เมื่อเกิดเหตุการณ์
ภัยพิบัติ สถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเจ็บปวด และ
สูญเสียเรามักมุ่งมองไปที่เหตุร้าย การสูญเสีย ความทุกข์ยาก และ ฯลฯ แล้วเกิดคำถามว่า เป็นความผิดความบาปของใคร? หรืออะไรที่ทำให้สิ่งเลวร้ายเหล่านี้เกิดขึ้น? นี่เป็นหมายสำคัญของการสิ้นโลกใช่ไหม?
หรือไม่ก็มีคำถามสงสัยพระเจ้าว่า ทำไมพระองค์อนุญาตให้สิ่งเลวร้ายเกิดขึ้นแก่คนที่พระองค์ทรงรัก?
แต่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายเช่นนี้เรากลับมิได้ใส่ใจว่า
พระเจ้ากำลังทำพระราชกิจอะไรในเหตุการณ์นั้น ดังนั้น เราจึงพลาดที่จะมีโอกาสร่วมในพระราชกิจดังกล่าว
เราจึงพลาดโอกาสที่จะมีส่วนร่วมในชัยชนะที่พระองค์ทรงกอบกู้และพลิกฟื้นสถานการณ์ที่เลวร้ายทำลายนั้นให้เกิดชีวิตใหม่
สังคมใหม่ โลกใหม่ แผ่นดินใหม่ตามพระประสงค์ของพระองค์
เรื่องราวในพระกิตติคุณยอห์น
บทที่ 9 เป็นคำถามที่สอนและการอธิบายของพระเยซูคริสต์ว่า เราจะมอง หรือ
มีมุมมองอย่างไรต่อสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเรา
โดยปกติทั่วไป เมื่อเราพบกับเหตุการณ์เลวร้าย
เรามักพุ่งมุมมองตรงไปที่ “ใครเป็นคนที่ทำผิด?” “ใครคือต้นเหตุของความเลวร้าย?”
“อะไรที่ทำให้เกิดความเลวร้ายนี้ขึ้น?” “ความเจ็บปวด
ความสูญเสีย ความผิดพลาดดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะใคร?” และสาวกของพระเยซูคริสต์ก็เป็นคนหนึ่งในกลุ่มนี้ด้วย
พวกสาวกของพระองค์ทูลถามพระองค์ว่า “พระอาจารย์ ใครทำบาป คนนี้หรือพ่อแม่ของเขา
เขาถึงเกิดมาตาบอด?” (ยอห์น 9:2 มตฐ.)
คำตอบของพระเยซูเปลี่ยนมุมมองของสาวกไปอย่างสิ้นเชิง
พลิกกลับหน้ามือเป็นหลังมือ พระองค์ไม่ตอบคำถามที่สาวกถาม แต่พระองค์เปลี่ยนฐานเชื่อและกรอบคิด
(mindset)
ของสาวก ที่สาวกถามพระเยซูเช่นนั้นเพราะสาวกมี “มุมมอง”
ต่อสถานการณ์นี้อย่างผิดพลาด และถ้าดันทุรังแก้ปัญหาตามมุมมองที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน
ก็เป็นการแก้ปัญหาอย่างผิดเรื่องผิดประเด็นไปด้วย
พระเยซูตอบพวกสาวกตรงไปตรงมาว่า
“ไม่ใช่คนนี้หรือพ่อแม่ของเขาที่ทำบาป
แต่เขาเกิดมาตาบอดเพื่อให้พระราชกิจของพระเจ้าปรากฏในตัวเขา เราต้องทำพระราชกิจของผู้ทรงใช้เรามาเมื่อยังวันอยู่
กลางคืนอันเป็นเวลาที่ไม่มีใครทำงานนั้นกำลังใกล้เข้ามา” (ข้อที่ 3-4 มตฐ.)
ความหมายลึก ๆ ในที่นี้พระเยซูบอกสาวกว่า
“พวกท่านถามคำถามผิด เพราะมีฐานเชื่อกรอบคิด (mindset) ที่ผิดพลาด”
ในสถานการณ์ของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด
19 ขอให้เราเลิก “สาดโคลนคำถาม” เพื่อที่จะตีตรากล่าวหา
หรือ ค้นหา “แพะรับบาป” (อย่างผู้นำประเทศมหาอำนาจและนักการเมืองส่วนใหญ่เขาทำกัน)
คำถามพวกนี้ทั้งชุดมันจะไม่ช่วยประชากรและสังคมโลกเลย รังแต่จะหาทางมุ่งทำลายทำร้ายฝ่ายตรงกันข้ามของตนเท่านั้น
มันไม่ได้แก้ปัญหา แต่ผู้นำพวกนี้กลับสร้างและสะสมปัญหาพอกพูนให้มากยิ่งขึ้น
เราในฐานะสาวกพระคริสต์และหลายคนในฐานะผู้นำ
เราคงจำเป็นต้องเปลี่ยน “ฐานเชื่อกรอบคิด” (mindset) ใหม่แบบพระเยซู
ในเวลาเช่นนี้ให้เราร้องทูลต่อพระเจ้าจากก้นบึ้งหัวใจของเราว่า
“องค์พระผู้เป็นเจ้า พระองค์กำลังทำอะไรอยู่ในสถานการณ์แพร่ระบาดที่เลวร้ายของไวรัสโควิด
19? ที่สร้างผลกระทบอย่างมากต่อผู้คนในสังคมโลก และ
ความสัมพันธ์ใกล้ชิดในแต่ละคนของพวกเราด้วย...
ขอพระองค์โปรดสำแดงให้ลูกได้เห็น
รู้ เข้าใจ และโปรดช่วยให้ลูกรู้ว่าจะร่วมในพระราชกิจดังกล่าวของพระองค์ได้อย่างไรบ้าง? ลูกควรพูดอย่างไรบ้าง? ควรทำอะไรบ้าง? และควรทำอย่างไรที่จะเป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์? เพื่อลูกจะได้เข้าร่วมในพระราชกิจดังกล่าวตามพระประสงค์ของพระองค์
ทูลขอในพระนามของพระเยซูคริสต์เจ้า
อาเมน.”
การที่เราในฐานะคริสตชน
และ ผู้นำคริสตจักร ชุมชน หรือ
องค์กรคริสตชน เราจะต้อง
(1) มองให้เห็นว่า
พระเยซูคริสต์กำลังทำพระราชกิจอะไรในสถานการณ์ไวรัสโควิด 19?
(2) เราต้องรู้ว่า พระองค์มีพระประสงค์ให้เราร่วมในพระราชกิจนี้ในเรื่องอะไร?
(3) เราต้องชัดเจนว่า พระเยซูคริสต์ต้องการให้เราร่วมในพระราชกิจนี้เพื่อให้เกิดอะไร?
(4) เราต้องรู้เท่าทันว่า
เราจะร่วมในพระราชกิจดังกล่าวอย่างไร?
พระเยซูคริสต์บอกกับสาวกและพวกผู้นำศาสนายิว
รวมถึงประชาชนว่า เมื่อเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติที่เลวร้าย พระเจ้าจะทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ในสถานการณ์นั้น
“เพื่อให้พระราชกิจของพระเจ้าปรากฏในตัวเขา” (หรือในเหตุการณ์นั้น ๆ) และพระองค์บอกอีกว่า
พระองค์ประสงค์ให้เราเข้าร่วมในพระราชกิจของพระองค์และบอกว่า
“เราต้องทำพระราชกิจของผู้ทรงใช้เรามาเมื่อยังวันอยู่...” (ข้อ 4 มตฐ.)
ถ้าเรามองไม่เห็นพระราชกิจในสถานการณ์ที่เลวร้าย
เราจะกลายเป็น “คนตาบอดฝ่ายจิตวิญญาณ” พวกฟาริสีที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นรู้สึกเคือง
จึงถามกลับพระเยซูว่า
“เราตาบอดด้วยหรือ?”
พระเยซูตรัสกับพวกเขาว่า
“ถ้าพวกท่านตาบอด ท่านก็จะไม่มีบาป แต่พวกท่านพูดเดี๋ยวนี้เองว่า ‘เรามองเห็น’
เพราะฉะนั้นบาปของท่านยังมีอยู่” (ข้อ 40-41 มตฐ.)
หรือว่าคริสตชน และ
ผู้นำคริสตชนขณะนี้เป็นเหมือนฟาริสีไปแล้ว?
ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย
เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น