ความจริงในวิกฤตโควิด
19 ที่พึงตระหนัก
ชีวิตช่วงสั้น ๆ ที่ผ่านมาต้องบอกว่าไม่ได้คาดฝันมาก่อนเลยว่ามันจะเกิดแก่ตนเอง
ที่ชีวิตต้องปรับเปลี่ยน การทำพันธกิจคริสตจักรต้องปรับตัว บางทีท้าทายให้ต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่เลยทีเดียว
เราต้องทำพันธกิจคริสตจักรในภาวะที่ต้องเว้นระยะทางสังคม และต้องเก็บกักตนเองเพื่อส่วนรวม
ศิษยาภิบาลหลายท่านถามว่า แล้วการทำพันธกิจในภาวะเช่นนี้จะไปอีกนานแค่ไหน?
ใช่ครับ
เราต่างไม่ได้รับการเรียนรู้ฝึกฝนเตรียมตัวในการทำพันธกิจคริสตจักรในภาวะอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
เราไม่เคยทำพันธกิจการอภิบาลชีวิตในภาวะโรคระบาดอย่าง โควิด 19 มาก่อน ความกลัวดูมันแพร่กระจายไปทุกหนแห่งอาจจะมากกว่าตัวโควิด
19 เองเสียอีก ผมเชื่อแน่ว่าท่านก็เป็นคนหนึ่งที่ต้องเผชิญและปล้ำสู้กับภาวะวิกฤตินี้เช่นกัน
ในภาวะเช่นนี้ การอภิบาลชีวิตผู้คนจะต้องยึดมั่นยืนหยัดบนสัจจะความจริงในพระวจนะของพระเจ้า
เราท่านต่างก็รู้ความจำเป็นในประการนี้แน่นอน แล้วท่านอาจจะเทศนาเรื่องเหล่านี้ไปแล้วก็ได้
ในในภาวะวิกฤตโควิด 19 ให้เรามาทบทวนรากฐานความเชื่อตามพระคัมภีร์ก่อนที่เราจะตัดสินใจทำสิ่งสำคัญๆในชีวิตของสมาชิกคริสตจักร
และ คนในชุมชน
ประการแรก
ไม่ใช่ทุกเรื่องที่เราได้ยินจะเป็นเรื่องจริงเสมอไป
ความคิดเห็น หรือ
ข้อเท็จจริงที่สื่อสารกันในสื่อช่องทางต่าง ๆ ที่เราอ่านเราเสพต้องพึงตระหนักว่าทุกเรื่องทุกข่าวทุกความคิดเห็นมิได้เป็นเรื่องจริงเสมอไป
เพื่อน ๆ หรือคนรู้จักอาจจะส่งข่าวปลอมข่าวเท็จมาให้เราอย่างไม่ตั้งใจก็ได้ ดังนั้น
เราจำเป็นต้องเลือกในการเสพสื่อ แต่ละคนที่สื่อสารมาต่างมีจุดประสงค์ และ
จุดยืนที่แตกต่างกัน ไม่ว่าทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และ ฯลฯ ในวิกฤตนี้
“คนสุขุมทุกคนทำการด้วยความรู้...”
(สุภาษิต 16:13 มตฐ.) กล่าวคือ ใครก็ตามที่กระทำด้วยความรู้เขาจะไม่กลัว ให้เราแสวงหาข้อเท็จจริงจากบุคคล หรือ
แหล่งข่าว-ข้อมูลที่เชื่อถือได้
ประการที่สอง
ไม่ใช่ทุกคนเสี่ยงเท่ากันในวิกฤตินี้
ข้อเท็จจริงชัดเจนว่าผู้สูงอายุ
60 ปีขึ้นไปหรือคนที่มีโรคประจำตัว จะต้องระมัดระวังตัวอย่างมากในภาวะแพร่ระบาดของเชื่อโควิด
19 ผมรู้ว่าศิษยาภิบาลมีใจเกินร้อยที่ต้องการทำพันธกิจอภิบาลชีวิตผู้คน แต่ถ้าท่านเป็นศิษยาภิบาลในกลุ่มนี้
ขอท่านระมัดระวังอย่างสูงในการทำพันธกิจการอภิบาลชีวิตด้วยวิธีการที่ปลอดภัยต่อชีวิตของท่านเองด้วย ท่านพึงรับใช้ด้วยความสัตย์ซื่อ ด้วยปัญญา
และไม่ประมาท
ประการที่สาม
สถานการณ์นี้เกิดขึ้นแล้วจะมีเวลาที่จะผ่านเลยไป
พระคัมภีร์บอกแก่เราว่า
“เพื่อนที่รัก
อย่าแปลกใจกับการทดลองอันเจ็บปวดที่ท่านเผชิญอยู่ราวกับว่าสิ่งแปลกประหลาดได้เกิดขึ้นกับท่าน”
(1เปโตร 4:12 อมธ.) ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ทุกข์ยากลำบาก แต่มันจะไม่เป็นเช่นนี้เสมอไปไม่สิ้นสุด
เราได้รับข้อมูลความรู้และหลักการในการปฏิบัติจากผู้รู้ทางสุขภาพ
เราต้องทำตนเพื่อช่วยให้ลดการแพร่ระบาดของเชื้อนี้โดยเร็ว เราไม่ต้องตกในภาวะที่ทุกข์ยากลำบากอย่างไม่สิ้นสุด
เราจะกลับสู่ภาวะปกติและอาจจะเป็นภาวะใหม่ที่ดีกว่าเดิมก็ได้
ประการที่สี่
ยึดมั่นในสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง มิใช่ว้าวุ่นใจในสิ่งที่กำลังเปลี่ยนแปลง
มีสิ่งต่าง ๆ มากมายที่เปลี่ยนแปลงในโลกนี้
ในชุมชนของท่าน และในพันธกิจคริสตจักรที่ท่านกระทำโดยเฉพาะในช่วงเวลาข้างหน้านี้ เราท่านไม่รู้ถึงการเปลี่ยนแปลงทุกเรื่องในภาวการณ์แพร่ระบาดของโควิด
19 และสิ่งที่ท่านต้องรับใช้ในภาวะวิกฤตินี้ท่านไม่รู้ล่วงหน้า ไม่ได้วางแผนมาก่อน
ดังนั้นขอให้เราให้ความยืดหยุ่นพลิกแพลงในสถานการณ์นี้ แต่ต้องตระหนักชัดและใส่ใจแน่วแน่ในสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง
พระคัมภีร์บอกว่า “พระเยซูคริสต์ทรงเป็นเหมือนเดิมเสมอ
ทั้งเมื่อวานนี้ วันนี้ และสืบไปนิรันดร์” (ฮีบรู 18:8 อมธ.)
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและมากมายอีกทั้งรวดเร็วนี้ ท่านสามารถเชื่อและวางใจในสัจจะความจริงนี้ ท่านสามารถเชื่อและวางใจได้เลยว่า พระเจ้าทรงรักเมตตาท่าน
คนในชุมชน และสมาชิกในคริสตจักรของท่าน
พระองค์จะไม่เปลี่ยนแปลงเลย การทรงเรียกของพระเจ้าที่มีต่อชีวิตของท่านก็ไม่เปลี่ยนแปลง
อย่าให้สภาวะการเปลี่ยนแปลงที่กำลังโหมกระหน่ำในเวลานี้ทำให้เราต้องหลงทาง สงสัย
หรือ บดบังผู้ที่ไม่เปลี่ยนแปลงตลอดกาลจากเรา
ประการที่ห้า
พระเจ้าทรงเคียงข้างเราให้ผ่านวิกฤตนี้
พระเจ้าจะทรงเคียงข้างก้าวเดินไปกับเรา
เราอาจจะรู้สึกโดดเดี่ยว ท่านอาจจะรู้สึกว่าไม่มีใครเข้าใจท่านที่ต้องแบกรับภาระหนักอึ้งในเวลานี้
แต่เราจะไม่อยู่โดดเดียวตัวคนเดียว ขอท่านให้กำลังใจแก่ตนเองจากอิสยาห์ 43:2
ในช่วงเวลาเช่นนี้ว่า “เมื่อเจ้าลุยข้ามน้ำ
เราจะอยู่กับเจ้า และเมื่อข้ามแม่น้ำ มันจะไม่ท่วมเจ้า เมื่อเจ้าเดินผ่านไฟ
เจ้าจะไม่ถูกไหม้และเปลวเพลิงจะไม่เผาเจ้า” (มตฐ.) ขอให้มุ่งมองไปที่สัจจะความจริงประการนี้
มิใช่มีจิตใจวอกแวกไปสนใจเสียงรอบข้าง หรือ ข่าวสารข้อมูลในอินเตอร์เนทในขณะนี้ แล้วท่านจะมีจิตใจสรรเสริญพระเจ้าแทนจิตใจที่สับสนวุ่นวาย
ประการที่หก
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มิใช่จุดจบของชีวิต
พระคัมภีร์บอกเราว่า “เราเผชิญความยากลำบากรอบด้าน
แต่ก็ไม่ถูกบดขยี้ เราสับสนแต่ก็ไม่หมดหวัง เราถูกข่มเหงแต่ก็ไม่ถูกทอดทิ้ง
เราถูกตีให้ล้มลง แต่ก็ไม่ถูกทำลาย...เรารู้ว่าพระองค์ผู้ทรงให้พระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นขึ้นมานั้น
จะทรงให้เราเป็นขึ้นมากับพระเยซูด้วย” (2โครินธ์ 4:8, 14 มตฐ.) ในช่วงเวลาของการเป็นขึ้นจากความตายของพระคริสต์ทำให้เราระลึกได้ว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเราจะได้รับชัยชนะ
ไม่ว่าโควิด 19 จะฉุดชีวิตของเราไป
เราจะไปอยู่ต่อพระพักตร์ของพระเจ้า ในวันนั้น ความเจ็บปวดทั้งสิ้น ความเจ็บป่วย
ความโศกเศร้าจะสิ้นสุดลง และในเวลานั้น โควิด
19 จะไม่ได้อยู่ในสวรรค์
เราไม่รู้ว่า...อนาคตจะเป็นเช่นไร
แต่เรารู้แน่แก่ใจว่า อนาคตอยู่ในพระหัตถ์ของพระเจ้า
ประการที่เจ็ด
พระเจ้าประสงค์ที่จะใช้คริสตจักรช่วยคนอื่น ๆ ในวิกฤตนี้
ผมมั่นใจว่า คริสตจักรของท่านจะสามารถก้าวผ่านไปในสถานการณ์ที่เลวร้ายนี้
แต่พระเจ้าไม่เพียงประสงค์ให้เราก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปได้เท่านั้น พระองค์มิได้ประสงค์ให้คริสตจักรของท่านอยู่รอดเท่านั้น
แต่พระองค์ต้องการให้คริสตจักรของท่านเติบโตขึ้น และนี่คือความแตกต่างในการรับมือกับความเจ็บปวดในชีวิตของคริสตจักรกับคนทั่วไป
คริสตจักรมองสถานการณ์วิกฤตในโลกนี้ว่าเป็นประตูที่เปิดสู่การทำพันธกิจของพระเจ้า
ขออธิษฐานพระเจ้าโปรดให้คริสตจักรของเราได้มีโอกาสทำพันธกิจใหม่จากจากความทุกข์ยากลำบากในช่วงเวลานี้
เราอาจจะไม่รู้ แต่พระองค์ทรงรู้ดีว่าคริสตจักรของเราจะต้องเผชิญกับวิกฤตหนักหนาสาหัสอะไรบ้าง
และนี่เป็นเวลาและโอกาสที่คริสตจักรจะเป็นแสงสว่างของสังคมโลกในช่วงเวลาวิกฤตมืดมิด
ขออธิษฐานเผื่อคริสตจักรของเราว่า
อย่าให้เราถูกไวรัสร้ายตัวนี้หลอกล่อจนคริสตจักรต้องหยุดต้องปิดลง เพราะพระเยซูคริสต์ได้เตือนให้เราตระหนักชัดว่า
“...พลังแห่งความตายจะมีชัยต่อคริสตจักรไม่ได้” (มัทธิว 16:18 มตฐ.)
ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย
เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น