ถอดบทเรียนรู้จากประสบการณ์ของโมเสส
เมื่อเราต้องตัดสินใจครั้งสำคัญ
สามคำถามที่เราจะต้องถามตนเองคือ อะไร เมื่อไหร่ และ อย่างไร
ถ้าเราไม่ได้ถามคำถามใดคำถามหนึ่งในสามประเด็นนี้
อาจจะส่งผลให้ตัดสินใจผิดพลาดได้ และอาจจะได้รับความยากลำบากจากผลของการตัดสินใจที่ผิดพลาด
ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดคือ เมื่อเราต้องตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิต สิ่งแรกคือ ให้เราหันหน้าเข้าหาพระเจ้า
ทูลถามขอการทรงนำว่า เราควรจะทำอะไร อย่างไร และเมื่อใด เราจะต้องทำอะไรในการตัดสินใจนี้? แล้วจะมีขั้นตอน กระบวนการในการตัดสินใจอย่างไรบ้าง? และเวลาใด/เมื่อใดที่เป็นเวลาที่เหมาะสมตามพระประสงค์ของพระเจ้า?
ประเด็นบทเรียนสำคัญที่ได้รับ
เรื่องราวของโมเสส
จากอพยพ 2:11-15 เป็นบทเรียนที่สำคัญของการแสวงหาการทรงชี้นำจากพระเจ้าก่อนที่จะตัดสินใจ
ถึงแม้ว่าโมเสสจะเป็นคนฮีบรู แต่เขาถูกเลี้ยงดู
ในฐานะลูกชายของธิดาฟาโรห์ในพระราชวัง ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางแห่งอำนาจ ความมั่นคง มั่งคั่ง
และบารมี
เมื่อโมเสสเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่
เขาเห็นคนอียิปต์ข่มเหงทำร้ายแรงงานทาสฮีบรู เขาตัดสินใจแบบหุนหันพลันแล่น
ทำให้ชีวิตของโมเสสต้องเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงจากหน้ามือเป็นหลังมือ เขาตัดสินใจฆ่าคนอียิปต์ที่ทำร้ายแรงงานฮีบรู
และผลที่ได้รับคือ โมเสสสูญเสียทุกอย่างในชีวิตกลายเป็นนักโทษกบฏต่อราชบัลลังก์หลบหนีเอาชีวิตรอด ลงท้ายด้วยการไปอยู่ในทะเลทรายมีเดียน และมีอาชีพเลี้ยงแกะ
ทำไมโมเสส “ตัดสินใจ”
กระทำในสิ่งที่ดี แต่ได้รับผลการตัดสินใจที่สูญเสียครั้งรุนแรง?
(1) โมเสสแซงหน้าพระเจ้า
เราท่านบ่อยครั้งก็มีชีวิตอย่างโมเสส
บางครั้งเราตัดสินใจ “แซงหน้าพระเจ้า” ด้วยการตัดสินใจแบบหันหุนพลันแล่น
เราตัดสินใจโดยมิได้ใคร่ครวญและประเมินถึงผลที่จะตามมาจากการตัดสินใจนั้น ที่สำคัญเราไม่ได้มีโอกาสที่จะปรึกษาพระเจ้าก่อนตัดสินใจ
(2) โมเสสมุ่งเน้นที่เหตุการณ์แทนที่จะมุ่งมองที่ภาพใหญ่
ชนชาติฮีบรูที่เคยหลบภัยความอดอยากเมื่อหลายร้อยปีก่อนหน้านี้
ถูกบังคับจากฟาโรห์ให้เป็นแรงงานทาส ทำให้ชีวิตของชาวฮีบรูขมขื่น ต้องตรากตรำทำงานหนัก
เมื่อโมเสสเห็นคนถูกกระทำอย่างทารุณ เขาพุ่งความสนใจไปที่ความไม่เป็นธรรมของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทันที
โดยไม่มีการคิดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อน ซึ่งสถานการณ์ที่จะลงมือจัดการกอบกู้ชาวฮีบรูที่ถูกข่มเหงทารุณและการตกเป็นทาสให้เป็นไทนั้นเป็น
“พระราชกิจของพระเจ้าเท่านั้นที่จะจัดการได้” ซึ่งแผนการนี้ไม่เกิดขึ้นจนกว่า 40
ปีต่อมา
(3) โมเสสทำตามหลักการเหตุผลของเขามากกว่าที่จะฟังพระเจ้า
เราก็มักจะทำเช่นนี้ด้วยเช่นกัน
เมื่อเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง เรามักจะประเมินแล้วก็ลงเอยด้วยการตัดสินใจอย่างผิดพลาดว่าจะทำอย่างไรบนความเข้าใจที่จำกัดของตนเอง
แต่สำหรับพระเจ้าแล้ว พระองค์รู้ชัดว่าควรจะตอบสนองต่อสถานการณ์นี้อย่างไรที่จะเหมาะสมที่สุด
และพระองค์พร้อมและเต็มใจที่ช่วยเรา ถ้าเราจะแสวงหาการทรงชี้นำของพระองค์
(4) โมเสสทำตามสิ่งกระตุ้นในตนเองมากกว่าที่จะแสวงหาความเข้าใจถึงพระประสงค์ของพระเจ้าที่ต้องการให้เขาทำ
ความต้องการของโมเสสคือ
การปกป้องแรงงานทาสฮีบรู แต่เขามิได้คิดพิจารณาถึงผลที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำของตน
ถึงแม้ว่าการปกป้องคนที่ไม่มีทางสู้เป็นสิ่งที่ดี โมเสสควรคิดพิจารณาว่า
การกระทำที่หุนหันพลันแล่นของตนนั้นเป็นการกระทำที่ชาญฉลาดที่จะนำถึงความสำเร็จหรือไม่?
ผู้คนมักตอบโต้เหตุการณ์ต่าง
ๆ อย่างใจร้อนหุนหันพลันแล่นจากสาเหตุดังนี้
- เพราะมุมมอง หรือ ทัศนคติของเขาต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
- เพราะอคติที่เขามีต่อสถานการณ์นั้น
- เพราะความเห็นแก่ตัว
เมื่อเราตัดสินใจด้วยอารมณ์ที่หุนหันลันแล่น
เรามักต้องพบกับความเสียใจในภายหลัง พระเจ้าประสงค์ให้เราแสวงหาน้ำพระทัยของพระองค์ต่อสถานการณ์นั้นก่อน
(5) โมเสสกระทำด้วยพละกำลังของตนเองมากกว่าด้วยพลังจากพระเจ้า
กำลังของมนุษย์นั้นจำกัด
แต่พระเจ้าทรงฤทธานุภาพ ซึ่งต่อมาภายหลังฤทธานุภาพของพระองค์ได้สำแดงออกมาเมื่อพระองค์นำพวกชนชาติฮีบรูออกจากการเป็นทาสในอียิปต์
และทำลายกองทัพอันเกรียงไกรของมหาอำนาจอียิปต์กลางทะเลแดง
(6) โมเสสกระทำด้วยอารมณ์โกรธ
ถ้าเราถูกครอบงำด้วยความโกรธแทนที่จะมีจิตใจแห่งการยกโทษ
ความโกรธจะซ่อนตัวอยู่ในจิตใจของเรา เพื่อรอโอกาสที่เหมาะสมสำหรับมัน (เอเฟซัส 4:26)
และถ้ามันได้โอกาสก็จะทำให้เราตอบสนองสถานการณ์นั้น ด้วยการทำให้เกิดความเจ็บปวด การทำร้ายทำลาย
และกลายเป็นอุปสรรคสำหรับเราต่อไป
(7) โมเสสมิได้คำนึงถึงผลที่จะตามมาจากการกระทำของเขา
แทนที่เราจะตอบสนองสถานการณ์นั้นด้วยอารมณ์หุนหันพลันแล่น
เราควรคิดพิจารณาอย่างรอบคอบถึงผลที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวจากการตัดสินใจในการกระทำของเรา
ซึ่งในบางเรื่องอาจจะเกิดผลกระทบต่อตลอดชีวิตของเรา
ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย
เชียงใหม่
E-mail:
prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น