พ่อ: วันนี้วันเด็ก ลูกจะไปไหน?
ลูก: จะไปโรงเรียน
พ่อ: ไปทำอะไร? ทำอะไร?
ลูก: ไปเต้นบนเวที
พ่อ: เต้นอย่างไง? ทำอย่างไร?
ลูก: (ลูกเต้นให้พ่อดู)
พ่อ: แล้วเขาจะให้อะไรลูก? เขาจะให้อะไร?
ลูก: (ทำหน้าเหรอหรา ไม่รู้จะตอบอย่างไร)
พ่อ: แล้วลูกจะได้อะไร? ลูกจะได้อะไร?
ลูก: ???
พ่อไม่รู้หรอกว่า คำถามของตนนั้นกำลังกำหนดกรอบคิด
(หรือวางฐานคิด) ให้กับลูก
กรอบคิดของพ่อคือ...
ต้องรู้ว่าจะทำอะไร? แล้วต้องรู้ต่อมาว่า ทำอย่างไร?
(ต้องทำได้) ทำแล้วตนจะได้ผลประโยชน์อะไร? หรือทำแล้วเขาจะให้อะไรแก่ตน?
เมื่อลูกไปร่วมงานวันเด็กแล้ว ลูกก็ได้ประสบการณ์ตรง เขาได้ขนมจากครู ซึ่งเป็นการตอกย้ำคำถามของพ่อว่า ทำแล้วตนจะต้องได้รับผลประโยชน์อะไร เป็นสิ่งดี ๆ ที่ตนชอบ นี่เป็นกรอบคิดของพ่อ แต่เมื่อพ่อถามลูกอย่างเป็นระบบ พ่อบางคนอาจจะไม่รู้หรอกว่า เขากำลังวาง “กรอบคิด” หรือ “หลักคิด”
ให้กับลูก
ใช่แล้ว พ่อกำลังวางกรอบคิดแบบ “ผลประโยชน์นิยม”
ลงในตัวลูก อย่างไม่รู้ตัว และ ไม่ตั้งใจ
แต่เมื่อกระบวนการแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำ
ๆ บ่อย ๆ ก็จะทำให้เกิดการก่อตัวกลายเป็นกรอบคิดในตัวลูก
กรอบคิดของพ่อ เกิดการซึมซับ
ถ่ายทอดไปก่อร่างเป็นกรอบคิดของลูก
ที่ทั้งพ่อและลูกไม่รู้ตัว
ณ วันนี้
ท่านมีกรอบคิดอะไร? กรอบคิดแบบไหน?
ใครบ้างที่มีอิทธิพลทำให้เกิดการก่อตัวของกรอบคิดที่ท่านมีอยู่ในปัจจุบัน?
กรอบคิดของท่านมาจากไหน?
ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย
สันทราย เชียงใหม่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น