25 กรกฎาคม 2559

อยากจะพบใคร หรือ พบอะไรในที่ทำงาน?

วันนี้...เมื่อเราไปที่ทำงาน
เราจะพบใครบ้าง?
เราจะพบอะไรบ้าง?

แน่นอนว่า...เราพบเพื่อนร่วมงานของเรา
ทั้งเพื่อนที่เรารัก...ดีใจที่ได้พบ
ทั้งคนที่เราไม่ชอบ...อยากหลบหน้าไปไกล ๆ
เราพบงานที่เราทำสำเร็จเมื่อวันวาน...เราภูมิใจ
เราพบงานที่ค้างคาไม่รู้จะไปต่ออย่างไร...ทำไมต้องเป็นเรา
เราพบ...อีกมากมาย

แต่ขอถามว่า...?
เราพบพระเยซูคริสต์ในที่ทำงานวันนี้ไหม?
ถ้าพบ...เราเห็นพระองค์กำลังทำอะไร?
เราเข้าไปร่วมงานกับพระองค์หรือไม่?  อย่างไร?  ทำไม?

แท้จริงแล้ว  พระองค์มาถึงที่ทำงานก่อนเราเสียอีก!

แต่บ่อยครั้งนักที่เรามองไม่เห็นพระองค์   เราหาพระองค์ไม่พบ
เพราะเรามัวมุ่งมองหาแต่คนที่เราชอบ  คนที่เราอยากพบ
เรามองหาความสำเร็จในงานที่ทำ  ซึ่งเป็นความสำเร็จตามใจปรารถนาของเรา
เราพยายามหาช่องหลบลี้หลีกเลี่ยงจากสถานการณ์ที่เราไม่สบายใจ  ที่เราไม่อยากพบ

เราจึงมองไม่เห็นพระเยซู
เราจึงหาไม่พบว่า พระองค์กำลังทำอะไรที่ไหน!
ถ้าเรามุ่งมองหาพระองค์ในที่ทำงานของเราด้วยความตั้งใจและจริงใจ
แล้วเราจะได้เข้าไปหาพระเยซู  และทำงานร่วมกับพระองค์

การทำงานกับพระองค์
เราได้เรียนรู้วิธีการทำงาน
เราได้เรียนรู้การเสริมสร้างความสัมพันธ์
เราได้เรียนรู้ที่จะทำงานด้วยจิตใจที่รัก เมตตา
เราได้เรียนรู้การทำงานที่ทำด้วยการให้ชีวิตของเราแก่เพื่อนร่วมงาน  และคนอื่น


เมื่อพระเยซูคริสต์ทำงานจนสำเร็จ  เราก็ร่วมในความสำเร็จกับพระองค์ และ ทีมงาน
นี่มิใช่หรือคือการทรงนำของพระคริสต์ในอาชีพการงานที่เราทำ

ดังนั้น  เราจึงได้ใกล้ชิดติดสนิทกับพระคริสต์ตลอดวันในงานที่ทำ (ไม่ใช่เฉพาะตอนเฝ้าเดี่ยว)
เราจึงมีความสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์กับเพื่อนร่วมงาน
เราจึงบรรลุความสำเร็จของการทำงานร่วมกับพระคริสต์ และ เพื่อนร่วมงาน
นี่มิใช่หรือคือการทำงานที่ถวายเกียรติแด่พระเจ้า และ เป็นการนมัสการพระองค์?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

18 กรกฎาคม 2559

ทำงานเพื่อ...ถวายเกียรติพระเจ้า หรือ กราบไหว้งานที่ทำ?

อาชีพการงานเป็นสิ่งที่เราท่านต่างเห็นว่าเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องทำ  และต้องทำอย่างดีในแต่ละวัน

สำหรับเรามองและเข้าใจว่า เราทำงานอาชีพแต่ละวันไปทำไม?  

อะไรคือเป้าหมายสูงสุดในการทำงาน และประกอบอาชีพของเรา?  

เรารู้อยู่แก่ใจแล้วว่า  เหตุผลหนึ่งของการทำงานประกอบอาชีพก็เพื่อที่จะได้รับค่าจ้างหรือค่าแรงที่จะนำมาเลี้ยงตนเองและครอบครัว   เหตุผลที่สูงขึ้นเพื่อแสดงถึงความรู้ความสามารถของเรา  ศักยภาพ สมรรถนะในงานที่เราทำ   เพื่อนำไปสู่การได้รับหน้าที่ตำแหน่งที่สูงขึ้น  แน่นอนครับได้รับเงินเดือน และ สวัสดิการเพิ่มขึ้นด้วย  มีความมั่นคงในงานที่ทำและความมั่นคงในรายได้ต่อไปในอนาคต

จึงไม่น่าแปลกใจที่เกิดการแก่งแย่งตำแหน่งหน้าที่ในการทำงานกันแบบเอาเป็นเอาตาย  แบบเอาด้วยเล่ห์ไม่ได้ก็เอาด้วยเหลี่ยม เอาด้วยผลงานไม่ได้ก็เอาด้วยการเป็น “เด็กเส้น” ของใคร   ในเหตุการณ์นี้มีทั้งคนที่สมหวัง และ คนที่เสียใจจนสิ้นหวัง   หมดกำลังใจที่จะทำงานต่อไป   หรือหมดความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำดีทำถูกต้องต่อไป   มาตรการเกียร์ว่างก็อาจะเกิดขึ้นได้

แล้วคริสตชนมีความเชื่อ และ มุมมองเกี่ยวกับ การทำงานประกอบอาชีพอย่าง?   ท่านเข้าใจเรื่องนี้อย่างไร?

คริสตชนทำงานเพราะ ตนเชื่อว่า การทำงานเป็นการทรงเรียกของพระเจ้าที่ทรงมีสำหรับแต่ละคน   ดังนั้นงานที่เราทำ อาชีพที่เราประกอบจึงเป็นการที่เราทุ่มเททั้งชีวิตจิตใจ และ การกระทำเพื่อตอบสนองสิ่งที่พระเจ้าประสงค์ให้เรากระทำ  

ดังนั้น  การทำงานประกอบอาชีพของคริสตชนจึงเป็นการทำงานร่วมและสานต่อพระราชกิจของพระเจ้าให้เกิดสิ่งดี ๆ ขึ้นในโลกที่พระองค์ทรงสร้าง   กระทำให้เกิดสิ่งดี ๆ แก่ชีวิตมนุษย์ในสังคมโลก   การทำงานและประกอบอาชีพในแต่ละวันของเราจึงเป็นการทำงานร่วมกับพระเจ้า   เพื่อให้เกิดคุณภาพชีวิตในสังคมชุมชนโลกตามพระประสงค์ของพระเจ้า   ที่ทรงต้องการให้ “แผ่นดินของพระเจ้ามาตั้งอยู่  สิ่งที่พระเจ้าต้องการให้เกิดขึ้นในสวรรค์ก็ให้เกิดขึ้นจริงเป็นรูปธรรมในสังคมชุมชนโลกด้วย”   

การกระทำงานประกอบอาชีพประจำวันของเราควรมีความมุ่นมั่นตั้งใจทำอย่างที่พระบิดาทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ในโลกนี้คือ  “...​พระ​องค์​ทรง​ให้​ดวง​อาทิตย์​ของ​พระ​องค์​ขึ้น​ส่อง​สว่าง​แก่​คน​ดี​และ​คน​ชั่ว​เสมอ​กัน และ​ให้​ฝน​ตก​แก่​คน​ชอบ​ธรรม​และ​คน​อธรรม... เพราะ​ฉะนั้น​พวก​ท่าน​จง​เป็น​คน​ดี​พร้อม เหมือน​อย่าง​ที่​พระ​บิดา​ของ​ท่าน ผู้​สถิต​ใน​สวรรค์​ทรง​ดี​พร้อม” (มัทธิว 5:45, 48) 

การทำงานประกอบอาชีพประจำวัน  บนรากฐานความเชื่อและคุณธรรมข้างต้น   คริสตชนจึงมองว่า  การทำงานประกอบอาชีพประจำวันเป็นการดำเนินชีวิตตามพระประสงค์ของพระเจ้า  และเป็นการกระทำเพื่อเป็น “การนมัสการพระเจ้า”   ที่ว่าเป็นการนมัสการพระเจ้าเพราะ เราน้อมรับพระประสงค์ของพระเจ้าเป็นเป้าหมายสูงสุดในชีวิตของเรา   เราเชื่อฟังพระองค์ มีพระองค์เป็นเอกเป็นต้นในชีวิตของเรา  ในการคิด การตัดสินใจ และ ในการกระทำทุกเรื่องของเราด้วยความสัตย์ซื่อ

แต่น่าอันตรายสำหรับการทำงานและประกอบอาชีพของคริสตชนในปัจจุบัน!   เกิดคำถามว่า   การทำงานและประกอบอาชีพของคริสตชนส่วนใหญ่ในทุกวันนี้ “เป็นการนมัสการพระเจ้า”  หรือ “เป็นการนมัสการสิ่งอื่น”?   “คริสตชนกำลังนมัสการใคร? หรือ กำลังนมัสการอะไรกันแน่?

เราทำงานด้วยความหวังสูงสุด... 

(1)  เพื่อที่จะทำงานสานต่อตามพระประสงค์ของพระเจ้า และทำงานเพื่อให้เกิดสิ่งดี ๆ ในชีวิตอย่างเป็นรูปธรรมแก่ผู้คนรอบข้าง และ คนในสังคมโลก  เยี่ยงการทำงานของพระบิดาที่ทรงกระทำสิ่งดี ๆ แก่ผู้คนทั้งคนดีและคนชั่ว?  หรือ

(2)  เพื่อที่เราจะได้รายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว?

(3)  เพื่อเป็นการไต่เต้าตำแหน่งที่สูงขึ้น   มีเงินเดือนที่เพิ่มขึ้น  มีชื่อเสียงที่ดังขึ้น...? หรือ

(4)  เพื่อตอบสนองความปรารถนาทางจิตใจที่อยากได้รับใช้พระเจ้า “ในตำแหน่งนี้”? หรือ

(5)  เพื่อแสดงให้ผู้คนได้เห็นชัดถึงศักยภาพ ความสามารถของตน ที่สามารถได้รับเลือกให้รับตำแหน่งนี้?

(6)  เพื่อความมั่นใจว่าตนมีคุณค่าที่คนอื่นยังเรียกใช้?  แม้ฝ่ายตรงกันข้ามก็ยังเรียกใช้?

(7)  เพื่อประคับประคองให้ตนเองยืนบนตำแหน่งนี้ให้นานเท่านาน?   ตราบจนหมดโอกาส?   เพื่อแสดงออกถึงความรับผิดชอบ   แม้จะทำอะไรไม่ได้อย่างใจมุ่งหวังก็ตาม?

แล้วท่านทำงานโดยมีความหวังสูงสุดในข้อไหนครับ?

ถ้าท่านทำงานด้วยความหวังสูงสุด...ตามข้อ (1)  ท่านมุ่งที่จะทำงานเพื่อถวายเกียรติแด่พระเจ้า   การทำงานของท่านเป็นการนมัสการพระเจ้าครับ   เป็นการสานต่อพระราชกิจของพระเจ้า   เป็นการตอบสนองการทรงเรียกอย่างสัตย์ซื่อ   ถ้าท่านทำงานโดยมีจุดประสงค์นี้สูงสุดเป็นเป้าหมาย  ด้วยความจริงใจไม่มีเหตุอื่นแอบแฝง

ถ้าท่านเลือกข้อ (2)  ถึง (7)  ข้อใดข้อหนึ่ง หรือ มากกว่าหนึ่งข้อ   ท่านกำลังทำงานด้วยการกราบไหว้งานที่ทำอยู่   และเพื่อบูชาตนเองครับ

แต่บางท่านจะเลือกข้อ (1) และ ข้อใดข้อหนึ่ง หรือ มากกว่าหนึ่งข้อจากข้อ (2) ถึง (7)  ท่านกำลังนมัสการพระเจ้า และ ในเวลาเดียวกันกำลังกราบไหว้งานที่ทำ และ ตนเองครับ   ประการหลังนี้น่าจะอันตรายที่สุดครับ 

ท่านคิดเห็นอย่างไรในเรื่องนี้ครับ?   แบ่งปันให้รับรู้กันได้ไหมครับ?

คริสตจักรไทยสอนอะไร อย่างไรในเรื่องนี้ครับ?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

11 กรกฎาคม 2559

ทุกวันนี้...คริสตชนทำงานไปทำไม?

เราก็เป็นเหมือนคริสตชนอื่น ๆ ที่เติบโตในสมัยที่เชื่อว่าการทำงานเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก   เพราะด้วยการทำงานเราจะได้รับค่าแรงที่จะเลี้ยงตนเองและครอบครัว   และ เงินบางส่วนที่ได้รับจากการทำงานเรายังสามารถใช้สนับสนุนพระราชกิจของพระเจ้าในโลกนี้ที่กระทำผ่านคริสตจักร และ องค์กรคริสตชนต่าง ๆ   และในที่ทำงานยังมีคุณค่าและความสำคัญเพราะเป็นที่ที่เอื้อให้เราแต่ละคนที่จะแบ่งปันความเชื่อของเรากับเพื่อนร่วมงานในที่ทำงานนั้น   ดังนั้น  การทำงานมีความสำคัญเพราะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดสิ่งดี ๆ เกิดขึ้นทั้งส่วนตัวและครอบครัว   สนับสนุนการทำงานของพระเจ้า และการแบ่งปันความเชื่อศรัทธาแก่ผู้คนในที่ทำงาน

แน่นอนว่า  การทำงานก็เป็นการนมัสการพระเจ้าด้วย   เพราะการทำงานสามารถเป็นการยกย่องสรรเสริญพระเจ้า  และสร้างความสำคัญต่องานของพระเจ้าบนโลกใบนี้   แต่การทำงานมิใช่เป็นการนมัสการพระเจ้าเท่านั้น   แต่อาจจะเกิดสิ่งที่ตรงกันข้ามก็ได้  กล่าวคือการทำงานบางอย่างเป็นการไม่ให้เกียรติแด่พระเจ้า  ทำร้ายทำลายงานของพระเจ้าบนโลกนี้ก็ได้

เมื่อ 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา   คริสตชนหลายคนเริ่มเข้าใจว่าการทำงานเป็นเรื่องสำคัญในชีวิต   มิเพียงเพราะเป็นที่มาของรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวเท่านั้น   แต่โดยเนื้อแท้ในตัวงานของมันเองมีสิ่งดี และ เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับพระประสงค์ของพระเจ้าด้วย   เพราะด้วยการทำงานของเรา เราสามารถรับใช้ผู้คน   ด้วยการทำงานของเรา เราสามารถฟื้นฟูสภาพโลกใบนี้   ด้วยการทำงานของเรา เราได้ค้นพบคุณค่าและความหมายในชีวิตของเรา   และผ่านการทำงานเราสามารถนมัสการยกย่องสรรเสริญพระองค์   และถ้าเราพิจารณาจากพระคัมภีร์  เราพบว่า การทำงานเป็นแกนกลางแห่งพระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับชีวิตของเรา   ด้วยการทำงานเราสามารถที่ยกย่องถวายเกียรติแด่พระเจ้า และ ร่วมในพระราชกิจของพระองค์ที่ทรงกระทำในโลกนี้   และสานต่อพระราชกิจของพระคริสต์ที่ทรงเรียกให้เรากระทำ ที่สามารถกระทำมากกว่าที่ตัวคริสตจักรเองกระทำ และนี่คือ “การทำงานเป็นการนมัสการพระเจ้า”

ถ้าคริสตชนมีมุมมอง ทัศนคติ และ รากฐานความเชื่อที่ว่า   การทำงานเป็นการนมัสการพระเจ้าแล้ว   รากฐานดังกล่าวนี้จะเป็นตัวที่แปรเปลี่ยนงานที่เราทำในแต่ละวัน   และในเวลาเดียวกันก็จะเปลี่ยนชีวิตของคนทำงานทั่วทั้งโลกได้   รากฐานความเชื่อที่ว่า “การทำงานเป็นการนมัสการพระเจ้า” มีพลังมหาศาลที่จะเปลี่ยนแปลงและเสริมสร้างชีวิตของเราขึ้นใหม่   ปรับเปลี่ยนชีวิตและความสัมพันธ์ขึ้นใหม่ในที่ทำงานของเรา   และยังเป็นการสร้างโลกของเราขึ้นใหม่อีกด้วย

แต่บ่อยครั้งที่การทำงานของเราไม่ได้เป็นการนมัสการพระเจ้าเลย   ผมเชื่อแน่ว่า การทำงานของเราแต่ละวันสามารถที่จะเป็นการทำงานที่นมัสการยกย่องสรรเสริญพระเจ้า   และส่งผลสำคัญต่องานของพระเจ้าบนโลกใบนี้   แต่การทำงานก็สามารถที่กลับกลายเป็นอย่างอื่นไปได้ด้วยเช่นกัน   การทำงานบางครั้งบางอย่างก็เป็นการทำลายทำร้ายงานของพระเจ้าในสังคมโลกนี้   ตัวอย่างเช่น การงานที่เกี่ยวข้องกับการทำอาวุธสงครามเพื่อประหัตถ์ประหารกัน   การผลิตระเบิดเพื่อทำลายล้างผู้คน ๆ ละฝ่ายกับตน   การไปสอนผู้คนในพื้นที่ในการที่จะใช้อาวุธเพื่อสามารถต่อสู้กับฝ่ายตรงกันข้ามของตน   โดยบอกว่าเป็นการกระทำเพื่อสอนชาวบ้านป้องกันตนเอง   กระทำในนามของโลกประชาธิปไตยที่ขัดขวางการขยายพื้นที่ของศัตรูตน   และที่แย่กว่านั้น เขาบอกว่าเป็นการกระทำเพื่อสร้างสันติภาพและสันติสุขในสังคมโลก

การทำงานที่ทำลาย หรือ ทำร้ายชีวิตผู้คนเท่านั้น  ที่เป็นการทำงานที่ไม่เป็นการนมัสการพระเจ้าหรือ?   ถ้าไม่ทำร้ายทำลายชีวิตก็เป็นงานที่นมัสการพระเจ้าเช่นนั้นหรือ?   แต่เรื่องนี้มีรายละเอียดมากกว่านั้น   โรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยควันดำควันพิษ   เกษตรกรรมแบบใช้เคมีที่ทำร้ายทำลายแผ่นดินที่พระเจ้าทรงสร้าง  ทำลายสายน้ำที่ใช้หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนเกิดการปนเปื้อนสารเคมี  ทำลายชีวิตผู้ดื่มบริโภค   และยังรวมไปถึงการผลิตพืชผักผลไม้ทางการเกษตรที่มีสารปนเปื้อนที่สามารถเป็นอันตรายทำร้ายทำลายชีวิตผู้บริโภคได้

การเอารัดเอาเปรียบในเชิงการค้า   การทุจริตฉ้อฉลในวงราชการ และ การเมือง   การใช้การเมืองเพื่อสร้างผลประโยชน์เชิงอำนาจ  เงินทอง  และทรัพย์สินล่ะ  การทำงานเหล่านี้มีสิ่งแอบแฝงข้างหลังเป็นการนมัสการพระเจ้าด้วยหรือ?   สิ่งสำคัญที่จะต้องพิจารณาคือ   การกระทำเช่นที่กล่าวข้างต้นเขาไม่ได้กระทำเพื่อรับใช้พระเจ้า   แต่เขากระทำเพื่อรับใช้ตนเองและพวกพ้อง

แท้จริงแล้ว คริสตชนดำเนินชีวิต และ ทำงานประจำวันก็เพื่อที่จะเป็นการถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า   เราปรารถนาที่จะเห็นธุรกิจ  การขับเคลื่อนองค์กรคริสเตียน  เป็นการนมัสการพระเจ้าจากผู้กระทำ   และเป็นการนมัสการพระเจ้าในทุก ๆ อย่างที่เรากระทำในชีวิตรวมถึงการงานที่เราทำด้วย   คริสตชนจำนวนมากในปัจจุบันไม่ต้องการมีชีวิตที่แบ่งแยกชีวิตประจำวัน  การทำงานอาชีพออกจากการเชื่อศรัทธาและนมัสการพระเจ้า   ไม่ต้องการแยกชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณออกจากชีวิตฝ่ายเนื้อหนัง หรือ ฝ่ายโลก   เราต้องการดำเนินชีวิตทั้งชีวิตที่เป็นหนึ่งเดียวที่ทั้งชีวิตขับเคลื่อนสอดคล้องและสอดรับกันและกัน   เราต้องการให้ทั้งชีวิตของเราเป็นที่ถวายเกียรติแด่พระเจ้า  มิใช่เพียงแต่ชีวิตจิตวิญญาณที่นมัสการพระเจ้าในคริสตจักร หรือ ในชีวิตเฝ้าเดี่ยวเท่านั้น    แต่เราต้องการมีชีวิตที่นมัสการพระเจ้าอย่างแท้จริงด้วยทั้งชีวิตทุกมิติชีวิตของเรา

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

03 กรกฎาคม 2559

ท่านเคยนำหัวหน้าของท่านไหม?

ถ้าใครเป็นผู้นำ   สิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือคนนั้นต้อง “ตัดสินใจ”   เขาต้องสื่อสารถึงวิสัยทัศน์ และ ทิศทางที่จะนำไป  และเป็นคนที่กระตุ้นหนุนเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนไป   คนนั้นมีประสบการณ์ทั้งชัยชนะ  ความสำเร็จ และความล้มเหลว หรือ ความพ่ายแพ้มาแล้ว

มีความจริงอีกประการหนึ่งคือ ผู้นำต้องมีผู้ตาม หรือ ต้องมีทีมงาน   ท่านต้องมีลูกทีมที่ร่วมทำงานกับท่าน   พวกเขามุ่งมองการนำของท่าน  พวกเขาต้องการการชี้นำและทิศทางการทำงานจากท่าน  การท้าทาย  หรือแม้แต่กำลังใจจากท่าน   และอาจจะมีผู้ตามบางคนบางกลุ่มที่ไว้วางใจท่านและจะตามท่านไป   แต่ก็มีบางคนบางกลุ่มที่ยังไม่ยอมติดตามท่าน

สำหรับคริสตชนแล้ว  การเป็นผู้นำเป็นการทรงเรียกจากเบื้องบน  และเป็นภาระหน้าที่ที่เต็มไปด้วยความรับผิดชอบ   ความรับผิดชอบนี้มิได้สำเร็จหรือสิ้นสุดเมื่อทำงานนั้นสำเร็จ หรือ ไปถึงเป้าหมาย   เพราะความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ของการเป็นผู้นำจะต้องมีคือ ความรับผิดชอบต่อผู้คนที่ตนนำ

ผู้นำของ “ทีม” เกิดจากการที่มีคน ที่มีความคิด และมีความปรารถนาที่ต้องการทำให้สำเร็จ ทั้งในด้านการงาน และ ในชีวิต   ผู้นำที่ละเลยและละทิ้งชีวิตของผู้คนที่ตนนำ   แล้วมุ่งให้ความสนใจและความสำคัญแต่งานที่ทำ   เขาจะประสบพบกับความจริงว่า  เขาจะไม่มีทีมที่เขาจะนำเวลาในไม่ช้า

แล้วผู้นำที่จะมุ่งเน้นและมุ่งมั่นให้องค์กรที่ตนนำมุ่งไปข้างหน้า และ ในเวลาเดียวกันผู้นำจะทุ่มเททุ่มชีวิตของตนแก่ทีมงานที่ตนนำได้อย่างไร?

คำตอบหนึ่งที่ผู้นำจะต้องตระหนักชัดคือ   ผู้นำจะต้องตระหนักรู้ชัดว่า   แต่ละคนในทีมงานที่ตนนำนั้น  ทุกคนมีความสามารถที่จะ “มองเห็น” และ “ทำ” ในบางสิ่งที่ผู้นำอาจจะไม่สามารถมองเห็น หรือ ทำ ได้

เมื่อผู้นำตระหนักรู้เช่นนี้แล้ว   จึงมีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งที่ผู้นำจะต้องใส่ใจและเข้าถึงให้รู้ว่าทีมงานแต่ละคนมีตะลันต์ความสามารถเฉพาะตัว หรือ ความสามารถพิเศษอะไรบ้าง    

ผมเคยได้รับประสบการณ์ที่มีคุณค่ายิ่งจากผู้นำทีมท่านหนึ่ง   เขามีคุณสมบัติในการเป็นผู้นำที่มีกระบวนการนำทีมงานของเราให้ประสบความสำเร็จ   วิสัยทัศน์ของเขามั่นคงและชัดเจน  แต่ความสามารถของเขาในการที่จะทำให้ทีมของเราขับเคลื่อนไปอย่างเป็นทีมงานที่สอดประสานกันดูจะมีจุดอ่อนด้อยบางจุด   แต่หัวหน้าทีมของผมคนนี้แตกต่างจากผู้นำทั่วไป   เขารับมือกับภาวะนี้ด้วยการร้องขอให้ทุกคนในทีมงานที่เขานำช่วยเขาในการนำทีมที่เป็นจุดโหว่หรือจุดอ่อนของเขา 

สิ่งที่หัวหน้าคนนี้ของผมให้เราช่วย “นำในการนำทีม” ของเขา   เขาได้ตั้งทีมงานขึ้นคณะหนึ่งที่เขาเรียกว่า  “ทีมที่ฟังเพื่อหนุนเสริมกันและกัน”   ในการนี้เราต่างรู้ว่า หัวหน้าคนนี้ยังเป็นผู้นำของเรา  เขาเป็นคนดูแลการทำงานเสริมกันและกัน   แต่หัวหน้าทีมท่านนี้เขาชัดเจนว่า  เขาต้องการให้พวกเราหนุนเสริมเขาในด้านความคิด  ตั้งคำถามให้เขาคิดและตอบ  หรือ  แม้แต่คัดค้าน ท้วงติงในทุกเรื่องที่ทีมงานเห็นว่ากำลังขับเคลื่อนไปผิดทิศผิดทาง

สิ่งที่หัวหน้าทีมท่านนี้ขอร้องการหนุนเสริมจากทีมคือ “การนำหัวหน้า”

จอห์น แม็กแวลล์ พูดถึงประเด็นนี้ในหนังสือ “ผู้นำ 360 องศา”   และได้อธิบายหลักคิดประการนี้ว่า  การที่ผู้นำคนหนึ่งคนใด และ ที่เป็นผู้นำในระดับหนึ่งระดับใด   ที่มีความจำเป็นต้องการให้คนในทีมงานของตนแต่ละคนใช้ภาวะผู้นำที่แต่ละคนมีอยู่ในการหนุนเสริมผลักดันผู้นำทีมงานของตน

ไม่มีผู้นำแท้จริงคนใดที่ต้องการทีมงานแบบ  “ครับ...หัวหน้า”  และก็ไม่มีผู้นำที่แท้จริงคนใดที่ต้องการนำในภาวะปราศจากความมั่นใจในตนเอง   หัวหน้าทีมคนนั้นของผมเคยบอกทีมงานของเราว่า  เขาไม่ต้องการเป็นจักรพรรดิที่เปล่าเปลือยล่อนจ้อน   ถ้ามีสิ่งบกพร่องผิดพลาดประการใดเกิดขึ้น   หัวหน้าทีมคนนี้ต้องการให้เราบอกเราพูดให้เขารู้ตัว   และเมื่องานของทีมถูกกดดัน   เขาต้องการความช่วยเหลือจากทีมงาน

“การนำหัวหน้า”  มิใช่การบอกหัวหน้าถึงความคิดที่เราไม่เห็นด้วยเท่านั้น   แต่เป็นการให้การสนับสนุนทั้งวาจา  กำลังใจ  และการหนุนเสริมในเวลาที่ผู้นำประสบกับความยากลำบากในการขับเคลื่อนงานให้เดินไป  และความสัมพันธ์ที่จะต้องมีในทีมงาน   “การนำหัวหน้า” ต้องการความจริงใจ  ความสัตย์ซื่อ  การทุ่มเทและอุทิศตน   แม้ว่าจะต้องอยู่ในภาวะที่รู้สึกลำบากขัดแย้งก็ตาม

ในฐานะคริสตชน   “การนำหัวหน้า” ได้ดีในทีมงานเมื่อเราทุกคนในทีมงานได้อุทิศตนและทุ่มเทการงานและชีวิตเพื่อพระคริสต์    ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ท้าทายและที่ช่วยให้ “การนำหัวหน้า” เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ง่ายขึ้น   เพราะในการทำงานในทีมของเรานั้น เราไม่ได้ทำเพื่อหัวหน้าคนนั้นของเรา   แต่เรารู้ว่าเรากำลังทำเพื่อตอบสนองการทรงเรียกของพระคริสต์

สิ่งที่ทำให้ทีมงานที่รู้สึก “ง่อยเปลี้ย ไม่มีแรงในการนำหัวหน้า” คือ  ทีมรู้สึกว่าตนไม่มีสิทธิมีเสียง

เมื่อผมถามทีมทำงานว่า   หัวหน้าของคุณไว้วางใจให้ทำงานนี้หรือไม่?  เขาให้อำนาจคุณในการดำเนินการเรื่องดังกล่าวหรือไม่?   แล้วหัวหน้าของคุณจะรู้ว่ามีปัญหาก็ต่อเมื่อคุณจะบอกเขาใช่ไหม?    บ่อยครั้งมักได้ยินจากเพื่อนร่วมงานบอกว่า  เกิดความไม่สบายใจ เพราะหลายครั้งที่ต้องการบอกหัวหน้าทีมในปัญหาบางเรื่องที่เกิดขึ้น   หัวหน้าทีมมักทำตัวว่า “ฉันรู้แล้ว”  

หลายครั้ง  เราพบเพื่อนร่วมงานไม่อยากหรือไม่เต็มใจที่จะเป็นคนบอกหัวหน้าถึงปัญหาที่เกิดขึ้น

หัวหน้าทีมทุกคนต้องสร้างบรรยากาศที่ทีมงานสามารถ “นำหัวหน้า”   และในเวลาเดียวกันคนในทีมงานต้องเต็มใจที่จะ “นำหัวหน้า” ในประเด็น/ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในทีม

จากประสบการณ์ของผม   ผมพบว่า บางครั้งหัวหน้าทีมได้ให้ความคิดแก่ทีมของเรา   และทีมงานของเราได้ก้าวเดินตามความคิดนั้น   แต่ในบางเวลา หัวหน้าทีมไม่แน่ใจในความคิดบางเรื่อง   แต่ทีมงานของเราได้ผลักดันหนุนเสริมให้หัวหน้าก้าวไปข้างหน้า   ด้วยการทำงานทีมแบบนี้เองที่หัวหน้าทีมก็ไว้วางใจว่าทีมงานของเขามิเพียงแต่พยายามทำงานด้วยกันได้เท่านั้น   แต่ทีมงานพร้อมที่จะเดินตามคำแนะนำที่ดีที่หัวหน้าให้   และพร้อมจะแนะนำไปในทางที่ถูกต้องแก่หัวหน้าทีม    เพื่อที่จะมีการตัดสินใจที่ดีที่สุดของทีม

“การนำหัวหน้า”  มิใช่เป็นการไม่เห็นด้วยกับหัวหน้าทีมเท่านั้น   แต่หมายถึงการที่ลูกทีมจะหนุนเสริมเพิ่มพลัง (empower) แก่หัวหน้าทีมให้ก้าวเดินหน้าเมื่อเขาคิดว่าเขาทำไม่ได้ หรือ ไม่มั่นใจที่จะก้าวต่อไป   และก็มิใช่การหนุนเสริมเพิ่มพลังหัวหน้าด้วยความจริงใจเท่านั้น   แต่รวมถึงการหนุนเสริมให้หัวหน้ามุ่งมั่นทุ่มเทเพื่อองค์กรด้วย

การตัดสินใจที่หนุนเสริมกันและกันในทีมงาน (ทั้งหัวหน้าและลูกทีม)   ถ้าเป็นประเด็นที่เป็นเรื่องส่วนตัวของหัวหน้า (เช่น ทัศนคติ หรือ ท่าที  พฤติกรรมส่วนตัวของหัวหน้าที่แสดงออก) ให้คุยกับหัวหน้าในเรื่องเหล่านี้เป็นการส่วนตัว   แต่ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับวิธีการ แผนงาน หรือ ยุทธศาสตร์ในการทำงาน   ให้พูดคุยเรื่องเหล่านี้ในทีมงาน   ให้เป็นการปรึกษาหารือ หรือ ค้นหาค้นคิดร่วมกัน   และขอย้ำว่า “การนำหัวหน้า” ไม่ใช่เรื่องไม่เห็นด้วยกับความคิดของหัวหน้าทีมเท่านั้น   แต่เป็นการเสนอความคิดที่หนุนเสริมกันและกันของทั้งหัวหน้ากับลูกทีมที่ทำให้สามารถตัดสินใจร่วมกัน  เพื่อให้ได้การการตัดสินใจที่ดีที่สุด

ผู้นำทุกคนต้องการอะไร?

ผู้นำ  ต้องการให้ทุกคนในทีมงานของตนรักองค์กรและผู้นำ  อย่างสัตย์ซื่อและเปิดใจ...โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่จะต้องตัดสินใจว่าจะเดินไปทางไหน  จะถอยหลังหรือเดินหน้า   และทุกคนในทีมทุ่มเทศักยภาพความสามารถของตนอย่างเต็มที่   เพื่อที่จะให้องค์กร  ทีมงาน และแต่ละคนก้าวไปข้างหน้าได้เร็วขึ้นกว่าที่คิด

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499