30 เมษายน 2557

วาทะจากกางเขน... ขอมอบจิตวิญญาณของข้าพระองค์ไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์

เจ็ดปัจฉิมวาทะของพระคริสต์บนกางเขน

พระ​เยซู​ทรง​ร้อง​เสียง​ดัง​ตรัส​ว่า
พระ​บิดา ข้า​พระ​องค์​ขอ​มอบ​จิตวิญญาณ​ของ​ข้า​พระ​องค์​ไว้​ใน​พระ​หัตถ์​ของ​พระ​องค์
(ลูกา 23:46 อมต.)

ปัจฉิมวาทะที่เจ็ด คือ  “ขอฝากจิตวิญญาณของข้าพระองค์ไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์”

เมื่อพระเยซูประกาศว่า “สำเร็จแล้ว”   พระองค์ประกาศว่า พระประสงค์ของพระบิดาสำเร็จในชีวิตของพระองค์แล้ว   อะไรจะเกิดขึ้นกับชีวิตของพระองค์ พระองค์ทรงวางใจในพระบิดา   พระองค์ทรงร้องเสียงดังว่า  ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น  ข้าพระองค์ “ขอมอบจิตวิญญาณของข้าพระองค์ไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์”

พระเยซูทรงร้องเสียงดังคำกล่าวนี้ จากพระธรรมสดุดีบทที่ 31 (อมต.) โดยเฉพาะในข้อที่ 5

ในการที่เรามอบกายถวายชีวิตให้ชีวิตดำเนินไปตามน้ำพระทัยของพระเจ้านั้น   มิได้บอกว่าทุกอย่างจะเป็นไปอย่างราบรื่น   ไม่ได้ประกันว่าเราจะไม่พบเจอกับความทุกข์ยากลำบาก   มิได้ตอกย้ำว่าเราจะไม่ถูกข่มเหง และได้รับความอยุติธรรม   แต่จากประสบการณ์ชีวิตของผู้ประพันธ์สดุดี 31 ยืนยันว่า   ไม่ว่าจะมีโพยภัยใดๆ จะเล็กหรือใหญ่หลวง   ความชอบธรรมของพระเจ้าจะทรงช่วยกู้เราจากอำนาจเหล่านั้น (ข้อ 1) ดังนั้น ในการดำเนินชีวิตของตนตามน้ำพระทัยของพระเจ้าจึงจำเป็นที่จะต้องมอบจิตวิญญาณของตนไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์ (ข้อ 5)   เพราะเมื่อชีวิตของท่านตกอยู่ในภาวะคับขัน   ท่านจะได้เห็นความรักอันอัศจรรย์ของพระเจ้า (ข้อ 21)

บนกางเขนของพระเยซูคริสต์ได้สำแดงถึงพระราชกิจที่กระทำตามพระประสงค์ของพระบิดา เป็นพระราชกิจแห่งการให้อภัยโทษด้วยความรักเมตตา เสียสละ ที่ไร้เงื่อนไข ที่สำแดงออกชัดเจนออกมาเป็นรูปธรรม แม้ว่าคนๆ นั้นจะเป็นอาชญากรก็มีโอกาสจะรับเอาการอภัยโทษนั้นได้   แต่ยิ่งกว่านั้น พระองค์ยังทรงสัญญากับคนบาปว่า   จะได้อยู่กับพระองค์ในที่ที่พระองค์อยู่    บนกางเขนนั้นเราเห็นถึงการเอื้ออาทรเอาใจใส่ดูแลกันและกันตามพระบัญชาของพระองค์  

แต่การกระทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้าบ่อยครั้งที่กลับถูกตีตราว่ากระทำผิดบาป   ทั้งนี้เพราะการกระทำตามน้ำพระทัยพระเจ้าดังกล่าวเป็นการขัดต่อพระบัญญัติที่คนทั่วไปตีความตามกระแสนิยมและตามระบบคุณค่าของสังคมในสมัยนั้นๆ   แม้จะทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้า   แต่ก็ถูกกล่าวโทษกล่าวร้ายจากผู้คนในสังคม   ถูกกีดกันทำร้ายเพราะถูกมองว่าเป็นภัยต่อองค์กรพระศาสนา   และบ่อยครั้งถูกเฉดหัวให้ออกไปจากสังคมนั้น

ดังนั้น   การที่จะยืนหยัดการกระทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้าได้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับพระกำลัง  ได้รับความอดทนจากพระเจ้า   ผู้ที่จะกระทำเช่นนั้นได้ต้องเป็นผู้ที่กระหายหาพระกำลังจากเบื้องบน   กระหายหาที่จะเห็น “พระพักตร์พระเจ้า” การชูช่วยจากพระองค์   จนกระทั่งที่จะถึงจุดที่จะร้องเสียงดังว่า “สำเร็จแล้ว”   พระประสงค์ของพระเจ้าสำเร็จในชีวิตนี้แล้ว   ต่อไปนี้ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็จะไม่หวั่นไหว   เพราะพระเยซูคริสต์ได้มอบจิตวิญญาณของพระองค์ไว้ในพระหัตถ์ของพระบิดาต่อจากนี้ไปคือโอกาสที่จะได้เห็นถึงความรักอันอัศจรรย์ของพระบิดา

พระราชกิจของพระเยซูคริสต์บนกางเขนที่สำแดงเด่นชัดแก่คริสตชนทุกคน   พระองค์ทรงส่งผ่านให้เราคริสตชนดำเนินชีวิตตามแบบอย่างชีวิตจากกางเขนของพระองค์  

เปาโลกล่าวว่า   “...ข้าพเจ้า​ถูก​ตรึง​ร่วม​กับ​พระ​คริสต์​แล้วข้าพเจ้า​เอง​ไม่​มี​ชีวิต​อยู่​ต่อ​ไป แต่​พระ​คริสต์​ต่าง​หาก​ที่​ทรง​มี​ชีวิต​อยู่​ใน​ข้าพเจ้า ชีวิต​ซึ่ง​ข้าพเจ้าดำ​เนิน​อยู่​ใน​ร่าง​กาย​ขณะ​นี้ ข้าพเจ้าดำ​เนิน​อยู่​โดย​ความ​เชื่อ​ใน​พระ​บุตร​ของ​พระ​เจ้า​ผู้​ได้​ทรง​รัก​ข้าพเจ้า และ​ได้​ทรง​สละ​พระ​องค์​เอง​เพื่อ​ข้าพเจ้า” (กาลาเทีย 2:19-20 มตฐ.)

ชีวิตของเราท่านถูกตรึงร่วมกับพระคริสต์แล้วหรือยัง?   และเรามั่นใจที่จะวางทั้งชีวิตในพระหัตถ์ของพระเจ้าหรือไม่?   ท่านได้สัมผัสความรักเมตตาที่เสียสละของพระเยซูคริสต์เพื่อท่านแล้วหรือยัง?

ในวันนี้ไม่ว่าชีวิตของเราเผชิญกับสถานการณ์เช่นใด   ให้เราตระหนักรู้ว่า   ถ้าเราต้องการที่จะมีชีวิตที่ดำเนินตามพระประสงค์ของพระเจ้า  เราต้องมอบจิตวิญญาณไว้ในพระหัตถ์ของพระเจ้า

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

28 เมษายน 2557

วาทะจากกางเขน...สำเร็จแล้ว

เจ็ดปัจฉิมวาทะของพระคริสต์บนกางเขน

พระ​องค์​ตรัส​ว่า สำเร็จ​แล้ว
(ยอห์น 19:30 มตฐ.)
ปัจฉิมวาทะที่หกคือ   “สำเร็จแล้ว”

พระเยซูคริสต์ทรงประกาศจากบนกางเขนแห่งความทุกข์ยากและความตายว่า “สำเร็จแล้ว”   หมายความว่าอะไรกันแน่?   อะไรสำเร็จ?   ตามศัพท์ที่ใช้ในภาษากรีกของคำว่า “สำเร็จแล้ว” มาจากคำว่า  tetelestai  มีความหมายมากกว่าทุกอย่างสำเร็จจบสิ้น   แต่มีความหมายว่า “ได้กระทำให้สำเร็จสมบูรณ์”  

สิ่งที่พระเยซูคริสต์ประกาศว่าสำเร็จแล้ว   พระองค์หมายถึง พระราชกิจที่พระองค์ทรงกระทำตามพระประสงค์ของพระบิดาสำเร็จสมบูรณ์   แผ่นดินของพระเจ้ามาตั้งอยู่   น้ำพระทัยของพระบิดาเป็นอย่างไรในสวรรค์ก็เป็นเช่นนั้นในแผ่นดินโลก...

สำเร็จแล้ว   คือพระประสงค์ของพระเจ้า ที่ประสงค์ให้พระเยซูคริสต์นำมิติแห่งชีวิตใหม่ของสรรพชีวิตที่พระองค์ทรงสร้างให้สำเร็จครบถ้วนในแผ่นดินโลกนี้  

ในฐานะที่เราเป็นคริสตชน  เป็นสาวกของพระคริสต์   ความสำเร็จที่พระเจ้าทรงคาดหวังจากแต่ละคนคือการที่แต่ละคนมอบกายถวายชีวิตทั้งหมดที่จะดำเนินตามพระประสงค์ของพระเจ้าวันต่อวันด้วยพระกำลังจากพระองค์    นอกจากความสำเร็จที่มิใช่สำเร็จตามใจปรารถนาของเรา   แต่เป็นความสำเร็จที่เรายอมมีชีวิตตามพระประสงค์ของพระเจ้า   ไม่ว่าชีวิตของเราต้องผจญผ่านพบกับสถานการณ์เช่นไรก็ตาม

แม้ว่าความสำเร็จเฉกเช่นที่พระคริสต์กระทำตามน้ำพระทัยของพระบิดา   ในสายตาของโลกนี้คือความพ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิง   เป็นความล้มเหลวที่ยากจะเยียวยาแก้ไข   และไปจบสิ้นที่อุโมงค์ฝังศพ    แต่ท่ามกลางความโดดเดี่ยว  ท้อแท้  สิ้นกำลังนั้นเอง...พระราชกิจของพระเจ้ายังก้าวต่อไป  

ไม่มีพลังใดที่จะหยุดยั้งพระประสงค์ของพระบิดาได้   แม้ว่าความตายจะหยุดยั้งลมหายใจและการมีชีวิตอยู่ด้านกายภาพของพระเยซูได้   แต่พระราชกิจของพระเจ้ายังขับเคลื่อนต่อไปไม่หยุดยั้ง   ความสำเร็จคือการที่ไม่มีพลังใดที่จะต้านวิถีทางพลังแห่งแผ่นดินของพระเจ้าที่มาเป็นจริงบนแผ่นดินโลกนี้ได้

พระคริสต์ทรงเป็นขึ้นจากความตาย   และ คริสตจักรของพระเยซูคริสต์แผ่ขยายออกไป

เป้าหมายความสำเร็จในชีวิตของเราคือการที่เราได้กระทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จในชีวิตวันนี้

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

26 เมษายน 2557

วาทะจากกางเขน...เรากระหายน้ำ

เจ็ดปัจฉิมวาทะของพระคริสต์บนกางเขน

พระ​องค์​จึง​ตรัส​ว่า เรา​กระ​หาย​น้ำ
(ยอห์น 19:28 มตฐ.)

ปัจฉิมวาทะที่ห้าคือ   “เรากระหายน้ำ”

แน่นอนว่า พระเยซูกระหายน้ำจริง   ตลอดทั้งคืนถึงรุ่งเช้าพระองค์ถูกนำไปที่ต่างๆ เพื่อพิจารณาคดี   และบนกางเขนท่ามกลางแสงแดดที่แผดร้อน   พระองค์สูญเสียน้ำในร่างกายผ่านทางเหงื่อ   และการสูญเสียเลือดจากบาดแผลที่ถูกตรึง   บนกางเขนนั้นพระองค์พูดว่า   พระองค์กระหายน้ำ   คนที่อยู่ล้อมรอบกางเขนก็เข้าใจว่าพระองค์ต้องการดื่มน้ำ   “พวกเขาจึงเอาฟองน้ำชุบเหล้าองุ่นเปรี้ยวใส่ปลายไม้หุสบ  ชูขึ้นให้ถึงพระโอษฐ์ของพระองค์” (ข้อ 29)   น้ำองุ่นเปรี้ยวเป็นเหล้าราคาถูกที่พวกทหารดื่มกันขณะรอนักโทษที่ถูกตรึงสิ้นใจ (อมต.)

ยอห์นได้บอกกับผู้อ่านว่า   การที่พระเยซูกล่าวเช่นนี้ก็เป็นจริงตามข้อพระคัมภีร์จากพระธรรมสดุดี 69:20-21 ที่กล่าวว่า
20 การ​เยาะ​เย้ย​ทำ​ให้​ใจ​ข้า​พระ​องค์​แตก​สลาย...
ข้า​พระ​องค์​มอง​หา​ความ​เห็นใจ แต่​ก็​ไม่​มี...
21 พวก​เขา​ให้​ของ​ขม​เป็น​อา​หาร​ของ​ข้าพระ​องค์
ให้​น้ำ​ส้ม​สายชู​แก่​ข้า​พระ​องค์​ดื่ม​แก้​กระ​หาย
ในการทนทุกข์เพื่อมนุษยชาติจะได้รับความรอดและชีวิตใหม่   พระเยซูต้องทนทุกข์ด้วยความกระหาย   ในที่นี้หมายถึงความกระหายในด้านร่างกาย   และท่ามกลางสถานการณ์ที่พระองค์ถูกทอดทิ้ง   ชีวิตฉีกขาด  หัวใจและจิตวิญญาณแตกสลาย   ไม่มีใครสนใจเพราะทุกคนกำลังคิดว่าที่พระองค์ต้องทนทุกข์เช่นนี้เพราะได้กระทำความบาปผิด

ในภาวะที่พระองค์ต้องอดทนเหนือที่จะบรรยายได้นั้น   พลังความอดทนบนกางเขนนั้นไม่ได้มาจากความอดทนและกำลังของพระองค์เอง   ไม่ได้ต้องการพลังจากคนใกล้ชิดมาให้กำลังใจ    แต่พระองค์กระหาย...   พระองค์กระหายหาพระเจ้า   ท่ามกลางความตายที่กำลังคืบคลานเข้ามาใกล้ทุกที   พระเยซูกระหายหาที่จะได้เห็นพระพักตร์พระเจ้า   พระองค์ผู้ทรงเป็นแหล่งแห่งชีวิต   และนี่เองที่เป็นพลังแห่งความอดทนในชีวิตสำหรับพระเยซูคริสต์ที่สายป่านชีวิตใกล้จะขาดสะบั้นลง    ทำให้ระลึกถึงพระธรรมสดุดี 42:1-2 ที่ว่า
1 กวาง​กระ​เสือก​กระ​สน​หา​ธาร​น้ำ​ฉัน​ใด
ข้า​แต่​พระ​เจ้า จิต​ใจ​ข้า​พระ​องค์​ก็​กระ​เสือก​กระ​สน​หา​พระ​องค์​ฉัน​นั้น
2 จิต​ใจ​ข้า​พระ​องค์​กระ​หาย​หา​พระ​เจ้า
หา​พระ​เจ้า​ผู้​ทรง​พระ​ชนม์
เมื่อ​ไร​ข้า​พระ​องค์​จะ​ได้​มา​เห็น​พระ​พักตร์​พระ​เจ้า?  (มตฐ.)

ผู้ที่ถวายชีวิตจิตวิญญาณแด่องค์พระผู้เป็นเจ้า   เพื่อที่จะมีชีวิตที่เป็นไปตามพระประสงค์ของพระเจ้า   แน่นอนว่าจะต้องพบกับการต่อต้าน การต่อสู้  พบกับความทุกข์ลักษณะต่างๆ ในชีวิต   แต่ผู้นำจะสามารถผจญสิ่งร้ายรุนแรงเหล่านั้นได้   มิใช่มีเพียงความเข้มแข็งทางจิตใจเท่านั้น   แต่เขาต้องพึ่งพลังแห่งชีวิตจากพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่   เขาสามารถก้าวไปวันต่อวันด้วยการเห็นพระพักตร์ของพระเจ้า   เห็นการทรงนำของพระองค์  ก้าวเดินไปด้วยความไว้วางใจในองค์พระผู้เป็นเจ้า  ไม่ว่าจะผ่านพบสถานการณ์ชีวิตเช่นไรก็ตาม

ผู้ซึ่งเป็นผู้กล้าหาญต่อสู้ความลำบาก
ผู้นั้นต้องฝากชีวิตติดตามพระอาจารย์
ความทุกข์ท้อแท้ไม่ทำให้เขาอ่อนใจได้นาน
ตั้งใจแน่วแน่จะเป็นจาริกผู้แกล้วกล้า 
(เพลงไทยนมัสการ 160   เนื้อเพลง จอห์น บันยัน)


สัจจะความจริงจากกางเขนของพระคริสต์ชี้ชัดว่า   ใครก็ตามที่เลือกเดินบนวิถีแห่งกางเขนของพระคริสต์   คนนั้นจะอดทนได้ถึงที่สุดก็ด้วยพระกำลังจากพระเจ้า   คนๆ นั้นต้องกระหายหาพระองค์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

23 เมษายน 2557

วาทะจากกางเขน...ทำไมพระองค์ทอดทิ้งข้าพระองค์

เจ็ดปัจฉิมวาทะของพระคริสต์บนกางเขน

พอ​ถึง​บ่าย​สาม​โมง
พระ​เยซู​ก็​ทรง​ร้อง​เสียง​ดัง​ว่า  เอโลอี เอโลอี ลามา สะบัก​ธานี” 
แปลว่า  พระเจ้า​ของ​ข้า​พระ​องค์ พระ​เจ้า​ของ​ข้า​พระ​องค์
ทำ​ไม​พระ​องค์​ทรง​ทอด​ทิ้ง​ข้า​พระ​องค์?”
(มาระโก 15:34 มตฐ.)

ปัจฉิมวาทะจากกางเขนที่สี่คือ “พระเจ้าของข้าพระองค์...ทำไมพระองค์ทรงทอดทิ้งข้าพระองค์?”
พระเยซูร้องเสียงดัง  จากเนื้อหาของสดุดี 22:1-2  ว่า
 พระ​เจ้า​ข้า พระ​เจ้า​ข้า  ไฉน​ทรง​ทอด​ทิ้ง​ข้า​พระ​องค์​เสีย?...
 (สดุดี 22:1 มตฐ.)

วิถีแห่งกางเขนเป็นเส้นทางชีวิตที่สวนต้านกระแสนิยมแห่งโลกนี้   ชีวิตของคนในโลกนี้ไม่ต้องการมีชีวิตที่ทุกข์ยากลำบาก   ไม่ต้องการมีชีวิตที่ต้องเจ็บปวด   ไม่ต้องการมีชีวิตที่มีความเครียด   และมนุษย์หลายต่อหลายคนไม่ต้องการพบกับความตาย

บนกางเขนของพระเยซูคริสต์ได้สะท้อนสัจจะความจริงถึงพันธกิจแห่งการรับใช้ตามพระประสงค์ของพระเจ้าบนวิถีแห่งกางเขนนี้คือ   ความทุกข์ยากลำบาก   ความเจ็บปวด   ความสิ้นหวัง  ความเครียดสุดๆ ในชีวิตที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ยอมจำนนต่อพระเจ้า   เมื่อใครที่มอบกายถวายชีวิตจิตวิญญาณของตนให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์   การได้รับความทุกข์  ก็เป็นการทนทุกข์ด้วยความเต็มใจ   จึงเป็นคุณลักษณะหนึ่งของชีวิตที่มอบถวายให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระเจ้า

ทำให้เราระลึกถึงพระเยซูคริสต์อธิษฐานต่อพระบิดาที่สวนเก็ธเสมนี    ในขณะที่พระองค์ขอให้สาวกของพระองค์เฝ้าอธิษฐานในเวลาวิกฤติแห่งชีวิต   แต่สาวกคนสนิทกลับหลับใหลไม่ได้สติ   ในคืนนั้นจิตใจของพระองค์ว้าวุ่นหาความสงบไม่ได้   ตอนหนึ่งในคำอธิษฐาน พระองค์ทูลขอต่อพระบิดาว่า  “...ข้า​แต่​พระ​บิดา ถ้า​พระ​องค์​พอ​พระ​ทัย ขอ​ให้​ถ้วย​นี้​เลื่อน​พ้น​ไป​จาก​ข้า​พระ​องค์...” (ลูกา 22:42 มตฐ.)   ลูกาได้บรรยายถึงสภาพชีวิต อารมณ์ ความรู้สึกของพระเยซูในเวลาวิกฤตินั้นอย่างชัดเจนว่า  “เมื่อ​พระ​องค์​ทรง​เป็น​ทุกข์ พระ​องค์​ก็​ยิ่ง​ทรง​อธิษ​ฐาน​อย่าง​จริง​จัง  เหงื่อ​ของ​พระ​องค์​เป็น​เหมือน​โล​หิต​เม็ด​ใหญ่​ไหล​หยด​ลง​ถึง​ดิน” (ข้อ 44)   พระเยซูทรงทุกข์และหมดแรงขนาดไหน?  ขนาดที่ลูกาเขียนว่า   “มี​ทูต​องค์​หนึ่ง​จาก​ฟ้า​สวรรค์​มา​ปรา​กฏ​ต่อ​พระ​องค์​และ​ช่วย​ชู​กำ​ลัง​พระ​องค์” (ข้อ 43)

ในเวลาเดียวกันหมอลูกาได้บันทึกไว้ด้วยเช่นกันว่า   ทำไมพวกสาวกคนสนิทของพระเยซูถึงหลับใหลไม่ได้สติ   ท่านเขียนไว้ว่า  “...​พวก​เขา​หลับ​ไป​ด้วย​ความ​ทุกข์​โศก​เศร้า” (ข้อ 45)  

พวกเขาคงรู้สึกผิดหวัง   คนที่เขาคิดว่าเป็นพระมาซีฮาที่จะมาช่วยกอบกู้เอกราชของพวกเขาตอนนี้กำลังถูกต่อต้านอย่างหนักทั้งจากผู้นำของศาสนายิว   นักการเมืองยิวที่ขายตัวเป็นสมุนรับใช้เผด็จการโรมัน   อีกทั้งพวกฟาริสีที่ประนามหยามเหยียดว่า พระเยซูเป็นคนบาป   กินอยู่กับคนบาป  คบหาสมาคมกับหญิงชั่ว   เข้าไปในบ้านของพวกเก็บภาษีที่กดขี่รีดภาษีจากคนยิวด้วยกัน   อีกทั้งยังไปพูดคุยกับหญิงสะมาเรียคนเลือดผสมไม่บริสุทธิ์

พวกเขาอุตส่าห์ ละทิ้งหน้าที่การงานอาชีพ   ใช้เวลาส่วนใหญ่กับการติดตามพระเยซูไปที่ต่างๆ ในเวลาสามปีที่ผ่าน   และในที่สุดจะต้องมาจบลงด้วยการจนมุมเช่นนี้หรือ?   ไม่เห็นว่าพระเยซูจะมีกองกำลังที่จะมาสู้กับพวกทหารโรมัน   พวกกบฏใต้ดินกลุ่มแล้วกลุ่มเล่ามาติดต่อให้พระองค์ไปเป็นผู้นำกองกำลัง   แต่พระองค์กลับปฏิเสธ   ในที่สุดคนที่เขาคิดว่าเป็นพระมาซีฮาก็ล้มเหลวอีกเช่นเคย!

จึงไม่น่าแปลกใจว่า   ทำไมสาวกทิ้งพระเยซูไปอย่างไม่เห็นฝุ่น   เปโตรที่กล่าวแข็งขันมั่นเหมาะว่าพร้อมตายกับพระคริสต์  ก็ปฏิเสธการเป็นสาวกของพระองค์  และยังบอกว่าไม่เคยคบหารู้จักกับพระองค์   นอกนั้นหายหัวไปไหนหมดไม่รู้   มีเพียงสาวกคนที่พระองค์ทรงรักเท่านั้น   ที่ไปยืนอยู่ห่างๆ ใต้กางเขนร่วมกับกลุ่มผู้หญิงที่ติดตามพระองค์   มารีย์มารดาและน้าสาวของพระเยซู   มารีย์มักดาลา   มารีย์ภรรยาของเคลโอปัส  

เราท่านคงไม่ปฏิเสธว่า   พระเยซูทรงทุกข์อกทุกข์ใจ  สุดแสนเจ็บปวดร่างกายจากการถูกตรึง  บาดแผลครั้งนี้บาดลึกลงถึงจิตวิญญาณ   ถึงขนาดที่ร้องด้วยเสียงดังว่า   “พระเจ้าของข้าพระองค์...ทำไมพระองค์ทรงทอดทิ้งข้าพระองค์”  

ในการรับใช้พระเจ้าของพระเยซูคริสต์   พระองค์ต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตกาลในชีวิตครั้งแล้วครั้งเล่า   และเมื่อถึงครั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต   พระองค์ปรึกษากับพระเจ้าว่า   จะไม่รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัสนี้ได้ไหม?   แต่พระองค์ตามด้วยวาทะทองของพระองค์  “...แต่​อย่าง​ไร​ก็​ดี อย่า​ให้​เป็น​ไป​ตาม​ใจ​ข้า​พระ​องค์ แต่​ให้​เป็น​ไป​ตาม​พระ​ทัย​ของ​พระ​องค์ (ลูกา 22:42 มตฐ.)  

ใช่แล้วครับ   การที่ใครคนใดคนหนึ่งมอบกายถวายชีวิตแด่พระเจ้า   เขาคนนั้นมิใช่ทำตามใจตนเอง   แต่ทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้า   และการทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้านั้นรวมถึงชีวิตที่ทุกข์ทนยากลำบาก   ว้าเหว่  โดดเดี่ยว  ถูกทอดทิ้งแม้แต่จากคนสนิท  และจะต้องมอบชีวิตให้อยู่ในพระหัตถ์ของพระเจ้าด้วย

อิสยาห์กล่าวถึงผู้รับใช้ที่ทนทุกข์ไว้ว่า 
“ท่าน​ถูก​ดู​หมิ่น​และ​ถูก​ทอด​ทิ้ง
เป็น​คน​ที่​รับ​ความ​เจ็บ​ปวด และ​คุ้น​เคย​กับ​ความ​ทุกข์​ยาก
และ​เป็น​ดั่ง​ผู้​ซึ่ง​คน​ทั้ง​หลาย​หัน​หน้า​หนี
ท่าน​ถูก​ดู​หมิ่น และ​เรา​ไม่​ได้​นับ​ถือ​ท่าน...”
(อิสยาห์ 53:3…มตฐ.)

ความเครียด  ความทุกข์ยากลำบาก  เป็นขั้นตอนหนึ่งที่นำไปสู่การพลิกฟื้นชีวิตใหม่  ความหวังใหม่  ความสำเร็จ   เหมือนกับการที่จะได้ทารกแม่ต้องตั้งครรภ์   บางคนต้องแพ้ท้อง   เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายในตัวของแม่   และเมื่อถึงเวลาคลอดบุตร  ต้องทนเจ็บ  แล้วเบ่งลูกออกด้วยสุดแรงเกิด   แต่เมื่อได้อุ้มทารกน้อยชีวิตใหม่ในอ้อมอก   ความเจ็บปวดเหล่านั้นกลับอันตรธานหายไป   มีแต่ความปีติชื่นชนและความสุข

ชีวิตบนวิถีทางแห่งสาวกของพระคริสต์เราหลีกหนีไม่พ้นที่ต้องได้รับความ เครียด  ปวดร้าวในชีวิต  ทุกข์ทนอย่างไม่เป็นธรรม   บนเส้นทางนั้นแม้เราจะรู้สึกว่าพระเจ้าช่างอยู่ห่างไกลจากเราเหลือเกิน   แต่ในความเป็นจริงพระองค์ทรงอยู่เคียงข้าง   และทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ในวิกฤติชีวิตของเรา

ถ้าไม่มีกางเขนที่ภูเขากะโหลกศีรษะ  ก็จะไม่มีการเป็นขึ้นจากความตาย
ถ้าไม่มีการเป็นขึ้นจากความตายของพระคริสต์   ก็ไม่มีความเชื่อแบบคริสตชน
ถ้าไม่มีความเชื่อแบบคริสตชน  ก็ไม่มีชุมชนคริสตจักร

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

20 เมษายน 2557

วาทะจากกางเขน...นี่คือบุตร-มารดาของท่าน

เจ็ดปัจฉิมวาทะของพระคริสต์บนกางเขน

เมื่อ​พระ​เยซู​ทอด​พระ​เนตร​เห็น​มาร​ดา​ของ​พระ​องค์ และ​สา​วก​คน​ที่​พระ​องค์​ทรง​รัก​ยืน​อยู่​ใกล้​พระ​องค์ จึง​ตรัส​กับมาร​ดา​ของ​พระ​องค์​ว่า หญิง​เอ๋ย นี่​คือ​บุตร​ของ​ท่าน   แล้ว​พระ​องค์​ตรัส​กับ​สา​วก​คน​นั้น​ว่า นี่​คือ​มาร​ดา​ของ​ท่านแล้ว​สา​วก​คน​นั้น​ก็​รับ​มารดา​ของ​พระ​องค์​มา​อยู่​ใน​บ้าน​ของ​ตน​ตั้ง​แต่​เวลา​นั้น (ยอห์น 19:26-27 มตฐ.)

ปัจฉิมวาทะจากกางเขนที่สามคือ    นี่คือบุตรของท่าน  นี่คือมารดาของท่าน

มีผู้ให้ความเห็นว่า  “สาวกคนที่พระองค์ทรงรัก” ในที่นี้หมายถึงยอห์นผู้ที่มีส่วนในการบันทึกพระกิตติคุณฉบับนี้   ท่านได้บันทึกในรายละเอียดตอนนี้ไว้อย่างชัดเจนว่า   เมื่อพระเยซูคริสต์ถูกตรึงที่กางเขน   สาวกและคนสนิทที่ยืนใต้กางเขนในเวลานั้นมีมารดากับน้าสาวของพระองค์   มารีย์ภรรยาของเคลโอปัส   และมารีย์ชาวมักดาลา  พร้อมกับสาวกคนที่พระองค์ทรงรัก (ข้อ 25 มตฐ.)

บนกางเขนของพระคริสต์มิเพียงแต่อบอุ่นไปด้วยการยกโทษ  ที่เปิดโอกาสใหม่สำหรับชีวิตที่มีพระคริสต์เคียงข้างในทุกที่แล้ว  ที่บนกางเขนยังสำแดงออกถึงความรักและผูกพันแห่งพระคุณของพระเจ้า   ปัจฉิมวาทะที่สามนี้ได้เปลี่ยนภาพลักษณ์ของกางเขนที่เป็นหมายสำคัญที่เล็งถึงอาชญากร  ให้กลับกลายเป็นเครื่องหมายของพันธกร

ณ ที่กางเขนของพระคริสต์  พระองค์ได้สำแดงพระคุณแห่งความรักและผูกพันของพระองค์ต่อมารดาของพระองค์   และทรงมอบหมายพันธกิจแห่งการรักและผูกพันให้สาวกคนใกล้ชิดที่ติดตามพระองค์ไปในทุกที่ทุกสถานการณ์ให้รับช่วงพันธกิจดังกล่าวต่อจากพระองค์

“นี่คือบุตรของท่าน”   “นี่คือมารดาของท่าน”   นี่คือพันธกิจแห่งกางเขนที่พระคริสต์ทรงมอบหมายให้เราท่านแต่ละคนรับช่วงต่อพันธกิจจากพระองค์

พันธกิจแห่งกางเขนเป็นพันธกิจแห่งความรักผูกพันกันและกัน

ความผูกพันใดที่จะลึกซึ้งและมีพลังยิ่งใหญ่ไปกว่าความผูกพันระหว่างแม่กับลูก

ในช่วงเวลาใต้กางเขนของพระเยซูคริสต์นั้น   มารีย์มารดาของพระองค์คงระลึกถึงคำกล่าวของสิเมโอนที่กล่าวแก่เธอเมื่อนำทารกเข้าไปในพระวิหารว่า  “...ถึงหัวใจของท่านเองจะถูกดาบแทงทะลุด้วย” (ลูกา 2:35 มตฐ.)   ใช่แล้ว   ในช่วงนาทีต่อนาทีเมื่อยืนใต้กางเขนของพระเยซูคริสต์   คือเวลาแห่งความเจ็บปวด   นอกจากการที่นางต้องสูญเสียบุตรชายหัวปีของนางแล้ว   ยังต้องมารับรู้ถึงความเจ็บและการทรมานแสนสาหัสของลูกชายอีกด้วย

แต่ด้วยพระคุณแห่งความรักและผูกพันจากพระเยซูคริสต์บนกางเขนนั้น   ที่ทำให้เธอสามารถทนรับความเจ็บปวดและความทุกข์สาหัสในเวลาเช่นนั้นได้

ที่กางเขนของพระคริสต์  พระองค์ทรงส่งมอบพันธกิจแห่งความรักและผูกพันให้สาวกและคนสนิทใกล้ชิดของพระองค์ สืบสานพระราชกิจต่อจากพระองค์   ให้เป็นชุมชนแห่งการเอาใส่ใจกันและกัน   เป็นชุมชนแห่งการเยียวยารักษาบาดแผลชีวิตของกันและกัน   เป็นชุมชนที่ได้รับการผูกพันให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันด้วยความรักเมตตาและเสียสละของพระคริสต์   ด้วยพันธกิจแห่งความรักและผูกพันนี้ที่พระคริสต์บนกางเขนส่งทอดผ่านมายังมารดาและสาวกที่พระองค์ทรงรักได้สืบสานส่งต่อมายังชุมชนคริสตจักรของเราในปัจจุบัน   

สัจจะความจริงในพันธกิจนี้ที่เราต้องมองอย่างครบรอบด้านคือ   พันธกิจแห่งความรักผูกพันนี้มิใช่ชีวิตที่หวานชื่นอย่างเดียว   แต่เป็นชีวิตที่ต้องเจ็บปวดเพื่อกันและกันด้วย   เป็นการยอมรับความเจ็บปวดเพื่อคนอื่น   เป็นบาดแผลและความเจ็บปวดที่เราเต็มใจรับเพราะเรารักและผูกพันกับชีวิตของผู้คนเหล่านั้น   เป็นบาดแผลและความเจ็บปวดในชีวิตที่เราตั้งใจและเต็มใจยอมรับ   เฉกเช่น มารีย์มารดาของพระองค์ตั้งใจและเต็มใจไปยืนเคียงข้างเหตุร้ายที่สุดแสนทรมานและเจ็บปวดที่ใต้กางเขนบุตรชายของเธอ

เมื่อคริสตชนยอมรับสืบสานพันธกิจแห่งความรักและผูกพันจากพระคริสต์บนกางเขนที่กะโหลกศีรษะ   ยอมรับบาดแผลชีวิตและความเจ็บปวดจากการทำพันธกิจ   สิ่งที่คริสตชนจะต้องกระทำตามแบบอย่างของพระคริสต์บนกางเขนคือ   การยอมยกโทษเพื่อนมนุษย์อย่างไม่มีเงื่อนไข   และ ขับเคลื่อนพันธกิจของพระคริสต์ไปด้วยพระกำลังของพระคริสต์ที่เคียงข้างเราไปในทุกหนแห่ง

เราไม่สามารถทำพันธกิจจากกางเขนของพระคริสต์ด้วยความสามารถ  กำลัง และความอดทนของเราเองได้   แต่ที่เราขับเคลื่อนทำพันธกิจรักและผูกพันได้นั้นเพราะกางเขนของพระคริสต์เปลี่ยนแปลงชีวิตของเรา   พระกำลังของพระองค์อยู่เคียงข้างเราในทุกสถานการณ์ต่างหาก   เราจึงสามารถสืบสานพันธกิจรักและผูกพันสืบต่อจากพระคริสต์ 

ขอพระเจ้าโปรดประทานความตั้งใจ  และกำลังความกล้าหาญ เฉกเช่น
มารีย์มารดาพระเยซู และ น้าสาวของพระองค์
มารีย์ภรรยาของเคลโอปัส  และ
มารีย์ชาวมักดาลา
ที่กล้ายืนใต้กางเขนท่ามกลางสถานการณ์ที่แสนสับสน  แปรปรวน  และเจ็บปวดด้วยความอดทน
แล้วน้อมรับเอาพันธกิจแห่งความผูกพันให้เราสืบสานรับผิดชอบต่อจากพระองค์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

วาทะจากกางเขน...วันนี้ท่านอยู่กับเรา

เจ็ดปัจฉิมวาทะของพระคริสต์บนกางเขน

พระ​เยซู​ทรง​ตอบ​เขา​ว่า
เรา​บอก​ความ​จริง​กับ​ท่าน​ว่า วัน​นี้​ท่าน​จะ​อยู่​กับ​เรา​ใน​เมือง​บรม​สุข​เกษม
(ลูกา 23:43 มตฐ.)

ปัจฉิมวาทะที่สองจากกางเขนคือ  “...วันนี้ท่านอยู่กับเราในเมืองบรมสุขเกษม”

พระเยซูคริสต์ถูกตรึงกางเขนที่ภูเขากะโหลกศีรษะที่ถูกขนาบด้วยอาชญากร 2 คน

ผู้นำศาสนายิวและนักการเมืองท้องถิ่นเยาะเย้ยพระองค์   และพวกทหารโรมันก็เย้ยหยันพระองค์ด้วย

ยิ่งกว่านั้น  ยังเขียนป้ายประจานติดบนกางเขนว่า “คนนี้เป็นกษัตริย์ของพวกยิว”

อาชญากรหนึ่งในสองคนที่ถูกตรึงพร้อมกับพระเยซูคริสต์ก็ร่วมวงถล่มท้าทายพระเยซูด้วยเช่นกันว่า   “เจ้าเป็นพระคริสต์มิใช่หรือ?   จงช่วยตนเองกับเราทั้งสองให้รอดเถิด” (ข้อ 37)  เขาท้าทายพระเยซูคริสต์ให้พิสูจน์ความเป็นพระผู้ช่วยให้รอดให้เขาเองได้เห็นได้รับผลประโยชน์ก่อนซิ   แล้วเขาจะเชื่อ   แท้จริงแล้วอาชญากรคนนี้ก็มีความเชื่อเหมือนคริสตชนในปัจจุบันหลายๆ คน   เขาวางรากฐานความเชื่อบนผลประโยชน์ที่เขาจะได้รับ!  

วิธีคิดแบบประชานิยมก็ลอกเลียนแบบคิดจากอาชญากรคนนี้แหละ!

อาชญากรอีกคนหนึ่งกล่าวกับเพื่อนอาชญากรของตนว่า  “...เราทั้งสองก็สมควรกับโทษนั้นจริง   เพราะเราได้รับผลสมกับการกระทำ   แต่ท่านผู้นี้ไม่ได้ทำผิดอะไรเลย” (ข้อ 41)  เขากล่าวจากจิตสำนึกผิดชอบที่มีในคนทั่วไป   แต่การคิดถึงความรอดแบบประโยชน์นิยมก่อนเป็นจิตสำนึกที่ต่ำด้อยกว่าจิตสำนึกของคนธรรมดาทั่วไป   เพราะแม้แต่โจรหรืออาชญากรยังมีจิตสำนึกผิดชอบได้

ในพระคัมภีร์ไม่มีที่ใดที่บันทึกว่า อาชญากรคนที่สองนี้มีโอกาสได้ฟังคำสอน หรือ หรือสัมผัสกับการอัศจรรย์ของพระเยซูคริสต์ก่อนหน้านี้    แต่เขาอาจจะได้ยินหรือติดตามข่าวคราวชีวิตและพระราชกิจของพระเยซูคริสต์ก็ได้   ความหวังของเขามิใช่ความรอดที่เขาอยากได้ในเวลาที่กำลังจะต้องตายบนกางเขน  

แต่ความหวังของเขากลับขอเพียงได้รับพระเมตตาจากพระคริสต์เพียงโปรดระลึกถึงเขาด้วย

เพราะเขารู้อยู่เต็มอกว่า   เขาไม่คู่ควรที่จะได้รับความรอด  แต่เขาคู่ควรกับผลที่เขาได้กระทำลงไป

ดังนั้น   สิ่งที่เป็นความหวังของเขาคือ   ขอเพียงพระเยซูคริสต์ทรงระลึกถึงเขาเมื่อพระองค์เสด็จเข้าไปในแผ่นดินของพระองค์ (ข้อ 42)   ความหวังของเขามิได้วางบนรากฐานแห่งผลประโยชน์ที่เขาต้องการได้รับ   แต่ตั้งบนรากฐานในพระคุณเมตตาของพระคริสต์ต่างหาก  

และนี่คือหัวใจของกางเขนพระคริสต์  ว่าเป็นพระคุณจากพระคริสต์ที่ทรงประทานแก่มนุษย์เพราะความรักเมตตา กรุณาและเสียสละของพระองค์   ที่พระองค์ประสงค์ช่วยให้เราหลุดรอดออกจากอำนาจแห่งความบาปชั่ว

พระคุณของพระเจ้ามิใช่เพราะพระเจ้าให้ในสิ่งที่เราต้องการเท่านั้น

พระคุณของพระเจ้านั้นให้แก่เราอย่างไร้เงื่อนไข   ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเรารู้สึกว่าตนเองผิดต่อพระองค์หรือไม่   ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเรารับบัพติสมาแล้วหรือยัง    ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเราว่ารับบัพติสมาแบบพรมหรือจุ่ม   ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความรู้สึกของเราเอง   แต่พระคุณของพระเจ้าเป็นน้ำพระทัยของพระคริสต์ที่ทรงหยิบยื่นแก่เราด้วยพระทัยเมตตา   พระองค์ทรงหยิบยื่นและประทานสิ่งที่ดีที่สุดของพระองค์แก่เรา 

โจรคนนั้น ไม่มีความหวังอื่นใดในชีวิตอีกแล้ว   เขาจึงหวังเพียงพระเมตตาจากพระคริสต์  ขอทรงระลึกถึงเขา เมื่อพระคริสต์เข้าในแผ่นดินของพระองค์   คุณค่าในชีวิตของโจรคนนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่ตนมีตนเป็นอยู่   แต่คุณค่าสูงสุดในชีวิตของเขาคือ  พระคริสต์ทรงระลึกถึงเขา

แต่พระคุณของพระคริสต์ที่ให้แก่อาชญากรคนนี้มากกว่าระลึกถึงเขาเท่านั้น   แต่กลับให้พระสัญญาว่า  เขาจะได้อยู่กับพระองค์ในเมืองบรมสุขเกษม (ข้อ 43 มตฐ.)   พระเยซูคริสต์มิได้ไถ่ถอนให้เราหลุดรอดออกจากอำนาจแห่งความบาปชั่วเท่านั้น   แต่พระองค์สัญญาว่าเราจะได้อยู่กับพระองค์ในทุกหนแห่ง

คำว่า เมืองบรมสุขเกษม แปลจากต้นฉบับภาษากรีกคำว่า  paradeisos มีความหมายตามตัวอักษรว่า “สวน”   พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมในภาษากรีก (เซปตัวยินต์)ใช้คำเดียวกันนี้เมื่อกล่าวถึงสวนเอเดน   ในสมัยของพระเยซูคริสต์ใช้คำนี้เกี่ยวกับเมืองสวรรค์   และยังมีความหมายถึงการทรงพลิกฟื้นและทรงสร้างสรรพสิ่งที่ทรงสร้างเดิมนั้นขึ้นใหม่

ความรอดของคริสตชนหยั่งรากบนรากฐานในพระคุณของพระเยซูคริสต์  พึ่งพิงในความรักเมตตา และ การเสียสละของพระองค์   ชีวิตที่ได้รับพระคุณของพระคริสต์จึงมิใช่ตราประทับว่า “เรารอดแล้ว” เท่านั้น   แต่พระคริสต์ทรงช่วยให้เราได้อยู่ร่วมกับพระองค์ในทุกที่ที่พระองค์อยู่   ยิ่งกว่านั้นเราร่วมรับใช้ ในพระราชกิจแห่งการพลิกฟื้นคืนชีวิตแก่สรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างขึ้นใหม่   ในสวนเอเดนใหม่ของพระคริสต์

สิ่งที่น่ากลัวสำหรับคริสตชนในปัจจุบันคือ   ได้รับความรอดแต่ชีวิตไม่ได้อยู่ด้วยกับพระคริสต์!

ขอโทษครับ... พระเยซูมาพักอยู่กับท่านหรือเปล่าครับ?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

วาทะจากกางเขน...ยกโทษพวกเขา

เจ็ดปัจฉิมวาทะของพระคริสต์บนกางเขน

พระ​เยซู​ตรัส​ว่า
พระ​บิดา​เจ้า​ข้า ขอ​ทรง​ยก​โทษ​พวก​เขา​เพราะ​เขา​ไม่​รู้​ว่า​กำ​ลัง​ทำ​อะไร...
(ลูกา 23:34 มตฐ.)

ปัจฉิมวาทะแรกของพระคริสต์จากกางเขนคือ  การยกโทษ   ซึ่งเป็นหัวใจแห่งกางเขนของพระคริสต์

พระเยซูคริสต์ทรงสอนสาวกให้อธิษฐาน   และเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งของการอธิษฐานคือ   การยกโทษ   และพระองค์ทรงสอนถึงการยกโทษที่พระบิดาทรงเมตตาและยกโทษเราด้วยการที่พระองค์ทรงกระทำเป็นแบบอย่าง   ดังนั้น  เราทุกคนพึงยกโทษแก่คนที่กระทำผิดต่อเรา   การยกโทษที่พระคริสต์ทรงสอนเป็นการยกโทษที่ไม่มีเงื่อนไข    กระบวนการยกโทษเริ่มต้นที่ผู้ให้การยกโทษที่สร้างผลกระทบต่อชีวิตอย่างมหาศาลของผู้ที่ได้รับการยกโทษ

บนภูเขากะโหลกศีรษะ   พระเยซูคริสต์ทรงกระทำสิ่งที่พระองค์ทรงสอนสาวก   พระองค์อธิษฐานขอพระบิดาโปรดเมตตายกโทษทั้งกลุ่มผู้นำศาสนายิว   ผู้ปกครองจากโรม และ ผู้ปกครองท้องถิ่น   ตลอดจนพวกทหารโรมันที่ตรึงพระองค์บนกางเขน

การยกโทษแบบพระคริสต์ที่ไร้เงื่อนไข   เป็นการยกโทษด้วยจิตใจที่รัก เมตตา และเสียสละของพระองค์  ยกโทษแม้แต่ศัตรูที่มุ่งร้ายทำลายชีวิตของพระองค์   และบนกางเขนพระองค์ทรงกระทำสิ่งที่พระองค์ทรงสอนที่ว่า “แต่​เรา​บอก​พวก​ท่านว่า จง​รัก​ศัตรู​ของ​ท่าน และ​จง​อธิษฐาน​เพื่อ​บรรดาคน​ที่​ข่ม​เหง​พวก​ท่าน” (มัทธิว 5:44 มตฐ.)  

บ่อยครั้ง   เรามักจะยอมยกโทษแก่คนที่สำนึกว่าตนเองได้กระทำผิด   แต่หลายครั้งเป็นการยากที่เราจะยกโทษแก่คนที่ไม่ยอมสำนึกว่าตนเองได้ทำผิด   แต่ในคำอธิษฐานบนกางเขนของพระเยซูคริสต์พระองค์ทูลขอพระบิดาโปรดยกโทษคนที่ตรึงพระองค์ “เพราะเขาไม่รู้ว่ากำลังทำอะไร”  

มิเพียงแต่ไม่สำนึกว่าตนทำผิดเท่านั้น   แต่เขาไม่รูว่าเขากำลังทำผิด!

พวกผู้นำศาสนายิวที่สุมหัวกันหาทางกำจัดพระเยซูคริสต์   เขาไม่ได้คิดว่าเขากำลังก่ออาชญากรรม   แต่เขากลับคิดว่าเขากำลังกำจัดพระเยซูคริสต์เพื่อปกป้องศาสนายิว   เพื่อปกป้องมิให้มีใครมาทำตัวเสมอเทียบเท่าพระเจ้าที่พวกเขาเคารพบูชา

ลึกๆ แล้วพวกเขากำลังปกป้องคุณค่า และ ความมั่นคงในสิ่งที่พวกเขาเคารพบูชา   เขากำลังปกป้องตัวเขา

พวกผู้ปกครองจากโรมยอมให้ผู้นำศาสนายิวนำพระเยซูคริสต์ไปตรึงกางเขน   ทั้งๆ ที่รู้ว่าพระเยซูมิได้กระทำความผิดใดๆ   เพราะไม่ต้องการให้เกิดความไม่สงบ   จึงยอมปล่อยให้พวกผู้นำศาสนายิวทำตามใจต้องการ   “เพราะ​ท่าน(ปีลาต)​รู้​แล้ว​ว่า​พวก​เขา​มอบ​ตัว​พระ​องค์​ไว้​เพราะ​ความ​อิจฉา” (มัทธิว 27:18 มตฐ.)   “เมื่อ​ปีลาต​เห็น​ว่า​ไม่​ได้​การ มี​แต่​จะ​เกิด​ความ​วุ่น​วาย ท่าน​จึง​เอา​น้ำ​มา​ล้าง​มือต่อ​หน้า​ฝูง​ชน แล้ว​กล่าว​ว่า เรา​ไม่​มี​ความ​ผิด​เรื่อง​ความ​ตาย​ของ​คน​นี้ พวก​เจ้า​ต้อง​รับ​ผิด​ชอบ​เอา​เอง​เถิด (ข้อ 24)  “ปีลาต​ต้อง​การ​จะ​เอา​ใจ​ฝูง​ชน​จึง​ปล่อย​บารับ​บัส​ให้​แก่​พวก​เขา และ​เมื่อ​ให้​โบย​ตี​พระ​เยซู​แล้ว จึง​มอบ​ให้​พวก​เขา​เอา​ไป​ตรึง​ที่​กาง​เขน” (มาระโก 15:15 มตฐ.)

การที่คนหนึ่งคนใดไม่รู้ตัวว่ากำลังกระทำผิด หรือ ไม่คิดว่าตนทำผิด  จะถือว่าตนเองไม่ได้ทำผิด

แต่หัวใจของพระกิตติคุณคือ  “กางเขนแห่งการอภัยโทษ”   กล่าวคือ ความรักเมตตาที่เสียสละบนกางเขนนี้ยกโทษแก่คนที่มิได้สำนึกว่าตนทำผิด และ คนที่ไม่ได้คิดว่าตนทำผิด     แต่เพราะการยกโทษของพระคริสต์ด้วยพระทัยเมตตาและเสียสละอย่างไร้เงื่อนไขนี้เองที่ทำให้คนบาปที่ได้รับการยกโทษกลับสำนึกในพระคุณความรักเมตตาของพระองค์  

การยกโทษของพระคริสต์ต่างหากที่ทำให้คนบาปเกิดความเข้าใจและสำนึกในพระคุณของพระองค์ที่ทรงไถ่ถอนตนให้หลุดรอดออกจากอำนาจแห่งความบาปชั่ว

มิใช่การยอมรับและเข้าใจว่าตนเป็นคนบาปก่อน   ที่ทำให้คนนั้นได้รับการยกโทษบาปจากพระคริสต์   แต่พระคริสต์ทรงยกโทษเขาก่อนต่างหาก   ที่ทำให้เขาได้ซาบซึ้งถึงพระคุณของพระองค์   แล้วจึงยอมรับว่าแท้จริงตนเป็นคนบาป

ชีวิตของเปาโลเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน   เขานำกองกำลังไปเมืองต่างๆ เข่นฆ่าและทำลายขบวนการสาวกพระคริสต์   เพราะเขาตระหนักชัดว่าเป็นหน้าที่ของตนที่จะต้องปกป้องความมั่นคงถูกต้องของศาสนายิวที่เขาเชื่อศรัทธา    เขากำลังทำสิ่งที่ดี   เขากำลังทำพันธกิจของพระเจ้า   เขากำลังปกป้องความสูงส่งศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า   เขากำลังทำสิ่งที่ดีและถูกต้อง    

แต่บนเส้นทางไปดามัสกัสพระคริสต์ทรงปรากฏพระองค์แก่เปาโลด้วยความรักเมตตา   พระเยซูคริสต์ทรงเปิดเผยความจริงและช่วยให้เปาโลเห็นตนเองชัดเจนว่าตนกำลังทำอะไร  เซา​โล เซาโล​เอ๋ย เจ้า​ข่มเหง​เรา​ทำไม?”   เซา​โล​จึง​ทูล​ถาม​ว่า องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า พระ​องค์​เป็น​ใคร?” พระ​องค์​ตรัส​ว่า เรา​คือ​เยซู​ผู้​ที่​เจ้า​ข่ม​เหง   จง​ลุก​ขึ้น​เถิด​และ​เข้า​ไป​ใน​เมือง จะ​มี​คน​บอก​ให้​เจ้า​ทราบ​ว่า​เจ้า​ต้อง​ทำ​อะไร (กิจการ 9:4-6 มตฐ.)

เพราะความรักเมตตาของพระคริสต์   ที่ไม่ได้รอให้เปาโลสำนึกในความผิดของตน   แต่ทรงเปิดเผยความจริงที่ถูกต้องด้วยพระทัยเมตตาต่างหาก    ที่ทำให้ชีวิตของเปาโลเปลี่ยนไปอย่างพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน   เพราะความรักเมตตาของพระคริสต์ที่ทรงยกโทษเขาต่างหากมิใช่หรือที่ทำให้เปาโลมอบกายถวายชีวิตทั้งสิ้นแด่พระองค์   ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ก็เพราะพลังแห่งพระคุณของพระเยซูคริสต์บนกางเขนที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของเปาโลอย่างสิ้นเชิง

เพราะการที่พระคริสต์ทรงยกโทษเราก่อนที่ทำให้เรายอมรับว่าเราตกอยู่ในอำนาจแห่งความผิดบาป    แล้วทรงสำแดงให้เราเห็นความจริงในตัวตนของเรา    ทำให้เราเห็นตัวตนที่แท้จริงของเรา    และยอมจำนนต่อความจริงนั้นและรับการทรงไถ่ถอนให้หลุดรอดออกจากอำนาจชั่วดังกล่าว   เราจึงได้สัมผัสกับพระคุณความรักเมตตาที่เสียสละของพระคริสต์   และด้วยพระคุณนี้เองที่เป็นพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงชีวิตของเรา   และด้วยสำนึกในพระคุณของพระองค์เราจึงยอมมอบกายถวายชีวิตให้ดำเนินไปตามพระประสงค์ของพระองค์

ในสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ปีนี้   ให้เราไตร่ตรองและสำนึกถึงพระคุณแห่งการยกโทษที่ไร้เงื่อนไขของพระคริสต์   ที่เป็นการช่วยปลดปล่อยให้เราหลุดรอดออกจากอำนาจแห่งความชั่วร้ายในลักษณะต่างๆ ที่เกาะกุมครอบงำชีวิตของเรา   เพื่อเราจะได้เป็นอิสระจากอำนาจบาปชั่วเหล่านั้น    และมีชีวิตที่เป็นไท   ที่เราจะมอบกายถวายชีวิตที่เป็นไปตามพระประสงค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า

“ขณะ​เมื่อ​เรา​ยัง​อ่อน​กำ​ลัง พระ​คริสต์​สิ้น​พระ​ชนม์​เพื่อ​คน​อธรรม​ใน​เวลา​ที่​เหมาะ​สม” (โรม 5:6 มตฐ.)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

11 เมษายน 2557

เราทำงานเพราะเราต้องการทำดี

คน​ที่​เคย​ขโมย​ก็​อย่า​ขโมย​อีก​ต่อ​ไป แต่​จง​ใช้​มือของ​ตน ​ตรากตรำ​ทำ​งาน​ที่​ดี​ดี​กว่า
เพื่อ​จะ​ได้​มี​อะไร​แจก​จ่าย​ให้​คน​ที่​มี​ความ​จำ​เป็น  (เอเฟซัส 4:28)

นอกจากเหตุผลว่า เราทำงานเพราะเราต้องการมีรายได้เพื่อไปเจือจุนรายจ่ายทั้งของตนเองและครอบครัวแล้ว   ในพระคัมภีร์ได้ให้เหตุผลที่ลึกซึ้งกว่านี้คือ   เพราะเราเป็นฝีพระหัตถ์จากการทำงานของพระเจ้า   และที่เราศึกษาก่อนหน้านี้แล้วว่า   เราทำงานเพราะเป็นพระประสงค์ของพระเจ้าที่ทรงสร้างมนุษย์   และที่เราควรทำงานเพราะเป็นหน้าที่ที่พระเจ้าทรงมอบหมายแก่มนุษย์   และการที่เราทำงานเป็นการสืบสานพระราชกิจของพระเจ้าที่ได้ทรงสร้างมนุษย์และสรรพสิ่งทั้งหลาย

พระธรรมเอเฟซัส 4:28 กล่าวไว้ว่า คนที่เคยขโมย  จงใช้มือของตนตรากตรำทำงานที่ดีและมีประโยชน์   เพื่อที่จะมีสิ่งที่มีประโยชน์แบ่งปันแก่คนที่ขัดสนคนที่มีความจำเป็น   ภาษากรีกในพระธรรมข้อนี้วลีที่ว่า  “ใช้มือของตนทำสิ่งที่มีประโยชน์” (อมตธรรม)  แปลความตามความหมายตรงคือ  “การทำงานที่ดีและมีประโยชน์    คำกรีกว่า “agathos” หมายถึง “มีประโยชน์”  ซึ่งอมตธรรมแปลว่า “ทำสิ่งที่มีประโยชน์”   แต่ในเวลาเดียวกันก็มีความหมายว่า “งานที่ดี” ด้วย  ซึ่งในฉบับมาตรฐานแปลว่า “ทำงานที่ดี”   และในเวลาเดียวกัน   ในเอเฟซัส 2:10 พระเจ้าทรงสร้างเราในพระพระเยซูคริสต์  “เพื่อให้ทำการดี”  (agathois)   โรม 8:28 กล่าวถึงพระสัญญาว่า “และเรารู้ว่าในทุกๆ สิ่งที่พระเจ้าทรงทำให้เกิดผลดี (agathon) แก่บรรดาผู้ที่รักพระองค์” (อมตธรรม)   ในพระกิตติคุณมาระโก 10:18 แปลว่า “ประเสริฐ” (หรือ ผู้ดีเลิศ) พระเยซูตรัสว่า “ท่าน​ใช้​คำ​ว่า​ประ​เสริฐ​ทำ​ไมไม่​มี​ใคร​ประ​เสริฐ (agathos ) นอก​จาก​พระ​เจ้า​องค์​เดียว” (ฉบับมาตรฐาน)

บนรากฐานของพระคัมภีร์   การทำงานเป็นการทำสิ่งที่ดีและมีประโยชน์   จึงมีคุณค่าความหมายมากกว่าการทำงานเพื่อมีรายได้เท่านั้น   การทำงานที่ดีมีประโยชน์เป็นการทำงานที่เราเข้ามีส่วนร่วมพระราชกิจที่ดีของพระเจ้า (พระเจ้าทรงเห็นว่าทุกสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างนั้นดี)   ดังนั้น  เมื่อเราทำงานใดๆ เราสามารถทำงานนั้นให้เกิดผลดีมีประโยชน์เพื่อร่วมในความดีของพระเจ้า   เพื่อแบ่งปันแจกในสิ่งดีมีประโยชน์นั้นแก่สังคมโลก

ดังนั้น ถ้าจะถามว่าทำไมเราถึงทำงาน   คำตอบก็คือ   เราต้องการทำดีมีประโยชน์ผ่านการงานที่เราทำและรับผิดชอบ

บางท่านคงคิดถามในใจว่า   แล้วงานที่ไม่ดีไม่มีประโยชน์ล่ะจะว่ายังไง?  แล้วงานที่ทำลงไปแล้วนอกจากจะมิได้เสริมเพิ่มสิ่งดีแก่โลกแล้ว   ยังนำมาซึ่งสิ่งชั่วร้ายแก่โลกเสียอีกล่ะจะว่าอย่างไร?   ตามที่กล่าวแล้วว่า   การทำงานเป็นการที่เราแต่ละคนตอบสนองการทรงเรียกของพระเจ้า   เป็นการทุ่มเทลงมือทำในสิ่งที่พระเจ้าทรงมอบหมายให้เราทำและรับผิดชอบ   ดังนั้น งานที่เราทำในแต่ละวันควรสะท้อนออกถึงพระประสงค์ของพระเจ้าเพื่อสร้างเสริมชีวิตที่พระองค์ทรงสร้าง   พึงเป็นงานที่หนุนเสริมคุณค่าของวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์   เป็นงานที่ก่อเกิดความดีมีประโยชน์ต่อผู้คนโดยส่วนรวมและต่อสรรพสัตว์สรรพสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้าง

แต่เวลาเดียวกันเราต้องไม่ตกหลุมพรางเรื่องการทำงานที่ดีมีประโยชน์   โดยการมองว่าคุณค่าของงานที่ดีขึ้นอยู่กับขนาดใหญ่เล็กของความดีที่กระทำ   พระเจ้าทรงสนพระทัยการกระทำดีที่คุณภาพที่มาจากจากความจริงใจมากกว่า  มิใช่การทำงานดีมีขนาดใหญ่หรือจำนวนมาก   เราคงจำเรื่องหญิงม่ายที่นำเงินไม่กี่สตางค์มาถวายที่พระวิหาร   ถ้าเอาการถวายเชิงปริมาณของนางมาเปรียบเทียบกับการถวายของพวกเศรษฐีที่ถวายเงินมากมายแล้วมันเทียบกันไม่ได้เลย   แต่พระเยซูคริสต์กลับตรัสว่า  หญิงม่ายคนนี้ถวายมากกว่าคนอื่นๆ ทั้งหมด   ทั้งนี้เพราะคนอื่นเอาเงินที่เหลือใช้มาถวายพระเจ้า   ในขณะที่หญิงม่ายคนนี้เอาเงินเลี้ยงชีพทั้งสิ้นของนางถวายไปทั้งหมด (มาระโก 12:43-44)

เมื่อเราทำงานในวันนี้   งานที่ท่านทำอาจจะก่อให้เกิดผลดีมีประโยชน์แก่ชีวิตผู้คนเป็นร้อยเป็นพัน   หรือ  อาจจะเป็นสิ่งดีมีประโยชน์สำหรับคนเพียงน้อยนิด   ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตเพียงหยิบมือเดียว   ไม่เป็นไร   เพราะเราทำงานในวันนี้เรามีโอกาสที่จะทำสิ่งที่ดีมีประโยชน์   และการกระทำงานเช่นนี้เป็นสิ่งที่สำคัญในสายพระเนตรของพระเจ้า   เพราะพระองค์จะรับเอาสิ่งดีมีประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากงานที่ท่านทำในวันนี้   เป็นงานที่ถวายพระเกียรติและเป็นการนมัสการแด่พระองค์

ใคร่ครวญภาวนา

พระเจ้าผู้เปี่ยมด้วยพระเมตตาและพระคุณ
ขอบพระคุณที่ทรงสร้างข้าพระองค์ให้เป็นคนที่มีสมรรถนะความสามารถในการทำงาน
องค์พระผู้เป็นเจ้า   โปรดช่วยข้าพระองค์ได้เห็นถึงคุณค่าและสิ่งดีมีประโยชน์ที่เกิดจากการทำงานวันนี้
ข้าพระองค์ขอน้อมถวายสิ่งดีมีประโยชน์จากการทำงาน
แม้มันจะเล็กน้อยเฉกเช่นเหรียญทองแดงของหญิงม่ายที่ถวายในพระวิหาร
ขอบพระคุณที่ทรงเมตตารับงานที่ข้าพระองค์ทำในวันนี้ให้เป็นการยกย่อง สรรเสริญและนมัสการพระองค์
และให้ข้าพระองค์มีความสุขใจและชื่นชมยินดีจากการทำงานที่ถวายความดีมีประโยชน์แด่พระองค์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

09 เมษายน 2557

ทำไมเราถึงต้องทำงาน?

คน​ที่​เคย​ขโมย​ก็​อย่า​ขโมย​อีก​ต่อ​ไป แต่​จง​ใช้​มือของ​ตน ​ตรากตรำ​ทำ​งาน​ที่​ดี​ดี​กว่า
เพื่อ​จะ​ได้​มี​อะไร​แจก​จ่าย​ให้​คน​ที่​มี​ความ​จำ​เป็น  (เอเฟซัส 4:28)

สำหรับคริสตชนแล้วเรามองว่า   การทำงานต่างๆ นั้นเป็นการทรงเรียกจากพระเจ้าให้เราทำ   ดังนั้นการทำงานใดๆ จึงเป็นการตอบสนองต่อพระประสงค์ของพระเจ้า   ที่สำคัญคือ การทำงานของเราเพื่อที่จะให้เป็นที่ถวายเกียรติแด่พระเจ้า

เมื่อเราพูดถึงเรื่อง “การทำงาน”   เรามิได้หมายความเพียงการทำงานเพื่อให้ได้เงินค่าจ้างเท่านั้น   การที่คุณแม่เปลี่ยนผ้าอ้อมให้ทารกน้อยก็เป็นการทำงาน   การตัดหญ้าสนามหน้าบ้านก็เป็นการทำงาน   การอ่านและศึกษาพระวจนะของพระเจ้าก็เป็นการทำงาน   การอาสารับใช้ในบ้านเด็กกำพร้า  ในบ้านพักคนชราต่างก็เป็นการทำงาน   แม้แต่การเขียนบทความก็เป็นการทำงาน   และอีกมากมายที่เป็นการทำงาน (แม้จะได้เงิน  หรือไม่ได้ค่าจ้างก็ตาม)

พระธรรมเอเฟซัส 4:28 ช่วยให้เรามีโอกาสที่จะใคร่ครวญและสะท้อนคิดถึงการทำงานในชีวิตของเรา   แต่สิ่งแรกที่มักเกิดขึ้นกับคริสตชนเมื่ออ่านพระคัมภีร์ข้อนี้มักคิดหรือมองข้ามพระธรรมข้อนี้   เพราะคิดว่าพระธรรมข้อนี้ไม่เกี่ยวกับตนเอง   เพราะพระคัมภีร์ข้อนี้กล่าวถึงเรื่องการขโมยและตนเองไม่ได้ขโมย  “คน​ที่​เคย​ขโมย​ก็​อย่า​ขโมย​อีก​ต่อ​ไป แต่​จง​ใช้​มือของ​ตน ​ตราก​ตรำ​ทำ​งาน​ที่​ดี​ดี​กว่า เพื่อ​จะ​ได้​มี​อะไร​แจก​จ่าย​ให้​คน​ที่​มี​ความ​จำ​เป็น”   ไม่ใช่เรื่องแปลกที่พระคัมภีร์บอกว่าคนที่ขโมยก็ให้เลิกขโมย   เพราะมีข้อห้ามชัดเจนในพระบัญญัติสิบประการที่ข้อที่ 8 (อพยพ 20:15)   เปาโล เรียกร้องและชักชวนให้คนที่ขโมยให้เลิกเสียแต่ให้เริ่มต้นทำงานแทน   แต่เมื่อเปาโลกล่าวในพระธรรมตอนนี้แท้จริงกำลังกล่าวกับเราคริสตชนทุกคนให้ทำงาน   ไม่ว่าเราจะเคยขโมยหรือไม่ก็ตาม

1. การทำงานเป็นพระประสงค์ของพระเจ้า

ถ้าพิจารณาถึงพระประสงค์แห่งการทรงสร้างของพระเจ้า   พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์เพื่อให้มนุษย์ทำงานในพื้นที่แห่งการทรงสร้างของพระองค์   พระองค์ให้มนุษย์ทำงานเพื่อสืบสานการทรงสร้างต่อจากพระราชกิจแห่งการทรงสร้างของพระองค์,   พระเจ้ามอบหมายให้มนุษย์เป็นผู้ดูแลเอาใจใส่สรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสร้าง,   พระองค์ให้มนุษย์ทำงานในสวนและรับประโยชน์ในการดำรงชีวิตจากผลงานที่ทำนั้น,   และให้มนุษย์ทำงานเพื่อเอื้อให้เกิดการสรรสร้าง และ ให้คุณประโยชน์แก่สรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสร้าง  และ  มนุษย์คนอื่นๆ ที่พระองค์ทรงสร้างด้วย (ดูปฐมกาล บทที่ 2)   และพระเยซูตรัสว่า พระ​บิดา​ของ​เรา​ยัง​ทรง​ทำงาน​อยู่​เรื่อยๆ และ​เรา​ก็​ทำ​ด้วย” (ยอห์น 5:17)

2. แล้วทำไมถึงทำงานหนัก?

ในเอเฟซัส 4:28 ใช้คำว่า “ตรากตรำทำงาน”   หมายความว่า มิใช่การทำงานแบบเรื่อยเฉื่อย  หรือแบบเช้าชามเย็นชาม  ทำงานเพื่อรอรับเงินเดือน   แต่เป็นการทำงานที่ทุ่มเทจริงจังเป็นการทำงานหนัก  เปาโลบอกคริสตชนทุกคนว่าเมื่อทำงานต้องทำงานหนัก “ทำงานตรากตรำ”   ในพระคัมภีร์ฉบับอมตธรรมแปลว่า “จงทำงาน  ใช้มือของตนทำสิ่งที่มีประโยชน์...”   ตามรากศัพท์ของพระคัมภีร์ภาษากรีกมีความหมายว่า “ต้องทำงาน หรือ จงทำงาน” ที่เป็นประโยชน์ด้วยมือของตนเอง”   และยังหมายความว่า มิเพียงแต่เป็นการทำงานที่มีประสิทธิภาพเท่านั้น  แต่ทำงานอย่างหนักอย่างตรากตรำ  ทำงานอย่างทุ่มเท   เพราะในภาษากรีก คำว่า kopiao มีความหมายรวมความถึง จนเหนื่อยอ่อน  ทำงานอย่างออกแรงทุ่มเท  ทำงานอย่างหนัก  ทำงานอย่างตรากตรำฟันฝ่า   เปาโลได้ใช้คำ kopiao เมื่อท่านกล่าวถึงงานที่ท่านทำ  ท่านกล่าวว่า “...ข้าพ​เจ้า​ตราก​ตรำ​มาก​กว่า​พวก​เขา​ทั้ง​หมด ไม่​ใช่​ตัว​ข้าพ​เจ้า​เอง​เป็น​คน​ทำ แต่​เป็น​พระ​คุณ​ของ​พระ​เจ้า​ซึ่ง​อยู่​กับ​ข้าพ​เจ้า​ที่​ทำ” (1โครินธ์ 15:10)  “จง​ยึด​มั่น​ใน​พระ​วจนะ​แห่ง​ชีวิต เพื่อ​ข้าพ​เจ้า​จะ​มี​ความ​ภูมิใจ​ใน​วัน​ของ​พระ​คริสต์​ว่า​ข้าพ​เจ้า​ไม่​ได้​วิ่ง​แข่ง​โดย​เปล่า​ประ​โยชน์ หรือ​ตราก​ตรำ​โดย​เปล่า​ประ​โยชน์” (ฟีลิปปี 2:16)   ไม่ว่าจะเป็นการทำงานงานเพื่อมีรายได้  หรือ  การทำงานรับใช้พระเจ้าในคริสตจักร หรือ ในชุมชนแท้จริงแล้วต่างเป็นงานที่หนัก   ต้องใช้ความมานะอุตสาหะ  อดทน  ทุ่มเทจริงจังทั้งสิ้น   เป็นงานที่เราทำจนเหนื่อยอ่อน   ทั้งในด้านร่างกาย  สมอง  จิตใจ  และจิตวิญญาณที่เราทุ่มเทลงไป

การทำงานเป็นพระประสงค์ของพระเจ้า  และเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบที่พระเจ้าทรงมอบหมายให้เราสืบสานต่อจากพระราชกิจของพระองค์   และพระองค์คาดหวังว่าเมื่อเราทำงานเราจะทำงานด้วยเต็มอกเต็มใจ   เต็มศักยภาพความสามารถที่พระเจ้าทรงประทานแก่เรา   เพื่อที่การทำงานของเราเกิดผลเป็นประโยชน์ที่มิใช่แก่ตนเองเท่านั้นแต่เป็นประโยชน์แก่คนอื่น สังคมชุมชน  และสรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างด้วย

3. การตรากตรำทำงานหนักมิใช่การสาปแช่ง

เป็นความจริงตามที่พระคัมภีร์ได้กล่าวถึงเมื่ออำนาจแห่งความบาปผิดเข้ามาครอบงำในสังคมชุมชนแห่งโลกนี้   ทำให้มนุษย์ต้องทำงานด้วยความทุกข์ยากลำบากและด้วยความเจ็บปวด   แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า   การตรากตรำทำงานหนักเป็นผลของความบาปผิดเสมอไป   มิได้หมายความว่าเราไม่ควรทำงานหนัก หรือปฏิเสธการทำงานหนัก   แต่การทำงานหนักคือการที่เราทุ่มเทเต็มกำลังความคิด จิตใจ และกำลังในงานที่เราทำด้วยความรับผิดชอบที่จะตอบสนองต่อพระประสงค์และสิ่งที่พระเจ้าทรงมอบหมายให้เราในชีวิตนี้   เพื่อให้เกิดผลและเกิดประโยชน์แก่มวลมนุษย์และสรรพสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้าง

4. ตรากตรำทำงานหนักเพื่อนมัสการและถวายเกียรติแด่พระเจ้า

ยิ่งกว่านั้น เปาโลกล่าวถึงการ “ตรากตรำทำงานหนัก”  ก็เพื่อที่เราจะได้ “สวมตัวตนใหม่  ซึ่งพระเจ้าทรงสร้างขึ้นให้เป็นเหมือนพระองค์...”(เอเฟซัส 4:24 อมต.)   ที่พระเจ้าทรงสร้างเราในพระเยซูคริสต์ “เพื่อทำการดีที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้ล่วงหน้าให้เราทำ” (เอเฟซัส 2:10 อมต.)   และการตรากตรำทำงานหนักของเรานั้นมิใช่เพื่อเราจะประสบความสำเร็จในตัวเราเองเท่านั้น   แต่เป็นการที่เราถวายตัวและการงานที่เราทำแด่พระเจ้า   เป็นที่นมัสการ  ถวายบูชาที่พอพระทัยของพระเจ้า   เพื่อเราจะทำงานชีวิตทั้งสิ้นตามพระประสงค์ และ เป็นที่พอพระทัยของพระเจ้า (โรม 12:1-2)

วันนี้ให้เราตรากตรำทำงานหนักเพื่อเป็นการถวายเกียรติ และ เป็นการนมัสการแด่พระเจ้า   เพื่อเป็นการตอบสนองพระประสงค์ของพระองค์ในชีวิตของเรา   ด้วยชีวิตจิตใจที่รักพระองค์ด้วยสุดจิสุดใจ  และสิ้นสุดความคิด   และรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

04 เมษายน 2557

ชั้นเรียนผู้ใหญ่ในคริสตจักร...ต้วมเตี้ยม เตาะแตะ

ความสำเร็จอยู่ที่การจาริกขับเคลื่อนไป
...มิใช่อยู่ที่เป้าหมายที่แน่นิ่ง
สิ่งที่จาริกขับเคลื่อนไปที่สำคัญยิ่งคือความคิดของท่าน
ความล้ำลึกอยู่ที่การเรียนรู้ว่าจะใช้ความคิดนั้นอย่างไร

กล่าวได้ว่า “การเรียนรู้” คือกระบวนการการเปลี่ยนแปลง   ทั้งในด้านความคิด  ความรู้  มุมมอง  ทัศนคติและส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมชีวิต   ซึ่งสังเกตเห็นจากการกระทำต่างๆ ของคนๆ นั้น  

การเริ่มต้นวางแผน ออกแบบ และการกำหนดกระบวนการเรียนรู้ของผู้ใหญ่มีความสำคัญยิ่ง  เพราะผู้เอื้ออำนวยการเรียนรู้จะต้องมีความเข้าใจอย่างตลอดรอดฝั่งถึงการเรียนรู้ของผู้ใหญ่   และกำหนดกระบวนการ กลยุทธ์ในการเอื้ออำนวยการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพเพื่อสามารถตอบสนองต่อการเรียนรู้ของผู้ใหญ่แต่ละคน  ที่เข้าร่วมในกระบวนการเรียนรู้ครั้งนั้นๆ

การเรียนรู้ของผู้ใหญ่นั้นแตกต่างจากเด็ก   เพราะในการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ๆ จะนำเอาเรื่องราวที่ผ่านพบและประสบการณ์ต่างๆ ที่เขาได้ประสบมาตลอดชีวิตที่ยาวนานเข้ามาในกระบวนการเรียนรู้ด้วย   อีกทั้งผู้ใหญ่แต่ละคนที่ร่วมในชั้นเรียนรู้ต่างได้ผ่านสถานการณ์ชีวิตที่แตกต่างกัน    ยิ่งกว่านั้น ผู้ใหญ่แต่ละคนย่อมมีการพัฒนาเสริมสร้างความเข้มแข็งในตนเองมาก่อนแล้ว   และมีชุดประสบการณ์การเรียนรู้ที่สั่งสมจากอดีตครั้งแล้วครั้งเล่า

Malcolm Knowles (1990) ได้กล่าวถึงทฤษฎีการศึกษาผู้ใหญ่ว่าเป็น andragogy เป็นการศึกษาที่เอาผู้ใหญ่เป็นศูนย์กลาง ที่มุ่งการเรียนรู้จากปัญหาที่ผู้ใหญ่เผชิญหรือประสบ   ส่วน Pedagogy เป็นการศึกษาที่มีตัวเด็กผู้เรียนเป็นศูนย์กลางที่มุ่งเน้นการเรียนรู้จากคุณครูเป็นผู้ชี้นำในการศึกษา   และนี่คือความแตกต่างในการศึกษาระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่

ภาพรวมการเรียนรู้ของผู้ใหญ่คือ...
  • มีชุดความรู้และประสบการณ์ที่ฝังในผู้ใหญ่แต่ละตัวคน... ดังนั้นจงใช้ประสบการณ์ให้เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ครั้งใหม่
  • จำเป็นที่ต้องให้ผู้ใหญ่แต่ละคนได้ตรวจสอบข้อมูลต่างๆ จากกรอบคุณค่าและมุมมองด้วยเขาเองแต่ละคน
  • ผู้ใหญ่แต่ละคนมีความรับผิดชอบ... ดังนั้นให้ผู้ใหญ่วางเป้าหมายหมายและแผนการเรียนรู้ของเขา
  • ให้ผู้ใหญ่แต่ละคนตัดสินใจด้วยตนเองว่าอะไรที่เป็นสิ่งสำคัญที่เขาต้องเรียนรู้
  • ทุกเรื่องที่ผู้ใหญ่เรียนรู้ต้องเป็นสิ่งที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทันที
  • ผู้ใหญ่ต้องการมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องเพื่อเกิดการเรียนรู้
  • การเรียนรู้ของผู้ใหญ่ต้องมีการฝึกฝนปฏิบัติและการหนุนเสริมเพิ่มพลัง
  • ผู้ใหญ่ต้องการเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงในสิ่งต่างๆ ที่เขาเรียนรู้
  • การเรียนรู้ของผู้ใหญ่ต้องการการท้าทายและการสะท้อนคิดในสิ่งที่เรียนรู้
  • สิ่งที่ผู้ใหญ่เรียนรู้ต้องเพิ่มพูนพลังแห่งความเข้าใจของเขา
  • ผู้ใหญ่ต้องการรู้สึกมั่นใจในสภาพแวดล้อมของการเรียนรู้


เมื่อหันกลับมาดูชั้นเรียนหรือกลุ่มเล็ก (small group) สำหรับผู้ใหญ่ในคริสตจักรของเราส่วนใหญ่เราเน้นที่การ “เทศนา” “สั่งสอน”  หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง  เรามุ่งเน้นที่จะให้ข้อมูลความรู้เนื้อหาในพระคัมภีร์   แต่ขาดการประยุกต์ใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรมในชีวิตประจำวันของผู้ใหญ่   แม้บางครั้งจะมีการชวนอภิปราย   แต่มักเป็นการอภิปรายความคิดความเห็นในเรื่องในเนื้อหาที่ผู้สอนตั้งประเด็นให้อภิปราย    ขาดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องที่เรียนจากประสบการณ์จริงในชีวิตประจำวันของแต่ละคนที่ร่วมในการเรียนรู้   อีกทั้งขาดการกระตุ้นหนุนเสริมให้ผู้เรียนวางแผนนำไปใช้ในสัปดาห์ที่อยู่ข้างหน้า   เพื่อที่ผู้เรียนแต่ละคนจะได้นำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้ปฏิบัติจริงในการดำเนินชีวิตประจำวันในสัปดาห์ที่จะมาถึง    เพื่อนำเอาประสบการณ์ที่ได้รับจากการนำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้ในครอบครัว  ในที่ทำงาน  ในชุมชน  และในกลุ่มเพื่อนฝูง   แล้วนำประสบการณ์ใหม่กลับมาแบ่งปันกันในกลุ่มเรียนรู้ในสัปดาห์ต่อไป

จำเป็นอย่างยิ่งครับ   ที่จะต้องกลับมาปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ชีวิตคริสตชนสำหรับผู้ใหญ่ในคริสตจักรอย่างจริงจัง   ทั้งบทเรียนที่ใช้   กระบวนการเรียนเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม   ที่มีชีวิตจริงและประสบการณ์ตรงของผู้ใหญ่เป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้   และมีพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เป็นแกนกลางในการเรียนรู้และแสวงหาคุณค่าและความหมายของชีวิตคริสตชน

คุณค่า ความหมาย  และความสำเร็จของชั้นเรียนผู้ใหญ่ในคริสตจักรคือ  การจาริกไปตามพระวจนะของพระเจ้าในชีวิตประจำวันของผู้เรียน   ทั้งในบริบทของครอบครัว   ที่ทำงาน  และการร่วมสังสรรค์กับกลุ่มเพื่อนในแต่ละวัน   เพราะการเรียนรู้ของผู้ใหญ่คือการที่เขามีโอกาสได้ลงมือทำในสิ่งที่ต้องการเรียนรู้    และมีโอกาสที่จะนำประสบการณ์ในแต่ละวันที่ได้รับมาสะท้อนคิด  ใคร่ครวญถึงพระคุณ และ พระราชกิจของพระเจ้าในชีวิตประจำวันแต่ละวันของตน   อันเป็นการติดสนิทกับพระเจ้าอย่างแท้จริง    แล้วมีโอกาสมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนคริสตชนผู้ใหญ่ในชั้นเรียนเมื่อมาพบปะกัน   เพื่อจะเติบโตขึ้นในชีวิตคริสตชนด้วยกัน  และนี่คือสามัคคีธรรมที่แท้จริงในชุมชนคริสตจักร
                                                                                                                                        
ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

02 เมษายน 2557

ความเชื่อที่มีส่วนร่วม...

...ทุก​ครั้ง​ที่​ข้าพเจ้าทูล​ขอ​เพื่อ​ท่าน​ทุก​คน ก็​ทำ​การ​ทูล​ขอ​ด้วย​ความ​ยินดี​เสมอ 
เพราะ​ท่าน​ทั้ง​หลาย​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​ข่าว​ประเสริฐ​ตั้ง​แต่​วัน​แรก​จน​เวลา​นี้ (ฟีลิปปี 1:4-5 มตฐ.)

การทำงานแบบมีส่วนร่วมให้ความสำเร็จในการทำงานได้มากกว่าที่แยกต่างคนต่างทำ   ดั่งคำกล่าวที่ว่า “รวมกันเราอยู่  แยกหมู่เราตาย”   นั่นเป็นการยืนยันว่า  การทำงานเป็นทีมย่อมมีพลังเข้มแข็งกว่าการทำงานแบบตัวใครตัวมัน   การที่คนในกลุ่มยอมอุทิศตนเพื่อร่วมกับคนอื่นๆ ในกลุ่มจะช่วยให้การต่อสู้และการเผชิญหน้าของกลุ่มเข้มแข็งมีพลัง

ไม่ว่าเราจะเรียกว่า   การทำงานแบบเป็นทีม   การทำงานแบบมีส่วนร่วม  พลังร่วม  สมาคม  ชมรม

น่าสังเกตว่า  การทำงานแบบมีส่วนร่วมนั้นเป็นการใช้ความสามารถของตั้งแต่สองคนขึ้นไปมาร่วมในการขับเคลื่อน   ที่นำไปสู่ความสำเร็จมากกว่าที่แยกทำแต่ละคน   แล้วเอาผลสำเร็จที่ได้จากแต่ละคนมารวมกันเสียอีก

แม่ชีเทเรซากล่าวว่า   “ท่านสามารถทำในสิ่งที่ท่านทำได้   ฉันทำในสิ่งที่ฉันสามารถทำได้   เมื่อเรามาทำงานร่วมกัน  เราสามารถทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า”   เพราะการทำงานร่วมด้วยกันมิได้ใช้หลักการ 1+1=2  แต่มีหลักการว่า 1 ทำร่วมกันกับอีก 1 หรือมากกว่านั้น   มีพลังสร้างพลังและผลสำเร็จมากกว่าการเอาความสามารถที่ทำให้สำเร็จของแต่ละคนมารวมเข้าด้วยกัน   เพราะมันจะทำให้เกิดความสำเร็จที่เกิดจาก “ความสามารถร่วม”ที่ไม่มีในคนใดคนหนึ่งเลยในกลุ่มนี้   แต่เมื่อทำด้วยกันจะเกิดความสามารถเพิ่มพูนขึ้นใหม่ที่ได้จากความสามารถร่วม   ที่นำไปสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กว่าตามที่แม่ชีเทเรซากล่าวไว้เกิดผลสำเร็จที่เพิ่มพูนขึ้น

“การที่มีคนหนึ่งทำงานร่วมกับท่าน   ก็ดีกว่ามีสามคนที่ทำงานเพื่อท่าน”  คำกล่าวนิรนาม   ในที่นี้เน้นการทำงานร่วมด้วยกัน   มีพลังกว่าการที่มีใครบางคนทำเพื่อเรา   การทำงานร่วมกันแตกต่างจากการที่คนหนึ่งคนใด หรือ คนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดทำงานเพื่อคนอื่นหรือกลุ่มอื่น    แต่การทำงานร่วมกันเป็นการตั้งใจและเต็มใจที่ต้องการทำด้วยกัน  เพราะสำนึกถึงคุณค่าในความสามารถของแต่ละคน  ที่สำคัญถึงขนาดขาดเสียมิได้   และมิใช่การกระทำเพื่อตนเอง  หรือ เพื่อคนอื่น  หรือทั้งเพื่อตนเองและเพื่อคนอื่นเท่านั้น  

แต่การทำงานร่วมกันให้ความสำคัญกับสัมพันธภาพ   การเห็นคุณค่าของเพื่อนร่วมงาน  และความไว้วางใจที่มีต่อกันสำคัญและมีพลังมากยิ่งกว่าการทำงานเพื่อให้เกิดผลเท่านั้น 

แอนดรูว์ คาร์เนกี้  ได้กล่าวยอมรับว่า  “ความสำเร็จที่ข้าพเจ้าได้รับนั้นเป็นหนี้ความสามารถของผู้คนมากมายรอบข้างข้าพเจ้า ไม่ว่าจะเป็นความสามารถเล็กน้อย หรือ ใหญ่โตของพวกเขา    ซึ่งเป็นความสามารถที่เยี่ยมยอดยิ่งกว่าความสามารถของข้าพเจ้า”

จอห์น วู๊ดเดน   โค้ชบาสเกตบอลผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาล   กล่าวเตือนสติทีมบาสเกตบอลของเขาเสมอว่า  “ผู้ที่ชูตลูกบอลลงห่วงได้นั้นมีสิบมือด้วยกัน”   นี่ไม่ได้หมายความว่าคนๆ นั้นเป็นคนพิเศษ หรือ คนประหลาดมีสิบไม้สิบมือ   แต่จอห์นกำลังเตือนสตินักบาสในทีมว่า   คนที่ชูตลูกลงห่วงได้นั้นมิได้ทำได้ด้วยตนคนเดียวเท่านั้น   แต่เพื่อนร่วมทีมคนอื่นๆ ต่างมีส่วนที่ทำให้เขาสามารถพาลูกไปชูตลงห่วงได้    ที่ลูกบาสลงห่วงได้มิใช่เพราะสองไม้สองมือของตนเท่านั้น   แต่เพราะความร่วมไม้ร่วมมือของเพื่อนในทีมต่างหาก

การทำงานร่วมด้วยกัน  การทำงานเป็นทีม   คนในทีมต้องมีสายตาพิเศษที่สามารถมองเห็นมืออื่นๆ อีกตั้งแปดเก้ามือที่คนทั่วไปมองไม่เห็น   การทำงานเป็นทีมต้องเห็นคุณค่าและความสำคัญของคนร่วมทีม (ไม่ใช่ผู้บริหารเก่งอยู่คนเดียว  ทำถูกแต่ผู้เดียว   บ้างมักพูดเหน็บแนมดูถูกลูกน้องต่อหน้าคนอื่น)

สัจจะความจริงประการนี้เตือนประชากรของพระเจ้าทุกคน   เราทุกคนต่างเป็นคนใช้ของพระคริสต์   ที่ต้องทำงานรับใช้พระองค์อย่างมีเอกภาพที่สอดประสานและหนุนเสริมกันและกันดั่งอวัยวะส่วนต่างๆ ในร่างกายที่ทำงานร่วมกันอย่างประสานกลมกลืนกันตามการสั่งการของสมองที่ศีรษะ หรือ ตามพระประสงค์ของพระคริสต์   และต้องตระหนักชัดว่า  การทำงานร่วมกันเช่นนี้ย่อมเกิดผลมากกว่าที่เราแต่ละคนต่างคนต่างทำ   นี่ยังไม่รวมถึงผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นจากการขัดแข้งขัดขากัน   หรือลอบทำร้ายทำลายกันลับหลัง

ชีวิตที่อยู่ร่วมกันอย่างมีสามัคคีธรรม และการทำพันธกิจในคริสตจักร   เรามิได้ทำเพื่อตัวเราเอง  หรือเพื่อคนใดคนหนึ่งที่เราเคารพนับถือ หรือ ที่เราสงสาร   แต่ที่เราทำพันธกิจร่วมกันเพื่อรับใช้พระคริสต์   และจะมีบางสิ่งบางอย่างพิเศษที่เกิดจากการที่สมาชิกในคริสตจักรทำพันธกิจร่วมกัน   เพราะในการทำพันธกิจร่วมกันนั้นพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงร่วมทำด้วย   ทรงเสริม ทรงเพิ่มพลังในการขับเคลื่อนแก่คริสตจักรด้วย    นั่นหมายความว่าการรับใช้นั้นจะเกิดผลเกินกว่าที่เราทุ่มเทรับใช้รวมกันเสียอีก

การมีชีวิตร่วมกันในคริสตจักร  และ  การขับเคลื่อนรับใช้พระคริสต์ร่วมกันในงานหลากหลายงาน หลากหลายองค์กร หน่วยงาน   เราต้องเห็นคุณค่าความหมายและความสำคัญของกันและกัน   ความสำเร็จมิได้เกิดจากความเก่งกาจของศิษยาภิบาล หรือ ผู้นำคริสตจักร  ผู้บริหารองค์กรเท่านั้น    เราต้องเห็นมือของคนอื่นๆ ในทีมที่มีส่วนร่วมในความสำเร็จนั้นด้วย   การที่ขาดคนหนึ่งคนใดในคริสตจักร หรือ หน่วยงานก็จะทำให้ขาดความสมบูรณ์ได้

สัจจะความจริงเตือนเราว่า   ชีวิตและการขับเคลื่อนพันธกิจของคริสตจักรมิได้ขึ้นอยู่กับ  ศิษยาภิบาล  ผู้นำคริสตจักร  หรือ ผู้บริหารองค์กร หน่วยงาน เท่านั้น   แต่ความสำคัญของคริสตจักรตามพระคัมภีร์และความเชื่อศรัทธาของคริสตชนอยู่ที่การเสริมสร้างและหนุนช่วยให้สมาชิกทุกคนในคริสตจักร   คนทำงานในองค์กรคริสเตียนร่วมในการรับใช้พระคริสต์ด้วยกัน    ในงานและความรับผิดชอบหลากหลายรูปแบบ    เพื่อให้ทั้งคริสตจักรมุ่งหน้ารับใช้พระคริสต์ร่วมกันด้วยพระนามของพระคริสต์   ในอาชีพการงาน  ในชีวิตและครอบครัว  ในสังคมชุมชนที่ตนดำเนินชีวิตประจำวัน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

พระเจ้าแห่งการแก้แค้น?

ข้า​แต่​พระ​ยาห์​เวห์ พระ​เจ้า​แห่ง​การ​แก้​แค้น
พระ​เจ้า​แห่ง​การ​แก้​แค้น ขอ​ทรง​ทอ​แสง​เถิด
(สดุดี 94:1 มตฐ.)

เมื่ออ่านพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมที่กล่าวถึงพระเจ้าว่า  เป็นพระเจ้าแห่งการแก้แค้น ในครั้งแรกๆ นั้นผมยอมรับตรงๆ ว่า  รับไม่ได้   ทำไมพระเจ้าที่กอปรด้วยความรักเมตตา กรุณา และทรงให้อภัย   แล้วจะเป็นพระเจ้าแห่งการแก้แค้นได้อย่างไร   พระเจ้าในพันธสัญญาเดิมทำไมโหดเหี้ยม?   หรือเป็นพระเจ้าคนละองค์?   ถ้าไม่ใช่  แล้วที่พระคัมภีร์บอกว่า พระเจ้าทรงแก้แค้นนั้นหมายความว่าอะไรกันแน่?   ถ้าพระเจ้าเป็นพระเจ้าแห่งการแก้แค้น   แล้วคนที่เชื่อพระเจ้าองค์นี้จะไม่อ้างว่าที่เขาแก้แค้นเป็นการแก้แค้นในพระนามของพระเจ้าหรือ?   ถ้าเป็นเช่นนั้นวงจรอุบาทว์แห่งการแก้แค้นจะไม่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ หรือ?

บ่อยครั้งเมื่อเราอ่านพระธรรมสดุดี หรือ พระคัมภีร์เดิมเรามักจะเข้าใจเรื่อง “การแก้แค้นของพระเจ้า” ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากความจริงจากความเข้าใจพระเจ้าของผู้บันทึกพระคัมภีร์ในสมัยนั้น   อีกทั้งปัจจุบันมีคริสตชนบางคนเข้าใจว่า  พระเจ้าแห่งความรักเมตตา และ การให้อภัยย่อมไม่เกี่ยวข้องกับการแก้แค้นซึ่งก็เป็นความเข้าใจที่คลาดจากความเป็นจริงด้วยเช่นกัน   ยิ่งกว่านั้น  ถ้าเราศึกษาสดุดี 94 อย่างระมัดระวัง  เราจะพบว่า   เราเข้าใจพระคัมภีร์ข้อแรกในบทนี้คลาดเคลื่อนเพราะผู้อ่านปัจจุบันเข้าใจคำว่า “แก้แค้น” ในพระธรรมสดุดี 94:1 ตามกรอบความคิดความเข้าใจของคนในปัจจุบัน   ที่แตกต่างจากกรอบคิดและความเข้าใจของคำว่า “การแก้แค้น” ในสมัยพระคัมภีร์ตอนนั้นๆ

กรอบคิดความเข้าใจ “การแก้แค้น” ในปัจจุบันของเราคือ   การแก้แค้นเป็นความเกลียดชังและความโหดร้ายรุนแรง   คนที่ต้องการแก้แค้นคือผู้ที่มีความรู้สึกโกรธยากจะหยุดยั้ง   และต้องการตอบสนองอีกฝ่ายหนึ่งให้เจ็บแสบ   ให้สาสมกับการกระทำที่ฝ่ายตรงข้ามกระทำต่อตน

ในพระคัมภีร์ภาษาเดิมใช้คำว่า neqama ที่เราแปลว่า แก้แค้น ในกรอบคิดที่แตกต่างจึงมีความหมายที่แตกต่างกัน   ในสดุดี 94:1 ผู้เขียนพระธรรมสดุดีเรียกพระนามพระเจ้าว่า “พระเจ้าแห่งการแก้แค้น” (มตฐ.)   และในข้อต่อมาของพระธรรมสดุดีบทนี้เรียกพระนามของพระเจ้าว่า “พระผู้ทรงพิพากษาโลก” (94:2 มตฐ.) และทูลขอพระเจ้าทรงสนองตอบต่อ “คนโอหัง”  ที่ “บดขยี้และข่มเหงรังแก” ประชากรของพระเจ้า (ข้อ 5 อมต.)   พวกเขาฆ่า “แม่ม่าย  คนต่างด้าว  และลูกกำพร้า”  โดยพวกเขากล่าวอ้างว่า พระเจ้าไม่รู้ไม่เห็น (ข้อ 6-7 มตฐ.)

ดังนั้นการแก้แค้นของพระเจ้าในพระคัมภีร์จึงมิใช่ความโกรธแค้นที่พวยพุ่งออกมา   แต่เป็นการที่พระเจ้าทรงปกป้องและสำแดงความยุติธรรมของพระองค์   พระเจ้าทรงตอบสนองต่อคนบาปตามที่เขาสมควรได้รับ   ดังนั้น  พระธรรมข้อสุดท้ายในพระธรรมบทนี้กล่าวไว้ว่า “พระองค์ทรงให้พวกเขารับโทษสาสมกับบาปของพวกเขา”   การแก้แค้นของพระเจ้าจึงเป็นการทรงสำแดงความชอบธรรมของพระเจ้าที่ธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมของพระองค์

เมื่อเรากล่าวถึงความยุติธรรมของพระเจ้า หรือ การแก้แค้นของพระองค์  เราต้องตระหนักอยู่เสมอว่าพระเจ้าทรงเปี่ยมด้วยพระเมตตา   ใช่แล้ว  พระองค์ทรงพิพากษาเราตามความบาปผิดของเรา   แต่เพราะพระเจ้า “ทรงอุดมด้วยความรักเมตตา”    และความรักเมตตาของพระองค์ทรงมีชัยเหนือการพิพากษา (เอเฟซัส 2:4; ยากอบ 2:13)   ดังนั้น พระเจ้ามิได้มองข้ามหรือยกเลิกความบาปผิดของมนุษย์   ตรงกันข้ามพระบุตรของพระองค์เองกลับเข้ามารับเอาความบาปผิดของมนุษย์   รับเอาผลที่คนบาปอย่างเราควรได้รับ   “การแก้แค้น” หรือ การตอบสนองต่อการกระทำบาปที่มนุษย์กระทำได้รับการกระทำให้ยุติธรรมและชอบธรรมบนกางเขนนั้น  

ดังนั้น “พระเจ้าแห่งการแก้แค้น”  ในความหมายของพระคัมภีร์มีความหมายที่เชื่อมโยงกับ “พระเจ้าแห่งความยุติธรรม”   มิใช่เป็นพระเจ้าแห่งความรุนแรงโหดร้ายอย่างที่เราเห็นการแก้แค้นกันในปัจจุบัน

ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญ

  1. ท่านเข้าใจข้อพระคัมภีร์ที่กล่าวถึง “พระเจ้าแห่งการแก้แค้น” อย่างไรบ้าง?
  2. เมื่อท่านคิดจะทำการแก้แค้นคนบางคนที่ทำให้ท่านได้รับความเจ็บปวดในชีวิต   ท่านจะทำอะไรและอย่างไร?
  3. เราจะกระทำความยุติธรรมในโลกนี้และยังเป็นผู้ที่มีความรักเมตตา” ได้อย่างไร?


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499