ตลอด 1พงศ์กษัตริย์ บทที่ 11 ได้บันทึกถึงความบาปผิดอันร้ายแรงของโซโลมอน
อันเป็นสาเหตุให้แผ่นดินที่พระเจ้าประทานให้ต้องฉีกแยกออกจากกันเป็นสองแผ่นดินคือ
อาณาจักรภาคเหนือ (ประกอบด้วย 10 เผ่า ดูข้อ 35) และอาณาจักรภาคใต้ (2 เผ่า)
ความบาปผิดที่รุนแรงของกษัตริย์โซโลมอน
ที่ผู้คนชื่นชมถึงสติปัญญาอันเฉียบแหลมและมีชื่อเสียงเลื่องลือไกล ได้ดำเนินชีวิตฝ่าฝืนพระบัญญัติของพระเจ้า แต่งงานกับหญิงของชนชาติที่พระบัญญัติห้ามไว้ (ดูข้อ
3)
เพราะหญิงเหล่านี้เองที่เอาพระของตนเข้ามามีอิทธิพลครอบงำเหนือชีวิต
ความคิด ปัญญา และการตัดสินใจของโซโลมอน “พระองค์ทรงมีมเหสี 700 คน
และนางห้าม 300 คน
และบรรดามเหสีของพระองค์ก็หันพระทัยของพระองค์ไปเสีย...บรรดามเหสีของพระองค์ได้หันพระทัยของพระองค์ไปตามพระอื่น
ๆ และพระทัยของพระองค์ไม่ภักดีต่อพระยาห์เวห์ พระเจ้าของพระองค์”(ดูข้อ
3, 4 มตฐ.) เขาสร้างปูชนียสถานสูงบนภูเขาตรงกันข้ามกับกรุงเยรูซาเล็ม(ดูข้อ 7)
ภายหลังการตายของกษัตริย์โซโลมอน เรโหโบอัมลูกชายของกษัตริย์ก็ขึ้นครองอำนาจต่อจากพ่อ ฝ่ายเผ่าต่าง ๆ ที่อยู่ทางภาคเหนือยกพวกพร้อมกับเยโรโบอัมบุตรเนบัท
ที่กบฏต่อโซโลมอนแล้วหนีไปอยู่ในอียิปต์ (ดูข้อ 26-40) ก็กลับมาและรวมอยู่กับพวกจากภาคเหนือมาพบกับเรโหโบอัมด้วย
กลุ่มอิสราเอลที่อยู่ภาคเหนือมาร้องขอให้กษัตริย์ใหม่ลดหย่อนการเกณฑ์แรงงานจากพวกเขาให้เบาลงกว่าในสมัยของโซโลมอน และบอกว่าพวกตนยังจะสวามิภักดิ์รับใช้กษัตริย์องค์ใหม่ต่อไป
เมื่อเรโหโบอัมมาปรึกษากับคณะที่ปรึกษาอาวุโส ซึ่งเคยให้คำปรึกษาแก่โซโลมอนมาก่อน ได้แนะนำเรโหโบอัม
กษัตริย์องค์ใหม่ว่า “หากวันนี้ฝ่าพระบาทจะทรงเป็นผู้รับใช้ประชาชน ปรนนิบัติเขา
และตอบตามที่เขาต้องการ พวกเขาก็จะเป็นผู้รับใช้ของฝ่าพระบาทเสมอไป” (ข้อ 7 อมธ.)
แต่เรโหโบอัมเลือกที่จะทำตามคำแนะนำของที่ปรึกษาที่เป็นเพื่อนคนใกล้ชิดของเขาตั้งแต่วัยหนุ่มว่าให้ตอบกลับไปอย่างรุนแรง
เรโหโบอัมจึงตรัสกับคนที่มาจากทางภาคเหนือว่า
“เสด็จพ่อของเราวางแอกหนักให้พวกเจ้า
เราจะให้หนักยิ่งขึ้นไปอีก เสด็จพ่อของเราเคยใช้แส้เฆี่ยนเจ้า
ส่วนเราจะใช้แมงป่องเล่นงานเจ้า” ” (ข้อ
14 อมธ.)
ผลที่ตามมาคือความสัมพันธ์แตกหักแยกแผ่นดินกันปกครอง
พวกที่มาจากภาคเหนือก็ตอบกษัตริย์เรโหโบอัมแบบตัดเยื่อใยเช่นกันว่า “เราเกี่ยวข้องอะไรกับดาวิด? เรามีส่วนอันใดกับบุตรเจสซี? อิสราเอลเอ๋ย กลับบ้านกันเถิด! ให้ดาวิดดูแลปกครองพวกตัวเองไปก็แล้วกัน!”
ดังนั้นชนอิสราเอลจึงพากันกลับบ้าน (ข้อ 16 อมธ.)
การเป็นผู้นำเริ่มต้นและมีรากฐานหยั่งลึกในความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำและผู้ตามก่อน
หรืออย่างที่คณะที่ปรึกษาอาวุโสแนะนำเรโหโบอัมว่า ให้กษัตริย์เริ่มต้นด้วยการ
“รับใช้ประชาชนก่อน เพื่อที่จะแตะใจ หรือ ได้รับใช้ประชาชน
เพื่อประชาชนจะรู้สึกใกล้ชิดสัมพันธ์กับกษัตริย์ และ ได้ใจของประชาชน
เพื่อที่ประชาชนจะเต็มใจจะรับใช้กษัตริย์ตลอดไป”
ผู้นำจะต้อง “แตะใจ” (ได้ใจ)
ก่อนที่จะ “แตะมือ” (ได้มือ) ของประชาชนที่จะรับใช้พระองค์ตลอดไป
สัมพันธภาพที่ผู้นำจะมีกับผู้ตามมิใช่เรื่องลำบากซับซ้อนอะไร
แต่ผู้นำจะต้องเป็นฝ่ายเริ่มต้นด้วยความเต็มใจและจริงใจ
และสิ่งนี้คือสิ่งที่บุตรชายของโซโลมอนคือเรโหโบอัมได้มองข้ามความสำคัญ เรโหโบอัมมองข้ามความสำคัญของการเป็นผู้นำในเรื่องอะไรบ้าง?
1. คนที่ท่านนำย่อมเต็มใจยินดีที่จะทำตามถ้าผู้นำที่เข้าถึง
“ใจ” และ “ความรู้สึก” ของเขาก่อน
2. เมื่อผู้นำเป็นผู้ให้ก่อน
คนที่ท่านนำก็จะให้ตอบ
เมื่อท่านรับใช้คนที่ท่านนำก่อน
ผู้คนที่ท่านนำก็จะรับใช้ผู้นำด้วยความเต็มใจ
3. เมื่อผู้นำให้ใจ
ใส่ใจของตนแก่แต่ละคนที่เขานำ
ผู้นำก็จะได้ใจของคนที่ตนนำทั้งหมด
4. เมื่อผู้นำยื่นมือ
ยื่นชีวิต เข้าถึงใจและชีวิตของผู้คนก่อน
ผู้ตามก็จะยื่นมือยื่นชีวิตกลับมายังผู้นำ
5. ไม่ว่าผู้นำเพิ่งจะเข้ารับตำแหน่งในฐานะผู้นำ หรือเป็นผู้นำมาช่วงเวลาหนึ่งแล้ว ถ้าผู้นำจะประสบความสำเร็จในการนำ ผู้นำจะต้องมีความสัมพันธ์กับคนที่ตนนำอย่างลึกซึ้งและจริงใจเป็นทุนเดิมในการนำก่อน
มิใช่ใช้อำนาจและมีอำนาจ(จากตำแหน่ง)เป็นทุนเดิม
ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย
สันทราย เชียงใหม่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น