28 มีนาคม 2559

อันไหนมาก่อน...?

เป็นไปได้ไหมที่เมื่อเรารอหมายสำคัญจากพระเจ้า? 
...พระเจ้าก็กำลังรอให้เราก้าวออกก้าวแรกด้วยพลังแห่งความศรัทธาและไว้วางใจในพระองค์?

หลายครั้งเมื่อคริสตชนอธิษฐานทูลขอการทรงนำจากพระเจ้าในการตัดสินใจในเรื่องต่างที่สำคัญในชีวิต   หลังการอธิษฐานหลายท่านมักรอดูว่าพระเจ้าจะสำแดงหมายสำคัญอะไร อย่างไร ที่จะช่วยให้ตนสามารถตัดสินใจในเรื่องนั้น ๆ ด้วยความมั่นใจ  

เป็นไปได้ไหมที่เมื่อเรากำลังรอหมายสำคัญจากพระเจ้า...   พระเจ้าก็กำลังรอให้เราก้าวออกไปก้าวแรกด้วยพลังแห่งความเชื่อศรัทธาและไว้วางใจในพระองค์?

เมื่อเปโตรต้องการมั่นใจว่า  สิ่งที่เขาเห็นในทะเลนั้นเป็นผี หรือ พระเยซูคริสต์   เขาทูลขอว่า... ถ้าเป็นพระเยซูคริสต์จริง   ขอให้เขาสามารถเดินบนน้ำทะเล   พระเยซูตรัสตอบกลับมาว่า “มาเถิด” (มัทธิว 14:29 มตฐ.)   พระเยซูคริสต์คาดหวังให้เปโตร ก้าวลงบนน้ำทะเลที่กำลังคึกคะนองและฟองฟู่   ซึ่งเป็นก้าวแรกแห่งความเชื่อศรัทธาที่มาจากก้นบึ้งแห่งชีวิตที่เปโตรจะไว้วางใจในคำตรัสของพระคริสต์ที่ว่า “มาเถิด”  

ขอตั้งข้อสังเกตว่า  เปโตรไม่ได้ต่อรองพระเยซูว่า  ขอหมายสำคัญที่เขาจะไว้วางใจจนเขาสามารถก้าวลงบนน้ำทะเลที่ปั่นป่วนได้   แต่สิ่งที่เปโตรทำในวิกฤตินั้นคือ “ก้าวออกจากเรือเหยียบลงบนน้ำทะเล” (ข้อ 22-23)   แล้วหมายสำคัญแรกก็เกิดขึ้นเป็นจริงคือ  เปโตรเดินบนน้ำทะเลได้   ในที่นี้หมายสำคัญมิใช่สิ่งอื่นใดเลย   แต่เป็นพระราชกิจของพระเจ้าที่กระทำในวิกฤติชีวิตประจำวันของเราโดยแท้

การก้าวเดินบนน้ำทะเลมิใช่เป้าหมายปลายทางแห่งความเชื่อศรัทธาของคริสตชน   แต่เป้าหมายปลายทางคือการที่คริสตชนแต่ละคนเดินเข้าใกล้ชิดพระคริสต์มากขึ้น ๆ แต่เมื่อการมุ่งมองในชีวิตของเราเคลื่อนเป้าจากพระคริสต์ไปยังสภาวะแวดล้อมวิกฤติที่กำลังปั่นป่วนรอบข้างชีวิตเรา อิทธิพลรอบข้างจึงมีอิทธิพลเหนือการรับรู้ ความรู้สึก ความมั่นใจ และมีอิทธิพลเหนือความไว้วางใจของเราต่อพระเจ้า สิ่งที่เกิดแก่เราในเวลานั้นคือ “ความกลัว” เข้ามาแทนที่ความไว้วางใจในพระเจ้า การก้าวเดินต่อเนื่องด้วยความเชื่อของเราต้องสะดุดล้ม  แล้วเราก็มักร้องด้วยเสียงหลงออกมาว่า “พระเจ้าช่วยลูกด้วย”

ในเวลาเช่นนั้น หมายสำคัญที่สองก็เกิดขึ้น  พระหัตถ์ของพระคริสต์คว้าเราไว้ทันที   ทรงฉุดเราขึ้นเดินบนคลื่นทะเลที่รุนแรงนั้นอีกครั้งหนึ่ง (ข้อ 31)   และเมื่อพระเยซูคริสต์ประทับบนนาวาแห่งชีวิตพร้อมกับเรา   ทะเลแวดล้อมก็สงบลง

ก้าวแรกแห่งความเชื่อศรัทธามิใช่นั่งรอหมายสำคัญจากพระเจ้า   แต่เป็นก้าวชีวิตของเราก้าวแรกออกไปในวิกฤติชีวิตที่กำลังประสบ   แล้วเราก็จะพบกับหมายสำคัญจากพระคริสต์ที่จะจรรโลงความเชื่อศรัทธาของเราให้เข้มแข็งมั่นคงยิ่งขึ้น   หมายสำคัญที่เกิดขึ้นในแต่ละระยะย่างก้าวชีวิตในวิกฤติของเรา   พระคริสต์ทรงหนุนเสริมให้เรามีชีวิตที่เชื่อวางใจในพระองค์มากยิ่งขึ้น   และที่สำคัญชีวิตของเราจะใกล้ชิดพระองค์  ติดสนิทพระองค์มากยิ่งขึ้น   เราจะได้เรียนรู้น้ำพระทัยและพระประสงค์ของพระคริสต์ชัดเจนยิ่งขึ้นในแต่ละวัน

แท้จริงแล้วเปโตรไม่ได้เดินบนทะเลที่ปั่นป่วนได้   แต่เปโตรเดินบนวิถีแห่งความเชื่อและไว้วางใจในพระคริสต์ได้   เราจะเดินบนวิกฤติชีวิตรอบข้างเราได้ก็ต่อเมื่อ   เราจะก้าวเดินก้าวแรกด้วยความเชื่อไว้วางใจในพระคริสต์ลงบนสถานการณ์ชีวิตที่ปั่นป่วนวุ่นวายได้ต่างหาก

แต่ถ้าคริสตชนจะทำอะไรก็มัวแต่รอให้พระเจ้าสำแดงหมายสำคัญให้เห็นก่อนถึงจะมั่นใจและลงมือทำแล้ว   ก็จะเป็นเหมือนปัญญาที่กษัตริย์โซโลมอนเขียนไว้ในพระธรรมปัญญาจารย์ 11:4  ที่ว่า  “ผู้​ใด​มัว​สังเกต​ลม​ก็​จะ​ไม่​หว่าน​พืช   และ​ผู้​ใด​มัว​จ้อง​มอง​เมฆ​ก็​จะ​ไม่​เกี่ยว​ข้าว” (มตฐ.)   หรือที่ยากอบถามคริสตชนแบบแสกหน้าว่า  “พี่​น้อง​ของ​ข้าพเจ้า  แม้​ใคร​จะ​กล่าว​ว่า​ตน​มี​ความ​เชื่อ แต่​ไม่​ได้​ประ​พฤติ​ตาม​จะ​มี​ประ​โยชน์​อะไร? ความ​เชื่อ​นั้น​จะ​ช่วย​ให้​เขา​รอด​ได้​หรือ?” (ยากอบ 2:14 มตฐ.)

แล้วเราท่านล่ะ...  วันนี้เรายังมัวนั่งรอหมายสำคัญอยู่หรือเปล่า?   เราจะรอหมายสำคัญก่อนที่จะลงมือทำในสิ่งที่เชื่อหรือ?   เราท่านเคยคิดไหมว่า   พระเจ้าอาจจะกำลังรอให้เราก้าวลงในสิ่งที่เราจะต้องตัดสินใจนั้นก่อน   และพระองค์จะกระทำหมายสำคัญเพื่อเราจะมีความเชื่อที่เข้มแข็ง มั่นคง และเกิดผลในชีวิตหรือไม่?

คน​ใน​ยุค​ชั่ว​ร้าย​และ​ไม่​ซื่อ​สัตย์​ต่อ​พระ​เจ้า​ชอบ​แสวง​หา​หมาย​สำคัญ
แต่​จะ​ไม่​โปรด​ให้​หมาย​สำคัญ​แก่​เขา​ทั้ง​หลาย เว้น​ไว้​แต่​หมาย​สำคัญ​ของ​โยนาห์​เท่า​นั้น
แล้ว​พระ​องค์​ก็​เสด็จ​ไป​จาก​พวก​เขา (มัทธิว 16:4 มตฐ.)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

24 มีนาคม 2559

รับใช้และให้ชีวิต...ที่มาของความสุขชื่นชมในชีวิต

คนปัจจุบันนี้ต่างไขว่คว้าแสวงหาความสุขในชีวิต   บางคนบางกลุ่มแสวงหาความสุขจากฐานะ ตำแหน่งในสังคม  หน้าที่การงาน    ความสุขของคนกลุ่มนี้ขึ้นอยู่กับคนอื่นล้อมรอบมองตนอย่างไร   คนรอบข้างให้คุณค่า   ความนับถือ  และความสำคัญแก่ตนแค่ไหน   ความสุขของคนกลุ่มนี้ขึ้นอยู่กับการยอมรับ  การตอบสนอง  ท่าทีของคนอื่นต่อตนเอง   ซึ่งตนเองไม่สามารถควบคุมคนอื่นให้ตอบสนองต่อตนเองได้อย่างจริงใจ   ดั่งใจปรารถนา

คนอีกกลุ่มหนึ่ง  ทำงานหนักในชีวิตเพื่อจะสะสมกักตุนทรัพย์สิน เงินทอง  สิ่งของทรัพย์สมบัติ   เพราะสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เขามองว่าจะให้ความสุขกับตนเอง   คุณค่าในชีวิตของคนกลุ่มที่สองนี้อยู่ที่ “มี” ทรัพย์สิน เงินทอง  สิ่งของ   ดังนั้น  เขาจึงต้องแสวงหาอย่างหนัก   แล้วยังต้องเก็บสะสม   และทุ่มเทในการรักษาให้เป็นของตนนานที่สุด   แต่ถ้าเป็นได้ก็ตลอดไป   ดังนั้น  คนกลุ่มนี้จึงมิได้มีคำว่า “ให้” ในชีวิตของเขา   นอกจากการแลกเปลี่ยนแล้วตนได้เปรียบในการแลกเปลี่ยนเท่านั้น

ใครก็ตามที่พยายามปกป้อง หรือ เอาชีวิตตนเองให้รอด  คนนั้นจะสูญเสียชีวิต   แต่ใครก็ตามที่ยอมให้ชีวิตของตนเพราะเห็นแก่พระคริสต์และพระประสงค์ของพระองค์   คนนั้นจะได้รับชีวิตใหม่     “...​ใคร​ต้อง​การ​จะ​เอา​ชีวิต​รอด คน​นั้น​จะ​เสีย​ชีวิต แต่​ใคร​ยอม​เสีย​ชีวิต​เพราะ​เห็น​แก่​เรา​และ​ข่าว​ประเสริฐ คน​นั้น​จะ​ได้​ชีวิต​รอด”  (มาระโก 8:35 มตฐ.)   พระคริสต์พูดตรงไปตรงมาว่า   การที่มีทรัพย์สมบัติมากมายสิ้นทั้งโลกจะเป็นประโยชน์อะไร   ถ้าการมีสิ่งเหล่านั้นกลับเป็น “การทำลาย หรือ สูญเสียชีวิตของตัวเองไป” (ดู ลูกา 9:25 และ มาระโก 8:36 มตฐ.)

แต่พระคริสต์บอกกับสาวก  ใน มัทธิว 20:28 ว่า   ...​บุตร​มนุษย์​...​ไม่​ได้​มา​เพื่อ​รับ​การ​ปรนนิบัติ แต่​มา​เพื่อ​ปรนนิบัติ(รับใช้)คน​อื่น และ​ให้​ชีวิต​ของ​ท่าน​เป็น​ค่าไถ่​คน​จำนวน​มาก (มตฐ.)

พระคริสต์เข้ามาในโลกใบนี้ด้วยการ “รับใช้ และ ให้ชีวิต” แก่มวลชนคนที่พระเจ้าทรงสร้าง   ทั้งการรับใช้และการให้ชีวิตจะช่วยให้ชีวิตของผู้เชื่อมีความสุข และ ยิ่งกว่านั้นยังมีความชื่นชมยินดีอย่างแท้จริง   และนี่เป็น “สาวกที่ติดตามพระคริสต์” อย่างเป็นรูปธรรมในยุคปัจจุบันนี้   ในทางกลับกันเรากล่าวได้เต็มปากว่า   ถ้าเราไม่ดำเนินชีวิตประจำวันที่ “รับใช้ และ ให้ชีวิต” แก่ผู้คนรอบข้างเรา   เราก็ไม่ได้เป็นสาวกของพระคริสต์   เราก็ไม่ได้ติดตามพระองค์   ต่อให้เราได้เข้าร่วมรับอบรมการสร้างสาวกกี่หลักสูตร กี่ครั้งก็ตาม

เปาโลบอกกับผู้เชื่อในฟีลิปปีว่า   ถ้าความเชื่อของผู้เชื่อในฟิลิปปี มีชีวิตที่ยอมเป็นเหมือนเครื่องบูชาที่ “ให้” ชีวิตของตนแก่ผู้คนรอบข้างเพราะผู้เชื่อทำตามพระวจนะและพระประสงค์ของพระเจ้า   เปาโลจะมีความยินดีอย่างยิ่งกับชีวิตของผู้เชื่อในฟีลิปปี   และการที่ผู้เชื่อในฟีลิปปี “ให้” ชีวิตของตนแก่คนรอบข้างเป็นเหมือนเครื่องบูชาที่ถวายแด่พระเจ้า   ผู้เชื่อในฟีลิปปีก็จะมีชีวิตที่ชื่นชมยินดีด้วยเช่นกัน (ดู ฟิลิปปี 2:17-18)

คริสตชนมิได้ “เชื่อศรัทธา” ในพระเจ้าด้วยความนึกคิดจิตใจ แล้วแสดงออกมาด้วยวาจาทางปากเท่านั้น   แต่ความเชื่อศรัทธา และ การติดสนิทกับพระเจ้าของคริสตชนควรเป็นความเชื่อที่ “จะแจ้งเห็นและสัมผัสได้” ที่สำแดงออกมาเป็นรูปธรรมในการดำเนินชีวิตประจำวัน   นั่นคือ พระวจนะ และ พระประสงค์ของพระเจ้ากลายเป็นวิถีการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้เชื่อแต่ละคน

คริสตชนรับใช้พระเจ้าผ่านการรับใช้เพื่อน พี่น้อง ผู้คนในชุมชน   การรับใช้เป็นการรับใช้ด้วยทั้งชีวิต   เป็นการรับใช้ด้วยการ “ให้ชีวิต”  ด้วยใจกว้างขวาง   และนี่คือที่นำมาซึ่งความสุขชื่นชมยินดี   แต่มิใช่เพราะ “เราทำดี”  แต่เพราะ พระวจนะและพระประสงค์ของพระเจ้าเกิดผลและความสุขในชีวิตของผู้คนรอบข้างเรา   และที่เราเกิดความสุขชื่นชมยินดีเพราะชีวิตของเราได้ให้แก่พระคริสต์ผ่านชีวิตของผู้คนที่เราสัมผัสสัมพันธ์ด้วยใจกว้างขวาง   และชีวิตของเราอยู่เพื่อร่วมสานต่อการเสริมสร้างชีวิตตามข่าวดี (พระกิตติคุณ) ของพระคริสต์

ทุกวันนี้อะไรที่เสริมสร้างหรือทำให้ชีวิตของท่านเกิดความสุขชื่นชมยินดี?   เราท่านเคยมีประสบการณ์ ที่เกิดความสุขชื่นชมจากการที่เรารับใช้ด้วยการให้ชีวิตของเราอย่างใจกว้างขวางแก่ผู้คนรอบข้าง  เพราะสำนึกว่านี่คือการรับใช้พระคริสต์และการให้ชีวิตแก่ผู้คนตามพระประสงค์หรือไม่?    ในวันหนึ่ง 24 ชั่วโมง   เราให้เวลาชีวิตของเรากี่ชั่วโมง/นาที ที่จะ “ให้ชีวิต และ รับใช้คนอื่น” เพื่อสานต่อพระราชกิจพระคริสต์?

เราจะ “รับใช้พระคริสต์” และ “ให้ชีวิตแด่พระองค์” ผ่านคนรอบข้างที่เราพบสัมผัสสัมพันธ์ในวันนี้แก่ใครบ้าง?   อย่างไร?   ขออธิษฐานในเรื่องนี้กับพระเจ้า   และพระองค์จะเปิดทางให้โอกาสแก่เราที่จะรับใช้และให้ชีวิตของเราแก่ใครบางคนที่เราพบเห็น   และ ทั้งเขาและเราจะสัมผัสกับความสุขและชื่นชมยินดีในวันนี้

อ้อ  อย่าลืมว่า วันนี้พระคริสต์ได้ให้ชีวิตเพื่อท่านและผม และ ทุกคนนะครับ!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

21 มีนาคม 2559

ฉันจะทำอย่างที่ฉันคิดฉันเชื่อ...ใครจะทำไม?

ในสังคมประชาธิปไตย   คนเราต่างอ้างถึงสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลยิ่งใหญ่กว่าสิ่งอื่นใด   ยิ่งใหญ่กว่าสิทธิร่วมของชุมชน   สิทธิของคนรอบข้าง  และสิทธิที่เราจะอยู่รอดร่วมกันอย่างมีคุณค่าและความหมายของการเป็นคนที่ต่างมีพระฉายาของพระเจ้าในชีวิตของแต่ละคน   แท้จริงแล้วสิทธิส่วนบุคคลเป็นสิทธิที่ต้องสอดคล้องกับสิทธิร่วมของชุมชนคนรอบข้างที่เราร่วมมีชีวิตอยู่ด้วย

การที่คริสตชนคนใดคิดว่าสิ่งที่ตนกระทำไม่ผิด  หรือ คริสตชนบางคนอ้างว่าไม่เห็นพระคัมภีร์ห้ามเรื่องนี้เรื่องนั้นชัด ๆ  ดังนั้น เขาต้องทำได้   สำหรับคริสตชนเราต่างดำเนินชีวิตใต้ร่มพระคุณของพระเจ้า   เรามีชีวิตอยู่ด้วยพระคุณของพระเจ้า   เราไม่ได้ดำเนินชีวิตภายใต้อิทธิพลของข้อบัญญัติ หรือ ถกเถียงกันด้วยเหตุผลว่าอะไรผิดอะไรถูกเท่านั้น   แต่การดำเนินชีวิตใต้พระคุณนั้นเราต้องมองเห็นถึงชีวิต จิตใจ ความเปราะบาง  ความต้องการของเพื่อนมนุษย์ด้วย  

ชีวิตที่ดำเนินใต้ร่มพระคุณจะต้องดำเนินไปบนรากฐานความรักเมตตาและเสียสละแบบพระคริสต์   ที่มีพระคุณต่อชีวิตของเราทั้งที่เราไม่ควรจะได้รับพระคุณความรักเมตตานั้นจากพระองค์เลย   และพระคุณนั้นทำงานในชีวิตของเรา  เปลี่ยนแปลงและเสริมสร้างชีวิตของเราขึ้นใหม่   ทั้ง ๆ ที่เราไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง  ทั้ง ๆ ที่เราไม่สามารถที่จะเป็นคนใหม่ได้เพราะความสามารถของเราเอง  

เปาโล กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ใน 1โครินธ์ 10:23 อย่างชัดเจนว่า..
เรา​ทำ​ทุก​สิ่ง​ได้ แต่​ไม่​ใช่​ทุก​สิ่ง(ที่เราทำ)​นั้น​จะ​เป็น​ประ​โยชน์
เรา​ทำ​ทุก​สิ่ง​ได้ แต่​ไม่​ใช่​ทุก​สิ่ง​นั้น​ทำ​ให้(เรา)เจริญ​ขึ้น (1โครินธ์ 10:23 มตฐ.)

อย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยในสังคมคริสตชนของไทยเรา  เช่น คนที่บอกว่าตนมีความเชื่อ  ดังนั้น เราสามารถดื่มเครื่องดื่มประเภทที่มีแอลกอฮอล์  และคิดว่าสามารถควบคุมตนเองในการดื่ม   ดังนั้น  เมื่อเชิญเพื่อน ๆ มาร่วมในงานเลี้ยงก็บริการเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์   โดยไม่สนใจหรือแคร์ว่าคริสตชนคนอื่นจะมองเช่นไรในการกระทำเช่นนี้   เพราะตนคิดว่าเพื่อนคริสตชนบางคนเชื่อในสิ่งที่ไร้สาระไม่สำคัญ  เป็นต้น

ในฐานะคริสตชนคนหนึ่ง  เราจะไม่สนใจแต่ความคิดความเชื่อของตนเท่านั้น   และไม่แคร์ไม่ใส่ใจ  ไม่ให้ความสำคัญกับความคิดความเชื่อของเพื่อนคนอื่น   ไม่สนใจว่าคนอื่นจะมองอย่างไรต่อพฤติกรรมของตนที่แสดงออกไม่ได้     แต่เปาโล บอกเราชัดเจนว่า  อย่า​ให้​ใคร​เห็น​แก่​ประ​โยชน์​ส่วน​ตัว แต่​จง​เห็น​แก่​ประ​โยชน์​ของ​คน​อื่น (1โครินธ์ 10:24)   เพราะในฐานะคริสตชนนอกจากไม่ทำตามที่ตนคิดตนเชื่อเท่านั้น   แต่ต้องใส่ใจถึงความคิด ความเชื่อ ความรู้สึกและความจำกัดของแต่ละคนด้วย   เพื่อนของเราบางคนอาจจะรับไม่ได้ที่เราเลี้ยงเหล้าในงานเลี้ยง   แต่เราฝืนจะเลี้ยงเพราะเป็นสิทธิเสรีภาพของเรา   การกระทำเช่นนี้จะกลายเป็น "หินสะดุด" แก่เพื่อนคนนั้นได้  หรือทำให้บางคนต้องหลงผิดไป (ข้อ 32)

ในฐานะคริสตชน เปาโล เตือนให้ระลึกเสมอว่า    เรา​ทุก​คน​จง​ทำ​ให้​เพื่อน​บ้าน​พอใจ เพื่อ​ประ​โยชน์​ใน​การ​เสริม​สร้าง​ความ​เชื่อ​ของ​เขา (โรม 15:2 มตฐ.)  และให้เรา​​ต้อน​รับ​กัน​และ​กัน เช่น​เดียว​กับ​ที่​พระ​คริสต์​ได้​ทรง​ต้อน​รับ​ท่าน เพื่อ​พระ​เกียรติ​ของ​พระ​เจ้า (ข้อ 7)   ที่เราไม่กระทำตามใจตน   มิใช่ เพราะเรามีเสรีภาพในการตัดสินใจ  หรือเพราะเราเห็นว่าชีวิต ความคิดและความเชื่อของเพื่อนคนนั้นมีความสำคัญกว่าเสรีภาพส่วนตัวเท่านั้น    แต่ที่เราไม่กระทำตัวเป็นหินสะดุดของเพื่อนเพราะเราเห็นว่า การกระทำเช่นนี้เป็นการถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าด้วย

ในฐานะคริสตชน ในแต่ละวันเราต้องอยู่ร่วม ทำงาน และมีชีวิตร่วมกับคนอื่น   เราจะไม่สนใจว่าเราคิดเราเชื่ออะไรอย่างไรเท่านั้น   แต่เราจะสนใจความคิด ความเชื่อ ความรู้สึก  ความเปราะบาง หรือ ความจำกัดของเพื่อนเรา   และทุกสิ่งเรากระทำลงไป   นอกจากจะไม่เป็นต้นเหตุให้เขาต้องเกิดความขัดแย้งกับความคิด ความเชื่อ และความรู้สึกของเขาเท่านั้น   แต่การกระทำของเราควรเป็นการเสริมสร้างชีวิต จิตใจ และความคิดความเชื่อของเขาให้เจริญเติบโตขึ้น   และเหนือสิ่งอื่นใดเราประสงค์ให้การกระทำแต่ละอย่างของเราเป็นต้นเหตุให้เกิดการถวายเกียรติแด่พระเจ้าด้วย

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

18 มีนาคม 2559

เราจะนำ สอน หรือ โค้ช คนที่เป็นผู้ใหญ่กว่าเราอย่างไรดี?

คงปฏิเสธได้ยากว่า   การที่จะต้องนำ ต้องโค้ช หรือ สอนคนอื่น   ถ้าคนนั้นมีวัยวุฒิมากกว่า   หรือ แม้แต่เป็นเพื่อนรุ่นพี่  หรือ คนที่เคยมีตำแหน่งผู้นำสูงมาก่อน   ย่อมทำให้เราบางครั้ง “หวั่น ๆ”  ไม่มั่นใจในตนเอง   หรือไม่รู้จะเริ่มหรือจะทำอย่างไรดีที่จะเหมาะสม  สร้างสรรค์   และเกิดผลดีทั้งต่อเขาและเรา

ประเด็นนี้มิได้เกิดขึ้นในการทำงานรับใช้ในคริสตจักรเท่านั้น   แต่ได้เกิดขึ้นทั้งในที่ทำงาน และ ในชุมชนด้วยเช่นกัน   และที่สำคัญคือ  นี่คืองานที่เราจะต้องทำ จะต้องรับผิดชอบ   และบางครั้งเราต้องเสริมสร้างคนที่เป็นผู้ใหญ่กว่าเราให้เป็นผู้นำ   เราจะทำอย่างไรดี?   ยิ่งถ้าคน ๆ นั้นมิได้มีอายุที่เป็นผู้ใหญ่กว่าเราเท่านั้น   แต่ยังมีตำแหน่งสำคัญบางตำแหน่ง   หรือมีความรู้ดีในบางเรื่อง  หรือเป็นผู้ที่ชาวบ้านยกย่องว่าเป็น “ปราชญ์ชุมชน” และมีผลงาน  ประสบการณ์เป็นตัวพ่วงมาด้วยแล้ว   จะให้เรานำ เราสอน และโค้ชคนระดับนี้ได้อย่างไร?

เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์เช่นนี้   บ่อยครั้งเราเกิดคำถามสารพัดที่จู่โจมเข้ามาในความคิดความรู้สึกของเรา...  เขาจะยอมรับเราหรือไม่?   เขาจะคิดว่าเรามีประสบการณ์พอที่จะนำเขา สอนเขาหรือไม่?   และถ้าเขาไม่ยอมที่จะฟังเราล่ะ จะทำอย่างไรดี?   และ ถ้าเราไม่มีประสบการณ์ที่สำคัญจำเป็นเพียงพอ  อะไรจะเกิดขึ้น?   เราจะต้องระวัง   ที่จะไม่ยอมตกเป็นเบี้ยล่างเสียงในความคิดจิตใจแบบนี้จู่โจมทับถมจนเราเกิดความไม่มั่นใจ  และพัฒนาเป็นความกลัวงันไป!

ประสบการณ์ของผมที่เคยเผชิญเรื่องเช่นนี้   ผมสงบและเตือนตนเองให้นิ่ง  แล้วค่อย ๆ ก้าวไปทีละก้าวเล็ก  และก้าวย่างอย่างต่อเนื่องบนความสัมพันธ์ และ บนฐานของประสบการณ์และความเป็นจริง   โดยเฉพาะอย่างยิ่งผมเริ่มแยกแยะสถานการณ์นี้ว่าอะไรคือ “ความจริง” ในเรื่องที่อยู่ข้างหน้าผม   และเริ่มค่อยถามตนเองว่า
  • นี่เป็นงานที่ผมต้องรับผิดชอบใช่ไหม?   และที่ต้องรับผิดชอบเพราะอยู่ในตำแหน่งนี้ใช่ไหม?
  • เรามีความรู้ในเรื่องที่จะต้องสอน  นำ  และโค้ชเขาใช่ไหม?
  • เขาก็มีประสบการณ์หลายอย่างในชีวิตที่ผมสามารถเรียนรู้จากเขาใช่ไหม?
  • เราจะทำงานร่วมกันเป็นทีมเดียวกันไม่ใช่หรือ?


เมื่อผมถามตนเองด้วยคำถามดังกล่าว   ซึ่งเป็นคำถามที่บอกกับตัวผมเองว่า  สิ่งเหล่านี้เป็น “ความจริง” ทั้งนั้น แล้วเราทำไมต้อง “ไม่มั่นใจ” ผมเตือนความจำตนเอง  โดยพูดกับตนเองว่า... เราเคยทดลองทำในเรื่องนี้มาแล้วไม่ใช่หรือ?   เรื่องนี้เราเคยทำมาแล้วไม่ใช่หรือ?   ยิ่งกว่านั้น เรายังได้รับเสียงสะท้อนกลับในการทำของเรา  เราได้บทเรียนจากประสบการณ์ไม่ใช่หรือ?   และเราก็ค้นพบหลักการปฏิบัติที่สำคัญในเรื่องการเสริมสร้างคนที่เป็นผู้ใหญ่กว่าเราในทีมงานมาก่อนหน้านี้แล้วนี่!  

ยอมรับในสิ่งที่เราไม่รู้

สิ่งสำคัญประการหนึ่งในฐานะผู้นำและผู้สร้างทีมงาน  หรือแม้แต่ในการทำงานกับคน   เราจะต้องรู้เท่าทันตนเองว่า   เรารู้เรื่องอะไรบ้าง   เราไม่รู้ในเรื่องอะไรบ้าง   เราคิดเช่นไรในเรื่องนี้   หมายความว่าในฐานะที่เราเป็นผู้นำ  เพราะเรามีประสบการณ์ และ ความรู้ที่จะแบ่งปันแก่คนอื่น   ดังนั้น ให้เราทำ   ถ้าเราแบ่งปันความคิดสติปัญญาและสิ่งดีแก่คนอื่น   เราก็จะได้รับความมั่นใจจากคนอื่น    อย่างไรก็ตาม   เราไม่ได้รู้เสียทุกเรื่อง   ดังนั้น อย่ากลัวที่จะบอกกับคนอื่นตรง ๆ ว่า “เรื่องนี้ผมไม่รู้”   และบอกเขาจากความจริงใจว่า “ถ้าท่านมีความคิดในเรื่องนี้   ผมต้องการฟังเพื่อจะเรียนรู้”   เมื่อเราบอกกับคนอื่นด้วยความสัตย์ซื่อจริงใจ และ เปิดใจยอมรับความคิดของคนอื่น   เราจะได้รับการนับถือจากคน ๆ นั้น

เพื่อเป็นการพัฒนา ความสามารถ และ ทักษะในการทำงานกับทีมงานที่เป็นผู้ใหญ่กว่าเรา   ผมได้ขอบางคนในกลุ่มแกนนำที่ผมทำงานด้วย   ขอเขาเป็นผู้สะท้อนและให้ข้อเสนอแก่ผมเกี่ยวกับการนำ การสอน และ การโค้ชในทีมงานที่ผมทำว่าเป็นอย่างไร   โดยผมจะตั้งประเด็นให้เขาช่วยสะท้อนกลับการเป็นผู้นำทีมของผม เช่น
  • สิ่งที่ผมทำได้ดีมีอะไรบ้าง?
  • มีอะไรที่ผมน่าจะทำได้ดีกว่าที่ทำอยู่?
  • มีอะไรบ้างที่ผมไม่ควรทำ?

คนในทีมงานที่ผมขอให้เป็นผู้สะท้อนกลับความคิดเห็นของเขาต่อการเป็นผู้นำของผม   ผมมีวิธีการคัดเลือกคือ   เป็นคนไว้ใจได้  ฉลาด  มีประสบการณ์ในการเป็นผู้นำมาพอประมาณ   ผู้ที่เต็มใจจะช่วยเป็นผู้สะท้อน   เป็นผู้ที่ผู้คนนับถือในความคิดเห็นของเขา

ในฐานะผู้นำกลุ่มทีมงานแกนนำกลุ่มต่าง ๆ  ผมต้องการที่จะเรียนรู้จากบุคคลที่มีประสบการณ์ในเรื่อง ประเด็นที่ผมไม่รู้   ยิ่งกว่านั้น  ถ้าผมรู้ว่าแกนนำกลุ่มท่านใดมีความชำนาญเฉพาะเรื่องใด   ผมจะต้องเข้าไปขอเรียนรู้เพื่อผมจะมีความรอบรู้ในเรื่องนั้น    ผมมีโอกาสทำงานใกล้ชิดกับแกนนำเช่นนี้   เขาพร้อมและเต็มใจแบ่งปันสิ่งที่เขารู้และชำนาญ   เขาเป็นคนที่อ่านมาก และ กล้าที่จะทดลองทำ  แล้วประมวลประสบการณ์ที่ได้รับให้เป็นองค์ความรู้ใหม่   การที่เราเปิดใจยอมเรียนรู้จากแกนนำต่าง ๆ เป็นการเพิ่มเติมองค์ความรู้ที่มาจากประสบการณ์ปฏิบัติที่เรายังขาดยังด้อยอยู่  และนี่คือสิ่งที่ผมกระหายหาอย่างมากครับ

ผู้นำมิใช่เป็นผู้รอบรู้เสียทุกเรื่องราว   ดังนั้นอย่ากลัวที่จะบอกทีมงานว่าเราไม่รู้   และถ่อมพอที่จะเรียนรู้จากประสบการณ์ของทีมงานของตน   แม้คนนั้นจะเป็นลูกน้องของเราก็ตาม

“ผู้นำ” นอกจากเป็นผู้นำที่มีอิทธิพลต่อความคิด ความเห็นความเข้าใจของผู้ร่วมทีมแล้ว   การถ่อมใจและจริงใจที่เรียนรู้จากคนอื่นในทีมก็เป็นภาวะผู้นำที่สำคัญในการนำคนที่มีวัยวุฒิ และ คุณวุฒิที่สูงกว่าเราด้วย   และเมื่อเราทำเช่นนี้ก็เป็นการสร้างวัฒนธรรมการเปิดใจรับฟังรับการเรียนรู้จากคนอื่น ๆ ในทีมงานในชุมชนที่เราทำงานด้วย   ดังที่พระเยซูคริสต์สอนสาวกของพระองค์ว่า  การเป็นผู้นำคือการเป็นคนรับใช้คนอื่น...   การเป็นผู้นำคือการถ่อมใจถ่อมตนติดตามเรียนรู้จากคนอื่น   การที่เรานำใครก็ตามมิได้หมายความว่าเราต้องมีอะไรที่เหนือคนอื่นในเรื่องที่เรานำ   แต่เป็นการใส่ใจ  เปิดใจชื่นชม และ รับ  สิ่งดี ๆ ที่มีในชีวิตของคนอื่น   แล้วเอื้ออำนวยให้สิ่งดีเหล่านั้น “ฉายแสง ส่องสว่าง” ให้คนอื่นได้เห็น   ถ้าเป็นเช่นนี้ท่านย่อมนำคนอื่นได้อย่างไร้เงื่อนไขทั้งวัยวุฒิ และ คุณวุฒิ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

14 มีนาคม 2559

ยึดมั่นในพระวจนะพระเจ้านั้นเป็นอย่างไร?

พระวจนะของพระเจ้าเป็นเรื่องชีวิต   ดังนั้น พระวจนะจึงจะต้องเข้ามามีส่วนในชีวิตของเราทุกมิติ   ไม่ว่าจะเป็นความนึกคิด  จิตใจ  ทัศนคติมุมมอง  การตัดสินใจ  การวางเป้าหมาย  การวางแผน  และการดำเนินชีวิตในประจำวัน   ตลอดจนความทรงจำที่มีในชีวิตของแต่ละคน

เมื่อเปาโลกล่าวว่า “จงยึดมั่นในพระวจนะ...” (ฟิลิปปี 2:16 มตฐ.)  เปาโลหมายถึงการที่คนนั้นยอมเปิดชีวิตทุกมิติของตนให้พระเจ้าใช้พระวจนะของพระองค์เข้ามาปรับแก้ และ เสริมสร้างชีวิตของเราให้มี “พระวจนะและพระประสงค์” ของพระองค์เป็นรากฐานชีวิตของเรา    ทั้งชีวิตของเราต้องยึดมั่นบนรากฐานดังกล่าว   หรือ กล่าวได้ว่าพระวจนะและพระประสงค์ของพระเจ้าเป็น “เสาหลัก” หรือ “สรณะ” ที่เราแต่ละคนต้องยึดไว้อย่างมั่นคงตลอดเวลา

เราท่านต่างต้องเคยประสบกับภาวะ “วิตกกังวล” กันทั้งนั้น   ความวิตกกังวลคือการที่เกิดความคิดเชิงลบที่ผุดขึ้นในความนึกคิดและความรู้สึกของเรา   ความวิตกกังวลทำให้เราต้องคิดแล้วคิดอีกในเรื่องนั้น   ถ้าเกิดการวิตกกังวลความคิดที่ซ้ำย้ำคิดนี้จะไม่สิ้นสุด   จนกว่าความคิดเชิงลบนั้นจะถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้เป็นความนึกคิดเชิงบวก สร้างสรรค์ ที่นำไปสู่ความหวัง

การยึดมั่น ไตร่ตรอง และ ใคร่ครวญในพระวจนะและพระประสงค์ของพระเจ้าก็คล้ายกัน   กล่าวคือ  การที่เรามีความคิดตรึกตรองอย่างรอบคอบ สุขุม ใจถ่อม  ทำให้เกิดสำนึกตระหนักรู้ในเชิงบวกและสร้างสรรค์   ความคิดเช่นนี้ก่อเกิดความหวัง   และนำให้เกิดพลังชีวิต   เห็นเป้าหมายชัดเจน   และกล้าที่จะมุ่งไปสู่เป้าหมายแม้จะมีมิติที่เสี่ยงอยู่ก็ตาม   พระวจนะและพระประสงค์จึงเป็น “หลักยึด” ในชีวิต   เป็นเข็มทิศนำทางชีวิต   และเป็นพลังในการขับเคลื่อนให้ชีวิตดำเนินไปบนเส้นทางแห่งชีวิตตามพระวนจะและพระประสงค์ของพระเจ้า   เพื่อชีวิตจะสำแดงพระวจนะและพระประสงค์ออกมาเป็นรูปธรรมในชีวิตประจำวัน

การยึดมั่นในพระวจนะและพระประสงค์ของพระเจ้าเป็นกระบวนการ   ซึ่งมีขั้นตอนหลัก 7 ประการดังนี้
  1. การได้ยินพระวจนะ:   การที่เราจะมีพระวจนะเป็นหลักยึดในชีวิต   ต้องมีพระวจนะเข้ามาในชีวิตของเรา   การได้ยินเป็นทางหนึ่งที่พระวจนะจะเข้ามาในชีวิตของเราแต่ละคน   แต่เราจะต้อง “ฟังพระวจนะอย่างใส่ใจ”   เราต้องเปิดความนึกคิด  จิตใจ  และความรู้สึกของเราให้พระวจนะเข้ามาในชีวิต
  2. การอ่านพระวจนะ:  เป็นทางที่สองที่พระวจนะจะเข้าในชีวิตของเรา  การอ่านพระวจนะไม่ใช่การอ่านท่องบทสวดที่ศักดิ์สิทธิ์ หรือ จะเกิดผลเกิดพลังเมื่ออ่านท่องบ่นสวดคำสอน   หรือ บางครั้งก็มีการกำหนดว่าต้องอ่านท่องกี่รอบ  หรือกำหนดว่าจะต้องท่องจำได้  แต่การอ่านพระวจนะของพระเจ้าเป็นการอ่านด้วย “ดวงตา”  แห่งความคิด  จิตใจ  ความสำนึกและตระหนักรู้ตัว   เพื่อเมื่ออ่านแล้วสามารถนำมาใคร่ครวญ  พิจารณา  เพ่งพินิจว่า   ชีวิตของเราเป็นไปตามพระวจนะหรือไม่   จะทำอย่างไรที่ชีวิตประจำวันของเราจะทำตามพระวจนะจน “พระวจนะและการดำเนินชีวิตของเรา” เป็นเนื้อเดียวกันกับพระวจนะ  หรือที่ภาษาคริสตชนเรียกว่า “ติดสนิทกับพระเจ้า”
  3. การศึกษาพระวจนะ:   เป็นการอ่านพระวจนะ   เพื่อที่จะฟังให้ได้ยินถึงพระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตความนึกคิดและในจิตใจของเรา   เพื่อที่จะเรียนรู้ถึงพระประสงค์ของพระเจ้าผ่านทางพระราชกิจของพระองค์ที่กระทำในยุคสมัยต่างที่มีความแตกต่างเปลี่ยนแปลงมากมายที่พบเห็นในพระคัมภีร์   ประวัติศาสตร์คริสตจักร   และชีวิตของผู้เชื่อทั้งหลาย   การเรียนรู้ถึงพระวจนะและพระประสงค์ของพระเจ้าเช่นนี้ก็เพื่อจะนำสิ่งที่เรียนรู้มาวางเป็นรากฐานในการดำเนินชีวิตประจำวันของเราแต่ละคน   และการตอบสนองต่อพระประสงค์ที่เรียนรู้ในยุคสมัยของเรา
  4. การรำพึงภาวนา  ใคร่ครวญ  ตรึกตรองในพระวจนะ:  เป็นการที่แต่ละคนหาเวลาที่จะมีชีวิตส่วนตัวกับพระเจ้า   แล้วให้พระวจนะและพระประสงค์ของพระเจ้ามีครอบครองความนึกคิด  จิตใจ  ความรู้สึกและจินตนาการของเรา   เป็นเวลาที่เราเปิดใจเปิดชีวิตสนทนากับพระเจ้า   และให้เวลาที่มีใจสงบรับฟังพระองค์อย่างใส่ใจ   ด้วยความตั้งใจที่จะให้พระวจนะและพระประสงค์ของพระเจ้าเข้ามาปกป้องครอบครองในทุกมิติชีวิตเรา   และเราเองซึมซับเอาพระวจนะเข้าไปทุกส่วนในชีวิตจริงของเรา
  5. การทำตามพระวจนะในชีวิตประจำวัน:  เป็นการประยุกต์พระวจนะและพระประสงค์ของพระเจ้าที่ได้จากการศึกษา และ ไตร่ตรอง ให้เป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวันที่เท่าทันยุคทันเหตุการณ์ที่เราต้องประสบพบเจอในแต่ละวัน
  6. การถอดบทเรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิต:  เมื่อเรานำพระวจนะมาใช้ปฏิบัติในชีวิตประจำวันเราจะได้รับประสบการณ์ชีวิตในสิ่งที่เราปฏิบัติตามพระวจนะ   ในประสบการณ์นั้นส่วนหนึ่งเป็นการเปิดเผยของพระเจ้าให้เราได้เห็นและสัมผัสถึงการทรงทำงานของพระองค์  และพระประสงค์ของพระองค์ในชีวิตของเรา   ชีวิตของเราจะได้รับการปรับเปลี่ยน แก้ไข  และเสริมสร้างใหม่ตามพระประสงค์ของพระองค์   และช่วยให้เราตอบสนองต่อพระประสงค์ในชีวิตของเราที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
  7. การหยั่งรากและการจำพระวจนะในชีวิต:  เท่าที่ผ่านมา คริสตจักรมักเน้นให้สมาชิกอ่านพระวจนะ  เพื่อจะจดจำพระวจนะ   เพื่อว่าเมื่อชีวิตประสบกับวิกฤติจะสามารถมีพระวจนะมาใช้ในวิกฤตินั้น   แต่สิ่งที่ได้ยินได้ฟังจากสมาชิกส่วนใหญ่คือ   เมื่ออ่านพระวจนะแล้วก็จะลืมเลือน  หรือ ท่องไม่จำสักที   แต่ถ้าเราปฏิบัติพระวจนะในชีวิตประจำวัน   แล้วมีการถอดบทเรียนรู้ถึงพระราชกิจของพระเจ้าในชีวิตของเรา   และเอาบทเรียนไปปฏิบัติให้ดีกว่าเดิมอีก    มิใช่เพียงเราจะสามารถจดจำพระวจนะตอนนั้น ๆ เท่านั้น   แต่เราจะหยั่งรากฝังตัวลงในพระวจนะ  พระวจนะจะเป็นที่ยึดและรากฐานแห่งชีวิตของเราด้วย


ดังนั้น   การที่เราจะฟังพระวจนะของพระเจ้าในเช้าวันอาทิตย์เมื่อเราไปร่วมนมัสการพระเจ้าที่คริสตจักรดูจะไม่เป็นการเพียงพอ   เราจะไม่มีพระวจนะเป็นที่จะหยั่งรากและที่เกาะยึดสำหรับชีวิตของเรา   และเราก็ไม่มีพระวจนะที่เราจะสามารถยึดชีวิตเราให้มั่นได้   แล้วก็จะพบกับอาการเดิม ๆ คือ  อ่านและฟังพระคัมภีร์แล้วไม่เห็นจำสักที   พูดสั้น ๆ ว่า  เราไม่มีพระวจนะในชีวิต   แล้วเราจะยึดมั่นพระวจนะในชีวิตของเราได้อย่างไร?

“ข้าพระองค์ยินดีในการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของพระองค์ ... ข้าพระองค์ใคร่ครวญข้อบังคับของพระองค์  และพิเคราะห์วิถีทางของพระองค์ ... ข้าพระองค์ไม่ละเลยพรวจนะของพระองค์ ... ขอทรงสอนข้าพระองค์ให้ปฏิบัติตามกฎหมายของพระองค์ ... โปรดประทานความเข้าใจ...แล้วข้าพระองค์จะปฏิบัติตามด้วยสุดใจ ... ขอทรงนำข้าพระองค์ไปตามทางที่ทรงบัญชา   เพราะข้าพระองค์จะชื่นชมในทางนั้น” (สดุดี 119:11, 14-16, 33-35 อมต.)  

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

11 มีนาคม 2559

อ่านพระคัมภีร์: จะจำหรือจะทำ?

มีเรื่องเล่าว่า ชายชราคนหนึ่งอาศัยอยู่บนภูเขากับหลานชาย ทุกเช้าคุณปู่จะนั่งลงข้างโต๊ะอาหารแล้ว
อ่านพระคัมภีร์เล่มเก่าขาดรุ่งริ่งของตน ชายหนุ่มผู้เป็นหลานชายอยากจะเป็นเหมือนปู่ของตน จึงเลียนแบบ
อ่านพระคัมภีร์ของตนที่โต๊ะอาหารทุกเช้าเช่นกัน

วันหนึ่ง ผู้เป็นหลานถามปู่ของตนว่า ปู่ครับ ผมพยายามอ่านพระคัมภีร์อย่างกับปู่ แต่ไม่เข้าใจเลยว่ามัน
หมายความว่าอย่างไร เมื่อพอจะเข้าใจบ้างก็ลืมไปหลังจากที่ปิดพระคัมภีร์แล้ว อย่างนี้จะอ่านพระคัมภีร์ไป
ทำไมครับปู่?          

ผู้เป็นปู่ตอบว่า หลานเอาตะกร้าใส่ถ่านใบนี้ไปตักน้ำที่ธารน้ำปลายสวนกลับมาให้ปู่

หลานชายทำตามที่ปู่บอก แต่เมื่อตักน้ำเต็มตะกร้ารีบยกกลับมาบ้านตลอดทางน้ำรั่วออกจากตะกร้าไม่เหลือน้ำในตะกร้าเมื่อมาถึงบ้าน ปู่ใช้ให้หลานไปตักใหม่ทำเช่นนี้อยู่ 3-4 ครั้ง แล้วบอกหลานว่า ได้น้ำแล้วรีบวิ่งนำน้ำกลับมาบ้านให้เร็วกว่าเดิม แต่เมื่อหลานชายวิ่งมาถึงบ้านน้ำก็ไม่เหลือในตะกร้าทุกครั้ง

หลายชายหายใจหอบแล้วพูดกับปู่ว่า ไม่มีประโยชน์หรอกปู่ เพราะตะกร้านี้ไม่สามารถเก็บน้ำไว้ได้

ผู้เฒ่าผู้เป็นปู่ กล่าวกับหลานชายว่า ดูเข้าไปในตะกร้าสิหลาน ตะกร้าที่เปื้อนถ่านจนดำเขรอะ ดูสิตอนนี้มันสะอาดมากขึ้นเลย หลานเอ๋ย นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อหลานอ่านพระคัมภีร์ หลานอาจจะไม่สามารถเข้าใจทุกเรื่อง หรือ จำพระคัมภีร์ทุกตอนที่อ่าน แต่เมื่อหลานอ่านและทำตามที่พระคัมภีร์บอกครั้งละเรื่องเดียว พระคัมภีร์เรื่องนั้นก็จะเปลี่ยนชีวิตของหลาน เหมือนน้ำที่ทำความสะอาดตะกร้าใบนี้ พระคัมภีร์จะเปลี่ยนชีวิตหลานจากข้างในแล้วค่อยเปลี่ยนสู่การกระทำภายนอกชีวิตหลาน

...พระเยซูตรัสตอบมารว่า
มีพระคัมภีร์เขียนไว้ว่า มนุษย์จะดำรงชีวิตด้วยอาหารเพียงอย่างเดียวไม่ได้’ ”
(ลูกา 4:4 มตฐ.)

ในฐานะที่เราเป็นคริสตชนที่มีชีวิตอยู่ท่ามกลางสังคมโลกที่สุ่มเสี่ยงล่อแหลม เราจะต้องดูดซับพระวจนะของพระเจ้าให้ชุ่มเปียกจิตใจและความนึกคิดของเราทุกวัน เหมือนชายหนุ่มในเรื่องนี้ บางครั้งอาจจะรู้สึกว่าอ่านแล้วเก็บรักษาในความจำไม่ได้หรือไม่สามารถเข้าใจทั้งหมดทุกเรื่องได้แต่โปรดตระหนักชัดว่าพระเจ้าทรงใช้พระวจนะของพระองค์ในการขัดเกลาเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราจากข้างในสู่ข้างนอก และต้องรับการเปลี่ยนแปลงไปทีละนิดในเวลาต่อเนื่องยาวนาน เพราะประสบการณ์ที่ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงนี้เองที่ทำให้เราเข้าใจพระวจนะมากขึ้น

เมื่ออ่านพระคัมภีร์ เราจะจำข้อพระคัมภีร์หรือเราจะให้พระคัมภีร์ทำการปรับเปลี่ยนชีวิตของเรา?

โครงการแข่งขันท่องพระคัมภีร์อาจจะปรับเปลี่ยนเป็นการยกสถานการณ์หนึ่งในชีวิตขึ้นมาและถามว่าจะใช้พระคัมภีร์ข้อไหนตอนใดในการขัดเกลาชีวิตคริสตชนของเราในสถานการณ์นั้น ดีไหมครับ (ไม่ท่องจำอย่างเดียว
แต่นำไปใช้ด้วย?)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com

081-2894499

07 มีนาคม 2559

ทำไมคริสตจักรต้านการเปลี่ยนแปลง?

ปัญหาใหญ่น้อยอาจจะมิใช่เรื่องสำคัญที่สุดในสายตาของคริสตจักร   แต่การที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรบางเรื่อง  ที่ไปกระทบต่อบางสิ่งที่คริสตจักรเคยทำมาด้วยความคุ้นชิน หรือ ที่เป็นประเพณีปฏิบัติ  และ ถ้ามีอะไรที่ไม่เคยทำมาก่อนแล้วเสนอให้ทำ   ก็จะมีกลุ่มในคริสตจักรลุกขึ้นมาต่อต้านการเปลี่ยนแปลงนั้น    มักจะได้รับการต้านก่อนเสมอ

การเปลี่ยนแปลงในคริสตจักรนั้นมีหลายเรื่อง หลายด้าน หลายมุม   การเปลี่ยนแปลงอาจจะเป็นเรื่องการนมัสการ  รูปแบบการนมัสการ  หรือ วิธีการนมัสการ   การบ่มเพาะเสริมสร้างสมาชิกให้เป็นคนรับใช้ของพระคริสต์ในบริบทชีวิตด้านต่างในชีวิตประจำวัน   การแบ่งงานในทีมผู้อภิบาล   กลยุทธในการทำพันธกิจในชุมชน   วิธีการเรียนการสอนในคริสตจักร   วิธีการจัดวางตกแต่งในตัวอาคารโบสถ์  สีคริสตจักร  ไปจนถึงชื่อคริสตจักร  และอีกหลายเรื่องมากมาย

แล้วอะไรล่ะที่เป็นตัวต้านการเปลี่ยนแปลงในคริสตจักร?  
ทำไมคริสตจักรมากมายถึงไม่ยอมที่จะเปลี่ยนแปลง?     

ผู้นำและสมาชิกคริสตจักร ดูเหมือนมีแนวโน้มที่จะขัดขวางการเปลี่ยนแปลง  แม้แต่เรื่องที่จะเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นเรื่องที่ดีสร้างสรรค์ก็ตาม   การต่อต้านมักแสดงออกด้วยอาการต่าง ๆ  เช่น
  • การปกป้องตนเอง   เมื่อคนในคริสตจักรได้ยินคำวิพากษ์วิจารณ์ หรือ ข้อเสนอเพื่อการเปลี่ยนแปลงมักจะแสดงอาการ “ก้าวถอย” เพื่อปกป้องความเป็นตัวตนที่เป็นอยู่ในเวลานั้น   แทนที่จะเปิดใจรับฟัง  พิจารณา  ใคร่ครวญคำวิจารณ์-วิพากษ์ หรือ ให้ข้อเสนอ  ด้วยการคิดอย่างใคร่ครวญรอบด้าน
  • ปฏิเสธ   แต่บางคนบางพวกเมื่อได้ยินการวิพากษ์วิจารณ์ ถึงปัญหาหรือจุดอ่อนด้อยของคริสตจักรก็จะเลือกทางออกหรือการตอบสนองด้วยการปฏิเสธทันที  และเห็นว่าไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องเปลี่ยนแปลง
  • กล่าวโทษคนวิพากษ์   เช่น  “ที่เขาว่าการนมัสการของเราไม่ได้ช่วยให้ผู้เข้าร่วมได้รับการสัมผัสจากพระเจ้า ก็เพราะพวกเขาเองไม่ได้เตรียมจิตเตรียมใจให้พร้อมที่จะเข้าร่วมในการนมัสการพระเจ้าของเรา”
  • อ้างพระเจ้า (อย่างผิด ๆ)    สมาชิกและผู้นำคริสตจักรกลุ่มนี้มีความสับสนในการแยกแยะระหว่าง “พระเจ้า” กับ “คริสตจักร”   เขาจะบอกว่า  “พระเจ้าทรงเป็นเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง   พระเจ้าเป็นอย่างไรในอดีต ก็จะเป็นเช่นนั้นทั้งในวันนี้และในอนาคต”  ดังนั้น “คริสตจักรไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามความคิดใหม่ของคุณ” 
  • ติดยึดกับความทรงจำในอดีต (อาจจะเป็นจริง หรือ มโนเอาเอง)   ความจำที่อบอุ่นในอดีตกลายเป็นตัวครอบงำการคิดการจินตนาการถึงสิ่งดี ๆ อื่น ๆ ในปัจจุบันและอนาคต ถ้าไม่เข้ากรอบประสบการณ์ที่ตนคุ้นชินถือว่า “ไม่ใช่”
  • ความกลัวลาน   ความกลัวคือตัวต้านการเปลี่ยนแปลงในเกือบทุกกรณี  และนำให้เกิดการเผชิญหน้าต่อต้านเมื่อจะมีการเปลี่ยนแปลง   แม้จะเห็นเหตุผลว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญจำเป็น  แต่เพราะความขลาดกลัวทำให้เกิดความขัดแย้ง หรือ การสู้กันในทางความคิด  เป็นความ “รู้สึก” ที่อยู่เหนือเหตุผลคำอธิบายใด ๆ
  • เลี่ยงการเปลี่ยนแปลงด้วยเหตุผลแบบข้าง ๆ คู ๆ   เช่น “ฉันรู้นะว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้   แต่ฉันมีเวลาทำงานที่นี่อีกเพียง 5 ปี   ฉันจะให้ผู้นำคนใหม่เป็นผู้ทำการเปลี่ยนแปลงจะดีกว่า”  “ฉันอยู่ในตำแหน่งรักษาการ...  ฉันไม่ควรเปลี่ยนแปลงอะไร... รอผู้บริหารตัวจริงเขาตัดสินใจดีกว่า”


แท้จริง  การหลีกเลี่ยง หรือ การปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงมีผลร้ายต่อคริสตจักร   การติดยึดอยู่กับแนวทางการปฏิบัติเดิม ๆ อาจจะนำความเสื่อมทรุด เลวร้ายมาสู่คริสตจักร   ทำให้คริสตจักรมีประสิทธิภาพ และ ความสามารถที่จำกัดในการสร้างผลกระทบที่สร้างสรรค์ต่อชุมชน

ถ้าเช่นนั้นเราจะสามารถหนุนเสริมเพิ่มพลังแก่คริสตจักรให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สร้างสรรค์ได้อย่างไร?   ข้างล่างนี้มีประเด็นบางประการที่ใช้ในการพิจารณาในเรื่องนี้
  1. อธิษฐานทูลขอความชัดเจน  การทรงนำ  และ ความกล้าหาญ   ทูลขอต่อพระเจ้าให้ทรงสร้างจิตใจคนในคริสตจักรให้รับการเสริมสร้างและเปลี่ยนแปลงใหม่ที่จะขับเคลื่อนชีวิตตนและคริสตจักรไปบนเส้นทางที่เป็นพระประสงค์ของพระองค์
  2. เมื่อต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญจำเป็น   จะไม่มุ่งใส่ใจว่าจะเกิดการสูญเสียอะไร   แต่ใส่ใจว่าคริสตจักรจะได้รับอะไร   ในฐานะผู้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง  ต้องช่วยให้คนในคริสตจักรได้เห็นชัดถึงภาพรวมที่สร้างสรรค์ของผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  และประโยชน์ที่คริสตจักรจะได้รับ
  3. สร้างแรงบันดาลใจแก่ทุกคน   ให้ชวนคิดชวนคุยเป็นการส่วนตัวกับผู้นำที่มีอิทธิพลในความคิดของสมาชิกคริสตจักรให้สามารถเห็นภาพนิมิตใหม่ที่ชัดเจน
  4. ค่อย ๆ ช่วยให้ผู้คนในคริสตจักรแต่ละคนยอมรับการเปลี่ยนแปลง   การที่ค่อย ๆ สร้างความเข้าใจไปทีละคนจะช่วยปรับเปลี่ยนความคิดของผู้คนที่ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงให้มีโอกาสปรับและเปลี่ยน   มีโอกาสในการพิจารณาเรื่องนั้นอย่างถี่ถ้วนอีกครั้งหนึ่ง  (แต่โปรดหลีกเลี่ยงการสร้างความเข้าใจด้วยการเรียกประชุม)
  5. ให้มีความเชื่อศรัทธาเหมือนเด็ก   ถ้าท่านไม่เป็นเหมือนเด็กเล็ก ๆ   ท่านจะไม่สามารถเข้าไปในแผ่นดินสวรรค์ไม่ได้เลย


ดังนั้น   เมื่อจะต้องมีการพิจารณา หรือ พูดคุยถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลง หรือ การทำในสิ่งที่ยังไม่เคยทำ   ผู้ที่เอื้ออำนวยการเปลี่ยนแปลงจะต้องรู้เท่าทันวัฒนธรรมของคริสตจักรในเวลานั้น   ตระหนักและยอมรับถึงความรู้สึกที่ไม่มั่นคงต่อการเปลี่ยนแปลง   และมีวิธีการ หรือ แนวทาง การเอื้ออำนวยการเปลี่ยนแปลงคริสตจักรบนฐานของความรักเมตตาแบบพระคริสต์ และ ด้วยจิตวิญญาณแห่งการรับใช้ของพระคริสต์
                                                                                                        
ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

04 มีนาคม 2559

ร้อนรนอย่างมีปัญญา

วิลเลี่ยม แซงส์เตอร์ (William Sangster)  อดีตศิษยาภิบาลในคริสตจักรเมธอดิสต์ แห่งหนึ่งได้เล่าว่า    ท่านมีสมาชิกคริสตจักรท่านหนึ่งที่มีความกระตือรือร้น หรือ ร้อนรนในความเป็นคริสตชน   แต่น่าเสียดายที่มักกระทำผิดพลาดในสิ่งที่เขาร้อนรนเสมอ

สมาชิกท่านดังกล่าวเปิดร้านตัดผมชายในเมือง   วันหนึ่งเมื่อได้เอาโฟมโกนหนวดใส่ตามหนวดเคราของลูกค้าจนเต็มหน้าและคอแล้ว   ช่างตัดผมก็เอามีดโกนลับกับแผ่นหนังเพื่อให้คมมากที่สุด   พร้อมกันนั้นก็เริ่มพูดกับลูกค้าของตนอย่างสุภาพว่า  “ท่านครับ...ท่านเตรียมตัวพร้อมที่จะไปพบพระเจ้าแล้วยังหรือครับ?”    แค่นั้นเอง  ลูกค้าตัดผมดีดตัวออกจากเก้าอี้ตัดผมอย่างไม่ต้องคิดรีรอหาเหตุผล   แล้ววิ่งแจ้นออกไปอยู่กลางถนนหน้าร้านตัดผม   ทั้ง ๆ ที่หน้าตาเต็มไปด้วยโฟมโกนหนวด!

บางครั้ง   การที่คนเรากระตือรือร้น หรือ ร้อนรนที่จะประกาศข่าวดีของพระเยซูคริสต์   โดยมิได้พิจารณาประเมินความเหมาะสมในเหตุการณ์  ในเวลานั้น ๆ อาจจะกลายเป็นผลร้ายแทนที่จะทำให้เกิดผลดี   คริสตชนควรร้อนรนอย่างมีปัญญา   การทำงานรับใช้พระเจ้าในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่ดี   เฉกเช่นสมาชิกคริสตจักรที่เป็นช่างตัดผมคนนี้   ที่ร้อนรนต้องการประกาศข่าวดีของพระเยซูคริสต์   แต่ในความร้อนรนนั้นมิได้ใช้ปัญญาในการพินิจพิจารณา กลับทำให้ลูกค้าที่มารับบริการตัดผมคนนั้นคิดว่าตนเองกำลังจะถูกช่างตัดผม “เชือด”  จนต้องหนีเอาชีวิตรอด ดั่งมีคำกล่าวว่า  “เมื่อคนโง่ขยันนำมาแต่ความพินาศ”

ในการร้อนรนเพื่อองค์พระผู้เป็นเจ้า   ให้เราคริสตชนร้อนรนด้วยปัญญา   รักเมตตาคนอื่นด้วยการทรงนำขององค์พระวิญญาณบริสุทธิ์   และการรับใช้พระเจ้าในชีวิตประจำวันคือการที่เราสื่อสารสัมพันธ์ให้คนอื่นรู้ถึงและสัมผัสได้ถึงความรักของพระคริสต์ผ่านชีวิตของเรา   ดังนั้น   จงให้ความกระตือรือร้นเพื่อพระคริสต์ของเราทำให้ผู้คนที่เราสัมพันธ์ด้วยได้สัมผัสกับความรักเมตตาของพระคริสต์   มิเพียงเพื่อให้เขารู้เรื่องพระคริสต์เท่านั้น   และที่แย่กว่านั้นคริสตชนบางท่านร้อนรนในการประกาศพระคริสต์เพียงเพื่อต้องการให้มีจำนวนคนมารับบัพติศมาเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น

เพราะ​ฉะนั้น จง​ระวัง​ใน​การ​ดำ​เนิน​ชีวิต​ให้​ดี อย่า​เหมือน​คน​ไร้ปัญญา แต่​ให้​เหมือน​คน​มี​ปัญญา  จง​ใช้​โอกาส​ให้​เป็น​ประ​โยชน์ เพราะ​ว่า​ทุก​วัน​นี้​เป็น​ยุค​สมัย​ที่​ชั่วร้าย   เพราะ​เหตุ​นี้ อย่า​เป็น​คน​โง่​เขลา แต่​จง​เข้า​ใจ​ว่า​อะไร​คือ​พระ​ประ​สงค์​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า (เอเฟซัส 5:15-17 มตฐ.)
                                                                                                                                  
ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499