27 มิถุนายน 2559

ทำงานด้วยความเข้าอกเข้าใจคนอื่น!

เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่าน   ผมได้รู้จักองค์กรหนึ่งเป็นอย่างดี   เป็นที่รู้กันในองค์กรนั้นว่า  ลัดดา(นามสมมติ) เป็น นักการเงินการบัญชีตัวยงหาตัวเปรียบยาก   แต่เธอกลับอ่อนด้อยในทักษะด้านความสัมพันธ์กับผู้คน   และในเวลาเดียวกันก็ไม่เห็นทางที่เธอจะได้รับการเลื่อนขั้นหน้าที่ตำแหน่งการงานในระดับที่สูงขึ้นได้

หลายคนที่ไต่เต้าถึงตำแหน่งระดับหนึ่งจากความสามารถทักษะเฉพาะด้านที่เขามีอยู่อย่างเยี่ยมยอด   แต่เพราะขาดการพัฒนาทักษะความสัมพันธ์กับคนทำงานในทีม   ทำให้ทำงานร่วมกับคนอื่นด้วยความยากลำบาก   ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะเธอมีท่าทีที่ไม่สนใจความรู้สึกของทีมงาน   เธอทำงานแบบ “หัวสี่เหลี่ยม” ตามหลักการความรู้และกรอบงานที่เธอรับผิดชอบเป็นมาตรฐานในการทำงานทุกด้าน และ ในความสัมพันธ์กับผู้คน   เธอจะเรียกร้องให้ทุกคนต้องเตรียมหลักฐานเอกสารครบถ้วนตามหลักการของเธอ   เธอดูเหมือนว่าไม่เคยฟังคนอื่นอย่างตั้งใจและใส่ใจ   เธอขาดความอดกลั้น  ไม่อดทน  ไม่ผ่อนปรน ซึ่งรวมถึงในวิธีการทำงานด้วย

ท่านมีเพื่อนร่วมงานในลักษณะนี้ไหม?   หรือท่านอาจจะมีลักษณะอย่างลัดดาก็ได้นะ?

คนทำงานที่อ่อนด้อยทักษะการสัมพันธ์กับผู้คนมักจะต้องพบกับความขัดแย้งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น   และนี่สร้างความอ่อนล้าระอาใจ และ ความเครียดสำหรับทุกคนที่เกี่ยวข้อง   และยังสามารถที่จะทำลายให้แผนงานที่วางไว้อย่างดีต้องเสียหาย ล้มเหลวได้

เป็นที่แน่ชัดว่า  เราท่านอาจจะมั่นใจว่า  เราสามารถพัฒนาเทคนิค ทักษะ การทำงานใหม่ ๆ  และ เสริมเพิ่มความรู้ผ่านการฝึกอบรมและประสบการณ์งาน    แต่ในเวลาเดียวกัน ความจริงประการหนึ่งคือ  “คุณเป็นอย่างที่คุณเป็น”  ในด้านเกี่ยวกับทักษะความสัมพันธ์กับผู้คน   แล้วเราจะทำอย่างไรในเรื่องนี้ล่ะ?

จริงยิ่งกว่าจริง   จุดเริ่มพัฒนาทักษะความสัมพันธ์กับผู้คนที่น่าจะดีที่สุดคือ  การพัฒนาความสามารถที่จะ “ความเข้าอกเข้าใจ” คนอื่น

การเข้าอกเข้าใจนั้นเป็นอย่างไร?

การเข้าอกเข้าใจคือ  การที่เรารู้จักเท่าทันถึงอารมณ์ความรู้สึกของคนอื่น   และสามารถที่จะ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา”  กล่าวคือเข้าใจถึงมุมมองของคนอื่น  บริบท  หรือสถานการณ์จริงในชีวิตที่เขากำลังเผชิญอยู่

การที่เราจะมีความเข้าอกเข้าใจคนอื่น   แน่นอนครับ เราต้องคิดมากกว่าที่คิดถึงตนเอง และ คิดแต่สิ่งที่เราสนใจเท่านั้น   เมื่อเราสามารถที่จะมองกว้างและไกลกว่า “โลกของตนเอง” เราก็จะพบความจริงว่า ยังมีความจริงของโลกที่มากกว่า กว้างกว่า ซับซ้อนกว่าโลกของเราเอง  แล้วเราอาจจะทึ่งว่าเขาจะจัดการอย่างไรกับสิ่งเหล่านั้นในชีวิตของเขา

คนที่ถูกตีตรากล่าวหาว่า  เป็นคนที่สนใจแต่ตนเอง เป็นคนเห็นแก่ตัว  มักเป็นคนที่ขาดมุมมองที่เป็นภาพใหญ่ของชีวิตและเหตุการณ์ของผู้คนที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย   เขามองและใส่ใจที่ตนเองเท่านั้น  ทั้ง ๆ ที่เขาจะต้องมีชีวิตและปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้างที่แตกต่างจากเขามากมายหลายคน

ถ้าเราถูกเรียก ถูกตั้งฉายา หรือ ถูกกล่าวถึงว่าเป็นคนที่มีลักษณะอย่างที่กล่าวข้างต้น  อาจจะเป็นโอกาสที่เราจะต้องเตือนตนเองว่า  เรายังต้องอยู่และทำงานกับผู้คนมากมาย  และเราไม่สามารถที่จะหลบลี้หนีซ่อนจากผลกระทบที่มาจากคนเหล่านั้นที่มีต่อตัวเราเองแน่    และมากยิ่งกว่าเพียงการยอมรับความจริงสิ่งเหล่านี้เท่านั้น  แต่เรายังต้องเสริมสร้างสัมพันธภาพ และ เข้าอกเข้าใจคนล้อมรอบที่เราต้องมีปฏิสัมพันธ์   แทนที่จะยืนหยัดบนจุดยืนของตนแต่เพียงคนเดียว

ใช้ความเข้าอกเข้าใจคนอื่นอย่างมีประสิทธิภาพ
การเริ่มใช้ความเข้าอกเข้าใจอย่างมีประสิทธิภาพสูง  ให้เราพิจารณาประเด็นต่อไปนี้

1. “ละแล้ววาง” มุมมองทัศนคติของท่านเองลงก่อน   แล้วพยายามมองสิ่งต่าง ๆ จากมุมมอง แง่มุม หรือ ทัศนคติของคนอื่นบ้าง
ถ้าเราทำเช่นนี้   เราจะรู้และสำนึกว่า คนอื่นไม่ได้เป็นคนเลวร้าย  ไม่ดี  งี่เง่า  หรือ เป็นคนที่ไร้เหตุผล   สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพียงปฏิกิริยาที่เขาตอบโต้ต่อสถานการณ์นั้น ๆ ตามข้อมูล ความรู้ และสถานการณ์ที่เขารับรู้เท่านั้น

2. เห็นความมีเหตุมีผลในมุมมอง หรือ การรับรู้ของคนอื่น
เมื่อเรา “เข้าอกเข้าใจ” ถึงความเชื่อของคนอื่นว่า ทำไมเขาถึงเชื่อถึงคิดเช่นนั้น  ทำให้เรารับรู้ เรายอมรับ   ในที่นี้เราต้องชัดเจนว่า  “การรับรู้และการยอมรับ”  ไม่ได้หมายความว่า “เราเห็นด้วย”   เราสามารถยอมรับความเห็นต่างของเพื่อนร่วมงานคนนั้นว่าแตกต่างจากความคิดเห็นของเรา   และเขาคงมีเหตุผลที่ดีที่เขามีความคิดความเห็นเช่นนั้น

3. ตรวจสอบ รู้เท่าทันทัศนะมุมมองของตนเอง
เรายังต้องการดำเนินไปตามเส้นทางความเข้าใจของตนเอง  เรายังต้องการเป็นฝ่ายชนะ  หรือ เรายังต้องการเป็นผู้ที่ถูกต้องหรือไม่?   หรือ สิ่งสำคัญประการแรก เราต้องการทางออก  เสริมสร้างความสัมพันธ์  และการยอมรับคนอื่นใช่ไหม?   ถ้าเราไม่ยอมเปิดจิตใจ ความคิด และมุมองทัศนคติของเรา   เราอาจจะไม่มีพื้นที่ว่างในชีวิต/อารมณ์/ความรู้สึก พอสำหรับการเข้าอกเข้าใจคนอื่น

4. ฟังอย่างใส่ใจ
ตั้งใจฟังถึงเนื้อหา/เรื่องราว/ความรู้สึก ที่คนรอบข้างพยายามจะสื่อสารกับเรา
©       ฟังด้วยหู:  เขาคนนั้นกำลังพูดอะไรนะ?   ด้วยน้ำเสียงแบบไหน?
©       ฟังด้วยตา:  เขาคนนั้นกำลังมีท่าที หรือ ทำอะไรในขณะที่กำลังพูด?
©       ฟังด้วยสัญชาตญาณ:  เรารู้สึกหรือไม่ว่า เขาคนนั้นกำลังสื่อสารในสิ่งที่เป็นสาระหรือเรื่องที่สำคัญหรือไม่?
©       ฟังด้วยใจ:  เราคิดว่าคน ๆ อื่นกำลังรู้สึกอย่างไร?

5. ถามถึงสิ่งที่คน ๆ นั้นจะทำ
เมื่อยังสงสัย ให้เราขอเขาอธิบายถึงหลักคิดจุดยืนของเขาในเรื่องนั้น   วิธีนี้อาจจะเป็นวิธีธรรมดา และ ตรงไปตรงมาที่สุดที่จะช่วยให้เราเข้าอกเข้าใจคนอื่น   แต่กลับเป็นวิธีการที่จะพัฒนาความเข้าอกเข้าใจได้น้อยที่สุด  ดังนั้น  การถาม หรือ ขอเขาช่วยอธิบายเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยให้เราเข้าใจเพื่อนร่วมทีมคนนั้นได้อย่างดี

อาจจะเป็นการดีถ้าเราจะถามถึงสิ่งที่คนนั้นต้องการ  แต่เราจะไม่ได้คำตอบหรือคำอธิบายที่มากกว่าคำตอบถึงสิ่งที่เขาต้องการ   เราจะไม่ได้ข้อมูลที่จะนำมาพิจารณาไตร่ตรอง   แต่การถามถึงความคิด  ความรู้สึกของเขาในความต้องการ หรือ ความกังวลในเรื่องดังกล่าวด้วยจะช่วยให้เรามีข้อมูลที่จะใช้ไตร่ตรองถึงความต้องการด้วยความลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น

ตัวอย่างเช่น  หัวหน้าคนหนึ่งเอาคูปองแลกไก่ย่าง 5 ดาวแจกให้กับลูกน้องในทีม   สำหรับวันขึ้นปีใหม่   เพราะหัวหน้ารู้ว่าทีมงานหนุ่มสาวของเขาไม่ได้ทำอาหารรับประทานเอง   นี่เป็นความคิดของหัวหน้าว่าเป็นการให้ของขวัญปีใหม่ที่จะเป็นประโยชน์และเข้าท่าที่สุด...   แต่นี่ไม่ใช่ความคิดของลูกน้อง (แต่ถ้าต้องการรู้ความคิดลูกน้องเขาต้องถาม)

การที่เราใช้ทักษะที่มีปฏิสัมพันธ์บ่อย ๆ หรือเป็นประจำกับคนอื่น   เราจะค่อย ๆ สร้างความใส่ใจต่อผู้อื่นให้เกิดขึ้นในตัวเรามากขึ้น  และสามารถเข้าถึงคนอื่นได้ดียิ่งขึ้น  ทั้งนี้เพราะเราเสริมเพิ่มความสนใจของเราในคนอื่นว่า เขาคนนั้นมีความรู้สึก และมีประสบการณ์ชีวิตเช่นไรบ้าง  

นี่เป็นของขวัญอันล้ำค่าที่เราเต็มใจและตั้งใจที่จะมองโลกจากมุมมองที่หลากหลายของผู้คนต่าง ๆ ที่เราเกี่ยวข้องด้วย   และเป็นของขวัญชีวิตที่เราสามารถใช้ในทุกเวลา และ ในทุกสถานการณ์

ประเด็นที่น่าสนใจในการสนทนาอย่างเข้าอกเข้าใจ
©       มิเพียงสนใจแต่เรื่องที่เขาพูด   แต่ให้ใส่ใจในท่าทาง (ภาษากาย) และ สิ่งที่อยู่ในใจ  ในสิ่งที่สื่อสาร หรือ ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
©       ฟังอย่างใส่ด้วยความระมัดระวัง  และบันทึกสิ่งที่เป็นคำ หรือ ประโยคสำคัญที่เขาพูด
©       กระตุ้นให้สนทนาในประเด็นหลัก/สำคัญของการสนทนาในครั้งนั้น
©       ให้เรายืดหยุ่น   เตรีมพร้อมที่อาจจะต้องเปลี่ยนไปตามแนวทาง/ทิศทางในการสนทนาตามความคิดและความรู้สึกของผู้ที่เราสนทนาด้วย
©       แสวงหาโอกาสที่จะไปสู่เป้าหมาย

หลักคิด
การพัฒนาความเข้าอกเข้าใจ เป็นความพยายามที่สำคัญยิ่งในการที่เราจะพัฒนาทักษะความสัมพันธ์กับผู้คน   เมื่อเราเข้าอกเข้าใจคนอื่น  ก็เป็นโอกาสที่คนอื่นต้องการที่จะเข้าใจในตัวเรา   และนี่คือจุดที่เราสามารถเริ่มต้นสร้างความร่วมไม้ร่วมมือ และ การทำงานอย่างเป็นทีมที่เหนียวแน่นขึ้น

เรียบเรียงจาก  MindTools.com

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

19 มิถุนายน 2559

เมื่อผู้นำสูญเสียความไว้วางใจจากผู้ตาม

ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ย่อมรู้ค่าราคาของความไว้วางใจที่เขาได้รับ
และเขาทำทุกวิถีทางที่จะปกป้องรักษามันไว้

การสูญเสียที่สำคัญยิ่งใหญ่สำหรับผู้นำคือ เมื่อเขาสูญเสียความนิยมยอมรับและความไว้วางใจจากผู้คนที่เขานำ   เป็นการยากลำบากอย่างยิ่งที่ผู้นำคนนั้นจะเรียกความไว้วางใจ หรือ ความเชื่อมั่นคืนมาใหม่

ขอตั้งข้อสังเกตว่า ยิ่งเป็นผู้นำยาวนานแค่ไหน   เป็นการง่ายที่ผู้นำคนนั้นจะสูญเสียความไว้เนื้อเชื่อใจจากคนที่เขานำมากขึ้นแค่นั้น  ยิ่งในยุคปัจจุบัน  สำหรับผมแล้วดูเหมือนว่า  ผู้คนมีความสงสัยในตัวผู้นำมากยิ่งกว่ายุคสมัยที่ผ่านมา

แล้วอะไรล่ะ ที่เป็นสาเหตุให้ผู้นำสูญเสียความไว้วางใจจากคนที่เขานำ   คงมีหลายสาเหตุด้วยกัน   ขอกล่าวถึง 9 สาเหตุที่ผู้นำสูญเสียความไว้วางใจจากคนที่เขานำ

1.  ทำงานแบบลวก ๆ:  
บางครั้งเมื่องานประดังทับถมจนล้นมือที่จะรับไว้  หรือ บางครั้งเกิดความเบื่อหน่ายในงานที่ทำ   มีแนวโน้มที่เราจะทำแบบลวก ๆ หรือ ทำให้เสร็จ   เราละเลย ไม่ใส่ใจ หรือ ไม่ระมัดระวังหลักการในการเป็นผู้นำที่ดีที่เรารู้   เราทำผิดพลาดมากกว่าปกติ   คนอื่นรอบข้างมองว่า เราไม่สนใจในงานที่กำลังทำ  คนรอบข้างเริ่มสงสัยในตัวเรา

ประเด็นท้าทาย:  ลดความรีบเร่ง เร่งด่วนในการทำงานลง แบ่งความรับผิดชอบในงานที่ทำ  ขอให้เพื่อนร่วมงานช่วยตรวจสอบความถูกต้อง

2.  ใช้อำนาจเผด็จการผ่านอีเมล์:
ในยุคความทันสมัยที่สื่อสารด้วยระบบดิจิตอล   โดยเฉพาะในการใช้อีเมล์  อีเมล์มักสร้างความเข้าใจผิดได้บ่อย   มักสร้างความเข้าใจที่สับสน  บางครั้งถูกใช้เป็นเครื่องมือในการตอบสวนกลับ แก้เผ็ด   ทำให้เกิดความกลัว   การกระทำแบบนี้เป็นภาวะผู้นำที่ไม่เป็นกันเองกับผู้ที่เราสื่อสาร   เมื่อผู้นำเลี่ยงการสื่อสารแบบปรึกษาสนทนาต่อกัน   ซึ่งเป็นการจัดการงานแบบสัมพันธ์ตรง   เมื่อนั้นผู้นำเริ่มสูญเสียความชื่นชอบยอมรับ แล้วนำไปสู่ความสูญเสียความไว้วางใจจากเพื่อนร่วมงาน

ประเด็นท้าทาย:  ในเรื่องที่มีสาระสำคัญ และมีเรื่องความถูกต้องชัดเจนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย   บางครั้ง เราจำเป็นที่จะต้องยกหูโทรศัพท์ปรึกษา หรือ นัดหมายเวลาที่จะพบปะพูดคุยกัน

3.  ผู้นำหายตัว...ไม่รู้ไปอยู่ไหน
เมื่อผู้นำมีงานความรับผิดชอบมากมาย   และบางครั้งต้องการที่จะแยกหรือเก็บตัวเพื่อสามารถจัดการกับงานรับผิดชอบนั้นให้สำเร็จลุล่วง   ถ้าผู้นำไม่ระมัดระวัง   แทนที่จะเลี่ยงออกไปทำงานให้เสร็จ   เพื่อที่จะได้งาน   แต่ผู้นำกลับถูกมองว่า “หายตัวไปไหนไม่รู้” ทำให้คนรอบข้างเข้าใจได้ว่า  ผู้นำคนนี้ไม่สนใจในงานที่เขาต้องรับผิดชอบ   เป็นผู้นำที่ไม่ทุ่มเท   มีความอ่อนแอในการนำในสายตาของทีมงาน

ประเด็นท้าทาย:  แสดงตารางเวลาการทำงานของตนให้ทีมงานสามารถรับรู้ชัดเจน  เป็นช่องทางให้สามารถสื่อสารกับทีมงานสม่ำเสมอ

4.  พูดเอาใจทีมงาน
ทุกคนต้องการคนชอบและชื่นชมตน   ถ้าผู้นำไม่ระมัดระวัง  แล้วไปพูดชื่นชมในสิ่งที่ทีมงานต้องการได้ยิน  ทั้ง ๆ สิ่งนั้นไม่ถูกต้อง   การพูดชื่นชอบทีมงานแบบนี้ทำให้เราสูญเสียความไว้วางใจจากคนในทีมงานที่พยายามทำในสิ่งที่ถูกต้อง

ประเด็นท้าทาย:  เป็นคนที่จริงใจ โปร่งใส  พูดเรื่องต่าง ๆ ด้วยความรัก  และไม่พยายามสื่อสารในสาระที่มีความหมายแอบแฝงซ่อนเร้น   จริงก็ว่าจริง ไม่ก็ว่าไม่

5.  ผู้นำแบบ “รู้แล้ว...รู้แล้ว”
ผู้นำสูญเสียความชื่นชอบและไว้วางใจเมื่อผู้นำตัดสินใจเองทุกเรื่อง   ทั้งนี้ผู้นำทึกทักเอาว่าตนเองรู้ทุกอย่าง  ตนเองมีคำตอบสำหรับทุกเรื่องแล้ว  ไม่จำเป็นต้องถามต้องปรึกษาคนในทีมงาน   ไม่มีอะไรที่ตนต้องเรียนรู้  เพราะเขามั่นใจว่าตน “รู้แล้ว” ทุกเรื่อง  เพื่อนร่วมงานในทีมจะรู้สึกด้อยค่า  และเขายังรู้สึกว่า เขาไม่ได้อยู่และทำงานเพื่อความคาดหวังของคนอื่น   แต่เขาเองมีค่าและมีความคาดหวังในที่ทำงานด้วย   ผู้คนในทีมจะมองว่า ผู้นำคนนี้หยิ่งผยอง

ประเด็นท้าทาย:  บางครั้งเราในฐานะผู้นำเราอาจจะไม่มีคำตอบในเรื่องนั้นอย่างแท้จริง   นี่เป็นความจริงที่เป็นธรรมดามิใช่หรือ  จำเป็นด้วยหรือที่ผู้นำจะต้องรู้ไปเสียทุกเรื่อง   เมื่อเรายังไม่รู้และไม่มีคำตอบให้เราเงียบและฟังจะดีไหม   โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรื่องนั้นมิใช่เรื่องคอขาดบาดตายต่อองค์กร   เปิดโอกาสให้คนในทีมได้ช่วยกันให้คำตอบ   ให้ทีมงานได้แสดงศักยภาพ ความรู้ และแสดงออกถึงภาวะผู้นำทางความคิด    แต่มิใช่ให้คนใดคนหนึ่งพูดอยู่คนเดียว

6.  เหยียดคุณค่างานของคนอื่นให้ด้อยลง
ในฐานะผู้นำองค์กร   บางครั้งเรามีความคิด “ภาพใหญ่” ขององค์กร   จนบางครั้งเราลืมที่จะให้ความสนใจถึงความคิดดี ๆ ของเพื่อนร่วมงานที่เสนอขึ้นมา   ผู้นำล้มเหลวที่จะเรียนรู้ รับรู้ และชื่นชมในความคิดที่มีคุณค่าของผู้ร่วมทีมงานคนนั้นและความสำเร็จของเขา

ประเด็นท้าทาย:  โปรดระมัดระวัง  จงเป็นผู้นำที่มีความรู้สึกไวที่จะเห็นและได้ยินถึงความคิดที่มีคุณค่าและความสำเร็จของผู้ร่วมงานในทีม   พร้อมทั้งแสดงความยินดีชื่นชมในสิ่งดี ๆ ของแต่ละคนในทีมที่ทำให้เกิดความสำเร็จแก่ทีมงาน

7.  อ่อนด้อยความกล้าหาญ
เราไม่สามารถเป็นผู้นำโดยไม่กล้าที่จะเสี่ยง   เมื่อผู้นำขาดความกล้าหาญ   ผู้ร่วมทีมย่อมต้องมุ่งมองหาใครคนอื่นบางคนที่จะนำพวกเขาไปให้ถึงที่ ๆ เขายังไม่รู้จัก

ประเด็นท้าทาย:  จงยืนมั่นบนความเชื่อศรัทธาของท่าน   และก้าวเดินไปข้างหน้าด้วยเชื่อมั่นว่า  พระเจ้าทรงอยู่ข้างหน้าเราและกำลังกระทำพระราชกิจเพื่อให้เกิดสิ่งดียิ่งแก่ทีมงานของเรา

8.  บุคลิกที่ลื่นไหล พลิกพลิ้ว
การที่ใครคนใดคนหนึ่งจะเป็นผู้นำได้   คน ๆ นั้นจะต้องได้รับความไว้วางใจจากทีมงาน  และต้องเป็นความไว้วางใจแบบไม่สั่นคลอน หวั่นไหว หรือ โอนเอน และชื่อเสียงของผู้นำเป็นสิ่ง “บอบบาง” (แตกหักง่าย)   คนรอบข้างมักประเมินผู้นำคนนั้น  ที่ความเข้มแข็งทางใจและคุณธรรมของผู้นำ   เช่น  ความสัตย์ซื่อและเป็นคนที่มีคุณธรรมย่อมเป็นคุณลักษณะสำคัญเหนือบุคลิกภาพอื่น ๆ และตำแหน่งที่เขามีอยู่ในเวลานั้น   การที่ผู้นำเป็นผู้ที่มีความสัตย์ซื่อและคุณธรรมเป็นตัวตัดสินว่าผู้นำคนนั้นจะได้รับการยอมรับ ชื่นชอบ  และความไว้วางใจจากทีมงานหรือไม่

ประเด็นท้าทาย:  “จง​ระ​แวด​ระ​วัง​ใจ​ของ​เจ้า​ยิ่งกว่า​สิ่ง​อื่น​ใด   เพราะ​ทุก​สิ่ง​ที่​เจ้า​ทำ​ออก​มา​จาก​ใจ” (สุภาษิต 4:23 มตฐ.)  ให้ผู้นำทำสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่ดี และ มีวินัยชีวิตที่จะหลีกเลี่ยงอำนาจแห่งการทดลองชีวิตในลักษณะต่าง ๆ

9.  หยิ่งยโส อหังการ
ไม่มีสิ่งใดที่จะทำให้ผู้นำต้องสูญเสียการยอมรับ และ ไว้วางใจอย่างรวดเร็วเท่ากับ การเป็นผู้นำที่หยิ่งยโส อหังการ  คุยโตโอ้อวด (ขี้คุย)   ถ้าทีมงานใดมีผู้นำแบบนี้   ลูกทีมมักไม่พูดอะไรมาก  แต่ปล่อยให้ผู้นำคนนั้นชื่นชมความเก่งกาจของตนไปคนเดียว

ประเด็นท้าทาย:  ผู้นำจะต้องถ่อม   และถ้าผู้นำคนใดไม่รู้ว่าตนจะถ่อมได้อย่างไร  ทูลถามพระเจ้าและทูลขอพระองค์ช่วยให้ท่านเป็นคนที่ถ่อมลง  พระเจ้าช่วยท่านได้   และนี่น่าจะเป็นทางออกสำหรับผู้นำที่ทุกครั้งต้องการที่จะเป็นผู้นำที่ถ่อม

ไม่มีผู้นำคนใดที่ต้องการสูญเสียการยอมรับ  ชื่นชอบ  และการไว้วางใจจากทีมงานของตน   ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ย่อมรู้ซึ้งในความสำคัญยิ่งของ “ความไว้วางใจ” ที่ทีมงานให้กับตน และ ทุ่มเททำงานหนักเพื่อบรรลุความสำเร็จ


เรียบเรียงจาก ข้อเขียนของ Ron Edmondson,  Churchleader.com


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

13 มิถุนายน 2559

ชีวิตนิรันดร์...ตามความหมายของพระเยซูคริสต์

น่าสังเกตว่า   ผู้เชี่ยวชาญทางธรรมบัญญัติอยากจะรู้ว่า   ตนเองต้องทำอย่างไรบ้างถึงจะได้ชีวิตนิรันดร์  จึงมาถามพระเยซูว่า... “ท่าน​อาจารย์  ข้าพเจ้า​จะ​ต้อง​ทำ​อะไร​เพื่อ​จะ​ได้​รับ​ชีวิต​นิรันดร์?

แต่พระเยซูตอบกลับเขาในสิ่งที่เขาเชี่ยวชาญ คือ... “ใน​ธรรม​บัญญัติ​เขียน​ว่า​อย่างไร? ท่าน​อ่าน​แล้ว​เข้าใจ​อย่างไร?”   ผู้เชี่ยวชาญธรรมบัญญัติตอบได้อย่างฉะฉานว่า   ถ้าจะได้ชีวิตนิรันดร์เขาจะต้องปฏิบัติตามธรรมบัญญัติสำคัญยิ่งสองประการคือ   รักพระเจ้าด้วยสุดจิตสุดใจ  สิ้นสุดความคิด  สิ้นสุดกำลัง   นั่นหมายความว่าต้องรักพระเจ้าด้วยสิ้นสุดทั้งชีวิตของเขา   และจะต้องรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง   พระเยซูคริสต์ตอบเขาว่า   สิ่งที่เขาว่ามาทั้งหมดถูกต้อง   และถ้าต้องการมีชีวิตนิรันดร์ให้ดำเนินชีวิตตามบัญญัติใหญ่สองประการดังกล่าว  

ในที่นี่พระเยซูคริสต์เน้นว่า  ให้ทำตามสิ่งที่ตนรู้และเข้าใจ!   ความรู้เท่านั้นไม่เพียงพอ  การได้อ่านร้อยครั้งพันรอบ  การท่องจำได้ไม่สามารถมีชีวิตนิรันดร์ได้   แต่การกระทำ หรือ ดำเนินชีวิตตามพระบัญญัติของพระเจ้าที่ทำให้ชีวิตของคน ๆ นั้นได้รับการเปลี่ยนแปลง พัฒนา และเสริมสร้างเป็นชีวิตนิรันดร์

ถ้าต้องการได้ชีวิตนิรันดร์ต้องเป็นชีวิตที่กระทำตามพระบัญญัติ   ไม่ใช่เพียงรู้พระบัญญัติ!   รับบัพติศมาเท่านั้น  ไปโบสถ์วันอาทิตย์เท่านั้น   ฟังเทศน์เท่านั้นไม่เพียงพอ   แต่ชีวิตนิรันดร์คือชีวิตที่ได้รับการเปลี่ยนแปลง  พัฒนา  และเสริมสร้างให้เป็นชีวิตตามพระประสงค์ของพระเจ้า  คือรักพระองค์ด้วยทั้งชีวิต และ รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง

โดนคำตอบแบบตรงไปตรงมาของพระเยซูแบบนี้   ท่านผู้เชี่ยวชาญทางธรรมบัญญัติถึงกับเสียหน้า   เพราะเป็นที่รู้กันทั้งประชาชนและสำนึกในตนเองว่า   เขาเชี่ยวชาญในการรู้และใช้ธรรมบัญญัติในการตัดสินคนอื่น   แต่ไม่ได้มีชีวิตที่ปฏิบัติตามธรรมบัญญัติ 

เสียหน้าอย่างยิ่งครับ!

แต่ผู้เชี่ยวชาญธรรมบัญญัติคนนี้ไม่ยอมลดราวาศอก   เขาต้องการรุกคืบเอาชนะพระเยซูบ้าง?   จึงตั้งคำถามว่า  “แล้วใครคือเพื่อนบ้านของข้าพเจ้า?”

พระเยซูไม่ตอบโต้นักชำนาญการธรรมบัญญัติคนนั้นด้วยการใช้ตรรกะที่เขาชำนาญ   แต่พระเยซูคริสต์กลับเล่าเรื่องราวของชายสะมาเรียคนหนึ่งแทน   ทั้งนี้เพื่อชาวบ้านสามัญชนจะเข้าใจและเข้าถึงความหมายอย่างลึกซึ้ง   ประเด็นแสนแสบในเรื่องนี้คือ
  • คนที่รักเพื่อนบ้านของตนในเรื่องคือ  ศัตรูคู่อาฆาตที่พวกยิวดูหมิ่น...คนนั้นเป็นชาวสะมาเรีย
  • คนที่เป็น “เพื่อนบ้าน” ที่ต้องการความช่วยเหลือ   กลับเป็นคนยิว  
  • แสบกว่านั้น  คนยิวด้วยกันเองที่มีตำแหน่งสูงทางศาสนา   ที่รู้ว่าควรจะมีชีวิตตามธรรมบัญญัติอย่างไร  ทั้งปุโรหิต และ เลวี กลับหลบเลี่ยง  ข้ามฟากไปเดินเสียอีกฟากหนึ่งของถนน


เรื่องอุปมานี้กลับมาตอกย้ำซ้ำเติมลงที่แผลเดิมในชีวิตคือ  รู้แต่ไม่ยอมทำ!   แต่ที่น่าเจ็บแสบกว่านี้คือ   คนที่เขาเกลียดเหยียดหยามคือชายสะมาเรียกลับเป็นคนที่ “รักเพื่อนบ้าน”  เขารักคนยิวคนนั้นที่ถูกปล้นและถูกทำร้ายจนปางตายด้วยการลงมือกระทำ  ด้วยการช่วยจากสิ่งที่เขามีในเวลานั้น
  • เข้าไปหาคนนั้น  
  • เอา​เหล้า​องุ่น​กับ​น้ำมัน​เท​ใส่​บาด​แผล​
  • เอา​ผ้า​มา​พัน​ให้
  • แล้ว​ให้​เขา​ขึ้น​ขี่​สัตว์​ของ​ตน​เอง​ (ส่วนตนเองกลับลงมาจูงลาที่เป็นพาหนะของตน)
  • พา​มา​ถึง​โรง​แรม และ​ดู​แล​รักษาพยาบาล
  • เอา​เงิน​สอง​เดนา​ริ​อัน​ให้​กับ​เจ้า​ของ​โรง​แรม และ ขอช่วยดูแลคนยิวที่ถูกโจรปล้น
  • กลับมาติดตามดูแลรับผิดชอบจนถึงที่สุด


ขอตั้งข้อสังเกตว่า   ชายสะมาเรียที่รักเพื่อนบ้านที่เป็นยิว   เป็นการ “รักเพื่อนบ้าน”  ในชีวิตประจำวัน   ในเวลาที่กำลังทำกิจธุระ/อาชีพในแต่ละวัน   ไม่ใช่รักเพื่อนบ้านด้วยการทำโครงการการประกาศฯ   ไม่ใช่รักเพื่อนบ้านเพราะเราได้รับการสนับสนุนทุนจากแหล่งทุน   ชายสะมาเรียเขาใช้ทรัพยากรที่เขามีในการช่วยเหลือเพื่อนบ้านชาวยิวที่ปางตายคนนั้น   และ ที่สำคัญประการหนึ่งคือ   การรักเพื่อนบ้านคือการรับใช้เพื่อนบ้าน   ในเรื่องนี้ชายสะมาเรียยอมลงจากหลังลาของตนเอง   แล้วให้ชายยิวนั่งบนหลังลา   และตนจูงลานั้นเข้าเมืองจนถึงโรงแรม   เขารักเพื่อนบ้านชาวยิวคนนี้ด้วยการยอมถ่อมรับใช้ชาวยิวที่ปางตาย

ประการสุดท้าย   การรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง   เริ่มต้นที่มีใจเมตตา   เริ่มจากการเกิดใจสงสาร (ข้อ 33, 37)   ทำให้ระลึกถึงคำสอนของพระคริสต์ที่ว่า   “พวก​ท่าน​จง​เป็น​คน​ดี​พร้อม เหมือน​อย่าง​ที่​พระ​บิดา​ของ​ท่าน ผู้​สถิต​ใน​สวรรค์​ทรง​ดี​พร้อม (ข้อ 48)...ที่ทรง​ให้​ดวง​อาทิตย์​ของ​พระ​องค์​ขึ้น​ส่อง​สว่าง​แก่​คน​ดี​และ​คน​ชั่ว​เสมอ​กัน และ​ให้​ฝน​ตก​แก่​คน​ชอบ​ธรรม​และ​คน​อธรรม” (ข้อ 45)

แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ   พระเยซูคริสต์ตรัสว่า ท่าน​จง​ไป​ทำ​เหมือน​อย่าง​นั้น”

พระคริสต์ตรัสกับเราแต่ละคนว่า  ท่าน​จง​ไป​ทำ​เหมือน​อย่าง​นั้น” ในวันนี้   ท่ามกลางงานชีวิตประจำวัน   และด้วยสิ่งที่ท่านมีอยู่   ด้วยใจเมตตา   และนี่คือจุดเริ่มต้นของชีวิตนิรันดร์   ด้วยชีวิตที่รักพระเจ้าทั้งชีวิต และ รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

06 มิถุนายน 2559

ท่านมีสิทธิ์... เลือกที่จะจำสิ่งดี ๆ ได้

พระธรรมฟีลิปปีเป็นจดหมายที่เปาโลเขียนถึงคริสตจักรที่ได้ตั้งขึ้น   โดยเริ่มต้นใช้บ้านของลิเดียเป็นสถานที่นมัสการพระเจ้าร่วมกันกับกลุ่มสตรีที่สนใจและเชื่อที่อยู่ในเมืองนั้น   ยิ่งกว่านั้น ชุมชนคริสตจักรแห่งนี้ยังมีส่วนช่วยสนับสนุนเปาโลในการทำงานประกาศข่าวดีของพระเยซูคริสต์ในที่ต่าง ๆ อีกด้วย  

แท้ที่จริงแล้ว  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแก่เปาโลครั้งเมื่อไปประกาศที่เมืองฟีลิปปีมีเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่น่าฝังแน่นในความทรงจำของเปาโล   คริสตจักรฟีลิปปีตั้งขึ้นด้วยความทุกข์ยาก ลำบากและเจ็บปวดในชีวิตของเปาโล   เมื่อเปาโลเริ่มตั้งคริสตจักรแห่งนี้   เขาถูกจับ  กล่าวร้ายอย่างไม่สมเหตุสมผล  ถูกเฆี่ยนจนเลือกตกยางออก   แล้วยังถูกโยนเข้าห้องขังชั้นใน  ใส่ขื่อเท้า   แค่นั้นยังไม่พอ  ในคืนนั้นเกิดแผ่นดินไหวอีก   หลังจากนั้น เปาโลและสิลาสได้รับการร้องขอจากผู้ว่าการเมืองให้ออกจากเมืองฟีลิปปี 

แต่ทำไมเปาโลจึงเขียนถึงชุมชนคริสตจักรฟีลิปปีว่า  “ข้าพเจ้าขอบพระคุณพระเจ้าทุกครั้งที่ระลึกถึงท่านทั้งหลาย... เพราะท่านทั้งหลายมีส่วนร่วมในข่าวประเสริฐตั้งแต่วันแรกจนเวลานี้” (ฟีลิปปี 1:3, 5)   ทั้ง ๆ ที่มีเรื่องเลวร้ายในฟีลิปปีที่น่าจะฝังอยู่ในความทรงจำของเปาโล

ขอตั้งข้อสังเกตว่า   ในเรื่องนี้เปาโล “เลือกที่จะจำสิ่งดี ๆ”   มากกว่าที่จะให้ประสบการณ์จากเหตุการณ์ความเลวร้ายที่เกิดขึ้นอย่างมากมายและรุนแรงมามีอิทธิพลต่อความทรงจำของตน   เป็นความจริงที่ฟีลิปปีมิใช่ที่ ๆ เปาโลมีความสุขมากมาย   แต่เป็นที่ ๆ ท่านต้องอดทนรับมือกับการถูกข่มเหงและต้องทนรับความทุกข์ยากสาหัส   ถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม   แต่เปาโลเลือกที่จะไม่ยอมเปิดทางให้ประสบการณ์เลวร้ายเหล่านี้มีอิทธิพลครอบงำความทรงจำของท่าน   ท่านกลับเลือกที่จะให้ประสบการณ์ในเหตุการณ์ดี ๆ ในเมืองฟีลิปปีเป็นพลังในความทรงจำของท่าน   จนความทรงจำเหล่านั้นกลายเป็นทัศนะมุมมองที่ทำให้ท่านขอบพระคุณพระเจ้าในสิ่งดี ๆ ที่ชุมชนคริสตจักรฟีลิปปีได้มีส่วนร่วมในการประกาศข่าวดีของพระเยซูคริสต์

ทุกวันนี้ชีวิตของคุณยังตกหล่มย้ำซ้ำในความทรงจำถึงบางคนที่สร้างความเจ็บปวดในชีวิตอยู่หรือเปล่า?   ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นแฟนเก่า   เพื่อนที่เคยทำงานด้วยกัน  อาจารย์ที่เคยสอนคุณมาก่อน  พ่อแม่หรือญาติในครอบครัว   เจ้านายหรือผู้บังคับบัญชา หรือ ลูกน้อง หรือ เพื่อนร่วมงานในที่ทำงาน  หรือแม้แต่สามี/ภรรยาของคุณที่ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ที่สร้างความเจ็บปวดแก่คุณ

แท้จริงแล้ว คุณเองไม่ยอมปล่อยให้สิ่งนั้นหลุดลอยออกจากความทรงจำของคุณเองหรือไม่?   ถ้าเช่นนั้นคุณก็ไม่สามารถที่จะมีความชื่นชมยินดีกับความสัมพันธ์กับคน ๆ นั้นแน่   เพราะคุณเลือกที่จะเปิดประตูความทรงจำให้อิทธิพลประสบการณ์ที่เลวร้ายเข้ามากุมความทรงจำของตนเอง

ท่านครับ ความทรงจำเป็นสิ่งที่เราแต่ละคนเลือกที่จะจำได้ครับ!

แต่ถ้าท่านยังจะเลือกความทรงจำที่แสนเจ็บปวดในชีวิต  ท่านก็มีสิทธิครับ!   แต่ท่านจะไม่ได้รับความสุขในชีวิต   แต่สำหรับเปาโลแล้ว  เขามีเหตุผลมากมายที่จะเลือกจำในสิ่งเลวร้ายและรุนแรงที่ท่านได้รับในเมืองฟีลิปปี   แต่เปาโลกลับเลือกที่จะจำสิ่งดี ๆ ที่คนในชุมชนคริสตจักรเล็ก ๆ ที่กระทำต่อท่าน และ สิ่งดี ๆ ที่พระเจ้าทรงกระทำผ่านคนเล็กน้อยเหล่านั้นเพื่อท่าน

เฉกเช่นเปาโล   เราท่านเลือกที่จะให้ความทรงจำในสิ่งดี ๆ มีอิทธิพลต่อความทรงจำของเรา   นอกจากที่เอื้ออำนวยให้ชีวิต จิตใจ และอารมณ์ของเรามีความสุขแล้ว   ยังเอื้อและให้โอกาสที่เราจะเสริมสร้างความสัมพันธ์กับคนเหล่านั้นที่สร้างสรรค์ มั่นคง  เหนียวแน่นกว่าที่เราคาดหวังอีกด้วย   และที่สำคัญ การฝึกวินัยชีวิตในการเลือกจำสิ่งดี ๆ เป็นโอกาสที่พระเจ้าทรงเสริมสร้างชีวิตสาวกพระคริสต์ในตัวเราเติบโต เข้มแข็ง  มั่นคง และยั่งยืนด้วยครับ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499