บทเรียนจากพระธรรมฟีเลโมน
จดหมายจากคุกฉบับนี้มีเพียงบทเดียว
แต่ให้คุณลักษณะชีวิตคริสตชนไว้ชัดเจน
1. เป็นคนที่หนุนเสริมเพิ่มกำลังใจคนรอบข้าง
คำพูดของเปาโลเป็นคำพูดที่ให้กำลังใจ
ชื่นชมฟีเลโมนที่มีชีวิตที่รักประชากรของพระเจ้าตามแบบพระคริสต์ (ฟีเลโมน 1:5, 7)
เป็นชีวิตแบบพระคริสต์ที่แตกต่างจากชีวิตแบบสังคมโลกนี้ มิใช่ชีวิตที่สร้างความสำคัญแก่ตนเอง แต่กระตุ้นหนุนเสริมให้กำลังใจแก่ผู้อื่นให้ดำเนินชีวิตแบบพระคริสต์ต่อไป
2. เป็นคนที่มุ่งมั่นในการอธิษฐาน
เปาโลมิได้อธิษฐานเผื่อฟีเลโมนเท่านั้น
แต่บอกฟีเลโมนว่า ตนได้อธิษฐานขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับชีวิตของฟีเลโมน และทูลขอให้งานรับใช้ของฟีเลโมนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
การบอกเช่นนี้มิเพียงแต่เป็นการให้กำลังใจฟีเลโมนเท่านั้น แต่ยังทำให้ฟีเลโมนเกิดความหวังในการตอบคำอธิษฐานจากพระเจ้าด้วย
(1:4-6)
3. เป็นคนที่รับใช้คนอื่น ตามพระประสงค์ของพระเจ้า
เราสามารถรับใช้พระเจ้าไม่ว่าชีวิตของเราตกอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม
โซ่ล่ามเปาโลให้ต้องอยู่แต่ในคุก แต่โซ่ไม่สามารถล่ามพระประสงค์ของพระเจ้าที่เปาโลรับใช้
เพราะความเชื่อที่มุ่งมั่นอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้โอเนสิมัส
ซึ่งเป็นทาสของฟีเลโมนที่ถูกคุมขังในคุกได้กลับใจรับความรอด (1:8-10) อย่าให้ความจำกัดในชีวิตของเราไปจำกัดเราในการรับใช้ตามพระประสงค์ของพระเจ้า
4. เป็นพี่เลี้ยงของผู้ได้รับความรอด
ให้เติบโต เข้มแข็งขึ้นในความเชื่อ และ การดำเนินชีวิตแบบพระคริสต์
เปาโลมิได้ช่วยให้โอเนสิมัสได้รับความรอดในพระคริสต์เท่านั้น
แต่เสริมสร้างให้ชีวิตจิตวิญญาณของเขาเติบโต เข้มแข็ง และฝึกเขาในงานรับใช้ด้วย (1:10-13) ครั้งหนึ่งโอเนสิมัสเป็นคนที่ไม่เป็นประโยชน์ แต่ตอนนี้เป็นประโยชน์ต่อฟีเลโมน เปาโล และแผ่นดินของพระเจ้า ไม่ว่าชีวิตจิตวิญญาณของเราจะตกอยู่ในสถานการณ์ชีวิตแบบไหนก็ตาม
ขอให้ชีวิตของเราเป็นประโยชน์ และ เป็นกำลังใจแก่คนอื่น
5. เป็นคริสตชนที่เสริมสร้างสัมพันธ์สร้างสรรค์
การสร้างการคืนดีในความสัมพันธ์ที่ฉีกขาดของฟีเลโมนและโอเนสิมัส
เป็นเป้าหมายต้น ๆ ของเปาโล (1:10, 15-16) จากนายทาสและลูกทาสเปลี่ยนไปเป็นความสัมพันธ์
“พี่น้องในพระคริสต์” ความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้ามีอิทธิพลเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของเรากับคนอื่น
ๆ ด้วย ในฐานะสาวกพระคริสต์เรามีพันธะที่จะเยียวยารักษาและฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่แตกหักให้กลับคืนดีกัน
ด้วยความรักเมตตาที่เสียสละแบบพระคริสต์
6. ถ่อมตนลงเคียงข้างกับคนอื่น
ทาสในสมัยนั้น
เป็นผู้ที่ด้อยค่าต่ำต้อยที่สุดในสังคม และมักไม่ได้ถูกมองว่าเป็นคน แต่ถูกมองเป็นเพียงสิ่งของหรือแรงงาน
เปาโลเขียนถึงฟีเลโมนผู้เป็นนายทาสของโอเนสิมัส ขอร้องว่า ขอยอมรับโอเนสิมัสในฐานะ
“พี่น้องในองค์พระผู้เป็นเจ้า” (1:15-17)ให้เราเสริมสร้างความเสมอภาคในคุณค่าความเป็นมนุษย์เมื่อเรามีชีวิตอยู่ในพระคริสต์แล้ว
(กาลาเทีย 3:28)
7. มีจิตใจแห่งการให้อภัย/การยกโทษอย่างไร้เงื่อนไข
เรารู้เพียงแต่ว่า
โอเนสิมัส เป็นทาสของฟีเลโมน ถูกจับจำคุก นักวิชาการทางพระคัมภีร์คาดเดาว่า
อาจจะเป็นเพราะ โอเนสิมัส หนีการเป็นทาสจากฟีเลโมน แต่ในคุกแห่งนั้นเขาพบกับเปาโล เปาโลนำโอเนสิมัสรับพระคริสต์ อย่างไรก็ตามเรื่องสำคัญในที่นี้คือ เปาโลขอให้ฟีเลโมนยกโทษแก่โอเนสิมัส ซึ่งตามกฎหมายในเวลานั้น
ฟีเลโมนมี “สิทธิ” ที่จะเอาผิดอย่างไรก็ได้กับโอเนสิมัส แต่เปาโลขอร้องฟีเลโมนยกเลิก
“สิทธิที่ตนมีอยู่” แล้วกลับให้อภัยแก่โอเนสิมัส (1:17-19) ดั่งพระคริสต์ที่ยกโทษแก่เราอย่างไม่มีเงื่อนไขใด
ๆ เช่นกัน
8. มีจิตใจที่เมตตาบนรากฐานพระคุณพระเจ้า
โอเนสิมัส
ในฐานะทาสที่หนีจากนายทาส เขาจะไม่ได้รับการคุ้มครองจากฎหมาย เมื่อถูกจับได้ก็จะได้รับการลงโทษจากนายทาสอย่างสาสมตามที่นายทาสต้องการ
โอเนสิมัสจะเป็นหรือตายขึ้นอยู่กับฟีเลโมน
เป็น “สิทธิ” ของฟีเลโมนจะจัดการ แต่เปาโลกลับขอร้องให้ฟีเลโมนจัดการเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วย
“พระคุณ” ของพระเยซูคริสต์
9. เป็นคนที่มีความรับผิดชอบ
เปาโลได้รับผิดชอบในการช่วยเหลือให้ฟีเลโมนดำเนินชีวิตประจำวันที่ยกย่องถวายเกียรติแด่พระเจ้า
เราก็เช่นกัน พระเจ้าได้มอบหมายความรับผิดชอบแก่เราทุกคน ให้เราตักเตือน
หนุนใจ
เสริมสร้างกันและกันขึ้นในชีวิตและความเชื่อของเรา (เช่น ฮีบรู 3:13, 1โครินธ์
5:12, 1เธสะโลนิกา 5:14…)
10. ผู้สร้างสันติและการคืนดี
เปาโลมิได้มุ่งที่จะหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
หรือ ทำการพลิกฟื้นคืนดีความสัมพันธ์ที่ฉีกขาดเท่านั้น แต่เปาโลต้องการเห็นชุมชนผู้เชื่อที่อยู่ร่วมกันอย่างชื่นชมยินดีในความผูกพันที่ลึกซึ้ง
และนี่คือรูปแบบการสร้างสันติที่เป็นความรับผิดชอบของคริสตชนที่เปาโลต้องการให้เกิดขึ้นในหมู่ผู้เชื่อทั้งหลาย
พระเจ้าปรารถนาให้เราดำเนินชีวิตร่วมกับคนอื่นอย่างสงบสุขในทุกหนทางที่เราจะกระทำได้
(โรม 12:18) และเป็นผู้สร้างสันติ
ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย
สันทราย เชียงใหม่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น