29 พฤษภาคม 2562

เมื่อพระกิตติคุณเพี้ยน สาวกที่สร้างก็ง่อยเปลี้ย!

อุปสรรคที่กีดขวางอันใหญ่ต่อการเจริญเติบโตของคริสตจักรในยุคนี้คือ  ความเชื่อเกี่ยวกับพระกิตติคุณพระคริสต์ของคริสตจักรถูกบิดเบือนจนผิดรูปผิดแบบจากที่ควรจะเป็น   ส่วนหนึ่งเกิดจากการเทศนาของคริสตจักร (และอีกส่วนที่คริสตจักรจำเป็นจะต้องพูดให้ชัดเจน  แต่กลับไม่พูดถึงในการเทศนาของตน)  

ขอตั้งข้อสังเกตว่า พระกิตติคุณพระเยซูคริสต์ที่เทศนาในประเทศที่พัฒนาแล้ว เป็น “พระกิตติคุณของผู้บริโภค  ที่เน้นแต่เรื่องการอภัยโทษบาปเท่านั้น แต่ไม่พูดถึงชีวิตที่จะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงจากพระราชกิจของพระคริสต์ภายในชีวิตของแต่ละคน ปัญหาของพระกิตติคุณประเภทนี้คือ เป็นการเสนอความจริงของพระกิตติคุณเพียงส่วนเดียวเท่านั้น และพระกิตติคุณขาดอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน

ส่วนอีกหลายประเทศที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา ก็มีพระกิตติคุณที่บิดเบือนไปอีกด้านหนึ่งเช่นกัน จากที่สังเกตเห็น พระกิตติคุณคล้าย ๆ ของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว คือ “พระกิตติคุณเพื่อความมั่งคั่งร่ำรวย”  ทำให้การเสริมสร้างสาวกพระคริสต์เกือบไม่สามารถสอนถึงหัวใจของพระกิตติคุณ พระกิตติคุณประเภทนี้ทำให้คริสตชนทุกคนกลายเป็นผู้บริโภคสินค้าและบริการทางคริสต์ศาสนา (ซึ่งมีหลายรูปแบบด้วยกัน) และ การนมัสการเป็นการปลดปล่อยทางอารมณ์ (การบริการทางอารมณ์)

ไม่ว่าจะเป็นพระกิตติคุณที่เน้นเรื่องการอภัยโทษเท่านั้น หรือ พระกิตติคุณแห่งความมั่งคั่งร่ำรวย รวมถึงการสร้างสาวกให้เป็นอย่างที่ตนเชื่อในสองกลุ่มนี้ พระกิตติคุณทั้งสองประเภทดังกล่าวไม่มีพื้นที่สำหรับวิถีทาง และ วิธีการแห่งแผ่นดินของพระเจ้าที่พระเยซูได้ถ่ายทอดส่งต่อผ่านมาทางสาวกที่ติดตามพระองค์ ไม่มีช่องทางที่จะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงชีวิต และไม่คาดหวังว่าคนที่ได้รับความรอดจะติดตามพระเยซูคริสต์อย่างจริงจัง  

ยิ่งกว่านั้น พระกิตติคุณทั้งสองแบบดังกล่าว ไม่ได้ให้แบบอย่างของการเสริมสร้างสาวก  และแบบอย่างสาวกผู้สร้างสาวก ความคิดที่ว่าผู้เชื่อทุกคนในพระคริสต์เป็นผู้ติดตามพระคริสต์ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของศาสนศาสตร์  โปรแกรม หรือหลักสูตรของคริสตจักรเหล่านี้  

กล่าวอีกนัยหนึ่ง พระกิตติคุณทั้งสองประเภทเป็นอันตรายถึงกับทำให้คริสตจักรตายได้   เพราะทั้งสองพระกิตติคุณต่างแยกการกลับใจใหม่ออกจากการสร้างสาวกพระคริสต์  แล้วให้การเสริมสร้างสาวกพระคริสต์เป็นสิ่งที่คริสตจักรจะเลือกทำและไม่ทำก็ได้

ประเด็นสำคัญในการเสริมสร้างสาวกพระคริสต์คือ
  • เราไม่สามารถเสริมสร้างสาวกที่มีชีวิตตามแบบพระคริสต์โดยสาวกที่ไม่มีพระกิตติคุณที่ถูกต้องของพระคริสต์
  • เนื้อหาที่เราเทศน์คือตัวกำหนดลักษณะสาวกที่เราเสริมสร้าง


ถ้าคริสตจักรเทศนาพระกิตติคุณที่ผิดพลาดบิดเบือน ต่อให้คริสตจักรต่าง ๆ พยายามทำพันธกิจอย่างจริงจังต่อไปอีก 50 ปี เทศนาเช่นนั้นจนถึงสุดปลายแผ่นดินโลก แต่ก็จะทำให้พระเยซูคริสต์ต้องรอเวลาที่จะเสด็จกลับมาอีกครั้งหนึ่งต่อไปอย่างไม่มีจุดหมาย เพราะคริสตจักรเทศนา หรือ สอนพระกิตติคุณที่ผิดพลาดบิดเบือน พระเยซูตรัสว่า “ข่าวประเสริฐเรื่องแผ่นดินของพระเจ้านี้จะถูกประกาศไปทั่วโลก ให้เป็นคำพยานแก่บรรดาประชาชาติ แล้วที่สุดปลายจะมาถึง” (มัทธิว 24:14 มตฐ.)

พระกิตติคุณเทียมเท็จกล่าวว่า ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งที่ “พระคริสต์ตายเพื่อความบาปผิดของท่าน พระองค์เป็นขึ้นจากความตาย และเสด็จสู่สวรรค์ แล้วพระองค์จะเสด็จกลับมาในวันใดวันหนึ่ง เพื่อจะมารวบรวมคริสตจักรของพระองค์ ใครก็ตามที่เห็นด้วยกับข้อเท็จจริงนี้ของคริสตจักร และ เข้ารับบัพติสมา คนนั้นก็เป็นคริสตชนแล้ว คนนั้นก็รอดแล้ว ท่านไม่จำเป็นต้องทำอะไรอีก และเป็นความจริงว่าท่านไม่สามารถที่จะทำอะไรได้ เพราะทั้งสิ้นนี้เป็นไปได้ก็ด้วยพระคุณของพระเจ้า”

แต่ ดร.ดาลัส วิลลาร์ด นักคริสต์ศาสนศาสตร์ร่วมสมัยได้กล่าวไว้อย่างแหลมคมว่า “เรามิใช่ได้รับความรอดโดยพระคุณเท่านั้น เรากลายเป็นคริสตชนที่รอดแล้ว แต่ง่อยเปลี้ยหมดแรงโดยพระคุณ(ที่เราเข้าใจ)ด้วย” คริสตจักรปัจจุบันกลายเป็นผู้ที่เป็นง่อยเปลี้ย หมดแรง จำนวนมากมาย เพราะมีมุมมองที่บิดเบี้ยวคดงอในเรื่อง “เรื่องพระกิตติคุณของพระคริสต์”  

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

27 พฤษภาคม 2562

สร้างสาวกพระคริสต์บนรากฐานพระกิตติคุณ

ทุกวันนี้เราสร้างสาวกพระคริสต์บนรากฐานอะไร? ทำไมเราถึงต้องสร้างสาวกบนรากฐานพระกิตติคุณ? และขอถามตรง ๆ เถอะ อะไรคือพระกิตติคุณสำหรับเรา? แล้วที่ว่าสร้างสาวกบนรากฐานพระกิตติคุณ เป็นการสร้างสาวกพระคริสต์อย่างไรกันแน่?

นักพระคริสต์ธรรมคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า พระเยซูคริสต์พูดถึงเรื่องแผ่นดินของพระเจ้ามากกว่าเรื่องอื่น ๆ ในช่วงเวลาที่พระองค์ทำพระราชกิจของพระองค์บนโลกใบนี้ กล่าวคือมากกว่า 100 ครั้ง พระองค์กล่าวถึงเรื่องแผ่นดินของพระเจ้าด้วยการใช้เรื่องเล่า/คำอุปมา พระองค์สอนเรื่องนี้ด้วยการเปรียบเทียบที่จะอธิบายให้ผู้ฟังในสมัยนั้นเห็นภาพชัดถึงสิ่งที่ล้ำลึกเกี่ยวกับเรื่องแผ่นดินของพระเจ้า

แต่ผู้อ่านคำอุปมา หรือ คำสอนเปรียบเทียบเรื่องแผ่นดินของพระเจ้าของพระเยซูคริสต์ในปัจจุบันนี้ หลายเรื่องที่อ่านแล้วรู้สึกสับสน มีความเข้าใจคลุมเครือ เลอะเลือนไม่สามารถเห็นภาพชัดเจนต่างจากผู้ฟังของพระเยซูในสมัยนั้น เพราะในหลายเรื่องมิใช่ประสบการณ์ตรงของผู้อ่านในปัจจุบัน เพราะวัฒนธรรมทางสังคม และ วิถีการดำเนินชีวิตของผู้ฟังในสมัยนั้นกับสมัยนี้แตกต่างกันในหลาย ๆ เรื่อง ยิ่งถ้าเป็นคนในโลกตะวันตกแล้วยิ่งแตกต่างกันอย่างมากมาย ในที่นี้ขอเน้นโดยเฉพาะอย่างในเรื่องที่พระคริสต์เรียกร้องให้ประชาชนที่ได้ยินได้ฟังคำประกาศเรื่องแผ่นดินของพระเจ้าแล้วว่า “ให้ติดตามเป็นสาวกของพระองค์”

สิ่งที่พระคริสต์ทรงเรียกร้องคนที่จะดำเนินไปบนวิถีแห่งแผ่นดินของพระเจ้านั้นเป็นเรื่องใหญ่ กล่าวคือคน ๆ นั้นจะต้องสารภาพความบาปผิดของตน เชื่อศรัทธาและไว้วางใจว่าพระเยซูคริสต์เป็นพระเมสิยาห์ และติดตามพระองค์ในฐานะครู หรือ อาจารย์ คนในปัจจุบันนี้จำเป็นที่จะต้องสารภาพถึงความผิดบาปของตน เชื่อในข่าวดีเรื่องพระเยซูเป็นพระผู้ช่วยให้รอด และดำเนินชีวิตประจำวันติดตามพระองค์ในฐานะที่เป็นอาจารย์ และ องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา

ในการเข้ามีชีวิตร่วมในแผ่นดินของพระเจ้า เราจะต้องเป็นสาวกของพระคริสต์ หรือ การที่ฝีกฝนดำเนินชีวิตของตนให้มีชีวิตตามแบบอย่างของพระคริสต์  “สาวก” ก็คือคนที่ดำเนินชีวิตตามอย่างชีวิตของอาจารย์ที่เขาติดตาม และนี่เองที่เราเรียก “ข่าวดีแห่งแผ่นดินของพระเจ้า”  ว่าเป็น “ข่าวดีของการมีชีวิตที่เป็นสาวกของพระคริสต์” ในที่นี้หมายความว่า “สาวก” หรือ “ผู้มีชีวิตติดตามพระคริสต์”  เป็นหัวใจที่สำคัญของข่าวดี หรือ ข่าวประเสริฐที่พระคริสต์ได้ประกาศ

ข่าวดีแห่งแผ่นดินของพระจ้าเป็นเรื่องของชีวิตนิรันดร์ที่เริ่มต้นเดี๋ยวนี้ คือเริ่มตั้งแต่คน ๆ นั้นยอมสารภาพความบาปผิดของตน เชื่อในข่าวดีของพระเยซูคริสต์ รับพระวิญญาณบริสุทธิ์   และเริ่มต้นมีชีวิตที่ติดตามพระคริสต์ในชีวิตประจำวัน

การสารภาพ สำนึกในความบาปผิดของตน เชื่อและไว้วางใจในพระคริสต์ และ การเชื่อฟังที่เปี่ยมล้นด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ เป็นสิ่งที่ไปด้วยกัน พระเจ้าไม่มีพระประสงค์ที่จะแยกทั้งสามสิ่งนี้ออกจากกัน แผ่นดินของพระเจ้าเป็นชีวิตแบบ “องค์รวม” เพราะการเข้าสู่แผ่นดินของพระเจ้าคือการที่เราเข้ารับการทรงสร้างใหม่จากพระคริสต์ ให้เป็นคนใหม่ และก้าวไปสู่สิ่งใหม่ทั้งหมด (2โครินธ์ 5:17) เมื่อเราเริ่มติดตามพระคริสต์ เราเริ่มพิสูจน์ถึงความเชื่อของเราที่พระองค์พูดถึง  

นี่คือความแตกต่างจากคำสอนเกี่ยวกับพระกิตติคุณที่เราสอนกันโดยทั่วไปที่ว่า “เราได้รับความรอดเมื่อเราเชื่อในข้อเท็จจริงของสัจจะในคริสต์ศาสนา เรารับบัพติสมา เราได้รับความรอดแล้ว และนี่คือปมปัญหาจากความเชื่อแบบนี้ หลังจากที่ได้รับบัพติสมา ได้รับความรอดแล้ว ก็มีชีวิตรอจนถึงวันตายเพื่อจะได้ไปอยู่สวรรค์ ส่วนเรื่องการมีชีวิตประจำวันที่จะติดตามพระคริสต์ หรือ มีชีวิตตามแบบอย่างของพระคริสต์  เป็นเพียงเรื่องที่แต่ละคนเลือกได้(?) เพราะเป็นเรื่องของชีวิตหลังจากที่เราได้รับความรอดแล้ว  คนกลุ่มนี้บอกว่า เพราะเราไม่ได้รอดด้วยการกระทำ

แต่สิ่งที่เราจะต้องสอนคือ พระเยซูคริสต์เริ่มต้นด้วยการเรียกร้องให้สาวกของพระองค์ติดตามพระองค์ไป และบนวิถีชีวิตที่สาวกติดตาม หรือ อยู่กับพระองค์นั้น สาวกเริ่มมีประสบการณ์ เริ่มมีความเชื่อศรัทธาในพระองค์ และจิตวิญญาณของพวกเขาจะเติบโตขึ้นเป็นลำดับ จนสำแดงออกให้เห็นเป็นรูปธรรม จากประสบการณ์ชีวิตติดตามและมีชีวิตตามแบบพระคริสต์  เราได้พบชีวิตที่ค่อย ๆ เติบโตขึ้นเป็นลำดับ จนมีจิตวิญญาณที่เข็มแข็งในพระคริสต์   และนี่คือ “ชีวิตในพระคริสต์” หรือ “ชีวิตที่อยู่กับพระคริสต์”

“ชีวิตในพระคริสต์” ไม่ได้เริ่มต้นเมื่อมีวุฒิภาวะชีวิตแบบพระคริสต์แล้ว หรือ เข้าใจเรื่องทั้งหมดแล้ว แต่เริ่มต้นด้วยสารภาพสำนึกในความบาปผิดของตน เชื่อวางใจในการทำพระราชกิจของพระเยซูคริสต์ในชีวิตของเรา และดำเนินชีวิตประจำวันติดตามพระเยซูคริสต์ ตามคำสอนและแบบอย่างของพระองค์  และชีวิตสาวกพระคริสต์เริ่มเติบโตขึ้นอย่างเป็นกระบวนการ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

24 พฤษภาคม 2562

โศกนาฏกรรม...ในคริสตจักรปัจจุบัน!?

ในทุก ๆ วันอาทิตย์คนจำนวนมากมายนับไม่ถ้วนที่นั่งอยู่ในอาคารโบสถ์ของคริสตจักรทั่วโลกด้วยความรู้สึก มั่นคงในชีวิตจิตวิญญาณของตน  โดยตนเองคิดว่าชีวิตที่มีศีลธรรม ชีวิตที่เป็นสมาชิกคริสตจักรมายาวนาน หรือ การที่ตนได้รับบัพติสมาแล้ว สิ่งเหล่านี้ที่จะทำให้เขามีที่อยู่ในสวรรค์ และคนจำนวนมากในกลุ่มนี้ที่ตั้งอกตั้งใจทำตนให้มีชีวิตที่พระเจ้าพอใจ แท้จริงแล้วคนเหล่านี้กำลังมีความเข้าใจสับสนเกี่ยวกับเรื่องชีวิตคริสเตียน หรือ ชีวิตสาวกพระคริสต์

คนกลุ่มนี้จะคิดและให้ความสำคัญกับสิ่งที่ ตนได้ทำ มากกว่า ชีวิตที่เป็นจริง ของตน   ดังนั้น เขาจะดำเนินชีวิตด้วยการเลียนแบบ “ทำตามแบบคริสเตียนที่ดี” เช่น จะพยายามไปคริสตจักรทุกวันอาทิตย์  อธิษฐาน  อ่านพระคัมภีร์ และพยายามที่จะกระทำให้ชีวิตของตนสอดคล้องกับระเบียบปฏิบัติของคริสเตียนที่ดี  ใช่สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งดี

แต่อย่างไรก็ตาม ความรอดมิใช่ผลงานจากการกระทำดี   เราเกิดมาในโลกนี้ด้วยชีวิตที่อยู่ใต้อิทธิอำนาจพลของความบาปชั่ว และการกระทำผิดกระทำชั่วทั้งสิ้นนั้นมาจากจิตใจที่เลือกที่จะหันหลังให้กับพระเจ้าและเลือกที่จะออกห่างจากพระองค์   เราเป็นคนบาป! 

แต่ข่าวดีก็คือว่า การที่เราได้รับ “ความรอด” นั้น เพราะพระองค์สร้างเราให้มีธรรมชาติใหม่ของความเป็นมนุษย์  17ฉะนั้นถ้าใครอยู่ในพระคริสต์ เขาก็เป็นคนที่ถูกสร้างใหม่แล้ว สิ่งสารพัดที่เก่า ๆ ก็ล่วงไป นี่แน่ะกลายเป็นสิ่งใหม่ทั้งนั้น”   (2โครินธ์ 5:17 มตฐ.)   เพราะพระคริสต์ได้ชำระบาปขจัดอำนาจชั่วในชีวิตของเราแต่ละคน แล้วสร้างชีวิตเราใหม่ให้เป็นชีวิตที่พระองค์ต้องประสงค์ สิ่งสำคัญในฝ่ายของเราคือ เราเชื่อและวางใจในพระองค์  และด้วยพระกำลังทางพระวิญญาณริสุทธิที่อยู่ในชีวิตของเราแต่ละคนที่ทำให้ชีวิตของเราเป็นชีวิตที่มีความชอบธรรม

โลกนี้ให้คุณค่ากับการกระทำของตนเอง แต่พระเจ้าพระบิดาให้คุณค่าที่ความสัมพันธ์ที่ถูกต้องแน่นแฟ้นกับพระองค์เป็นสิ่งแรกที่สำคัญที่สุด มนุษย์ที่ด่วนโอ้อวดโอหังว่าตนเป็นคนเคร่งศาสนามักพลาดโอกาสในความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับพระเจ้า และความชื่นชมยินดีในความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างผู้เชื่อกับองค์พระผู้เป็นเจ้า

เราสามารถที่จะช่วยคนที่เข้าใจผิดอย่างน่าเศร้านี้ให้พบกับความเป็นจริงด้วยการที่เราจะพยายามอธิบายว่า ทำไมเราถึงมีความหวัง “...จงเตรียมพร้อมเสมอที่จะตอบทุกคนซึ่งถามถึงเหตุผลที่ท่านมีความหวังใจเช่นนี้ แต่จงตอบอย่างสุภาพอ่อนโยนและให้เกียรติ”  (1เปโตร 3:15 มตฐ.)  โดยกล่าวถึงความสัมพันธ์ส่วนตัวที่มีกับพระคริสต์เกิดขึ้นได้ก็ด้วยการที่เรายอมรับถึงความจำเป็นที่จะต้องไว้วางใจในพระผู้ช่วยให้รอดคือพระคริสต์เจ้า และยอมรับการสร้างใหม่จากพระองค์ และด้วยการหนุนเสริมของพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราจึงมีชีวิตประจำวันที่จะฉายแสงส่องสว่างของพระคริสต์แก่คนรอบข้างได้ เราเป็นเพียงภาชนะของพระเจ้าที่สะท้อน หรือ สำแดงให้คนอื่นเห็นแสวงสว่างของพระคริสต์

14“ท่านทั้งหลายเป็นแสงสว่างของโลก เมืองที่ตั้งอยู่บนภูเขาจะซ่อนไว้ไม่ได้ 15เช่นเดียวกัน เมื่อคนจุดตะเกียงแล้วย่อมไม่เอาฝาครอบ แต่จะตั้งไว้บนเชิงตะเกียงให้ส่องสว่างแก่ทุกคนในบ้าน (มัทธิว 5:14-15 อมธ.)

แต่น่าเศร้า... ที่คริสตชนร้อนรนจำนวนมากในคริสตจักรของเรา พยายามทำดีใน “รั้ว” คริสตจักร โดยคิดและเชื่อว่า เพื่อตนจะได้ไปสวรรค์และมีที่อยู่ในสวรรค์เมื่อตายแล้ว   แต่ชีวิตมิได้รับการเปลี่ยนแปลงและสร้างใหม่จากพระคริสต์  ดังนั้น  พฤติกรรมชีวิต “นอกรั้ว” คริสตจักรจึงแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับพฤติกรรมชีวิตในรั้วคริสตจักร เพราะชีวิตของเขามิได้รับพลังหนุนเสริมจากพระวิญญาณบริสุทธิ์

ตายอย่างเขียดในรั้วคริสตจักร!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

20 พฤษภาคม 2562

คริสตชนอธิษฐานลดน้อยลงในชีวิตประจำวัน

เมื่อคริสตชนรู้สึกว่าตนสามารถจัดการรับมือกับชีวิตได้ เราจะวางแผน ปรึกษาหารือ ตัดสินใจ แล้วลงมือกระทำด้วยตัวเราเอง แต่เมื่อคริสตชนรู้สึกว่า ตนไม่สามารถที่จะจัดการรับมือกับชีวิต เราจะอธิษฐาน

ในฐานะเป็นคริสตชนหลายท่านคงยอมรับว่า การอธิษฐานเป็น “ยาขม” ในชีวิต  แม้แต่ จอห์น สต๊อท  (John Stott) ยังเคยกล่าวไว้ว่า การอธิษฐานเป็นเรื่องปล้ำสู้ที่ยิ่งใหญ่มากในชีวิตคริสตชนของท่าน 

ถ้าเราพิจารณาคริสตชนในศตวรรษที่ 20-21 เราเห็นได้ว่า การอธิษฐานในชีวิตของคริสตชนมีพื้นที่ลดน้อยหดหายลง ไม่ว่าจะเป็นพวกคริสตชนอนุรักษ์ หรือ พวกหัวก้าวหน้าก็ตาม   เราพบอีกว่า คริสตจักรในปัจจุบันนี้ใช้เวลาในการวางแผน ถกเถียง อภิปราย ชี้แจงมากขึ้น   ในขณะพื้นที่ชีวิตในการนมัสการพระเจ้า ในการอธิษฐานขอบพระคุณ อธิษฐานสารภาพความบาปผิด ในการอธิษฐานเผื่อผู้อื่นลดน้อยมีพื้นที่แคบลง

ประเด็นที่ล่อแหลมและสำคัญยิ่งคือ การอธิษฐานที่ทำร่วมกันมักกลายเป็น “การกระทำแค่เป็นพิธี” (ปฏิบัติตามประเพณี) ซึ่งการอธิษฐานแบบนี้มิใช่การอธิษฐานต่อพระเจ้าจากชีวิตจิตใจของผู้อธิษฐาน และในที่นี้รวมถึงการอธิษฐานก่อนรับประทานอาหาร ก่อนนอน ตื่นนอน ก็กำลังถูกเบียดให้ไปอยู่ในพื้นที่ชีวิตชายขอบที่ “กระทำเพียงเป็นพิธี” หรือ “ความคุ้นชิน” เท่านั้น   มิได้อธิษฐานด้วยจิตใจที่สำนึกและจริงใจต่อพระเจ้าว่าเราต้องพึ่งพิงในพระองค์ บ่อยครั้งนักเราขอให้พระองค์กระทำตามการตัดสินใจของเรา ขอนำให้เราทำสำเร็จตามแผนงานที่เราวางไว้มิใช่หรือ?

คริสตชนปัจจุบันนี้กำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤติของการอธิษฐาน เราอธิษฐานน้อยลง เลยลดพื้นที่ชีวิตในการอธิษฐานให้จำกัดคับแคบลง การอธิษฐานจากชีวิตจิตใจ ถูกเบียดให้ไปอยู่เพียงชายขอบของชีวิตประจำวัน หรือบางคนบางครั้ง ถูกเบียดออกจากพื้นที่ของชีวิต

การอธิษฐานกลายเป็น “ความสัมพันธ์ทางเลือก” แทน “ความสัมพันธ์ทางหลัก”  กับพระเจ้า แท้จริงแล้วการอธิษฐานเป็นสิ่งที่เป็นชีวิตจิตใจของคริสตชนที่จะต้องประสานสัมพันธ์กับพระเจ้า แต่ถ้าเมื่อใดชีวิตตกอับคับขัน หมดทางสู้ ไม่สามารถที่จะรับมือ เมื่อนั้น เราถึงมุ่งมองหาความช่วยเหลือจากพระเจ้า เมื่อนั้นเราถึงโหยหาพระเจ้า เมื่อนั้นเราถึงอธิษฐานจากก้นบึ้งแห่งชีวิตจิตใจต่อพระเจ้า

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

13 พฤษภาคม 2562

แบกกางเขนตน ติดตามพระคริสต์ไป

1. ปฏิเสธตนเองก่อน...แล้วจึงจะยกกางเขนตนขึ้นแบก

พระเยซูคริสต์บอกเราว่า ให้เราแบกกางเขนของตนและติดตามพระองค์ไป เป็นคำบอกที่ชัดเจน  แต่จะเป็นชีวิตจริง การกระทำจริงอย่างไรในชีวิตประจำวันของเราครับ?

ปฏิเสธตนเองก่อน...แล้วจึงจะยกกางเขนตนขึ้นแบก

ก่อนที่เราจะยกกางเขนของตนขึ้นแบก สิ่งก่อนหน้านี้ที่สำคัญคือ เราต้องปฏิเสธตนเอง  มิเช่นนั้นแล้วเราจะไม่ยอมก้มโน้มตัวลงเพื่อที่จะยกกางเขนขึ้น จนกว่าความนึกคิดจิตใจของเรายอมที่จะปฏิเสธตนเอง คือการที่เราปฏิเสธที่จะมีชีวิต/ดำเนินชีวิตตามแผนการชีวิตของเราเอง(ถ้ามี) หรือ ตามความคุ้นชินที่เราทำเป็นประจำ

เราไม่สามารถยอมรับให้พระคริสต์เป็นใหญ่เป็นเอก เป็นต้น หรือ เป็นหลักแก่นในชีวิตประจำวันของเราจนกว่า ตนเองจะปฏิเสธที่จะดำเนินชีวิตตามแผนการของตนเอง

แต่ถ้าเวลาใดที่เราให้พระคริสต์เป็นเอก เป็นใหญ่ และเป็นเสาหลักในชีวิตประจำวันของเราอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว คนรอบข้างในชีวิตประจำวันของเราก็จะมองเห็นการเปลี่ยนแปลงของเรา แต่ขอเราเตรียมใจรับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาคือ บางคนบางกลุ่มบางพวกจะปฏิเสธที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับเราต่อไป เพราะเราไปยอมตนเป็นคนของพระคริสต์!  เพราะเพื่อนฝูง หรือ คนเหล่านั้นไม่เข้าใจว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นกับชีวิตของเรา 

การไม่ยอมรับของคนบางคนบางกลุ่มนี้ มิใช่เพราะเรามีเหตุผลที่แตกต่างกัน แต่เพราะเรามีการมองที่แตกต่างกัน แต่ที่เรามองแตกต่างกันเพราะเป็นเรื่องของอิทธิพลจากกระแสสังคม และ อำนาจมืดในโลกนี้ปิดบังตาของเขา ไม่ให้เห็นทางที่จะนำไปสู่ชีวิตใหม่ เปาโลกล่าวไว้ว่า 3...ข่าวประเสริฐของเราถูกปิดบัง…ไว้จากบรรดาผู้กำลังจะพินาศ 4พระของยุคนี้ทำให้จิตใจของผู้ไม่เชื่อมืดบอดไป เพื่อพวกเขาจะไม่สามารถเห็นแสงสว่างแห่งข่าวประเสริฐ...” (2โครินธ์ 4:3-4 อมธ.)  

ดังนั้น พวกนี้จึงปฏิเสธเรา เพราะเราปฏิเสธอิทธิพลและกระแสสังคมโลกตามอำนาจชั่วที่พยายามครอบงำโลกนี้อย่างสุดฤทธิ์ที่พวกเขายอมรับและชื่นชมอยู่ เขาจึงมองว่า เราเป็นคนละพวกกับเขา! และ

ที่สำคัญคือ อำนาจแห่งความบาปชั่วจะยังไม่ยอมปล่อยให้เราลอยนวลไปอยู่ใต้การครอบครองของพระเจ้า มันจะกระทำทุกหนทางที่จะช่วงชิงเราจากพระเจ้าให้กลับไปอยู่ใต้อำนาจชั่วร้ายของมันใหม่! เพียงถ้าวินาทีใดที่เราไม่เต็มใจที่จะปฏิเสธตนเอง เพื่อที่จะมีชีวิตในพระคริสต์   เวลาเช่นนั้นก็จะลำบากและยากอย่างยิ่งที่เราจะแบกกางเขนตนตามพระคริสต์ไป อำนาจชั่วอำนาจเดิมที่เคยเป็นใหญ่ในตัวเราพยายามช่วงชิงเรากลับคืนจากพระคริสต์ (โรม 7:18-19)

ตราบใดที่เรายังไม่ยอม “ฌาปนกิจ” (“เผา” หรือ “ฝัง”) ตัวเก่าชีวิตเก่าของเราก่อน “ฌาปนกิจ” ความตั้งใจของตนเอง การอยู่ตามความปรารถนาของตนเอง ตามความอยากได้ใคร่มีของตนเอง... อย่าหวังว่าตนจะสามารถก้มลงยกกางเขนตนขึ้นแบก และตามพระคริสต์ไปได้

นอกจากว่าเราจะ...ปฏิเสธตนเองก่อน  จึงจะก้มตัวลงรับกางเขนตนแบกขึ้นได้   แล้วดำเนินชีวิตประจำวันตามพระคริสต์ไป!

2. แบกกางเขนของตน...  

เราคนไทยในปัจจุบัน อ่านข้อความนี้แล้วคงไม่รู้สึกอะไรหนักหนา แต่ถ้าเป็นสาวกของพระคริสต์ในเวลานั้นคงหนักอกหนักใจที่จะเป็นสาวกพระคริสต์และติดตามพระองค์ไป เพราะมิใช่ให้เราดำเนินชีวิตตามแบบอย่างและติดตามพระคริสต์ไปเท่านั้น แต่ต้องแบกกางเขนของตน พระคริสต์บอกสาวกใน มัทธิว 16:24 ว่า “หากผู้ใดปรารถนาจะเป็นสาวกของเราให้ผู้นั้นปฏิเสธตนเอง รับกางเขนของตนแบก และตามเรามา”     

สาวกในสมัยพระเยซูคริสต์รู้ซึ้งเลยว่า กางเขน มันคืออะไรกันแน่ กางเขนคือการถูกประหารชีวิตอย่างทรมานให้ตายอย่างช้า ๆ และถูกประจานว่าเป็นคนที่มีโทษฐานความผิดที่รุนแรง เขาจะตรึงกางเขนในที่ที่มีผู้คนผ่านไปมามากมาย เพื่อจะ “เชือดเหยื่อ” สยบผู้คนให้เกิดความกลัวไม่คิดที่จะทำผิด/กบฏต่อการปกครองของโรมัน(ที่คนยิวเกลียดเข้ากระดูกดำ)และ

นี่คือกางเขนที่เราแต่ละคนต้องโน้มตัวคุกเข่าลงบนพื้นดิน แล้วเอาบ่าข้างหนึ่งสอดเข้าใต้มุมของกางเขน แล้วพยายามออกแรงสุดกำลังดันตนเองที่ต้องรับน้ำหนักของไม้กางเขน แล้วพยายามยันตนเองให้ยืนขึ้นให้ได้ แล้วค่อย ๆ เดินไปบนเส้นทางที่ถูกกำหนด คือแบกกางเขนนี้ติดตามพระคริสต์...ไปในชีวิตประจำวันของเราแต่ละคน ที่แน่ ๆ มิใช่ใช้มือยกกางเขนขึ้นมาแล้วจับใส่บ่าของเรา เพราะแรงมือของเราเท่านั้นยกขึ้นไม่ไหว (อย่าลืมว่า กางเขนไม่เหมือนกระเป๋าเดินทางที่มีหูหิ้ว หรือ ล้อลากอย่างสมัยนี้)

กางเขนของตน

พระเยซูบอกชัดว่า “กางเขนของตน” นั่นหมายความว่าไม่มีใครที่จะแบก “กางเขนของเรา” แทนเราได้ ไม่ว่าพ่อแม่ พี่น้อง เพื่อนฝูง คนใช้ หรือแม้แต่พระคริสต์ ดังนั้น พระองค์จึงบัญชาแต่ละคนว่า แบกกางเขนของตนติดตามพระองค์ไปทุกวัน และพระคริสต์กล่าวชัดเจนอีกว่า  “...ผู้ใดไม่รับกางเขนของตนแบกตามเรามาก็ไม่คู่ควรกับเรา” (มัทธิว 10:38 อมธ.)

พระคริสต์บอกเราแต่ละคนว่า “ให้แบกกางเขนของตน”  เป็นกางเขนของเราแต่ละคน เป็นกางเขนที่แตกต่างกัน จะไม่เป็นการฉลาดเลยที่จะเอากางเขนตนไปเปรียบเทียบกับกางเขนคนอื่น ๆ และก็ไม่ควรเปรียบว่า กางเขนใครสำคัญกว่ากัน เปาโลกล่าวในเรื่องนี้ไว้ใน  2โครินธ์ 10:12 ว่า  เพราะว่าเราไม่กล้า...เปรียบเทียบตัวเองกับบางคนที่ยกย่องตัวเอง แต่เมื่อพวกเขาเอาตัวเองเป็นเครื่องวัดกันและกัน และเอาตัวเองเปรียบเทียบกันและกันแล้ว พวกเขาก็ปราศจากความเข้าใจ...” (มตฐ.)

ถ้าเราจะเป็นสาวกติดตามพระคริสต์ไป สิ่งแรกเราต้องทำคือ โน้มตัวคุกเข่าลงบนดิน  เอาบ่าสอดเข้าที่มุมของกางเขน นั่นคือเราต้องยอมตนรับเอาพระเยซูคริสต์เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าในชีวิตของเรา จากนั้นออกแรงทั้งสิ้นที่มีอยู่ในชีวิต ดันตัวและกางเขนที่พาดบนบ่าลุกขึ้นยืนให้ได้   จากนั้น ก้าวดินติดตามพระคริสต์ไปในชีวิตประจำวันของเราแต่ละคน

กางเขนของเราแต่ละคน ต่างก็มีลักษณะเฉพาะของตน เช่น บางคนตอนนี้กางเขนที่ต้องแบกคือ “ตกงาน” หรือบางคนถูกเพื่อนร่วมงานกล่าวร้ายใส่ความ บางคนต้องทำงานกับเจ้านายที่ไม่เอาไหน บางคนต้องดูแลทีมงานที่มีเพื่อนร่วมทีมมากมาย บางคนต้องทำงานภายใต้เจ้านายที่ฉ้อฉล กางเขนของบางคนคือการที่เขาต้องทำงานอย่างสัตย์ซื่อท่ามกลางผู้บริหารที่สร้างอำนาจผ่านพรรคพวกของตน บางคนต้องพบกับความเจ็บปวดจากความสัมพันธ์ในครอบครัว บางคนต้องถูกให้ออกจากงาน/ออกจากตำแหน่ง เพราะปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างสัตย์ซื่อจนกระทบชื่อเสียงของผู้มีอำนาจ บ้างต้องเจอกับเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ไม่พึงพอใจ เช่น ไปทำงานรถยางแบนกลางทาง ไปถึงที่ทำงานที่จอดรถของตนมีคนมาจอดแทน กลับถึงบ้านเครื่องซักผ้าพังซ่อมเองไม่ได้...นี่แหละครับคือกางเขนที่แต่ละคนต้องแบกไปในชีวิตแต่ละวัน  

คำถามคือ แล้วเราแต่ละคนจะรับมือกับสถานการณ์กางเขนแห่งชีวิตประจำวันของตนเหล่านี้อย่างไรในฐานะสาวกของพระคริสต์?


3. แบกกางเขนของตน ติดตามพระคริสต์ไป

ติดตามพระคริสต์ไปในชีวิตประจำวัน

มีคนถามผมว่า ถ้าจะแบกกางเขนติดตามพระคริสต์ไป นั่นหมายความว่าเราต้องลาออกจากงานที่เราทำ คุยกับครอบครัวให้ดูแลตนเอง ส่วนตนจะออกไปรับใช้พระเจ้า เราทุกคนต้องติดตามพระคริสต์เช่นนี้ไหม?

ความจริงก็คือว่า กางเขนของสมาชิกคริสตจักรแต่ละคนนอกจากจะแตกต่างกันแล้ว ยังแตกต่างจากกางเขนของศิษยาภิบาลอีกด้วย ตามที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ดังนั้น การที่เราจะติดตามพระคริสต์ไปในชีวิตประจำวัน จึงมิใช่ต้องทำอย่างศิษยาภิบาล หรือ คนอื่น ๆ

ที่สำคัญที่จะต้องเข้าใจในตอนนี้คือ กางเขนของเราแต่ละคนแตกต่างจากกางเขนพระคริสต์   แต่พระองค์เป็นแบบอย่างในการแบกกางเขนในชีวิตของเรา ดังนั้น เราแต่ละคนจะแบกกางเขนของตนตามแบบอย่างพระคริสต์ ด้วยจิตวิญญาณแบบพระองค์ และที่สำคัญคือด้วยพระกำลังจากพระองค์ผ่านการทำงานขององค์พระวิญญาณบริสุทธิ์ในชีวิตของเราแต่ละคน

“แบกกางเขนของตนและตามพระคริสต์ไป”  มิได้หมายความว่า จะต้องออกจากงานที่ทำ ออกจากบ้านทิ้งครอบครัวไว้ข้างหลัง  หรือต้องปลีกตัวปลีกวิเวกออกจากสังคมไปสร้างชุมชนใหม่ของพวกตน แต่การแบกกางเขนของตนตามพระคริสต์ไปนั้น เราแบกกางเขนของตัวเราเองตามพระคริสต์ไปในชีวิตประจำวันแต่ละวัน เราแบกกางเขนของตนตามพระคริสต์เข้าไปในครอบครัว   ในที่ทำงาน และในชุมชน และเราจะตระหนักชัดเสมอว่า เราจะแบกกางเขนของตนด้วยจิตวิญญาณแบบพระเยซูคริสต์ แบกกางเขนด้วยฐานเชื่อและกรอบคิดแบบพระองค์ ด้วยพระกิตติคุณของพระองค์คือ รัก เมตตา และ ให้ชีวิตแก่ทุกคนที่เราเกี่ยวข้องสัมพันธ์อย่างไม่มีเงื่อนไข  ด้วยจิตวิญญาณแห่งการรับใช้  เพื่อคนนั้นจะมีโอกาสได้พบกับชีวิตใหม่ในพระเยซูคริสต์ และ นำเขาให้มาพบกับพระคริสต์เพื่อรับชีวิตใหม่จากพระองค์ ตามพระมหาบัญชา

วันนี้ท่านต้องแบกกางเขนของท่านในเรื่องอะไรครับ? ท่านจะแบกอย่างไรที่สำแดงจิตวิญญาณแบบพระคริสต์ที่ผู้คนสามารถสัมผัสได้ครับ?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499