เราท่านต่างเห็นความสำคัญว่าชีวิตนี้ต้องมีวัตถุประสงค์
ต้องมีเป้าหมาย
แต่เกิดคำถามเสมอว่า
แล้วฉันจะไปหาวัตถุประสงค์ หรือ เป้าหมายชีวิตฉันจากที่ไหน?
ณ วันนี้ ท่านมีวัตถุประสงค์อะไร
มีเป้าหมายอะไรในชีวิต? แล้วท่านหาพบสิ่งนี้ได้จากที่ไหน? ในฐานะคริสตชน อะไรคือวัตถุประสงค์ในชีวิต? แล้วเราจะหาพบได้ที่ไหนบ้าง?
การค้นหาให้พบวัตถุประสงค์ในชีวิตของเรา
เป็นเรื่องของกระบวนการชีวิต มิได้ “เหตุการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิต” แต่เป็นกระบวนการชีวิตที่ขับเคลื่อนพัฒนาไปจนเกิดความชัดเจนในวัตถุประสงค์
และ เป้าหมายในชีวิตเราแต่ละคน และที่สำคัญยิ่งคือ เรามี “ฐานเชื่อกรอบคิด” (Mindset) ในเรื่องนี้ว่าอย่างไร
ฐานเชื่อกรอบคิด 1:
“ไม่ใช่สิ่งที่ฉันอยากเป็นอยากมี”
คริสตชนเชื่อว่า
ชีวิตของเราแต่ละคนพระเจ้าทรงสร้าง พระองค์ทรงสร้างให้เรามีความสัมพันธ์และผูกพันกับพระองค์
และสร้างเราให้มีความสัมพันธ์และความผูกพันกับเพื่อนมนุษย์ ดังนั้น วัตถุประสงค์ และ
เป้าหมายชีวิตของเราจึงไม่ได้มาจากสิ่งที่ “ฉันอยากมีอยากเป็น” แต่ฐานเชื่อกรอบคิดในเรื่องนี้คือ พระเจ้าผู้สร้างเราอย่างมีจุดประสงค์และเป้าหมาย
ฐานเชื่อกรอบคิด 2:
“เป็นสิ่งที่พระผู้สร้างใส่ในชีวิตของแต่ละคน”
พระเจ้าสร้างเราแต่ละคนให้เป็นผู้ที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะ
หรือ “อัตลักษณ์” ของเราแต่ละคน ดังนั้น
แต่ละคนได้รับมอบหมายให้มีความรับผิดชอบ/ความสามารถพิเศษที่จะทำในบางสิ่งบางเรื่องในชีวิตของเราแต่ละคน
เป็นพลังชีวิตพิเศษที่เราจะใช้ในความสัมพันธ์กับคนอื่นในชุมชน และธรรมชาติแวดล้อมที่พระเจ้าทรงสร้าง พระเจ้ามักใช้ความเจ็บปวดในชีวิตเราแต่ละคนเพื่อนำแต่ละคนให้ไปยังพระประสงค์สำหรับชีวิตของคน
ๆ นั้น และนี่เป็นเหมือน “พระลิขิตชีวิตฉัน”
ดังนั้น ให้เราแต่ละคนค้นหาให้พบว่า
อะไรคือสิ่งดี ๆ พิเศษ เฉพาะที่มีอยู่ในชีวิตเรา สิ่งที่เราตระหนักชัดว่าชอบที่จะทำ
เรามีความสุขเพลิดเพลินในการทำสิ่งนั้นจนลืมเรื่องเวลาที่ล่วงเลยไป และนี่คือร่องรอยที่เราสามารถตามหา
“อัตลักษณ์” และ “วัตถุประสงค์เฉพาะ” ในชีวิตของเรา
ฐานเชื่อกรอบคิด 3:
“สิ่งที่ท้าทายเรา”
สิ่งที่ท้าทาย เหตุการณ์/สถานการณ์ที่ท้าทาย
คือโอกาสและเครื่องมือที่เราแต่ละคนใช้ขุดค้นหา “วัตถุประสงค์ หรือ
เป้าหมายในชีวิต” ของตน เช่น ชุมชนถูกภัยธรรมชาติโหมกระหน่ำ ไฟป่ากำลังลุกลามอย่างรุนแรง
เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งกำลังเกิดปัญหาครอบครัว หรือ แรงงานจากพม่าถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างในพื้นที่
และ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นความท้าทายที่เราพบประสบเจอ และนี่คือโอกาสที่เราจะพิจารณาอย่างสงบสุขุม
และอาจจะเลือกเข้าไปมีส่วนร่วมทุกข์ร่วมสุขในชีวิต หรือ ในสถานการณ์นั้น ๆ เพื่อเป็นโอกาสที่เราจะค้นหาว่า
“เรามีความสุขใจ และ มีของประทาน หรือ ศักยภาพ หรือ ความสามารถ
ที่จะรับมือและจัดการในเรื่องนั้นไหม? และ
มีศักยภาพหรือของประทานใดที่เราสามารถพัฒนาให้เป็นความสามารถและความชำนาญได้
คริสตชนเชื่อว่า เมื่อพระเจ้าใส่
“วัตถุประสงค์ หรือ เป้าหมายชีวิต” ใดในชีวิตเรา พระองค์จะประทายศักยภาพ
ความสามารถที่ใช้ในการรับมือจัดการในเรื่องนั้นในชีวิตของเรา เพื่อเราสามารถจะทำได้
ความท้าทายในชีวิต จึงเป็นโอกาสที่เราจะค้นพบวัตถุประสงค์ หรือ
เป้าหมายในชีวิตของเราแต่ละคน
ฐานเชื่อกรอบคิด 4:
“ยิ่งทุ่มแรงยิ่งหนุนเสริมเพิ่มพลังชีวิตของตน”
คริสตชนเชื่อว่า เมื่อเรากระทำสิ่งใดในชีวิตที่สอดคล้องกับพระประสงค์ของพระเจ้า
พระองค์จะให้เกิดผลดีในชีวิตของเรา เพราะในฐานะคริสต์ชนเราไม่ได้ทำเพื่อ
“บรรลุความสำเร็จ” หรือ “ปัญหาได้รับการแก้ไข” เท่านั้น แต่เราต้องการมีชีวิตที่ตอบสนองพระประสงค์ของพระเจ้าที่มีสำหรับชีวิตของเรา
และเรารู้ว่าเป็นวัตถุประสงค์และเป้าหมายสำหรับชีวิตของเราเมื่อยิ่งเราทุ่มแรงทุ่มใจทำในสิ่งนั้นเรื่องนั้น
เรายิ่งมีระดับพลังชีวิตที่สูงขึ้น เรามั่นใจว่านั่นคือ วัตถุประสงค์ หรือ
เป้าหมายชีวิตของเรา
ฐานเชื่อกรอบคิด 5:
“เป็นอาหารจากเบื้องบนที่หล่อเลี้ยงชีวิตจิตวิญญาณของเรา”
คริสตชนเรามีความเชื่อว่
การที่เราทำอะไรก็ตามในชีวิตประจำวัน ที่เป็นพระประสงค์ของพระเจ้า ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์และเป้าหมายในชีวิตของเรา สิ่งที่เรากระทำนั้นเป็น
“อาหารที่หล่อเลี้ยงชีวิตจิตวิญญาณของเรา” พระเยซูตรัสกับเขาว่า “อาหารของเราคือการกระทำตามพระทัยของพระองค์ผู้ทรงใช้เรามา
และทำให้งานของพระองค์สำเร็จ” (ยอห์น 4:34 มตฐ.)
ไม่ว่าจะเป็นแพทย์
พยาบาล ผู้ช่วย ผู้บริหาร คนงาน
ครู/อาจารย์ พ่อค้า พนักงาน
เกษตรกร ศิษยาภิบาล พ่อ แม่ และ
ฯลฯ
ที่ใช้หน้าที่การงานของตนเพื่อทำให้เกิดสิ่งดีมีคุณค่าขึ้นในชีวิตผู้คน ประสบการณ์เหล่านี้ที่เป็น
“อาหาร” ที่หล่อเลี้ยงชีวิตจิตวิญญาณของเรา
“เพราะว่าเราเป็นฝีพระหัตถ์ของพระองค์
ที่ทรงสร้างขึ้นในพระเยซูคริสต์เพื่อให้ประกอบการดี
ซึ่งพระเจ้าได้ทรงดำริไว้ล่วงหน้าเพื่อให้เรากระทำ” (เอเฟซัส 2:10 มตฐ.)
ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย
สันทราย เชียงใหม่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น