30 มีนาคม 2560

ผู้นำที่ผู้คนนิยมชื่นชอบ

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา จากการที่มีโอกาสลงสนามงานในที่ต่าง ๆ ในหลากหลายองค์กร ทั้งคนทำงานที่เป็น
คริสตชน และ ที่ไม่ได้เป็นคริสตชน ผมมีโอกาสพูดคุย ถาม และเก็บข้อมูลความคิดจากคนในทีมงานต่าง ๆ ที่ไปพบปะสนทนามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำถามที่ว่า “จากประสบการณ์ในการทำงานของท่าน ผู้นำที่ท่านชื่นชอบ และอยากทำงานด้วยมีลักษณะอย่างไรบ้าง? หรือ ลักษณะอะไรบ้างที่ทำให้ผู้นำคนนั้นที่เป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จในการนำ?” ผมต้องขอบพระคุณบุคคลเหล่านี้ที่ได้กรุณาให้ข้อมูลจากประสบการณ์ของตนที่มีค่ามากมาย ผมจะขอสกัด หรือ ตกตะกอนประสบการณ์เหล่านั้นไว้ดังนี้

ผู้นำที่ฉันนิยมชื่นชอบ คือผู้นำที่คอยถามถึง ความคิดเห็น และ ความริเริ่มของฉัน และบางครั้งได้นำเอา
ข้อคิดเห็นของฉันไปใช้ในการวางแผนก้าวต่อไปในการทำงาน เป็นผู้นำที่คอยกระตุ้นหนุนเสริมให้ลูกทีมมี
ความคิดที่สร้างสรรค์ เขาเป็นคนที่ใส่ใจในความคิด และ ข้อเสนอแนะของฉัน แล้วนำไปใช้อย่างมีคุณค่าและ
ชาญฉลาด

สำหรับฉัน ผู้นำที่ฉันชื่นชอบคือผู้นำที่สนับสนุนทีมงาน ให้โอกาสและพื้นที่ในการทำงานของฉัน และแต่ละคนมีโอกาสพบกับผู้นำตัวต่อตัวเป็นประจำ (ทุกวันอังคาร) ทำให้ฉันมีโอกาสที่จะรายงานความก้าวหน้าของงานที่ทำ และ สิ่งที่พบตลอดมา

ผู้นำที่ดีเยี่ยมสำหรับฉันคือ ผู้นำคนนั้นควรเป็นโค้ชที่ดี เขาใส่ใจถามถึงสิ่งที่ฉันต้องการรับการสนับสนุนในการทำงาน และ แนะนำพื้นที่ชีวิตและการงานที่ทำให้ฉันสามารถทำในสิ่งที่สร้างสรรค์ แล้วชอบมากเลยที่ผู้นำให้เวลาและโอกาสที่ฉันจะทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ วิธีการใหม่ๆ

ผู้นำที่เยี่ยมยอดสำหรับฉันเป็นผู้นำที่มีจิตวิญญาณของการรับใช้ทีมงาน ผู้นำคนนั้นมองเห็นศักยภาพในตัวฉันบางครั้งมากกว่าที่ฉันมองเห็นเสียอีก แล้วผู้นำคนนั้นยังมีชีวิตและการทำงานที่เป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีในการนำคนอื่น เป้าหมายแรก ๆ ของผู้นำคือการเสริมสร้างภาวะผู้นำในทีมงานแต่ละคน ทำให้กิจการงานสามารถขับเคลื่อนไปอย่างต่อเนื่องราบรื่นแม้ผู้นำจะไม่อยู่ในที่ทำงานก็ตาม

ผู้นำที่ดีสำหรับฉันแล้ว เป็นผู้นำที่ไว้วางใจฉันว่าจะทำงานได้อย่างดี และเป็นผู้ที่รับรู้ รับทราบ และยอมรับในงานที่ฉันได้ทำไปแล้ว และผู้นำคนนั้นชอบที่จะถกเถียงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับทีมงานแต่ละคน แล้วยังสนับสนุนให้มีการค้นหาว่า ทีมงานแต่ละคนมีจุดแข็งในด้านใดบ้าง แล้วใส่ใจช่วยทีมงานแต่ละคนให้ใช้/พัฒนา “จุดแข็ง” ของตนในการชนะจุดอ่อนที่แต่ละคนมีอยู่

ผมขออนุญาตสรุปจากบทสกัด หรือ ตกตะกอนประสบการณ์และความคิดข้างต้นไว้ดังนี้

1) ผู้นำที่ดี เป็นผู้ที่ไว้วางใจทีมงานแต่ละคน และ ให้โอกาสในการทำงานที่แต่ละคนได้รับมอบหมาย

2) ผู้นำที่ดีเยี่ยม เป็นผู้นำที่เข้าถึงลูกทีมแต่ละคน

3) ผู้นำที่เยี่ยมยอดคือผู้นำที่รู้ถึงจุดแข็งในตัวของลูกทีม และหนุนเสริมให้แต่ละคนพัฒนาจุดแข็งที่มีอยู่

4) ผู้นำที่ดี เป็นผู้ที่รู้ถึงคุณค่าของทีมงานแต่ละคน และรู้ถึงศักยภาพ และ ความสามารถของแต่ละคนที่จะทำงานไปสู่ความสำเร็จ แม้ตัวผู้นำไม่อยู่ด้วยก็ตาม

5) ผู้นำที่เยี่ยมยอด เป็นผู้นำที่สร้างความแกร่งของทีมด้วยคำพูด ที่ยืนยันถึงศักยภาพและความสามารถของ
ทีมงาน ให้กำลังใจ และชื่นชมทีมงานทุกคนในงานที่ได้ทำจนประสบความสำเร็จ

ในเวลาเดียวกันผมก็มีโอกาสถามว่า อะไรที่ไม่ใช่คุณลักษณะที่ดีของผู้นำ ซึ่งสามารถสรุปได้ประเด็นสำคัญดังนี้

ผู้นำที่ดี ไม่ใช่ผู้นำที่ทำตัวเป็น “เจ้านาย” หรือ แสดงอำนาจบาทใหญ่เหนือลูกน้อง เพียงเพราะมีตำแหน่งที่สูงกว่า นั่นหมายความว่าผู้นำที่ดี คือผู้นำที่ตระหนักชัด และ สำนึกเสมอว่า ในฐานะผู้นำ ตนไม่ใช่เจ้านาย แต่ผู้นำที่ดีคือผู้นำที่มีความรับผิดชอบในการเอื้อและเสริมสร้างให้เกิดบรรยากาศที่คนทำงานทุกคนจะพัฒนาตนทำงานได้ดียิ่งขึ้น เป็นบรรยากาศที่ไม่สร้างความกลัว เป็นบรรยากาศที่ทุกคนที่เติบโตขึ้นในภาวะผู้นำในการทำงานและรู้สึกปลอดภัยที่จะทำงานให้เกิดผลดีเยี่ยม

ผู้นำที่ดีมิใช่ผู้นำที่ใช้ฐานะตำแหน่งเป็นโอกาสตักตวงผลประโชน์และสร้างอำนาจเพื่อตนเอง การเป็นผู้นำมิใช่เพื่อที่จะหาสิ่งดีที่ตนต้องการ แต่เป็นโอกาสที่มองหาสิ่งดีในผู้อื่นและสร้างทีมงานให้มีภาวะผู้นำ

ผู้นำที่ดี ไม่ใชผู้ที่เอาฐานะตำแหน่งแสวงหาการให้คนอื่นมารับใช้ตน เอาตำแหน่งเพื่อแสวงหาเกียรติและการยกย่องจากคนอื่น แต่ตรงกันข้าม การเป็นผู้นำที่ตนจะรับใช้คนอื่นและทีมงาน และในเวลาเดียวกันรับใช้ หนุนเสริมเพิ่มพลังให้ทีมงานสามารถก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ ดังนั้น การเป็นผู้นำจึงเป็นผู้ที่จะให้ด้วยความรักเมตตาและถ่อมใจ มิใช่เป็นผู้ที่จะแสวงหาที่อยากจะได้อยู่ร่ำไป

1เปโตร 5:2-4 กล่าวถึงลักษณะผู้นำ และ ศิษยาภิบาลคริสตจักรไว้ชัดเจนว่า

จงเลี้ยงฝูงแกะของพระเจ้าที่อยู่ท่ามกลางพวกท่าน...
โดยเอาใจใส่ดูแล ไม่ใช่ด้วยความฝืนใจ แต่ด้วยความเต็มใจ
ตามพระประสงค์ของพระเจ้า
ไม่ใช่ด้วยใจโลภในทรัพย์สิ่ของ แต่ด้วยใจกระตือรือร้น
และไม่เป็นเหมือนผู้ใช้อำนาจ(บาตรใหญ่)ข่มขี่ผู้ที่อยู่ในความดูแล
แต่ให้เป็นแบบอย่างแก่ฝูงแกะนั้น
และเมื่อพระผู้เลี้ยงผู้ยิ่งใหญ่เสด็จมาปรากฏ พวกท่านจะได้รับมงกุฎแห่งศักดิ์ศรีที่ไม่มีวันร่วงโรย
(1เปโตร 5:2-4 มตฐ.)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

27 มีนาคม 2560

กล้าเสี่ยง...แม้อาจจะทำผิด...แต่ก็จะเกิดการเรียนรู้

ริก วอร์เรน  บอกกับทีมงานของตนว่า   แต่ละคนควรจะทำผิดพลาดสัปดาห์ละครั้ง

ใช่ครับ...  เราเรียนรู้แล้วว่าถ้าใครไม่ทำผิดอะไรเลยก็แสดงว่าคน ๆ นั้นไม่ได้ทดลอง หรือ พยายามทำสิ่งใหม่อะไรเลย   และหลายคนที่ไม่กล้าทดลองสิ่งใหม่ ๆ ที่ตนไม่คุ้นชินก็เพราะเขาไม่กล้าเสี่ยง   เขาไม่กล้าเสี่ยงที่จะทำผิดใช่ไหม   เพราะไม่กล้าทดลองทำสิ่งใหม่ใช่ไหมจึงไม่ได้เรียนรู้  

แต่มีข้อแม้ครับ   ในการทำสิ่งที่ผิดพลาดสัปดาห์ละครั้ง   ต้องไม่ทำสิ่งผิดพลาดซ้ำในสิ่งเดิม   เพราะการกระทำผิดพลาดซ้ำในสิ่งเดิมแสดงให้เห็นว่า เมื่อทำผิดพลาดแล้วไม่มีการเรียนรู้   แต่ ริก วอร์เรน บอกทีมงานว่า “ให้ทำสิ่งที่ผิดพลาดใหม่ ๆ แต่ละสัปดาห์”   เพราะในการทำผิดพลาดเรื่องใหม่เรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นการเปิดประตูแห่งการเรียนรู้บานใหม่ที่จะนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ตนไม่เคยทำมาก่อนเลย

ในการที่ใครคนใดคนหนึ่งกล้าที่จะทำแม้อาจจะพบกับความผิดพลาดได้นั้น  คน ๆ นั้นต้องมีความเชื่อศรัทธา   เพราะถ้าใครที่ขาดความเชื่อศรัทธาแล้วย่อมไม่กล้าที่จะเสี่ยง  ยิ่งกว่านั้นคน ๆ นั้นจะกลัวว่าทำแล้วจะผิดพลาดได้   ดังนั้น  ใครที่จะกล้าเสี่ยงที่อาจทำผิดคน ๆ นั้นต้องมีความเชื่อศรัทธา  และความเชื่อศรัทธาเป็นหัวใจที่นำไปสู่การเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ   การเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ นำไปสู่การเกิดผลในชีวิต และ ความสำเร็จ

ท่านเชื่อไหมว่า  พระเจ้ามีประสงค์ยิ่งใหญ่สำคัญในชีวิตของเราแต่ละคน?

ถ้าท่านเชื่อ  ท่านจะเชื่อแต่ในใจเท่านั้นไม่ได้  เพราะถ้าเชื่อจริงจะต้องลงมือทำตามความเชื่อนั้น  แต่การที่ใครจะลงมือกระทำกระสิ่งที่ตนเชื่อที่ยังไม่เห็นผลเกิดขึ้น   คน ๆ นั้นต้องมีความกล้าที่จะเสี่ยงลงมือทำสิ่งที่เชื่อ   จากนั้นจะเกิดผลจากการลงมือทำ   แม้ผลที่เกิดขึ้นนั้นบ่งบอกว่ามีการผิดพลาด   แต่การผิดพลาดนั้นก็เป็นสิ่งที่คน ๆ นั้นสามารถเรียนรู้ได้   เขาต้องถาม ค้นหา แสวงหาว่า  ทำไมถึงผิดพลาด  ทำอย่างไรถึงผิดพลาด   ในเวลาเดียวกันแม้ทำลงไปแล้วถูกต้องเกิดผล   คน ๆ นั้นจะค้นหา แสวงหา ถามสะท้อนคิดว่า  ทำไมทำเช่นนี้แล้วจึงเกิดผล   มันเกิดผลเช่นนี้ได้อย่างไร?   การค้นพบในระดับต่อไปนั่นคือการเรียนรู้  การเรียนรู้เช่นนี้กลายเป็นความเชื่อศรัทธาที่หยั่งรากลึกลงไปในประสบการณ์กับการทำงานของพระเจ้าในชีวิตของเรา

ไม่มีสิ่งยิ่งใหญ่ใดเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องเสี่ยง   อิสราเอลก้าวลงในทางเดินที่พระเจ้าทรงแหวกน้ำออกจากกัน   พวกเขาต้องกล้าเสี่ยง   กล้าเสี่ยงที่น้ำทั้งสองข้างจะไหลกลับมาท่วมกลบพวกเขาตายในทะเล   เพราะเขามีความเชื่อแล้วจึงกล้าเสี่ยงเขาจึงได้รอดพ้นจากเงื้อมมือทำร้ายทำลายของพวกทหารอียิปต์   พวกเขาเรียนรู้ว่า  พระเจ้าทรงปกป้องพวกเขาได้แน่นอน   อิสราเอลมีความเชื่อศรัทธาที่มั่นคงแข็งแรงยิ่งขึ้น   พวกเขากล้าที่จะไว้วางใจพระเจ้ามากยิ่งขึ้น   พวกอิสราเอลมีความเชื่อศรัทธาที่เข้มแข็งมั่นคงยิ่งขึ้น

ตรงกันข้าม   ถ้าเราไม่กล้าที่จะเสี่ยง  เรากลายเป็นคนที่ขาดความเชื่อ   แม้ปากจะบอกว่าเชื่ออย่างมั่นคง   แต่ไม่กล้าเสี่ยงที่จะลงมือทำตามความเชื่อ  เรากลายเป็นคนที่ไม่สัตย์ชื่อต่อพระเจ้า   ไม่ต่างอะไรกับโยนาห์ที่เชื่อศรัทธาในพระเจ้า   แต่ไม่กล้าเสี่ยงที่จะทำสิ่งที่ทรงเรียกให้เขากระทำ   นอกจากที่ไม่กล้าเสี่ยงทำตามที่พระเจ้าทรงเรียกให้ทำแล้ว   เขายังหนีไปหลบซ่อนอยู่ใต้ท้องเรือ   และทำสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่พระเจ้าทรงเรียกให้กระทำ   ไปคนละทิศกับที่ที่พระเจ้าทรงเรียกให้เขาไป   นอกจากชีวิตของโยนาห์ไม่เกิดผลแล้ว   เขากลายเป็นคนที่ไม่สัตย์ซื่อต่อพระเจ้า   ความเชื่ออ่อนแอล้มเหลว   ไม่ได้เกิดการเรียนรู้ในชีวิต

คริสตชนคนใดที่มีชีวิตประจำวันที่กล้าเสี่ยงทำตามความเชื่อศรัทธา   ความเชื่อศรัทธาของคน ๆ นั้นยังมีชีวิตอยู่  มิเพียงเท่านั้น แต่เติบโต เข้มแข็ง และหยั่งรากลึกลงมากขึ้น   แต่คริสตชนคนใดที่ไม่กล้าเสี่ยง หรือ ไม่ยอมเสี่ยงตามความเชื่อศรัทธา   แม้เขาคนนั้นยังมีชีวิตอยู่แต่ความเชื่อศรัทธาของเขาได้ตายด้านเสียแล้ว

วันนี้  จงกล้าเสี่ยงทำในสิ่งที่ท่านเชื่อศรัทธา   แม้อาจจะทำผิดพลาด  เกิดผลลบ   แต่ท่านจะเรียนรู้ถึงพระประสงค์ของพระเจ้า   เรียนรู้ว่าทำไมถึงผิดพลาด   ทำอย่างไรถึงจะไม่ผิดพลาดอีก   และทางที่ถูกต้องจะต้องทำอย่างไร   ท่านจะเรียนรู้ชัดเจนยิ่งขึ้น   ความเชื่อศรัทธาของท่านจะแข็งแรง เติบโต  มั่นคงยิ่งขึ้น

วันนี้  จงกล้าเสี่ยงทำในสิ่งที่ท่านเชื่อศรัทธา   ถ้าการกระทำนั้นถูกต้อง  เกิดผลดี   ท่านก็ยังต้องเรียนรู้ถึงพระประสงค์ของพระเจ้า   แล้วเรียนรู้ว่าทำไมถึงเกิดสิ่งดี   ทำอย่างไรที่จะเกิดผลดียิ่งกว่านี้อีก   ทำอย่างไรที่จะตอบสนองพระประสงค์ของพระเจ้าได้ดียอดเยี่ยม   ความเชื่อศรัทธาของท่านจะแข็งแรง เติบโต และมั่นคงยิ่งขึ้น

วันนี้  จงกล้าเสี่ยงที่จะกระทำตามในสิ่งที่ท่านเชื่อ   ไม่ว่าจะเกิดผลอย่างไรก็ตาม   เราจะได้เรียนรู้ และ มีความเชื่อศรัทธาที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

23 มีนาคม 2560

ใช้กลยุทธการตลาดกับการขยายคริสตจักร... ใช่คำตอบหรือ???

ตอนนี้เราจะเห็นว่า   ได้มีการใช้สื่อทันสมัยในรูปแบบต่าง ๆ   ทั้งในการประชาสัมพันธ์  การโฆษณาถึงคริสตจักร และ กิจกรรมที่ทำในคริสตจักร   บ้างลงในเฟสบุ๊คเชิญชวนให้ผู้คนไปร่วม  บางคริสตจักรลงทุนถึงกับมีมุมกาแฟสดสำหรับคนที่มาร่วมนมัสการพระเจ้าในคริสตจักร   มีอาหารกลางวัน หรือ สิ่งดึงดูดอีกมากมาย  เรียกได้ว่าคริสตจักรในตอนนี้ใช้วิธีการตลาดในการทำงานพันธกิจของตนด้วย   แต่ผมคิดแล้วคิดอีก ใคร่ครวญแล้วใคร่ครวญอีกว่า   นี่เป็นคำตอบในการทำพันธกิจของคริสตจักรที่ทำตามการทรงเรียกและบัญชาของพระคริสต์หรือไม่?

อย่าเข้าใจผมผิดนะครับ   ใช่ครับ ผมอายุ 66 แต่ไม่พยายามทำตัวให้ล้าสมัยครับ   ผมไม่ต่อต้านใช้การตลาดกับงานพันธกิจของคริสตจักร   หรือใช้การตลาดกับการขยายคริสตจักรนะครับ  หรือ ใช้การตลาดเพื่อให้คนได้ยินได้ฟังพระกิตติคุณเพิ่มมากขึ้น   ผมไม่ได้ต่อต้านเรื่องเหล่านี้นะครับ และกลับเห็นดีด้วย

แต่ผมเห็นว่า...ถ้าอยากจะใช้การตลาดในการขยายคริสตจักรละก็   สิ่งที่จะต้องพิจารณาก่อนคือ   คริสตจักรและคนในคริสตจักรของเรามีสภาพชีวิตพร้อมที่จะรับคนทั้งหลายที่จะเข้ามายังคริสตจักรหรือไม่?   หรือ เราต้องการเห็นคนเข้ามามากมายแล้วก็จากไปไม่หวนกลับมาอีก?   ถ้าเช่นนั้น เรากำลังใช้กลยุทธการตลาดกับ “คริสตจักรถุงก้นรั่ว” ครับ

คงต้องพูดกันแบบตรงไปตรงมาอย่างจริงใจนะครับว่า...

ถ้าคริสตจักรของเราชะงัก  ไม่เติบโต ...   การตลาดไม่ใช่คำตอบ

ถ้าคนในคริสตจักรมีชีวิตที่ไม่เปลี่ยนแปลง ...  การตลาดไม่ใช่คำตอบ

ถ้าคริสตจักรของเรามีปัญหาภายใน    การตลาดไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านั้นของเรา   สื่อสารออนไลน์ทันสมัยเหล่านั้นไม่สามารถแก้ปัญหาภายในของเราได้   ต่อให้มีป้ายโฆษณาข้างถนน มุมสี่แยกใหญ่มหึมาก็ช่วยแก้ปัญหาของคริสตจักรไม่ได้   หรือ จะพิมพ์เอกสารเชิญชวนที่สีสันน่าสนใจก็ไม่ช่วยให้ปัญหาในคริสตจักรหมดไปได้   หรือ ต่อให้จัดมุมกาแฟสดรสเลิศในคริสตจักรบริการฟรีสำหรับคนมาร่วมนมัสการพระเจ้า   ก็ช่วยแก้ปัญหาภายในคริสตจักรไม่ได้   หรือ ช่วยทำให้ชีวิตของคนในคริสตจักรดีขึ้นไม่ได้

จึงเห็นชัดเจนว่า   ถ้าชีวิตคริสตจักรภายในไม่มีการเปลี่ยนแปลง พัฒนาที่มีชีวิตเยี่ยงพระคริสต์แล้ว   ต่อให้มือการตลาดที่ฉมังระดับเซียนเหยียบโลกก็ช่วยอะไรคริสตจักรนั้นไม่ได้?

ดังนั้น  จุดเริ่มต้นของการทำตามแบบพระคริสต์และตามพระบัญชาของพระองค์   สิ่งที่ต้องกลับมามองและเอาจริงเอาจังคือ การตรวจสอบความพร้อมและเข้มแข็งของคริสตจักรก่อนดังนี้

? คนในคริสตจักรยังเชื้อเชิญเพื่อนของเขามาร่วมในชีวิตคริสตจักรอยู่หรือไม่
? สภาพ และ บริบทในคริสตคจักรทำให้คนที่มาคริสตจักรแล้วอยากกลับมาอีกหรือไม่
? คริสตจักรเสริมสร้างให้ผู้คนในคริสตจักรมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันหรือไม่
? คริสตจักรของเราสามารถตอบโจทย์ชีวิตของคนที่มาหรือไม่
? คริสตจักรของเราใส่ใจและไวต่อการทรงนำของพระเจ้าหรือไม่

กลยุทธการตลาดจะไม่ช่วยชีวิตคริสตจักรเลยถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้...
  • ถ้าคริสตจักรไม่ใส่ใจที่จะทำในสิ่งที่ ตนพูด สอน เทศน์
  • อย่าเข้าใจผิด  “ความดัง” ของคริสตจักร  มิได้ชี้วัดว่า คริสตจักรดังกล่าวดีกว่า
  • ต้องระวัง  กลยุทธการตลาดอาจจะทำให้คริสตจักรมัวแต่จะสร้างการประชาสัมพันธ์   แต่ไม่ได้ใส่ใจสิ่งสำคัญที่คริสตจักรสื่อสารกับผู้คน
  • กลยุทธการตลาดมักพยายามชี้ให้คนอื่นเห็นว่าเรานั้นสำคัญและยิ่งใหญ่   แทนที่จะมีชีวิตที่สื่อสารและทำพันธกิจที่นำการเปลี่ยนแปลงมาสู่ชีวิตทั้งผู้คนและสังคม
  • คริสตจักรต้องระวังและตระหนักชัดว่า   เราไม่สามารถบีบให้ผู้คนให้ต้องการอย่างที่เราคิดว่าเขาต้องการ
  • คริสตจักรพึงตระหนักชัดว่า  เราควรลดการพยายามที่จะแข่งขัน   แต่ทุ่มเทใส่ใจที่จะสื่อสารข่าวดีของพระคริสต์ผ่านการดำเนินชีวิตของเรา
  • เรารู้ว่าเราต่างพยายามที่จะเข้าถึงผู้คนทุกคน   แต่ในเวลาเดียวกันเราก็รู้แน่แก่ใจว่า  เราไม่สามารถที่จะเข้าถึงทุกคนได้   ดังนั้น เราต้องพึ่งในพระกำลังจากพระวิญญาณบริสุทธิ์
  • สิ่งที่สำคัญคือ   การกระทำ   เราต้องทำในสิ่งที่เราสอน เราเทศน์ หรือ เราพูด   มิใช่ดีแต่พูดเท่านั้น


ผมไม่ต่อต้านในการที่คริสตจักรอาจจะเลือกใช้กลยุทธการตลาดในพันธกิจคริสตจักรของท่าน   แต่ใคร่ให้เราพิจารณาอย่างดีว่า   ชีวิตภายในคริสตจักรของเราพร้อมที่จะรับและทำพันธกิจข่าวดีของพระเยซูคริสต์ที่เข้าในชีวิตคริสตจักรของเราแล้วหรือยัง?   ถ้าชีวิตข้างในยังมีปัญหา  ยังไม่พร้อม    ให้เราเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงชีวิตในคริสตจักร และ พัฒนาเสริมสร้างให้แต่ละคนเป็นคนที่พระคริสต์จะใช้ได้ในชีวิตประจำวันของเขาดีไหมครับ?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

20 มีนาคม 2560

ภาวะผู้นำที่ผุดงอกจากข้างใน

พระธรรมสุภาษิตบทที่ 31 จะถูกอ้างอิงมากที่สุดในวันแม่ หรือ วันสตรี   พระธรรมบทนี้ได้กล่าวถึงคุณธรรมของสตรี   และคุณธรรมทั้งสิ้นเป็นภาวะของผู้นำทั้งสิ้น   เป็นคุณธรรมรอบด้าน  เป็นวินัยชีวิต  และ เป็นผู้ที่เปี่ยมด้วยพรสวรรค์ด้านต่าง ๆ และที่สำคัญภาวะผู้นำที่เปี่ยมล้นในสตรีและผู้เป็นแม่เหล่านี้   มิใช่เป็นภาวะผู้นำที่เสริมสร้างแต่ภาพลักษณะภายนอก   แต่เป็นภาวะผู้นำที่บ่มเพาะ ผุดงอกออกมาจากภายในต่างหาก   เป็นภาวะผู้นำจากก้นบึ้งชีวิตที่เธอเป็น  จนคนรอบข้างสังเกตเห็นและสัมผัสได้

ลักษณะภาวะผู้นำที่บ่มเพาะผุดงอกจากภายในของแต่ละคน  มีลักษณะที่สำคัญ ๆ เห็นได้ดังนี้

คุณลักษณะ
©       เป็นผู้นำที่ไว้วางใจได้
©       เป็นผู้นำที่สร้างเสริมพลังที่สร้างสรรค์แก่ผู้คนรอบข้าง
©       เป็นผู้นำที่ทำงานอย่างทุ่มเท
©       เป็นผู้นำที่มีการวางแผนในชีวิต
©       เป็นผู้นำที่ปกป้องอารักขาผู้อื่น

ท่าทีและเจตคติ
©       เป็นผู้นำที่มีความรื่นเริงและสุขใจ
©       เป็นผู้นำที่มีสุขภาพกายใจที่แข็งแรง
©       เป็นผู้นำที่มีความรักเมตตา และ กรุณา
©       เป็นผู้นำที่ทำเพื่อส่วนรวม

การบรรลุผล
©       เป็นผู้นำที่ทำให้บรรลุผลเพื่อความจำเป็นต้องการของคนรอบข้าง
©       เป็นผู้นำที่ทุ่มเททำงานเพื่อคนรอบข้าง คนในองค์กร
©       เป็นผู้นำที่ใส่ใจท่าที รูปลักษณะของตนเอง
©       เป็นผู้นำที่หนุนเสริมคนอื่นให้ประสบความสำเร็จในชีวิต

คนที่น่ายกย่องสรรเสริญ
©       เป็นผู้นำที่ได้รับการยกย่องจากคนในองค์กร และ ผู้คนรอบข้าง
©       เป็นผู้นำที่ได้รับการนับถือสรรเสริญจากคนข้างเคียง
©       เป็นผู้นำที่ได้รับการยกย่องจากพระวจนะของพระเจ้า
©       เป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องสรรเสริญเพราะผลงานที่เขาได้ทำ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

16 มีนาคม 2560

อย่าให้แต่ความเห็น...แต่ให้หัวใจด้วย

ปัจจุบัน   เราสามารถพบเห็นนักพูด นักวาทศิลป์  นักเทศน์ มากมาย  แต่ละเลยการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ   ที่เข้าถึงจิตใจของผู้รับสารหรือผู้ฟัง  หรือ ที่ตอบโจทย์ชีวิตของผู้ฟัง                 

                                                “ข้า​เคย​ได้​ยิน​เรื่อง​อย่าง​นี้​มา​มาก​แล้ว
ท่าน​ทุก​คน​เป็น​ผู้​ปลอบ​โยน​ที่​ทำ​ให้​ยิ่ง​ทุกข์​ใจ...” (โยบ 6:2 มตฐ.)
ข้าเคยได้ยินเรื่องอย่างนี้มามากแล้ว
ท่านทุกคนเป็นผู้ปลอบโยนที่น่าสังเวช (โยบ 6:2 สมช.***)

สำหรับเพื่อนทั้งสามของโยบ พวกเขาให้แต่ความคิดเห็น แต่ที่น่าสังเวชคือเป็นความคิดเห็นที่ผิด ๆ    เป็นการแสดงออกถึงภาวะผู้นำที่อ่อนด้อย  เขาเป็นผู้นำที่ไม่สามารถสื่อข่าวสารที่ถูกต้องถึงผู้ฟัง  ทั้งนี้เพราะ
1.     เพราะเขาไม่มีข้อมูล ความจริงของคนที่เขาสื่อสารด้วย (ในที่นี้หมายถึงโยบ)
2.     เขาไม่มีภาวะผู้นำที่เข้าถึงหัวอกหัวใจ  ความนึกคิด ความรู้สึกของคนที่ตนสื่อสารด้วย

ผู้นำจำนวนมากกระทำผิดพลาดในลักษณะข้างต้น   เขามักชอบแสดงความคิดความเห็น    แต่กลับมองข้ามและไม่ใส่ใจข้อมูลความจริงที่สำคัญ   แล้วก็ไม่ได้เข้าอกเข้าใจถึงจิตใจของผู้ที่ฟังความคิดเห็นของเขา   โยบเรียกสหายทั้งสามของท่านว่า “ผู้ปลอบโยนที่น่าสังเวช”   นักสื่อสารที่ดีทุกคนจะแสวงหาความเข้าอกเข้าใจคนที่เขาสื่อสารด้วย  ก่อนที่คนเหล่านั้นจะเข้าใจเขา  

น่าสังเกตว่าผู้สื่อสารที่ดีแตกต่างจากนักพูดในที่สาธารณะ  ดังนี้
นักพูดสาธารณะ
นักสื่อสาร
1)    แสวงหาทางให้คนฟังที่จะเข้าใจและชอบตนเอง
1)   แสวงหาความเข้าใจ และ เข้าถึงจิตใจคนอื่น
2)    มักถามว่า “ฉันมีอะไร” จะพูด
2)    มักถามว่า“ผู้ที่เขาสื่อสารด้วยจำเป็นต้องการอะไร”
3)    มุ่งเน้นให้ความสำคัญที่เทคนิคการพูด
3)    มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับบรรยากาศในการสื่อสาร
4)    เอาตนเองเป็นศูนย์กลาง
4)    เอาผู้ฟังเป็นศูนย์กลาง
5)    มุ่งที่จะพูดหรือบรรยายให้จบ/สำเร็จ
5)    มุ่งเสริมสร้าง หรือ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
6)    ให้ความสำคัญในเนื้อหาที่บรรยาย/พูด
6)    เน้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตผู้คน


ทุกวันนี้เราเป็นนักพูดฝีปากคมกริบ หรือ เป็นนักสื่อสารที่นำการเปลี่ยนแปลงมาสู่ชีวิตผู้คนและชุมชนครับ?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

13 มีนาคม 2560

ไว้วางใจพระเจ้าทีละวัน ในแต่ละวัน

พระเจ้าประสงค์ให้เราไว้วางใจในพระองค์วันต่อวัน  ไว้วางใจพระองค์ไปทีละวัน
พระองค์มิได้ประสงค์ให้เราไว้วางใจพระองค์สำหรับสัปดาห์หน้า เดือนหน้า หรือ ปีหน้า
แต่จงไว้วางใจพระองค์วันต่อวัน   ไว้วางใจพระองค์ทีละวัน  ไว้วางใจพระองค์วันนี้
พระองค์สอนสาวกอธิษฐานว่า  ขอ​ประ​ทาน​อาหาร​ประ​จำ​วัน​แก่​พวก​ข้า​พระ​องค์​ “ใน​วัน​นี้” (มตฐ.)

ในฟีลิปปี 4:6 และ 8 เปาโลได้เตือนเราให้ไว้วางใจพระเจ้า  ด้วยการ...
อย่า​กระ​วน​กระ​วาย​ใน​สิ่ง​ใด ๆ เลย แต่​จง​ทูล​พระ​เจ้า​ให้​ทรง​ทราบ​ทุก​สิ่ง​ที่​พวก​ท่าน​ขอ โดย​การ​อธิษ​ฐาน​และ​การ​วิง​วอน พร้อม​กับ​การ​ขอบ​พระ​คุณ... ​จง​ใคร่​ครวญ​ดู​สิ่ง​เหล่า​นี้​คือ สิ่ง​ที่​เป็น​จริง สิ่ง​ที่​น่า​นับ​ถือ สิ่ง​ที่​ยุติ​ธรรม สิ่ง​ที่​บริ​สุทธิ์ สิ่ง​ที่​น่า​รัก สิ่ง​ที่​ควร​แก่​การ​สรร​เสริญ รวม​ทั้ง​ถ้า​มี​สิ่ง​ใด​ที่​ยอด​เยี่ยม สิ่ง​ใด​ที่​น่า​ยก​ย่อง  (ฟิลิปปี 4:6, 8 มตฐ.)

ซึ่งสามารถให้เห็นชัดว่าเราจะไว้วางใจพระเจ้าในแต่ละวันอย่างไรบ้าง
  1. อย่ากังวล หรือ กระวนกระวายด้วยสิ่งใดเลย   ทำไมถึงคิดว่าเรื่องความวิตกกังวลเป็นเรื่องใหญ่?   เพราะความกังวลเป็นผลสืบเนื่องมาจากอิทธิพลของความบาปที่กระทบในชีวิตของเรา   แต่เราสามารถที่จะไว้วางใจในพระองค์ว่าจะทรงดูแลเอาใจใส่เรา   พระองค์บอกเราถึงความจริงที่ว่า “เพราะ​ฉะนั้น อย่า​กระ​วน​กระ​วาย​ถึง​วัน​พรุ่งนี้ เพราะ​ว่า​พรุ่ง​นี้​ก็​มี​เรื่อง​กระ​วน​กระ​วาย​ของ​มัน​เอง แต่​ละ​วัน​ก็​มี​ทุกข์​พอ​อยู่​แล้ว” (มัทธิว 6:34 มตฐ.)   แต่ที่สำคัญคือพระองค์จะทรงดูแลเราแต่ละวันแม้ต้องเผชิญหน้ากับความห่วงกังวลเช่นไรก็ตาม
  2. จงทูลทุกเรื่อง ทุกสิ่งทุกอย่างต่อพระเจ้า   การอธิษฐานคือพลังที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง   โรม 8:32 ถามถึงความไว้วางใจของเราต่อพระเจ้าว่า  “พระ​องค์​ผู้​ไม่​ทรง​หวง​พระ​บุตร​ของ​พระ​องค์​เอง แต่​ประ​ทาน​พระ​บุตร​นั้น​เพื่อ​เรา​ทุก​คน ถ้า​เช่น​นั้น​พระ​องค์​จะ​ไม่​ประ​ทาน​สิ่ง​สาร​พัด​ให้​เรา​ด้วย​กัน​กับ​พระ​บุตร​นั้น​หรือ” (มตฐ.)  พระเจ้าทรงกระทำการกอบกู้และไถ่ถอนเราออกจากอำนาจแห่งความบาปชั่ว   พระองค์ผู้ทรงนำคุณภาพชีวิตในสวรรค์มาเป็นจริงในแผ่นดินโลก   เมื่อพระองค์ทรงรักเรามากมายถึงเพียงนี้ ขนาดให้ชีวิตแก่เราแล้ว   แค่ความวิตกกังวลในแต่ละวันพระองค์จะไม่ใส่ใจและสามารถที่จะจัดการปัญหาที่เราแต่ละคนเผชิญได้หรือ?  
  3. จงขอบพระคุณทุกสิ่งที่ทรงกระทำในชีวิตของเรา   ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น  จงขอบพระคุณพระเจ้า   มิได้หมายความว่าที่เราขอบพระคุณพระเจ้าเพราะสิ่งเลวร้ายมาจากพระเจ้า   แต่จงขอบพระคุณในทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพราะเราเชื่อและไว้วางใจว่า พระองค์ทรงเอาใจใส่เราทุกคน  จะทรงกระทำให้เกิดสิ่งดีสำหรับเราแต่ละคนท่ามกลางสถานการณ์เลวร้ายที่เราเผชิญในวันนี้
  4. จงคิดและใคร่ครวญในสิ่งที่สอดคล้องกับพระประสงค์และสัจจะความจริงของพระองค์  กล่าวคือสิ่งที่เป็นสัจจะความจริงของพระองค์ สิ่งที่ยุติธรรม  สิ่งที่เป็นที่ยกย่อง/สรรเสริญ  สิ่งที่บริสุทธิ์  สิ่งที่น่ารัก  สิ่งที่เห็นว่าดีเยี่ยม   สิ่งเหล่านี้เราสามารถพบและใคร่ครวญในพระวจนะของพระเจ้า   และให้พระวจนะเหล่านั้นซึมลึกเข้าในความคิดจิตใจของเรา   น่าคิดว่า วันหนึ่งเราเปิดไลน์กี่ครั้ง   แล้วเราเปิดอ่านพระวจนะของพระเจ้าบ่อยแค่ไหน?   อิสยาห์เคยกล่าวว่า  “พระ​องค์​จะ​ทรง​พิ​ทักษ์​ผู้​มีใจ​แน่ว​แน่(ในพระองค์)   ​ไว้​ใน​สวัสดิ​ภาพ​ที่สม​บูรณ์” (อิยาห์ 26:3 มตฐ.) เพราะ​เขา​วาง​ใจใน​พระ​องค์


ในปีที่ผ่านมาเราวิตกกังวลในเรื่องอะไรบ่อยมากที่สุด?
ในปีที่ผ่านมาเราไว้วางใจใคร/อะไรมากที่สุด?
ในปีที่ผ่านมาเราคิดใคร่ครวญในเรื่องอะไรมากที่สุด?
ในปีที่ผ่านมา  ท่านมีเหตุการณ์ใดที่จะขอบพระคุณพระเจ้าบ้าง?
แล้วในปีหน้า จะให้เราคิดใคร่ครวญในพระวจนะและรำลึกถึงพระสัญญาของพระองค์ในแต่ละวันอย่างไรดี?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

09 มีนาคม 2560

สิ่งดีมีคุณค่า...หาใช่ได้มาอย่างง่าย ๆ

มีหลายสิ่งที่กีดขวางเราไม่ให้บรรลุความสำเร็จในชีวิต   แล้วอะไรล่ะที่เป็นศัตรูตัวฉกรรจ์ ที่ขัดขวางความสำเร็จในชีวิตเรา    การผัดวันประกันพรุ่งในชีวิต  หรือ ความท้อแท้หมดกำลังใจที่จะบากบั่นมุ่งไปกันแน่?   ถ้าอำนาจแห่งความเลวร้ายไม่สามารถยุแหย่ให้เราทิ้งงานความรับผิดชอบของเรา   มันก็จะกลั่นแกล้งให้เราหมดกำลังใจจนยอมแพ้

เปาโลได้สอนคริสตชนว่า  เราต้องต้านทานอย่างแข็งขันไม่ให้ตกลงในหลุมพรางความท้อแท้หมดกำลังใจว่า  “อย่าให้เราอ่อนล้าในการทำดี เพราะถ้าเราไม่ย่อท้อ เราก็จะเก็บเกี่ยวในเวลาอันเหมาะสม”  (กาลาเทีย 6:9 อมต.)

ท่านเคยเกิดความท้อแท้ในการกระทำดีไหม?   ผมคิดว่าทุกคนเคยประสบกับความรู้สึกเช่นนี้   บางครั้งเราท่านจะรู้สึกว่าการทำสิ่งที่ผิดมันทำง่ายกว่าสิ่งที่ถูกต้อง

เมื่อเราเกิดความรู้สึกท้อแท้ใจ   เราเริ่มเป็นคนที่เฉื่อยชาไร้ประสิทธิภาพ   เมื่อเราเกิดความรู้สึกท้อแท้หมดกำลังใจเรากำลังเกิดความขัดแย้งภายในกับความเชื่อศรัทธาของเรา

เมื่อท้อแท้หมดกำลังใจ  เรากำลังบอกว่า  “ฉันทำไม่ได้”  “ฉันทำให้สำเร็จไม่ได้”   ซึ่งเป็นเสียงภายในชีวิตของเราที่ค้านกับเสียงแห่งความเชื่อศรัทธาของเราที่ว่า “ฉันรู้ว่าพระเจ้าที่สถิตในชีวิตฉันสามารถทำสิ่งนี้ได้เพราะพระคัมภีร์ยืนยันแก่ฉันไว้ว่า   ฉันเผชิญทุกสิ่งได้ด้วยพระคริสต์ผู้ทรงเสริมกำลังของฉัน”

ท่านเคยถามคำถามเหล่านี้กับตนเองไหม?
  • ฉันรับมือกับเหตุการณ์ความล้มเหลวในชีวิตอย่างไร?
  • เมื่อชีวิตไม่ได้เป็นไปอย่างที่ฉันคาด   ฉันเกิดความไม่พอใจหรือเปล่า?
  • เมื่อชีวิตไม่ได้เป็นไปอย่างที่ฉันคาด   ฉันผิดหวัง สับสนในชีวิตหรือไม่?
  • เมื่อชีวิตไม่ได้เป็นไปอย่างที่ฉันคาด   ฉันเริ่มบ่น  เริ่มกล่าวหาคนอื่นหรือไม่?
  • ฉันทำสิ่งที่ได้เริ่มต้นไว้ให้สำเร็จหรือไม่?
  • ฉันมีความวิริยะพากเพียรหรือไม่  อย่างไร  แค่ไหน?


เมื่อเราท่านเกิดความท้อแท้หมดกำลังใจ   เราต้องไม่ยอมแพ้แบบไม่ยอมต่อกรกับมัน   ไม่มีสิ่งใดที่ได้มาโดยไม่ต้องสู้ทน และ ทุ่มแรง

เมื่อนักปฏิมากรแกะสลักหิน   เขาต้องค่อย ๆ แกะค่อย ๆ สลักเอาหินส่วนที่ไม่ต้องการออกไป  ชิ้นแล้วชิ้นเล่า   ครั้งแล้วครั้งเล่า   แล้วหินที่เขาแกะสลักนั้นค่อย ๆ เกิดเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา   แล้วค่อย ๆ ฉายประกายความงดงามให้ผู้คนได้เห็น   เขาลงแรงด้วยค้อนลงไปที่สิ่วที่ใช้แกะสลักด้วยแรงที่เหมาะสมพอดีกับหินก้อนที่เขาจะสลักออกไป   ครั้งแล้วครั้งเล่า   ทีละนิดทีละหน่อย  ด้วยความอดทน และ ทุ่มเท

กระบวนการดังกล่าวก็เป็นจริงในชีวิตของเรา   สิ่งที่มีคุณค่าในชีวิตไม่ได้ได้มาด้วยความสะดวกง่ายดาย   เป็นการที่ต้องทำครั้งแล้วครั้งเล่า   เป็นการทำอย่างต่อเนื่อง   เป็นการกระทำที่ต้องใช้เวลาและความอดทน   ทีละนิดทีละน้อยอย่างเหมาะเจาะ   จนกลายเป็นชิ้นงามชิ้นเยี่ยมแห่งพระคุณของพระเจ้า

ความจริงก็คือว่า  คนที่ยิ่งใหญ่เขาเป็นเพียงคนสามัญธรรมดาคนหนึ่ง   ที่มีความไม่ธรรมดาในความมุ่งมั่นและการตัดสินใจเท่านั้น  

คนที่ยิ่งใหญ่ไม่รู้ว่าการยอมแพ้นั้นเป็นอย่างไร!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

06 มีนาคม 2560

สิทธิที่ผู้นำไม่มีคือ...?

ในยุคนี้ต่างพูดถึงเรื่องสิทธิ   โดยเฉพาะอย่างยิ่งมักมุ่งเน้นให้ความสำคัญด้านสิทธิส่วนบุคคล  เราจึงพูดถึงสิทธิต่าง ๆ ที่ตนพึงมีพึงได้   คนที่ไม่ได้รับตามสิทธิพึงมีพึงได้ก็มักจะลุกขึ้นเรียกร้องทวงถามถึงสิทธิของตน   แต่น่าสังเกตว่า   มีสิทธิหนึ่งที่ผู้นำที่รับใช้แบบพระเยซูคริสต์จะไม่ได้รับเลยคือ... สิทธิในการเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตน   สิทธิในการเห็นแก่ตน  หรือพูดแบบฟันธงคือ สิทธิในการเห็นแก่ตัว

การเป็นผู้นำที่รับใช้   การเป็นผู้นำที่ไม่เห็นแก่ตัว   มีลักษณะบางประการ ดังนี้.
  1. ผู้นำที่ปฏิเสธตนเอง:   ผู้นำตามคำสอน และ แบบอย่างของพระเยซูคริสต์คือผู้นำที่ไม่มุ่งเน้นความสำคัญ และ ความปรารถนาของตนเอง   กล่าวคือต้องปฏิเสธตนเอง   พระ​เยซู​จึง​ตรัส​กับ​บรร​ดา​สา​วก​ของ​พระ​องค์​ว่า “ถ้า​ใคร​ต้อง​การ​จะ​ติด​ตาม​เรา ให้​คน​นั้น​ปฏิ​เสธ​ตน​เอง รับ​กาง​เขน​ของ​ตน​แบก​และ​ตาม​เรา​มา” (มัทธิว 16:24 มตฐ.)   ซึ่งพระคริสต์ได้เป็นแบบอย่างที่ดีในชีวิตของพระองค์   พระองค์ยอมทนทุกข์และสละพระชนม์ชีพของพระองค์เพื่อมนุษยชาติ
  2. ผู้นำที่เสริมสร้างคนอื่น:   ผู้นำที่รับใช้แบบพระคริสต์  เมื่อปฏิเสธตนเองแต่ต้องยอมรับคนอื่น   และเสริมสร้างคนอื่น   เปาโลกล่าวในโรม 15:2 ว่า “(ให้)เรากระทำเพื่อเสริมสร้างความเชื่อของเขา” (มตฐ.)   และการที่เราเสริมสร้างเขาคนนั้นมิใช่เพราะเขาเป็นคนดี หรือ คนที่เราพอใจ หรือ คนที่เรารัก   แต่เพราะเราต้องการเสริมสร้างทุกคนที่เราเป็นผู้นำของเขา   และเราต้องการเสริมสร้างให้คนที่เรานำมีคุณค่ามากขึ้นในชีวิตของเขา
  3. ผู้นำที่ทรหดอดทน:   ผู้นำตามแบบพระเยซูคริสต์   เป็นผู้นำที่เปี่ยมล้นด้วยน้ำอดน้ำทน  ทั้งต่อการกระทำที่มิดีมิงาม   การทำร้าย  การกล่าวร้าย และ การเยาะเย้ย (ดูโรม 15:3, 4)   ทั้งนี้เพราะผู้นำที่รับใช้แบบพระคริสต์   เขาเป็นผู้นำมิใช่เพื่อจะทำตามสิ่งที่ตนเองพอใจ   แต่มุ่งสร้างความพอใจแก่คนรอบข้างที่เขานำ   และนำประโยชน์ให้เกิดขึ้นในชีวิตของผู้คน   แต่การที่ใครจะเป็นผู้นำที่รับใช้แบบนี้ได้นั้น   มิใช่เพราะความแข็งแกร่งของคน ๆ นั้น   แต่เพราะคน ๆ นั้นได้รับพลังหนุนเสริมจากพระวจนะของพระเจ้า (ดูข้อ 4 มตฐ.)   และสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจของผู้นำที่รับใช้คือ  การทำตามแบบอย่างของพระคริสต์
  4. เสริมสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในพระคริสต์:  ผู้นำที่รับใช้แบบพระคริสต์มุ่งเสริมสร้างชุมชน องค์กรที่ตนเองเป็นผู้นำที่จะกระทำสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นที่ถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า   การที่องค์กร หรือ ชุมชนจะสามารถดำเนินการทุกอย่างให้เป็นที่ถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าได้นั้น   เพราะชุมชนนั้น องค์กรนั้นเป็นหนึ่งเดียวกันในพระคริสต์   ทั้งนี้เพราะคนทั้งหลายจะรู้จักว่าเราเป็นองค์กร เป็นชุมชนของพระคริสต์ก็เพราะเราทั้งหลายรักซึ่งกันและกัน   ดังนั้น บทบาทผู้นำที่รับใช้จึงมิเพียงแต่ทำทุกอย่างให้คนในองค์กร และ ชุมชนรัก และ ยอมรับตนเองเท่านั้น   แต่เขาทำทุกอย่างเพื่อให้ทุกคนรักพระคริสต์และรักซึ่งกันและกัน (ระบบการเมืองน้ำเน่าปัจจุบันจึงไม่เหมาะสมสำหรับผู้นำที่รับใช้แบบพระคริสต์ต้องการ) (ดูโรม 15:6)


ถ้าเราจะเป็นผู้นำที่รับใช้แบบพระคริสต์ตามลักษณะดังกล่าวข้างต้น   สิทธิประการหนึ่งที่เรามีไม่ได้คือ  สิทธิที่เราจะเห็นแก่ตัว   สิทธิที่เราจะทำเพื่อตนเอง   สิทธิเพื่อตนเอง   เพราะทั้งสิ้นที่เราเป็นเราทำก็ทำตามแบบอย่างพระคริสต์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

02 มีนาคม 2560

แล้วเราจะมีพลังของพระเจ้าในชีวิตเราอย่างไร?

ชีวิตที่ประสบกับความสำเร็จ  เราต้องดำเนินชีวิตด้วยพลังจากพระเจ้า

พระคัมภีร์บอกเราว่า  “เพราะแผ่นดินของพระเจ้ามิใช่เรื่องการดีแต่พูดเท่านั้น   แต่เป็นเรื่องของการดำเนินชีวิตด้วยพลังจากพระเจ้า”  (แปลจากฉบับ NLT 2nd edition)

พระเจ้ามีพระประสงค์ที่จะใช้เรา   แต่การที่เราจะรับใช้พระองค์ได้นั้นเราต้องมีพลังขับเคลื่อนในชีวิต   เปาโลกล่าวว่า ขอ​ให้​พระ​เกียรติ​มี​แด่​พระ​องค์​ผู้​ทรง​สา​มารถ​ทำ​ทุก​สิ่ง​ได้​มาก​ยิ่ง​กว่า​ที่​เรา​ทูล​ขอ​หรือ​คิด โดย​ฤทธา​นุภาพ​ที่​ทำ​กิจ​อยู่​ภาย​ใน​เรา” (เอเฟซัส 3:20 มตฐ.)
  1. เราได้รับพลังจากพระเจ้าด้วยการอธิษฐาน   ถ้าเราไม่มีพลังในชีวิตของเรา   นั่นอาจจะเป็นเพราะว่าเราไม่ได้อธิษฐาน   พลังในการขับเคลื่อนชีวิตมาพร้อมกับการอธิษฐาน
  2. เราได้รับพลังจากพระเจ้าเมื่อเรากล้าที่จะเสี่ยงในการเชื่อฟังพระเจ้า   เมื่อเรากล้าเสี่ยงที่จะทำในสิ่งที่พระเจ้าบอกให้เราทำ   ถึงแม้มันจะยากเข็ญแสนสาหัส  หรือ ดูเฉิ่มไม่ทันสมัย   หรือ  เราอาจจะต้องทุ่มเทจ่ายค่าราคาในชีวิต  หรือ  บางครั้งดูเหมือนจะไม่เห็นเข้าท่าตามวิธีคิดของสังคม  หรือแม้กระทั่งว่าไม่มีใครที่ทำเช่นนั้น   แต่ถ้าท่านกล้าเสี่ยงทำตามพระเจ้า   พระองค์จะเทพลังชีวิตลงในท่าน
  3. เราได้รับพลังชีวิตจากพระเจ้าเมื่อเราไม่ยอมแพ้หรือล้มเลิก   อย่ายอมแพ้  อย่าล้มเลิก!   เพื่อเป็นโอกาสที่พระเจ้าจะทรงกระทำให้ความเชื่อศรัทธาในท่านเติบโตเข้มแข็ง   เมื่อชีวิตของเราต้องดำเนินในท่ามกลางความทุกข์ ยากลำบาก  บางครั้งดูมันเชื่องช้าที่จะต้องรอคอย   ไม่รู้ว่าจะถึงเวลาเมื่อใด  รู้สึกสิ้นคิด หมดหวัง   ในเวลาเช่นนั้นบทเรียนที่เราได้รับจากพระเจ้าคือให้เราไว้วางใจในพระองค์  เราเรียนรู้ที่จะรอคอย   แล้วเราจะได้สัมผัสกับพระพรจากพระองค์   ได้รับการทรงเสริมสร้างจากพระองค์


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499