25 พฤศจิกายน 2559

แผ่นดินของพระเจ้าในครอบครัว!

ผมเคยได้ยินคนพูดว่า  “บ้านคือที่ซุกหัวนอนในยามที่อ่อนแรงสิ้นกำลัง...”   และเคยได้ยินอีกว่า “บ้านคือที่ที่เราต้องพยายามทำดีกับคนอื่น ๆ ในบ้าน”   และหลายบ้านก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ

ศิษยาภิบาล ต้องพยายามฟังสมาชิกที่มาระบายและปรึกษาถึงปัญหาชีวิตด้วยความใส่ใจ   ด้วยจิตใจที่เมตตา  และที่สำคัญคือด้วยความอดทน   ตลอดวันเขาต้องแสดงความเมตตาเอาใจใส่ ให้กำลังใจกับผู้คน  ปลอบโยนคนที่กำลังทุกข์หนัก   เมื่อกลับถึงบ้านก็ตกอยู่ในสภาพที่หมดพลัง  สิ้นเรี่ยวแรง   เขากลับเป็นคนที่ต้องการความเข้าใจจากคนในบ้าน ต้องการการให้กำลังใจ  และการใส่ใจ   แล้วกี่คนในบ้านที่รู้ถึงความต้องการอย่างมากของศิษยาภิบาลท่านนี้ล่ะครับ?   แต่ที่แย่กว่านั้นคือ   ทั้งลูก ทั้งเมีย ทั้งสามี ต่างกลับเข้ามาบ้านแบบระโหยหมดแรง   ต้องการพลังหนุนเสริม   แล้วอย่างงี้ใครจะเป็นผู้เติมเต็มพลังในชีวิตของคนในครอบครัวล่ะครับ?

มิใช่ศิษยาภิบาลเท่านั้นที่มีชีวิตครอบครัวตกอยู่ในสภาพเช่นนี้   ไม่ว่าหมอ พยาบาล  ครู  ผู้บริหารคนทำงานในหน่วยงาน องค์กร แรงงานรับจ้าง ฯลฯ  ต่างต้องเผชิญกับสภาพชีวิตครอบครัวในทำนองนี้เสียส่วนใหญ่   จึงไม่น่าแปลกที่ลูกของนักจิตวิทยาแขวนคอตาย   คนในครอบครัวของหมอเป็นไมเกรน   คนในบ้านของพยาบาลมีคนเป็นโรคซึมเศร้า  ลูกของอาจารย์ตกสามวิชา  ลูกทนายเล่นยา  และ ฯลฯ   จนมีคำกล่าวในภาคเหนือว่า “ลูกอาจ๋ารย์ หลานตุ๊เจ้า”?

เราคริสตชนมักบอกว่า การทรงเรียกที่ยิ่งใหญ่และสำคัญคือการทำตามพระมหาบัญชาของพระคริสต์   เป็นการสานต่อพระราชกิจเรื่องแผ่นดินของพระเจ้าที่พระองค์นำมาเริ่มต้นแล้วในโลกนี้   เราท่านอาจจะจำเป็นต้องถามตรง ๆ ว่า   พื้นที่แรกที่เราจะนำแผ่นดินของพระเจ้าให้เกิดขึ้นเป็นจริงอย่างเป็นรูปธรรมในชีวิตคือพื้นที่ “ชีวิตครอบครัว”  ของเราแต่ละคนใช่ไหม?

ความใส่ใจด้วยความรัก  การช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างเมตตา   และการใช้ชีวิตแบบพระคริสต์จะเกิดขึ้นเป็นจริงได้อย่างไร?   ถ้าแผ่นดินของพระเจ้ายังไม่สามารถเกิดขึ้นเป็นจริงอย่างเป็นรูปธรรมในครอบครัวของเรา   แล้วเราจะนำแผ่นดินของพระเจ้าไปให้เกิดขึ้นในชุมชนสังคมโลกได้อย่างไร?

สันติสุขในครอบครัวเกิดขึ้นได้เพราะคนในครอบครัวยอมเปิดชีวิตส่วนตนและครอบครัวให้พระคริสต์เป็นใหญ่ที่สุดในทุกมิติชีวิตของเราในครอบครัว  ให้เป็นครอบครัวที่อยู่ภายใต้การครอบครองของพระเจ้า   เป็นครอบครัวที่มีน้ำพระทัยของพระเจ้าเป็นใหญ่ และเป็นเป้าประสงค์   เป็นครอบครัวที่สำแดงสภาพชีวิตสวรรค์ผ่านการดำเนินชีวิตประจำวันของคนในครอบครัว   เป็นครอบครัวที่ไว้วางใจในพระคุณและการทรงเอาใจใส่เลี้ยงดูของพระเจ้า   เป็นครอบครัวที่สร้างการคืนดี และ การยกโทษซึ่งกันและกัน   เป็นครอบครัวที่มีการดำเนินชีวิตที่ตระหนักชัดไม่ให้ชีวิตประจำวันตกลงใต้อำนาจของการถูกทดลองในลักษณะต่าง ๆ  แต่เชื่อพึ่งในการช่วยกู้ของพระเจ้าให้ชีวิตประจำวันของเราแต่ละคนหลุดรอดออกจากการตกเป็นทาสของอำนาจแห่งความบาปชั่ว

แท้จริงแล้วการที่ครอบครัวเรามีสภาพดังกล่าวมานี้ก็เป็นครอบครัวที่ทำให้คำอธิษฐานที่พระเยซูคริสต์ทรงสอนได้รับการปฏิบัติเป็นจริงในชีวิตประจำวัน  และ  นี่คือ “การแสวงหาแผ่นดินของพระเจ้าก่อน” ที่เป็นรูปธรรมในชีวิตประจำวันของเรา (ดู มัทธิว 6:9-13;  6:33)

คงต้องกลับมาดูว่า  คริสตจักรไทยของเราได้หนุนเสริมเพิ่มพลังสมาชิกคริสตจักรในการนำแผ่นดินของพระเจ้าให้ “งอก” “เติบโต” และ “เกิดดอกออกผล”  ขึ้นในชีวิตครอบครัวมากน้อยแค่ไหน?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

20 พฤศจิกายน 2559

ระวัง...กับดักอคติ

แคเธอรีน บูธ ( Catherine Booth)  ที่รู้จักกันในนาม “เจ้าแม่เซาเวชั่น อาร์มี” ( Mother of The Salvation Army)   ไม่ว่าเธอจะไปที่ไหนจะมีผู้คนต่างชั้น ต่างฐานะทางสังคม และ เศรษฐกิจมาฟังเธอพูด   กล่าวได้ว่าฝูงชนที่มาไม่ว่าจะเป็นลูกเจ้าหลานเธอ  คนทุกข์ยาก เข็ญใจ  อนาถา หรือแม้แต่ยาจก   ก็ติดตามมาฟังกันที่นั่นด้วยกัน  ไม่มีการแบ่งแยก

ค่ำคืนหนึ่ง   เธอได้ไปพูดในที่หนึ่ง   ผู้ฟังหลายคนได้เปิดใจต้อนรับพระเยซูคริสต์   ภายหลังงานคืนนั้น   มีครอบครัวมั่งคั่งครอบครัวหนึ่งได้จัดเลี้ยงแคเธอรีนที่คฤหาสน์

หญิงเจ้าของคฤหาสน์กล่าวกับแคเธอรีน ในงานเลี้ยงนั้นว่า “ท่านรู้สึกไหมว่า   การพบปะในค่ำคืนนี้ดูน่ากลัวพิลึก   เมื่อคุณกำลังพูด   ฉันมองไปที่หน้าตาผู้คนที่อยู่รอบฉัน   หลายต่อหลายคนที่มีหน้าตาดูไม่ได้  อีกทั้งหลายคนดูน่ากลัวอย่างไงไม่รู้...  ฉันคิดว่า คืนนี้ฉันคงนอนไม่หลับแน่ ๆ”

แคเธอรีน ตอบเธอว่า  “ท่านไม่รู้จักคนพวกนี้หรือ?   ฉันไม่ได้พาพวกเขามาที่นี่นะ   แต่คนพวกนี้เป็นเพื่อนบ้านที่อยู่ล้อมรอบชุมชนบ้านท่าน”

เมื่อเรามองเข้าไปในสังคมโลก   เป็นการง่ายที่เราจะมองด้วยสายตามุมมองที่แบ่งแยก  ด้วยจิตใจที่อคติ   ไม่ว่าอคติด้วยการมองแบ่งแยกความแตกต่างทางเพศ  วรรณะผิวพรรณ  ฐานะทางเศรษฐกิจ  ชนชั้นทางสังคม  ฐานะ ตำแหน่ง   รูปร่างหน้าตา  หรือ เบื้องหลังความเป็นมาของชีวิตคนนั้น ๆ   การมองแบ่งแยกเช่นนี้บ่อยครั้งที่นำไปสู่การมองด้วยสายตาดูถูก ดูแคลน  เหยียดหยาม สร้างความรังเกียจเดียดฉัน  กลัว  และความเป็นศัตรูกัน

ที่สำคัญคือ  มุมมองเช่นนี้เป็นมุมมองคนละขั้วกับ มุมมองที่พระคริสต์ต้องการให้คริสตชนทุกคนมี   สัจจะความจริงก็คือว่า  พระคริสต์ต้องการให้คริสตชนแต่ละคนมองคนอื่น และ กระทำต่อผู้คนรอบข้างตนว่าเป็น “เพื่อนบ้าน” ของตน   ไม่ว่าผู้คนเหล่านั้นจะมีความแตกต่างมากน้อยเช่นไรจากตนเอง หรือ พวกตนก็ตาม

ในพระธรรมโคโลสี  เปาโล กล่าวไว้ว่า   ให้เราประหารโลกียวิสัยในตัวเราเสีย (3:5)   อันเป็นพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ในชีวิตคริสตชน   แต่ให้สวมวิสัยมนุษย์ใหม่ที่กำลังได้รับการสร้างขึ้นใหม่ตามพระฉายาของพระเจ้า (3:10)   และการสร้างวิสัยมนุษย์ใหม่ในตัวเรา   พระคริสต์ไม่ได้แบ่งแยกว่าพระองค์สร้างในคนแบบไหน  ลักษณะอย่างไร (ข้อ 11)  แต่พระคริสต์มองว่าแม้คนจะแตกต่างกันแค่ไหนเช่นไร   พระคริสต์ก็จะสร้างคนเหล่านั้นขึ้นใหม่   มิใช่ตามมาตรฐาน หรือ กระแสนิยมแห่งสังคมโลกนี้ (โรม 12:1-2)  แต่พระองค์สร้างเราขึ้นตามแบบชีวิต(พระฉายา)ของพระผู้สร้างเราทั้งหลาย

ใครก็ตามที่ยอมเปิดชีวิตทั้งสิ้นของตนให้พระวิญญาณของพระเจ้าเปลี่ยนแปลงใหม่   คน ๆ นั้นจะมีมุมมองโลกและคนอื่นรอบข้างที่แตกต่างไปจากเดิม   พระวิญญาณจะเปลี่ยนมุมมองที่มองคนอื่นอย่างอคติ   ให้กลับมามองผู้คนด้วยมุมมองที่รัก เมตตา และต้องการที่จะให้ชีวิตของตนแก่คนนั้นที่อยู่ล้อมรอบเรา   และนี่คือพระราชกิจของพระเจ้าที่กระทำการเปลี่ยนแปลงและสร้างเราขึ้นใหม่   ให้เป็นคนที่สำแดงพระฉายาของพระองค์ในชีวิตของเราแต่ละคน


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

14 พฤศจิกายน 2559

พระเจ้า...ลูกยังไม่พร้อม?

วันนี้ท่านเต็มใจที่จะมอบทั้งกายและถวายทั้งชีวิตรับใช้พระเจ้า  ในที่ที่ท่านดำเนินชีวิตอยู่หรือไม่?   ไม่ว่าในครอบครัวคริสตจักร   หรือที่ที่พระคริสต์ส่งท่านออกจากคริสตจักรเข้าไปในสังคม/ชุมชน  ไม่ว่า ในครอบครัวของท่าน   ในที่ทำงานของท่าน  ในเวลาที่ท่านใช้กับเพื่อนของท่านในกลุ่ม หรือ ผ่านเครื่องมือสื่อสารต่าง ๆ   รวมถึงการร่วมในงานพัฒนาคุณภาพชีวิตในชุมชน

คริสตชนหลายท่านอาจจะตอบว่า   ตนเต็มใจที่จะมอบกายถวายชีวิตนี้รับใช้พระเจ้า   แต่ตนยังขาดความพร้อม   เราต้องไม่ลืมแต่ต้องตระหนักชัดว่า   เมื่อพระเจ้าทรงใช้เรา พระองค์มิได้มองว่า “เรามีความพร้อม” มากน้อยแค่ไหน   พระเจ้ามิได้ทรงเรียกเรารับใช้พระองค์ด้วยความสามารถ  สติปัญญาของเราเท่านั้น   แต่พระองค์ต้องการที่จะทำงานในและผ่านทุก ๆ มิติในชีวิตของเรา   อ่านให้ชัดนะครับว่า “พระเจ้าต้องการทำงานในและผ่านชีวิตของเรา” ใช่ พระองค์ทำงานผ่านความรู้ ความสามารถ และ ทักษะที่เราเองอาจจะรู้ “จำกัด” หรือ “ขาดด้อย”   แต่พระองค์ทำงานในชีวิตและผ่านชีวิตของเรา  พระองค์จะทรงเติมเต็มเราให้มีสิ่งจำเป็นเหล่านี้เพียงพอสำหรับงานที่พระองค์กระทำผ่านชีวิตของเรา  

ให้เราระลึกถึง แป้งที่ติดก้นหม้อ และ น้ำมันที่อยู่ก้นไห ของหญิงม่ายเมืองศาเรฟัท ที่ยอมทำตามคำขอของเอลียาห์   ผลที่เกิดขึ้นคือ ทั้งน้ำมัน และ แป้ง ใช้ไม่หมดสักทีในช่วงเวลาที่อดอยากขัดสน   มีพอทุกมื้อทุกวัน  และยังพอสำหรับทั้งท่านผู้เผยพระวจนะ และ ตัวนางพร้อมลูกของนางด้วย (1พงศ์กษัตริย์ 17:8-16)  

เมื่อพระเจ้าทำงานผ่านชีวิตของเรา   นอกจากเรามีส่วนร่วมที่จะทำให้พระประสงค์ของพระองค์ในครั้งนั้น ๆ สำเร็จ   เราเองยังได้รับการพัฒนาเสริมเพิ่มเติมเต็มจากพระเจ้า   ไม่ว่าจะเป็นสติปัญญา  ทักษะ ความสามารถ ความรู้  ความชำนาญ  และความเข้าใจในชีวิตรอบด้านด้วย  

หรือถ้าจะกล่าวว่า “ยิ่งทำยิ่งพร้อม”  “ยิ่งรับใช้ยิ่งเข้มแข็ง และ เติบโตในพระคริสต์” ก็ไม่ผิด!

เปาโลบอกกับคริสตชนในโครินธ์ว่า  “...ท่าน​จง​ถวาย​พระ​เกียรติ​แด่​พระ​เจ้า​ด้วย​ร่างกาย​ของ​ท่าน​เถิด​” (1โครินธ์ 6:20 ข.  มตฐ.) 

ให้เราถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าด้วยทั้ง กาย ใจ จิตวิญญาณ  ตะลันต์ความสามารถ  ความรู้พร้อมทักษะ  และของประทานทั้งหลายที่เราได้รับจากพระองค์   นอกจากพระประสงค์ของพระเจ้าจะสำเร็จผ่านชีวิตที่รับใช้ของเราแล้ว   เราเองยังได้รับการเสริมสร้างจากพระเจ้าที่มี “ความพร้อม” มากขึ้นในการรับใช้พระเจ้าในงานต่อ ๆ ไปด้วย

นอกจากนั้นแล้ว   การร่วมรับใช้พระประสงค์และพระราชกิจของพระเจ้าที่ทรงกระทำผ่านชีวิตของเรา  ยังนำความรู้สึกชื่นชม ขอบคุณของผู้ได้รับผลจากการรับใช้    ซึ่งทำให้เกิดการถวายพระเกียรติ และ สรรเสริญพระนามพระเจ้า  ทั้งคริสตชนที่รับใช้พระเจ้าก็ขอบพระคุณและสรรเสริญพระองค์ด้วย   และนี่คือการถวายเกียรติและสรรเสริญพระนามของพระเจ้าอย่างแท้จริง   มิใช่แค่การมาร่วมในการนมัสการพระเจ้าในคริสตจักรเท่านั้น

การรับใช้พระเจ้าวันนี้ คือจุดเริ่มต้นของการดำเนินชีวิตในแผ่นดินของพระเจ้า หรือ ในแผ่นดินสวรรค์ อย่างเป็นรูปธรรม(สัมผัส จับต้องในชีวิตจริงปัจจุบัน)   และการรับใช้ทำให้เรามีชีวิตเติบโตและเข้มแข็งขึ้นในแผ่นดินสวรรค์ที่พระคริสต์ได้เริ่มต้นสถาปนาขึ้นแล้วบนแผ่นดินโลกนี้   การรับใช้พระเจ้าจึงเป็นการสานต่อพระราชกิจของพระคริสต์ในที่ที่เราแต่ละคนมีชีวิตและดำเนินชีวิตประจำวัน

ชีวิตในแผ่นดินสวรรค์ หรือ ชีวิตในแผ่นดินของพระเจ้า ที่พระคริสต์นำมาสถาปนาบนโลกใบนี้   มิใช่การนุ่งขาวห่มขาว   มิใช่ชีวิตที่แยกตนออกจากสังคมโลกและหามุมมืดที่จะนั่งบ่นภาวนาเท่านั้น   แต่สำหรับพระคริสต์แล้ว   ชีวิตของคนที่เข้าในแผ่นดินของพระเจ้า   ต้องเป็นชีวิตที่เป็นแสงสว่าง และ ความเค็มของเกลือที่แทรกซึมเข้าไปในทุกอณูชีวิตของสังคมที่เราอาศัยอยู่ด้วย  

ดังนั้น   คริสตจักรคือชุมชนที่พระคริสต์ตั้งขึ้นเพื่อบ่มเพาะ ฟูมฟัก เลี้ยงดูให้ทุกคนในคริสตจักรมอบกายถวายทั้งชีวิตรับใช้พระคริสต์ในชุมชนที่ตนมีชีวิตอยู่   และนี่คือพระประสงค์ของพระคริสต์ที่ทรงก่อตั้งคริสตจักรขึ้น  

คริสตจักรของพระคริสต์ ที่มิใช่เป็นเพียงการ “หาคนใหม่ ๆ มาใส่คริสตจักร” จำนวนสมาชิกมากขึ้น   เพื่อมีเงินถวายมากขึ้น   เพราะถ้าทำเช่นนั้นเรากำลังสร้างคริสตชนเหมือนคนประหลาดที่นำมาแสดงในงานวัดในอดีต  ที่เอาคนพิการลักษณะประหลาด ๆ  มาแสดงเก็บสตางค์จากผู้ชม   ถ้าเช่นนั้นเรากำลังสร้าง  “คริสตชนที่หัวโต  ตัวเล็ก ไร้แขนและขาลีบ”   นอกจากทำอะไรไม่ได้แล้ว   ยังต้องพึ่งพาอาศัยคนอื่นช่วยให้สามารถมีชีวิตต่อไปด้วย

การรับใช้พระคริสต์ในชีวิตประจำวันของคริสตชนเป็นหัวใจสำคัญประการหนึ่ง ในการเป็นสาวกของพระคริสต์   เพราะเท่ากับเราเปิดชีวิตของเรารับการสร้างเสริมเพิ่มเติมเต็มจากพระเจ้าให้เป็นคนที่เติบโตขึ้น และ เป็นคนที่พระองค์ใช้ได้ตามพระประสงค์

อย่าตระหนักผิดคิดพลาดนะครับว่า   เรายังไม่พร้อมที่จะรับใช้พระเจ้า

แต่ให้เราตระหนักชัดว่า  วันนี้ให้เรามอบกายถวายทั้งชีวิตของเราให้พระคริสต์ทำงานผ่านชีวิตของเรา (ไม่ใช่เราทำเองด้วยความสามารถของเรา)  ในกระบวนการรับใช้และพระองค์ทำงานผ่านชีวิตของเรานั้นเองที่พระเจ้าทรงสร้างเสริมเติมเต็มให้ชีวิตของเรา “พร้อม” ที่จะรับใช้ตามพระประสงค์ของพระองค์มากขึ้น

จุดเริ่มต้นสำหรับวันนี้   ขอท่านพิจารณาใคร่ครวญถึงชีวิตของตนว่า   ปัจจุบันนี้ท่านกำลังใช้ทุกมิติชีวิตของท่านเพื่อตนเอง หรือ เพื่อให้พระคริสต์จะทำงานผ่านชีวิตประจำวันของท่านตามพระประสงค์ของพระองค์?   เมื่อพบความจริงอย่างไรแล้วก็ให้ปรึกษากับพระคริสต์ตรง ๆ ว่า  พระองค์จะทรงทำงานในชีวิต และ ผ่านชีวิตของท่านอย่างไรในวันนี้ก็เต็มใจให้พระองค์ใช้ตามพระประสงค์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

07 พฤศจิกายน 2559

ท่านผู้นำครับ...ความมั่นคงของท่านอยู่ในพระเจ้า หาใช่คนที่ติดตามท่าน

ถ้าพระเจ้ามิใช่แก่นกลางในสิ่งที่เราทำ มานะ ทุ่มเท และ พยายามแล้ว   สิ่งที่เราลงทุนก็ไร้ค่า สิ่งที่เราลงแรงก็เหนื่อยเปล่า  สดุดี 127:1 กล่าวไว้ว่า  “ถ้า​พระ​เจ้า​มิได้​ทรง​สร้าง​บ้าน​   บรรดา​ผู้​ที่​สร้าง​ก็​เหนื่อย​เปล่า   ถ้า​พระ​เจ้า​มิได้​ทรง​เฝ้า​อยู่​เหนือ​นคร   คน​ยาม​ตื่น​อยู่​ก็​เหนื่อย​เปล่า” (มตฐ.)   และนี่คือสัจจะความจริงไม่ว่าคน ๆ นั้นจะเป็นผู้นำในกองทัพ  หรือ เป็นผู้นำในบริษัทที่ยิ่งใหญ่   หรือในองค์กรระดับโลก  หรือ  แม้แต่องค์กรเล็ก ๆ ในชุมชน   การเป็นผู้นำในองค์กรเหล่านี้จะประสบกับความมั่นคง ยั่งยืน และเกิดผลได้นั้นต้องมีพระเจ้าเป็นแก่นกลางของการนำ การดำเนินการขององค์กร

สิ่งที่เราพึงระมัดระวังในการบริหารจัดการองค์กรของเราคือ   องค์กรคริสตชนในปัจจุบันเรา “มักจะมีพระเจ้าเข้ามาเพียงมีส่วนร่วม” ในการบริหารจัดการองค์กรเท่านั้น   ให้พระเจ้ามีส่วนร่วมในเป้าหมาย  แผนยุทธศาสตร์  แผนการดำเนินงานของเราเท่านั้น   นั่นมิได้ทำให้เกิดความมั่นคง ยั่งยืน และ เกิดผลในองค์กรของเรา   เพราะพระเจ้ามิใช่แก่นแกนขององค์กรเรา  มิใช่เสาหลัก และ รากฐานขององค์กรเรา  แค่เป็นเพียงผู้มีส่วนร่วม หรือ ทำในสิ่งที่เราขอ   เราไม่ได้มอบให้พระองค์เป็นเจ้าขององค์กรของเรา  และ ควบคุมการขับเคลื่อนองค์กรเรา

เราต้องตระหนักชัดว่าพระเจ้าเท่านั้นที่จะให้ความมั่นคง ยั่งยืน และ เกิดผลในองค์กรของเรา   เราไม่สามารถได้สิ่งนี้จากคนที่เรานำ  หรือ คนที่มีส่วนร่วมในองค์กรของเรา   เราไม่สามารถได้สิ่งเหล่านี้จากแผนยุทธศาสตร์ของเรา   และไม่สามารถได้สิ่งเหล่านี้จากแผนกลยุทธ์ทางการเมืองในองค์กรของเรา   และคุณก็ไม่สามารถใช้เงินซื้อสิ่งเหล่านี้ได้   แต่ความจริงก็คือ
  • มนุษย์ไม่สามารถให้ความปลอดภัย มั่นคง ที่ยั่งยืนให้แก่ผู้นำได้  (นั่นหมายความว่า ไม่ว่าด้วยวิธีการประชานิยม หรือ การซื้อ (ทั้งเสียง และ ใจ) ประชาชนก็ไม่สามารถสร้างความปลอดภัย มั่นคง และยั่งยืนให้แก่ผู้นำได้)
  • ผู้นำไม่ควรที่จะให้ภาวะผู้นำทางอารมณ์ความรู้สึกขึ้นอยู่กับผู้ตาม หรือ คนใดคนหนึ่งรอบข้างตน (กล่าวคือ ภาวะอารมณ์ของผู้นำไม่ควรขึ้นอยู่การรักการเกลียด การสนับสนุนหรือการต่อต้าน  ฯลฯ ของผู้ตาม หรือ พวกลิ่วล้อ คนเกี่ยวข้อง “กุนซือการเมือง” ของตน   และรวมถึงคนฝ่ายตรงกันข้าม)
  • ภาวะผู้นำทางจิตวิญญาณ และ อารมณ์ต้องการการค้ำจุนจากสัจจะความจริง (ภาวะผู้นำทางอารมณ์ของผู้นำหยั่งรากบนรากฐานแห่งพระวจนะของพระเจ้า  และยืนมั่นในพระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับชีวิตของตน)
  • ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อผู้นำพึ่งพามนุษย์  ริทำในสิ่งที่พระเจ้าเท่านั้นทรงกระทำได้  (บ่อยครั้งเหลือเกินที่เราได้เห็นว่า   ผู้นำทุ่มทุกอย่างเพื่อเอาใจคนรอบข้าง   เพื่อจะให้คนเหล่านั้นทำบางอย่างที่ตนต้องการ   หลายอย่างที่มนุษย์มีศักยภาพ และ ของประทานที่สามารถทำได้   แต่มีหลายอย่างที่พระเจ้าเท่านั้นกระทำได้   แต่ถ้าผู้นำคนใดมุ่งให้คนรอบข้างทำทุกอย่างเพื่อตนเอง   ความล้มเหลวและความหายนะขององค์กรรออยู่ข้างหน้า)


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

03 พฤศจิกายน 2559

เก้าอาการของคริสตจักรที่ติดเชื้อในกระแสเลือด

อาการติดเชื้อในกระแสเลือดมักเห็นได้ชัดในคริสตจักรที่มีอายุได้สักระยะหนึ่ง คริสตจักรเหล่านี้จะค่อย ๆ เข้าสู่ภาวะ ที่ตายแล้วทั้ง ๆ ที่ยังดำเนินกิจกรรมแบบซ้ำซากทุกเมื่อเชื่อวัน ต่อไปนี้เป็น 9 อาการที่คริสตจักรติดเชื้อในกระแสเลือด ที่จะนำคริสตจักรไปสู่ความตาย ถ้าไม่มีการจัดการเชื้อที่เข้าไปในกระแสเลือดของคริสตจักร

สมาชิกคริสตจักรกลายเป็นผู้ชมไม่ใช่ ผู้ชก

คริสตจักรกลายเป็นที่คนมาร่วมกันเพื่อเป็น ผู้ชมอย่างคนดูมวย ชมคอนเสิร์ต ฟังการเทศน์ หรือ ฟังการบรรยาย โดยไม่ต้องมีส่วนร่วมในเนื้อหาสัจจะของการนมัสการเลย สิ่งที่ได้เห็น ได้ยินได้ฟัง ไม่มีอิทธิพลหรือพลังต่อความนึกคิด และ การดำเนินชีวิตประจำวันในชีวิตของสมาชิกเหล่านั้น

แท้จริงแล้ว คริสตจักรไม่ต้องการให้สมาชิกเป็นคน เชียร์มวย แต่คริสตจักรต้องการนักมวยที่สามารถออกไป ชกกับสถานการณ์ชีวิตประจำวันที่ตนต้องเผชิญ หรือ ต้องต่อสู้ เพื่อชีวิตของสมาชิกแต่ละคนจะเจริญเติบโต แข็งแรง และ เกิดผล เพื่อคริสตจักรจะยังมีชีวิตและเกิดผลตามพระประสงค์ของพระคริสต์

ข้อมูลความรู้ที่ไม่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิต

สิ่งที่สอน ที่อ่าน เป็นเพียงข้อมูลหรือความรู้เท่านั้น แต่กลับไม่ได้เกิดการเรียนรู้สัจจะความจริง แล้วนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันตลอดสัปดาห์ ทั้งชีวิตในครอบครัว ในที่ทำงาน ความสัมพันธ์ในกลุ่มเพื่อนและการมีชีวิตร่วมในชุมชน จึงไม่แปลกที่สิ่งที่พูดกันทำกันในคริสตจักรกลายเป็นอีกโลกหนึ่งที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับโลกที่เป็นจริงในชีวิตประจำวันของตน สิ่งที่สอนที่เทศน์เป็นข้อมูลความรู้ที่ดี แต่ไม่สามารถทำให้เกิดผลดีในชีวิตของคนที่ได้ยินได้ฟัง?

มัวสนใจตนเองแต่ไม่ใส่ใจชุมชน (มัวส่องกระจกแต่ไม่มองออกไปนอกหน้าต่าง)

หลายต่อหลายคริสตจักรที่มัวใส่ใจกับตนเองหรือเรื่องในคริสตจักรเท่านั้น เหมือนกับคนมองตนในกระจก เพียงสนใจในรูปร่าง ลักษณะ ของตนว่าจะทำอย่างไรที่ให้ดูดีในสายตาของคนอื่น แต่สมาชิกคริสตจักรเหล่านี้ละเลยและไม่สนใจว่าผู้คนในชุมชนที่ตนเกี่ยวข้องด้วยจะมีชีวิตแบบไหนอย่างไร ตนจะมีส่วนที่ดีในชีวิตของผู้คนเหล่านั้นอย่างไร เหมือนที่มีผู้เปรียบเทียบไว้ว่า คริสตจักรมัวแต่ส่องกระจกเพื่อแต่งองค์ทรงเครื่องตนเอง แต่ละเลยที่จ้องมองออกไปยังทางหน้าต่างเพื่อจะเห็นว่าคนในชุมชนมีชีวิตเช่นไร แล้วตนและคริสตจักรจะเข้าไปมีส่วนร่วมทุกข์ร่วมสุขเพื่อเสริมสร้างคุณภาพในชีวิตชุมชนอย่างไร

ผูกพันแต่ไม่ยอมผูกมัดตนเอง

ปัจจุบันนี้ เรามีสมาชิกคริสตจักรที่มีความผูกพันกับคริสตจักร คือยอมรับว่าตนเป็นสมาชิกคนหนึ่งในคริสตจักร ตนพร้อมจะมาร่วมพันธกิจและร่วมชีวิตในชุมชนคริสตจักร ตามกำลังและเวลาที่ตนมีและสามารถจะมาร่วมได้แต่สมาชิกเหล่านี้จะไม่ยอมที่จะ ผูกมัดตนว่า ตนจะเปลี่ยนแปลงชีวิต อุทิศชีวิต เวลา และความสามารถรับใช้และสานต่อพระราชกิจของพระคริสต์ในชีวิตประจำวัน

ร่วมศาสนพิธีแต่ไม่ลงลึกถึงความหมายและคุณค่า

สมาชิกที่มุ่งมาร่วมศาสนพิธีในคริสตจักร มักจะมาร่วมศาสนพิธีตามเวลาโอกาสและจิตใจของตนเองจะเอื้ออำนวย และเมื่อมาร่วมสักระยะหนึ่งจะเริ่มรู้สึกว่าทุกอย่างเป็นไปแบบเดิม ๆ พูดเรื่องเดิม ๆ ทำพิธีเดิม ๆ ร้องเพลงเดิม ๆ แล้วก็จะเกิดความเบื่อหน่าย มาร่วมบ้างไม่มาร่วมบ้าง

อันตรายของสมาชิกที่มาร่วมในคริสตจักรเพียงเพื่อร่วมในการประกอบพิธีทางคริสต์ศาสนาเท่านั้น สมาชิกกลุ่มนี้จะไม่สนใจเรื่องคุณค่าความหมายของการมาร่วมพันธกิจในคริสตจักร พระกิตติคุณของพระคริสต์ พระวจนะของพระเจ้าไม่มีคุณค่า ความหมาย และ อิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของเขา

ต้องการให้ตนเองเจริญมั่งคั่งที่ปราศจากการเอื้ออาทรและใจกว้างขวาง

สิ่งที่น่าอันตรายอีกสิ่งหนึ่งคือ บ่อยครั้งที่สมาชิกคริสตจักรถวายทรัพย์สินสิ่งของแด่พระเจ้า สมาชิกส่วนหนึ่งหวังว่าเมื่อตนถวายให้พระเจ้า พระเจ้าจะต้องอวยพระพรเพราะการที่ตนถวาย พูดให้สั้น ๆ ฟันธงว่า บ่อยครั้งในใจลึก ๆ ของสมาชิกคริสตจักรส่วนหนึ่งถวายด้วยหวังผล ว่าตนจะได้รับพระพรความมั่งคั่ง อันตรายคือ ถ้าไม่ได้รับความมั่งคั่งสมใจก็เริ่มลดและละเลยในการถวาย เพราะถวายแล้วไม่เห็นผล

ความคิดการถวายโดยหวังให้พระเจ้าอวยพระพรให้ตนจะมั่งคั่ง สมาชิกกลุ่มนี้มักจะไม่สนใจที่จะมีจิตใจที่ให้ด้วยใจกว้างขวาง เป็นการถวายที่ขาดจิตใจที่เอื้ออาทรและให้ผู้อื่นด้วยใจกว้างขวาง

คนเพิ่มขึ้นแต่ไม่เกิดผล

เมื่อคริสตจักรพูดถึงเรื่องการเพิ่มพูนคริสตจักร ปัจจุบันหลายคริสตจักรหมายถึงการที่มีคนมาร่วมกิจกรรม
หรือพันธกิจในคริสตจักรมากขึ้น โดยคริสตจักรละเลยการเลี้ยงดู บ่มเพาะ และฟูมฟักชีวิตการเป็นสาวกของพระ
คริสต์ที่เติบโตขึ้น และคริสตจักรจะวัดการเพิ่มพูนคริสตจักรด้วยจำนวนสมาชิกที่เพิ่มมากขึ้น เงินถวายเพิ่มมาก
ขึ้นเท่าใด หรือไปตั้งคริสตจักรใหม่ได้กี่แห่ง แต่ไม่ได้ใส่ใจว่า สมาชิกคริสตจักรแต่ละคนในคริสตจักรได้รับการสร้างเสริมให้มีชีวิตที่เยี่ยงพระคริสต์ และ รับใช้อย่างที่พระองค์เป็นแบบอย่างมากน้อยแค่ไหน

มีแต่ สมาชิกคริสตจักรแต่ไม่มี สาวกพระคริสต์

คริสตจักรหลายแห่งในปัจจุบัน เริ่มละเลย ลดทอน การใส่ใจวางรากฐานพระวจนะของพระเจ้าในชีวิตของสมาชิกวัยต่าง ๆ ในคริสตจักรของตน เหลือแต่การสอนและเทศนาพระวจนะของพระเจ้าในการนมัสการเท่านั้น คริสตจักรไม่มีกลุ่มเฉพาะที่จะเลี้ยงดูฟูมฟักสมาชิกคริสตจักรแต่ละความสนใจ เพื่อช่วยให้เขาสามารถเติบโตขึ้นในชีวิตคริสตชนด้านต่างๆ

คริสตจักรที่ไม่สร้างสาวก ก็จะเป็นคริสตจักรที่สมาชิกไม่ได้รับใช้พระคริสต์ในการทำพันธกิจด้านต่าง ๆ ทั้งในคริสตจักร และ ในชุมชน เมื่อสมาชิกไม่มีส่วนร่วมและใช้ชีวิตในการรับใช้พระคริสต์ในการทำพันธกิจด้านต่าง ๆ
ชีวิตของสมาชิกก็ไม่เติบโต นาน ๆ เข้าก็เป็น คริสตชนตายซาก

ทำตามหน้าที่โดยปราศจากความรักเมตตา

ในคริสต์ศตวรรษนี้ มักมีคริสตจักรที่ทุ่มเทในการทำกิจกรรมมากมาย (บางครั้งทำกิจกรรมจนทั้งศิษยาภิบาลและสมาชิกกลุ่มหนึ่งเหนื่อยอ่อนหมดแรง) ปฏิทินเต็มด้วยแผนงานและกิจกรรมของคริสตจักร แต่หัวใจของสมาชิกกลับว่างเปล่า กล่าวคือมีกิจกรรมมากมาย สมาชิกมาร่วมกันทำเพราะคิดว่าทำตามหน้าที่ หรือ เพราะเห็นแก่ศิษยาภิบาล และการทำกิจกรรมเหล่านั้นโดยปราศจากจิตใจที่รักเมตตา แต่จะแย่เอามาก ๆ ถ้าทำด้วยจิตใจที่เย็นชา (วิวรณ์ 2:2-5; มัทธิว 24:12)

ถึงเวลาที่คริสตจักรจะถอนพิษออกจากกระแสเลือดของตนหรือยังครับ?

แล้วจะถอนพิษติดเชื้อในกระแสเลือดของคริสตจักรอย่างไรดีครับ?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com

081-2894499