ปรากฏการณ์ชัดเจนที่คริสตจักร
หรือ ชุมชนผู้เชื่อต้องเผชิญหน้าในปัจจุบันคือ การที่สมาชิกในชุมชนผู้เชื่อเลือกขั้วการเมืองที่ต่างกัน
ในที่นี้มีทั้ง “การเมืองในองค์กร”
“การเมืองท้องถิ่น” และ “การเมืองระดับชาติ” ซึ่งถ้าไม่อภิบาลอย่างถูกต้องเหมาะสมอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งทางความคิด-ความเชื่อ
ความสัมพันธ์ กระทั่งนำไปสู่ความแตกแยกในชุมชนผู้เชื่อ ทั้งนี้เพราะ “การเมือง”
กลายเป็นเรื่องของการแสวงหาอำนาจ การใช้อำนาจ และ เป็นเรื่องของผลประโยชน์ หน้าตา เกียรติยศชื่อเสียง
โดยใช้กระบวนการของการแข่งขัน ชิงไหวชิงพริบ เอาแพ้เอาชนะกัน และ บ้างก็เลยเถิดถึงการใช้กลโกงเอาเปรียบ และ
การทำลายกัน
ในฐานะคริสตชน เราได้รับการทรงเรียกให้มีชีวิตในสังคมชุมชน
ให้เราไวในการฟัง รักเมตตา และให้เกียรติเคารพกัน แม้คริสตชนมิใช่คนของโลก แต่เราได้รับการทรงเรียกให้เข้าไปมีส่วนร่วมในชุมชน
“การเมือง” เป็นชีวิตด้านหนึ่งมิติหนึ่งของชุมชนที่คริสตชนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะในการเมืองมีเรื่องของคุณธรรม
และ จริยธรรมอยู่ด้วย
คริสตจักรจะรับมืออย่างไรกับการเมืองในปัจจุบันที่มีบรรยากาศของการแบ่งแยกแตกขั้วกัน? แล้วจะมีการอภิบาลอย่างไรเมื่อการเมืองแผ่อิทธิพลเข้ามาเคลื่อนไหวในคริสตจักร?
ในฐานะผู้อภิบาล เราจะช่วยให้สมาชิกมีชีวิตอยู่ในชุมชนแห่งความเชื่อด้วยความศรัทธาท่ามกลางช่วงเวลาที่ตึงเครียดและความสัมพันธ์ที่แตกแยกร้าวฉานได้อย่างไร?
1. หยั่งรากทางความเชื่อบนรากฐานพระกิตติคุณพระเยซูคริสต์
คริสตจักรได้รับการทรงเรียกมาทำไม? คริสตจักรได้รับการทรงเรียกให้มีความสัมพันธ์กับวัฒนธรรม และ
การเมืองในขณะนี้แบบไหน? อย่างไร? คริสตจักรจะเป็นเสียงที่ชี้ไปข้างหน้าอย่างผู้เผยพระวจนะได้อย่างไร?
เราจะเกี่ยวข้องรับมือกับกระบวนการ
“การเมือง” ทั้งการเมืองในองค์กรเอง และ การเมืองสังคมและประเทศอย่างไร? เราได้รับการทรงเรียกให้มีรากฐานความเชื่อของเราบน
“พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์” และเมื่อเราต้องรับมือกับการเมือง เราต้องรับมือการเมืองบนรากฐานพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เช่นกัน
พระกิตติคุณพระเยซูคริสต์ไม่แบ่งแยกแตกขั้วในความแตกต่าง ไม่ว่าเชื้อชาติ สีผิว ความคิดต่าง เป็นพวกใครพรรคไหน ความแตกต่างเหล่านี้ถูกหลอมและเปลี่ยนแปลงให้เป็น
“หนึ่งเดียวกันในพระเยซูคริสต์” เรามีชีวิตอยู่เพื่อพระคริสต์ มีชีวิตที่ถวายเกียรติแด่พระองค์
เรามิได้มีชีวิตอยู่เพื่อผู้นำคนไหน
พรรคไหน การเมืองค่ายไหน แต่คริสตชน และ คริสตจักร เราอยู่เพื่อมีชีวิตตามพระมหาบัญชา เป็นทาสรับใช้ของพระคริสต์ท่ามกลางชีวิตประชาชน
หรือกล่าวสั้น ๆ ว่า เราอยู่ในสังคมโลกนี้ด้วยชีวิตที่เป็นสาวกพระคริสต์
หลายคริสตจักรที่มีสมาชิกที่หนุนฝ่ายอนุรักษ์
อีกกลุ่มหนึ่งหนุนพรรคหัวก้าวหน้า และมีกลุ่มที่มีความคิดเป็นกลาง ผู้อภิบาลคงต้องถามคนเหล่านี้ในคริสตจักรว่า ในฐานะที่เขาเป็นคริสตชน
เขาจงรักภักดีต่อใคร? และทำไมเขาถึงเชื่อเช่นนั้น? ทั้งนี้เพื่อเอื้อให้เกิดการฟังความคิดทางการเมืองของกันและกันในคริสตจักร
ตลอดจนวัฒนธรรม และ นิกายของคนอื่น ๆ ในคริสตจักร เพื่อขยับให้เราเรียนรู้ที่จะมองสิ่งเหล่านี้ผ่าน
“แว่นตาของพระวจนะ” ซึ่งเป็นกระบวนการเอื้อให้สมาชิกเกิดการเรียนรู้พระวจนะสำหรับในบริบทต่าง
ๆ และนำสู่การทำพันธกิจของพวกเขา ให้แต่ละคนมีโอกาสที่จะแบ่งปันมุมมองของตน
2. พระคริสต์คือแก่นกลางของชีวิตคริสตจักร
และ คริสตชน
เมื่อพูดเรื่อง
“การเมือง” ในคริสตจักร เราจะแบ่งปันความคิดความเชื่อ
“การเมืองบนรากฐานพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์อย่างไร?” เป็นโอกาสที่จะช่วยให้สมาชิกคริสตจักรเห็นชัดว่า พระเยซูคริสต์สถิตท่ามกลางพวกเขาในชีวิตประจำวัน
ในบริบทชีวิตของแต่ละคน ซึ่งเราต้องมั่นใจว่า สมาชิกแต่ละคนควรจะมองเห็นแม่แบบชีวิต
(การเมืองบนรากฐานพระกิตติคุณ) ในทางการเมืองในฐานะสาวกพระคริสต์ แล้วเขาจะมีท่าที
มุมมอง และปฏิกิริยาอย่างไรกับคนที่มีความคิดความเชื่อทางการเมืองต่างจากตน
ในกระบวนการแสวงหาร่วมกันนี้เราอาจจะถามคำถามหลักที่แต่ละคนจะแสดงความคิดเห็นและประสบการณ์ของตนได้เช่น...
ถ้าพระเยซูอยู่ในสถานการณ์ที่จะต้องเผชิญหน้ากับ
“การเมืองในขณะนี้” พระองค์จะมีมุมมอง ท่าทีอย่างไร? และพระองค์จะตอบสนองอย่างไร? และพระองค์จะตรัสอย่างไรบ้าง? อะไรที่ทำให้ท่านคิดว่า
พระเยซูคริสต์ จะคิด จะพูด จะทำเช่นนั้น? ถ้าพระคริสต์มีการตอบสนองอย่างที่กล่าวมานี้
เราในฐานะสาวกของพระองค์ในยุคปัจจุบัน เราควรจะคิด จะเชื่อ จะพูด และ
มีพฤติกรรมตอบสนองอย่างไร?
3. แผ่นดินของพระเจ้า
กับ การเมืองของเราในปัจจุบัน
คริสตจักร หรือ
สมาชิกชุมชนผู้เชื่อแต่ละคน ได้รับการทรงเรียกให้สานต่อพระราชกิจของพระเยซูคริสต์ที่ได้เริ่มต้นไว้แล้วบนแผ่นดินโลกนี้ร่วมกับผู้เชื่อคนอื่น
ๆ และ กับพระเยซูคริสต์ในบริบทชีวิตประจำวันของเราแต่ละคน เป้าหมายพระราชกิจของพระเยซูคริสต์คือให้เรามีคุณภาพชีวิตในแผ่นดินของพระเจ้า
กล่าวคือมีคุณภาพชีวิตภายใต้การปกครองของพระเจ้า ตามคำอธิษฐานที่พระเยซูทรงสอนสาวกว่า
“ในสวรรค์เป็นอย่างไร...เป็นเช่นนั้นในแผ่นดินโลก”
แน่ชัดว่า คุณภาพชีวิตในแผ่นดินของพระเจ้า
แตกต่างอย่างชัดเจนจากคุณภาพที่ได้จากการเมืองของโลกนี้ ดังนั้น การที่คริสตชนจะเข้าร่วมในกระบวนการการเมืองในสังคมโลกปัจจุบันจะต้องตระหนักในความแตกต่างกันของคุณภาพชีวิตในแผ่นดินทั้งสอง
ดังนั้น ในฐานะคริสตชนเราควรมีท่าทีเช่นไรต่อการเข้าไปมีส่วนร่วมกับการเมืองในสังคมโลกปัจจุบัน
สำหรับพระคริสต์แล้ว พระองค์ไม่ได้มุ่งที่จะต่อต้านการเมืองในสังคมโลกนี้ แต่พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์มุ่งเน้นที่การสร้างชุมชนที่สะท้อนถึงคุณภาพชีวิตในแผ่นดินของพระเจ้า
และเป็นชุมชนที่รักเพื่อนบ้านในชุมชนสังคมบนโลกใบนี้
4. สร้างสังคมที่พลิกฟื้นคืนดี
พระกิตติคุณทรงเรียกคนในชุมชนแห่งความเชื่อเข้าไปมีส่วนใน
“การเมือง” เพื่อมีบทบาทก่อเกิดการพลิกฟื้นคืนดีในชุมชนสังคม และพระคริสต์ได้ให้ภาพในที่สุดของสังคมโลกตามพระประสงค์
คือมีลักษณะเป็น “เยรูซาเล็มใหม่” ที่มีคนมาจากหลากหลายวัฒนธรรมมาอยู่ร่วมกัน เป็นชุมชนที่ไร้ความอยุติธรรม
ไม่มีการแบ่งแยกสีผิว-เชื้อชาติ ไม่แบ่งแยกกีดกันทางเพศ เป็นชุมชนที่ไม่มีภาวะมลพิษทางธรรมชาติแวดล้อม
และสภาพเสื่อมถอยทางสังคมแวดล้อม เป็นชุมชนที่ไม่มีความยากจนป่วยไข้ และ
เป็นที่ประทับของพระเจ้า
เมื่อคริสตชนรู้ว่า
แผ่นดินของพระเจ้ามีสภาพเช่นไร ก็ช่วยให้เราแต่ละคนตระหนักว่าตนมีบทบาทความรับผิดชอบ
หรือ ต้องทำอะไรบ้าง คริสตชนได้รับการทรงเรียกให้มีส่วนร่วมในสังคมโลกให้ความช่วยเหลือคนยากไร้ คนชายขอบสังคม กำพร้า หม้าย คนอพยพหลบลี้ คนถูกกดขี่
คนได้รับความทุกข์ คนเจ็บไข้ได้ป่วย คนที่ถูกกีดกันแบ่งแยก
5. การกอบกู้ไถ่ถอน
พระกิตติคุณเตือนให้เราระลึกว่า
คริสตชนมิได้มีหน้าที่บทบาทในการสำแดงความรักเมตตา และ ช่วยเหลือผู้ขัดสนต้องการ หรือ
มีส่วนทำให้เกิดสังคมที่ยุติธรรมเท่านั้น พระคัมภีร์ได้บอกชัดว่า มารซาตานได้เข้ามาครอบครองสังคมโลก มิเพียงแต่จิตใจของเราเท่านั้น แต่เข้ามาทำให้ทั้งระบบของโลกนี้ที่พระเจ้าทรงสร้างแปรเปลี่ยน
ปั่นป่วน และรวนไปหมด สภาพของสังคมโลกนี้เกิดความแตกหักในทุกระดับ ด้วยเหตุนี้เราจึงจำเป็นต้องรับพลังแห่งพระผู้ช่วยให้รอด
ที่พระคริสต์ยอมสิ้นพระชนม์บนกางเขน เพื่อกอบกู้ปลดปล่อยเราออกจากแอกแห่งอำนาจความบาปชั่ว
พระคุณของพระเจ้ามีพลังฤทธิ์เดชในการเปลี่ยนแปลงจิตใจของคน และด้วยการเปลี่ยนจิตใจความนึกคิดของมนุษย์โลก
เราถึงจะสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงระบบของสังคมโลกใบนี้สู่คุณภาพชีวิตแห่งแผ่นดินของพระเจ้า สู่ระบบที่พระเจ้าทรงสร้างแต่แรกเริ่ม
นี่คือการทรงเรียกของพระคริสต์ต่อคริสตจักร
ให้เป็นผู้อภิบาลชีวิตคนในคริสตจักร เพื่อคนในคริสตจักรจะเข้าไปยังสังคมโลกในชีวิตประจำวันของแต่ละคน
เพื่ออภิบาลชีวิตของผู้คนที่เขาสัมผัสสัมพันธ์ ให้เป็นชุมชนสังคมที่มีคุณภาพชีวิตแห่งแผ่นดินของพระเจ้า
ทั้ง 5 ประการข้างต้นนี้ คือ “ยาแก้ความแตกต่างทางความคิดการเมือง”
ของสมาชิกคริสตจักร ให้กลับมามีหลักยึดจุดยืน
“การเมือง” บนรากฐานพระกิตติคุณ เพื่อพระกิตติคุณของพระคริสต์จะหลอมรวมหลักเชื่อกรอบคิดในทางการเมืองของให้เป็นหนึ่งเดียวกัน
ที่เราแต่ละคนจะสานต่อ พระราชกิจของพระคริสต์บนแผ่นดินโลกนี้ มุ่งสู่การ
“ทรงสร้างใหม่ของพระเจ้า”
“ฟ้าใหม่แผ่นดินโลกใหม่” ที่พระคริสต์นำมา เพื่อแผ่นดินของพระองค์มาตั้งอยู่
ในสวรรค์เป็นอย่างไรให้เป็นอย่างนั้นบนแผ่นดินโลก
ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย
เชียงใหม่
E-mail:
prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น