พระเยซูคริสต์มิได้สอน
และ พระกิตติคุณทั้ง 4 ฉบับก็มิได้บันทึกเรื่อง “เศรษฐศาสตร์แห่งพระคุณ” ไว้ตรง ๆ
ยิ่งกว่านั้น ในพระกิตติคุณยังไม่มีคำว่า “เศรษฐศาสตร์แห่งพระคุณ” ปรากฏที่ไหนเลย
แต่ “เศรษฐศาสตร์แห่งพระคุณ” เป็นการสังเคราะห์จากคำสอน และ
การกระทำของพระเยซูคริสต์ที่ได้บันทึกในพระกิตติคุณทั้ง 4 ฉบับ
โดยมีความมุ่งมั่นที่จะค้นหาสิ่งที่เป็น “กรอบคิดฐานเชื่อ” (หรือ mindset)
ในเรื่องนี้ของพระเยซูคริสต์ เพื่อคริสตชนจะรู้ชัดและมีหลักยึด
ที่ส่งผลต่อมุมมอง วิธีคิด การตัดสินใจ และ
การดำเนินชีวิตในด้านเศรษฐศาสตร์ของชีวิตที่ปัจจุบันมีอิทธิพลครอบงำทุกด้าน/ทุกมิติในการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา
(1)
ชีวิตของทุกคนมีคุณค่า
จากคำอุปมาเรื่องการทำงานและค่าจ้าง
(มัทธิว 20:1-16) ที่มีกลุ่มแรงงานมาทำงานตอนเช้า ตอนสาย ตอนบ่าย และตอนเย็น
แต่เมื่อเสร็จการทำงานนายจ้างให้ค่าแรงแก่ทุกคนเท่ากับค่าแรงหนึ่งวันแก่ทุกคน
คนที่มาก่อนคิดในใจว่า ตนน่าจะได้เงินค่าจ้างมากกว่า เพราะตนมาทำงานนานกว่า
แต่เมื่อนายจ้างจ่ายค่าจ้างทุกคนได้เท่ากัน คนที่มาก่อนก็โวยวายว่า นี่มัน
“ไม่ยุติธรรม”
ทำไมคนทำงานงานน้อยชั่วโมงจึงได้เงินค่าจ้างเท่ากับคนที่ทำงานหลายชั่วโมง หรือ
ทำงานทั้งวัน?
แต่นายจ้างชี้แจงว่า
ทุกคนได้เงินค่าจ้างตามที่ตกลงไว้ นายจ้างไม่ได้โกงค่าแรงของใครเลย
แต่การที่นายจ้างเต็มใจให้ค่าจ้างแก่คนที่มาทำงานทีหลังด้วยค่าแรงเต็มวัน
ก็เพื่อช่วยให้ครอบครัวแรงงานทุกคนมีรายได้ที่จะอยู่รอดได้
เพราะนายจ้างให้เงินค่าจ้างเต็มวันมิใช่เพราะเขาทำงานให้มาก
แต่เพราะเขาและครอบครัวควรที่จะอยู่รอดในวันนี้ และนี่เป็น “พระคุณ” ของนายจ้าง
ดังนั้น
ในระบบเศรษฐศาสตร์แห่งพระคุณ จึงมิใช่เน้นทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย
แต่เน้นคุณค่าชีวิตที่ทุกคนจะต้องอยู่รอดได้วันนี้
(ขอประทานอาหารประจำวันแก่ข้าพระองค์ทั้งหลายในวันนี้) ความยุติธรรมของ
“ระบบเศรษฐศาสตร์แห่งพระคุณ” จึงแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับความยุติธรรมใน
“ระบบเศรษฐศาสตร์ทุนนิยม” เพราะสิ่งต่าง ๆ ในระบบทุนนิยมเป็นเรื่องการแลกเปลี่ยน
และในเรื่องนี้เขาเอาแรงงานมาแลกเปลี่ยนกับค่าจ้าง ดังนั้น คนที่ทำงานมาก
ต้องได้รับค่าแรงมากตามกรอบคิดของระบบทุนนิยม
แต่สำหรับระบบเศรษฐศาสตร์แห่งพระคุณเน้นเรื่องคุณค่าและความสำคัญของชีวิตและความสัมพันธ์เป็นสำคัญ
ในที่นี้ชีวิตสำคัญมากกว่า “ค่าแรงงาน” และ “จำนวนแรงงานที่ได้ทุ่มเททำลงไป” หรือ
“ใครมาทำงานก่อน ใครมาทำงานทีหลัง”
แต่ความสำคัญอยู่ที่แต่ละคนควรมีโอกาสที่จะอยู่รอด และ
อยู่อย่างมีคุณค่าและความหมายในชีวิต
(2)
เศรษฐศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องชีวิตสำคัญกว่าทรัพย์สิน
เรื่องบุตรคนเล็กที่ใช้จ่ายทรัพย์สินจนหมดเนื้อหมดตัว
(ลูกา 15:11-32) โทรมกลับมาหาพ่อ ขอสมัครเป็นคนงานในบ้านพ่อ แต่พ่อกลับกอด จูบ
และต้อนรับเขาในฐานะลูกที่รัก มิหนำซ้ำยังจัดงานเลี้ยงใหญ่เฉลิมฉลองการกลับมาของลูก
แต่พี่ชายไม่พอใจที่พ่อทำเช่นนั้น เพราะน้องผลาญทรัพย์ที่เอาไปจากบ้านจนหมดสิ้น
แต่พ่อพูดกับลูกคนโตว่า “น้องของเจ้าเหมือนตายไปแล้ว และกลับมามีชีวิตใหม่”
พ่อมิได้ให้ความสำคัญที่ทรัพย์สินเงินทอง แต่พ่อกลับมองว่า
การมีชีวิตกลับมายังบ้านสำคัญกว่าทรัพย์สินมากมายที่สะสมไว้ในบ้าน
และทรัพย์สินที่สูญเสียไป
ระบบเศรษฐศาสตร์แห่งพระคุณ
ให้ความสำคัญที่สุดที่ “ชีวิต” เป็นชีวิตนิยม มิใช่อยู่ที่ทรัพย์สินเงินทอง หรือ
การมีทุนสะสมมาก ๆ ที่เป็น “ทุนนิยม” “วัตถุนิยม”
(3)
เศรษฐศาสตร์แห่งการให้: การให้ชีวิตเพื่อคนอื่นจะได้ชีวิตใหม่ และ โอกาสใหม่
พ่อค้าชาวสะมาเรียที่เดินทางไปยังเมืองเยริโค
ตัดสินใจรีบลงไปช่วยชาวยิวที่ถูกโจรปล้นและทำร้ายชีวิต
เขาให้ชีวิตด้วยการให้ทุกอย่างที่เขามีในตอนนั้น เช่น
ยอมให้เวลาที่ลงไปช่วยชาวยิวที่บาดเจ็บ ใช้เหล้าองุ่น
ผ้าพันแผลที่มีติดตัวมารักษาคนเจ็บ
เอาคนยิวที่บาดเจ็บขึ้นบนหลังลาบรรทุกเขาจนไปถึงในเมือง ใช้เงินเช่าห้องพัก และ
จ้างคนดูแลในโรงแรมใช้ดูแลอย่างดี ตนจะกลับมาเสียค่าใช้จ่ายทั้งหมด
เขายอมเสี่ยงที่จะถูกโจรทำร้ายที่ลงไปช่วยคนยิว และที่สำคัญคือ ในความสัมพันธ์
เขามองข้ามความเกลียดชังและการเหยียดหยามดูถูกที่คนยิวมีต่อคนสะมาเรีย และ
มองข้ามพรมแดนความเป็นมิตรและศัตรู
ระบบเศรษฐกิจแห่งพระคุณ
ที่ให้ชีวิตคือให้ทุกอย่างที่ตนมีในเวลานั้นของชีวิต
เพื่อที่จะช่วยให้คนที่เราสัมพันธ์สัมผัสนั้นรอดมีชีวิตใหม่อีกครั้งหนึ่ง
(4)
ระบบเศรษฐศาสตร์แห่งพระคุณ เป็นเส้นทางนำสู่ความรอด
เศรษฐีหนุ่มมาถามพระเยซูคริสต์ว่า
เขาต้องทำอย่างไรถึงจะได้ชีวิตที่ครบบริบูรณ์ พระเยซูบอกเขาว่า
ให้เอาทรัพย์สมบัติที่เขามีขายแล้วนำเงินไปช่วยคนยากคนจน
เขาออกจากวงสนทนาไปด้วยความทุกข์ใจโศกเศร้า ชีวิตนิรันดร์ก็อยากได้
ทรัพย์สมบัติเงินทองก็ต้องการเก็บสะสมไว้ให้มีมาก ๆ
เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงในชีวิต ตกลงระหว่างชีวิตนิรันดร์ กับ
ทรัพย์สมบัติเงินทองมากมายที่เขามีอยู่อะไรที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับเศรษฐีหนุ่มคนนั้น?
พระเยซูคริสต์ได้เล่าคำอุปมาเรื่องเศรษฐีโง่
ที่ต้องการสะสมทรัพย์สินเงินทองเก็บไว้เพื่อตนเอง แต่เขากลับไม่ใส่ใจว่า
ชีวิตของเขาจะต้องจบสิ้นลง
แล้วทรัพย์สินเงินทองที่สะสมไว้มากมายมหาศาลจะเป็นประโยชน์อะไรสำหรับเขา
แต่
“ระบบเศรษฐกิจแห่งการให้” ที่พระเยซูคริสต์บอกเขา
เป็นเส้นทางที่จะนำไปสู่ชีวิตที่ครบบริบูรณ์ ชีวิตที่ไปถึงความรอด ชีวิตที่สานต่อแผ่นดินของพระเจ้าบนโลกนี้
ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย
เชียงใหม่
E-mail:
prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น