เมื่อผมไปที่คริสตจักรท้องถิ่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวันเสาร์
และ อาทิตย์ตอนเช้า เราจะเห็นผู้ปกครอง มัคนายก หรือ ผู้นำเดินไปที่คริสตจักร ผมจะถามว่า ผู้ปกครอง/มัคนายก จะไปทำอะไรที่ไหน? แล้วก็จะได้ยินว่า...“กำลังจะไปช่วยศิษยาภิบาลทำความสะอาดโบสถ์”
“จะไปช่วยศิษยาภิบาลจัดดอกไม้” “จะไปเอารถยนต์ไปรับศิษยาภิบาลออกไปประกาศในอีกหมู่บ้านหนึ่ง”
“จะไปช่วยศิษยาภิบาลนำกลุ่มเล็กในการศึกษาพระคัมภีร์” ฯลฯ
สรุปคือ หน้าที่หนึ่งของผู้ปกครอง
มัคนายก หรือ ผู้นำคริสตจักร มีหน้าที่ช่วยศิษยาภิบาลทำพันธกิจให้สำเร็จ นี่เป็นความเข้าใจถูกต้องหรือไม่?
ส่วนใหญ่แล้วสมาชิกคริสตจักร
(และศิษยาภิบาลหลายท่าน) ที่มักจะเข้าใจว่า สมาชิกมีหน้าที่หนุนเสริม
ช่วยเหลือให้ศิษยาภิบาลสามารถทำพันธกิจของพระเจ้าให้สำเร็จ ผมขอถามตรงว่า...
ตามรากฐานของพระวจนะพระเจ้า
ใครกันแน่เป็นตัวหลักที่มีหน้าที่ในการทำพันธกิจที่สานต่อจากพระราชกิจของพระเยซูคริสต์ที่ทรงเริ่มต้นไว้?
แท้จริงแล้วในพระธรรม
เอเฟซัส 4:11-13 ได้กล่าวไว้ชัดเจน แต่หลายต่อหลายในคริสตจักรไม่ได้เข้าใจอย่างชัดเจนครบถ้วน
ไม่ได้น้อมรับคำสอนนี้เป็นรากฐานความเชื่อศรัทธาที่สำคัญของตน และไม่ได้นำพระวจนะตอนนี้มาปฏิบัติให้เป็นความเชื่อศรัทธาเชิงปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมในชีวิตประจำวันของเขา
เมื่อสมาชิกคริสตจักรมิได้ดำเนินชีวิตตามแผนการในพระวจนะของพระเจ้า
ผลที่ตามมาคือคริสตจักรเกิดความสับสน ขัดข้อง พบกับอุปสรรค คริสตจักรไม่เจริญเติบโต
และสมาชิกคริสตจักรจึงไม่รู้จักหรือมีประสบการณ์กับความชื่นชมยินดีและความสำเร็จในการรับใช้พระคริสต์ทั้งในชีวิตและพันธกิจของคริสตจักร
และ การทำพันธกิจรับใช้พระคริสต์ในชุมชน พันธกิจในอาชีพการงาน และ พันธกิจในครอบครัวและบ้านใกล้เรือนเคียงของตน
ศิษยาภิบาล และ
สมาชิกคริสตจักรในปัจจุบันมีมุมมอง ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง
“การทำพันธกิจของคริสตจักร” ใน 3 ลักษณะ ดังนี้ (ข้อมูลที่ใช้เขียนบทความนี้ได้จากการพูดคุย สังเกต
สัมภาษณ์บุคคลต่าง ๆ เมื่อผู้เขียนมีโอกาสลงไปเยี่ยมคริสตจักรท้องถิ่น)
1. คริสตจักรจ้างศิษยาภิบาลมาเพื่อให้มาเป็นผู้ทำพันธกิจของคริสตจักร
คริสตจักรท้องถิ่นส่วนใหญ่ในประเทศไทย
ทั้งพื้นราบและพื้นที่สูง มักมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่า คณะธรรมกิจคริสตจักร (เป็นเหมือนนายจ้าง)
มีอำนาจเหนือศิษยาภิบาลที่คริสตจักรจ้าง เพราะคณะธรรมกิจมักเข้าใจว่า ตนได้รับเลือกตั้งให้มีอำนาจปกครองและบริหารคริสตจักร?
ศิษยาภิบาลจึงกลายเป็นเหมือน “มือปืนรับจ้าง” ทำพันธกิจคริสตจักร?
คณะธรรมกิจคริสตจักรส่วนใหญ่ในมุมมองนี้มักเข้าใจว่า
เขาจ้างศิษยาภิบาลมาให้เป็นคนดำเนินการงานพันธกิจในคริสตจักร รับผิดชอบทั้งการเทศนา
สอน ศาสนพิธี และ อย่าลืมออกไปเยี่ยมเยียนด้วย รวมทั้งความเรียบร้อยของคริสตจักร พูดชัด
ๆ คือ จ้างศิษยาภิบาลมาทำงานต่าง ๆ ของคริสตจักร
จะมีผู้นำ หรือ อาสาสมัครที่ถวายตัวเพียงไม่กี่คนที่เข้ามาช่วยงานของศิษยาภิบาลในการสอนรวีฯ
ในคริสตจักร ผู้นำกลุ่มย่อย ผู้นำการอธิษฐาน คนช่วยผ่านถุงถวายในโบสถ์ คนเล่นดนตรีในการนมัสการพระเจ้า
ผู้นำนมัสการ (มีคนมาช่วยในบางงานเท่านั้น)
ดูไปแล้ว ถ้าคริสตจักรทำอย่างที่ว่าข้างบนดูจะเรียบร้อยดี
แต่ส่วนมากแล้วจะเป็นคริสตจักรที่มุ่งสนใจแต่ชีวิตและพันธกิจภายในรั้ว/ในกำแพงโบสถ์เท่านั้น
เป็นคริสตจักรที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ยาก และคงลำบากที่จะเข็นให้คริสตจักรเช่นนี้ก้าวหน้า
2. คริสตจักรมีสมาชิกถวายตัว/อาสาที่จะช่วยศิษยาภิบาลในการทำพันธกิจ
สมาชิกคริสตจักรเข้ามาช่วยศิษยาภิบาลในการทำพันธกิจด้านต่าง
ๆ ซึ่งจะมีสภาพที่ดีกว่าข้อแรกที่ศิษยาภิบาลเป็นเหมือน “มือปืนรับจ้าง”
ในการทำพันธกิจคริสตจักรทุกเรื่อง
เราจะเห็นว่า คริสตจักรประเภทสองนี้มีสมาชิกหลายคน
หรือ จำนวนมากที่กระตือรือร้นกระโดดเข้ามารับใช้ในพันธกิจหลายด้านในคริสตจักร
ศิษยาภิบาลเป็นผู้เลี้ยงที่
“กระตุ้นหนุนเสริม” สมาชิก และขอบคุณที่สมาชิกเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระของศิษยาภิบาล
และในพันธกิจหลายด้านศิษยาภิบาลได้มีการฝึกฝนเสริมสร้างสมาชิกในการทำพันธกิจด้านที่เขาเข้ามาช่วยศิษยาภิบาลในคริสตจักร
แต่ศิษยาภิบาลยังเป็นผู้นำที่รับผิดชอบชีวิตจิตวิญญาณ
และ งานพันธกิจทุกด้านในคริสตจักร
และสมาชิกมักมองว่าคนที่ทำให้เกิดชีวิตและพันธกิจที่ขับเคลื่อนไปได้เช่นนี้เพราะการนำของ
“ศิษยาภิบาล” (และศิษยาภิบาลหลายคนก็ต้องการเห็นเช่นนี้ด้วย) กล่าวคือ ศิษยาภิบาลยังเป็นตัวหลักในการทำพันธกิจคริสตจักร
แต่มีสมาชิกส่วนหนึ่งเข้ามาช่วยงานศิษยาภิบาลรอบด้าน
คริสตจักรประเภทที่สองนี้มีบรรยากาศที่สร้างสรรค์
เปิดใจยอมรับการเปลี่ยนแปลง มีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ แต่อยู่ในอัตราที่เชื่องช้า เพราะทุกพันธกิจยังต้องพึ่งพาศิษยาภิบาล
เป็นคริสตจักรที่มีความเป็นมิตร แต่ยังไม่ถึงระดับประเภทที่สาม ที่จะยอมรับรูปแบบคริสตจักรตามพระธรรมเอเฟซัส
บทที่ 4
3. ศิษยาภิบาลเสริมหนุนสมาชิกให้เป็นตัวหลักในการทำพันธกิจของคริสตจักร
คริสตจักรประเภทที่สามนี้เป็นคริสตจักรบนหลักการรากฐานตามพระธรรมเอเฟซัส
4:11-13 เป็นคริสตจักรที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากหลักคิดและฐานเชื่อในสองประเภทก่อนหน้านี้
ศิษยาภิบาลในคริสตจักรประเภทที่สาม
เป็นผู้นำที่ “สั่งสอนเสริมสร้างสมาชิกคริสตจักร” ให้เป็นตัวหลักในการทำพันธกิจที่พระเจ้าทรงเรียกแต่ละคนให้ทำ
ตามของประทานที่แต่ละคนได้รับในชีวิตของตน
ศิษยาภิบาลเป็นโค้ช ส่วนสมาชิกทุกคนเป็นผู้นำในด้านจิตวิญญาณที่ช่วยการเสริมสร้างคริสตจักรของพระคริสต์
บรรยากาศในคริสตจักรประเภทที่สามนี้คือ “การสั่งสอนเสริมสร้าง” ที่จะให้สมาชิกทุกคนช่วยกันนำและขับเคลื่อนพันธกิจทุกด้านของคริสตจักร
ทั้งพันธกิจในคริสตจักร และ พันธกิจในชุมชน ทุกตำแหน่งที่รับผิดชอบพันธกิจแต่ละอย่างมีสมาชิกที่นำและรับผิดชอบ
อีกทั้งสมาชิกรับผิดชอบพันธกิจในชีวิตประจำวันของตนด้วย
ศิษยาภิบาลชื่นชมขอบคุณสมาชิกมิใช่เพราะเขามาช่วยศิษยาภิบาลทำพันธกิจให้สำเร็จ
แต่ชื่นชมและขอบคุณสมาชิกที่เข้ามารับใช้ พระคริสต์
ในการสานต่อพระราชกิจแผ่นดินของพระเจ้าในโลกนี้ ตามของประทานที่แต่ละคนมี และนี่คือนิมิตของคริสตจักร
คริสตจักรประเภทนี้จะช่วยให้สมาชิกแต่ละคนรู้สึกสนุกกับการทำพันธกิจในด้านต่าง
ๆ และรู้สึกได้ว่าชีวิตของตนได้รับการเติมเต็ม และมีประสบการณ์ตรงในชีวิตกับคุณภาพชีวิตในแผ่นดินของพระเจ้ามากขึ้น
คริสตจักรของท่านเป็นคริสตจักรประเภทไหนในขณะนี้?
ทำไมท่านถึงคิดเช่นนั้น? สมาชิกในคริสตจักรของท่านควรได้รับ “การหนุนเสริม”
ในเรื่องใดบ้าง เพื่อจะเป็นคริสตจักรที่มุ่งไปสู่พระประสงค์ของพระเจ้า?
ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย
สันทราย เชียงใหม่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น