระมัดระวังที่จะใส่ใจปกป้องตนเองจากอิทธิพลอำนาจแห่งมารร้ายนั้น   ทั้งยากอบ และ เปโตรต่างเตือนเราให้ตระหนักและรู้เท่าทันอำนาจที่อันตรายยิ่งนี้ว่า

“ดังนั้นแล้วท่านจงยอมจำนนต่อพระเจ้า จงยืนหยัดต่อสู้กับมารและมันจะหนีไปจากท่าน”(ยากอบ 4:7 อมต.)     “จงต่อต้านมาร ยืนหยัดมั่นคงในความเชื่อ...” (1เปโตร 5:9 อมต.)  เปาโลได้พูดชัดถึงอำนาจที่ชั่วร้ายที่แฝงตัวอยู่ในความขัดแย้งของเราว่า  “เพราะ​ว่า​เรา​ไม่ได้​ต่อสู้​กับ​เนื้อ​หนัง​และ​เลือด แต่​ต่อสู้​กับ​เทพ​ผู้​ครอง ศักดิ​เทพ เทพ​ผู้​ครอง​พิภพ​ใน​โมหะ​ความ​มืด​แห่ง​โลก​นี้ ต่อสู้​กับ​เหล่า​วิญญาณ​ที่​ชั่ว​ใน​สถาน​ฟ้า​อากาศ” (เอเฟซัส 6:12 มตฐ.)

ปัจจุบันนี้   เราตกหลุมพรางของอำนาจชั่วร้ายที่เป็นขั้วตรงกันข้ามสองลักษณะคือ   กลุ่มแรก เรามักลุ่มหลงในทรัพย์สิ่งของ  เงินทอง  อำนาจ  และความยิ่งใหญ่   ซึ่งสิ่งเหล่านี้เห็นชัดเป็นธรรมดาที่เราสามารถจับต้องและชี้วัดกันได้   เป็นหลุมพรางที่อยู่ในโลกแห่งวัตถุนิยม   และเมื่อใครก็ตามที่ตกลงหลุมพรางนี้ย่อมมีโอกาสที่จะต้องขัดแย้งกับคนอื่นๆ เพราะตนต้องสู้รบปรบมือกับคนอื่นในการแย่งชิงสิ่งดังกล่าวให้มาเป็นของตน  หรือปกป้องสิ่งดังกล่าวที่ตนมีอยู่แล้วไม่ให้หลุดลอยไปเป็นของคนอื่น

อีกหลุมพรางหนึ่งคือ คนที่ตกลงในหลุมพรางนี้จะมีจิตใจที่หมกมุ่นมืดมัวกับอำนาจที่ลึกลับ   ไม่สามารถเห็นด้วยตา หรือ สัมผัสด้วยมือ  แต่เป็นเรื่องการที่ตนต้องการหวังพึ่ง หรือ ยอมตนต่ออำนาจลับลึกเหล่านั้น   เพื่อหวังที่จะใช้อำนาจลับลึกเหล่านั้นหนุนเสริมเพิ่มพลังและบารมีแก่ตนเอง   หวังใช้อำนาจชั่วร้ายเหล่านั้นในการแก้วิบากกรรมของชีวิตที่กำลังคืบคลานเข้ามา   เพื่อตนเองจะได้ในสิ่งที่ตนปรารถนาอยากได้ใคร่มี   เพื่อตนจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่  เป็นผู้ชนะในที่สุด

แต่อย่างไรก็ตาม คริสตชนบางท่านบางกลุ่ม   ก็ไม่ผิดเพี้ยนไปจากคนที่ตกหลุมพรางลักษณะที่สองคือ   ที่เขาเชื่อในพระเจ้าเพื่อต้องการใช้พระเจ้า หรือ ทำศาสนพิธีของคริสต์เพื่อหวังว่าพระเจ้าจะพอใจและช่วยในสิ่งที่เขาทูลขอต้องการ   แล้วความเชื่อของเขาจะเสื่อมน้อยถอยลงเมื่อ เขาไม่ได้สิ่งที่ทูลขอตามปรารถนาจากพระเจ้า  

แต่ยากอบ กล่าวชัด   ในการที่จะไม่ตกหลุมพรางมารร้ายทั้งสองหลุมพรางดังกล่าว   สิ่งแรกเราต้อง “...ยอมจำนนต่อพระเจ้า” ก่อน (4:7 อมต.)  แล้วจึงยืนหยัดต่อสู้กับมาร... (ข้อ 7)   ในการแก้ไขจัดการความขัดแย้งสำหรับคริสตชนแล้ว   สิ่งแรกที่จะต้องเริ่มต้นคือ “การจำนนตนเองต่อพระเจ้า” ก่อน   มิใช่การพิสูจน์ว่าตนเองถูกหรือผิด  จากนั้น  จะต้องรู้ว่า  ในความขัดแย้งนั้น ใครคือศัตรูตัวจริงของเรา   เปาโลเตือนคริสตชนชัดเจนว่า   ศัตรูตัวจริงในความขัดแย้งของเรานั้นเป็นอิทธิพลของอำนาจแห่งความชั่วร้ายที่แฝงตัวอยู่ในความขัดแย้ง   ยากที่เราจะมองเห็นด้วยตาของเรา  มันคอยสุมไฟแห่งความขัดแย้งให้รุนแรงยิ่งขึ้น   สิ่งที่มารต้องการคือให้คู่ขัดแย้งพังพินาศไปด้วยกัน   และเหลือมันเท่านั้นที่จะยิ่งใหญ่   และมันจะช่วยให้ใครมีอำนาจ มั่งคั่ง ยิ่งใหญ่ก็ต่อเมื่อคนๆ นั้นยอมตนสวามิภักดิ์ทำความชั่วร้ายที่มารมันต้องการ

เปาโลเรียกอำนาจชั่วร้ายเหล่านี้ในชื่อต่างๆ คือ  “...เทพผู้ครอง ศักดิเทพ เทพผู้ครองพิภพในโมหะความมืดแห่งโลกนี้  (ท่าน)ต่อสู้กับเหล่าวิญญาณที่ชั่วในสถานฟ้าอากาศ” (เอเฟซัส 6:12 มตฐ.)

แล้วใครคือศัตรูตัวจริงของท่านในชีวิตทุกวันนี้ครับ?

ไม่ใช่คู่กรณีของท่านแน่   แต่เบื้องหลังที่ทั้งสองฝ่ายรู้สึกขัดแย้งกันเพราะ   มีอำนาจชั่วร้ายที่คอยสุมไฟอยู่ซึ่งทั้งสองฝ่ายมองข้าม  มองไม่เห็น  และบ่อยครั้งไม่รู้ตัว   แต่อำนาจชั่วร้ายกลับทำให้มุมมองที่มีต่อฝ่ายตรงกันข้ามว่าเป็นศัตรูคู่อาฆาตตัวร้ายกาจของตน   แล้วสุมไฟด้วยฟืนแห่งตัณหา ราคะ อยากได้อยากมีไม่สิ้นสุดในแต่ละคน   แล้วไฟแห่งความขัดแย้งก็ลุกขึ้น และ ถูกกระพือให้ไฟแรงขึ้นๆ

ยากอบบอกเราว่า   “อะไรคือต้นเหตุของการต่อสู้และการทะเลาะวิวาทในหมู่พวกท่าน? สิ่งเหล่านี้มาจากตัณหาซึ่งขับเคี่ยวกันภายในท่านไม่ใช่หรือ? ท่านอยากได้แต่ไม่ได้ ท่านฆ่าและละโมบของผู้อื่น     ท่านไม่ได้สิ่งที่ตนต้องการก็วิวาทและต่อสู้กัน ท่านไม่มีเพราะไม่ได้ทูลขอพระเจ้า เมื่อท่านทูลขอท่านไม่ได้รับเพราะท่านขอด้วยแรงจูงใจผิดๆ เพื่อจะนำไปปรนเปรอตนเอง (ยากอบ 4:1-3 อมต.)

ดังนั้น   จุดเริ่มต้นของการสร้างสันติ และ การคืนดี คือ   การยอมจำนนต่อพระเจ้า   หรือ ฉบับมาตรฐานแปลว่า  “จงน้อมใจยอมฟังพระเจ้า”  ทั้งนี้ เพื่อทุกฝ่ายจะไม่ถูกครอบงำโดยอิทธิพลแห่งอำนาจชั่วร้ายที่เรามองไม่เห็น  แต่ยอมที่จะให้พระเจ้าทรงเปิดเผยพระประสงค์ในสถานการณ์นั้น   เพื่อเป็นแนวทางแห่งการสร้างสันติขึ้น   จากนั้นประการสำคัญต่อมาคือ  การต่อต้านมาร  ด้วยการยืนหยัดความเชื่อของเราในพระเจ้า

วันนี้ให้เราสู้กับศัตรูตัวจริงด้วยพระกำลังจากพระเจ้าครับ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499