เมื่อคริสตชนรู้สึกว่าตนสามารถจัดการรับมือกับชีวิตได้
เราจะวางแผน ปรึกษาหารือ ตัดสินใจ แล้วลงมือกระทำด้วยตัวเราเอง แต่เมื่อคริสตชนรู้สึกว่า
ตนไม่สามารถที่จะจัดการรับมือกับชีวิต เราจะอธิษฐาน
ในฐานะเป็นคริสตชนหลายท่านคงยอมรับว่า การอธิษฐานเป็น
“ยาขม” ในชีวิต แม้แต่ จอห์น สต๊อท (John Stott) ยังเคยกล่าวไว้ว่า
การอธิษฐานเป็นเรื่องปล้ำสู้ที่ยิ่งใหญ่มากในชีวิตคริสตชนของท่าน
ถ้าเราพิจารณาคริสตชนในศตวรรษที่ 20-21 เราเห็นได้ว่า การอธิษฐานในชีวิตของคริสตชนมีพื้นที่ลดน้อยหดหายลง
ไม่ว่าจะเป็นพวกคริสตชนอนุรักษ์ หรือ พวกหัวก้าวหน้าก็ตาม เราพบอีกว่า คริสตจักรในปัจจุบันนี้ใช้เวลาในการวางแผน
ถกเถียง อภิปราย ชี้แจงมากขึ้น
ในขณะพื้นที่ชีวิตในการนมัสการพระเจ้า ในการอธิษฐานขอบพระคุณ อธิษฐานสารภาพความบาปผิด
ในการอธิษฐานเผื่อผู้อื่นลดน้อยมีพื้นที่แคบลง
ประเด็นที่ล่อแหลมและสำคัญยิ่งคือ การอธิษฐานที่ทำร่วมกันมักกลายเป็น
“การกระทำแค่เป็นพิธี” (ปฏิบัติตามประเพณี) ซึ่งการอธิษฐานแบบนี้มิใช่การอธิษฐานต่อพระเจ้าจากชีวิตจิตใจของผู้อธิษฐาน
และในที่นี้รวมถึงการอธิษฐานก่อนรับประทานอาหาร ก่อนนอน ตื่นนอน ก็กำลังถูกเบียดให้ไปอยู่ในพื้นที่ชีวิตชายขอบที่
“กระทำเพียงเป็นพิธี” หรือ “ความคุ้นชิน” เท่านั้น มิได้อธิษฐานด้วยจิตใจที่สำนึกและจริงใจต่อพระเจ้าว่าเราต้องพึ่งพิงในพระองค์
บ่อยครั้งนักเราขอให้พระองค์กระทำตามการตัดสินใจของเรา ขอนำให้เราทำสำเร็จตามแผนงานที่เราวางไว้มิใช่หรือ?
คริสตชนปัจจุบันนี้กำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤติของการอธิษฐาน
เราอธิษฐานน้อยลง เลยลดพื้นที่ชีวิตในการอธิษฐานให้จำกัดคับแคบลง การอธิษฐานจากชีวิตจิตใจ
ถูกเบียดให้ไปอยู่เพียงชายขอบของชีวิตประจำวัน หรือบางคนบางครั้ง ถูกเบียดออกจากพื้นที่ของชีวิต
การอธิษฐานกลายเป็น “ความสัมพันธ์ทางเลือก” แทน
“ความสัมพันธ์ทางหลัก” กับพระเจ้า แท้จริงแล้วการอธิษฐานเป็นสิ่งที่เป็นชีวิตจิตใจของคริสตชนที่จะต้องประสานสัมพันธ์กับพระเจ้า
แต่ถ้าเมื่อใดชีวิตตกอับคับขัน หมดทางสู้ ไม่สามารถที่จะรับมือ เมื่อนั้น เราถึงมุ่งมองหาความช่วยเหลือจากพระเจ้า
เมื่อนั้นเราถึงโหยหาพระเจ้า เมื่อนั้นเราถึงอธิษฐานจากก้นบึ้งแห่งชีวิตจิตใจต่อพระเจ้า
ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย
สันทราย เชียงใหม่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น