ถึงแม้ในยุคของเราจะไม่มีทาสแล้ว
(เขาว่ากันอย่างนั้น?) แต่เรายังมี “คนงาน กรรมกร คนใช้ ลูกจ้าง คนสวน พี่เลี้ยงเด็ก และ
คนที่ทำงานด้วยแรงงาน ฯลฯ” แต่อย่างไรก็ตาม จากรายงานขององค์การสหประชาชาติ ประมาณว่า
มีประชากรมากกว่า 89 ล้านคนที่ตกเป็นทาสในช่วงห้าปีที่ผ่านมา
และนี่ยังมิได้รวมถึงแรงงานข้ามชาติที่เป็นชาติพันธุ์ที่ถูกเอาเปรียบกดขี่แรงงานอีกมากมาย
ปัจจุบันเรามักกล่าวร้ายตีตราการใช้แรงงานทาสในอดีตว่าเป็นสังคมที่ไม่เจริญ
แต่ในยุคของเราการใช้แรงงานเยี่ยงทาสมีดาษดื่นที่เราพบเห็นได้ คริสตชนหลายคนอ่านพระธรรมฟีเลโมนแล้วบอกว่า
จดหมายฝากจากอาจารย์เปาโลฉบับนี้ “น่าจะตกยุคแล้ว” ปัจจุบันเราไม่มีทาสแล้ว แต่ถ้าเราอ่านพระธรรมสั้น
ๆ ฉบับนี้อย่างใส่ใจ คำแนะนำ คำสอน
และคำขอร้องจากเปาโลยังเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับสังคมโลกเราในปัจจุบัน
ในปัจจุบันนี้ เราอาจจะไม่มี
“ทาส” แบบในอดีต แต่เราใช้คนงานเยี่ยงทาส ในที่นี้รวมถึงนายจ้างที่เป็นคริสตชน เราปฏิบัติต่อผู้คนที่ใช้แรงงานเหล่านี้เหมือน
"คนชั้นต่ำ" ส่วนลูกเรา “พยายามให้เรียนสูง ๆ เพื่อไม่ต้องเป็นคนขายแรงงาน”
เรามองคนที่ใช้แรงงานว่าด้อยคุณค่า แย่ยิ่งกว่านั้น แม้แต่นายจ้างคริสตชนบางคนยังเอารัดเอาเปรียบผู้ใช้แรงงานที่ไม่มีทางสู้ทางกฎหมาย
ไม่ยอมจ่ายค่าแรงตามตกลง (โกงค่าแรง) ดังนั้น แม้ว่าเราไม่มีทาสตามรูปแบบ แต่พฤติกรรมของนายจ้างยังทำตนเป็น
“นายทาส” และทำต่อคนใช้แรงงานของตนเยี่ยง “ทาส” หรือแย่กว่า “ทาส”
ในพระธรรมฟีเลโมน ข้อ 15-16 เปาโลเขียนถึงฟีเลโมนว่า...
อาจเป็นได้ว่าเหตุผลที่เขา(ทาสของฟีเลโมน
ที่ชื่อโอเนสิมัส)จากท่านไปชั่วระยะหนึ่งก็เพื่อท่านจะได้เขากลับคืนมาอย่างถาวร ไม่ใช่ในฐานะทาสอีกต่อไป
แต่ดียิ่งกว่าทาสอีกคือเป็นพี่น้องที่รัก
เขาเป็นที่รักยิ่งของข้าพเจ้าและเขาจะเป็นที่รักของท่านมากยิ่งกว่า ทั้งในฐานะเพื่อนมนุษย์และในฐานะพี่น้องในองค์พระผู้เป็นเจ้า
(ฟีเลโมน ข้อ 15-16 อมธ.)
ในสมัยนั้น ทาสเป็นเรื่องธรรมดาที่มีกันทั่วไป
ตามกฎหมาย นายทาสเป็นเจ้าของชีวิตของทาส
คือมีสิทธิอำนาจเหนือชีวิตของทาส ยิ่งถ้าเป็นทาสที่หนีจากนายทาส เมื่อจับได้ชีวิตของทาสอยู่ในกำมือของนายทาย
แต่เปาโลบอกฟีเลโมนในฐานะนายทาสของโอเนสิมัสว่า เมื่อเราเชื่อในพระเยซูคริสต์แล้ว เรามีฐานเชื่อกรอบคิด
(Mindset) มุมมองใหม่
แบบพระคริสต์คือ เราจะไม่มองโอเนสิมัสว่าเป็น “ทาส” อีกต่อไป แต่มองเขาว่าเป็น
“เพื่อนมนุษย์” ที่มีคุณค่าเพราะทั้งเราและเขาต่างเป็นฝีพระหัตถ์ของพระเจ้า และเราต่างเป็นพี่น้องในองค์พระผู้เป็นเจ้าเหมือนกัน ต่างมีคุณค่าในสายพระเนตรของพระเจ้า
นายจ้างในปัจจุบัน โดยเฉพาะนายจ้างคริสตชน
จะต้องมีฐานเชื่อกรอบคิด และ มุมมอง ต่อผู้ใช้แรงงานเช่นเดียวกันนี้คือ...
©
เป็นเพื่อมนุษย์ที่มีคุณค่าตามที่พระเจ้าทรงสร้างให้อยู่ร่วมกัน
และ
©
เป็นพี่น้องในองค์พระผู้เป็นเจ้าเหมือนกัน
การเปลี่ยนแปลงสังคม
วัฒนธรรม แบบเปาโล มิได้มุ่งเน้นเปลี่ยนแปลงที่โครงสร้างสังคม หรือ
กฎหมายของบ้านเมือง แต่เปาโลมุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงภายในส่วนลึกแห่งจิตวิญญาณของคนกลุ่มเป้าหมาย
และเมื่อคนกลุ่มเป้าหมายมีการเปลี่ยนแปลงจากส่วนลึกภายในชีวิต มุมมอง ความคิด การตัดสินใจ
การกระทำก็จะเปลี่ยนแปลงด้วย และเมื่อเกิดผลดีจากการกระทำดังกล่าว
ประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงนั้นย่อมมีอิทธิพลที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม แล้วนำสู่การเปลี่ยนแปลงวิถีการคิด
วิถีปฏิบัติในวงกว้างขึ้น จนเกิดการเปลี่ยนแปลง “วัฒนธรรมในสังคม” นั้น เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงวัฒนธรรมในสังคม
นั่นย่อมนำสู่การเสริมสร้างสังคมในส่วนนั้นให้มีวัฒนธรรมตามพระกิตติคุณ กลายเป็น
“การเปลี่ยนแปลงไปสู่แผ่นดินของพระเจ้าในโลกนี้”
ตามเป้าหมายแห่งพระราชกิจของพระเยซูคริสต์ได้เริ่มต้นไว้ ให้เป็นชุมชนสังคมที่ครอบครองโดยน้ำพระทันของพระเจ้าบนแผ่นดินโลกนี้
ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย
สันทราย เชียงใหม่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น