07 พฤศจิกายน 2554

ผู้นำในชุมชนแผ่นดินของพระเจ้า (1)

อ่านลูกา 22:24-30

มีการโต้เถียงกันในพวกสาวกว่าใครในพวกเขาที่นับว่าเป็นใหญ่ พระองค์จึงตรัสกับพวกเขาว่า “กษัตริย์ของคนต่างชาติย่อมเป็นเจ้านายเหนือเขาทั้งหลาย และผู้ที่มีอำนาจเหนือเขานั้นเรียกตัวเองว่าเจ้าบุญนายคุณ แต่พวกท่านจะไม่เป็นอย่างนั้น ในพวกท่านคนที่เป็นใหญ่ต้องเป็นเหมือนเด็ก และคนที่เป็นนายต้องเป็นเหมือนผู้ปรนนิบัติ (ลูกา 22:24-26)

เรามีโอกาสใคร่ครวญขุดลึกลงในคุณค่าและความหมายของพระกิตติคุณลูกา 22:24-27 มาสามตอนด้วยกัน โดยพิจารณาถึงลักษณะผู้นำที่ไม่ใช้กันในแผ่นดินของพระเจ้า พระเยซูคริสต์ได้ชี้ชัดว่า ลักษณะเช่นไรบ้างที่มิใช่ท่าทีภาวะผู้นำในชุมชนแห่งการครอบครองดูแลของพระเจ้า ในตอนนี้เราจะพิจารณาในสัจจะความจริงอีกด้านหนึ่งคือ แล้วผู้นำ ท่าที่หรือภาวะผู้นำแบบไหนที่สอดคล้องเหมาะสมในชุมชนแผ่นดินของพระเจ้า

พระเยซูคริสต์ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า “ในพวกท่านคนที่เป็นใหญ่ต้องเป็นเหมือนเด็ก" (22:26) ในพระคัมภีร์ฉบับอมตธรรม คำว่า “เป็นเหมือนเด็ก” ได้แปลว่า “เป็นเหมือนผู้เยาว์” ซึ่งการแปลในภาษาไทยได้แปลตรงความหมายของรากศัพท์เดิมในภาษากรีก ในขณะที่ภาษาอังกฤษบางฉบับแปลว่า “เป็นเหมือนผู้เล็กน้อย” หรือ “เป็นเหมือนคนที่อยู่ในระดับต่ำสุด” ความหมายของวลีนี้มีความเกี่ยวข้องกับด้านวัฒนธรรมครับ ในยุคที่เราให้คุณค่า สิทธิ ศักดิ์ศรี แก่เด็กๆ และสังคมปัจจุบันเน้นให้ความสำคัญและสิทธิของเด็กอาจจะทำให้การแปลความในวลีนี้ต้องเปลี่ยนไปใช้คำที่มีความหมายใกล้เคียง

แต่ถ้าเราเข้าไปสู่วัฒนธรรมในสมัยของพระเยซูคริสต์ เด็กหรือ คนที่ยังมีอายุน้อยย่อมมีคุณค่า ศักดิ์ศรีและความสำคัญน้อยกว่าคนที่มีอายุแก่กว่า หรือ ผู้ใหญ่ ดังนั้น เด็กจะไม่ได้รับเกียรติ ความเคารพนับถือ การยกย่อง และการให้สิทธิ ศักดิ์ศรี คุณค่า และ ความสำคัญในชีวิตเท่าเทียมกับผู้ใหญ่ในสมัยนั้น หรือพูดกันชัดๆ ก็คือสถานภาพ หรือ ฐานะของเด็กในสังคมสมัยนั้นอยู่ในระดับล่างหรือต่ำ หรือเป็นคนเล็กน้อยด้อยค่านั่นเอง และในวัฒนธรรมสังคมในสมัยนั้น คนที่เล็กน้อยจะต้องเป็นคนที่อยู่ใต้อำนาจของคนอื่น ถูกคนอื่นใช้ (เฉกเช่นคนยิวในสมัยพระเยซูจะถูกเกณฑ์ถูกใช้จากทหารโรมันให้แบกหีบแบกของไป โดยมิได้ค่าจ้างรางวัลอะไร เพราะเกิดมาเป็นยิว ประชาชนชั้นสองชั้นสามที่เป็นเมืองขึ้นของโรม) ต้องบริการคนอื่น ต้องนอบน้อมถ่อมตนเจียมเนื้อเจียมตัว

พระเยซูกล่าวต่อไปอีกว่า “...และคนที่เป็นนายต้องเป็นเหมือนผู้ปรนนิบัติ” (22:26) หรืออาจจะแปลได้ว่า ดังนั้น คนที่คิดจะเป็นใหญ่เป็นนายของคนอื่นต้องทำตัวทำหน้าที่เหมือนผู้ด้อยค่าแล้วกล้าที่จะปรนนิบัติรับใช้ หรือ ถูกใช้จากคนอื่น ในพระคัมภีร์ฉบับมาตรฐานใช้คำว่า “เป็นนาย” ส่วนในอมตธรรมใช้คำว่า “ผู้ที่ปกครอง” ซึ่งในภาษากรีกใช้เป็นคำกริยาที่แปลงเป็นคุณศัพท์ว่า hegeomai ซึ่งมีความหมายถึง การนำ การชี้นำ การให้คำแนะนำ หมายถึงผู้นำนั้นมีสิทธิอำนาจอย่างเต็มที่ ส่วนคำว่า “ผู้ปรนนิบัติรับใช้” มาจากศัพท์ภาษากรีกคำกริยาว่า ไดอาโคนิโอ (diakoneo) ซึ่งมาจากรากศัพท์เดียวกันของคำว่า ไดอาโคโนส (diakonos) และนี่คือที่มาของคำว่า มัคนายก ในภาษาไทย แต่คำว่า “ผู้ปรนนิบัติ” ที่พระเยซูคริสต์ใช้ในพระธรรมตอนนี้มิใช่การรับใช้ในคริสตจักร หรือการรับใช้ตามความหมายของผู้มีตำแหน่งในคริสตจักร เช่น ศาสนาจารย์ ศิษยาภิบาล ผู้ปกครอง มัคนายก และ ฯลฯ อย่างที่เราเข้าใจกันในปัจจุบัน แต่พระองค์ชี้ชัดที่เป็นความหมายแท้จริงของคำนี้คือ “เด็กเสิร์ฟ” ในวัฒนธรรมไทย หรือ “เสี่ยวเอ้อ” ในวัฒนธรรมจีน ถ้าเราอ่านต่อไปอีกสองสามข้อ พระองค์ให้ภาพความหมายของการปรนนิบัติรับใช้ที่ชัดเจนว่า ผู้ปรนนิบัติรับใช้ในที่นี้หมายถึงคนเดินโต๊ะ คนรับใช้ข้างโต๊ะอาหาร คนที่ต้องบริการแก่คนนั่งโต๊ะ คนที่จะต้องฟังความต้องการ หรือ คำสั่งจากคนรับประทานอาหารรอบโต๊ะนั้น ผู้ปรนนิบัติในที่นี้พระเยซูจึงหมายถึง “คนใช้” ครับ

หลายปีที่ผ่านมา หลายครั้งผมจะได้ยินคำบ่นจากศาสนาจารย์ ศิษยาภิบาล หรือผู้ปกครอง และมัคนายกว่า “...เขาทำกับเรา อย่างกับเราคนใช้ของเขา(หมายถึงสมาชิกคริสตจักร บางครั้งก็รวมถึงผู้ปกครอง และ...ด้วย)... ผมต้องรับผิดชอบตั้งแต่คนทำความสะอาดโบสถ์ยันคนเทศนา...” ถ้าผู้บ่นเข้าใจคำว่า “ผู้ปรนนิบัติ” ในความหมายที่พระเยซูคริสต์ใช้คือเด็กเสิร์ฟอาหาร ก็คงจะไม่บ่นเช่นนั้น แต่จะเกิดความภาคภูมิใจในการที่ได้เป็นผู้ปรนนิบัติรับใช้ เป็นคนใช้อย่าง “เสี่ยวเอ้อ” คนเสิร์ฟอาหารในชุมชนแผ่นดินของพระเจ้า ผู้นำเช่นนี้ครับที่ต้องการในแผ่นดินของพระเจ้า

ในที่นี้มิได้หมายความว่า พระเยซูไม่เห็นด้วยที่จะให้มี “ผู้นำ” พระองค์มิได้แสดงความคิดเห็นเช่นนั้น แต่พระองค์กล่าวไว้ว่า “แต่พวกท่านจะไม่เป็นอย่างนั้น...” (22:26) (คือไม่เป็นผู้นำที่สนใจสร้างความสำคัญยิ่งใหญ่ อำนาจ บารมี และความมั่งคั่งมั่นคงแก่ตนเอง) พระเยซูคริสต์ทรงคาดหวังว่าจะมีบางคนที่จะต้องทำหน้าที่ความรับผิดชอบในการเป็น “ผู้นำ” แต่มิใช่ผู้นำที่ใช้สิทธิอำนาจอย่างที่เป็นอยู่ในกระแสสังคมโลกปัจจุบัน แต่พระองค์คาดหวังผู้นำที่ใช้สิทธิอำนาจความเป็นผู้นำที่จะรับใช้คนอื่น ความคิดเรื่องผู้นำที่รับใช้นี้คงสร้างความกังวลสับสนแก่ผู้นำในคริสตจักรมิใช่น้อย ถ้าเอาอย่างที่พระเยซูคริสต์ว่า ผู้นำเป็นเหมือนคนใช้ คนเสิร์ฟอาหาร เสี่ยวเอ้อ นั่นหมายความว่าผู้นำจะต้องรับคำสั่งจากคนนั่งโต๊ะอาหารนั้น และให้บริการตามความต้องการนั้น เกิดคำถามรบกวนในจิตใจผมครับ แล้วผู้นำจะเป็นผู้รับใช้ได้อย่างไร? คงต้องบอกว่าเป็นไปได้ครับ แล้วเราจะมาใคร่ครวญในตอนต่อไปก็แล้วกัน

ประเด็นใคร่ครวญวันนี้

เราท่านคงใช้เวลาช่วงต่อไปนี้ในการคิดใคร่ครวญว่า การที่พระเยซูคริสต์กล่าวถึง “ผู้นำแบบผู้รับใช้” นั้น ผู้นำแบบนี้มีบทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบอะไร? ใครจะรู้ได้ครับ วันนี้ท่านอาจจะมีโอกาสในการเป็นผู้นำที่รับใช้ก็ได้ครับ!
  • จะต้องทำอย่างไรในฐานะผู้นำที่จะเป็นผู้รับใช้?
  • ท่านคิดว่าความคิดเห็นเรื่อง “ผู้นำที่รับใช้” ของพระเยซูคริสต์ มีความเป็นไปได้ไหมในปัจจุบัน?
  • ท่านพอจะคิดออกไหมว่า ในวันนี้ในสถานการณ์ใดที่ท่านจะเป็นผู้นำที่รับใช้ได้?

ภาวนา
ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า
ขอบพระคุณพระองค์สำหรับคำสอนเรื่องผู้นำที่รับใช้ของพระองค์
ขอบพระคุณพระองค์ที่ทรงกระตุ้นให้ข้าพระองค์ต้องกลับมาสนใจจริงจังในเรื่องนี้
แม้ว่าจะสร้างความยุ่งยากสับสนในความนึกคิด ความเข้าใจก็ตาม
ข้าพระองค์ขอสารภาพว่า ข้าพระองค์ต้องการความเข้าใจความหมายที่แท้จริงในเรื่องนี้
ข้าพระองค์ทูลขอพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์โปรดช่วยข้าพระองค์ด้วย
เพื่อข้าพระองค์จะได้รับความเข้าใจตามความหมายของพระองค์
ขอพระวิญญาณบริสุทธิ์โปรดช่วยข้าพระองค์ในเรื่องนี้ด้วย
เพื่อข้าพระองค์จะเข้าใจถึงผลกระทบจากเรื่องนี้ต่อชีวิตของข้าพระองค์เช่นไร

ในวันนี้โปรดประทานสายตาที่ข้าพระองค์จะมองเห็นถึงโอกาสที่จะเป็นผู้นำแบบผู้รับใช้
โปรดช่วยข้าพระองค์ที่จะนำคำสอนของพระองค์ไปปฏิบัติจริงได้
ในที่ทำงานใน
ในครอบครัว
และในความสัมพันธ์กับเพื่อนฝูงและคนรอบข้างในวันนี้

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น