25 พฤษภาคม 2560

เราเป็นอย่างนี้ไหม?

พระเยซูไม่ได้กอบกู้เรา
ให้เป็นคนดี

แต่กอบกู้เรา
ให้มีโอกาสใหม่+ชีวิตใหม่
เพื่อเราจะรับใช้
ด้วยการให้ชีวิต+พระคริสต์ในสังคมโลก

โอกาสใหม่
แก่ผู้ที่เราสัมพันธ์เกี่ยวข้อง
แก่ผู้คน+ชุมชน

เพราะว่าพระกิตติคุณของพระคริสต์
ทำงานในแต่ละบุคคล
เพื่อเป็นพลังรับใช้
ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคม/โลก
ให้เป็นแผ่นดินของพระเจ้า


ปล. การเป็น "คนดี" เป็นผลพลอยได้จาก "ชีวิตใหม่"

22 พฤษภาคม 2560

ความเชื่อศรัทธา ไม่ใช่อารมณ์ความรู้สึกที่แปรเปลี่ยนไปตามสถานการณ์!

เมื่อเรายังเป็น “คริสตชนวัยทารก” พระเจ้าทรงใส่ใจต่อ “อารมณ์ความรู้สึก” ของเรา   พระองค์ทรงตอบการทูลขออย่าง “คริสตชนที่ยังเป็นทารกในพระคริสต์” ของเรา   แม้จะเป็นการทูลขอตามใจตนเอง  ทั้งนี้พระองค์ต้องการให้เราเรียนรู้ว่า พระองค์อยู่เคียงข้างเสมอในชีวิตของเรา   แต่เมื่อทารกเติบโตถึงขั้นที่จะต้อง “หย่านม”  ถึงเวลาที่จะต้องจัดการรับผิดชอบกับตนเอง   พระองค์เริ่มที่จะทำให้เราต้องเติบโต “เป็นผู้ใหญ่” ในพระคริสต์   เป็นคริสตชนที่มีวุฒิภาวะมากยิ่งขึ้น

มีอยู่สองคำที่คริสตชนจะต้องเรียนรู้ให้เข้าใจชัดเจนคือ  พระเจ้าทรงอยู่กับเราทุกหนทุกแห่ง  กับ  พระเจ้าทรงสำแดงถึงการทรงสถิตอยู่กับเรา   คำแรกเป็นสัจจะความจริงที่ไม่เปลี่ยนแปลง   แต่คำที่สองเป็นคำที่เป็นอารมณ์ความรู้สึก   ซึ่งจะมีหรือเกิดขึ้นที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน   พระเจ้าทรงอยู่เคียงข้างเราเสมอ  ทั้งที่เราสำนึกและไม่สำนึกก็ตาม   การสำแดงการทรงสถิตอยู่ของพระองค์ก็เป็นความจริงแต่มักปรากฏผ่านความรู้สึกของแต่ละคน หรือ ชี้วัดผ่านทางอารมณ์ความรู้สึกของคน

พระเจ้าต้องการให้เราสำนึกถึงการเป็นอยู่ด้วยของพระองค์เสมอ   แต่พระองค์ต้องการให้เราสำนึกมิใช่ด้วยความรู้สึกเท่านั้น แต่ต้องการให้เราสำนึกด้วยการไว้วางใจในพระองค์มากกว่า   ความเชื่อศรัทธาไม่ใช่ความรู้สึก  แต่มีชีวิตที่พระเจ้าทรงพึงพอพระทัย

เมื่อพระเจ้าทรงยืดขยายความเชื่อศรัทธาของเรา ในสถานการณ์ชีวิตฉีกขาด แตกสลาย แย่สุดคือ ในเวลานั้นมองหาพระเจ้าไม่พบ  สถานการณ์เช่นนี้เกิดแก่โยบ   เพียงภายในวันเดียวเขาสูญเสียทุกอย่างที่เขามีอยู่   ไม่ว่าคนในครอบครัวของเขา   ธุรกิจการงานของเขา   สุขภาพของตน  เขาสูญเสียทุกอย่างที่เคยมี   แต่ที่แย่ที่สุดเราพบว่า ตลอดพระธรรม 42 บท แต่มีถึง 37 บทที่พระเจ้ามิได้ตรัสอะไรเลย

ในเวลาที่ย่ำแย่ในชีวิต  กลับเป็นโอกาสที่สำคัญที่พระเจ้าทรงเสริมสร้างชีวิตของเราให้แข็งแรง!

แล้วจะให้เราสรรเสริญพระเจ้าได้อย่างไรเมื่อเราไม่เข้าใจเลยว่า สิ่งเลวร้ายรุนแรงเกิดขึ้นแก่ชีวิตของเรา  แล้วพระเจ้าทำไมยังเงียบเชียบ?   เราจะติดต่อสัมพันธ์กับพระเจ้าในยามวิกฤติชีวิตเช่นนี้ได้อย่างไรเมื่อไม่มีเสียงติดต่อสื่อสารจากพระองค์?   แล้วเราจะมองเห็นพระคริสต์ได้อย่างไรเมื่อดวงตาทั้งสองข้างของเราเจิ่งนองด้วยน้ำตา?   เราได้ทำอย่างโยบหรือไม่?

“(โยบ)...กราบ​ลง​ถึง​ดิน​นมัส​การ(พระเจ้า)  ท่าน​ว่า “ข้า​มา​จาก​ครรภ์​มาร​ดา​ตัว​เปล่า และ​ข้า​จะ​กลับ​ไป​ตัว​เปล่า พระ​ยาห์​เวห์​ประ​ทาน และ​พระ​ยาห์​เวห์​ทรง​เอา​ไป​เสีย สาธุ​การ​แด่​พระ​นาม​พระ​ยาห์​เวห์...” (โยบ 1:20-21 มตฐ.)

โยบทูล(บอก)ต่อพระเจ้าจากที่ตนเองรู้สึกจริง ๆ   เทความรู้สึกทั้งหมดต่อพระเจ้า 

“ฉะนั้น ข้าพระองค์จะไม่นิ่งอยู่   ข้าพระองค์จะพูดออกมาด้วยความทุกข์ระทมใจ  ข้าพระองค์จะพร่ำบ่นด้วยความขมขื่นในดวงวิญญาณ” (โยบ 7:11 อมต.)

เมื่อโยบเห็นและรู้สึกว่าพระเจ้าช่างอยู่ห่างไกลจากเขาเสียเหลือเกิน   โยบร้องทูลต่อพระเจ้าถึงสิ่งดี ๆ ที่พระเจ้าทรงกระทำเมื่อวาน ๆ  

“คิดถึงวัยฉกรรจ์   เมื่อมิตรภาพแน่นแฟ้นของพระเจ้าเป็นพรแก่บ้านของข้า   เมื่อพระองค์ทรงฤทธิ์ยังสถิตกับข้าและลูก ๆ ของข้าห้อมล้อมข้า   เมื่อกิจการของข้าเจริญรุ่งเรือง   แม้แต่หินผายังหลั่งน้ำมันมะกอกให้...” (โยบ 29:4-6 มตฐ.)

ในเวลาที่เลวร้ายสุด ๆ ในชีวิต   ในเวลาที่ “ความรู้สึก” บอกเราว่าพระเจ้าอยู่ห่างไกลโพ้น  ในเวลาที่ไม่มีเสียงจากพระองค์   จงวางใจในพระเจ้าว่า  พระองค์จะรับมือและจัดการกับ ความสงสัย ความโกรธ ความกลัว  ความยุ่งยากสับสน   รวมไปถึงคำถามมากมายทั้งในจิตใจของเราและจากคนรอบข้าง   ในเวลาย่ำแย่เลวร้ายเช่นนี้เราสามารถทูลกับพระองค์ทุกสิ่ง   พระองค์ใส่ใจ  และ  ฟังด้วยใส่พระทัย

พระธรรมนำการดำเนินชีวิต

ë ในเวลาที่เราเรารู้สึกว่าพระองค์อยู่ห่างไกลจากเรา   อะไรที่แสดงว่าเรายังไว้วางใจในพระองค์?

ë เมื่อชีวิตของเราต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้าย  และไม่รู้ไม่เข้าใจว่าทำไมชีวิตถึงเป็นเช่นนี้  แล้วเราจะสรรเสริญพระเจ้าในเรื่องอะไรได้บ้าง?

ë ในชีวิตจริงของท่านที่ผ่านมา  เคยพบกับสถานการณ์เช่นนี้บ้างไหม?   ถ้าเคยพบ  ท่านรับมือ และ จัดการอย่างไร?   แต่ถ้าต้องประสบพบอีกในอนาคต ท่านจะจัดการรับมืออย่างไร?

ท่านสามารถแบ่งปันประสบการณ์ของท่านได้ครับ!

ท่านเห็นว่าคริสตจักร และ คริสตชนไทยปัจจุบันนี้  ให้ความสำคัญกับ “อารมณ์ความรู้สึก” เมื่อเข้าพบพระเจ้า  หรือให้ความสำคัญกับ “ความไว้วางใจ” พระเจ้าแม้สถานการณ์ชีวิตจะแปรเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

18 พฤษภาคม 2560

เราตั้งเป้าหมายแค่ต้องการบรรลุความสำเร็จแค่นั้นหรือ?

บ่อยครั้งเรามักตั้งเป้าหมายไว้แค่เพื่อวัดว่าเราได้บรรลุเป้าหมาย ที่กำหนดไว้หรือไม่   แต่กลับละเลยมองข้ามผลข้างเคียงที่ได้รับจากการตั้งเป้าหมาย   ซึ่งมีความสำคัญและคุณค่าที่มากกว่าแค่ “บรรลุเป้าหมาย”

สิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จากการกำหนดเป้าหมาย  

ผมชอบการโค้ชชิ่ง มากกว่าการสอน การบรรยาย หรือ แม้แต่การเทศนา   เพราะการโค้ชชิ่งทำให้ผมได้เห็นการเปลี่ยนแปลงต่อหน้าต่อตาผม   เป็นกำไรชีวิตที่หาดูได้ยากครับ   ที่จะเห็นชีวิตของโค้ชชี่ของเราเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นขั้นเป็นตอน   และเห็นโค้ชชี่ได้เข้าใจเท่าทันตนเอง   ซึ่งที่เกิดจากแรงกระตุ้นให้เขาขับเคลื่อนมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมาย   การเปลี่ยนแปลงชีวิตของโค้ชชี่เช่นนี้มีคุณค่ามากยิ่งกว่าการบรรลุเป้าหมายที่กำหนด   เพราะชีวิตเกิดการเปลี่ยนแปลง พัฒนา  ความคิดเกิดการเรียนรู้   มุมมองถูกปรับให้คมชัด  ยิ่งกว่านั้นศักยภาพ ความสามารถ  สมรรถนะเกิดการพัฒนา

แค่ขับเคลื่อนมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตมากมายเช่นนี้ได้อย่างไร?

มีความชัดเจน และ ขับเคลื่อนจากระบบคุณค่า

เราพบเห็นทุกเมื่อเชื่อว่า  ที่คน กลุ่มคน หรือ หลายองค์กร  ที่ตั้งเป้าหมายสำคัญสำหรับตน   แต่เมื่อถูกถามว่า อะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดของเป้าหมายที่เขากำหนดขึ้น  เรามักได้ยินได้ฟังคำตอบที่ผิวเผินซ้ำซาก เช่น “เพื่อลูก  เพื่อครอบครัว”  “เพื่อพระเจ้า” “เพื่อจะมั่งคั่งร่ำรวย” และ ฯลฯ

การที่เราจะรู้ว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดของเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่ง  เราสามารถสังเกตและประเมินจากการกระทำของคน ๆ นั้น   เช่น  หลายคนที่ตั้งเป้าหมายที่ต้องการลดความอ้วนให้มีทรวดทรงที่ดูดี แต่คน ๆ นั้นไม่ได้คิดต่อไปว่า  แล้วทำไมฉันถึงต้องลดความอ้วนให้มีทรวดทรงที่เหมาะสมล่ะ?   แม้เขาจะมีเครื่องมือออกกำลังกายอย่างดีครบครัน   หรือ  เป็นสมาชิกของ “ฟิตเนสคลับ” ที่มีชื่อเสียงก็ตาม   คนกลุ่มนี้เราจะพบว่าจะล้มเลิกกลางคัน หรือ แค่เริ่มออกกำลังกายไม่กี่ครั้งก็เลิกแล้ว   เหตุการณ์ที่ว่านี้จะพบมาก ๆ ก็ตอนเริ่มต้นปีใหม่ถึงเดือนกุมภาพันธ์ก็จะพบได้มากมาย

แต่ถ้าเราเกิดอาการป่วยหนักจนถึงขั้นเป็นโรคเจ็บป่วยเสี่ยงต่อการตายที่รออยู่ข้างหน้า   และแพทย์บอกว่าสิ่งแรกที่จะต้องทำคือ ลดน้ำหนักตัวลง 30 กิโลกรัม  ผมเชื่อว่า เราจะต้องจริงจังเข้มงวดกับการลดน้ำหนักนี้ให้ได้   “ทำไมล่ะ” เราถึงเข้มงวดจริงจังกับตนเองได้ถึงขนาดนั้น   เพราะเรารู้แล้วว่า  เราจะต้องตายถ้าไม่ทำเช่นนั้น  พลังที่ใช้ในการขับเคลื่อนลดน้ำหนักครั้งนี้อยู่ที่ “ระบบคุณค่า”  เพราะเราตระหนักชัดและถูกกระตุ้นให้ลดน้ำหนักเป็นเรื่องของชีวิต “ความเป็นความตาย”

เพราะการรู้แจ้งชัดเจนถึงว่า “ทำไมการทำเช่นนั้นมันถึงสำคัญต่อฉัน” เป็นตัวกระตุ้นให้ทั้งจิตใจ จิตวิญญาณ และ ร่างกาย สอดประสานรับมืออย่างสอดคล้องกันต่อการลดน้ำหนักตัวครั้งนี้   การที่เรามีความชัดเจนว่าทำไมเราถึงต้องทำสิ่งนี้  การที่ชัดเจนว่ามันสำคัญคอขาดบาดตายอย่างไรจะเป็นแรงกระตุ้นให้ความ “ลังเล” “การผัดวันประกันพรุ่ง” หมดกำลังลง   ความรู้สึกที่ว่า “ทำก็ได้ ไม่ทำก็ไม่เป็นไร” ก็จะหมดแรงไปจากภาวะนี้

รู้ถึง “ปุ่ม” ที่เราสามารถ “ควบคุม” ที่มีพลัง

เมื่อเรากำหนดเป้าหมายแล้วทุ่มเทให้ขับเคลื่อนไปให้ถึงเป้าหมายที่กำหนด   เราจะรู้สึกว่า “ตนเอง” มีกำลังควบคุมให้บางสิ่งเกิดขึ้น  หรือ ตนเองกำลังควบคุมต้นเหตุที่ทำให้เกิดผล(ตามเป้าหมาย)

แต่การควบคุมนั้นมีสองมิติใหญ่ ๆ คือ  การควบคุมภายในตัวเอง กับ การควบคุมสิ่งที่อยู่แวดล้อมภายนอก  หรือ พูดง่าย ๆ คือ   เราจะควบคุมชีวิตของเรา หรือ เราจะควบคุมสภาพแวดล้อม หรือ อิทธิพลภายนอกที่ล้อมรอบตัวเรา   จากประสบการณ์เราต่างพบความจริงว่า   การควบคุมภายใน เรากำลังทำงานกับความคิดความรู้สึกของเรา   และบ่อยครั้งเมื่อเริ่มต้น  เราจะรู้สึกว่าเรามีพลังที่จะควบคุมภายในชีวิตของเรา   ในเวลาเดียวกัน หลายครั้งที่เรายอมรับว่า เราไม่สามารถที่จะควบคุมกระแสสภาพแวดล้อมภายนอกตัวเรา

ดังนั้น  ถ้าเป็นกรณีของเรื่องสุขภาพของเราเอง เช่น การลดน้ำหนักที่เรากล่าวถึงข้างต้น   เรารู้ว่า เราไม่สามารถที่จะควบคุมกระแสสภาพแวดล้อมภายนอก   แต่ต้องควบคุมจากภายในของเรา   แต่ความจริงเราก็พบบ่อยครั้งว่า   ถึงเราจะรู้ความจริงในเรื่องนี้  และเริ่มควบคุมจากจุดภายในชีวิตของเราเอง   เราก็ยังพบกับการควบคุมตนเองให้ไปถึงเป้าหมายต้องล้มเหลว เช่น เลิกกลางคัน  ผัดวันประกันพรุ่ง ทั้งนี้เพราะลึก ๆ ในความรู้สึกของเรา   เรายังไม่รู้สึกว่าการบรรลุเป้าหมายที่วางไว้เป็นเรื่องที่สำคัญและมีคุณอย่างมากในชีวิตของตน   เรายังไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องสำคัญจำเป็นอย่างยิ่งในชีวิต   ตามตัวอย่าง  ยังไม่ใช่เรื่องความเป็นความตาย

การกระตุ้นที่ทรงพลังให้เรามุ่งมั่นขับเคลื่อนให้ไปถึงเป้าหมายคือ   การรู้ชัดเจนถึง “ปุ่ม” ที่เราสามารถควบคุมให้เราขับเคลื่อนได้นั้นเป็นการควบคุมจาก “ปุ่ม” ภายในชีวิตของเรา   แต่การที่จะมุ่งมั่นขับเคลื่อนอย่างจริงจังไปตลอดรอดฝั่งนั้น   ต้องมีพลังกระตุ้นที่ทรงประสิทธิภาพคือ  พลังควบคุมจากภายในชีวิตของเราที่ถูกกระตุ้นหนุนเสริมด้วย “คุณค่า” ที่จะได้รับของการเคลื่อนไปให้ถึงเป้าหมาย  เช่นในตัวอย่างข้างต้น  การลดน้ำหนักมีคุณค่าคือเป็นการรักษาชีวิตให้คงอยู่ต่อไปได้   หรือ เป็นทางที่จะให้เรารอดพ้นจากการที่ต้องตาย เป็นต้น

ภาคภูมิใจ(ความรู้สึกมีคุณค่า)ในตนเองบนความเป็นจริง

ความภูมิใจในตนเอง หรือ การรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง  เป็นสภาวะจิตใจที่มีทั้งผลบวกและผลลบ   ถ้าภูมิใจ และ คิดว่าตนเองมีคุณค่าที่ไม่อยู่บนความเป็นจริงก็จะทำให้คนนั้นไปสู่การเป็นคนหลงตนเอง หรือ บูชาตนเอง หรือ สำคัญผิดคิดว่าตนเองสำคัญแต่ผู้เดียว   แต่ถ้าเป็นความภูมิใจ และ รู้สึกตนเองมีคุณค่าบนภาวะความเป็นจริง   ก็เป็นการเสริมสร้างความมั่นใจ และ พลังในการขับเคลื่อนชีวิตไปสู่เป้าหมาย   แต่การที่ใครก็ตามที่มีความรู้สึกว่าตนมีคุณค่าต่ำ หรือ ด้อยคุณค่า ก็จะทำให้คนนั้นมีชีวิตจิตใจตกอยู่ในภาวะที่ไม่มี “สุขภาวะ”

จำเป็นที่คนเราควรมีความรู้สึกภูมิใจและรู้สึกมีคุณค่าในตนเองไม่ว่าชีวิตในช่วงนั้นตกอยู่ในสภาพใดก็ตาม   แม้ว่าเราจะตกอยู่ในภาวะที่ถดถอย  พ่ายแพ้ จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องสะท้อนคิดว่า  ในภาวะเช่นนี้มีอะไรบ้างที่ยังก้าวหน้าสร้างสรรค์(แม้จะเป็นเรื่องที่น้อยนิด)   นี่เป็นการเสริมสร้าง “การรู้เท่าทันตนเองอย่างสร้างสรรค์”  แต่ต้องอยู่บนความเป็นจริงในชีวิตของตน

ตระหนักชัดว่า เราสามารถมุ่งมั่นก้าวไปข้างในสิ่งที่เราต้องการ  ในระหว่างที่เรากำลังมุ่งมั่นก้าวไปสู่เป้าหมาย   เราต้องสะท้อนคิดในสิ่งที่เราประสบพบเจอบนเส้นทางนั้น    จะทำให้เราเห็นระบบการขับเคลื่อนที่ชัดเจนขึ้น  และการค้นหาความก้าวหน้าสร้างสรรค์บนความเป็นจริงในแต่ละช่วงตอนของการขับเคลื่อนยังเป็นการหนุนเสริมเพิ่มพลังใจในระหว่างการขับเคลื่อน   เป็นกระกระตุ้นให้เกิด “ความมั่นใจในตนเอง”   “ระบการควบคุมตนเอง”  และ “ความพึงพอใจในชีวิต”   สิ่งเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นในระหว่างที่เรากำลังมุ่นมั่นก้าวไปสู่เป้าหมายที่เรากำหนดไว้

อาการหลอนที่ไม่ถึงเป้าหมาย

อาการหลอนที่ไม่ถึงเป้าหมาย   เป็นอาการที่เราจดจำแต่สิ่งที่ยังทำไม่สำเร็จแทนที่จะจำสิ่งที่ทำสำเร็จแล้ว   นั่นหมายความว่า  สิ่งที่ยังทำไม่สำเร็จมันปรากฏ หลอกล่อ หรือ บางครั้งถึงกับหลอกหลอนทั้งในพื้นที่จิตใต้สำนึก และ พื้นที่จิตสำนึกของเรา   ยังผลให้เรารู้สึกไม่สบายใจกับสิ่งที่ยังทำไม่สำเร็จเหล่านั้น  เช่น  บางท่านตั้งใจว่าต้องเขียนหนังสือเล่มหนึ่ง   จากนั้นก็รวบรวม บทความ ข้อมูล วีซีดีจากทางอินเตอร์เน็ทมากมายไว้ในคอมพิวเตอร์ของตน   ทำให้ต้องใช้พื้นที่ความจำมหาศาล   แต่ก็ไม่ได้เปิดอ่าน เปิดฟัง หรือ ทำอะไรกับสิ่งเหล่านั้นที่เก็บไว้ในคอมพิวเตอร์   แต่มัน “กระทุ้ง” จิตสำนึกของเรา  หลอกหลอนความรู้สึกของเรา  หล่อหลอมความรู้สึกว่าไม่สำเร็จ(ติดลบ)มากขึ้น  มันกระทุ้งย้ำเรา ครั้งแล้วครั้งเล่า   และอันตรายที่ปล่อยให้อาการหลอนเกิดขึ้นบ่อย ๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก   อาจจะกลายเป็นการก่อตัวกรอบคิดว่าตนเองว่า “ทำอะไรก็ไม่สำเร็จ”

ในกรณีนี้ทางเลือกอีกทางหนึ่งที่เราอาจจะทำได้คือเลิกโหลดข้อมูล บทความ วิซีดีในเรื่องเหล่านั้น   โดยตัดสินใจว่าเราเลิกที่จะมุ่งขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่วางไว้(เขียนหนังสือหนึ่งเล่ม) เพื่อว่าจะเป็นการลด “ความกดดันทางจิตใจ” เพื่อเปิดพื้นที่ว่างในจิตใจที่จะแสวงหาว่าเราจะมุ่งมั่นทุ่มเทสู่เป้าหมายใหม่อะไรที่มีความสำคัญและคุณค่าสำหรับเรา แล้วเริ่มวางขั้นตอนกระบวนการที่มุ่งไปสู่เป้าหมายใหม่ดังกล่าวได้จริง

เป้าหมายที่เหมาะสม(สำหรับเรา)

ลักษณะเป้าหมายที่ดี   นอกจากที่เป็นเป้าหมายที่ SMART คือ เป็นเป้าหมายที่เจาะจง  สามารถวัดได้  เหมาะสมกับเรา(เจ้าของเป้าหมาย) และ มีช่วงเวลาที่แน่ชัด   ที่สำคัญเป็นเป้าหมายที่เราสามารถออกแรงควบคุมได้   และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ เป้าหมายที่เรากำหนดต้องไม่รบกวนหรือทำให้พื้นที่อื่น ๆ ในชีวิตของเราสับสนถูกกระทบกระเทือนจนยุ่งเหยิง

จากที่กล่าวข้างต้นแล้วว่า  เป้าหมายที่เรากำหนดต้องสอดรับไปด้วยกับระบบคุณค่าของเรา   และจะต้องเหมาะสมกับเอกลักษณ์หรือความเป็นตัวตนเฉพาะของเรา   เราต้องรู้เท่าทันว่าตัวเราเป็นใคร  แล้วเมื่อเราเข้ามาจัดการกับเป้าหมายดังกล่าวเราจะกลายเป็นคนแบบไหน?   สอดคล้องกับตัวตนที่แท้จริงของเราหรือไม่?  งานนั้นมีคุณค่าความหมายสำหรับเราหรือไม่อย่างไร?   ประเด็นเหล่านี้เราจะต้องพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วน   การตั้งเป้าหมายจึงมิใช่เป็นเพียงปักธงว่าเราจะไปให้ถึงที่ไหนเท่านั้น   แต่การที่จะตั้งเป้าหมายที่ดีมีประเด็นที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตของเรามากมายรอบด้าน

ประการสำคัญอีกประการหนึ่งคือ  เป้าหมายที่กำหนดกระตุ้นผลักดันให้เราเติบโตขึ้นหรือไม่?   ถ้าเป้าหมายนั้นเรามองไม่เห็นว่าจะหนุนเสริมให้เราเติบโตขึ้นเราคงต้องพิจารณาอย่างดีว่า นั่นจะเป็นเป้าหมายของเราหรือไม่?   แต่สิ่งที่เราท่านตระหนักชัดเสมอแล้วว่า   การที่เราจะเติบโตขึ้นในชีวิตไม่ใช่เรื่องที่จะมีได้ด้วยความสะดวกสบาย ต้องลำบากอดทน แต่มันคุ้มค่าอย่างยิ่งเสมอ  

การตั้งเป้าหมายที่ดีไม่เพียงแต่มองที่เป้าหมายที่เราจะบรรลุความสำเร็จเท่านั้น   แต่คุณค่าของเป้าหมายมีมากมายรายทางที่มุ่งไปสู่เป้าหมาย   และกล้ากล่าวได้ว่าเมื่อรวมแล้วคุณค่าเบี้ยใบ้รายทางที่ไปสู่เป้าหมายอาจจะมีคุณค่ามากกว่าการสามารถบรรลุสำเร็จเป้าหมายหลายร้อยเท่าพันทวีทีเดียวครับ

จากประสบการณ์ของท่าน  ท่านมีข้อแนะนำอย่างไรบ้างครับ?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

15 พฤษภาคม 2560

เมื่อจิตวิญญาณการทำพันธกิจคริสตจักรไทยถูกกลืนกิน???

เมื่อพูดถึงระบบสายพาน  ผมคิดถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรม   ที่มีการพัฒนาระบบการทำงานและการผลิต   ที่ได้ผลิตให้ได้ทีละจำนวนมาก ๆ และสิ่งผลิตแต่ละชิ้นมีลักษณะเหมือนหรือใกล้เคียงกันมากที่สุด  และใช้เวลาการผลิตที่น้อยลง   ใช้เครื่องจักรทำงานแทนกำลังผลิตของมนุษย์   ทำให้ต้นทุนต่ำลง  แล้วให้ผู้ประกอบการมีกำไรสูงขึ้น

กรอบคิดแบบนี้ไม่ได้ใช้ในระบบอุตสาหกรรมเท่านั้น   แต่ถูกนำมาประยุกต์ใช้คิดกับระบบการศึกษา  ระบบการเกษตร   ระบบการพิมพ์  ระบบการทำงานในยุคทันสมัย   และ คริสตจักรด้วยครับ!   ยิ่งในสังคมทุนนิยมอย่างในปัจจุบัน   การทำงานด้านต่าง ๆ ถูกกรอบให้มีวิธีคิดแบบ “ธุรกิจ” เช่น ธุรกิจทางการศึกษา   ธุรกิจด้านสุขภาพ หรือ ด้านการแพทย์พยาบาล   ครอบคลุมไปจนถึงธุรกิจการเกษตร  ธุรกิจเภสัชกรรม  รวมไปถึงธุรกิจการท่องเที่ยว  และธุรกิจการบริการลักษณะต่าง ๆ

ทำให้มาฉุกคิดขึ้นว่า  แล้วปัจจุบันคริสตจักรตกลงในกรอบคิดแบบทุนนิยม หรือ ธุรกิจหรือไม่?   หลายคนตอบสวนกลับมาทันทีว่า “ไม่”  คริสตจักรไม่ได้ตกในกรอบคิดแบบธุรกิจทุนนิยม  เพราะเรายังไม่ได้เห็น “คริสตจักรไทยจำกัด” สักแห่งเลย   เพียงแต่การจัดการของคริสตจักรมีความทันสมัยมากขึ้น   เรามีอาคารโบสถ์ที่ใหญ่โตและสวยงามขึ้น  เราพยายามที่จะมีระบบการเงินที่มั่นคงขึ้น   และเราต้องการเป็นโบสถ์ที่มีคนมาร่วมนมัสการมากขึ้น   แต่ที่แน่ชัดคือ   สิ่งที่เคยเป็นพันธกิจคริสตจักรที่มีอิทธิพลเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตสังคม และ เป็นเครื่องมือในการทำพันธกิจของคริสตจักรกลับถูกครอบงำด้วยระบบธุรกิจทุนนิยม  กล่าวคือ โรงเรียน (ปัจจุบันเรามีมหาวิทยาลัย)  โรงพยาบาล โรงพิมพ์  ถ้าจะนับเรื่องการพัฒนาและบริการสังคมก็ใช่ด้วย   ปัจจุบันนี้ พันธกิจทั้งสี่ยังมีความสำคัญและใช้ในการทำพันธกิจคริสตจักร ที่กิจสานต่อพระราชกิจของพระเยซูคริสต์ในประเทศไทยอยู่หรือเปล่า?”

ที่ชัดเจน “โรงพิมพ์” ที่คริสตจักรริเริ่มนำเข้ามาในประเทศไทยเพื่อพิมพ์พระคัมภีร์   ขณะนี้เลิกไปแล้ว!  แต่เรายังมีโรงเรียน  มหาวิทยาลัย และ โรงพยาบาล   ครั้งเริ่มแรกนั้น  คริสตจักรนำระบบการศึกษา และ ระบบสุขภาพการพยาบาลการแพทย์สมัยใหม่เข้ามาด้วยเหตุผลที่ต้องการประกาศพระกิตติคุณด้วยการสำแดงความรักของพระคริสต์   เพื่อเป็นการสานต่อพระราชกิจของพระองค์ในดินแดนนี้   คริสตจักรเป็นตัวนำความก้าวหน้าเข้ามาสู่ประเทศไทยทั้งด้านการศึกษา และ สุขภาพ

แต่ปัจจุบัน ทั้งโรงเรียน  มหาวิทยาลัย  และโรงพยาบาลของคริสตจักรถูกครอบงำจากระบบกรอบคิดแบบธุรกิจทุนนิยม   สิ่งที่เคยเป็นพันธกิจคริสตจักรของพระเยซูคริสต์ในประเทศไทยถูกระบบ “ธุรกิจการแพทย์เอกชน” และ “ธุรกิจทางการศึกษาเอกชน” ในประเทศไทย “จูงจมูก” ไปอย่างเชื่อง ๆ   เราไม่ได้นำการเปลี่ยนแปลงที่ดีมาสู่ประเทศไทย   แต่เราต้องตามระบบธุรกิจ มิใช่เพื่อจะแข่งขันกับเขาได้นะครับ  เราแค่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดในวังวนธุรกิจทุนนิยมผลประโยชน์เท่านั้น   และน่าเสียใจมากยิ่งกว่านั้นคือ   ตัวคริสตจักรเอง และ องค์กรส่วนกลาง ต่างคาดหวังที่จะให้ทั้งโรงเรียน มหาวิทยาลัย และ โรงพยาบาล บริหารจัดการให้ได้กำไร   เพื่อส่วนหนึ่งให้นำมาเจือจุนค่าใช้จ่ายในส่วนกลาง และ ส่วนคริสตจักร   การกระทำเช่นนี้มีรากฐานพระคัมภีร์หรือไม่อย่างไรยังไม่มีการพูดชัดเจนในขณะนี้?

สิ่งที่คริสตจักรไทยปัจจุบันจะต้องถามกันให้ชัดเจนคือ   ในเมื่อโรงเรียน  มหาวิทยาลัย  และโรงพยาบาลยังอยู่ใน “มือ” ของคริสตจักร   เราเคยถามกันไหมว่า  “ถ้าเป็นพระคริสต์แล้ว  พระองค์ต้องการให้คริสตจักรไทยใช้ทั้ง 3 พันธกิจนี้ในการร่วมและสานต่อพระราชกิจของพระองค์อย่างไร?”  

เราจะใช้พันธกิจทั้ง 3 อย่างที่จะสำแดงถึงความรัก เมตตา และการเสียสละชีวิตของพระคริสต์ในสังคมไทยปัจจุบันอย่างไร?   หรือไม่ก็ต้องตอบคำถามที่ว่า โรงพยาบาลคริสเตียนตั้งอยู่ในประเทศไทยไปทำไม?   โรงเรียนคริสเตียนตั้งอยู่ในประเทศไทยไปทำไม?   มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ในประเทศไทยไปทำไม?  

เราจะใช้เนื้องานทั้งการศึกษา และ สุขภาพเพื่อประกาศถึงความรักเมตตา และ การให้ชีวิตของพระคริสต์อย่างไร?   จำเป็นไหมที่เราจะต้องไปแข่งขันกับโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเอกชน หรือ โรงพยาบาลเอกชน ในประเทศไทย?   พันธกิจโรงพยายาบาล  โรงเรียน  มหาวิทยาลัยคริสเตียนมีเป้าหมายเดียวกับโรงพยาบาล โรงเรียน มหาวิทยาลัยเอกชนทั้งหลายในประเทศไทยหรือ?

ที่ผ่านมาในวงการเอนจีโอ ได้มีการพูดถึง “การทำธุรกิจเพื่อสังคม”   ก็ได้มีคริสตชนบางกลุ่มนำมาประยุกต์กล่าวถึง “การทำธุรกิจเพื่อพันธกิจ”   แต่ไม่สามารถที่จะมาประยุกต์ใช้กับพันธกิจทั้งสามของคริสเตียนได้   เพราะโดยตัวของพันธกิจทั้ง 3 อย่างสามารถทำพันธกิจด้วยเนื้องานของตนเองอยู่แล้ว   กล่าวคือการสานต่อพระราชกิจของพระเยซูคริสต์ด้วยเนื้องาน โรงเรียน  มหาวิทยาลัย และ สุขภาพ   และทั้งสามพันธกิจเริ่มต้นเพื่อใช้ในการทำพันธกิจร่วมและสานต่อพระราชกิจของพระคริสต์ในประเทศไทยแต่เริ่มแรกเลยทีเดียว   แล้วทำไมจึงต้องเปลี่ยนไปเป็น “ธุรกิจ”   แต่การที่สามพันธกิจนี้จะกลับมาทำพันธกิจของพระคริสต์อย่างเต็มตัว   คนในคริสตจักร และ ผู้บริหารส่วนกลางต้อง “ล้างกรอบคิด” ที่จะให้สามพันธกิจดังกล่าวหาเงินมาจุนเจือชีวิตของคริสตจักร และส่วนกลาง  กล่าวเป็นภาพลักษณ์คือ “เลิกกรอบคิดแบบปลิงดูดเลือด” สามพันธกิจดังกล่าว

จุดพลิกฟื้นอยู่ที่ไหน?

สิ่งแรกเราจะออกจากกรอบคิดโคลนตมแห่งธุรกิจทุนนิยม และ ผลประโยชน์นิยมอย่างไร
  • ให้คริสตชนไทย และ ทั้งสามพันธกิจกลับมาทบทวนค้นหาใหม่ว่า จริง ๆ แล้วเราเป็นใคร  แล้วเรามีอยู่ตั้งอยู่เพื่ออะไรกันแน่?
  • กลับไปทบทวนว่า  ประวัติเริ่มแรกของพันธกิจโรงเรียน  พันธกิจอุดมศึกษา  และ พันธกิจสุขภาพ (ไม่ใช่การแพทย์?)  ทำไมถึงได้เกิดพันธกิจทั้งสามในคริสตจักรประเทศไทย?   ปัจจุบันเราได้สานต่ออย่างไร  เหมือน/แตกต่างจากที่เริ่มไว้อย่างไร?  ทำไม?   แล้ว “ทำไมเราถึงทำพันธกิจนี้”  หรือ เราบิดเบือน หรือ หลงตามกระแสสังคมปัจจุบันแบบไม่ลืมหูลืมตาหรือเปล่า?  ทำไมต้องทำเช่นนั้น?
  • กลับมาทบทวนประวัติศาสตร์การทำพันธกิจของคริสตจักรไทยว่า   ในพันธกิจแต่ละด้าน เคยมีใครบ้างที่มุ่งทุ่มเท สร้างสรรค์ พันธกิจด้านนั้น ๆ ที่เป็นการ “ร่วมและสานต่อ” พระราชกิจของพระคริสต์ที่ได้เริ่มไว้  เขาเหล่านั้นทำอย่างไร?   แล้วปัจจุบันเราจะทำอย่างไรดี?


แล้วช่วยกันเผยแพร่เรื่องราวชีวิตพันธกิจเหล่านั้นเพื่อปลุก และ พลิกฟื้น จิตวิญญาณของการทำพันธกิจคริสตจักรเพื่อร่วมและสานต่อพระราชกิจของพระเยซูคริสต์ให้เป็นขึ้นใหม่ในประเทศไทย

อิสเตอร์/พระคริสต์คืนพระชนม์ (2017)
ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

11 พฤษภาคม 2560

ความจริงก็คือว่า...ทุกวันนี้เราไม่ได้อยู่ในสังคมโลกที่สงบสันติ

ทุกวันนี้มีแต่รายงานข่าวความขัดแย้งรุนแรงบนโลกใบนี้   ถึงแม้ว่าเราไม่อาศัยอยู่ในประเทศหรือภูมิภาคที่ตกอยู่ใต้ภัยสงคราม   เราก็ยังต้องพบกับความขัดแย้งในความสัมพันธ์กับคนอื่นในแง่มุมต่าง ๆ ของชีวิต

เราพบว่ามีคนที่กระทำต่อเราด้วยอาการกริยาที่หยาบคาย หรือไม่ก็กระทำต่อเราอย่างไม่มีความเกรงอกเกรงใจ  ไม่สนใจว่าเราจะรู้สึกอย่างไรต่อการกระทำ หรือ การแสดงออกของเขา  บางครั้งถึงขั้นรุนแรงทั้งที่เจ้าตัวตั้งใจและไม่ตั้งใจ   ทำให้เราเกิดความรู้สึกไม่พอใจ   และจิตใจของเราเกิดความรุ่มร้อนแรงตึงเครียด

คำถามที่ต้องการคำตอบคือ... แล้วเราจะรับมือ หรือ จัดการกับเรื่องนี้อย่างไร?    เราจะจัดการอย่างไรกับคนที่มีอาการดังกล่าวที่แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อคนอื่น   แล้วจิตใจของเราเองยังอยู่ในความสงบสุขได้   นี่ไม่ใช่ทักษะความสามารถที่ติดตัวมาแต่กำเนิดแน่   แน่นอนครับ  เราแต่ละคนต้องเรียนรู้ว่าจะรับมือและจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร

การรู้เท่าทันที่ชัดเจนในเรื่องนี้ และ มีมุมมองในเหตุการณ์ด้วยจิตใจที่เมตตากรุณา   ย่อมทำให้เราสามารถรับมือและจัดการกับสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์นี้อย่างสันติ สร้างสรรค์ และ มีจิตใจที่สงบ  และด้วยความพยายามเข้าอกเข้าใจผู้ที่แสดงพฤติกรรมดังกล่าว

1. พึงตระหนักชัดว่า พฤติกรรมที่คนนั้นแสดงต่อเรา อาจไม่ได้มีเจตนาหรือตั้งใจอย่างที่เราคิด   บ่อยครั้งเมื่อมีใครกระทำต่อเราอย่างหยาบคายรุนแรง   เรามักคิดว่าเขาจงใจทำไม่ดีต่อเรา   และมักคิดไปในทางลบว่าที่เขาทำไม่ดีต่อเราเพราะเขามองว่าเราไม่มีคุณค่า (มองไม่เห็นหัวของเรา) แล้วคิดต่อไปว่า  “ถ้าเราดูฉลาดกว่านี้ สวยกว่านี้ มั่งมีกว่านี้ หรือ มีตำแหน่งสูงกว่านี้ เขาจะไม่แสดงพฤติกรรมท่าทีเช่นนั้นต่อเราแน่”  ในเหตุการณ์เช่นนี้เราต้องเข้าใจว่า   ท่าทีพฤติกรรมที่คนนั้นแสดงออกต่อเราอาจจะเป็นเพราะมารยาทของเขาเป็นเช่นนั้น  หรือไม่อาจจะเพราะอารมณ์ติดพันจากเรื่องอื่นคนอื่นแล้วมาพาลกับเราก็ได้   ไม่เกี่ยวกับตัวของเราเลย   และถึงแม้ว่าเขามีท่าทีหรือพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อเราเพราะเขามักทำกับคนที่เขาดูว่าต่ำต้อยกว่าเขา   เราก็ไม่ควรให้การกระทำที่ไม่พึงประสงค์ของเขาเข้ามามีอิทธิพลก่อกวน รุกรานจิตใจของเรา

ให้เรามองว่า ที่เขาแสดงท่าทีและพฤติกรรมเช่นนี้เพราะเป็นมารยาท หรือ บุคลิกส่วนตัวของเขา   ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับความเป็นตัวตนของเราเลย   และเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงกำพืดบุคลิกส่วนตัวของเขา   แล้วเราทำไมต้องให้สิ่งนี้ของเขามารุกรานโจมตีจิตใจของเราให้ขุ่นมัววุ่นวายใจไปทำไม

2. ไม่มีความจำเป็นที่เราจะต้องไปรับมือ หรือ จัดการกับคนที่ไม่เป็นที่พึงพอใจ   น่าเสียดายที่มีบางคนมักทำตัวที่คนอื่นคบด้วยยากลำบาก   เราไม่จำเป็นต้องไปแสดงปฏิกิริยาตอบโต้คนเช่นนี้   เช่น  เมื่อเพื่อนร่วมงานของเรากระทำหรือมีท่าทีที่ไม่ดีต่อเรา   ให้เราจำกัดเวลาที่จะใช้กับคน ๆ นั้นในเวลานั้น   เราไม่มีพันธะที่จะต้องไปจัดการเปลี่ยนแปลงคนที่มีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ดังกล่าว  และไม่จำเป็นที่เราจะต้องไปตอบโต้ท่าทีและพฤติกรรมที่ไม่ดีของเขา (ไม่ต้องคิดไปสอนบทเรียนคนแบบนี้)   ให้เราใช้เวลากับคนที่แสดงออกถึงท่าทีและพฤติกรรมที่สุภาพ ที่พึงประสงค์  ใช้เวลามากขึ้นกับคนเช่นนี้   ให้เราเลี่ยงที่จะใช้เวลากับคนที่บ่อนทำลายความสงบของทั้งตนและคนอื่น   และเราไม่ควรเปิดจิตใจของเราให้อิทธิพลของคนบ่อนทำลายพวกนี้เข้ามาก่อการจลาจลวุ่นวายในจิตใจของเราด้วย

3. ให้เราเป็นคนที่น่าคบและคบคนที่น่าคบหา  คนแบบไหนก็มักคบหาคนแบบนั้น   คบคนพาล คนพาลพาไปหาผิด  คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล   เราสามารถพบเห็นได้ไม่ยากนัก คนดี คนสุภาพ คนมีน้ำใจก็มักเลือกคบคนที่ดี สุภาพ และมีน้ำใจเป็นเพื่อน   ในทางกลับกันคนดี สุภาพ และมีน้ำใจก็มีแนวโน้มสูงที่จะมีอิทธิพลให้ต่อคนที่น่าคบอย่างเขาด้วย   หรือ  เราก็สามารถเห็นเป็นรูปธรรม เช่น ในครอบครัว   ถ้าพ่อแม่เป็นคนแบบไหน  ลูก ๆ ส่วนใหญ่ก็จะมีลักษณะพฤติกรรมแบบเดียวกัน  ที่เขาบอกว่า “เชื้อไม่ทิ้งแถว”

ดังนั้น  ถ้าเราต้องการให้กลุ่มเพื่อนที่เราคบด้วยเป็นแบบไหนก็ให้เราแสดงพฤติกรรมและท่าทีคนแบบนั้นด้วย   ถ้าเราแสดงท่าทีและพฤติกรรมใช้ชีวิตของเราและแสดงต่อคนในกลุ่มแบบชีวิตที่สงบสันติ  คนรอบข้างของเราก็จะค่อย ๆ มีพฤติกรรมและท่าทีที่เอื้อให้เกิดสันติสุขในกลุ่มเพื่อนที่เราคบกันด้วย   ดังนั้น   ถ้าเราต้องการให้เพื่อนในกลุ่ม ในที่ทำงาน  เพื่อนร่วมงานเป็นคนแบบไหนให้เราเริ่มต้นเป็นคนแบบนั้น  เริ่มต้นจากตัวเราก่อน   แล้วอิทธิพลของสันติสุขจะค่อย ๆ เกิดขึ้นและแผ่คลุมในกลุ่มเพื่อนที่เราคบหา

5. ภาวนา อธิษฐาน ไตร่ตรอง สะท้อนคิด   เราทุกคนต้องการมีเวลาส่วนตัว  มีเวลาไตร่ตรองและสะท้อนคิดถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน  ในแต่ละช่วงเวลา   ทั้งที่เป็นเหตุการณ์ที่ดี และ ที่เลวร้าย   เพื่อเราจะมีเวลาใคร่ครวญสะท้อนคิดถึงบทเรียนที่เราได้รับ   และถ้าจะให้เกิดสถานการณ์ที่ดี สร้างสรรค์ และเสริมสงบสุขร่วมกัน   เราควรจะริเริ่มอะไรจากตัวของเรา   เพื่อเป็นพลังที่แผ่กว้างออกท่ามกลางความสัมพันธ์ในกลุ่มเพื่อนร่วมงาน  ในครอบครัว หรือ ในชุมชนสังคม

ในทุกวัน  เราควรมีเวลาที่จะอธิษฐาน ภาวนา  แผ่ความรักเมตตาไปยังเพื่อนร่วมงาน  เพื่อนในกลุ่ม  หรือ สมาชิกในครอบครัว   เพื่อให้อิทธิพลของความรักเมตตา สุขสันติ และ ความสงบสุขแผ่เข้าเสริมสร้างชีวิต จิตวิญญาณ ความคิด และ พฤติกรรมของแต่ละคน   ที่จะหนุนเสริมให้เกิดความสัมพันธ์ที่สุขสันติไม่ว่าสถานการณ์เช่นไรจะเกิดขึ้นก็ตาม

การมีชีวิต ความนึกคิด และจิตวิญญาณที่สุข สงบ สันติ เป็นหัวใจที่นำมาซึ่งคุณภาพชีวิตส่วนตัว และ ส่วนรวม   แต่สุข สงบ สันติเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเอง   แต่เป็นสิ่งที่เราแต่ละคนจะต้องเริ่มต้นที่ตนเองด้วยการหนุนเสริมจากพลังชีวิตจากพระวิญญาณบริสุทธิ์

ในสัปดาห์นี้ ให้เราคิดใคร่ครวญว่า ในสถานการณ์และบริบทชีวิตที่เราเป็นอยู่   เราจะเริ่มทำอะไร อย่างไรที่จะเป็นการเสริมสร้างให้เกิดสุข สงบ และ สันติ ในชีวิตส่วนตัวของเรา  แล้วแผ่ขยายอิทธิพลกว้างออกสู่ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง   ไม่ว่าในที่ทำงาน  ครอบครัว หรือ ชุมชน   เพื่อเราจะมีชีวิตที่สุข สงบ สันติ 

มีชีวิตที่มีความสุขไงครับ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

08 พฤษภาคม 2560

สิ่งนี้ขาดในองค์กร/คริสตจักรของเราหรือเปล่า?

สำหรับผู้นำองค์กร  สิ่งหนึ่งที่ดีและสำคัญที่ควรทำคือ  การหาเวลาที่จะให้ทีมงานได้มีโอกาสค้นหาและสะท้อนคิดในสิ่งดี ๆ ที่ทีมงานได้ทำ

ภายหลังการทำงานเสร็จในแต่ละช่วง   เราต้องการเวลาที่จะอยู่เฉพาะด้วยกันกับคนทำงาน  พัก สงบ เพื่อที่ชีวิตจิตใจจะได้มีโอกาส  ทบทวนในสิ่งที่ทำ  ประมวลในสิ่งที่เกิดขึ้น  ไตร่ตรองว่า  สาเหตุอะไรที่ทำให้เกิดผลทั้งที่ดี และ ที่ไม่พึงประสงค์   แล้วร่วมกันสะท้อนคิดว่า  ถ้าการทำงานทำพันธกิจในเรื่องนี้ให้เกิดผลดียิ่งกว่านี้  เป็นที่ถวายพระเกียรติแด่พระเจ้ายิ่งกว่านี้   เราน่าจะมีการปรับแก้ พัฒนากระบวนการทำงานด้วยกันอย่างไรบ้าง   และที่สำคัญเราจะหนุนเสริมการทำงานเป็นทีมที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นได้อย่างไร   สิ่งที่ไม่ควรละเลยคือ   จากประสบการณ์การทำงานครั้งนี้เราได้เห็นว่าพระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจนี้ก่อนที่เราจะทำอะไร/อย่างไร?   และพระองค์ทรงให้เราร่วมในพระราชกิจของพระองค์ในด้านไหน?  และ เราแต่ละคนได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการร่วมในพระราชกิจของพระเจ้าครั้งนี้   ทั้งส่วนตัว และ ส่วนรวมในฐานะทีมงาน

 “แล้ว​พระ​องค์​ตรัส​กับ​พวก​เขา​ว่า “มา​เถิด จง​ปลีก​ตัว​ออก​มา​หา​ที่​สงบ​เพื่อ​หยุด​พัก​สัก​หน่อย​หนึ่ง” เพราะ​ว่า​มี​คน​ไป​มา​มาก​มาย​จน​ไม่​มี​เวลา​แม้​แต่​จะ​รับ​ประ​ทาน​อาหาร    พระ​องค์​จึง​เสด็จ​ลง​เรือ​กับ​พวก​สา​วก​ไป​ยัง​ที่​สงบ​ตาม​ลำพัง” (มาระโก 6:31-32 มตฐ.)

สะท้อนคิด

ใช้เวลาสงบร่วมกันสะท้อนคิด   ให้ทีมงานช่วยกันทบทวน  ประมวล  วิเคราะห์  และสังเคราะห์ร่วมกันถึงสิ่งที่ทำ  ผลที่เกิด  สาเหตุ  เงื่อนไข  และร่วมกันกำหนดกระบวนการทำงานร่วมกันของทีมในอนาคต
ให้ทีมงานทบทวนว่าได้กำหนดเป้าหมาย และ คาดหวังให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง?  (นี่หมายความว่า ทุกครั้งที่จะดำเนินงานชิ้นไหนก็ตาม ต้องมีการสื่อสารให้ทีมงานรู้และเข้าใจถึงจุดประสงค์ และ ความคาดหวังในสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้น)
  1. มีอะไรที่เกิดขึ้นตามเป้าหมายที่คาดหวัง?   มีอะไรบ้างที่ยืนยันว่าสิ่งที่คาดหวังเหล่านี้ได้เกิดขึ้นจริง?  แล้วช่วยกันวิเคราะห์เจาะลึกลงไปว่า  ทำไม หรือ มีสาเหตุอะไรบ้างที่ทำให้เกิดผลตามที่คาดหวัง?   พร้อมกับช่วยกันยกตัวอย่างว่าเพราะใคร ทำอะไร  อย่างไรจึงเกิดผลตามนั้น?
  2. มีอะไรบ้างที่ไม่ได้เกิดขึ้นตามจุดประสงค์ และ ไม่ได้เป็นไปตามความคาดหวัง?  ทำไม หรือ มีสาเหตุอะไรบ้างที่ทำให้สิ่งที่คาดหวังไม่เกิดขึ้นจริง?  อะไรคือปัญหา  อุปสรรค  มีปัจจัยหรือเงื่อนไขอะไรที่ทำให้ไม่เกิดขึ้นตามที่คาดหวังไว้?   และถ้าจะให้ความคาดหวังดังกล่าวได้เกิดขึ้นเป็นจริง เราจะต้องปรับปรุง แก้ไข หรือ พัฒนาในด้านไหนบ้าง?
  3. มีอะไรบ้างที่ไม่ได้คาดหวังแต่เกิดขึ้นในการดำเนินการครั้งนี้?   ทำไมสิ่งที่ไม่ได้คาดหวังเหล่านี้จึงเกิดขึ้น?   แล้วมีผลดีต่อองค์กรและงานที่ทำหรือไม่อย่างไร?    แล้วมีผลเสียต่อองค์กร หรือ งานที่ทำอย่างไรบ้าง?   และทีมงานจะใช้สิ่งที่เรียนรู้จากการทำงานในครั้งนี้เพื่อการทำงานครั้งต่อ ๆ ไปได้อย่างไรบ้าง?
  4. ให้ทีมงานช่วยกันประมวลและสังเคราะห์ ว่าจากการทำงานครั้งนี้ทีมงานได้เรียนรู้ในเรื่องอะไรบ้าง?   และจะใช้สิ่งที่เรียนรู้นี้ในการทำงานในอนาคตได้อย่างไรบ้าง?   และถ้าจะนำสิ่งที่เรียนรู้ทั้งหมดในครั้งนี้สังเคราะห์เป็นองค์ความรู้ขององค์กรได้อย่างไรบ้าง?


ปรับเป้าหมายและจุดมุ่งเน้นให้ชัดเจน

จากประสบการณ์การทำงานครั้งที่ผ่านมา และ การที่ทีมงานมีโอกาสมาร่วมกันสะท้อนคิดและถอดบทเรียนรู้ร่วมกัน(ตามข้างต้น)   ซึ่งมีประโยชน์ต่อทั้งกระบวนการทำงานและการพัฒนาศักยภาพของทีมงานด้วย  และที่สำคัญ  จะเป็นประโยชน์อย่างมากที่จะช่วยกันทำให้เป้าหมายและจุดมุ่งเน้นของงานที่ทำชัดเจนยิ่งขึ้น   ไม่ว่าในการใช้พลังในการขับเคลื่อนงาน  “หัวใจ” ที่จะทุ่มให้กับงาน/พันธกิจที่ทำนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ในการที่ทีมงานมีเวลาเฉพาะร่วมกัน  และ สะท้อนคิดตลอดจนการถอดบทเรียนรู้ด้วยกัน เราทำมากกว่าการ “บ้างาน” แต่ในกระบวนการนี้เป็นเวลาที่เรา...
  1. ใส่ใจกันและกัน   ในฐานะผู้นำหรือผู้บริหารมิได้สนใจแต่ความสำเร็จของการงานที่มอบหมายให้ทำ   แต่ใส่ใจถึงชีวิตของแต่ละคน  ทั้งที่อยู่ร่วมกันในทีมงาน และ ใส่ใจในชีวิตส่วนตัวของแต่ละคนด้วย
  2. พันธกิจและและค่านิยมหลัก   เป็นโอกาสเสริมสร้างย้ำเตือนถึงหลักการ คุณธรรม หรือ ค่านิยมขององค์กรนี้ที่พวกเขามาร่วมกันทำงาน   เป็นโอกาส ที่จะแบ่งปันและชี้แนะอย่างเป็นรูปธรรมว่า  ทีมงานแต่ละคนจะสามารถสำแดงคุณธรรมในที่ทำงานอย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างไรบ้าง   และมีโอกาสสื่อสารถึงความสำคัญที่เราจะต้องสำแดงคุณธรรมเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรมในชีวิตการทำงานของแต่ละคน
  3. เป้าหมายขององค์กร   เป็นโอกาสที่ทีมงานได้ทบทวน พิจารณาถึงเป้าหมายขององค์กร  ภายหลังที่ได้มีประสบการณ์และรับบทเรียนเพิ่มเติมจากการถอดบทเรียน   เป็นโอกาสดีในการคิดพิจารณาทบทวนถึงเป้าหมายและสิ่งคาดหวังของการทำงานนี้ได้ชัดเจนและกระทำได้จริงมากยิ่งขึ้น  


ในองค์กร/คริสตจักรของเราขาดกระบวนการนี้หรือเปล่า?

เลิกการไปสรุปงานที่แฝงด้วยการเที่ยว กิน พักผ่อน   แต่การที่มีเวลาสงบร่วมกันของทีมงานในการ ทบทวน สะท้อนคิด และ การถอดบทเรียนจากประสบการณ์ที่ได้จากการทำงานเป็นกระบวนการที่สำคัญและมีคุณค่ายิ่งต่อการพัฒนาการทำงานและบุคลากรขององค์กรและคริสตจักร

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

04 พฤษภาคม 2560

พูดจริง... ดี...เมื่อพูดจริงได้?

ปัจจุบันนี้   การทำงานเป็นทีมเป็นเรื่องที่ยากจะหลีกเลี่ยง
และผู้นำทีมที่ดีมีประสิทธิภาพคงไม่ต้องการลูกทีมที่พูดได้แค่ว่า... 
“ครับหัวหน้า” “คะเจ้านาย”
ผู้นำที่ดีต้องการลูกทีมที่พูดความจริง เปิดเผย ตรงไปตรงมา  
ใช่ครับนี่เป็นสิ่งดี  แต่ทำยาก  เพราะการพูดความจริง...  
     ผู้พูดอาจจะเสียผลประโยชน์
     การพูดความจริงกลัวว่าคนอื่นในทีมจะไม่เห็นด้วย 
     อาจจะเป็นความจริงที่กระทบต่อใครบางคนในทีม
     และที่สำคัญครับ  อาจจะกระทบต่อตัวผู้นำทีมก็ได้ครับ

สิ่งเหล่านี้ทำให้คนในทีมงานบางคนที่ไม่อยากพูดความจริง  
     การพูดความจริงต้องมีความกล้าหาญ
     การพูดความจริงต้องการความถ่อม
     การพูดความจริงต้องการความจริงใจ
     การพูดความจริงต้องพูดด้วยใจเมตตา และ การเสริมสร้างกัน
     การพูดความจริงเป็นความสัตย์ซื่อต่อตนเอง เพื่อนในทีม  ต่อหัวหน้า  และต่อพระเจ้า

พระธรรมสุภาษิต 16:13  กล่าวไว้ว่า
“พระราชาทรงโปรดปรานปากที่ชอบธรรม   และผู้ที่พูดตรงไปตรงมานั้นพระองค์ทรงรัก” (มตฐ.)

การพูดความจริงนอกจากจะเกิดขึ้นได้เพราะคุณธรรมในแต่ละตัวคนแล้ว

การพูดความจริงในทีมงานต้องมีความสัมพันธ์ของทุกคนในทีมที่ไว้วางใจกัน  ทำงานด้วยกันอย่างมีส่วนร่วม   เป็นทีมงานที่ใส่ใจในการฟังกันและกัน   มีจิตวิญญาณที่ทำทุกอย่างเพื่อขับเคลื่อนทีมไปเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน, 

ข้อสังเกตของใครคนใดคนหนึ่งในทีมจะได้รับความเอาใจใส่พิจารณาอย่างรอบคอบร่วมกัน   ความคิดเห็นต่างเป็นความคิดเห็นที่ช่วยหาคำตอบที่กว้างไกลและเจาะลึก   ความขัดแย้งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เมื่อทุกคนมุ่งมั่นทำงาน   แต่ทุกคนในทีมจะรับมือและบริหารจัดการความขัดแย้งให้พบทางออกที่สร้างสรรค์   เมื่อเกิดผลที่ไม่คาดหวัง   ทีมงานที่ดีจะไม่ได้ยินคำว่า “ฮาว่าแล้ว”  “ตูบอกแล้ว”

แต่จะถามกันว่า  “เราจะรับมืออย่างไร”  “เราจะจัดการอย่างไรดี”  จำเป็นที่เราต้องร่วมกันถอดบทเรียนว่า  “ทำไมถึงเกิดเหตุการณ์เช่นนี้?”  แล้วเราจะมีทางป้องกันอย่างไร”  “ครั้งหน้าเราจะทำอย่างไรถึงไม่เกิดเหตุการณ์ซ้ำเช่นนี้อีก”

การทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพจึงมิได้ขึ้นอยู่ประสิทธิภาพในการนำทีมของหัวหน้าเท่านั้น   แต่ประสิทธิภาพของการทำงานร่วมกันเป็นทีมของแต่ละคนสำคัญยิ่ง มองข้ามไม่ได้   ประสิทธิภาพการสื่อสารภายในทีมเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง   ทุกคนทำงานในทีมด้วยหัวใจที่ “รักเมตตา” และ “ให้ชีวิตแก่คนในทีมงาน” (มิใช่เฉพาะงานที่ทำในทีม แต่รวมถึงชีวิตและครอบครัวของผู้คนในทีมงานด้วย)  

การให้เกียรติ ยอมรับ นับถือ และ ภักดี   มิเพียงแต่ลูกทีมมีต่อหัวหน้าเท่านั้น   แต่หัวหน้าจะต้องปฏิบัติต่อลูกทีมด้วยใจเปิดรับ นับถือ สัตย์ซื่อ และ ภักดี ต่อลูกทีมด้วยเช่นกันครับ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

01 พฤษภาคม 2560

องค์พระผู้เป็นเจ้า... ขอบพระคุณพระองค์

ข้าแต่พระเจ้า   ข้าพระองค์จะขอบพระคุณอย่างไรดี...ในทุกสิ่งที่ทรงกระทำเพื่อข้าฯ
ขอบพระคุณที่ทรงเคียงข้างข้าพระองค์ไปบนเส้นทางที่โดดเดี่ยวและน่าสะพรึงกลัว
ขอบพระคุณที่ทรงฉุดข้าพระองค์ขึ้นจากหุบเหวแห่งความสิ้นหวังที่แห้งผาก
ขอบพระคุณที่ทรงโอบกอดข้าพระองค์ไว้เมื่อความสงสัยผ่าฟาดลงกลางชีวิตของข้าฯ
ขอบพระคุณพระองค์ทรงเดินนำหน้าในป่ารกที่มืดมิดท่ามกลางความสยองกลัว
ขอบพระคุณพระองค์ที่ทรงอุ้มข้าพระองค์ข้ามแม่น้ำแห่งความวิตกกังวลที่เชี่ยวกราด
ขอบพระคุณพระองค์ที่ทรงวางข้าพระองค์ข้างธารน้ำแห่งความสงบสันติ
ข้าพระองค์สำนึกในพระคุณของพระองค์ที่ทรงคลุมตัวข้าพระองค์ด้วยอาภรณ์แห่งการอภัยโทษ
ขอบพระคุณทรงคลุมศีรษะข้าพระองค์ด้วยความรักเมตตาของพระองค์
แล้วทรงชโลมข้าพระองค์ด้วยเครื่องหอมแห่งความหวัง

ข้าพระองค์ขอสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อข้าพระองค์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

27 เมษายน 2560

จะจัดการอย่างไรเมื่อชีวิตเจ็บปวดสิ้นหวัง?

การหนุนช่วยในยามที่ชีวิตประสบความเจ็บปวด  
เพื่อน...จะมีส่วนร่วมทุกข์ร่วมสุขในภาวะเช่นนั้นได้อย่างไร?  
ในเวลาที่ชีวิตเจ็บปวดและสิ้นหวัง อะไรที่เราคาดหวังจากเพื่อนที่เราไว้วางใจมากที่สุด?  
กลุ่มเล็กที่เราเป็นสมาชิกควรจะมีส่วนเช่นไรบ้างในเวลาดังกล่าว?

เมื่อเราต้องตกลงในภาวะที่สิ้นหวัง วิกฤติขวางอยู่ข้างหน้า หรือ ในเวลาที่ต้องพบกับการสูญเสียครั้งใหญ่ในชีวิต  ในเวลาเช่นนั้นเราต้องการเพื่อน   ในเวลามืดมิดเช่นนี้เราต้องการเพื่อนคู่คิดมิตรคู่กาย   เราต้องการคนที่จะเคียงข้างร่วมทุกข์ร่วมสุข   ในเวลาเช่นนั้นเราต้องเปิดใจยอมรับ “มือ” และ “น้ำใจ” ที่ยื่นเข้ามาข้างหน้า และ ในชีวิตของเรา  

ในเวลาเช่นนี้พระเจ้าไม่พระประสงค์ที่จะให้เรารับมือและจัดการวิกฤติ  ความเจ็บปวด  และความสิ้นหวังทั้งสิ้นในชีวิตที่เราเผชิญด้วยตัวของเราเอง   ชีวิตที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้น พระเจ้าไม่ได้ทรงสร้างแต่ละชีวิตให้ขับเคลื่อนไปอย่างโดดเดี่ยวเสรี   แต่ทุกชีวิตมีเยื่อใยสายสัมพันธ์กับชีวิตคนอื่น ๆ รอบข้าง   ชีวิตมนุษย์ถูกสร้างขึ้นให้เป็นสังคมแห่งสายสัมพันธ์   ให้เราระลึกถึงการทรงสร้างมนุษย์ในสวนเอเดนว่า  “ไม่ควรให้ชายผู้นี้อยู่คนเดียว  เราจะสร้างผู้อุปถัมภ์ที่เหมาะสมเท่าเทียมกับเขา” (ปฐมกาล 2:18 อมต.)  พระเจ้าสร้างผู้ที่จะอุปถัมภ์กันและกันที่เหมาะสม  มิใช่สร้างผู้ที่มีสิทธิ และ สิ่งดี ๆ ในชีวิตที่เหมือนและเท่าเทียมกันและกัน  ความสำคัญคือการอุปถัมภ์มิใช่การเท่าเทียมกัน   หรืออุปถัมภ์กันและกันด้วยสิ่งดีที่เรามีและสิ่งดีที่เพื่อนต้องการ

บางครั้ง เราอาจจะมีเพื่อนที่เชื่อในพระเจ้า   แต่เพราะเขาต้องเผชิญกับความทุกข์ยากเจ็บปวดอันใหญ่หลวง  จนพูดออกมาว่า  “แล้วจะให้ฉันเชื่อพระเจ้าต่อไปได้อย่างไร”   ในเวลาเช่นนั้น   เขาต้องการพลังหนุนเสริมจากเราผู้เป็นเพื่อน   เราสามารถยืนยันกับเขาได้ว่า   เพราะเราเชื่อพระเจ้า  ดังนั้น เราจึงยังยืนหยัดเคียงข้างกับเพื่อนไม่ว่าสถานการณ์มันจะเลวร้ายปั่นป่วนสักปานใดก็ตาม

ดังในพระธรรมโยบกล่าวไว้ว่า  “ถึงแม้ว่าคนสิ้นหวังจะหมดความยำเกรงองค์ทรงฤทธิ์   แต่เขายังสมควรได้รับความเห็นอกเห็นใจจากเพื่อนฝูง” (โยบ 6:14 อมต.)

ในพระธรรมกาละเทียบอกกับคริสตชนว่า   “(พี่น้องทั้งหลาย)จงช่วยรับภาระของกันและกัน  ดังนี้แล้วท่านก็ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระคริสต์ (กาลาเทีย 6:2 อมต.)   ที่ว่า “...ท่านได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระคริสต์”  แล้วอะไรคือบทบัญญัติของพระคริสต์ล่ะ?   ก็คือพระมหาบัญญัติของพระองค์คือ  “...(และ)...รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง”   พระคัมภีร์บอกให้คริสตชนให้ยืนหยัดเคียงข้างผู้ที่กำลังเผชิญหน้ากับความสิ้นหวัง  เจ็บปวดทุกข์ระทม  หมดกำลังหมดความเชื่อ   เพราะการทำเช่นนั้นคือการรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง   การทำเช่นนี้คือการที่เราปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระคริสต์

เมื่อเราตกอยู่ในภาวะวิกฤติในชีวิต  ท่ามกลางความทุกข์ระทม  พบกับสถานการณ์ที่สิ้นหวัง  เราหนีไม่พ้นที่จะเกิดความเครียด   ในเวลาเช่นนั้นเรามักสิ้นหวัง  หมดกำลังใจ  อ่อนแรงกาย ใจ และจิตวิญญาณ  ขาดสมาธิและปัญญาในการรับมือจัดการกับสิ่งที่ถาโถมเข้ามาในชีวิตของเรา   ในเวลาเช่นนั้นเราต้องยอมรับความช่วยเหลือ   ถึงแม้บางท่านอาจจะหมดความเชื่อที่จะพึ่งความช่วยเหลือจากเบื้องบน   แต่ให้เปิดใจยอมรับความช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมคือความช่วยเหลือจากเพื่อนใกล้ชิด   ให้โอกาสเพื่อนใกล้ชิดที่จะเคียงข้างร่วมทุกข์ร่วมสุขกับท่านในเวลาเช่นนี้

ในเวลาเช่นนั้น   แม้เริ่มแรกเราอาจจะมองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง หรือ บางครั้งมองไม่เห็นความเป็นไปได้   แต่เราเชื่อว่าท่ามกลางความสิ้นหวัง  หรือ  ท่ามกลางที่ความหวังริบหรี่พระเจ้าทรงกระทำงานตามแผนการที่ดีเลิศของพระองค์เพื่อให้เกิดสิ่งดีแก่ชีวิตของเรา

ข้อคิดประเด็นใคร่ครวญ
  • ใครคือผู้ที่จะหนุนเสริมท่านในเวลาที่เกิดวิกฤติ ทุกข์ยาก และ สิ้นหวังในชีวิต?   ในทางกลับกัน ท่านจะเป็นผู้หนุนเสริมเขาในเวลาที่เขาเกิดวิกฤติในชีวิตได้หรือไม่?
  • เมื่อท่านต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ทุกข์ระทมลำบาก   อะไรคือสิ่งที่จะเป็นประโยชน์สำหรับท่านในเวลานั้นมากที่สุด?
  • ท่านคิดว่าเพื่อนในกลุ่มเล็กสามารถให้การหนุนเสริมท่านอย่างไรที่จะเป็นความช่วยเหลือในเวลาเช่นนั้นที่ดีที่สุด?
  • เราสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างผ่านการเสริมหนุนจากเพื่อนสนิทคริสตชนของเราในเวลาแห่งความทุกข์ยาก?


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

24 เมษายน 2560

พระเจ้าเปลี่ยน “ความอ่อนแอ” เป็นโอกาสในชีวิต

ใคร ๆ ก็ไม่ต้องการให้ชีวิตของตนเป็นชีวิตที่อ่อนแอ  อ่อนด้อย   อมทุกข์ไร้สุข

แต่ในความเป็นจริง   เราทุกคนต่างก็มีชีวิตที่เคยเผชิญกับชีวิตที่อ่อนเปลี้ย สิ้นพลัง  และสิ้นหวัง   คนเราประสบพบกับชีวิตที่อ่อนแอในลักษณะต่าง ๆ เช่น  ความอ่อนแอทางด้านร่างกาย   เกิดบาดแผลในจิตใจ  ต้องทนทุกข์ด้วยอารมณ์ที่ปวดร้าว   ความสัมพันธ์ฉีกขาดบาดลึก   การทำงานในด้านสมอง/ประสาทไม่ปกติ และ ฯลฯ

ความจริงก็คือ  เราแต่ละคนไม่สามารถหลบลี้หนีจากความทุกข์อันเกิดจากความอ่อนแอในลักษณะที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา   และที่ต้องเข้าใจชัดเจนคือ พระเจ้าก็ไม่ประสงค์ที่จะให้ชีวิตของเราต้องประสบพบกับความอ่อนแอในชีวิตของเรา

แต่ความจริงอีกด้านหนึ่งก็คือ   เมื่อต้องตกอยู่ในสภาพที่ชีวิตอ่อนกำลัง   พระเจ้ามิได้ปล่อยให้เราต้องช่วยตนเอง พึ่งตนเอง ที่จะเอาชนะความอ่อนแอของเราในชีวิตตามลำพัง   แต่พระองค์กลับใช้ความอ่อนแอในชีวิตของเราเป็นโอกาสที่จะเสริมสร้างชีวิตที่อ่อนแอของเรากลับเข้มแข็ง มีพลังขึ้น   ที่สำคัญเป็นสะพานที่เชื่อมต่อให้เราได้พบเจอ และ สัมผัสกับพระคริสต์ในชีวิตประจำวันของเรา  

ยิ่งกว่านั้น พระองค์ยังทรงเสริมสร้างให้เรามีชีวิตเข้มแข็งและมีพลังที่จะใช้ชีวิตประจำวันของเราให้เกิดผลดีทั้งต่อผู้อื่นและตนเอง   ตามพระประสงค์สำหรับชีวิตของเรา   จากชีวิตที่อ่อนแอที่เรามองว่าไร้คุณค่า   เปลี่ยนแปลงไปสู่ชีวิตที่เข้มแข็งขึ้นเพื่อรับใช้ตามพระประสงค์   และนี่คือสายใยอันเหนียวแน่นที่ร้อยรัดตลอดเรื่องราวในพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์

พระเจ้าทรงเปลี่ยน “หุบเหวความอ่อนแอในชีวิต” ที่เราไม่สามารถจัดการกับชีวิตของเราเองได้   ให้เป็นสะพานที่เชื่อมต่อ “สภาพชีวิตที่อ่อนแอทำอะไรไม่ได้” ให้เราสามารถเดินข้ามไปยัง “สภาพชีวิตที่เราควรจะเป็น”   เราสามารถเรียนรู้ได้จากพระราชกิจที่พระคริสต์ทรงกระทำ   ไม่ว่าหญิงหลังโก่งในธรรมศาลา หรือ ชายตาบอดที่ร้องขอความเมตตาจากพระคริสต์  หรือ  ชายที่ถูกผีสิงที่อาศัยในสุสาน หรือ แม้แต่คนโรคเรื้อนที่ต้องระหกระเหินออกจากครอบครัวและสังคมของตนเอง   เพราะความอ่อนแอของคนเหล่านี้และสังคมที่กระตุ้นผลักดันให้เขาต้องการการสัมผัสจากพระคริสต์   ด้วยความเมตตากรุณาของพระคริสต์   พระองค์ทรงเปลี่ยนแปลงความอ่อนแอในชีวิตของผู้คน   ให้เป็นโอกาสที่เขาได้สัมผัสและประจักษ์ชัดถึงความรักเมตตาของพระเจ้า   ให้ชีวิตของคนเหล่านี้ได้มีชีวิตที่เปลี่ยนไปสู่ชีวิตที่ควรจะเป็น   ให้เปลี่ยนไปสู่ชีวิตที่พบคุณค่า

“มี​ผู้​หญิง​คน​หนึ่ง​เป็น​โรค​โล​หิต​ตก​มา​สิบ​สอง​ปี​แล้ว  เธอ​ทน​ทุกข์​ลำ​บาก​มาก​กับ​หมอ​หลาย​คน และ​สูญ​สิ้น​ทรัพย์​ที่​เธอ​มี แต่​โรค​นั้น​ก็​ไม่​ได้​บรร​เทา กลับ​ยิ่ง​กำ​เริบ​หนัก​ขึ้น    เมื่อ​หญิง​ผู้​นั้น​ได้​ยิน​ถึง​เรื่อง​พระ​เยซู เธอ​ก็​เดิน​เข้า​ไป​ใน​ฝูง​ชน​ที่​มา​ทาง​ข้าง​หลัง​พระ​องค์ และ​แตะ​ต้อง​ฉลอง​พระ​องค์    เพราะ​คิด​ว่า “ถ้า​ฉัน​ได้​แตะ​ต้อง​เพียง​ฉลอง​พระ​องค์​ฉัน​ก็​จะ​หาย​โรค”  ทัน​ใด​นั้น​โล​หิต​ที่​ตก​ก็​หยุด​แห้ง​ไป และ​หญิง​ผู้​นั้น​รู้​สึก​ตัว​ว่า​โรค​หาย​แล้ว” (มาระโก 5:27-29 มตฐ.)

หญิงโลหิตตกมา 12 ปี   หมดเนื้อหมดตัวกับการรักษาแต่ไม่สามารถหายได้   ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อไป   ผลักดันให้เขามีทางเลือกเพียงหวังในการรักษาของพระเยซูคริสต์   เธอตัดสินใจแทรกตัวเข้าไปในฝูงชน  ยื่นมือแตะชายฉลองของพระคริสต์   โดยฤทธิ์อำนาจแห่งความรักเมตตาของพระคริสต์   เธอรู้ตัวว่าหายจากโรคโลหิตตก   จุดอ่อนแอในชีวิตของเธอได้รับการขจัดออกไปจากชีวิต  แต่ที่สำคัญกว่านั้น   เธอมีโอกาสที่จะกลับไปมีความสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ อย่างเป็นปกติ   แต่ที่สำคัญกว่านั้น เธอสัมผัสกับความจริงในความรักเมตตาของพระเจ้าที่เปลี่ยนสภาพและสถานะชีวิตของเธอไปอย่างสิ้นเชิง

ในวันนี้  เวลาใดก็ตามที่เราเผชิญกับชีวิตที่อ่อนแอ  ไม่รู้จะจัดการ หรือ ขจัดมันออกไปจากชีวิต   โปรดตระหนักชัดว่า ความอ่อนแอในชีวิต เป็นโอกาสที่ “ขับดัน” เราให้เข้าถึงพระคริสต์   เพื่อขอให้พระองค์ทรงจัดการปรับเปลี่ยนชีวิตของเรา  ด้วยความรักเมตตา และ ตามพระประสงค์ของพระองค์   ความอ่อนแอในชีวิตของเราจะเป็นโอกาสที่เราจะได้เผชิญหน้าและสัมผัสกับความเมตตาของพระองค์   แล้วชีวิตของเราจะเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมอีกเลย

เพราะพระคริสต์เป็นความเข้มแข็งและพลังในชีวิตของเราในวันนี้

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

20 เมษายน 2560

พระเจ้าแต่งตั้งได้...พระองค์ก็ทรงถอดถอนได้!

ผู้นำฝ่ายจิตวิญญาณที่อิสราเอลมีอยู่กำลังตกอยู่ในภาวะอันตรายอย่างยิ่ง…
แทนที่จะนำให้ประชาชนนมัสการพระเจ้าด้วยความยำเกรง
แต่กลับกระทำเป็นการดูหมิ่นพระเจ้า
และเป็นการเหยียบย่ำ “หัวใจ” ประชากรของพระองค์ที่มาถวายบูชาด้วย!

จากตอนท้ายของพระธรรมผู้วินิจฉัย กับบทเริ่มต้นของพระธรรม 1ซามูเอล เป็นช่วงเวลาที่อิสราเอลไม่มีผู้นำประเทศ “ในสมัยนั้นไม่มีกษัตริย์ในอิสราเอล ต่างก็ทำตามที่ตนเองเห็นชอบ” (ผู้วินิจฉัย 21:25 มตฐ.) เท่าที่มีอยู่ก็เป็นผู้นำฝ่ายจิตวิญญาณของอิสราเอล เอลีเป็นปุโรหิต และ มีบุตรชายสองคนที่ทำหน้าที่รับผิดชอบงานที่แท่นถวายบูชาแด่พระเจ้า

“...ในสมัยนั้นพระดำรัสของพระยาห์เวห์มีมาแต่น้อย ไม่มีนิมิตบ่อยนัก...” (1ซามูเอล 3:1ข. มตฐ.)

“...บุตรทั้งสองของเอลีเป็นคนอันธพาล(คดโกง) ไม่รู้จักพระยาห์เวห์... คนหนุ่มทั้งสองนั้นได้ดูหมิ่นเครื่องถวายบูชาแด่พระยาห์เวห์” (1ซามูเอล 2:12, 17 มตฐ.) คนของพระเจ้าได้มากล่าวโทษครอบครัวเอลีว่า “...เหตุใดพวกเจ้าจึงเหยียบย่ำเครื่องสัตวบูชาของเรา และของที่เขาถวายตามบัญชาสำหรับที่ประทับของเรา และให้เกียรติแก่บุตรทั้งสองของเจ้าเหนือเรา และ ทำให้ตัวของพวกเจ้าอ้วนพี ด้วยส่วนที่ดีที่สุดจากของถวายทุกรายจากอิสราเอลชนชาติของเรา? (2:29 มตฐ.)

ผู้นำฝ่ายจิตวิญญาณที่อิสราเอลมีอยู่กำลังตกอยู่ในภาวะอันตรายอย่างยิ่ง แทนที่จะเป็นผู้นำให้ชนชาติอิสราเอลยำเกรงนมัสการพระเจ้า มีพระองค์เป็นเอกเป็นต้นในชีวิตประจำวัน แต่กลับทำตัวเป็นอันธพาล คดโกง ดูหมิ่นเหยียบย่ำของถวายแด่พระเจ้า แทนที่จะนำให้ประชาชนนมัสการพระเจ้าด้วยความยำเกรง แต่กลับกระทำเป็นการดูหมิ่นพระเจ้า และเป็นการเหยียบย่ำ “หัวใจ” ประชากรของพระเจ้าที่มาถวายบูชาด้วย!

จากเหตุการณ์ข้างต้นเริ่มเป็นสัญญาณบอกเหตุว่า อิสราเอลจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง ประการแรก เราได้เห็นถึงความไม่ชอบมาเป็นกลของผู้ที่จะสืบทอดอำนาจนั้นไม่มีสมรรถภาพ ผู้นำไม่สามารถ ห้ามปราม แก้ไขคนที่จะสืบทอดที่กระทำผิด และถ้าคนสืบทอดเหล่านั้นขึ้นมามีอำนาจก็จะเป็นการใช้อำนาจที่ไม่สัตย์ซื่อชอบธรรม และการปกครองด้วยความฉ้อฉลดังกล่าวของลูกสองคนของเอลีย่อมนำความหายนะเกิดแก่อิสราเอล และที่เห็นชัดคือประชาชนไม่ศรัทธาในภาวะผู้นำของลูกทั้งสองของเอลี ประชาชนเริ่มแยกตัวออกห่างจากผู้นำที่ชั่วฉ้อฉลแม้ผู้เป็นพ่อจะมีตำแหน่งอันสูงตามบทบัญญัติกำหนดก็ตาม

ลูกทั้งสองของเอลีกระทำต่อพระราชกิจของพระเจ้าที่ทรงมอบหมายให้กระทำด้วยการลดค่าที่เป็นการทำในฐานะผู้รับใช้ในพระราชกิจของพระเจ้า กลายเป็นธุรกิจครอบครัว ที่ทั้งสองอยากทำอย่างไรก็ทำตามใจชอบ การทำงานที่หน้าแท่นถวายบูชาเป็นการกระทำรับใช้พระราชกิจของพระเจ้ากลับถูกกระทำเป็นเหมือน ธุรกิจในครอบครัวของตน” (ทำพระราชกิจเพื่อพระเจ้าที่แท่นบูชากลายเป็นธุระกิจการทำมาหากินของตน) ตนอยากทำอย่างไรก็ตามตามใจชอบ (ดู 1ซามูเอล 2:12-17) ใช้ระบบครอบครัวและพรรคพวกเข้ามาแทนที่้ “พระราชอำนาจของพระเจ้า” แม้การกระทำดังกล่าวจะเป็นการกระทำที่ผิดต่อบทบัญญัติ และวินัยชีวิตของผู้รับใช้พระเจ้าก็ตาม และนี่คือความเสียหายร้าวฉานในพระราชกิจของพระเจ้าที่ทรงมอบหมายให้ผู้นำรับผิดชอบ

สิ่งที่ต้องพึงตระหนักชัดเจนว่า พระราชกิจของพระเจ้า และ พันธกิจแห่งแผ่นดินของพระเจ้านั้น ไม่ควรทำให้เป็นธุรกิจครัวเรือน หรือ ธุรกิจการเมืองของพรรคและพวก อย่างที่เกิดแก่ครอบครัวของเอลี ที่อันตรายคือ สิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นแก่ประชากรของพระเจ้า และ การถวายเกียรติแด่พระองค์ ถูกมองและปล้นมาเป็นผลประโยชน์ครอบครัว และ ผลประโยชน์ที่แบ่งสันปันส่วนในกลุ่มพรรคและพวก เมื่อเกิดความฉ้อฉลเช่นนี้ก็เกิดความแตกแยกอันเกิดจากการแก่งแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ ซึ่งแท้ที่จริงเป็นของพระเจ้า และประชากรของพระองค์ ผลปลายทางที่เกิดขึ้นคือ ประชากรของพระเจ้าถูกปล้นเอาพระพรไปกลายไปเป็นผลประโยชน์กับกลุ่มที่ดูแลพันธกิจและ พระราชกิจที่พระเจ้ามอบหมายให้รับผิดชอบ ความหายนะเกิดขึ้นแก่องค์กร และ ชุมชน

จากเรื่องครอบครัวเอลี และ การส่งทอดอำนาจการปกครองทั้งในระดับรัฐบาล คริสตจักร การเมืองและองค์กรธุรกิจ และองค์กรอื่น ๆ ต้องระวังที่จะไม่ปล้นเอาพระราชอำนาจของพระเจ้า และ ประโยชน์(พระพร)จากประชาชนและชุมชน และผู้นำองค์กรเหล่านี้ต้องตระหนักชัดว่า ตนเองเข้ามาเพื่อรับใช้ให้เกิดสิ่งดี ๆ แก่ชีวิตประชากรและชุมชน และที่สำคัญคือ ผู้นำทั้งภาครัฐ คริสตจักร เอกชน และองค์กรต่าง ๆ ต้องไม่ฉ้อฉล ดังที่ปัญญาจารย์ได้วิพากษ์เรื่องนี้ไว้ว่า...

ข้าพเจ้าเกลียดการตรากตรำทั้งสิ้น ซึ่งข้าพเจ้าตรากตรำอยู่ภายใต้ดวงอาทิตย์ เพราะข้าพเจ้าจำต้องละการนั้นไว้ให้แก่คนที่มาภายหลังข้าพเจ้า แล้วใครจะไปทราบว่าเขาคนนั้นจะเป็นคนมีสติปัญญาหรือคนเขลา กระนั้นเขาก็ครอบครองการตรากตรำทุกอย่างของข้าพเจ้า ที่ข้าพเจ้าได้ตรากตรำมาและใช้สติปัญญาทำภายใต้ดวงอาทิตย์...” (ปัญญาจารย์ 2:18-19 มตฐ.) และนี่คือสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในยุคของเรามิใช่หรือ?

เมื่อพระเจ้าแต่งตั้งได้ พระองค์ก็ทรงถอดถอนได้ พระองค์ถอดถอนทั้งเอลี และ ลูกทั้งสอง ทั้งครอบครัวออกจากการรับใช้พระองค์ แล้วพระองค์ทรงแต่งตั้งคนที่เล็กน้อยสุด ๆ ที่ไม่มีใครคาดคิดล่วงหน้าอย่างซามูเอล ให้มารับผิดชอบในงานใหญ่ที่พระเจ้ามอบหมายในเวลาของพระองค์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย
สันทราย เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

16 เมษายน 2560

อิสเตอร์ "รุ่งอรุณแห่งการเสริมสร้างความเชื่อ"

ในกลุ่มสาวกมีใครบ้างที่มีความเชื่อเรื่องพระเยซูคริสต์จะเป็นขึ้นจากความตายในวันที่สาม?
เท่าที่ผมพยายามทบทวนความจำจากการอ่านพระคัมภีร์ ผมไม่พบว่าใครที่เชื่อ!
แม้แต่เปโตร คัดค้านความคิดและการกล่าวเช่นนี้ของพระคริสต์
และขอเหตุการณ์การถูกทำร้ายและทำลายพระคริสต์อย่าได้เกิดขึ้น
และเขาคงคิดว่า ไม่มีใครที่จะมาทำร้ายพระองค์ได้
เพราะพระองค์มีฤทธิ์อำนาจเหนือการกระทำร้ายเหล่านั้น
ส่วนเรื่องการเป็นขึ้นจากความตายของพระองค์ไม่ต้องกล่าวถึงเลย
เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่อยู่นอกกรอบเชื่อกรอบคิดของสาวก
หรือ จะพูดว่า พวกสาวกไม่ได้คิด ไม่ได้เชื่อเช่นนี้ ก็คงไม่ผิด?

โดยปกติทั่วไปแล้ว คริสตชนจะบอกว่า...
"ความ​เชื่อ​คือ​ความ​มั่น​ใจ​ใน​สิ่ง​ที่​หวัง​ไว้ เป็นความแน่ใจใน​สิ่ง​ที่​มอง​ไม่​เห็น" (ฮีบรู 11:1 มตฐ.)
ถ้าเช่นนั้น เราจะพูดได้ไหมว่า ในตอนนี้สาวกไม่ได้เชื่อในเรื่องพระคริสต์จะเป็นขึ้นจากความตาย?

รุ่งอรุณหลังวันสะบาโตที่พระคริสต์ถูกฝังในอุโมงค์ของโยเซฟแห่งอริมาเธีย
มารีย์และกลุ่มสตรีใจกล้ามาที่อุโมงค์ฝังศพพระเยซูแต่เช้ามืด
จุดประสงค์เพื่อที่จะมาชโลมพระศพของพระคริสต์ด้วยเครื่องหอม
ตอนนี้พวกเธอยอมรับแล้วว่าพระคริสต์ต้องตาย และ พระองค์ได้ตายจริง ๆ
แต่... ในกรอบคิดกรอบเชื่อของพวกเธอ ไม่ได้คิดและเชื่อว่าพระคริสต์จะเป็นขึ้นจากความตาย?
พวกเธอต้องการมาชโลมพระศพพระองค์ด้วยเครื่องหอมตามประเพณีปฏิบัติ
พวกเธอไม่ได้คิดว่า พระอาจารย์ของตนจะเป็นขึ้นจากความตาย
เพราะเขาคาดหวังจะได้พบกับ "พระศพ"

แต่พวกเธอต้องผิดคาด..
พวกเธอพบว่า หินมหึมาที่ปิดปากอุโมงค์เปิดออกแล้ว! เกิดคำถามว่า...
ใครมาเปิดออก (มันหนักจะตาย!) เปิดไปทำไม?
เมื่อเข้าไปในอุโมงค์ ต้องตกใจ เพราะไม่พบพระศพตามที่คาดหวังไว้?
เกิดคำถามว่า... แล้วใครเอาพระศพของพระเยซูไป? แล้วเอาไปไว้ที่ไหน?
มารีย์เสียใจมาก เธอร้องไห้...?

คริสตชนปัจจุบันบางคนมองเหตุการณ์นี้แล้วมักตัดสินลงไปว่า...
เพราะมารีย์และสตรีเหล่านั้น "ขาดความเชื่อ"
ดังนั้น พวกเขาจึงตกใจ พวกเธอจึงโศกเศร้า พวกนางจึงเสียใจ?

แต่พระคัมภีร์กลับบันทึกไว้ว่า...
ในสถานการณ์ชีวิตที่มืดมน สับสน ไม่เข้าใจ มีแต่คำถามว่า "ทำไม?"
เราพบว่า ในเวลาเช่นนั้น
มิใช่โอกาสของการ "ตัดสิน" ว่าใครมีความเชื่อ หรือไม่มีความเชื่อ
ไม่ใช่เวลามาชี้ชัดว่า "ความเชื่อใครผิด แล้วความเชื่อใครถูก?"

แต่ในเวลาเช่นนั้น... เป็นโอกาสของการเสริมสร้างความเชื่อให้เกิดขึ้นในคนต่าง ๆ
ทูตสวรรค์ปรากฎ แล้วทบทวนความทรงจำของมารีย์และพวก...
ถึงสิ่งที่พระเยซูคริสต์ได้เคยบอกพวกเขาล่วงหน้าแล้ว
"...พวก​ท่าน​แสวง​หา​คน​เป็น​ใน​พวก​คน​ตาย​ทำไม?
พระ​องค์​ไม่​ได้​อยู่​ที่​นี่ แต่​ทรง​เป็น​ขึ้น​มา​แล้ว
จง​ระลึก​ถึง​คำ​ที่​พระ​องค์​ตรัส​กับ​พวก​ท่าน​ขณะ​ที่​พระ​องค์​ยัง​อยู่​ใน​แคว้น​กา​ลิลี..." (ลูกา 24:5-6 มตฐ.)
"พวก​นาง​จึง​ระลึก​ถึง​พระ​ดำ​รัส​ของ​พระ​องค์" (ข้อ 8)

ความเชื่อศรัทธา ที่เกิดจากการทรงสัมผัสจากเบื้องบน
พวกเธอได้รับการทรงสัมผัสทั้ง ความคิด ความรู้สึก เกิดประสบการณ์ตรง และ การทบทวนยืนยัน
จากความเชื่อเรื่องการเป็นขึ้นจากตาย ที่ไม่มีในกรอบคิดกรอบเชื่อของพวกเธอ
รุ่งอรุณแห่งยุคใหม่ ความเชื่อเรื่องการเป็นขึ้นใหม่จากความตาย ได้งอกขึ้นผ่านประสบการณ์ตรง
ความเชื่อใหม่ได้หยั่งรากลึกลงในชีวิตจิตใจของพวกเธอ
ชีวิตจิตใจของเธอน้อมรับความเชื่อที่เบื้องบนได้ประทานให้
พวกเธอ อุทิศ ทุ่มเท ทั้งชีวิต เพื่อความเชื่อใหม่นี้
ที่ความเชื่อมีพลังเช่นนี้เพราะ ความเชื่อนี้เป็นความเชื่อที่พวกเธอประจักษ์สัมผัสด้วยชีวิตของเธอเอง
เป็นความเชื่อที่พวกเธอมั่นใจ เป็นความเชื่อที่เป็น "หัวใจ" แห่งชีวิตของพวกเธอ
เป็นความเชื่อที่พุ่งล้นขึ้นที่เป็นความชื่นฉ่ำแก่ชีวิตอื่น ๆ ที่ล้อมรอบชีวิตประจำวันของเธอ
เป็นชีวิตที่คนรอบข้างสามารถสัมผัสกับการเสริมสร้างจากเบื้องบน
เป็นชีวิตที่อุทิศมุ่งนำความเชื่อศรัทธานี้ให้คนอื่นได้สัมผัสด้วย

พวกนางรีบวิ่งกลับไปบอกสาวกคนอื่น ๆ ที่กำลังซ่อนตัวที่ในห้องแห่งหนึ่ง
" พวก​นาง​ก็​เล่า​เหตุ​การณ์​นี้​ทั้ง​หมด​แก่​สา​วก​สิบ​เอ็ด​คน​และ​คน​อื่น ๆ ...
แต่​พวก​อัคร​ทูต​ไม่​เชื่อ เห็น​ว่า​เป็น​คำ​เหลว​ไหล" (ข้อ 9-11 มตฐ.)
เราไม่ควรตีตราว่าร้ายที่สาวกเหล่านี้ "ไม่เชื่อ" ในเรื่องที่พวกเธอประสบพบเจอและมีประสบการณ์
ที่พวกเขายังไม่ยอมเชื่อเพราะ พวกเขายังต้องการการเห็นจริงผ่านประสบการณ์ชีวิตของตนเอง

แม้เปโตรเมื่อได้ยินเรื่องเล่าเช้านี้จากกลุ่มสาวกสตรี
ด้วยความที่เป็นคนที่จริงจัง เปโตรวิ่งไปที่อุโมงค์ เขาพบอุโมงค์เปิดออก
และสภาพอุโมงค์เป็นอย่างที่สตรีเหล่านั้นรายงาน
แต่เขาไม่ได้พบทูตสวรรค์อย่างที่สาวกสตรีเล่า เขายังไม่มีประสบการณ์ตรง
เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้มีผลเพียงทำให้เปโตร "ประหลาดใจ" ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (ข้อ 12 มตฐ.)

ความเชื่อที่จะมีความเข้มแข็ง มั่นคง และมีพลังขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงชีวิตและโลกได้
เป็นความเชื่อศรัทธาที่คน ๆ นั้น...
ได้เผชิญหน้า ประสบพบ และสัมผัสตรงกับพระเจ้า (Encounter with God)
เป็นความเชื่อศรัทธาที่คน ๆ นั้นมีประสบการณ์ตรงกับพระเจ้า

เป็นการสัมผัสที่ทำให้เขาผู้นั้นมีความสัมพันธ์ลุ่มลึกกับพระองค์
เป็นความเชื่อที่สัมพันธ์หยั่งลึกลงถึงรากฐานชีวิต เกิดการอุทิศทั้งชีวิตเพื่อพระองค์
ความเชื่อศรัทธาที่มีพลังชีวิต...ที่มาจาก...
ความเชื่อศรัทธาที่เผชิญหน้า และ มีประสบการณ์ชีวิตตรงกับพระเจ้า (Encounter with God)

เช้าวันอิสเตอร์ปีนี้... ขอให้เราเริ่มเช้าวันใหม่ด้วยคำถามตนเองว่า...
ความเชื่อของฉันทำให้ฉันรู้สึก "ประหลาดใจ" อย่างเปโตร
หรือ เป็นความเชื่อที่มีพลังจากประสบการณ์ตรงกับพระเจ้าอย่างมารีย์ มักดาลา และ พวก?


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

13 เมษายน 2560

อิสเตอร์นี้...เลิกอยู่เพื่อพระคริสต์ และ แค่ทำดีเพื่อพระองค์เถอะ?

พระเยซูคริสต์เคยกล่าวไว้ว่า  “อาจจะมีคนที่ยอมพลีชีวิตเพื่อคนดี  แต่...”

ใช่ครับ...มีหลายต่อหลายคนที่รู้สึกว่า   ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องทำดีเพื่อบางคนที่เรารักเราบูชา... นั่นมิใช่สิ่งผิดแปลกประหลาดอะไร  แต่เป็นสิ่งดีด้วยซ้ำไป   เพราะเห็นแก่คนที่เรารักบูชา ทำให้เราต้องการเป็น “คนดี” บ้างอย่างคน ๆ นั้น   จึงไม่แปลกที่คริสตชนหลายคนจึงยืนยันว่าตนเองมีชีวิต “อยู่เพื่อพระคริสต์”

เมื่อพระคริสต์รับบัพติสมา   สิ่งสำคัญและมีคุณค่ายิ่งสำหรับพระองค์คือ   คำตรัสจากเบื้องบนที่ว่า  “ท่านนี้เป็นบุตรที่รักของเรา  เราชอบใจท่านมาก...”   เสียงจากพระบิดาที่ชื่นชอบพระคริสต์คือ  “เป็นบุตรที่รัก”   เป็นบุตรที่มีความสัมพันธ์กับพระบิดา   เป็นบุตรที่ “อยู่กับพระบิดา”  มิใช่เป็นบุตรที่ “ทำดีเพื่อพระบิดา”

ความเข้าใจนี้จะชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อพระเยซูคริสต์ได้เล่าคำอุปมาเรื่อง “บุตรสองคน”   หรือที่เรามักชอบตั้งชื่ออุปมาเรื่องนี้ว่า “บุตรน้อยหลงหาย”   เขาหลงหายออกไปจากความสัมพันธ์กับพ่อในบ้านไประเริงชีวิตในเมืองไกล   แต่เมื่อเราอ่านอย่างใคร่ครวญแล้วเราพบด้วยว่า  “พี่ใหญ่ก็เป็นบุตรหลงหายด้วย”   และ เขาหลงหายในวังวนหรือเขาวงกตทรัพย์สมบัติในบ้านของพ่อ 

เมื่อพ่อชวนลูกคนโตมาร่วมงานชื่นชมยินดีกับการกลับมาของน้องเล็ก   พี่คนโตไม่พอใจและไม่ยอมเข้าร่วม(สัมพันธ์)กับพ่อและ “คนผลาญทรัพย์สมบัติด้วยการทำชั่ว”  แล้วยังมีหน้ากลับมาเสนอตัวกับพ่อ   นอกจากนั้น ลูกคนโตไม่พอใจการกระทำของพ่อที่เอาสมบัติในบ้านไปเลี้ยงดูจัดงานให้กับคนที่ทำชั่วอย่างน้อง

พี่ชายคนโตรู้สึกว่า   ตลอดชีวิตของตน “ทำดีเพื่อพ่อ”  ดูและบริหารจัดการทรัพย์สมบัติทั้งหลายในบ้านเพื่อพ่อ   แต่พ่อลำเอียงกลับเอาทรัพย์สมบัติที่เป็นน้ำพักน้ำแรงของตนไปเลี้ยงฉลองน้องสารเลวคนนี้ที่เพิ่งกลับจากการผลาญทรัพย์สมบัติจนหมดเนื้อหมดตัว

แต่ผู้เป็นพ่อกลับมองว่า   ลูกคนเล็กที่หายไปนั้นกลับได้พบกันอีก   ตายไปแล้วแต่กลับมีชีวิต   ลูกคนเล็กไม่ได้กลับมาเพราะมีสิ่งดี ๆ เพื่อพ่อ   ชีวิตที่เคยตัดสินใจเดินห่างออกไปจากพ่อเพราะคิดว่าตนมีทรัพย์สมบัติมากมาย   แต่ต้องเดินกลับมาขออยู่กับพ่อเพราะหมดเนื้อหมดตัว   คุณค่าของบุตรน้อยในสายตาของพ่อคือ “เขาตายแล้วแต่กลับมีชีวิตอีก”   ช่างเป็นมุมมองที่แตกต่างราวฟ้ากับดินครับกับมุมมองของพี่คนโตที่ทำดีเพื่อพ่อ

ผู้เป็นพ่อดีใจที่ลูกคนเล็กกลับมาบ้าน   เพราะเขามาครั้งนี้เพื่อที่จะ “อยู่กับพ่อ”  มิใช่  “อยู่เพื่อพ่อ”   น่าสังเกตว่า  ลูกคนเล็กบอกว่าตนไม่สมควรที่จะเป็น “ลูกของพ่อ”   ขอเป็นเพียงคนใช้ในบ้านพ่อ   แต่ปรากฏว่า ผู้เป็นพ่อกลับตอบสนองคำกล่าวนั้นด้วยการให้คนใช้ทำทุกอย่างเพื่อแสดงให้เห็นชัดว่า ลูกคนเล็กกลับมาเป็น "บุตรที่รัก” ของพ่ออีกครั้งหนึ่ง

คริสตชนเมื่อกล่าวถึงพระมหาบัญชาของพระเยซูคริสต์   เราท่านมักไปเน้นความสำคัญที่  “...นำชนทุกชาติให้มาเป็นสาวกของพระคริสต์...”   แต่เรามักไม่ค่อยสนใจต่อพระสัญญายืนยันของพระคริสต์ที่ว่า  “นี่แน่ะ...เราจะอยู่กับท่านทั้งหลายตลอดไปจนกว่าจะสิ้นยุค”   ใช่ครับเรามักให้ความสำคัญในสิ่งที่เราจะทำเพื่อพระคริสต์   มากกว่าการที่พระคริสต์ทรงอยู่กับเรา   ลองคิดใหม่อีกสักครั้งหนึ่งว่า   ถ้าพระคริสต์ไม่ได้อยู่กับเรา   แล้วเรามีน้ำยาอะไรกับการที่จะไปนำชนทุกชาติให้มาเป็นสาวกของพระองค์?

อิสเตอร์ปีนี้...เลิกทำดีเพื่อพระคริสต์เถิดครับ   แต่ให้เราเป็นชีวิตที่ “ตายแล้วแต่กลับมีชีวิตใหม่”  เป็นชีวิตที่อยู่กับพระคริสต์   เป็นลูกที่รักของพระบิดา”  อย่ามัวคิดที่จะนำคนอื่นให้มาเป็นสาวกของพระคริสต์   แต่ตนเองกลับมีชีวิตที่มีช่องว่างในความสัมพันธ์กับพระองค์   ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้หนีไปไหน   แต่ห่างไกลจากพ่อในบ้านหลังเดียวกัน?

สำหรับคริสตชนแล้ว   เรามิได้มุ่งเน้นความสำคัญในความสำเร็จของชีวิต   แต่เรามุ่งเน้นความสัมพันธ์ในชีวิต...   ทั้งความสัมพันธ์กับพระเจ้า   ความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว   ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง   ความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมและสรรพสิ่งของพระเจ้า   และความสัมพันธ์กันตัวตนในตนเอง

อย่าหลงไปนะครับ   ที่มัวแต่เน้นความสำคัญของพระมหาบัญชาจนสำคัญยิ่งกว่า “พระคริสต์”   เน้นความสำเร็จ  มากกว่าความสัมพันธ์ที่พระเจ้าคาดหวังให้เกิดขึ้นในชีวิตของเรา?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499