29 สิงหาคม 2557

ถ่อมสุภาพ

คน​ที่​สุภาพ​อ่อน​โยน ก็​เป็น​สุข
เพราะ​ว่า​เขา​ทั้ง​หลาย​จะ​ได้​รับ​แผ่น​ดิน​โลก​เป็น​มร​ดก
(มัทธิว 5:5 มตฐ.)

เมื่อกล่าวถึง “ถ่อมสุภาพ” หรือ “สุภาพอ่อนโยน”   เราต้องไม่นำไปผสมปนเปกับคำว่า “ความอ่อนแอ”

ความหมายของคำว่า “ถ่อมสุภาพ” ในพระคัมภีร์ หมายถึง  “การอยู่ภายใต้การปกป้องคุ้มครองของพระเจ้า”    กล่าวคือการที่คน ๆ นั้นสำนึกและตระหนักชัดถึงความล้มละลายทางจิตวิญญาณของตนเอง   และเสียใจในชีวิตที่ถูกครอบงำโดยอำนาจแห่งความบาปผิด   ยอมจำนนและขอพระเจ้าทรงไถ่ถอน ปลดปล่อยตนให้ออกจากอำนาจบาปชั่วนั้น   เพื่อเข้ามาเป็นประชากรในแผ่นดินของพระเจ้า   รับการเปลี่ยนแปลงชีวิต และ รับการทรงสร้างใหม่จากพระองค์     เพื่อเราจะมีชีวิตที่ “ถ่อมสุภาพ”  คือมีชีวิตในแผ่นดินของพระเจ้าภายใต้การปกป้องคุ้มครองพระองค์   ให้มีชีวิตที่ควบคุมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์   จนชีวิตของเรามีคุณลักษณะตามผลของพระวิญญาณบริสุทธิ์

พระพร หรือ ความสุขมีแก่ผู้ที่สัญชาตญาณ   พลังกระตุ้นดลใจในชีวิต  และความปรารถนาจากภายในของเขาอยู่ภายใต้วินัยและการควบคุมแห่งพระวิญญาณของพระเจ้า   คน ๆ นั้นจึงมีสัมพันธภาพกับพระเจ้าที่เป็นไปตามพระประสงค์   มีความสัมพันธ์ในส่วนลึกของชีวิตอย่างสอดคล้องกัน   และมีสัมพันธภาพกับคนรอบข้างอย่างสร้างสรรค์และเสริมสร้าง   และเขาสำนึกตลอดเวลาว่าชีวิตเป็นเช่นนี้ได้เกิดจากการสร้างใหม่ของพระเจ้าเท่านั้น

การถ่อมสุภาพ หรือ ความสุภาพอ่อนน้อม  ในพระธรรมตอนนี้ใช้คำว่า praus ซึ่งมาจากรากศัพท์ภาษากรีกคำเดียวกันที่ใช้ในกาลาเทีย 5:23 ที่ใช้คำว่า prautes  “ความสุภาพอ่อนโยน” ซึ่งเป็นคุณลักษณะหนึ่งของชีวิตที่เป็นผลจากพระวิญญาณ

ใจถ่อมสุภาพ หรือ ใจสุภาพอ่อนน้อม ที่เป็นผลจากการทำงานของพระวิญญาณบริสุทธิ์ในชีวิตของเรา   เปลี่ยนแปลงและสร้างเราขึ้นใหม่   ให้เป็นคนที่มีจิตใจที่ต้องการช่วยคนอื่นที่ชีวิตประสบกับผิดพลาดล้มเหลว “อย่างสุภาพอ่อนโยนให้เขากลับตั้งตัวใหม่” (กาลาเทีย 6:1 อมต.)  

ใจถ่อมสุขภาพ เป็นคุณลักษณะของผู้ที่มีความเข้มแข็งทางจิตใจ   เป็นจิตใจที่พร้อมจะหนุนเสริมเพิ่มพลังชีวิตแก่ผู้อื่น   แม้คนนั้นที่ตนเข้าไปมีส่วนช่วยเหลือนั้นอาจจะเคยเป็นคู่ขัดแย้ง  คู่อริ  มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน   แต่ด้วยผลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่สร้างให้เขามีใจที่ถ่อมสุภาพ   ชีวิตจิตใจของเขาจึงอยู่ภายใต้การปกป้องคุ้มครองของพระเจ้า   เขาจึงมีพลังที่จะมีวินัยชีวิตและกระทำเช่นนี้ได้

คนรอบข้างจึงมองเห็นพระราชกิจของพระเจ้าผ่านชีวิตที่ถ่อมสุภาพของเขา   และเขาจึงเป็นผู้ที่คนรอบข้างชื่นชอบและอยากมีความสัมพันธ์ด้วย

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

27 สิงหาคม 2557

เลือกคู่ครอง...คริสตชนทำกันอย่างไร?

คนชอบธรรมเลือกคบเพื่อน(อย่างระมัดระวัง)
(สุภาษิต 12:26 ก. อมต.)

เมื่อคบเพื่อนเราต้องระมัดระวัง   แล้ว การเลือก คนที่จะมาเป็นคู่ชีวิต หรือ คู่อุปถัมภ์ยิ่งจะต้องละเอียดรอบคอบมากยิ่งขึ้น   ในที่นี้ขอสังเกตคำว่า “เลือก”  พระเจ้าไม่ได้เป็นผู้เลือกคนที่มาเป็นคู่ชีวิต หรือ คู่อุปถัมภ์ของเราแต่ละคน   แต่พระเจ้าบอกแนวทางให้เรา “เลือก” !

พระเจ้าทรงนำเรา
พระองค์ทรงชี้ทางแก่เรา
พระเจ้าทรงให้แนวทางในการเลือกแก่เรา
แต่ในที่สุดเราแต่ละคนจะต้องเป็นผู้เลือก

อย่างไรก็ตาม  คริสตชนมักมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในเรื่องนี้     คริสตชนหลายคนเชื่อว่ามีคนหนึ่งคนเดียวที่เป็นคู่ชีวิตหรือคู่อุปถัมภ์ที่แท้จริงของเรา   แต่นั่นไม่เป็นความจริง   และก็ไม่เป็นหลักการในพระคัมภีร์   และก็ฟังแล้วไม่เป็นตรรกะที่ดี   สมมติว่าถ้าคนหนึ่งเลือกคู่ครองผิดพลาดมันไม่พาลกระทบไปยังคู่อื่น ๆ ทั้งแผ่นดินหรือ?

ในชีวิตของเรามีหลายคนที่พระเจ้าจะบอกว่าเหมาะสมสำหรับเป็นคู่ชีวิต หรือ คู่อุปถัมภ์ของเรา   และแน่นอนว่าคนจำนวนอีกมากมายที่ไม่เหมาะสมสำหรับเป็นคู่ชีวิตของเรา   และมีหลายโอกาสที่พระเจ้าจะบอกเราว่าคนนี้ก็เหมาะสมนะ   แต่เจ้าต้องเลือกเอง  เลือกคนเหมาะสมที่เจ้าจะใช้ชีวิตอุปถัมภ์กันไปยาวนานตลอดชีวิต

มีความเชื่อที่คลาดเคลื่อนอีกประการหนึ่งที่คริสตชนจำนวนหนึ่งเชื่อว่า   ขอให้มีความรักกันแล้วก็เพียงพอสำหรับที่เราจะแต่งงานกัน   ขอบอกตรง ๆ ว่า   มันไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไปหรอก 

มีภูมิหลังชีวิตที่ไม่ชอบมาพากล
มีรากฐานทางชีวิตจิตวิญญาณที่ไม่ถูกต้อง
มีบุคลิกลักษณะที่ไม่ใช่
มีความปรารถนา และ รสนิยมในชีวิตที่แตกต่างกัน
มีระบบคุณค่าในชีวิตที่ไม่เหมือนกัน
มีเป้าหมายชีวิตที่ไม่สอดคล้องกัน
แต่...เขาทั้งสองรักกัน   ดังนั้นก็ควรแต่งงานกันได้เช่นนั้นหรือ?

การที่เราเพียงรักคนใดคนหนึ่ง   มิได้หมายความว่าเราควรจะแต่งงานกับคน ๆ นั้น!

พระเจ้าไม่ได้บอกให้เราแต่ละคนว่าเราต้องแต่งงานกับคนใด   แต่พระองค์ทรงมีแนวทางชี้นำเราแต่ละคนว่าเราควรเลือกคนเช่นไรมาเป็นคู่ชีวิต คู่อุปถัมภ์ของเรา   ถ้าเราต้องการได้รับพระพรในชีวิตคู่ของเรา   แล้วต้องการประสบความสำเร็จในชีวิตแต่งงาน   ถ้าเช่นนั้นเราต้องใส่ใจฟัง อ่าน ศึกษา และ แสวงหาว่า   พระองค์ได้บอกเราว่าพระองค์ประสงค์ให้เราเลือกคนแบบใดเป็นคู่ชีวิตของเรา

อย่าด่วนใจร้อนตัดสินใจเลือกคู่ชีวิตแล้วรีบแต่งงาน   เพราะเมื่อแต่งงานไปแล้วเราแต่ละคนต้องใช้เวลาอีกยาวนานที่อยู่ด้วยกัน  อุปถัมภ์ค้ำชูกันและกัน     หรือไม่ก็ต้องหย่าร้างกัน   แล้วทนอยู่กับความเจ็บปวดเพราะบาดแผลของชีวิตที่หย่าร้างนั้น

ไตร่ตรองและใคร่ครวญ

ลองหาเวลาพูดคุยกับตนเอง  และ ปรึกษากับพระเจ้าในเรื่องนี้   แล้วหาเวลาสะท้อนคิดประเด็นต่อไปนี้
  1. อะไรคือเหตุผลที่ถูกต้องแท้จริงของการแต่งงาน?
  2. เราคิดว่าเมื่อใดที่เป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการพิจารณาว่า  พระเจ้าต้องการให้เรามองหาคู่ชีวิต หรือ คู่อุปถัมภ์?
  3. เรารู้หรือคิดว่า  แนวทางที่ใช้ในการเลือกคู่ชีวิตตามพระคัมภีร์มีอะไรบ้าง?


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499
เรียบเรียงจากข้อเขียนของ ริก วอร์เรน Rick Warren

26 สิงหาคม 2557

ท่านจะตอบพระเยซูว่าอย่างไร?

เมื่อ​คน​นั้น​ (บารทิเมอัส) ได้​ยิน​ว่า​พระ​เยซู​ชาว​นาซาเร็ธ​เสด็จ​มา จึง​ร้อง​เสียง​ดัง​ว่า
ท่าน​เยซู บุตร​ดาวิด​เจ้า​ข้า ขอ​ทรง​เมตตา​ข้า​พระ​องค์​เถิด”  (มาระโก 10:47)

เมื่อพระเยซู  สาวกของพระองค์  และประชาชนเป็นจำนวนมากกำลังเดินทางออกจากเมืองเยรีโค   มีคนขอทานตาบอดข้างถนนคนหนึ่งชื่อบารทิเมอัส   เมื่อได้ยินว่าพระเยซูกำลังจะผ่านมาทางนั้น   เขาจึงร้องเสียงดังว่า ท่าน​เยซู บุตร​ดาวิด​เจ้า​ข้า ขอ​ทรง​เมตตา​ข้า​พระ​องค์​เถิด (ข้อ 47)   หลายคนสั่งให้คนตาบอดหุบปากเงียบเสีย   แต่เขายิ่งร้องเสียงดังขึ้น   พระเยซูหยุดเดินทางต่อแต่สั่งให้นำคนนั้นมาหาพระองค์   คนตาบอดทิ้งผ้าห่มของเขาแล้วถูกนำมาหาพระองค์   พระเยซูถามเขาว่า เจ้า​ปรารถนา​จะ​ให้​เรา​ทำ​อะไร​ให้​เจ้า เขาทูลตอบว่า  “​พระ​อาจารย์​เจ้า​ข้า ขอ​โปรด​ให้​ตา​ข้า​พระ​องค์​เห็น​ได้” (ข้อ 51)   พระองค์ตรัสกับเขาว่า  จง​ไป​เถิด ความ​เชื่อ​ของ​เจ้า​ได้​กระทำ​ให้​เจ้า​หาย​ปกติ​แล้วใน​ทันใด​นั้น​คน​ตา​บอด​นั้น​ก็​เห็น​ได้ และ​ได้​เดินทาง​ตาม​พระ​องค์​ไป​ (ข้อ 52)

ปกติแล้ว พระคัมภีร์จะเรียกพระเยซูว่า พระบุตรของพระเจ้า  หรือ  บุตรมนุษย์   แต่ในตอนนี้ บารทิเมอัส เรียกพระเยซูว่า  บุตรดาวิด   แต่ประเด็นที่น่าสนใจว่า   เมื่อบารทิเมอัสตะโกนเรียกร้องความช่วยเหลือจากพระเยซูคริสต์   ทำไมพวกสาวกและประชาชนถึงห้ามไม่ให้ร้อง  แล้วสั่งบารทิเมอัสให้เงียบเสียงเสีย?

เราคงไม่ลืมว่า   ขณะนี้พระเยซูคริสต์  สาวก และประชาชนจำนวนมากกำลังเคลื่อนมวลชนเข้าไปยังกรุงเยรูซาเล็ม   และหลายคนที่คาดการณ์ว่า  ที่กรุงเยรูซาเล็มครั้งนี้อาจจะมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น   แต่การที่บารทิเมอัสมาร้องเรียกชื่อพระเยซูว่า  “เยซูบุตรดาวิด”   คำร้องนี้มีนัยทางการเมืองสำหรับคนยิวและทหารโรมันที่อยู่ในพื้นที่นี้   เป็นการบ่งชี้ถึงว่าพระคริสต์คือพระเมสสิยาห์ที่สืบเชื้อสายจากกษัตริย์ดาวิด  ผู้กลับมาเพื่อพลิกฟื้นราชอาณาจักรและราชวงศ์เพื่อสถาปนาราชอาณาจักรเยรูซาเล็มขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง

การร้องเสียงดังเช่นนี้สร้างอันตรายที่จะถูกกองกำลังโรมันเข้ามาปราบปราม   พวกเขาจึงรีบสั่งให้บารทิเมอัสเงียบเสียงเสีย   ไม่เช่นนั้น อาจจะทำให้ต้องพากันไปตายในกรุงเยรูซาเล็ม

สาวกและประชาชนยังไม่ต้องการตายครับ!

แต่สำหรับพระเยซูคริสต์   ความสนใจของพระองค์ไม่เหมือนสาวก   พระองค์สนใจในประโยคต่อไปของบารทิเมอัสที่ว่า   “...ขอทรงเมตตาข้าพระองค์เถิด”

สาวกของพระเยซูสนใจ “การเมืองที่เป็นเรื่อง อำนาจ และผลประโยชน์ส่วนตน”   พวกเขาสนใจที่จะทำการปลดปล่อยออกจากการเป็นเมืองขึ้นของโรมัน   แต่พระคริสต์สนใจ “คุณภาพชีวิต” ของผู้คน   แม้จะเป็นขอทานข้างถนนก็ตามที   พระองค์ไม่สนใจว่าเขาจะตะโกนร้องดังว่าอย่างไร   แต่พระองค์สนใจที่จะพบปะพูดคุยกับเขา   สั่งให้คนพาบารทิเมอัสมาพบกับพระองค์

สิ่งแรกที่พระองค์ทำคือ   ถามถึงความคิด ความรู้สึก และความต้องการสูงสุดในชีวิตของบารทิเมอัส   “เจ้าปรารถนาจะให้เราทำอะไรให้เจ้า?”  พระองค์สนใจชีวิต  ความต้องการ  ความปรารถนา  และสิ่งที่พระองค์จะทำแก่เขาได้

บารทิเมอัสต้องการมองเห็นได้ครับ!   เขาต้องการการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเขา   เขาต้องการเป็นคนที่มีค่า    เขาต้องการเป็นคนที่จะช่วยตนเองได้   และเป็นที่พึ่งพิงสำหรับคนอื่นตามที่เขาจะทำให้ได้   เขาไม่คิดว่าใครจะได้อำนาจ   เขาไม่ได้สนใจว่าใครจะได้ตำแหน่งอะไร  เขาไม่ได้คิดที่จะได้เป็นใหญ่  แต่เขาต้องการเห็นได้ครับ

พระเยซูบอกกับบารทิเมอัสว่า  เขาจะได้ตามสิ่งที่เขาเชื่อและปรารถนา  

บารทิเมอัสได้คุณภาพ และ ศักยภาพในชีวิตเพิ่มขึ้นจากการที่เป็นคนตาบอด  เขาได้รับการเยียวยาให้สามารถมองเห็นได้   ชีวิตเขาได้รับคุณค่ามากขึ้น   มาระโกใช้คำสั้น ๆ เพียงสองคำว่า   บารทิเมอัส “มองเห็นได้”  และ  เดินทาง “ตามพระองค์” ไป

สำหรับพระคริสต์แล้ว  พระองค์มุ่งมั่นสนใจ “เสียงจากก้นบึ้งแห่งชีวิต” ของประชาชน   เพื่อที่พระองค์จะให้ชีวิตของพระองค์เพื่อให้คนทั้งหลายได้มีชีวิต ในขณะที่สาวกพระคริสต์ และ ผู้คนที่เดินตามติดพระองค์ให้กลับให้ความสำคัญกับ “เสียง” ทาง “การเมือง” ของผู้คน

แต่พระคริสต์ให้ความสำคัญกับคุณค่า และ คุณภาพชีวิตของผู้คน

วันนี้  พวกสาวก และ คนติดตามพระเยซูในประเทศไทยกำลังให้ความสนใจและสำคัญในเรื่องอะไรครับ?  

วันนี้   ถ้าพระเยซูคริสต์ถามท่านว่า   “...เจ้าปรารถนาจะให้เราทำอะไรให้เจ้า?”   ท่านจะตอบพระองค์ว่าอย่างไรครับ?   หลายสิ่งที่เรารู้ว่าเราจัดการตนเองไม่ได้    แต่เราเชื่อและพึ่งในพระเมตตาของพระเยซูคริสต์ได้  

อะไรคือสิ่งที่ท่านจะพึ่งพิงในพระเมตตาคุณของพระคริสต์ในวันนี้?  

ท่านเชื่อในพระเมตตาคุณของพระองค์หรือไม่ครับ?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

25 สิงหาคม 2557

“เรากำลังสร้างเจ้าอยู่...”

อ่านอิสยาห์ 29:16;  เยเรเมีย์ 18:6;  โรม 9:21

เช้านี้ฉันชื่นชอบกับแก้วกาแฟที่ไปซื้อมาใหม่จาก...กรุงเทพฯ
ทั้งรูปทรงและขนาดแก้วดูกะทัดรัด  เหมาะมือ  สีสันสวยงาม
เมื่อเทกาแฟที่หอมกรุ่นและร้อนจัดลงไปในแก้วใบนี้  ดูมันไม่สะทกสะท้าน
ฉันชื่นชมแก้วโปรดใบนี้ในใจว่า  เป็นแก้วกาแฟที่คุณภาพเลิศแน่
พลันมีเสียงสดใสสอดตอบความชื่นชอบในใจของฉันขึ้นว่า...

เมื่อก่อนนี้ “แก้ว” ก็ไม่ได้อยู่ในสภาพที่ “สวยสดอดทน” เช่นนี้หรอกค่ะ
แก้วเป็นดินก้อนหนึ่งที่อยู่รวมกับดินอื่น ๆ ที่ทั้งคนและสัตว์เดินเหยียบย่ำไปมา
จนวันหนึ่งมีคนขุดและตัก “แก้ว” ขึ้นไปบนรถกระบะ แล้วนำ “แก้ว” มาเทที่แห่งหนึ่ง
“แก้ว” ได้ยินเสียงคนหนึ่งว่า  จะเอาแก้วและพวกมาทำเป็นแก้วกาแฟส่งกรุงเทพฯ

ตอนนั้น “แก้ว” ตื่นเต้นดีใจมาก จะได้เป็นแก้วกาแฟต้องสวยงามมาก ๆ
แล้วยังจะได้ไปเที่ยวกรุงเทพฯ   ที่ได้ยินมาว่าเจริญรุ่งเรืองอีกด้วย  เราคงสนุกแน่!
คนในโรงงานเริ่มเอาพวกเราไปตากแดด  แล้วทุบแล้วบดเราให้ละเอียดเป็นผง
ตอนนั้น “แก้ว” ร้องเสียงดังว่า  “แก้วเจ็บนะ มาทุบตีแก้วแรง ๆ แบบนี้”
“แก้วเจ็บนะที่มาบดแก้วจนแตกเป็นผงดิน”  “ไม่เอาแล้ว  แก้วขอออกจากที่นี่ ขอเป็นก้อนดินดังเดิม”
เสียงนุ่มนวลตอบแก้วว่า  “ยังไม่เสร็จ...อีกนิดหนึ่ง”

จากนั้น  เขาเอาน้ำเทลงมาที่ตัวแก้วและพวก   “ดูซิ  เปียกโชกไปหมด”
เขาเริ่มคลุกเคล้าพวกเราจนเป็นก้อน   แล้วนวด  ทุบเราให้เป็นก้อนดินที่เหนียวและนุ่ม
“แก้ว” รู้สึกว่าทนไม่ไหวแล้วเลยร้องออกมาว่า
“นี่คุณ  แก้วเจ็บนะที่มาบีบมานวดแล้วยังทุบแก้วแรง ๆ แบบนี้...ไม่เอา  แก้วขอออกจากที่นี่เดี๋ยวนี้”
เสียงนุ่มนวลบอกแก้วว่า  “ยังไม่เสร็จ...อีกนิดหนึ่ง”

แล้วเขาแยกแก้วออกจากดินก้อนใหญ่ที่เขานวดจนดูละเอียด เหนียว และนิ่มนวล
จากนั้น  วางแก้วลงบนแท่นที่หมุนได้  ตอนนั้นแก้วนึกว่า คงน่าสนุกอย่างขึ้นชิงช้าสวรรค์
แต่เขาปั่นแท่นนั้นให้หมุนเร็วขึ้น ๆ  และบีบแก้วเป็นรูปทรงกลม   แก้วเจ็บปวดที่ถูกบีบไม่เท่าไหร่
แต่ตอนนั้นแก้วเวียนหัวอย่างสุดสุดจนอยากจะอ๊วก   ท้องไส้ปั่นป่วนไปหมด
“พอกันที...เลิก...เลิก...หยุดเดี๋ยวนี้นะ   ไม่อยากเป็นแก้วแล้ว  เอาแก้วลงจากแท่นเดี๋ยวนี้”
เสียงนุ่มนวลปลอบแก้วว่า  “ยังไม่เสร็จ...อีกนิดหนึ่ง”

ตอนนี้แก้วไม่ได้เป็นก้อนดินแล้ว  แต่เป็นแก้วรูปทรงสวยงาม   น่าภูมิใจค่ะที่ได้เป็นแก้ว
แต่แล้ว...เขานำแก้วเข้าไปในห้องใหญ่สี่เหลี่ยม...  แต่นี่เป็นเตาอบนี่!
ความร้อนเริ่มเพิ่มอุณหภูมิสูงขึ้น...สูงขึ้น   “เอาแก้วออกจากเตานี่เดี๋ยวนี้นะ...แก้วทนไม่ไหวแล้ว”
เสียงนุ่มนวลจากข้างนอกที่เขามองทะลุประตูกระจกว่า  “ยังไม่เสร็จ...อีกนิดหนึ่ง”
กว่าจะรู้ตัวอีกครั้งหนึ่ง   เขาเอาแก้วมาผึ่งบนชั้น   ได้รับอากาศเย็น  สดชื่น
ตอนนั้นแก้วคิดในใจว่า   “เออเรานี่ก็อดทนนะ...ดูซิ จนได้เป็นแก้วที่มีความแข็งแกร่งมั่นคง”
เขาหยิบแก้วขึ้นมาด้วยสีหน้าที่ชื่นชอบ พอใจ...
แต่แล้วเขาเอาอะไรไม่รู้ที่เหนียวเหนอะหนะทาลงบนตัวแก้ว   กลิ่นก็เหม็น  หายใจก็ไม่ออก
“เห็นใจแก้วเถอะ... แก้วทนไม่ไหวแล้ว...แก้วต้องตายแน่ ๆ ... พอแค่นี้...เป็นแค่นี้ก็พอแล้ว”
เสียงนุ่มนวลให้กำลังใจแก้วว่า  “ยังไม่เสร็จ...อีกนิดหนึ่ง”

เขาทาอะไรไม่รู้ที่เหนียวเหนอะหนะ   แก้วคิดว่ามันก็ไม่ได้ทำให้แก้วสวยงามขึ้นที่ตรงไหน?
แก้วคิดในใจว่า   ไม่เห็นจำเป็นที่ต้องทาอะไรไม่รู้นี้เลย   ไม่เห็นเป็นประโยชน์
เผลอนิดเดียว   เขานำแก้วเข้าไปในเตาอบอีกเตาหนึ่ง   ที่ดูแน่นหนา  บึกบึนกว่าเตาแรก
ความร้อนแรงค่อย ๆ เพิ่มมากขึ้น  มากขึ้น  ร้อนจนสิ่งที่เขาทาบนตัวแก้วถูกหลอมละลาย
แล้วซึมเข้าในตัวแก้ว  เกาะติดตัวแก้วแบบดึงไม่ออก   แต่ที่ร้ายแรงคือแก้วทนไม่ไหวกับความร้อนสุดสุด
“นี่คุณ... คุณไม่มีความรู้สึกหรือ?... คุณลองมาอยู่ในเตาอย่างแก้วบ้างสิ...แล้วจะรู้ว่ามันร้อนระเบิดแค่ไหน”
“เอาแก้วออกจากเตาเดี๋ยวนี้นะ!...   สงสารแก้วเถิด...  แก้วทนไม่ไหวแล้ว...แก้วตายแน่ ๆ ”
เสียงนุ่มนวลแต่ยืนกรานให้แก้วอยู่ในนั้นต่อว่า  “ยังไม่เสร็จ...อีกนิดหนึ่ง”

มารู้ตัวอีกครั้งหนึ่ง   ฉันถูกวางบนชั้นในร้านของเขา  ดูโดดเด่น!
ฉันยังทึ่งกับตนเองว่า   แก้วเปลี่ยนแปลงอะไรมากมายได้ถึงขนาดนี้
คิดถึงตอนเป็นก้อนดินที่คนและสัตว์เหยียบย่ำไปมา   ตอนนี้เป็นแก้วที่มีรูปทรงใหม่  สีสันสวยสด
แล้วยังสามารถเป็นประโยชน์แก่ผู้คนที่ต้องการฉัน
นี่เป็นเพราะเจ้าของเสียงที่บอกฉันอย่างนุ่มนวลมาเสมอว่า “ยังไม่เสร็จ...อีกนิดหนึ่ง”
แล้ว “แก้ว” ก็มาเป็นแก้วกาแฟของคุณเช้านี้นี่แหละ!

ผมใคร่ครวญในใจต่อไปว่า...
อะไรหนอที่ทำให้แก้วอดทนมากมายถึงเพียงนี้...  จนเป็นแก้วที่สวยงามน่าใช้?
ถ้า “แก้ว” หนีออกจากกระบวนการทำแก้วได้   ชีวิตของเธอตอนนี้จะเป็นอย่างไรบ้าง?
ทำให้คิดถึงชีวิตของ “โยนาห์” และ “บุตรคนเล็ก” (ในคำอุปมาของพระเยซู)
ถ้าท่านเป็นแก้ว... ท่านจะทำเช่นไรดีครับ?
ท่านเคยคิดจะหนีเหตุการณ์ทุกข์ยากลำบากในชีวิตบ้างไหม?
ท่านเคยรู้สึกว่า  “ไม่เอาแล้ว... พอแล้ว... แค่นี้ก็แย่อยู่แล้ว” บ้างหรือไม่?
ในเวลาเช่นนั้น   ท่านเคยทำเช่นไร?  และมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง?

ข้า​แต่​พระ​ยาห์​เวห์ บัดนี้​พระ​องค์​ยัง​เป็น​พระ​บิดา​ของ​พวก​ข้า​พระ​องค์
ข้า​พระ​องค์​ทั้ง​หลาย​เป็น​ดิน​เหนียว และ​พระ​องค์​ทรง​เป็น​ช่าง​ปั้น
ข้า​พระ​องค์​ทุก​คน​เป็น​ผลงาน​ของ​พระ​หัตถ์​พระ​องค์ (อิสยาห์ 6:8 มตฐ.)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

เรียบเรียงจากข้อเขียนของ จอยซ์ เมเยอร์ และ ประสบการณ์การทำเครื่องปั้นดินเผาเมื่อเป็นนักเรียนมัธยมต้นที่ ร.ร.สืบนทีธรรม

20 สิงหาคม 2557

พระเจ้ารู้ถึงความเจ็บปวด สิ้นหวังในชีวิตท่าน

พระองค์ทรงนับการระหกระเหินของข้าพระองค์
ทรงเก็บน้ำตาของข้าพระองค์ใส่ขวดของพระองค์ไว้
(สดุดี 56:8 มตฐ.)

เมื่อความเจ็บปวดเข้ามาเกาะกุมชีวิตจิตใจของเรา   เรามักคิดว่าไม่มีใครสนใจและเข้าใจถึงความทุกข์ยากเจ็บปวดที่เรากำลังต้องฝืนทน

แต่พระเจ้ารู้ชัดแน่นนอนครับ!

พระองค์ทรงรู้ถึงความรู้สึกเจ็บปวดและความสิ้นหวังในชีวิตของเรา   พระธรรมสดุดี 56:8 กล่าวว่า   พระเจ้าทรงใส่ใจถึงชีวิตที่ต้องระหกระเหิน และ ตกระกำลำบากของเรา  โดยใช้ภาษาภาพพจน์ว่า  ทรงนับการระหกระเหินของเรา   เป็นการบรรยายให้เห็นว่า พระเจ้าทรงสนพระทัยในรายละเอียดและความถี่หนักหน่วงในความทุกข์ยากที่เรากำลังได้รับในชีวิต

ผู้ประพันธ์บทเพลงสดุดีข้อนี้ได้บรรจงใช้ภาพว่า   พระเจ้าทรงเก็บน้ำตาของเราแต่ละหยดใส่ลงไว้ในขวดของพระองค์   พระเจ้าทรงให้ความสำคัญในชีวิตของเราแต่ละคน   และยังสนพระทัยในความทุกข์ยากที่เรากำลังเผชิญอยู่ด้วยความสนใจอย่างถ้วนถี่ในรายละเอียด

ใครบ้างล่ะ...  ที่จะใส่ใจน้ำตาทุกหยดที่หลั่งออกมาของเรา   แล้วยังบรรจงบรรจุลงในขวดของพระองค์...   มีใครไหมในชีวิตที่ผ่านมาของเราที่ใส่ใจอย่างจริงจังทะนุถนอมเยี่ยงพระองค์?

บ่อยครั้งที่ชีวิตของเราต้องรับความเจ็บปวด   เรารู้สึกถึงความโดดเดี่ยว   ไม่มีใครสนใจ   ไม่ว่าจะเป็นคนที่เรารักทิ้งเราไป   เพื่อนสนิทเลิกคบเรา   คนในบ้านตายจากไป   ต้องเลิกร้างหย่าขาดจากคู่ชีวิต   เมื่อเราถูกคู่กรณีฟ้องร้องเอาผิดเรียกร้องให้ชดใช้   ในภาวะนั้นเอง   ทำให้เราคิดว่า 

ไม่มีใครเข้าใจถึงความรู้สึกของเรา   ไม่มีใครรู้ว่าเราเจ็บปวดแค่ไหน

แต่พระเจ้าทรงทราบและยิ่งกว่านั้นทรงใส่พระทัยครับ...
บิดาสงสารบุตรของตนฉันใดพระเจ้าทรงสงสารบรรดาคนที่ยำเกรงพระองค์ฉันนั้น” (สดุดี 103:13)

พระองค์ทรงล่วงรู้ลงลึกไปถึงสาเหตุ  เหตุผล ที่ทำให้ชีวิตของเราต้องตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้   พระองค์ทรงเข้าใจเรา   เพราะพระองค์เป็นผู้ทรงสร้างและประทานชีวิตแก่เรา   ยิ่งกว่านั้นพระองค์ทรงเห็นและรู้สึกถึงความเจ็บปวดที่เรากำลังได้รับในขณะนี้   ที่ใครคนอื่นอาจจะไม่สามารถล่วงรู้หรือรู้สึกได้

เพราะเจ้าทรงรู้ถึงจิตใจที่กำลังว้าวุ่นสับสนและสิ้นหวัง   เราสามารถที่จะมอบความรู้สึกดังกล่าวไว้กับพระองค์   จงละความกระวนกระวายของท่านไว้กับพระองค์ เพราะว่าพระองค์ทรงห่วงใยท่านทั้งหลาย” (1เปโตร 5:7)   ให้เรานำกองทุกข์เหล่านี้มาวางไว้ที่พระบาทของพระองค์   และอย่านำมันกลับมาแบกให้หนักในชีวิตของเราอีกเลย!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com

081-2894499

18 สิงหาคม 2557

พระเจ้า...ทำไมสิ่งนี้ถึงเกิดขึ้นกับข้าพระองค์?

เมื่อเหตุร้าย หรือ สถานการณ์ที่เราไม่พึงประสงค์ เกิดขึ้นกับชีวิตของเรา  ทันทีคำถามผุดขึ้นในห้วงความคิดและความรู้สึกของเรา  มักเริ่มต้นคำถามว่า “ทำไม?”  

ทำไมเขาถึงเดินออกไปจากชีวิตของฉัน?
ทำไมเพื่อนคนนี้ถึงไม่รักษาคำมั่นสัญญา?
ทำไมฉันจึงต้องเจ็บปวดซ้ำซาก?
ทำไมคนที่ฉันรักถึงต้องมาตายจากไปในเวลาที่ไม่สมควร?
ทำไมฉันต้องตกงาน?
ทำไมฉันต้องเป็นมะเร็ง?   ทำไมต้องเป็นฉัน?   ทำไมไม่เป็นคนอื่น?
ทำไม?  ทำไม?  ทำไม?

แล้วคำตอบที่เรามักจะได้รับคือ  “ไม่มีคำตอบ”   “ไม่รู้สิ”

โยบ...ถามพระเจ้าแรงกว่าเราครับ   ทำไมพระเจ้าให้เขามีชีวิตแต่ชีวิตนี้ต้องทนกับความระทมทุกข์ (โยบ 3:20)  ดูจะเป็นธรรมชาติในความเป็นมนุษย์ที่ตั้งคำถามว่า “ทำไม”   และเราท่านต่างถามคำถามนี้บ่อย ๆ ทั้งที่รู้ตัวและที่ไม่รู้ตัว   ด้วยความเป็นมนุษย์ผมขอถามคำถามต่อไปว่า 

“ทำไมมนุษย์ถึงมักถามคำถามว่าทำไม?”

เป็นไปได้ไหมว่า   เพราะเรามีความคิดและเข้าใจที่ผิดพลาดว่า  
“ความรู้จะแก้ปัญหาทุกอย่างได้”  
เราถามว่า “ทำไม” เหมือนกับว่า  
ถ้าเราได้คำตอบว่าทำไมเราถึงเป็นเช่นนี้   เราจะแก้ปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ได้  
เราเข้าใจผิดว่าถ้าเรามีคำตอบในเรื่องนั้น ๆ เราจะแก้สภาวะที่เราไม่พึงประสงค์นั้นได้  
เราคิดผิดไปว่าเราสามารถแก้ปัญหาทุกปัญหาได้    เพียงถ้าเรามีคำตอบว่าทำไม

แต่ในความเป็นจริง   เราไม่สามารถแก้ไขทุกสิ่งได้   แม้แต่นิสัยของเราเองบางอย่างเรายังไม่สามารถจัดการแก้ไขได้เลย    แล้วเราจะไปเปลี่ยน  ความคิด  จิตใจ  และชีวิตที่เกี่ยวข้องกับคนอื่น ๆ ได้อย่างไร   แล้วเราจะไปควบคุมกำกับกระแสต่าง ๆ ในสังคมได้อย่างไร?   ตกลงเป็นอันว่า ถึงเราจะได้คำตอบแต่ในหลาย ๆ ครั้งเราก็ยังไม่สามารถที่จะจัดการแก้ปัญหาเหล่านั้นที่เราประสบได้เลย

ในฐานะที่เราเป็นคริสตชน   เรารู้ว่าการเรียนรู้ของมนุษย์เกิดขึ้นได้สองแนวทางใหญ่ ๆ คือ  

แนวทางแรกเกิดจากการค้นหา  ทดลอง  และการแสวงหาคำตอบของเรา   เราใช้สติปัญญา  เราใช้ความคิดตรรกะเหตุผลในการค้นหาเพื่อที่จะเรียนรู้

ในอีกด้านหนึ่ง   มีหลายเรื่องในชีวิตที่เราไม่สามารถค้นหาเรียนรู้จากวิธีการที่กล่าวข้างต้น     แต่ต้องอาศัยการทรงเปิดเผยจากพระเจ้า   ถึงพระราชกิจที่ทรงกระทำในชีวิตมนุษย์และในสังคมโลก    พระราชกิจเหล่านี้พระองค์ทรงกระทำตามพระประสงค์ของพระองค์     มิใช่เพื่อตอบสนองความอยากรู้อยากเห็น  หรือ ตามความต้องการรู้ของมนุษย์   ดังนั้น   การเรียนรู้จากการทรงเปิดเผยถึงพระประสงค์ของพระเจ้าจะค่อย ๆ ช่วยเราให้เข้าใจสถานการณ์ชีวิตแต่ละครั้งที่เกิดขึ้นกับเรา

ในภาวะวิกฤติต่าง ๆ ในชีวิตที่เราเผชิญอยู่   เราจะรับมือกับความทุกข์ยากเหล่านั้นได้อย่างไรคงไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ว่าเราได้คำตอบว่า “ทำไม” ถึงเกิดขึ้นแก่เรา

แต่สิ่งที่เราต้องการคือ  “กำลัง” และ “การหนุนช่วย”    สิ่งนี้ต่างหากที่จะช่วยให้เราสามารถรับมือและจัดการกับวิกฤตินั้นด้วยความอดทนและจิตใจที่มั่นคง

พระเจ้าทรงเปิดเผยแผนการและพระราชกิจของพระองค์ผ่านทางธรรมชาติที่พระองค์ทรงสร้าง   ผ่านพระวจนะที่บันทึกถึงพระราชกิจ   พระประสงค์และน้ำพระทัยของพระองค์   และพระองค์ทรงเปิดเผยและสำแดงพระองค์ผ่านสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตของแต่ละคน   และสถานการณ์ของสังคมโลกด้วย

การทรงเปิดเผยของพระเจ้าในแต่ละสถานการณ์ชีวิต   เราต้องเข้าใจว่า  

ประการแรก  การที่เราตกอยู่ในสถานการณ์ชีวิตที่คับขันยากลำบากนั้น   มิใช่เพราะพระเจ้าต้องการให้เราประสบความทุกข์ยากลำบากในชีวิต   แต่ในหลาย ๆ สถานการณ์เกิดจากผลการตัดสินใจเลือก และ การกระทำของมนุษย์คนนั้นเอง

ประการที่สอง  สภาวะแวดล้อมที่เป็นต้นเหตุให้ชีวิตของเราต้องตกในสภาพที่ทุกข์ยากหรือเสี่ยงตาย   ในภาวะเช่นนี้เราจึงหวังพึ่งในการนำของพระเจ้าให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์สำหรับชีวิตของเรา   สิ่งที่เราทูลขอคงมิใช่ขอพระเจ้าช่วยให้เรารู้ว่าจะทรงนำเราไปในทางไหน  ถึงแม้ว่าเรารู้แล้วเราก็จัดการตนเองไม่ได้อยู่ดี   แต่เราทูลขอให้เรามีกำลังและความอดทนในการรอคอย และมีจิตใจที่ไว้วางใจในการทรงนำ และยอมทำตาม

ประการที่สาม  ในการทรงนำแต่ละก้าวย่างในวิกฤตินั้นเองที่เป็นการทรงเปิดเผยถึงน้ำพระทัยและพระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตของเราในเรื่องนั้น   เราได้เรียนรู้พระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตเรา   เราได้รับการทรงสร้างใหม่จากการใช้ชีวิตที่ก้าวย่างออกจากพลังอำนาจชั่วที่ทำให้เราตกอยู่ใต้วิกฤติ   เราได้เรียนรู้และเติบโตขึ้นในการดำเนินชีวิต   โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินชีวิตในวิถีแห่งพระประสงค์ของพระเจ้า  

สิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้เราเห็นถึงพระประสงค์ และ ชีวิตของเราชัดเจนมากยิ่งขึ้น   และทำให้เข้มแข็งเติบโตขึ้นในชีวิตที่เป็นสาวกของพระคริสต์
เพราะ​ว่า​บัดนี้​เรา​เห็น​สลัว ๆ เหมือน​ดู​ใน​กระจก
แต่​เวลา​นั้น​จะ​ได้​เห็น​พระ​พักตร์​ชัดเจน
เดี๋ยวนี้​ความ​รู้​ของ​ข้าพเจ้า​ไม่​สมบูรณ์
เวลา​นั้น​ข้าพเจ้า​จะ​รู้​แจ้ง​เหมือน​พระ​องค์​ทรง​รู้จัก​ข้าพเจ้า
(1โครินธ์ 13:12 มตฐ.)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

15 สิงหาคม 2557

คุณเคย “ชิม” พระเจ้าไหม?

เชิญชิมดูแล้วจะรู้ว่า  องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงแสนดี (สดุดี 34:8  อมต.)

ผู้เขียนสดุดีตอนนี้ใช้คำว่า “ชิม” เป็นการเปรียบเทียบ
มิได้หมายความว่าพระเจ้าเป็นอาหาร  และก็มิได้หมายความว่าให้เรา “ลองดู”
ผู้เขียนสดุดีตอนนี้กล่าวเชิญชวนให้ผู้ที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ชีวิตกับพระเจ้า
ให้เขาเข้ามา “ชิมดู” แล้วจะรู้ว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้านั้นแสนดี” ต่อชีวิตของเขา
ให้เขา “วางใจ” การทรงปกป้องของพระองค์ แล้วจะพบว่า “ชีวิตได้รับพระพร”

ผู้เขียนสดุดีตอนนี้กล่าวถึง พระพรหรือความสุขที่มาจากพระเจ้ามี 2 ส่วนสำคัญคือ
ส่วนแรก  พระเจ้าทรงพร้อมที่จะกระทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตของเรา
ส่วนที่สอง  เราต้องเต็มใจที่จะ “ชิม”  คือเปิดชีวิตเพื่อมีประสบการณ์ตรงกับพระเจ้า

พระราชกิจที่พระองค์พร้อมกระทำในชีวิตของผู้ “วางใจ” (ชิม) คือ...
การทรงช่วยกู้ให้พ้นหรือหลุดรอดออกจากอำนาจแห่งความกลัวทั้งสิ้น (ข้อ 4)
พระเจ้า “ฟัง” และ “ช่วยกู้” เราจากความยากลำบากทั้งสิ้น (ข้อ 6)
พระเจ้าปกป้อง และ ช่วยกู้เราจากอำนาจชั่ว และ สถานการณ์ที่เลวร้าย (ข้อ 7)
พระเจ้าทรงกระทำสิ่งที่ดีและประทานความสุขหรือพระพรในชีวิตของเรา (ข้อ 8)
พระเจ้าจัดเตรียมสิ่งที่จำเป็นสำหรับเรา (ข้อ 9)
พระเจ้าเฝ้าดู และ ฟังคำทูลของเรา (ข้อ 15)
พระองค์ทรงไถ่ถอนเราออกจากอำนาจความบาปผิด เพื่อเราจะมีเสรีในพระองค์ (ข้อ 22)

ในส่วนของเรา ต้องเต็มใจที่จะ “ชิม” คือไว้ใจ เพื่อมีประสบการณ์กับพระราชกิจของพระองค์
เราจริงใจในการแสวงหาพระองค์ (ข้อ 4, 10)
เราร้องทูลต่อพระองค์ในทุกวิกฤติชีวิตของเรา (ข้อ 6, 17)
เรา “ชิม”  คือวางใจในพระองค์ (ข้อ 8)
เรามีจิตใจที่ “ยำเกรง” พระองค์ (ข้อ 9)
เราระมัดระวังและควบคุมการการสื่อสารความสัตย์จริงของเราต่อคนอื่น (ข้อ 13)
เราควบคุมพฤติกรรมชีวิตของเราให้ละทิ้งความชั่ว กระทำความดี และใฝ่หาสันติภาพ (ข้อ 14)
เรามีจิตใจที่ถ่อมลงต่อพระพักตร์พระองค์ในการดำเนินชีวิต (ข้อ 18)
เมื่อเราได้รับการทรงไถ่  เราจึงเป็น “ผู้รับใช้พระองค์”  เพราะเราเป็นของพระองค์ (ข้อ 22)

ด้วยเหตุนี้เองที่ผู้ประพันธ์สดุดีตอนนี้จึงกล่าวว่า “พระเจ้านั้นแสนดี”
เราจึงไว้วางใจในพระองค์ได้   เพราะพระองค์แสนดี
เราจึงวางชีวิตทั้งในปัจจุบันและอนาคตไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์  เพราะพระองค์แสนดี
พระองค์ทรงเปลี่ยนแปลงความวุ่นวายโกลาหล  ให้เกิดกลายเป็นระบบระเบียบ
พระองค์ทรงกระทำให้สภาพชีวิตที่ตกเป็นเหยื่อของอำนาจบาปชั่ว ให้ได้รับสันติสุขในพระองค์
พระองค์ทรงกระทำการที่แสนดี  ท่ามกลางสภาพที่สับสนอลหม่าน

วันนี้   ให้เราวางใจในพระเจ้าที่ทรงกระทำสิ่งที่แสนดี
พระเจ้าองค์เดียวกันนี้แหละที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระเยซูคริสต์
ที่ทั้งสองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  เพราะทั้งสองต่างกระทำการที่แสนดีเพื่อเรามนุษยชาติ
เราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระเยซูคริสต์ได้   เพราะเรากระทำสิ่งที่แสนดีเยี่ยงพระองค์

ในฐานะที่เราเป็นบุตรของพระองค์  เป็นประชากรแห่งแผ่นดินของพระเจ้า
ให้เราไว้วางใจพระองค์ด้วยการกระทำสิ่งที่แสนดีในชีวิตประจำวันวันนี้
ให้เราอยู่ใกล้ชิดติดสนิทกับพระองค์ด้วยการกระทำสิ่งต่าง ๆ ที่แสนดีร่วมไปกับพระองค์

วันนี้จงวางใจพระองค์...
เพราะพระองค์เคียงข้างและหนุนเสริมเราให้กระทำสิ่งที่แสนดีร่วมไปกับพระองค์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

14 สิงหาคม 2557

ผู้นำที่มีอิทธิพลต่อชีวิต: คุณครูที่ปลุก “ความเป็นมนุษย์” ในตัวผู้เรียนให้ตื่น

นักเรียนหลับในห้องเรียน

ผมมีเพื่อนนักเรียนสมัยเรียนในโรงเรียนพระคริสต์ธรรมเชียงใหม่   นักศึกษาคนนี้นอนหลับในห้องเสมอ   ถึงขนาดลงโทษตนเองให้ยืนอยู่หลังห้องเรียน   แต่จนแล้วจนรอดได้ข่าวว่า  เขายืนหลับคาหลังห้องเรียนอีก   นี่แสดงว่าไม่สามารถควบคุมความง่วงนอนได้แล้ว   ทำให้ผมคิดถึง อาจารย์ Brad Johnson ท่านได้เขียนถึงประสบการณ์นักเรียนหลับในห้องเรียนที่น่าสนใจมากครับ

ท่านบอกว่า   สมัยที่ท่านเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย   ท่านได้พบเห็นกับการ “ปราบเซียนนักหลับ” ในห้องเรียนในรูปแบบต่าง ๆ กันของบรรดาเหล่าอาจารย์ทั้งหลาย   อาจารย์กลุ่มแรก ใช้พลังอำนาจในตำแหน่งความเป็นครูอย่างเต็มที่  หรือที่ปัจจุบันเขาเรียกว่า “อำนาจเผด็จการ” กัน   นักศึกษาคนไหนชอบนอนในห้องเรียน...ระวัง...  เดี๋ยวแปรงลบกระดานไวท์บอร์ดจะปลิวมาหาอย่างไม่ทันคาดคิด   แล้วเจ้านักศึกษาขี้เซาคนนั้นต้องสะดุ้งตื่น   นักศึกษาคนอื่นฮากันดังทั้งห้อง   นักศึกษาขี้เซาคนนั้นอายม้วนเสียหน้าและ “เสียเซลฟ์” ไปเลย

อาจารย์กลุ่มที่สองแก้ปัญหานักศึกษาหลับในชั้นเรียนอีกแบบหนึ่ง   กลุ่มนี้ไม่ชอบ “ความรุนแรง” เหมือนกลุ่มแรก   แต่เป็นกลุ่ม “ชอบสนุก”  ถ้าอาจารย์เห็นนักศึกษาคนใดชอบหลับในชั้นเรียนเป็นประจำ   ท่านจะเอาหนังสือตั้งใหญ่หนักมาตั้งไว้ที่ขอบโต๊ะของนักศึกษาคนนั้น   พอเขาขยับเพียงนิดเดียว   หนังสือทั้งหมดก็ตกโครม   ทำให้นักศึกษาทั้งห้องหันมาดูว่าอะไรเกิดขึ้น   แล้วหัวเราะลั่นกันทั้งห้องเรียน   นักศึกษาตื่นงัวเงียขึ้นมาเห็นเช่นนั้นก็อายม้วนเช่นกัน   นี่เป็นความสนุกบนความอับอายเสียความมั่นใจในตนเองของคนอื่นครับ

ที่สำคัญ  Brad Johnson บอกว่าทั้งสองวิธีข้างต้นไม่สามารถแก้ปัญหาการนอนหลับในชั้นเรียนของนักศึกษาได้เลย   คนที่เคยหลับก็ยังคงง่วงและหลับต่อไป   เขาไม่สามารถที่จะบังคับตนเองให้ตื่นได้!   แต่ Brad Johnson มีประสบการณ์ และชื่นชมในอาจารย์ท่านหนึ่งชื่อคาเรน (Karen) จบการศึกษาปริญญาเอกสายปรัชญามาหมาด ๆ เป็นคนที่มีลักษณะถ่อมและกันเองกับนักศึกษา   เธอขอให้นักศึกษาเรียกชื่อเธออย่าเรียก “ดอกเตอร์” เธอสอนวิชาในสายมนุษยวิทยา

เมื่อคาเรนพบนักศึกษาหลับในห้องเรียน   เธอจะเดินอ้อมไปข้างหลังแล้วเอามือลูบที่ไหล่ของนักศึกษาเบา   แล้วก้มลงที่ข้างหูของนักศึกษาคนนั้น   แล้วกระซิบกับเขาว่า  “อีริค  วันนี้ดูเธอเหนื่อยมากนะ  เธอไปนอนพักสักพักที่หลังห้องเรียนดีไหมจ๊ะ   แล้วพรุ่งนี้ค่อยเรียนใหม่อีกครั้งหนึ่งในวิชานี้”   ด้วยความรักเมตตาของคุณครูผู้สอนที่มีต่อนักศึกษาเช่นนี้เป็นพลังที่ปลดปล่อยนักศึกษาคนนั้นหลุดรอดออกจาก “อำนาจแห่งความง่วงเหงาหาวนอน” ได้ Brad Johnson บอกว่า  นักศึกษาที่ได้รับการปฏิบัติด้วยจิตใจและมือที่เมตตาของคุณครูเช่นนี้   ไม่มีใครเลยที่จะกลับมาง่วงแล้วหลับในห้องเรียนอีกเลย

ผู้นำที่มีอิทธิพล “ปลุก” ความเป็นมนุษย์ในตัวตนผู้คนให้ตื่นขึ้น!

ในฐานะคริสตชน ในความเป็นมนุษย์ที่พระเจ้าทรงสร้าง  และสร้างเราตามพระฉายาของพระองค์   แต่เพราะมนุษย์ตกลงใต้อำนาจแห่งความบาปชั่ว   ทุกวันนี้มนุษย์จึงมีชีวิตที่ต้องปล้ำสู้ขัดแย้งกันภายในชีวิตของมนุษย์เองแต่ละคน   และระหว่างตนเองกับมนุษย์คนอื่น ๆ  

ในการเรียนการสอน   ในการบริหารจัดการเป็นเรื่องของ “จิตวิญญาณ”  เพราะเป็นเรื่องที่คุณครู หรือ ผู้บริหารจะต้องตระหนักชัดว่า  ภารกิจการงานที่เรากำลังทำอยู่นี้เรากำลังทำกับ “ความเป็นคนและพระฉายาของพระเจ้าในความเป็นคนของคน ๆ นั้น”  และด้วยการสัมพันธ์และสัมผัสกับนักเรียน หรือ เพื่อนร่วมงานของผู้บริหารด้วยความรักเมตตาและใจถ่อมแบบพระคริสต์  เยี่ยงการกระทำของคุณครูคาเรนนั้น   จะเป็นการปลุกให้นักศึกษาคนนั้นตื่นจากความ “ง่วงนอน”  ยิ่งกว่านั้น   จะเป็นการปลุกความเป็นมนุษย์ตามพระฉายาของพระเจ้าในตัวของคน ๆ นั้นให้ได้รับการ “ปลดปล่อย” ด้วยอิทธิพลแห่งความรักเมตตาแบบพระคริสต์

สำหรับคาเรนแล้ว   ผมเห็นว่าเธอไม่ใช่คุณครูที่เตรียมสอนอย่างดี   สื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ  หรือเป็นนักประกาศที่โด่งดัง  หรือมีอำนาจในการบัญชาการ   แต่จากชีวิตการทำงานของเธอเตือนให้ผมคิดได้ว่า   พระฉายาของพระเจ้าในตัวตนความเป็นมนุษย์ของเธอได้สัมผัสสัมพันธ์ชีวิตของนักเรียนได้ “ปลุก” ให้ความเป็นคนในเพื่อนนักเรียนได้ตื่นขึ้นที่จะแสวงหาสัจจะแห่งชีวิต

เธอสอนหนังสือที่ “ปลุก” และ “สร้างเสริม” จิตวิญญาณของนักเรียนให้เป็นพลังเปลี่ยนแปลงชีวิตครับ!

ผมเชื่อและหวังว่า คุณครู อาจารย์ ในสถาบันการศึกษา และ คริสตจักรจะมีจิตวิญญาณเฉกเช่นนี้ และ

ผู้บริหารระดับต่าง ๆ ในสถาบัน หน่วยงานของคริสตชน และ คริสตจักร  จะบริหารจัดการด้วยจิตวิญญาณที่แข็งแรง มุ่งมั่น  อ่อนโยน และ ถ่อมด้วยความรักเมตตาที่เสียสละแบบพระคริสต์

บริหารด้วยจิตวิญญาณแบบพระคริสต์ครับ!  มิใช่บริหารจัดการด้วยความสามารถในการบริหารจัดการตามวิชาการที่ร่ำเรียน(จากทั้งในและนอกประเทศ)เท่านั้นครับ!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

เก้าสิ่งที่ควรปล่อยละและวางจากชีวิต

1.   การไล่ล่าหาเงิน

เงินเป็นสิ่งที่มวลมนุษย์ต้องการและเห็นว่าสำคัญ   เกือบทุกคนมองเห็นว่า  การมีเงินให้โอกาสในการตัดสินใจเลือกมากขึ้น   และแน่นอนเงินทำให้หลายต่อหลายคนอุ่นใจเมื่อมีเงินในกระเป๋าและในธนาคาร

แต่ความจริงของความจริงเราพบว่า   ถ้าเราเลือกที่จะไล่ล่าหาเงิน   เมื่อได้เงินแล้ว  ก็ต้องการได้มากขึ้นอีก   ไม่รู้จักเพียงพอ   และเราไม่เคยมีความสุขสันติในชีวิตเลยถ้ายังมุ่งแต่ไล่ล่าหาเงิน

2.   ทำอะไรก็ต้องการสิ่งตอบแทน

จงกระทำดีเพราะเป็นการกระทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า   ซึ่งเป็นการกระทำเพื่อแผ่ขยายความรักเมตตาแห่งแผ่นดินของพระเจ้า และการสร้างสรรค์ให้ขยายกว้างไกล   อย่าทำดีเพียงเพื่อคาดหวังจะได้สิ่งที่ตนต้องการสิ่งตอบแทน

3.   อยู่กับอดีตที่ผ่านเลย

อย่าฝังตัวตน ความคิด ความรู้สึกไว้ในอดีตเลย  มุ่งมองชีวิตที่เป็นจริงในวันนี้ดีกว่า   อนาคตเป็นสิ่งที่เราจะต้องเสริมสร้างในวันนี้  ที่แน่ ๆ พระคริสต์ทรงเดินเคียงข้างชีวิตเราในวันนี้

4.   ทำตนให้ผู้คนชื่นชอบพอใจ

เราไม่สามารถที่จะทำให้ทุกคนชอบเรา   เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากเอามาก ๆ เพราะเราไม่รู้ว่าเขาคิดอย่างไร  เขาต้องการอะไร  เขาคาดหวังอะไรในตัวเรา เราไม่สามารถเข้าใจเขาได้ทุกเรื่อง   และเราไม่รู้อีกเช่นกันว่า   ที่บางคนขัดแย้งกับเรา  ไม่ชอบหน้าเรา  มีปัญหากับเราเพราะด้วยเหตุผลใด   แต่พระคัมภีร์บอกเราว่า   ถ้าเป็นได้  เรื่องที่ขึ้นอยู่กับเรา  ให้เราอยู่กับทุกคนด้วยความสงบสุข (โรม 12:18)

5.   คาดหวังสูงเกิน
ลองลดความคาดหวังอันสูงส่ง(ตามความปรารถนาของเรา)ลงบ้าง   แล้วเราจะมีความผิดหวังน้อยลง   แต่ให้เราหวังและรอคอยในพระเจ้า   เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำจุนเรา  และเป็นที่หลบภัยของเรา (สดุดี 33:20)

6.   ไล่ตามหาเวลา

มีชีวิตอยู่ด้วยความรีบเร่ง   ทุกวันนี้ทุกคนรีบเร่ง   อย่าให้ชีวิตของเราแขวนไว้กับนาฬิกามากนัก  เป็นการดีที่เราจะค่อย ๆ ช้าลงบ้าง   แล้วทำใจให้สบาย   เรียนรู้ที่จะรอคอย   โดยเฉพาะอย่างยิ่งรอคอยเวลาของพระเจ้า   จงสงบ...และเพียรรอคอยพระเจ้า (สดุดี 37:7)   รอคอยพระเจ้า  เพื่อรับกำลังใหม่จากพระองค์ (อิสยาห์ 40:31)

7.   การแก้แค้นคนที่ทำผิดต่อตน

การตอบสนองอย่างสาสมกับคนที่ทำผิดต่อเรา (ไม่ว่าด้วยการกระทำ  คำพูด  การเขียน  หรือสะใจ) รังแต่จะเป็นไฟเผาไหม้ภายในชีวิตของเราในที่สุด  “ไม่มีความจำเป็นที่เราจะต้องแก้แค้น   เพราะการแก้แค้นเป็นเรื่องการทรงจัดการของพระเจ้า” (โรม 12:19)

8.   ไล่ล่าความรักสำหรับตน

ไม่ต้องแสวงหาความรักสำหรับตน   แต่จงรักในสิ่งที่เราทำเราดำเนินชีวิต  แล้วความรักจะถูกดึงดูดเข้ามาหาเราเอง  เมื่อทำเช่นนี้แล้ว   ผู้คนจะเห็นพระพรในชีวิตของเรา เราจะพบความรักเมื่อเราให้ความรัก   มิใช่มัวแต่ค้นหากอบโกยความรัก

ความรักคือการให้  ให้ความอดทน,  ให้จิตใจที่ปราณี,  ไม่อวดตัว,  ไม่หยิ่งผยอง, ไม่หยาบคาย,  ไม่เห็นแก่ตัว,  ไม่ฉุนเฉียว,  ไม่ช่างจดจำความผิด,  ไม่ชื่นชมยินดีในความอธรรม  แต่ชื่นชมยินดีในความจริง,  ความรักทนได้ทุกอย่าง  เชื่อ(ในส่วนดีของผู้อื่น)อยู่เสมอ  มีความหวัง  และทรหดอดทนอยู่เสมอ (1โครินธ์ 13:4-7)

9.   ไล่ล่าหาความสุข

หยุดคิดที่จะไข่วคว้าหาความสุขใส่ตัว   หยุดการพยายามอย่างมากเพื่อจะมีความสุข

เพียงแค่เรามีชีวิตอยู่  เราก็สามารถที่จะมีความสุขได้   ความสุขเปิดรับเราเสมอ  ความสุขมิได้อยู่ที่ไหนห่างไกลเราเลย   แต่ความสุขมีอยู่ภายในส่วนลึกชีวิตเรา   ความสุขรอคอยที่จะซึมซับเข้าในการดำเนินชีวิตของเรา   ความสุขเป็นการดำเนินตามเป้าหมายชีวิตที่เป็นพระประสงค์ของพระเจ้า

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

09 สิงหาคม 2557

ชีวิตความเชื่อที่เปราะบาง

คริสตจักรจะฟูมฟักความเชื่อของสมาชิกให้เข้มแข็งขึ้นด้วยการเผชิญหน้ากับกระแสชีวิตประจำวันได้อย่างไร?

ความจริงที่ขัดแย้งกันอย่างน่างงงวยที่สุดของผู้นำคริสตชนคือ   ยิ่งเราทนุถนอมปกป้องให้ชีวิตคริสตชนมั่นคงปลอดภัยมากแค่ไหน   ในระยะยาวแล้วเรากำลังสร้างความเปราะบางและอ่อนแอในชีวิตคริสตชนมากขึ้นแค่นั้น!  

ดังนั้น  จำเป็นอย่างยิ่งที่คริสตจักรจะต้องกลับมาตรวจสอบเพื่อที่จะมั่นใจได้ว่า  ในพันธกิจการสร้างสาวกพระคริสต์ของคริสตจักร   เราได้กระทำอย่างจริงจัง ให้ความคิดและจิตใจของสมาชิกให้หยั่งรากลงลึกในพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์มากน้อยแค่ไหน?

ปัญหาของผู้นำ, พันธกิจการสอน,  การบ่มเพาะชีวิตจิตวิญญาณสมาชิก  และปัญหาในโปรแกรมการสร้างสาวกพระคริสต์ของคริสตจักรมิได้อยู่ที่ว่าเราหล่อหลอมความเชื่อของสมาชิกในคริสตจักรอย่างตื้นเขินเท่านั้น   แต่คริสตจักรได้พัฒนาความเชื่อของสมาชิกอย่างคับแคบด้วยมิใช่หรือ?   เราจะหนุนเสริม  ตระเตรียม และเสริมสร้างสมาชิกคริตจักรให้มีความเชื่อที่สามารถเผชิญหน้าและรับมือกับสถานการณ์ที่เลวร้าย  และกระแสสังคมโลกปัจจุบันที่ไม่คาดคิดมาก่อนได้อย่างไร?  ทำอย่างไรที่เราจะเสริมสร้างให้ชีวิตจิตวิญญาณของสมาชิก ไม่ให้เปราะบาง   

จากประสบการณ์ของโลก   ไม่ว่าเมื่อต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์วิกฤติที่เลวร้าย เช่น เมื่ออเมริกาที่เป็นมหาอำนาจ ยิ่งใหญ่ แต่กลับถูกถล่มจากผู้ก่อการร้าย   หรือเมื่อเศรษฐกิจโลกต้องพบกับวิกฤติล้มพับครั้งสำคัญ   สิ่งเหล่านี้เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างที่ไม่ได้คาดคิดชัดเจนมาก่อน   แต่มันก็ได้เกิดขึ้นแล้ว   ทำให้ผู้คนต้องเรียนรู้จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น   และสิ่งที่ได้คือการเสริมสร้าง  “ภูมิคุ้มกัน”  ต่อสถานการณ์ที่อาจะจจะเกิดขึ้นอีก   หรือ สร้าง “ภูมิคุ้มกันป้องกันความเปราะบาง” ที่อาจจะจะเกิดขึ้นได้   นั่นหมายความว่า  ภายหลังการเผชิญหน้ากับวิกฤติอันเลวร้ายได้เกิดชุดประสบการณ์และสิ่งที่เรียนรู้   แล้วนำมาเสริมสร้างระบบเศรษฐกิจ  สังคม  การเมือง  ความปลอดภัยที่เข้มแข็งกว่าเดิม   ให้เป็นระบบความเข้มแข็งพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นอีก   มากกว่านั้น  ยังเสริมสร้างระบบที่เข้มแข็งกว่าเดิมที่จะไม่ให้วิกฤติเลวร้ายนั้นเกิดขึ้นซ้ำสอง

ถามว่า  แล้วคริสตจักรจะใช้กระบวนการดังกล่าวในการเสริมสร้างสาวกพระคริสต์ในชีวิตสมาชิกคริสตจักรได้หรือไม่?   คริสตจักรจะมิเพียงแต่เสริมสร้างชีวิตคริสตชนที่เข้มแข็งเหนียวแน่นเท่านั้น   แต่จะปรับเปลี่ยน หนุนเสริมความเชื่อที่เปราะบางและอ่อนแอให้เข้มแข็ง  และเกิดระบบภูมิคุ้มกันอำนาจแห่งความบาปชั่วในรูปแบบต่าง ๆ ผ่านการเผชิญหน้ากับความทุกข์ยากลำบากในชีวิตและอำนาจบาปชั่วด้วยการทรงนำและชูช่วยจากองค์พระวิญญาณบริสุทธิ์ ได้หรือไม่?  

คริสตจักรของเรามักหล่อหลอมความเชื่อที่ไม่สามารถต้านทาน และ รับมือเผชิญหน้าในชีวิตประจำวันที่เป็นจริงแก่สมาชิกคริสตจักร

คริสตจักรกำลังเสริมสร้าง “ความเชื่อที่เปราะบางและอ่อนแอ” ในชีวิตจริงของสมาชิก!

ความเชื่อที่เปราะบาง   เป็นความเชื่อศรัทธาที่ไม่มีพลังต้านทาน และ ที่จะเผชิญหน้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน   แต่ถ้าคริสตจักรของเราละเลยและมองข้ามความสำคัญในเรื่องนี้   หรือเข้าใจว่า สิ่งเหล่านี้มิใช่หน้าที่ความรับผิดชอบของคริสตจักรแล้ว   เรากำลังเตรียมและเสริมสร้างให้สมาชิกคริสตจักรของเรามุ่งหน้าสู่ชีวิตสาวกของพระเยซูคริสต์ที่ล้มเหลว!

คริสตจักรคงต้องถามตนเอง 2 คำถามสำคัญคือ    เมื่อสมาชิกต้องเผชิญหน้ากับการท้าทายและความซับซ้อนในสถานการณ์ชีวิตประจำวัน...  

  1. คริสตจักรจะช่วยให้สมาชิกยอมเปิดความคิดจิตใจของเขาที่จะรับมือกับสถานการณ์หลากหลายรูปแบบด้วยพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์  คำสอน  และแบบอย่างชีวิตที่รักเมตตาและเสียสละของพระคริสต์ได้อย่างไร?
  2. คริสตจักรจะช่วยให้สมาชิกมองสถานการณ์ และ กระแสสังคมที่ถาโถมเข้ามาในชีวิตของเขาอย่างไร?   คริสตจักรจะช่วยสมาชิกให้มองสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นความเลวร้ายที่เขาต้องหลีกเลี่ยงไปให้ห่างไกล หรือ  ช่วยให้สมาชิกมองว่านี่คือสถานการณ์จริงของสังคมโลกที่เราจะต้องปล้ำสู้และเผชิญหน้า   แต่มิใช่ด้วยกำลังความสามารถของเราเอง   แต่ด้วยพระกำลังจากองค์พระวิญญาณบริสุทธิ์?


การหลีกลี้หนีปัญหา  ความขัดแย้ง  และกระแสสังคมรังแต่จะทำให้เราอ่อนแอ อ่อนกำลัง จิตวิญญาณเปราะบาง   แต่การเผชิญหน้าสถานการณ์เหล่านั้นด้วยพระกำลังและการทรงนำจากพระวิญญาณบริสุทธิ์   คือโอกาสที่เราจะเรียนรู้  เติบโต  เข้มแข็งขึ้นในชีวิตการเป็นสาวกของพระคริสต์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

04 สิงหาคม 2557

5 ขั้นการมอบหมายงานที่ไม่ควรละเลย

การมอบหมายงานของผู้นำมีความสำคัญอย่างยิ่ง   เพราะวิธีการมอบหมายงานคือตัวบ่งชี้ความก้าวหน้าความสำเร็จ หรือ ความล้มเหลวของงานที่มอบหมายให้ทีมงานทำ

บางครั้งพบว่า  ผู้นำของหลายองค์กร หลายสถาบัน หรือ หลายหน่วยงาน  รวมถึงหลายคริสตจักรมักมอบหมายงานโดยผู้นำไม่ได้สนใจว่าทีมงานจะสามารถทำได้อย่างที่ตนคาดคิดหรือไม่   คิดเพียงแต่ว่าตนเองเป็นผู้นำมีหน้าที่มีอำนาจที่จะมอบหมายงานให้ลูกน้องทำ   แล้วก็คาดหวังคาดเดา หรือ มโนไปเองว่าทีมงานต้องทำได้   ผลที่ได้รับคือความล้มเหลวในงานชิ้นนั้น   นี่จะไปโทษทีมงานไม่ได้   แต่ควรโทษผู้นำคนนั้นที่ไม่ทำหน้าที่การเป็นผู้นำที่ได้รับมอบหมาย   ผู้นำต้องตระหนักรู้ตลอดเวลาว่า  การมอบหมายงานมิใช่เพียงเพื่อให้งานชิ้นนั้นมีคนทำรับผิดชอบและทำสำเร็จเท่านั้น   แต่นี่เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนเสริมเพิ่มประสิทธิภาพภาวะผู้นำของทีมงานด้วย

หน้าที่ความรับผิดชอบของผู้นำ 5 ขั้นตอนสำคัญในการมอบหมายงานที่ตนไม่ควรละเลย

1. บอกเพื่อนร่วมงานให้รู้ว่าท่านต้องการให้เขาทำอะไร

เมื่อท่านมอบหมายงานให้ทีมงานของท่าน   ให้ท่านบอกถึงความคาดหวังของท่านว่า  เมื่องานนี้ทำสำเร็จแล้วจะต้องเป็นอย่างไรบ้าง  ต้องเกิดอะไรขึ้น   ยิ่งกว่านั้น  ให้อธิบายถึงเป้าประสงค์ของงานที่มอบหมายนั้น   และเกี่ยวข้องกับภาพใหญ่ของงานทั้งองค์กรอย่างไรบ้าง

2.   ทำให้เขาเห็นว่าจะทำสิ่งนี้ให้ดีควรทำอย่างไร

การบอกถึงวิธีทำไม่ชัดเจนเท่ากับทำให้ดู  แล้วฝึกให้เขาทำ   ทีมงานของท่านต้องการท่านทำให้เป็นตัวอย่างว่าจะทำให้งานชิ้นนี้ให้สำเร็จควรกระทำอย่างไร  (ปัญหาคือ ผู้นำหลายคนที่มอบหมายงาน  ไม่รู้หรือไม่สามารถทำงานให้สำเร็จได้   แต่คาดหวังให้ลูกน้องทำให้สำเร็จ   อันนี้แย่มากกว่าที่คิด)

3.   แล้วเปิดโอกาสให้เขาทดลองทำดู

การฟังเท่านั้น สู้การมีโอกาสลงมือทดลองทำด้วยตนเองต่อหน้าผู้รู้และชำนาญไม่ได้   ทีมงานของท่านเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง   ดังนั้น การที่ท่านให้โอกาสทีมงานได้ทดลองทำเองและท่านอยู่เคียงข้างเขา   เป็นการฝึกฝนที่เหมาะสมยิ่ง

4.   สังเกตการทดลองทำของทีมงาน

การไว้วางใจที่มีการพิสูจน์ให้มั่นใจ   ย่อมมีประสิทธิภาพกว่าความไว้วางใจที่มีแต่การคาดเดาหรือมโนไปเอง การหนุนเสริมเพิ่มพลังความสามารถและชำนาญย่อมทำให้ทีมงานของท่านทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูง   แต่อย่าคาดหวังว่าเมื่อท่านมีการให้เขาฝึกหัดทำแล้วก็ปล่อยให้เขาไปทำเอง   เพราะนั่นจะเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่ง   หลายคนเมื่อรับการอบรมดูเหมือนทำได้   แต่เมื่อกลับไปทำเองแล้วต้องเจอกับสิ่งไม่คาดคิด   เมื่อไม่รู้ว่าจะแก้ไขจัดการด้วยวิธีใหม่อย่างไรก็จะกลับไปทำอย่างเดิมตามความเคยชิน   หรือไม่ก็หยุดทำงานนั้นไว้ก่อน   เพราะไม่รู้จะทำอย่างไร   ผู้นำมีความรับผิดชอบ โค้ชให้งานที่ตนมอบหมายให้ทีมงานประสบความสำเร็จ   การติดตามสอนงานทีมงานว่าเขาทำได้ดีมากน้อยแค่ไหนและการแนะนำและโค้ชงานให้ทำได้อย่างดีเป็นความรับผิดชอบของผู้นำ   ทำให้ทีมงานเกิดการเรียนรู้จากการทำงานชิ้นนั้นด้วยการสอนงานที่สร้างสรรและโค้ชงานตามที่ทีมงานจำเป็น

5.   ชื่นชมในความสามารถ ความพยายาม และความก้าวหน้าของทีมงาน

เมื่อทีมงานทำอะไรลงไปแล้วได้รับรางวัลหรือการตอบสนองในเชิงบวกและสร้างสรรค์ย่อมทำให้เขาทำแบบนั้นอีก   ผู้คนจะทำในสิ่งที่เขาทำแล้วได้รับการชื่นชมและสรรเสริญ   ผู้นำควรสร้างบรรยากาศในที่ทำงานที่ให้การชื่นชมอย่างเปิดเผย  ให้กำลังใจ  และรางวัลแก่แต่ละคนที่มีความก้าวหน้าและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

การมอบหมายงานนอกจากมุ่งหวังให้งานบรรลุความสำเร็จตามประสงค์แล้ว   ยังเป็นโอกาสในการพัฒนาความสามารถในการทำงานของทีมงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น   อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างให้ทีมงานมีภาวะผู้นำจากแบบอย่างในการเป็นผู้นำที่เขาเห็นจากการกระทำที่ใส่ใจของท่าน   และที่สำคัญคือ การมอบหมายงานเป็นโอกาสกระชับความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด สนิทสนม   และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของทีมงานกับหัวหน้าด้วย  


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่

E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ความเข้มแข็งทางใจของคริสตชน

ความเข้มแข็งทางใจมีความสัมพันธ์อย่างมากกับภาวะผู้นำคริสตชนในแต่ละตัวคน

เมื่อคนใดคนหนึ่งที่ต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ร้าย ๆ ต้องพบกับวิกฤติ   และต้องหาทางออกจากภัยสุ่มเสี่ยงเลวร้ายเหล่านั้น   เขาต้องกระทำโดยการร่วมมือกับพระเจ้าและคนอื่น ๆ ด้วยการบริหารจัดการตนเอง ด้วยการบริหารจัดการสถานการณ์วิกฤติแวดล้อม การจัดการตนเองเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก และน่าสนใจว่าคริสตชนคนนั้นจะจัดการตนเองในส่วนของการสร้างเสริมความเข้มแข็งทางจิตใจอย่างไร

คริสตชนจะเสริมสร้างความเข้มเข็งทางใจได้อย่างไร?

ประการแรก ปัจจุบันเราได้รับการสอนว่า ความเข้มแข็งทางใจจะเกิดขึ้นได้ผู้นั้นจะต้องมีทักษะในการคิด   และเป็นการคิดที่ได้รับการบ่มเพาะจิตวิญญาณแห่งการ มองสิ่งต่าง ๆ บนความเป็นจริงในแง่ดี(แง่บวก)”  
แต่ถ้าตามมุมมองของคริสตชนแล้ว  เป็นการบ่มเพาะให้คิดที่  เชื่อและมั่นใจในพระเจ้า”  และมี ความหวังในพระองค์มากกว่าการมองบนความเป็นจริงในแง่ดีหรือแง่บวกเท่านั้น

แต่เมื่อใช้มุมมองแบบคริสตชน คริสตชนส่วนใหญ่มักมีแนวโน้มที่จะมองว่า   เมื่อชีวิตต้องพบกับความเครียด  ความกดดัน  หรือความล้มเหลวถดถอยในงานที่ทำและรับผิดชอบ   เรามักคาดคิดหรือรู้สึกว่าทุกอย่างจะเป็นไปด้วยดีโดยอัตโนมัติ   แต่ในความเป็นจริงแล้วบ่อยครั้งที่ไม่ได้เป็นไปด้วยดีอย่างอัตโนมัติ   บางครั้งแย่ลงยิ่งกว่าเดิมเสียอีก

ในมุมมองคริสตชนที่มีความเชื่อศรัทธา   เรามีทั้งความมั่นใจในพระเจ้า และการเดินเคียงข้างไปกับพระเจ้านั้นแตกต่างจากการเพียงพึ่งพาความมั่นใจในตนเองและการมีมุมมองบนความเป็นจริงในแง่ดี และมุมมองความเชื่อว่าทุกอย่างจะไปด้วยดีโดยอัตโนมัติ   ซึ่งมีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดระหว่าง การมองบนความเป็นจริงกับ ความหวังแบบคริสตชน

ความมั่นใจของคริสตชนมิได้ยืนอยู่บนรากฐานการเป็นไปได้เองอย่างอัตโนมัติ   แต่ความมั่นใจของคริสตชนวางอยู่บนรากฐานแห่งพระสัญญาของพระเจ้าและการสถิตอยู่ด้วยของพระองค์   ดังนั้น  การสร้างความเข้มแข็งทางใจของคริสตชนจึงมิใช่การมองสิ่งต่าง ๆ บนฐานของความเป็นจริงในแง่ดี   แต่ความเข้มแข็งทางใจของคริสตชนตั้งอยู่บนรากฐานความมั่นใจแห่ง ความเชื่อศรัทธา  ประสบการณ์ที่ผ่านการทดสอบมาแล้วในชีวิตจริง

นอกจากที่จะต้องมีทักษะในการคิดแล้ว   ยังต้องมีทักษะในการตระหนักชัดใน พลังชีวิต”   และทักษะที่รู้แน่ชัดในสิ่งที่ตนต้องกระทำ

ประการที่สอง ทักษะในการตระหนักชัดถึงพลังชีวิต   ในที่นี้หมายถึงการที่ผู้นำคนนั้นรู้แน่ชัดว่า  แต่ละวัน พลังชีวิตของเราไหลออกจากตัวเราไปทางใดบ้าง (ถูกใช้ไปในทางใดบ้าง)  และเรามีทางที่จะเสริมเพิ่มเติมเต็ม พลังแก่ชีวิตของเราในแต่ละวันได้อย่างไร   หรือในแต่ละวัน พลังชีวิตของเรามีแต่จะไหลรั่วออกจากชีวิตของเราเท่านั้น   ถ้าเช่นนั้น ชีวิตของเราก็เป็นเหมือนเทียนไขที่เราจุดไฟทั้งสองด้าน   ที่มีแต่การไหลออกของ พลังชีวิต”   จึงรู้สึกในแต่ละวันว่า   เหนื่อยล้าหมดแรงทั้งกาย  และ จิตใจห่อเหี่ยวเพลียแรง   อารมณ์ถดถอยสิ้นกำลัง   มีแต่สร้างความอ่อนใจชีวิตเปราะบาง   ชีวิตรู้สึกซับซ้อนและสับสน   ชีวิตตีบตันหาทางออกไม่ได้

การพัฒนาทักษะในการตระหนักชัดถึงพลังชีวิตคือการรู้เท่าทันถึงพลังที่ใช้ไปในแต่ละวันของตน  ยิ่งกว่านั้นยังตระหนักรู้ว่าตนเองจำเป็นต้องเติมเต็มพลังชีวิต   และยังรู้ด้วยว่ามีแหล่งพลังชีวิตอยู่ที่ไหนที่จะนำมาเติมเต็มได้

พี่ พี่ ปั๊มเติม พลังชีวิตอยู่แถวไหนครับ?”

ประการที่สาม ทักษะความตระหนักชัดในสิ่งที่เราต้องกระทำ   และเป็นการหนุนเสริมเพิ่มพลังในสิ่งที่เราจะต้องกระทำ   เป็นความตระหนักชัดที่หนุนเสริมเพิ่มพลังแก่เราให้รู้ชัดว่า  มีอะไรบ้างที่เราจำเป็นจะต้องทำในวันนี้   เกิดกำลังใจกำลังกายที่จะต้องกระทำ   และลงมือทำ   ความสามารถที่จะลงมือทำเป็นพลังที่ทำให้งานขับเคลื่อนไป  และมันยังเป็นพลังที่สร้างความรู้สึกที่ดี   ที่เป็นพลวัตรเพิ่มพลังในการขับเคลื่อนงานของเรามากยิ่ง ๆ ขึ้น

ใช่เลยพี่   การเริ่มก้าวแรกในสิ่งที่รู้ว่าต้องทำต้องการพลังมหาศาลครับ

ตัวอย่างชีวิตจากพระคัมภีร์

ดังตัวอย่างชีวิตของโยเซฟบุตรยาโคบ  แม้เขาจะถูกพี่ชายขายให้พ่อค้า  และถูกนำตัวไปขายอีกทอดหนึ่งแก่นายทหารที่อียิปต์   ตลอดชีวิตของโยเซฟต้องตกอยู่ในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ส่วนใหญ่เลวร้ายและทุกข์ยาก   แต่ในทุกสถานการณ์   ในความคิดของโยเซฟคือ  พระเจ้าทรงสถิตอยู่เคียงข้างด้วยในทุกสถานการณ์ชีวิต   ไม่ว่าจะในบ้านของโปทิฟาร์ ในคุกปฐมกาล 39:21  บอกกับเราว่า แต่ว่าพระยาห์เวห์ทรงอยู่กับโยเซฟ ทรงสำแดงความรักมั่นคงต่อท่าน

เมื่อทำนายความฝันแก่ฟาโรห์   โยเซฟบอกความจริงแก่ฟาโรห์ว่า  ไม่ใช่ข้าพระบาท พระเจ้าต่างหากจะประทานคำตอบอันควรแก่ฟาโรห์”(ปฐมกาล 41:16 มตฐ.)   นอกจากที่โยเซฟจะมั่นใจในพระเจ้าและการทรงสถิตอยู่ด้วยของพระองค์แล้ว   ชีวิตของโยเซฟยังสำแดงออกชัดถึงการสถิตด้วยของพระเจ้า   ดังที่ฟาโรห์กล่าวว่า  39 (ฟาโรห์จึงตรัสกับโยเซฟว่า)เพราะพระเจ้าได้ทรงสำแดงเรื่องทั้งสิ้นนี้แก่เจ้า จึงไม่มีใครที่มีความเข้าใจและมีปัญญาเหมือนเจ้า...” (ปฐมกาล 41:39 มตฐ.)

เมื่อโยเซฟพบกับบรรดาพี่ชาย   ท่านได้ยืนยันความคิด ความเชื่อ และการสถิตด้วยของพระเจ้า   ยิ่งกว่านั้นท่านชัดเจนว่า   ในทุกสถานการณ์ชีวิตที่ผ่านมาเป็นแผนการณ์ของพระเจ้าที่มีในชีวิตของท่านทั้งสิ้น   แต่เดี๋ยวนี้อย่าเสียใจไปเลย อย่าโกรธตัวเองที่ขายฉันมาที่นี่ เพราะว่าพระเจ้าทรงใช้ฉันให้มาก่อนหน้าพวกพี่ เพื่อจะได้ช่วยชีวิต...ฉะนั้น ไม่ใช่พี่เป็นผู้ให้ฉันมาที่นี่ แต่พระเจ้าทรงให้มา...” (ปฐมกาล 45:5-8 มตฐ.)  คริสตชนต้องมองเห็นถึงแผนการของพระเจ้าในชีวิตของตน   และไม่ว่าสถานการณ์ที่เลวร้ายหรือดีเด่นเช่นไรไม่ใช่สิ่งที่สำคัญ   สิ่งที่สำคัญคือโยเซฟเชื่อมั่นในแผนการณ์ชีวิตที่พระเจ้าทรงนำและเคียงข้างอยู่ด้วย

สิ่งสำคัญประการต่อมา   ไม่ว่าชีวิตของโยเซฟต้องตกลงในสถานการณ์เช่นไร   ท่านทำงานและใช้ชีวิตของท่านอย่างสัตย์ซื่อต่อพระเจ้า   และเป็นที่พึ่งพาของคนที่เขาทำงานด้วย   เมื่อถูกขายให้เป็นทาสในบ้านโปทิฟาร์   ท่านทำงานอย่างเต็มกำลังด้วยความรับผิดชอบ   เพราะสำนึกว่าพระเจ้าทรงนำท่านและสถิตด้วยกับท่าน  พระยาห์เวห์ทรงอยู่กับโยเซฟ ท่านจึงประสบความสำเร็จ ท่านอยู่ในบ้านคนอียิปต์นายของท่าน นายของท่านก็เห็นว่าพระยาห์เวห์ทรงอยู่กับท่าน และพระยาห์เวห์ทรงให้การงานทุกอย่างที่มือท่านทำสำเร็จ” (ปฐมกาล 39:2-3 มตฐ.)   และเมื่อท่านต้องโทษในคุกหลวงใต้ดิน   ท่านไม่ได้ซึมเศร้าเสียใจ   แต่ท่านกลับทำงานรับผิดชอบในคุกอย่างเต็มกำลังจนเกิดผล  แต่ว่าพระยาห์เวห์ทรงอยู่กับโยเซฟ ทรงสำแดงความรักมั่นคงต่อท่าน และทรงให้พัศดีโปรดปรานท่าน พัศดีก็มอบนักโทษทั้งหมดในเรือนจำไว้ในความดูแลของโยเซฟ การงานที่ทำในที่นั้นทุกอย่างโยเซฟเป็นผู้ทำ พัศดีไม่ต้องดูการงานทุกอย่างที่โยเซฟดูแล เพราะพระยาห์เวห์ทรงอยู่กับท่าน และพระยาห์เวห์ก็ทรงทำให้สิ่งที่ท่านทำนั้นสำเร็จ” (ปฐมกาล 39:21-23 มตฐ.) เพราะการที่โยเซฟมีทักษะตระหนักชัดว่า ตนต้องทำอะไรในแต่ละสถานการณ์นี้เอง ที่เป็นพลังชีวิตที่หนุนเสริมให้ชีวิตของท่านก้าวไปจนในที่สุดได้เป็นมหาอุปราชของอียิปต์

ประการแรก เราได้เห็นว่า แม้ชีวิตของโยเซฟจะตกลงในสภาพเช่นใด   สิ่งที่เราเห็นได้ชัดคือ ความเข้มแข็งทางใจของท่าน   ไม่ว่าจะถูกพี่ชายขาย   ถูกนายหญิงกล่าวโทษใส่ร้าย   ถูกเพื่อนนักโทษลืม  แต่สถานการณ์เหล่านี้ไม่มีอิทธิพลที่จะครอบงำให้โยเซฟต้องตกเป็นเหยื่อ   ทั้งนี้เพราะท่านมีความคิดที่ชัดเจนและความเชื่อที่มั่นคงในการสถิตอยู่ด้วยของพระเจ้า   และเชื่อในแผนการของพระเจ้าในชีวิตของท่าน ดังนั้น ในทุกสถานการณ์ชีวิตท่านแสดงออกถึงภาวะผู้นำที่ชัดเจน

ประการที่สองเราสังเกตเห็นชัดว่า   ท่านรู้ว่าพลังชีวิตของท่านมาจากพระเจ้า   ไม่ว่าจะเป็นสติปัญญา   ความรอบรู้  ความสำเร็จ  ท่านบริหารจัดการด้วยความรับผิดชอบและสัตย์ซื่อ   ท่านรู้ว่าแหล่งพลังชีวิตที่เติมเต็มในชีวิตแต่ละวันและแต่ละสถานการณ์มาจากพระเจ้า   และท่านรู้ว่าท่านจะใช้พลังชีวิตในแต่ละวันในเรื่องอะไร   และไม่ควรใช้ในเรื่องอะไร  เช่นในกรณีที่ท่านปฏิเสธที่จะมีชู้กับนายหญิง   ท่านไม่ต้องการเสียพลังชีวิตกระทำในสิ่งที่ผิด   และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ   แม้ท่านจะสัตย์ซื่อทำงานสิ่งที่ถูกต้อง   แต่กลับกลายเป็นผลร้ายที่มาทิ่มแทงชีวิตของท่าน   ท่านกลับไม่ยอมเสียพลังชีวิตให้กับความเสียใจ  ท้อแท้  สิ้นหวัง แต่กลับยืนหยัดทำสิ่งที่ถูกต้องและเป็นที่พึ่งต่อผู้คนในสถานการณ์ใหม่นั้น

ประการที่สาม  ในทุกขั้นตอนและทุกสถานการณ์ชีวิตของโยเซฟ   ท่านตัดสินใจทำสิ่งต่าง ๆ ภายใต้การทรงนำและรับพลังจากพระเจ้าที่ทรงเคียงข้างท่าน   สถานการณ์เลวร้ายในชีวิตไม่ได้ทำให้โยเซฟซึมเศร้า   ซ่อนตัวในมุมมืด  มีชีวิตที่ถดถอยไม่ทำอะไร   หรือทำอะไรไม่ได้    แต่ลักษณะที่สำคัญคือ   ในทุกสถานการณ์ชีวิตท่านรู้ชัดว่าท่านจะต้องทำอะไร   แล้วท่านลงมือทำ   และนี่คือพลังชีวิตที่ขับเคลือนชีวิตของท่านก้าวไปตามแผนการของพระเจ้า  และนี่คือภาวะผู้นำในทุกสถานการณ์ชีวิต   แม้ไม่มีตำแหน่งผู้นำก็ตาม   แต่ท่านกลับเป็นที่พึ่งพาของผู้คนตั้งแต่นักโทษในคุกจวบจนฟาโรห์ผู้ครอบครองประเทศอียิปต์

นี่คือความเข้มแข็งทางใจของคริสตชนที่มีได้ในชีวิตท่านครับ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499