จากการเกิดวิกฤติโควิด
19 คริสตจักรเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ได้รับกระทบที่รุนแรง และมีส่วนที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งชีวิต
และ พันธกิจคริสตจักร และอีกส่วนหนึ่งที่กระทบอย่างมาก คือศิษยาภิบาลในคริสตจักรท้องถิ่น
จนอาจจะสามารถกล่าวได้ว่า “ศิษยาภิบาลเปลี่ยนไป...” หลังวิกฤติโควิด 19
จากการสังเกตและการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตและการทำพันธกิจคริสตจักร
และ การทำงานของศิษยาภิบาลคริสตจักรท้องถิ่นต่าง ๆ ในขั้นต้นที่สถานการณ์วิกฤติยังไม่ลงตัว
พอประมาณการคร่าว ๆ ได้ว่า ตัวของศิษยาภิบาล และ การทำหน้าที่อภิบาลได้รับผลกระทบจนเกิดการเปลี่ยนแปลง
ดังนี้
1)
ศิษยาภิบาลส่วนหนึ่งจะเติบโตแข็งแรงขึ้นจากสถานการณ์โควิด 19 และอีกส่วนหนึ่งจะท้อถอยเพราะตนเองไม่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ในสถานการณ์วิกฤติโควิด
19 ศิษยาภิบาลส่วนหนึ่งปรับตัวได้อย่างไม่น่าเชื่อ ศิษยาภิบาลกลุ่มนี้มีฐานเชื่อกรอบคิด
(mindset)
ว่า พระเจ้าทรงประทานสิ่งจำเป็นมากมายแม้ในภาวะวิกฤติที่ขาดแคลน ศิษยาภิบาลกลุ่มนี้มีมุมมองอนาคตอย่างสร้างสรรค์
ในขณะที่ศิษยาภิบาลอีกกลุ่มหนึ่งรอเวลาที่คริสตจักรและชุมชนจะกลับไปสู่สภาพเดิมที่เคยเป็น
แต่น่าเสียดายทั้งคริสตจักรและสังคมจะไม่กลับไปสู่สภาพอย่างในอดีตอีกแล้ว หลังการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้
ศิษยาภิบาลกลุ่มหลังจะอยู่ยากรับใช้ลำบาก
2)
ศิษยาภิบาลจำนวนมากขึ้นเริ่มจะมองว่าอาคารโบสถ์เป็นเพียงเครื่องมือมิใช่เป้าหมายในการทำพันธกิจคริสตจักร
ศิษยาภิบาลได้แบ่งปันประสบการณ์ถึงคริสตจักรที่เขารับใช้สามารถขับเคลื่อนไปอย่างน่าทึ่งแม้อยู่ท่ามกลางวิกฤตินี้ก็ตาม
แม้ว่าสมาชิกจะไม่มีการพบปะกันทางกายภาพ และอาคารโบสถ์มิใช่ศูนย์กลางของชีวิตคริสตจักรอีกต่อไป
ดังนั้นสิ่งที่บ่งชี้ความสำเร็จของชีวิตและพันธกิจคริสตจักรจึงมิใช่มีคนมาร่วมกันในคริสตจักรอาทิตย์ละกี่คน
ได้รับเงินถวายเท่าใด และที่คริสตจักรทำกิจกรรมอะไรบ้าง
แต่ศิษยาภิบาลกลุ่มนี้กลับมอง
“คริสตจักรที่เป็นชีวิตของผู้เชื่อ และ กลุ่มคนผู้เชื่อ”
เป็นที่สถิตของพระเจ้า คริสตจักร
(ที่เป็นชีวิตผู้เชื่อ) เป็นพระวรกายที่ขับเคลื่อนพระราชกิจของพระเยซูในชีวิตประจำวันท่ามกลางคนในชุมชนที่สมาชิกคน
ๆ นั้นเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์เกี่ยวข้องด้วย พวกเขาสื่อสารสัมพันธ์กันใกล้ชิด
“ในอากาศ” (สื่อออนไลน์) และ ทางกายภาพด้วยเมื่อมีโอกาสอำนวย เป็นความสัมพันธ์หนุนเสริมกันและกันด้วยพลังแห่ง
“พระวิญญาณบริสุทธิ์”
คริสตจักรแบบหลังนี้เองที่จะ
“เขย่า และ พลิกคว่ำ”
สังคมโลกนี้ในพื้นที่ที่มีผู้คนรวมกันเป็นคริสตจักรให้เปลี่ยนแปลงเป็น
“แผ่นดินของพระเจ้า”
3)
ศิษยาภิบาลจำนวนมากขึ้นที่จะมองว่าโลกของการสื่อสารออนไลน์เป็นโอกาสสำหรับพระกิตติคุณ
มากกว่าที่จะมองว่าเครื่องมือสื่อออนไลน์ทันสมัยเป็นเครื่องมือของซาตานที่ล่อลวงให้ทำชั่ว
แน่นอนว่าที่ผ่านมา เครื่องมือสื่อสารออนไลน์ได้สร้างความชั่วความเสียหายมากมายหลายด้านในผู้คนวัยต่าง
ๆ ถ้วนหน้า แต่ในช่วงวิกฤติโควิด 19 ศิษยาภิบาลหลายท่านได้เห็นและมีประสบการณ์ว่า เครื่องมือสื่อสารทันสมัยตัวนี้มิได้ดีชั่วในตัวของมันเอง
แต่อยู่ที่ผู้ใช้ ดังนั้น เครื่องมือสื่อสารดิจิตัลทันสมัยที่นำมาใช้ในพระราชกิจของพระเจ้าก็จะเกิดผลดีเกินกว่าที่คาดคิด
จากประสบการณ์ในวิกฤติโควิด
19 ทำให้ศิษยาภิบาลหลายท่าน “คิดใหม่ มองใหม่” ต่อการใช้เครื่องมือสื่อสารออนไลน์ทันสมัยเหล่านี้
และพระเจ้าสามารถอวยพระพรผ่านการทำพันธกิจด้านต่าง ๆ ผ่านการใช้เครื่องมือสื่อสารเหล่านี้ด้วย
แน่นอนว่า ศิษยาภิบาลกลุ่มนี้ต้องการการหนุนเสริมให้ศิษยาภิบาล ผู้นำ และสมาชิกคริสตจักรมีทักษะความสามารถในการใช้เครื่องมือสื่อทันสมัยนี้ในพระราชกิจของพระเจ้ามากยิ่งขึ้น
ในขณะที่ศิษยาภิบาลอีกกลุ่มหนึ่งเฝ้ารอให้สถานการณ์โควิด
19 กลับสู่สภาพเดิมแล้วทำพันธกิจอย่างที่คริสตจักรและที่ตนเคยทำมาก่อนหน้านี้ ศิษยาภิบาลกลุ่มนี้ไม่สนใจที่จะพัฒนาศักยภาพ
ความสามารถ
หรือของประทานจากพระเจ้าในการใช้เครื่องมือสื่อสารทันสมัยนี้ในการรับใช้พระเจ้าในโลกนี้
4)
ศิษยาภิบาลจำนวนมากขึ้นได้ค้นพบ และ เข้าไปมีส่วนร่วมชีวิตในชุมชนมากขึ้น
ที่ผ่านมา
ทั้งศิษยาภิบาล ผู้นำคริสตจักรบางกลุ่มมักวางกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่จะให้คนในชุมชนเข้ามาร่วมกิจกรรมในคริสตจักร
แต่วิกฤติโควิด 19 กดดันให้การทำพันธกิจของคริสตจักรต้องออกไปติดต่อ
สื่อสารสัมพันธ์ และเข้าถึงคนในชุมชน อาคารโบสถ์-บริเวณคริสตจักรเป็นพื้นที่หนึ่งที่พวกเขาอาจจะใช้เป็นที่พบปะ
เพื่อเตรียมการทำพันธกิจของพระเจ้า แต่มิใช่เป้าหมายปลายทางของพื้นที่ในการทำพันธกิจของเขา
ผู้นำที่ได้รับประสบการณ์ดังกล่าวจึงพยายามแสวงหาแนวทางในการทำพันธกิจที่สร้างสรรค์ที่มีอิทธิพล
มีพลังที่สร้างผลกระทบต่อชีวิตของชุมชน ดังนั้น คริสตจักรจึงมุ่งที่จะเข้าไปถึงคนในชุมชน
มากกว่าการที่จะเชิญชวนคนในชุมชนมาในตัวอาคารหรือบริเวณคริสตจักรอย่างที่เคยทำกันในอดีต
5)
ศิษยาภิบาลจำนวนหนึ่งมองเรื่องการชี้วัดความสำเร็จงานคริสตจักรแตกต่างไปจากเดิม
จากการเก็บข้อมูลของหลายคริสตจักรพบว่า
ครั้งเมื่อมีการนมัสการพระเจ้าที่รวมศูนย์ในคริสตจักรมีคนมาร่วมนมัสการ 100 คน แต่เมื่อมีการถ่ายทอดการนมัสการออนไลน์ออกไป
มีคนเข้าชม/ร่วมนมัสการค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจนในสัปดาห์ที่ 3 มีผู้เข้าร่วม/ชม 250 คน อะไรที่ทำให้เกิดผลที่แตกต่างกันมากมายเพียงนี้? และยังพบว่า คนส่วนใหญ่ที่เข้าร่วม/ชมการนมัสการเกือบทั้งหมดเป็นคนในพื้นที่
ที่คริสตจักรสามารถเข้าถึงและติดต่อได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งติดต่อผ่านกลุ่มเล็กของคริสตจักรในชุมชนต่าง
ๆ และ ครอบครัวสมาชิกในพื้นที่ต่าง ๆ และจากจุดนี้เองที่คริสตจักรสามารถที่จะรับใช้ตามบริบทชีวิตของคนเหล่านี้ในชุมชน
จากวิกฤตโควิด 19 ช่วยให้ศิษยาภิบาลมองเห็นช่องทางต่าง ๆ ที่สามารถทำพันธกิจอย่างมีประสิทธิภาพ
แต่ปัญหาคือ ศิษยาภิบาลจะต้องเปลี่ยนวิถีการทำงานพันธกิจคริสตจักรของตน
และจะต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการ และ กระบวนการการอภิบาลชีวิตสมาชิก และ
อภิบาลชีวิตชุมชนด้วย
ให้เรามองไปที่ทางเปิดกว้างของพระเจ้าสำหรับเราในการทำพระราชกิจของพระองค์
มากกว่าการมุ่งมองไปที่อุปสรรคที่กีดขวางการทำพันธกิจที่เกิดจากโควิด 19
ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย
เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น