25 ตุลาคม 2559

สี่เสาหลักค้ำความสัมพันธ์

ไม่ว่าส่วนตัวเรากับพระเจ้า   ในครอบครัว   ในที่ทำงาน   ในกลุ่มเพื่อน  หรือ  แม้แต่ในชุมชน   ความสัมพันธ์เป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่จะจะประสาน เชื่อมโยง  และมัดตรึงให้ชุมชนนั้น ๆ เกิดความผูกพันเป็นรากฐานที่จะให้เกิดการขับเคลื่อนชีวิตร่วมกันไปอย่างมีเป้าหมาย คุณค่า  และความหมาย

ความสัมพันธ์เป็น “หัวใจ” ของพระคัมภีร์   ความสัมพันธ์ของพระเจ้าที่ทรงมีต่อสรรพสัตว์ สรรพสิ่ง  และมนุษย์ที่พระองค์ทรงสร้าง   แต่เพราะความสัมพันธ์ดังกล่าวถูกทำลายโดยอิทธิพลอำนาจแห่งความบาปชั่ว   ทำให้ความสัมพันธ์อันดีดังกล่าวต้องฉีกขาดหายนะลง    พระเยซูคริสต์ต้องมากอบกู้ปะชุนความสัมพันธ์อันดีนั้นขึ้นมาใหม่ด้วยความรักที่ไม่มีเงื่อนไข   ความรักที่ไม่มีพรหมแดน   ความรักที่ไม่มีขีดจำกัด   ด้วยความรักอย่างพระคริสต์นี้เองที่สามารถมองข้ามความจำกัด ความล้มเหลว และความไม่เอาไหนของมนุษย์   และให้ความรักดังกล่าวด้วยชีวิตของพระองค์เองแม้แต่คนที่ไม่สมควรที่จะรับความรักนั้น   

ด้วยความรักที่ให้ชีวิตนี้เอง  ที่ทำให้เกิดการให้อภัยแม้แต่เราผู้ไม่สมควรจะได้รับ   ด้วยความรักที่ให้ชีวิตของพระคริสต์นี้เอง   จึงเปลี่ยนผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคือคนที่รับใช้คนอื่นด้วยชีวิต   ให้เป็นคนที่ใส่ใจหนุนเสริมคนรอบข้างดั่งพระคริสต์มีชีวิตที่เป็นแบบอย่างแก่เราแล้ว

ฟังอย่างใส่ใจ

การได้ยิน กับ การฟัง มีความแตกต่างกันอย่างมาก   และจะแตกต่างกันอย่างลิบลับ เมื่อเราฟังอย่างใส่ใจ   การฟังอย่างใส่ใจ   เป็นการสนอกสนใจในคำที่เขาพูด   ทำให้เราได้ยินสิ่งที่เขากำลังพูดชัดเจน  กล่าวคือการฟังอย่างใส่ใจจนคำที่เราได้สัมผัสถึงอารมณ์ความรู้สึก  ความต้องการ  ความเจ็บปวด   เป็นการฟังที่เราสามารถสัมผัสถึงสิ่งที่เขาต้องการบอกเราและให้เรารับรู้ด้วยหัวใจและความคิด

ด้วยการฟังอย่างใส่ใจนี้เองที่เป็นเงื่อนไขที่ช่วยให้ความสัมพันธ์ของเรากับเขาคนนั้นเกิดความไว้วางใจกัน  ทำให้ความสัมพันธ์มั่นคง   สิ่งพึงระมัดระวังอย่างมากคืออย่าให้ความวอกแวกและสิ่งที่เราจะทำให้เขวหันออกไปจากสิ่งที่เขาตั้งใจจะบอกเรา  และที่เราจะใส่ใจฟังอย่างสนอกสนใจ

การฟังอย่างใส่ใจจำเป็นจะต้องหยุดการ “เขี่ย” บนไลน์   หยุดการก้มหน้าดูโทรศัพท์   ลุกขึ้นจากโต๊ะคอมพิวเตอร์   เอาหูฟังที่เรากำลังฟังเพลงออก   แล้วให้ความสนใจและใส่ใจอย่างเต็มร้อยกับคนที่กำลังพูดกับเราที่อยู่ตรงหน้า   และนี่เป็นการเสริมสร้างความมั่นคงในความสัมพันธ์ที่เรามีกับคน ๆ นั้นครับ
“ดูก่อน​พี่​น้อง​ที่​รัก​ของ​ข้าพเจ้า จง​ทราบ​ข้อ​นี้
จง​ให้​ทุก​คน​ไว​ใน​การ​ฟัง ช้า​ใน​การ​พูด ช้า​ใน​การ​โกรธ” (ยากอบ 1:19 มตฐ.)

รักด้วยการให้ชีวิต

ความรักเป็นคำที่พวกเราพูดกันมากมาย   แต่ปฏิบัติกันเพียงน้อยนิด   และที่แย่กว่านั้นคือ เป็นคำที่คนเทศนาไม่ทำตามที่เทศน์มากที่สุด   ความรักเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระคัมภีร์โดยตรง   เราพบเห็นในพระคัมภีร์ถึงความรักที่ไร้ขอบเขตพรหมแดนและเงื่อนไขของพระคริสต์   เป็นความรักที่ทุ่มสุดชีวิต

คนทั่วไปจะสัมผัสความรักที่ว่านี้ก็เพราะเรารักด้วยการกระทำในชีวิตประจำวันของเรา   ประเด็นสำคัญคือความสัมพันธ์ของเราวางบนรากฐานว่าเรารักอย่างพระคริสต์หรือไม่แค่ไหน?    ความรักแบบพระคริสต์ได้ไหลซึมออกมาจากการปฏิบัติในทุกมิติชีวิตประจำวันหรือไม่?  และนี่คือรากฐานสำคัญของการทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่มั่นคงและยั่งยืน
“...พวก​ท่าน​จง​รัก​พระ​เจ้า​ด้วย​สุด​จิต​สุดใจ​ของ​ท่าน ด้วย​สุด​ความ​คิด​และ​ด้วย​สิ้นสุด​กำลัง​ของ​ท่าน   และธรรม​บัญญัติ​ที่​สอง​นั้น​คือ จง​รัก​เพื่อน​บ้าน​เหมือน​รัก​ตนเอง  ธรรมบัญญัติ​อื่น​ที่​ใหญ่​กว่าธรรม​บัญญัติ​ทั้ง​สอง​นี้​ไม่​มี”
(มาระโก
12:30-31 มตฐ.)

สร้างสัมพันธ์ด้วยการรับใช้

ความสัมพันธ์สามารถเกิดขึ้นเพราะการรับใช้  ซึ่งการรับใช้นั้นมีหลายรูปแบบ และ เกิดขึ้นได้ในทุกมิติชีวิต   พระเยซูคริสต์ทรงเป็นแบบอย่างแก่เหล่าสาวก  ประชาชน  และคนประเภทต่าง ๆ ด้วยการรับใช้ที่ตอบโจทย์ในชีวิตของแต่ละคน   การรับใช้เกิดจากการที่คนนั้นมีความรักเมตตาจนให้ชีวิตแก่อีกคนหนึ่งหรืออีกกลุ่มคนหนึ่ง   การนำด้วยการรับใช้ของพระคริสต์เป็นการสวนกระแสสังคม และ สวนทางกับระบบคุณค่า และ ค่านิยมในสังคมไม่ว่าในสมัยของพระองค์ หรือ สมัยปัจจุบันก็ตาม   การที่จะรับใช้ด้วยชีวิตเกิดขึ้นได้นั้นจะต้องมาจากความรักที่ให้ชีวิตแก่คนอื่นด้วยความถ่อมใจ  เฉกเช่น พระคริสต์ถ่อมพระองค์ลงล้างเท้าสาวก  และถ่อมลงจนยอมตายเพื่อคนทั้งหลาย

เรารับใช้พระคริสต์ท่ามกลางชีวิตของประชาชน   มิใช่เพื่อให้คนอื่นได้รู้ได้เห็นสิ่งที่เราทำ   แต่เพราะเราสำนึกในพระคุณที่พระองค์ทรงถ่อมลงรับใช้ด้วยชีวิตเพื่อเราก่อน   และเราสานต่อพระราชกิจแห่งการรับใช้ด้วยชีวิตเยี่ยงพระคริสต์   เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์แบบพระคริสต์ท่ามกลางสังคมโลกต่อจากพระคริสต์  
“เหตุ​ฉะนั้น​เมื่อ​เรา​มี​โอกาส ให้​เรา​ทำ​ดี​ต่อ​คน​ทั้ง​ปวง
และ​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​ต่อ​ครอบครัว​ที่​มี​ความ​เชื่อ​” (กาลาเทีย 6:10 มตฐ.)

การยกโทษสร้างความไว้วางใจกัน  นำสู่ความสัมพันธ์

การที่เรายกโทษใครคนใดคนหนึ่ง   ประการแรกเราได้ปลดปล่อยตัวเราออกจากความสัมพันธ์ที่จำกัดด้วยกรอบ ขอบเขต เงื่อนไข   แล้วยื่นชีวิตของเราออกไปให้ถึงคนนั้นจิตที่รักเมตตาแบบพระคริสต์ที่รักอย่างไม่มีเงื่อนไข   การให้อภัยเป็นการเสริมสร้างให้ความสัมพันธ์งอกงามและเจริญเติบโตขึ้น

พลังเบื้องหลังที่เรายอมยกโทษใครคนใดคนหนึ่งเพราะ  เราได้รับประสบการณ์ชีวิตว่าพระคริสต์ทรงยกโทษเราทั้งที่ในเวลานั้นเรายังเป็นคนบาป ช่วยตนเองไม่ได้  เปลี่ยนแปลงตนเองไม่ได้   แต่เพราะความรักที่ให้ชีวิตแบบพระคริสต์ต่างหากทำให้ชีวิตของเรามีโอกาสใหม่ที่ได้รับการเปลี่ยนแปลง   ความสัมพันธ์ของเรากับพระองค์ก็เปลี่ยนแปลงด้วย 

เพราะการให้อภัยของพระคริสต์ที่ทำให้ชีวิตของเราเปลี่ยนแปลง   แล้วทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพระองค์เกิดขึ้น งอกงาม และเติบโตแข็งแรงขึ้น   และนี่คือพันธกิจที่พระคริสต์บัญชาให้เราทำต่อจากที่พระองค์ได้กระทำไว้แล้ว

ทุกครั้งที่เรายอมเปิดใจเปิดชีวิตยอมให้อภัยแก่คนหนึ่งคนใดแก่ความสัมพันธ์ที่ขัดแย้งแตกร้าว   ในเวลานั้นเรากำลังเสริมสร้างความไว้วางใจและความเข้าใจกัน   การให้อภัย หรือ การยอมยกโทษไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่าย ๆ แต่การให้อภัยให้คุณค่าที่ยาวนาน  

อย่าปล่อยให้ความสัมพันธ์ตกเป็นเหยื่อของความขัดข้องใจกัน  ขุ่นเคืองใจต่อกัน  หรือไม่พอใจต่อกัน
“จง​ผ่อน​หนัก​ผ่อน​เบา​ซึ่ง​กัน​และ​กัน
และ​ถ้า​แม้ว่า​ผู้ใด​มี​เรื่องราว​ต่อ​กัน ​ก็​จง​ยกโทษ​ให้​กัน​และ​กัน
องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​ได้​ทรง​โปรด​ยกโทษ​ให้​ท่าน​ฉัน​ใด
ท่าน​จง​กระทำ​อย่าง​นั้น​เหมือน​กัน”  (โคโลสี 3:13 มตฐ.)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

21 ตุลาคม 2559

จะทำอย่างไรในความขัดแย้ง?

การที่สองคนจะเห็นด้วยกัน หรือ ยอมรับทุกเรื่อง   แสดงว่าคนใดคนหนึ่งในสองคนนั้นจะต้องเปิดใจยอมรับ หรือ พยายามเข้าใจในบางเรื่องที่เขาเห็นด้วยนั้น  

ท่ามกลางขวากหนาม ความขัดแย้ง ความตึงเครียดในความสัมพันธ์  ไม่ว่าในครอบครัว  ในที่ทำงาน  กับคู่รัก หรือ แม้แต่ในความสัมพันธ์กับมิตรสหาย หรือ เพื่อนฝูง   ในเวลาเช่นนั้นเป็นโอกาสหนึ่งที่เราจะได้เรียนรู้ถึงความแตกต่างของบางคนที่เราสัมพันธ์เกี่ยวข้องด้วย   และการเรียนรู้ถึงความแตกต่างในด้านต่าง ๆ ของคนอื่นนั้นทำให้เราเรียนรู้ชีวิตที่ลุ่มลึกและแผ่กว้างมากขึ้น   และเป็นสัจพจน์ที่ว่า  การที่คนเราจะเห็นพ้องต้องกันนั้น  มิใช่อยู่ที่หลักการเหตุผลเท่านั้น   แต่อยู่ที่จิตใจ ความนึกคิดของเราที่ยอมเปิดกว้างออกเพื่อเรียนรู้จากความแตกต่างของคนที่เราเกี่ยวข้องสัมพันธ์ด้วย   หรือ พูดฟันธงว่า  เพื่อเราจะเรียนรู้จากคนที่แตกต่างจากเรานั่นเอง  

สำหรับมุมมองของพระเยซูคริสต์แล้ว  ความขัดแย้ง ความทุกข์ใจ  เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน  อีกทั้งเป็นสิ่งที่เรามิสามารถเลี่ยงได้  และ  เราต้องเผชิญหน้ากับมันเสมอ  เปาโลเสนอทางเลือกในการเผชิญหน้ากับความขัดแย้ง ความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดแก่เราในโรม 12:18 ไว้คือ  “ถ้า​เป็นได้ คือ​เท่าที่​เรื่อง​ขึ้นอยู่​กับ​ท่าน จง​อยู่​อย่าง​สงบ​สุข​กับ​ทุก​คน​” (มตฐ.)  

ขอตั้งข้อสังเกตว่า  สำหรับเปาโล การที่จะอยู่กับคนอื่นอย่างสันติสุขนั้นมิใช่จะเกิดขึ้นได้ในทุกเรื่อง   แต่เปาโลแนะนำเราว่า  มิใช่ทุกเรื่องที่เราจะสามารถอยู่อย่างมีสันติสุขได้   เพราะในบางเรื่องอาจจะ “ขึ้นอยู่กับเรา” คือเราสามารถจัดการได้   และในเวลาก็มีบางเรื่อง ที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเราซึ่งยากที่เราจะจัดการด้วยตัวเราเองได้   อาจจะต้องจัดการร่วมกับคนอื่น   เปาโลแนะนำเราว่า   ถ้าเรื่องใดเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับเรา   คือเรื่องที่เราสามารถจะจัดการได้ให้เรากระทำให้เกิดสันติสุขในการที่จะอยู่ด้วยกัน ในการที่ต้องทำงานด้วยกัน  หรือ  ในการที่จะต้องมีความสัมพันธ์ต่อกัน

นั่นมิใช่เราจะสามารถลงมือจัดการทุกเรื่องให้เกิดสันติสุขได้   เราจัดการได้เฉพาะในเรื่องที่ “ขึ้นอยู่กับเรา”   หลายคนอาจจะถามในใจต่อไปว่า   แล้วเรื่องที่เราไม่สามารถยื่นมือเข้าไปจัดการได้   เราจะต้องทำอย่างไร   เปาโลบอกแก่เราในบทนี้ข้อสุดท้ายว่า “อย่า​ให้​ความ​ชั่ว​ชนะ​เรา​ได้ แต่​จง​ชนะ​ความ​ชั่ว​ด้วย​ความ​ดี” (ข้อ 21 มตฐ.)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

19 ตุลาคม 2559

ผู้นำสมัชชาสภาฯ...ท่านได้ยินเสียง “กระทุ้งสำนึก” ในชีวิตท่านไหม?

โปรดระวังด้วยครับ   อย่าลืมตัวว่า ท่านใช้กลโกงหลอกลวงบางคนได้   แต่ท่านหลอกลวงพระเจ้าไม่ได้   พระเจ้าทรงรู้เท่าทัน การใช้วิธี “ทางลัด” เพื่อตบตาคนอื่นได้ แต่ท่านตบตาพระเจ้าไม่ได้ หรือ พระองค์รู้เท่าทันถึงการที่ท่านพยายามที่จะทำให้ตนดูดีในสายตาของคนอื่นและพระเจ้า

การที่ผู้นำจะไม่หลงตนหลอกลวงตนเอง หลอกลวงคนอื่น และหลอกลวงพระเจ้า   ในแต่ละวันควรมีคำถามในชีวิตจิตใจ  ถามตนเอง  เพื่อปลุกตนเองให้ตื่นเสมอ  เช่น

Y ทุกวันนี้ฉันยังเดินไปกับพระเจ้าอยู่หรือเปล่า?

Y ฉันยังยึดมั่นที่มีพระเจ้าเป็นเอกเป็นใหญ่ในชีวิตของฉันทุกวันจริงหรือไม่?

Y ฉันยังตั้งใจที่จะฟังให้ได้ยิน “คำถาม” ของผู้คนรอบข้างต่อท่าทีและการดำเนินชีวิตของฉันหรือไม่?

Y ฉันใช้สิทธิอำนาจความเป็นผู้นำอย่างมีความรับผิดชอบต่อผู้คนที่เกี่ยวข้องหรือไม่?

Y ฉันใส่ใจและไวต่อเสียงตรัสของพระเจ้าที่มีต่อฉันในฐานะที่เป็นอวัยวะหนึ่งในพระกายของพระคริสต์หรือไม่?

Y ฉันมัวแต่ระมัดระวัง และ พยายามเสริมสร้างความสำคัญแก่ตนเอง หรือ สร้างภาพลักษณ์ของตนเองหรือไม่?

Y ทุกวันนี้ฉันมีชีวิตและเป็นผู้นำที่ “โดดเดี่ยว” หรือไม่?

Y จริง ๆ แล้ว  ฉันได้พยายามที่จะรู้เท่าทันตนเอง  และ  จริงใจ  ยอมรับในจุดอ่อนด้อยของตนเองหรือไม่?

Y ที่ฉันเป็นผู้นำในทุกวันนี้เป็นการตอบสนองการทรงเรียก หรือ เป็นการตอบสนองความปรารถนาอยากได้ใคร่มีใคร่เป็นของตนเอง?

“อย่าหลงเลย ท่านจะหลอกลวงพระเจ้าไม่ได้   เพราะว่าผู้ใดหว่านอะไรลง ก็จะเกี่ยวเก็บสิ่งนั้น
ผู้ที่หว่านในย่านเนื้อหนังของตน ก็จะเกี่ยวเก็บความเปื่อยเน่าจากเนื้อหนังนั้น
แต่ผู้ที่หว่านในย่านพระวิญญาณ ก็จะเกี่ยวเก็บชีวิตนิรันดร์จากพระวิญญาณนั้น 
อย่าให้เราเมื่อยล้าในการทำดี   เพราะว่าถ้าเราไม่ท้อใจแล้ว เราก็จะเกี่ยวเก็บในเวลาอันสมควร   
เหตุฉะนั้นเมื่อเรามีโอกาส ให้เราทำดีต่อคนทั้งปวง และเฉพาะอย่างยิ่งต่อครอบครัวที่มีความเชื่อ” 
(กาลาเทีย 6:7-10 มตฐ.)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

18 ตุลาคม 2559

ระวัง...กับดักอคติ

แคเธอรีน บูธ ( Catherine Booth)  ที่รู้จักกันในนาม “เจ้าแม่เซาเวชั่น อาร์มี” ( Mother of The Salvation Army)   ไม่ว่าเธอจะไปที่ไหนจะมีผู้คนต่างชั้น ต่างฐานะทางสังคม และ เศรษฐกิจมาฟังเธอพูด   กล่าวได้ว่าฝูงชนที่มาไม่ว่าจะเป็นลูกเจ้าหลานเธอ  คนทุกข์ยาก เข็ญใจ  อนาถา หรือแม้แต่ยาจก   ก็ติดตามมาฟังกันที่นั่นด้วยกัน  ไม่มีการแบ่งแยก

ค่ำคืนหนึ่ง   เธอได้ไปพูดในที่หนึ่ง   ผู้ฟังหลายคนได้เปิดใจต้อนรับพระเยซูคริสต์   ภายหลังงานคืนนั้น   มีครอบครัวมั่งคั่งครอบครัวหนึ่งได้จัดเลี้ยงแคเธอรีนที่คฤหาสน์

หญิงเจ้าของคฤหาสน์กล่าวกับแคเธอรีน ในงานเลี้ยงนั้นว่า “ท่านรู้สึกไหม การพบปะในค่ำคืนนี้ดูน่ากลัวพิลึก เมื่อคุณกำลังพูด ฉันมองไปที่หน้าตาผู้คนที่อยู่รอบฉัน หลายต่อหลายคนที่มีหน้าตาดูไม่ได้  อีกทั้งหลายคนดูน่ากลัวอย่างไงไม่รู้...  ฉันคิดว่า คืนนี้ฉันคงนอนไม่หลับแน่ๆ”

แคเธอรีน ตอบเธอว่า  “ท่านไม่รู้จักคนพวกนี้หรือ?   ฉันไม่ได้พาพวกเขามาที่นี่นะ   แต่คนพวกนี้เป็นเพื่อนบ้านที่อยู่ล้อมรอบชุมชนบ้านท่าน”

เมื่อเรามองเข้าไปในสังคมโลก   เป็นการง่ายที่เราจะมองด้วยสายตามุมมองที่แบ่งแยก  ด้วยจิตใจที่อคติ   ไม่ว่าอคติด้วยการมองแบ่งแยกความแตกต่างทางเพศ  วรรณะผิวพรรณ  ฐานะทางเศรษฐกิจ  ชนชั้นทางสังคม  ฐานะ ตำแหน่ง   รูปร่างหน้าตา  หรือ เบื้องหลังความเป็นมาของชีวิตคนนั้น ๆ   การมองแบ่งแยกเช่นนี้บ่อยครั้งที่นำไปสู่การมองด้วยสายตาดูถูก ดูแคลน  เหยียดหยาม สร้างความรังเกียจเดียดฉันท์  และความเป็นศัตรูกัน

ที่สำคัญคือ  มุมมองเช่นนี้เป็นมุมมองคนละขั้วกับ มุมมองที่พระคริสต์ต้องการให้คริสตชนทุกคนมี   สัจจะความจริงก็คือว่า  พระคริสต์ต้องการให้คริสตชนแต่ละคนมองคนอื่น และ กระทำต่อผู้คนรอบข้างตนว่าเป็น “เพื่อนบ้าน” ของตน   ไม่ว่าผู้คนเหล่านั้นจะมีความแตกต่างมากน้อยเช่นไรจากตนเอง หรือ พวกตนก็ตาม

ในพระธรรมโคโลสี  เปาโล กล่าวไว้ว่า   ให้เราประหารโลกียวิสัยในตัวเราเสีย (3:5)   อันเป็นพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ในชีวิตคริสตชน   แต่ให้สวมวิสัยมนุษย์ใหม่ที่กำลังได้รับการสร้างขึ้นใหม่ตามพระฉายาของพระเจ้า (3:10)   และการสร้างวิสัยมนุษย์ใหม่ในตัวเรา   พระคริสต์ไม่ได้แบ่งแยกว่าพระองค์สร้างในคนแบบไหน  ลักษณะอย่างไร (ข้อ 11)  แต่พระคริสต์มองว่าแม้คนจะแตกต่างกันแค่ไหนเช่นไร   พระคริสต์ก็จะสร้างคนเหล่านั้นขึ้นใหม่   มิใช่ตามมาตรฐาน หรือ กระแสนิยมแห่งสังคมโลกนี้ (โรม 12:1-2)  แต่พระองค์สร้างเราขึ้นตามแบบชีวิต(พระฉายา)ของพระผู้สร้างเราทั้งหลาย

ใครก็ตามที่ยอมเปิดชีวิตทั้งสิ้นของตนให้พระวิญญาณของพระเจ้าเปลี่ยนแปลงใหม่   คน ๆ นั้นจะมีมุมมองโลกและคนอื่นรอบข้างที่แตกต่างไป   พระวิญญาณจะเปลี่ยนมุมมองที่มองคนอื่นอย่างอคติ   ให้กลับมามองผู้คนด้วยมุมมองที่รัก เมตตา และต้องการที่จะให้ชีวิตของตนแก่คนนั้นที่อยู่ล้อมรอบเรา   และนี่คือพระราชกิจของพระเจ้าที่กระทำการเปลี่ยนแปลงและสร้างเราขึ้นใหม่   ให้เป็นคนที่สำแดงพระฉายาของพระองค์ในชีวิตของเราแต่ละคน


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

11 ตุลาคม 2559

ทุกข์...ที่ก่อเกิดภาวะผู้นำที่เปี่ยมคุณภาพ

เมื่อประมาณสองเดือนก่อนได้พบกับเพื่อนต่างชาติคนหนึ่ง   เพื่อนคนนี้ชอบดื่มไวน์อย่างมากเหมือนกับที่ผมชอบดื่มกาแฟครับ    เมื่อพบหน้ากันเขาจะพูดถึงเรื่องไวน์ชั้นเยี่ยมที่เขานิยมชมชอบ   ครั้งนี้ เขานำภาพสวนองุ่นมาให้ผมดูด้วย   และเขาบอกว่า นี่เป็นสวนองุ่นที่ใช้ทำไวน์ที่มีชื่อเสียงมากในอิตาลี (เขาบอกชื่อเมืองนั้น  แต่ขอโทษครับผมจำไม่ได้)

ผมสังเกตเห็นว่า   สวนองุ่นในภาพนั้นมันอัดแน่นด้วยต้นองุ่นเรียกว่าต้นชนต้นกันเลยทีเดียว   ผมจึงถามเขาว่าทำไมเขาปลูกต้นองุ่นติดแน่นกันเช่นนั้น   เขาเล่าให้ฟังว่า  ครั้งแรกเขาก็สงสัยเช่นกัน   จึงได้ถามเจ้าของสวนองุ่นที่นั่นว่า   ทำไมเขาถึงปลูกชิดกันและหนาแน่นถึงขนาดนี้?

เจ้าของสวนองุ่นอธิบายว่า   เพราะมีต้นองุ่นอัดแน่นในสวนเช่นนี้   ทำให้ต้นองุ่นต้องแข่งกันแย่งหาสารอาหารที่ดีและน้ำที่เพียงพอไปเลี้ยงต้นองุ่น  ทำให้องุ่นแต่ละต้นต้องแตกรากหยั่งลึกลงแข่งหาอาหารให้ได้มากที่สุด   เพื่อไปเลี้ยงลำต้น  ให้เกิดดอกออกผล    เจ้าของสวนองุ่นยังบอกอีกว่าต้นองุ่นที่ขยันหยั่งรากและแข่งขันแย่งอาหารกับองุ่นต้นอื่น ๆ จะให้ผลองุ่นที่มีรสชาติเยี่ยมยอดสำหรับการนำมาหมักเป็นไวน์เปี่ยมคุณภาพ   แล้วเจ้าของสวนองุ่นสรุปด้วยประโยคเด็ดว่า  “คุณภาพของไวน์ขึ้นอยู่กับการทรหดทนทุกข์ของต้นองุ่น”

ทำให้คิดถึงสังคมในที่ทำงานของเราในทุกวันนี้   ที่ “อัดแน่น” ด้วยคนทำงานที่ที่แก่งแย่งชิงดีชิงเด่น   มีทั้งที่ทำงานด้วยความตั้งใจ ทำงานให้เกิดผล   ทั้งที่เอารัดเอาเปรียบกินแรงเพื่อนร่วมงาน  แย่งชิงผลงานแต่ไม่ลงแรง  อีกทั้งคนที่ทำงานที่พยายามแผ่อิทธิพลครอบงำการทำงานของคนอื่นเพื่อไม่ให้คนอื่นประสบความสำเร็จเหนือกว่าตน  และอีกจิปาถะในเล่ห์เหลี่ยม กลโกง เพื่อสร้างประโยชน์แก่ตนเอง

เมื่อเจอสถานการณ์การทำงานแบบนี้  เราท่านต่างมี 3 ทางเลือกคือ   หาทางย้ายที่ทำงานไปที่ที่คิดว่ามีสภาพที่ทำงานที่ดีกว่านี้   มองสถานการณ์ในแง่ติดลบ ด้วยความหดหู่ท้อแท้ใจในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ดังกล่าว   หรือมองสถานการณ์ดังกล่าวด้วยสายตาที่สร้างสรรค์เป็นบวก   กล่าวคือมองว่า เป็นโอกาสที่ตนจะต้องเสริมสร้างสมรรถนะและความแกร่งในการทำงาน   เสริมสร้างคุณภาพในภาวะผู้นำท่ามกลางสถานการณ์เลวร้ายทุกข์ยากลำบาก

สำหรับคริสตชนแล้ว   เรามองว่าเป็นเวลาที่เราจะแผ่รากออกกว้าง  หยั่งรากลงลึกเพื่อหาสารอาหารและน้ำที่จะมาเป็นน้ำเลี้ยงชั้นเยี่ยมในการเสริมสร้างลำต้น กิ่งก้าน ใบดอก และ  ในที่สุดให้ผลที่คุณภาพยอดเยี่ยม   อย่างเช่นต้นองุ่นที่ตกอยู่ในภาวะที่ต้องแข่งขันแย่งชิงเพื่อให้ผลองุ่นชั้นเยี่ยมที่นำไปผลิตไวน์ชั้นยอดสำหรับผู้บริโภค

เปาโลมอง สถานการณ์ที่บีบคั้น แสนเข็ญ ตีบตันว่า   เป็นโอกาสที่เสริมสร้างคุณภาพภาวะผู้นำชั้นเยี่ยมไว้ว่า  “ยิ่ง​กว่า​นั้น เรา​ชื่น​ชม​ยินดี​ใน​ความ​ทุกข์​ยาก​ของ​เรา​ด้วย เพราะ​เรา​รู้​ว่า​ความ​ทุกข์​ยาก​นั้น ทำ​ให้​เกิด​ความ​อดทน​  และ​ความ​อดทน​ทำ​ให้​เห็น​ว่า​  เรา​เป็น​คน​ที่​พระ​เจ้า​ทรง​ใช้ได้ และ​การ​ที่​เรา​เห็น​เช่นนั้น​ทำ​ให้​เกิด​มี​ความ​หวัง​ใจ​” (โรม 5:3-4 มตฐ.)

เราท่านคงไม่ปฏิเสธว่า  ในเวลาที่คับขัน ตีบตัน บีบคั้น ทุกข์ยากลำบาก   เป็นเวลาที่เราแสวงหาการทรงช่วยจากพระเจ้า   เป็นเวลาที่เราติดสนิทกับพระองค์   เป็นเวลาที่เราจะดูดซับเอาพระวจนะและน้ำพระทัยที่เป็นอาหารแห่งชีวิต   ที่จะหล่อเลี้ยงชีวิตของเราให้เติบโต เข้มแข็ง  และพร้อมที่จะออกผลที่เยี่ยมยอดในเวลาอันควร

ในเวลาที่สถานการณ์ที่อาจจะดูเหมือนว่า ไม่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตและเกิดผลในชีวิต   กลับเป็นเวลาที่พระเจ้าใช้เสริมสร้างเราให้เป็นคนที่พระองค์ใช้ได้   ให้เป็นคนที่มีภาวะผู้นำที่เปี่ยมด้วยคุณภาพที่จะรับผิดชอบงานที่พระองค์ประสงค์ให้เรารับผิดชอบในเวลาอันควร

ในเวลาที่วิกฤติยุ่งยาก หรือ บางครั้งก็ท้อแท้หมดแรง   เราจะเลือกที่จะหยั่งรากชีวิตลงลึกดูดซับเอาพระวจนะและพระประสงค์ของพระเจ้าที่เป็นน้ำเลี้ยงที่ดีเลิศสำหรับชีวิตของเรา  หรือ  เราจะเลือกที่จะหลบซ่อนในมุมมืดของภาวะที่เลวร้ายนั้น   รอคอยจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น  หรือ  เราจะเลือก “ชิ่ง” หนีหลีกลี้ออกจากสถานการณ์นี้   เพื่อจะมุ่งหน้าแสวงหาโอกาสดี ๆ ที่อาจจะมีอยู่ข้างหน้า?

ทั้งสิ้นนี้ เราต้องเป็นคนตัดสินใจเลือกครับ?   แต่เราไม่ได้เลือกด้วยความโดดเดี่ยวตัวคนเดียวครับ   พระเจ้าทรงอยู่เคียงข้างในสถานการณ์ชีวิตที่เราคิดว่าเลวร้ายเสมอครับ   พระองค์รอคอยเวลาที่จะทำงานในชีวิตของเรา   ขึ้นอยู่กับว่า เราพร้อมที่จะเป็นไปตามน้ำพระทัยของพระองค์หรือไม่?   นั่นเป็นตัวตัดสินครับ?


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

06 ตุลาคม 2559

อธิษฐานด้วย... “ใจที่นิ่ง ความคิดที่สงบ”

ปัจจุบันวัฒนธรรมการอธิษฐานต่างคนต่างออกเสียงดังดูจะปฏิบัติกันมากขึ้นในคริสตจักรไทย   อาจจะคิดว่านั่นเป็นการอธิษฐานที่เอาจริงเอาจัง   หรือทุ่มสุดตัวสุดแรงในการอธิษฐาน   ผู้นำคริสตจักรบางคนก็บอกว่าการอธิษฐานเสียงดัง  แรงกล้านั้นเป็นการ “เขย่าบัลลังก์พระเจ้า”?  

แต่พระเจ้าที่ผมเชื่อนั้นมิได้ใบ้บอดไม่รู้ไม่เห็น หรือ มีความรู้สึกช้านะครับ   ผมเชื่อว่าก่อนที่เราจะอธิษฐานอะไรต่อพระเจ้า  พระองค์ล่วงรู้สิ่งที่มีในจิตใจก่อนที่เราจะพูดกับพระองค์เสียอีก

แต่เพื่อนผมบางคนบอกว่าที่อธิษฐานออกเสียงดัง   ต่างคนอธิษฐานอย่างเอาจริงเอาจังนั้นก็จะช่วยให้รู้สึกว่า เราร้อนรน   และเพื่อนผมบอกอีกว่า   การอธิษฐานเช่นนั้นเป็นการแสดงถึงความร้อนรนทางหนึ่งของเขา

นอกจากนั้นแล้ว   คริสตชนบางคนยังบอกว่า   ใครจริงจังกับพระเจ้าดูได้จากคนนั้นอธิษฐานยาวสั้นแค่ไหน   เขาเคยบ่นว่า อธิษฐาน “สั้นจุ๊ดจู๋”  คงอธิษฐานเป็นพิธีมั่ง?   ดูคนนั้นคนนี้สิเขาอธิษฐานนานเป็นชั่วโมงเลย

หลายต่อหลายคนในปัจจุบันนี้เมื่อพูดถึงการอธิษฐานมักหมายถึงการที่เรา “พูด” กับพระเจ้า

แต่การอธิษฐานต่อพระเจ้าเป็นการ “สนทนา” กับพระองค์   เป็นการสนทนาระหว่างพระเจ้ากับเรา   การสนทนาจะต้องมีทั้งการพูด และ การฟัง   เมื่อฝ่ายหนึ่งพูด  อีกฝ่ายหนึ่งก็จะฟังอย่างใส่ใจ   ฟังให้ได้ยินถึงความรู้สึกในชีวิตของผู้พูด   ฟังให้ได้ยินถึงเสียงแห่งความจำเป็นต้องการในชีวิตของเขา   ฟังให้ได้ยินถึงความตั้งใจ  ความประสงค์ของเขา  

การที่จะมีการสนทนาแบบนี้ได้  รากฐานสำคัญคือ   คู่สนทนาจะไว้วางใจกันและกัน   วางใจในความสัมพันธ์ที่มีอยู่ระหว่างเขาทั้งสองฝ่าย   และมีความ “หวังใจ” ในความรัก  ความสัตย์ซื่อ และ ความเอาใจใส่ที่มีต่อกันของคู่สนทนา 

ไม่ใช่รากฐานความเชื่อความคิดว่า   ถ้าอธิษฐานดัง ๆ แรง ๆ แล้วพระเจ้าจะประทานสิ่งที่เราขอเราต้องการ   ถ้าเราอธิษฐานนาน ๆ ยาว ๆ   แล้วพระเจ้าจะประทานสิ่งที่เราปรารถนา   ถ้าเราตื่นยิ่งเช้ายิ่งมีพลังในการอธิษฐาน   แล้วทำให้บางคนรู้สึกด้อยว่า   ตนไม่ได้ไปอธิษฐานตีสี่ตีห้าพระเจ้าเลยไม่อวยพระพร   พระเจ้าตอบคำอธิษฐานของเราเพราะเราตื่นตีอะไรไปอธิษฐานหรือ?   สิ่งเหล่านี้เป็นเงื่อนไขในการอธิษฐานหรือไม่?

บ่อยครั้งที่พบในหลายคริสตจักร   การอธิษฐาน อย่างจริงจังทุ่มเท เสียงดัง กลายเป็นการระบายอารมณ์ความรู้สึกของคน ๆ นั้นหรือไม่?   หรือเป็นการเอา “ขยะทางอารมณ์”  ไปเทต่อหน้าพระเจ้า  แล้วให้พระเจ้าช่วยรับไว้ แล้วช่วยเอาไปทิ้งให้หน่อยหรือไม่?   การระบายความรู้สึกอารมณ์บ้างก็แสดงออกด้วยการโลดเต้นในบางคน

ความจริงอีกด้านหนึ่งในการอธิษฐานคือ เป็นเวลาที่เรา “ตั้งใจฟังพระเจ้า”   “ใส่ใจเสียงที่พระองค์จะพูดกับเรา”   และ  ใคร่ครวญว่าอะไรคือพระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตของเรา   ฟังให้เข้าใจว่า พระเจ้าประสงค์ให้เราดำเนินชีวิตเช่นไรในวันนี้ด้วยความถ่อมใจไปกับพระองค์   และ ที่สำคัญมากในการอธิษฐานคือ  เป็นโอกาสที่เราจะมั่นใจว่า  พระเจ้าประทานกำลังชีวิตแก่เราในวันนี้ให้สามารถทำในสิ่งที่พระองค์ประสงค์ให้เรากระทำ 

สิ่งสำคัญในการอธิษฐานคือ   เราต้อง “ยอมจำนน และ มอบชีวิตทั้งหมด” แก่พระเจ้า   มิใช่มุ่งแต่ขอพระเจ้าช่วยทำสิ่งนั้น  ช่วยหนุนสิ่งนี้ ตามที่เราคาดหวังต้องการในชีวิต!   การ “ยอมจำนน และ มอบชีวิตทั้งหมด” แด่พระเจ้า   มิได้ขึ้นอยู่กับการอธิษฐานเสียงดังหรืออธิษฐานในใจ   มิได้ขึ้นอยู่กับการตื่นเต้น หรือ การนมัสการอย่างออกรสออกชาติ    แต่ขึ้นอยู่กับการอธิษฐานที่ใส่ใจฟังพระเจ้าด้วยใจถ่อม และ สงบเพื่อจะได้ยินสิ่งที่พระเจ้าประสงค์  (แต่มิใช่อธิษฐานพรั่งพรู ในสิ่งที่เราต้องการเท่านั้น)

การที่เราจะได้ยินคู่สนทนาของเราชัดเจนก็ต่อเมื่อเราฟังอย่างใส่ใจ ด้วยจิตที่สงบ   เราจะได้ยินชัดเจนที่สุดถึงเรื่องที่คู่สนทนาพูดกับเรา   และในการสนทนากับพระเจ้า เราจะได้ยิน ได้รู้ และ เข้าใจพระประสงค์ของพระเจ้าได้ดีที่สุดเมื่อ “จิตใจของเรานิ่ง” และ “มีความคิดที่สงบ”   แต่การที่เราจะมี “ใจที่นิ่ง ความคิดที่สงบ” เราต้องยอมตนแด่พระเจ้า   ให้พระองค์ประทานสิ่งนี้แก่เราเมื่ออยู่ต่อพระพักตร์พระองค์   และรอคอยด้วยใจจดจ่อที่จะฟังพระประสงค์ของพระองค์สำหรับชีวิตของเรา  

สิ่งนี้เป็นของประทานจากพระเจ้าครับ   แต่บ่อยครั้งที่เราไม่ได้สนใจของประทานนี้!

ผู้เขียนพระธรรมสดุดี 131 ได้เปรียบเทียบบทเรียนรู้เรื่องนี้แก่เราว่า

ข้า​แต่​พระ​ยาห์​เวห์ ใจ​ของ​ข้า​พระ​องค์​มิ​ได้​เห่อ​เหิม
และ​ตา​ของ​ข้า​พระ​องค์​มิ​ได้​ยโส
ข้า​พระ​องค์​มิ​ได้​ไป​ยุ่ง​กับ​เรื่อง​ใหญ่​โต
หรือ​เรื่อง​อัศจรรย์​เกิน​ตัว​ของ​ข้า​พระ​องค์
แต่​ข้า​พระ​องค์​ได้​สงบ​และ​ระ​งับ​จิต​ใจ​ของ​ข้า​พระ​องค์
อย่าง​เด็ก​ที่​หย่า​นม​แล้ว​สงบ​อยู่​ที่​อก​มาร​ดา​ของ​ตน
จิต​ใจ​ของ​ข้า​พระ​องค์​สงบ​อยู่​ภาย​ใน​ข้า​พระ​องค์ อย่าง​เด็ก​ที่​หย่า​นม​แล้ว
อิสราเอลเอ๋ย จง​หวัง​ใน​พระ​ยาห์​เวห์
ตั้ง​แต่​บัด​นี้​สืบ​ไป​เป็น​นิตย์
(สดุดี 131:1-3  มตฐ.)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499