เมื่อพูดถึงเรื่อง
“ผู้นำที่เป็นพิษ” ผู้คนมักมองว่าเป็น “ลักษณะ” ของคนอื่น ไม่ใช่ตนเอง!
ความเป็นจริงอีกประการหนึ่งคือ คนส่วนใหญ่ที่ทำงาน หรือ
ผ่านการทำงานร่วมกับคนส่วนมากมาแล้วมักเคยพบกับ “ผู้นำที่เป็นพิษ” หรือ “พิษภาวะ”
ของผู้นำ
แต่ถ้าจะเป็นประโยชน์สำหรับเราเองแล้ว
คงต้องถามตนเองว่า ที่เป็นมาเรามีลักษณะผู้นำที่เป็นพิษประการใดบ้างที่มีในตัวเรา
หรือ มีแนวโน้มที่เราจะมีลักษณะผู้นำใดบ้างที่เป็นพิษในการผู้นำ? เพื่อเราจะสามารถรู้เท่าทันตนเอง
และหาทางแก้ไขและป้องกันก็จะเป็นประโยชน์แก่เราเองอย่างยิ่ง
การที่คริสตจักรใด
องค์กรใดมีผู้นำที่เป็นพิษมิเพียงแต่สร้างผลเสียแก่เจ้าตัวเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบต่อเพื่อนร่วมงาน
และ ลูกน้อง อีกทั้งสร้างผลกระทบที่เลวร้ายต่อองค์กร หรือ คริสตจักรอีกด้วย จากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่า
ผู้นำที่เป็นพิษมี “พิษลักษณะ” หรือ “พิษสภาวะ”(?) ดังนี้
1. ผู้นำที่ไม่สำแดงคุณลักษณะผลของพระวิญญาณ ในพระธรรมกาลาเทีย บทที่ 5 กล่าวถึงผลของพระวิญญาณไว้ดังนี้
“22ส่วนผลของพระวิญญาณนั้นคือ
ความรัก ความชื่นชมยินดี สันติสุข ความอดทน ความปรานี ความดี ความสัตย์ซื่อ 23ความสุภาพอ่อนโยนและการควบคุมตนเอง...”
(อมธ.) ในที่นี้ขอตั้งข้อสังเกตที่สำคัญคือ ในพระคัมภีร์ตอนนี้กล่าวถึง “ผลของพระวิญญาณ”
ที่เป็นเอกพจน์ มิใช่พหูพจน์ คือคุณลักษณะทั้ง
9 ประการรวมกันเป็นผลของพระวิญญาณ มีความหมายถึงการที่ผู้นำคนนั้นจำเป็นจะต้องอยู่ภายใต้การทรงนำ
การชี้นำอย่างแท้จริงที่เปี่ยมล้นจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ เขาจึงเป็นผู้นำที่สามารถนำให้เกิดผลของพระวิญญาณ
เพราะองค์พระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นผู้กระทำให้ชีวิตผู้นำของเขาเกิดผล
ผู้นำที่เป็นพิษ เป็นผู้นำที่ไม่สำแดงผลของพระวิญญาณออกมาในการเป็นผู้นำของเขา
เพราะเขามิได้ยอมให้องค์พระวิญญาณทรงควบคุม และชี้นำการเป็นผู้นำของเขา เขาจึงไม่สำแดงผลของพระวิญญาณทั้ง
9 ประการ
2. ผู้นำที่นำด้วย
“ความคิดและจิตใจ” ของตนเอง กล่าวคือเขาเป็นผู้นำที่ไม่สนใจว่าทีมงาน/ลูกน้องคิดอย่างไรในเรื่องนั้น ไม่ปรึกษา
หรือขอความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ หรือ
การสะท้อนคิดในเรื่องที่ต้องตัดสินใจทำด้วยกันจากเพื่อนร่วมงาน/ทีมงานของตน เป็นผู้นำที่ไม่สนใจความคิดเห็น
ความรู้สึกของลูกน้องและทีมงาน ลึก ๆ ของผู้นำพวกนี้คือสำคัญตนเองว่า
“ตนเองรู้แล้ว” “ตนเองรู้ดีกว่า” “ใครจะรู้ดีเท่าตนเองในเรื่องนี้” เป็นผู้นำที่ไม่เห็นคุณค่า
ความสำคัญของลูกน้อง ไม่เห็นความสำคัญของการทำงานแบบมีส่วนร่วม เป็นผู้นำที่ “เอาแต่ใจตนเอง”
3. ผู้นำที่คาดหวังให้คนอื่นมีพฤติกรรมที่ตนต้องการ
แต่กลับมิได้คาดหวังพฤติกรรมดังกล่าวจากตนเอง เรามักได้ยินผู้นำประเภทนี้สั่งทีมงานว่า
“อย่าทำอย่างนี้” หรือ “ให้ทำแบบนี้” แต่ปรากฏว่าผู้นำคนนี้ไม่ได้ทำในสิ่งที่ตนเองสั่งลูกน้องของตน
เขาไม่ทำในสิ่งที่ตนเองพูดตนเองสั่ง
4. มองผู้ร่วมงานว่าไม่รู้
ไม่สามารถ หรือ เป็นคนที่อ่อนด้อย/อ่อนหัดในด้านต่าง ๆ ตรงกันข้ามมักมองว่าตนเองทำได้ดีกว่าทุกเรื่อง
เป็นคนที่เหนือกว่าลูกน้องและทีมงาน ด้วยเหตุนี้เขาจึงต้องนำต้องตัดสินใจแต่เพียงผู้เดียว
(เชื่อมโยงกับประการที่ 2)
5. เป็นผู้นำเลือกที่รักมักที่ชัง เป็นผู้นำที่มีอคติต่อบางคน น่าสังเกตว่า ผู้นำพวกนี้จะชื่นชมลูกน้องที่ไม่โต้เถียง
ไม่แสดงความคิดเห็น แต่กลับไม่ค่อยชอบและถูกใจลูกน้องที่มักแสดงความคิดเห็น หรือ
มีข้อเสนอแนะ (ที่ตนไม่ต้องการ) เขาชอบลูกน้องพวกที่ “ค่ะ/ครับ เจ้านาย” หรือถ้านำไปเชื่อมกับข้อ
4 คือ ผู้นำพวกนี้จะชอบคนที่ไม่พูด คนที่ไม่ทำงานจริงจัง แต่จะไม่ชอบพวกที่ทำงานเอาใจใส่และทำงานอย่างใช้สติปัญญา
เขาไม่ชอบลูกน้องที่ไม่เห็นด้วยกับเขา แต่โปรดปรานลูกน้องที่ว่าไปตามที่เจ้านายคิด
หัวหน้าต้องการ (เพื่อรักษา/ต้องการผลประโยชน์แห่งตน)
6. เป็นผู้นำที่ไม่ชอบการตอบสนองในเชิงลบ
หรือ ที่ไม่เหมือนกับตน หรือ ที่ไม่ยอมเออออห่อหมกกับตน ดังนั้น เขาจะมีคนห้อมล้อมที่เป็นลูกน้องจำพวก
“เอาใจเจ้านาย” “ว่าอย่างเจ้านาย” “เอาอย่างที่หัวหน้าว่า” และมักจะถูกห้อมล้อมด้วยลูกน้องที่เป็นพิษ
ที่ยกยอปอปั้นเจ้านาย เอาใจเจ้านาย ทั้ง ๆ
ที่รู้อยู่เต็มอกว่า เจ้านายคิดผิด หรือ หัวหน้าจะทำเลวร้าย
ฉ้อฉลอย่างไรก็ยังเอาใจหัวหน้า (เพื่อผลประโยชน์แห่งตนเอง)
7. ผู้นำที่คิดถึงแต่ตนเอง ฉัน
ตัวฉัน ฉันเอง... เป็นผู้นำที่มีตนเองเป็นศูนย์กลาง ผู้นำพวกนี้มุ่งมองสนใจแต่ว่า ฉันจำเป็นอะไร
ฉันต้องการอะไร ผู้นำแบบนี้ไม่สามารถที่จะมองเห็นตัวตนที่แท้จริงของตนเอง ไม่รู้เท่าทันตนเอง
และก็จะไม่รู้ด้วยว่าคนอื่นมองตนเองอย่างไรบ้าง เวลาพูดคุยกับคนอื่นก็จะพูดแต่เรื่องของตนเอง
ความโดดเด่น สำคัญของตนเอง โอ้อวดตนเอง
ทั้ง 7
ลักษณะที่เป็นพิษของผู้นำดังกล่าวนี้ จะเป็นผู้นำที่สร้างผลกระทบที่ “หายนะ”
แก่องค์กร คริสตจักร สร้างความเดือดร้อนแก่ทีมงานที่ตั้งใจทำงาน ทำลายความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของทีมงาน
และทั้ง 7 ลักษณะที่เป็นพิษนี้เองที่จะกลับมาทำร้ายเจ้าตัวในที่สุด
น่าจะเป็นของขวัญล้ำค่าในคริสต์มาส 2018 นี้แก่องค์กร คริสตจักร ตัวผู้นำเอง และเพื่อนร่วมงานอย่างมาก ถ้าผู้นำคริสต์ชนจะ “ล้างพิษ” (detoxify) หรือ ที่เรารู้ในภาษาว่า “ดีทอกซ์”
หรือ การ “ล้างพิษสภาวะ” ของผู้นำเสีย
ท่านผู้อ่านคิดเห็นอย่างไรบ้างครับ?
ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย
สันทราย เชียงใหม่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น