31 ตุลาคม 2555

ความเจ็บปวดในชีวิต (2) ปรับเปลี่ยนความเข้าใจใหม่ของท่านในเรื่องพระเจ้า


ทำไมฉันถึงต้องเจ็บปวดในชีวิตเช่นนี้?

นี่เป็นคำถามที่เราถามบ่อยๆ ที่เราต้องการเข้าใจในเรื่องพระเจ้ากับความเจ็บปวดในชีวิตของเรา

นี่เป็นคำถามที่ศรีสุดา(นามสมมติ)จะถามบ่อยๆ   เธอพยายามที่จะเข้าใจการที่เธอต้องถูกทำร้ายร่างกาย  และถูกทำร้ายทางเพศจากคนในสายเลือดเดียวกัน  และเหตุการณ์เลวร้ายอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเธอ   เป็นเวลานานหลายปีที่เธอมีความรู้สึกว่าพระเจ้าเกลียดเธอ   เธอพยายามที่จะกลบเกลื่อนบาดแผลและความเจ็บปวดในชีวิตของเธอไว้ภายในส่วนลึกของชีวิต   ภาพลักษณ์พระเจ้าของศรีสุดาเป็นเหมือนพ่อที่อารมณ์ร้าย  ชอบทำร้าย  น่ากลัว  มักใช้กำลังข่มขืนคนอื่น  เป็นคนที่มักเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น

ศรีสุดา เคยเล่าให้ผู้เขียนบทความท่านหนึ่งว่า “ฉันมีความสัมพันธ์แบบ รักเจือเกลียดต่อพระเจ้า”   “ฉันต้องการให้พระองค์ช่วยฉัน   แต่ภาพของพระเจ้าที่ฉันเห็นกลับเป็นคนที่ใจร้าย  โหดร้าย  ดูถูกเหยียดหยามฉันพร้อมกับชี้นิ้วตราหน้าฉัน   และฉันก็โกรธอย่างมากเช่นกัน   สิ่งที่ฉันเชื่อเกี่ยวกับพระเจ้าดูเป็นคนละเรื่องกับภาพพระเจ้าที่ฉันพบในชีวิตประจำวัน”

ในที่สุด  ศรีสุดายอมรับว่า  “ฉันต้องเชื่อในพระเจ้าที่แตกต่างจากพระเจ้าที่ฉันเชื่อว่าน่าจะเป็น   ฉันเชื่อว่าพระเจ้าที่แสนดีนั้นเป็นพระเจ้าที่เที่ยงแท้มีจริง  แต่พระเจ้าที่เลวร้ายกลับเป็นพระเจ้าที่ฉันเห็นโทนโท่ในชีวิตประจำวัน” 

จากหนังสือเรื่อง When a Women Overcomes Life’s Hurt  (ขออนุญาตแปลเล่นๆ ว่า “เมื่อแม่หญิงเอาชนะความเจ็บปวดในชีวิต”) ของ Cindi McMenamin  เป็นหนังสือที่นำเสนอเกี่ยวกับการเยียวยาภายในชีวิตและการเสริมสร้างชีวิตที่ครบบริบูรณ์   หนังสือได้เสนอขั้นตอนต่างๆ  เพื่อนำไปสู่ “การซ่อมแซมแก้ไขความเข้าใจเกี่ยวกับพระเจ้า”  ไว้อย่างน่าสนใจ  เพราะพระเจ้ามิได้เป็นอย่างที่เธอเคยประสบพบมาในอดีต   ขอเลือกบางขั้นตอนมาพูดคุยกัน

ท่านสามารถเปลี่ยนภาพของพระเจ้าที่ท่านมีอยู่ใหม่ได้ด้วยการศึกษาเจาะลึกลงในพระวจนะของพระเจ้าและค้นพบภาพที่เป็นสัจจะความจริงเกี่ยวกับพระเจ้า   อย่างที่ศรีสุดาได้ทำและประสบพบเจอมาแล้ว

·         พระเจ้ามิใช่พระเจ้าที่มีภาพ “เลว” ในจินตภาพของเรา  แต่เป็นพระเจ้าที่ตรัสกับเราว่า...

“เรารักเจ้าด้วยความรักนิรันดร์...ด้วยความรักและเอ็นดู” (เยเรมีย์ 31:3 อมตธรรม)

·        พระองค์มิใช่พระเจ้าที่ดูน่ากลัวและชี้นิ้วใส่หน้าเรา   และตั้งหน้าตั้งตารอที่จะลงโทษเรา   แต่พระองค์กลับเป็นพระเจ้าที่ประกาศในพระวจนะว่า

“เพราะเรารู้แผนการที่เรามีไว้สำหรับเจ้า  
เป็นแผนการเพื่อทำให้เจ้ารุ่งเรือง ไม่ใช่เพื่อทำร้ายเจ้า  
เป็นแผนการเพื่อให้ความหวังและอนาคตแก่เจ้า”
(เยเรมีย์ 29:11 อมตธรรม)

·         พระองค์ไม่ใช่พระเจ้าที่ปรารถนาจะลงโทษเรา   แต่พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าที่...

“...ไม่ทรงประสงค์ให้ผู้ใดพินาศ   แต่ทรงประสงค์ให้ทุกคนกลับใจใหม่”
(2เปโตร 3:9 อมตธรรม)

·         พระเจ้ามิใช่ผู้ที่หยุดที่จะรักเราเมื่อเรากระทำบางสิ่งบางอย่างที่พระองค์ไม่ชอบ   พระวจนะของพระเจ้าบอกอย่างชัดเจนว่า ไม่มีสิ่งใดที่จะ...

“...พรากเราไปจากความรักของพระเจ้า...ของเราได้” (โรม 8:39 อมตธรรม)

เป็นไปได้ว่า  จากบาดแผลและความเจ็บปวดในชีวิต และความโศกเศร้าว้าวุ่นใจอาจทำให้ภาพของพระเจ้าที่เรารู้แตกต่างไปอย่างมากจากสภาพที่เป็นอยู่จริงของพระเจ้า   แน่นอนครับ  มิใช่ความตั้งใจของท่านที่ต้องการให้เกิดเป็นเช่นนี้   บางครั้งบางท่านอาจจะเป็นเหมือนศรีสุดาที่เธอเอาภาพของคนที่ทำให้เธอเจ็บปวดในชีวิตที่เธอประสบพบเจอใส่ลงในภาพของพระเจ้า  มีสตรีหลายคนที่เป็นเหมือนศรีสุดา   ที่ทำให้ตนเองเชื่อว่าพระเจ้าเป็นเหมือนพ่อของเธอ   ดังนั้นเมื่อเธอมีพ่อที่อารมณ์ร้าย  ทำร้ายผู้อื่น  แสดงความไม่พอใจ  วางตัวออกห่าง...   พวกเธอย่อมจะเห็นภาพของพระเจ้าในลักษณะที่เธอพบเห็นพ่อ   มีทางเดียวเท่านั้น  เราต้องยอมที่จะให้พระเจ้าเยียวยารักษาจิตใจที่เจ็บปวดในชีวิตของเรา   เราจะต้องมีประสบการณ์กับพระเจ้าโดยตรงเพื่อที่เราจะเข้าใจและรู้จักพระองค์อย่างที่พระองค์เป็นอยู่จริงๆ   อย่างที่พระวจนะของพระเจ้าได้บอกถึงพระลักษณะที่แท้จริงของพระองค์

เมื่อศรีสุดาได้เรียนรู้ถึงสัจจะความจริงว่าพระเจ้าเป็นใคร  มีลักษณะที่แท้จริงอย่างไร   ศรีสุดารู้ว่า เธอสามารถไว้วางใจในพระเจ้าได้   และพระองค์สามารถที่จะเยียวยารักษาบาดแผลในชีวิตจิตใจของเธอได้อย่างแน่นอน

ถึงแม้ว่าบาดแผลในชีวิตของท่านอาจจะไม่รุนแรงสาหัสเฉกเช่นของศรีสุดาก็ตาม   แต่มันก็ไม่ได้ทำให้ท่านได้รับความเจ็บปวดในชีวิตน้อยไปกว่าศรีสุดา   ดังนั้น ผมใคร่ให้กำลังใจท่านว่าลองพิจารณาขั้นตอนที่ศรีสุดาใช้จนเธอได้พบกับความรักที่ทรงเอาใจใส่และความเมตตาของพระเจ้า  ทำให้เธอเกิดความพอใจ  สุขใจ  และอิ่มใจ   จากเดิมที่มีแต่ความเจ็บปวดและความวุ่นวายสับสนในชีวิต   และนี่คือการที่ได้รับการทรงเปลี่ยนแปลงชีวิตจากพระเจ้าอย่างแท้จริง   ท่านพร้อมที่จะทูลขอต่อพระเจ้าหรือว่า  “...พระเจ้า...ข้าพระองค์วางใจในพระองค์และเชื่อว่าพระองค์จะทรงสร้างข้าพระองค์ให้เป็นคนที่พระองค์ต้องการให้ข้าพระองค์เป็น...”

ศรีสุดาได้ผ่านกระบวนการรับการทรงเยียวยาจากพระเจ้าดังนี้...

1.   เขียนสิ่งที่ยังค้างคาใจภายในชีวิตของท่านออกมา

ศรีสุดาเริ่มเขียนเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตที่ผ่านมาของเธอตามความทรงจำที่ยังสร้างความเจ็บปวดในชีวิตของเธอลงในสมุดบันทึกส่วนตัวของเธอ   เป็นการเขียนระบายสิ่งต่างๆ เหล่านี้ออกมาว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในชีวิต   มิใช่การที่พยายามเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น   เพียงต้องการที่จะขุดเขียนสิ่งเหล่านั้นให้ออกจากชีวิตของเธอ   การที่เธอเขียนสิ่งต่างๆ เหล่านั้นลงบนหน้ากระดาษบันทึกส่วนตัว   เป็นเหมือนพระเจ้าทรง “เด็ดความเจ็บปวด” ออกจากชีวิตจิตใจของเธอ   และในเวลาเดียวกันพระองค์ทรงใส่สิ่งใหม่ลงในชีวิตจิตใจของเธอ

นี่เป็นขั้นตอนที่ท่านสามารถนำไปทำได้  เป็นขั้นตอนที่ต้องใช้เวลา   ท่านอาจจะทำเช่นนี้ทุกเช้า   นั่งลงเขียนบันทึกชีวิตของท่านด้วยการทรงนำของพระเจ้า   เขียนความทรงจำที่ยังรบกวนชีวิตจิตใจของท่าน   ความทรงจำที่ผลุบๆ โผล่ๆ ทำให้เกิดความขุ่นเคืองไม่พอใจ   ความทรงจำที่ท่านต้องการที่จะลืม   แต่ดูเหมือนไม่สามารถกำจัดมันออกไปจากชีวิตของท่านได้   เมื่อท่านเขียนสิ่งเหล่านั้นลงในสมุดบันทึก   ให้ท่านทูลต่อพระเจ้าด้วยว่า  ท่านต้องการให้สิ่งเหล่านี้ออกไปจากชีวิตจิตใจ  ความทรงจำ  และความนึกคิดของท่าน   แม้ว่าจะมีพลังอำนาจใดจากความทรงจำเหล่านี้ในตัวท่าน    ให้ท่าน “ปล่อย” ไม่ต้องไปสู้รบปรบมือกับมัน   แต่จงเชื่อและวางใจในฤทธานุภาพของพระเจ้าที่จะค่อยๆ ขจัดสิ่งเหล่านั้นออกจากชีวิตของท่าน  แล้วทรงใส่สิ่งดีใหม่ๆ ลงในพื้นที่ชีวิตของท่าน

2.   จงมุ่งมองไปที่พระวจนะของพระเจ้าเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงความเข้าใจเกี่ยวกับพระเจ้าในท่านใหม่

มีสิ่งใดบ้างไหมในความเชื่อเรื่องพระเจ้าของท่านที่ไม่ถูกต้อง?   ท่านเชื่อว่าพระเจ้าเป็นผู้ที่ทรงลงโทษท่านด้วยการให้ท่านต้องมีชีวิตจิตใจที่เจ็บปวดหรือไม่?   ท่านเชื่อว่าพระเจ้าคือผู้ที่พิพากษาชีวิตของท่านแล้วทำให้ท่านมีชีวิตที่ยุ่งเหยิง?   ท่านเชื่อว่าพระเจ้าทรงอยู่ห่างไกลและไม่สนใจชีวิตของท่านใช่ไหม?   หรือท่านเชื่ออย่างมั่นใจว่า พระเจ้าทรงเป็นผู้ที่ท่านสามารถอยู่ใกล้ชิดและทรงรู้ในทุกแง่มุมชีวิตของท่าน   พระองค์ทรงรักท่านเหนือเหตุผล?

จงอ่านพระวจนะของพระเจ้าด้วยชีวิตจิตใจที่เปิดออก   เปิดรับสัจจะความจริงที่บอกท่านว่าแท้จริงแล้วพระเจ้ามีลักษณะใดกันแน่   เมื่อท่านเปิดรับพระวจนะของพระเจ้าเข้าในชีวิต   ท่านก็สามารถที่จะมีชีวิตและสัมพันธ์กับพระเจ้าตามพระลักษณะจริงของพระองค์   พระธรรมที่ท่านจะเริ่มอ่านศึกษาได้ดีคือพระธรรมสดุดี   ซึ่งเป็นบทประพันธ์จากประสบการณ์และความเชื่อศรัทธาของหลากหลายบุคคล  ที่เคยผ่านพบประสบการณ์และมีความรู้สึกในชีวิตเช่นเดียวกับท่าน

3.   ให้พระเจ้าทรงตรวจสอบชิวิตจิตใจท่าน และสำแดงให้ท่านท่านรู้ว่าควรจะดำเนินชีวิตไปทางใด

ศรีสุดาเล่าว่า  ก่อนที่จะเขียนความทรงจำลงในสมุดบันทึก “สิ่งต่างๆ ในชีวิตของฉันมีแต่ความอ้างว้างว่างเปล่า  และพระเจ้าทรงสร้างผู้หญิงคนนี้ขึ้นใหม่”  แต่เธอกล่าวต่อไปว่า   “ในเวลาเช่นนั้นเอง  ฉันเกิดความรู้สึกชื่นชมยินดีมีพลังใจมากกว่าสิ่งอื่นใด   ในเวลาที่ฉันบอกกับพระเจ้าว่า “พระเจ้า  ขอเพียงพระองค์ทรงกระทำงานในชีวิตของข้าพระองค์   ข้าพระองค์ไม่ต้องการคนใดในชีวิตของข้าพระองค์   ข้าพระองค์ไม่ต้องการการอวยพระพรใดๆ ข้าพระองค์ต้องการให้พระองค์ชำระข้าพระองค์ให้สะอาด”

ในกระบวนการเยียวยารักษาส่วนใหญ่ของศรีสุดาใช้การอธิษฐานต่อพระเจ้า  และทูลขอพระองค์โปรดเยียวยารักษาเธอในทุกทาง  โดยใช้ พระธรรมสดุดี 139:23-24 เป็นตัวชี้นำ

“ข้าแต่พระเจ้า  ขอทรงตรวจตราดูเถิด  และทรงทราบจิตใจของข้าพระองค์
ขอทรงตรวจสอบและทรงประจักษ์แจ้งความคิดกระวนกระวายของข้าพระองค์
โปรดดูว่ามีสิ่งใดบ้างในตัวข้าพระองค์ซึ่งไม่เป็นที่พอพระทัย
และขอทรงนำข้าพระองค์ไปตามวิถีนิรันดร์” (อมตธรรม)

เธอกล่าวว่า  “เป้าหมายของฉันคือขอให้พระเจ้าทรงค้นหา  และทรงเปิดทุกสิ่งที่ไม่ดีในชีวิตของฉันออก  ทั้งที่พังเสียหาย  ที่เป็นบาดแผล...”

ชีวิตของศรีสุดาในวันนี้เป็นชีวิตที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงจากพระเจ้า และ เป็นชีวิตที่ได้รับการสร้างใหม่จากพระองค์   ที่เป็นเช่นนี้เพราะเธอแสวงหาพระเจ้าที่เที่ยงแท้ในพระวจนะ   และทูลขอพระองค์ทรงชำระชีวิตของเธอด้วยฤทธิ์เดชแห่งพระวจนะของพระเจ้า   เธอมิได้วางเป้าคาดหวังว่าเธอจะได้รับการฟื้นฟูเสริมสร้างใหม่ให้มีชีวิตที่ดีที่เธอจะสามารถขับเคลื่อนชีวิตตัวเธอเอง   เธอเพียงต้องการเป็นคนที่ดีพรั่งพร้อมในสายพระเนตรของพระเจ้า

ศรีสุดายืนยันว่า  “ที่ฉันยังมีชีวิตทุกวันนี้ ยังหายใจได้อยู่จนถึงขณะนี้   เพราะในทุกหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตฉันทูลขอพระเจ้าทรงกระทำให้ฉันดีพร้อม   ถ้าฉันไม่มีชีวิตที่ดีขึ้น   ชีวิตของฉันก็ไม่สามารถที่จะดลใจคนอื่น  อภิบาลคนอื่น หรือ ช่วยคนอื่นได้”

ให้เรามุ่งมองเจาะลึกลงในพระวจนะของพระเจ้า  เพื่อที่จะพบว่าพระองค์คือผู้ใดและมีพระลักษณะใดกันแน่?   แล้วท่านอาจจะพบว่าสิ่งนี้จะทำให้เกิดความแตกต่างในชีวิตและในโลก   เมื่อพระเจ้าทรงเยียวยารักษา  และฟื้นฟูสภาพชีวิตใหม่ของเรา   เราจะสัมผัสกับการเปลี่ยนแปลงและการเสริมสร้างชีวิตของเราขึ้นใหม่ให้สมบูรณ์พูนครบในพระองค์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

29 ตุลาคม 2555

ความเจ็บปวดในชีวิต 1: รู้เท่าทันเหตุผลเบื้องหลัง


ท่านเคยพูดกับตนเองว่า  “สิ่งนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นเลย” หรือมีเพื่อนสนิทคนใดคนหนึ่งพูดกับท่านเช่นนี้หรือไม่?   ถ้าเคย   ตอนนี้ท่านรู้เลยใช่ไหมครับว่า   คนที่พูดประโยคนี้มีความรู้สึกเช่นไร   ผมก็เคยได้ยินประโยคนี้จากเพื่อนสนิท(รุ่นน้อง)ของผมคนหนึ่งเช่นกันครับ

เพื่อนคนนี้ของผมคุณพ่อติดเหล้างอมแงมอย่างถอนตัวไม่ขึ้น   ที่วงการแพทย์เรียกว่าโรคพิษสุราเรื้องรัง   จนในที่สุดพ่อแม่เลิกกัน   สิ่งต่างๆ ที่เธอคาดหวัง  ความมั่นคงในชีวิตที่เธอต้องการละลายหายสูญไป   เธอรู้สึกว่าสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นนี้มันไม่น่าจะเกิดขึ้นกับเธอเลย   เพราะเขาถูกเลี้ยงดูในครอบครัวคริสเตียน   เธอบอกผมว่า ในเวลานั้นเธอเกิดคำถามมากมายในชีวิต   เธอบอกอย่างไม่อายว่า   เธอแปลกประหลาดใจว่า ทำไมพระเจ้าไม่ช่วยประคับประคองครอบครัวของเธอไว้?   ทำไมพระเจ้าไม่ทรงปกป้องครอบครัวเธอที่ต้องประสบกับชีวิตที่ “ฉีกขาด”  “แตกแหลกละเอียด”  หาความสุขมิได้?   เธอบอกผมว่าในเวลานั้นเธอรู้สึกว่า  ดูเหมือนพระเจ้านิ่งเฉยไม่รู้ร้อนรู้เย็นต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตครอบครัวและชีวิตของเธอ

จนวันหนึ่ง  เธอได้รับการปลอบประโลมใจ   ทำให้ชีวิตภายในเธอค่อยๆ สงบลง   คำถามที่ถกถามวุ่นวายในจิตใจเงียบลง   เมื่อเธออ่านข้อพระคัมภีร์ตอนหนึ่ง  ที่สะดุดความคิดในชีวิตของเธอ

“เพราะความคิดของเราไม่เป็นความคิดของเจ้า
ทั้งวิถีทางของเจ้าไม่เป็นวิถีทางของเรา”
องค์พระผู้เป็นเจ้าประกาศดังนั้น
“ฟ้าสวรรค์สูงกว่าแผ่นดินโลกฉันใด
วิถีของเราก็สูงกว่าทางของเจ้า
และความคิดของเราก็สูงกว่าความคิดของเจ้าฉันนั้น”
(อิสยาห์ 55:8-9)

เธอเป็นพยานว่า  นั่นเป็นเสียงที่พระเจ้าตรัสกับเธอว่า  “เรารู้ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเจ้า  และเรารู้ด้วยว่าเจ้าไม่เข้าใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต   เจ้าต้องไว้ใจเราในเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้น  ที่กำลังเกิดขึ้น และที่จะเกิดขึ้น”   ในการใคร่ครวญคำตรัสนั้นเองที่เธอพบความจริงว่า   แท้จริงแล้วไม่สำคัญและจำเป็นอะไรมากมายที่เธอจะต้องเข้าใจว่าทำไมเหตุการณ์เลวร้ายนี้ถึงเกิดขึ้นในชีวิตของเธอ   ทำไมเธอถึงจะต้องมารับความเจ็บปวดในชีวิต   แต่เธอพบสัจจะความจริงที่ว่า  สิ่งที่สำคัญยิ่งคือ  การที่เธอจะไว้วางใจพระเจ้าที่รักเธอ ที่อนุญาตให้เหตุการณ์ร้ายๆ และความเจ็บปวดนั้นเกิดขึ้นในชีวิตเธอต่างหากเป็นสิ่งสำคัญ

เธอเล่าต่อไปด้วยความภาคภูมิใจว่า  ตั้งแต่วันนั้นที่เธอเลือกไว้วางใจพระเจ้า มากกว่าที่จะมีคำถามมากมายให้พระเจ้าตอบจนถึงวันนี้เป็นเวลา 30 ปี    พระเจ้าทรงกระทำงานในทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเธอ  ยิ่งกว่านั้นเธอยืนยันว่า พระเจ้าทรงกระทำงานของพระองค์ลงลึกในชีวิตเธอ  แล้วสำแดงให้เธอเห็นว่า เธอจะมีความรักเมตตากรุณาต่อคนอื่นๆ ที่กำลังตกในความเจ็บปวดภายในชีวิตได้อย่างไร

เธอบอกผมว่า  พ่อที่เคยเป็น “ขี้เหล้า” ตอนนี้เลิกเหล้าได้แล้วประมาณ 30 ปี   แล้วทำพันธกิจช่วยเหลือเอาใจใส่ผู้คนที่ติดเหล้างอมแงมจำนวนมากมาย   และช่วยเหลือชีวิตครอบครัวของผู้คนเหล่านั้น   พระเจ้าเป็นผู้ที่ทำให้เกิดสถานการณ์ที่เลวร้ายเจ็บปวดขึ้นในครอบครัวของเธอหรือ?   คำตอบของเธอคือ “ไม่ใช่”  มนุษย์เป็นผู้พาชีวิตของตนเองเข้าในสถานการณ์เลวร้ายนั้นต่างหาก   และความเลวร้ายนั้นสร้างความเจ็บปวดแก่ตนเองและผู้อื่น  แต่พระเจ้าทรงเมตตากระทำพระราชกิจของพระองค์ในสถานการณ์เลวร้ายและเจ็บปวดในชีวิตของเรา   แล้วทรงมีพระประสงค์ที่จะทำให้เกิดสิ่งดีในสถานการณ์เลวร้ายและเจ็บปวดของมนุษย์   และเป็นสิ่งดีอย่างคิดไม่ถึงสำหรับเธอ พ่อ  และคนอื่นๆ ที่เจ็บปวดในชีวิต

ใช่เลยครับ   ชีวิตมักไม่เป็นไปตามแผนการที่เราวาดฝันคาดหวังในใจ   แต่ขอให้เราหยุดตนเองแล้วคิดสักนิดว่า  สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรามีไหมที่ทำให้เราแปลกประหลาดใจในพระเจ้า

จากประสบการณ์ความเจ็บปวดในชีวิตของเพื่อนคนนี้  และประสบการณ์ที่เธอได้ทำพันธกิจในการดูแล รักษาและเยียวยาหญิงที่เกิดบาดแผลภายในชีวิต   เธอยืนยันอย่างแข็งแรงว่า  พระเจ้าทรงทราบอย่างดีเมื่อชีวิตของเราตกลงในความเจ็บปวด   และพระองค์ทรงมีจุดประสงค์ที่ทรงอนุญาตให้เหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้นในชีวิตของเรา  หรือยอมให้ “หัวใจ” ของเราแตกสลาย  หรือทำให้ชีวิตของเราเคลื่อนช้าลง  หรือยอมให้เราต้องได้รับความโศกเศร้า

จากหนังสือเรื่อง When a Women Overcomes Life’s Hurt  (ขออนุญาตแปลเล่นๆ ว่า “เมื่อแม่หญิงเอาชนะความเจ็บปวดในชีวิต”) ที่เขียนโดย Cindi McMenamin เป็นหนังสือที่นำเสนอเกี่ยวกับการเยียวภายในชีวิตและการเสริมสร้างชีวิตที่ครบบริบูรณ์   หนังสือได้เสนอขั้นตอนต่างๆไว้อย่างน่าสนใจ   ขอเลือกบางขั้นตอนมาพูดคุยกัน

ขั้นตอนแรกที่สำคัญคือ  รู้เท่าทันว่า ในทุกความเจ็บปวดของชีวิตย่อมมีเหตุผลหรือจุดประสงค์เบื้องหลังของความเจ็บปวดนั้น   ผมรู้ครับว่าพูดเช่นนี้มันง่ายแต่ทำจริงมันยาก   ซึ่งหนังสือได้เสนอแนะหลักการเชิงปฏิบัติไว้   ขอเอาหลักการปฏิบัติที่สำคัญมาพูดคุยกันในที่นี้สัก 3 ขั้นตอน ที่นำสู่การไว้วางใจพระเจ้าผู้ที่รักเมตตาเรา  และทรงรู้ลึกซึ้งในทุกสถานการณ์ชีวิตของเราในแต่ละวัน   รวมถึงเวลาที่ชีวิตของเราต้องได้รับความเจ็บปวดด้วย

1.   ขอบพระคุณพระเจ้าท่ามกลางความเจ็บปวดในชีวิต

พระวจนะของพระเจ้าได้เตือนสติเราว่า  “จงขอบพระคุณ(พระเจ้า)ในทุกสถานการณ์ เพราะนี่คือพระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับท่านทั้งหลาย ในพระเยซูคริสต์” (1โครินธ์ 5:18 อมตธรรม)   การที่ใครคนใดคนหนึ่งสามารถ “ขอบพระคุณพระเจ้า ทั้งๆ ที่ยังไม่เข้าใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้นั้น   นี่มิใช่การปฏิบัติออกถึงความเชื่อฟังในชีวิตของคนๆ นั้นตามพระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตหรือ   และนี่เป็นชีวิตที่แสดงออกมาด้วยความเชื่อศรัทธาด้วย  (ถ้าไม่มีความเชื่อก็เป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้พระเจ้าพอพระทัย...  ฮีบรู 11:6 อมตธรรม)

เราจะสามารถปฏิบัติขั้นตอนที่เป็นความเชื่อศรัทธา และ การเชื่อฟังที่สำคัญยิ่งนี้ได้หรือไม่ ทุกครั้งเมื่อเกิดความเจ็บปวดในชีวิต  ให้เราก้มศีรษะลงอธิษฐานขอบพระคุณพระเจ้าในเหตุการณ์นั้นและในความเจ็บปวดนั้น  หรือ ในความทรงจำที่เจ็บปวดเกิดขึ้นในชีวิตของเราทันที  นี่ไม่ใช่เพราะเรารู้สึก ขอบพระคุณพระเจ้า แต่เพราะพระวจนะของพระเจ้ากำชับให้เราขอบพระคุณ และเพราะเราตั้งใจและวางใจที่จะให้พระเจ้าเป็นผู้ชี้นำและกระทำกิจของพระองค์ในสถานการณ์นั้นในชีวิตของเรา

2.   ทูลต่อพระเจ้าว่าท่านพร้อมจะเติบโต

เมื่อชีวิตต้องประสบกับความเจ็บปวดเป็นโอกาสที่ชีวิตของเราจะเติบโตขึ้นในการมีชีวิตที่ใกล้ชิดติดสนิทกับพระเจ้า   ทูลต่อพระเจ้าว่าเราพร้อมที่เห็นในสิ่งที่พระองค์พระประสงค์ให้เราเห็นและเรียนรู้    ด้วยการนี้จะช่วยให้เรายอมตนลงพร้อมที่จะให้พระเจ้าทรงสอนในสิ่งที่พระองค์ต้องการให้เราเรียนรู้  เยเรมีย์ 29:13 กล่าวว่า “เจ้าจะแสวงหาเราและพบเรา  เมื่อเจ้าแสวงหาเราด้วยสุดใจของเจ้า” (อมตธรรม)   การที่เราทูลต่อพระเจ้าว่า  “พระเจ้า  ข้าพระองค์พร้อมที่จะเติบโต”  เป็นอีกวิธีหนึ่งในการแสวงหาพระองค์ และ รับการทรงสร้างชีวิตของเราขึ้นใหม่

3.   ไว้วางใจในกระบวนการทำงานของพระเจ้า

ถึงแม้ว่าท่านยังไม่สามารถเห็นสิ่งดีอันใดจากการที่ชีวิตของท่านต้องเจ็บปวด   จงไว้วางใจในกระบวนการทำงานของพระเจ้า  ที่อนุญาตให้ชีวิตของท่านประสบกับเหตุการณ์เหล่านั้นที่เกิดขึ้น  ว่าจะเป็นกระบวนการที่ทรงกระทำให้สิ่งใหญ่สำคัญในชีวิตของท่านในเวลาที่เหมาะสมข้างหน้า   จงไว้วางใจว่า “...ในทุกสิ่ง  พระเจ้าทรงทำให้เกิดผลดีแก่บรรดาผู้ที่รักพระองค์...” (โรม 8:28 อมตธรรม)  และในข้อต่อไปได้บอกเราว่า  พระเจ้าทรงกระทำทุกสิ่งให้เกิดผลดีในชีวิตของเราอย่างไร  “พระองค์ทรงกำหนดไว้ก่อนแล้วให้(เรา)เป็นเหมือนพระบุตรของพระองค์” (ข้อ 29 อมตธรรม ในวงเล็บเติมโดยผู้เขียน)

ดังนั้น  เมื่อชีวิตต้องตกท่ามกลางความเจ็บปวด  จิตใจพบกับความปวดร้าว  และเราไม่เข้าใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น   จงไว้วางใจพระเจ้าว่าพระองค์กำลังทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตของเราให้มีชีวิตที่เป็นเหมือนพระคริสต์พระบุตรของพระเจ้ามากยิ่งขึ้น   เมื่อเราคิดถึงการที่พระคริสต์ทรงอดทนในความทุกข์ เจ็บปวด บาดแผลและความตายด้วยความเชื่อฟังและอดทน   และเรากำลังรับการทรงสร้างให้เหมือนพระองค์  เพื่อเราจะเป็นคนที่พระเจ้าทรงใช้ได้ในงานแห่งพระประสงค์ของพระองค์ในอนาคต

ให้เราไว้วางใจในพระเจ้าเถิดครับ  เมื่อชีวิตต้องประสบกับความเจ็บปวด  จิตใจแตกสลาย  โปรดรู้ว่าพระเจ้าอยู่เคียงข้างเรา   และพระองค์พร้อมที่จะเสริมสร้างชีวิตของเราให้เติบโตขึ้น   และทรงมีพระประสงค์ยิ่งใหญ่สำคัญในชีวิตของเรา

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

27 ตุลาคม 2555

จุดหักเหในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ


อ่านพระธรรมสดุดี บทที่ 106

พระธรรมสดุดีบทที่ 106 ได้บันทึกถึงความบาปผิดคิดชั่ว  จนหลงเจิ่นจากพระเจ้าของอิสราเอลประชากรที่พระเจ้าทรงเลือกสรร  ตั้งแต่ในอียิปต์  ในถิ่นทุรกันดาร   บทสดุดีเชิงประวัติศาสตร์บทนี้ชี้ชัดว่า  ที่พระเจ้าทรงเลือกอิสราเอลเป็นประชากรของพระองค์นั้น  อิสราเอลมิใช่ชนชาติที่ดีดักอะไร    แต่กลับมีชีวิตที่ล้มเหลวในการที่จะติดตามกระทำตามพระสัญญาของพระเจ้า   พวกเขาทำผิดครั้งแล้วครั้งเล่า   ออกนอกลู่นอกทางของพระเจ้า  ดูแล้วตลอดประวัติศาสตร์ของอิสราเอลเป็นชนชาติมักกระทำผิด  มักกบฏต่อพระเจ้า   พระคัมภีร์ใช้ภาพว่า  พวกอิสราเอลกระทำการเช่นนี้เป็นเหมือนการยั่วยุความโกรธของพระเจ้า

แต่ในสดุดีบทเดียวกันนี้เอง  พอไปถึงข้อ 44-45 เกิด “จุดหักเห”  สดุดีตอนนี้เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ  กล่าวคือ เปลี่ยนจากการมุ่งมองเจาะจงความสำคัญลงที่การกระทำความผิดบาปของอิสราเอล  ไปสู่การมุ่งมองและให้ความสำคัญของพระคุณเมตตาและความรักมั่นคงของพระเจ้า  ดังนี้

“แต่ถึงกระนั้น  พระองค์ก็ยังทรงเหลียวแลความทุกข์ลำเค็ญของพวกเขา  
เมื่อทรงได้ยินเสียงร่ำร้องของพวกเขา  
เพราะเห็นแก่พวกเขา   พระองค์ทรงระลึกถึงพันธสัญญาของพระองค์  
และพระทัยอ่อนลงเพราะความรักยิ่งใหญ่ของพระองค์”
(อมตธรรม)

เพราะความรักมั่นคงและพระคุณของพระเจ้านี้เองที่ก่อเกิด “จุดหักเหของชีวิต” ของอิสราเอล  มีผลทำให้น้ำเสียงในพระธรรมสดุดีบทนี้เปลี่ยนไปทันที   จากเสียงแห่งการคร่ำครวญโศกเศร้าและสิ้นหวัง  กลับกลายเป็นเสียงเฉลิมฉลองและการยกย่องสรรเสริญพระเจ้าด้วยความชื่นชมยินดี

ประเด็นสำคัญในที่นี้ก็คือว่า  
ประการแรก     พระวจนะของพระเจ้ามิได้มองข้ามความคิดและการกระทำที่ชั่วร้ายบาปผิดของอิสราเอล   แต่พระวจนะของพระเจ้าสำแดงชัดเจนว่า  อิสราเอลกระทำความบาปผิดในชีวิตมากมายมหันต์  จนจมปรักในอำนาจแห่งความชั่วร้าย  แต่นั่นมิใช่จุดจบชีวิตของอิสราเอล (มิใช่ “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว”)
ประการที่สอง  เมื่ออิสราเอลกระทำผิดต่อพระสัญญาของพระเจ้า  สิ่งที่ควรเกิดขึ้นคือการได้รับการลงโทษที่เหมาะสมตามการกระทำผิดของอิสราเอล   แต่ท่ามกลางหายนะแห่งชีวิตอิสราเอลนั้นเอง   พระเจ้าทรงสำแดงความรักอันมั่นคงของพระองค์ต่ออิสราเอล   พระองค์ทรงมีพระเมตตาคุณต่ออิสราเอล  นี่คือจุดหักเหครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิตของมนุษยชาติ   ที่พระเจ้าทรงเปลี่ยนชีวิตที่ตกลงในหายนะแห่งความตาย ให้กลับมีโอกาสใหม่ด้วยพระเมตตาคุณอันอุดมของพระองค์   ดังนั้น คริสตชนจึงมิได้มีหลักเชื่อที่การ “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว”   แต่หลักเชื่อของคริสตชนอยู่ที่  “เรารอดพ้นจากอำนาจชั่วร้าย  และมีชีวิตใหม่ด้วยพระคุณอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้า”   และนี่คือรากฐานแห่งความหวังของอิสราเอล และ มนุษยชาติในปัจจุบัน
ประการที่สาม   จุดเปลี่ยนแปลงหักเหนี้มิได้เกิดขึ้นเพราะเหตุ มนุษย์กลับมาทำความดีถูกต้อง  แต่เป็นเพราะ “พระคุณของพระเจ้า”   ที่ทรงเปิดโอกาสใหม่สำหรับคนผิดบาป   ด้วยพระคุณของพระเจ้าเปิดโอกาสให้มีชีวิตใหม่  และพระเมตตาคุณของพระองค์หนุนเสริม  บ่มเพาะ  ชีวิตใหม่ให้มีชีวิตตามพระประสงค์ของพระคริสต์    จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของคริสตชนจึงมิได้ใช้หลัก  “เหตุและปัจจัย” แต่คริสตชนพึ่งใน “พระคุณของพระเจ้า” 
ประการที่สี่       คริสตชนเชื่อและตระหนักชัดว่า   เราไม่สามารถพึ่งพิงในกำลังความสามารถของตนเองที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของตนเองได้   และไม่สามารถที่จะดึงตนเองให้ขึ้นจากโคลนตมแห่งอำนาจบาปชั่วได้   เราต้องพึ่งพระคุณพระเจ้า  พระกำลังจากพระองค์  และพระปัญญาจากเบื้องบน  
แต่ด้วยพระคุณของพระเจ้าที่ทรงเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราใหม่   เพื่อเราจะมีกำลังในชีวิตที่จะดำเนินไปแต่ละวันตามพระประสงค์พระเจ้า (มิใช่ตามใจปรารถนาของตนเอง)   และ ใช้โอกาสในชีวิตใหม่ที่จะรักเมตตาต่อคนรอบข้างเยี่ยงพระคริสต์   และเราเชื่อว่านี่เป็นภารกิจหลักที่พระคริสต์ทรงเรียกและมอบหมายให้เรากระทำทุกครั้งเมื่อมีโอกาส   เพื่อเปิดโอกาสใหม่ให้ชีวิตของผู้คนได้สัมผัสกับ "พระคุณของพระเจ้า"    
ประการที่ห้า     ดังนั้น   วันนี้  ในการดำเนินชีวิตประจำวัน  เราจึงมิได้ใช้หลัก “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว”  และในเวลาเดียวกันเราไม่ได้วางใจในกำลังของตนเอง  เราไม่สามารถ “พึ่งตนเอง”   ในทุกสถานการณ์ชีวิตในวันนี้เราขับเคลื่อนชีวิตของเราบนรากฐานและพลังแห่ง “พระคุณของพระเจ้า”   เราต้องพึ่งพระคุณของพระเจ้าครับ!

เราพึงตระหนักชัดว่า   ไม่ว่าจะเป็นชีวิตที่กระทำผิดบาปตกอยู่ใต้อำนาจของความชั่วร้าย  จะเป็นอิสราเอล หรือ เราในปัจจุบัน  จุดสุดท้ายมิได้อยู่ที่การรับโทษ ให้ตกอยู่ท่ามกลางหายนะตลอดไป   แต่สำหรับคริสตชนแล้ว  จุดสุดท้ายที่ยิ่งใหญ่คือ พระคุณของพระเจ้า  โอกาสใหม่  การกลับใจใหม่  ที่จะทำให้มนุษย์เกิดการเปลี่ยนแปลงใหม่  เพราะพระคุณของพระเจ้า   จุดเปลี่ยนนี้จะสร้างผลกระทบต่อการเปลี่ยนระดับครอบครัว  สังคม  ประเทศชาติและสังคมโลกนี้ด้วย

ดังนั้น   การที่พระเจ้าทรงให้อภัยคนบาปผิด และ การที่เราให้อภัยกันและกันจึงเป็นเรื่องสำคัญเป็นเรื่องใหญ่ของคริสตชน    สิ่งนี้เกิดขึ้นได้เพราะ “พระคุณของพระเจ้า” ที่เปิดโอกาสแห่งชีวิต  ทั้งการทรงฉุดให้เราหลุดรอดขึ้นจากโคลนตมแห่งอำนาจของความชั่วร้ายบาปผิด   การได้รับโอกาสเริ่มต้นใหม่ในชีวิต   รับการเสริมสร้างบ่มเพาะชีวิตที่มีความรักเมตตาที่มาจากพระคุณของพระเจ้า   โอกาสที่จะมีชีวิตที่จะรับใช้  ช่วยเหลือผู้คนเพียงเพื่อให้คนรอบข้างได้สัมผัสและรับพระคุณพระเจ้าในชีวิตของเขา   ทั้งสิ้นนี้  เราเป็นเพียงผู้สานต่อพระราชกิจที่ทรงพระคุณของพระเจ้า   ที่จะทรงเปลี่ยนแปลงและสร้างสังคม และ โลกใบนี้ขึ้นใหม่ในแต่ละวัน

ท่านเชื่อในการเปลี่ยนแปลงจาก “จุดหักเหครั้งใหญ่” ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาตินี้หรือไม่?

ท่านเชื่อในพระราชกิจแห่งพระคุณของพระเจ้าหรือไม่?

ท่านพร้อมที่จะอุทิศตนเพื่อสานต่อพระราชกิจแห่งพระคุณของพระเจ้าแล้วหรือยัง?

นี่คือเหตุผลหลักที่เรามาเชื่อศรัทธาในพระเยซูคริสต์คือ  เราพบความจริงในตนเองว่า  เราไม่สามารถช่วยตัวเราเองให้หลุดรอดออกจากกับดักแห่งความบาปชั่วได้   เราจึงมาพึ่งพระคุณของพระเจ้าที่ทรงกอบกู้ช่วยเราให้รอด   แล้วยังบ่มเพาะเสริมสร้างเราให้ชีวิตที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงให้มีชีวิตเหมือนพระคริสต์มากขึ้นทุกวัน   อีกทั้งยังทรงไว้วางใจเราให้รับใช้สานต่อพระราชกิจของพระองค์บนแผ่นดินโลกนี้   ทั้งทรงประทานองค์พระวิญญาณบริสุทธิ์ให้เป็นกำลังของเรา  และกระทำพระราชกิจของพระเจ้าเคียงข้างเราไปในแต่ละวัน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

24 ตุลาคม 2555

อ่านแล้วอ่านเล่าแต่ไม่เข้าใจ?


อ่าน 1โครินธ์ 2:6-16

ผมเชื่อคริสตชนส่วนมากเห็นความสำคัญว่า ควรอ่านพระคัมภีร์ หรือ อ่านพระวจนะของพระเจ้าเป็นประจำและต่อเนื่องในชีวิต   ยิ่งกว่านั้น หลายต่อหลายคนได้ทดลอง  ได้พยายาม  และบ่มเพาะสร้างวินัยชีวิตคริสตชนในด้านนี้   แต่หลายคนเหลือเกินในปัจจุบันพบว่า   ในที่สุดก็หยุดอ่านพระคัมภีร์  เลิกอ่านพระวจนะ   หรือหมดกำลังใจที่จะอ่าน   อะไรที่เป็นสาเหตุเบื้องหลังของความตั้งใจดีแต่ไปไม่ถึงไหนของการอ่านพระคัมภีร์ในชีวิตประจำวันของคริสตชน?   คำตอบส่วนมากที่ผมได้จากการแลกเปลี่ยนพูดคุยในเรื่องนี้กับคริสตชนคือ...

“เพราะอ่านพระคัมภีร์แล้วไม่เข้าใจว่า พระคัมภีร์ตอนนั้นหมายความว่าอย่างไร  ต้องการบอกสัจจะความจริงแก่ผู้อ่านว่าอะไร/อย่างไร”

ใช่ครับเมื่ออ่านไม่รู้เรื่อง อ่านแล้วไม่เข้าใจ  แล้วจะมีพลังใจที่ไหนที่ทำให้อดทนอ่านต่อไป!

ผมได้ยินคำอธิษฐานของผู้คนบ่อยครั้งมักอธิษฐานเมื่อจะอ่านพระคัมภีร์ หรือ เมื่อจะเทศนาว่า “ขอพระเจ้าโปรดช่วยให้ข้าพระองค์ มีสติปัญญา ที่จะเข้าใจถึงพระวจนะของพระองค์...” 

ใช่ครับ หลายต่อหลายคนโหยหาอยากได้ สติปัญญา ที่จะช่วยให้ตนเข้าใจและเรียนรู้ถึงความหมายของพระคัมภีร์ และลึกลงไปถึง พระประสงค์ของพระเจ้าในพระคัมภีร์ตอนนั้นๆ ที่ตนอ่านตนเทศน์

เปาโลช่วยเราให้เข้าใจชัดเจนแบบง่ายๆ ในเรื่องนี้ใน 1โครินธ์ 2:6-16

เปาโลเล่าถึงการที่ท่านพบและสอนสมาชิกในคริสตจักรโครินธ์ว่า  “ข้าพเจ้าไม่ได้มาด้วยคำพูดที่สละสลวยหรือสติปัญญาเลอเลิศ...” (ข้อ1 อมตธรรม)  “คำพูดและคำเทศนาของข้าพเจ้าไม่ใช่คำโน้มน้าวใจด้วยสติปัญญา   แต่เป็นการสำแดงถึงฤทธิ์อำนาจของพระวิญญาณ  เพื่อความเชื่อของท่านจะไม่อาศัยสติปัญญาของมนุษย์   แต่พึ่งฤทธิ์เดชอำนาจของพระเจ้า” (ข้อ 4 และ 5)

เป็นอันชัดเจนนะครับว่า   พระคัมภีร์เป็นพระวจนะของพระเจ้า  เป็นการบ่งชี้ถึงพระประสงค์ของพระเจ้า  ที่ไม่สามารถอ่านด้วยพึ่งพิงเพียงสติปัญญา หรือ หลักการ  ทฤษฎีต่างๆ ที่เราเรียนรู้  หรือ  กระบวนการนึกคิดปัญญาแบบกระแสสังคมโลกในปัจจุบัน   แต่เราต้องอ่านด้วยการเปิดใจเปิดจิตวิญญาณของเรา ให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเปิดเผยความจริงในพระวจนะนั้นๆ แก่เรา  มิใช่คิดใคร่ครวญด้วยสติปัญญาแบบกระแสโลกที่ครอบงำในวิธีคิดของเรา   แต่ด้วย การทรงสำแดง การทรงเปิดเผยสัจจะความจริงจากพระวิญญาณบริสุทธิ์  

ด้วยเหตุนี้กระมัง  ที่เราท่านหลายครั้งอ่านพระคัมภีร์  อ่านแล้วอ่านเล่าแต่ไม่เข้าใจ?

มิใช่เพราะเราอ่านผ่านๆ หรือ อ่านอย่างไม่ใคร่ครวญ  

แท้จริงเราอ่านอย่างใส่ใจและอ่านอย่างใคร่ครวญ  แต่ด้วยการพยายามใช้เพียงสติปัญญาของเรามาหาความหมายความเข้าใจในพระวจนะของพระเจ้า  เอาตรรกะเหตุผลของเรามาพิจารณาหาพระประสงค์ของพระเจ้า   มันจึงสร้างความสับสนงุนงง สร้างความไม่เข้าใจ   หรือไม่ก็สร้างแต่คำถามในใจของเรา   จนอ่อนอกอ่อนใจพาลพาไม่อ่านต่อไป!   นี่ยังไม่รวมถึงการอ่านพระคัมภีร์แบบพยายามค้นหาตีความให้เข้ากับความคิดข้อสมมติฐานของเราเอง หรือ ความคิดที่เรายึดถือยึดมั่น

เปาโลชี้ชัดว่า  การที่ผู้อ่านพระวจนะพระเจ้าเข้าใจถึงความหมาย และมีความเข้าใจในพระวจนะนั้นต้องรู้เท่าทันความจริงก่อนว่า

“ไม่มีใครได้เห็น   ไม่มีใครได้ยิน   ไม่เคยมีจิตใจใดหยั่งรู้  
สิ่งที่พระเจ้าทรงเตรียมไว้ให้บรรดาผู้ที่รักพระองค์  
แต่พระเจ้า ทรงเปิดเผย สิ่งนั้นแก่เราโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์...”
(ข้อ 9-10 อมตธรรม)

ทั้งนี้เปาโลชี้ชัดว่า   ที่ผู้คนไม่สามารถเข้าใจ และ เข้าถึงความหมายและความเข้าใจในพระวจนะของพระเจ้าก็เพราะว่า   พระวจนะเป็นทั้งเรื่องความคิด พระประสงค์ น้ำพระทัยของพระเจ้า   จึงเป็น ความล้ำลึก ของพระเจ้า (ข้อ 10)  และ พระวิญญาณบริสุทธิ์เท่านั้นที่รู้อย่างทะลุปรุโปร่งในความล้ำลึกนี้  ดังนั้น การที่จะเข้าใจถึงความ ล้ำลึก ในพระวจนะของพระเจ้าได้ก็ด้วยการสำแดงเปิดเผยจากพระวิญญาณบริสุทธิ์เท่านั้น  ดังที่เปาโลบอกว่า

“...ไม่มีใครหยั่งรู้พระดำริของพระเจ้าได้นอกจากพระวิญญาณของพระเจ้า”
(ข้อ 11 อมตธรรม)

การที่เราจะอ่านพระคัมภีร์หรือ พระวจนะของพระเจ้า  ซึ่งเป็นพระดำริของพระองค์   เราจึงไม่สามารถพึ่งพิงเพียงสติปัญญา  ความรอบรู้  หลักการ  ความคิด  ทฤษฎีแห่งโลกนี้ได้   แต่เราต้องพึ่งการทรงสำแดงเปิดเผยจากองค์พระวิญญาณบริสุทธิ์   ดังนั้น เมื่อเวลาใดก็ตามที่เราอ่านพระคัมภีร์ ศึกษาพระวจนะของพระเจ้าต้องรู้เท่าทันและตระหนักชัดเสมอว่า

“เราไม่ได้รับวิญญาณของโลก   แต่เรารับพระวิญญาณซึ่งมาจากพระเจ้า  
เพื่อเราจะเข้าใจสิ่งที่พระเจ้าประทานแก่เราอย่างไม่จำกัด”
(ข้อ 12 อมตธรรม)

ดังนั้น  ให้เราอ่านพระคัมภีร์ ซึ่งเป็นพระวจนะ พระดำริ  พระประสงค์  น้ำพระทัยของพระเจ้า   ด้วยการทูลขอพึ่งพาการทรงเปิดเผยของพระวิญญาณบริสุทธิ์   เพื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงสอนเราในสิ่งที่เป็นความจำเป็นต้องการในชีวิตเวลานั้นของเราแต่ละคน   ฉะนั้น สิ่งที่เราเรียนรู้เข้าใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์จึงไม่จำเป็นต้องนำไปเปรียบเทียบว่าเหมือนและต่างกันอย่างไร   เพราะพระเจ้าทรงทราบดีกว่า  อะไรคือสิ่งที่ดีที่สุด  จำเป็นที่สุด และสำคัญที่สุดสำหรับแต่ละบริบทของชีวิต

เป้าหมายขององค์พระวิญญาณบริสุทธิ์ที่ทรงเปิดเผยแก่เราในแต่ละวันที่เราอ่านพระคัมภีร์  มิใช่เพื่อ ใส่ข้อมูลเรื่องราวความรู้ ของพระคัมภีร์ลงในสมอง ความจำของเรา   แต่เป้าหมายของพระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงเปิดเผยสัจจะความจริงจากพระวจนะของพระเจ้าที่เราอ่านในแต่ละวัน  เพื่อเสริมสร้างให้เรามีชีวิตที่หยั่งรากลึกลงสนิทสัมพันธ์กับพระคริสต์มากยิ่งๆ ขึ้น   และเพื่อช่วยให้เราสามารถเห็น ได้ยิน และเข้าใจถึงสัจจะความจริงที่พระองค์ประสงค์จะหนุนนำ และ พระองค์ทรงเคียงข้างไปกับการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา   และจะทรงสอนเราในทุกย่างก้าวที่จะเดินไปในสถานการณ์ต่างๆ   เพื่อเสริมสร้างให้เราเป็น “คนของพระองค์” เดินไปบนเส้นทางชีวิตที่พระองค์ประสงค์   และเสริมสร้างเราให้เป็นคริสตชนที่มีน้ำพระทัยของพระคริสต์

การอ่านพระคัมภีร์ การใคร่ครวญพระวจนะของพระเจ้า  จึงมิใช่อยู่ที่ครึ่งชั่วโมง หรือ หนึ่งชั่วโมงในแต่ละวันเท่านั้น   แต่เราจะใคร่ครวญ ภาวนาพระวจนะที่เราอ่านในวันนั้นไปตลอดวัน  ในทุกสถานการณ์/เหตุการณ์ที่เราประสบพบเจอ   แล้วใส่ใจต่อการสำแดงของพระวิญญาณบริสุทธิ์ในทุกสถานการณ์ชีวิต   เพื่อเราจะเรียนรู้สัจจะความจริงแห่งชีวิตสำหรับเราจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่ทรงสอนเราในบริบทชีวิตจริงในวันนั้นของเรา

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

22 ตุลาคม 2555

เมื่อเกินความสามารถที่จะจัดการ...อธิษฐาน!


เรียนรู้การกระทำงานของพระเจ้าในสถานการณ์ที่เกินความสามารถของเรา
อ่านเนหะมีย์ 2:1-10


ในชีวิตประจำวัน   เราท่านต้องเคยเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด   ยิ่งกว่านั้น เราหลายคนเคยพบกับสถานการณ์เลวร้ายที่เราไม่สามารถที่จะควบคุมและจัดการได้   ในเวลาเช่นนั้นท่านทำอย่างไร?   หลายคน     มุมานะพยายามหาทางจัดการ หรือ หาคนมาช่วยจัดการ   บางคนพยายามวางแผนที่จะเอาชนะในสถานการณ์นั้น   แต่บางคนบอกว่า ให้เรายอมรับความจริงของสถานการณ์นั้นที่เกิดขึ้น   และยอมรับว่ามันเกินความสามารถที่เราจะทำอะไรได้ หรือ เกินความสามารถที่เราจะจัดการกับสถานการณ์นั้น  

ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งเมื่อต้องเผชิญสถานการณ์ที่เลวร้ายและรู้ว่าเป็นสถานการณ์ที่เหนือความสามารถของตนที่จะเข้าไปจัดการได้   คนกลุ่มนี้หยุดชีวิตประจำวัน  เปิดชีวิตทั้งหมดแด่พระเจ้า   เพื่อทูลขอพระเจ้าว่า   พระองค์มีแผนการอะไรในสถานการณ์ที่เลวร้ายนั้น   และ  แสวงหาความชัดเจนว่า  พระเจ้าทรงมีพระประสงค์อะไรในตัวเขาที่จะมีส่วนในแผนการของพระองค์   อย่างเช่นเนหะมีย์

เมื่อเนหะมีย์ ได้รับทราบคนที่กลับจากกรุงเยรูซาเล็มที่มาเยี่ยมว่า

“คนที่เหลือที่รอดพ้นจากการเป็นเชลยและกลับไปยังแว่นแคว้นเดิมนั้น
มีความทุกข์และความอัปยศอย่างยิ่ง  
กำแพงกรุงเยรูซาเล็มปรักหักพัง  
ประตูเมืองก็ถูกเผา”
(1:3 อมตธรรม)

เมื่อเนหะมีย์ได้ยินข่าวร้ายที่ไม่รู้จะทำอย่างไร   สิ่งที่เนหะมีย์ทำคือ 

“...นั่งลงร้องไห้...โศกเศร้า...
ถืออดอาหาร  และอธิษฐานต่อพระเจ้า...” (ข้อ 4)

น่าสังเกตว่า   เมื่อเนหะมีย์เลือกที่จะตอบสนองด้วยการ “อดอาหาร และ อธิษฐาน”   เท่ากับว่าเขาเปิดพื้นที่ในชีวิตของเขาแด่พระเจ้า   เพื่อพระองค์จะทรงสำแดงว่า  พระองค์ประสงค์ใช้ให้เนหะมีย์ทำอะไรตามแผนการของพระองค์   ในพระธรรมตอนนี้มิได้บ่งชี้ว่า เนหะมีย์พยายามแสวงหาอยากรู้ว่าพระเจ้าจะจัดการอย่างไรในสถานการณ์เลวร้ายนี้    แต่สิ่งที่เนหะมีย์ทำคือ   เขา “หยุดตนเอง”  จากกิจการอื่นๆ ในชีวิต   และ “เปิดชีวิตทั้งหมด” แด่พระเจ้า   เพราะเขายอมรับความจริงว่าสถานการณ์นี้เลวร้ายเกินกว่าที่คิด  เกินกว่าที่เขาจะจัดการได้   แต่เขามีใจต้องการที่จะช่วยพี่น้องยิวในเยรูซาเล็ม  แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร    สิ่งที่เขาทำคือการแสวงหาน้ำพระทัย  และ  เปิดชีวิตทั้งหมดของตนให้พระเจ้า

นอกจากที่ตนไม่รู้จะจัดการอย่างไรกับสถานการณ์ที่เลวร้ายในกรุงเยรูซาเล็มแล้ว   เขาก็ยังไม่รู้จะทำอย่างไรในการจัดการกับตนเองถ้าจะเข้าไปเกี่ยวข้องเรื่องร้ายที่กรุงเยรูซาเล็ม   เพราะเขาเป็นข้าราชการรับใช้พระราชาในวัง   เขาจะไปกรุงเยรูซาเล็มได้อย่างไร?   เราท่านก็เคยพบกับสถานการณ์เช่นนี้ใช่ไหม?

เมื่อใดก็ตาม  ที่พระเจ้าทรงใส่ภาระใจลงในบุคคลใด   ภาระใจของพระองค์มาพร้อมกับแผนการของพระองค์ในเรื่องนั้น   (ไม่ใช่แผนการของผู้ได้รับภาระใจ)

บ่อยครั้งที่เราผิดพลาดคือเมื่อมีภาระใจ  เรากระตือรือร้นที่จะทำสิ่งนั้นให้ถูกต้อง  ทำสิ่งนี้ให้ชอบธรรม  ทำสิ่งโน้นเพื่อคนอื่นจะได้เห็นพระคริสต์   จนกลายเป็นเรา “ใจร้อน”  รีบไปจัดการสิ่งต่างๆ ในเรื่องนั้นตามความคิด ความสามารถ และแผนการของเราเอง   และมีหลายคนวางแผนเงียบๆ ลับๆ ในการตอบโต้สถานการณ์นั้น   ทำเหมือนกับว่ากำลังช่วยพระเจ้า หรือ รีบเร่งช่วยพระเจ้าจัดการบางเรื่องในสถานการณ์นั้น   อาการเหล่านี้ส่อชัดว่าเขากำลังไม่วางใจพระเจ้าอย่างสุดจิตสุดใจสุดชีวิตสุดความคิดของเขา!   ผลที่ได้รับคือ ทำให้สถานการณ์เลวร้ายนั้นยุ่งยากซับซ้อนยิ่งขึ้น

แต่เนหะมีย์มิได้ทำเช่นนั้น  เขา “หยุดตนเอง” แล้ว “เปิดชีวิตทั้งหมด” แด่พระเจ้า   ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า พระเจ้ามิได้ตรัส หรือ ให้นิมิตอะไรเลยแก่เนหะมีย์เลย  แต่ทรงเตรียมจิตใจของเนหะมีย์  เตรียมเขาให้พร้อมสำหรับพระราชกิจของพระเจ้าที่กำลังทำไปข้างหน้าเขา    พระเจ้ามิได้บอกเนหะมีย์ด้วยว่าจะต้องทำอะไรบ้าง   แต่พระเจ้าทำมากกว่าบอกเนหะมีย์ครับ

พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ตามแผนการของพระองค์เอง!

พระเจ้าทรงกระทำงานในจิตใจของกษัตริย์และพระราชินี   เพราะการอดอาหาร และ จิตใจที่สงบรอคอยพระเจ้าของเนหะมีย์  ทำให้พระราชาสังเกตเห็น “ความผิดปกติ” ในชีวิตของเนหะมีย์   จนพระราชาออกปากถาม เนหะมีย์ตรงๆ ว่า  “ทำไมเจ้าถึงหน้าเศร้าหมองนัก   ในเมื่อไม่ได้เจ็บป่วย   คงไม่มีอะไรนอกจากจะทุกข์ใจ(ใช่ไหม?)”

เมื่อพระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์   “โอกาส” ก็เปิดสำหรับเนหะมีย์ ที่จะทูลความในใจแก่กษัตริย์   ด้วยการทูลในรายละเอียดของเนหะมีย์   พระเจ้าทรง “เปิดใจ” พระราชา   มิใช่อนุญาตให้เนหะมีย์ไปเยรูซาเล็มเท่านั้น   แต่พระราชาส่ง เนหะมีย์ให้ไปทำพันธกิจที่ทรงมองหมายในการบูรณะปฏิสังขรณ์เมืองเยรูซาเล็ม (ข้อ 5, 6)  นอกจากนั้น พระราชายังออกใบเบิกทางเพื่อความสะดวกแก่เนหะมีย์ (ข้อ 7)   และออกพระราชสาสน์ให้ทางกรมป่าไม้ตัดไม้ให้เนหะมีย์สำหรับงานนี้ (ข้อ 8)   แล้วให้มีนายทหาร และ กองกำลังทหารม้าคุ้มกันไปร่วมกับขบวนของเนหะมีย์ด้วย (ข้อ 9)   กลายเป็นว่า การกลับไปบูรณะซ่อมแซมกำแพงและเมืองเยรูซาเล็มมิใช่งานที่เนหะมีย์อยากจะทำ   แต่พระเจ้าทรงกระทำให้เป็นพันธกิจของพระราชาที่ส่งเนหะมีย์และกองกำลังของพระองค์ไปทำ   นี่คือพระราชกิจที่พระเจ้าทรงกระทำเพื่อเนหะมีย์  

เมื่อพระเจ้าใส่ภาระใจแก่ใครผู้ใด   พระองค์ไม่ได้ปล่อยให้คนๆ นั้นต้องไปทำงานนั้นตามยถากรรม   แต่พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจนั้น   เพื่อเปิดทางนำคนนั้นเข้าสู่สถานการณ์ดังกล่าว    เพื่อทำงานสานต่อพระราชกิจร่วมกับองค์พระผู้เป็นเจ้า และ  ประชากรคนอื่นๆ ของพระองค์ด้วย   ในข้อที่ 8 ตอนท้าย  เนหะมีย์กล่าวว่า...

“แล้วกษัตริย์อนุมัติตามการทูลขอ  เพราะพระหัตถ์อันเปี่ยมด้วยพระคุณของพระเจ้าอยู่เหนือข้าพเจ้า

เมื่อเราได้รับการทรงเรียกในทำพันธกิจการงานที่เหนือความสามารถที่เราจะทำเองได้   ท่านจะตอบสนองต่อการทรงเรียกนั้นในชีวิตประจำวันอย่างไร?   เราจะเริ่มด้วยการจดรายการที่เราไม่สามารถจะจัดการได้เช่นนั้นหรือ?  ไม่ครับบ่อยครั้งที่เรามุ่งมองไปที่ปัญหา  เราเน้นย้ำในสิ่งที่เราจัดการไม่ได้    แต่จงมั่นใจในวันนี้ว่า ก่อนที่พระเจ้าจะทรงเรียกท่านพระองค์รู้สิ่งที่จำกัดขาดด้อยเหล่านี้ในชีวิตของท่านก่อนแล้ว   แล้วทรงรู้ถึงความรุนแรงของสถานการณ์ที่เลวร้ายนั้นอย่างทะลุปรุโปร่ง

ให้เราตอบสนองต่อการทรงเรียกในพันธกิจที่เหนือความสามารถในการจัดการของเราด้วยการ “หยุดตนเอง”  แล้ว  “เปิดพื้นที่ชีวิต” ทั้งหมดแด่พระเจ้า   และเมื่อพระองค์ทรงเริ่มกระทำพระราชกิจของพระองค์  เมื่อ “โอกาส” เปิดก็ให้เราพร้อมที่จะเคลื่อนไปสู่ทิศทางที่พระองค์ทรงเปิดแก่เราด้วยความเชื่อฟัง  สัตย์ซื่อ  อดทน  และรอคอย

เราต้องไม่ลืมว่า   ในทุกงานที่พระเจ้าทรงเรียกทรงใช้ให้เรากระทำ   พระองค์จะเสริมสร้างเราให้เติบโตขึ้นผ่านในงานนั้น    เพราะพระวิญญาณบริสุทธิ์สถิตในทุกคนที่เชื่อศรัทธาและไว้วางใจในพระองค์   และพระวิญญาณบริสุทธิ์นี้เองจะเป็นกำลังด้านต่างๆ ที่จะนำให้การรับใช้ของเราบรรลุความสำเร็จตามแผนการละพระประสงค์ของพระเจ้า  

อย่าให้สถานการณ์ที่อยู่เหนือความสามารถในการควบคุมและจัดการของท่านเป็นตัวบั่นทอน ดึงฉุดให้ท่านให้ออกจากทางแห่งการเชื่อฟังพระเจ้า   แต่จง “หยุดตนเอง”  และ  “เปิดพื้นที่ชีวิต” แด่พระเจ้า   แล้วเดินตามการทรงนำของพระวิญญาณบริสุทธิ์ด้วยการเชื่อฟัง  สัตย์ซื่อ  และเต็มใจ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

19 ตุลาคม 2555

ความประทับใจที่ผิดๆ


อ่านมาระโก 13:1-2

ขณะที่พระเยซูเสด็จออกจากพระวิหาร   สาวกของพระองค์คนหนึ่งทูลว่า 
“ดูซิ พระอาจารย์!  หินก้อนมหึมาทั้งนั้น!   ช่างเป็นอาคารที่งดงามตระการตายิ่งนัก
(มาระโก 13:1 อมตธรรม)

เฮโรดมหาราชได้สร้างพระวิหาร  ด้วยการปรับปรุงซ่อมแซมพระวิหารที่เคยได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยของเอสรา(เอสรา 6:14-15)  ที่ผ่านพ้นมากว่า 500 ปีแล้ว  เพื่อเอาใจพวกยิวเพื่อให้สนับสนุนตนและยอมอยู่ภายใต้การปกครองของตน    โดยได้ทำการซ่อมแซมและก่อสร้างประมาณในปี 20 ก.ค.ศ.  ก่อนการบังเกิดของพระเยซูคริสต์ประมาณ 15 ปี    ใช้เวลาทั้งหมดในการก่อสร้างถึง 45 ปี   ซึ่งเป็นยุคที่พระเยซูคริสต์ทรงปฏิบัติพระราชกิจของพระเจ้าในแผ่นดินนี้พอดี   อาคารนี้เสร็จสิ้นในปี ค.ศ. 64 (หลังจากสมัยพระเยซูอีก 30 ปี)  รากฐานของพระมหาวิหารดังกล่าวใช้หินน้ำหนักประมาณถึง 600 ตัน รากฐานดังกล่าวยังพบได้ในกรุงเยรูซาเล็มปัจจุบัน   อาคารพระวิหารทำจากหินอ่อนสีขาวฝีมือประณีต และกำแพงอาคารด้านตะวันออกหุ้มด้วยทองคำ ในยามเช้าเมื่อดวงอาทิตย์ส่องแสงทำให้เกิดแสงประกายสะท้อนแวววาวระยิบระยับตา

ด้วยเหตุนี้เมื่อผู้คนได้เห็นพระวิหารแห่งนี้จึงทึ่งและตื่นตาตื่นใจชื่นชมในความสวยงามของพระวิหารแห่งนี้   และไม่เว้นแม้แต่สาวกของพระคริสต์ด้วยเช่นกัน   ถึงกับชวนพระเยซูให้หลงใหลในความงดงามยิ่งใหญ่ของพระมหาวิหารดังกล่าว   แต่พระเยซูคริสต์กลับมองและมีความประทับใจต่อตึกอาคารดังกล่าวที่แตกต่างจากสาวกและคนอื่น   พระองค์กล่าวตอบว่า

 “พวกท่านเห็นอาคารใหญ่โตมโหฬารเหล่านี้ใช่ไหม  
ศิลาที่นี่จะไม่เหลือซ้อนทับกันสักก้อนเดียว  ทุกก้อนจะถูกโยนทิ้งลงมาหมด
(มาระโก 13:2 อมตธรรม) 
(หรือฉบับมาตรฐานแปลว่า “แต่จะถูกทำลายลงหมด” )

แทนที่พระเยซูคริสต์จะร่วมในความประทับใจในความโอ่อ่าตระการตา ในความสง่างามของอาคารพระวิหารร่วมกับเหล่าสาวก   แต่พระองค์มองลึกลงไปถึงเบื้องหลังและเบื้องหน้าของอาคารมหึมาแห่งนี้   พระองค์ทรงมองว่า เบื้องหลังของอาคารนี้สร้างขึ้นเพื่อตอบสนองอำนาจทางการเมืองการปกครองของเฮโรด   เบื้องหน้าอาคารที่งดงามยิ่งใหญ่นี้ก็จะถูกทำลายลงอย่างราบคาบเพราะการเมืองและอำนาจด้วยเช่นกัน   และจากประวัติศาสตร์เราพบว่า  อาคารวิหารแห่งนี้ถูกทำลายลงอย่างราบคาบในปี ค.ศ. 70   ด้วยกองกำลังของโรมัน

คำตรัสของพระเยซูคริสต์ได้เตือนสติเหล่าสาวกว่า   อย่าหลงใหลประทับใจกับความโอ่อ่าตระการตา  ใหญ่ยิ่งงดงามของอาคาร  และวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารดังกล่าว   แต่ในที่สุด  ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ก็มีเวลาที่เหี่ยวเฉา  ล่วงลับ  จบสิ้น หักพัง  และสูญเสียไป   ไม่ว่าสิ่งนั้น คนนั้นจะน่าพิศวงหลงใหล  หรือ มีเสน่ห์น่าเย้ายวนใจปานใดก็ตามในเวลานี้

นี่เป็นคำเตือนของพระเยซูคริสต์สำหรับเราทุกคนด้วยเช่นกัน  ในการรับรู้ต่อสิ่งต่างๆ ของเรา  เรามิได้มุ่งมองและติดอยู่กับสิ่งภายนอกที่เราสามารถมองเห็นด้วยตาของเราเท่านั้น   แต่เราต้องมองลึกลงถึงเบื้องหลังและเบื้องหน้าของสิ่งนั้นและคนๆ นั้น   และจะต้องรู้เท่าทันว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุด ยิ่งกว่านั้นเราต้องตระหนักชัดในสัจจะความจริงว่า สิ่งต่างๆ บนโลกใบนี้  ทรัพย์ สิ่งของ  อนุสาวรีย์ที่เราสร้างขึ้น  ชื่อเสียง  ตำแหน่ง  เกียรติยศ  และผลงานที่ผู้คนยกย่องชื่นชมมีวันที่จะจบสิ้นและสาบสูญ แต่ให้เราประทับใจและชื่นชอบในสิ่งที่มาจากเบื้องบน  ที่เป็นพระประสงค์ของพระเจ้า และ การทรงครอบครองของพระองค์ในชีวิตของเรา  สังคม และโลกนี้ของพระเจ้า   แม้จะมองไม่เห็นด้วยตา  แต่เราสามารถสัมผัสด้วยชีวิตและความเชื่อศรัทธาของเรา   สิ่งนี้นิรันดร์ยั่งยืน

ดังนั้น เราจึงไม่จับจ้องกับสิ่งที่เรามองเห็น   แต่อยู่กับสิ่งที่มองไม่เห็น  
เพราะสิ่งที่เรามองเห็นนั้นไม่จีรังยั่งยืน  
สิ่งที่เรามองไม่เห็นนั้นถาวรนิรันดร์ 
(2 โครินธ์ 4:18  อมตธรรม)

ประเด็นสำหรับใคร่ครวญ

1. ทุกวันนี้อะไรคือสิ่งที่ท่านประทับใจที่สุดในชีวิตของท่าน?
2. ทำไมท่านถึงประทับใจในสิ่งเหล่านั้นอย่างมาก?
3. สิ่งที่ท่านประทับใจอย่างมากมีความสำคัญ คุณค่า และความหมายต่อชีวิตของท่านและคนอื่นเช่นไร?
4. สิ่งที่ท่านประทับใจอย่างมากสอดคล้องกับชีวิตคริสตชนของท่านหรือไม่?  ทำไมท่านถึงคิดและมองเช่นนั้น?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

17 ตุลาคม 2555

พระเจ้าอยู่ไหนในวันนี้!


อ่านเอเฟซัส 3:20-21

ขอให้พระเกียรติมีแด่พระองค์
ผู้ทรงสามารถทำทุกสิ่งได้มากยิ่งกว่าที่เราทูลขอหรือคิด
โดยฤทธานุภาพที่ทรงกระทำกิจอยู่ภายในเรา
(เอเฟซัส 3:20 ฉบับมาตรฐาน)

บ่อยครั้ง  เมื่อเราอธิษฐาน หรือ ตกอยู่ในสถานการณ์วิกฤติเรามักทูลขอให้พระองค์ทำในสิ่งที่เราต้องการ   โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรามักทูลขอต่อพระเจ้าให้ทำการช่วยเหลือเราและเปลี่ยนแปลงคนนั้น สิ่งนี้  สถานการณ์ที่กำลังไม่น่าพอใจหรือพึงประสงค์

เราเคยหยุดแล้วคิดไหมว่า ทำไมเราถึงทูลขอพระเจ้าเช่นนั้น? นั่นเพราะเรามักคิดว่า ถ้าพระเจ้าทรงเปลี่ยนคนนั้นที่เราเห็นว่าแย่  ทำไม่ได้   ทำไม่ดี   ทำไม่ถูกใจเรา หรือเปลี่ยนสถานการณ์รอบข้างที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้ได้ ปัญหาต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นจะได้รับการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่เสียหายจะได้รับการแก้ไข แต่เราต้องตระหนักชัดว่า ความคิดที่เราทูลขอให้พระเจ้าช่วยทำนี้   นี่มันเป็นความคิดของเรา!  เปาโล แนะนำในจดหมายถึงคริสตชนในเอเฟซัสและถึงเราจากประสบการณ์ชีวิตของท่านว่า  เราอาจจะคิดผิด  เราอาจจะคิดเล็กเกินไป ที่เราคิดจะให้พระเจ้าเปลี่ยนสถานการณ์และคนรอบข้าง  

แต่พระองค์ทรงประสงค์เปลี่ยนแปลงและสร้างชีวิตของเราเองขึ้นใหม่!

ใช่ครับ!   บ่อยครั้ง เรามักขอให้พระเจ้าทำตามสิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราเห็นว่าต้องทำ แต่เราเคยถามพระองค์สักนิดไหมว่า ในสถานการณ์ชีวิตอย่างที่เราประสบพบเจออยู่นี้   พระองค์คิด  พระองค์มีแผนการแนวทางในการเปลี่ยนแปลงเสริมสร้างสิ่งดีให้เกิดขึ้นหรือไม่?  อย่างไร?

ทั้งนี้  เพื่อเราจะได้เปลี่ยนจากอธิษฐานให้ พระเจ้าช่วยและทำตามความคิดของฉัน  ไปเป็นขอพระเจ้าทรงเปลี่ยนแปลง แก้ไข และเสริมสร้างเราตามพระประสงค์และแผนการของพระองค์   การที่ใครคนใดคนหนึ่งอธิษฐานได้เช่นนี้  ก็ต่อเมื่อ...

ประการแรก     คนๆ นั้นต้องเชื่อวางใจว่า พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงมีฤทธานุภาพและพลังอำนาจมากเกินความเข้าใจของเรา  ที่พระองค์จะทรงเปลี่ยนแปลงชีวิตทุกมิติของเราแต่ละคนจากข้างในและก่อเกิดพลังการเปลี่ยนแปลงสู่ภายนอกรอบข้างชีวิตของคนๆ นั้น
ประการที่สอง  คนๆ นั้น ต้องยอมรับว่าการทำงานของพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงกระทำตามแผนการและเวลาที่เหมาะสมของพระองค์   ดังนั้น  คนๆ นั้นพร้อมและเต็มใจที่จะ “รอคอย” การกระทำกิจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ด้วยความเชื่อและไว้วางใจ
                             ดังนั้น  เราจะทำตัวเป็น “เด็กหนุ่มใจร้อน” ไม่ได้   แม้กระบวนการทำงานของพระวิญญาณบริสุทธิ์จะดูเชื่องช้าเช่นใดในสายตาของเรา   แต่เราต้องเรียนรู้ว่า ในกระบวนการการทำงานของพระวิญญาณบริสุทธิ์  เป็นกระบวนการพระราชกิจของพระเจ้าที่กำลังทำกับชีวิตของตัวเราเองทั้งชีวิต   จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องเชื่อและวางใจในการทำงานของพระวิญญาณบริสุทธิ์ในชีวิตของเราแต่ละวันด้วยความอดทน   ถึงแม้เราจะไม่เห็นการเกิดผลที่รวดเร็วตามใจปรารถนาของเราก็ตาม
                             แต่เราต้องมั่นใจว่า  พระเจ้าจะไม่เร่งรีบตามคำเรียกร้องของมนุษย์  แต่พระองค์ก็จะไม่ยอมแพ้  หรือ บอกเลิกในสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำ!
ประการที่สาม  คนๆ นั้นต้องเชื่อและไว้วางใจว่า พระเจ้าทรงมีแผนการของพระองค์ในชีวิตของเราแต่ละคน   เราต้องวางใจและพร้อมที่จะเดินตามแผนการนั้นในฐานะบุตรที่เชื่อและยอมทำตามแผนการของพระเจ้า   แม้เราจะไม่เห็นแผนการทั้งหมดของพระองค์อย่างชัดเจนก็ตาม   แต่ “พร้อมและยอม” ที่ทำตามแผนการนั้นของพระองค์วันต่อวัน   ด้วยเพียงมั่นใจว่า ในกระบวนการทำงานของพระวิญญาณบริสุทธิ์ในชีวิตของเราพระองค์จะทรงเปลี่ยนแปลงและเสริมสร้างเราขึ้นใหม่ให้เป็นเหมือนพระคริสต์มากยิ่งขึ้นทุกวัน  และเป็นผู้ใหญ่ในพระองค์ยิ่งๆ ขึ้น
ประการที่สี่       เวลาเราอธิษฐานทูลขอ   เรามักทูลขอในสิ่งที่เราห่วงกังวล   เรามักคิดถึงสิ่งที่เราทำเราสร้างจะไม่สำเร็จ   จึงทูลขอให้พระเจ้าทำในสิ่งที่เรากำลังทำ กำลังเกี่ยวข้องให้สำเร็จ   ไม่ว่าจะเป็นฐานะ ความเป็นอยู่ บุคลิกภาพของเรา  ลูกหลานของเรา  หรือสถาบันที่เราทำงาน   ชุมชนที่เราเกี่ยวข้อง   ผลงานในบริษัทที่เราทำงาน ฯลฯ   แต่เราต้องตระหนักชัดว่าพระเจ้าทรงประสงค์เปลี่ยนแปลงชีวิตของเราให้เป็นไปตามแผนการของพระองค์ก่อน   เพื่อชีวิตของเราจะสามารถร่วมในพระราชกิจของพระเจ้า   เพื่อนำการเปลี่ยน แปลงสู่คนรอบข้าง  สถานการณ์แวดล้อม  องค์กร หน่วยงาน และที่ทำงานของเรา
ประการสุดท้าย   ในกระบวนการการทรงทำงานของพระวิญญาณบริสุทธิ์ภายในชีวิตของเรา   บ่อยครั้งเราต้องประสบความความทุกข์ยากลำบาก   การไม่เห็นด้วยจากเพื่อนร่วมงาน   การขัดแข้งขัดขาเพราะการเสียประโยชน์ส่วนตัวของเพื่อนร่วมงาน   การถูกบีบคั้นเพราะแรงกดดันกระแสการเมืองในองค์กรที่ทำงาน   ความทุกข์ความลำบากสารพัดอาจเกิดขึ้นกับเรา   เราต้องยิ่งใกล้ชิดกับพระเจ้า   และขอพลังความเข้าใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ว่าในสถานการณ์เช่นนั้น  พระองค์มีพระประสงค์จะทำอะไรในชีวิตของเรา  
        ในการเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดในชีวิต   นั่นอาจจะเป็นกระบวนการที่พระวิญญาณบริสุทธิ์กำลังเปลี่ยนแปลงชีวิตของเรา  บุคลิกเดิมๆ  นิสัยเก่าๆ  ให้เราเป็น “คนใหม่” ในพระคริสต์   แต่ในเวลานั้นเราอาจจะรู้สึกว่า  “ทำไมพระเจ้าต้องทำเช่นนี้กับฉัน   ทำไมพระเจ้าถึงอนุญาตให้เหตุการณ์ที่แสนขมขื่นเกิดขึ้นกับฉัน?”  ในเวลานั้นเราอาจจะไม่เข้าใจในพระประสงค์และแผนงานของพระองค์   แต่เราเชื่อและมั่นใจว่า  พระเจ้าทรงรู้ว่าพระองค์กำลังทำอะไรในชีวิตของเรา

พระเจ้ามีพระประสงค์ทำงานภายในชีวิตของเราแต่ละคน   เพื่อจะเปลี่ยนแปลง แก้ไข และเสริมสร้างให้เราเป็นคนที่พระองค์สามารถใช้ได้ตามพระประสงค์   เพื่อนำการเปลี่ยนแปลง แก้ไข และการเสริมสร้างใหม่ไปสู่คริสตจักร  ครอบครัว  ชุมชน  ในที่ทำงาน  ประเทศ  และในโลกที่ทันสมัยในปัจจุบัน

ทั้งนี้   เราต้อง “ใจกว้าง” พอสำหรับพระเจ้าครับ   เพราะ  พระเจ้าทรงกระทำทุกสิ่งกว้างใหญ่เกินกว่าที่เราทูลขอและที่เราคิดครับ   และเมื่อพระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์   พระองค์ไม่ได้เริ่มต้นที่ไหนครับ   พระองค์เริ่มกระทำกิจในชีวิตของเราแต่ละคน   แต่มีคำถามว่า เราจะยอมรับวิธีการเช่นนี้ของพระองค์หรือไม่เท่านั้น?

ประเด็นเพื่อการใคร่ครวญ

1. ที่ผ่านมา   ท่านเคยทูลขอให้พระเจ้าช่วยสิ่งต่างๆ ตามความคิดความรู้สึกของท่านหรือไม่?   ผลเป็นอย่างไรบ้าง?
2. ท่านเคยมีประสบการณ์หรือไม่ว่า  การทูลขอต่อพระเจ้าแล้วพระองค์ไม่ตอบสักที?   แล้วท่านทำเช่นไรในเวลาเช่นนั้น?
3. ท่านเคยมีประสบการณ์หรือไม่ว่า  พระเจ้าตอบคำอธิษฐานของท่านไม่เป็นไปตามที่ท่านทูลขอ คาดคิด?   ตอนนั้นท่านรู้สึกอย่างไร และ มีความคิดเห็นอย่างไร?   ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
4. ท่านคิดเห็นอย่างไรต่อความเชื่อที่ว่า   พระเจ้าทรงมีพระประสงค์ทำงาน “ในชีวิตของท่าน” ?  ท่านเคยมีประสบการณ์ในเรื่องนี้หรือไม่?   เกิดผลอย่างไรบ้าง?
5. ถ้าท่านจะอธิษฐานทูลขอต่อพระเจ้าจากก้นบึ้งแห่งชีวิตจิตใจของท่านในวันนี้   ท่านจะทูลขอต่อพระเจ้าในเรื่องอะไร และทูลขอว่าเช่นไร?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

15 ตุลาคม 2555

คริสต์จริยธรรม...เริ่มต้นที่การเชื่อฟังพระเจ้า


ทุกวันนี้สังคมต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์วิกฤติจริยธรรม   รุนแรงกว่านั้น ในวงการคริสตชนถูกตราว่า  ผู้นำของสถาบัน หน่วยงานคริสตชนกำลังตกอยู่ในสภาพ “วิบัติจริยธรรม”?   มะเร็งจริยธรรมกำลังกัดกิน แผ่ขยายไปทุกขุมขนของสังคม   ตั้งแต่ในครอบครัว  ในชุมชน  ในหน่วยงาน  สถาบัน   ในวงการเมือง  วงการราชการ   บริษัทเอกชน   ในวงการศาสนา   จนถึงระดับชาติระดับประเทศ   และระดับโลก

ประเด็นต่างๆ ทางจริยธรรมกลายเป็นประเด็นที่ผู้คนต้อง “ถ่วงดุลในการตัดสินใจ”   ทุกคนรู้ว่าหลักการทางจริยธรรมที่วางไว้เป็นหลักการที่ดี ถูกต้อง และควรกระทำตามนั้น  แต่ในยุค เงินนิยม บริโภคนิยม  และปัจเจกนิยมเป็นรากฐานการคิดและการดำเนินชีวิตของคนเรา ทำให้ผู้คนต้องคิดทบทวนว่า จะทุ่มหมดใจตัดสินใจตามหลักจริยธรรมทั้งหมด หรือให้เกิดความสมดุลกับ ความอยู่รอดของตนเอง การรักษาความสัมพันธ์และน้ำใจเพื่อนฝูง  การที่จะอยู่ในพรรคนี้พวกนี้ได้ เพื่อการยอมรับจากลูกน้อง เพื่อเจ้านายจะไว้วางใจ และ ฯลฯ จนรู้สึกว่าในสถานการณ์เช่นทุกวันนี้ตนไม่มีทางเลือก ตนจำเป็นต้องตัดสินใจทำลงไปเช่นนั้น และเป็นทางเลือกทางเดียวที่ดีที่สุด!

ดาเนียลและสหาย[1]  เป็นชาวยูดาห์ที่ตกไปเป็นเชลยในบาบิโลน  ได้รับคัดเลือกให้เป็นบุคลากรจากชาติต่างๆ ที่เป็นผู้สูงศักดิ์  มีปัญญาความรู้  และเป็นมีบุคลิกที่ดีตามคำสั่งของกษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์   เพื่อจะเลือกให้รับราชการในพระราชวังของพระองค์   แล้วให้มีครูสอนภาษาและวรรณคดีของบาบิโลน   ตลอดจนวัฒนธรรมการดำเนินชีวิตของชาวบาบิโลนชั้นสูง   ยิ่งกว่านั้น กษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์ยังพระราชทานอาหารจากโต๊ะเสวยแก่กลุ่มคนหนุ่มที่ได้รับการคัดเลือกเหล่านี้ (ดาเนียล 1:3-7)  

นี่คือโอกาสความก้าวหน้าในชีวิต นี่คือพระพรจากพระเจ้า และนี่เป็นสิทธิพิเศษที่ดาเนียลและสหายได้รับ   และนี่คือความหวังสำหรับอนาคตเพราะการได้ใกล้ชิดและรับใช้กษัตริย์ในพระราชวัง แต่สิ่งดีๆ มาพร้อมกับเงื่อนไขที่ดูเป็นอุปสรรคขัดแย้งกัน จนทำให้ดูเหมือนว่าจะเลือกซ้ายหรือขวาเช่นนั้น ทุกมื้อดาเนียลและสหายได้รับอาหารพระราชทานจากโต๊ะเสวย ซึ่งมีอาหารที่โอชะ แต่ก็มีอาหารต้องห้ามของยิว และ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์  ที่ดาเนียลและสหายปฏิญาณต่อพระเจ้าแล้วว่าจะไม่แตะต้องของเหล่านี้

นี่คือประเด็นขัดแย้งในใจ นี่คือประเด็นที่จะต้องตัดสินใจเลือก และนี่คือเวลาที่จะต้องมีการจัดการกับการมีชีวิตตามจริยธรรม ที่สร้างความขัดแย้งใหญ่หลวงอยู่ตรงข้างหน้า ประการแรก นี่เป็นพระประสงค์ดีของกษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์  การปฏิเสธของดาเนียลจึงดูเป็นการขัดพระประสงค์ของกษัตริย์   ประการที่สอง การที่บอกว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขัดกับหลักจริยธรรม  ก็เท่ากับกล่าวโทษว่า กษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์ทรงประพฤติผิดจริยธรรม   และ ประการที่สำคัญ  คือนี่เป็นน้ำพระทัยที่ดีเยี่ยมของกษัตริย์ที่หวังดีให้ชายหนุ่มที่คัดเลือกมีอาหารที่ดีรับประทานเพื่อที่จะแข็งแรง สมบูรณ์  และถ้าไม่รับประทานเช่นนั้นจะทำให้ซูบผอม  ย่อมนำความผิดแก่กรมวังที่ดูในเรื่องนี้ (ข้อ 8-10) และเป็นการขัดต่อพระทัยอันดีของกษัตริย์  

ด้วยเหตุผลทั้งสามประการดังกล่าว นอกจากอาจจะทำให้ดาเนียลสูญเสียโอกาสที่หาไม่ได้อีกแล้วในชีวิต   ยังนำสู่การสร้างการขัดพระราชหฤทัยของเนบูคัดเนสซาร์ สร้างความยากลำบากแก่กรมวังที่ดูแลในเรื่องนี้ และอาจจะได้รับโทษเพราะการขัดขืนครั้งนี้ก็ได้ ทำให้ดาเนียลต้องตัดสินใจจะยืนหยัดรักษาจริยธรรม หรือ ยอมทำตามพระประสงค์เนบูคัดเนสซาร์? และนี่คือประเด็นวิกฤติจริยธรรมในปัจจุบัน!  

สำหรับดาเนียลแล้วหลักจริยธรรมในชีวิตต้องได้รับการปฏิบัติ เพราะจริยธรรมของดาเนียลคือวินัยปฏิบัติในชีวิตที่เป็นพระประสงค์ของพระเจ้า      

ประการแรก  การที่จะดำเนินชีวิตตามหลักจริยธรรมจะต้องเริ่มต้นที่ตนมีความเชื่อศรัทธา และ จงรักภักดีต่อพระเจ้าผู้เป็นเอกสูงสุดในชีวิต   ดังนั้น  การปฏิบัติตามหลักจริยธรรมจึงมิใช่เพราะเราเป็นคนดีมุ่งมั่นตั้งใจและมีความเข้มแข็งทางจริยธรรมของตนเอง แต่เพราะเราศรัทธา  อุทิศทั้งชีวิต  และพึ่งพิงในการทรงนำของพระเจ้า

ประการที่สอง ดาเนียลเชื่อและไว้วางใจพระเจ้าว่า ในวิกฤติจริยธรรม พระเจ้าจะทรงทำงานในวิกฤตินั้นถ้าเรายังยืนหยัดมุ่งมั่นที่จะมีชีวิตตามพระประสงค์   พระเจ้าจะทรงเข้ามาแทรกแซงในวิกฤตินั้น  “พระเจ้าทรงบันดาลให้หัวหน้ากรมวังชอบพอและเห็นใจดาเนียล” (ข้อ 9 อมตธรรม)

ประการที่สาม  พระเจ้าจะทรงประทานสติปัญญาในการแก้วิกฤตินั้น  ดาเนียลมุ่งไปที่เป้าหมายแห่งพระราชประสงค์ของเนบูคัดเนสซาร์ที่ต้องการให้ชายหนุ่มกลุ่มนี้  มีพลานามัยสมบูรณ์  ดูแข็งแรง  สุขภาพดี  ดังนั้น   จึงเสนอต่อหัวหน้ากรมวังว่า  “โปรดลองให้ผู้รับใช้ของท่านกินแต่ผักและดื่มแต่น้ำสักสิบวัน  แล้วเปรียบเทียบหน้าตาของพวกเรากับชายหนุ่มซึ่งรับประทานเครื่องเสวย  จากนั้นเชิญท่านปฏิบัติต่อผู้รับใช้ตามที่ท่านเห็นควรเถิด” (ข้อ 12-13 อมตธรรม)  และในกระบวนการทดลองนั้น  พระเจ้าทรงเข้ามาแทรกแซงกระทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตของดาเนียลและสหาย

ผลที่เกิดขึ้นคือ  “เมื่อครบสิบวันแล้วปรากฏว่าพวกเขาดูแข็งแรงและมีพลานามัยดีกว่าชายหนุ่มอื่นๆ ที่รับประทานเครื่องเสวย” (ข้อ 15 อมตธรรม)  และหัวหน้ากรมวังก็ยอมให้ทั้งสี่รับประทานผักและน้ำต่อไป  และเมื่อครบกำหนด  ได้นำชายหนุ่มกลุ่มนี้เข้าเฝ้าเนบูคัดเนสซาร์  พระองค์สนทนากับบรรดาชายหนุ่มทั้งหมด  และพบว่า  หาชายหนุ่มอื่นเทียบเคียงดาเนียลและสหายไม่ได้  จึงทรงรับเข้ารับราชการอยู่ในราชสำนัก (ข้อ 18-20)

สำหรับคริสตชนแล้ว  การปฏิบัติตามกฎบัญญัติ  ศีลธรรม  และจริยธรรมนั้นหัวใจความสำคัญมิได้อยู่ที่หลักการ หรือ บทบัญญัติที่ให้ทำตาม  เพราะคริสตชนเชื่อศรัทธา อุทิศตน  และรักพระองค์ด้วยสุดจิตสุดใจ สุดความคิด   ถ้าปราศจากความเชื่อศรัทธา และ ความรักสุดชีวิตที่มีต่อพระเจ้าแล้ว  คริสตชนคนนั้นย่อมไม่มีพลังชีวิตที่จะกระทำตามบทบัญญัติ และ จริยธรรมในพระคัมภีร์ได้ ดังนั้น การปฏิบัติตามคริสต์จริยธรรมเริ่มต้นที่ความเชื่อศรัทธา และ การอุทิศทั้งชีวิตแด่พระเจ้าก่อน  แล้วพระองค์จะทรงเสริมสร้าง และ ประทานพลังให้คริสตชนคนนั้นสามารถดำเนินชีวิตตามคริสต์จริยธรรมได้

มองในอีกด้านหนึ่ง  คริสตชนคนใดที่ประนีประนอมหลักคริสต์จริยธรรมกับการดำเนินชีวิตตามกระแสสังคมโลก ย่อมเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความเชื่อศรัทธาของคนๆ นั้นที่มีต่อพระเจ้าว่า กำลังบกพร่อง หลงทาง หรือไม่?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499


[1] ดาเนียล  ฮานันยาห์  มิชาเอล และอาซาริยาห์  (ถูกตั้งชื่อตามภาษาบาบิโลนว่า  เบลเทซัสซาร์  ซัดรัค  เมชาค  และอาเบดเนโก  ตามลำดับ)