27 กันยายน 2559

ชีวิตในครอบครัวของพระเจ้า...เป็นแบบไหน?

“...คน​ใด​ที่​ทำ​ตาม​พระทัยของ​พระ​เจ้า
คน​นั้น​แหละ​เป็น​พี่​น้อง​ชาย​หญิง​และ​มาร​ดา​ของ​เรา
(มาระโก 3:35 มตฐ.)

เนื่องจากพระเยซูต้องรักษาผู้ป่วย และ ขับผีให้ออกจากหลายคน   จนพระองค์และสาวกไม่มีเวลาแม้แต่จะรับประทานอาหาร  ในมาระโก 3:21  ได้เขียนไว้ว่า  “เมื่อ​ญาติ​พี่​น้อง​ของ​พระ​องค์​ได้​ยิน​เหตุ​การณ์​นี้ ก็​ออก​ไป​รั้ง​พระ​องค์​ไว้ เพราะ​พวก​เขา​บอก​ว่า​พระ​องค์​เสีย​สติ​แล้ว” (มตฐ.)  

แม่และน้องชายของพระเยซูเป็นห่วงในเรื่องที่เกิดขึ้นจึงมาหาพระเยซูคริสต์   คงต้องการที่หาทางพาพระองค์ไปรักษา   แต่ไม่สามารถเข้าถึงพระเยซูได้เพราะมีคนจำนวนมาก (ลูกา 8:19)   จึงมีคนนำเรื่องนี้ไปบอกพระเยซูว่า แม่และน้องชายมารอพระองค์อยู่ข้างนอก   รอพบเพื่อจะพูดคุยกับพระองค์  

พระองค์ตอบคนที่มาบอกด้วยคำถามว่า  “ใคร​เป็น​มาร​ดา​ของ​เรา และ​ใคร​เป็น​พี่​น้อง​ของ​เรา?” (มาระโก 3:33 มตฐ.)   แล้วพระองค์กล่าวต่อไปว่า  “...คนใดที่ทำตามพระทัยของพระเจ้า คนนั้นแหละเป็นพี่น้องชายหญิงและมารดาของเรา (ข้อ 35)

คำถามของพระเยซูอาจจะทำให้หลายคนในฝูงชนนั้นตกใจ   และไม่คาดคิดว่าพระเยซูจะมีตอบเช่นนั้น   ในวัฒนธรรมยิวสมัยนั้น   สถาบันครอบครัวเป็นสถาบันที่ได้รับการยกย่อง   มารดาเป็นผู้ที่ต้องได้รับการนับถือจากบุตร   การที่พระเยซูกล่าวเช่นนี้ทำให้หลายคนเกิดความสงสัยว่าทำไมถึงถามเช่นนั้น   พระองค์จะไม่ยอมรับมารดาของพระองค์เช่นนั้นหรือ?

การทุ่มเททำพระราชกิจของพระเจ้ากลับถูกบิดเบือน  ถูกกุเป็นข่าวลือ  ถูกกล่าวร้ายป้ายสีว่าที่ทำเช่นนี้เพราะพระองค์ “เสียสติ” (3:21)  หรือ  ที่ทำได้ผลเช่นนี้เพราะ  ในตัวของพระเยซูมีผีโสโครกสิงอยู่ (3:30)

ที่พระเยซูทุ่มเททำงานมากเช่นนี้เพราะ  พระองค์คิดแปลกแยกไม่เหมือนคนอื่น!   จะต้องมีเบื้องหน้าเบื้องหลังแน่!

ใคร “แบ็ค” อยู่ข้างหลัง   มันถึงทำได้มากมายถึงเพียงนี้!

พระเยซูคริสต์ได้อธิบายต่อไปว่า   การขับเคลื่อนพระราชกิจของพระเจ้า   ทุกคนต้องทำ  ทุกคนต้องรับผิดชอบ   และพระองค์กล่าวกว้างออกไปถึงมิติ “ครอบครัวของพระเจ้า” ว่า   ที่เราทุกคนเข้ามาอยู่เป็นคน ๆ หนึ่งในครอบครัวของพระเจ้า  และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน   มิใช่เพราะเรามีความสัมพันธ์ทางสายเลือด เชื้อชาติ แต่เราเป็นคนในครอบพระเจ้าครัวเดียวกันเพราะ   เราแต่ละคนกระทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้า

การมีสายสัมพันธ์เป็นคนในครอบครัวของพระเจ้าเดียวกัน   เพราะเราต่างทุ่มเทชีวิตทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า   มิใช่เราอยู่ใน “ชายคา” หรือ “อยู่ใต้ร่ม” เดียวกัน

เราเป็นคนในครอบครัวเดียวกันของพระเจ้า  มิใช่เพราะเราอยู่ร่วมในคริสตจักรเดียวกัน   ร่วมการนมัสการพระเจ้าด้วยกัน  หรืออยู่ในกลุ่มอธิษฐานด้วยกัน   แต่ที่เราเป็นอยู่ในครอบครัวของพระเจ้าด้วยกันเพราะ   เราทุ่มเทการดำเนินชีวิตประจำวันตามพระประสงค์ของพระเจ้า   และ ทำพระราชกิจของพระเจ้าในทุกสถานการณ์

พระเยซูคริสต์สอนมิติมุมมองใหม่ถึงการเป็นเครือญาติกันใน “ครอบครัวของพระเจ้า” ว่า   ไม่ใช่เพราะเรามีความเชื่อเดียวกัน   เราทำศาสนพิธีร่วมกัน   และมีพระเจ้าองค์เดียวกัน   หรือ อยู่ในคริสตจักรด้วยกัน

แต่ที่เราอยู่ใน “ครอบครัวของพระเจ้า” ด้วยกัน  เพราะเราเชื่อฟังพระเจ้า  จนทุ่มเททำตามพระประสงค์ของพระองค์ต่างหาก   ที่ทำให้เราเป็นคนใน “ครอบครัวของพระเจ้า” ด้วยกัน!

ดังนั้น   พระเยซูคริสต์จึงกล่าวแก่คนทั้งหลายว่า   ใครเป็นมารดาของเรา และใครเป็นพี่น้องของเรา?”... “...คนใดที่ทำตามพระทัยของพระเจ้า คนนั้นแหละเป็นพี่น้องชายหญิงและมารดาของเรา (มาระโก 3:33, 35 มตฐ.)

ทุกวันนี้เราเป็นคนหนึ่งในครอบครัวของพระเจ้า  เพราะมีสายเลือดทางความเชื่อเดียวกัน   หรือ เพราะเราทุ่มเทชีวิตทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตประจำวัน?

จุดเริ่มต้นที่เราจะทำได้ในวันนี้คือ  ทูลขอพระเจ้าขอช่วยให้เราเห็นและเข้าใจถึง พระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับชีวิตของเรา   เพื่อเราจะได้ทุ่มเทชีวิตของเราทำตามพระประสงค์ดังกล่าว   ด้วยพระกำลังจากพระวิญญาณบริสุทธิ์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

22 กันยายน 2559

คริสตจักร...ครอบครัวพระคริสต์ ที่หนุนเสริมกันเติบโต

พระเจ้าไม่มีพระประสงค์ที่จะให้เราเป็น “เฒ่าทารกในชีวิต จิตวิญญาณ” ตลอดไป แต่พระเจ้าประสงค์ให้เราแต่ละคนเติบโตและเปลี่ยนแปลงให้มีชีวิตเยี่ยงพระคริสต์  

พระเจ้าประสงค์ให้เราแต่ละคนเติบโตขึ้นในทุกด้านของชีวิต

แต่เราต้องระวังหลุมพราง!  

ที่เราต้องเติบโตขึ้นให้มีชีวิตเป็นเฉกเช่นพระเยซูคริสต์   แต่เราไม่สามารถที่จะเติบโตด้วยตัวของเราเองได้   เหมือนกับเด็กทารกที่ไม่สามารถที่จะทำให้ตนเองเจริญเติบโตได้   เด็กน้อยคนนี้ต้องการความช่วยเหลือเอาใจใส่จากพ่อแม่และคนในครอบครัวไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง    ในด้านจิตวิญญาณเราแต่ละคนก็ต้องการคนจากครอบครัว ที่จะเอาใจใส่เลี้ยงดู อภิบาลฟูมฟัก ด้านจิตวิญญาณ และการดำเนินชีวิตประจำวัน

และพลังชีวิตที่ทำให้เราเติบโตแข็งแรงคือ  พระกำลังจากเบื้องบน  

และนี่คือบทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบของครอบครัวคริสตจักร   ที่จะช่วยเลี้ยงดู หนุนเสริมให้สมาชิกเติบโตขึ้น  และสามารถเชื่อมสัมพันธ์กับแหล่งพลังนั้น

พระคัมภีร์บอกเราว่า  “เนื่อง​จาก​พระ​องค์​นี้​เอง ร่าง​กาย​ทั้ง​หมด​จึง​ได้​รับ​การ​เชื่อม​และ​ประ​สาน​เข้า​ด้วย​กัน​โดย​ทุกๆ ข้อ​ต่อ​ที่​ประ​ทาน​มา​นั้น และ​เมื่อ​แต่​ละ​ส่วน​ทำ​งาน​ตาม​หน้าที่​แล้ว ก็​ทำ​ให้​ร่าง​กาย​เจริญ​และ​เสริม​สร้าง​ตน​เอง​ขึ้น​ด้วย​ความ​รัก”  (เอเฟซัส 4:16 มตฐ.)

ในฐานะศิษยาภิบาล ก็มีหน้าที่ความรับผิดชอบที่จะเอาใจใส่ว่า  ผู้คนในคริสตจักรของตนมีชีวิตที่เจริญเติบโต   นี่เป็นงานความรับผิดชอบของศิษยาภิบาลทุกท่าน และ ทีมงานอภิบาล และ แกนนำในคริสตจักร   ตลอดไปจนถึงผู้นำกลุ่มศึกษาพระคัมภีร์   กลุ่มเล็กเพื่อการเสริมสร้าง และ การรับใช้ต่าง ๆ   ซึ่งพระคัมภีร์ได้บอกชัดเจนไว้ว่า   “เพื่อ​เตรียม​ธรรมิก​ชน​สำ​หรับ​การ​ปรนนิบัติและ​การ​เสริม​สร้าง​พระ​กาย​ของ​พระ​คริสต์   จน​กว่า​เรา​ทุก​คน​จะ​บรรลุ​ถึง​ความ​เป็น​น้ำ​หนึ่ง​ใจ​เดียว​กัน​ใน​ความ​เชื่อ​และ​ใน​ความ​รู้​ถึง​พระ​บุตร​ของ​พระ​เจ้า บรรลุ​ถึง​ความ​เป็น​ผู้​ใหญ่ คือ​โต​เต็ม​ถึง​ขนาด​ความ​บริบูรณ์​ของ​พระ​คริสต์” (เอเฟซัส 4:12-13 มตฐ.)  

คำถามที่กระตุ้นเตือนศิษยาภิบาล และ แกนนำคริสตจักรทุกท่านคือ   “เราจะหนุนเสริมสมาชิกเหล่านี้ให้เติบโตขึ้นมีชีวิตเยี่ยงพระคริสต์ได้อย่างไร?”

ในพระมหาบัญชาสั่งให้คริสตจักรสร้างสาวกของพระเยซูคริสต์ในคริสตจักร   การสร้างสาวกของพระเยซูคริสต์เป็นกระบวนการที่หนุนเสริมให้สมาชิกคริสตจักรแต่ละคนมีชีวิตจิตวิญญาณเติบโตขึ้นให้เป็นผู้ใหญ่ในพระคริสต์   นั่นหมายความว่าคริสตจักรต้องเสริมสร้างให้สมาชิกแต่ละคนมีชีวิตที่เป็นสาวก   ที่เติบโตขึ้นมีวุฒิภาวะด้านจิตวิญญาณด้วย   มีวุฒิภาวะในความเชื่อศรัทธา   มีความแข็งแกร่งขึ้นในการดำเนินชีวิตคริสเตียน   แต่ละคนกลายเป็น “กล้ามเนื้อ” ที่แข็งแกร่งมีพลังในร่างกายนั้น คือ คริสตจักร

เกิดคำถามว่า   แล้วเราจะเติบโตขึ้นในการเป็นสาวกของพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร?

ในกิจการ 2:41-42 บอกแก่เราว่า  “คน​ทั้ง​หลาย​ที่​รับ​ถ้อย​คำ​ของ​เป​โตร​ก็​รับ​บัพติสมา ใน​วัน​นั้น​มี​คน​เข้า​เป็น​สา​วก​ประมาณสาม​พัน​คน    เขา​ทั้ง​หลาย​อุทิศ​ตัว​เพื่อ​ฟัง​คำ​สอน​ของ​บรรดา​อัคร​ทูต​และ​ร่วม​สามัคคีธรรม รวม​ทั้ง​หัก​ขนม​ปัง​และ​อธิษ​ฐาน” (กิจการ 2:41-42 มตฐ.)

จุดเริ่มแรกคือ   เราต้องเชื่อ   จากนั้นรับบัพติสมา   และส่วนสำคัญคือ   เราต้องเลือกมีชีวิตในคริสตจักร หรือ ครอบครัวของพระคริสต์ที่เราสามารถเข้ามีส่วนร่วมทั้งในการนมัสการพระเจ้าร่วมกันในคริสตจักร   ร่วมในกลุ่มเล็กที่จะเรียนรู้พระวจนะของพระเจ้า   ร่วมในกลุ่มสามัคคีธรรมที่สร้างเสริมซึ่งกันและกันให้เติบโต และ รับใช้พระคริสต์ตามของประทาน   และร่วมในกลุ่มที่เสริมสร้างให้เรารับใช้พระคริสต์ทั้งในคริสตจักร และ ในชุมชน  

และสิ่งที่สำคัญไม่น้อยคือ   เป็นคริสตจักรที่ศิษยาภิบาล และ แกนนำคริสตจักรมีชีวิตที่เป็นแบบอย่าง   ที่ทำในสิ่งที่สอนและเทศน์  และเทศน์/สอนในสิ่งที่เขาทำในชีวิต   เพื่อเราจะสามารถเรียนรู้ได้จากตัวอย่างชีวิตของคนเหล่านี้

นอกจากนั้นแล้ว   คริสตจักรยังเป็นชุมชนที่เราสามารถเลือกมีเพื่อนสนิท   ที่เป็นทั้งเพื่อนคู่คิด มิตรในความเชื่อและจิตวิญญาณ   ที่จะหนุนเสริมกันและกันให้เติบโตขึ้นในพระคริสต์   ให้เป็นสาวกของพระคริสต์ในพระกายของพระองค์คือคริสตจักร

คริสตจักรในวันนี้   เป็นครอบครัวของพระคริสต์ที่สร้างสาวกของพระองค์อยู่ใช่ไหม?

เราจะตอบสนองการทรงเรียกและพระมหาบัญชาของพระคริสต์อย่างมีประสิทธิภาพ และ เกิดผลกว่าที่เป็นอยู่ได้อย่างไร?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

19 กันยายน 2559

ระวัง... “หนาม” คลุมพื้นที่ชีวิตท่าน!

อะไรที่เป็นสาเหตุให้ชีวิตคริสตชนของเราหยุดชะงักในการเจริญเติบโต?
ทำไม ชีวิตของเราทุกวันนี้ถึงอ่อนเปลี้ยเพลียแรงทั้งกาย และ ใจ?
อะไรที่ เข้ามายึดคลุมพื้นที่ชีวิต   ดูดแย่งพลังชีวิต “น้ำเลี้ยงชีวิต” ของเราไปหมด?

ส่วน​พืช​ที่​หว่าน​ลง​กลาง​หนาม​ นั้น​ได้​แก่​คน​ที่​ได้​ยิน​พระ​วจนะ
แล้ว​ความ​กังวล ของ​โลก
และ​ความ​ลุ่ม​หลง​ ใน​ทรัพย์​สมบัติ
และ​ความ​โลภ​ ใน​สิ่ง​ต่าง ๆ ประ​ดัง​เข้า​มา
และ​รัด​พระ​วจนะ​นั้น จึง​ไม่​เกิด​ผล (มาระโก 4:18-19 มตฐ.)

ในมาระโกบทที่ 4 เป็นการกล่าวถึงชุดคำอุปมาต่าง ๆ ที่เปรียบเทียบให้เห็นถึงลักษณะของแผ่นดินพระเจ้า   อุปมาแรกมักเรียกกันว่าอุปมาเรื่องผู้หว่านพืช   ทั้ง ๆ ที่น่าจะตั้งชื่อคำอุปมานี้ว่า “ท่านเป็นดินประเภทไหน?”  

ใช่...อุปมาเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกษตรกรออกไปหว่านเมล็ดพืช   แต่เรื่องราวในคำอุปมามิได้มุ่งเน้นที่วิธีการหว่านพืช   เพราะตามเนื้อหาเรื่องราวกล่าวถึงคนหว่านพืชที่ดูเหมือนว่า หว่านไปตามยถากรรม   แล้วแต่ว่าเมล็ดที่หว่านนั้นจะตกลงไปที่ดินในลักษณะไหน เช่น  ตกลงไปในดินที่แข็ง  ดินที่ปนหิน  หรือพื้นดินที่ถูกครอบคลุมด้วยพงหนาม   เมล็ดที่ตกลงในดินชนิดเหล่านี้จะไม่งอกงามเจริญเติบโต  

แต่เมล็ดที่ตกลงในดินดีที่อุดมสมบูรณ์   เมล็ดเหล่านั้นงอก  เจริญ เติบโต  และเกิดผล  ทำให้เก็บเกี่ยวได้ผลผลิตมากมาย   แล้วพระเยซูคริสต์ได้อธิบายคำอุปมานี้ให้สาวกฟัง  ถึงความหมายของดินแต่ละชนิดในคำอุปมา  ซึ่งเปรียบเหมือนกับคนประเภทต่าง ๆ ที่ตอบสนองต่อข่าวดีแห่งแผ่นดินของพระเจ้าในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป

ข้อเขียนนี้  มุ่งเน้นที่จะพิจารณาถึงเมล็ดที่ตกลงในดินที่ถูกปกคลุมด้วยพงหนาม   หนามในความหมายของพระเยซูคือ  คนที่กังวลเกี่ยวกับชีวิตในสถานการณ์โลก  ลุ่มหลงในทรัพย์สมบัติ  โลภในสิ่งต่าง ๆ ที่ประดังเข้าไปหาตัวเขา   สิ่งเหล่านี้ที่ขัดขวาง ปกคลุม ปิดบัง ปิดกั้นไม่ให้เมล็ด(แห่งแผ่นดินของพระเจ้า)งอกงามเติบโต (4:19)

จากภาพอุปมาในประการนี้ได้สะท้อนชัดถึงเรื่องการอภิบาลชีวิตผู้เชื่อ/สาวกของพระคริสต์  

ในปัจจุบันนี้เราพบว่า  สมาชิกคริสตจักรหลายคนมีชีวิตที่ “หยุดการเจริญเติบโต”   เพราะชีวิตของคนกลุ่มนี้หมกมุ่นกังวลอยู่กับการแสวงหาและสร้างความมั่งคั่งมั่นคงในชีวิต   บ้างต้องใช้หนี้ที่จ่ายไปล่วงหน้า อย่างเอาเป็นเอาตาย   เขาทุ่มเทแรงกายแรงใจในชีวิตกับการทำงาน   มากกว่าสิ่งที่จำเป็นในชีวิต    มุ่งสร้างความสะดวกสบาย  ความทันสมัย   และในเวลาเดียวกันก็ไม่พอใจในชีวิตที่ตนเป็นอยู่  หรือ หัวเสียในเรื่องต่าง ๆ ที่ไม่ได้ดั่งใจปรารถนา   บ้างก็ไม่พอใจในรูปร่างทรวดทรงตนเอง  บ้างก็กังวลเกี่ยวกับอนาคตของลูก   สิ่งที่เขาให้กับพระเจ้าคือเศษเดนพลังชีวิตและความสนใจที่หลงเหลือจากที่เขาใช้กับสิ่งอื่น

หนามเหล่านี้เข้ามาปกคลุม รังควาน และยึดพื้นที่บนดินไปหมด   แสดงถึงความวิตกกังวลในเรื่องต่าง ๆ ในชีวิต  ความลุ่มหลงในทรัพย์สมบัติ  ความโลภในสิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามาแย่งพื้นที่ความสนใจของเรา   และแสดงออกถึงสภาพชีวิตการเป็นสาวกของพระคริสต์ในชีวิตของเรา   เป็นการง่ายที่เราจะยอมให้จิตสำนึกและความสนใจ    ความกระตือรือร้นของเราให้หันเหออกไปจากแผ่นดินของพระเจ้า   ที่สำคัญกว่านั้น  ความอยากได้ใคร่มี และ ความโลภ  ความกังวลของเรากลับดูดซับเอาพลังวังชาแห่งชีวิตของเราไปหมด  เฉกเช่นหนามเล็กหนามใหญ่ที่ปกคลุมพื้นที่แผ่นดินนั้นดูดซับเอาอาหารความอุดมสมบูรณ์จากพื้นดินไปหมดสิ้น   จึงทำให้เมล็ดที่งอกไม่สามารถเจริญเติบโตเพราะขาดอาหารที่จะบำรุงเลี้ยง   ชีวิตของเราก็ถูกดูดซับทั้งกำลัง และ เวลาของเราที่ควรจะมีสำหรับของพระเจ้าไปหมดสิ้น   ชีวิตประจำวันของสาวกพระคริสต์จึงอ่อนเพลี้ยเพลียแรง   พลังความเชื่อศรัทธาของเราที่มีต่อพระเจ้าก็เสื่อมโทรมไป 

ในภาวะที่พลังชีวิตในฐานะสาวกของพระคริสต์ถูก “เขมือบ” โดยความวิตกกังวล   ความลุ่มหลงในทรัพย์สมบัติ   และความโลภในสิ่งต่าง ๆ   เราจะต้องตัดสินใจที่จะ “ขุดรากถอนโคน” เอาหนามเหล่านั้นออกจากพื้นที่แห่งชีวิตของเรา  ขุดหนามทิ้ง(มิใช่ตัดเท่านั้น) แล้วพรวนดิน  และหว่านเมล็ดแห่งพระวจนะลงบนพื้นดินนั้นอีกครั้งหนึ่ง  

หลายครั้งเรามีกำลังไม่มากพอที่จัดการด้วยตนเองในเรื่องนี้ได้   เราต้องการกำลังช่วยเหลือจากเพื่อนสมาชิกในคริสตจักร  ศิษยาภิบาล  และผู้ชี้นำทางชีวิตจิตวิญญาณเข้ามาช่วยเหลือเสริมหนุนชีวิตของเรา  

และที่มีคริสตจักรก็เพื่อการนี้ด้วยมิใช่หรือ? (คำถามคือ คริสตจักรปัจจุบันได้ทำหน้าที่นี้หรือไม่?)
คริสตจักรของเรา กระทำพันธกิจการเสริมสร้าง และ หนุนเสริมนี้หรือไม่?   มากน้อยแค่ไหน?
แล้วตัวเราเอง ในฐานะหนึ่งในพระกายพระคริสต์คือคริสตจักรได้ทำอะไรบ้าง?

วันนี้  มีอะไรที่เป็น “พงหนาม” ที่ปกคลุมพื้นที่ในชีวิตในชีวิตประจำวันของท่าน?

ท่านจะทำอย่างไรกับ “พงหนาม” ดังกล่าว?   ท่านคิดว่าพระเจ้าจะมีส่วนอะไร/อย่างไรกับ “พงหนาม” ในชีวิตของท่าน?   แล้วเพื่อนสมาชิกในคริสตจักรคนใดที่จะเข้ามามีส่วนหนุนเสริมท่านในเรื่อนี้?  และควรหนุนเสริมเช่นไร?   และท่านจะมีส่วนหนุนเสริมเพื่อนสมาชิกคริสตจักรคนใดบ้างในการขจัด “พงหนาม” ออกจากชีวิต?   แล้วท่านจะหนุนเสริมเขาอย่างไร?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

14 กันยายน 2559

คนมีปัญญาตั้งคำถามเพื่อที่จะฟัง!

ความนึกคิดของมนุษย์นั้นเหมือนบ่อน้ำลึก
แต่ผู้ที่มีความเข้าอกเข้าใจสามารถลงลึกถึงปัญญาที่อยู่ก้นบ่อในความนึกคิดของคน
(สุภาษิต 20:5 สมช.)

ถ้าเราต้องการมีปัญญา และ ได้ปัญญา เราต้องถาม   และถามคำถามที่คมชัดและมีปัญญา

ในพระธรรม สุภาษิต 20:5 เขียนไว้ว่า  “ความ​ประ​สงค์​ใน​ใจ​คน​เหมือน​น้ำ​ลึก   แต่​คน​ที่​มี​ความ​เข้า​ใจ​จะ​วิด​มัน​ออก​มา​ได้” (มตฐ.)   ส่วนอมตะธรรม แปลว่า ความคิดดีเหมือนน้ำที่อยู่ลึกในใจคน    แต่คนที่มีความเข้าใจก็ตักมันออกมาได้ (อมต.)  ผมขออนุญาตแปลว่า  “ความนึกคิดของมนุษย์นั้นเหมือนบ่อน้ำลึก   แต่ผู้ที่มีความเข้าอกเข้าใจสามารถลงลึกถึงปัญญาที่อยู่ก้นบ่อในความนึกคิดของคน” (สมช. สำนวนสามัญชน)

เราจะตักเอาน้ำในบ่อลึกได้อย่างไร?   เราจะดึงเอาความนึกคิดที่มีปัญญาออกมาจากคนได้อย่างไร?

ก็ด้วยการตั้งคำถามที่ดี   คำถามที่ชัดเจน  ด้วยปัญญาแหลมคม!

เมื่อคนภูธรอย่างผมลงกรุงเทพฯ   ต้องอาศัยรถแท็กซี่พาผมไปที่จุดหมายปลายทาง   ผมอยากจะรู้เรื่องการเมือง   เรื่องเศรษฐกิจ  หรือ เรื่องในสังคม  ผมถามคนขับแท็กซี่   และบ่อยครั้งเหลือเกินที่ผมเรียนรู้สิ่งดี ๆ มีปัญญาจากคนขับแท็กซี่   ไม่แพ้อาจารย์ระดับดอกเตอร์ที่บรรยายในวันนั้น   หรือ ท่านผู้บริหารสถาบันและองค์กรที่โด่งดังที่พูดในวันนั้น   ผมเรียนรู้ว่า   แท้จริงแล้วเราสามารถเรียนรู้ และ ได้รับปัญญาจากคนทุกระดับชั้น   เพียงถ้าเราสามารถถามคำถามที่ชัดเจนแหลมคม  

และสิ่งสำคัญประการต่อมาคือ  ถามแล้วต้องฟังอย่างใส่ใจ ครับ

เมื่อผมดูทีวีโดยเฉพาะข่าวเมื่อมีการสัมภาษณ์   ผมมักจะหงุดหงิดกับพิธีกรหรือผู้สัมภาษณ์ในรายการ  ที่ถามคำถามเพื่ออวดภูมิความรู้เท่าทันของตน   ไม่ได้ตั้งคำถามที่จะขุดจะดึงเอาปัญญาความคิดจากผู้ให้สัมภาษณ์   พิธีกรเหล่านี้น่ารำคาญ   มักสอดแทรกถามตัดหน้าอย่าง “อวดรู้”   ที่อึดอัดคับข้องใจกว่านั้น  เพราะเมื่อดูรายการนั้นผ่านทีวี   ผมไม่มีโอกาสถามในสิ่งที่ต้องการเรียนรู้   ยิ่งสร้างความรำคาญขัดแย้งในใจมากขึ้น   แก้ปัญหาด้วยการปิดเครื่องไม่ดูไม่ฟังคำถามที่ “งี่เง่า”  “สอดรู้” ของคนสัมภาษณ์เหล่านั้น

การขุดค้น ดูดดึงเอาน้ำแห่งปัญญาให้ขึ้นจากบ่อลึกแห่งความคิดคือ  การที่เราจะรู้จักถามคำถามที่ชัดเจนแหลมคม   และรู้จักที่จะฟังอย่างใส่ใจต่างหาก  ที่เราจะนำมาสะท้อนคิด  ที่เราจะได้เรียนรู้   ที่เราจะได้ปัญญา

ในการประชุมสำคัญ ๆ ของทั้งระดับองค์กร  ระดับชาติ หรือ นานาชาติ  เช่น  การประชุมสภาฯ  สมัชชา  และ ฯลฯ   เรามีแต่คนที่ต้องการ “พูดมาก”  จนลืมตั้งคำถามตนเองด้วยคำถามที่ชัดเจนและแหลมคม (พวกทำตัวเป็นดาวสภาฯ)  ในการประชุมเหล่านี้จึงไม่ค่อยเสริมสร้างสติปัญญา   แต่มักเสริมสร้างแต่ความแตกหัก  ขัดแย้ง  บาดแผล  จนกลายเป็นสมัชชา หรือ การประชุมสภาฯ  ด้อยปัญญาไปก็มีมาก

ปัญญาเกิดจากการที่ต้องการที่จะรู้เรื่องนั้นอย่างลึกซึ้ง  ถูกต้อง  สัจจริง   จึงต้องพยายามที่จะตั้งคำถามที่ชัดเจนและแหลมคม   เพื่อที่จะขุดค้นหาปัญญาจากบ่อลึกของผู้คนต่าง ๆ   รากฐานสำคัญที่จะได้ปัญญาจึงขึ้นอยู่กับความตั้งใจที่จะเรียนรู้และมีความสัมพันธ์ที่จริงใจ  และใช้เวลาในการฟังอย่างใส่ใจและใคร่ครวญ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

09 กันยายน 2559

เติมเต็มชีวิตด้วยสัจจะ... ไม่ใช่ด้วยขยะ!

ใจ​ของ​คน​ที่​มี​ความ​เข้าใจ​ก็​แสวง​หา​ความ​รู้
แต่​ปาก​ของ​คน​โง่​กิน​ความ​โง่​เป็น​อา​หาร  (สุภาษิต 15:14 มตฐ.)

คนฉลาดหิวหาปัญญา
ในขณะที่คนโง่บริโภคขยะชีวิต (สุภาษิต 15:14 สมช.)

ถ้าเราต้องการเป็นคนที่มีปัญญา   สิ่งแรกที่เราต้องแสวงหาคือแหล่งแห่งปัญญา   สำหรับคริสตชนแล้ว พระคัมภีร์คือแหล่งแห่งปัญญา   พระวจนะเป็นรากฐานแห่งปัญญาสำหรับชีวิตของเรา   สุภาษิต 2:6 กล่าวว่า   พราะ​พระ​ยาห์​เวห์​ประ​ทานปัญญา  และ​จาก​พระโอษฐ์​ของ​พระองค์ ความ​รู้​กับ​ความ​เข้า​ใจ​ก็​ออก​มา (มตฐ.)

ด้วยเหตุนี้เองที่คริสตชนจะต้องอ่านพระวจนะของพระเจ้าทุกวัน  ต้องเฝ้าเดี่ยวเป็นประจำ   มีเวลาใกล้ชิดใคร่ครวญถึงพระวจนะ และ พระราชกิจที่ทำในชีวิตประจำวันของเรา   และนั่นคือการที่เรานำพระปัญญาเป็นอาหารหล่อเลี้ยงชีวิตจิตวิญญาณของเราให้เติบโต แข็งแรง  มีภูมิต้านทานสิ่งร้ายพิษภัยที่แทรกซึมเข้าในชีวิตจิตวิญญาณของเรา  

ดังนั้น  คนมีปัญญาจึงหิวหาปัญญา   ในขณะที่คนโง่บริโภคขยะชีวิต

“อาหารที่เป็นพิษ” เป็นอาหารประเภทหนึ่ง   ที่หลาย ๆ คนคิดถึงสิ่งที่เราบริโภคเข้าไปแล้วเป็นพิษเป็นภัยต่อร่างกายของเรา   แต่ในเวลาเดียวกันเราก็ไม่ควรมองข้าม “ขยะพิษของชีวิต”  ที่เป็นความคิด  มุมมองที่เป็นภัย  และสิ่งกระตุ้นยั่วยวนต่าง ๆ ที่ปรากฏในสื่อทันสมัยในปัจจุบันนี้

“อาหารขยะ”  ก็เป็นสิ่งที่เราบริโภคเข้าไปในชีวิตของเราอีกประเภทหนึ่งที่เราต้องระมัดระวัง   แม้จะมิได้มีพิษภัยร้ายแรง   เป็นสิ่งที่เราบริโภคอย่างเคยชิน เพราะมันสะดวก  รสชาติถูกใจถูกปาก   แต่มันไม่ได้เป็นประโยชน์สำหรับชีวิตของเรา   แต่ในระยะยาวอาจจะเป็นภัยเงียบที่ทำร้ายชีวิตของเราได้ในที่สุด   เราอาจจะสมบูรณ์เกินความพอดี  ที่เราเรียกว่า “โรคอ้วน” ก็ได้

“อาหารที่สร้างเสริมชีวิต”  นอกจากอาหารที่ดีมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ และ ปลอดภัยจากสารพิษ   และภัยเงียบที่สร้างความอ่อนแอแก่ชีวิตของเราแล้ว   ยังเป็นสิ่งที่เรานำเข้าชีวิตของเราแล้วเกิดการเสริมสร้างความเติบโต แข็งแรง  และมีภูมิคุ้มกันสิ่งร้ายภัยชั่วที่ถาโถมเข้าในชีวิตของเราได้

สำหรับคริสตชนแล้ว   พระธรรมสุภาษิต 15:14 บอกไว้ว่า  “ใจสุขุมใฝ่หาความรู้    แต่คนโง่กินความโง่เป็นอาหาร” (อมต.)   ผมขออนุญาตเรียบเรียงพระคัมภีร์ข้อนี้ใหม่สำหรับยุคนี้ว่า  “คนฉลาดหิวหาปัญญา   ในขณะที่คนโง่บริโภคขยะชีวิต (สุภาษิต 15:14 สมช.)

ด้วยเหตุนี้เราจึงส่งเสริมเชิญชวนทุกคนว่า   ให้เราเริ่มต้นวันใหม่ด้วยการนำ “พระวจนะของพระเจ้า” เข้าในชีวิตของเรา   เพื่อเป็นปัญญาชีวิต   อย่ารีบด่วนเริ่มวันใหม่ด้วยการไขว่คว้าเอา “ขยะชีวิต”  ที่อาจจะทำให้เราหายหิว   แต่ไม่เป็นประโยชน์อะไรสำหรับชีวิตของเรา   และเผลอ ๆ กลับให้โทษโดยไม่ทันรู้เท่าทันครับ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

06 กันยายน 2559

เรามี...ผู้นำที่มีเอกภาพ หรือ แปลกแยกในชีวิต?

พระ​ยาห์​เวห์​ทรง​เกลียด​ชัง​ตา​ชั่ง​ขี้​โกง
แต่​ทรง​ปีติ​ยิน​ดี​ใน​ตุ้ม​น้ำ​หนัก​ที่​ยุติ​ธรรม (สุภาษิต 11:1 มตฐ.)
พระเจ้าเกลียดชังกลโกงในตลาด ในที่ทำงาน
แต่พระเจ้าชื่นชอบกิจการงานที่ยุติธรรม
[สุภาษิต 11:1 สมช. (พระคัมภีร์ฉบับสามัญชน)]

คนสัตย์ซื่อถือคุณธรรม (integrity)  เป็นคนที่มีความเป็นเอกภาพในชีวิตของตน ไม่ใช่คนที่ “ตีสองหน้า”  หรือเป็นคนที่แกล้งทำตัวเป็นคนที่สัตย์ซื่อถือคุณธรรม  เขาไม่ใช่คนหน้าไหว้หลังหลอก หรือ คนที่แสแสร้งแกล้งทำ  เฉกเช่นคนที่ “มือถือสากปากถือศีล” หรือ อย่างพวกฟาริสีที่พระเยซูคริสต์ประณามว่าเป็นพวก “หน้าซื่อใจคด” เป็นต้น   ชีวิตของคนพวกที่กล่าวมานี้เป็นชีวิตที่แปลกแยก  ขัดแย้ง ในตัวของตนเอง

ส่วนคนที่สัตย์ซื่อถือคุณธรรม (integrity)  เป็นชีวิตที่มีเอกภาพ  เป็นชีวิตที่สอดสานเข้าเป็นชีวิตเดียวกัน   เป็นชีวิตที่ครบบริบูรณ์  ความคิดและพฤติกรรมชีวิตสอดคล้องเข้ากัน   คนที่สัตย์ซื่อถือคุณธรรมไม่มีอะไรที่ “ซุกซ่อน” “เร้นลับ” ในชีวิต   ดังนั้น ชีวิตของเขาจึงไม่ต้อง “กลัว”  เป็นชีวิตที่เปิดเผย  ไม่ต้องปิดบังซ่อนเร้น   เป็นชีวิตที่เปิดเผยโปร่งใส   เป็นชีวิตที่มีระบบคุณค่าที่หยั่งรากบนระบบคุณค่าตามพระกิตติคุณของพระคริสต์ และ คำสอนในคริสต์คัมภีร์

ชีวิตสัตย์ซื่อถือคุณธรรมตามพระคัมภีร์และพระกิตติคุณเป็นแกนแก่นในการดำเนินชีวิต   จึงเป็นตัวกำหนดควบคุมการสำแดงออกชัดเจนเป็นรูปธรรมในการปฏิบัติและการดำเนินชีวิตของเราแต่ละคน  และสิ่งที่คน ๆ นั้นสำแดงออกจะไม่มีความขัดแย้งกับความปรารถนาแห่งส่วนลึกในจิตใจและความรู้สึกของตน   ซึ่งเป็นสงครามที่สามารถเกิดขึ้นได้ในจิตวิญญาณของทุกคน   ยากที่ใครจะปฏิเสธได้

แต่สำหรับคนที่สัตย์ซื่อถือคุณธรรมจะมีพลังที่จะสำแดงออกถึงความสัตย์ซื่อและยืนหยัดบนคุณธรรมเหนือกว่าและเด่นกว่า   ในแต่ละวันเราเผชิญปล้ำสู้ในชีวิตจิตวิญญาณของเรา   เราแต่ละคนต้องตัดสินใจเลือกระหว่างสิ่งที่เราปรารถนา กระทำ กับ สิ่งที่เราควร กระทำ

ชีวิตสัตย์ซื่อถือคุณธรรม เป็นรากฐานของหลักเกณฑ์ที่เราแต่ละคนใช้ในการตัดสินใจที่จะมีพลังแก้ปัญหาของความขัดแย้งหรือแรงดึงตึงเครียดในชีวิต  ความสัตย์ซื่อถือคุณธรรมในชีวิตเป็นพลังพร้อมที่จะช่วยคน ๆ นั้นในการเผชิญหน้ากับสถานการณ์แบบใดก็ตาม  หรือการต้องเข้าไปเกี่ยวข้องหรือมีปฏิสัมพันธ์กับคนแบบไหนก็ตาม   หรือแม้ต้องตกลงในการทดลองใด ๆ การมีชีวิตที่สัตย์ซื่อถือคุณธรรมทำให้ชีวิตของเราแต่ละคนมีเอกภาพเป็นหนึ่งเดียว   ที่ไม่เกิดความแปลกแยก ขัดแย้ง ในตนเอง   ดังนั้น คน ๆ นั้นจึงพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับทุกเส้นทางชีวิต

ทุกวันนี้ เราต้องการผู้นำทั้งในคริสตจักร  ในสถาบัน และ หน่วยงานคริสตชน ที่มีชีวิตที่สัตย์ซื่อถือคุณธรรมบนรากฐานพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ และ พระคัมภีร์  

ยิ่งกว่านั้น  เราต้องการให้คริสตชนแต่ละคนเป็นคนที่มีชีวิตที่สัตย์ซื่อและถือคุณธรรมของพระคริสต์ในที่ทำงาน ในชุมชน  และในครอบครัว

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

01 กันยายน 2559

นิมิตพลิกสังคมโลกอย่างคุณแม่เทเรซา

ชีวิตแม่เทเรซาได้เป็นแบบอย่างที่สะท้อนถึงชีวิตที่อุทิศด้วยรักเมตตา กรุณา และเสียสละของพระคริสต์ อย่างเป็นรูปธรรม   คุณแม่มีความเข้าใจอย่างลุ่มลึกในคำสอนของพระคริสต์ด้วยการดำเนินชีวิตตามคำสอนนั้นในการรับใช้ท่ามกลางผู้คนที่ถูกเหยียบย่ำ  กดขี่  เอารัดเอาเปรียบจากคนอื่น ๆ รอบข้าง

เพราะความเชื่อศรัทธาของคุณแม่เทเรซา   ที่เป็นความเชื่อด้วยการปฏิบัติ   ดังนั้น คุณแม่จึงสามารถที่สะท้อนถึงแก่นแกนความหมายของความรักเมตตากรุณา,  การอธิษฐานภาวนา,  การให้รวมถึงการให้ชีวิต,  การบริการรับใช้,  ความยากจน,  การให้อภัย,  และในอีกมากมายหลายเรื่อง   ซึ่งการสะท้อนความหมายของคำเหล่านี้อย่างลุ่มลึกของคุณแม่เกิดขึ้นจากการรับใช้ด้วยการให้ชีวิต   และมีโอกาสสะท้อนคิดถึงความรู้สึก ประสบการณ์จากการรับใช้นั้น

สำหรับคุณแม่เทเรซาแล้ว  คำเทศนา   การประกาศข่าวดี(ข่าวประเสริฐ)ของพระเยซูคริสต์  และการทำคริสต์ศาสนศาสตร์เริ่มต้นที่การยอมตนทำตามคำสอนและแบบอย่างชีวิตของพระคริสต์   ซึ่งสวนทางกับนักเทศน์  นักประกาศฯ  และนักคริสต์ศาสนศาสตร์ในปัจจุบันส่วนมากที่เริ่มต้นคิดค้นให้รู้ก่อนเพื่อนำสู่การปฏิบัติ   และบ่อยครั้งที่มักมีแรงจูงใจให้เทศน์ ให้ประกาศฯ  และสร้างคำสอนคริสต์ศาสนศาสตร์เพื่อจะเป็นแนวทางสำหรับการปฏิบัติ?  

แต่สำหรับคุณแม่เทเรซาแล้ว  การเทศนา  การประกาศฯ  และการทำคริสต์ศาสนศาสตร์เริ่มต้นที่การปฏิบัติ  เริ่มต้นที่ลงมือทำเพื่อมีประสบการณ์ตรงในความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ และ กับพระเจ้า   และเมื่อมีเวลาสงบและสะท้อนคิดต่อพระพักตร์พระเจ้า   ในเวลานั้นต่างหากที่จะได้มาซึ่งคำเทศนา  การประกาศข่าวดีฯ   หรือคริสต์ศาสนศาสตร์ที่เด่นชัดอย่างเป็นรูปธรรม

บ่อยครั้งหรือไม่ครับ...ที่สถาบันศาสนศาสตร์ศึกษาสร้างคนรับใช้สวนทางกับสัจจะความจริงในสิ่งนี้?

ท่ามกลางสภาพสังคมโลกที่ยากจนข้นแค้นและเจ็บปวดในปัจจุบัน   คุณแม่เทเรซาได้สะท้อนแสงสว่างที่อบอุ่นแห่งความรักเมตตาของพระเจ้ามายังคนในสังคมเช่นนั้น   คุณแม่เทเรซาทำตามคำสอนของพระคริสต์ที่ว่า “...ท่านทั้งหลายเป็นความสว่างของโลก”   พระองค์เชิญชวนให้เราเป็นแสงสว่างของพระองค์ที่สะท้อนส่องแสงของพระคริสต์ท่ามกลางสังคมโลกใบนี้

ตลอดชีวิตของคุณแม่เทเรซา  ท่านดำเนินชีวิตเป็นเหมือนแสงสว่างจากตะเกียงดวงเล็ก ๆ  ที่เป็นแสงสว่างสำหรับคนยากไร้ต่ำต้อยแต่ละคนที่ตกจมลงในความมืดมิดเหน็บหนาวเย็นชาแห่งสังคมโลกในปัจจุบัน   และส่งผลกระทบกลายเป็นแสงสว่างดวงน้อยที่แผ่แสงสว่างจ้าในชีวิตของผู้มั่งคั่งที่จนเจ็บในชีวิตสังคมเจริญมั่งคั่งและทันสมัยบางคนด้วย    เพราะการใส่ใจด้วยชีวิตจิตใจ และ การทุ่มตนลงเคียงข้าง “คลุกฝุ่นชีวิต” กับผู้คนข้างถนน  ไร้บ้าน  และที่กำลังจะตายเหล่านั้น   ที่สะท้อนและเป็นความอบอุ่นที่คนต่ำต้อยเหล่านั้นสามารถเห็นและสัมผัสถึงความรักเมตตา และ การเคียงข้างอยู่ใกล้ของพระเจ้าท่ามกลางชีวิตของพวกเขา

ตลอดชีวิตของคุณแม่เทเรซา   ท่านดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระคริสต์ที่บอกว่า  พระองค์เป็นอาหารแห่งชีวิตของสังคมโลก   และพระองค์ให้ชีวิตแก่ผู้คนที่กระหาย อดอยาก หิวโหย เหล่านั้น   คุณแม่เทเรซา ได้ใช้ชีวิตของคุณแม่เพื่อจะเป็นอาหารทั้งทางกาย  จิตใจ  สังคม  และจิตวิญญาณแก่ผู้คนในสังคมโลกนี้   คุณแม่เป็นอาหารแก่คนในสังคมที่อดอยาก แร้นแค้น  หิว โหยหา ความรักเมตตาที่อบอุ่น   คุณแม่เทเรซาเป็นอาหารที่เป็นคำตอบต่อความหิวโหยความรักเมตตา และ การมีโอกาสสัมผัสกับสิ่งที่เป็นสัจจะจริงแท้ในชีวิต   และที่สำคัญคือ  ตลอดชีวิตของคุณแม่ไม่มีสิ่งใดที่จะมีอิทธิพล หรือ พลังมากีดกั้นการที่จะมีชีวิตที่สะท้อนถึงแสงสว่าง และ แผ่คลุมชีวิตผู้คนเล็กน้อย และ ยากไร้ด้วยความอบอุ่นของพระคริสต์

พระเจ้ามิได้ทรงเรียกคุณแม่เทเรซาที่จะเป็นผู้ส่องสะท้อนแสงสว่างของพระองค์  และ  แผ่ซ่านความรักเมตตาที่อบอุ่นของพระองค์แก่ผู้คนในสังคมโลกปัจจุบันเท่านั้น   แต่พระเจ้าทรงเรียกท่านและผมให้เป็นผู้ส่องสะท้อนแสงสว่าง และ แผ่รังสีความอบอุ่นของพระคริสต์แก่ผู้คนในชุมชนที่เราท่านอาศัย และ ทำงานด้วย

ท่านไม่จำเป็นต้องตอบสนองการทรงเรียกของพระองค์ด้วยการไปบวชเป็นชีเป็นพระอย่างคุณแม่เทเรซาและอีกหลาย ๆ ท่าน   ท่านอาจจะไม่จำเป็นต้องตอบสนองด้วยการลาออกจากงานแล้วไปเรียนพระคริสต์ธรรมเหมือนกับศิษยาภิบาลหลายท่าน   และอาจจะไม่จำเป็นที่ท่านจะต้องเข้าไปรับการอบรมหลักสูตรต่าง ๆ มากมายเพื่อจะออกไปประกาศพระกิตติคุณได้

เราท่านสามารถตอบสนองการทรงเรียกของพระเจ้าให้เป็นผู้ส่องสะท้อนแสงสว่างของพระองค์  และ  นำความรักเมตตาที่อบอุ่นของพระคริสต์ไปยังผู้คนในสังคมที่เราอยู่ด้วย  ทำงานด้วย   และต้องไม่ลืมว่า ที่เราสามารถส่องสว่างของพระคริสต์เพราะพลังฤทธิ์เดชของพระคริสต์อยู่ในชีวิตประจำวันของเรา   เราไม่ได้ทำเพราะ “เรารู้  เราทำได้  เราเก่ง”   แต่ที่เราทำได้เพราะพระคริสต์ในตัวเราเป็นผู้ที่กระทำ และ สอนให้เรารู้จักที่จะทำตามพระประสงค์ของพระองค์   และถ้าเราตัดสินใจยอมตนทำตามที่พระคริสต์ประสงค์   เมื่อนั้น ชีวิตของเราจะได้รับการเสริมสร้างใหม่ให้ค่อย ๆ พัฒนาสามารถตอบสนองการทรงเรียกของพระเจ้าที่สอดคล้องกับสถานการณ์ชีวิตในเวลานั้น ๆ   เราจะเรียนรู้ได้มากขึ้นเรื่อย ๆ   และเป็นการเรียนรู้ถึงชีวิตการเป็นสาวกของพระคริสต์ในตัวเราเติบโตขึ้นด้วย

หัวใจการทำงานรับใช้ของคุณแม่เทเรซาคือ   พระมหาบัญญัติ  เมื่อรักพระเจ้าด้วยสุดชีวิต   ก็จะรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง   พันธกิจแห่งความรัก เมตตา และการให้ชีวิตของคุณแม่เทเรซา เป็นการทำพันธกิจที่มุ่งตรงลงลึกในชีวิตของผู้คน   และเน้นที่แต่ละคน   เมื่อพันธกิจของคุณแม่เทเรซามุ่งที่กอบกู้ชีวิต  ท่านเริ่มต้นที่ให้ความรัก เมตตา และให้ชีวิต   พันธกิจของท่านจึงไม่จำเป็นที่จะต้องเริ่มต้นจากเงินทุน หรือ งบประมาณโครงการ   แต่ท่านใช้ “ทุนชีวิต” ที่เป็นของประทานจากพระเจ้าในการทำพันธกิจในแต่ละวันและในแต่ละสถานการณ์

สำหรับคุณแม่แล้ว  เราท่านรักพระเจ้าด้วยสุดหัวใจ แล้ว รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเองได้นั้น   ย่อมเริ่มต้นที่การดำเนินชีวิตประจำวันของเราว่า   ชีวิต  ท่าที  และการกระทำของเราได้ทำตามพระมหาบัญญัติหรือไม่   การเริ่มทำตามพระมหาบัญญัติ  แล้วมีโอกาสที่จะสงบชีวิตของตนที่จะใคร่ครวญถึงประสบการณ์ที่ได้รับจากการกระทำพระมหาบัญญัติต่อพระพักตร์พระเจ้า  คือโอกาสการเสริมสร้างชีวิตการเป็นสาวกของพระคริสต์ในเราแต่ละคนให้เติบโตและเข้มแข็งยิ่งขึ้น

อีกประการหนึ่ง   การทรงเรียกของพระคริสต์ต่อชีวิตของคุณแม่เทเรซา   มิใช่เพื่อคุณแม่จะได้เป็นคนดี และ ทำดีเท่านั้น   แต่พระคริสต์ทรงเรียกคุณแม่เทเรซาที่จะต้องสนใจ ห่วงใย  และใส่ใจชีวิตของคนอื่น ๆ ด้วย   ดังที่เปาโลกล่าวไว้ใน ฟิลิปปี 2:4 ที่ว่า  “อย่า​ให้​ต่าง​คน​ต่าง​เห็น​แก่​ประ​โยชน์​ของ​ตน​เอง แต่​จง​เห็น​แก่​ประ​โยชน์​ของ​คน​อื่น ๆ ด้วย” 

การกระทำ และ คำกล่าวของคุณแม่เทเรซาเป็นที่ตรึงจิต ชูใจ แก่ผู้คนในการที่จะมีชีวิตที่เป็นสาวกติดตามพระคริสต์ด้วยทั้งชีวิต   งานรับใช้ของคุณแม่ไม่ได้เริ่มต้นด้วย “เงิน และ งบประมาณ”   แต่เริ่มต้นด้วย “ทุนการพึ่งพิงในพระเจ้า”   คุณแม่และทีมงานรับใช้ได้อภิบาลชีวิตคนเจ็บป่วยที่ไม่มีผู้เหลียวแล  คนที่กำลังนอนรอความตายข้างทางเท้า   เอาใจใส่เด็กข้างถนน   ให้ที่คุ้มหัวแก่ผู้ไร้ที่พักพิง   ใจใส่คนที่ไม่มีใครใส่ใจ   คนว้าเหว่  คนถูกทอดทิ้ง   คุณแม่และทีมงานสำแดงพระประสงค์ของพระเจ้าผ่านทางการกระทำ   การประเล้าประโลมและการชูใจ   ผ่านการวางรากฐานความคิดในการมีชีวิตด้วยพระวจนะ   พลังที่ยิ่งใหญ่ในการรับใช้ของคุณแม่และทีมงานคือการทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อตอบสนองพระประสงค์ของพระเจ้า   มีชีวิตตามคำสอนของพระคริสต์

การทำงานรับใช้ต่อผู้คนที่พระคริสต์ทรงเรียกนั้น   เป็นการกระทำเพื่อตอบสนองพระประสงค์ของพระเจ้า   ด้วยพลังชีวิตของพระคริสต์ที่มีอยู่ในตัวผู้ที่ได้รับการทรงเรียกจากพระเจ้าแต่ละคน  

บทเรียนสำคัญในที่นี้คือ   เมื่อพระเจ้าทรงเรียก  พระองค์ทรงเตรียมพลัง และ เส้นทางการรับใช้ในการทรงเรียกนั้นเพื่อเรา   ถ้าเช่นนั้น   การรับใช้ตามการทรงเรียกจึงมิใช่เพื่อการประสบผลสำเร็จในชีวิตของตน  หรือ เพื่อคนอื่นจะยอมรับ ยกย่องเรา  

แต่เป้าหมายทั้งสิ้นของคุณแม่เทเรซาคือ   กระทำตามพระประสงค์ของพระคริสต์ให้สำเร็จ   เพื่อผู้คนจะได้เห็นแสงสว่างของพระคริสต์  และ  สัมผัสความรักเมตตาที่อบอุ่นของพระองค์   เพื่อคนในชุมชนสังคมเหล่านั้นจะได้ซาบซึ้งในพระคุณ  และจะได้ขอบพระคุณ  ยกย่องสรรเสริญพระองค์ในที่สุด

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499