05 เมษายน 2554

การนมัสการพระเจ้าเช้าวันอาทิตย์

ผมมีโอกาสตีวงสนทนากันกับศิษยาภิบาล ผู้ปกครอง มัคนายก และสมาชิกคริสตจักรรวมกันประมาณ 10 คนโดยไม่ได้ตั้งใจ หลังจากการพูดคุยกันสักพักหนึ่ง หัวข้อที่สนใจพูดคุยกันกลับเป็นเรื่องการนมัสการพระเจ้าในเช้าวันอาทิตย์ และนี่คือคำถามและความคิดเห็น และ สรุปข้อสังเกตจากการสนทนาในวันนั้น

1. การนมัสการพระเจ้าของเราในแต่ละสัปดาห์มีประสิทธิภาพ และ ประสิทธิผลหรือไม่ อย่างไร?

แท้จริงแล้วการนมัสการพระเจ้าของพวกเรานั้นประสบกับความล้มเหลวและบรรลุผลสำเร็จ เราไม่เคยมุ่งมั่นตั้งใจและทุ่มเทอย่างเต็มกำลังที่จะให้การนมัสการพระเจ้าในเช้าวันอาทิตย์ทำให้คริสตจักรของเราเจริญเติบโต ดังนั้น เราจึงไม่ต้องล้มเหลวในประการนี้เพราะเราไม่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ ที่เราประสบความล้มเหลวเพราะ เราได้สูญเสียผู้ที่รับเชื่อในคริสตจักรของเราเหมือนถุงก้นรั่ว ที่ผิดพลาดเพราะคริสตจักรมัวแต่ให้ความสนใจกับการบริหารจัดการพันธกิจคริสตจักรแบบการตลาด(ที่เน้นจำนวนคนที่มานมัสการพระเจ้า แต่ไม่เอาใจใส่คุณภาพชีวิตคริสเตียนของสมาชิก)

2. คุณคิดว่า “ผู้เชื่อ”ในยุคทันสมัยนี้ เข้ามาร่วมนมัสการพระเจ้าเพื่อที่จะให้ หรือ เพื่อที่จะได้รับ?

แท้จริงแล้วหลายต่อหลายคริสตจักรในปัจจุบันนี้กระทำต่อสมาชิกของตนในฐานะผู้รับ คือคริสตจักรพยายามสรรหาโปรแกรม รายการ กิจกรรมต่างๆ ในการนมัสการพระเจ้าให้เป็นที่พึงพอใจของสมาชิกที่มานมัสการพระเจ้า ไม่ว่าจะด้านดนตรีที่ถูกคอผู้มานมัสการในยุคปัจจุบัน และรูปแบบการนมัสการที่สอดคล้องกับรสนิยมและความต้องการของผู้มานมัสการพระเจ้าในคริสตจักร

แต่ก็ก่อเกิดความขัดแย้งเพราะผู้คนที่มานมัสการพระเจ้ามีภูมิหลัง วัย สถานภาพ และมาจากวัฒนธรรมที่หลากหลาย จึงไม่สามารถตอบสนองความต้องการของคนที่มานมัสการพระเจ้าได้อย่างทั่วถึง

ในยุคที่การท่องเที่ยวเฟื่องฟูขึ้นสมอง คริสตจักรที่พอมีอันจะกินก็จะจัด “มิชชั่นทัวร์” เพื่อชีวิตสมาชิกจะได้ไปต่างถิ่น พบสิ่งใหม่ๆ พบคนใหม่ ๆ และคริสเตียนในต่างแดน แต่ขาดและพร่องที่จะใช้โอกาสในการรับใช้ในพระนามของพระคริสต์ตามศักยภาพความสามารถที่แต่ละคนมีอยู่ สิ่งที่ได้คือความตื่นตาตื่นใจสักพักหนึ่ง แล้วก็เย็นชาหายไปเมื่อกลับมาอยู่ในชีวิตคริสตจักรสภาพเดิม

การนมัสการพระเจ้ากลับกลายเป็นโอกาสสร้างเสริมความบันเทิงจิตใจ แต่หลงลืมหรือเว้นว่างการที่จะนมัสการพระเจ้าด้วยจิตวิญญาณด้วยการมีชีวิตที่รับใช้และแบ่งปัน

3. เราบ่งชี้ความเข้มแข็งของชีวิตคริสตจักรที่จำนวนสมาชิกที่มาร่วมนมัสการพระเจ้า หรือ คุณภาพชีวิต คริสเตียนของผู้ที่มาร่วมนมัสการพระเจ้า?

เรามักใช้ขนาดหรือจำนวนของผู้คนที่มาร่วมนมัสการพระเจ้าเป็นตัวบ่งชี้ความเข้มแข็งของคริสตจักร ในความเป็นจริงจำนวนคนที่เพิ่มขึ้นอาจจะเป็นตัวบ่งชี้ความเข้มแข็งของคริสตจักรก็ได้ ถ้าคริสตจักรนั้นๆ ช่วยให้ผู้คนมาร่วมนมัสการพระเจ้าพบกับคุณค่าความหมายของชีวิตในพระเยซูคริสต์

แต่ถ้าคริสตจักรที่มีผู้มาร่วมนมัสการจำนวนมากขึ้นเพราะ มีกิจกรรมที่น่าสนใจ ให้ความบันเทิงสร้างความรู้สึกสบายใจ หรือเพราะคริสตจักรนี้กำลัง “ดัง” ในช่วงนี้ หรือไม่ก็เพราะศิษยาภิบาลเทศนาเก่ง แต่สิ่งเหล่านี้มิได้เสริมสร้างคุณภาพชีวิตคริสเตียน หรือ คุณภาพชีวิตในพระเยซูคริสต์ ด้วยการติดสนิทกับองค์พระผู้เป็นเจ้าให้มีชีวิตที่เข้มข้นขึ้น และมีความรักเมตตากรุณา เป็นชีวิตที่ให้และแบ่งปันเยี่ยงพระคริสต์เพิ่มขึ้น

แม้คริสตจักรนั้นจะมีผู้คนล้นอาคารโบสถ์จนต้องขยายตัวอาคารทางปีกซ้าย-ขวา ก็มิได้บ่งชี้ว่าชีวิตคริสตจักรนี้เข้มแข็ง และการนมัสการพระเจ้าที่ทำอยู่ได้เสริมชีวิตจิตวิญญาณในเข้มแข็งในพระคริสต์

4. การนมัสการพระเจ้าในคริสตจักรของเราเป็นเหมือนเดิม ดีกว่าเดิม หรือแย่กว่าเดิม เมื่อเปรียบเทียบกับการนมัสการพระเจ้าเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา?

หลายคริสตจักรอาจจะตอบว่า การนมัสการพระเจ้าของเราก็เหมือนเดิม เพราะเรายังนมัสการพระเจ้าที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้น การนมัสการพระเจ้าของเราก็ไม่เปลี่ยนแปลง บ้างอาจจะตอบว่า การนมัสการพระเจ้าในคริสตจักรของตนดีขึ้น เพราะได้มีการปรับเปลี่ยนให้การนมัสการพระเจ้าให้มีชีวิตชีวา ตื่นเต้น เร้าใจขึ้นในหลายด้าน ส่วนบางคริสตจักรอาจจะตอบว่า การนมัสการพระเจ้าในคริสตจักรของตนแย่ลง เพราะการนมัสการพระเจ้าของเราก็ทำเป็นพิธี หรือ เป็นเพียงศาสนพิธี การนมัสการมิได้หยั่งรากลงลึกด้วยชีวิตจิตวิญญาณที่แท้จริง ขาดความคิดสร้างสรรค์

น่าสังเกตว่า การประเมินการนมัสการพระเจ้าของเรามักติดยึดอยู่กับรูปแบบการนมัสการ ความคุ้นชินที่เคยทำมา บรรยากาศและความตื่นเต้น บ้างยึดติดกับการประกอบพิธีกรรม “ที่ถูกต้อง” และบ้างติดยึดอยู่กับกฎระเบียบในลัทธินิกายของตนยึดถือ จึงไม่แปลกใจที่ความเชื่อศรัทธา และ การดำเนินชีวิต คริสเตียนมิใช่การเปลี่ยนแปลงและได้รับพลังจาก “ชีวิตภายใน” ที่เริ่มต้นด้วยการหยั่งรากปักฐานความเชื่อศรัทธาบนพระวจนะของพระเจ้า

5. “ความเป็นเลิศ” ยังเป็นระบบคุณค่าในคริสตจักรของเราอยู่หรือไม่?

“ความดีเลิศ” มักถูกมองในรูปของความดีพร้อมสมบูรณ์ ทั้งในการประพฤติปฏิบัติ หรือ การกระทำในสิ่งต่างๆ ซึ่งสิ่งนี้กำลังลดหดตัวลงในคริสตจักรสมัยใหม่

แต่ความสมบูรณ์พูนพร้อมที่ว่านี้มีความหมายที่กว้างไกลกว่าเดิมคือ การกระทำอย่างตั้งใจ อย่างเจตนา มีการเตรียมพร้อมเป็นอย่างดี ความปรารถนาถึงคุณภาพชีวิตที่สมบูรณ์พูนครบในแผ่นดินของพระเจ้าที่ไม่แปรปรวนเปลี่ยนแปลง

คริสตจักรจะต้องฟื้นฟู ปฏิสังขรณ์ระบบคุณค่านี้ขึ้นใหม่ โดยเริ่มต้นที่ให้ทุกคนที่เข้าร่วมในการนมัสการพระเจ้าได้สัมผัสกับระบบคุณค่าแห่งแผ่นดินของพระเจ้าด้วยประสบการณ์จากการนมัสการพระเจ้าในคริสตจักร

6. เปรียบเทียบกับ 25 ปีที่ผ่านมา การนมัสการของคริสตจักรน่าสนใจมากขึ้น หรือ น่าสนใจน้อยลง สำหรับผู้คนที่ยังไม่ได้เชื่อศรัทธาในพระเจ้า

ถ้าจะกล่าวถึงคริสตจักรที่มีการดึงดูดความสนใจของผู้คนนั้น บ่อยครั้งเรามักหลงไปสร้างความสนใจเกี่ยวกับโปรแกรม ทำกิจกรรมตามกระแสความสนใจของผู้คน

แต่ประเด็นหนึ่งที่ชุมชนคริสตจักรดึงดูดความสนใจของผู้คนคือ ชุมชนคริสตจักรที่มีชีวิตความสัมพันธ์เป็นครอบครัวที่เอาใจใส่ ห่วงใย และเอื้ออาทรต่อกันและกัน (ชุมชนที่รักซึ่งกันและกัน) แท้จริงแล้วนี่คือคุณภาพชีวิตคริสตจักรลักษณะหนึ่งที่พระคริสต์ได้ระบุชัด

การนมัสการพระเจ้าของชุมชนคริสตจักรมิใช่การประกอบศาสนพิธีเพื่อให้พระเจ้าพอใจ แล้วก็ไม่เหมือนกับการประชุมหมู่บ้าน ไม่ใช่การประชุมสมาชิกเครดิตยูเนี่ยน และก็ไม่ใช่การประชุมสัมมนาของผู้เสนอขายสินค้าของแอมเวย์ หรือ มิสทีน

แต่การนมัสการพระเจ้ามีความหมายที่ลุ่มลึกและกว้างไกลกว่านั้นคือ เรามานมัสการพระองค์เพราะชีวิตของเราอยู่ภายใต้การครอบครองของพระองค์ เราเข้ามานมัสการพระเจ้าเพราะการที่ชีวิตของเราจะเจริญ เติบโตขึ้นในพระคริสต์นั้นเราต้องพึ่งกำลัง อำนาจจากพระองค์ในการทรงเสริมสร้างเราขึ้นใหม่ เรานมัสการพระองค์เพื่อเราจะได้ออกไปกระทำตามพระประสงค์ของพระองค์ เราเข้ามานมัสการพระองค์เพราะเราต้องการขอบพระคุณ และ เทิดทูนพระองค์ผู้สูงสุดสำคัญสุดในชีวิตของเราแต่ละคน และทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าของชีวิตที่ร่วมกันเป็นคริสตจักร

แต่สิ่งที่น่าห่วงใยในปัจจุบันคือ การนมัสการพระเจ้าในปัจจุบัน อาจจะมีพลังและประสิทธิภาพในการเสริมสร้างชีวิตในพระเยซูคริสต์ของผู้เข้าร่วมนมัสการได้น้อยที่สุด !

แต่สิ่งน่าห่วงมากกว่านั้นก็คือ จากการวิจัยชีวิตและพันธกิจคริสตจักรของวิทยาลัยพระคริสต์ธรรมแมคกิลวารี มหาวิทยาลัยพายัพ เราพบว่า สมาชิกส่วนมากไม่ว่าในคริสตจักรชาติพันธุ์ คริสตจักรชนบท คริสตจักรชานเมือง และคริสตจักรเมืองใหญ่ในสภาคริสตจักรต่างคาดหวังว่า ชีวิตคริสเตียนของตนจะเจริญ เติบโต เข้มแข็ง และเกิดผลจากการเลี้ยงดูด้วยคำเทศนาในการนมัสการพระเจ้าเช้าวันอาทิตย์เท่านั้น !

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น