29 มกราคม 2559

คริสตจักรจะขึ้นจาก “หล่ม” อย่างไร?

เมื่อผู้นำคริสตจักรพูดถึงความรู้สึกว่าคริสตจักร “ติดหล่ม”   ส่วนใหญ่จะพูดถึงอาการของสิ่งต่อไปนี้
  • สมาชิกคริสตจักรที่มาร่วมมีจำนวนไม่เพิ่มขึ้น
  • จำนวนเงินที่ถวายไม่สมดุลกับจำนวนคนที่เข้ามาร่วมนมัสการ
  • พันธกิจที่คริสตจักรดูเซ็ง ๆ เดิม ๆ น่าเบื่อ หรือ คริสตจักรไม่สามารถเข้าถึงผู้คนอย่างที่คาดหวังไว้

ในภาวะเช่นนี้ผู้นำคริสตจักรมักถามว่า  “เราจะทำอะไรดีที่จะเอาชนะอุปสรรคที่ทำให้คริสตจักรหยุด/ชะงักในการเพิ่มพูน?”  หรือ  “เราจะทำอะไรดีที่จะช่วยให้คริสตจักรมีคนมาร่วมเพิ่มมากขึ้น?”   เป็นการง่ายที่เรามักรีบกระโจนลงไปจัดทำแผนยุทธศาสตร์ที่จะเอาชนะอุปสรรคที่มาขวางกั้นการเพิ่มพูนของคริสตจักร เกือบทุกรายที่ตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้  ผู้นำคริสตจักรจะแสวงหาทางที่จะขจัดอุปสรรคที่ขวางกั้นอยู่   แต่หารู้ไม่ว่าการทำเช่นนั้นมันเป็นเหมือนการหนีเสือปะจระเข้  พังกำแพงอุปสรรคหนึ่ง แต่กลับไปชนกับอีกกำแพงที่ขวางอยู่ข้างหน้า

ผู้นำคริสตจักรที่ให้ความสำคัญมุ่งเน้นที่จะหาทางเอาชนะอุปสรรคที่ทำให้คริสตจักรไม่เพิ่มพูนเท่านั้น  กำลังหลงทางในการรับมือหรือการจัดการกับปัญหาที่ “คริสตจักรติดหล่ม”  สิ่งที่ผู้นำคริสตจักรควรพิจารณาคือ  เปลี่ยนจากกรอบคิดการมุ่งเน้นที่จะทำให้คริสตจักรเกิดการเพิ่มพูนด้วยแผนระยะสั้นไปสู่การให้ความสำคัญและมุ่งเน้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ทีมงานอภิบาล และ สมาชิกคริสตจักร  ซึ่งเป็นแผนระยะยาว

การมุ่งเน้นเสริมสร้างความเข้มแข็งของคริสตจักร กับ การสร้างให้คริสตจักรเติบโตเพิ่มพูนต่างกันอย่างไร?

การมุ่งเน้นในการสร้างให้คริสตจักรเติบโตเพิ่มพูน  มักเป็นการที่คิดว่า “คริสตจักรจะทำอะไรดี?”  มากกว่าที่จะคิดพิจารณาว่า “คริสตจักรมีชีวิตเป็นอยู่อย่างไร?”  ซึ่งคริสตจักรส่วนใหญ่ที่คิดในทำนองนี้ แต่การคิดพิจารณาแบบนี้มักไม่ช่วยให้คริสตจักรสามารถจัดการให้ทะลุทะลวงอุปสรรคปัญหาความน่าเบื่อหน่ายได้  

แต่คริสตจักรต้องมาใส่ใจถึงวิถีการกระทำหรือวิถีวัฒนธรรมของคริสตจักร ที่ทำซ้ำซากย่ำอยู่กับที่   และที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะคริสตจักรไม่มีความคิดร่วมที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งของสมาชิก 

การที่คริสตจักรจะเอาชนะปัญหา “คริสตจักร เซ็ง น่าเบื่อหน่าย  ไม่มีชีวิตชีวา”  มิใช่การมุ่งมองว่าจะทำอะไรที่จะทำให้คริสตจักรเพิ่มพูนขึ้น แต่ต้องกลับมาใส่ใจมองหาว่า จะทำอย่างไรที่จะทำให้คริสตจักรเข็มแข็งขึ้น   จึงมิใช่การแสวงหาว่าจะทำอะไรดี แต่ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตของคริสตจักรด้วยการใส่ใจเสริมสร้างสมาชิกและทีมงานอภิบาล ให้การขยับขับเคลื่อนที่จะดันให้คริสตจักรขึ้นจากหล่มแห่งความแสนเซ็งน่าเบื่อหน่ายนั้น

7 วิธีที่ผู้นำจะช่วยคริสตจักรขึ้นจากหล่ม ด้วยการเปลี่ยนมุมมองที่มุ่งเน้นให้คริสตจักรเพิ่มพูนไปเป็นคริสตจักรที่เข้มแข็ง
  1. ประเมินวิถีวัฒนธรรมในคริสตจักร หรือ การทำพันธกิจของเรา   เป็นการง่ายหรือความเคยชินอย่างมากที่เราจะมุ่งเน้นไปมุ่งมองเป้าหมายการทำพันธกิจ ที่คิดว่าจะทำให้เกิดการเติบโตเพิ่มพูนสมาชิกคริสตจักร แท้ที่จริงเป้าหมายมิใช่ว่าจะทำอย่างไรให้มีคนเพิ่มขึ้น แต่ควรใส่ใจวิถีวัฒนธรรม วิธีการทำพันธกิจของเรามากกว่า เราต้องเจาะลึกลงในวิถีวิสัยการทำพันธกิจในคริสตจักรของเรา
  2. เราต้องตรงไปตรงมา ในฐานะผู้นำ การเป็นคนเปิดเผย ปราศจากอคติเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งในการที่เราจะก้าวข้ามมุ่งขับเคลื่อนทะลุอุปสรรคที่ขวางกั้นพันธกิจที่เรากำลังทำ  เราและทีมงานของเราต้องมีความสัมพันธ์แบบเปิดเผยตรงไปตรงมาในการสื่อสารในทีมงานอภิบาลคริสตจักร และ ในการทำงานร่วมกันทีมงานนั้น
  3. สร้างบรรยากาศที่รู้สึกปลอดภัย  ในฐานะที่เราเป็นผู้นำ เป็นการง่ายที่เราจะพยายามยัดเยียดความคิด หรือ ทิศทางในการที่จะออกจากการติดหล่มแก่ทีมงานของเรา   อย่างไรก็ตาม คนที่อยู่ล้อมรอบเราแต่ละคนมักจะเป็นคนหนึ่งที่มีความคิดที่ดีเยี่ยม แทนที่เราพยายามรีบเร่งจะหาข้อสรุปที่ดีสำหรับปัญหาที่เรากำลังพบ เราจะต้องเสริมสร้างบรรยากาศที่ทีมงานของเรารู้สึกปลอดภัยที่จะเสนอความคิดเห็น  กระบวนการที่ท้าทาย และการยอมรับความล้มเหลว
  4. ตั้งคำถามที่ถูกต้อง ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ มิใช่ผู้นำที่รู้สารพัดคำตอบ  แต่เป็นผู้นำที่สามารถตั้งคำถามที่ถูกต้อง เมื่อเราตั้งคำถามที่ถูกต้อง เราก็จะได้คำตอบที่สามารถเจาะทะลุเข้าถึงคำตอบที่ถูกต้องได้ง่ายขึ้น
  5. ยอมรับความจริงเที่ยงแท้ และ โปร่งใส   บ่อยครั้งที่ผู้นำคริสตจักรที่ “ติดหล่ม” มักจะนำคริสตจักรบนจุดยืนที่มิใช่บริบท หรือ สถานการณ์ที่กำลังติดหล่มนั้น   ตัวเขาอาจจะมีความคิดว่าจะนำทีมงาน/คริสตจักรอย่างไร    อย่างไรก็ตาม สิ่งแรกที่สำคัญคือการยอมรับความจริงถึงความอ่อนแอที่เรากำลังเป็นอยู่ด้วยกันในคริสตจักร   ถ้าเรายอมรับถึงความอ่อนแอที่เรากำลังเป็นอยู่ขณะติดหล่มแล้ว  ก็จะช่วยให้เราสามารถที่จะแยกแยะลงไปว่าเราจะแข็งแรงขึ้นได้อย่างไร   จำเป็นที่เราจะต้องยอมรับความจริงที่เรากำลังเผชิญหน้า  แล้วหาเพื่อนกลุ่มเล็กที่เราไว้วางใจและสามารถแบ่งปันกับเขาอย่างเปิดเผยด้วยความโปร่งใส ไม่มีสิ่งใดเคลือบแฝงซ่อนเร้นข้างหลัง
  6. หนุนเสริมเพิ่มพลังแก่คนในทีมงานของเรา   ถ้าเราต้องการให้คริสตจักรมีความเข้มแข็งและเกิดผลที่แท้จริง  เราจะต้องเป็นผู้นำที่หนุนเสริมเพิ่มพลังแก่คนในทีงานของเรา มิใช้ใช้เขาเป็นคนขับเคลื่อนงานพันธกิจตามสั่งเท่านั้น นั่นหมายความว่า เราจะต้องทุ่มเทในการพัฒนาทีมงานของเรา และต้องร่วมกับทีมงานบ่มเพาะ หล่อหลอมและหนุนเสริมสมาชิกแต่ละคนให้เข้มแข็งด้วย  
  7. หาจุดเริ่มและย่างก้าวที่เหมาะสมในสถานการณ์ของเรา บางครั้งจุดเริ่มต้นที่ดีที่เราจะนำคริสตจักร “หลุดออกจากหล่ม” ที่กำลังติดแหงกอยู่ ด้วยการเริ่มที่จะทำให้ตนเองหลุดออกจากการติดหล่มนั้นก่อน   ช่วงนี้เป็นเวลาที่สำคัญมากที่จะต้องทุ่มเทในการคิด วิเคราะห์ ใคร่ครวญ  ในการอ่าน และการเขียนสิ่งที่คิดที่อ่านออกมาให้เห็นเป็นกระบวนการ หรือเชื่อมสัมพันธ์สิ่งที่พบและเข้าใจ ให้ความใส่ใจอย่างมากในการที่เราจะเรียนรู้จากบุคคลอื่น รวมทั้งเพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงานร่วมทีมของเรา สมาชิกที่เรานำด้วย  ในที่นี้จำเป็นต้องฟังสมาชิกคริสตจักรอย่างใส่ใจ


ในปี ค.ศ. 2016  ผมหวังว่าคริสตจักรจะเลือกที่จะเสริมสร้างให้คริสตจักรเข้มแข็ง  ซึ่งเมื่อสมาชิกเข้มแข็ง  คริสตจักรก็จะเข้มแข็ง ถ้าเราเริ่มกระบวนการเสริมสร้าง “ความเข้มแข็งของคริสตจักร”  เราก็จะพบว่า
คริสตจักรก็จะเกิดผล  และ การเติบโตเพิ่มพูนของคริสตจักรก็จะตามมา  

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

25 มกราคม 2559

ช่วยด้วย...ผู้นำติดหล่ม!

ผู้นำที่คิดว่าตนเองรู้แล้ว!(ทุกเรื่อง)

จากประสบการณ์ในชีวิตที่ผ่านมาหลายสิบปีพบว่า มีผู้นำกลุ่มหนึ่งที่คิดว่าตนมีคำตอบสำหรับคำถามทั้งหมด   เป็นผู้นำที่บอกว่า “ตนเองรู้แล้ว”   แต่ในเวลาเดียวกันก็ได้พบกับผู้นำที่ตระหนักรู้เสมอว่า  ตนไม่รู้เสียทุกเรื่องไป   ลักษณะเด่นของผู้นำกลุ่มหลังนี้ที่พบมามักเป็นผู้ที่ถ่อม  สุภาพ  เป็นคนที่คนอื่นยกย่องเป็นผู้รู้แต่ยังใฝ่รู้อยู่เสมอ   เขาเป็นคนที่ฟังแล้วฟังอีก  ถามแล้วถามอีก   เป็นผู้ที่ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง   แต่สำหรับผู้นำที่คิดว่าตนบรรลุแล้ว  สำเร็จถึงหลักชัยแล้ว   ลักษณะพิเศษของผู้นำที่กล่าวข้างต้นจะสูญหายจากผู้นำที่คิดว่าตนถึงหลักชัยแล้ว ตนชนะแล้ว  ตนรู้แล้ว   แต่ลักษณะเฉพาะของผู้นำกลุ่มหลังนี้มักเป็นผู้นำที่ “ติดหล่ม”

การที่ผู้นำคิดว่า ตนมีคำตอบสำหรับทุกเรื่อง  ตนเป็นคนที่รู้แล้ว  ก็เป็นผู้นำพวกเดียวกับผู้นำที่ “ติดหล่ม”   เพราะผู้นำประเภทนี้จะวนเวียนจมปลักอยู่ใน “โคลนตมความคิดเดิม ๆ ของตนเอง”   และเมื่อไปถึงจุดหนึ่งความคิดที่มีอยู่กลับใช้การไม่ได้   จะพลิกหลุดจากโคลนตมไม่ได้เพราะตนหยุดการแสวงหาการเรียนรู้มานานแล้ว

ตารางข้างล่างเป็นการเปรียบเทียบความแตกต่างชัดเจนระหว่าง “ผู้นำที่ติดหล่ม” กับ “ผู้นำที่ใฝ่รู้เสมอ”
ผู้นำที่ติดหล่ม
ผู้นำที่ใฝ่รู้เสมอ
เป็นผู้นำที่คิดว่าตนต้องมีคำตอบสำหรับทุกเรื่องทุกคำถาม
เป็นผู้นำที่รู้ว่าแหล่งที่เขาจะหาความรู้ และ จะเรียนรู้ได้จากที่ไหน และ จากใคร
รายล้อมด้วยทีมงานที่มีแต่ตอบสนอง “เจ้านาย” ในเชิงเห็นด้วยหรือชื่นชอบเอาใจเจ้านาย ทีมงานประเภท “ครับท่าน”  “เอาอย่างที่ท่านว่า”
แวดล้อมด้วยทีมงานลงมือจัดการกับเรื่องต่าง ๆ บนฐานของความเป็นจริง และ พร้อมที่ที่จะรับมือกับความยากลำบาก
เป็นผู้นำที่ตัดสินใจในรายละเอียดทุกเรื่อง เป็นผลให้เรื่องต่าง ๆ ก้าวไปข้างหน้าอย่างเชื่องช้า
เป็นผู้นำที่หนุนเสริมให้ทีมงานในการตัดสินใจ เป็นผลให้เรื่องต่าง ๆ ก้าวไปข้างหน้ารวดเร็ว
เป็นผู้นำที่ทำตัวเป็น “พี่ใหญ่” ที่รู้อยู่แต่คนเดียว ทีมลูกน้องต้องทำอย่างตนทำ
เป็นผู้นำที่พร้อมและมีใจที่จะเรียนรู้จากคนอื่น ๆ แม้คนนั้นจะเป็นลูกน้องของตนก็ตาม
เป็นผู้นำการประชุมแบบ “สั่งการ”  โดยไม่เปิดช่องให้ถามถึงผลที่จะเกิดขึ้น
เป็นผู้นำที่เปิดรับความคิดใหม่ ๆ และพร้อมที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ปรับแก้
เป็นผู้นำที่แสดงตนว่า “ฉันรู้แล้ว” เสียทุกเรื่องไป
เป็นผู้นำที่แสดงว่าตนกำลังเดินเข้าสู่ “พรมแดนใหม่” ในการทำงานต้องการเรียนรู้ในเรื่องต่าง ๆ เรียนรู้เสมอ
เป็นผู้นำที่หมดไฟกระตุ้นให้เติบโต
เป็นผู้นำที่เรียนรู้เร็ว และ เติบโตขึ้นเสมอ
เป็นผู้นี่อยู่ห่างไกลจากหน่วยปฏิบัติการ
เป็นผู้นำที่สนใจในหน่วยปฏิบัติการ ถาม และ หาทางที่หนุนเนื่องรับใช้หน่วยปฏิบัติการขับเคลื่อน
เป็นผู้นำที่มักสร้างความสลับซับซ้อน
เป็นผู้นำที่ทำสิ่งต่างๆให้ดูเรียบง่าย เป็นธรรมชาติ
เป็นผู้นำติดยึดอยู่กับวิธีการที่สะดวกสบายของเมื่อวันวาน
เป็นผู้นำที่แสวงหาแนวทาง หรือ หลักการใหม่ ๆ
เป็นผู้นำที่เลือกที่จะอยู่ในมุมสะดวกสบายรู้สึกมั่นคง
เป็นผู้นำที่เลือกการกล้าเสี่ยง
เป็นผู้นำที่ทำตัวให้ดูมีงานยุ่งอยู่เสมอ
เป็นผู้นำที่มีใจจดจ่อต่องานที่ทำและรับผิดชอบ


อ่านแล้วก็พอจะประเมินตนเองว่าเป็นผู้นำแบบไหนไหมครับ? หรือ ประเมินได้ว่าเราเป็นลูกน้องที่มีเจ้านายแบบไหนใช่ไหมครับ? แต่ข่าวดีคือ ถ้าเราเป็นผู้นำ เราสามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะการเป็นผู้นำไปเป็นอย่างแบบที่เราพึงประสงค์ได้ครับ แต่ถ้าเป็นลูกน้องที่เป็นเจ้านายติดหล่มละก็ต้องทำงานชาญฉลาดมากขึ้นครับ คือต้องเป็นลูกน้อง/ผู้นำแถวกลาง แล้วทำหน้าที่นำหัวหน้าของตนเองด้วยถ่อม สุภาพ สุขุม ด้วยปัญญา  อย่างนิ่มนวลครับ ที่ฝรั่งเรียกว่า LEAD Your Boss ไงครับ!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

22 มกราคม 2559

ความล้มเหลวไม่ใช่จุดตัดสิน!

ใคร่ครวญชีวิตเมื่อเริ่มต้นปี  ค.ศ. 2016

ในชีวิตเราท่านแต่ละคนต่างต้องเคยพบกับความล้มเหลวมาแล้วทั้งสิ้น   หลายคนที่ประสบพบกับความล้มเหลวนับครั้งไม่ถ้วน   แต่บอกได้เลยว่า ความล้มเหลวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตคือการที่ล้มเหลวแล้วเจ้าตัวยอมแพ้ไม่ยอมลุกขึ้นสู้แม้แต่ที่จะถามตนเองว่า  ทำไมถึงล้มเหลว

ความล้มเหลวไม่ใช่การผิดพลาดอย่างสิ้นเชิงในชีวิต   แต่สำหรับคริสตชนแล้ว ความล้มเหลวคือโอกาสที่เราจะกลับมาหาพระเจ้า   แล้วพิจารณาใคร่ครวญที่จะถอดบทเรียนรู้ออกมาให้ได้ว่า ทำไมถึงล้มเหลวในครั้งนี้?   ใช่ครับแท้จริงแล้วความล้มเหลวนั้นมีประโยชน์สำหรับชีวิตแต่ละคน   ความล้มเหลวมิได้ให้แต่ความเจ็บปวดแก่เรา   แต่ในความล้มเหลวนั้นเปี่ยมล้นด้วยโอกาสของการเรียนรู้สิ่งใหม่ที่เราไม่รู้ หรือ ที่เราละเลยไม่สนใจ   และโอกาสแห่งการเรียนรู้นี้เองที่ท้าทายเจ้าตัวว่า  จะจมจ่อมกองอยู่ในความล้มเหลวพ่ายแพ้   หรือ เจ้าตัวจะตัดสินใจลุกขึ้นแล้วจัดการเรียนรู้ถึงสาเหตุของความล้มเหว   เพื่อจะหาช่องทางที่จะนำเราสู่การพัฒนาชีวิตให้กลายเป็นคนที่พระเจ้าสามารถใช้ได้ให้สำเร็จตามแผนการในชีวิตตามพระประสงค์ของพระองค์

ใช่ครับ...  ความล้มเหลวที่เราประสบเป็นเพียงระฆังบอกยกที่เตือนให้เรากลับรับพระปัญญาจากพระเจ้าที่เราจะเรียนรู้และมีแผนสำหรับการชกยกต่อไป   และเตือนเราให้เชื่อพึ่งในพระกำลังจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ในยกใหม่   มิใช่พึ่งแต่กำลังของตนเองเท่านั้น

เป้าหมายหลักใหญ่ของการขึ้นชกในยกใหม่มิใช่ “ชัยชนะ”   แต่เป้าหมายปลายทางคือการที่ทั้งชีวิตของเราได้รับการเปลี่ยนแปลงและเสริมสร้างให้เข้มแข็งและสมบูรณ์ขึ้นเป็นเหมือนพระคริสต์มากยิ่งขึ้น   เพื่อที่พระเจ้าจะทรงใช้ชีวิตของเราให้สานต่อพระราชกิจของพระคริสต์ที่เริ่มต้นไว้แล้วบนแผ่นดินโลกนี้อย่างเกิดผลตามพระประสงค์ของพระองค์   ซึ่งในสายตาของสังคมโลกจะมองพระคริสต์ที่กางเขนว่า “อ่อนแอ”  “หมดทางสู้” “พ่ายแพ้”  จบสิ้นแล้ว   ทุกอย่างน่าจะวางกองไว้ในอุโมงค์ฝังศพที่โยเซฟให้ใช้   สาวกจะทำได้ดีที่สุดก็แค่ไปคารวะพระศพ  ชโลมศพด้วยน้ำมันและเครื่องหอม   ไปร้องไห้อาลัยถึงด้วยความเคารพรัก

แต่พระคริสต์ไม่ได้จมจ่อมกองไว้ในอุโมงค์ที่สาวกคาดคิดนั้น แต่พวกเขากลับพบพระคริสต์นอกอุโมงค์นอกเหนือความคาดหวังของเขา พวกเขาพบพระองค์ที่ริมฝั่งทะเล บนเส้นทางเอมมาอูสที่มีแต่ความรู้สึกหดหู่ ผิดหวัง และในห้องชั้นบนที่สาวกซ่อนตัวรวมกันด้วยความหวาดกลัว เมื่อสาวกพบกับพระคริสต์สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ความคิด  ความเข้าใจ มุมมอง  และความเชื่อในชีวิตถูกเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง   ทั้งชีวิตได้รับการเปลี่ยนแปลงและเสริมสร้างใหม่จากพระคริสต์   สาวกเป็นคนใหม่ในบริบทสังคมและชีวิตเดิม ๆ  

พระคริสต์มิได้เปลี่ยนสถานการณ์ให้สาวกใช้ชีวิตตามศักยภาพเดิม ๆ  แต่ทรงเปลี่ยนชีวิตสาวกเพื่อรับมือกับสถานการณ์เดิม ๆ ที่เขาเคยพ่ายแพ้มาแล้ว   ให้สามารถทำในสิ่งที่พระคริสต์จะทรงมอบหมายให้เขาสานต่อได้   ชีวิตของสาวกได้รับการเปลี่ยนแปลงและเสริมสร้างใหม่   เพื่อจะสามารถรับผิดชอบสานต่อพระราชกิจของพระคริสต์ตามบริบทและสถานการณ์ในสังคมโลกนี้   

จากนั้นพระคริสต์จึงทรงมอบหมายให้สาวกของพระองค์สานต่อพระราชกิจของพระองค์    และส่งทอดมรดกแห่งพระราชกิจของพระคริสต์รุ่นต่อรุ่นแห่งความเชื่อ

เราท่านในฐานะสาวกของพระคริสต์   เมื่อชีวิตของเราต้องประสบจุดวิกฤติล้มเหลวลงในชีวิต   โปรดระลึกเสมอว่า  นั่นเป็นโอกาสที่เปิดออกสำหรับท่านที่จะเข้าหาพระเจ้า   รับการเปลี่ยนแปลงและเสริมสร้างจากพระองค์ผ่านประสบการณ์ในวิกฤตินั้น   ให้เราเป็นสาวกคนใหม่ ที่พระคริสต์จะสามารถมอบหมายความรับผิดชอบในการสานต่อพระราชกิจของพระองค์ในสถานการณ์และบริบทล้อมรอบชีวิตที่พระเจ้าทรงวางท่านไว้นั้น   เพื่อชีวิตของท่านจะสามารถมีพลังขับเคลื่อนแต่ละวันอย่างเกิดผล และ เข้มแข็งขึ้น ตามพระประสงค์ของพระองค์ในชีวิตของเราแต่ละคน

สำหรับคริสตชนแล้วพระเจ้าให้โอกาสแก่เราเมื่อ “ชีวิตล้มลง”  เพื่อจะลุกขึ้น    การล้มเหลวมิใช่การพิพากษาหรือความไม่พอใจของพระเจ้าต่อชีวิตของเรา   แต่เมื่อเราล้มเหลวในชีวิต  พระเจ้าเพียรรอคอยการกลับมาของเรา  เหมือนพ่อรอวันกลับมาของบุตรคนเล็ก   และเมื่อลูกคนเล็กที่ชีวิตล้มเหลวสูญเสียไม่เหลืออะไร   พ่อกลับมองว่า  คุณค่าของลูกคนเล็กมิได้อยู่ที่ว่าชีวิตของเขาเหลืออะไรกลับมาบ้าน   แต่สิ่งสูงสุดและมีค่ายิ่งในสายตาของพ่อคือ   พ่อสูญเสียลูกไปแล้วแต่ได้ลูกกลับคืนมา   ลูกตายไปแล้วแต่กลับมีชีวิตใหม่

แน่นอนครับ   ชีวิตของบุตรคนเล็กเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง  ทั้งความคิด ความเชื่อ มุมมอง และพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน   และยิ่งกว่านั้น   ลูกคนเล็กคนนี้จะมีชีวิตอยู่ต่อไปตามความประสงค์ของผู้เป็นพ่อแน่นอน   พ่อไม่ได้เปลี่ยนสถานการณ์บริบทแวดล้อมชีวิต   แต่พ่อเปลี่ยนชีวิตลูกให้รับมือกับสถานการณ์และบริบทแวดล้อมเดิม ๆ อย่างสร้างสรรค์ตามพระประสงค์ของพระองค์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

18 มกราคม 2559

ท่านจะตัดสินใจเลือกอย่างไร?...

ถ้าแผนการของพระเจ้าสำหรับท่านมีมากกว่าหนึ่งทางเลือก?

เมื่อมีโอกาสพบปะพูดคุยกับคนรุ่นใหม่ และ ผู้ใหญ่ในยุคที่มีทางเลือกมากมายในชีวิต   ดูเหมือนคริสตชนในยุคนี้กำลังสับสน  ลำบากใจกับเสรีภาพที่ตนได้รับ   โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการตัดสินใจเลือก...เรื่องต่าง ๆ ในชีวิตไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเลือกเรียนในคณะ/วิชาไหนดี?   จบแล้วยังต้องเลือกการงาน/อาชีพ  ฉันจะเลือกงานที่ไม่รู้สึกว่าสอดคล้องกับการทรงเรียกของพระเจ้าในชีวิตฉันอย่างไรดี?  ฉันจะเลือกอย่างไรดีกับงานที่ไม่ตรงกับสิ่งที่เรียนมา?    ฉันจะเลือกงานนี้ดีไหมที่เขาให้เงินเดือนต่ำกว่าวุฒิ?    ฉันจะเลือกอย่างไรกับสิ่งที่ฉันรู้สึกว่ามันไม่สอดคล้องกับระบบคุณค่าที่ฉันมีอยู่?  

ผู้คนเหล่านี้กำลังบอกกับตนเองว่า  เขาต้องเผชิญหน้ากับการใช้เสรีภาพในการเลือก   การเลือกที่มีอะไรให้เลือกมากมาย  มากกว่าหนึ่งทางเลือก   หรือทางเลือกที่ไม่ตรงกับใจต้องการ   แต่เขาบอกกับตนเองและบอกกับพระเจ้าว่า เขาต้องการเลือกก้าวต่อไปในชีวิตของเขาที่เป็นตาม “น้ำพระทัยของพระเจ้า”   แล้วถ้าเป็นตัวท่านล่ะท่านจะเลือกอย่างไรดี?

บางครั้งพระเจ้าเปิดทางเลือกสำหรับเราที่จะกระทำตามน้ำพระทัยและพระประสงค์ของพระองค์มากกว่าหนึ่งทาง...แล้วท่านคิดอย่างไร?  และจะจัดการอย่างไรกับการที่ต้องเลือกทางหนึ่งทางใดที่พระเจ้าทรงประทานให้  มากกว่าหนึ่งทาง?   หรือเราจะโยนกลับไปให้พระเจ้าใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จที่เราเรียกว่า “พระเมตตา” ให้พระเจ้าช่วยเลือกแทนเราเช่นนั้นหรือ?   เรากลัว   เราไม่อยากเสี่ยงที่จะต้อง “เลือกผิด”   หรือบางท่านก็จะอธิษฐานขอพระเจ้า ทรงเปิดเผยว่าควรจะเลือกทางเลือกไหนที่ดีที่สุด   แต่ผมเชื่อว่าทุกทางเลือกที่พระเจ้าประทานให้เราเลือกนั้นเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับเราทั้งสิ้น  

นี่เป็นเรื่องของมุมมองที่แตกต่าง   คือเราคิดและคาดหวังว่า  ทางเลือกที่พระเจ้าให้กับเรามีเพียงทางเลือกเดียวที่ดีที่สุด ถูกต้องที่สุด เหมาะสมที่สุด  สมบูรณ์ที่สุด   แล้วเราจะต้องเลือกข้อ (ก.)   (ข.)  (ค.)  หรือ  (ง.)  อย่างที่เรามีประสบการณ์และเราทำกันเสมอในห้องสอบ  แต่ในความเชื่อของคริสตชน   พระเจ้ามิได้เปิดทางเลือกที่ถูกต้องเพียงทางเลือกเดียวแก่เราแต่ละคนเสมอไป   แต่พระเจ้าประทานทางเลือกหลากหลายทางที่เหมาะสม  ถูกต้อง  สมบูรณ์ในแต่ละทางเลือกให้เรา

ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งที่เกิดขึ้นในสถานการณ์เช่นนี้ในชีวิตการเลือกของคริสตชนแต่ละคนคือ   เราไม่อยากเสี่ยง เรากลัวว่าเราจะเลือกผิด  อย่าให้ความกลัวของคริสตชนในประเด็นนี้ที่กลายเป็นตัวบีบครอบจำกัดความเชื่อและการไว้วางใจในพระเจ้าของเราต้อง “อ่อนแรงลง”   การที่ความเชื่อศรัทธาของเราแต่ละคนจะเข้มแข็งและเติบโตขึ้นก็ต่อเมื่อเราต้องใช้ความเชื่อของเราให้มากขึ้น ๆ   เราต้องกล้าที่จะตัดสินใจเลือกด้วยความเชื่อและไว้วางใจและด้วยจิตภาวนาอธิษฐานว่า   พระเจ้าจะเป็นผู้ที่จะควบคุมกระบวนการในทางที่เราเลือกให้เกิดผลดีตามพระประสงค์ของพระองค์ในชีวิตของเรา   พระธรรมสุภาษิต 3:5-6 บอกกับเราว่า เมื่อเราตัดสินใจเลือกแล้ว   เราต้องเชื่อและวางใจในการทรงนำ  ในพระปัญญา  ในพระกำลังที่จะทรงนำบนเส้นทางที่เราเลือกที่จะเป็นไปและบรรลุสำเร็จตามพระประสงค์ของพระองค์ในชีวิตอย่างไร
5จง​วาง​ใจ​ใน​พระ​ยาห์​เวห์​ด้วย​สุด​ใจ​ของ​เจ้า  และ​อย่า​พึ่ง​พา​ความ​รอบ​รู้​ของ​ตน​เอง
 6จง​ยอม​รับ​รู้​พระ​องค์​ใน​ทุก​ทาง​ของ​เจ้า แล้ว​พระ​องค์​เอง​จะ​ทรง​ทำ​ให้​วิถี​ของ​เจ้า​ราบ​รื่น
นั่นหมายความว่า   คริสตชนจะต้องเลือก   เลือกด้วยความตระหนักชัดว่า   ในแต่ละทางเลือกที่พระเจ้าประทานแก่เราพระองค์มีย่างก้าวขั้นตอนที่นำชีวิตของเราไปสู่พระประสงค์ของพระองค์   นั่นต้องระวังไม่คิดว่าเมื่อตนตัดสินใจเลือกแล้ว   ตนจะพึ่งแต่ความสามารถและกำลังของตนเองได้   แต่เมื่อเราตัดสินใจเลือกแล้ว เส้นทางต่อไปนี้ที่ต้องก้าวเดินไปนั้น   เป็นเส้นทางแห่งความเชื่อ  ไว้วางใจ  ยอมตัวที่จะเดินไปตามวิถีและวิธี  ตามการทรงนำของพระองค์   กล่าวคือ เราต้องเลือกที่จะเดินตามพระประสงค์ของพระเจ้าบนเส้นทางชีวิตใดเส้นทางหนึ่ง

อย่ามีความคิดที่จะจำกัดพระเจ้าว่า มีทางเลือกทางเดียวสำหรับชีวิตของเราเท่านั้น   และโลกของพระบิดามิใช่ที่เราจะต้องเลือกสีขาวหรือสีดำเท่านั้น   แต่พระเจ้าทรงยิ่งใหญ่กว่าที่เราเคยคิดและเข้าใจ   พระเจ้าทรงอยู่ในทุกแผนการที่เราตัดสินใจเลือก   เมื่อเราเลือกแล้วพระองค์จะทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตของเราบนเส้นทางที่เราเลือกนั้น   และบนเส้นทางจาริกนี้ถ้าใครที่เชื่อ และ ไว้วางใจ  แสวงหาพระราชกิจที่ทรงกระทำบนเส้นทางนี้ในชีวิตของตน   คน ๆ นั้นจะจะมีความเชื่อศรัทธาที่เติบโตและแข็งแรงขึ้น   เพราะเขาได้เห็นได้สัมผัสกับพระราชกิจของพระเจ้าในชีวิตของเขาทุกวันในชีวิตประจำวัน

ตราบใดที่เรายังปรารถนาที่จะตัดสินใจให้เป็นที่ชอบพระทัยของพระเจ้า   จะไม่มีการตัดสินใจใดที่ท่านตัดสินใจที่เลวร้ายสุด ๆ  หรือไม่มีการตัดสินใจที่ดียอดเยี่ยมเลิศเลอกว่า    ทุกการตัดสินใจต้องเผชิญหน้ากับ “การเสี่ยง”  เพราะไม่มีการตัดสินใจใดที่เป็นการตัดสินใจที่สมบูรณ์แบบ   ในทุกความเชื่อศรัทธาย่อมเป็นการเสี่ยง   เพราะในทุกความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ก็มีปัจจัยที่จะประสบกับความล้มเหลวด้วยเช่นกัน   ดังนั้น ในเมื่อไม่มีการตัดสินใจเลือกที่ถูกต้องสมบูรณ์   แล้วเราจะให้ความกลัวในการตัดสินใจเลือกมาทำให้เราต้องหยุดชะงักในการตัดสินใจเลือกที่เราเห็นว่าดี ว่าควร  ในเวลานั้นทำไม?

ในสภาพการณ์จริงในชีวิตของเราไม่มีงานที่ดีสมบูรณ์สำหรับเรา  แล้วก็ไม่มีโรงเรียนที่สมบูรณ์แบบ   ไม่มีคู่ชีวิตที่สมบูรณ์แบบดีเลิศ   ไม่มีพันธกิจที่ดีเยี่ยมสมบูรณ์สำหรับเรา  ไม่มีคริสตจักรที่ดีเยี่ยมสมบูรณ์แบบ   ไม่มีแนวทางใดแนวทางหนึ่งที่ใช้เลี้ยงดูบุตรหลานของเราได้อย่างดีเยี่ยม   แล้วก็ไม่มีบ้านหลังใดหลังหนึ่งที่ดีเยี่ยมสมบูรณ์   ไม่มีเส้นทางชีวิตแบบใดแบบหนึ่งที่เยี่ยมยอดสมบูรณ์แบบที่สุด   และก็ไม่มีการตัดสินใจเลือกที่ดีเยี่ยมสมบูรณ์ที่สุดด้วย!

ขอย้ำว่า  ไม่มีการตัดสินใจเลือกใดที่ดีเยี่ยมสมบูรณ์แบบ  มีแต่การที่เราจะยอมอย่างสิ้นเชิงให้พระเจ้าทรงนำ  และกระทำพระราชกิจของพระองค์บนเส้นทางชีวิตที่เราตัดสินใจเลือกอย่างเต็มร้อย    เมื่อเราตัดสินใจเลือกสิ่งหนึ่งสิ่งใด เส้นทางหนึ่งเส้นทางใดในชีวิตแล้ว  เราจะไม่เดินบนเส้นทางที่เราเลือกนั้นด้วยความกลัวที่มาครอบงำในการดำเนินชีวิตของเรา   แต่รู้ตระหนักชัดว่า เมื่อเราตัดสินใจเลือกแล้วพระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์บนเส้นทางที่เราตัดสินใจเลือกนั้นเคียงข้างไปกับเรา   เพื่อทำให้การตัดสินใจเลือกของเราเกิดสิ่งดีแก่เราในชีวิตและส่งผลดีผ่านชีวิตของเราไปยังคนอื่นด้วย

ในพระธรรมโรม บทที่ 8 เตือนเราว่า   มิเพียงแต่ที่เราได้ถูกสร้างขึ้นและทรงเรียกให้มีชีวิตตามพระประสงค์ของพระเจ้าเท่านั้น   แต่ในชีวิตประจำวันของเรา องค์พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงแทรกและเสริม-หนุนเนื่องเราในการดำเนินชีวิตถ้าเราทูลขอการทรงนำ และ รับพระกำลังให้เป็นกำลังของเราจนพบกับพระประสงค์ของพระเจ้าบนเส้นทางชีวิตที่เราเลือกนั้น

ในเวลาเดียวกัน พระวิญญาณบริสุทธิ์ได้ทรงช่วยหนุนเสริมเมื่อเราอ่อนแอในชีวิต   ถึงแม้เราสิ้นแรงหมดกำลังทั้งกายและใจจนไม่รู้ว่าจะทูลอธิษฐานเช่นไร  หรือ อธิษฐานคร่ำครวญไม่เป็นคำ   แต่องค์พระวิญญาณบริสุทธิ์ก็จะเป็นผู้ทูลอธิษฐานแทนเรา   แต่เรารู้และมั่นใจว่า  ในทุกสิ่งที่เราเผชิญในชีวิตประจำวัน พระเจ้าทรงกระทำกิจของพระองค์ให้เกิดสิ่งดีในชีวิตของผู้ที่รักพระองค์   ตามพระประสงค์แห่งการทรงเรียกของพระเจ้าในชีวิตของคน ๆ นั้น (โรม 8:26-28)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

15 มกราคม 2559

พระเจ้าทำงานในชีวิตของเราแต่ละวันอย่างไร?

บทคิดข้อเขียนที่ผ่านมาสองครั้งเราพบว่า   ในทุกเช้าพระเจ้าทรงกระทำสิ่งใหม่ ๆ สำหรับชีวิตของเราแต่ละคน   มีคำถามว่า แล้วพระเจ้าทรงกระทำงานของพระองค์ในชีวิตของเราอย่างไร? แบบไหน?

จากสดุดีที่ผู้คนท่องจำได้จำนวนมากตอนหนึ่งก็คือ  พระธรรมสดุดี บทที่ 23   ในข้อที่หนึ่ง   ผู้ประพันธ์คือกษัตริย์ดาวิดกล่าวจากประสบการณ์ชีวิตของท่านไว้ว่า  “พระ​ยาห์​เวห์​ทรง​เลี้ยง​ดู​ข้าพเจ้า​ดุจ​เลี้ยง​แกะ ข้าพเจ้าจะ​ไม่​ขัด​สน” (มตฐ.)   กษัตริย์ดาวิด กล่าวภาพรวมการทำงานของพระเจ้าในชีวิตของเราแต่ละคนว่า  “พระเจ้าทรงเลี้ยงดู”   ดังนั้นชีวิตแต่ละวันของเราจึง “ไม่ขัดสน”

ดาวิดกล่าวถึง  “การเลี้ยงดูของพระเจ้า” ในชีวิตของเราแต่ละคนว่า เป็นเหมือนเลี้ยงแกะ   พระองค์ไม่ได้เลี้ยงดูเราเพราะเป็นงานอดิเรก   แต่ทรงใส่ใจและเลี้ยงดูอย่างจริงจัง   ทรงเอาใจใส่เลี้ยงดูทั้งด้านร่างกาย   ให้ทั้ง “หญ้าและน้ำ” ที่อุดมสมบูรณ์ (ดูข้อ 2)   พระองค์ทรงเลี้ยงดูเราด้วยการทรงใส่ใจ และ นำเราไปบนวิถีการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องชอบธรรมของพระองค์ (ข้อ 3)   พระเจ้าใส่ใจและเลี้ยงดูเราให้มีความเชื่อมั่นในการสถิตอยู่ด้วยและการปกป้องเมื่อต้องดำเนินชีวิตท่ามกลางอันตรายที่ครอบงำด้วยอำนาจมัจจุราช (ข้อ 4)  เมื่อต้องเผชิญหน้ากับศัตรูอำนาจชั่วพระเจ้าทรงเจิมกำลังแก่เราแต่ละคนด้วยพระคุณของพระเจ้า (ข้อ 5)   การเลี้ยงดูของพระเจ้าคือการสถิตอยู่ด้วยในทุกสถานการณ์ชีวิต   และพระเจ้าอยู่ที่ใดเราจะอยู่กับพระองค์ที่นั่น (ข้อ 6)  ดังนั้น  เราจึง “ไม่ขัดสน” ในทุกด้านทุกมิติชีวิตของเรา

พระเจ้าในสายตามุมมองของกษัตริย์ดาวิด   ท่านเห็นพระเจ้าทรงทำงานในชีวิตของมนุษย์ทุกวันคืน   และพระราชกิจของพระเจ้าในชีวิตของเราคือ  การทรงอยู่เคียงข้างเราทุกสถานการณ์  และ ทรงกระทำหนุนเสริมให้เรามีชีวิตที่เข้มแข็งมั่นคงขึ้นในสถานการณ์ต่าง ๆ

พระองค์ทรงนำเราไปที่ทุ่งหญ้าเขียวสด และ ริมน้ำแดนสงบ   เราในฐานะแกะที่พระองค์ทรงเลี้ยงเราจะต้องกินหญ้า  และดื่มน้ำจากแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์   เพื่อเราจะเติบโตเข้มแข็งมีกำลัง

เมื่อพระเจ้าทรงนำให้เราเดินไปบนเส้นทางแห่งความชอบธรรมของพระองค์   เราต้องวางใจพระองค์และเดินไปบนเส้นทางนั้น   เป็นการสร้างเสริมประสบการณ์และความเชื่อ  ที่กล้ากระทำตามการทรงนำของพระเจ้า   เราจึงมั่นคงและมีพลังในชีวิต

เมื่อชีวิตต้องประสบกับเหตุร้ายภัยพิบัติต่าง ๆ  พระเจ้าทรงสถิตเคียงข้างเรา   ทรงปกป้องคุ้มครองเรา   เราต้องกล้าที่จะก้าวเดินออกไปด้วยความไว้วางใจในการทรงสถิตด้วยและการปกป้องของพระองค์   เราเริ่มเรียนรู้จากประสบการณ์  และเข้มแข็งขึ้นในการเผชิญหน้ากับอำนาจชั่วด้วยพระกำลังที่พระเจ้าประทานให้

การทรงทำงานของพระเจ้าในชีวิตของเราแต่ละคน   เป็นพระคุณของพระเจ้าที่เป็นรูปธรรมในชีวิตประจำวันของเรา   ที่เป็นพลังหนุนเสริมชีวิตของเราให้ก้าวไปแต่ละวันด้วยความมั่นใจในพระเจ้า   และเติบโตขึ้นในพระคุณและความรักของพระองค์

เพื่อชีวิตประจำวันของเราแต่ละคนจะสามารถสำแดงพระคุณและความรักเมตตาของพระองค์   ซึ่งเป็นพระฉายาที่พระเจ้าทรงประทานให้เราแต่ละคน   ที่จะสำแดงแก่ผู้คนรอบข้างที่เราต้องสัมผัสและสัมพันธ์ในแต่ละวัน    พระเจ้าทรงทำงานเพื่อเสริมสร้างเราแต่ละคน   เพื่อให้เราทำอย่างพระองค์กับผู้คนรอบข้าง!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

11 มกราคม 2559

พลังขับเคลื่อนชีวิตประจำวันของเรามาจากไหน?

อะไรคือตัวดูดพลังชีวิตของเราไป?
บางคนบอกว่า ความห่วงกังวล  ความกลัว   ความรู้สึกผิดในชีวิต 
บ้างก็บอกว่าความขมขื่นในชีวิต 
แต่ในที่สุดเราต่างเห็นพ้องต้องกันว่า 
ตัวดูดพลังชีวิตของเราที่น่ากลัวที่สุดคือ  ความรู้สึกอ่อนเปลี้ยสิ้นแรงที่มีในชีวิต

ชีวิตที่อ่อนเปลี้ยสิ้นแรง   ทำให้เรารู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา(ทั้งที่ไม่ได้ทำงานหนักอะไรเลย)
ไม่สามารถทำงานที่รับผิดชอบให้สำเร็จลุล่วงทันเวลา   รู้สึกว่าตนกำลังเจ็บป่วยไม่สบาย

แล้วความรู้สึกอ่อนเปลี้ยสิ้นแรงในชีวิตเกิดขึ้นมาอย่างไร?
พบว่า...เราพยายามควบคุมนาวาชีวิตของเราด้วยกำลัง  ปัญญา และความสามารถของตนเอง
ในที่สุดพบคำตอบว่า   ที่เราอ่อนเปลี้ยหมดแรงในชีวิตเพราะเราแยกตัวออกจากพระเจ้า
เราไม่ได้เปิดชีวิตประจำวันของเราให้พระเจ้าเข้ามาทำพระราชกิจในชีวิตของเรา

ดังนั้นเราจึงไม่สามารถรับพลังชีวิตเสริมเพิ่มจากพระเจ้าได้
เมื่อเราอ่อนเปลี้ยหมดแรง   เราจึงไม่สามารถดำเนินชีวิตสำเร็จตามเป้าหมาย
ชีวิตที่ไม่เปิดรับให้พระเจ้าเข้ามาทำงานในชีวิตของเรา   เราจะได้รับพลังเสริมเพิ่มในชีวิตได้อย่างไร?
เตาปิ้งขนมปังถ้าไม่เสียบปลั๊กรับกระแสไฟฟ้ามันจะให้ความร้อนปิ้งขนมปังได้อย่างไร?
เครื่องโทรทัศน์ไม่เสียบปลั๊กรับพลังไฟฟ้ามันจะมีภาพให้ชมได้อย่างไร?
เครื่องดูดฝุ่นที่ไม่ได้เสียบปลั๊กมันจะทำหน้าที่ดูดฝุ่นทำความสะอาดได้อย่างไร?
ชีวิตเราจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้ชีวิตต้องมีพลัง   เราต้องเปิดชีวิตประจำวันของเรารับพลังจากเบื้องบน

พระธรรมอิสยาห์ 40:29 กล่าวไว้ว่า...
“พระ​องค์​ประ​ทาน​กำ​ลัง​แก่​คน​อ่อน​เปลี้ย
และ​ผู้​ไม่​มี​พลัง​นั้น​พระ​องค์​ทรง​ให้​มี​เรี่ยวแรง​มาก”  (มตฐ.)

เรามีความจำเป็นและต้องการพลังชีวิตมากกว่าที่เราคิด   เปาโลยืนยันว่า
“ข้าพเจ้า​เผชิญ​ได้​ทุก​อย่าง​โดย​พระ​องค์​ผู้​ทรง​เสริม​กำ​ลัง​ข้าพเจ้า”
(ฟิลิปปี 4:13 มตฐ.)

ที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดนี้   มิใช่การคิดแบบบวก   และก็ไม่ใช่การเสริมพลังใจในเชิงจิตวิทยา   ความจริงก็คือเราไม่สามารถที่จะเสริมสร้างพลังชีวิตตนเองด้วยความคิดของเราเอง  แต่นี่เป็นพลังเสริมหนุนจากเบื้องบน

แล้วพลังชีวิตที่จะรับมือกับความว้าเหว่  
พลังชีวิตที่จะรับมือกับความเครียดเมื่อชีวิตกอยู่ภายใต้ความกดดันด้านต่างิๆ  
พลังชีวิตที่จะจัดการกับความรู้สึกผิด  รู้สึกกลัว  ความรู้สึกเบื่อหน่าย 
ความรู้สึกขมขื่น  และความรู้สึกว่าตนไม่มีใครต้องการ  
พลังชีวิตที่จะรับมือกับเศรษฐกิจที่ล่มสลายในชีวิตประจำวัน  
พลังชีวิตที่จะรับมือกับวิกฤติที่เกิดขึ้นในชีวิต   และ
พลังชีวิตจากไหนที่เราจะใช้รับมือและจัดการกับสัมพันธภาพในแต่ละวัน?
  
เราจะจัดการรับมือกับสิ่งเหล่านี้ในชีวิตด้วยพลังชีวิตจากที่ไหน?
พลังหนุนเสริมพลังชีวิตในตัวเรามาจากไหน?

ไม่มีแหล่งพลังชีวิตที่เที่ยงแท้ที่อื่นใดเลย  
นอกจากพลังชีวิตจากพระเจ้าที่จะหนุนเสริมเพิ่มพลังชีวิตแก่เราแต่ละวันได้
เมื่อเรายอมเปิดชีวิตของเรารับพระเจ้าให้มาทำงานในชีวิตประจำวันของเรา
และนี่คือหนทางที่มาของพลังชีวิตจากเบื้องบน

เมื่อเราท่านเปิดชีวิตให้พระเจ้าเข้ามาทำงานในชีวิตประจำวันของเรา 
นั่นคือทางที่เราจะได้รับเสริมเพิ่มพลังชีวิตจากการทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตของเรา

เมื่อใดก็ตามในวันนี้   ถ้าเรารู้สึกอ่อนเปลี้ยเพลียแรง
ให้เราเปิดชีวิตจิตใจของเรา  ทูลขอพระเจ้าโปรดเข้ามา  และ
ทำงานตามพระประสงค์ในชีวิตของเรา
นั่นคือแหล่งพลังขับเคลื่อนชีวิตประจำวันของเราที่เที่ยงแท้

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

08 มกราคม 2559

พลังความหวังในชีวิตมาจากไหน?

จากบทคิดข้อเขียนครั้งก่อน  ที่กล่าวถึง “ใหม่สด ทุกเช้า จากพระเจ้า”   ที่กล่าวถึงความรักมั่นคงที่ไม่หยุดยั้ง  และพระกรุณาของพระเจ้าที่ไม่มีสิ้นสุด   ที่มีมาถึงเราทุก ๆ เช้าของวันใหม่ (เพลงคร่ำครวญ 3:22-23)   ผู้ประพันธ์บทเพลงนี้กล่าวถึงความรักเมตตาและพระกรุณาคุณของพระเจ้าที่มิสามารถหาสิ่งใดเปรียบได้   เป็นพระคุณที่ไม่สามารถจะนับและจดจำได้อย่างครบถ้วน

เราท่านและคริสตชนมักคัดลอก หรือ กล่าวถึงพระคัมภีร์สองข้อนี้โดด ๆ แต่แท้จริงแล้วนี่เป็นประสบการณ์ชีวิตของผู้ที่ตกทุกข์ระกำลำบาก เรียกว่าสูญเสียซึ่งทุกอย่าง เป็นประสบการชีวิตที่ขยาดเข็ดเคี้ยวอย่างเคี้ยวกรวด   จมอยู่ในกองทุกข์อย่างชีวิตจมจ่อมคลุกอยู่ในขี้เถ้า ชีวิตพบแต่ความทุกข์ลำบากจนลืมไปแล้วว่าสันติสุขมันเป็นอย่างไรกันแน่  สูญเสียศักดิ์ศรีและความหวังในชีวิต เป็นประสบการณ์ที่ขมขื่นอย่างบอระเพ็ด จิตใจมีแต่ความหดหู่   แล้วผู้ประพันธ์บอกกับเราว่า ที่เขายังกล่าวถึงเรื่องราวประสบการณ์ชีวิตเหล่านี้ได้ เพราะเขามีความหวัง (ดู เพลงคร่ำครวญ 3:16-21)

ท่ามกลางความทุกข์ระทมขมขื่นและสูญเสียทุกอย่างแต่เขากลับมีความหวัง? เป็นไปได้อย่างไรที่ท่ามกลางความสิ้นหวังและสูญเสียทุกอย่างแล้วยังมีความหวังอีก? ความหวังนี้มาจากที่ไหนกันแน่?

แน่นอนครับ ความหวังของผู้ประพันธ์เพลงคร่ำครวญบทนี้มิได้มาจากสถานการณ์แวดล้อมในชีวิตของเขา   ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความอดทน หรือ ความคาดหวังเชิงบวกในความคิดของเขา   มิใช่เขาคาดหวังในสิ่งประหลาดมหัศจรรย์ที่ใจของเขาอยากให้เกิดขึ้น

แต่ความหวังในชีวิตประจำวันของเขาท่ามกลางความทุกข์ยากลำบาก ถูกเนรเทศไปอยู่ต่างแดน ในฐานะเชลยศึก ทาสรับใช้ของประเทศมหาอำนาจ ความหวังของเขายังมีพลังในชีวิตจิตใจของเขาได้เพราะ   ประสบการณ์ชีวิตของเขายืนยันตั้งมั่นคงว่า พระเจ้าทรงเปี่ยมด้วยความรักมั่นที่ไม่เคยหยุดยั้ง และพระกรุณาธิคุณของพระองค์ก็ไม่เคยหมดสิ้นไม่ว่าชีวิตของเขาจะเป็นอย่างไรก็ตาม และเขามีประสบการณ์แล้วว่าทุกเช้าทุกวันพระเจ้าทรงมี “สิ่งใหม่” สำหรับชีวิตของเราในแต่ละวัน ประสบการณ์ชีวิตเหล่านี้เองที่บ่มเพาะก่อเกิดความหวังในชีวิตของเขา

พระเมตตาคุณของพระเจ้าที่มีต่อชีวิตเราอย่างไร้เงื่อนไขนี้เอง เป็นแหล่งพลังแห่งความหวังของเราทุกวัน   ความหวังของท่านในวันนี้มาจากไหน?   เป็นพลังชีวิตจากอะไรหรือใคร?

ปีใหม่ เดือนใหม่  วันใหม่แต่ละวัน   เรามิได้มีความหวังเพราะสถานการณ์แวดล้อม   หรือเพราะเราสามารถที่จะควบคุมสถานการณ์ต่าง ๆ มิใช่คิดบวกแล้วชีวิตจะดีขึ้น   แต่ที่เรามีความหวังในชีวิตไม่ว่าอยู่ในสถานการณ์เช่นไรได้นั้น  เพราะพระเมตตาและพระกรุณาธิคุณของพระเจ้า   จงมั่นใจเถิดว่า วันนี้ไม่ว่าเราจะต้องเผชิญผ่านพบกับอะไร  ใคร  หรือสถานการณ์อย่างไร   ความรักมั่นคง และ พระกรุณาธิคุณของพระเจ้าอยู่กับเรา และ พระเจ้าทรงกระทำกิจของพระองค์ในชีวิตของเราไม่หยุดยั้ง และ ไม่สิ้นสุด   ความเที่ยงตรง สัตย์ซื่อของพระองค์นั้นคือพลังแห่งความหวังในชีวิตของเรา

ในวันนี้   เราท่านจะได้รับการทรงเสริมสร้างใหม่จากพระเจ้า  ไม่ว่าชีวิตต้องผ่านพบเหตุการณ์ สถานการณ์เช่นไรก็ตาม ขอให้เราเริ่มต้นวันใหม่วันนี้ด้วยการใคร่ครวญบทเพลงคร่ำครวญ 3:16-23 ด้วยจิตภาวนา และเปิดรับการทรงเสริมสร้างจากพระเจ้าด้วยพระปัญญา และ พระราชกิจที่กระทำในชีวิตของเราในวันนี้

16 พระองค์​ทรง​ให้​ฟัน​ข้าพเจ้า​เคี้ยว​ก้อน​กรวด   พระองค์​ทรง​ให้​ข้าพเจ้า​หมอบ​ใน​กอง​ขี้เถ้า
17 ​ชีวิต​ข้าพเจ้า​ขาด​สันติ​สุข   จน​ข้าพเจ้า​ลืม​ว่า​ความสุข​เป็น​อย่างไร
18 ​ข้าพเจ้า​จึง​ว่า ศักดิ์ศรี​ของ​ข้าพเจ้า​สูญ​ไป​แล้ว   ทั้ง​ความหวัง​ของ​ข้าพเจ้า​ใน​พระ​ยาห์​เวห์​ด้วย

19 การ​คิดถึง​ความ​ทุกข์​ยาก​และ​การ​พลัด​บ้าน​ของ​ข้าพเจ้า   เป็น​บอระเพ็ด​และ​ของ​ขม
20 ​ข้าพเจ้า​ยัง​คิดถึง​เนือง ๆ และ​จิตใจ​ข้าพเจ้า​ก็​หด​หู่

21 ​ข้าพเจ้า​หวน​คิด​เรื่อง​นี้​ขึ้นมา​ได้   เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้า​จึง​มี​ความหวัง
22 ความ​รัก​มั่นคง​ของ​พระ​ยาห์​เวห์​ไม่​เคย​หยุดยั้ง   และ​พระ​กรุณา​ของ​พระองค์​ไม่​มี​สิ้นสุด
23 ​เป็น​ของใหม่​ทุก​เวลา​เช้า  ความ​เที่ยงตรง​ของ​พระองค์​ใหญ่​ยิ่ง​นัก
(เพลงคร่ำครวญ 3:16-23 มตฐ.)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

04 มกราคม 2559

ใหม่ สด ทุกเช้า...จากพระเจ้า

22 ความ​รัก​มั่นคง​ของ​พระ​ยาห์​เวห์​ไม่​เคย​หยุดยั้ง
และ​พระ​กรุณา​ของ​พระองค์​ไม่​มี​สิ้นสุด
23 เป็น​ของใหม่​ทุก​เวลา​เช้า
ความ​เที่ยงตรง​ของ​พระองค์​ใหญ่​ยิ่ง​นัก
(เพลงคร่ำครวญ 3:22-23 มตฐ.)

ขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับปีใหม่...

วันแรกของการทำงานอย่างเป็นทางการของปีใหม่นี้
ให้เราตระหนักเสมอว่า...
ในแต่ละวันในปีนี้...   เป็นวันใหม่ที่พระเจ้าเตรียมให้เราแต่ละคน
เป็นโอกาสใหม่ที่พระเจ้าให้แก่เราในการเริ่มต้นสิ่งดีอีกครั้งหนึ่ง
เป็นวันใหม่ที่พระเจ้าจะสำแดง “ความรักมั่นคง” ของพระองค์อย่างไม่จำกัด
เป็นวันใหม่แต่ละวันที่เราจะสัมผัสกับความรักมั่นคงของพระองค์อย่างต่อเนื่อง
ไม่มีอะไรที่จะมายั้งหยุด “ความรักมั่นคง” ในแต่ละวันของพระองค์ที่มีต่อเรา  
ยกเว้นเสียแต่ว่า...  เราเมินเฉย  มองข้ามความรักมั่นคงของพระองค์
และที่สำคัญคือ   ความรักมั่นคง และ พระกรุณาของพระเจ้าที่มีต่อชีวิตเรานั้น
มีอย่างไม่จำกัด!
ไม่มีวันสิ้นสุด!
ในแต่ละวันของปีใหม่  ที่เคลื่อนเข้าหาชีวิตของเรา
เป็นการเคลื่อนเข้ามาของ ความรักที่มั่นคง  พระกรุณาที่ไม่มีสิ้นสุด 
เป็นเหมือนแสงรุ่งอรุณทุกเช้าที่ ไล่ความมืด แล้วส่องสว่างถึงเราอย่างเที่ยงตรง แน่นอน
นี่คือความยิ่งใหญ่ในแต่ละวันของปีใหม่นี้ที่พระเจ้าให้แก่เราแต่ละคน

ให้แต่ละวันในปีใหม่นี้เป็นโอกาสที่เราจะสรรเสริญพระเจ้าผ่านการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499