30 เมษายน 2559

อะไรเป็นเป้าหมายของสามัคคีธรรมในวันอาทิตย์?

ในฐานะศิษยาภิบาล  ผู้นำ  แกนนำคริสตจักร และ ในฐานะที่เป็นคริสตชนคนหนึ่ง   ท่านคิดและเข้าใจว่า เรารวมตัวกันที่คริสตจักรในวันอาทิตย์เพื่อจุดประสงค์อะไร?   เราคงมีคำตอบที่หลากหลายแตกต่างกันไป   บ้างก็ตอบว่า...

เรามาที่คริสตจักรในวันอาทิตย์เพื่อที่จะสรรเสริญพระเจ้า  เฉลิมฉลองขอบพระคุณพระองค์

เรามาคริสตจักรในวันอาทิตย์เพื่อที่จะได้พบปะพี่น้องความเชื่อเดียวกัน   มีโอกาสหนุนจิตชูใจกัน

เรามาคริสตจักรในวันอาทิตย์เพื่อที่จะรับใช้พระเจ้าในการทำหน้าที่ต่าง ๆ ตามที่เราได้รับมอบหมาย และ ตามของประทานและความสามารถของเรา

เรามาคริสตจักรในวันอาทิตย์เพื่อที่จะร่วมในการประกอบศาสนพิธีที่สำคัญของคริสตจักร   ดังนั้น ในวันอาทิตย์สำคัญ ๆ ทางคริสต์ศาสนา เช่น คริสต์มาส  อิสเตอร์  วันอาทิตย์ที่พิธีมหาสนิท จะมีคนมาร่วมมากเป็นพิเศษ เป็นต้น

สำหรับผมส่วนตัวแล้ว   เป้าประสงค์ของการที่เรามาร่วมกันในวันอาทิตย์ที่คริสตจักรก็เพื่อที่พบปะเพื่อนหนุนเสริมเพิ่มพลังความเชื่อแก่กันและกันในชีวิตการเป็นสาวกของพระคริสต์   กล่าวแบบตรงไปตรงมาก็คือ  เรามาเพื่อที่จะเสริมสร้างกันและกันให้มีชีวิตที่เป็นเหมือนพระคริสต์มากยิ่ง ๆ ขึ้น หรือที่เราเรียกการกระทำนี้ว่า “สร้างสาวกของพระคริสต์”

แต่อย่างไรก็ตาม   ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า   การพบปะสามัคคีธรรมในวันอาทิตย์ของคริสตจักรที่จะให้เกิดการบ่มเพาะ เสริมสร้าง ให้สมาชิกคริสตจักรเป็น “สาวกของพระคริสต์” นั้น   เพียงการเข้าร่วมนมัสการพระเจ้าร่วมกันในโบสถ์อาทิตย์ละครั้งดูจะไม่น่าไปถึงเป้าหมายได้   เพราะในการนมัสการมักเป็นการสื่อสารทางเดียว   ขาดโอกาสที่จะสะท้อนคิดถึงประสบการณ์ชีวิตที่ประสบพบเจอมาตลอดสัปดาห์  ขาดโอกาสที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกันและกัน   ขาดโอกาสที่จะรับใช้หนุนเสริมกันและกัน   ด้วยเหตุนี้ การที่สมาชิกมาคริสตจักรในวันอาทิตย์เพื่อร่วมในการนมัสการพระเจ้าเท่านั้น   จึงเป็นที่มาของ “คริสตจักรถุงก้นรั่ว”   (ผู้เชื่อจำนวนเพิ่มขึ้นแต่ก็อยู่ไปสักพักแล้วก็เงียบหายไป)

หนทางหนึ่งที่จะใช้การพบปะสามัคคีธรรมของสมาชิกคริสตจักรในวันอาทิตย์ให้เป็นโอกาสของการเสริมสร้างสมาชิกคริสตจักรให้เป็นสาวกของพระคริสต์   เพื่อที่สมาชิกแต่ละคนจะกลับเข้าไปสู่ครอบครัว และชุมชน/สังคมเพื่อสำแดงชีวิตแบบพระคริสต์มากยิ่งขึ้นนั้น   คริสตจักรควรจะจัดให้มี “กลุ่มเล็ก” หรือ การจัดการให้มีกลุ่มคนที่ไม่มากเกินไปประมาณ 3-12 คน   ที่จะพบปะอย่างไว้วางใจกันและกัน  รับฟังซึ่งกันและกัน   เสริมสร้างและพัฒนาความสัมพันธ์ให้สนิทชิดเชื้อจนกล้าที่จะแบ่งปันประสบการณ์ และ ประเด็นชีวิตส่วนตัวที่ต้องเผชิญแก่กันละกัน   แล้วร่วมกันค้นหาและเรียนรู้ถึงพระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตประจำวันของกันและกัน   มีส่วนหนุนเสริมรับใช้กันและกัน   ความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้มิใช่มีเพียงในกลุ่มเล็ก 1-2 ชั่วโมงในวันอาทิตย์เท่านั้น   แต่เป็นความสัมพันธ์ ห่วงใย เอื้ออาทรที่สานต่อไปในทุกวันตลอดสัปดาห์ที่จะมาถึงด้วย

การเสริมสร้างชีวิตสาวกพระคริสต์จะเกิดขึ้นก็เพราะ “ความสัมพันธ์” ในชีวิตที่มีต่อกันและกัน   มิใช่อยู่ที่ข้อมูลความรู้ หรือ หลักการที่ท่องบ่นจดจำกันได้เท่านั้น   แต่เป็นการไว้เนื้อเชื่อใจกันจนสามารถแบ่งปันว่า ในชีวิตประจำวันตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา  พระเจ้าทรงกระทำอะไรบ้างในแต่ละวัน   ทั้งชีวิตที่พบกับความชื่นชมยินดี และ ในความห่วงวิตก หรือ ความขัดข้องใจในวิกฤติชีวิตที่ต้องประสบ   เป็นโอกาสที่จะร่วมกันแสวงหาพระประสงค์ของพระเจ้า  และใช้พระกิตติคุณของพระคริสต์ในการตอบโจทย์ชีวิตที่แต่ละคนต่างต้องพบประสบเผชิญหน้า   เป็นโอกาสที่คนในกลุ่มเล็กจะใส่ใจและรับใช้กันและกัน   และด้วยกระบวนการนี้เป็นการเสริมสร้างให้สมาชิกในกลุ่มเกิดการเสริมสร้างชีวิตของกันและกัน

สิ่งสำคัญคือ...  คริสตจักรต้องเน้นย้ำให้ความสำคัญว่า   การเสริมสร้างชีวิตสมาชิกให้เป็นสาวกของพระคริสต์เป็นเป้าหมายอันดับแรกที่คริสตจักรต้องเอาจริงเอาจัง   มิสามารถที่จะละเลยและมองข้าม

ทำไมต้องใช้กระบวนการกลุ่มเล็กในการเสริมสร้างสมาชิกให้เป็นสาวกพระคริสต์?
  1. ถ้าคริสตจักรต้องการแก้ไขอาการ “คริสตจักรถุงก้นรั่ว” การปกป้องรักษาผู้คนที่มาเชื่อในคริสตจักรไม่ให้ “หลุดหาย” ไป   คริสตจักรจำเป็นจะต้องสร้างสมาชิกให้เป็นสาวก  ดังนั้น จำเป็นที่จะต้องมีกลุ่มเล็กเพื่อการเสริมสร้างสาวกในคริสตจักร
  2. เพราะคริสตจักรต้องการเอาใจใส่ทุกชีวิตที่เข้ามาร่วมในคริสตจักร   และเป็นความจริงว่า ถ้าผู้คนมาคริสตจักรแล้วเขาไม่รู้สึกว่า “เขาได้รับอะไรในชีวิต”   โอกาสที่เขาจะไม่มาร่วม  จนถึงหลุดหายไปย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ
  3. ในกลุ่มเล็ก เป็นโอกาสที่เกิดการสร้างเสริมกันและกันในการรับใช้   การรับใช้เป็นรากฐานของการเกิดความรู้สึกของสมาชิกแต่ละคนว่า ตนเป็นผู้ที่มีคุณค่า   เป็นการเสริมสร้างความหมายในชีวิตของสมาชิกคนนั้นๆ
  4. ทำให้เกิดโอกาสในการติดตามหนุนเสริมกันและกันในวันอื่น ๆ ตลอดสัปดาห์   กลุ่มเล็กกลายเป็นกลุ่มความสัมพันธ์ที่เอาใจใส่ชีวิตของกันและกันแม้ในเวลาที่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน
  5. โดยกระบวนการกลุ่มเล็กนี้   เป็นกระบวนการเสริมสร้างภาวะผู้นำของกันและกัน   และ เสริมสร้างการเป็นสาวกของพระคริสต์แก่กันและกันด้วย
  6. กลุ่มเล็กเป็นโอกาสที่เราจะได้แบ่งปันสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันและกิจการงานที่ทำในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา    ทำให้เกิดการชื่นชมกันและกัน   และในเวลาเดียวกันเป็นโอกาสที่จะบอกเล่าถึงสิ่งที่แต่ละคนห่วงกังวล หรือ วิกฤติที่เผชิญ   ทำให้มีเวลาที่จะรับฟังกันและกัน   ตลอดจนการหนุนเสริมให้กำลังแก่กันและกัน  ทั้งร่วมกันอธิษฐานเพื่อแสวงหาน้ำพระทัยของพระเจ้าในเรื่องนั้น ๆ ร่วมกัน   และนี่ก็เป็นการเสริมสร้างภาวะผู้นำในยามวิกฤติแก่กันและกันด้วย
  7. กลุ่มเล็กเป็นโอกาสที่จะแสวงหาว่า  สมาชิกกลุ่มจะทำสิ่งที่ต่อยอดจากความสำเร็จที่ผ่านมาแล้วอย่างไร   เพราะมิเช่นนั้นแล้วเมื่อผู้คนทำอะไรที่ประสบกับความสำเร็จแล้วมักคิดว่าบรรลุเป้าหมายแล้ว   และอาจจะเกิดภาวะหยุดทำต่อได้


คริสตจักรเป็นชุมชนของผู้เชื่อ  ที่ศิษยาภิบาล ผู้นำ และ แกนนำคริสตจักรกระตุ้น หนุนช่วยให้สมาชิกคริสตจักรมีชีวิตที่เป็นสาวกของพระคริสต์มากยิ่ง ๆ ขึ้นในการดำเนินชีวิตประจำวัน   และเราเรียนรู้จากพระคริสต์ว่า แนวทางในการสร้างสาวกเริ่มต้นที่การวางรากฐานความสัมพันธ์   การดำเนินชีวิตที่เป็นตัวอย่างตามคำสอนและตามแบบอย่างชีวิตของพระคริสต์   แล้วพระองค์ส่งพวกเขาออกไปสร้างสาวกต่อเนื่อง

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

26 เมษายน 2559

ในบทคิดข้อเขียนครั้งที่ผ่านมา   ผมได้ชวนเราคิดเราคุยถึงมุมมองของสมาชิกที่มีต่อศิยาภิบาลที่อาจจะคลาดเคลื่อน   ในครั้งนี้ผมเชิญชวนเราลองมามองดูว่า   มีอะไรไหมที่ศิษยาภิบาลอาจจะมองสมาชิกคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง?    ผมหวังว่า ข้อคิดเห็นนี้คงไม่ทำให้ศิษยาภิบาลบางท่านโกรธเป็นฟืนเป็นไฟนะครับ?   แต่ก็อย่างครั้งที่ผ่านมา ผมเชิญชวนท่านผู้อ่านช่วยกันเติมเต็มให้ “มุมมอง” ในเรื่องนี้ครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

  1. “สมาชิก/ฆราวาสในคริสตจักร มิได้รักองค์พระผู้เป็นเจ้า”   ใช่ถ้าเราดูอาการภายนอกอาจจะมองได้เช่นนั้น   แต่แท้จริงแล้วสมาชิกแต่ละคนรักองค์พระผู้เป็นเจ้า   และพวกเขายังคิดถึงพระเจ้าในวันต่าง ๆ ระหว่างสัปดาห์  นอกเหนือจากวันอาทิตย์เท่านั้น
  2. “สมาชิก/ฆราวาสไม่สนใจเรื่องวินัยชีวิตจิตวิญญาณ”   พวกเขาได้ยินได้ฟังผู้นำคริสตจักรบอกแล้วบอกเล่าถึงการที่พวกเขาควรที่จะถวายอุทิศตนแด่พระเจ้า  และมีวินัยชีวิตจิตวิญญาณ   แต่ก็ไม่มีใครที่จะเดินเคียงข้างในชีวิตประจำวันที่จะฝึกฝนชีวิตของพวกเขาว่าจะทำได้อย่างไร  
  3. “สมาชิก/ฆราวาสไม่สนใจคนที่หลงหาย”   เป็นความจริงว่า  ไม่บ่อยครั้งนักที่พวกเขาจะบอกคนอื่นถึงพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์   แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ได้สนใจใส่ใจคนอื่น   แต่บางครั้งที่เขาเป็นเช่นนั้นเพราะพวกเขาถูกครอบงำด้วยความกลัว   เขาห่วงกังวลว่า คนอื่นอาจจะปฏิเสธ หรือ ไม่ยอมรับพวกเขา   หรือ  เขารู้สึกว่าเขาไม่มีคำตอบต่อคำถามของคนอื่นที่อาจจะถามเขา
  4. “สมาชิก/ฆราวาสไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง”   นั่นคงไม่ใช่ความจริง   พวกเขาไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างเชื่องช้า   หรือบางกรณีก็เปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วเกินไป  หรือ ไม่ก็ไม่มีการสื่อสารอธิบายให้เข้าใจถึงกาเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ
  5. “สมาชิก/ฆราวาสไม่ยอมตามผู้นำ”  ถ้าผู้นำมีนิมิตที่พระเจ้าประทานให้  แล้วนำไปสู่นิมิตหมายนั้นอย่างดี   รับรองสมาชิกหลายคนในคริสตจักรจะร่วมไปในขบวนของศิษยาภิบาลแน่    แต่ที่พวกเขาไม่ต้องการตามผู้นำ  เพราะผู้นำไม่ทำหน้าที่นำพวกเขา
  6. “สมาชิกสูงอายุต่างจมจ่อมอยู่กับอดีต”   แน่นอนว่าชีวิตของพวกผู้สูงอายุไม่ได้อยู่ในอดีต   แต่พวกเขาอาจจะอาลัยหาเมื่อวันวานที่พวกเขารู้สึกปลอดภัย   แต่พวกเขาเข้าใจในส่วนลึกของจิตใจว่า   คริสตจักรต้องมีการเปลี่ยนแปลงในทุกยุคทุกสมัย
  7. “สมาชิกส่วนใหญ่ดูขี้เหนียว”   บางครั้งพวกเขาอาจจะมีภาระทางการเงินที่รับผิดชอบมาก   ไม่ว่าการผ่อน  การใช้หนี้  หรือมีการใช้จ่ายที่ไม่ระมัดระวัง   การที่จะท้าทายให้สมาชิกถวายทรัพย์จำเป็นอย่างยิ่งต้องแสดงชัดเจนถึงจุดประสงค์ของการใช้เงินนั้น   ถ้าเขาเข้าใจ และ เห็นความสำคัญจำเป็นของวัตถุประสงค์   สมาชิกก็พร้อมที่จะถวาย
  8. “สมาชิกไว้ใจลำบาก”  พูดง่าย  แต่เป็นการมองที่ผิดพลาด   เป็นการมองฆราวาสในมุมลบ  อาจจะมีมาจากประสบการณ์กับสมาชิกบางคนเท่านั้น   แต่ไม่ควรเหมารวมหรือเหมาโหลทั้งหมด   ฆราวาสหลายคนที่เป็นเพื่อนร่วมงานที่ไว้วางใจได้  
  9. “สมาชิกเพียงน้อยนิดที่สนใจที่เข้ามีส่วนร่วมรับผิดชอบในงานคริสตจักร”   อย่างที่เราเห็น  มีคนที่รับใช้งานคริสตจักรอยู่เพียงไม่กี่คน  แต่ในความเป็นจริงว่า หลายคนที่นั่งเฉย ๆ แท้จริงก็อยากจะมีส่วนร่วมในงานคริสตจักร   เพียงแต่ไม่มีใครที่จะช่วยพวกเขาให้ค้นพบและเข้าใจถึงของประทาน  ศักยภาพ ที่ตนเองมีอยู่   และบางครั้งก็เพราะไม่มีใครช่วยให้เขารู้ว่าจะเข้ามีส่วนร่วมในงานคริสตจักรในเรื่องอะไร  และได้อย่างไร
  10. “สมาชิกไม่รักศิษยาภิบาลของเขา”   แม้แต่ศิษยาภิบาลที่ได้รับบาดแผลในชีวิตก็ไม่สามารถกล่าวเช่นนี้ได้เต็มปาก   เพราะก็ยังมีสมาชิกที่รัก  ยอมเสียสละ  ให้  และสนับสนุนศิษยาภิบาล  


โปรดแสดงความคิดเห็นของท่าน หรือ ตอบสนองความคิดข้างต้นอย่างอิสระ   หรือ ท่านคิดว่าผมมองสมาชิก/ฆราวาสในมุมบวกมากเกินไปหรือเปล่า?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

23 เมษายน 2559

บางมุมมองที่สมาชิกคริสตจักรมีต่อศิษยาภิบาล...ที่อาจจะคลาดเคลื่อน?

จากการที่ผมมีโอกาสออกไปพบปะ สนทนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคริสตจักรท้องถิ่นหลายภาคหลายแห่ง   ผมพบ/รู้สึกว่า   บางแห่งมีสมาชิกคริสตจักรบางคนที่อาจจะมีมุมมองศิษยาภิบาลที่อาจจะคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง   และนี่เป็นการรวบรวมสิ่งเหล่านี้เพื่อนำเสนอ  เพื่อเทียบเคียงว่า  คนอื่นเห็นเหมือน หรือ ต่างกันอย่างไร   และอยากจะเชิญชวนท่านผู้อ่านแสดงความคิดเห็น เติมเพิ่มในเรื่องนี้   เพื่อเป็นมุมมองที่มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

  1. สมาชิกคริสตจักรมักมองว่า บรรดาศิษยาภิบาลไม่ต้องปล้ำสู้กับวินัยชีวิตจิตวิญญาณ   แต่แท้จริงในพวกศิษยาภิบาลเราต้องปล้ำสู้กับการหาเวลาและวินัยชีวิตที่จะอยู่ใกล้ชิดพระเจ้าเช่นกัน   เราต้องเครียดกับการศึกษาค้นคว้าเพื่อการเทศนา และ การศึกษาเรียนรู้เพื่อการเติบโตเข้มแข็งของตนเอง
  2. สมาชิกมักเข้าใจว่า ศิษยาภิบาลมีความมั่นใจเกี่ยวกับการทรงเรียกของตน   ความเครียดกังวลในการนำชุมชนคริสตจักรบางครั้งทำให้ศิษยาภิบาลเกิดคำถามว่า นี่เป็นสิ่งที่พระเจ้าทรงเรียกให้ตนทำหรือไม่?   เราต้องการที่จะมั่นใจ 100%  แต่มันก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป
  3. สมาชิกคิดว่าเราไม่ต้องเสียภาษีอย่างบุคคลธรรมดาทั่วไป   จึงทำให้สมาชิกส่วนหนึ่งคิดว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องจ่ายค่าตอบแทนแก่ศิษยาภิบาลตามอัตราเงินเดือนมาตรฐาน
  4. สมาชิกมักมองว่า ศิษยาภิบาลไม่เคยวิตกกังวลเกี่ยวกับการเทศนาพระวจนะ   ใช่ศิษยาภิบาลส่วนใหญ่ภูมิใจในการเทศนาของตนเอง   แต่อย่างไรก็ตามก็ได้ยินคำวิพากษ์วิจารณ์คำเทศนาจากสมาชิก   แท้จริงแล้วอยากจะบอกให้ทุกคนรู้ว่า   การเทศนาเป็นภาระอันหนักอึ้งที่ศิษยาภิบาลแต่ละคนต้องแบกรับ
  5. สมาชิกบางส่วนมักเข้าใจว่า บรรดาศิษยาภิบาลไม่มีบาดแผลในชีวิต   แต่แท้จริงแล้ว  มันตรงกันข้ามกับความเข้าใจดังกล่าว   เราในฐานะศิษยาภิบาลเราคาดหวังว่าประชากรของพระเจ้าในคริสตจักรจะกระทำต่อกันด้วยความรักและพระคุณของพระเจ้า   แต่สิ่งนี้ไม่ค่อยเกิดขึ้นจริง
  6. สมาชิกทั่วไปมักเข้าใจว่า ศิษยาภิบาลเต็มเวลาจะได้สวัสดิการด้านต่าง ๆ ตามกฎหมายแรงงานทั่วไป   ใช่ศิษยาภิบาลหลายท่านที่อยู่ในสภาพเช่นนั้น   แต่อยากจะบอกว่า ศิษยาภิบาลจำนวนอีกไม่น้อยที่รับเงินค่าตอบแทนเป็นรายปี  หลายคนที่ไม่มีสวัสดิการอย่างที่สมาชิกมี   และส่วนหนึ่งกำลังเผชิญหน้ากับเงินค่าตอบแทนที่คงที่ หรือ ลดลง
  7. สมาชิกมักจะเข้าใจว่าศิษยาภิบาลได้เรียนรู้ทุกเรื่องมาจากชั้นเรียนในพระคริสต์ธรรมหรือโรงเรียนพระคัมภีร์   ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น   เพราะชั้นเรียนมิได้เตรียมเราให้มีประสบการณ์เกี่ยวกับการทำพันธกิจด้านต่าง ๆ มาก่อน   แต่ศิษยาภิบาลเรียนรู้แต่ละวันว่าตนจะนำชุมชนคริสตจักรเช่นไร   จะบริหารจัดการพันธกิจด้านต่าง ๆ ในคริสตจักรอย่างไร   ศิษยาภิบาลเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ประกอบศาสนพิธีต่าง ๆ   เรียนรู้ในแต่ละวันในการรับมือและจัดการกับความขัดแย้งต่าง ๆ   ศิษยาภิบาลเรียนรู้หลายเรื่องหลายราวจากงานที่ทำในแต่ละวัน   บางครั้งก็เป็นการเรียนรู้ที่หนักหนาสาหัสจากการลองลงมือทำ
  8. สมาชิกมักคิดว่า  ศิษยาภิบาลมีเพื่อนแท้มากมาย   แท้จริงศิษยาภิบาลมีคนที่รู้จักมากมาย   แต่มีเพื่อนแท้ที่เข้าใจน้อยเหลือเกิน   การทำพันธกิจจึงทำให้รู้สึกว่าต้องทำอย่างโดดเดี่ยว
  9. คนทั่วไปมักคิดว่าในครอบครัวของศิษยาภิบาลคงเป็นน้อง ๆ ของสวรรค์    ใช่อาจจะมองเห็นภาพเช่นนั้นในวันอาทิตย์ตอนเช้า   แต่ศิษยาภิบาลต่างก็ต้องประสบกับชีวิตจริงเหมือนคนอื่นทั่ว ๆ ไปในวันปกติทั่วไปในสัปดาห์   ครอบครัวของศิษยาภิบาลก็ต้องปล้ำสู้ และ เผชิญหน้ากับเหตุการณ์นานาประการเหมือนครอบครัวคนทั่วไป
  10. สมาชิกมักคิดว่า ศิษยาภิบาลมีแต่จะมองหาคริสตจักรที่ดีกว่า   บอกด้วยความจริงใจว่า   มีศิษยาภิบาลที่เป็นเช่นนั้นจริง   แต่เขาก็ไม่ได้สบายไปกว่าศิษยาภิบาลคนอื่นที่อุทิศทุ่มเทกับคริสตจักรที่พระเจ้าเรียกให้รับใช้อยู่   ศิษยาภิบาลส่วนใหญ่รักคริสตจักร   แม้ชุมชนคริสตจักรจะไม่ใช่ชุมชนที่สมบูรณ์ดีเด่นอะไรก็ตาม


ท่านมีประเด็นเพิ่มเติมอะไรอีกหรือไม่ครับ?   ช่วยเพิ่มเติมครับ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

18 เมษายน 2559

พระคริสต์สัญญาว่า...ถ้าติดตามพระองค์ต้องพบกับความทุกข์

พระเยซูคริสต์ไม่เคยสัญญาว่า ผู้ที่ติดตามเป็นสาวกของพระองค์เป็นเรื่องง่าย  สะดวก  และจะมีชีวิตที่สบาย  แต่พระองค์บอกคนทั้งหลายว่า วิถีที่จะติดตามพระองค์นั้นเป็นเส้นทางที่คับแคบยากลำบาก  ดังนั้น จึงมีคนเพียงน้อยนิดที่ตัดสินใจเดินทางนี้เพื่อที่จะติดตามพระองค์ (มัทธิว 7:14)

ความคิดความเชื่อที่ว่า  เมื่อเชื่อวางใจในพระเยซูคริสต์แล้วจะมีชีวิตที่สะดวกสบายมั่งคั่ง  และจะมีความสุขกว่าเดิมนี่เป็น “พระกิตติคุณของใครไม่รู้” แต่เป็นคนละเรื่องกับพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์  

พระคริสต์เคยบอกความจริงว่า   วิถีทางที่คนส่วนใหญ่เลือกเดินไปนั้นเป็นเส้นทางกว้างใหญ่  สะดวกสบาย  และ ประตูที่นำไปสู่ทางนี้ก็กว้างใหญ่   ประตูกว้างและเส้นทางที่สะดวกสบายนี้นำไปสู่ความหายนะและความตาย (มัทธิว 7:13)   พระเยซูคริสต์กลับสัญญาว่า คนที่ตัดสินใจเลือกที่จะติดตามพระองค์จะพบกับความลำบากและเจ็บปวดในชีวิต   แล้วยังต้องเต็มใจที่จะแบกกางเขนของตนทุกวันตามพระองค์ไป   และเราท่านก็รู้ว่า กางเขน นั้นเป็นสัญญลักษณ์ถึงความเจ็บปวด  การทนความทุกข์ยาก  และความตาย

ด้วยเหตุนี้   พระเยซูคริสต์จึงเตือนคนที่คิดจะติดตามพระองค์อย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมาว่า  ถ้าใครคิดที่จะติดตามเป็นสาวกของพระองค์  ขอคิดให้แน่ชัดก่อนว่า คุ้มหรือไม่ที่จะติดตามพระเยซูคริสต์ หรือ ได้สิ่งที่ตนคาดหวังหรือไม่   เพราะคนส่วนใหญ่แล้วจิตใจยังผูกพันกับสิ่งที่สะดวกสบาย จิตใจยังยึดติดอยู่กับอยากได้ใคร่มี ปรารถนาความยิ่งใหญ่  ต้องการให้ตนเป็นคนสำคัญ  เพราะคิดว่านั่นจะทำให้ชีวิตของตนมีความสุข   แต่บ่อยครั้งเป็นความสุขชั่วครั้งชั่วคราวชั่วค่ำคืน(ฮีบรู 11:25)  เส้นทางที่คนเราเลือกส่วนใหญ่เป็นเส้นทางที่สนุก สะดวก สบาย  เป็นเส้นทางที่นำความเพลิดเพลินมาสู่ชีวิต แต่มันก็จะเกิดขึ้นกับชีวิตเพียงชั่วแวบหนึ่งเท่านั้น

เราท่านจำเป็นที่ต้องถามตนเองอย่างจริงจังและจริงใจว่า   มันคุ้มค่าหรือไม่แค่ไหนที่เราจะติดตามพระเยซูคริสต์บนเส้นทางแห่งความทุกข์ยากลำบาก และ ความตาย(ลูกา 14:28)   เพราะเป็นเส้นทางที่เราต้องยอมละทิ้งชีวิตแห่งความอยากได้ใคร่มี และ ความปรารถนายิ่งใหญ่และสุขสบาย   แต่ปลายทางสิ่งที่เราจะได้คือ ชีวิตที่มีคุณค่าความหมายที่ยั่งยืนนิรันดร์   แม้วิถีชีวิตที่พระคริสต์ชวนเราติดตามจะเป็นเส้นทางของความรักเมตตา ที่ “ให้ชีวิต”  “เสียสละชีวิต”  แต่ก็เพื่อให้เกิดชีวิตใหม่ที่พระคริสต์นำมาให้เราเช้าวันคืนพระชนม์   เป็นชีวิตใหม่เพื่อเราและเพื่อเพื่อนมนุษย์ทุกๆคน

ที่เราเลือกที่จะ “ให้ชีวิต” เพราะเราเชื่อว่า แม้เราจะต้องเผชิญกับความทุกข์แสนสาหัส  แต่จะเกิดผลดีในที่สุด(โรม 8:28)   และสิ่งที่เกิดผลดีนี้มิใช่เพราะการเสียสละของเรา   แต่เป็นการทำงานของพระเจ้าในชีวิตของเราต่างหาก

พระคริสต์มิได้สัญญาว่าชีวิตที่ติดตามเป็นสาวกของพระองค์จะพบกับความราบรื่น สุขสมอารมณ์หมาย  ความสะดวกสบาย  และจะเป็นชีวิตที่มั่งคั่งร่ำรวย   แต่ตรงกันข้ามเลยครับ พระองค์บอกเราท่านแบบเปิดเผยตรงไปตรงมาว่า   ถ้าเราติดตามพระองค์ชีวิตของเรายังต้องพบกับความทุกข์ยากลำบาก  ต้องประสบกับปัญหาที่หนักอึ้ง  ต้องพบเจอกับความสิ้นหวัง  บางครั้งจะถูกทำร้ายหมายหัว   แต่ที่พระองค์พูดเช่นนี้มิได้ทำให้เราใจเสียหรือกลัวแล้วเลิกติดตามพระองค์ (2โครินธ์ 4:8-10)   แต่พระคริสต์ได้บอกความจริงในเรื่องนี้ว่า   แม้ว่าชีวิตที่ติดตามพระองค์จะต้องเผชิญกับปัญหา สิ่งเลวร้าย ความทุกข์ยาก ผิดหวัง  จนตรอก  แต่พระคริสต์สัญญาว่า  เราจะมี “สันติสุข”  ท่ามกลางความทุกข์ยาก   เราจะมี “ความชื่นชมยินดี” ท่ามกลางความเจ็บปวดในชีวิต (ยอห์น 16:33)

พระคริสต์มิได้สัญญาว่าคนที่ติดตามเป็นสาวกของพระองค์จะได้รับความสุข สะดวกสบาย  ความมั่งคั่งร่ำรวย  มียศเกียรติตำแหน่งอย่างใจปรารถนา   หรือสำเร็จดั่งในคาดหมาย  

แต่พระคริสต์สัญญาว่า   ผู้ที่ติดตามเป็นสาวกของพระองค์จะได้ชีวิตที่มีสันติสุขในพระองค์  มีความชื่นชมยินดีในทุกสถานการณ์ชีวิต   แม้ในความทุกข์ยากลำบากที่กำลังทุกข์ทน  และในความอยุติธรรมก็เกิดขึ้นกับตน   หรือ ถูกหมายหัว ขัดขวาง ท่ามกลางสถานการณ์ที่ฉ้อฉลเกมโกง  หรือ แม้แต่กำลังถูก “เลื่อยขาเก้าอี้”  ในเวลานี้ก็ตาม
“เรา​บอก​เรื่อง​นี้​กับ​พวก​ท่าน เพื่อ​ท่าน​จะ​ได้​มี​สันติ​สุข​ใน​เรา
ใน​โลก​นี้​ท่าน​จะ​ประ​สบ​ความ​ทุกข์​ยาก
แต่​จง​มี​ใจ​กล้า​เถิด เพราะ​ว่า​เรา​ชนะ​โลก​แล้ว (ยอห์น 16:33 มตฐ.)
“ยิ่ง​กว่า​นั้น เรา​ก็​ชื่น​ชม​ยินดี​ใน​ความ​ทุกข์​ยาก​ด้วย
เพราะ​เรา​รู้​ว่า​ความ​ทุกข์​ยาก​นั้น ทำ​ให้​เกิด​ความ​ทร​หด​อด​ทน” (โรม 5:3 มตฐ.)
“เพราะ​พระ​เจ้า​ทรง​ให้​พระคุณ​แก่​ท่าน​เพราะ​เห็น​แก่​พระ​คริสต์
ไม่​ใช่​ให้​ท่าน​ทั้ง​หลาย​เชื่อ​ใน​พระ​องค์​เท่า​นั้น
แต่​ให้​ทน​ทุกข์​ยาก​เพราะ​เห็น​แก่​พระ​องค์​ด้วย” (ฟิลิปปี 1:29 มตฐ.)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

15 เมษายน 2559

พระเจ้า...ขอต่อรองหน่อยได้ไหม?

อ่าน มัทธิว 26:36-46
36 แล้ว​พระ​เยซู​ทรง​พา​สา​วก​ทั้ง​หลาย​มา​ยัง​ที่​แห่ง​หนึ่ง​ที่​เรียก​ว่า​เกท​เสมนี แล้ว​ตรัส​กับ​สา​วก​ของ​พระองค์​ว่า จง​นั่ง​อยู่​ที่​นี่​ขณะ​เมื่อ​เรา​ไป​อธิษฐาน​ที่​โน่น”   37 พระ​องค์​ก็​ทรง​พา​เป​โตร​กับ​บุตร​ทั้ง​สอง​ของ​เศ​เบ​ดี​ไป​ด้วย พระ​องค์​ทรง​เริ่ม​โศก​เศร้า​และ​ทรง​ทุกข์​ใจ​อย่าง​ยิ่ง   38 จึง​ตรัส​กับ​พวก​เขา​ว่า ใจ​ของ​เรา​เป็น​ทุกข์​แทบ​จะ​ตาย จง​อยู่​ที่​นี่​และ​เฝ้า​ระวัง​กับ​เรา”    39 แล้ว​ทรง​ดำ​เนิน​ไป​อีก​หน่อย​หนึ่ง ก็​ซบ​พระ​พักตร์​ลง​ถึง​ดิน​อธิษฐานว่า โอ​พระ​บิดา​ของ​ข้า​พระ​องค์ ถ้า​เป็น​ได้​ขอ​ให้​ถ้วย​นี้​เลื่อน​พ้น​ไป​จาก​ข้า​พระ​องค์​เถิด แต่​อย่างไร​ก็​ดี อย่า​ให้​เป็น​ไป​ตาม​ใจ​ปรารถนาของ​ข้า​พระ​องค์ แต่​ให้​เป็น​ไป​ตาม​พระทัย​ของ​พระ​องค์”    40 แล้ว​พระ​องค์​เสด็จ​กลับ​มา​หา​พวก​สา​วก ทอด​พระ​เนตร​เห็น​เขา​ทั้งหลาย​นอน​หลับ​อยู่ พระ​องค์​ตรัส​กับ​เป​โตร​ว่า เป็น​อย่างไร​นะ พวก​ท่าน​จะ​เฝ้า​ระวัง​อยู่​กับ​เรา​สัก​ชั่วโมง​ไม่​ได้​หรือ?    41 ท่าน​ทั้ง​หลาย​จง​เฝ้า​ระวัง​และ​อธิษฐาน​เพื่อ​จะ​ไม่​ถูก​ทด​ลอง จิตวิญญาณ​พร้อม​แล้ว​ก็​จริง แต่​กาย​ยัง​อ่อน​กำ​ลัง”    42 พระ​องค์​จึง​เสด็จ​ไป​ทรง​อธิษฐาน​อีก​เป็น​ครั้ง​ที่สอง ข้า​แต่​พระ​บิดา​ของ​ข้า​พระ​องค์ ถ้า​ถ้วย​นี้​เลื่อน​พ้น​ไป​จาก​ข้า​พระ​องค์​ไม่​ได้ และ​ข้า​พระ​องค์​จำ​ต้อง​ดื่ม​แล้ว ก็​ให้​เป็น​ไป​ตาม​พระ​ทัย​ของ​พระ​องค์”    43 เมื่อ​เสด็จ​กลับ​มา​อีก​ก็​ทอด​พระ​เนตร​เห็น​บรรดา   ​สา​วก​นอน​หลับ​อยู่ เพราะ​ตา​ของ​พวก​เขา​ลืม​ไม่​ขึ้น    44 จึง​เสด็จ​ไป​จาก​พวก​เขา เสด็จ​ไป​ทรง​อธิษฐานเป็น​ครั้ง​ที่​สาม ทูล​ขอ​เหมือน​คราว​ก่อน ๆ อีก    45 แล้ว​เสด็จ​มา​ยัง​พวก​สา​วก​ตรัส​ว่า พวก​ท่าน​ยัง​จะ​นอน​ต่อไป​ให้​หาย​เหนื่อย​อีก​หรือ? นี่​แน่ะ เวลา​มา​ใกล้​แล้ว บุตร​มนุษย์​จะ​ต้อง​ถูก​มอบ​ไว้​ใน​มือ​ของ​พวก​คน​บาป    46 ลุก​ขึ้น​ไป​กัน​เถิด คน​ที่​ทรยศ​เรา​มา​ใกล้​แล้ว(มตฐ.)

ภาพพระเยซูคริสต์และสาวกของพระองค์ในพระธรรมตอนนี้   เป็นภาพที่พระเยซูคริสต์เผชิญกับความทุกข์ครั้งใหญ่   พระองค์บอกกับสาวกว่า “ใจของเราเป็นทุกข์แทบจะตาย...” (ข้อ 38)  และพระองค์ต้องการคนที่จะเคียงข้างพระองค์ในเวลาวิกฤติเช่นนั้น   แต่พระองค์กลับพบว่า  สาวกที่พระองค์คาดหวังว่าจะยืนหยัดเคียงข้างพระองค์กลับหลับใหลไม่ได้สติ   จนพระเยซูคริสต์ออกปากถามว่า “เป็นอย่างไรนะ   พวกท่านจะเฝ้าระวังอยู่กับเราสักชั่วโมงไม่ได้หรือ?” (ข้อ 40)

ชีวิตประจำวันของท่านเคยพบกับเหตุการณ์วิกฤติคับขันเช่นนี้ไหม?   ท่านเคยคิดเคยคาดว่าเพื่อนสนิทบางคนที่ท่านไว้ใจจะอยู่เคียงข้างท่าน   แต่กลับพบว่า เขาไม่ได้ยืนเคียงข้างท่านเลย   ผิดคาด  ผิดหวัง   ท่านทำอย่างไรในเหตุการณ์ทุกข์ยากลำบากใจเช่นนั้น?   แล้วเกิดผลเช่นไร?

ภาพเรื่องราวของพระเยซูคริสต์ในฉากนี้เป็นวิกฤติชีวิตที่เป็นเรื่องของ “ความเป็นความตาย”   แต่หัวใจสำคัญของวิกฤติครั้งนี้คือ   เราต้องตัดสินใจเลือกว่าในวิกฤติชีวิตเช่นนี้   เราจะเลือกทูลขอพระเจ้าให้เหตุการณ์นี้คลี่คลายไปตาม “ใจปรารถนาของเรา” หรือ ให้เป็นไปตาม  “น้ำพระทัยของพระเจ้า” 

เมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อในชีวิต   เมื่อชีวิตมาถึงจุดที่จะต้องตัดสินใจเลือก   ใจจริง ๆ ของเราแล้ว  เราต้องการให้เหตุการณ์คลี่คลายไปตามความต้องการหรือไปตามที่เราคิดว่าน่าจะเป็นไปได้   แล้วเรามักจะทูลขอพระเจ้าให้เป็นไปอย่างที่เราคาด  เราคิด เราต้องการใช่ไหม?   ใช่ครับ ในเวลาเช่นนี้เราควรเปิดอกเปิดใจทั้งหมดของเราต่อพระเจ้า   อธิษฐานจากก้นบึ้งทั้งความคิดและความรู้สึกของเรา   ไม่ผิดที่เราบอกพระเจ้าถึงสิ่งที่เราคาด  เราคิด เราต้องการ   พระเยซูคริสต์ก็ทำเช่นนั้นครับ   พระองค์อธิษฐานต่อพระบิดาว่า  “โอพระบิดาของข้าพระองค์ ถ้าเป็นได้ขอให้ถ้วยนี้เลื่อนพ้นไปจากข้าพระองค์เถิด...” (ข้อ 39)   แต่ที่สำคัญคือ  พระเยซูคริสต์ทูลขอว่า  “...แต่อย่างไรก็ดี อย่าให้เป็นไปตามใจปรารถนาของข้าพระองค์ แต่ให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์”   สิ่งนี้ต่างหากที่ “ยาก” สำหรับเราท่าน   เราทำใจลำบากใช่ไหม?   เพราะเมื่อเราอธิษฐานมักเป็นการทูลขอพระเจ้าช่วยทำให้เหตุการณ์นั้นให้เป็นไปตามใจปรารถนาของเราใช่ไหม?   แม้เราจะบอกกับพระองค์ว่า ให้ทุกอย่างเป็นไปตามน้ำพระทัย   แต่ใจลึก ๆ น่าจะเป็นอย่างที่เราคาดหวังหรือเปล่า?

เรื่องราวในพระคัมภีร์ตอนนี้   เมื่อพระเยซูทูลอธิษฐาน   ไม่ปรากฏว่ามีเสียงตอบจากพระบิดา   ไม่ใช่เราเท่านั้นเมื่ออธิษฐานแล้วไม่ได้ยินเสียงตอบจากพระเจ้า   แต่ในเหตุการณ์นี้แม้จะไม่มีบันทึกว่ามีเสียงตอบจากพระเจ้าต่อการอธิษฐานของพระเยซูคริสต์   แต่เราพบว่า พระเยซูคริสต์ได้รับคำตอบในจิตใจจิตวิญญาณของพระองค์   เรารู้เรื่องนี้ได้จากการที่พระองค์กลับไปอธิษฐานกับพระบิดาในครั้งที่สอง และ สามว่า  ข้าแต่พระบิดาของข้าพระองค์ ถ้าถ้วยนี้เลื่อนพ้นไปจากข้าพระองค์ไม่ได้ และข้าพระองค์จำต้องดื่มแล้ว ก็ให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์ (ข้อ 42)   

สิ่งที่ “ยาก” ประการที่สองสำหรับเราท่านคือ  การได้ยินหรือรับรู้ถึงคำตอบอธิษฐานจากพระเจ้า   บ่อยครั้งเรามักบอกว่าพระเจ้าไม่ได้ตอบ หรือ ไม่มีเสียงตอบจากพระเจ้า   ที่เราบอกว่าไม่ได้ยินเสียงตอบจากพระเจ้า  มักเป็นการที่เราไม่ได้รับคำตอบยืนยันจากพระเจ้าที่ให้เหตุการณ์นั้นเป็นไปตามสิ่งเราคิด เราคาด เราต้องการลึก ๆ ในจิตใจต่างหาก   และที่เราไม่ได้รับคำตอบจากพระเจ้าเมื่อเราอธิษฐานมักเป็นเพราะ เราคาดหวัง  เราต้องการให้พระองค์ทำอย่างที่เราต้องการ?

สิ่งที่พระคริสต์แตกต่างจากเราในการอธิษฐานในยามวิกฤติคือ   พระองค์รู้ว่า ใจปรารถนาของพระองค์คืออะไร   และน้ำพระทัยของพระบิดาในเรื่องนี้คืออะไร   แต่เราท่านมักรู้ว่าใจปรารถนาของเราต้องการอะไร   เราขาดการที่จะแสวงหาว่าในเหตุการณ์เช่นนี้พระเจ้ามีน้ำพระทัยอย่างไร   ดังนั้น เราจึงไม่ได้ยินไม่ได้สัมผัสคำตอบจากพระเจ้า   เพราะคำตอบจากพระเจ้าไม่ได้ตอบตามใจปรารถนาของเรา   และเราก็ไม่ได้ใส่ใจฟังด้วยจริงใจว่า  พระเจ้ามีน้ำพระทัยอย่างไรในเหตุการณ์วิกฤตินั้น

แต่พระคริสต์ใส่ใจต่อน้ำพระทัยของพระบิดา   และเพราะคำตอบและการคลี่คลายนั้นเป็นไปตามน้ำพระทัยของพระเจ้า   พระองค์ไม่วิตกกังวลต่อไป   แต่พระองค์ชัดเจนในเป้าหมายที่มุ่งหน้าไป   และที่สำคัญคือ พระบิดาไปเคียงข้างพระองค์ในทุกฝีก้าว   และนี่แหละที่เป็นพลังสร้างความเข้มแข็งทางจิตวิญญาณของพระคริสต์    ให้ตัดสินใจก้าวไปบนวิถีแห่งกางเขนที่เป็นน้ำพระทัยของพระบิดา

ในทุกวิกฤติชีวิตจงมีน้ำพระทัยของพระเจ้าสำหรับวิกฤตินั้นอยู่ด้วยเสมอ!

จะต่อรองก็ต่อรองได้   แต่ต่อรองด้วยการรู้ถึงน้ำพระทัยของพระเจ้าสำหรับเหตุการณ์นั้น

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

11 เมษายน 2559

เมื่อชีวิตล้มเหลว...พระเจ้าอยู่ที่ไหน?

เมื่อเราติดตามและรับใช้พระเจ้า  พระองค์ไม่ได้สัญญาว่าเราจะประสบความสำเร็จเสมอ   แต่เรารับใช้พระเจ้าที่ทรงสัญญาว่าพระองค์ทรงอยู่เคียงข้างเราในทุกสถานการณ์ชีวิต

บ่อยครั้งมิใช่หรือที่เรารู้สึกเหน็ดเหนื่อยกับชีวิต  เรารู้สึกว่าชีวิตล้มเหลว  ล้มเหลวในการงานที่ทำ  ล้มเหลวในชีวิตครอบครัว  ล้มเหลววันแล้ววันเล่าในชีวิต  

และพระเจ้าก็มิได้สัญญาว่า ชีวิตเราจะประสบกับความสำเร็จที่เราคาดหวังในทุกเรื่อง

นอกจากนั้นแล้ว  บาดแผลที่ได้รับจากความล้มเหลวยังสร้างความเจ็บปวดในชีวิต   มันทำให้เรารู้สึกว่าเราทำอะไรก็ผิดก็พลาดไปหมด   แม้ว่าจะพยายามแค่ไหนก็ตามก็ไม่เห็นมันเกิดผล   เราเริ่มเชื่อว่าเราเป็นคนที่ไม่ดีพอ   เราไม่ได้เป็นสามี หรือ ภรรยาที่ดีพอ   เราไม่ได้เป็นลูกที่ดีพอ  เราไม่ได้เป็นพ่อแม่ที่ดีพอ เราไม่ได้เป็นปู่ย่าตาทวดที่ดีพอ  เราไม่ได้เป็นเพื่อนที่ดีพอ ฯลฯ

บางครั้งมันเกิดเสียงก้องย้อนถามตนเองว่า  “ทำไมเราจะทำให้บ้านของเรามีความสุขรื่นชื่นชมไม่ได้?   ทำไมบ้านเราถึงดูเลอะเทอะวุ่นวาย?   ทำไมเราจะประสบชัยชนะในชีวิตสักครั้งไม่ได้เลยหรือ?

ในเวลาเช่นนั้น...   แทนที่เราจะจมจ่อมอยู่ในความคิดความรู้สึกว่า “เราล้มเหลว”   ในภาวะเช่นนั้นพระเจ้ากำลังตรัสกับเราว่า   พระเจ้าจะทำให้เราสำเร็จในชีวิตได้   พระองค์บอกกับเราว่า ให้เราไว้วางใจในพระองค์

แล้วพระเจ้ามีมุมมองอย่างไรในความล้มเหลวของเรา?   จากประสบการณ์ชีวิตของเปาโลได้กล่าวว่า
แต่​พระ​องค์​ตรัส​กับ​ข้าพ​เจ้า​แล้ว​ว่า
การ​มี​พระ​คุณ​ของ​เรา​ก็​เพียง​พอ​กับ​เจ้า
เพราะ​ว่า​ความ​อ่อน​แอ​มี​ที่​ไหน ฤทธา​นุ​ภาพ​ของ​เรา​ก็​ปรากฏ​เต็ม​ที่​ที่​นั่น 
เพราะ​ฉะนั้น ข้าพ​เจ้า​จะ​อวด​บรร​ดา​ความ​อ่อน​แอ​ของ​ข้าพ​เจ้า​มาก​ขึ้น​ด้วย​ความ​ยินดี​อย่าง​ยิ่ง
เพื่อ​ว่า​ฤทธา​นุ​ภาพ​ของ​พระ​คริสต์​จะ​อยู่​ใน​ข้าพ​เจ้า
เพราะ​เหตุ​นี้ เพื่อ​เห็น​แก่​พระ​คริสต์  ข้าพ​เจ้า​จึง​พอใจ​ใน​บรรดา​ความ​อ่อน​แอ
ใน​การ​ถูก​เยาะ​เย้ย​ต่าง ๆ ใน​ความ​ลำบาก ใน​การ​ถูก​ข่ม​เหง ใน​เหตุ​วิบัติ​ต่าง ๆ
เพราะ​ว่า​ข้าพ​เจ้า​อ่อน​แอ​เมื่อ​ใด ข้าพ​เจ้า​ก็​จะ​เข้ม​แข็ง(เพราะพระเจ้า)​มาก​เมื่อ​นั้น
(2โครินธ์ 12:9-10 มตฐ.  ในวงเล็บผู้เขียนเพิ่มเติม)

ในสังคมปัจจุบัน  มักสอนเราว่า  “การล้มเหลวเป็นประสบการณ์หรือโอกาสแห่งการเรียนรู้เพื่อเราจะเข้มแข็งขึ้น”   แต่เราต้องระมัดระวังหลุมพรางที่ว่า  “การล้มเหลวในชีวิตทำให้เกิดความเข้มแข็ง”    เราต้องเข้าใจชัดเจนว่า  การล้มเหลวไม่ได้ทำให้คน ๆ นั้นเข้มแข็งขึ้น แต่ผู้ที่ทำให้เราเข้มแข็งขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับชีวิตที่ล้มเหลวคือพระเจ้า   พระเจ้าทรงใช้ “ประสบการณ์แห่งการล้มเหลวของเรา เป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลง และ เสริมสร้างเราขึ้นใหม่ ทำให้เรามีมุมมองต่อชีวิต ต่อความสำเร็จและล้มเหลวใหม่ เกิดความคิดความเข้าใจใหม่  เกิดการตัดสินใจใหม่  และ เกิดการกระทำใหม่ พบกับประสบการณ์ใหม่ ที่หนุนเสริมให้ชีวิตของเราเข้มแข็งขึ้น

สัจจะความจริงของชีวิตในที่นี้คือ   เราไม่สามารถที่จะกระทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตัวของเราเองได้   บางครั้งเรืออับปาง  การงานที่ทำต้องเผชิญกับความทุกข์ยากลำบาก การเป็นคริสตชนไม่ได้ค้ำประกันว่าเราจะเป็นคนที่สมบูรณ์แบบ แต่สิ่งที่ได้จากการเป็นคริสตชนคือ โอกาสที่เราจะเรียนรู้จักพระเจ้ามากยิ่งขึ้น และในวิกฤติ/ล้มเหลวในชีวิต เราได้เรียนรู้ว่า เราจะเผชิญวิกฤติเหล่านั้นในชีวิตได้ด้วยพระคุณ และ การทรงเสริมพลังชีวิตจากพระกำลังของพระเจ้าอย่างไร

ในฐานะคริสตชน ให้เรา “หยุด” ที่จะรับมือกับความล้มเหลวในชีวิตว่า เป็นเรื่องที่เราจะเอาชนะ  เป็นเรื่องที่เราจะจัดการให้ผ่านพ้นไปให้ได้ เป็นเรื่องที่เราจะต้องทำให้สำเร็จ! แต่ในทุกความล้มเหลวในชีวิตให้เรามองว่า  เป็นเวลาโอกาสที่เราจะได้เรียนรู้จักพระเจ้าดียิ่งขึ้น   อย่าลืมนะครับว่า พระเจ้าทรงสนพระทัยในทุกรายละเอียดของชีวิตแต่ละคน

เราจะอยู่รอดกับงานที่มหาโหดในวันนี้ได้อย่างไร   แล้วจะทำอย่างไรกับการทำให้อ้ายเจ้าตัวเล็กที่บ้าน 3 คนยอมนอนหลับในค่ำคืนนี้?

เราจะทำอย่างไรกับโครงการที่ไม่มีทางทำให้สำเร็จได้?

เราจะทนรับมือกับเหตุการณ์เลวร้ายให้ผ่านพ้นวันนี้ไปได้อย่างไร? 

เมื่อเราต้องประสบกับวิกฤติ และ ความล้มเหลวในชีวิต...  สิ่งดีประการแรกที่เราทำได้คือ   ยอมรับว่าตัวเรากำลังล้มเหลว   อย่าพยายามหาทางเลี่ยง   แล้วโยนให้เป็นความผิดพลาดของคนอื่น  หรือ  “หาแพะ” มารับผิดชอบความล้มเหลวนั้น แต่ตรงกันข้าม เมื่อเรายอมรับความจริงว่าเรากำลังล้มเหลวแล้ว ให้เราหันหน้าเข้าหาพระเจ้า เพื่อแสวงหาการทรงนำของพระเจ้าในวิกฤติชีวิตครั้งนี้   แล้วพึ่งพิงการทรงนำทั้งความคิด มุมมอง เพื่อที่เราจะตัดสินใจด้วยพระปัญญา และ พระกำลังจากเบื้องบน ให้เราตระหนักชัดในความจริงว่า  เพราะชีวิตของเราอ่อนแอ  บาดเจ็บ  และล้มเหลว   ด้วยเหตุนี้เราจึงจำเป็นต้องพึ่งในพระเจ้า ที่จะทรงนำ ทรงประคับประคอง และชี้ช่องทางที่จะออกจากวิกฤติและความล้มเหลวในชีวิตอย่างสร้างสรรค์

สำหรับมุมมองของคริสตชนต่อวิกฤติและความล้มเหลวในชีวิตคือ  หนทางที่เราจะเข้าใกล้ชิดสนิทกับพระเจ้ามากยิ่งขึ้น   และก็ไม่ยอมให้ความล้มเหลวมามีอำนาจครอบงำชีวิตของเรา   แต่เราจะแสวงหาพระปัญญา  พระกำลังของพระเจ้า   ที่จะทรงชี้นำ  หนุนเสริม  เพิ่มพลัง ในการรับมือ และ  ทะลุผ่านวิกฤติและความล้มเหลวในครั้งนั้น ๆ ได้ด้วยพระคุณของพระองค์ เมื่อนั้นเราจะได้ประสบการณ์ และ เกิดการเรียนรู้ถึงพระคุณของพระเจ้าต่อชีวิตของเรา ทำให้เรามีชีวิตที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น

คริสตชนต้องตระหนักเสมอว่า เราไม่ได้รับใช้พระเจ้าที่ทรงสัญญาว่าเราจะประสบความสำเร็จในชีวิตทุกครั้งไป   แต่เรารับใช้พระเจ้าที่ทรงสัญญาว่า  พระองค์อยู่เคียงข้างเราทุกเหตุการณ์ ทุกสถานการณ์ชีวิตเสมอไป   พระองค์ทรงเป็นพระปัญญา และ พระกำลังที่พร้อมอยู่ในทุกสถานการณ์ชีวิตของเรา   ทรงพร้อมอยู่ทั้งในเวลาที่เราสำเร็จ และ ในเวลาที่เราล้มเหลว   ด้วยพระปัญญาและพระกำลังของพระองค์ที่เข้ามาทำงานในชีวิตของเรานี้เอง   ที่เราได้เรียนรู้จักพระองค์ดียิ่งขึ้น   เราเรียนรู้ทางที่จะนำให้เรามีชีวิตที่เข้มแข็งขึ้น   เรียนรู้ว่าพระองค์ทรงเป็นที่พึ่งพิงในทุกมิติชีวิตของเราได้   เป็นพระเจ้าที่เราไว้วางใจได้

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

04 เมษายน 2559

ชื่นชมคนที่นำพระพรมาในชีวิตเรา

มีเรื่องเล่าว่า  มีชายชราคนหนึ่งที่ชอบหนังสือเก่าแก่ที่มีอายุมาก  

วันหนึ่งเขาพบกับเพื่อน...    เพื่อนของเขาคนนี้ได้เอาหนังสือพระคัมภีร์เก่าเล่มหนึ่งที่เคยเก็บไว้ในหีบเก็บของเก่าของตระกูลทิ้งไป    โดยให้เหตุผลถึงการทิ้งว่า  ตอนนี้ตาก็ไม่ดีแล้ว  อ่านก็อ่านไม่ได้   และดูเก่าแก่มาก  เปลืองพื้นที่ในหีบเก็บสมบัติ”  ...  เขาบอกต่อไปว่า...  

“เปิดดูข้างในหนังสือหน้าแรกพิมพ์ไว้ว่า กูเทน... อะไรทำนองนั้น   ฉันจำไม่ได้”

“ไม่ใช่พิมพ์ว่า กูเทนเบอร์กนะ”   ชายชราผู้รักหนังสือเก่าแก่ร้องเสียงหลงขึ้นทันที  เขาอธิบายต่อว่า  “พระคัมภีร์ที่พิมพ์โดยกูเทนเบอร์ก   เป็นพระคัมภีร์พิมพ์ฉบับแรกเลย   และถ้าใครมีพระคัมภีร์ฉบับนี้เขาตั้งราคาเล่มละสองล้านเหรียญ”   แต่ดูเพื่อนของเขาไม่รู้สึกแยแสอะไร   แล้วยังกล่าวขึ้นว่า  “หนังสือเก่าเล่มนั้นขายราคาหนึ่งเหรียญก็ไม่ได้หรอก   ยิ่งกว่านั้น  ใครไม่รู้ที่ชื่อว่า มาร์ติน ลูเธอร์  เขียนอะไรต่อมิอะไรไม่รู้...ด้วยตัวหนังสือหวัดๆ ขยุกขยิก เป็นภาษาเยอรมัน   ดูเลอะเทอะ รกรุงรังทั่วหนังสือทั้งเล่มด้วย”  

ชายชราผู้รักหนังสือเก่าแก่  โอดครวญในใจด้วยความเจ็บปวด   ที่เพื่อนของเขาได้ทิ้งพระคัมภีร์ที่พิมพ์ครั้งแรกในโลก   พร้อมด้วยการข้อบันทึกของ มาร์ติน ลูเธอร์ ผู้นำคนหนึ่งในการปฏิรูปศาสนา   และผู้ทุ่มเทในการแปลพระคัมภีร์จากภาษาดั้งเดิมให้เป็นภาษาเยอรมันเพื่อปุถุชนคนเยอรมันจะมีพระคัมภีร์อ่านในภาษาของตน  

บางครั้งเราไม่รู้ถึงคุณค่าของสิ่งของบางอย่าง หรือ คนบางคน   เพียงเพราะเรามองว่าเป็นของเก่าไร้ค่าไม่เป็นประโยชน์สำหรับเรา หรือ มองว่าเป็นคนธรรมดาสามัญ  ชาวบ้าน  คนต่ำต้อย   จนกว่าสิ่งเหล่านั้น หรือ คน ๆ นั้นถูกทิ้งหรือจากเราไปแล้ว...  

มีบางคนใช่ไหมที่เราพบเห็นเขาทุกเมื่อเชื่อวัน   แต่เราไม่เคยรู้สึกถึงคุณค่าของเขาเลย   ไม่เคยรู้สึกว่าเขาเป็นพระพรในชีวิตของเรา    ไม่เคยรู้สึกขอบคุณเขาในชีวิตของเรา   จนวันหนึ่งเขาตายจากเรา หรือ หายหน้าจากเรา  ไม่ได้พบเขาอีกเลย   แล้วเราเพิ่งมารู้ซึ้งถึงความสำคัญเขา  เขาเป็นพระพรที่มีในชีวิตของเรา   เราท่านเคยพบประสบเหตุการณ์เช่นนี้ไหม

ในวันนี้   อย่ามองข้ามคนที่เราพบเห็นในชีวิต   แต่ให้เราขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับคนเหล่านั้นที่เราพบ   ครอบครัวที่เราอยู่ด้วย   เพื่อนร่วมงานที่เราทำงานด้วย   ทีมงานที่ทุ่มเททำงานด้วยกัน   เพื่อนบ้านที่คอยเอาใจใส่บ้านของเราในเวลาที่เราไม่อยู่ (ทั้ง ๆ ที่เราไม่เคยร้องขอ)   ใครบางคนในหมู่บ้านที่ยิ้มให้กับเราทุกครั้งที่พบเห็น(ทั้ง ๆ ที่ชื่อก็ไม่รู้จัก)   จราจรที่อดทนแหวกว่ายร่ายรำอยู่กลางสี่แยกเพื่ออำนวยให้รถราบนท้องถนนขับไปอย่างเป็นระเบียบทุกเช้าเย็นที่เราผ่านเลยจราจรคนนั้นไปทุกวัน

ทำไมเรามองข้ามคุณค่าของคนเหล่านั้นทั้งที่เขาเป็นพระพรในชีวิตของเรา?

แล้วเราจะมีมิตรภาพและความรัก และรู้สึกขอบคุณต่อคนเหล่านี้ที่มีพระพรในชีวิตประจำวันของเราได้อย่างไร?   เราจะแสดงความชื่นชมในตัวเขา  แทนการละเลย มองข้ามได้อย่างไร?

...จง​หนุน​ใจ​กัน​และ​กัน​ทุก​วัน ตลอด​เวลา​ที่​เรียก​กัน​ว่า วัน​นี้...”  (ฮีบรู 3:13 มตฐ.)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

02 เมษายน 2559

วิตกกังวล...เพราะ เราไม่ไว้วางใจพระเจ้าหรือเปล่า?

เราท่านต่างเคยเกิดความวิตกกังวลขึ้นทั้งนั้น?   ท่านพอจะบอกได้ไหมว่า ความวิตกกังวลคืออะไร?   มันเกิดขึ้นได้อย่างไร?   เมื่อเกิดความวิตกกังวลเราท่านจัดการกับมันอย่างไรบ้าง?   และเกิดผลอย่างไรบ้าง?

ความวิตกกังวลเกิดขึ้นเพราะ  มีบางสิ่งบางเรื่องที่เราไม่รู้ หรือ ไม่มั่นใจว่า มันจะเกิดผลอย่างไร หรือ มันจะ “ออกหัวออกก้อย”  ในขณะที่เรามีความต้องการให้เกิดผลอย่างใจปรารถนาของเรา   แต่ในเวลาเดียวกันเราไม่สามารถที่จะควบคุมหรือจัดการมันให้เกิดผลอย่างที่เราต้องการ   และที่แน่นอนเพราะเราไม่มั่นใจว่าเรามีความสามารถที่จะจัดการควบคุมมันได้มากน้อยแค่ไหน   และสิ่งที่ทำให้ความกังวลวนซ้ำซากในห้วงความนึกคิดและความรู้สึกของเราในเวลานั้นคือความกลัว    กลัวว่ามันจะเป็นต่างไปจากที่ใจเราปรารถนาใช่ไหม?   เรากลัวว่าพระเจ้าจะไม่ทำอย่างที่เราต้องการ...เราจึงวิตกกังวล

เราไม่วางใจในสิ่งดี ๆ และสถานการณ์ที่สร้างสรรค์จากพระเจ้าใช่ไหม?   แต่เราต้องการให้ทุกอย่างเป็นไปตามที่เราต้องการใช่ไหม?    เราไม่ไว้วางใจว่าสิ่งที่พระเจ้าจะทรงกระทำนั้นดีอย่างที่เราปรารถนา...เราจึงวิตกกังวลใช่ไหม?

การวิตกกังวลคือการที่เราไม่ไว้วางใจในพระเจ้า...ใช่ไหม?

พระเยซูคริสต์สอนว่า พระเจ้าทรงจัดเตรียมสิ่งที่จำเป็นในชีวิตผ่านระบบการทรงสร้างของพระองค์   เช่น พระเจ้าสร้างระบบธรรมชาติที่จะเกื้อกูลหนุนเสริมกัน   พระองค์ยกตัวอย่างนกในอากาศที่พระเจ้าทรงสร้าง   พวกมันไม่ต้องทำงาน  ไม่ปั่นด้าย  ไม่มียุ้งฉางเหมือนอย่างที่มนุษย์มี   แต่พวกมันจะได้รับอาหารตามความจำเป็นในชีวิตของมัน   พระเจ้าทรงจัดเตรียมเลี้ยงดูมันผ่านระบบธรรมชาติที่พระองค์ทรงสร้าง   และพระองค์ก็ทรงใส่ใจถึงสิ่งจำเป็นในชีวิต (มัทธิว 6:25-26)
25เพราะ​เหตุ​นี้ เรา​บอก​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ว่า อย่า​กระ​วน​กระ​วาย​ถึง​ชีวิต​ของ​ตน​ว่า​จะ​เอา​อะไร​กิน หรือ​จะ​เอา​อะไร​ดื่ม และ​อย่า​กระ​วน​กระ​วาย​ถึง​ร่าง​กาย​ของ​ตน​ว่า​จะ​เอา​อะไร​นุ่ง​ห่ม ชีวิต​สำคัญ​ยิ่ง​กว่า​อาหาร​ไม่​ใช่​หรือ? และ​ร่าง​กาย​สำคัญ​ยิ่ง​กว่า​เครื่อง​นุ่ง​ห่ม​ไม่​ใช่​หรือ? (มัทธิว 6:25 มตฐ.)

พระเยซูคริสต์บอกให้เราไว้วางใจในการทรงจัดเตรียม และ การเอาใจใส่ของพระเจ้า   เพราะแม้แต่นก และ ดอกไม้ในทุ่ง พระองค์ยังทรงใส่ใจ   แล้วพระเจ้าจะไม่ใส่ใจมนุษย์ยิ่งกว่านั้นหรือ?   กังวลทำไม?   ทำไมท่านไม่ไว้วางใจพระเจ้าล่ะ?  

แล้วจะวิตกกังวลไปทำไม?

แต่ก็แปลกนะครับ  คนเราต่างยังวิตกกังวลอยู่มากมายทั้ง ๆ ที่ผลวิจัยบอกว่า 85% ที่คนเราวิตกกังวลไม่เกิดขึ้นอย่างที่มนุษย์วิตกกังวลกัน   แต่เราก็ยังวิตกกังวลอยู่?

ในสายตามุมมองของพระเยซูคริสต์มองว่า   การวิตกกังวลคือการที่เราบอกกับพระเจ้าว่า  “เราไม่ได้วางใจในพระเจ้าในเรื่องนั้น”   พระเยซูคริสต์กล่าวเปรียบเทียบให้เห็นจริงว่า  28 ท่าน​กระ​วน​กระ​วาย​ถึง​เครื่อง​นุ่งห่ม​ทำไม? จง​พิ​จาร​ณา​ดู​ว่า​ดอก​ไม้​ใน​ทุ่ง​นา​นั้น​เติบ​โต​ขึ้น​อย่าง​ไร มัน​ไม่​ทำงาน มัน​ไม่​ปั่น​ด้าย  29 แต่​เรา​บอก​พวก​ท่าน​ว่า แม้​แต่​กษัตริย์​ซา​โล​มอน​เมื่อ​ทรง​บริ​บูรณ์​ด้วย​ศักดิ์​ศรีก็​ไม่​ได้​แต่ง​พระ​องค์​งาม​เท่า​ดอกไม้​เหล่า​นี้​สัก​ดอก​หนึ่ง...” (มัทธิว 6:28-29 มตฐ.)   การที่เราวิตกกังวลในเรื่องที่ไม่เกิดขึ้นจริงนั่นเป็นความนึกคิดและความรู้สึกที่ “ไม่ใช่เรื่อง”   “ไม่มีเหตุผล”  “ไม่มีเป้าหมาย” ใช่ไหม?   แล้วหลายครั้งที่เราวิตกกังวลเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือที่เราจะจัดการควบคุมเปลี่ยนแปลงได้ แล้วเราวิตกกังวลไปทำไมกัน? ยิ่งกว่านั้น การที่เราวิตกกังวลในเรื่องนั้น เรากำลังบอกพระเจ้าว่า “ข้าพระองค์ไม่มั่นใจในพระองค์ว่า จะจัดการเรื่องนั้นได้”  ใช่หรือไม่?   หรือกลัวว่า พระเจ้าจะไม่ทำให้เป็นไปตามใจปรารถนาของเราหรือเปล่า?

การวิตกกังวลทำให้สูญเสียพลังในการดำเนินชีวิต

การวิตกกังวลไม่สามารถยืดความยาวของชีวิตออกไปแม้แต่นิดเดียว (มัทธิว 6:27) ตรงกันข้ามครับ  การวิตกกังวลกลับทำลายพลังการดำเนินชีวิตของเราให้ลดน้อยถอยลง    แพทย์บอกว่าสำหรับบางคน อาการโรคภูมิแพ้ หรือ มะเร็งที่เพิ่มรุนแรงขึ้นเพราะ เจ้าตัวเกิดความวิตกกังวลมาก  และการวิตกกังวลไปลดพลังของระบบภูมิคุ้มกันในชีวิตของคนนั้น ทำให้ร่างกายอ่อนแอลง  เป็นโอกาสที่เชื้อโรคและความเจ็บป่วยจู่โจมเข้าในชีวิต

การวิตกกังวลไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาให้ดีขึ้น   แต่กลับทำลายพลังการขับเคลื่อนชีวิตให้อ่อนกำลังลง   ความวิตกกังวลกลับกลายเป็นการสร้างปัญหาใหม่เพิ่มขึ้นในชีวิตของคนนั้นมิใช่หรือ?   แล้วเราคิดว่า เมื่อใครคนใดคนหนึ่งที่เกิดการวิตกกังวลในชีวิต  พระเจ้าจะรู้สึกอย่างไรกับคนนั้น   ที่แสดงถึงการไม่ไว้วางใจในการทรงใส่ใจชีวิตของเขา?   ท่านเคยทำอย่างที่ว่านี้กับพระเจ้าไหม?

พระวจนะของพระเจ้าได้สัญญาว่า “พระ​ยาห์​เวห์​จะ​ไม่​ทรง​ปล่อย​ให้​คน​ชอบ​ธรรม​หิว...”  (สุภาษิต 10:3 มตฐ.)   ท่านจะไว้วางใจพระเจ้าในเรื่องนี้ได้ไหม?   ท่านเชื่อในพระวจนะของพระองค์หรือไม่?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499