16 พฤศจิกายน 2558

พระเจ้าทรงหล่อหลอมภาวะผู้นำในชีวิตท่านอย่างไร?

14เมื่อ​โลท​จาก​อับ​ราม​ไป​แล้ว พระ​ยาห์​เวห์​ตรัส​แก่​อับ​ราม​ว่า จง​เงย​หน้า​ดู​สถาน​ที่​ตั้ง​แต่​เจ้า​อยู่​นี้​ไป​ทาง​ทิศ​เหนือ ทิศ​ใต้ ทิศ​ตะวัน​ออก และ​ทิศ​ตะวัน​ตก 15เพราะ​ดิน​แดน​ทั้ง​หมด​ที่​เจ้า​แล​เห็น​นี้ เรา​จะ​ยก​ให้​เจ้า​และ​เชื้อ​สาย​ของ​เจ้า​ตลอด​นิรันดร์ (ปฐมกาล 13:14-15 มตฐ.)

พระเจ้าทรงหล่อหลอม เสริมสร้างภาวะผู้นำในตัวของเราแต่ละคนด้วยหลากหลายแนวทาง   บางครั้งพระองค์ทรงเสริมสร้างภาวะผู้นำในชีวิตของเราผ่านพระวจนะและการทรงกระทำงานของพระวิญญาณบริสุทธิ์   บางครั้งทรงเสริมสร้างเราผ่านงานที่ท้าทาย หรือ ผ่านการที่เราร่วมด้วยช่วยกันในการทำงานสิ่งหนึ่งสิ่งใด   บางครั้งทรงหล่อหลอมเราผ่านการทนทุกข์ยากลำบาก  และบางครั้งผ่านความสุขและพระพร  

พระเจ้าทรงหล่อหลอมความคิดของเรา  เสริมแต่งจิตใจของเรา  และหนุนเสริมพฤติกรรมแสดงออกในแต่ละวันของเราให้มีภาวะผู้นำที่เข้มแข็งชัดเจนขึ้นตามพระประสงค์ของพระองค์ในชีวิตแต่ละวันของเรา   ทั้งนี้เพื่อให้เราได้ใช้ภาวะผู้นำของเราในการดำเนินชีวิตแต่ละวันเป็นพระพรแก่คนรอบข้าง  และเป็นที่ถวายพระเกียรติแด่พระองค์

เราได้เรียนรู้ก่อนหน้านี้จากปฐมกาลบทที่ 12 และ 13 แล้วว่า    พระเจ้าทรงปรับเปลี่ยน หล่อหลอม  และเสริมสร้างภาวะผู้นำของอับรามใหม่   จากผู้นำที่เห็นแก่ตัว  คิดแต่ผลประโยชน์และความอยู่รอดปลอดภัยของตนเองเท่านั้น   โดยไม่ห่วงหาอาทรว่าคนอื่นจะได้รับผลกระทบเช่นไร  แม้คนใกล้ชิดที่สุดอย่างซาราย   แต่พระเจ้าทรงสร้างภาวะผู้นำในตัวอับรามขึ้นใหม่   ให้เป็นผู้นำที่เปี่ยมด้วยจิตใจเมตตา และ เชื่อศรัทธาไว้วางใจในพระเจ้า   พระคัมภีร์ไม่ได้บันทึกในรายละเอียดว่าพระองค์ทรงหล่อหลอมเปลี่ยนแปลงภาวะผู้นำของอับรามอย่างไร   แต่เราเห็นว่า   ในช่วงวิกฤติที่ซารายต้องได้รับผลกระทบจากภาวะผู้นำที่เห็นแก่ตัวของตน   เขาได้เห็นถึงพระคุณของพระเจ้าที่ทรงกอบกู้ให้ซารายรอดพ้นจากภัยเนื่องจากความเห็นแก่ตัวของเขา   ด้วยพระคุณที่เขาได้สัมผัสในความรักเมตตานี่เอง   อับรามเรียนรู้ที่จะไว้วางใจพระเจ้ามากยิ่งขึ้น

เพราะความสำนึกในพระคุณเมตตาของพระเจ้าที่ทรงมีต่อเขาและซารายนี่เอง   เสริมสร้างความไว้วางใจในพระเจ้าของอับรามที่มั่นคงและหนักแน่นยิ่งขึ้น   ยิ่งกว่านั้น เขาได้เริ่มเรียนรู้รูปแบบภาวะผู้นำจากแบบอย่างของพระเจ้าที่ทรงเมตตาด้วยจิตใจที่กว้างขวาง   สิ่งนี้ได้แสดงผลออกมาเป็นรูปธรรมในชีวิตประจำวันของอับราม   เมื่อเขาจะต้องตัดสินใจแก้ไขความขัดแย้งรุนแรงระหว่างคนเลี้ยงสัตว์ของตนกับคนเลี้ยงสัตว์ของโลทหลานชาย

ด้วยการมีภาวะผู้นำที่ไว้วางใจในพระเจ้า   ทำให้อับรามสามารถแก้ความขัดแย้งบนฐานความรักเมตตาจากแบบอย่างของพระเจ้าที่ตนได้เรียนรู้   อับราฮามสามารถทำการแก้ไขความขัดแย้งด้วยความเมตตาและจิตใจกว้างขวาง   ให้โลทเลือกผืนแผ่นดิน  ทุ่งหญ้า  และสายน้ำตามที่ตนต้องการ   และโลทก็เลือกเอาภูมิประเทศในส่วนที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในเวลานั้น   และด้วยความไว้วางใจในพระเจ้า อับรามก็รับเอาส่วนผืนที่ดินที่เหลือสำหรับตน

หลังเหตุการณ์ครั้งนี้   พระเจ้าทรงหล่อหลอมเสริมสร้างภาวะผู้นำของอับรามให้มั่นคงเข้มแข็งยิ่งขึ้น   พระเจ้าทรงยืนหยัดย้ำเตือนความมั่นใจของอับรามว่า   การแสดงออกถึงภาวะผู้นำของอับรามต่อโลทนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง  และที่สำคัญคือทรงสำแดงให้เห็นชัดว่า การกระทำเช่นนี้สอดคล้องตามพระประสงค์ของพระเจ้า   พระเจ้าทรงย้ำเตือนเรื่องนี้ด้วยการทรงอวยพระพรเพิ่มพูนมากขึ้นกว่าพระพรที่ทรงให้ในปฐมกาลบทที่ 12 ว่า “จง​เงย​หน้า​ดู​สถาน​ที่​ตั้ง​แต่​เจ้า​อยู่​นี้​ไป​ทาง​ทิศ​เหนือ ทิศ​ใต้ ทิศ​ตะวัน​ออก และ​ทิศ​ตะวัน​ตก 15 เพราะ​ดิน​แดน​ทั้ง​หมด​ที่​เจ้า​แล​เห็น​นี้ เรา​จะ​ยก​ให้​เจ้า​และ​เชื้อ​สาย​ของ​เจ้า​ตลอด​นิรันดร์” (13:14-15)

ภาวะผู้นำที่มีใจเมตตากว้างขวางและเสียสละ  ก็คือภาวะผู้นำที่เป็นผู้รับใช้อย่างพระคริสต์   แต่ใครก็ตามที่จะมีภาวะผู้นำเช่นนี้ได้   รากฐานสำคัญที่จะต้องมีและหยั่งรากลงลึกในชีวิตของคนนั้นก่อนคือ   การไว้วางใจในพระเจ้าด้วยสุดจิตสุดใจและสิ้นสุดชีวิตของตน   เพราะการที่เราจะมีความไว้วางใจในพระเจ้าเช่นนี้ได้นั้น   เราจะต้องสัมผัสกับพระคุณความรักเมตตาของพระคริสต์ที่ไร้เงื่อนไขขอบเขตที่มีในชีวิตของเราก่อน   เราถึงจะสามารถสำนึกในพระคุณซ้อนพระคุณของพระองค์   ด้วยความสำนึกในพระคุณซ้อนพระคุณของพระองค์เช่นนี้ต่างหากที่เสริมสร้างเราให้มีภาวะผู้นำที่ถ่อมตนยอมรับใช้คนอื่น   ยอมรักเมตตาและเสียสละเพื่อคนอื่น   

จากเรื่องที่พระเจ้าทรงเปลี่ยนแปลง และ เสริมสร้างภาวะผู้นำของอับรามขึ้นใหม่นี้   เราได้เรียนรู้อะไรบ้างว่า พระเจ้าทรงปรับ เปลี่ยน เติม แต่ง และสร้างภาวะผู้นำของเราขึ้นใหม่อย่างไร?   พระเจ้าทรงสำแดงถึงความรักเมตตาต่อชีวิตของเรา   ทั้ง ๆ ที่เราไม่สมควรที่จะได้รับความรักเมตตานั้น   อย่างเช่นที่พระองค์ทรงเมตตาต่ออับรามที่เป็นคนเห็นแก่ตัวสิ้นดี   แต่ด้วยการสำแดงความรักเมตตาที่เป็น “พระคุณ” ของพระเจ้าต่อชีวิตของอับรามนี้เอง   ที่สร้างผลกระทบต่อชีวิตของอับราม   ทำให้อับรามเกิดความสำนึกในพระคุณซ้อนพระคุณของพระเจ้า   นอกจากทรงช่วยกอบกู้ซารายภรรยาของตนแล้ว   เขายังได้รับทรัพย์สมบัติมากมายจากฟาโรห์   ซึ่งเป็นพระคุณของพระเจ้าที่อับรามไม่สมควรจะได้รับเลย   ด้วยเหตุนี้จึงเสริมสร้างให้อับรามไว้วางใจในพระเจ้าอย่างสุดชีวิตของเขา   ในที่นี้ขอเน้นว่า  ความไว้วางใจที่คนเรามีต่อพระเจ้าจึงเป็นของประทานจากพระองค์   เพราะพระเจ้าทรงมีพระคุณในชีวิตของเรา   จึงทำให้เรากล้าที่จะไว้วางใจในพระองค์    ดังนั้น การไว้วางใจในพระเจ้าจึงมิใช่เป็นความดีของเราเอง  ไม่ใช่เพราะเรายอมสละไว้วางใจพระเจ้าเลย  

ด้วยความรักเมตตาของพระเจ้าที่เป็นพระคุณของพระองค์ที่มีต่อชีวิตของเราแต่ละคน   เราจึงไว้วางใจพระเจ้า   และเพราะเราไว้วางใจในพระเจ้า   เราจึงกล้าที่จะรักเมตตาเพื่อนมนุษย์คนอื่น ๆ ด้วยใจกว้างขวาง   เพราะเราสำนึกในพระคุณซ้อนพระคุณของพระเจ้า

ถามจริง ๆ เถอะ   พระเจ้าทรงมีพระคุณเมตตาต่อชีวิตของท่านถึงขนาดที่ท่านสำนึกใน “พระคุณซ้อนพระคุณของพระองค์” หรือไม่?   และเพราะพระคุณซ้อนพระคุณดังกล่าวในชีวิตของท่านทำให้ท่านไว้วางใจพระเจ้าอย่างไม่มีเงื่อนไขหรือไม่?   คำตอบคงต้องไปดูว่า  วันนี้ท่านจะมีภาวะผู้นำที่รักเมตตาและเสียสละ  ด้วยใจกว้างขวางแก่คนรอบข้างที่ท่านพบและเกี่ยวข้องสัมพันธ์ด้วยหรือไม่?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

10 พฤศจิกายน 2558

เมื่อผู้นำต้องประสบความสิ้นหวัง

27เวลา​เช้า​มืด​อับ​รา​ฮัม​ออก​ไป​ยัง​ที่​ที่​ท่าน​ยืน​เฉพาะ​พระ​พักตร์​พระ​ยาห์​เวห์  28ท่าน​มอง​ลง​ไป​ทาง​เมือง​โสโดม​และ​เมือง​โก​โม​ราห์ และ​ที่​ดิน​แดน​ทั้ง​หมด​ใน​ที่​ลุ่ม ก็​เห็น​แผ่น​ดิน​ลุก​เป็น​ควัน​พลุ่ง​ขึ้น​เหมือน​ควัน​เตา​เผา (ปฐมกาล 19:27-28 มตฐ.)

ในฐานะคริสตชน  ถ้ามีฐานะตำแหน่งในการเป็นผู้นำไม่ว่าจะเป็นในคริสตจักร  ในโรงเรียน  ในโรงพยาบาล ในหน่วยงาน หรือ แม้แต่ในหน้าที่การงานทางธุรกิจหรือองค์กร   ผมเชื่อว่าทุกคนคงคาดหวังว่าตนต้องการเห็นผลที่เกิดขึ้นจากการที่ตนได้ลงทุนลงแรงในการนำงานนั้น ๆ ที่ตนรับผิดชอบ   ท่านคงต้องการเห็นความก้าวหน้าเกิดผลและพอใจในความสำเร็จ   แม้เราจะรู้อยู่กะใจว่า ความสำเร็จก้าวหน้าดังกล่าวจะมิใช่มาจากการทำงานหนักของเราเท่านั้น  แต่เพราะพระคุณของพระเจ้าในชีวิตและการงานของเราด้วย

แล้วท่านจะรู้สึกอย่างบ้าง  ถ้าท่านได้ลงทุนลงแรงในฐานะผู้นำในงานที่ทำแต่ไม่เกิดผลเลยตามที่คาดหวัง   ทั้ง ๆ ที่ท่านได้ลงทุนลงแรงทั้งสติปัญญา ความเฉลียวฉลาด  ทุ่มทั้งกำลังกายกำลังใจที่พยายามขับเคลื่อนงานด้วยวิถีแนวทางต่าง ๆ แต่ไม่เกิดผลตามที่ท่านคาดหวัง

อับราฮามได้เรียนรู้ทั้งความชื่นชมยินดีและความทุกข์เศร้าใจในการเป็นผู้นำ   ที่ผ่านมาเราได้เห็นถึงความพยายามของอับราฮามที่ต่อรองแสวงหาทางที่จะช่วยเมืองโสโดมให้รอดพ้นจากการถูกทำลาย    และเมื่อพระเจ้าสัญญากับอับราฮามว่า ถ้ามีคนชอบธรรมในเมืองโสโดม 10 คนพระองค์จะไม่ทำลายเมืองโสโดม   คำสัญญานั้นทำให้อับราฮามดีใจเป็นเหมือนการพยายามของตนได้ผล   นอกจากที่เมืองโสโดมจะไม่ถูกทำลายแล้ว   หลานและครอบครัวของเขาก็จะได้ปลอดภัยจากการถูกทำลายของเมืองโสโดมด้วย

แต่พอรุ่งเช้าวันใหม่  เมื่ออับราฮามตื่นขึ้น   แล้วไปยังสถานที่ที่เขาได้สนทนาต่อรองกับพระเจ้าและได้รับคำสัญญาที่พระเจ้าทรงเมตตาแก่เมืองโสโดมและโกโมราห์   ถ้าพระเจ้าพบ 10 คนที่ชอบธรรมในเมืองโสโดม  เมืองนี้จะไม่ถูกทำลาย   “แต่เมื่อท่านมองลงไปทางเมืองโสโดมและเมืองโกโมราห์ และที่ดินแดนทั้งหมดในที่ลุ่ม ก็เห็นแผ่นดินลุกเป็นควันพลุ่งขึ้นเหมือนควันเตาเผา...บนที่พื้นราบ” (19:28 มตฐ.)   ในวินาทีนั้นเอง อับราฮามตระหนักรู้ทันทีว่า พระเจ้าทรงทำลายเมืองนั้น   สิ่งที่เขาพยายามต่อรองขอกับพระเจ้าล้มเหลว ไม่เกิดผล (ในเวลานั้นอับราฮามยังไม่รู้ว่า พระเจ้าได้ทรงช่วยนำโลทและครอบครัวให้ออกจากเมืองโสโดม ก่อนที่เมืองนั้นจะถูกทำลาย)

ในพระธรรมปฐมกาลตอนนี้ไม่ได้กล่าวถึงความรู้สึกของอับราฮามที่เห็นการถูกทำลายของเมืองนั้น   แต่เราคงพอที่จะรู้ได้ว่าอับราฮามรู้สึกอย่างไรบ้าง   เขาคงห่วงกังวลอย่างหนักถึงโลทและครอบครัวของเขา  กลัวว่าคนในครอบครัวโลทจะเสียชีวิต   สิ้นหวังในความกล้าหาญและพยายามต่อรองกับพระเจ้าแล้วไม่เกิดผลตามคาดหวัง   เศร้าเสียใจที่เมืองนั้นถูกทำลาย  และคนที่อยู่ในเมืองนั้นซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของอับราฮาม   จะเป็นไปได้ไหมที่อับราฮามอาจจะโกรธพระเจ้าที่ตัดสินอย่างรุนแรงไปหน่อยในส่วนลึกจิตใจของเขา   เพราะในความคิดของอับราฮามน่าจะมีคนชอบธรรมสัก 10 คนในเมืองนั้น

ในพระธรรมปฐมกาลตอนนี้ไม่ได้บอกเราถึงว่าอับราฮามทำอย่างไรหรือพูดอะไรออกมาเมื่อเห็นควันไฟพวยพุ่งออกจากเมืองที่ตั้งบนพื้นราบลุ่มนั้น   อับราฮามอาจจะอธิษฐาน   เพราะจากพระคัมภีร์ในตอนอื่น ๆ  และประสบการณ์ของผมเมื่อต้องประสบพบกับความสิ้นหวัง  รวมไปถึงเกิดความรู้สึกผิดหวังกับพระเจ้า   ในเวลาเช่นนั้นไม่รู้จะทำอะไรได้นอกเสียจากหลับตาและก้มหัวลง  แล้วเปิดใจต่อพระเจ้าในความเงียบ หรือ ในคำอธิษฐาน

ในเวลาผิดหวังหรือสิ้นหวังเช่นนี้  เราต้องระวังที่จะไม่ให้ความสิ้นหวังครอบงำและมีอิทธิพลเหนือความรู้สึก ความคิด และการตัดสินใจของเรา   แต่ให้เราสงบ รู้และไว้วางใจในการทำพระราชกิจของพระเจ้า   ท่ามกลางทุกวิกฤติสิ้นหวัง   เราต้องไว้วางใจว่า   พระเจ้าทรงมีแผนการ และ กำลังทรงกระทำสิ่งที่ดีที่สุดตามพระประสงค์ของพระองค์ในเหตุการณ์ที่เลวร้ายเสื่อมถอยลงนั้น  ในเวลาที่เราไม่รู้จะทำอย่างไรพระเจ้ากำลังเสริมสร้างเราขึ้นตามพระประสงค์ของพระองค์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

09 พฤศจิกายน 2558

ผู้นำที่มีน้ำใจเมตตาและศรัทธาไว้วางใจพระเจ้า

8อับราม​จึง​พูด​กับ​โลท​ว่า ขอ​อย่า​ให้​เรา​และ​คน​เลี้ยง​สัตว์​ของ​เรา​ทะเลาะ​กัน​เลย เพราะ​เรา​เป็น​ญาติ​สนิท 9ที่​ดิน​ทั้ง​หมด​อยู่​ตรง​หน้า​เจ้า​ไม่​ใช่​หรือ? ขอ​ให้​เจ้า​แยก​ไป​จาก​เรา​เถิด ถ้า​เจ้า​ไป​ทาง​ซ้าย​เรา​ก็​จะ​ไป​ทาง​ขวา หรือ​เจ้า​จะ​ไป​ทาง​ขวา เรา​ก็​จะ​ไป​ทาง​ซ้าย (ปฐมกาล 13:8-9 มตฐ.)

พระเจ้าทรงเมตตากรุณา   ในทุกสถานการณ์ชีวิตทั้งความสุขรุ่งเรือง หรือ ในความสูญเสีย  หลงทาง   พระเจ้าทรงใช้ทุกสถานการณ์เหล่านั้นที่จะสร้างคน ๆ นั้นขึ้นใหม่ได้   แม้คน ๆ นั้นจะเคยไม่ได้ไว้วางใจในพระองค์ในบางครั้ง   แต่ถ้าเขายังมีใจที่จะติดตามการทรงนำและพระประสงค์ของพระองค์   พระเจ้าก็พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง และ เสริมสร้างเขาขึ้นใหม่   อย่างเช่นอับราม เป็นต้น

ในปฐมกาลบทที่ 12 เราได้พบว่า   อับรามได้วางอุบายที่เอาตัวรอด   แต่ซารายต้องได้รับความเจ็บปวด และ ความทุกข์ยากจากอุบายดังกล่าวของอับราม   แต่จากเหตุการณ์ครั้งนั้น   อับรามได้เรียนรู้อย่างชัดเจนว่า   พระเจ้าทรงไปเคียงข้างเขาในทุกที่ ทุกสถานการณ์   พระองค์ทรงสัตย์ซื่อและชอบธรรม   แม้อับรามไม่ได้ไว้วางใจพระองค์ในครั้งที่เข้าไปในอียิปต์   จนเกิดเหตุร้ายแก่ซารายภรรยาของเขา   แต่โดยพระคุณเมตตาของพระองค์ทรงช่วยกู้ซารายออกจากการตกเป็นเหยื่อของความหายนะ   แล้วพระองค์กลับอวยพระพรด้านทรัพย์สินมากมายแก่ครอบครัวของเขา

อับรามได้ค่อย ๆ รับการเสริมสร้างใหม่จากพระเจ้า   เขาได้เรียนรู้ที่จะไว้วางใจพระองค์อย่างสุดจิตสุดใจและสุดชีวิตของเขา   อับรามเป็นผู้นำคนใหม่  

ในปฐมกาลบทต่อมา คือบทที่ 13  เราพบอับรามผู้นำคนใหม่  จากผู้นำที่คิดอุบายเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง   โดยไม่คิดถึงผลเสียหายและความสูญเสียของของซารายภรรยาของตน   แต่ได้รับการเปลี่ยนแปลงให้เรียนรู้ที่จะเป็นผู้นำที่มีจิตใจเมตตา  และเชื่อศรัทธาไว้วางใจในพระเจ้าอย่างสุดใจ

เมื่ออับรามและครอบครัวทั้งสิ้นของเขาได้รับพระพรมากมาย   จนมีฝูงสัตว์เลี้ยงจำนวนมากจนทุ่งหญ้ามีไม่เพียงพอสำหรับฝูงสัตว์เลี้ยงของอับราม และ โลทหลานชายของอับราม   จนคนเลี้ยงสัตว์ของทั้งอับราม และ โลทเกิดการทะเลาะแก่งแย่งทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์และแหล่งน้ำเลี้ยงสัตว์

ด้วยความเป็นผู้นำที่ต้องการยุติความขัดแย้ง  และรักษาสัมพันธภาพ  อีกทั้งให้ฝูงสัตว์เลี้ยงได้มีทุ่งหญ้าที่เพียงพอ   อับรามเห็นความจำเป็นที่จะต้องแยกการนำออกโดยต่างมีทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ที่พอเพียงสำหรับฝูงสัตว์เลี้ยงของตน   ท่านจึงเปิดโอกาสให้โลทผู้เป็นหลานเป็นผู้เลือกพื้นที่และทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ที่โลทต้องการก่อน   ส่วนท่านก็จะรับเอาส่วนที่เหลือ   โลทเลือกพื้นที่อุดมสมบูรณ์บริเวณที่ลุ่มแม่น้ำจอร์แดนทั้งหมด   ส่วนอับรามจึงเคลื่อนย้ายคาราวานของตนไปยังแผ่นดินคะนาอัน

อะไรที่ทำให้อับรามเปลี่ยนแปลงชีวิตและวิถีการเป็นผู้นำมากมายถึงเพียงนี้

อะไรที่เปลี่ยนอับรามจากการเป็นผู้นำที่เห็นแก่ตัว   ที่มิได้ไว้วางใจในพระเจ้า   แต่กลับจัดการด้วยอุบายตนเอง   จนเกิดความเพลี่ยงพล้ำ  เกือบต้องสูญเสียทั้งภรรยาและคาราวาน    มาเป็นผู้นำที่มีจิตใจเมตตาและศรัทธาไว้วางใจในพระเจ้า?

สิ่งที่เปลี่ยนอับรามมากมายเช่นนี้ก็เพราะพระเมตตาคุณแห่งการทรงช่วยกู้ของพระเจ้า    ที่ทำให้อับรามไว้วางใจในพระเจ้าที่มากยิ่งขึ้น   เขามั่นใจในการเคียงข้างของพระเจ้าในทุกสถานการณ์ชีวิตของเขา   นอกจากที่เขาจะไม่เป็นผู้นำที่เห็นแก่ตัวอย่างที่เคยเป็นเท่านั้น   แต่กลับเปลี่ยนเป็นผู้นำที่มีจิตใจเมตตากว้างขวาง   ให้โอกาสแก่โลทเป็นผู้เลือกพื้นแผ่นดินที่อุดมก่อน    ที่อับรามเปลี่ยนแปลงความเป็นผู้นำได้มากเช่นนี้   เพราะประสบการณ์ในความรักเมตตาของพระเจ้า   ทำให้เขาเป็นผู้นำที่สำนึกในความรักเมตตาของพระเจ้า

ในบทนี้  อับรามเป็นผู้นำที่ห่วงหาอาทรถึงความอยู่ดีมีสุขของผู้อื่น   เป็นผู้นำที่ให้โอกาสแก่คนที่อยู่ใต้บังคับบัญชาที่จะเลือกและตัดสินใจ   เป็นผู้นำที่เคารพในการตัดสินใจของทีมงาน   เป็นผู้นำที่รักสัมพันธภาพมากกว่าผลประโยชน์แห่งตน   เป็นผู้นำที่พร้อมจะก้าวไปในทุกที่เพราะมั่นใจในการทรงเคียงข้างของพระเจ้า

ใคร หรือ ผู้นำคนไหนก็ตาม   แม้เขาเคยพยายามวางแผนวางอุบายเพื่อตนเอง   แล้วพบความล้มเหลวมาแล้วก็ตาม   แต่ผู้นำคนนั้นยังต้องการที่จะติดตามการทรงเรียกของพระเจ้า   พระเจ้าจะทรงเปลี่ยนแปลงและเสริมสร้างคน ๆ นั้นให้เป็นผู้นำคนใหม่ได้  

เราพร้อมไหมที่จะมุ่งมั่นที่จะติดตามการทรงเรียกของพระเจ้า   และยอมตนรับการทรงเปลี่ยนแปลงและสร้างใหม่จากพระองค์   อย่างที่พระเจ้าทรงกระทำในชีวิตของอับราม?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

เมื่อผู้นำเอาตัวรอด ลูกน้องก็ต้อง...เจ็บปวด

11เมื่อ​ใกล้​จะ​เข้า​อียิปต์ อับ​ราม​ก็​พูด​กับ​นาง​ซาราย​ภรรยา​ของ​ท่าน​ว่า นี่แน่ะ ฉัน​รู้​ว่า​เธอ​เป็น​หญิง​รูป​งาม 12เมื่อ​คน​อียิปต์​เห็น​เธอ พวก​เขา​จะ​ว่า หญิง​คน​นี้​เป็น​ภรรยา​ของ​เขาแล้ว​ก็​จะ​ฆ่า​ฉัน​เสีย แต่​จะ​ไว้​ชีวิต​เธอ 13ขอ​ให้​บอก​ว่า​เธอ​เป็น​น้อง​สาว​ของ​ฉัน เพื่อ​เขา​จะ​ได้​ทำ​ดี​ต่อ​ฉัน​เพราะ​เธอ และ​ฉัน​จะ​ได้​รอด​ชีวิต​เพราะ​เธอ (ปฐมกาล 12:11-13 มตฐ.)

ปฐมกาล 12:10-20  กล่าวถึงเรื่องอับรามและซารายเข้าไปในอียิปต์   อับรามเกิดความกลัวว่าตนเองจะได้รับอันตรายถ้าคนในอียิปต์รู้ว่า ซารายเป็นภรรยาของตน   ดังนั้น อับราฮามจึงวางอุบายให้ซารายพูดโกหกว่า เธอเป็นน้องสาวของตน และซารายก็ยอมทำตามอุบายของอับราฮามอย่างไร้เงื่อนไข

เมื่อเรื่องดำเนินไปตามอุบายของอับรามที่ให้บอกว่า ซารายเป็นน้องสาวของตน   ผลที่เกิดขึ้นคือ  ฟาโรห์ ทรง​โปรด​ปราน​อับ​ราม​เพราะ​เห็น​แก่​นาง​นั้น อับ​ราม​ก็​ได้​แกะ โค ลา​ตัว​ผู้ ทาส ทาสี ลา​ตัว​เมีย และ​อูฐ (12:16)  ซึ่งดูเหมือนทุกอย่างเป็นไปด้วยดีเกินคาด(ตามอุบายที่อับรามวางไว้)

แต่ว่า ซารายภรรยาของเขา ​ถูก​พา​ไป​อยู่​ใน​วัง​ของ​ฟา​โรห์ (12:15)  ในข้อที่ 19 เขียนไว้ว่า ฟาโรห์รับซารายเพื่อไปเป็นภรรยาของตน แต่ไม่มีรายละเอียดว่า ซารายได้ตกเป็นภรรยาของฟาโรห์หรือไม่   แต่ที่แย่เอามาก ๆ คือบาดแผลในจิตใจของซาราย   ที่เธอต้องโกหกตามอุบายของอับราม  ที่กลัวว่าตัวอับรามเองจะได้รับอันตราย   ซารายไม่สามารถที่จะต่อรอง  ทั้งขึ้นทั้งล่องเธอต้องตกเป็นเหยื่อของอุบายที่อับรามใช้   เธอกำลังต้องสูญเสียชีวิตครอบครัว  เสรีภาพ  และความหวังในชีวิต   เพื่อปกป้องชีวิตของสามีตามแผนอุบายของสามี

เพราะอับรามในฐานะผู้นำที่ขาดความไว้วางใจในการทรงนำ ปกป้อง ของพระเจ้าใช่หรือไม่   ที่ทำให้เขาต้องคิดอุบายเพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิตสำหรับตนเอง?   แล้วสร้างผลกระทบต่อผู้อื่นที่อยู่ภายใต้การปกครองของตน  อย่างซารายภรรยาต้องตกเป็นเหยื่อของแผนการอุบายในครั้งนี้ของตน(ทั้ง ๆ ที่ไม่คาดคิดจะให้เกิดเช่นนั้น)

ผู้นำที่คิดเห็นแต่ความปลอดภัย ความอยู่รอด  และผลประโยชน์สำหรับตนเอง   มักเป็นผู้นำที่ไม่ได้ไว้วางใจในองค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริง   แต่วางใจในแผนอุบายของตน   และมองข้ามความเป็นคน คุณค่า และความสำคัญของผู้คนที่ตนปกครอง และ ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของตน   ผู้นำที่เห็นแก่ตัว ที่เอาตัวรอดเช่นนี้มักผลักให้ “ลูกน้อง” ต้องเป็นเหยื่อรับสิ่งเลวร้ายในชีวิตแทนผู้นำ?

ในเรื่องนี้  พระเจ้าทรงเป็นพระเจ้าที่เมตตาและยุติธรรม   พระองค์ทรงปกป้องสตรีที่ไม่มีโอกาสที่จะปกป้องตนเองจากผู้นำชายที่เห็นแก่ตน  เห็นแก่ความปลอดภัยของตนเอง  และ ประโยชน์แห่งตน   ทรงเข้ามาแทรกแซงในเหตุเลวร้ายนี้   เพื่อช่วยกู้ซารายออกจากบ่วงแร้วบ่วงมารที่มันทำผ่าน “แผนอุบายอับราม” ดังกล่าว

ปัจจุบัน   มีผู้นำคริสตชนมากไหมหนอที่เป็นผู้นำแบบอับรามที่เห็นแก่ตน  เอาตนรอด   โดยให้ผู้อยู่ใต้การปกครองต้องเอาชีวิต  ศักดิ์ศรี  คุณค่า และความหวังในชีวิตเข้าแลกเพื่อตัวผู้นำเองจะได้รับความปลอดภัย   โดยไม่คำนึงถึงความสูญเสีย  ความเจ็บปวด  บาดแผลในชีวิต  และต้องเผชิญกับอนาคตที่ดับวูบของลูกน้อง?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

นโยบายตัวบ่อนทำลายภาวะผู้นำในองค์กร?

ระวัง “นโยบายคือตัวบ่อนทำลาย” ภาวะผู้นำในองค์กร และ ในคริสตจักร!

โปรดอย่ามองว่าผมเป็นพวกต่อต้านการบริหารอย่างมีหลักการที่นิยมกันในปัจจุบัน   บ่อยครั้งที่นักบริหาร “ข้างบน”  ต้องคิดกำหนดนโยบายเพื่อให้งานต่าง ๆ เดินไปตามกรอบและแนวทางที่ตนเห็นว่าดีและต้องการ   แต่ก็ต้องบอกความจริงว่า  ผมเองไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนโยบายขององค์กร   เพราะในอีกด้านหนึ่งของการใช้นโยบายได้สร้างผลเสียมากมายต่อผู้คนทำงานในองค์กร หรือ ในคริสตจักรของเรา   เพราะนโยบายเป็นตัวบ่อนทำลายโอกาสที่ผู้นำระดับต่าง ๆ ในองค์กรและคริสตจักรจะเจริญเติบโตขึ้นในภาวะผู้นำของเขาแต่ละคน

1.   นโยบายทำลายรากของความรับผิดชอบในภาวะผู้นำ/ผู้คนระดับต่าง ๆ

ภาวะผู้นำที่มีความกล้าหาญในการตัดสินใจ แน่นอนครับเขาต้องพบกับความเสี่ยง   แต่ก็มีผู้นำจำนวนมากที่ทำการนำและบริหารองค์กร “ตามนโยบาย”  โดยเอา “จิตสำนึก” ของความถูกต้อง ควรกระทำหรือไม่ “ไปซ่อนไว้ใต้พรม”  แล้วยอมทำตาม “นโยบาย”  เพราะคิดว่าตนจะได้ทำงานอย่างปลอดภัย   เพราะถ้าเกิดความผิดพลาดจะมิใช่เพราะ “เราในฐานะผู้นำ”   แต่เป็นเพราะนโยบายที่ผิดพลาดต่างหาก   ทำให้ผู้นำเหล่านี้ “ติดนิสัย” ทำตัวว่ารับผิดชอบแต่หลบหลีกที่จะมีความรับผิดชอบที่แท้จริง   เพราะเมื่อสิ่งเสียหายเกิดขึ้นผู้นำคนนั้นก็จะโยนกลองว่า   ตนทำตามนโยบายแล้ว   แต่เป็นเพราะความผิดพลาดในการกำหนดนโยบายต่างหากที่ทำให้เกิดความเสียหาย

ในแง่มุมนี้ “นโยบาย” คือตัวบ่อนทำลายสำนึกความรับผิดชอบของบรรดาผู้นำระดับต่าง ๆ ในองค์กร   นอกจากที่จะขาดโอกาสในการพัฒนาความเข้มแข็งในภาวะผู้นำของคนเหล่านี้แล้ว   นโยบายกลับกลายเป็นโอกาสที่บิดเบือนความรับผิดชอบของผู้นำกลุ่มนี้   กลายเป็นผู้นำที่ “เอาตัวรอด”   ผู้นำไม่ต้องคิดมากแค่ทำแผน “ตอบสนองนโยบาย” ก็จะได้งบมาใช้   ยิ่งกว่านั้นยังสร้างภาพลักษณ์ว่า ผู้นำคนนั้นตอบสนองผู้นำระดับสูงขององค์กร   แต่ผลการดำเนินงานจะเป็นอย่างไรไม่ค่อยใส่ใจกัน   แต่ใส่ใจว่าทำตามนโยบายหรือไม่?

2.   นโยบาย “ตัวดูด” (ขโมย) ความกล้าหาญออกจากผู้นำ

การที่ทำอะไรต่อมิอะไรตาม “นโยบาย” ไม่ต้องใช้จริยธรรมความกล้าหาญ (ยกเว้นว่า ยอมทำตามทั้ง ๆ ที่รู้อยู่เต็มอกว่านโยบายนี้เป็นผลประโยชน์ของผู้นำนักการเมืองกลุ่มนั้น ๆ ที่ขึ้นมาบริการองค์กร   แต่ก็ยังทำเพราะจะทำให้ตนอาจจะสามารถก้าวสู่ผู้นำระดับสูง  หรือ เป็นที่เอ็นดูของผู้นำที่เป็นนักการเมืองในองค์กร?)

เราต้องไม่ลืมว่า   การที่ผู้นำจะต้องคิดและตัดสินใจในการทำงานในภาวะที่ทุกข์ยากลำบากนั้นเป็นโอกาสในการเสริมสร้างความเข้มแข็งและจริยธรรมความกล้าหาญแก่คน ๆ นั้น   และก็เป็นโอกาสที่คน ๆ นั้นจะเรียนรู้ว่าจะทำงานในภาวะวิกฤติลำบากให้ประสบความสำเร็จที่แท้จริงได้อย่างไร
แต่การนำแบบทำตามนโยบายนั้นเปิดช่องให้เกิด “การดูดดึง” หรือ “ขโมย” โอกาสในการเสริมสร้างคน ๆ นั้นให้เป็นผู้มีภาวะผู้นำที่เข้มแข็งขึ้น   นอกจากทำให้เกิดอาการของทำงานแบบเอาตัวรอดปลอดภัยแล้ว   ยังหล่อหลอมจิตวิญญาณที่ทำงานคลุกในมุมสบายและปลอดภัย   ทำให้เกิดการสะสมจิตวิญญาณที่อ่อนแอลงในความกล้าหาญ   ทั้งนี้เพราะคนทำงานในองค์กรของเราเขาทำงาน “ตามนโยบาย”   แทนที่จะพัฒนาสำนึกและสัญชาตญาณที่กล้าหาญ

3.   นโยบายสอนและบ่มเพาะคนทำงานในองค์กรไม่ต้องคิด

การที่บอกให้คนในองค์กรให้ทำตามนโยบายก็ไม่ต่างอะไรกับกำลังบอกคนทำงานในองค์กรว่า “ไม่ต้องคิดมาก”   ทำตามนโยบาย   เพราะมีคนคิดอย่างดีมาแล้ว (คนหยิบมือคิดให้คนทั้งองค์กรทำ   คนแค่หยิบมือคิดให้คนส่วนใหญ่ทำเพื่อประโยชน์ของคนจำนวนน้อยนิด?)   แน่นอนครับ  ทำงานอย่างไม่ต้องคิดใคร่ครวญก็ทำให้ไม่ได้คิดอย่างใส่ใจ   นอกจากที่มันทำให้คนทำงานไม่ต้องคิดแล้ว   แต่กลับมีอิทธิพลครอบงำให้คิดว่าไม่ต้องคิด!   เพื่อที่จะมีคนทำงาน (ลูกน้องที่ทำงาน) ไม่คิดต่อต้าน?   นอกจากสูญเสียโอกาสที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งเติบโตในภาวะผู้นำ   แต่กลับเป็นการสร้างให้องค์กรมีคนทำงานกลายเป็นคน “ไม่คิด”  แล้วนำไปสู่คนทำงานที่ “สิ้นคิด”  (ยกเว้นเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน กับ ประโยชน์ของตนที่จะได้!)

นโยบายที่ไม่ทำลายภาวะผู้นำของคนในองค์กร

แต่สิ่งที่ต้องคำนึงและพิจารณาด้วยเช่นกันว่า   องค์กรจำเป็นที่ต้องมี “นโยบาย” แต่นโยบายไม่ใช่ตัวกำหนดว่า   คนทำงานในองค์กรต้องทำตามนี้   แต่ต้องสร้างวัฒนธรรมให้กับคนทำงานในองค์กรว่า   ทุกคนต้องช่วยกันตรวจสอบและสะท้อนคิดว่า   นโยบายที่กำหนดขึ้นนี้ช่วยให้การทำงานของตนนำไปให้ถึงเป้าหมายปลายทาง และ นิมิตหมาย  วิสัยทัศน์ขององค์กรหรือไม่   และพร้อมที่จะฟังและรับข้อเสนอปรับเปลี่ยนจากคนทำงานในองค์กร    แต่อย่าใช้ “นโยบาย” เพื่อตรวจวัดความจงรักภักดีของคนทำงานในองค์ต่อผู้นำระดับสูงขึ้นไป   เพราะนั่นเป็นการบริหารของพวกเผด็จการเขาทำกันมาในอดีต   และรังแต่ให้เกิดผลร้ายผลเสียแก่องค์กรครับ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499