30 กันยายน 2557

รู้เท่าทันความเครียดจากชีวิตและการงาน

คงต้องยอมรับความจริงว่า   การทำพันธกิจในคริสตจักรและองค์กรคริสเตียนก็เต็มไปด้วยความเครียดเฉกเช่นกับการทำงานอื่น ๆ เราเครียดกับทั้งเรื่องของคน  งบประมาณ  หรือความขัดแย้งของคนที่ทำงานพันธกิจด้วยกัน   บ่อยครั้งที่เราพบกับประเด็นความกดดันทำให้ความดันของคนทำงานพันธกิจสูงกระฉูดก็เคยปรากฏมาแล้ว

แต่ถ้าเราอ่านพระคัมภีร์เกี่ยวกับการทำพันธกิจของพระเยซูคริสต์   เราก็พบและประเมินได้ว่า   การทำพันธกิจของพระองค์ตกอยู่ท่ามกลางความกดดันจากทั้งผู้นำศาสนาและประชาชนที่มีความต้องการสูง   ตลอดจนถึงผู้นำศาสนายิวที่คอยจับผิดพระองค์   หาทางทำให้ประชาชนเข้าใจพระเยซูอย่างผิด ๆ  และหาทางวิพากษ์วิจารณ์พระองค์ในทางที่เสียหายหรือดูหมิ่น   พระองค์อยู่ท่ามกลางวิกฤติที่ทำให้พระองค์ต้องเครียดไม่ต่างจากเราเลย

แต่ว่า   พระองค์ทำอย่างไรในการรับมือกับความเครียด?   พระองค์จัดการกับวิกฤติลักษณะต่าง ๆ เข้ามาอย่างไร  ที่ไม่ให้มีอิทธิพลสร้างความเครียดในชีวิตจิตใจของพระองค์?   ยิ่งกว่านั้น อะไรที่ทำให้พระองค์กลับไม่ถูกกดดันและไม่ทำให้พระองค์ต้องสิ้นหวัง?

พระองค์ทรงจัดการอย่างไรในชีวิตที่อยู่ท่ามกลางความกดดันให้มีความสงบศานติ?

1. พระองค์ทรงรู้ว่าพระองค์คือใคร เราเป็นความสว่างของโลก คนที่ตามเรามาจะไม่ต้องเดินในความมืด แต่จะมีความสว่างแห่งชีวิต” (ยอห์น 8:12 มตฐ.)   พระองค์รู้ว่าพระองค์คือใคร   ตลอดพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่  พระองค์บอกว่า เราเป็น...ถึง 18 ครั้งพร้อมกับคำอธิบายที่ชัดเจน   พระองค์ได้อธิบายให้ผู้คนรู้ว่าพระองค์คือใคร   เพราะการที่พระองค์รู้เท่าทันตนเองว่า   ตนเองคือใครนี่เอง  ที่ทำให้พระองค์ไม่ตกลงในกับดักแห่งความเครียดวิตก

หลายครั้งมิใช่หรือ  ที่เราพยายามทำตนให้เป็นเหมือนใครบางคนที่เป็นต้นแบบชีวิต หรือ ลักษณะที่เราอยากเป็นเหมือนเขา   เราสวมหน้ากาก   เมื่อเราพยายามทำตัวให้เป็นเหมือนใครบางคนเราก็จะกลัวว่าเราไม่สามารถที่จะทำตัวได้เหมือนและรักษาความลับดังกล่าวของเรา   การที่เรามิได้ดำเนินชีวิตที่เป็นตัวของเราเอง   ในตัวเราก็จะมีสองบุคลิกลักษณะในคนเดียวกัน   ทำให้เกิดความขัดแย้งในตัวเราเองทำให้เกิดความเครียดภายในลึก ๆ แห่งชีวิตของเรา   แท้จริงแล้วเราต้องรู้เท่าทันว่า   พระเจ้าสร้างเราด้วยประสงค์ให้เราเป็นคนลักษณะใด   เพราะการที่เราค้นพบและรู้เท่าทันว่าเราคือใคร   เราก็จะรู้ด้วยว่าเราเป็นคนของใครด้วย

2. รู้เท่าทันว่าเราดำเนินชีวิตให้เป็นที่พอใจของใคร  พระเยซูคริสต์บอกว่า เราจะทำสิ่งใดตามใจไม่ได้ ... เพราะเราไม่ได้มุ่งที่จะทำตามใจของเราเอง แต่ตามพระประสงค์ของผู้ทรงใช้เรามา...” (ยอห์น 5:30 มตฐ.) พระเยซูคริสต์ได้อุทิศชีวิตทั้งหมดกระทำให้เป็นพอพระทัยของพระเจ้า   มิใช่ตามใจปรารถนาของตนเอง   และก็ไม่ใช่ทำตนให้เป็นที่พอใจชื่นชอบ เป็นที่นิยมของประชาชนที่ติดตามพระองค์   เพราะสำหรับพระเยซูคริสต์แล้วพระประสงค์ของพระเจ้าคือเป้าหมายที่ถูกต้องในการดำเนินชีวิตของพระองค์   และในเหตุการณ์ของการจำแลงพระกายของพระคริสต์   มีพระสุรเสียงออกมาจากเมฆนั้นว่า ผู้นี้เป็นบุตรของเรา เป็นผู้ถูกเลือกสรรไว้ จงเชื่อฟังท่านเถิด” (ลูกา 9:351971)

พระเยซูไม่เลือกวิธีการแบบประชานิยม   คือทำให้พอใจประชาชน   และในความเป็นจริงก็ทำไม่ได้ด้วย   เพราะเราอาจจะทำให้คนกลุ่มหนึ่งพอใจ   แต่คนอีกหลายกลุ่มอาจจะไม่พอใจ   แต่เมื่อเราไม่ทำตามใจปรารถนาของคนกลุ่มต่าง ๆ   คนเหล่านั้นย่อมวิพากษ์ วิจารณ์  และกล่าวร้ายป้ายสีเราอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง   แต่การที่เรารู้ว่าเราเป็นใคร   เราเป็นคนของใคร  และเป้าหมายเราทำให้ใครพอใจแล้ว   เราก็จะสามารถปกป้องจัดการให้เราไม่ตกเป็นเหยื่อของการโจมตีให้ร้ายเหล่านั้น   สิ่งร้ายเหล่านั้นไม่สามารถที่จะมีอิทธิพลเหนือชีวิตจิตใจของเราได้

เราต้องชัดเจนและมั่นใจว่า   เราเป็นคนของพระเจ้า   พระประสงค์ของพระองค์องค์คือเป้าหมายในการดำเนินชีวิตของเรา  ผู้คน และ สถานการณ์แวดล้อมจึงไม่สามารถมีอิทธิพลเหนือชีวิตจิตใจของเรา

3. รู้เท่าทันว่า อะไรคือความสำเร็จที่จะต้องกระทำในชีวิตของตน พระเยซูตรัสกับพวกเขาว่า อาหารของเราคือการทำตามพระประสงค์ของผู้ที่ทรงใช้เรามาและทำให้งานของพระองค์สำเร็จ...” (ยอห์น 4:34 มตฐ.)   พระเยซูคริสต์ทรงรู้เท่าทันอย่างชัดเจนว่า   การเข้ามาในโลกนี้ของพระองค์   เพื่อที่จะมาทำพระประสงค์ของพระเจ้าให้สำเร็จ   เช่นกัน ในการดำเนินชีวิตและการทำงานของเรา เราต้องรู้ชัดเจนว่า อะไรคือเป้าหมายรากฐานในชีวิตของเราที่เราจะต้องกระทำให้สำเร็จ

บ่อยครั้ง ความเครียดของเราเกิดจากการดำเนินชีวิต และ การทำงานพันธกิจของเราไร้เป้าหมายชัดเจน   เราจะต้องตัดสินใจเลือกว่าเราจะดำเนินชีวิตและทำงานพันธกิจตามเป้าหมาย หรือ ตามความกดดันที่จะเกิดขึ้น   ถ้าเราไม่ตัดสินใจว่าสิ่งใดสำคัญที่เราจะต้องทำให้สำเร็จแล้ว   คนอื่นรอบข้างจะตัดสินใจให้กับเรา

การที่เรามีเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจน   ช่วยให้เรามีแผนชีวิตที่ชัดเจนได้ด้วย   และการที่เรามีแผนชีวิตที่ชัดเจนก็ช่วยป้องกันให้เราไม่ตกอยู่ใต้อำนาจบีบบังคับของความเร่งรีบได้ด้วยเช่นกัน   เราท่านคงไม่ต้องการที่จะสับสนงุนงงว่า   เอ...วันนี้เรามีชีวิตที่ประสบความสำเร็จหรือไม่   มีสิ่งใดที่ทำให้เรารู้สึกว่ามีคุณค่าและความหมาย   การที่เราทำงานมากมายยุ่งอยู่ตลอดวันไม่ได้ประกันว่า เราได้ทำอะไรบางอย่างที่สำคัญมีคุณค่า   แต่อาจจะเป็นเหมือนหนูวิ่งปั้นจั่นตลอดวันจนเหนื่อยก็ได้   หรือแค่ได้ทำอะไรบางอย่างเท่านั้น

การมีเป้าหมายในชีวิตและการงานที่ชัดเจนช่วยลดความซับซ้อนสับสนใจชีวิตของเรา   และลดความเครียดที่อาจจะเกิดขึ้นในชีวิตของเราด้วย

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

24 กันยายน 2557

หนี้มาจากไหน?

ทุกวันนี้การเป็นหนี้สามารถเห็นได้อย่างดกดื่นมากมาย   โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “หนี้ที่ไม่ควรจะเป็น”  ถ้าเราค่อย ๆ ย้อนรอยสาวลึกถึงรากเหง้าของการเป็นหนี้   เราจะพบว่า “หนี้” เป็นเรื่องของ “จิตใจ” (ความคิด  ความรู้สึกและการตัดสินใจ)   บางคนเคยสรุปว่า หนี้เกิดขึ้นจากเหตุผลทางด้านจิตวิทยาและอารมณ์

แต่ผมเห็นว่า “หนี้” เป็นเรื่องของจิตวิญญาณ  เพราะเป็นเรื่องของ “ความเชื่อ” (ที่เราไม่รู้เท่าทันว่านั่นเป็นเรื่องความเชื่อ)   และเป็นเรื่องของการหลอกล่อ และ เรื่องของการทดลองและสงครามทางจิตวิญญาณด้วย

อิทธิพลของการโฆษณาชวนเชื่อและกลยุทธทางการตลาด

ด้วยเหตุนี้จึงมีการพัฒนาและใช้กลยุทธทาง “การโฆษณาชวนเชื่อ” และ “การตลาดที่กระตุ้นให้อยากและโลภ”   ซึ่งเราจะพบข้อมูลความจริงว่า  บริษัทขายสินค้าชั้นนำหลายแห่งที่ทุ่มงบโฆษณาอย่างมหาศาลที่จะโน้มน้าวผู้คนให้ตัดสินใจซื้อสินค้าของตน   ยิ่งเป็นสินค้าที่ไม่ใช่ความจำเป็นยิ่งต้องทุ่มการโฆษณา และการวางกลยุทธในการโฆษณาที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อทำ “สงครามเย็นทางจิตใจ” ของผู้คน   เพื่อจะเอาชนะให้คนตัดสินใจซื้อในสิ่งที่ไม่จำเป็นจะต้องมีต้องใช้  และการตัดสินใจซื้อ “สินค้าราคาแพง” ที่ไม่มีความจำเป็นจะต้องเสียเงินมาก ๆ เช่นนั้น   และบ่อยครั้งที่ต้องโฆษณายั่วยุจนบางคนตัดสินใจซื้อสินค้าด้วยการใช้เงินล่วงหน้า (ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีเงินจำนวนนั้น)  ในกรณีนี้จึงเป็นการสร้างหนี้อย่างชัดแจ้ง!

หนี้จึงเป็นสิ่งที่เป็นผลจาก “จิตใจ และ จิตวิญญาณของเรา” ว่า   เราจะรู้เท่าทันความคิด ความรู้สึก และ การตัดสินใจของเราในการจับจ่ายใช้สอยเงินทองมากน้อยแค่ไหน?

อิทธิพลของเพื่อนฝูงสังคมต่อระบบคุณค่าในตัวเรา

บ่อยครั้งอิทธิพลของกระแสวัตถุนิยมในสังคมที่มาจากกลุ่มเพื่อนที่อยู่รอบข้างชีวิตเรา   ไม่ว่าในที่ทำงาน  ในคริสตจักร  หรือ บ้านใกล้เรือนเคียง   ตลอดจนกลุ่มเพื่อนฝูงใกล้ชิดที่มีอิทธิพลต่อความคิด ความรู้สึก และการตัดสินใจของเราว่า  การครอบครองอะไรบ้างที่ทำให้เรามีความสำคัญและคุณค่า   เราจะต้องต่อสู้กับสงครามเย็นในทางจิตใจในเรื่องระบบคุณค่า  จากอิทธิพลของกระแสวัตถุนิยมที่มุ่งมีอำนาจเหนือกรอบคิด กรอบเชื่อระบบคุณค่าและความหมายในจิตใจของเรา   และนี่ก็เป็นอีกประการหนึ่งที่ชี้ชัดว่า “หนี้” เป็นเรื่องของจิตวิญญาณของเราแต่ละคนด้วย

ต้นเหตุของความรู้สึกถึงความสำคัญและความมีคุณค่าในตนเองเพราะการที่ได้ครอบครองสิ่งของเหล่านั้น   มิได้อยู่ในตัวของวัตถุสิ่งของ   แต่อยู่ที่ “จิตใจ” ของเราที่จะให้คุณค่าและความสำคัญของเราไปขึ้นอยู่กับอะไรบางอย่างต่างหาก   แล้วนำสู่การตัดสินใจซื้อสิ่งเหล่านั้นทั้ง ๆ ที่อาจจะไม่จำเป็นต้องมีเลย   หรือทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีเงินที่จะซื้อในสิ่งนั้น  จนต้องใช้เงินล่วงหน้า   และนี่คือที่มาของการเป็นหนี้

หนี้จึงมาจากจิตใจ และ จิตวิญญาณของเรา  ที่เราแต่ละคนจะต้องคิด การรู้เท่าทันความรู้สึกของตน   ที่นำสู่การตัดสินใจแล้วลงมือปฏิบัติของเราว่าจะสร้างหนี้หรือไม่ต่างหาก

อิทธิพลจากความคิดเรื่องรางวัลสำหรับชีวิต

ท่านเคยซื้อสิ่งของบางอย่างเพื่อเป็นการให้รางวัลแก่ตนเอง  เพราะตนได้ทำงานหนักที่ผ่านมาหรือไม่?   จากผลการวิจัยพบว่า  ผู้คนส่วนมากในทุกวันนี้ทำงานหนักในงานที่ตนเองไม่ชอบ   แต่พยายามอดทนทำเพื่อที่จะได้ค่าจ้างเงินเดือน   แล้วก็ใช้เงินที่ได้จากการทำงานหนักนั้นไปซื้อวัตถุสิ่งของที่มีการโฆษณาชวนเชื่อ หรือ ใช้กลยุทธทางการตลาด   หรือไม่ก็ไปซื้อสิ่งของที่ได้รับอิทธิพลจากกลุ่มเพื่อนฝูงและสังคมว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้ที่จะเพิ่มคุณค่าและความหมายแก่ตัวของเรา   และบางครั้งก็ไปซื้อสินค้าราคาแพงที่เป็นสินค้า “แบรนด์เนม” เพียงเพราะต้องการมีระดับให้ดูดีในสังคมและในสายตาของคนรอบข้าง

การใช้เงินซื้อหาสิ่งที่ไม่จำเป็นในชีวิตที่เป็นการวิ่งล่าไปตามกระแสสังคม   และเป็นการไขว่คว้าสิ่งที่บ่งบอกถึงสถานะของตนตามอิทธิพลกระแสสังคม   และอีกหลายคนยังซื้อสิ่งเหล่านั้นด้วยเงินล่วงหน้า   ทั้งสิ้นนี้เพราะอยู่ที่ “จิตใจ” คือความคิด ความรู้สึก การตัดสินใจที่นำสู่การกระทำที่มีแนวโน้มสูงในการสร้างหนี้ในชีวิต

แท้จริงแล้วหนี้เกิดจาก “จิตใจ และ จิตวิญญาณ” ของเราเองอย่าไปโทษคนหรือสถานการณ์รอบข้างเลย
อยู่ที่ว่าเราจะทำอย่างไรกับอิทธิพลกระแสสังคม และ สถานการณ์ที่กระตุ้นยั่วยุให้เราเป็นหนี้?
เราจะมีความเข้มแข็งทางใจที่จะไม่สร้างหนี้ให้กับชีวิตของตนเองอย่างไร?                     
ท่านคิดเห็นอย่างไรกับความคิดที่ว่า  เรื่อง “หนี้” เป็นเรื่องของจิตวิญญาณ?

อิสยาห์กล่าวกับประชาชนว่า
“...ทำไม​พวกเจ้า​จึง​ใช้​เงิน​กับ​สิ่ง​ที่​ไม่​ใช่​อา​หาร?
และ​ใช้​ค่าจ้าง​กับ​สิ่ง​ที่​ไม่​อิ่ม​ใจ?...”
(อิสยาห์ 55:2 มตฐ.)
ปัญญาจากสุภาษิตกล่าวว่า
“มี​ทรัพย์​น้อย​แต่​มี​ความ​ยำ​เกรง​พระ​ยาห์​เวห์
ก็​ดี​กว่า​มี​ทรัพย์​มาก​แต่​มี​ความ​วิตก​กังวล​อยู่​ด้วย”
(สุภาษิต 15:16 มตฐ.)
พระเยซูคริสต์ตรัสว่า
เพราะ​ว่า​ชีวิต​สำ​คัญ​ยิ่ง​กว่า​อาหาร และ​ร่าง​กาย​สำ​คัญ​ยิ่ง​กว่า​เครื่อง​นุ่ง​ห่ม
(ลูกา 12:23 มตฐ.)

ท่าน​อย่า​เสาะ​หา​ว่า​จะ​กิน​อะไร​ดี​หรือ​จะ​ดื่ม​อะไร และ​อย่า​มี​ใจ​กัง​วล
เพราะ​ว่า​พวก​ต่าง​ชาติ(สังคม)​ทั่ว​โลก​เสาะ​หา​สิ่ง​เหล่า​นี้​ทั้ง​หมด
แต่​ว่า​พระ​บิดา​ของ​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ทรง​ทราบ​แล้ว​ว่า​ท่าน​ต้อง​การ​สิ่ง​เหล่า​นี้
แต่​จง​แสวง​หา​แผ่น​ดิน​ของ​พระ​เจ้า แล้ว​พระ​องค์​จะ​ทรง​เพิ่ม​เติม​สิ่ง​เหล่า​นี้​ให้
(ลูกา 12:29-31 มตฐ.)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

“เป้แห่งอารมณ์”: ชีวิตสมรสสะท้อนปัญหา มิใช่สร้างปัญหา

ผู้​ที่​ตักเตือน​คน​อื่น
จะ​ได้​รับ​ความ​โปรด​ปราน​ภาย​หลัง
มาก​กว่า​ผู้​ที่​ใช้​ลิ้น​ป้อ​ยอ (สุภาษิต 28:23 มตฐ.)

ถ้าท่านเป็นโสดและกำลังใช้เวลา(ประวิง) เพราะว่าไม่รู้จะตัดสินใจเลือกไปทางไหนดีในเรื่องชีวิตคู่  อย่าเพิ่งตัดสินใจ   นิ่งสงบอยู่แค่นั้นก่อน   แต่คนโสดบางคนก็จะบ่นว่า  “ไม่มีใครเป็นเพื่อนเย็นวันศุกร์”  หรือ บางคนว่า “ไม่มีใครคอยเป็นเพื่อนและช่วยยามจำเป็น”   แต่การตัดสินใจแต่งงานที่ผิดพลาดสร้างผลร้ายแรงต่อชีวิตของเรามากกว่าหลายร้อยพันเท่าที่ไม่มีเพื่อนออกไปพักผ่อนตอนเย็นวันศุกร์ หรือ ใครคนหนึ่งเป็นเพื่อนหรือคอยช่วยเมื่อยามจำเป็น    ระมัดระวังไว้ว่า  เมื่อเราถลำตัวเข้าในความสัมพันธ์ลงลึกแล้วยากที่จะถอนตัวออกจากความสัมพันธ์ดังกล่าว (แม้ภายหลังจะรู้ว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดก็ตาม... แล้วก็ปล่อยเลยตามเลย)

สุภาษิต 28:23 กล่าวว่า  “ผู้ที่ตักเตือนคนอื่น จะได้รับความโปรดปรานภายหลัง  มากกว่าผู้ที่ใช้ลิ้นป้อยอ”  เราคงต้องกล้าที่จะชวนให้เขา(คนรัก)พิจารณาถึงอารมณ์ของเราและเขา   กล้าที่จะไตร่ตรองและเรียนรู้ถึงอารมณ์ของกันและกัน เช่น “คุณไม่สามารถควบคุมอารมณ์ในเรื่องอะไรบ้าง?”  “เวลาโกรธคุณควบคุมความโกรธได้ไหม?”   “แล้วเธอเห็นถึงอารมณ์ของฉันเป็นอย่างไรบ้าง?”   “คุณจะสามารถรับได้กับอารมณ์ดังกล่าวอย่างซ้ำซากได้ไหม?”

ที่สุดคือ   ความสัมพันธ์ส่วนตัวของเราและเขากับพระเยซูคริสต์เจ้าเป็นอย่างไร   และถ้าเรายังไม่มีความสัมพันธ์สนิทกับพระองค์ในขณะนี้   สิ่งแรกคือเราต้องเริ่มความสัมพันธ์นี้ทันที   ชีวิตจิตวิญญาณของเราต้องเชื่อมต่อสัมพันธ์ติดสนิทกับพระเจ้าก่อนสิ่งอื่นใด

จากนั้น เราต้องมอบชีวิตของเราให้ดำเนินตามมาตรฐานของพระเจ้า   และไม่ปล่อยให้พลังของ “คลื่นทะเลแห่งอารมณ์” โถมซัดให้ตัดสินใจในบางอย่างแบบไม่ชาญฉลาด (หรือเข้าขั้นโง่ ๆ )   ระมัดระวังที่จะคิดว่า เรากำลังอยู่ในบรรยากาศแห่งความรัก   แล้วปล่อยใจอารมณ์ความรู้สึกในเวลานั้นเป็นตัวกระตุ้นในการตัดสินใจอนาคตชีวิตของเรา

อีกประการหนึ่ง   ถ้าเรายังมีอารมณ์ความรู้สึกเจ็บปวด   หรือมีบาดแผลในชีวิต อย่าเพิ่งออกไปอยู่ด้วยกันสองต่อสอง(กับคนที่จะเป็นคนรักใหม่)   ขอให้บาดแผลหรือความเจ็บปวดในชีวิตได้รับการเยียวยารักษาก่อน   หรืออย่างน้อยอยู่ในกระบวนการเยียวยารักษา   เราต้องเอาชนะอารมณ์ และ ความโกรธในตัวเราเสียก่อน   ปลด “เป้แห่งอารมณ์” ลงจากไหล่ของเราเสียก่อน

มีผู้เปรียบเปรยให้ฟังว่า   “เมื่อฉันเดินเข้าสู่พิธีสมรสในชุดเจ้าสาว   ตอนนั้นไม่ได้คิดว่า  แท้ที่จริงฉันกำลังสะพาย “เป้แห่งขยะอารมณ์” เข้าไปในพิธีนั้นด้วย   แล้วฉันก็นำ “ขยะแห่งอารมณ์เข้าไปในชีวิตแต่งงานด้วย”

การแต่งงานไม่ได้เป็นตัวสร้างปัญหา   แต่การแต่งงานเป็นการฉายภาพให้เห็นปัญหา   ดังนั้น  ถ้าเราสามารถจัดการกับปัญหาอารมณ์ในชีวิตของเราทั้งสองก่อนมากแค่ไหน   เราจะมีความสุขมากขึ้นแค่นั้น   เราจะมีชีวิตคู่ที่ยกย่องให้เกียรติพระเจ้ามากขึ้น   และเราจะมีความสัมพันธ์สนิทสนมอย่างลึกซึ้ง   ทั้งในชีวิตส่วนตัวของเราแต่ละคน  ในความสัมพันธ์กับคู่ชีวิต  ในความสัมพันธ์ทางเพศ  และในความสัมพันธ์ด้านจิตวิญญาณ   และต้องไม่ลืมว่า   ความสัมพันธ์ดังกล่าวทั้งหมดเกี่ยวข้องสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน   ด้วยการที่เราเริ่มมีความสัมพันธ์กับพระเจ้าก่อน  แล้วมีเป้าหมายชีวิตตามการทรงเรียกในชีวิตของเราแต่ละคน

ประเด็นที่ควรพิจารณา
  • คุณคิดว่าก่อนที่จะแต่งงานกัน   คุณจำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงอะไรก่อนบ้าง?  หรือ  มีอะไรในชีวิตคุณที่จะต้องได้รับการเยียวยารักษาก่อนที่พร้อมจะแต่งงาน?
  • คุณคิดว่า ความสัมพันธ์ของคุณกับคู่รักจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง  ถ้าคุณยอมตนดำเนินตามมาตรฐานของพระเจ้าในชีวิตคุณ?
  • มีคำถามยาก ๆ ในความสัมพันธ์ของคุณกับคู่รักในเรื่องอะไรบ้างที่คุณจำเป็นถามก่อน?
  • ถ้าคุณแต่งงานแล้ว   คุณกำลังต้องแบก “เป้แห่งอารมณ์” ในเรื่องอะไรบ้างในชีวิตของคุณ?  แล้วคุณจะหาการเยียวยารักษาสิ่งเหล่านั้นได้อย่างไร?
  • ถ้าเป็นคนที่แต่งงานแล้ว   ท่านจะช่วยคนโสดที่กำลังมีปัญหาเกี่ยวกับ “เป้แห่งอารมณ์”  หรือที่กำลังต้องการเยียวยารักษา   หรือ ที่เสี่ยงต่อการให้ “คลื่นแห่งอารมณ์” ซัดโถมให้ตัดสินใจอย่างไม่ฉลาดได้อย่างไร?

                                                 
ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

19 กันยายน 2557

เมื่อชีวิตต้องทุกข์ยากลำบากเกินกว่าจะรับมือ

อ่านสดุดี บทที่ 46

พระ​เจ้า​ทรง​เป็น​ที่​ลี้​ภัย​และ​เป็น​กำลัง​ของ​เรา
เป็น​ความ​ช่วย​เหลือ​ที่​พร้อม​อยู่​ใน​ยาม​ยาก​ลำ​บาก
ฉะนั้น​เรา​จะ​ไม่​กลัว แม้​ว่า​แผ่น​ดิน​โลก​จะ​เปลี่ยน​แปลง​ไป
แม้​ว่า​ภูเขา​ทั้ง​หลาย​จะ​โคลง​เคลง​ลง​สู่​สะดือ​ทะเล
แม้​ว่า​น้ำ​ทะเล​คึก​คะ​นอง​และ​ฟอง​ฟู
แม้​ว่า​ภูเขา​สั่น​สะ​เทือน​เพราะ​ทะเล​อลวน​นั้น ...
พระ​ยาห์​เวห์​จอม​ทัพ​สถิต​กับ​เรา​ทั้ง​หลาย
พระ​เจ้า​ของ​ยา​โคบ​ทรง​เป็น​ที่​กำบัง​อัน​แข็ง​แกร่ง​ของ​เรา...
พระ​องค์​ทรง​ให้​สง​คราม​สงบ​จน​ถึง​ที่​สุด​ปลาย​แผ่น​ดิน​โลก
พระ​องค์​ทรง​หัก​คัน​ธนู​และ​ฟัน​หอก​เสีย
พระ​องค์​ทรง​เผา​โล่​กลม​ด้วย​ไฟ...

“จง​นิ่ง​เสีย และ​รู้​เถิด​ว่า เรา​คือ​พระ​เจ้า...”
(สดุดี 46:1-3, 7, 9-10ก มตฐ.)

จากประสบการณ์ชีวิตของผู้ประพันธ์สดุดีบทที่ 46  ได้สะท้อนสัจจะความจริงแห่งชีวิตในโลกนี้ว่า   เมื่อเราตกอยู่ในภาวะชีวิตที่ตกต่ำทุกข์ยากลำบากแบบสุด ๆ  เกินกว่าที่เราจะสามารถรับมือกับสภาวะชีวิตดังกล่าว  ผู้ประพันธ์สดุดีบทนี้ใช้ภาพของธรรมชาติและมนุษย์เพื่อชี้ถึงความยากลำบากดังกล่าวเช่น  “แผ่นดินโลกเปลี่ยนแปลง” “ภูเขาโคลงเคลง” แล้วเคลื่อนไหว “ลงสู่สะดือทะเล”   น้ำทะเล “คึกคะนองและฟองฟู”  ภูเขาสูง “สั่นสะเทือน”  เพราะความอลวนปั่นป่วนใต้พื้นโลก  

แต่ผู้ประพันธ์กลับบอกเราว่า เขาจะไม่กลัว!   ทำไมเขาถึงไม่กลัว?

ทั้งนี้เขาได้ยืนยันว่า   เพราะพระเจ้าอยู่กับเราในสถานการณ์ที่เลวร้ายนั้น   และ “พร้อมอยู่ในความยากลำบากนั้น”   ที่จะปกป้องคุ้มครองเรา  พร้อมเป็น “ที่กำบังอันแข็งแกร่งของเรา”   พระองค์เป็น “ที่ลี้ภัย” เป็น “กำลังของเรา”  และเป็น “ความช่วยเหลือที่พร้อม” เสมอสำหรับเรา

ยิ่งกว่านั้น   พระองค์จะทรงกระทำความสงบ และ สันติภาพในชีวิตและในโลกนี้แก่เรา   แล้วผู้ประพันธ์ได้อ้างถึงพระสุรเสียงของพระเจ้า   “จงนิ่งเสีย  และรู้เถิดว่า เราคือพระเจ้า”   ในภาวะที่เรายากที่จะรับมือกับความยากลำบากสุด ๆ ในชีวิต   และเรายอมเปิดชีวิตของเราให้พระเจ้าเข้ามา “เปลี่ยนแปลง” ในชีวิตของเรา   สิ่งสำคัญในวิกฤติชีวิตดังกล่าวของเราคือ   เราต้อง “นิ่ง” และ “รู้” ว่า  พระเจ้าคือพระเจ้าและเจ้าของชีวิตของเรา

วันนี้  ขอให้เรามีเวลาที่จะสงบ   ตรวจสอบสภาพชีวิตของเราว่า อะไรคือสิ่งหรือสถานการณ์ที่เรากำลังประสบความยากลำบากที่สุดที่เราต้องรับมือ   และที่จะไว้วางใจว่าพระเจ้าทรงอยู่กับเราจะเอาใจใส่ในเรื่องนั้นเพื่อเรา?   ท่านพร้อมที่จะยอมเปิดชีวิตของท่านออกให้พระเจ้าเข้ามาในชีวิตเพื่อเป็นที่ปกป้อง  คุ้มครอง  เป็นกำลัง  และความช่วยเหลือในเรื่องนั้นของท่านหรือไม่?   และรับการเปลี่ยนแปลงชีวิตจากพระองค์หรือไม่?

ท่านมีมุมมอง “ความสำเร็จในชีวิต”  แบบไหน?   ส่วนใหญ่แล้วคริสตชนยังมีมุมมองความสำเร็จในชีวิตตามมุมมองกระแสโลกสังคมปัจจุบัน   เห็นว่าความสำเร็จคือการที่เรามีชื่อเสียง  มีผลงาน  มีกิจการธุรกิจที่ใหญ่โตขึ้น  เรามักตัดสินว่าสำเร็จหรือล้มเหลวจากสภาพชีวิตภายนอกที่เรามองเห็นหรือแตะต้องได้   แต่สำหรับคริสตชนเรามีมุมมองความสำเร็จที่คุณลักษณะชีวิตที่มีคุณธรรม เช่น เป็นคนที่มีเมตตา   จิตใจเอื้ออาทร  สร้างสรรค์  มีปัญญา  สัตย์ซื่อ  รู้สึกมั่นคงในชีวิต   และคนที่มีคุณธรรมชีวิตเช่นนี้   เขาจะต้องมีชีวิตที่ “สงบ”   และที่เขาจะมีชีวิตที่สงบได้เพราะเขา “รู้” และเชื่อมั่นในการทรงสถิตอยู่ด้วย และ การทรงพร้อมที่จะทรงช่วยในเวลายากลำบาก

ในสดุดี บทที่ 131  ผู้ประพันธ์ได้กล่าวถึง “จิตใจที่สงบ” ไว้ว่า  
ข้า​แต่​พระ​ยาห์​เวห์
ใจ​ของ​ข้า​พระ​องค์​มิ​ได้​เห่อ​เหิม
และ​ตา​ของ​ข้า​พระ​องค์​มิ​ได้​ยโส
ข้า​พระ​องค์​มิ​ได้​ไป​ยุ่ง​กับ​เรื่อง​ใหญ่​โต
หรือ​เรื่อง​อัศ​จรรย์​เกิน​ตัว​ของ​ข้า​พระ​องค์
แต่​ข้า​พระ​องค์​ได้​สงบ​และ​ระ​งับ​จิต​ใจ​ของ​ข้า​พระ​องค์
อย่าง​เด็ก​ที่​หย่า​นม​แล้ว​สงบ​อยู่​ที่​อก​มาร​ดา​ของ​ตน
จิต​ใจ​ของ​ข้า​พระ​องค์​สงบ​อยู่​ภาย​ใน​ข้า​พระ​องค์ อย่าง​เด็ก​ที่​หย่า​นม​แล้ว (ข้อ 1-2)

ถ้าเช่นนั้น   ในฐานะคริสตชน เรามีภารกิจในการกระทำทุกอย่างในชีวิต  ไม่ว่าอาชีพการงาน  ครอบครัว  เพื่อนฝูง  และชุมชนประเทศชาติ   เรากระทำภารกิจชีวิตเหล่านี้เราทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้า   ส่วนพระองค์จะทรงรับผิดชอบเราด้วยการทรงเอาใจใส่ในชีวิตของเรา   ดังนั้นเราจึงไม่ควรที่จะกลัว  กังวล  วุ่นวาย  และสับสนในชีวิต หรือ ในสิ่งใดเลย

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

17 กันยายน 2557

กลัวล้มเหลว: หลอมความล้มเหลวแล้วหล่อเป็นความสำเร็จ

แน่นอนครับ...คงไม่มีใครชื่นชมและมีความสุขกับความล้มเหลวที่ตนประสบ!   เพราะมันสร้างความเจ็บปวดแก่เราในทุกมิติของชีวิต   ไม่ว่านั่นเป็นประสบการณ์ครั้งแรกหรือครั้งที่หนึ่งพันก็ตาม

ทำไมหรือ?   เพราะความล้มเหลวเป็นเหมือนของบูดเน่ากลิ่นเหม็นที่เราไม่อยากดม   มันเป็นเหมือนหนามที่แหลมคมที่เราไม่ต้องการถูกตำหรือทิ่มแทง   มันทำให้เรารู้สึกอายที่ล้มเหลว  มันสร้างความอึดอัดและยุ่งยากใจไม่น้อย   เมื่อพบกับความล้มเหลวมักตามด้วยความสิ้นหวังท้อแท้   และเราก็ไม่ต้องการคำวิพากษ์หรือการตัดสินจากคนที่รู้เห็นในความล้มเหลวของเรา

อย่างไรก็ตาม  การวิจัยแสดงเห็นว่า  การกลัวความล้มเหลวมักนำไปสู่การผัดวันประกันพรุ่งและการหลีกเลี่ยงหลีกหนีจากสิ่งที่คนนั้นกลัวว่าตนจะล้มเหลว   การกลัวความล้มเหลวจึงขัดขวางการเติบโตในชีวิตจิตวิญญาณของเราในทุกการท้าทายใหม่   และเสียโอกาสการพัฒนาศักยภาพในด้านต่าง ๆ ที่มีในชีวิตของเรา

ถ้าต้องการความสำเร็จในชีวิต   เราต้องเต็มใจยอมรับการล้มเหลว   แทนการกลัวความล้มเหลว

ทุกคนมีความกลัวได้   แต่อย่าให้ความกลัวเข้ามาครอบงำและควบคุมชีวิตจิตใจของเรา   ถ้าเราเปลี่ยนมุมมองของเราต่อความกลัว

อีกมุมมองหนึ่ง ไม่ควรมองความล้มเหลวเป็นเหมือนปีศาจที่ซุ่มซ่อนตนในมุมมืดคอยสร้างสิ่งที่เลวร้ายแก่ชีวิตเรา   แท้จริงแล้ว  ถ้าไม่มีความล้มเหลว  เราก็จะไม่ได้เรียนรู้เรื่องต่าง ๆ อีกมายในชีวิต   แทนที่จะมองความล้มเหลวเป็นความเลวร้าย   แต่ให้เรามองความล้มเหลวเป็นมิตรของเรา   เป็นมิตรที่มีความจริงใจสะท้อนให้เราเห็นตัวตนแท้จริงในบางแง่บางมุมให้เราได้เห็นตระหนักและหาโอกาสที่จะแก้ไขและพัฒนา  

ให้เรามาร่วมกันพิจารณาว่าเราจะก้าวย่างอย่างไรในความล้มเหลวที่เกิดขึ้นแก่เรา   ทำให้เราเกิดการเรียนรู้ให้ได้มากที่สุดจากความล้มเหลวในแต่ละครั้ง   แล้วสามารถเยียวยาความรู้สึกให้เข้าสู่ภาวะปกติเร็วที่สุดเมื่อเราล้มเหลว   แล้วใช้บทเรียนจากความล้มเหลวครั้งนั้นในการดำเนินชีวิตในสถานการณ์ใหม่ ๆ ต่อไป

และนี่คือ 4 ก้าวย่างที่จะช่วยให้เราอยู่เหนือการกลัวความล้มเหลว

ก้าวย่างที่ 1:   ฟังเสียงสะท้อน (แต่อย่าให้เสียงนั้นเข้ามาควบคุมจิตใจของเรา)

มีจิตใจที่ขอบคุณต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์   ที่ใครคนนั้นยอมใช้เวลาของเขาที่พิจารณาการงานของเราแล้วแบ่งปันความคิดเห็นของเขาแก่เรา   และเราคาดหวังว่าคำวิพากษ์ของเขาจะเป็นประโยชน์ต่อเรา   ถึงแม้ครั้งแรกเมื่อเราได้รับคำวิพากษ์มิได้รู้สึกเช่นนั้นก็ตาม

ครั้งแรกที่ผมเริ่มเขียนบทใคร่ครวญ และ ข้อเขียนต่าง ๆ ลงในอินเตอร์เน็ท   ได้รับคำวิพากษ์จากคนใกล้ชิดถึงความผิดพลาดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสิ่งที่ผมเขียน เช่น...

“สิ่งที่คุณเขียนความหมายกำกวม...”
“วันนี้มีที่สะกดผิด 5 ที่”
“ทำไมเขียนประโยคซ้ำซ้อน”
“คุณพิมพ์ตกอีกแล้ว”...

พอได้ยินความคิดเห็นและคำวิพากษ์เหล่านี้เป็นเหมือนถูกผึ้งต่อยเข้าที่หัวใจ   แต่ที่เขาบอกมาถูกทั้งนั้น   ครั้งแรกผมก็แก้ตัวในใจว่า   ก็ผมเป็นคนที่สะกดผิด พิมพ์ตก ตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว   นี่ตรวจทานไปสองครั้งแล้วนะมันยังเกิดขึ้น (...ช่วยไม่ได้...)   แท้จริงแล้ว  ผมมันใจร้อนครับ “รีบเขียนรีบส่ง”   ต้องการให้มันขึ้นบนอินเตอร์เน็ทเร็ว ๆ และนี่คือสาเหตุที่เกิดการผิดพลาดตามคำวิพากษ์   ใช่สินะ บทความข้อเขียนของเราก็ไม่ได้มาตรฐานที่คนเขาจะอ่านกัน เมื่อใจสงบแล้วก็เริ่มแก้ไขในสิ่งผิดพลาดตามคำวิพากษ์

ผมเริ่มตั้งกติกาสำหรับตนเอง เช่น

ทุกข้อเขียนเมื่อเขียนเสร็จจะทิ้งไปอย่างน้อย 1 วัน   แล้วกลับมาอ่านตรวจทานแก้ไข เพิ่มเติมอย่างน้อยอีก 3 รอบ   และก่อนที่ข้อเขียนนั้นจะถูกส่งขึ้นเน็ทจะอ่านตรวจทานอีก 2 รอบ   ต่อมาภายหลังข้อเขียนที่จะนำไปลงซ้ำในบล๊อกจะมีเพื่อนที่ไว้ใจได้ช่วยอ่านตรวจทานแล้วนำขึ้นบล๊อก

ผมได้เรียนรู้ที่จะพัฒนาชิ้นงานที่ตนเองทำด้วยความรับผิดชอบ   ผมเริ่มเรียนรู้ในการเขียนในการนำเสนอที่ค่อย ๆ ชัดเจนขึ้น   และช่วยให้ผมพัฒนาในการมองสิ่งที่ติดลบให้เป็นแง่บวกที่เสริมสร้าง   ผมมีโอกาสพัฒนาศักยภาพที่มีอยู่ในตัวผมให้เป็นความสามารถที่สร้างสรรค์จนกลายเป็นทักษะติดตัว

ขอบคุณคนใกล้ชิดคนนั้นที่ชี้ความล้มเหลวของผมด้วยความกล้าหาญหวังดีและจริงใจ   และผมได้เติบโตพัฒนาขึ้นในชีวิต

ก้าวย่างที่ 2:   ยอมออกเหงื่อในสิ่งเล็กน้อย

เรามักได้ยินคำเตือนว่า “อย่าไปเสียเหงื่อกับสิ่งเล็กสิ่งน้อย”   ซึ่งเป็นการเตือนให้เราทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยสมดุลภาพ   ไม่จุกจิกหยุมหยิมในสิ่งที่เราทำ    แต่คงไม่ใช่ในสถานการณ์นี้   เพราะการที่ไม่ใส่ใจในรายละเอียดมักทำให้งานของเราล้มเหลวหรือไปไม่ถึงเป้าหมาย  เมื่อสิ่งนี้เกิดเพิ่มมากขึ้นจะกลายเป็นสิ่งที่ผิดพลาดทำให้เรามองข้ามสิ่งที่สำคัญ  และการมองข้ามบางสิ่งที่สำคัญนี้เองที่ทำให้เกิดความล้มเหลวในการทำงาน   และเมื่อเกิดความล้มเหลวในงานที่ทำซ้ำบ่อยขึ้น   ย่อมเป็นการสร้างความกลัวต่อความล้มเหลว

ดังนั้น   การใส่ใจยอม “ออกเหงื่อ” ในสิ่งสำคัญเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นสิ่งที่เราไม่ควรมองข้าม

อย่าสนใจเพียงเรื่องใหญ่ ๆ ที่เราผิดพลาด   แต่ต้องใส่ใจในเรื่องเล็กน้อยด้วย   เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะสูงขึ้นในการทำงานของเรา   เอาใจใส่ในรายละเอียด   มุ่งมองที่จะพัฒนาการงานที่ทำ   และเราจะได้ประสบการณ์ความสำเร็จในงานที่เราทำ   และเป็นการย้ำเตือนให้เราเรียนรู้และมั่นใจในความสำเร็จ   มากกว่ากลัวความล้มเหลว

ก้าวย่างที่ 3: วิเคราะห์เจาะลึกลงในสิ่งที่เราผิดพลาด

เมื่อเราต้องพบกับความล้มเหลวผิดพลาดของเรา   ให้เราค้นหาวิเคราะห์เจาะลึกสิ่งที่ล้มเหลวผิดพลาดนั้น   ด้วยการถามคำถามดังนี้
  1. ทำไมฉันถึงผิดพลาดล้มเหลวครั้งนี้?
  2. ฉันทำผิดที่ตรงไหนบ้าง?
  3. ครั้งหน้า ฉันจะทำให้ดีกว่าครั้งนี้ได้อย่างไรบ้าง?
  4. ฉันจะขอความช่วยเหลือจากใครได้บ้าง(ในสิ่งที่ฉันทำล้มเหลวผิดพลาด)?

ให้เราบันทึกความล้มเหลวผิดพลาดที่เกิดขึ้นครั้งนี้   พร้อมกับคำตอบและความคิดที่ได้จากการวิเคราะห์เจาะลึก   บางท่านอาจจะรู้สึกมีจิตใจที่ห่อเหี่ยวที่ต้องมาเขียนในสิ่งที่ตนเองผิดพลาดจนล้มเหลว   แต่การที่เราต้องเขียนสิ่งที่ล้มเหลวที่เกิดขึ้น   และวิเคราะห์ถึงความผิดพลาดต่าง ๆ ที่ได้ทำลงไปจะช่วยทำให้เราเห็น “ความล้มเหลว” ดังกล่าวชัดเจนและอย่างเป็นระบบ   จะช่วยให้เราเกิดความเข้าใจว่าทำไมถึงเกิดความล้มเหลว  และจะป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำอีกในครั้งหน้าได้อย่างไร   และนี่คือการวางรากฐานที่มั่นคงไปสู่ความก้าวหน้าในอนาคต

อย่ากล่าวโทษตนเองในสิ่งที่ตนกระทำผิด   เพราะการกระทำผิดและความล้มเหลวเป็นส่วนที่มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาและความก้าวหน้าในชีวิตของเรา   แต่เราสามารถหลีกเลี่ยงความล้มเหลวและการกระทำผิดซ้ำในเรื่องเดิมได้   ถ้าเราใส่ใจและวิเคราะห์เจาะลึกในสิ่งที่ผิดพลาดให้กลายเป็นการเรียนรู้ใหม่ของเรา   แล้วนำสิ่งที่เรียนรู้ลงสู่การจัดการความล้มเหลวและความผิดพลาดดังกล่าว   เพื่อเราจะหลอมความผิดพลาดแล้วหล่อให้เป็นความก้าวหน้า และ สำเร็จต่อไป

วิเคราะห์เจาะลึกความล้มเหลว   เรียนรู้และเข้าใจความล้มเหลว  ไม่กระทำซ้ำแต่ก้าวไปในทางใหม่สู่ความสำเร็จ

ก้าวย่างที่ 4:   ลงสนามแล้วลองใหม่อีกครั้งหนึ่ง

James Johnson กล่าวว่า “ตัวชี้วัดความสำเร็จของคุณ มิใช่วัดจากจำนวนครั้งที่คุณตกจากหลังม้า   แต่อยู่ที่เมื่อคุณตกจากหลังม้าแต่ยังลุกขึ้นแล้วกระโดดขึ้นหลังม้าใหม่อีกกี่ครั้งต่างหาก”

เมื่อเราล้มเหลวอย่างมีประสิทธิภาพและได้เรียนรู้ในสิ่งใหม่   แล้วหักหาญทดลองทำใหม่อีกครั้งหนึ่ง   ไม่ยอมให้ความล้มเหลวของเรามาฉุดลากเราให้นอนอยู่บนพื้น   แต่ลุกขึ้น  ประยุกต์สิ่งที่เรียนรู้ แล้วทดลองใหม่อีกครั้งหนึ่ง  เปลี่ยนแปลงวิธีการอีกครั้งหนึ่ง   แล้วลุกขึ้นก้าวออกไปสนามแล้วรับมือกับมันใหม่   แต่ด้วยความรู้และความเข้าใจที่เยี่ยมกว่าครั้งก่อน

Denis Waitley เคยกล่าวไว้ว่า  “จงให้ความล้มเหลวเป็นครูของเรา  แต่อย่าให้มันเป็นสัปเหร่อมาฝังเรา   ความล้มเหลวอาจทำให้เราใช้เวลามากขึ้นแต่มิใช่ทำให้เราปราชัย   ความล้มเหลวเป็นเหมือนทางเบี่ยง(ที่ใช้ชั่วคราว)  แต่มิใช่ทางตัน...”

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

15 กันยายน 2557

เราทำพันธกิจไปทำไม?

พระ​เยซู​จึง​ตรัส​กับ​บรร​ดา​สา​วก​ของ​พระ​องค์​ว่า
ถ้า​ใคร​ต้อง​การ​จะ​ติด​ตาม​เรา
ให้​คน​นั้น​ปฏิ​เสธ​ตน​เอง
รับ​กาง​เขน​ของ​ตน​แบก​
และ​ตาม​เรา​มา”
(มัทธิว 16:24 มตฐ.)

ถ้าใครตัดสินใจที่จะดำเนินชีวิตโดยมีพระประสงค์ของพระเยซูคริสต์เป็นเป้าหมายชีวิตของตน   สิ่งแรกคน ๆ นั้นจะต้องล้มเลิก และ เปลี่ยนแปลงเป้าหมายชีวิตที่ตนปรารถนาอยากได้ใคร่มี กล่าวคือ “ปฏิเสธ” ความคิด  ความต้องการ  ระบบคุณค่าเดิม ๆ ของตน  สิ่งมีค่าที่ตนปรารถนา และพฤติกรรมเดิม ๆ ที่ตนคุ้นชิน  เป็นเหมือนการเทเอาของเดิม ๆ เก่า ๆ ที่อยู่ในขวดแห่งชีวิตของเราออกทิ้งก่อน

สำหรับพระคริสต์แล้ว   การ “ปฏิเสธตนเอง” ดังกล่าวเป็นเพียงจุดเริ่มต้น   แต่ชีวิต จิตใจและวิญญาณต้องมีพื้นที่ที่ว่างที่จะ “รับเอากางเขนของตน”  แล้ว “แบก” ตามพระองค์ไป  การเป็นคริสตชนเป็นชีวิตที่เริ่มต้นด้วยการ “ยอมปฏิเสธ” หรือ “เททิ้ง” ชีวิตเดิมที่มีตนเองเป็นศูนย์กลาง  เลิกชีวิตที่มุ่งมั่นตั้งหน้าที่จะเสริมสร้างให้ชีวิตของตนเองมั่งคั่งมั่นคง  หยุดการทำให้ตนรู้สึกมีคุณค่าตามกระแสนิยมของสังคมโลก   แล้ว “เปิดรับ” เอาระบบคุณค่าใหม่ในชีวิตที่มิใช่สิ่งที่เรามุ่งมั่นปรารถนา   แต่กลับเป็น “พระประสงค์ของพระคริสต์”  เข้ามาในชีวิตของเรา   ไม่เป็นเพียงแค่นั้นแต่ให้รับระบบคุณค่าใหม่ของพระคริสต์เป็นศูนย์กลางในชีวิตของเรา   ให้พระประสงค์ของพระคริสต์เป็นเป้าหมายในชีวิตของเรา

กางเขน เป็นเรื่องของการให้ชีวิตเพื่อคนอื่นจะได้มีชีวิต  

ให้เรากลับไปในบริบทสมัยพระเยซูคริสต์   กางเขนคือเครื่องมือประหารชีวิตของผู้ที่ทำอาชญากรรมร้ายแรง  และที่สำคัญคือผู้ที่ทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่ออำนาจของโรมัน  เป็นพวกที่โรมันมองว่าเป็นภัยคุกคามต่ออำนาจความมั่นคงของตน   เป็นพวกที่เป็นภัยต่อความสงบของจักรวรรดิ์โรมัน   ดังนั้น กางเขนเป็นสัญลักษณ์ของความตาย   และการที่ใครตัดสินใจยอมแบกกางเขนในชีวิตของตน ก็เป็นคนที่ตัดสินใจแล้วที่ยอมให้ “ชีวิต”  ด้วยความคาดหวังว่าเพื่อให้มนุษยชาติ หรือ อย่างน้อยประเทศชาติของตนได้มีชีวิตที่มีคุณค่าอีกครั้งหนึ่ง

แต่พระเยซูคริสต์ พระองค์มิได้มาในโลกนี้เพื่อล้มล้างเปลี่ยนแปลงอำนาจเผด็จการทรราชย์ในเวลานั้น   แล้วให้อีกกลุ่มหนึ่งขึ้นเถลิงครองอำนาจเหนือประชาชนในนามของพระเจ้า   พระราชกิจการให้ชีวิตของพระองค์นั้นมิใช่มาเพื่อล้มล้างกลุ่มอำนาจเดิม   เพื่อจะมีกลุ่มอำนาจใหม่   เป้าหมายการเปลี่ยนแปลงของพระองต์มิใช่เป็นระบบโครงสร้างของสังคมโลกเท่านั้น    แต่พระองค์ประสงค์ที่จะให้ชีวิตแก่ประชาชนและทุกคน   และการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นที่ความคิด ความเชื่อ จิตใจและมุมมมองใหม่   คือการเปลี่ยนแปลงจากภายในชีวิตของประชาชนแต่ละคน   แล้วร่วมกันที่จะเดินตามวิถีแห่งกางเขนของพระองค์   มุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่คือ การนำผู้คนเข้าไปมีชีวิตใน “แผ่นดินของพระเจ้า”   คือเป็นชีวิตภายใต้การปกป้องคุ้มครองของพระองค์   และมีชีวิตที่มีคุณภาพตามที่พระองค์ประสงค์   และมีจิตใจที่เอื้ออาทรที่ประสงค์ให้คนอื่น ๆ ได้มีชีวิตที่มีคุณภาพและอยู่ภายใต้การปกป้องคุ้มครองของพระเจ้าด้วยพระคุณเมตตา

การแบกกางเขนของตนและเดินตามพระองค์ไป   คือการที่คริสตชนแต่ละคน แต่ละกลุ่ม  และแต่ละคริสตจักรกระทำสานต่อพระราชกิจแห่งการช่วยกู้และสร้างใหม่ของพระคริสต์ต่อจากพระองค์ในสังคมโลกปัจจุบัน   พันธกิจใด ๆ ที่คริสตจักรกำลังทำ และ ตั้งใจจะทำต่อไป  หรือที่จะทำในอนาคต   คริสตจักรและคริสตชนต้องถามตนเองก่อนทำพันธกิจนั้น ๆ ว่า   พันธกิจที่เราทำเป็นการสานต่อจากพระราชกิจของพระเยซูคริสต์หรือไม่ อย่างไรบ้าง?   และคงต้องพิจารณาแบบเจาะลึกลงไปว่า  
  • พันธกิจที่ทำอยู่นั้นแท้จริงเป็นการสร้างความมั่งคั่งมั่นคงของ  “องค์กร/คริสตจักร” หรือสานต่อพระราชกิจแห่งการทรงกอบกู้และสร้างใหม่ของพระคริสต์อย่างไรบ้าง?  
  • ถ้างานใดพันธกิจใดที่มิได้สานต่อพระราชกิจของพระคริสต์เราเลิกทำได้ใหม?  ทำไม?   
  • ในสถานการณ์ชีวิตของสังคมไทยและสังคมโลกปัจจุบัน   อะไร/ที่ไหนที่คริสตชนและคริสตจักรจะต้องสานต่อพระราชกิจของพระเยซูคริสต์?  
  • แล้วใครจะเอื้ออำนวยและหนุนเสริมเพิ่มพลังให้คริสตชนและคริสตจักรได้ “แบกกางเขน” สานต่อพระราชกิจของพระเยซูคริสต์?  และ ด้วยการทำอย่างไร?

คงมิใช่บอกว่า  ให้โรงเรียนคริสเตียน  โรงพยาบาลคริสเตียน มหาวิทยาลัยคริสเตียน   หน่วยงานคริสเตียนมากมาย  และคริสตจักรใหญ่/คริสตจักรเล็ก  คริสตจักรภาค   และคริสตชนแต่ละคน   ให้ “แบกกางเขน” ของตนไป   มิใช่ให้แต่ละคนแต่ละหน่วยงาน  ทำหน้าที่ของตนให้ดีเท่านั้นไม่เพียงพอแล้วครับ   แต่คริสตจักรต้องกล้าถามตนเองว่า   ทั้งหมดทั้งสิ้นที่ โรงพยาบาล  โรงเรียน  มหาวิทยาลัยคริสเตียน   หน่วยงาน  กรมกองงานคริสเตียน  และคริสตจักรน้อยใหญที่ทำอยู่นี้เป็นการสานต่อจากพระราชกิจแห่งการกอบกู้และสร้างใหม่ของพระคริสต์หรือไม่อย่างไรครับ?

อย่าลืมนะครับว่า... ให้เราแบกกางเขนของตนแล้วต้องตามพระเยซูคริสต์ไปนะครับ

อย่าดันทุรังแบกกางเขนของตน   ตามใจปรารถนาของตนเอง  หรือตามองค์กร  พรรคพวก   และที่น่าฉงนคือตามนโยบายที่กำหนดไว้    ถ้าเช่นนั้น  ก็ต้องถามต่อไปว่านโยบายที่กำหนดขึ้นเพื่อใครครับ?   สอดคล้อง หรือ คนละเรื่องกับการสานต่อพระราชกิจแห่งการกอบกู้และสร้างใหม่ของพระคริสต์อย่างไรบ้างครับ?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

12 กันยายน 2557

ใครเป็นผู้จัดการชีวิตของท่าน?

ถ้าเปรียบเทียบกับประสบการณ์ในปัจจุบัน   ใครที่จะโดยสารรถ (ติดตาม) ไปกับพระเยซูคริสต์   เราก็ต้องให้พระองค์เป็น “คนขับ” รถที่เราไปด้วยกันกับพระองค์   หรือ ถ้าพระคริสต์ใช้เราให้ขับรถนั้น   เราก็ต้องขับตามกำกับ หรือ ตามที่พระองค์ต้องการให้เราไปและต้องการให้เราขับอย่างไร

ท่านพร้อมที่จะให้พระเยซูคริสต์เป็นผู้จัดการในชีวิตของท่านหรือไม่?

ปัญหาที่เราพบเสมอคือ   เราต้องการที่จะเป็นผู้จัดการชีวิตของเราเอง   และในส่วนลึกของจิตใจเรามักไม่ค่อยเห็นด้วยกับทิศทางที่พระองค์ทรงนำในชีวิตของเรา   บางครั้งก็เถียงหรือคัดค้านวิธีนำของพระองค์ในใจของเรา   เรามักลืมตัวคิดไปว่า เรารู้ดีในทุกเรื่อง   สาเหตุลึก ๆ ที่ทำให้เราต้องมีความเครียดในชีวิตก็เพราะเรามักสู้กับพระประสงค์และการทรงนำของพระองค์เสมอ   “ผมรู้นะว่าพระองค์ต้องการให้ผมทำอย่างงี้   แต่ใจผมต้องการทำอย่างนั้นมากกว่า”

ทุกเช้าเมื่อเราตื่นขึ้น  เรามีเรื่องที่ต้องตัดสินใจ...   ใครที่จะเป็นผู้ที่รับผิดชอบชีวิตของเรา?   ใครจะเป็นผู้ที่ควบคุมชีวิตและสิ่งทั้งหลายในวันนี้  เราหรือพระเจ้า?   ใครจะควบคุมสถานการณ์ในวันนี้   เราหรือพระเจ้า?   เราต้องตัดสินใจในแต่ละวัน  ในแต่ละขณะ  เราต้องเป็นผู้ตัดสินใจ   เมื่อเราเลือกที่จะให้ตัวเราเองเป็นผู้จัดการชีวิตของเรา   มักนำมาซึ่งความขัดแย้ง  ความสับสน  และความตึงเครียดในชีวิต

พระเยซูได้กล่าวในมัทธิว 16:24 ว่า
ถ้าใครต้องการจะติดตามเรา
ให้คนนั้นปฏิเสธตนเอง
รับกางเขนของตนแบกและตามเรามา (มตฐ.)

เมื่อเราตัดสินใจเชื่อวางใจในพระเยซูคริสต์   นั่นหมายความว่า เรามอบชีวิตของเราให้พระองค์เป็นผู้จัดการ   นั่นหมายความว่าเรา “ปฏิเสธที่จะเป็นผู้จัดการชีวิตของเราเอง”   แล้วดำเนินชีวิตตามที่พระองค์ชี้นำ   ไปทุกที่ที่พระองค์นำไป   แล้วทำตามสิ่งที่พระองค์ประสงค์ให้เรากระทำในชีวิต  “แบกกางเขนของตนและตามพระองค์ไป”   ถ้าเป็นการขับรถยนต์ เราต้องยอมลุกจากที่นั่งของคนขับ   แล้วมอบให้พระองค์ทรงเป็นผู้ขับรถชีวิตของเรา  แล้วเราย้ายไปนั่งในที่นั่งของผู้โดยสาร

แต่ในความเป็นจริง   บ่อยครั้งที่เรายอมลุกจากที่นั่งคนขับ   มานั่งหลังคนขับ   เราเองยังไม่ลดละที่จะทำหน้าที่บทบาทของคนขับ   บ่อยครั้งใช่ไหมที่เราบอกพระองค์ว่า   ขอพระองค์ช่วยเลี้ยวซ้าย   ช่วยหยุดรถที   ขอพระองค์ขับช้าลง   เร่งพระองค์ขับให้เร็วทันใจเราหน่อย  บอกให้พระองค์ขับไปยังทิศทางที่เราต้องการไป...

เราไม่ได้เป็นคนขับ...   แต่เรากำลังกำกับการขับรถของคนขับมิใช่หรือ?

เราเคยกำกับการทรงนำของพระเจ้าใช่ไหม?

เราต้องการให้พระเจ้าช่วยในเรื่องนั้นเรื่องนี้ให้ป็นไปตามที่ใจของเราปรารถนา

เราต้องการแบกกางเขนแล้วตามพระองค์ไป   หรือเราต้องการให้พระเยซูแบกกางเขนของเรา แล้วเดินตามเราไป?

ปากบอกให้พระเจ้าทรงนำ   แต่เรากลับนำพระเจ้า!   ปากบอกว่าเราต้องการตามพระองค์ไป   แต่เราให้พระองค์ตามหาเรา?

ครูสอนเต้นรำบอกกับ ริก วอร์เรน และ ภรรยา เมื่อเขาไปเรียนเต้นรำว่า   ปัญหาใหญ่ของคนที่มาเรียนเต้นรำคือ  คู่เต้นรำมักบอกว่าให้อีกคนเป็นคนนำ   แต่ในภาคปฏิบัติมักพบว่าต่างคนต่างพยายามนำ   ผลที่เกิดขึ้นคือ   มักไปเหยียบเท้าของอีกคนหนึ่งเสมอ   และการเต้นรำก็จะถูกขัดจังหวะ  เกิดการสะดุด  

เมื่อเราพยายามที่จะนำพระเจ้า หรือ ควบคุมการทรงนำของพระองค์  จะด้วยตั้งใจทำหรือไม่ตั้งใจก็ตาม   ระวัง   ท่านอาจจะไปเหยียบ “เท้า” ของพระองค์เข้า!

สิ่งที่เราพึงกระทำคือ  เต็มใจและใส่ใจให้พระองค์ชี้นำในการดำเนินชีวิตของเรา   ให้พระเจ้าทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าในชีวิตของเรา  และให้พระเยซูคริสต์เป็นผู้จัดการชีวิตของเรา

วันนี้เราคงต้องนั่งลงสำรวจและถามตนเองตรง ๆ ว่า...  
มีเรื่องอะไรบ้างในชีวิตของเราที่ยากหนักหนาที่จะยอมอย่างสิ้นเชิงต่อพระเจ้า?  
ท่านเคยมีเรื่องต่อล้อต่อเถียงกับพระเจ้าในจิตใจไหม?   เรื่องอะไร?
พฤติกรรมชีวิตในทุกวันนี้ของท่านแสดงว่าใครเป็นคนจัดการในชีวิตของท่าน?  

ถ้าท่านมอบให้พระเจ้าทรงเป็นผู้ควบคุมจัดการชีวิตด้านต่าง ๆ ของท่าน   ท่านคิดว่า จะทำให้เกิดความแตกต่างในชีวิตของท่านอย่างไรบ้าง?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

11 กันยายน 2557

ขัดแย้งที่ขัดเกลาชีวิต: ให้ความสำคัญและเป็นพระพรแก่คนอื่นก่อน(3)

จากตอนก่อนที่ผ่านมา   เราได้พบว่า ความขัดแย้งในครอบครัวคือโอกาสที่จะขัดเกลาชีวิตแต่ละคนในครอบครัวให้มีชีวิตเป็นเหมือนพระคริสต์   และเป็นชีวิตที่ได้รับกำลัง การหนุนเสริม  การเปลี่ยนแปลง และการสร้างใหม่จากพระวิญญาณของพระเจ้า   ดังนั้น ชีวิตของคนในครอบครัวจึงได้รับการขัดเกลาให้มีชีวิตที่เกิดผลตามพระวิญญาณ (กาลาเทีย 5:22-24)

ตามกระแสโลกปัจจุบัน   ใคร ๆ ก็ต้องการเป็นเอกเป็นต้น   ตั้งแต่เรามีชีวิต   เราต้องการมีอำนาจ  เราต้องการที่จะเป็นผู้ควบคุม  และเราต่างก็ปกป้องตนเองก่อน   เมื่อเราอยู่ในภาวะแข่งขันกับคนอื่น  หรือ เกิดความขัดแย้งกับใครบางคน   เป็นไปได้อย่างไรที่เราจะให้ความสำคัญแก่คนอื่นก่อน ? 

แต่พระเจ้าทรงเรียกให้เราต้องให้ความสำคัญแก่คนอื่นก่อนตนเอง

นี่คือสิ่งที่พระคริสต์ได้สำแดงเป็นรูปธรรมแก่ประชาชนและสาวก

พระคริสต์บอกว่า พระองค์มาในโลกนี้มิใช่เพื่อรับการปรนนิบัติ   แต่มาเพื่อที่จะรับใช้ผู้คนประชาชน   และที่สำคัญคือมาเพื่อที่จะให้ชีวิตเพื่อคนอื่นจะมีชีวิต   เพราะพระองค์ทรงเห็นถึงคุณค่าและความสำคัญในชีวิตของประชาชนคนอื่นทั่วไป   จนยอมให้ชีวิตของพระองค์แก่ผู้คน

และนี่คือสิ่งที่พระเจ้าเรียกร้องให้เราเป็นและกระทำ!

ในพระธรรมเอเฟซัส เปาโลได้กล่าวถึงการดำเนินชีวิตคริสตชนไว้หลายเรื่อง   แต่มีเรื่องหนึ่งที่เปาโลสอนว่า  “จงยอมเชื่อฟังกันและกัน เนื่องด้วยใจยำเกรงพระคริสต์” (เอเฟซัส 5:21 อมต.)   เมื่อพูดถึงเรื่องการยอมเชื่อฟังเรามักคิดถึงความสัมพันธ์ของคู่สมรส   โดยเฉพาะอย่างยิ่งภรรยาที่ยอมเชื่อฟังสามี    แต่พระธรรมตอนนี้เน้นให้ทุกคนในครอบครัวยอมเชื่อฟังกันและกัน   และให้ทุกคนในครอบครัวใหญ่(คริสตจักร)ของพระเจ้าที่จะยอมเชื่อฟังกันและกันด้วยเช่นกัน   การที่เราจะยอมฟังคนอื่นได้ก็ต่อเมื่อเราให้ความสำคัญแก่คนอื่นก่อนตนเอง

ในฟิลิปปี 2:5-8  เปาโลสอนคริสตชนให้มีชีวิตตามแบบอย่างของพระคริสต์   พระองค์ทรงให้ความสำคัญแก่ “โลก” มากกว่าพระองค์เอง  

“(พระเยซูคริสต์)...ผู้​ทรง​สภาพ​เป็น​พระ​เจ้า
ไม่​ทรง​ถือ​ว่า​ความ​ทัด​เทียม​กับ​พระ​เจ้า​เป็น​สิ่ง​ที่​จะ​ต้อง​ยึด​ไว้
แต่​ทรง​สละ​พระ​องค์​เอง​และ​ทรง​รับ​สภาพ​ทาส
ทรง​ถือ​กำ​เนิด​เป็น​มนุษย์ และ​ทรง​ปรา​กฏ​อยู่​ใน​สภาพ​มนุษย์
พระ​องค์​ทรง​ถ่อม​พระ​องค์​ลง
ทรง​ยอม​เชื่อ​ฟัง​จน​ถึง​ความ​มร​ณา
กระ​ทั่ง​มร​ณา​บน​กาง​เขน” (มตฐ.)  

ถ้าเราจะมีชีวิตตามแบบพระคริสต์  หรือ  ถ้าเราต้องการติดตามพระองค์   เราต้องให้ความสำคัญแก่คนอื่นก่อน   และเมื่อเราอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งในครอบครัว   ถ้าเราจะต้องให้ความสำคัญแก่คนอื่นในครอบครัวก่อน   ท่านจะว่าอย่างไร?

จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องรู้เท่าทันตนเองว่า   เรามักต้องการที่จะเป็นผู้มีอำนาจควบคุมความสัมพันธ์   แต่นั่นมักสร้างความเจ็บปวดในความสัมพันธ์   จำเป็นที่เราจะต้องมองคนอื่นว่าเป็นเพื่อนร่วมงานร่วมชีวิตมากกว่าคู่แข่งขัน หรือ ศัตรูของเรา   เราต้องให้ความสำคัญแก่คนอื่นก่อน   ให้ความยอมรับนับถือในความรู้สึกและประสบการณ์ที่เขามี   ให้เราทำหน้าที่เป็นผู้เอื้ออำนวยให้มีข้อยุติร่วมกัน

การยอม   การให้ความสำคัญแก่คนอื่นก่อน   คือการที่เราล้มเลิกเป้าหมายที่จะ “เอาชนะ”  แต่กลับช่วยให้เกิดการแสวงหาข้อยุติร่วมกันด้วยความบริสุทธิ์ใจ

การที่คนในครอบครัวเลิกที่จะตั้งตนเป็นผู้สำคัญที่สุด   แล้วเลิกเข้าควบคุมความสัมพันธ์ในครอบครัว   แต่กลับหันหน้าเข้าหากันที่จะแสวงหาข้อยุติร่วมกันด้วยการให้ความสำคัญแก่คนอื่นในครอบครัวก่อน   และนี่คือจุดเริ่มต้นที่แต่ละคนในครอบครัวที่จะนำพระพรให้แก่กันและกัน

มีข้อพระคัมภีร์ที่บอกถึงการรับมือกับความขัดแย้งหลายข้อหลายตอน เช่น

“คำ​ตอบ​นุ่ม​นวล​ช่วย​ละลาย​ความ​โกรธ​เกรี้ยว​ให้​หาย​ไปแต่​คำ​กัก​ขฬะ​เร้า​โทสะ” (สุภาษิต 15:1 มตฐ.)

“อย่า​ทำ​ชั่ว​ตอบ​แทน​ชั่ว หรือ​อย่า​ด่า​ตอบ​การ​ด่า แต่​ตรง​กัน​ข้าม จง​อวย​พร เพราะ​พระ​องค์​ได้​ทรง​เรียก​ให้​พวก​ท่าน​ทำ​เช่น​นั้น เพื่อ​พวก​ท่าน​จะ​ได้​รับ​พระ​พร” (1เปโตร 3:9 มตฐ.)

“จง​ปฏิ​บัติ​ต่อ​ผู้​อื่น​อย่าง​ที่​พวก​ท่าน​ต้อง​การ​ให้​พวก​เขา​ปฏิ​บัติ​ต่อ​ท่าน เพราะ​นี่​คือ​ธรรม​บัญ​ญัติ​และ​คำ​สั่ง​สอน​ของ​บรร​ดา​ผู้​เผย​พระ​วจนะ” (มัทธิว 7:12 มตฐ.)

ในทุกความขัดแย้งเรามีทางเลือกว่าจะให้เป็นพระพร หรือ เป็นการสาปแช่ง  เราเลือกที่จะให้ความขัดแย้งขยายบานปลาย หรือ ให้เกิดศานติ   ถ้าเรากระทำต่อคนอื่นด้วยความรักเมตตา  แม้คนนั้นจะเป็นที่คนสร้างความเจ็บปวดแก่เราก็ตาม  เราจะเป็นพระพรแก่เขา   และเราก็ได้รับพระพรสะท้อนกลับมาถึงตัวเราเองด้วย   ไม่ใช่ง่ายที่เราจะเป็นคนที่มีใจเมตตา

การดำเนินชีวิตท่ามกลางสังคมที่แก่งแย่งแข่งขัน  และสังคมที่มีแต่ความขัดแย้งชิงดีชิงเด่น   การดำเนินชีวิตตามคำสอนพระมหาบัญญัติของพระคริสต์เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้   และเมื่อเรายอมให้พระวิญญาณบริสุทธิ์สถิตในชีวิตของเรา   พระองค์ก็จะทรงเปลี่ยนการกระทำที่ตอบโต้เอาชนะฝ่ายตรงกันข้ามของเราด้วยการให้เกียรติและเคารพ   พระเจ้าทรงอวยพระพรคนอื่น ๆ ผ่านชีวิตของเรา   คำพูดที่เหน็บแนม เสียดสี ถากถางก็จะสูญหายไปจากชีวิตของเรา   การปกป้องแต่ตนเองก็หมดไปจากเรา    แต่เรากลับมีความใส่ใจและหาความเข้าใจฝ่ายตรงกันข้ามมากกว่าการที่จะเอาชนะคะคาน  แสวงหาความเข้าอกเข้าใจด้วยการเอาใจเขามาใส่ใจเรา

เมื่อเราเป็นพระพรแก่ผู้คนในครอบครัว    พระพรนั้นก็เป็นพระพรสำหรับครอบครัวของเรา   และครอบครัวของเราก็จะเป็นพระพรสำหรับผู้คนอื่น ๆ ได้ด้วย

ความขัดแย้งในครอบครัวจึงมิใช่ “ยาขม”  ที่น่าเบื่อหน่ายอีกต่อไป   แต่กลับเป็นโอกาสที่เราจะกระทำตามการทรงเรียกของพระเจ้า   และให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จเป็นรูปธรรมในชีวิตของเรา   อีกทั้งยังเป็นการนำพระพรมาถึงครอบครัว และ คนอื่น ๆ และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ   เป็นโอกาสที่เราจะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่และมีชีวิตที่เป็นเหมือนพระคริสต์มากยิ่งขึ้น

วันนี้ท่านมองความขัดแย้งในบ้านด้วยมุมมองแบบไหน?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

08 กันยายน 2557

ขัดแย้งที่ขัดเกลาชีวิตให้เป็นเหมือนพระคริสต์(2)

ในตอนที่ก่อนหน้านี้   เราเรียนรู้ถึงคำวิงวอนจากเปาโลให้เรามีชีวิตตามการทรงเรียกของพระคริสต์   ให้เป็นคนที่มีความถ่อมใจ   สุภาพอ่อนโยน(เสมอ)   อดทน และ อดกลั้นด้วยความรัก   รักษาความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันที่มาจากพระวิญญาณบริสุทธิ์   และ ให้เสริมสร้างความสัมพันธ์ที่นำมาซึ่งครอบครัวที่มีสันติภาพ (เอเฟซัส 4:1-3)   การที่เรายอมมีชีวิตตามการทรงเรียกของพระคริสต์ดังกล่าวข้างต้น   นอกจากที่จะทำให้เรามีครอบครัวที่อยู่ร่วมกันด้วยความรัก เอื้ออาทร  และด้วยความสงบสุขแล้ว   ยังเป็นการขัดเกลาชีวิตของแต่ละคนในครอบครัวให้มีชีวิตตามการทรงเรียกของพระคริสต์อีกด้วย

ในตอนนี้   พระเจ้าทรงเรียกให้เรามีชีวิตเป็นเหมือนพระคริสต์ในครอบครัว

เมื่อผมมีโอกาสพูดคุยกับคนที่มาจากครอบครัวที่กำลังมีความขัดแย้ง   ผมมักได้ยินได้ฟังว่า...
“ถ้าเพียงเขามีการปรับเปลี่ยน...” หรือ “แค่เธอยอมเปลี่ยน...”
“ผมบอกเธอตั้งแต่แรกแล้วว่า...   แต่เธอไม่เชื่อ”
“โอ้ย...คุณไม่สามารถสอนเทคนิคใหม่ให้กับ...(สุนัข)..แก่หรอก”
“พวกเขาคิดมากไปเอง   เรื่องมันไม่สำคัญปานนั้นหรอก   เขาน่าจะ....”
“มันไม่ใช่ปัญหาของผมนะ   เป็นปัญหาของพวกเขาต่างหาก  ผมไม่จำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงอะไร”

พระเจ้าทรงรักเราแต่ละคนตามสภาพชีวิตที่เราเป็น   และแนวทางหนึ่งที่พระองค์สำแดงความรักของพระองค์แก่เราคือพระองค์ไม่ได้ปล่อยให้ชีวิตเราเป็นอย่างที่เป็นอยู่    พระเจ้ายอมรับเราอย่างที่เราเป็นเพื่อที่จะทรงช่วยเปลี่ยนแปลงเรา  เพื่อสร้างให้เราเป็นคนอย่างที่พระองค์ประสงค์ให้เราเป็น   เมื่อใครก็ตามยอมมอบและอุทิศชีวิตของตนแด่พระคริสต์และยอมที่จะติดตามพระองค์ไป   พระองค์ประทานของประทานที่ยิ่งใหญ่แก่ชีวิตคน ๆ นั้นคือ ประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าให้สถิตในชีวิตประจำวันของผู้นั้น   เพื่อทรงกระทำพระราชกิจแห่งการเปลี่ยนแปลงและสร้างชีวิตคนนั้นขึ้นใหม่

อัครทูตเปาโลได้กล่าวถึงบางสิ่งบางอย่างที่เป็นผลจากการที่พระวิญญาณสถิตในชีวิตของเรา  ในกาลาเทีย 5:22-23   ลักษณะชีวิตที่เป็นของประทานหรือเป็นคุณภาพชีวิตคริสตชนดังกล่าว   มิใช่คุณภาพชีวิตที่เกิดจากความพยายามปฏิบัติหรือกระทำเช่นนั้นด้วยตนเองของคริสตชนแต่ละคน   แต่เป็นคุณภาพชีวิตคริสตชนที่เกิดขึ้นเพราะพระวิญญาณที่สถิตในชีวิตของคนนั้นทรงกระทำและสร้างคุณภาพชีวิตเหล่านี้ให้เกิดขึ้นในชีวิตของเขา   หรือกล่าวตรงไปตรงมาว่า  เราไม่สามารถที่จะมีคุณภาพชีวิตดังกล่าวด้วยความพยายามและความสามารถของเราเอง

การเป็นคริสตชนมิใช่การมีชีวิตที่เราพยายามทำตนเป็นคนดี   แต่เป็นชีวิตที่เรารู้เท่าทันและตระหนักชัดว่าชีวิตของเรามีความบกพร่องผิดพลาด   และเราไม่สามารถที่จะเป็นคนดีได้ด้วยตัวของเราเอง   แต่เมื่อเรายอมรับความจริงในชีวิต  และขอให้พระวิญญาณของพระเจ้าเข้ามาสถิตและทำงานในชีวิตของเรา   พระเจ้าจะทรงเริ่มเปลี่ยนแปลงและเสริมสร้างเราขึ้นใหม่ตามพระประสงค์   กระบวนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวคริสตชนเรียกว่า การทรงชำระให้บริสุทธิ์จากพระเจ้า   

ชีวิตที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงและสร้างใหม่จากพระวิญญาณ   จะมีคุณภาพชีวิตที่เป็นผลจากการทรงกระทำพระราชกิจของพระวิญญาณในชีวิตประจำวันของเรา

...ผลของพระวิญญาณนั้นคือ...
ความรัก
ความยินดี
สันติสุข
ความอดทน
ความกรุณา
ความดี
ความสัตย์ซื่อ
ความสุภาพอ่อนโยน
การรู้จักบังคับตน
เรื่องอย่างนี้ไม่มีธรรมบัญญัติห้ามไว้เลย
ผู้ที่อยู่ฝ่ายพระคริสต์ได้ตรึงเนื้อหนังไว้ที่กางเขนพร้อมกับราคะและตัณหาแล้ว
ถ้าเรามีชีวิตอยู่โดยพระวิญญาณ
ก็จงดำเนินชีวิตตามพระวิญญาณด้วย
(กาลาเทีย 5:22-24 มตฐ.)

เราไม่สามารถที่จะจัดการกระบวนการเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราด้วยกำลังความสามารถของเราเองได้    แต่เราสามารถที่จะเลือกว่าจะต่อต้านกระบวนการเปลี่ยนแปลงและสร้างชีวิตใหม่จากพระเจ้า   หรือเราจะยอมรับกระบวนการดังกล่าว   การตัดสินใจเช่นนี้เป็นความรับผิดชอบของเราแต่ละคน   เพื่อตอบรับการทรงเปลี่ยนแปลงและเสริมสร้างชีวิตของเราขึ้นใหม่   แล้วดำเนินชีวิตด้วยการฟังเสียงการทรงนำของพระวิญญาณบริสุทธิ์   เพื่อเราจะมีชีวิตที่ดีขึ้นในครอบครัวของเรา   แม้เรายังอยู่ในครอบครัวที่มีความขัดแย้งนั้นก็ตาม

ถ้าแต่ละคนในครอบครัวยอมเปิดชีวิตรับพระวิญญาณของพระเจ้า   เพื่อรับการทรงเปลี่ยนแปลงพลิกฟื้นชีวิตของเราขึ้นใหม่ให้มีคุณภาพชีวิตตามผลของพระวิญญาณข้างต้น   ท่ามกลางความขัดแย้งในครอบครัวก็จะได้รับการขัดเกลาและเสริมสร้างพลิกฟื้นใหม่ให้มีชีวิตตามผลของพระวิญญาณตามแบบอย่างของพระคริสต์

วันนี้  เราพร้อมที่จะเปิดชีวิตของเราให้พระวิญญาณของพระเจ้าเข้ามาเปลี่ยนแปลงพลิกฟื้นชีวิตของเราตามพระประสงค์หรือไม่?   หรือ เรายังคาดคิดว่า  เราสามารถที่จะทำความดีได้ด้วยตัวของเราเอง?   เราต้องการมีชีวิตที่เป็นคนดีอย่างที่เราปรารถนา?   หรือเรายอมให้ชีวิตของเรารับการขัดเกลาให้มีชีวิตที่เป็นเหมือนพระคริสต์?

นั่นเป็นสิ่งที่เราแต่ละคนต้องตัดสินใจครับ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

05 กันยายน 2557

ขัดแย้งที่ขัดเกลาชีวิตครอบครัว (1)

ในครอบครัวของคริสตชน...มีความขัดแย้งกันบ้างไหม?

แต่แน่ ๆ ...ผมพบว่า  ตนเอง และ เพื่อนคริสตชนต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า  “แน่นอน”!

แม้ว่าคริสตชนหลายคนหลายครอบครัว   ต่างทำเหมือนว่าครอบครัวของตนไม่มีความขัดแย้ง?   ทำหน้าชื่นตาบาน   ยิ้มแย้มแจ่มใส   เพื่อให้คนที่พบเห็นเข้าใจว่าครอบครัวของตนราบรื่นก็ตาม  

จริง ๆ แล้วในครอบครัวก็ขัดแย้ง?  

เราต่างรู้อยู่กะใจว่าทุกครอบครัวต่างเคยมีความขัดแย้ง  ไม่ลงรอย   ทะเลาะกัน   แต่ในใจลึก ๆ เรารู้สึกว่า   ครอบครัวของเราไม่น่าจะขัดแย้งกันเลย   โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวคริสตชน!

คำถามตรงคือ  แล้วในฐานะคริสตชนควรจะมองความขัดแย้ง การทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัวอย่างไร?

แท้จริงแล้ว   คริสตชนเรามีมุมมองว่า   ความขัดแย้งเป็นโอกาสที่เราจะกระทำตามการทรงเรียกของพระเจ้าในครอบครัวของเรา    เมื่อเรามองด้วยมุมมองเช่นนี้   เราก็ไม่ต้องไปกลัวอะไรกับความขัดแย้งในครอบครัว!

การทรงเรียกของพระเจ้าที่มีต่อครอบครัวของเราก็เป็นเฉกเช่นการทรงเรียกเราแต่ละคนให้ติดตามพระคริสต์   พระองค์ทรงคาดหวังให้เราเป็นตัวแทนหรือเป็น “ทูตของพระองค์”  บนโลกใบนี้   ไม่ว่าจะในที่ทำงาน   ในสังคมชุมชน  ในคริสตจักร   และในครอบครัวของเรา

และนี่คือเป้าหมายชีวิตของคริสตชนแต่ละคนและทุกคน

เราต้องไม่หลงลืมว่า   พระคริสต์ไถ่ถอนชีวิตของเราด้วยพระชนม์ชีพของพระองค์   ชีวิตที่เราเป็นอยู่ ดำเนินอยู่ในทุกวันนี้เราจึงไม่ได้เป็นเจ้าของชีวิตนี้ต่อไป   แต่ชีวิตของเราทั้งสิ้นเป็นของพระคริสต์    เราจึงไม่ได้ดำเนินชีวิตตามใจปรารถนาของเราเอง   แต่เราดำเนินชีวิตตามพระประสงค์และน้ำพระทัยของพระคริสต์   เป้าหมายปลายทางการดำเนินชีวิตของเราจึงยิ่งใหญ่กว่าความปรารถนาของตนเอง   เราอยู่เพื่อพระคริสต์   เพื่อพระประสงค์ที่ต้องการให้เรามีชีวิตเพื่อใครบางคน   ที่พระองค์ทรงใช้และมอบหมายให้เรารับใช้คนเหล่านั้น

อัครทูตเปาโลบอกเราถึงการทรงเรียกในพระธรรมเอเฟซัส 4:1-3 ว่า   “เพราะ​ฉะนั้น ข้าพ​เจ้า​ผู้​เป็น​นัก​โทษ​โดย​เห็น​แก่​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า ขอ​วิง​วอน​พวก​ท่าน​ให้​ดำ​เนิน​ชีวิต​สม​กับ​การ​ทรง​เรียก​ที่​ท่าน​ได้​รับ​การ​ทรง​เรียก​มา​นั้น คือ​จง​ถ่อม​ใจ​และ​มี​ความ​สุภาพ​อ่อน​โยน​อยู่​เสมอ จง​อดทน จง​อด​กลั้น​ต่อ​กัน​และ​กัน​ด้วย​ความ​รัก จง​พยา​ยาม​รักษา​ความ​เป็น​น้ำ​หนึ่ง​ใจ​เดียว​กัน​ที่​มา​จาก​พระ​วิญ​ญาณ​นั้น โดย​มี​สันติ​ภาพ​เป็น​เครื่อง​ผูก​พัน” (มตฐ.)  

เมื่อเราอ่านพระธรรมตอนนี้เรามักคิดไปว่า เป็นคำสอนถึงความสัมพันธ์ที่เราควรมีกับคนอื่น เช่น คนในคริสตจักร  เพื่อนร่วมงานของเรา   เพื่อนบ้าน   หรือคนในที่ทำงาน  ในตลาด  ในชุมชน   แต่พระธรรมตอนนี้รวมหมายถึงความสัมพันธ์ของเรากับคนในครอบครัวด้วย

เปาโลวิงวอนผู้อ่านแต่ละคนว่า   ให้ดำเนินชีวิตในครอบครัวให้สมกับการที่พระเจ้าทรงเรียกแต่ละคนคือ   ให้มีท่าที และ การดำเนินชีวิตต่อทุกคนในครอบครัวด้วย...
ความถ่อมใจ
สุภาพอ่อนโยน(เสมอ)
อดทน และ อดกลั้นด้วยความรัก
รักษาความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันที่มาจากพระวิญญาณบริสุทธิ์
และ ให้เสริมสร้างความสัมพันธ์ที่นำมาซึ่งครอบครัวที่มีสันติภาพ

กล่าวคือพระธรรมข้างต้นเป็นหลักความสัมพันธ์ของคริสตชน
ที่มีต่อสามีที่น่าเบื่อหน่าย  
ลูกที่ไม่รู้จักโตและไม่รับผิดชอบ  
ภรรยาที่จุกจิกจู้จี้น่ารำคาญ
พ่อจอมเผด็จการในบ้าน  
ญาติ ๆ ที่เห็นแก่ตัว  

พระคริสต์ทรงเรียกเราแต่ละคนให้กระทำต่อคนในครอบครัวของเราที่กำลังเกิดความขัดแย้งด้วยท่าทีและความสัมพันธ์ที่สร้างสันติสุข   ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายในชีวิตครอบครัว   และใช้ทุกโอกาสในการเติบโตขึ้นในพระคริสต์  และเสริมสร้างกันและกันในครอบครัว

ใช้การขัดแย้งเป็นโอกาสเพื่อขัดเกลาชีวิตคริสตชนในครอบครัวเราครับ!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499