30 มิถุนายน 2558

ทำพันธกิจด้วยพลังทุนนิยมและผลประโยชน์นิยม?

...ถ้า​ท่าน​เป็น​พระ​บุตร​ของ​พระ​เจ้า จง​สั่ง​ก้อน​หิน​เหล่า​นี้​ให้​กลาย​เป็น​ขนม​ปัง...(มัทธิว 4:3 มตฐ.)

...เรา​บอก​ความ​จริง​กับ​พวก​ท่าน​ว่า ท่าน​ตาม​หา​เรา​ไม่​ใช่​เพราะ​เห็น​หมายสำคัญ แต่​เพราะ​ได้​กิน​ขนมปัง​อิ่ม...  (ยอห์น 6:25-26 มตฐ.)

ถ้าพระเยซูคริสต์เป็นกษัตริย์   พระองค์ไม่ได้มีพ่อแม่เป็นกษัตริย์  แต่เป็นชาวบ้านคนธรรมดา   ที่มีพ่อเป็นช่างไม้   พระองค์เกิดมาในเวลาที่พ่อแม่ถูกมหาอำนาจแห่งโลกนี้เกณฑ์ให้ไปจดทะเบียนสำมะโนครัว   เพื่อพวกมีอำนาจจะได้รีดภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย   พระองค์ไม่ได้เกิดในวัง ในคฤหาสน์  แต่เกิดในที่ที่จะหาได้ในเวลานั้นคือคอกสัตว์   พระองค์เติบโตในฐานะคนอพยพหลบลี้หนีภัยอำนาจทางการเมืองที่ไล่ตามล้างตามผลาญไปอยู่ในอียิปต์

เมื่อพระองค์เริ่มงานสานต่อจากพระราชกิจของพระบิดา  พระองค์เอาชนะการทดลองจากมารด้วยการปฏิเสธการใช้อำนาจทรัพย์สินความมั่งคั่งในการทำพระราชกิจของพระองค์    พระองค์พูดคุยสนทนากับชาวบ้านคนท้องถิ่น   เรียกและเลือกชาวประมง คนเก็บภาษีบางคนมาร่วมงานด้วย   พระเยซูคริสต์ใช้ชีวิตพเนจรท่ามกลางชีวิตประชาชนคนธรรมดา   สัมผัสกับชีวิตของคนยากคนจน  คนเจ็บป่วย คนผีสิง วิญญาณชั่วครอบงำ  พระองค์ให้เวลาและชีวิตกับคนเหล่านี้   และที่สำคัญคือช่วยให้พวกเขามีโอกาสตั้งต้นชีวิตบนเส้นทางชีวิตใหม่

ถ้าพระเยซูคริสต์เป็นกษัตริย์   พระองค์เป็นกษัตริย์ที่ไม่ใช้อำนาจและความมั่งคั่งที่พระองค์มีอยู่ในการสร้างความนิยมชมชอบโดยการ “ให้เงิน” “ให้ทรัพย์สินสิ่งของ” หรือ เสกสรรบันดาลสิ่งต่าง ๆ ตามที่ประชาชนต้องการ   เพื่อเสริมบารมีการเป็นผู้นำ หรือ ผู้รับใช้ของพระเจ้าในเวลานั้น   แต่พระองค์กลับสื่อสำแดงถึงพระคุณของพระเจ้าแก่ประชาชน   มากกว่าการสร้างบุญคุณบารมีกับประชาชน   เมื่อประชาชนหิว  พระคริสต์ทรงเมตตา   แต่พระองค์ถามสาวกว่า ประชาชนมีอะไรบ้าง   จึงได้ขนมปังมาห้าก้อนกับปลาสองตัว   สิ่งที่พระองค์ทรงทำคือ  อธิษฐานขอบพระคุณและหักแบ่งให้แก่ประชาชน   พระองค์ต้องการให้ประชาชนเห็นความจริงว่า  

ประการแรก   สิ่งยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้นนี้เป็นการเกิดขึ้นเพราะพระคุณของพระเจ้า   ไม่ใช่เกิดขึ้นเพราะการเสียสละจากความมั่งคั่งของพระองค์เอง   หรือเพราะตนเองเสียสละสิ่งที่พระเจ้าทรงอวยพรตน   แต่พระเยซูคริสต์ต้องการสื่อสำแดงว่า   พระเจ้าทรงมีพระคุณ   และพระองค์มีน้ำพระทัยที่จะให้พระคุณนี้ตรงต่อประชาชน

ประการที่สอง  พระองค์ไม่ประสงค์ที่จะสร้างการพึ่งพิง   ไม่ประสงค์ให้ประชาชนติดตามพระองค์เพราะ “ได้กิน” “ได้ผลประโยชน์”   พระองค์ประสงค์ให้ประชาชนหันกลับมาหาพระเจ้าด้วยสุดจิตสุดใจ   มิใช่เพราะต้องการพึ่งพิงและหาผลประโยชน์จากพระองค์ (ไม่ยอมตกเป็นเหยื่อของประชาชน)   ดังนั้น  พระองค์จึงไม่ยอมใช้ความมั่งคั่งของพระองค์เป็นสื่อซื้อหรือล่อใจเพื่อให้ประชาชนติดตามพระองค์   เพราะพระองค์รู้ชัดว่า  การใช้ทรัพย์สินสิ่งของเงินทองเป็นสื่อในการสานต่อพระราชกิจของพระเจ้า   เป็นการกระทำที่เสี่ยงสูงที่มารหรืออำนาจชั่วทางเศรษฐกิจจะใช้สิ่งที่พระองค์ให้นั้นทำลายทำร้ายประชาชน   คือทำให้ประชาชนพึ่งพิงในการทรงช่วยเหลือของพระองค์   มากกว่าได้สัมผัสกับพระคุณและพระเมตตาของพระเจ้าแล้วหันกลับมาหาพระเจ้าทั้งชีวิต  (และทำให้เข้าใจได้เลยว่า  ทำไมพระเยซูคริสต์ไม่ยอมเสกหินในทะเลทรายให้กลายเป็นขนมปัง   ตามที่มารแนะนำ/ท้าทาย   เพราะพระเยซูคริสต์มิได้มารับใช้พระบิดาเพื่อตนเอง)

ประการที่สาม  พระองค์มาเพื่อให้ชีวิต  เพื่อประชาชนจะได้ชีวิต   ซึ่งชัดเจนว่า พระองค์มิได้มาเพื่อให้ทรัพย์สินเงินทองเพื่อประชาชนจะได้ชีวิต   บ่อยครั้งคริสตชนติดยึดการทำพันธกิจสานต่อพระราชกิจของพระเยซูคริสต์ว่า “แล้วมีงบประมาณเท่าไหร่?”   คริสตชนเรียนรู้และติดยึดว่า การที่ตนจะรับใช้พระเจ้านั้น “ขึ้นอยู่กับทรัพย์สินเงินทอง” “ปัจจัย”  และนี่คือจุดตายและจุดหายนะของคริสตจักร   เพราะทำให้คริสตชนไม่ได้พึ่งพิงและสำนึกในพระคุณของพระเจ้า   จึงมิได้ทุ่มสุดชีวิตเพื่อรับใช้พระองค์   แต่ทุ่มสุดตัวเพื่อรับใช้ผลประโยชน์และคนที่ให้ผลประโยชน์เพื่อตนเอง    

เมื่อวิญญาณชั่วแห่งความคิดแบบทุนนิยมและผลประโยชน์นิยมครอบงำความคิดความเชื่อของคริสตชนเช่นนี้แล้ว   อะไรจะเกิดขึ้นกับชุมชนผู้เชื่อในคริสตจักรไทย?   แล้วเราจะจัดการกับปัญหานี้อย่างไรดีครับ?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

25 มิถุนายน 2558

จะเอายังไงกับชีวิตดี?

ทุกวันนี้เราส่วนมากเวลาอธิษฐานทูลขอต่อพระเจ้า   เรามักขอให้พระองค์ช่วยขจัดปัดเป่าให้ “ปัญหา” ที่รุมล้อมเรา  สถานการณ์หรือเหตุการณ์  หรือบุคคลที่เราไม่พึงประสงค์ให้ถูกเปลี่ยนแปลงหรืออันตรธานหายไป   ไม่ว่าปัญหาในที่ทำงาน  ในครอบครัว  ความเจ็บปวดทั้งจิตใจและกาย  ความทุกข์ยากลำบาก  ความเจ็บป่วย   หรือแม้แต่ความเศร้าโศก  ในช่วงนี้ต้องรวมอีกเรื่องหนึ่งคือ ขอพระเจ้าโปรดเอาความแห้งแล้งออกไปจากเรา   ขอให้เทฝนลงมาให้เราแทนที่ความแห้งแล้ง 

เรามักขอให้พระเจ้าช่วยเอาสิ่งเหล่านี้ออกไปจากชีวิตของเราใช่ไหม?

แต่ความจริงที่เราพบในพระคัมภีร์และประสบการณ์ชีวิต   เราพบความจริงว่า พระเจ้าประสงค์ที่จะเปลี่ยนความคิดจิตใจ หรือ ความรู้สึกนึกคิดของเราก่อน   มากกว่าที่จะเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในชีวิตของเราทันที   พระเจ้าต้องการที่จะสร้างเสริมความแข็งแกร่งภายใน  ความถูกต้องในชีวิตของเราก่อนครับ

สิ่งแรกที่พระคริสต์พระประกาศ  เมื่อเริ่มทำพระราชกิจของพระองค์คือ   บอกให้ทุกคน “กลับใจเสียใหม่”  นั่นคือ เปลี่ยนแปลงจิตใจ ความนึกคิด และวิธีคิดของเราเสียใหม่ก่อน

ทำไมคริสตชนถึงเห็นว่า   การเปลี่ยนแปลงความนึกคิดและจิตใจเป็นเรื่องใหญ่เรื่องแรก?

ประการแรก   ความนึกคิดจิตใจคือตัวควบคุมพฤติกรรมการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา

จง​ระ​แวด​ระ​วัง​ใจ​ของ​เจ้า​ยิ่งกว่า​สิ่ง​อื่น​ใด
เพราะ​ทุก​สิ่ง​ที่​เจ้า​ทำ​ออก​มา​จาก​ใจ (สุภาษิต 4:23 มตฐ.)

ความนึกคิดและจิตใจของเรามีพลังที่จะเป็นตัวกำหนด “มุมมอง” ของเรา  มุมมองย่อมมีอิทธิพลต่อการพิจารณาว่าสิ่งใดดีชั่ว หรือ ที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองมากน้อย  และต่ออารมณ์ความรู้สึกของเราในขณะนั้น  อิทธิพลการพิจารณาเช่นนี้เองที่ส่งผลให้เราเกิดการตัดสินใจ   การตัดสินใจย่อมมีแรงผลักดันต่อท่าทีของเราที่แสดงออก(ทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว)   และที่สำคัญคือเป็นแรงผลักดันให้เราแสดงพฤติกรรมหรือการกระทำออกมา

ตัวอย่างเช่น   เหตุการณ์ร้าย ๆ บางเหตุการณ์เกิดขึ้นในชีวิตของเรา   แล้วเราปล่อยให้อิทธิพลจากสภาพเลวร้ายที่เกิดขึ้นมามีอิทธิพลต่อความนึกคิดจิตใจ และ ความรู้สึกของเรา   เราจึงมี “มุมมอง” หรือ เห็นสิ่งต่าง ๆ แวดล้อมที่เกิดขึ้นต่อจากเหตุการณ์แรกนั้นว่า  ช่วงนี้มีแต่สิ่งเลวร้ายในชีวิต   สิ่งที่พระเจ้าประสงค์เป็นสิ่งแรกในเหตุการณ์ชีวิตเช่นนี้ของเรา   พระองค์จะไม่ขจัดสิ่งเลวร้ายที่รายล้อมชีวิตของเราในขณะนี้   แต่พระเจ้าจะทรงเปลี่ยนแปลงและเสริมสร้างจิตใจที่อ่อนแอของเราให้เข้มแข็งขึ้น   ไม่ให้อิทธิพลจากสภาพภายนอกเข้ามามีอำนาจในการทำลายจิตใจของเราให้อ่อนหมดแรงท้อแท้ลง

ประการที่สอง   พื้นที่การนึกคิดในจิตใจและความรู้สึกของเรา   คือสังเวียนแห่งการต่อสู้ระหว่างพระประสงค์ของพระเจ้ากับอำนาจฝ่ายตรงกันข้าม

ตั้งแต่พระธรรมปฐมกาลบทแรก ๆ   อำนาจชั่วได้ใช้พื้นที่สมองที่ให้เกิดความนึกคิด และ ความรู้สึกในจิตใจของมนุษย์เป็นพื้นที่ในการต่อสู้กับพระประสงค์ของพระเจ้า  ดังเปาโลกล่าวไว้ว่า เพราะ​ว่า​ส่วน​ลึก​ใน​ใจ​ของ​ข้าพเจ้านั้น ก็​ชื่น​ชม​ใน​ธรรม​บัญญัติของ​พระ​เจ้า   แต่​ข้าพเจ้าเห็น​มี​กฎ​อีก​อย่าง​หนึ่ง​อยู่​ใน​ตัวของ​ข้าพเจ้า ซึ่ง​ต่อ​สู้​กับ​กฎ​แห่ง​จิต​ใจ​ของ​ข้าพเจ้า และ​ชัก​นำ​ให้​อยู่​ใต้​บัง​คับ​กฎ​แห่ง​บาป ซึ่ง​อยู่​ใน​ตัวของ​ข้าพเจ้า   โอย ข้าพเจ้า​เป็น​คน​น่า​สม​เพช​อะไร​เช่น​นี้? ใคร​จะ​ช่วย​ให้​พ้น​จาก​ร่าง​กาย​แห่ง​ความ​ตาย​นี้” (โรม 7:22-24 มตฐ.)

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกหมดแรง  เหนื่อยล้า  จิตใจท้อแท้  เพราะเกิดแรงดึงและแรงดันกันที่ต่อสู้กันของสองอำนาจดังกล่าวในสมอง ในความนึกคิด ในจิตใจและความรู้สึกของเรา บางคนอยู่ในภาวะเช่นนี้ตลอดวันและตลอดหลายวัน   ดังนั้น  เราจึงเห็นว่า  การที่จะขอให้พระเจ้าเอาสถานการณ์ที่เลวร้าย หรือ ที่ไม่พึงประสงค์ออกไปมันไม่แก้ปัญหาเลย   แต่พระเจ้าประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงความนึกคิด และ จิตใจความรู้สึกของเรา   ที่จะสามารถปกป้องไม่ให้อำนาจชั่วร้ายมายึดพื้นที่ชีวิตทางความคิดจิตใจของเราทำในสิ่งที่มันต้องการ   นี่เป็นสิ่งแรกที่จะต้องจัดการ

ประการที่สาม   การมุ่งเริ่มต้นในการจัดการกับความนึกคิดและจิตใจ เป็นเส้นทางนำสู่ความสุข สงบ สันติ

อย่างที่เห็นแล้วว่า  สิ่งแรกที่เราจะต้องจัดการในภาวะชีวิตจิตใจที่อ่อนแรง ท้อแท้ สิ้นหวัง และ หมดไฟ   เราจะต้องเริ่มต้นเปิดใจและทูลขอการให้ทรงกระทำพระราชกิจในพื้นที่สมองและจิตใจของเรา   การที่เรายอมเริ่มการจัดการความคิดและจิตใจของเรา  เราเริ่มต้นในการลดความขัดแย้งและปกป้องพื้นที่สมองและจิตใจของเราจากความขัดแย้ง   ทำให้เราเข้าสู่ภาวะชีวิตที่มีความรู้สึกมั่นคง   โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราจะเริ่มรู้สึกมั่นคงในพระคุณ   ความรักและพระประสงค์ของพระเจ้า

ถ้าเราปล่อยปละละเลยให้อำนาจแห่งความชั่วเข้ามายึดพื้นที่ในชีวิตทั้งสมองและจิตใจของเรา   เมื่ออำนาจชั่วเริ่มทำงานสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราคือความเครียด   ชีวิตของเราสูญเสียทิศทางในความนึกคิดของเรา  เกิดความสับสน วุ่นวาย  นอกจากจะจัดการทิศทางความนึกคิดไม่ได้แล้ว   ยังเกิดผลกระทบให้สิ่งต่าง ๆ ที่เราตัดสินใจเกิดความวุ่นวาย สับสน   ยิ่งกว่านั้นเรามองสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นล้อมรอบเราด้วยความงุนงง สับสน  ไร้ทิศทางที่จะเข้าใจได้   เวลาเช่นนั้นชีวิตจึงเครียดสุด ๆ   แต่ถ้าเราเปิดพื้นที่ชีวิตความนึกคิดและจิตใจของเราต่อพระประสงค์ของพระเจ้า   ที่จะทรงเปลี่ยนแปลงและสร้างเสริมเราขึ้นใหม่  เราจะมีมุมมองชีวิตและสภาพแวดล้อมชีวิตที่เกิดขึ้นไปสู่สภาพใหม่   เป็นการเปิดเส้นทางให้ชีวิตของเราสามารถมุ่งไปสู่ สุข สงบ สันติ  ในพระคุณความรักของพระเจ้า
 
“...จิตใจที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงควบคุมนำไปสู่ชีวิตและสันติสุข” (โรม 8:6 อมต.)

แล้ววันนี้เราจะจัดการกับความนึกคิดจิตใจของเราอย่างไรดีครับ?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

24 มิถุนายน 2558

จะรัก หรือ จะกลัวดี?

“ฉันเกลียดเจ้าหมอนี่”
คำพูดนี้สะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่มีใครบางคนพยายามที่จะควบคุม หรือ บงการชีวิตของใครคนอื่น
แล้วอะไรที่ทำให้คนบางคนที่จะพยายามควบคุม หรือ มีอำนาจเหนือคนอื่นล่ะ?
คำตอบคือ ความกลัวไง  
เพราะความกลัวเราเลยพยายามเข้าไปควบคุมจัดการเหนือชีวิตของคนอื่นมิใช่หรือ?
การที่เรามีความรู้สึกที่ไม่มั่นคงทำให้เราต่อต้านแข็งขืน หรือ พยายามที่จะเข้าควบคุมคนอื่น
เมื่อเราเกิดความรู้สึกที่ไม่มั่นคง 
เพราะสิ่งที่เรากำลังคิดในเวลานั้นคือ   คิดว่าคนอื่นคิดคนอื่นมองเราในแง่ร้าย ในทางที่ไม่ดี
มุมมอง ความคิด ความรู้สึกเช่นนี้เป็นการทำลายความสัมพันธ์กับคนรอบข้างที่เราต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง

เป็นเรื่องแปลกมากครับ
คนเราต้องการที่จะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนอื่น
เราปรารถนาที่จะมีความสนิทสนมกับคนอื่น
แต่เราก็กลัวที่จะต้องได้รับความเจ็บปวด หรือ การสูญเสียจากความใกล้ชิดสนิทสนม

ความรู้สึกไม่มั่นคงเป็นตัวทำลายความสัมพันธ์  
ทำให้เราไม่กล้าที่จะสนิทสนม(อย่างจริงใจ)
เราไม่สามารถมีความสัมพันธ์สนิทสนมกับใครบางคน  
ถ้าในความสัมพันธ์นั้นยังมีความกลัวซุกซ่อนอยู่

ถ้าความรู้สึกไม่มั่นคงเป็นตัวทำลายความสัมพันธ์  
แล้วอะไรล่ะที่เป็นตัวเสริมสร้างความสัมพันธ์สนิท?
ความรัก ความเมตตาไงล่ะที่เสริมสร้างสัมพันธภาพ

ในพระธรรม 1ยอห์น 4:18 กล่าวว่า  “ใน​ความ​รัก​นั้น​ไม่​มี​ความ​กลัว
แต่​ความ​รัก​ที่​สม​บูรณ์​นั้น​ก็​ขับ​ไล่​ความ​กลัว​ออก​ไป​เสีย
เพราะ​...​ผู้​ที่​กลัว​ก็​ยัง​ไม่​มี​ความ​รัก​ที่​สม​บูรณ์” (มตฐ.)
แล้วความรักเมตตาขับไล่ความกลัวออกไปได้อย่างไร?

ความรักนั้นย้ายจุดมุ่งมั่นสนใจของเราออกจากตนเองไปยังคนอื่น
เมื่อเราต้องพบปะผู้คนมากมายด้วยความสัมพันธ์ที่สนิทสนม  
เราต้องสนใจคนที่อยู่ข้างหน้าและรอบตัวเรา   มิใช่สนใจแต่ตนเอง
แต่ถ้าเรากำลังพบใครบางคนแล้วมัวแต่คิดว่า  
เอ...แล้วเขาจะคิดอย่างไรกับการแต่งตัวของเรา...
เราจะเกิดความรู้สึกไม่มั่นคง
แต่ถ้าเราเปลี่ยนจากการคิดถึงแต่ตนเอง  
ไปสู่ความคิดว่าเราจะร่วมทำงานรับใช้พระเจ้ากับเขา
ความรู้สึกกลัวไม่มั่นคงก็จะอันตรธานไป

เช่นเดียวกันในความสัมพันธ์  
ถ้าเรามุ่งเน้นให้ความสำคัญแก่คนอื่น  
ก็จะทำให้เราเกิดพลังที่จะขับไล่ความกลัวนั้นออกไปจากชีวิตจิตใจของเรา

แล้วเราจะมีพลังที่จะมุ่งมั่นสนใจความสำคัญของคนอื่นได้อย่างไร?
เรารู้แก่ใจแล้วว่า   พระเจ้ารักเมตตาเรามากแค่ไหน
ถ้าเวลาใดที่เราตระหนักชัดถึงความรักเมตตาของพระเจ้าที่มีในชีวิตของเรา  
พระเจ้าให้คุณค่าและความสำคัญในชีวิตของเรา
ในเวลานั้นเองเราไม่จำเป็นที่จะต้องพยายามทำให้คนอื่นเห็นถึงคุณค่า ความสำคัญของเราอีกต่อไป
เราไม่ต้องใช้เวลาในการพยายามทำตนให้เป็นที่ถูกอกต้องใจของคนอื่น
เพราะเรารู้และมั่นใจว่า   เรามีคุณค่า  เรามีความสำคัญ  เพราะเราตระหนักชัดว่าพระเจ้าทรงรักเรา

ในเวลาเช่นนั้น  เราจะรู้สึกถึงชีวิตที่ได้รับการปลดปล่อย  มีเสรีในการที่จะชื่นชมยินดี
ความเป็นตัวตนของเรา คุณค่าในชีวิตของเรามิได้ขึ้นอยู่กับความคิดความเห็นของคนอื่นต่อไป
เมื่อเรามั่นใจในความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับองค์พระผู้เป็นเจ้า
ก็จะไม่มีแรงกดดันจากความคาดหวังของคนอื่นที่บีบคั้นในชีวิตของเราได้
เพราะความรักเมตตาของพระเจ้าที่ปลดปล่อยให้ท่านมีพลังเสรีที่จะรักเมตตาคนอื่นอย่างไร้ความกลัว

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

23 มิถุนายน 2558

สิ่งเล็กน้อยในชีวิตประจำวันที่ศักดิ์สิทธิ์

“ใครบังอาจดูถูกสิ่งเล็กน้อยที่เกิดขึ้น(เริ่มต้น)ในวันนี้  
เพราะพระเนตร...ขององค์พระผู้เป็นเจ้า...ชื่นชมยินดีเมื่อเห็นศิลามุมเอก...”
(เศคาริยาห์ 4:10 อมต.)

พระธรรมเศคาริยาห์ กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงเยรูซาเล็มที่ยิวกลับจากการเป็นเชลยในต่างแดน   ได้ซ่อมสร้างพระมหาวิหารเยรูซาเล็มขึ้นใหม่   แต่การซ่อมสร้างพระวิหารกลับหยุดชะงัก   เพราะประชาชนไม่สนใจที่จะรับใช้พระเจ้า   เพราะต่างคนอ้างว่า ต้องมีภาระการทำมาหากินและความอยู่รอดปลอดภัยของตนเองมากมาย   และยิ่งกว่านั้นประชาชนยังท้อแท้  เหนื่อยหน่าย อ่อนแรง  จนไม่อยากทำอะไรสำหรับส่วนรวม

ท่ามกลางความเหน็ดเหนื่อย ท้อแท้ สิ้นหวังของประชาชน   เศคาริยาห์ให้กำลังใจประชาชน  ให้เชื่อพึ่งในพระกำลังของพระเจ้า   และชี้ให้ประชาชนเห็นว่า  ความอยู่รอดปลอดภัยของพวกเขาและสังคมประเทศชาติมิใช่เพราะเรามีความแข็งแกร่ง  เข้มแข็ง  ยืนหยัดแข็งขืนไม่ยอมใคร  จนพัฒนาไปเป็นความแข็งกร้าว   เพราะนั่นก็มิได้ชี้ชัดและประกันได้ว่า อิสราเอลจะอยู่รอดปลอดภัย  และมีชีวิตอย่างมีคุณค่า และพลัง แต่พระเจ้าตรัสว่า  “ไม่ใช่ด้วยกำลัง  ไม่ใช่ด้วยฤทธิ์อำนาจ  แต่โดยพระวิญญาณของพระเจ้า”   พระวิญญาณของพระเจ้าเท่านั้นที่จะกระทำแต่ละสิ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนที่ดูธรรมดา  เล็กน้อย  บางครั้งมนุษย์ดูว่าด้อยค่า  แต่พระเจ้าทำให้กลับกลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่าเที่ยงแท้  และนำถึงความสำเร็จอย่างแท้จริง

เมื่อเศคาริยาห์วางรากฐานพระวิหาร   ประชาชนและพวกผู้เฒ่าผู้แก่ที่เคยเห็นถึงความโอ่อ่ายิ่งใหญ่สวยงามของพระมหาวิหารที่ซาโลมอนสร้าง   ต่างพูดและรู้สึกว่า  พระวิหารที่เศคาริยาห์วางรากนั้น   บ่งบอกถึงพระวิหารนั้นมีขนาดเล็ก  และไม่น่าจะยิ่งใหญ่อลังการอย่างในอดีต   พวกเขาไม่เห็นคุณค่า!   และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาชนไม่สนใจ  ไม่ให้ความร่วมมือ  ไม่ยอมเสียสละทุ่มเท เพราะเขาเห็นว่า สิ่งที่ทำนั้น“ด้อยค่า”

แต่พระเจ้าตรัสว่า  “ใครบังอาจดูถูกสิ่งเล็กน้อยที่เกิดขึ้น หรือ เริ่มต้นในวันนี้   เพราะพระเนตรขององค์พระผู้เป็นเจ้าทรงชื่นชมยินดีเมื่อเห็นศิลามุมเอก...”   ในสายพระเนตรของพระเจ้า  สิ่งใหญ่  ความงดงามโอ่อ่าตระการตา  ความแข็งแกร่งบึกบึน  ความทันสมัยใช่ว่าจะเป็นสิ่งดีมีคุณค่าเสมอไป

ทุกสิ่งเล็กสิ่งน้อยที่เราทำเป็นประจำ (รูทีน routine) ที่กระทำบนรากฐานของจิตใจจิตวิญญาณที่ตั้งใจทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า   ด้วยความรักเมตตาที่เสียสละแบบพระคริสต์ต่างหากที่นำมาซึ่งความชื่นชมยินดี   แล้วทำให้เห็นคุณค่าในชีวิตของเรา  จนเป็นเหตุให้เกิดพลังชีวิตในการจาริกไปบนเส้นทางแห่งพระประสงค์ได้

คุณค่าในชีวิตของเรา   ความศักดิ์สิทธิ์บริสุทธิ์ในชีวิตประจำวันของเรา   มิได้ขึ้นอยู่กับการที่เรานุ่งขาวห่มขาว  หรือนุ่งดำห่มดำ   หรือมิใช่เพราะเราได้รับการสถาปนาเป็นศาสนาจารย์  ศิษยาภิบาล หรือ ผู้ปกครองคริสตจักร  หรือ ประกอบศาสนพิธีที่สำคัญเสมอไป   แต่อยู่ที่เราดำเนินชีวิตในเรื่องเล็กเรื่องน้อยของชีวิตประจำวัน   ตั้งแต่การเตรียมอาหารการกินสำหรับคนในครอบครัว   ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว   ความสัมพันธ์กับคนในที่ทำงาน  การห่วงหาอาทรแก่คนรอบข้างที่พบเห็น   การมีเวลาที่จะฟังเพื่อนคนหนึ่งจนได้ยินถึงความรู้สึก ต้องการในชีวิตของเขา   การมีเวลาที่จะอธิษฐาน มีเวลาอยู่กับพระเจ้า   มีเวลาที่จะสนุกสนานกับลูกที่บ้าน คุณค่า ความศักดิ์สิทธิ์ และพลังชีวิตสำหรับเรานั้นได้มาจากการทำงานชีวิตประจำวันเหล่านี้บนรากฐานแห่งความรักเมตตา เสียสละแบบพระคริสต์   เป็นการกระทำที่เราใส่ใจทำสิ่งเหล่านั้นว่า องค์พระผู้เป็นเจ้าต้องการให้เราทำเช่นใดในสิ่งเล็กสิ่งน้อยเหล่านั้น   เมื่อเราทำลงไปแล้ว   พระองค์จะเป็นผู้อวยพระพรให้กลับกลายเป็นคุณค่าที่ยิ่งใหญ่สำหรับเราและสังคมที่เราอยู่ด้วย

ให้เราทุ่มเทชีวิตสำหรับสิ่งเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นในวันนี้ให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระเจ้า   แล้วพระองค์จะอวยพระพรที่ยิ่งใหญ่ในสิ่งเล็กน้อยที่เราทำเหล่านั้น

คุณค่าความสำคัญในชีวิตไม่ได้อยู่ที่ ความเล็กน้อย หรือยิ่งใหญ่ในสิ่งที่เราทำ   แต่อยู่ที่เราทำด้วยสุดใจสุดจิตสุดความคิดชีวิตของเราแค่ไหนตามพระประสงค์ของพระเจ้านั้นต่างหากที่วัดความยิ่งใหญ่   และคุณค่าที่เกิดขึ้นมิได้จากสิ่งที่เราทำ   แต่เป็นการที่พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตประจำวันของเรา และ ผ่านชีวิตของเราแต่ละวัน   จนเกิดเป็นพระพรที่พระเจ้าประทานแก่งานที่เราทำนั้นต่างหาก

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

12 มิถุนายน 2558

ทำไมเราถึงต้องทำงาน?

“พระเจ้า...ทรงกำหนดให้ชายผู้นั้นอยู่ในสวนเอเดน
ให้เขาทำงานและดูแลสวนแห่งนั้น” (ปฐมกาล 2:15 อมต.)

ทำไมเราต้องทำงาน? บางคนก็บอกว่านี่เป็นคำถามโลกแตก แต่บางคนก็บอกว่านี่เป็นถามยอดฮิต  

แต่ผมว่าคริสตชนจะต้องถามคำถามนี้บ่อย ๆ เพื่อจะไม่ลืมว่าตนทำงานไปทำไม? นอกจากการทำงานเป็นการนมัสการพระเจ้าตามที่เราพูดคุยกันในครั้งที่ผ่านมาแล้ว การทำงานของเราเกี่ยวอะไรกับความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้าไหม? และถ้าเราจะถามพระเจ้าวันนี้ว่า พระเจ้าครับ ทำไมผมต้องทำงานด้วย?   ท่านคิดว่าพระเจ้าจะตอบเราอย่างไร?

ปฐมกาล 2:15 น่าจะตอบคำถามนี้ของเรา เพราะพระธรรมข้อนี้บอกชัดถึงความตั้งใจของพระเจ้าที่ทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมา แล้วพระองค์ให้มนุษย์อยู่อาศัยท่ามกลางสรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสร้าง “พระเจ้า...ทรงกำหนดให้ชายผู้นั้นอยู่ในสวนเอเดน ให้เขาทำงานและดูแลรักษาสวนแห่งนั้น” จากพระธรรมข้อนี้เราอาจจะตอบแบบขวานผ่าซากได้ว่า ที่เราต้องทำงานเพราะพระเจ้าทรงสร้างเราขึ้นมาให้ทำงานที่ทรงมอบหมายนั้น

ปฐมกาล 2:15 เป็นการกล่าวย้ำซ้ำความหมายของ ปฐมกาล 1:27-28 ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการอธิบายในอีกมุมมองหนึ่งที่ว่า มนุษย์ถูกสร้างขึ้นตามพระฉายาหรือพระลักษณะของพระเจ้า และพระเจ้าทรงบัญชาให้มนุษย์ เป็นผู้ที่มีชีวิตที่ “...​มี​ลูก​ดก​ทวี​มาก​ขึ้น​จน​เต็ม​แผ่น​ดิน... ​มี​อำนาจ​เหนือ​แผ่น​ดิน” เป็นชีวิตที่เกิดผลจนเต็มแผ่นดิน เป็นผู้ที่มีศักยภาพ ประสิทธิภาพที่จะทำให้แผ่นดินโลกเกิดดอกออกผลได้ ดังนั้น  ถ้าชีวิตมนุษย์จะเกิดดอกออกผลได้มนุษย์ต้องทำงาน

ดังนั้น การที่เราทำงานเพราะเป็นการที่เราเชื่อฟังและทำตามพระบัญชาของพระเจ้า   แต่มีความหมายที่ลุ่มลึกยิ่งกว่านั้นคือ  ที่เราทำงานเพราะเราถูกสร้างขึ้นตามพระประสงค์ของพระเจ้า   ด้วยการที่เราทำงานจึงเป็นการที่เราใช้ชีวิตให้บรรลุตามพระประสงค์ของพระองค์  และ เป็นการสะท้อนถึงพระฉายาแห่งการสร้างสรรค์ด้วย

บ่อยครั้งที่คริสตจักรลดคุณค่าของการทำงานในชีวิตประจำวัน เพราะเรามักมองเพียงว่าการทำงานอาชีพในชีวิตประจำวันเป็นการ “ทำมาหากิน”  ทำเพื่อเราจะมีกินเพื่อเราจะอยู่รอดเท่านั้น   หรือดีขึ้นหน่อยเราก็มองเพียงว่าการทำงานจิตอาสาเป็นการเสริมสร้างชุมชนให้ดีขึ้น ตามนัยของพระคัมภีร์ การทำงานมีคุณค่าในตัวของมัน เพราะการทำงานของเราเป็นการแสดงถึงความจงรักภักดีและการที่ให้เกียรติและยกย่องสรรเสริญพระเจ้า 

ตามปฐมกาล 2:15 “...ให้ทำงาน  ดูแลสวน...”  ตามรากศัพท์คือ ให้รับใช้สวนนั้น  นั่นหมายความว่า เราทำงานก็เป็นการรับใช้ในตัวงานที่เราทำด้วย คือเป็นความมุ่งมั่นตั้งใจและทุ่มเทชีวิตของเราทำงานนั้นให้เกิดผลดีสูงสุด ซึ่งการทำงานก็เป็นการรับใช้ในตัวงานด้วย ในที่นี้พระเจ้าบัญชาว่า ทำงานให้เกิดดอกออกผล   คือทำงานให้งานนั้นเกิดผล ตัวอย่างเช่นถ้าเราเป็นช่างสร้างบ้าน เราจะสร้างบ้านที่ดีสุดฝีมือของเราด้วยความใส่ใจ  ให้สวยงาม และแข็งแรง เป็นต้น


แล้วทำงานไปทำไม? เราทำงานเพราะเรารับใช้ในตัวงานที่เราทำ ให้เกิดผลงานที่ดีที่สุดตาม
พระบัญชาของพระผู้สร้าง   และเราสำนึกเสมอว่า ที่เราทำงานเพราะเราต้องการที่จะจงรักภักดีและเชื่อฟังพระบัญชาของพระองค์  เราทำงานเพื่อชีวิตที่เรามีอยู่นี้จะบรรลุพระประสงค์ของพระเจ้าที่ทรงสร้างและกำหนดชีวิตของเราอย่างมีแผนงานและพระประสงค์ของพระองค์สำหรับเรา

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

08 มิถุนายน 2558

การทำงานเป็นการนมัสการพระเจ้า

จากบทคิดข้อเขียนครั้งที่แล้ว   รากศัพท์ในภาษาฮีบรู avad ที่แปลเป็นภาษาไทยว่า “ทำ” หรือ “ทำงาน” ในปฐมกาล 2:15 นั้นมีความหมายถึง  การรับใช้  การบริการด้วย   พระเจ้าให้มนุษย์ที่พระองค์สร้างอาศัยในสวน  และทำงานรับใช้ในสวนนั้น   คำว่า avad ในภาษาฮีบรู มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับคำว่า eved  ซึ่งมีความหมายว่า “ทาส” หรือ “คนใช้”   พระคัมภีร์ข้อนี้จึงมีความหมายว่า   ในที่ที่พระเจ้ากำหนดให้มนุษย์อยู่นั้นคือที่ที่คน ๆ นั้นจะเป็นคนใช้ หรือ ทำงานรับใช้พระองค์ในที่นั่น ๆ  

ดังนั้น  การทำงานในที่นี้มิได้หมายถึงงานที่ง่าย  สะดวกสบาย เท่านั้น   แต่เป็นงานที่หนัก  ที่ต้องทำด้วยความทุ่มเท  ด้วยความใส่ใจและรับผิดชอบต่อเจ้านาย   เพราะเราทำงานในภาพลักษณ์ของเกษตรกร   งานไถพรวน ขุด ปลูก ดูแล รักษา ไม่ใช่งานเบา ๆ งานง่าย ๆ แต่เป็นงานหนัก   และยิ่งเชื่อมโยงกับการทำงานในความหมาย “ทาส” “คนใช้”  ก็เป็นภาพการทำงานที่หนักด้วยเช่นกัน   คริสตชนมักเข้าในคลาดเคลื่อนว่า   การทำงานหนักเพราะเป็นคำสาปแช่งจากพระเจ้า   แต่การทำงานหนักคือการที่เราทุ่มเทในการเป็นคนใช้ของพระเจ้าต่างหาก

อาจจะกล่าวได้ว่า   พระเจ้าทรงวางเราลงในที่ใด สถานการณ์เช่นไร  ที่นั่นพระองค์มีพระประสงค์ให้เรารับใช้ ทำงานบริการที่นั่น  เป็นคนใช้ของพระองค์ในสถานการณ์นั้น ๆ เช่น ถ้าพระเจ้าทรงวางท่านให้เป็นแม่บ้าน  พระเจ้าประสงค์ให้ท่านเป็นคนรับใช้ของพระองค์ในบ้านนั้น ในสถานการณ์บ้านนั้น (ไม่ว่าบ้านนั้นจะมีสถานการณ์หรือสภาพเช่นใด)   พระองค์ต้องการให้เราทำงานรับใช้พระองค์ และ บริการคนในบ้านนั้น   หรือ  พระเจ้าทรงวางท่านในโรงเรียนให้เป็นครู   พระเจ้าต้องการให้ท่านเป็นครูที่รับใช้พระประสงค์ของพระองค์  และให้บริการแก่นักเรียน เพื่อนครู  เพื่อนร่วมงาน  และพ่อแม่ของนักเรียนในตำแหน่งอื่น ๆ ในนามของพระเจ้า

ไม่ว่าเราจะมีชีวิตอยู่ที่ใด   เรามีอาชีพในงานใด   เราอยู่ที่นั่นและทำงานนั้นในฐานะคนรับใช้ของพระเจ้า   ให้ทำงานที่นั่นเพื่อรับใช้พระประสงค์ของพระองค์  และรับใช้คน ชุมชน สังคม ที่นั่นในพระนามของพระองค์ 

ในพระธรรมสดุดี 100:2  “จงนมัสการพระเจ้าด้วยความเปรมปรีดิ์   จงมาเข้าเฝ้าพระองค์ด้วยบทเพลงชื่นบาน” (อมตธรรม)   คำว่า “นมัสการ” ในพระคัมภีร์ข้อนี้แปลจากศัพท์ภาษาฮีบรูคำว่า  avad  ในที่นี้มีความหมายว่า  การทำงานของเราที่เรารับใช้พระเจ้านั้น  เป็นการนมัสการพระเจ้าด้วย   ในการทำงานแต่ละวันของเราไม่ว่าอาชีพอะไรนั่นเป็นการนมัสการพระเจ้าด้วย  

เราคงต้องถามตนเองทุก ๆ วันว่า   เราจะทำงานของเราวันนี้เช่นไรให้เป็นการทำงานที่นมัสการพระองค์   เราจะทำงานอย่างไรที่จะเป็นบทเพลงชื่นบานถวายแด่พระองค์   แล้วเราจะทำงานด้วยท่าทีแบบไหนที่จะให้คนรอบข้างสรรเสริญพระองค์ด้วย?

เย็นวันนี้ก่อนที่จะพักผ่อนหลับนอน   ให้เรานับพระคุณ พระพรของพระเจ้าผ่านงานที่เราได้ทำในวันนี้   และลองทบทวนและสะท้อนคิดว่า   วันนี้เราทำงานอะไร เช่นไร  ทำแก่ใครที่เป็นการรับใช้พระเจ้าและบริการแก่เพื่อนมนุษย์   และทำให้เกิดการนมัสการ สรรเสริญแด่พระเจ้า  และเป็นบทเพลงชื่นบานในชีวิตของเราในวันนี้


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

05 มิถุนายน 2558

เมื่อคริสเตียนฝ่าฝืนพระบัญชาพระเจ้า?

“พระเจ้า...ให้ชายผู้นั้นอยู่ในสวนเอเดน  ให้เขาทำงานและดูแลสวนแห่งนั้น”
(ปฐมกาล 2:15 อมต.)

ความคิดเรื่อง “ผู้นำที่รับใช้” พบในสมัยต้น ๆ ราวในปี 1970 ข้อเขียนของ  Robert Greenleaf หลังจากนั้นหัวเรื่องนี้ก็แพร่หลายถูกกล่าวถึงในวงการเรื่องผู้นำทั้งในและนอกคริสตจักร   แต่ขอตั้งข้อสังเกตว่า   ความคิดส่วนใหญ่จะมุ่งอ้างอิงถึงคำสอนของพระเยซูคริสต์ถึงแบบอย่างผู้นำที่รับใช้ (มาระโก 35-45)   แต่ท่านเชื่อหรือไม่ครับว่า เรื่องนี้ปรากฏตั้งแต่พระธรรมปฐมกาลบทแรก ๆ เลยทีเดียว

ในปฐมกาล 1:27-28 มนุษย์ถูกสร้างขึ้นตามพระฉายาตามพระลักษณะของพระเจ้า  พระองค์ประทานสิทธิอำนาจให้เขาครอบครองเหนือสรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างบนพื้นพิภพโลกนี้   ถึงแม้ว่าจะไม่อธิบายถึงมนุษย์คนแรกที่พระองค์ทรงสร้างด้วยคำว่า “ผู้นำ” แต่เราเห็นชัดในที่นี้ว่า พระเจ้าให้เขาใช้ภาวะผู้นำเหนือสรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสร้าง

ในปฐมกาลบทที่ 2 ได้อธิบายถึงภารกิจ หรือ หน้าที่ความรับผิดชอบของมนุษย์ชัดเจนยิ่งขึ้นในข้อที่ 15 ว่า  พระเจ้าให้มนุษย์ที่ทรงสร้างอยู่ในสวนเอเดน และให้ทำและดูแลสวน (มตฐ.)  ส่วนในฉบับอมตธรรมแปลว่า “ให้เขาทำงานและดูแลรักษาสวนแห่งนั้น”   พระเจ้าทรงให้มนุษย์ที่ทรงสร้าง “ทำงาน” และ “ดูแลรักษา”   ในที่นี้คำในต้นฉบับภาษาฮีบรูใช้คำว่า “avad” ซึ่งมีความหมายว่า “ให้รับใช้” และ คำว่า “shamar” หมายถึงการ “รักษาดูแล” สวนเอเดน หรือ แผ่นดิน   ซึ่งคำว่า “avad” มีความหมายครอบคลุมถึง การไถ ทำงาน หรือ ทำสวน  โดยภาพรวมแล้วในที่นี้กล่าวถึงว่า   พระเจ้าทรงให้มนุษย์อาศัยอยู่ในสวนเอเดนและให้ทำงานรับใช้ในสวนนั้น

ในพระธรรมปฐมกาลได้กำหนดภารกิจ บทบาท หน้าที่มนุษย์ที่พระเจ้าทรงสร้างให้เป็น “ผู้นำที่รับใช้”   พระคัมภีร์บอกว่า ให้มนุษย์มีอำนาจครอบครองเหนือสรรพสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้างและให้ใช้สิทธิอำนาจนั้นในการรับใช้   แต่เราพบว่า มนุษย์กลับไม่ได้ใช้สิทธิอำนาจนั้นตามพระประสงค์คือเพื่อการรับใช้   แต่กลับใช้สิทธิอำนาจนั้นเพื่อประโยชน์แห่งตน  ด้วยอำนาจแบบเผด็จการ  กดขี่ และ ทำลาย   มนุษย์ได้กระทำสิ่งตรงกันข้ามกับพระบัญชาของพระเจ้าผู้ทรงสร้าง

ความเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนเช่นนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นที่ไหนครับ   เกิดขึ้นกับคนที่เป็นพยานว่าตนเป็นคริสเตียน   และบางคนยังเป็นผู้ประกาศข่าวประเสริฐเสียด้วยซ้ำ?   เช่น มีนักประกาศฯ ผู้หนึ่ง หลังจากเข้าป่ายิงนกได้มากกว่า 30 ตัว   หิ้วนกออกมาเป็นพวงใหญ่   กล่าวอวดอ้างถึงฤทธิ์เดชที่พระเจ้าประทานให้คริสเตียนว่า   สามารถยิงนกจำนวนมากมาย   และบอกว่านี่เป็นของประทานจากพระเจ้า   เพราะพระเจ้าให้คริสเตียนมีสิทธิอำนาจครอบครองเหนือธรรมชาติ?    ผู้ประกาศคนเดียวกันนี้  เคยประกาศว่า  พวกไม่ใช่คริสเตียนไม่กล้าตัดต้นไม้ใหญ่ในป่า   เพราะกลัวผีสางนางไม้ที่แฝงตัวในต้นไม้เหล่านั้น   แต่คริสเตียนไม่กลัว   เพราะพระเจ้าของเรามีอำนาจเหนือผีสางนางไม้เหล่านั้น   เพราะฉะนั้น คริสเตียนจึงสามารถตัดต้นไม้เหล่านั้นได้?

จนปัจจุบัน   ยังมีคริสเตียนที่อยู่ใกล้ป่ายังเข้าป่าตัดไม้มาเป็นของตน   ต่อมาถูกจับต้องขึ้นศาล (จำนวนมากกว่าร้อยคน)  ศาลพบว่ามิใช่การตัดไม้เพียงเพื่อใช้ตามความจำเป็นในครัวเรือนเท่านั้น   แต่เป็นการตัดไม้เป็นอาชีพ  เพื่อรายได้   เพื่อประโยชน์มั่งคั่งส่วนตน   เมื่อเกิดประเด็นเช่นนี้เกิดคำถามว่า   แล้วคริสตจักร และ องค์กรแม่ที่คริสตจักรสังกัดอยู่จะทำอย่างไร?   จะส่งทนายสู้คดีทางศาลเพื่อเอาชนะช่วยให้คริสเตียนไม่ต้องเข้าคุกติดตารางเช่นนั้นหรือ?

ในที่นี้มิใช่การทำผิดกฎหมายเท่านั้น  แต่นี่เป็นการฝ่าฝืนพระบัญชาของพระผู้สร้างอย่างโจ่งแจ้ง   ทำไมคริสตจักรไทยไม่สอนรากฐานความเชื่อในเรื่องนี้?   ทำไมคริสเตียนมิได้ทำงานและรับใช้พระเจ้าในการดูแลป่าที่ทรงสร้าง?   ที่ทรงมอบหมายให้ทุกคนดูแล?   ทำไมคริสเตียนไม่รับใช้พระประสงค์ตามพระบัญชา?

ผมไม่ขอโทษพี่น้องที่ต้องคดีตัดไม้ในป่าที่กล่าวข้างต้นเท่านั้น   แต่คริสตจักรทั้งมวลในประเทศไทยต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้   คริสตจักรละเลยหน้าที่ที่จะเรียนรู้พระประสงค์และพระบัญชาของพระเจ้าอย่างครอบคลุม    คริสตจักรจึงไม่ได้สั่งสอน บ่มเพาะ ความเชื่อของสมาชิกอย่างถูกต้อง   ที่ผ่านมาคริสตจักรมักเลือกเอาพระบัญชาที่ตนจะแสดงสิทธิอำนาจพิเศษเหนือกว่าคนอื่น   แต่ขาดการพิจารณาถึงพระประสงค์ที่ประทานสิทธิอำนาจเหล่านั้นให้เพื่อ รับใช้ ดูแล และเอาใจใส่

วันนี้คริสตจักรไทยต้องกลับใจใหม่ครับ!

กลับใจใหม่ที่จะยอมเชื่อฟังพระบัญชาของพระองค์ในทุกเรื่อง   กลับใจใหม่เพื่อที่จะยอมตนกลับมาทำตามพระบัญชาด้วยการรับใช้ ดูแล เอาใจใส่ ต่อพระประสงค์ของพระเจ้า

เราต้องขอบคุณศาลครับ   ที่กระตุกต่อมความสำนึกในความเชื่อของเราให้กลับมาพิจารณาตนเองบนรากฐานความเชื่อของเรา   จะกล่าวได้ไหมครับว่า  พระเจ้าทรงใช้ศาลในการที่จะตีสอนเรา   เพื่อเราจะกลับใจใหม่?   กลับมาหาพระประสงค์  รับใช้ตามพระบัญชา   สัตย์ซื่อต่อพระองค์

คริสตจักรจะต้องเอาใจใส่ครอบครัวของพี่น้องคริสเตียนที่ถูกต้องขังรับความผิด   พวกเขาต้องรับความผิดในส่วนความละเลยผิดพลาดของคริสตจักรไทยที่ผ่านมาด้วย   ดังนั้น  เราต้องเอาใจใส่ต่อครอบครัวของผู้เหล่านั้นให้มีชีวิตในพระคุณของพระเจ้าผ่านการรับใช้ ดูแล เอาใจใส่ของพวกเราได้ไหม?   แล้วเราจะรับใช้ เอาใจใส่ คนเหล่านั้นที่ต้องขังอย่างไร   ทำอย่างไรจะรักษาสัมพันธภาพ   และให้กำลังใจ ร่วมทุกข์กับคนเหล่านี้

สิ่งสำคัญสองเรื่องที่คริสตจักรพึงกระทำคือ   ขอโทษต่อสังคมไทยในความละเลยผิดพลาดของคริสตจักรไทย  ที่ไม่ได้เอาใจใส่ต่อการสอนในเรื่องการรับใช้ ดูแล เอาใจใส่ต่อธรรมชาติ และ สรรพสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้าง   ที่ทำให้ป่าไม้ของไทยส่วนนี้ได้รับความเสียหาย   ที่ถูกทำลาย   สิ่งสำคัญประการที่สองคือ คริสตจักรไทย และ องค์กรที่คริสตจักรเหล่านี้สังกัดอยู่ต้องตื่นขึ้นเอาใจใส่อย่างจริงจังในการสอน บ่มเพาะ  และเสริมสร้างให้สมาชิกเชื่อศรัทธา  เข้าใจ  และรับผิดชอบในการรับใช้ ดูแล รักษา สรรพสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้าง

คริสตชนไม่ได้รับสิทธิอำนาจจากพระเจ้าเพื่อที่จะครอบครองด้วยการใช้อำนาจนั้นเพื่อตนเอง  แต่เพื่อรับใช้พระบัญชาและพระประสงค์  และรับใช้สังคมชุมชนในโลกนี้ในพระนามของพระองค์   เพื่อพระเจ้าจะได้รับการนมัสการยกย่องสรรเสริญ!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

04 มิถุนายน 2558

ใครคือเจ้านายตัวจริงของท่าน?

เพราะ​ว่า​เรา​ไม่​ได้​ประกาศตัว​เอง
แต่​ประกาศ​ว่า​พระ​เยซู​คริสต์​ทรง​เป็น​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า
และ​ประกาศว่า​ตัว​เรา​เอง​เป็น​ทาส​ของ​ท่าน​ทั้ง​หลาย​เพราะ​เห็น​แก่​พระ​เยซู  (2โครินธ์ 4:5 มตฐ.)

จอห์น เคนเน็ธ เกลเบรธ (John Kenneth Galbraith) นักเศรษฐศาสตร์เรืองนาม  ได้เขียนในอัตชีวประวัติของเขาตอนหนึ่ง  ถึงแม่บ้านประจำครอบครัวของเขา มิสซิส วิลสัน (Mrs. Wilson) ที่มีความจงรักภักดีอย่างมาก   เกลเบรธ   เล่าว่าวันนั้นเขารู้สึกอ่อนเพลียต้องการพักผ่อนอย่างมาก   เขาบอกกับแม่บ้านว่า ถ้ามีโทรศัพท์มาให้เธอเป็นคนรับสาย เขาต้องการหลับพักผ่อนสักพักหนึ่ง แล้วก็มีสายโทรศัพท์ดังเข้ามาจริง ๆ เป็นสายจากประธานาธิบดี  ลินดอน จอห์นสัน

“นี่ลินดอน จอห์นสัน พูดนะ”  เสียงจากปลายสายอีกข้างหนึ่ง “ขอช่วยเรียก เคนเน็ธ เกลเบรธ มารับสายหน่อย”
“เขากำลังหลับอยู่”  มิสซิส วิลสันตอบ “และเขาไม่ต้องการให้ใครรบกวนเขา”
“แต่ผมต้องการพูดกับเขาเดี๋ยวนี้”  ประธานาธิบดีตอบกลับ
“ไม่ได้ค่ะ...ท่านประธานาธิบดี”  มิสซิส วิลสัน สวนกลับ “ดิฉันทำงานให้กับคุณเกลเบรธ  ไม่ใช่ท่าน”

หลังจากนั้น 2-3 ชั่วโมง  ประธานาธิบดีโทรกลับมาใหม่  ท่านบอกกับเกลเบรธว่า “ช่วยบอกหญิงคนนั้นว่า ฉันต้องการเธอมาทำงานที่นี่ในทำเนียบขาว”

มิสซิส วิลสันรู้และตระหนักชัดถึงความสำคัญที่เธอจะต้องยืนหยัดสัตย์ซื่อทุ่มเทในการรับใช้เจ้านายของเธอ   ในฐานะที่เราเป็นผู้ติดตามพระคริสต์   เราก็ต้องยืนหยัดสัตย์ซื่อทุ่มเทชีวิตรับใช้องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา   แม้จะมี “อำนาจ” หรือ “กระแสโลก” ที่พยายามฉุดกระชากลากเราออกจากการยืนหยัดสัตย์ซื่อทุ่มเทชีวิตชีวิตของเราต่อองค์พระผู้เป็นเจ้านั้นก็ตาม

ให้เราดำเนินชีวิตที่ยืนหยัด สัตย์ซื่อ ทุ่มเทเพื่อพระคริสต์เหนือใครหรือสิ่งอื่นใด   อย่าให้ใครคนไหน หรือ สิ่งหนึ่งใดในโลกนี้มีความสำคัญมากกว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าที่เราจงรักภักดีสูงสุด 

จงยืนหยัด สัตย์ซื่ออย่างจริงใจต่อองค์พระเยซูคริสต์   เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุดเหนือชีวิตของเรา   พระองค์เป็นเจ้านายตัวจริงในชีวิตของเราครับ

แล้วมี “อำนาจ” อะไรไหมในวันนี้   ที่เป็นตัวฉุดกระชากลากท่านให้ถอยห่างจากการจงรักภักดี สัตย์ซื่อ และทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อพระคริสต์?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

02 มิถุนายน 2558

แล้วพระเจ้าจะเลือกใคร?

ภายหลังที่พระเยซูคริสต์เสด็จสู่สวรรค์แล้ว   สิ่งที่อัครทูตทำสิ่งแรกคือ   การเลือกอีกคนหนึ่งขึ้นมาแทนยูดาส  น่าสังเกตว่า   เมื่อพวกเขาประมาณ 120 คนลงจากภูเขามะกอกเทศ   เข้ามาในห้องชั้นบนที่กรุงเยรูซาเล็มแล้ว   สิ่งที่พวกเขาทำคือ “พวก​เขา​อุทิศ​ตัว​อธิษ​ฐาน​ด้วย​กัน พร้อม​กับ​พวก​ผู้​หญิง​และ​มารีย์​มารดา​ของ​พระ​เยซู​ทั้ง​พวก​น้อง​ชาย​ของ​พระ​องค์​ด้วย” (กิจการ 1:14 มตฐ.)  

เนื่องจากยูดาส เสียใจที่ขายพระเยซูคริสต์จนพระองค์ต้องถูกตรึงที่กางเขน   ในที่สุดเขาตัดสินใจไปผูกคอตายบนผืนนาที่ซื้อด้วยเงินที่เขาขายพระเยซูนั้น   สิ่งต่อมาที่อัครทูตและสาวกของพระคริสต์ทำคือ   การเลือกคนหนึ่งขึ้นมาแทนยูดาสที่จากไปแล้ว

ในสถานการณ์การสูญเสียพระเยซูคริสต์   อัครทูตและสาวกของพระคริสต์มิได้กล่าวโทษยูดาส   แต่พวกเขายังมองว่ายูดาสเป็นคนหนึ่งที่ร่วมในกระบวนเหตุการณ์พันธกิจที่เกิดขึ้น  “เพราะ​เขา​นับ​ยูดาส​เข้า​ใน​กลุ่ม​เรา และ​ได้​รับ​ส่วน​ใน​พันธ​กิจ​นี้” (1:17)   แต่อัครทูตและสาวกได้มุ่งมองในการสานต่อพระราชกิจของพระเยซูคริสต์ที่ทรงมอบหมายให้พวกเขาดำเนินการต่อ   ดังนั้น เพื่อให้พระราชกิจของพระคริสต์ขับเคลื่อนต่อ   สิ่งที่เขาเลือกทำคือ หาคนหนึ่งขึ้นมาแทนที่ในการขับเคลื่อนพระราชกิจของพระคริสต์ต่อไป

เมื่อคริสตจักรของพระเยซูคริสต์เกิดวิกฤติ เกิดปัญหา   ชุมชนผู้เชื่อรุ่นแรกมิได้มองหา “แพะที่จะรับผิด”   แต่พวกเขามองหาคนที่พระเจ้าทรงเลือกให้เข้ามาร่วมในการสานต่อพระราชกิจของพระคริสต์   และนี่เองที่ทำให้พันธกิจคริสตจักรสามารถก้าวรุดไปข้างหน้า   แทนที่จะจมจ่อมอยู่กับปัญหา อุปสรรค หรือความขัดแย้งความไม่พอใจกันและกัน  แล้วมาเถียงกันว่าใครทำความผิดพลาดที่ผ่านมา

ชุมชนผู้เชื่อกลุ่มแรกได้วางเกณฑ์ในการคัดเลือก คนที่จะขึ้นมาแทนยูดาส   คน ๆ นั้นควรเป็นคนที่อยู่ร่วมในทีมงานของอัครทูตและสาวกของของพระคริสต์ตั้งแต่เริ่มแรก   จนถึงท้ายสุดคือ  “...คน​หนึ่ง​ใน​บรร​ดา​คน​ที่​อยู่​กับ​เรา​ตลอด​เวลา​ที่​พระ​เยซู​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​เสด็จ​เข้า​ออก​ท่าม​กลาง​เรา   คือ​ตั้ง​แต่​บัพ​ติส​มา​ของ​ยอห์น จน​ถึง​วันที่​พระ​เจ้า​ทรง​รับ​พระ​องค์​ขึ้น​ไป​จาก​เรา คน​หนึ่ง​ใน​คน​เหล่า​นี้​จะ​ต้อง​เป็น​พยาน​ร่วม​กับ​เรา​เกี่ยว​กับ​การ​คืน​พระ​ชนม์​ของ​พระ​องค์ (1:21-22)   แล้วเขาก็เลือกสองคนที่มีคุณสมบัติตามกำหนด   น่าสังเกตว่า หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกคือคนที่อยู่ร่วมในทีมงานตั้งแต่แรกถึงปัจจุบัน   ใช้หลักเกณฑ์คนที่รู้และร่วมตลอดช่วงเวลาที่พระคริสต์ทรงสอนและเสริมสร้างทีมงาน   แต่มิได้ใช้เกณฑ์ว่าเป็นคนของพวกไหน

บางคนที่อ่านพระธรรมตอนนี้แล้วไม่ค่อยสบายใจกับวิธีการของอัครทูตและสาวกพระคริสต์   เขาบอกว่าเขาเห็นด้วยกับการวางหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกคน   แต่เขาไม่สบายใจกับการอธิษฐานให้พระเจ้าทรงเลือกแล้วตัดสินเลือกด้วยการจับฉลาก?

ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า   จุดประสงค์เบื้องลึกที่อัครทูตและสาวกพระคริสต์กระทำเช่นนี้ที่แท้จริงต้องการให้พระเจ้าทรงเป็นผู้เลือกคน ๆ นั้นที่จะมาแทนยูดาส   พวกเขามิได้เชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ในการจับฉลาก   แต่พวกเขาใช้วิธีการจับฉลากเป็นเพียงทางหนึ่งที่พระเจ้าจะทรงสำแดงน้ำพระทัยและพระประสงค์ของพระองค์   ดังเราเห็นได้จากคำอธิษฐานของพวกเขาว่า   “องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้าผู้​ทรง​ทราบ​ใจ​ของ​มนุษย์​ทุก​คน ขอ​ทรง​สำแดง​ว่า​ใน​สอง​คน​นี้​พระ​องค์​ทรง​เลือก​คน​ไหน    ให้​รับ​ส่วน​ใน​พันธ​กิจ​นี้​และ​รับ​หน้า​ที่​เป็น​อัคร​ทูต​แทน​ยูดาส...” (1:24-25)   และในที่สุดฉลากตกอยู่กับมัทธีอัส

ปัจจุบันนี้   คริสตจักรของเราได้เลือกคนที่จะมาสานต่อพระราชกิจของพระเยซูคริสต์อย่างอัครทูตและสาวกพระคริสต์หรือไม่   ก้นบึ้งในความต้องการของเราเราต้องการให้พระเจ้าทรงเลือกหรือไม่?   หรือ ใจลึก ๆ แล้วเราต้องการให้คนทั้งหลายเลือก “เรา”   เราต้องการชนะเลือกตั้งในคริสตจักรใช่ไหม?   เมื่อตอนหาเสียงก่อนการเลือกตั้งเราต่างพยายามแจงสรรพคุณ  แผนการ  นโยบาย  ความคิดของเราให้คนที่จะเลือกตั้งเลือกเรา   หรือบางคนถึงกับยอมถวายโน่นยอมให้นี่   เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าตนจะทำประโยชน์เพื่อคนอื่น  เพื่อคริสตจักร และ อะไรต่อมิอะไรมากมาย    ถ้าเช่นนี้เรามีความจริงใจที่ต้องการให้พระเจ้าทรงเป็นผู้เลือกอย่างบริสุทธิ์ใจหรือไม่?    แล้วเราจะบอกว่า ที่เราชนะเลือกตั้งในคริสตจักรเพราะพระเจ้าทรงเลือกเราได้หรือไม่?   หรือถ้าจะถามตรงก็คงต้องถามว่า   ที่ชนะเลือกตั้งในคริสตจักรนั้นเป็นการทรงเลือกและทรงเรียกจากพระเจ้าแท้จริงหรือไม่?

ผมยอมรับว่า  ในเวลานั้น  คนที่เสนอตัวให้คริสตจักรเลือกทุกคนต่างต้องการทำงานรับใช้พระเจ้า   แต่ก็คงพูดยากว่าทุกคนพร้อมที่จะให้พระเจ้าทรงเป็นผู้เลือก   เพราะเราก็รู้เหมือนกับอัครทูตและสาวกพระคริสต์ว่า   “องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้าผู้​ทรง​ทราบ​ใจ​ของ​มนุษย์​ทุก​คน...”    ดังนั้น   เราคงไม่กล้าที่จะอธิษฐานเช่นนั้นแน่   เพราะกลัวพระเจ้าจะทรงเลือกตามที่ทรงล่วงรู้ถึงความคิดในจิตใจของเรา   แต่แรงกว่านั้นคือ พระองค์ทรงรู้ว่าเราได้กระทำอะไรลงไปบ้าง   ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง   แต่ในเวลาเดียวกันนั้นก็มีผู้ที่เสนอตัวที่จะรับใช้พระเจ้าที่เชื่อและไว้วางใจในการทรงเลือกของพระเจ้าอย่างแท้จริงผ่านกระบวนการเลือกตั้ง  

ถึงแม้เราบางคนพยายามที่จะบอกตนเองและเข้าข้างตนเอง   แต่ในส่วนลึกมันมีเสียงฟ้องอยู่มิใช่หรือ?

พระเจ้าไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ระบบการเลือกตั้งมาเป็นเครื่องมือในการที่พระองค์จะเลือกใคร หรือไม่เลือกใคร  มิใช่หรือ?   แต่พวกเราที่เชื่อในพระองค์เรามีทางเลือกว่า   เราจะมีใจสัตย์ซื่อและจริงใจต่อการทรงเรียกและพระประสงค์ของพระองค์หรือไม่?   วิธีการเลือกไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด   แต่การตระหนักชัดถึงการทรงรู้ทรงทราบลงลึกถึงจิตใจของเราทุกคน และจิตใจความคิดของเราที่จะสัตย์ซื่อต่อการทรงเลือกของพระองค์ต่างหากที่สำคัญกว่า

ณ วันนี้  เราทุกคนยังมีโอกาส   เรายังมีโอกาสที่จะสัตย์ซื่อ จริงใจ  และทุ่มเททั้งชีวิตจิตใจของเราเพื่อสานต่อพระราชกิจของพระเยซูคริสต์บนแผ่นดินโลกนี้   เพื่อให้แผ่นดินของพระองค์มาตั้งอยู่   พระทัยของพระองค์ในสวรรค์เป็นเช่นไร   ให้เป็นเช่นนั้นในแผ่นดินโลก    แทนการสานสร้างอาณาจักรแห่งพรรคพวกของเราเท่านั้น  

วันนี้   พระเจ้าทรงให้โอกาสแก่เราทุกคนที่จะสานต่อพระราชกิจของพระคริสต์ในคริสตจักร  ในสถาบัน  และในหน่วยงานคริสเตียนต่างๆ   เพื่อนำผู้คนให้เข้ามาอยู่ภายใต้การครอบครองของพระเจ้า   มีคุณภาพชีวิตในแผ่นดินของพระองค์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

เดินทีละก้าว...พระเจ้าเคียงข้างทุกวัน!

จงมั่นใจในพระเจ้าถึงสิ่งดี ๆ ที่พระเจ้ากระทำในชีวิตของเรา และ ทำผ่านชีวิตของเราในวันนี้

เพราะ​ว่า​สำ​หรับ​ข้าพเจ้า การ​มี​ชีวิต​อยู่​ก็​เพื่อ​พระ​คริสต์ และ​การ​ตาย​ก็​ได้​กำ​ไร  (ฟิลิปปี 1:21 มตฐ.)

วันหนึ่ง   เมื่อจอร์จ ไวท์ฟิลด์ (George Whitfield) นักประกาศเรืองนามของโลกในสมัยของเขากำลังร่วมวงสนทนากับเพื่อนสนิทรุ่นราววัยเดียวกับเขา    เขาได้พูดถึงความลำบาก  ปัญหา  อุปสรรค  และความรู้สึกที่ตีบตัน  และสร้างความเหนื่อยอ่อนใจกายของงานพันธกิจที่เขาต้องแบกรับใช้อยู่นั้น   แล้วเขากล่าวตอนท้ายว่า  แต่อย่างไรก็ตาม คงอีกไม่นานที่เขาก็จะไปอยู่กับพระเจ้าแล้ว

เพื่อนร่วมกลุ่มสนทนาเกือบทุกคนแสดงออกถึงความรู้สึกในทำนองเดียวกันกับ จอร์จ  ไวท์ฟิลด์  มีเพื่อนเพียงคนเดียวที่นั่งเงียบอยู่ในกลุ่ม   ไวท์ฟิลด์จึงเอ่ยปากถามเพื่อนคนนี้ว่า 

“เพื่อน  นายเป็นเพื่อนที่มีอายุมากที่สุดในกลุ่มของเรา   ดูเหมือนเพื่อนจะไม่สนใจ หรือ ดีใจกับการที่เรามีชีวิตใกล้ฝั่ง  ที่ชีวิตเราจะเปลี่ยนสภาพไปอยู่ในบ้านขององค์พระผู้เป็นเจ้า”

ชายชราคนนั้นพูดโพล่งตรงเผงออกมาว่า  ผมไม่มีหน้าที่จะต้องทำอะไรกับความตายของตนเอง  หน้าที่และความรับผิดชอบของผมคือ  ทำวันนี้ด้วยความรับผิดชอบและสัตย์ซื่อต่อพระประสงค์ของพระผู้ช่วยให้รอดในวันนี้ให้ดีที่สุดและด้วยความสัตย์ซื่อ  และถ้าพระเจ้าเห็นว่าวันไหนที่พระองค์จะเรียกผมให้มีชีวิตที่เปลี่ยนจากที่เป็นในวันนี้ไปอยู่กับพระองค์แล้ว  ผมก็จะต้องไปตามที่พระองค์ทรงเรียกนะ

ไวท์ฟิลด์ รับว่าคำกล่าวของเพื่อนอาวุโสคนนี้เป็นเสียงเตือนจากพระเจ้า   และเป็นคำพูดความคิดที่หนุนเสริมเพิ่มกำลังชีวิตของเขาที่จะก้าวเดินต่อไปทีละก้าวในแต่ละวัน   ไม่ว่าสถานการณ์รอบข้างจะเป็นเช่นไร   เพียงให้เห็นคุณค่าในการที่เราจะใช้ชีวิตทำตามพระประสงค์ที่มอบหมายให้เราทำด้วยความสัตย์ซื่อและสุดจิตสุดใจสุดความคิดในแต่ละวัน

เมื่อชีวิตย่างเข้าสู่ฤดูกาล “ใบไม้ร่วง”   เป็นการง่ายที่เราจะลืมตนคิดถึงแต่สิ่งดี ๆ ในอดีตชีวิตที่ผ่านมา   แล้วมักโหยหาที่จะกลับไปทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง  หรือต้องการกลับไปแก้ไขสิ่งผิดพลาดให้ดีถูกต้อง   แต่นั่นเป็นความโหยหาที่เป็นจริงไปไม่ได้แล้ว   หรือไม่เราก็มุ่งมองไปข้างหน้าอยากจะไปให้ถึงสิ่งดี ๆ ที่เราจะสบายในอนาคต เช่น  การยึดมั่นแต่ที่จะมีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงจากชีวิตโลกนี้ไปอยู่กับพระเจ้า   จึงทำให้เราไม่ทำอะไรมากนัก   ทำหน้าที่ “รอคอย” รถเมล์เที่ยวสุดท้ายที่จะมารับเราไป “สวรรค์”   ด้วยชีวิตที่เฉื่อยชาไร้ประโยชน์

แต่เปาโลบอกเราว่า  ที่เรามีชีวิตอยู่ไม่ว่ากี่ปี กี่เดือน  กี่วัน หรือกี่ชั่วโมง  “เราอยู่เพื่อพระคริสต์”   และการที่เราจะอยู่เพื่อพระคริสต์  เราต้องอยู่เพื่อดำเนินชีวิตแต่ละวันนี้รับใช้ตามพระประสงค์   และสำนึกว่า ถึงเราจะแก่และอ่อนแรงแต่เราไม่ได้พึ่งพิงกำลังของเราเท่านั้น  แต่ได้รับเสริมหนุนด้วยกำลังจากพระวิญญาณบริสุทธิ์

ดังนั้น   ให้เรามีชีวิตอยู่ในวันนี้ด้วยมุ่งมองถึงสิ่งดี ๆ ที่มีข้างหน้าที่องค์พระผู้เป็นเจ้ามีพระประสงค์ต้องการให้เราทำ    และรู้ด้วยว่า  วันนี้เป็นวันที่พระเจ้าจะทรงใช้เราท่านแต่ละคนให้ทำสิ่งที่ดียิ่งในสายพระเนตรของพระองค์   ด้วยการหนุนเสริมเพิ่มพลังจากพระองค์   ส่วนเรื่องที่เราจะถูกรับไปอยู่กับพระเจ้าเมื่อใดนั้นไม่ใช่ภาระหน้าที่ของเรา   แต่พระเจ้าเป็นผู้รับผิดชอบและทำตามน้ำพระทัยของบพระองค์ในเรื่องนี้

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499