30 มกราคม 2560

“แก้หิว”...สำคัญกว่าเรื่องคุณค่า!?

ในค่ำคืนหนึ่งที่อากาศขมุกขมัวหมอกลงจัดในกรุงลอนดอนเมื่อหลายปีมาแล้ว   ชายยากจนคนหนึ่งเดินกอดของชิ้นหนึ่งด้วยอาการหนาวสั่นไปยังร้านขายเครื่องดนตรีเล็ก ๆ แถบชานเมือง   เมื่อเข้ามาใกล้ก็เห็นว่า มือขวาของเขากอดไวโอลินเก่า ๆ เครื่องหนึ่งไว้   เขาพูดอ้อนวอนกับเจ้าของร้านเครื่องดนตรีนั้นว่า   “ท่านครับ...ขอท่านช่วยซื้อเครื่องไวโอลินเครื่องนี้ด้วยเถิดครับ   เพื่อผมจะมีเงินไปซื้อของกินสำหรับวันนี้ด้วยเถิดครับ”

เจ้าของร้านรับไวโอลินเครื่องนั้นมาดูแล้วตอบไปว่า “ฉันมีไวโอลินอยู่หลายเครื่องแล้ว   สำหรับเครื่องนี้ฉันให้ได้แค่ 5 ปอนด์”   ชายหนุ่มคนนั้นตอบตกลง   เขาออกจากร้านพร้อมเงินดังกล่าวหายไปในหมอกหนาทึบในคืนนั้นทันที

แต่เมื่อเจ้าของร้านกลับมาพิจารณาเครื่องดนตรีเก่าคร่ำครึชิ้นนี้อย่างถ้วนถี่   เขาไม่เชื่อสายตาตนเองว่า ที่ตัวเครื่องไวโอลินได้สลักอักษรไว้ว่า  “Antonio Stradivari (อันโตนิโอ สตราดิวารี)... 1704.”** เขารีบวิ่งออกไปที่ถนนเพื่อไปหาชายยากจนคนนั้น   เพื่อที่จะให้ค่าไวโอลินเครื่องนี้ที่สมราคา แต่เขาหายไปไหนแล้วไม่รู้ (**อันโตนิโอ สตราดิวารี เป็นช่างทำเครื่องดนตรีชาวอิตาลีที่มีชื่อเสียง ได้รับการยอมรับถืงฝีมือการสร้างไวโอลิน วิโอลา เชลโล กีตาร์ และฮาร์พ ว่าเป็นหนึ่งในช่างฝีมือเอก ในระดับเดียวกับนิโคโล อามาติ และกุยเซ็ปเป กวาร์นิเอรี วิกิพีเดีย)

เมื่อมนุษย์เราหิว   การแก้หิวดูเหมือนมีความสำคัญ และ อิทธิพลมากกว่าเรื่องคุณค่า

คริสตชนหลายต่อหลายคนเป็นเหมือนชายยากจนคนนั้น   เขาได้หอบเอาสิ่งที่มิสามารถจะประเมินค่าไว้คือ “พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์”   และไม่รู้ด้วยว่าพระกิตติคุณที่ตนหอบไว้นั้นมีคุณค่าราคาแค่ไหน  บ้างก็หากินกับพระกิตติคุณนั้น  โดยมิได้ตระหนักถึงคุณค่าของพระกิตติคุณ   แท้จริงแล้วนี่คือสิ่งที่มีค่ายิ่งที่คริสตชนสามารถแบ่งปันกับผู้คนเพื่อเขาจะมีชีวิตจิตวิญญาณที่ทรงคุณค่าจากพระคริสต์เจ้า

อย่ามีชีวิตที่ซ่อนพลังแห่งชีวิตของพระคริสต์เก็บงำไว้ในชีวิตของท่าน   แต่มีความเข้าใจและใช้พลังพระกิตติคุณของพระคริสต์เพื่อที่จะกอบกู้ชีวิตผู้คนในโลกนี้   เพื่อเขาจะได้เข้ามาอยู่ใต้การปกป้องคุ้มครองของพระคริสต์ในแผ่นดินของพระเจ้า

ข้าพ​เจ้า​ไม่​มี​ความ​ละอายใน​เรื่อง​ข่าว​ประ​เสริฐ เพราะ​ว่า​ข่าว​ประ​เสริฐ​นั้น​เป็น​ฤทธา​นุภาพ​ของ​พระ​เจ้า เพื่อ​ให้​ทุก​คน​ที่​เชื่อ​ได้​รับ​ความ​รอด พวก​ยิว​ก่อน แล้ว​พวก​กรีก​ด้วย (โรม 1:16 มตฐ.)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

22 มกราคม 2560

ถอดบทเรียนชีวิตที่พระคริสต์ “บ่มเพาะ” ในสาวก (7)

การมีชีวิตติดสนิทกับพระเจ้าเป็นการส่วนตัว
นำมาซึ่งพลังอำนาจของชีวิตประจำวันในชุมชนสังคม

พระคริสต์มิได้ “บ่มเพาะชีวิตสาวก” ด้วยคำเทศน์ คำสอน หลักข้อเชื่อ และ การประกอบกิจในคริสตจักรเท่านั้น   แต่พระองค์ทรงใช้แบบอย่างการดำเนินชีวิตของพระองค์  พร้อมกับการกระตุ้นให้สาวกได้คิด  และท้าชวนให้เขาต้องตัดสินใจให้ปฏิบัติชีวิตสาวกของพระองค์ในชีวิตประจำวัน  ในทุกบริบทสถานการณ์ชีวิต              

ข้อเขียนตอนนี้เป็นตอนที่ 7 ในบทความเรื่อง ถอดบทเรียนชีวิตที่พระคริสต์ “บ่มเพาะ” ในชีวิตสาวก

“เมื่อ​ท่าน​ทั้ง​หลาย​อธิษ​ฐาน อย่า​เป็น​เหมือน​พวก​หน้า​ซื่อ​ใจ​คด เพราะ​พวก​เขา​ชอบ​ยืน​อธิษ​ฐาน​ใน​ธรรม​ศา​ลา​และ​ตาม​มุม​ถนน​ต่าง ๆ เพื่อ​จะ​ให้​คน​ทั้ง​ปวง​เห็น เรา​บอก​ความ​จริง​กับ​พวก​ท่าน​ว่า​พวก​เขา​ได้​รับ​บำ​เหน็จ​ของ​เขา​แล้ว    ส่วน​ท่าน​เมื่อ​อธิษ​ฐาน​จง​เข้า​ใน​ห้อง​ชั้น​ใน และ​เมื่อ​ปิด​ประตู​แล้ว จง​อธิษ​ฐาน​ต่อ​พระ​บิดา​ของ​ท่าน​ผู้​สถิต​ใน​ที่​ลี้​ลับ และ​พระ​บิดา​ของ​ท่าน​ผู้​ทอด​พระ​เนตร​เห็น​ใน​ที่​ลี้​ลับ​จะ​ประ​ทาน​บำ​เหน็จ​แก่​ท่าน (มัทธิว 6:5-6 มตฐ.)

พระเยซูคริสต์สอนสาวกว่า   การอธิษฐานคือการที่เราสื่อสารกับพระเจ้าแบบใจถึงใจ  ด้วยความจริงใจ   ดังนั้น การอธิษฐานจึงมิใช่ “พืธีการ” ที่ต้องทำอย่างถูกต้อง เช่น การเน้นเรื่องใช้ราชาศัพท์ที่ถูกต้อง พระเจ้าของคริสตชนไม่ได้เป็นพระราชาที่เจ้ายศเจ้าอย่าง   ที่จะต้องมีพิธีการเข้าเฝ้าที่สลับซับซ้อนและยุ่งยาก   แต่พระเจ้าเป็นเหมือนพ่อคนนั้นที่วิ่งออกไปรับลูกคนเล็กที่กลับมาอย่างซอมซ่อ   พระเจ้ามองความสำคัญและคุณค่าที่ชีวิตของคน   ไม่ใช่ที่คำพูด ท่าที การแต่งเนื้อแต่งตัว   แต่อยู่ที่การจริงใจและต้องการติดต่อสื่อสารกับพระเจ้าด้วยความจริงใจ

คริสตชนในปัจจุบันนี้   อาจจำเป็นที่จะต้องกลับมาพิจารณาวิธีการอธิษฐานของเรา   เมื่อพระคริสต์อธิษฐานพระองค์อธิษฐานกับพระบิดาในที่เงียบส่วนตัว   และที่สำคัญคือ ทุกเช้าก่อนการเริ่มต้นชีวิตและพันธกิจของพระองค์   พระองค์ทรงออกไปอธิษฐานในที่เปลี่ยว   เมื่อพระองค์ต้องทำพันธกิจที่สำคัญ  พระองค์ทุ่มเทในการอธิษฐานกับพระบิดาเป็นการส่วนตัว   ซึ่งตรงกันข้ามกับผู้เชื่อและผู้นำในสมัยนั้นเน้นการอธิษฐานในที่สาธารณะ  เพื่อให้คนอื่นได้เห็นถึงความร้อนรนของตนเอง  เห็นถึงการอธิษฐานเก่ง   เห็นถึงการอธิษฐานที่เพราะและลึกซึ้ง   คริสตชนต้องตระหนักชัดว่า  

การอธิษฐานมิใช่การแสดงให้คนอื่นได้เห็น   แต่เป็นการสื่อสารด้วยจริงใจกับพระเจ้า

ที่สำคัญคือ  การอธิษฐานในที่ลับที่เปลี่ยวกลับเป็นการหนุนเสริมเพิ่มพลังแก่คน ๆ นั้นในการทำพันธกิจได้อย่างมีพลังและเกิดผลในที่สาธารณะ  ดั่งเช่นที่เกิดกับพระคริสต์   และนี่เป็นแบบอย่างชีวิตที่พระคริสต์ใช้บ่มเพาะสาวกของพระองค์ในเรื่องการอธิษฐาน

บ่อยครั้งนักที่คริสตชนปัจจุบันเมื่ออธิษฐานไปเน้นที่เสียงดัง  หรือการออกเสียงอธิษฐานพร้อม ๆ กัน  เพื่อแสดงความร้อนรน   หวังว่าพระเจ้าจะได้ยินและทรงตอบ(ตามใจปรารถนาที่ทูลขอ)   บางคนบอกว่า การอธิษฐานดัง ๆ ร้อนรนมาก ๆ เป็นการเขย่าพระบัลลังก์ของพระเจ้า?   ทำเหมือนว่าพระเจ้ากำลังบรรทมบนพระบัลลังก์ที่พระองค์ประทับอยู่?   แล้วการอธิษฐานเป็นการปลุกให้พระองค์ตื่นมาช่วยเรา?   และไม่ควรลืมว่า พระเจ้าไม่ได้หูตึง หูหนวก บอดและใบ้   แต่พระองค์รู้ถึงชีวิตและความปรารถนาของเราก่อนที่เราจะออกเสียงดังเสียอีก   พระองค์มองลึกลงถึงก้นบึ้งแห่งจิตใจของเราแต่ละคนครับ

หมายเหตุ: บทเรียนชีวิตเชิงปฏิบัติทั้ง 6 ประการผู้เขียนจะเสนอต่อจากนี้ในทุกวัน ๆ ละ 1 ประการ ตลอดสัปดาห์นี้

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

21 มกราคม 2560

ถอดบทเรียนชีวิตที่พระคริสต์ “บ่มเพาะ” ในสาวก (6)

สำหรับพระเจ้า “จิตใจ” นั้นสำคัญยิ่ง

พระคริสต์มิได้ “บ่มเพาะชีวิตสาวก” ด้วยคำเทศน์ คำสอน หลักข้อเชื่อ และ การประกอบกิจในคริสตจักรเท่านั้น   แต่พระองค์ทรงใช้แบบอย่างการดำเนินชีวิตของพระองค์  พร้อมกับการกระตุ้นให้สาวกได้คิด  และท้าชวนให้เขาต้องตัดสินใจให้ปฏิบัติชีวิตสาวกของพระองค์ในชีวิตประจำวัน  ในทุกบริบทสถานการณ์ชีวิต              

ข้อเขียนตอนนี้เป็นตอนที่ 6 ในบทความเรื่อง ถอดบทเรียนชีวิตที่พระคริสต์ “บ่มเพาะ” ในชีวิตสาวก

8‘ชน​ชาติ​นี้​ให้​เกียรติ​เรา​แต่​ปาก
ใจ​ของ​พวก​เขา​ห่าง​ไกล​จาก​เรา (มาระโก 15:8 มตฐ. เทียบ อสย. 29:13; อสค. 33:31; มก. 7:6;)
9พวก​เขา​นมัส​การ​เรา​โดย​เปล่า​ประ​โยชน์ 
เพราะ​เอา​กฎ​เกณฑ์​ของ​มนุษย์​มา​สอน​ว่า​เป็น​พระ​ดำ​รัส​สอน(ของพระเจ้า)’(มาระโก 15:9 มตฐ. เทียบ มก. 7:6-7; คส. 2:18; คส. 2:20; คส. 2:22;)

พระเยซูคริสต์กล่าวย้ำซ้ำเตือนสาวกของพระองค์เสมอว่า สิ่งที่ออกมาจากใจต่างหากคือตัวตนที่แท้จริงของคน ๆ นั้น แผ่นดินของพระเจ้าเกิดขึ้นจากการที่จิตใจของผู้คนได้รับการเปลี่ยนแปลงให้มีคุณธรรม และ ดำเนินชีวิตตามวิถีแห่งแผ่นดินของพระเจ้า และความคิด จิตใจและมุมมองของคน ๆ นั้นเองที่เป็นตัวกำหนดในการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเขา  

แต่ละคนต้องตัดสินใจว่า เขาจะดำเนินชีวิตตามพระประสงค์ของพระเจ้า  หรือ จะดำเนินชีวิตตามใจปรารถนาของตนเอง   เขาต้องตัดสินใจว่าจะจมจ่อมอยู่ในโคลนตมแห่งอำนาจของความบาปชั่ว หรือ จะตัดสินใจรับการกอบกู้จากพระคริสต์ให้ออกจากอำนาจแห่งความบาปผิดที่ครอบงำตนอยู่   เขาต้องตัดสินใจจะรับใช้พระเจ้าตามที่พระองค์ประสงค์ หรือ จะรับใช้ความอยากได้ใคร่มีของตนเอง

ดังนั้น การที่คริสตชนจะบอกว่าเขารักพระเจ้าไม่สามารถบ่งชี้ชัดได้ว่า เขารักพระเจ้าจริงหรือไม่ หรือ มากน้อยแค่ไหน แต่พฤติกรรมที่แสดงออกมาในชีวิตประจำวัน ในความสัมพันธ์ ในที่ทำงาน ในครอบครัว หรือในชุมชนต่างหากที่เป็นผลสะท้อนชัดว่าจิตใจของคน ๆ นั้นเป็นเช่นไร   จิตใจของเขารักพระเจ้า  รักเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน  หรือ เป็นเพียงการรักตนเองเท่านั้น

เราจะรู้ได้อย่างไรว่า   คนที่ถวายเงินทอง สิ่งของ มากมายว่าคน ๆ นั้นรักพระเจ้าหรือไม่?   เพราะการให้หรือการถวายในรูปแบบต่าง ๆ อาจจะมีความปรารถนาที่ซ่อนเร้นในใจก็ได้   ดั่งที่พระคริสต์บอกว่า   คนมั่งมีที่นำเงินมาถวายพระเจ้าเป็นกระสอบก็ถวายน้อยกว่าแม่หม้ายคนนั้นที่ถวายเพียงสองเหรียญทองแดง   เพราะพระเยซูคริสต์มองลึกลงไปในจิตใจของหญิงหม้ายคนนั้นที่นำเอาเงินเพียงน้อยนิดที่ตนมีอยู่เพื่อเลี้ยงชีพตนและลูกมาถวายแด่พระเจ้า   ในขณะที่คนมั่งมีเหล่านั้น นำเอาเงินที่เหลือกินเหลือใช้มาถวายแด่พระเจ้า

อีกประการหนึ่ง ผู้บันทึกเรื่องราวนี้ในพระคัมภีร์ สังเกตถึงท่าทีในการถวาย   คนมั่งมีถวายเงินอย่างเอิกเกริกเพื่อให้คนอื่นได้เห็นและยกย่องตนเองว่าตนถวายเงินทองมากมาย   แต่หญิงหม้ายคนนั้นกลับนำเงินสองเหรียญทองแดงไปหย่อนใส่หีบถวายเงียบ ๆ การถวายของคนมั่งมีเพราะต้องการได้รับการยกย่องจากคนที่เห็น   ในขณะที่แม่หม้ายถวายด้วยความไว้วางใจในพระเมตตาคุณของพระเจ้า

ทุกวันนี้  คริสตจักร และ คริสตชนไทยเรามีจิตใจเช่นไร? จิตใจของเราอยู่ภายใต้การครอบครองของพระเจ้า หรือจิตใจของเราพองโตภายใต้ความปรารถนาของตนเอง?

หมายเหตุ: บทเรียนชีวิตเชิงปฏิบัติทั้ง 6 ประการผู้เขียนจะเสนอต่อจากนี้ในทุกวัน ๆ ละ 1 ประการ   ตลอดสัปดาห์นี้

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

20 มกราคม 2560

ถอดบทเรียนชีวิตที่พระคริสต์ “บ่มเพาะ” ในสาวก (5)

ใครคือเจ้านายตัวจริงในชีวิต

พระคริสต์มิได้ “บ่มเพาะชีวิตสาวก” ด้วยคำเทศน์ คำสอน หลักข้อเชื่อ และ การประกอบกิจในคริสตจักรเท่านั้น   แต่พระองค์ทรงใช้แบบอย่างการดำเนินชีวิตของพระองค์  พร้อมกับการกระตุ้นให้สาวกได้คิด  และท้าชวนให้เขาต้องตัดสินใจให้ปฏิบัติชีวิตสาวกของพระองค์ในชีวิตประจำวัน  ในทุกบริบทสถานการณ์ชีวิต              

ข้อเขียนตอนนี้เป็นตอนที่ 5 ในบทความเรื่อง ถอดบทเรียนชีวิตที่พระคริสต์ “บ่มเพาะ” ในชีวิตสาวก

ชายหนุ่มดีใจที่ได้พบกับพระเยซูคริสต์แล้วสนทนาพูดคุยกับพระองค์ด้วยความจริงใจ   เขาต้องการที่จะเป็นคนดีพร้อม  และมีชีวิตนิรันดร์  เขาจึงมาถามพระเยซูว่าเขาจะต้องทำอย่างไร?

“ท่าน​อา​จารย์ ข้าพ​เจ้า​จะ​ต้อง​ทำ​ความ​ดี​อะไร​บ้าง จึง​จะ​ได้​ชีวิต​นิรันดร์?” พระ​เยซู​ตรัส​ตอบ​เขา​ว่า “ท่าน​ถาม​เรา​ถึง​สิ่ง​ที่​ดี​ทำไม? ผู้​ที่​ดี​มี​แต่​ผู้​เดียว  ถ้า​ท่าน​ต้อง​การ​จะ​เข้า​สู่​ชีวิต​ก็​ให้​ถือ​รัก​ษา​พระ​บัญ​ญัติ​ไว้”  คน​นั้น​ทูล​ถาม​ว่า “คือ​พระ​บัญ​ญัติ​ข้อ​ไหน​บ้าง?” พระ​เยซู​ตรัส​ว่า “‘ห้าม​ฆ่าคน ห้าม​ล่วง​ประ​เวณี​ผัว​เมีย​เขา ห้าม​ลักทรัพย์  ห้าม​เป็น​พยาน​เท็จ   จง​ให้​เกียรติ​บิดา​มารดา​ของ​ตน  และ​จง​รัก​เพื่อนบ้าน​เหมือน​รัก​ตน​เอง’   ชาย​หนุ่ม​คน​นั้น​ทูล​พระ​องค์​ว่า “ข้าพ​เจ้า​รัก​ษา​ข้อ​เหล่า​นั้น​ทุก​ข้อ​อยู่​แล้ว ข้าพ​เจ้า​ยัง​ขาด​อะไร​อีก​บ้าง?”  พระ​เยซู​ตรัส​กับ​เขา​ว่า “ถ้า​ท่าน​ต้อง​การ​จะ​เป็น​คน​ดี​พร้อม จง​ไป​ขาย​ทรัพย์​สิ่ง​ของ​ที่​ท่าน​มี​อยู่​แจก​จ่าย​ให้​คน​ยาก​จน แล้ว​ท่าน​จะ​มี​ทรัพย์​สม​บัติ​ใน​สวรรค์ และ​จง​ตาม​เรา​มา”   เมื่อ​ชาย​หนุ่ม​ได้​ยิน​ถ้อย​คำ​นั้น​ก็​ออก​ไป​เป็น​ทุกข์ เพราะ​เขา​มี​ทรัพย์​สิน​จำนวน​มาก (มัทธิว 19:16-22 มตฐ.)

ประเด็นในเรื่องนี้ มิได้ขึ้นอยู่กับว่า   มีทรัพย์สินเงินทองมากน้อยแค่ไหน   แต่อยู่ที่ว่า ตนสามารถมีพลังอำนาจที่จะจัดการทรัพย์สินเงินทองเหล่านั้นอย่างไร   แต่ไม่พอ  ต้องมากกว่านั้นครับ   จะใช้อำนาจเพื่อจัดการใช้เงินทองความมั่งคั่งที่มีอยู่เพื่อตนเอง หรือ เพื่อใคร?  ซึ่งปกติมักเป็นการใช้ทรัพย์สินเงินทองตามความปรารถนาแห่งตน  หรือเพื่อที่จะทำให้ทรัพย์สินเงินทองนั้นเพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น   แต่พระคริสต์กลับมีมุมมองที่สวนทางกับโลกนี้   เพราะพระองค์มองว่า ทรัพย์สินเงินทองความมั่งมีที่ใครคนใดคนหนึ่งมีอยู่เป็นของประทานจากพระเจ้า   และพระประสงค์ที่พระเจ้าทรงประทานความมั่งคั่งแก่คนใดคนหนึ่งก็เพื่อที่คนนั้นจะเป็นตัวแทนของพระองค์ในการแจกจ่ายแบ่งปันความมั่งคั่งที่ได้รับจากพระเจ้า   เพื่อดูแลเอาใจใส่ผู้คนอื่น ๆ  มิใช่ด้วยเศษเสี้ยวที่เหลือ  แต่ทั้งหมดเพื่อพระองค์

“ไม่​มี​ใคร​เป็น​ข้า​สอง​เจ้า บ่าว​สอง​นาย​ได้ เพราะ​ว่า​เขา​จะ​ชัง​นาย​ข้าง​หนึ่ง และ​รัก​นาย​อีก​ข้าง​หนึ่ง หรือ​เขา​จะ​นับ​ถือ​นาย​ฝ่าย​หนึ่ง และ​ดู​หมิ่น​นาย​อีก​ฝ่าย​หนึ่ง ท่าน​ทั้ง​หลาย​จะ​รับใช้​พระ​เจ้า​และ​เงิน​ทอง​พร้อม​กัน​ไม่​ได้” (มัทธิว 6:24 มตฐ.)  เราบริหารจัดการเงินทองที่มีอยู่ หรือ เงินทองที่มีอยู่กลับมามีอำนาจจัดการชีวิตของเรา?

ตลอดวันนี้  ในฐานะสาวกของพระคริสต์  เมื่อเราจะใช้ทรัพย์สินเงินทองของเรา หรือ ที่เรามีอำนาจจะใช้มัน   ให้เราใคร่ครวญถามตนเองก่อนว่า   เราใช้ทรัพย์สินเงินทองเหล่านั้นเพื่อตนเอง  เพื่อชื่อเสียงของเรา  เพื่อให้คนอื่นยอมรับเรา  เพื่อเราจะมีตำแหน่งอำนาจ   หรือเราจะใช้ทรัพย์สินเงินทองที่เรามีอยู่ หรือ ที่เรารับผิดชอบเพื่อให้เกิดชีวิตใหม่ในพระคริสต์?  

และคงจะต้องถามว่า  ที่เราลุกขึ้นกระหืดกระหอบมาทำงานกันเพื่ออะไร?   เพื่อที่จะได้ทรัพย์สินเงินทองมาใช้? หรือ เพราะงานคือพื้นที่โอกาสชีวิตที่เราจะสำแดงชีวิตสาวกพระคริสต์ และ รับการทรงเสริมสร้างชีวิตของเราให้เป็นสาวกของพระองค์ในวันนี้มากยิ่งขึ้น?

เราสามารถจัดการและรับมือการใช้ทรัพย์สินเงินทองในชีวิตของเรา   หรือ เราจะใช้ทรัพย์สินเงินทองตามใจปรารถนาของเราเอง?   ถ้าเช่นนั้นเราคงต้องถามว่าใครคือ “เจ้านาย” ตัวจริงที่บงการชีวิตประจำวันของเรา?

หมายเหตุ: บทเรียนชีวิตเชิงปฏิบัติทั้ง 6 ประการผู้เขียนจะเสนอต่อจากนี้ในทุกวัน ๆ ละ 1 ประการ ตลอดสัปดาห์นี้

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

19 มกราคม 2560

ถอดบทเรียนชีวิตที่พระคริสต์ “บ่มเพาะ” ในสาวก (4)

คำพูด...ส่อสื่อถึงจิตใจของคนพูด
                       
พระคริสต์มิได้ “บ่มเพาะชีวิตสาวก” ด้วยคำเทศน์ คำสอน หลักข้อเชื่อ และ การประกอบกิจในคริสตจักรเท่านั้น   แต่พระองค์ทรงใช้แบบอย่างการดำเนินชีวิตของพระองค์  พร้อมกับการกระตุ้นให้สาวกได้คิด  และท้าชวนให้เขาต้องตัดสินใจให้ปฏิบัติชีวิตสาวกของพระองค์ในชีวิตประจำวัน  ในทุกบริบทสถานการณ์ชีวิต              

ข้อเขียนตอนนี้เป็นตอนที่ 4 ในบทความเรื่อง ถอดบทเรียนชีวิตที่พระคริสต์ “บ่มเพาะ” ในชีวิตสาวก

“...ด้วย​ว่า​ปาก​นั้น​พูด​สิ่ง​ที่​มา​จาก​ใจ   คน​ดี​ก็​เอา​ของ​ดี​มา​จาก​คลัง​แห่ง​ความ​ดี​ใน​ตัว​ของ​เขา คน​ชั่ว​ก็​เอา​ของ​ชั่ว​มา​จาก​คลัง​แห่ง​ความ​ชั่ว​ใน​ตัว​ของ​เขา” (มัทธิว 12:34-35 มตฐ.)  

คำพูดมิเป็นเพียงการสื่อสารกันในสังคมมนุษย์เท่านั้น   แต่คำพูดนั้นส่อสื่อออกมาถึงฐานคิด ความรู้สึก  และส่วนลึกแห่งจิตใจของคน ๆ นั้น   และเมื่อนำเอาคำที่พูด กับการกระทำที่แสดงออกมาเทียบเคียงกัน   เราก็จะได้รู้ถึงสภาพจิตใจของคน ๆ นั้นได้เป็นอย่างดี

คำพูดถูกกลั่นกรองจากเจตนาที่อยู่ในส่วนลึกของจิตใจ   ดังนั้น คำพูดจึงออกมาพร้อมกับพลังแห่งเจตนา   ย่อมมีพลังที่จะทำให้ก่อเกิดสิ่งดี หรือ สิ่งร้าย  ย่อมมาจากความปรารถนาดีหรือการปรารถนาร้าย   บางครั้งดูเหมือนเป็นคำพูดธรรมดา   หรือบางครั้งทำเหมือนพูดเล่นกัน   แต่ก็สามารถที่จะทำร้ายทำลายความรู้สึกจนถึงความสัมพันธ์ที่มีต่อกัน   หรือ อาจจะเสริมสร้างความเข้าใจ และ ให้กำลังใจกันและกันก็ได้

การหลงเข้าไปอยู่ใต้อำนาจในความผิดบาปที่ปรากฏในพระธรรมปฐมกาลครั้งแรกก็เกิดจากคำพูดที่ “หลอกลวง” ของอำนาจแห่งความบาปชั่ว   เพราะคำพูดสามารถกลั่นกรองมาจากฐานคิดแห่งความชั่วของอำนาจบาปชั่ว   และสำแดงฤทธิ์เดชต่อคุณค่า ความหมาย และการเป็นอยู่ของชีวิตมนุษย์โลกพร้อมทั้งสรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสร้าง

ความอิจฉาตาร้อนก็ทำคน ๆ นั้นไม่สามารถพูดดีกับคนบางคน   และบางครั้งก็พูดหลอกลวงเพื่อหาโอกาสทำร้ายทำลายคนที่ตนอิจฉาไม่พอใจ   อย่างเช่นคาอินทำกับอาเบล

ในคริสตจักรปัจจุบัน   ก็ประสบกับพลังจากคำพูดของผู้คนในและนอกคริสตจักร   โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำพูดของคนในคริสตจักรที่บางครั้งที่เป็นภัยเงียบบ่อนเซาะรากฐานความมั่นคงของคริสตจักรและความเชื่อศรัทธา   คำพูดที่พูดความจริงเพียงครึ่งเดียวก็ไม่ต่างอะไรกับการพูด “โกหก หลอกลวง”   ซึ่งหมายถึงคำพูดที่พูดความจริงแต่บางส่วน แล้วซ่อนเร้นความจริงในส่วนที่เหลือไว้   อาการเช่นนี้มักพบมากในพวก “เล่นการเมือง” ในองค์กร

ทำอย่างไรที่จะทำให้วงการคริสตจักร “ปลอด” วิธีการของพวก “นักการเมือง”  และคนในคริสตจักรต้องไม่ยอมตนให้หลงตกลงในกับดักคำพูดที่ว่าจะให้ผลประโยชน์เป็นตัวจูงใจ   มิเช่นนั้นแล้ว   คริสตจักรก็จะประสบกับการแบ่งขั้วแยกพวก  ความแตกแยก  การชิงดีชิงเด่น   และในที่สุดก็นำไปสู่การกล่าวโทษ ทำร้ายทำลายในลักษณะต่าง ๆ  

สาวกของพระคริสต์ต้องระมัดระวังใส่ใจในคำพูดของตน   มิใช่ “พูด” เพื่อที่ตนจะ “ได้” อย่างใจปรารถนาของตนเท่านั้น   แต่พูดด้วยใจเมตตากรุณา และ พูดด้วยการให้ชีวิต   เพื่อให้เกิดชีวิตใหม่ในผู้คนที่เราพูดด้วย  กล่าวคือ เกิดกำลังใจ  เกิดการคิดใหม่  มุมมองใหม่ ความคิดใหม่ ความเชื่อใหม่  การตัดสินใจใหม่แก่ผู้คนรอบข้างเราวันนี้

หมายเหตุ: บทเรียนชีวิตเชิงปฏิบัติทั้ง 6 ประการผู้เขียนจะเสนอต่อจากนี้ในทุกวันๆละ 1 ประการ   ตลอดสัปดาห์นี้

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

18 มกราคม 2560

ถอดบทเรียนชีวิตที่พระคริสต์ “บ่มเพาะ” ในสาวก (3)

การใช้ความรุนแรง มิใช่วิธีการของพระเจ้าในการตอบโต้ความบาปชั่ว

พระคริสต์มิได้ “บ่มเพาะชีวิตสาวก” ด้วยคำเทศน์ คำสอน หลักข้อเชื่อ และ การประกอบกิจในคริสตจักรเท่านั้น   แต่พระองค์ทรงใช้แบบอย่างการดำเนินชีวิตของพระองค์  พร้อมกับการกระตุ้นให้สาวกได้คิด  และท้าชวนให้เขาต้องตัดสินใจให้ปฏิบัติชีวิตสาวกของพระองค์ในชีวิตประจำวัน  ในทุกบริบทสถานการณ์ชีวิต

ข้อเขียนตอนนี้เป็นตอนที่ 3 ในบทคิดข้อเขียนเรื่อง ถอดบทเรียนชีวิตที่พระคริสต์ “บ่มเพาะ” ในชีวิตสาวก

พระเยซูคริสต์แสดงเจตนาชัดเจนว่า   พระองค์มิได้มาในโลกนี้เพื่อจะใช้อำนาจ กำลัง ในการต่อสู้กับอำนาจชั่ว  เพื่อที่จะเอาชนะอำนาจชั่ว   พระราชกิจของพระองค์ไม่ใช่เรื่องการทำเพื่อที่จะ “ชนะ”   แต่เป้าหมายชัดเจนของพระองค์คือ   พระองค์มาเพื่อกอบกู้ชีวิตมนุษย์ออกจากอำนาจบาปชั่ว  เพื่อจะได้มีชีวิตใหม่   และการที่จะช่วยให้มนุษย์ได้รับชีวิตใหม่ก็ด้วยการที่พระองค์ยอมเสียสละชีวิต  ยอมให้ชีวิตแก่คนทั้งหลาย เพื่อคนทั้งหลายจะได้ชีวิตใหม่

เมื่อกองกำลังทหารพระวิหารมาล้อมจับพระเยซูคริสต์   ​พวก​สา​วก​ของ​พระ​องค์​เห็น​ว่า​กำ​ลัง​จะ​เกิด​อะไร​ขึ้น พวก​เขา​จึง​ทูล​ถาม​พระ​องค์​ว่า “องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า ให้​พวก​ข้าพระ​องค์​เอา​ดาบ​สู้​ไหม? (ลูกา 22:49 มตฐ.)  ซีโมน​เป​โตร​มี​ดาบ​จึง​ชัก​ออก​ฟัน​ทาส​คน​หนึ่ง​ของ​มหา​ปุโร​หิต​ถูก​หู​ข้าง​ขวา​ขาด ทาส​คน​นั้น​ชื่อ​มัล​คัส (ข้อ 50 เทียบ มธ. 26:51; มก. 14:47; ลก. 22:50;)  พระ​เยซู​ตรัส​กับ​เป​โตร​ว่า “จง​เอา​ดาบ​ใส่​ฝัก​เสีย...” (เทียบ มธ. 20:22; มธ. 26:39;) และ พระเยซูเตือนสติสาวกของพระองค์ว่า  “...เรา​จะ​ไม่​ดื่ม​ถ้วย ที่​พระ​บิดา​ประ​ทาน​แก่​เรา​หรือ?” (ยอห์น 18:11 มตฐ.)  “แล้ว​พระ​องค์​ทรง​แตะ​ต้อง​ใบ​หู​ของ​คน​นั้น​และ​ทรง​รักษา​เขา” (ลูกา 22:51 มตฐ.) ท่ามกลางความรุนแรงพระเยซูคริสต์กลับตอบโต้ด้วยการรักษาชีวิต   คริสตชนปัจจุบันจำเป็นจะต้องกลับมาทบทวนถึงวิธีการตอบโต้ความรุนแรงแห่งความบาปชั่ว   เรากำลังตอบโต้ด้วยการเอาอาวุธใส่มือคนอีกพวกหนึ่งเพื่อทำลายล้าง(ในนามของการป้องกันตนเอง)อยู่หรือเปล่า?

ความรุนแรงแห่งอำนาจบาปชั่วมันมีเป้าหมายชัดเจนคือการทำลายล้างชีวิตที่พระเจ้าประทานให้   ความรุนแรงที่ว่านี้มิได้มีอยู่ในรูปแบบการสงครามต่อสู้ห้ำหั่นกันเท่านั้น   แต่แฝงเข้ามาในรูปแบบของกฏเกณฑ์ ข้อปฏิบัติทางศาสนา   และการที่ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์มุ่งทำร้าย ทำลายคนอื่น  ไม่ว่าในครอบครัว ในที่ทำงาน ในกลุ่มเพื่อนด้วยกัน  หรือ ในชุมชนด้วย   

ตัวอย่างเช่น  พวกผู้นำศาสนายิวในเวลานั้น​คอย​เฝ้า​ดู​ว่า พระ​องค์​จะ​รัก​ษา​โรค​ให้​คน​นั้น​ใน​วัน​สะ​บา​โต​หรือ​ไม่ เพื่อ​จะ​หา​เหตุ​ฟ้อง​พระ​องค์  พระ​องค์​ตรัส​กับ​คน​มือ​ลีบ​ว่า “มา​ข้าง​หน้า​เถอะ”  แล้ว​พระ​องค์​ตรัส​กับ​คน​ทั้ง​หลาย​ว่า “ใน​วัน​สะ​บา​โต​ควร​จะ​ทำ​การ​ดี​หรือ​ทำ​การ​ร้าย ควร​จะ​ช่วย​ชีวิต​หรือ​ทำ​ลาย​ชีวิต?” คน​ทั้ง​หลาย​ก็​นิ่ง​อยู่ (มาระโก 3:2-4 มตฐ.)  แล้ว​พระ​เยซู​ตรัส​กับ​พวก​เขา​ว่า “เรา​จะ​ถาม​พวก​ท่าน​ว่า​ใน​วัน​สะบา​โต​นั้น​ควร​จะ​ทำ​การ​ดี​หรือ​การ​ร้าย ควร​จะ​ช่วย​ชีวิต​หรือ​ทำ​ลาย​ชีวิต?” (ลูกา 6:10 มตฐ.)

วิธีการต่อสู้กับอำนาจแห่งความชั่วร้ายที่พระคริสต์บ่มเพาะให้เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของสาวกคือ   การใช้ความรักเมตตา  การให้ชีวิตเพื่อที่จะกอบกู้ชีวิตที่ตกอยู่ใต้การครอบงำของอำนาจบาปชั่วได้รอดพ้นออกมาสู่ชีวิตใหม่ในพระคริสต์   เพื่อเขาคนนั้นจะมีชีวิตในพระคริสต์  ชีวิตที่รับใช้พระคริสต์คือ   การดำเนินชีวิตที่ให้ชีวิตเพื่อคนอื่นจะได้ชีวิตใหม่ในพระคริสต์ต่อไป

วันนี้...ในฐานะสาวกพระคริสต์ ท่านจะจัดการรับมืออย่างไรกับสถานการณ์เลวร้าย รุนแรง หรือแม้แต่สถานการณ์อันไม่พึงพอใจของท่าน  ท่านพร้อมที่จะตอบโต้รับมือสถานการณ์ และ คนเหล่านั้น ด้วยความรักเมตตาแบบพระคริสต์ และ การให้ชีวิตเฉกเช่นพระองค์หรือไม่?

หมายเหตุ: บทเรียนชีวิตเชิงปฏิบัติทั้ง 6 ประการผู้เขียนจะเสนอต่อจากนี้ในทุกวันๆละ 1 ประการ   ตลอดสัปดาห์นี้

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

17 มกราคม 2560

ถอดบทเรียนชีวิตที่พระคริสต์ “บ่มเพาะ” ในสาวก (2)

ผู้ยิ่งใหญ่ในแผ่นดินของพระเจ้าวัดกันที่ “ความนอบน้อมถ่อมตน”
 
พระคริสต์มิได้ “บ่มเพาะชีวิตสาวก” ด้วยคำเทศน์ คำสอน หลักข้อเชื่อ และ การประกอบกิจในคริสตจักรเท่านั้น   แต่พระองค์ทรงใช้แบบอย่างการดำเนินชีวิตของพระองค์  พร้อมกับการกระตุ้นให้สาวกได้คิด  และท้าชวนให้เขาต้องตัดสินใจให้ปฏิบัติชีวิตสาวกของพระองค์ในชีวิตประจำวัน  ในทุกบริบทสถานการณ์ชีวิต

ข้อเขียนตอนนี้เป็นตอนที่ 2 ในบทความเรื่อง ถอดบทเรียนชีวิตที่พระคริสต์ “บ่มเพาะ” ในชีวิตสาวก

พระเยซูคริสต์​ตรัสสอนใน มัทธิว 18:3-4 ​ว่า “เรา​บอก​ความ​จริง​กับ​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ว่า ถ้า​พวก​ท่าน​ไม่​กลับใจ​และ​เป็น​เหมือน​เด็ก​เล็ก ๆ ก็จะ​เข้า​ใน​แผ่น​ดิน​สวรรค์​ไม่​ได้​เลย (มตฐ.  เทียบ มธ. 19:14; 1คร. 14:20; 1ปต. 2:2;)   เพราะ​ฉะนั้น ถ้า​ใคร​ถ่อม​จิต​ใจ​ลง​เหมือน​เด็ก​เล็ก ๆ คน​นี้ คน​นั้น​จะ​เป็น​ใหญ่​ที่​สุด​ใน​แผ่น​ดิน​สวรรค์  (มตฐ. เทียบ 1ปต. 5:6;)  

การที่เรามีเวลาอยู่ใกล้ชิดติดสนิทกับพระคริสต์   พระองค์จะเรียกเราแต่ละคนให้ออกมาจากความอหังการ  ความหยิ่ง ความยโส ทะนงตน  และวิถีชีวิตต่าง ๆ ที่สวนทางการดำเนินชีวิตตามเส้นทางแห่งแผ่นดินของพระเจ้า   สาวกหลายต่อหลายคนมักหลงใหลในชื่อเสียง  ตำแหน่ง  ฐานะ และ การมีอำนาจ   อย่างเช่นสาวกในสมัยของพระเยซูคริสต์พวกเขาคิดว่าเมื่อพระคริสต์สถาปนาพระองค์เองขึ้นเป็นกษัตริย์แล้ว   รัฐบาลของพระองค์  กองกำลังของพระองค์  กองกำลังกลุ่มกบฏต่าง ๆ   พรรคพวกของพระองค์จะต่อสู้และกำจัดจักรวรรดิโรมันให้หมดอำนาจ   แล้วพวกของพระองค์ก็จะเถลิงขึ้นมาเป็นมหาอำนาจแทน  

แต่พระคริสต์เตือนและท้าทายพวกเขาว่า “แผ่นดินของพระเจ้า” มิใช่การผลัดเปลี่ยนอำนาจเหมือนอย่างต้นไม้ผลัดเปลี่ยนใบ   การปกครองของพระเจ้ามิได้เป็นเหมือนกษัตริย์ หรือ ราชบัลลังก์ในโลกนี้   อำนาจไม่ได้มาจากการใช้เงิน   ไม่ได้มาจากการมีตำแหน่ง   ไม่ได้มาจากการมีฐานะสูงในสังคม  ไม่ได้มาจากการแย่งชิง  ทำร้ายทำลาย  แต่อำนาจที่จะนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคมโลกคือ “ความอ่อนน้อมถ่อมตน”   และต้อง “พึ่งพาและไว้วางใจในพระเจ้า”   เฉกเช่น เด็กเล็กวางใจในพ่อแม่ หรือ ผู้ดูแลตน 

ในทุกวันนี้  คริสตชนวัด “ความยิ่งใหญ่” ในชีวิตกันที่ไหน   ฐานะ  ตำแหน่ง  เงินทอง  ความมั่งคั่ง  พรรคพวก  ลูกศิษย์ลูกหา   ผลงาน ผู้คนยกย่องเชิดชู ชนะในการแข่งขัน  แย่งชิงด้านต่าง ๆ  และ ฯลฯ   ถ้าเราสูญเสียสิ่งเหล่านี้ไปหมดสิ้นเราจะยังมีความสำคัญและคุณค่าอยู่หรือไม่?   ความสำคัญและคุณค่าของเราวัดกันที่ไหน?

การที่เราคริสตชนมองว่า ชีวิตประจำวันที่นอบน้อมถ่อมตนเป็นตัวชี้วัดถึง การที่เรามีชีวิตในแผ่นดินของพระเจ้านั้น   การที่เรานอบน้อมถ่อมตนได้เพราะเราสำนึกว่า  ชีวิตของเราพึ่งพิงในพระคุณของพระเจ้า   มิได้พึ่งพาความเข้มแข็งเก่งกาจของเราเอง   และ

ที่สำคัญคือ การที่เราจะมีชีวิตที่นอบน้อมถ่อมตนเพราะเราได้รับการทรงสร้างใหม่จากพระคริสต์  ให้มีชีวิตจิตวิญญาณ หรือ รากฐานชีวิตที่มีความรักเมตตา และ การให้ชีวิตแก่ผู้อื่นดั่งพระคริสต์   เป็นความรักเมตตาที่ไร้เงื่อนไข   คริสตชนมิได้นอบน้อมถ่อมตนเพื่อจะได้ผลสำเร็จตามความปรารถนาที่ซ่อนเร้นในใจ (อย่างนักการเมือง)  แต่มีเป้าหมายเพื่อให้น้ำพระทัยของพระเจ้าในสวรรค์สำเร็จเป็นจริงบนแผ่นดินโลกนี้

ดังคำอธิษฐานที่พระคริสต์สอนให้เราที่เป็นสาวกของพระองค์อธิษฐานเช่นนั้น  และมอบกายถวายชีวิตร่วมสานต่อพระเจตนารมณ์ตามคำอธิษฐานที่ทรงสอน   ด้วยการดำเนินชีวิตประจำวันที่นอบน้อมถ่อมตน ดังที่พระคริสต์ได้ดำเนินชีวิตเป็นแบบอย่างแก่เราแล้ว
 
หมายเหตุ: บทเรียนชีวิตเชิงปฏิบัติทั้ง 6 ประการผู้เขียนจะเสนอต่อจากนี้ในทุกวัน ๆ ละ 1 ประการ ตลอดสัปดาห์นี้

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

16 มกราคม 2560

ถอดบทเรียนชีวิตที่พระคริสต์ “บ่มเพาะ” ในสาวก

พระเยซูคริสต์มิได้เป็นเพียงพระผู้ช่วยให้รอดเท่านั้น   แต่พระองค์เป็นเพื่อนสนิท  ครูที่บ่มเพาะและวางรากฐานชีวิต  พี่เลี้ยงที่เดินเคียงข้างสร้างเสริมพวกเขาให้เป็นคนรับใช้ที่พระบิดาจะใช้ได้   เป็นที่ปรึกษาที่กระตุ้นให้ต้องคิดใหม่ คิดนอกกรอบจากที่คิดกันในสมัยนั้น และ ผู้ชี้แนะแก่สาวกที่พระองค์เดินเคียงข้างไปกับพวกเขาในชีวิตในช่วงเวลา 3 ปี  

พระเยซูคริสต์มิเพียงสอนแต่ “บ่มเพาะชีวิต” ของพวกสาวกด้วยการเป็นแบบอย่างชีวิตที่สาวกสามารถเห็นชัดด้วยตา สัมผัสได้ด้วยชีวิตของตนเอง   และการเปลี่ยนแปลงเสริมสร้างชีวิตสาวกดังกล่าวจึงเป็นการเสริมสร้าง และ เปลี่ยนแปลงลงถึงรากฐานแห่งชีวิต  คือจิตวิญญาณของสาวกแต่ละคน   และ

นี่คือ “สิ่งสารพัดที่เรา(พระเยซูคริสต์)ได้สอนและสั่งพวกเจ้า(สาวก)ไว้แล้ว”   และนี่คือพันธกิจที่คริสตชนทุกคนต้องรับผิดชอบ “สานต่อ” จากพระราชกิจของพระเยซูคริสต์ตามพระมหาบัญชา   และนี่คือ “แม่แบบ” ของการสร้างสาวกที่พระคริสต์กระทำเป็นแบบอย่างแก่คริสตจักร

บทเรียนเชิงปฏิบัติในชีวิตประจำวัน 6 ประการ ที่พระคริสต์ “บ่มเพาะ” ในชีวิตของสาวก

พระเยซูคริสต์มิเพียงแต่เป็น “พระผู้ช่วยให้รอด”  แต่พระองค์ทรงเป็นเพื่อนสนิทของสาวก   เป็นครู และ พี่เลี้ยงที่เดินเคียงข้างไปกับสาวกในทุกสถานการณ์ชีวิตตลอดเวลา 3 ปีแห่งการทำพระราชกิจของพระองค์   พระองค์ทรงเป็น “พระเจ้าของคนข้างถนน”  ที่ใช้ชีวิคคลุกฝุ่นกับผู้คนยากไร้  คนต่ำต้อย  คนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ  ถูกเหยียดหยาม ถูกลดค่า   คนที่ถูกตีตราว่าเป็นคนที่ไม่มีหัวนอนปลายตีน   พระองค์มีชีวิตกับผู้คนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึง “พระเจ้าในพระมหาวิหาร”  

พระองค์มีชีวิตที่สำแดงชัดเจนว่า พระองค์เป็น “พระเจ้าของคนบาป”   พร้อมที่จะสัมผัสใกล้ชิดเคียงข้างกับคนบาป   คนที่สังคมตีตราว่า “มลทิน”  ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับพวกผู้นำชั้นสูงในศาสนาขณะนั้น ที่พวกเขาเชื่อถือใน “พระเจ้าของคนดี”   พระเจ้าของคนมั่งคั่ง   พระเจ้าของคนที่ประกอบศาสนพิธีให้เป็นที่พอพระทัยพระเจ้า(มากกว่าคิดและดำเนินชีวิตประจำวันให้เป็นที่ถวายเกียรติแด่พระเจ้า)   พระคริสต์ทรงนำพระเจ้าเข้าถึงชีวิตของ “คนข้างถนน”   ดังที่พระองค์สอนสาวกให้อธิษฐานว่า  “...ขอให้แผ่นดินของพระองค์มาตั้งอยู่   ในสวรรค์เป็นอย่างไร  ขอให้เป็นเช่นนั้นในแผ่นดินโลก...”

ตลอดช่วงเวลาที่พระองค์ใช้ชีวิตกับสาวกของพระองค์   พระคริสต์ท้าทายและปรับแก้ “กรอบคิด วิธีคิด” ของสาวก   พระองค์ทรงใช้ความสงสัย  ความไม่ชัดเจน  ความผิดพลาด เป็นโอกาสในการสื่อสารสร้างการเรียนรู้และเปิดมุมมองใหม่ถึงเรื่องแผ่นดินของพระเจ้าที่มากกว่าความเข้าใจที่มีในสาวก   พระองค์บ่มเพาะเสริมสร้างบุคลิกใหม่  นิสัยใหม่  ให้ค่อย ๆ “งอกงามขึ้น” ในชีวิตของสาวก   ซึ่งต่อมาภายหลังสิ่งเหล่านี้ได้ถูกนำมาถ่ายทอดถึงสัจจะชีวิตในคำสอนของพระคริสต์ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่   และสิ่งเหล่านี้คือ “บทเรียนชีวิต” ที่พระคริสต์สอนและบ่มเพาะสำหรับสาวกของพระองค์

จากการถอดบทเรียนชีวิตที่พระคริสต์ “บ่มเพาะ” ในชีวิตสาวก พบว่ามีบทเรียนชีวิตเชิงปฏิบัติที่สำคัญ 6 ประการ ที่คริสตชนปัจจุบันใช้ในการบ่มเพาะชีวิตการมีชีวิตประจำวันที่เป็นสาวกของพระคริสต์  ดังนี้...

หมายเหตุ: บทเรียนชีวิตเชิงปฏิบัติทั้ง 6 ประการผู้เขียนจะนำเสนอต่อจากนี้ในทุกวัน ๆ ละ 1 ประการ   ตลอดสัปดาห์นี้

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

11 มกราคม 2560

ท่านผู้นำครับ...อย่าลืมว่า พระเจ้านำ เราติดตามพระองค์

ผู้นำคริสตจักร สถาบัน หน่วยงานคริสตชนทุกคน   ต่างจำเป็นต้องรับการทรงเปิดเผยจากพระเจ้า  เพื่อตนจะหยั่งรู้ถึงพระประสงค์ของพระองค์   สำหรับเปาโลท่านได้รับการทรงเปิดเผยจากพระเจ้าในเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตของท่าน  เพื่อท่านจะหยั่งรู้ว่าในแต่ละเรื่องแต่ละสถานการณ์ท่านจะตัดสินใจ และ จะต้องทำอย่างไร   ไม่ว่าในการคัดเลือกผู้นำคนใหม่  ในการโต้ตอบคดีในศาล   รวมไปถึงว่าจะมุ่งไปรับใช้พระเจ้าที่ไหน  

เมื่อทีมงานของเปาโลมุ่งหน้าทำพันธกิจในเอเซีย   ทีมงานต้องฟังเสียงจากพระวิญญาณบริสุทธิ์   และรับการเปิดเผยว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ไม่ได้ให้ทีมงานของตนเผยพระวจนะ   แต่พระเจ้าทรงเปิดเผยให้ไปทำพันธกิจที่มาซิโดเนีย   ผ่านชายคนหนึ่งที่มาอ้อนวอนเปาโลในความฝันให้มาช่วยพวกเขาที่มาซิโดเนีย   และนี่คือวิธีการหนึ่งในการทรงเปิดเผยและชี้นำคนของพระองค์ในการรับใช้พระองค์

“พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​ห้าม​มิ​ให้​กล่าว​พระ​วจนะ​ของ​พระ​เจ้า​ใน​แคว้น​เอเชีย ท่าน​เหล่า​นั้น​จึง​ไป​ทั่ว​แว่น​แคว้น​ฟรีเจีย​กับ​กา​ลา​เทีย​    เมื่อ​ลง​ไป​ยัง​ที่​ตรง​ข้าม​กับ​แคว้น​มิเซีย​แล้ว ​ก็​พยายาม​จะ​ไป​ยัง​แว่น​แคว้น​บิธี​เนีย แต่​พระ​วิญญาณ​ของ​พระ​เยซู​ไม่​ทรง​โปรด​ให้​ไป​    แล้ว​ท่าน​เหล่า​นั้น​ได้​เดิน​ทางผ่าน​แคว้น​มิเซีย​มายัง​เมือง​โตรอัส​   ​ใน​เวลา​กลางคืน ​เปาโล​ได้​นิมิต​เห็น​ชาว​มาซิโดเนีย​คน​หนึ่ง​ยืน​อ้อน​วอน​ว่า ขอ​โปรด​มา​ช่วย​พวก​ข้าพเจ้า​ใน​แคว้น​มาซิโดเนีย​เถิด   ครั้น​ท่าน​เห็น​นิมิต​นั้น​แล้ว เรา​จึง​หา​โอกาส​ทันที​ที่​จะ​ไป​ยัง​แคว้น​มาซิโดเนีย ด้วย​เห็น​แน่​ว่า ​พระ​เจ้า​ได้​ทรง​เรียก​เรา​ให้​ไป​ประกาศ​ข่าว​ประเสริฐ​แก่​ชาว​แคว้น​นั้น​”

ผู้นำที่หยั่งรู้ถึงการทรงเปิดเผยของพระเจ้ามักมีลักษณะดังนี้
©       เป็นผู้ฟังที่ดี
©       เป็นคนที่ยืดหยุ่น  อดทน  รอคอย
©       มีความสามารถในการหยั่งรู้
©       มองเหตุการณ์ต่าง ๆ อย่างสร้างสรรค์
©       มีเครือข่ายในการทำงาน
©       มีสายตากว้างไกล และ ความเข้าใจที่ลุ่มลึก

ผู้นำคริสตจักร หน่วยงาน และ สถาบันคริสตชนมีภาวะผู้นำแบบดังกล่าวหรือไม่?   หรือนำอย่างที่ฉันอยากจะนำ?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499